หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 2002-01-08

ข่าวการศึกษา

มิติใหม่ของมหาวิทยาลัยรัฐปรับตัวสู่ความเป็น ม. ในกำกับ
ระวังการเปลี่ยนผ่านอุดมศึกษาเสรีและการค้า
ม.ค. ชี้ขาดมอบอำนาจ จว. นำร่องเขตพื้นที่การศึกษา
กยศ. โบ้ยต้นเหตุเด็กราชภัฏฆ่าตัวตาย แจงเกณฑ์ผ่อนผันชำระหนี้คืนกองทุน
ทบวงฯทำโครงการพัฒนาเด็กพิการ-ออทิสติก อธิการฯ มข. ยันไม่กีดกันแต่สาธิตไม่พร้อมรับ
เตือนครูไม่จบ ป.ตรี มีสิทธิถูกก.พ. แย้งไม่เข้าเกณฑ์-อดเข้าบัญชีเงินเดือนใหม่
มหา’ลัยจะออกนอกระบบราชการ..แล้วกิจกรรมนิสิตจะออกกับเค้าด้วยมั้ย?
“สุวิทย์” ตามบี้หาเหตุอันดับศึกษาไทยตกต่ำ
ภาคเหนือสุดฮิต!สร้างบ่อก๊าซชีวภาพสารพัดประโยชน์…ผลิตไฟฟ้า-ทำปุ๋ย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

“เอ็มเทค” เปิดถ่ายทอดเทคโนโลยีโลหะ
ชี้ “เตาเผาศพ” กทม. มาตรฐานยังต่ำ-พบสารพิษจากศพจี้รัฐลงทุนเพิ่ม
นาซาประกาศโครงการค้นหาโลกดวงใหม่ ส่งยานล่าดาวนพเคราะห์นอกระบบสุริยะ
ผลิตภัณฑ์เล่นเพลงยอดฮิตปี 2545
อินเตอร์เน็ต 2 อนาคต 3 มิติของไซเบอร์เวิร์ลด์
โคลนนิ่ง อนาคตแห่งมนุษยชาติ?
พบดาวเคราะห์มีบรรยากาศดวงแรกนอกระบบสุริยะ (จบ)
โครงการ”ติดดาวพลังงาน” รณรงค์ใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
ชุดท่องอวกาศดิจิทัล

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักวิจัยฟีโบ้พัฒนาฮาร์ดดิสก์
ไอเดียเด็ด!!Plug& Save อุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟฟ้า
สธ.ตั้งกองทุนจ่ายค่าเหนื่อยนักวิจัย
ล็อกเกอร์บัตรแม่เหล็ก
สหรัฐใช้รังสีเข้มข้นรักษามะเร็ง
พบเชื้อจุลินทรีย์ 2 ชนิดขจัดสารเบนซินได้ผล
ชี้กินวิตามินเอมากเกินขนาดเสี่ยงกระดูกพรุน
นักวิจัยมะกันเผย”ยาคุมกำเนิด”ต้านมะเร็งรังไข่
เส็กเวย์ ยานยนต์ปฏิวัติ!?
กึ๋นคนไทยสร้างเครื่องบิน 2 ที่นั่งสำเร็จ
ทดลองใช้”จุลินทรีย์”ย่อยซากพืช ฝันอนาคตผลิตเชื้อเพลิงใช้ในปท.
สกว.ตั้งเป้าปี 45 ตอบคำถามสังคมงานวิจัยใช้ประโยชน์ประจำวันได้

ข่าวทั่วไป

เขมรสั่งห้ามสร้างบ้านไทยอ้างบ่อนทำลายวัฒนธรรม
ดึงจุดเด่นขายนักท่องเที่ยว ทำป้ายชื่อยาวที่สุดในโลก
ชี้เหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนไทยต้นเหตุใหญ่รัฐพัฒนาประเทศ
โรคหัวใจฆาตกรอันดับหนึ่งในสหรัฐ





