หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 2002-01-02

ข่าวการศึกษา

“แว่นแก้ว” จุดประกายโอกาสสร้างนิสัยรักการอ่านให้เยาวชน
พระเทพฯรับสั่งทบวงเข้มงวดครูสอนภาษาจีน
สนนท.เรียกร้องรบ.ปฏิรูป-ไม่ใช่แปรรูปมหา’ลัย
ทุ่มงบฯปี45กว่า 200 ล.รองรับนโยบายรบ. “สุธรรม” เชื่อดึง “ม.” ลงจากหอคอยสู่ชุมชน
ระดม 5 รองนายกฯชี้ขาดก.ศึกษา-วัฒนธรรม
ถกปรับเอ็นท์รับหลักสูตรใหม่ศธ./ “สุมณฑา” เร่งทบวงฯใช้แอดมิชชั่นส์
ทบวงฯเตรียมปรับระบบเอนท์รองรับหลักสูตรพื้นฐานศธ.
ศธ.ร้องขาดครูร่วม 9 หมื่นคน
มาตรฐานเด็กไทยอยู่อันดับ44
ห้องสมุดริมรั้ว

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

10 ข่าวเด่น วงการวิทยาศาสตร์ปี 44
คนไทยรู้จัก “นาโนเทค” เพิ่มมากขึ้น เข้าสู่ชีวิตประจำวัน-ชี้ไม่นานฉลุย
กฎหมายไอทีใช้แน่ 4 เม.ย.
เนคเทค-สภาพัฒน์ยกร่างแผนแม่บทไอซี

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องกะเทาะ-แยกเมล็ดยางพารา ผลงานชิ้นเยี่ยมของ “นักวิจัยมอ.”
เครื่องวัดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืช ผลงานชิ้นเยี่ยมของ..ม.เกษตร
พบวิธีย้ายยีน “เอสเอชเอช” แก้ปัญหา “ผมร่วง”
ผลิตยาแก้หวัดขนานใหม่รักษาชะงัดภายในวันเดียว
ชี้สารไลโคฟีนสีแดงในมะเขือเทศ ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
ดร.จีนแนะกินผักใบเขียวช่วยป้องกันมะเร็ง
วศ.ผลิตลายขิตเซรามิกสำเร็จ
นักวิทย์ผู้ดีถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ “ตัวที่3” สำเร็จ
โปรแกรมค้นหาและช่วยชีวิตในทะเล

ข่าวทั่วไป

พื้นป่าชายเลนบางขุนเทียน ของขวัญปีใหม่ให้คนกรุง
สวนหลวงทำตลาดน้ำ เมษาฯปีหน้าได้เที่ยว
แพทย์ไทยโชว์วิชาหลายมิติ
สายไหมคึกให้พูดอังกฤษ นร.ภารโรงแม่ค้าไม่มีเว้น
หมอชี้ “ตรวจสุขภาพประจำปี” แหกตา เป็นสินค้าทุนนิยมจี้รื้อระบบสิทธิขรก.
กองระบาดเตือนระวัง! โรคติดต่อชาวต่างชาติแฝงทำงาน-รักษาในไทย





ข่าวการศึกษา


“แว่นแก้ว” จุดประกายโอกาสสร้างนิสัยรักการอ่านให้เยาวชน

รางวัล “แว่นแก้ว” เป็นรางวัลที่ทางบริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพระนามแฝงของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นชื่อรางวัลโครงการประกวดวรรณกรรมเยาวชน ในจำนวน 137 ผลงานที่ส่งเข้ามา ถูกคัดเลือกเหลือ 10 ผลงาน รางวัลที่ 1 ได้แก่ผลงานวรรณกรรมเรื่อง “โลกใบนี้โคจรรอบกระทะกับหม้อเหล็ก” ของ คณาพร สัมฤทธิ์ล้วน (คณา คชา) รางวัลที่ 2 ได้แก่ผลงานวรรณกรรมเรื่อง “ผู้มาเยือน” ของ กิตติ ธนิกกุล รางวัลที่ 3 ได้แก่วรรณกรรมเรื่อง “ลูกแม่น้ำโขง” ของ พณิช ชุดทอง นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 1 รางวัล ได้แก่ วรรณกรรมเรื่อง “กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” ของ เพชร บุตรทองพูน “เจ๊าะเกอโด่เด็กน้อยบ้านดอย” ของ อุดร วงษ์ทับทิม “นิ้วก้อยนิ้วโป้ง” ของ ศรี เกศมณี “ใบไม้ในทุ่งหญ้า” และ “ผีน้อยโลกมายา” ของ วันทนีย์ วิบูลวีรติ “วันที่โลกไร้แมว” ของ สุริยัน สุดศรีวงศ์ และ “หมอน้อยกายสิทธิ์” ของ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2544 หน้า 19)





