ผักสดด้วยระบบความเย็น
นักวิจัย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนุบรีได้ออกแบบ จัดสร้างระบบลดอุณหภูมิผักอย่างรวดเร็ว (Pre-Cooling) เพื่อรักษาความสดของพืชผัก ผลไม้ไว้ให้ได้นานจนถึงที่หมาย ซึ่งระบบที่ออกแบบนี้ สามารถรองรับผลผลิตได้ประมาณ 300 ตัน/ ปี จากการที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขามีอาชีพปลูกผักซึ่งมีผลผลิตประมาณ 6,500 ตัน/ ปี อันมีมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท แต่ผักมักประสบกับความเสียหายประมาณ 50% เนื่องจากผักที่ตัดออกมาจากแปลงแล้วย่อมเสื่อมสภาพ ความสดลดลง ความเหี่ยวเข้ามาทดแทน ฉะนั้น จึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผักมีความสดอยู่ตลอดเวลา จึงได้นำเอาระบบลดอุณหภูมิผักอย่างรวดเร็วเข้ามาช่วย โดยพยายามดึงอุณหภูมิจากผักลงอย่างรวดเร็วและให้ได้อุณหภูมิต่ำที่สุด หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการดึงเอาความร้อนออกจากผักให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ได้ผลเพราะพืชผักทั้งพืชหัวและพืชใบ สามารถรักษาความสดได้นานขึ้น สามารถลดความเสียหายของผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก จาก 50% เหลือเพียง 2% เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าถึง 4.8 ล้านบาท ระบบนี้ยังสามารถลดเวลาในการลดอุณหภูมิใจกลางผักจาก 30 ํC ลดลงเหลือ 4 ํC ในเวลา 2-4 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 16-20 ชั่วโมง และยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผักจาก 10 วัน เป็น 20 วันอีกด้วย นายสุเมธ ท่านเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระบบลดอุณหภูมิผักอย่างรวดเร็ว (Pre-Cooling) ว่า ระบบ PRE-COOLING แบ่งออกเป็น 2 ระบบคือ ระบบ Hydro-Cooling System เป็นวิธีที่ทำให้พืชผักเย็นโดยการใช้น้ำเย็นอุณหภูมิต่ำเข้ามา พืชผักที่เหมาะกับระบบนี้ได้แก่ พวกผักหัว เช่น แครอท บีทรูท เป็นต้น เพราะหากเป็นผักใบถ้านำมาใช้ในระบบนี้แล้ว จะทำให้ใบผักช้ำทำให้เสียหายได้ อีกระบบหนึ่งคือ ระบบ Forced -Air Pre-cooling เป็นระบบที่ใช้ลมเย็นเข้ามาช่วย เหมาะสำหรับพืชผักใบ เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวปลี ผักกาดหางหงส์ เป็นต้น
นับเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง สำหรับผู้สนใจติดต่อได้ที่ นายสุเมธ ท่านเจริญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โทร. 0-2470-9682

ที่มา จีร์ ศรชัย เดลินิวส์ 5 กรกฏาคม 2547 หน้า 12        






จานไถพิเศษสำหรับ ติดรถไถเดินตามเพื่อเกษตรกร
งานวิจัยของคนไทยเพื่อเกษตรกรไทย โดยการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมัยใหม่มาใช้พัฒนาจานไถ ติดรถไถเดินตามแบบ 2 จานไถมาเป็นแบบ 3 จานไถ เพื่อช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น ผลงานของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โครงการคิดค้นประดิษฐ์จานไถ ติดรถไถเดินตามแบบ 3 จานไถ ซึ่งมีคณะผู้ร่วมโครงการได้แก่ เจริญ ส้มแก้ว นัฐวุฒิ   พรหมเจริญ รัตนพงศ์   เสาศิลา สมคิด   สุมาลย์   และสุรชัย ปรีเรือง นักศึกษาภาควิชาวิศว กรรมเครื่องจักรกลเกษตร สถาบันเทค โนโลยีราชมงคล โดยมี อ. มานพ ตันตระบัณฑิตย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โครงการนี้กลุ่มนักศึกษา ได้นำเทคโนโลยีคอม พิวเตอร์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ทดสอบ และออกแบบ โดยใช้โปรแกรมไฟไนต์ อิลิเมนต์ มาร่วมวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งจานไถที่ออกแบบใหม่นี้ จะเน้นถึงความสะดวกในการทำงาน โดยที่จานไถสามารถปรับหน้ากว้างและปรับระดับความลึกของการไถได้ ทำให้พื้นที่ไถต่อครั้งกว้างขึ้น ทำให้การเคลื่อนที่ไปกลับในแปลงไถใช้เวลาน้อยลงและรวดเร็วขึ้น 58% สามารถไถได้พื้นที่ 1.82 ไร่/ ชั่วโมง ทำให้ลดปัญหาการเกิดสันดินและยังเหมาะสำหรับการทำงานในพื้นที่ในลักษณะต่าง ๆ กันได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับจานไถแบบ 2 จานแล้ว จานไถแบบ 3 จานสามารถลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 30% สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โทร . 0-2549-3300.

