การทดสอบความสามารถในการใช้ผลิตภัณฑ์ Usability Testing
ดร.สกล ธีระวรัญญ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


บริษัท ไอบีเอ็ม ได้กล่าวไว้ว่า “ ผู้ใช้จะใช้ระบบที่เขาเข้าใจ ” นั่นหมายความว่าถ้าระบบนั้นทำให้ชีวิตยากขึ้น ก็จะไม่มีใครใช้ ดังนั้นประโยชน์ของการทดสอบความสามารถในการใช้งานจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นใช้งานง่าย (easy-to-use) ช่วยเสริมสร้างความพึงพอใจของผู้ใช้และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ป้องกันความผิดพลาดจากการใช้งานและลดเวลาการสอนให้กับผู้ใช้ได้ด้วย การทดสอบผลิตภัณฑ์นี้ค่อนข้างที่จะแตกต่างจากการทดสอบทางวิศวกรรมเนื่องจาก การทดสอบทางวิศวกรรมจะคำนึงถึงระบบที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้งานง่าย ดังนั้นการทดสอบในความหมายนี้คือการทดสอบในด้านพฤติกรรมผู้ใช้งานกับผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมของคนมีผลต่อการทำงานของระบบ สามารถเห็นได้จากนักบินกับระบบควบคุมการบิน พฤติกรรมตอบสนองของนักบินมีผลกับการตัดสินใจซึ่งถ้าระบบมีความซับซ้อนมาก นักบินจะต้องมีความเข้าใจกับการใช้งานของระบบสูงเพื่อป้องกันความผิดพลาด จากการใช้อันเป็นเหตุทำให้เครื่องบินตก

ภาพนักบินในห้องควบคุมการบิน

วิธีการทดสอบความสามารถในการใช้มีวิธีการง่ายๆ โดยจะเริ่มจากการสุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานที่ตรงตามผลิตภัณฑ์มามากพอจำนวนหนึ่ง และให้ผู้ใช้งานเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องบอกวิธีใช้งานแต่จะต้องบอกเป้าหมายของการใช้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการทดสอบว่าผู้ใช้สามารถที่จะดูจดหมายอีเลคโทนิคของเขา เราจะต้องบอกผู้ใช้ให้เปิดจดหมายโดยไม่ต้องบอกวิธีเริ่มต้นและขั้นตอนในการใช้ หลังจากนั้นก็ให้ผู้ใช้ทำจนกระทั่งเสร็จสิ้นงาน ระหว่างที่ผู้ใช้ทำผู้สังเกตจะต้องตรวจสอบระยะเวลาที่ใช้ จำนวนขั้นที่ใช้ จำนวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จำนวนครั้งที่ผู้ใช้เปิดคู่มือ และอื่นๆ เพื่อที่จะนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ในเชิงสถิติ ทั้งนี้บางครั้งอาจจะต้องดูสีหน้าผู้ใช้ว่าเกิดอาการเครียด หรือไม่ขณะปฏิบัติงานรวมกับความไม่พึงพอใจเมื่อใช้งาน

ห้องทดสอบและเครื่องมือ
ภาพผู้สังเกตการณ์มองผ่านกระจกทางเดียว (UE group)

การสร้างห้องทดสอบจะช่วยทำให้เราสามารถควรคุมสภาวะแวดล้อมและตัวแปรต่างๆ เช่น สิ่งรบกวน ในปัจจุบันห้องทดสอบส่วนใหญ่จะทำในลักษณะคล้ายห้องสอบผู้ต้องหาที่ FBI ใช้ โดยจะมีกระจกมองทางเดียวที่ผู้ถูกทดสอบไม่สามารถมองเห็นผู้สังเกตการณ์ได้ และยังมีกล้องวงจรปิดขนาดเล็กติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น อยู่ด้านหลังของผู้ถูกทดสอบหันไปยังหน้าจอ หรือ กล้องรูเข็มขนาดเล็กหันไปยังหน้าผู้ถูกทดสอบ ส่วนทางด้านฝั่งของผู้สังเกตการณ์ก็จะมีเจ้าหน้าที่ทดสอบ (Test staffs) ควบคุมจอมอนิเตอร์ที่มีภาพต่างๆปรากฏพร้อมกันรวมถึงซอฟแวร์สำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรม ก็สามารถนำมาใช้หาความสามารถในการใช้งานด้วยการบันทึกความถี่และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

ภาพด้านบนของห้องทดสอบ

โดยส่วนใหญ่จะมีผู้สังเกตการณ์ (Observers) เข้าร่วมด้วยอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 คนเพื่อยืนยันถึงผลที่ได้จากการสังเกต เนื่องจากข้อมูลจากการสังเกตบางส่วนเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ผลที่ได้จากการสังเกตจะถูกนำมาตัดต่อเพื่อการวิเคราะห์ภายหลังในส่วนของการตัดต่อวีดีทัศน์ (Video Editing)

ภาพโทรศัพท์มือถือที่ดัดแปลงให้เข้ากับพวงมาลัยและเกียร์

การทดสอบลักษณะนี้สามารถที่จะประยุกต์ใช้ได้กับผลิตภัณฑ์หลายประเภท นับตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ ซอฟแวร์ ระบบ สิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Nokia ได้มีการประดิษฐ์โทรศัพท์มือถือของโครงการ Samara (Lindholm et all, 2003) โดยตัวโทรศัพท์จะฝังรวมอยู่กับระบบของรถยนต์ ดังนั้นการทดสอบจะต้องมีการสร้างสถานการณ์จำลองขับรถ การทดสอบในครั้งนั้นมีการนำตัวถังรถยนต์เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกทดสอบเข้าใจถึงสถานการณ์ได้ง่าย ส่วนตัวโทรศัพท์ก็จะติดอยู่ที่ส่วนเกียร์ที่ใช้ควบคุมความเร็วรถและที่พวงมาลัย ตัวกล้องก็จะติดอยู่ตามจุดต่างๆเพื่อที่จะบันทึกข้อมูลขณะผู้ทดสอบขับรถและใช้โทรศัพท์ไปพร้อมกัน คอมพิวเตอร์ก็จะทำการบันทึกเวลาต่างๆเมื่อผู้ใช้เริ่มใช้งานผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทดสอบความสามารถของการใช้ผลิตภัณฑ์ สามารถที่จะประยุกต์ไปใช้ได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทดสอบ ผู้เขียนเห็นว่าการทดสอบลักษณะนี้เป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบก่อนที่จะสร้างผลิตภัณฑ์สู่ตลาด

บรรณานุกรม
1. Lindholm,C., Keinonen, T., and Kiljander, H., Mobile Usability: How Nokia changed the face of the mobile phone, McGraw-Hill, New York, 2003.
2. Rubin, J., Handbook of Usability Testing: How to Plan, Design, and Conduct Effective Tests, Wiley, 1994.
3. UE group, http://www.theuegroup.com





Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th