พระเทพฯรับสั่งทบวงเข้มงวดครูสอนภาษาจีน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานนิทรรศการ Study in China ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงผลงานการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน จำนวน 31 แห่ง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงให้ทบวงดูแลการสอนภาษาจีนในไทย ในระดับอุดมศึกษารวมถึงมัธยมศึกษา ทั้งส่วนของคุณภาพครูที่สอนหลักสูตรการเรียนการสอน เพราะภาษาจีนภาษาจีนเป็นภาษาที่เรียนรู้ยาก ดังนั้นครูจึงมีส่วนสำคัญ และต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาก ไม่เช่นนั้นการถ่ายทอดความรู้สู่เด็กจะมีลึกซึ้งดีพอ เพราะในอนาคตภาษาจีนจะเป็นภาษาที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเพราะในโลกยุคใหม่ไทยจะต้องสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางเครือข่ายธุรกิจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับประเทศจีนเพิ่มขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 8)





สนนท.เรียกร้องรบ.ปฏิรูป-ไม่ใช่แปรรูปมหา’ลัย

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายเมธา มาสขาว เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เปิดเผยว่า หลังจาก สนนท. ได้จัดสัมมนาทั่วประเทศเรื่อง มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล และ การปฏิรูปมหาวิทยาลัยแล้ว ได้สรุปความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเสนอรัฐบาล สำหรับนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยรัฐปรับเปลี่ยนสถานภาพให้ทันปี 2545 ตามเงื่อนไขของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี โดยที่รัฐบาลพูดถึงแต่เฉพาะการบริหารจัดการเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนรูปแบบบริหารราชการเป็นกึ่งเอกชน ไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปด้านวิชาการจิตสำนึกของนิสิตนักศึกษา และการปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ทิศทางดังกล่าวจึงไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาสังคม นอกจากนี้ ยังผลักภาระด้านงบประมาณ ลดโอกาสการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของกลุ่มผู้ยากจน เนื่องจากนิสิตนักศึกษาต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นายเมธา กล่าวต่อว่า สิ่งที่นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศเสนอให้ทำต่อไปคือ ให้เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมนิสิตนักศึกษาทุกภูมิภาคเพื่อเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล และจัดเวทีในทุกสถาบันเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมปฏิรูปมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เน้นการบริหารจัดการโดยให้อำนาจผู้บริหาร และสภามหาวิทยาลัย รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้คนไทยมีสิทธิเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเท่าเทียมกัน และให้ชุมชนมีสิทธิตั้งมหาวิทยาลัยเอง เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (มติชน จันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ทุ่มงบฯปี45กว่า 200 ล.รองรับนโยบายรบ. “สุธรรม” เชื่อดึง “ม.” ลงจากหอคอยสู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดอบรมโครงการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแบบผสมผสานสู่ชุมชน ว่า ทบวงฯได้จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายจากปีงบฯ 2544 จำนวน 9 ล้านบาทให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมศ.) สำหรับโครงการดังกล่าว เพื่อให้มหาวิทยาลัยไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในระดับฐานราก นำมหาวิทยาลัยสู่ภาคปฏิบัติและปฏิบัติจริงในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งยังสนองตอบนโยบายรัฐบาล ส่วนปีงบฯ 2545 ทบวงฯได้จัดสรรงบฯจำนวน 200 กว่าล้านบาทเพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเข้าไปสร้างเครือข่ายกับชุมชน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและรองรับนโยบายรัฐบาล โดยทบวงฯได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายละเอียดของโครงการ (มติชน จันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ระดม 5 รองนายกฯชี้ขาดก.ศึกษา-วัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมพิจารณากฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เข้าร่วมพิจารณาหาข้อสรุปที่หลายฝ่ายมีแตกต่างกัน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ผ่านกฎหมายปฏิรูปการศึกษาทั้ง 6 ฉบับ ตามที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เสนอ เช่น ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย(ก.ม.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันพัฒนาและส่งเสริมครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสภาครู และบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา เพื่อนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 4 ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า (มติชน อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ถกปรับเอ็นท์รับหลักสูตรใหม่ศธ./ “สุมณฑา” เร่งทบวงฯใช้แอดมิชชั่นส์

