ผลิตภัณฑ์ GMOs

ในปัจจุบันได้มีการนำเทคนิคการตัดต่อยีนส์ มาใช้ในหลายๆ ด้าน เช่น ยา วัคซีน สารตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ อาหาร สัตว์ พืช เนื้อสัตว์ สารที่ใช้ทางปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์เกษตร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่าทุกชนิดจะเป็น มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

ยาที่พบว่าจัดเป็น GMOs ได้แก่ อินสุลิน บางชนิด ที่ใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน (มีการรับรองโดย องค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา ให้ใช้ได้ในปี พ.ศ. 2525) growth hormone สำหรับเด็กแคระแกรนผิดปกติ ยาปฏิชีวนะ วิตามินบี2 และ gene therapy

วัคซีนที่เห็นได้ชัดคือ วัคซีนรักษาโรคเอดส์ นอกจากนี้ได้แก่ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
ชุดที่ใช้ทางห้องปฏิบัติการ เช่น ชุดตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนม
ในฟาร์มบางแห่ง ให้สารเร่งการเจริญเติบโต (growth hormone) ที่ผ่านการตัดต่อยีนส์แก่ปศุสัตว์ เช่น วัว เพื่อให้โตไว มีเนื้อเยอะ และให้นมมาก ซึ่งพบว่าสารนี้ตกค้างในน้ำนม มีการนำน้ำนมนี้มาขายโดยไม่ได้ติดฉลากระบุว่าได้จากวัวที่ได้รับสารตัดต่อยีนส์

ปัจจุบันมีพืชหลายชนิดที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมด้วย DNA จากแหล่งภายนอก มักใช้ในการเกษตรกรรม ให้ทนต่อสภาพแวดล้อม (ความแห้งแล้ง สารฆ่าวัชพืช การติดเชื้อราหรือไวรัส รวมทั้งต่อแมลงต่างๆ) เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง ข้าวโพด มะเขือเทศ มันฝรั่ง ต้นrapeseed อัลฟาฟ่า หญ้าสนาม กระหล่ำดอก ผักกาดเขียว ทานตะวัน แครอท ฯลฯ การให้ผลิตสิ่งที่ต้องการ เช่น ดอกคาร์เนชั่นกำหนดสี ต้นข้าวสาลีที่ให้ได้แป้งสาลีที่มี gluten ที่ดีเหมาะแก่การทำขนมปัง

ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม
1. ถั่วเหลืองต้านทานยาปราบวัชพืช
ถั่วเหลืองต้านทานยาปราบวัชพืช คือ ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมที่ได้รับยีนต้านทานยาปราบวัชพืชเข้าไป ทำให้สามารถต้านทานยาปราบวัชพืชประเภทที่ไม่ก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปลูกถั่วเหลืองชนิดนี้ช่วยให้การใช้ยาปราบวัชพืชมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำอันตรายแก่ต้นถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองจึงใช้ประโยชน์จากดินและปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้การปลูกพืชหมุนเวียนยังสามารถทำได้ง่ายขึ้น อันเป็นการช่วยลดการไถปรับหน้าดินซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ การตรวจสอบเมล็ดของถั่วเหลืองต้านทานยาปราบวัชพืชพบว่า มีปริมาณสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกับเมล็ดถั่วเหลืองธรรมดา อนุญาตให้ใช้เพื่อบริโภค และเป็นอาหารสัตว์ในบราซิล เม็กซิโก รัสเซีย อุรุกวัย อาร์เจนตินา แคนาดา อเมริกา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

2. ถั่วเหลืองที่มีกรดโอลีอิคสูง
กรดโอลีอิคเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งในน้ำมันถั่วเหลืองธรรมดามีกรดโอลีอิคอยู่เพียง 24% แต่ด้วยการดัดแปรพันธุกรรมทำให้ในน้ำมันถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมมีกรดโอลีอิคมากกว่า 80% คล้ายคลึงกับน้ำมันถั่วลิสง และน้ำมันมะกอก อนุญาตให้ใช้เพื่อบริโภคใน แคนาดา อเมริกา และออสเตรเลีย

ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม
1. ข้าวโพดต้านทานยาปราบพืช
ข้าวโพดต้านทานยาปราบพืชได้รับการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาในลักษณะที่คล้ายกับ กรณีของถั่วเหลืองต้านยาปราบวัชพืช และมีความสามารถในการต้านทานยาปราบวัชพืชประเภทเดียวกัน ประเทศที่อนุญาตให้ใช้เพื่อบริโภค ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา แคนาดา อเมริกา และออสเตรเลีย

2. ข้าวโพดต้านทานแมลงศัตรูพืช
โปรตีนบีทีจากแบคทีเรียในดินเป็นสารธรรมชาติที่ใช้ฉีดพ่นเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชมากว่า 40 ปี โปรตีนบีทีที่สามารถทำลายตัวอ่อนของแมลงบางประเภทอย่างจำเพาะเจาะจง โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น การนำยีนควบคุมการสร้างโปรตีนบีทีจากแบคทีเรียในดินมาใส่ในข้าวโพด เป็นการทำให้ข้าวโพดสามารถสร้างโปรตีนบีทีได้เอง ซึ่งนั้นคือการที่ข้าวโพดสามารถป้องกันตนเองจากตัวอ่อนแมลง เช่น หนอนเจาะฝักข้าวโพดได้ตลอดฤดูกาลปลูก เป็นการลดภาระของเกษตรกรในการฉีดพ่นโปรตีนบีทีหรือยาฆ่าแมลงอื่นๆ นอกจากนี้การที่ข้าวโพดไม่ถูกทำลายโดยหนอนเจาะอันเป็นสาเหตุของการสะสมสารพิษ เช่น อัลฟ่าทอกซินในผลผลิต อนุญาตให้ใช้เพื่อการบริโภคใน ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา เกาหลี อัฟริกาใต้ แคนาดา อเมริกา เดนมาร์ค อังกฤษ กลุ่มสหภาพยุโรป เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย

คาโนลาดัดแปรพันธุกรรม
คาโนลาเป็นพืชน้ำมันที่มีการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นจากต้นเรปซีดโดยนักวิจัยแคนาดา เพื่อให้น้ำมันจากคาโนลามีปริมาณกรดไขมันชนิดอิ่มตัวต่ำและเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตและการจัดการแปลง จึงได้มีการพัฒนาคาโนลาธรรมดาให้เป็นคาโนลาต้านทานยาปราบวัชพืช คาโนลาที่มีลอเรทสูง และคาโนลาที่มีกรดโอลีอิคสูง ซึ่งข้อดีของการใช้คาโนลาดัดแปรพันธุกรรมทั้งสามประเภทนี้คล้ายคลึงกับกรณีของถั่วเหลือง อนุญาตให้ใช้น้ำมันจากคาโนลาต้านทานยาปราบวัชพืชเพื่อการบริโภคใน ญี่ปุ่น แคนาดา อเมริกา และออสเตรเลีย

ฝ้ายดัดแปรพันธุกรรม
1. ฝ้ายต้านทานยาปราบวัชพืช ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายถั่วเหลืองต้านทานยาปราบวัชพืช มีการใช้ในแคนาดา อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอัฟริกาใต้
2. ฝ้ายต้านทานแมลงศัตรูพืช ที่ได้รับยีนควบคุมการสร้างโปรตีนบีทีเข้าไป (คล้ายกับข้าวโพดต้านทานแมลงศัตรูพืช) ทำให้สามารถต้านทานหนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนbudworm ส่งผลถึงการลดการใช้ยาฆ่าแมลงและอันตรายจากการฉีดพ่นยาและประเทศที่มีการปลูก และใช้ใยของฝ้ายบีทีได้แก่ จีน อเมริกา อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เม็กซิโก และอัฟริกาใต้