ที่มา มณีรัต น์ ปัญญพงษ์ เดลินิวส์ วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2547



วิธีสังเคราะห์เพชรด้วยความเร็วสูง


รายงานข่าวจากเอเอฟพี สถาบันวิจัยของรัฐบาลญี่ปุ่นสามารถค้นพบวิธีสังเคราะห์เพชรได้ในอัตราเร็วสูง ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะมีการนำเพชรสังเคราะห์ไปใช้งานในอนาคต

ยูริ โฮริโน หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านเพชรของสถาบันแห่งชาติว่าด้วยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระดับสูงของญี่ปุ่น ได้แถลงว่าทางสถาบันสามารถคิดค้นวิธีเพิ่มปริมาตรสินแร่เพชรขนาดเล็กได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการนำสินแร่ดังกล่าวไปผ่านพลาสมา ( ก๊าซที่อุณหภูมิสูงจัดจนอิเล็กตรอนถูกแยกออก ทำให้เกิดอนุภาคประจุไฟฟ้าขึ้น) ซึ่งได้จากการเพิ่มอุณหภูมิก๊าซมีเธน ไนโตรเจน และไฮโดรเจน จนร้อนจัด กระบวนการดังกล่าวสามารถเพิ่มปริมาตรของสินแร่เพชรที่เดิมมีขนาดเพียง 4X4X0.5 มม. เป็น 7X7X2.8 มม. ได้ภายในเวลา 55 ชม. ซึ่งถือเป็นอัตราเร็วกว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันถึง 5 เท่า

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเพชรจะกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต เนื่องจากคุณสมบัติการเป็นตัวนำความร้อนคุณภาพเยี่ยมและความแข็งแกร่งทนทานกว่าวัตถุดิบที่ใช้ในปัจจุบัน อาทิ ซิลิคอน ซึ่งใช้กันแพร่หลายในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ที่มา http://www.se-ed.com/magazine/news.aspx?iRun=543 (06 /07/04)



ดอกไม้นาโน


ดอกไม้นาโน เพาะจากหยดสารแกลเลียมหยดเดียว แต่เติบโตเป็นเส้นสายโยงใยกลายเป็นดอกไม

การปรับเปลี่ยนอุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ได้ดอกไม้นาโนหน้าตาแบบนี้


รายงานจากบีบีซีนิวส์ --เรื่องดอกไม้และต้นไม้ขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 1,000 เท่ากำลังเติบโตขึ้นในห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์นาโนฯ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ ต้นไม้จิ๋วขนาดนาโนเทคโนโลยีนี้เติบโตขึ้นจากการหยดของเหลวที่ได้จาก ธาตุแกลเลียม ลงไปบนพื้นผิว ของสารซิลิคอน จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็นำหยดสารอันนี้ไปใส่ในก๊าซมีเธน และเกิดปฏิกิริยา จนทำให้ก๊าซควบแน่น จับตัวกลายเป็นเส้นบางๆ อยู่ในสารประกอบซิลิคอนคาร์ไบด์ (silicon carbide (SIC) : สารประกอบซิลิคอนกับคาร์บอน) การปลูกดอกไม้นาโนชิ้นนี้ต้องใช้อุณหภูมิที่หลากหลายทั้งต่ำและสูงสลับกันไป พร้อมทั้งปรับระดับแรงดันให้มีความแตกต่าง จึงจะทำให้เส้นสายเหล่านี้ได้ต่อเชื่อมโยงกันในรูปแบบที่หลากหลายและมีรูปร่างที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเส้นสายเหล่านี้เชื่อมต่อกันด้วยความยาว 1-5 ไมครอน ( ไมครอน = 1 ใน 1 ล้านส่วนของเมตร) อย่างไรก็ดี ศ . มาร์ก เวลแลนด์ อาจารย์จากศูนย์นาโนเทคโนโลยี ม. เคมบริดจ์ เปิดเผยว่า ดอกไม้นาโนชิ้น นี้จะขยายเส้นสายไปอีกเป็นจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม และมีอีก 2 เส้นที่เพิ่งขยาย พบว่ามันปฏิเสธน้ำที่นำมาฉาบไว้ ซึ่งเจ้าสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเซลล์สุริยะ ( โซลาร์เซลล์) ชนิดใหม่ขึ้นมา โดยก่อนหน้านี้ได้พรมน้ำใส่ลงไป แต่ดอกไม้นาโนชิ้นนี้ก็สะบัดน้ำออกมา ถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษของโครงสร้างพื้นผิวที่ทำจากนาโน ภาพถ่ายดอกไม้นาโนชิ้นนี้บันทึกโดย “ กิม เหวย โฮ” นักศึกษาบัณฑิตศึกษา ( ระดับสูงกว่าปริญญาตรี) ในสาขานาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