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับหลักสูตรขั้นพื้นฐานใหม่ และจะเริ่มทดลองใช้ในชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2545 และเริ่มใช้จริงในปีการศึกษาถัดไปนั้น พบว่าหลักสูตรใหม่ของชั้น ม.ปลาย กระทบกับการเอ็นทรานซ์ เพราะกรมวิชาการเปิดโอกาสให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรเอง และกำหนดค่าน้ำหนักของหน่วยกิตเอง แต่ละแห่งจึงอาจกำหนดหน่วยกิตไม่เท่ากันในวิชาเดียวกัน ซึ่งยากต่อการนำคะแนนเฉลี่ยสะสมหรือ GPA มาใช้ให้คะแนน ดังนั้นทบวงฯจะเชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยใน 8 กลุ่มสาขาวิชามาหารือการรับนักเรียนที่จบปีการศึกษา 2548 เป็นต้นไป นางสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ความจริงการปรับหลักสูตรดังกล่าวสอดคล้องกับรูปแบบของระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษาใหม่ หรือ Central Universities Admissions System ที่ทปอ.เสนออย่างมาก เนื่องจากไม่ได้ดูเฉพาะ GPA รวมเพียงตัวเดียว แต่ดู GPA เป็นรายวิชาและเทียบกับกลุ่มในโรงเรียนเอง ไม่เทียบระหว่างโรงเรียน จึงจำเป็นต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่โปร่งใสและเป็นธรรมขึ้นมา (มติชน อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ทบวงฯเตรียมปรับระบบเอนท์รองรับหลักสูตรพื้นฐานศธ.

คณะทำงานระบบการสอบคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเผย ที่ประชุมเสนอปรับระบบการสอบเอนทรานซ์ใหม่ด้วยการใช้การทดสอบมาตรฐานกลางหรือ SAT ควบคู่กับการพิจารณาคะแนนเฉลี่ยสะสม เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการปรับหลักสูตรขั้นพื้นฐานของ ศธ. นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานระบบการสอบคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ใน 8 กลุ่มสาขาวิชาได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ศิลปะ สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ ให้เริ่มทดลองนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 ในโรงเรียนตัวอย่างจำนวน 1,000 โรงจากทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ที่มีทั้งสิ้น 3,000 โรง และจะเริ่มใช้หลักสูตรจริงทั่วประเทศในปีการศึกษา 2546 ดังนั้น จากการปรับหลักสูตรจะส่งผลกระทบต่อระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เนื่องจากศธ. เปิดให้โรงเรียนแต่ละแห่งกำหนดวิธีการประเมินและวัดผลการเรียนได้เอง ว่าจะใช้ในรูปเกรดเฉลี่ยหรือเปอร์เซ็นต์ได้ในระดับ ป.1-ม.3 ส่วน ม.4-ม.6 ให้คิดในรูปแบบของหน่วยกิต ดังนั้นการนำผลการเรียนเฉลี่ย (GPA) มาใช้พิจารณาคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับสถาบันอุดมศึกษาหรือเอนทรานซ์ จะทำได้ลำบาก เพราะแต่ละสถานศึกษาจะใช้วิธีคิดค่าคะแนนที่ต่างกัน ตลอดจนถึงการขยายโอกาสให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น มีการปรับพฤติกรรมการเรียนการสอนของครู และโรงเรียนสามารถกำหนดค่าน้ำหนักวิชาได้เอง เนื่องจากหลักสูตรจะมีความหลากหลาย และการวัดประเมินผลในแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานที่ต่างกัน ซึ่งการใช้หลักสูตรใหม่จะกระทบกับการคัดเลือกในช่วงปีการศึกษา 2548 ที่เด็กหลักสูตรใหม่สำเร็จการศึกษา และในเบื้องต้นที่ประชุมได้เสนอให้ใช้การทดสอบมาตรฐานกลางหรือ SAT ควบคู่กับการพิจารณาคะแนนเฉลี่ยสะสมเป็นการแก้ปัญหากรณีดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 8)