ข่าวการศึกษา


มิติใหม่ของมหาวิทยาลัยรัฐปรับตัวสู่ความเป็น ม. ในกำกับ

จากเงื่อนไขของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ไว้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในการขอกู้ยืมเงินเมื่อปี 2540 ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิยาลัยในกำกับของรัฐบาลภายในปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการอุดมศึกษาของประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทดลองเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เมื่อปี 2541 ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งระบบการบริหารงานแบบใหม่ รวมไปถึงความไม่เข้าใจของบุคลากรจนเวลาผ่านไป 3 ปี สภาพการณ์ภายในของ มจธ. จึงเริ่มเข้ารูปเข้ารอย สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เป็นแรงจูงใจพอที่จะฉุดดึงให้มหาวิทยาลัยที่เหลือยินยอมทดลอง จากแผนแรก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ที่กำหนดให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.นเรศวร ม.มหิดล ม.ทักษิณ และ ม.บูรพา รวมทั้งสิ้น 5 มหาวิทยาลัย ต้องออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2542 นั้น แต่เอาเข้าจริงก็ปรับแผนปฏิบัติการใหม่ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2543 เนื่องจากในปี 2542 มีเพียงจุฬาฯ และม.นเรศวร เท่านั้น ที่ส่งร่าง พ.ร.บ. ออกนอกระบบ เมื่อมีการกำหนดแผนใหม่ให้ ม.เชียงใหม่ ม.รามคำแหง ม.แม่โจ้ ม.มหาสารคาม ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.มหิดล ม.ทักษิณ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะต้องออกจากระบบราชการในปี 2543 นั้น ปรากฏว่า ทุกมหาวิทยาลัยยังไม่มีใครยอมก้าวออกมาแม้แต่ก้าวเดียว และในปี 2544 ถึงเวลาของ ม.อุบลราชธานี ม.ขอนแก่น ม.ศิลปากร ม.สงขลานครินทร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ม.เกษตรศาสตร์ ม.บูรพา และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จะต้องปรับสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ยังไม่ส่งร่าง พ.ร.บ. ออกนอกระบบอีกจำนวน 16 แห่ง และจนถึงสิ้นปี 2544 ที่ผ่านมา แผนดังกล่าว ก็ถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนไปอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้มีมหาวิทยาลัยที่ส่งร่าง พ.ร.บ. ให้ทบวงมหาวิทยาลัยแล้ว แค่ 8 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 12 แห่ง จนถึงเวลานี้ก็ยังอยู่ในขณะดำเนินการโดยบางมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ. หรือบางมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างจัดทำประชาพิจารณ์ หรือบางมหาวิทยาลัย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย แต่อย่างไรก็ดีทุกมหาวิทยาลัยต่างยืนยันที่จะส่งร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยให้ทบวงฯ ภายในปี 2545 นี้ ยังมีมหาวิทยาลัยอีกสถาบันที่ยึดมั่นกับแผนการดำเนินงานเสมอมา คือ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ประกาศชัดเจนจะขอออกนอกระบบราชการเป็นมหาวิทยาลัยสุดท้าย (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 8)





ระวังการเปลี่ยนผ่านอุดมศึกษาเสรีและการค้า

ในปีพ.ศ.2545 เค้าร่างของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ จะถูกผลักดันกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากสาเหตุที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้กับธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (ADB) มหาวิทยาลัยของรัฐ 22 แห่ง จะต้องมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล (Autonomous University) การเปิดเสรีอุดมศึกษาเพื่อการแข่งขันให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาเปิดสาขาในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ การประเมินคุณภาพภายในและภายนอก ด้วยความเชื่อในการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นเชิงปริมาณของภาคเอกชน และระบบโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามช่วงการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยจากระบบราชการมาสู่อุดมศึกษาเสรีกระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีการค้าในเชิงอุดมศึกษามีข้อที่ควรระวังในเชิงผลกระทบต่อคุณภาพของบัณฑิต ทิศทาง และภารกิจของมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรในหลายประการดังต่อไปนี้ 1) มหาวิทยาลัยของรัฐแต่ละแห่งมีขนาดเล็กลง หดตัวลงในเชิงของคณาจารย์ บุคลากรในแต่ละสาขา งบประมาณที่จัดสรรลดลงตามลำดับ 2) คุณภาพของบัณฑิตแต่ละสาขาจะลดต่ำลง ทั้งในเชิงเนื้อหาวิชาการ วุฒิภาวะทางด้านสังคม จริยธรรมและบุคลิกภาพ3) สภาพการนำมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนโรงงานอุตสาหกรรม ในการประกันคุณภาพระบบประเมิน ประสิทธิภาพของคณาจารย์ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 4 มกราคม 45 หน้า 2)





ม.ค. ชี้ขาดมอบอำนาจ จว. นำร่องเขตพื้นที่การศึกษา

นายสมบัติ กลิ่นผา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการนำร่องปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งแบ่งเป็น 2 เขตพื้นที่การศึกษาว่า ได้สรรหาคณะกรรมการเขต ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนายการสำนักงานเขต รวมถึงบุคลากรแล้วคาดว่าจะเริ่มทดลองแผนปฏิบัติการในราวเดือนสิงหาคม ส่วนการมอบอำนาจจากปลัดศธ. และกรมต้นสังกัดจะพิจารณาในคณะกรรมการโครงการนำร่องปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในวันที่ 11 มกราคมนี้ เพื่อมอบอำนาจให้ได้มากที่สุดภายใต้กฎหมายและระเบียบปัจจุบัน ทั้งด้านงบประมาณ การเบิกจ่าย และการโยกย้ายข้าราชการ ส่วนผู้อำนวยการเขตที่มาจากผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ จะต้องสรรหาคนใหม่มาแทนโดยคณะกรรมการเขตจะเป็นผู้คัดเลือกและ ศธ. จะลงนามแต่งตั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า (มติชน ศุกร์ ที่4 มกราคม 2545 หน้า 10)