ที่มา จัดการออนไลน์ 23 มิถุนายน 2547



ฮาร์ดดิสก์จิ๋วขนาดเท่าสแตมป์


โตชิบา เจ้าของฮาร์ดดิสก์ขนาด 0.85 นิ้วที่ผลิตขึ้นสำเร็จเมื่อเดือนมกราคม ได้รับการบันทึกลงกินเนสบุ๊กแล้วว่าเป็นฮาร์ดดิสก์ที่เล็กที่ หลังจากที่ฮาร์ดดิสก์รุ่นล่าสุดขนาด 1.8 นิ้ว ได้รับการบรรจุให้อยู่ในเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลชื่อดังอย่าง iPod เตรียมจะผลิตฮาร์ดดิสก์ขนาดจิ๋ว เพื่อออกจำหน่ายให้ได้ภายในสิ้นปี 2004 ไดรว์ขนาด 0.85 นิ้ว ( ประมาณ 2.1 เซนติเมตร) เปิดตัวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีความจุตั้งแต่ 2 – 4 กิกะไบต์ โดยขนาดดังกล่าวเล็กพอที่จะบรรจุไว้ในโทรศัพท์มือถือ กล้อง Camcorder หรือพีดีเอได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นหมายความว่า อนาคตเราจะสามารถรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่มาเก็บไว้ในเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ฮาร์ดดิสก์ตัวจิ๋วนี้จึงได้รับการบันทึกลงหนังสือกินเนสบุ๊ก และจะเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ในปีนี้ ( อ้างอิงจากเอเอฟพีนิวส์) เดวิด ฮอร์คเซ็ต (David Hawksett) ได้บันทึกเอาไว้ด้วยว่า ฮาร์ดดิสก์ตัวแรกของโลกนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 1956 มีขนาด 60 เซนติเมตร (2 ฟุต) และสามารถบรรจุข้อมูลได้ 4.4 เมกะไบต์ “ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมคงได้เห็นนาฬิกาของผมสามารถบรรจุข้อมูลได้เท่ากับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ”

ที่มา http://www.se-ed.com/magazine/news.aspx?iRun=539 (06/07/04)  



อนุพรหม พรรณไม้สกุลใหม่ของโลก


พบพรรณไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา คือ สกุลอนุพรหม (Genus Craibella) ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว (unispecific) คือต้นอนุพรหม (Craibella phuyensis) มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บ้านพุเย ตำบลชะแล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และมีการตีพิมพ์รายงานในวารสาร Systematic Botany ซึ่งเป็นวารสารการจำแนกพรรณไม้นานานชาติที่ได้รับการยอมรับสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ในฉบับที่ 29(1) ปี ค. ศ. 2004 หน้า 42-49 การพบพรรณไม้ดังกล่าวเป็นผลจากการวิจัยของจากโครงการวิจัยเรื่อง การรวบรวมและจำแนกพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร ( ฝกก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ( วว.) โดย ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น เป็นผู้อำนวยการโครงการ ลักษณะสำคัญในการตั้งเป็นสกุลใหม่ : สกุลอนุพรหม จัดเป็นสกุลใหม่ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย 43 สกุล มีลักษณะที่แตกต่างจากสกุลที่อยู่ใกล้เคียง 2 สกุล คือ สกุลสังหยู (Pseuduvaria) และสกุลกล้วยค่าง (Orophea) โดยมีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ดอกแยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย แต่อยู่ในต้นเดียวกัน กลีบดอกมี 2 ชั้น ชั้นนอกมีขนาดเล็ก ชั้นในมีขนาดใหญ่กว่า กลีบหนามากและประกบกันเป็นรูปกระเช้าห่อหุ้มเกสรเพศผู้และเพศเมียเอาไว้ มีผลเดี่ยว สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีเกษตร วว . โทร. 0 2577 9005