ศธ.ร้องขาดครูร่วม 9 หมื่นคน

นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาครูในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขาดแคลน ว่า จากที่คณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) ได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานอัตรากำลังครูและนักเรียน ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2544 อย่างละเอียด พบว่า ศธ. มีสถานศึกษาอยู่ในสังกัดทั้งสิ้น 33,028 แห่ง นักเรียน นักศึกษา จำนวน 10,299,215 คน จำนวนห้องเรียน 383,798 ห้อง จำนวนครูที่ประจำการอยู่ในสถานศึกษาจริง 496,916 คน ครูตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) จำนวน 557,709 คน ซึ่งพบว่ายังมีครูที่ขาดแคลนอีก 80,789 อัตรา ศธ. ได้ดำเนินการแก้ปัญหาขาดแคลนครูโดยการจ้างครูอัตราจ้าง 28,021 อัตรา และยังมีนโยบายให้ส่งตัวครูที่ไปช่วยราชการ ซึ่งมีทั้งที่ไปช่วยในกรมเดียวกัน ภายในกระทรวงเดียวกันและต่างกระทรวง ให้ไปทำหน้าที่สอนยังสถานศึกษาเดิม และไม่อนุญาตให้ข้าราชการครูไปช่วยราชการเพิ่มอีก (สยามรัฐ อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





มาตรฐานเด็กไทยอยู่อันดับ44

นายรุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยว่า สถาบันบริหารและการจัดการนานาชาติ (International Institute Management Development IMD) ซึ่งเป็นสถาบันที่ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในปี 2544 IMD ได้ประเมินสถานภาพและจัดอันดับความสามารถด้านการศึกษาในภูมิภาคต่างๆ รวม 49 ประเทศ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 49 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 8 จาก 11 ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งยังนำอินโดนีเซีย จีน และอินเดีย ขณะที่อันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ รองลงมาเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี ฟิลิปปินส์ และมาเลเชียตามลำดับ (สยามรัฐ พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





ห้องสมุดริมรั้ว

“ห้องสมุดริมรั้วสำหรับคนเดินทาง” เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนในอีกมุมหนึ่งที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษา โดยเฉพาะในชุมชนแออัดศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยได้ร่วมกัน บิ๊กซีซุปเปอร์เซนเตอร์ จำกัด จัดรูปแบบการส่งเสริมการอ่านโดยจัดทำตู้ห้องสมุดริมรั้วสำหรับคนเดินทาง ตั้งไว้บริการสำหรับผู้เดินทางตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น สถานีขนส่งเอกมัย สถานีรถไฟ ป้ายรถประจำทาง สวนสาธารณะ ชุมชนแออัด ในส่วนภูมิภาคได้จัดบริการแล้วเช่นกัน ที่จังหวัดสมุทรปราการและภูเก็ต (สยามรัฐ พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


10 ข่าวเด่น วงการวิทยาศาสตร์ปี 44

“ไซแอนซ์” (Science) วารสารชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสหรัฐ เผย 10 ข่าวเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ประจำปี 2544 อันดับ 1 ข่าวการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ซึ่งมีชื่อว่า “นาโนคอมพิวเตอร์” โดยคอมพิวเตอร์ชนิดนี้มีขนาดเล็กมากเทียบเท่ากับโมเลกุลเพียง 2-3 ตัวเท่านั้น ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาคิดค้นและพัฒนานานแรมปีกว่าจะประสบความสำเร็จและใช้งานได้จริง อันดับ 2 คือ ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในการถอดรหัสพันธุกรรมทุกตัวของมนุษย์ หรือที่เรียกกันว่า โครงการ “ฮิวแมน จีโนม” ข่าวเด่นอันดับ 3 คือการพัฒนายาที่มีคุณสมบัติตรวจหาความบกพร่องในเซลล์ซึ่งมักนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็ง โดยบริษัทโนวาร์ติส ได้พัฒนายาตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า “กลีเวค” สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว หรือ ลิวคีเมียบางชนิดได้ ข่าวเด่นอันดับ 4 คือข่าวการค้นคว้าวิจัย “ซูเปอร์อะตอม” โดย เอริค คอร์เนลล์ และ คาร์ล ไวน์แมน ข่าวเด่นอันดับ 5 เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังเสื่อมโทรมลง มนุษย์คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นด้วยการปล่อยก๊าซ “คาร์บอนไดออกไซด์” ทำลายชั้นบรรยากาศโลก ข่าวเด่นอันดับ 6 คือ ข่าวการค้นพบว่าสหรัฐเป็นแหล่งรองรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ข่าวเด่นอันดับ 7 คือ โครงการที่พยายามทำความเข้าใจบทบาทของสิ่งที่เรียกว่า “อาร์เอ็นเอ” ในเซลล์ อาร์เอ็นเอสามารถควบคุมสารพันธุกรรม (ยีน) ไม่ให้เคลื่อนไหว และช่วยลดจำนวนของยีนได้ด้วย ข่าวเด่นอันดับ 8 คือ การค้นพบอนุภาพตัวใหม่ชื่อ “นิวตรินเอส” บนดวงอาทิตย์ ซึ่งมีคุณสมบัติเสมือนไร้มวล โดยนิวตรินเอส สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นรูปแบบอื่นๆ การค้นพบครั้งนี้ช่วยไขปริศนาความลึกลับของดวงอาทิตย์ที่มีมานาน 40 ปี ข่าวเด่นอันดับ 9 คือ ข่าวการประดิษฐ์ซูเปอร์คอนดัคเตอร์รุ่นใหม่ ซึ่งสามารถส่งกระแสไฟฟ้าโดยที่มีความต้านทานต่ำมากๆ ทำให้ประหยัดการใช้ไฟได้มหาศาล ส่วนข่าวเด่นอันดับ 10 คือ นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจได้มากขึ้นถึงการทำงานของเซลล์สมองของการรับส่งสัญญาณระหว่างกัน (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