กยศ. โบ้ยต้นเหตุเด็กราชภัฏฆ่าตัวตาย แจงเกณฑ์ผ่อนผันชำระหนี้คืนกองทุน

นายฤทธิ์ ฉวีรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงกรณีมีข่าวว่ามีนักศึกษาสถาบันราชภัฏศรีสะเกษคนหนึ่งฆ่าตัวตาย โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากความเครียดเพราะเป็นหนี้เงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ทาง กยศ. ได้ตรวจสอบรายละเอียดแล้ว ทราบว่านักศึกษาดังกล่าวกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องมีการชำระหนี้ โดยผู้ที่ต้องชำระหนี้คือผู้ที่จบการศึกษาแล้ว 2 ปี แต่หากยังไม่พร้อมชำระหนี้ ก็มีระยะเวลาปลอดหนี้ และถึงแม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาไปแล้ว แต่หากยังไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่มีเงินเดือนต่ำกว่า 4,700 บาท ก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันการชำระหนี้ได้ และการชำระหนี้สามารถชำระในอัตราต่อเดือนเพียงไม่กี่ร้อยบาท นานถึง 15 ปี (มติชน พุธ ที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 10)





ทบวงฯทำโครงการพัฒนาเด็กพิการ-ออทิสติก อธิการฯ มข. ยันไม่กีดกันแต่สาธิตไม่พร้อมรับ

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าขณะนี้ทางกลุ่มศึกษาศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังหาแนวทางที่จะพัฒนาเด็กพิการ และออทิสติก นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่รับเด็กเหล่านี้เข้าเรียน เช่น วิทยาลัยราชสุดา รับนักศึกษาตาบอด เป็นใบ้ และพิการเข้าเรียนร่วมกับนักศึกษาปกติ ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาฯ ได้เสนอโครงการระยะยาวเพื่อพัฒนากิจกรรม ทักษะการเรียนการสอน และหลักสูตรให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนในโรงเรียนสาธิต และเรียนสูงขึ้นโดยเฉพาะในสาขาวิชาที่ไม่ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ โดยจะประชุมพิจารณาโครงการเร็วๆ นี้เพื่อเสนอ รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ เพื่อของบประมาณสนับสนุน (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 10)





เตือนครูไม่จบ ป.ตรี มีสิทธิถูกก.พ. แย้งไม่เข้าเกณฑ์-อดเข้าบัญชีเงินเดือนใหม่

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยถึงแนวคิดนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ไม่จบปริญญาตรีว่า ที่ผ่านมาสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เสนอให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องพัฒนาครูที่ไม่จบปริญญาตรีให้ได้ภายใน 5 ปี ระหว่างนั้นจะได้ใบปฏิบัติการสอน หรือหากครูไม่อยากเรียนต่อ ก็สามารถเสนอผลงานต่อสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อขอรับประเมินได้ รวมถึงยังเป็นครูต่อไปในระบบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ หรือหากอยากเข้าตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ครูก็ทำได้ การให้ใบอนุญาตฯจะเกี่ยวพันระบบบัญชีเงินเดือนใหม่ด้วย หากผู้ที่ไม่จบปริญญาตรีได้รับใบอนุญาตฯ ก็อาจถูกย้ายจาก ก.พ. ไม่ให้เข้าระบบบัญชีเงินเดือนใหม่ได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ วิชาชีพครูชั้นสูง อาจต้องเข้าระบบเงินเดือนเก่าต่อไป (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 10)





มหา’ลัยจะออกนอกระบบราชการ..แล้วกิจกรรมนิสิตจะออกกับเค้าด้วยมั้ย?

“มหา’ลัยจะออกนอกระบบราชการ..แล้วกิจกรรมนิสิตจะออกกับเค้าด้วยมั้ย???. คือหัวข้อพูดคุยกันของ “เสวนาคาเฟ่” ครั้งที่ 3 ที่จุฬาฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นในประเด็นปัญหาความซบเซาของกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันว่า มีสาเหตุอยู่ที่ไหน และจะหาทางออกได้อย่างไร ผู้เข้าร่วมเสวนามีทั้งที่มาจากนิสิตและนิสิตเก่า ที่มีภูมิหลังและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายเกี่ยวกับการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจากนายปกรณ์ เลิศเสถียรชัย นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ประเภท คือกิจกรรมในสังกัด มีองค์กรรองรับอย่างเป็นทางการ ใช้งบฯ สนับสนุนจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัย แต่มีผู้เข้าร่วมน้อย และกิจกรรมนอกสังกัด ได้แก่ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี ซึ่งมีคนทำมาก ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจรับรู้รับฟังที่ http://www.geocities.com/unlv_soc/ (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 10)