ที่มา จดหมายข่าว วว. ปีที่ 7 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2547 หน้า 6-7 / www.tistr.or.th




ผลิตไข่เค็มด้วยความดัน นวัตกรรมใหม่จากพระจอมเกล้าธนบุร




การพัฒนากรรมวิธีการผลิตไข่เค็มแบบผสมผสานด้วยวิธีแบบดั้งเดิมรวมเข้าด้วยกันกับการใช้เทคโนโลยีด้านความดัน เพื่อลดระยะเวลา ต้นทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และได้ไข่เค็มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ

สำหรับวิธีการทำไข่เค็มแบบดั้งเดิมนั้นก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น วิธีที่แช่ไข่กับน้ำเกลือ โดยล้างไข่เป็ดให้สะอาดปล่อยไว้ให้แห้งก่อนจะนำไปเรียงไว้ในขวดโหลที่จะแช่ไข่ไว้ ต่อจากนั้น เทน้ำเกลือที่ต้มไว้ ( ด้วยอัตราส่วนเกลือ 1 ถ้วย น้ำ 3 ถ้วย ใช้ไข่เป็ด 10 ฟอง) ที่ปล่อยไว้จนน้ำเย็นแล้วเทลงไปในโหลจนท่วมไข่ หลังจากนั้นให้ใช้ไม้ขัดหรือถุงพลาสติกที่บรรจุน้ำไว้ นำไปกดไข่ให้ไข่จมน้ำเกลือตลอดเวลา แล้วปิดฝาโหล เก็บไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็นำมาต้มประมาณครึ่งชั่วโมง นำมารับประทาน แต่ถ้ายังไม่รับประทานจะใช้สูตร 1 ต่อ 4 ก็ได้คือ เกลือ 1 น้ำ 4 ใช้เวลา 3 สัปดาห์ อีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นสูตรของแม่บ้านเกษตรกร มีวิธีการทำคือ นำเกลือ 1 ส่วน ต่อดินจอมปลวก 3 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำไข่มาห่อและคลุกด้วยขี้เถ้าแกลบ เป็นอันเสร็จกรรมวิธี เก็บไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงสามารถนำมาต้มรับประทานได้ และการผลิตไข่เค็มแบบนวัตกรรมใหม่โดยอาศัยความดัน ซึ่งวิธีนี้ได้รางวัลที่ 1 ในการประกวดนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 โดยมีนักวิจัยจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้อยู่ ซึ่งได้แก่คุณรุ่งโรจน์ แสงดารารัตน์ รศ. ดร. ประเวทย์ ตุ้ยเต็มวงศ์ ผศ. ดร. วรพจน์ สุนทรสุข อ. จิรวัฒน์ กันเกรียงวงศ์   และ ผศ. วีระชัย แก่นทรัพย์

สำหรับนวัตกรรมใหม่ล่าสุดในการผลิตไข่เค็ม เป็นการผสมผสานกรรมวิธีแบบดั้งเดิม โดยนำเอาข้อดีของกรรมวิธีแบบดั้งเดิมมารวมเข้าด้วยกันกับการใช้เทคโนโลยีด้านความดัน ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยทำให้ได้ผลผลิตที่มีความสม่ำเสมอของความเค็มของไข่ในแต่ละชุดการผลิตโดยใช้เวลา 2-3 วันในการผลิต ทั้งยังสามารถนำน้ำเกลือที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ลดต้นทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และได้ไข่ที่สะอาด มีคุณภาพและความสม่ำเสมอที่ดีกว่าไข่เค็มที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด สามารถลดระยะเวลาในการผลิต ซึ่งจากเดิม 21 วัน จะใช้ใช้เวลาน้อยลงเหลือเพียง 2-3 วัน โดยที่มีต้นทุนต่ำและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สามารถประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เหมาะสมต่อการลงทุน สำหรับเครื่องผลิตไข่เค็มความดันสูง ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 42,000 บาท สามารถผลิตไข่เค็มได้ชุดละ 300 ฟองโดยใส่ลงไปทั้งแผงที่วางไข่ แต่ถ้าไม่ใส่แผงที่วางไข่เข้าไปด้วยปริมาณการผลิตก็จะเพิ่มขึ้น 500 ฟองต่อครั้ง
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ที่มา จีร์ ศรชัย เดลินิวส์ 13 กรกฏาคม 2547 หน้า 12