คนไทยรู้จัก “นาโนเทค” เพิ่มมากขึ้น เข้าสู่ชีวิตประจำวัน-ชี้ไม่นานฉลุย

น.ส.ภาวดี อังค์วัฒนะ หัวหน้าโปรแกรมวิจัยเซรามิก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขาติ (สวทช.) กล่าวว่า แม้ว่าเรื่องของนาโนเทคโนโลยี หรือ นาโนเทค หรือเทคโนโลยีขนาดซูเปอร์จิ๋ว จะยังเป็นเรื่องคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยทั่วไปอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเอ็มเทค และสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง กำลังอยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ คนไทยเริ่มเข้าใจเรื่องไบโอเทคโนโลยี กันพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตามเวลานี้นาโนเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยบ้างแล้ว (มติชน อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





กฎหมายไอทีใช้แน่ 4 เม.ย.

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากฎหมายไอทีฉบับแรกของไทยว่า กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 เมษายน 2545 ซึ่งในระหว่างนี้จะออกพระราชกฤษฎีการองรับรายละเอียดของกฎหมาย รวมทั้งกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และวิธีการสรรหาคณะกรรมการธุรกรรมทางอีเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องมาจากภาครัฐ 6 คนและภาคเอกชน 6 คน (เดลินิวส์ พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





เนคเทค-สภาพัฒน์ยกร่างแผนแม่บทไอซี

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทค ร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับประเทศไทย (ICT Information Communication Technology) ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2545-2549 มีเป้าหมายเพื่อกำหนดแผนงาน และกิจกรรมเร่งด่วนด้านการพัฒนาไอทีและการสื่อสารโดยมีกำหนดเริ่มปฏิบัติภายในงบประมาณปี 2546 (แอคชั่นแพลน) และจะสอดคล้องกับกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2544-2553 หรือไอที 2010 รวมถึงจะต้องสอดคล้องไปกับแผนของพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ด้วย (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2544 หน้า 5)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องกะเทาะ-แยกเมล็ดยางพารา ผลงานชิ้นเยี่ยมของ “นักวิจัยมอ.”

ผศ.ดร.ยุทธนา ศิริวัธนนุกูล หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้สมุนไพรและพืชท้องถิ่นเพื่อการเลี้ยงสุกร ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมงาน จึงมีแนวคิดที่จะนำเนื้อในเมล็ดยางพารามาเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร แต่การที่จะนำเนื้อในออกจากเมล็ดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก จึงคิดค้นเครื่องกะเทาะและแยกเปลือกเมล็ดยางพาราขึ้นจนประสบผลสำเร็จ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานโครงการวิจัยการใช้สมุนไพรและพืชท้องถิ่นเพื่อการเลี้ยงสุกร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 0-7421-1059 (เดลินิวส์ อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 27)





เครื่องวัดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืช ผลงานชิ้นเยี่ยมของ..ม.เกษตร