“สุวิทย์” ตามบี้หาเหตุอันดับศึกษาไทยตกต่ำ

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารระดับสูง ศธ. ว่าได้หารือเรื่องการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งตนได้กำชับให้สามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง มีการตั้งข้อสังเกตว่าในอดีตสหรัฐอเมริกาเคยกระจายอำนาจให้โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมจัดทำหลักสูตรเอง ผลปรากฏว่าล้มเหลว จึงให้ติดตามและประเมินผลการอบรมครูในเรื่องนี้มาให้นายสุวิทย์ รับทราบในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการจัดสำดับการศึกษาว่าทำไมไทยจึงด้อยลงทั้งที่ผลการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ด้อย จึงให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไปตรวจสอบดูว่าไทยอยู่ลำดับท้ายจริงหรือไม่ และใช้มาตรฐานอะไรมาวัด เพื่อรายงานต่อไป(มติชน พฤหัสบดี ที่ 3 มกราคม 2545 หน้า 10)





ภาคเหนือสุดฮิต!สร้างบ่อก๊าซชีวภาพสารพัดประโยชน์…ผลิตไฟฟ้า-ทำปุ๋ย

สำนักงานเกษตรภาคเหนือ โดย คุณอภิชาติ อติเวทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ภาคเหนือมีการรณรงค์ให้ประชาชนและพี่น้องเกษตรกร ช่วยกันประหยัดพลังงานของชาติ โดยสนับสนุนการสร้างบ่อก๊าซหุงต้ม และพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบันเกษตรกรภาคเหนือได้มีการสร้างบ่อก๊าซชีวภาพไปแล้วทั้งหมด 1,141 บ่อ สามารถใช้ในการหุงต้มแทนก๊าซได้ถึง 6,300 ครัวเรือน ผู้สนใจต้องการจัดทำบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษและนำพลังงานมาใช้ให้ได้ประโยชน์ สามารถติดต่อขอดูงานหรือข้อมูลโดยตรงที่ คุณอภิชาติ อติเวทิน โทร.053-221209 เวลาราชการ (เดลินิวส์ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 23)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


“เอ็มเทค” เปิดถ่ายทอดเทคโนโลยีโลหะ

นายปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมโลหะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศอื่นๆ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อประโยชน์ในการยกระดับอุตสาหกรรมโลหะให้ดียิ่งขึ้น เอ็มเทคได้ร่วมมือกับหน่วยปฏิบัติการเครือข่ายโลหะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรมหลักสูตร โลหะวิทยาพื้นฐานสำหรับวิศวกร ระยะเวลา 60 ชั่วโมง ในเดือนเมษายน 2545 เพื่อปูพื้นฐานจากโลหะวิทยากายภาพไปสู่การประยุกต์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ โดยใช้กรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้งานได้ทันที หน่วยงานใดที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับรายละเอียดได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 15 กุมภาพันธ์ 2545 ที่งานฝึกอบรม เอ็มเทค โทร. 0-2642-5345-9 ต่อ 48-50 E-mail : conference@mtec.or.th หรือ http://www.mtec.or.th (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 7)





ชี้ “เตาเผาศพ” กทม. มาตรฐานยังต่ำ-พบสารพิษจากศพจี้รัฐลงทุนเพิ่ม

นายจารุพงศ์ บุญ-หลง อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจการปล่อยไดออกซิน จากเตาเผาศพในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปี 2544 ของคพ. พบว่าแม้วัดหลายแห่งจะหันมาใช้ระบบเตาเผาศพที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดมลพิษแล้วก็ตาม แต่ก็ยังตรวจพบไดออกซิน ฟิวแรน มีตัวเลขสูงในระดับที่น่าตกใจ คือมีระดับการปลดปล่อยเกินกว่าค่ามาตรฐานเป็น 100 เท่า สำหรับอันตรายของสารไดออกซิน ฟิวแรน ไม่ทำให้เกิดอาการพิษหรือตายอย่างทันที แต่อาการจะค่อยๆ เกิดและเพิ่มความรุนแรงถึงตายได้ โดยอาการเฉียบพลันที่ปรากฏ คือทำให้เกิดโรคผิวหนังขึ้นเป็นสิวหัวดำ มีถุงสีน้ำตาลอมเหลืองของผิวหนังบริเวณหลังใบหู ขอบตา หลัง ไหล่ และสารไดออกซินยังเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อได้รับสารติดต่อกันไปในปริมาณมาก จะเป็นเนื้องอกในอวัยวะต่าง ๆ (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 7)





นาซาประกาศโครงการค้นหาโลกดวงใหม่ ส่งยานล่าดาวนพเคราะห์นอกระบบสุริยะ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือองค์การนาซา ในสัปดาห์สุดท้ายของปีที่ผ่านมานาซาได้คัดเลือกภารกิจอวกาศครั้งใหม่ 2 โครงการ คือ 1. ส่งยานสำรวจไปเยือนดาวเคราะห์น้อยใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะสองดวง 2. ตรวจสอบแกนเอกภพ เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลก โครงการแรกนั้น นาซาจะส่งยานสำรวจ “รุ่งอรุณ” หรือ “ดอน” ขึ้นไปเยือนดาวเคระห์น้อยเซเรสและเวสต้า ซึ่งโคจรอยู่ระหว่างดาวอังคาร กับดาวพฤหัสบดี ส่วนโครงการหลังจะเป็นการส่งยานอวกาศไปสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ เคปเลอร์ ท่องไปค้นหาดาวนพเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลก (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 7)