ปลากัดลายธงชาติ


ปลากัด “ ลายธงชาติไทย” ราคาสูงถึง 100-400 เหรียญฯ ผลงานคนไทยคนเลี้ยงปลาแต่ใจเป็นศิลปิน คาดว่าอีกอย่างน้อย  3  ปี จะเพาะพันธุ์สำเร็จร้อยละ 60 แนะนำผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงปลาดังกล่าวต้องเข้าใจสูตร 5F ทำซ้ำไปซ้ำมา 5 ครอบครัวเพื่อให้สายพันธุ์นิ่ง

นายชัย เกียรติ์นีรนาท ผู้อำนวยการชมรมปลากัดยักษ์ใหญ่พัฒนาเพื่อการส่งออก เปิดเผยว่า    การผสมสีปลากัดเพื่อให้เป็นสีธงชาตินั้น โดยการนำสีและคุณสมบัติพิเศษของโครงสร้างของปลามาผสมกัน ซึ่งอาจจะได้สีธงชาติใน 2 หาง หรือสีธงชาติในครีบสั้น จนกลายเป็นปลากัดยักษ์สีธงชาติ  ขนาด  4 นิ้ว ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์ยังไม่นิ่ง ถือว่าเป็นปลาต้นแบบ แต่เดิมการเพาะปลาดังกล่าว 100,000 ตัว จะพบ 1 ตัว ปัจจุบัน 10,000 ตัว จะพบ 1 ตัว แต่อีกอย่างน้อย 3 ปี 100 ตัว จะมีถึง 60 ตัว

การพัฒนาสายพันธุ์ โดยต้องทำให้สายพันธุ์นิ่งและเลือกตัวที่มีลักษณะเด่นสายพันธุ์ดีนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5  ครอบครัว  หรือ  5F ใช้เวลามากกว่า 2 ปี ต่อ 1 สายพันธุ์  คือ การผสมพันธุ์ครั้งที่ 1 พอได้ลูกปลากัด ก็มาทำการผสมกับสายพันธุ์เดิมเป็นรุ่นต่อไป ทำอย่างน้อยอีก  4  ครั้ง  เพื่อทำให้สีที่ต้องการนิ่งขึ้น ทั้งนี้ แต่ละครั้งใช้ระยะเวลาอย่างน้อย  6 เดือน ซึ่งระยะโดยรวมที่จะทำให้ได้สายพันธุ์ตามต้องการนั้นต้องใช้เวลาคอกละไม่น้อยกว่า 30 เดือน

หลักการทำปลากัดสีธงชาติจะยากกว่าปลาทั่วไป เพราะปลากัดทุกชนิดขอบจะสีขาว และจะค่อยๆ สีเข้มไปถึงตัว แต่สีธงชาติจะต้องเริ่มมาจากสีแดง ขาว น้ำเงิน ก็คือเข้ม อ่อน เข้ม   ซึ่งฝืนธรรมชาติ  ที่ทำได้นั้นถือว่ายังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เพราะยังไม่สามารถบังคับสีให้ไปสู่รุ่นต่อไปได้   ทั้งนี้   หลักการกำหนดสีปลาต้องเริ่มจากปลากัดตัวสีอ่อน ขอบสีเข้มก่อนมาผสม    เมื่อสามารถบีบสีธงชาติได้นิ่งสำเร็จแล้ว จะพัฒนาต่อไปได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม  ปลาดังกล่าวนั้นจะเห็นในต่างประเทศมาก  เพราะเป็นปลาที่ทำรายได้ดี ตัวละ 100 -400 เหรียญฯ เนื่องจากเป็นสีสากลที่ทั่วโลกยอมรับสำหรับผู้สนใจที่จะเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าว สามารถติดต่อที่ชมรมปลากัดยักษ์ใหญ่พัฒนาเพื่อการส่งออก โทรศัพท์ 0-2933-9209.