รศ.ชัยวัฒน์ ชัยสกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ได้พัฒนาเครื่องวัดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืชขึ้น เดิมเครื่องวัดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืชเป็นแบบเข็มชี้ ต่อมาได้ปรับปรุงให้เป็นแบบตัวเลข ซึ่งรุ่นนี้ได้รับรางวัล ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเครื่องวัดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืชมาแล้วถึง 2 รุ่น ล่าสุดเป็นเครื่องที่ทำงานด้วยระบบไมโครโปรเซสเซอร์ ที่สามารถวัดความชื้นของเมล็ดพันธุ์พืชได้อย่างแม่นยำ โดยกลุ่มบริษัทต่างๆ ได้นำไปวัดความชื้นข้าวโพดและอาหารสัตว์ จนเป็นที่เผยแพร่ออกสู่ต่างประเทศ เช่น จีน ลาว พม่า และอินโดนีเซีย (เดลินิวส์ จันทร์ ที่ 24 ธันวาคม 2544 หน้า 24)





พบวิธีย้ายยีน “เอสเอชเอช” แก้ปัญหา “ผมร่วง”

วารสารของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนลในสหรัฐฯ ได้หาทางแก้ไขปัญหาผมร่วงในผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธีเคมีบำบัด โดยทดลองย้ายยีน ชื่อว่า โซนิกเฮ็ดจ์ฮ๊อก หรือ เอสเอชเอช ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของโปรตีนธรรมชาติ ช่วยเร่งกระบวนการทำงานของต่อมรากผมให้ทำงานไวขึ้น (มติชน พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





ผลิตยาแก้หวัดขนานใหม่รักษาชะงัดภายในวันเดียว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยต่อที่ประชุมโรคติดต่อซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมจุลชีววิทยาอเมริกัน ที่นครชิคาโก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้พัฒนายาแก้หวัดขนานแรกที่สามารถลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคหวัดธรรมดาลงได้เร็วกว่าปกติ คือ สามารถบรรเทาอาการเป็นหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้น ยาขนานนี้มีชื่อว่า pleconaril แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ ให้จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป (มติชน พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





ชี้สารไลโคฟีนสีแดงในมะเขือเทศ ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก

ข่าวแจ้งว่า นักวิจัยชาวสหรัฐได้ศึกษาพบว่า สารไลโคฟีน ซึ่งเป็นสารสีแดงที่พบในมะเขือเทศ และผลไม้ต่างๆ ช่วยลดระดับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากลงได้ เพราะสารไลโคฟีน จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเซลซึ่งเกิดผิดปกติเพราะอนุมูลอิสระ (มติชน พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





ดร.จีนแนะกินผักใบเขียวช่วยป้องกันมะเร็ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วารสารการแพทย์ GUT ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของ ดร.ซู ตงเสี่ยว แห่งสถาบันโรคลำไส้แห่งเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งระบุว่า การรับประทานพืชผักใบสีเขียวมากๆ อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ (มติชน พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





วศ.ผลิตลายขิตเซรามิกสำเร็จ

นายภาณุพงศ์ หลาบขาว นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก วศ.ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ลายขิตเซรามิกได้สำเร็จ โดยนำลายขิตมาตกแต่งเป็นผลิตภัณฑ์ลายขิตเซรามิก และนำดินมาสานเป็นผลิตภัณฑ์รีดสานลายขิตเซรามิก เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถดึงดูดใจลูกค้า เพราะมีลวดลายและสีสันสวยงามและมีรูปแบบหลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ลายขิตเซรามิกสำหรับวางโทรศัพท์มือถือ ถาดผลไม้รูปทรงต่างๆ การทำผลิตภัณฑ์จักสานลายขิตทำโดยนำดินสีต่างๆกันมารีดเป็นเส้นแบนหรือเส้นกลม แล้วจักสานเป็นลวดลายขิต สีที่ต่างกันทำให้ลวดลายเกิดเป็นดอกของลวดลายหลังการเคลือบเผา ขณะสานสามารถสานบนแผ่นเรียบสี่เหลี่ยมธรรมดา เมื่อต้องการทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใดก็ทำแม่พิมพ์เอาไว้ก่อน เมื่อสานลายเสร็จขณะเนื้อดินที่สานยังคงมีนิ่มอยู่ก็สามารถนำลวดลายที่ได้ทาบลงหรือในแบบพิมพ์ที่เตรียมไว้ (มติชน อาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