ผลิตภัณฑ์เล่นเพลงยอดฮิตปี 2545

เวบไซต์คอมพิวเตอร์เวิลด์ จัดอันดับผลิตภัณฑ์เล่นเพลงที่คาดว่าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปี 2545 เพื่อรองรับการแข่งเดือดตลาดเพลงออนไลน์ หลังค่ายเพลงดังหันจับมือ ทยอยเปิดบริการเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งผลตลาดเพลงออนไลน์คึกคักเป็นพิเศษ คาดเครื่องเล่น เอ็มพี 3 มาแรง เริ่มต้นด้วย “มาสดา เอ็มพี 3“ (Mazda MP3) จากบริษัท มาสดา มอเตอร์ คอร์ป. ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น ที่หันมาผลิตเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ด้วย โดยกำหนดราคาไว้ที่ 18,500 ดอลลาร์ เวฟ/พีซี (Wave/PC) ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อดาวน์โหลดเพลง และฟังวิทยุอินเทอร์เน็ตได้อย่างราบรื่น “บอส เวฟ/พีซี อินเตอร์แอ็คทีฟ ออดิโอ ซิสเต็ม” (Boss Wave/PC Interactive Audio System) ราคา 499 ดอลลาร์ ยิ่งทำให้การรับฟังเพลงได้อย่างสุนทรียิ่ง นอกจากนี้ ผู้ค้ายังมีสายเคเบิลความยาว 15 ฟุต เพื่อเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มินิซีดี/เอ็มพี 3 เพลเยอร์ (Mini CD/MP 3 Player) ไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก และเล่นเพลงได้นานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง “ริพโก” (RipGo) เครื่องเล่นเอ็มพีสามขนาดเท่าฝ่ามือ ซึ่งดูเผิน ๆ อาจเหมือนกับเครื่องเล่นเอ็มพี สาม ของบริษัท ทีอีเอซี เพราะเล่นกับแผ่นซีดี ขนาด 80 มิลลิเมตร ความจุ 185 เมกะไบต์ได้เช่นกัน แต่ต่างกันที่สามารถเล่นได้ทั้งไฟล์เอ็มพี3 และไฟล์ในสกุลดับเบิลยูเอ็มเอ (WMA) ของวินโดว์ส มีเดีย จากไมโครซอฟท์โดยเล่นไฟล์เพลงได้นานถึง 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ ริพโก เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท อิเมชั่น คอร์ป. วางจำหน่ายในราคา 399 ดอลลาร์ ดิสกลาเวีย (Disklavier) เปียโนระบบดิจิทัล ออกมาชิงตลาดส่วนแบ่งเช่น ยามาฮ่า ดิสกลาเวีย มาร์ค ทรี ซิงกิ้ง เปียโน (Yamaha Disklavier Mark III Singing Piano) อยู่ที่ 31,000 ดอลลาร์ และหากต้องการลูกเล่นมากกว่านั้น ก็อาจแพงถึง 100,000 ดอลลาร์ได้ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 6)





อินเตอร์เน็ต 2 อนาคต 3 มิติของไซเบอร์เวิร์ลด์

อินเตอร์เน็ต 2 เป็นความพยายามในการพัฒนาและติดตั้งเครือข่ายของเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นในระดับก้าวหน้า เป้าหมายก็คือเพื่อเร่งหรือร่นระยะเวลาในการรังสรรค์เครือข่ายอินเตอร์เน็ตใหม่สำหรับวันพรุ่งนี้ขึ้นมา หากเป็นไปตามความคาดหมาย สิ่งที่กอรปขึ้นเป็นอินเตอร์เน็ต 2 นั้น จะทำให้อินเตอร์เน็ตที่เราเห็นอยู่ สัมผัสอยู่ในปัจจุบันนี้มีสภาพเสมือนเด็กทารกยังไม่หัดเดินเลยทีเดียว เป้าหมายเบื้องต้นที่กำหนดไว้ของ อินเตอร์เน็ต 2 ประกอบด้วย -การสร้างสรรค์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระดับก้าวหน้าสุงสุดให้มีศักยภาพเพียงพอต่อแวดวงการวิจัยในระดับชาติ -กำหนดเป็นหลักประกันไว้ว่า จะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของการให้บริการเครือข่ายแบบใหม่และแอพพลิเคชั่นอินเตอร์เน็ตแบบใหม่ไปยังชุมชนอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติในโลกไซเบอร์บนอินเตอร์เน็ต 2 ก็คือ ความคิดริเริ่มเรื่อง เทเล-อิมเมิร์สชั่น เทเล-อิมเมิร์สชั่น เป็นเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต (ต้องเป็นอินเตอร์เน็ต 2 ) อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันราวกับว่า ทั้งหมดกำลังอยู่ในห้องเดียวกันในเวลาที่เป็นเรียลไทม์ (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 20)





โคลนนิ่ง อนาคตแห่งมนุษยชาติ?