มันฝรั่งดัดแปรพันธุกรรม
1. มันฝรั่งต้านทานแมลงศัตรูพืช คือ มันฝรั่งที่ได้รับยีนควบคุมการสร้างโปรตีนบีทีเข้าไป ทำให้สามารถต้านทานแมลงโคโลลาโดโปเทโทบีทเทิล อนุญาตให้ใช้เพื่อการบริโภคใน ญี่ปุ่น แคนาดา และอเมริกา
2. มันฝรั่งต้านทานโรคไวรัส คือ มันฝรั่งที่มีความต้านทานต่อเชื้อไวรัสโพเทโทลีฟโรล และไวรัสโปเทโทวาย ในลักษณะที่คล้ายกับการที่มีคนมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งการที่พืชสามารถต้านทานไวรัสได้โดยตรงย่อมช่วยลดภาระ และผลเสียจากการใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อกำจัดพาหะของไวรัส อนุญาตให้ใช้เพื่อการบริโภคใน แคนาดา และอเมริกา

สควอทดัดแปรพันธุกรรม
สควอทเป็นพืชตระกูลแตงที่ได้รับความเสียหาย จากการติดเชื้อโดยไวรัสสวอเทอร์เมลอนโมเสอิก และไวรัสซุกคินีเยลโลโมเสอิก การถ่ายชิ้นยีนจากไวรัสทั้งสองเข้าไปในสควอท ทำให้สควอทสามารถต้านทานเชื้อไวรัสทั้งสองประเภทได้ และการปลูกสควอทต้านทานโรคไวรัส ช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงในการควบคุมแมลงพาหะไวรัสได้เช่นเดียวกับมันฝรั่งต้านทานโรคไวรัส อนุญาตให้ใช้เพื่อการบริโภคในแคนาดา และอเมริกา

มะเขือเทศสุกช้า
มะเขือเทศสุกช้าเป็นผลผลิตจากพืชดัดแปรพันธุกรรมชนิดแรกที่มีการผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยที่มะเขือเทศชนิดนี้มียีนที่ช่วยชะลอการสุกของผล ซึ่งนอกจากจะช่วยยืดอายุการเก็บเกี่ยวออกไปได้แล้ว ยังทำให้ผลมะเขือเทศมีรสชาติดีขึ้นเนื่องจากมีเวลาอยู่บนต้นนานขึ้น และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะมีความทนทานต่อสภาวะการขนส่งได้ดี ไม่เน่าหรือช้ำง่าย อนุญาตให้ใช้เพื่อการบริโภคใน แคนาดา และอเมริกา

มะละกอต้านทานโรคไวรัส
ในรัฐฮาวายได้มีการพัฒนามะละกอต้านทานไวรัสใบด่างจุดวงแหวน โดยการนำเอายีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนเปลือกหุ้มของไวรัสตัวดังกล่าวใส่เข้าไปในมะละกอ ทำให้มะละกอสามารถต้านทานไวรัสได้ อนุญาตให้ใช้เพื่อการบริโภคใน แคนาดา และอเมริกา

โดย มธุรา สิริจันทรัตน์

เอกสารอ้างอิง
1. ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ, คุณรู้จัก “พืชดัดแปรพันธุกรรม” ดีแค่ไหน, เอกสารแผ่นพับเผยแพร่ความรู้ หมายเลข 2
2. นเรศ ดำรงชัย, ผลกระทบของ GMOs ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย, สิ่งที่ประชาชนควรทราบ, โครงการศึกษานโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC), พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2543, 14 หน้า
3. http://www.pharm.chula.ac.th/news/clinic/GMOs.htm
4. http://dnatec.kps.ku.ac.th/new-dnatec/service/gmos.cgi?subject=gmos%20bar
5. http://www.nfi.or.th/current-trade-issues/gmo3.html
6. กลุ่มวิเคราะห์สินค้า 13, กองการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ (12 พฤศจิกายน 2545)
7. http://www.doae.go.th/library/html/detail/gmos/gmos.htm





Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th