นักวิทย์ผู้ดีถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ “ตัวที่3” สำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พานอส เดลูคัส นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน เวลล์คัม ทรัสต์ แซงเกอร์ ในเมืองเคมบริดจ์ของอังกฤษ สามารถถอดรหัสทางพันธุกรรมของโครโมโซมตัวที่สามของคน ซึ่งเป็นขุมทรัพย์คลังปัญญาอัดแน่นไปด้วยความรู้สารพัดโรค ตั้งแต่โรคอ้วน ผิวหนังอักเสบ ไปจนถึงโรคความจำเสื่อมและต้อกระจกได้แล้ว ข่าวแจ้งว่า นับจนถึงขณะนี้ โครโมโซม 20 ถือว่าเป็นโครโมโซมใหญ่ที่สุดของคนที่ถูกถอดรหัสออกมาเสร็จสมบูรณ์ ประกอบด้วยยีนหรือสารพันธุกรรมกว่า 727 ตัว และดีเอ็นเอเกือบ 60 ล้านตัว ยีน 32 ตัว ในจำนวนนี้เกี่ยวพันกับโรคที่เกิดจากพันธุกรรม เช่น โรคสมองฝ่อ ภูมิคุ้มกันผิดปกติร้ายแรง โรคหัวใจ เบาหวานและโรคผิวหนัง ข้อมูลเรื่องดังกล่าวอยู่ที่เว็บไซต์ของวารสารเนเชอร์ ของอังกฤษชื่อ www.nature.com (มติชน อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





โปรแกรมค้นหาและช่วยชีวิตในทะเล

โปรแกรมค้นหาผู้ประสบภัยทางทะเล หรือ Search and Rescue Program (S.A.R.) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการกู้ภัยทางทะเล โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ จาก Jet Propulsion Lab California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยโปรแกรมค้นหาผู้ประสบภัยทางทะเล กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวคณะนักวิจัยได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถพยากรณ์การเคลื่อนตัวของวัตถุที่ลอยไปตามกระแสน้ำ วัตถุดังกล่าวอาจจะเป็นเรืออับปาง เรือยาง คนที่ลอยตามน้ำ หรือคราบน้ำมัน ที่ผ่านมาไทยมีโปรแกรมที่สามารถพยากรณ์การเคลื่อนของวัตถุลอยน้ำ แต่ยังไม่มีโปรแกรมที่ใช้งานได้จริง (เดลินิวส์ อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





ข่าวทั่วไป


พื้นป่าชายเลนบางขุนเทียน ของขวัญปีใหม่ให้คนกรุง

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันครบครอบวันสถาปนาปีที่ 29 ของกรุงเทพมหานคร สำนักผังเมืองได้ร่วมกับ สำนักงานเขตบางขุนเทียน หน่วยงานต่างๆ และชุมชนในพื้นที่ ช่วยกันปลูกต้นกล้าไม้โกงกางและพันธุ์ไม้อื่นๆ จำนวน 10,000 ต้นตามบริเวณริมทางเดินศึกษาธรรมชาติจาก คลองพิทยาลงกรณ์-คลองโล่ง ทำให้ปลูกต้นไม้ได้รวมทั้งสิ้น กว่า 15,000 ต้นในขณะนี้ และยังคงปลูกต่อไปให้ได้ 25,000 ต้นในเดือนมีนาคม 2545 เพื่อให้ได้ป่าชายเลนที่มีสภาพที่สมบูรณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เตรียมเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ชาวกรุงเทพมหานคร (สยามรัฐ พุธที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





สวนหลวงทำตลาดน้ำ เมษาฯปีหน้าได้เที่ยว

นายสนบ ตั้งจิตสมบูรณ์ ผู้อำนวยการเขตสวนหลวงฯ เปิดเผยว่า เขตร่วมกับกลุ่มประชาคมเขตสวนหลวง ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Invesment Fund-SIF) 2,329,500 บาทขณะนี้กำลังสร้างตลาดน้ำในพื้นที่ใต้สะพานข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ถ.ศรีนครินทร์ โดยส่งเสริมให้ 35 ชุมชนในเขตทำโครงการประชารัฐตลาดน้ำเขตสวนหลวงให้เสร็จภายใน มี.ค-เม.ย.45 เพื่อทำเป็นศูนย์กลางการค้าขายผลิตผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลของเขต (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