โคลนนิ่งหมายรวมถึงการปฏิบัติการเชิงชีววิทยาใน 3 รูปแบบที่แตกต่างกันออกไปดังนี้ 1)เอ็มบริโอ โคลนนิ่ง เป็นเทคนิคทางการแพทย์ซึ่งสามารถสร้างคนขึ้นมาใหม่ ให้เหมือนกับต้นแบบ ซึ่งอาจเป็นหนึ่ง สอง หรือสาม โดยหลักการแล้วนี่เป็นการลอกแบบการสร้างเด็กแฝดในธรรมชาติมาใช้นั่นเอง 2) ดีเอ็นเอ โคลนนิ่ง หรือการแทนที่นิวเคลียสของเซลล์ เทคนิคนี้ใช้เพื่อการจำลองสัตว์ที่มีชีวิตอยู่และเจริญวัยเต็มที่แล้ว ดอลลี่ แกะชื่อดังที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการโคลนนิ่งก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคนิคนี้ 3) เธราพิวติก โคลนนิ่ง วิธีการของเธราพิวติกโคลนนิ่ง นั้นเริ่มต้นแบบเดียวกับดีเอ็นเอ โคลนนิ่ง แต่มีส่วนแตกต่างอย่างใหญ่หลวงก็คือ จะไม่มีการปล่อยให้ไข่ที่ถูกแทนที่ดีเอ็นเอแล้วเติบโตขึ้นเป็นสัตว์ หรือคนเต็มตัว แต่จะใช้ประโยชน์จากกระบวนการพัฒนาของไข่ ที่ถูกแทนที่ดีเอ็นเอและถูกกระตุ้นแล้ว ซึ่งจะสร้างสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดขึ้นมา ด้วยการแยกสเต็มเซลล์ออกมาเพื่อพัฒนาให้เป็นเนื้อเยื่อ หรือเป็นอวัยวะหนึ่งอวัยวะใดของคนเต็มรูปแบบ สำหรับนำไปปลูกถ่ายให้กับเจ้าของสเต็มเซลล์ต่อไป ในขณะที่ตัวอ่อนซึ่งถูกแยกสเต็มเซลล์ออกมาแล้วจะถูกทำลาย 4) การโคลนนิ่ง ในรูปแบบที่ 2 และ 3 นี่เองที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเมื่อปีที่ผ่านมา ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสเต็มเซลล์จะเป็นอนาคตของวิธีการรักษาโรคร้ายหลายชนิดสำหรับมนุษยชาติในอนาคต ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านว่านั่นคือการเข่นฆ่าทำลายชีวิตคนเพื่อรักษาอีกชีวิตหนึ่งเอาไว้ (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 20)





พบดาวเคราะห์มีบรรยากาศดวงแรกนอกระบบสุริยะ (จบ)

หลังการค้นพบดาวเคราะห์จากระบบสุริยะ โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ HD 209458 เมื่อปี ค.ศ. 1999 ประมาณ 2 ปีต่อมาจึงได้มีการประกาศการค้นพบว่า ดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ HD 209458 มีบรรยากาศ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 เริ่มต้นศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้ โดยหวังว่า จะสามารถศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ จากตำแหน่งที่พิเศษไม่เหมือนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงอื่นๆ ประมาณ 80 ดวงที่ถูกค้นพบ ตำแหน่งพิเศษ คือ การที่ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรตัดผ่านหน้าดาวฤกษ์ HD 209458 โดยตรง เมื่อมองจากโลกนั่นเอประกอบกับที่ดาวเคราะห์มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แถมยังโคจรใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่มาก ซึ่งหมายความว่า ดาวเคราะห์จะมีบรรยากาศห่อหุ้มดาวเคราะห์ที่หนามาก ถึงแม้ดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ HD 209458 จะมีบรรยากาศ แต่โอกาสที่จะมีสิงมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ดูจะมีไม่มาก เนื่องจากอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่มาก ทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศสูงถึง 1,100 องศาเซลเซียส (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 8)





โครงการ”ติดดาวพลังงาน” รณรงค์ใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

การเริ่มต้นครั้งสำคัญของการประหยัดพลังงาน โครงการ”ติดดาวพลังงาน” เป็นการร่วมมือระหว่าง สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน กับ คณะกรรมการพลังงาน วิศวกรรมการพลังงาน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คณะกรรมการโครงการนี้ประกอบด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ โดยมี โดยมี ดร.วีระ สุสังกรกาญจน์ ประธานคณะกรรมการพลังงาน วสท. เป็นประธานโครงการในการดำเนินจะประกอบไปด้วย คณะกรรมการด้านวิจัย, คณะทำงานวิชาการและคณะกรรมการประเมินผล เพื่อคัดเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานติดดาวพลังงาน หลังจากนั้นก็จะนำออกเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ประกอบด้วย วิศวกร สถาปนิก เจ้าของและผู้บริหารอาคาร โรงงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานพร้อมเผยแพร่เกียรติคุณวัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการตั้งเอาไว้ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 4 มกราคม 2545 หน้า 24)