ที่มา ไทยโพสต์ เอ็กไซต์ ฉบับที่ 2815 10-11 กรกฎาคม 2547 หน้า 1-2



มือถือทำสเปิร์มเสื่อม จริงหรือ ?

หมอสูติฯสับแหลกงานวิจัยของชาวฮังการี อ้างเหตุมองไม่ทั่ว ไม่เอาปัจจัยประกอบอื่น เช่น การสูบบุหรี่หรือความเครียด มาร่วมพิจารณา

จากการสรุปผลงานวิจัยต่าง ๆได้ระบุว่า การนำโทรศัพท์มือถือใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือการใส่ซองแล้วร้อยไว้กับเข็มขัดบริเวณเอวหรือสะโพกนั้น สามารถทำให้จำนวนสเปิร์มในผู้ชายลดลงกว่า 30% หรือ

การใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการสร้างสเปิร์มและความสามารถในการมีบุตรของผู้ชาย โด ดร. อิมรี ฟีเจส (Dr. Imre Fejes) ภาควิชาสูตินรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยซีเกต ( University of Szeged) ประเทศฮังการี ฟีเจสและคณะได้ทำการสำรวจเชื้อสเปิร์มจากชายจำนวน 221 คนร่วมกับการตั้งคำถามเพื่อสอบถามพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้ทำให้พวกเขาค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ( รวมถึงวิธีการเก็บโทรศัพท์) กับระดับความเข้มข้นหรือคุณภาพความแข็งแรงของเชื้อสเปิร์ม  

ฟีเจสกล่าวว่า การวิจัยใดๆล้วนต้องการเหตุผลมาสนับสนุนผลการวิจัยเพื่อให้มีน้ำหนัก ซึ่งเขาจะชี้แจ้งในที่ประชุมของสมาคม European Society of Human Reproduction and Embryology หรือ ESHRE ซึ่งเป็นสมาคมว่าด้วยเรื่องการสืบพันธุ์และการตั้งครรภ์ของมนุษย์ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี      แต่ศาสตราจารย์ฮานส์ อีเวอร์ส (Hans Evers) อดีตประธานสมาคมกล่าวว่า ผลวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจมาก แต่ยังไกลเกินกว่าจะฟันธงลงไปได้ สำหรับอีเวอร์ส ผู้เชี่ยวชาญจาก Academic Hospital แห่งเมืองมาสทริคต์ (Maastricht) ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การวิจัยนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น ความเครียดหรือการสูบบุหรี่ของผู้ชาย ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อความแข็งแรงและความเข้มข้นของสเปิร์มทั้งสิ้น ส่วนนักวิจัยคนอื่น ๆก็มีความเห็นใกล้เคียงกัน

ด้านองค์การอนามัยโลก ( World Health Organization) กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่าคลื่นความถี่วิทยุ ไม่ว่าจากคลื่นโทรศัพท์มือถือ หรือคลื่นจากสถานีส่งสัญญาณ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กระนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นสิ่งกระตุ้น ว่าการศึกษาเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอนาคตของมนุษยชาติ

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 30 มิถุนายน 2547 02.20 น.



เครื่องตรวจสอบสายไฟฝีมือไทยทำ สร้างมาตรฐานคู่ความปลอดภัย



นักวิจัย ม . บูรพา สร้างเครื่องตรวจสอบสายไฟ ควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ ทำงานอัตโนมัติ ตรวจสอบสายไฟ 60 หน่วยต่อนาทีได้สูงสุดถึง 9,999 เส้น พิสูจน์อีกหนึ่งมาตรฐานคู่ความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมฝีมือคนไทย        

เครื่องตรวจสอบสายไฟได้พัฒนาขึ้น โดยกลุ่มวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพาที่ได้รับทุนสนับสนุน จากโครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี(IRPUS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.)     อาจารย์สุรชาติ เหล็กงาม ที่ปรึกษาโครงการนี้กล่าวว่า เครื่องตรวจสอบสายไฟที่ทีมวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น จะมีหลักการทำงานและส่วนอุปกรณ์ประกอบหลายส่วน เช่น วงจรควบคุมการเรียงไฟของสายนำสัญญาณ วงจรสวิตซ์ควบคุมการเรียงไฟที่ผ่านมาจากสายนำสัญญาณ วงจรขยายสัญญาณ วงจรแปลงสัญญาณอนาลอกเป็นดิจิตอล รวมถึงวงจรประมวลผลและวงจรแสดงผล ซึ่งแต่ละส่วนจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป

เครื่องตรวจสอบสายไฟซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ดังกล่าว จะสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพคือ สามารถตรวจสอบสายไฟได้แม่นยำและแยกความแตกต่างระหว่างสายสั้นและสายยาวได้ถูกต้อง ใช้เวลาในการตรวจสอบ 60 หน่วย( ชุด) ต่อนาที ซึ่งทำให้ประหยัดเวลาในการตรวจสอบสร้างมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมไทย และขณะนี้เครื่องตรวจสอบสายไฟดังกล่าวยังสามารถนำไปทดลองใช้งานจริงในภาคเอกชนอีกด้วย

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 20 กรกฎาคม 2547 13:51 น.




แคนาดาส่งดาวเทียมสื่อสารใหญ่สุดในโลกเชื่อมเน็ตความเร็วสูง



จรวดอารีอาน 5 ทะยานออกจากฐานปล่อยจรวดในเฟรนเกียอาน่า นำดาวเทียมสื่อสารดวงใหญ่ที่สุดในโลกเข้าสู่วงโคจรแล้วเมื่อเช้าวันที่ 18 ก. ค. โดยจะสนับสนุนระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงคลุมทั่วแคนาดา โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทห่างไกล

สำนักงานใหญ่ของอารีอานสเปซ (Arianespace) ใกล้กรุงปารีสในฝรั่งเศสแจ้งว่า จรวดอารีอาน 5 ของ สำนักงานอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวดไปแล้วเมื่อเวลา 21.44 น. วันเสาร์ตามเวลาฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับเวลา 07.44 น. ของวันอาทิตย์ที่ 18 ก. ค. ของไทย จากนั้นได้นำดาวเทียมอานิค 2 เอฟ เข้าสู่วงโคจรในอีก 28 นาทีถัดไป   ดาวเทียมดังกล่าวเป็นของบริษัทเทเลแซท ของแคนาดา เป็นดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะให้บริการด้านการสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วภูมิภาคอเมริกาเหนือเป็นเวลา 15 ปี มีน้ำหนักรวมเกือบ 6 ตัน ผลิตโดยบริษัทโบอิงสเปซ ซิสเต็มส์ งบประมาณในการผลิตรวมถึงการปล่อยสู่อวกาศและค่าประกันภัยทั้งหมด 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 19 กรกฎาคม 2547 19.49



พบไวรัส แพร่กระจายโทรศัพท์มือถือ
โผล่แล้วไวรัสมือถือตัวแรก  

รายงานข่าวของสำนักไอทีชั้นนำแจ้งว่า องค์กรต่อต้านไวรัสบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้กล่าวถึงการพบ worm ชื่อ Cabir ได้มีการแพร่กระจายผ่านอุปกรณ์มือถือ เชื่อว่าไวรัสดังกล่าว เป็นฝีมือของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า vallez เป็นสมาชิกจากกลุ่ม "29a labs" ซึ่งก่อนหน้านี้เคยปล่อยไวรัสแพร่ระบาดในคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาแล้ว

ลักษณะการทำงานของ Cabir Worm อุปกรณ์ที่ติด Cabir Worm แล้วจะทำการค้นหาอุปกรณ์เป้าหมายที่อยู่ใกล้เคียง โดยส่งแฟ้มข้อมูลผ่านทาง Bluetooth ไปยังเครื่องเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตามว่าที่อุปกรณ์หนึ่งๆจะติด Worm นี้ผู้ใช้จะต้องตอบตกลงเพื่อติดตั้งถึงสามครั้ง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ Trojan ซึ่งจะเห็น Worm ที่ไม่มีความรุนแรงมาก แต่เป็นเพียงการทดสอบแนวความคิดของผู้เขียน Worm ตัวนี้เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า Cabir Worm เป็น Worm ที่ไม่มีความรุนแรงมาก (อย่างไรก็ตามจะมีการใช้งาน Bluetooth ตลอดเวลาซึ่งทำให้แบตเตอรี่ทำงานเร็วกว่าปกติ แล้วอาจทำให้การทำงานโดยรวมของเครื่องช้าลงไปด้วย) ซึ่งเป็นเพียงการทดสอบแนวความคิดของผู้เขียน Worm ตัวนี้เท่านั้น

ที่มา Telecom Journal 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 47 หน้า 6

 

 





Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th