แพทย์ไทยโชว์วิชาหลายมิติ

กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี แจ้งว่า จะจัดงานชุมนุมแพทย์แผนไทยสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 วันที่ 17-31 มกราคม 2545 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์และศูนย์อบรมการแพทย์แผนไทย (อาคารทรงไทย) ทั้งนี้ ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ตลาดนัดสมุนไพรจาก 4 ภาค มุมชงชา เปิดให้ฟรี มุมไวน์สุขภาพ เปิดชิมฟรี มุมอาหาร 4 ภาค, มุมผลิตภัณฑ์ 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล ชมถ้ำฤาษี เขามอหรือถ้ำครูแผนไทย ร่วมกิจกรรมสู่เส้นทางธรรมด้วยการเจริญวิปัสนากรรมฐานภายในถ้ำ เปิดตัวพิพิธภัณฑ์ 9 ห้อง, ชมศูนย์เพาะเนื้อเยื่อพันธุ์สมุนไพรหายาก และตลาดนัดผักพื้นบ้าน 4 ภาค (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





สายไหมคึกให้พูดอังกฤษ นร.ภารโรงแม่ค้าไม่มีเว้น

นางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ ผู้อำนวยการเขตสายไหม เปิดเผยว่า เขตสายไหม ได้จัดโครงการวันภาษาสากลขึ้นที่โรงเรียนซอยแอนเนกซ์ (กาญจนาภิเษก 2) โดยกำหนดให้มีการฝึกพูดภาษาอังกฤษทุกวันอังคาร ซึ่งนักเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถม 6 จำนวน 1,060 คน บุคลากรในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหาร นักการ พ่อค้า แม่ค้า จำนวน 57 คน ต้องสนทนาเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่ก้าวเข้าสู่รั้ว ซึ่งจะมีครูสอนภาษาอังกฤษทั้งชาวไทยและต่างประเทศคอยสอนภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องตั้งแต่ระดับเบื้องต้นไปจนระดับสูง กิจกรรมดังกล่าวจะสามารถช่วยให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษ สร้างความกระตือรือล้นให้การเรียนภาษาอังกฤษภายในห้องเรียน และสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2544 หน้า 34)





หมอชี้ “ตรวจสุขภาพประจำปี” แหกตา เป็นสินค้าทุนนิยมจี้รื้อระบบสิทธิขรก.

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) กล่าวว่า สถานพยาบาลหลายแห่งได้โฆษณาเชิญชวนประชาชนไปใช้บริการตรวจสุขภาพในช่วงใกล้ปีใหม่กันจำนวนมาก โดยจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพเป็น “แพ็กเกจ” หรือชุดประหยัดในราคาตั้งแต่ 2,000 บาท ไปจนถึงระดับหมื่นกว่าบาท การกระทำเช่นนี้เป็นการฉวยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นตัวเรื่องการสร้างสุขภาพมาทำกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ สสส. ได้ระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ในเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วได้ข้อสรุปในเรื่องการตรวจสุขภาพสำหรับสังคมไทยว่า ต้องรณรงค์ทำความเข้าใจกันใหม่ทั้งสังคมว่า หัวใจของการตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีประโยชน์ ขณะเดียวกันต้องทบทวนระเบียบของกระทรวงการคลังเรื่องสิทธิในการเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีของข้าราชการโดยเร่งด่วน เพราะได้สร้างแนวทางปฏิบัติที่ผิด ความเข้าใจที่ผิดสร้างมาตรฐานที่ผิดให้สังคมมาโดยตลอด (มติชน อาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





กองระบาดเตือนระวัง! โรคติดต่อชาวต่างชาติแฝงทำงาน-รักษาในไทย

กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า สถานบริการสุขภาพทั้งใน กทม.และภูมิภาคได้รายงานผ่าน เครือข่ายระบบเฝ้าระวังโรคมายังกองระบาดวิทยา ถึงภาวะการเฝ้าระวังโรคในชาวต่างชาติในช่วงปี 2539-2544 ว่า จากการติดตามโรคในชาวต่างชาติสองกลุ่มคือ กลุ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทย และกลุ่มที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย และนักท่องเที่ยว พบว่าถ้าจำแนกตามเชื้อชาติกลุ่มที่เข้ามารับการรักษามากที่สุดคือ ชาวพม่า รองลงไปคือลาวและกัมพูชา (มติชน อังคารที่ 25 ธันวาคม 2544 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215