ชุดท่องอวกาศดิจิทัล

นักบินอวกาศที่ต้องปฏิบัติภารกิจท่องอวกาศอาจจะได้มีโอกาสทดสอบชุดท่องอวกาศรุ่นใหม่ที่มีการเสริมระบบดิจิทัลเข้ากับชุดท่องอวกาศแบบเดิมที่มีมูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท แผนการพัฒนาชุดท่องอวกาศดิจิทัลดังกล่าว จะเป็นการ ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่กับตัวคนได้เข้ากับชุดท่องอวกาศ โดยมีจอมอนิเตอร์อยู่ในหมวกนักบินอวกาศเพื่อให้นักท่องอวกาศสามารถมองเห็นจอภาพได้โดยใช้ตาข้างเดียว โครงการพัฒนาดังกล่าวใช้ชื่อว่าแวร์แซต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดท่องอวกาศที่ช่วยให้นักบินอวกาศรับทราบข้อมูลทั้งในรูปแบบตัวอักษร ภาพหรือวีดิทีศน์เพื่อแนะนำขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้อง สตีเวน ชวาร์ธ นักวิทยาศาสตร์ของมีเดียแลโบราทอรี่ ของสถาบันเอ็มไอทีในสหรัฐ ระบุว่าการพัฒนาชุดท่องอวกาศระบบดิจิทัลถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภารกิจการท่องอวกาศ เนื่องจากนวัตกรรมหรือเทคนิควิธีใดก็ตามที่จะช่วยลดเวลาของการท่องอวกาศลงได้นั้น ก็จะช่วยให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐหรือองค์การนาซาสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยเฉพาะภารกิจในการสร้างและบำรุงรักษาสถานีอวกาศนานาชาติ ชาร์ธและทีมงาน ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ขององค์การนาซาในการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ เตรียมที่จะนำเสนอต้นแบบชุดท่องอวกาศดิจิทัลแก่องค์การนาซาภายในช่วงต้นปีหน้า (เดลินิวส์ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 12)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักวิจัยฟีโบ้พัฒนาฮาร์ดดิสก์

ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ส่งทีมนักวิจัยของศูย์ฯ เพื่อทำงานร่วมกับวิศวกรของ บริษัทรีทไรท์ ประเทศไทย (ReadRite Thailand: RRT) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก นักวิจัยของฟีโบ้ รับผิดชอบการศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตของหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ หรือโครงการเอ็มเอ็มเอ็กซ์ (MMX’s Project) โดยนักวิจัยของฟีโบ้สามารถปรับปรุงคุณภาพการผลิตโดยการลดค่าซิกซ์ม่าอยู่ที่ระดับ 0.8-1.0 โอห์ม จากเดิมก่อนการปรับปรุงอยู่ที่ 3.0-3.5 โอห์ม (เดลินิวส์ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 12)





ไอเดียเด็ด!!Plug& Save อุปกรณ์ช่วยประหยัดไฟฟ้า

นายธวัชชัย วิษณุกุลรัตนา เจ้าของไอเดียเยี่ยม !! Plug & Save อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบคุมมอเตอร์ โดย Plug & Save จะเข้าไปควบคุมระดับแรงดันไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้าที่ป้อนให้กับมอเตอร์ในระหว่างปฏิบัติงาน พูดง่ายๆ ก็คือถ้ามอเตอร์มีการใช้งานมาก Plug & Save ก็จะจ่ายกระแสไฟมาก ถ้ามอเตอร์มีการใช้งานน้อย Plug & Save ก็จะจ่ายกระแสไฟน้อย ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ให้นานขึ้นด้วย ส่วนอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าไอเดียคุณธวัชชัยอีกชิ้น ที่ช่วยลดพลังงานได้ไม่แพ้ Plug & Save ก็คือ Lighting Regulator อุปกรณ์ที่ช่วยลดพลังงานในการใช้หลอดไฟแทบทุกประเภท ด้วยการควบคุมแรงดันของหลอดไฟทำให้ความเข้มของแสงเหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งาน และสามารถตั้งโปรแกรมปิดเปิดอัตโนมัติได้ ซึ่งขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกำลังจะนำไปทดลองที่แม่เมาะในเดือนหน้านี้ (เดลินิวส์ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 12)





สธ.ตั้งกองทุนจ่ายค่าเหนื่อยนักวิจัย

น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ เก็บเงินรายได้ที่เกิดจากการนำสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือการสาธารณสุขซึ่งสามารถไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ไว้ใช้จ่ายเป็นเงินทุนในการสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาบุคลากรวิจัยและจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ประดิษฐ์ผลงานที่เป็นประโยชน์โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางได้เห็นชอบด้วยแล้ว น.พ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การผลักดันให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักวิจัยนี้ได้เริ่มตั้งแต่สมัยนางเรณู โกยสุโข เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสมองไหลรวมถึงการขายข้อมูลงานวิจัยให้กับบริษัทเอกชนหรือองค์กรต่างชาติ ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของหน่วยราชการไทยที่จะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักวิจัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (เดลินิวส์ พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 3)





ล็อกเกอร์บัตรแม่เหล็ก

นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) นายพินิจ วงษ์เมือง และน.ส.ศรวณีย์ คิ้วสุวรรณ จากสาขาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาไฟฟ้า ผลงานล็อกเกอร์เก็บของใช้แบบใช้บัตรแถบแม่เหล็ก จะปฏิวัติการทำงานของล็อกเกอร์จากที่เคยใช้กุญแจคล้องสายยู มาคราวนี้ก็จะใช้บัตรแม่เหล็กเป็นกุญแจแทน ลักษณะการทำงานของล็อกเกอร์แบบใช้บัตรจะควบคุมการทำงานโดยไมโครคอนโทรลเลอร์ใช้ระบบไฟสำรองจากแบตเตอรี่เพื่อให้ล็อกเกอร์ทำงานได้ตามปกติ สนใจหลักการทำงานเพิ่มเติมติดต่อได้ที่สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สจพ. ได้ในวันเวลาราชการ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





สหรัฐใช้รังสีเข้มข้นรักษามะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์อาศัยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี พัฒนาวิธีการรักษามะเร็งให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดได้ ด้วยการใช้รังสีความเข้มข้นสูงสำเร็จ แถมลดค่าใช้จ่าย เหมาะสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งที่ศีรษะ คอ ปอด และมะเร็งเต้านม ปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในสหรัฐมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อปีสูงถึง 3 % โดยสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐ คาดว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งและสามารถตรวจพบได้ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาทั่วไปทั้งสิ้น 60,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,400 ล้านดอลลาร์สำหรับการบำบัดด้วยการฉายรังสี และยังต้องเสียเพิ่มอีก 1,400 ล้านดอลลาร์ ในการจ่ายค่ารักษาหลังผ่านการบำบัดด้วยวิธีทางเคมีและการผ่าตัดแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่4 มกราคม 2544 หน้า 9)





พบเชื้อจุลินทรีย์ 2 ชนิดขจัดสารเบนซินได้ผล

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ 2 ชนิด ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลในการขจัดสารเบนซินออกจากสิ่งแวดล้อมได้ นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งรู้จักกันในนาม dechloromonas สายพันธุ์ อาร์ซีบี และเจเจ ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายสารเบนซินให้กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วย คุณสมบัติดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดสิ่งเจือปนในดินและน้ำใต้ดินได้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 3 มกราตม 2545 หน้า 8)





ชี้กินวิตามินเอมากเกินขนาดเสี่ยงกระดูกพรุน

วารสารองค์กรเภสัชกรรมของสหรัฐอเมริการะบุว่า เรตินอล ซึ่งเป็นวิตามินเอในรูปสารประกอบที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที พบมากในตับและน้ำมันปลา ซึ่งเป็นวิตามินที่พบในพืชผัก และไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดวิตามินเอนั้นสามารถช่วยบำรุงรักษาสายตา และการเจริญเติบโต แต่จากการศึกษาในสตรีมากกว่า 72,000 คน โดยมีอายุระหว่าง 33-77 ปี พบว่าสตรีที่ทานเรตินอลมากกว่าที่กำหนดเป็นประจำมีโอกาสเป็นโรคกระดูกเชิงกรานพรุนเป็น 2 เท่าในวัยทองเมื่อรับประทานเรตินอลในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเทียบกับกลุ่มสตรีที่ทานเรตินอลน้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันของประเทศสหรัฐ ซึ่ง USRDA กำหนดไว้ว่าควรบริโภควิตามินเอไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัม (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2545 หน้า 8)





นักวิจัยมะกันเผย”ยาคุมกำเนิด”ต้านมะเร็งรังไข่

นักวิจัยสหรัฐเผย สตรีที่ทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ระดับสูง มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่น้อยกว่าสตรีที่ทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณโปรเจสตินต่ำ โจลเลน ชิลดเคลาต์ หัวหน้านักวิจัยของศูนย์เวชกรรม มหาวิทยาลัยดุ๊ค พบว่ากลุ่มสตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานมานานกว่า 3 ปีนั้น มีโอกาสเสี่ยงต่ำเพียง 30-50 % ที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดเกี่ยวกับกลไกในการยับยั้งมะเร็ง แต่ผลที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับปริมาณฮอร์โมนที่รับประทาน ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 3 มกราคม 2545 หน้า 8)





เส็กเวย์ ยานยนต์ปฏิวัติ!?

ดีน คาเมน นักประดิษฐ์คิดค้นระดับอัครมหาเศรษฐีจากการขายลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ เปิดตัวเจ้าเส็กเวย์ ที่เขาเชื่อกันว่าจะเป็นการปฏิวัติการเดินทางในชุมชนเมืองในอนาคต เส็กเวย์ เป็นอุปกรณ์สำหรับการเดินทางที่สามารถตั้งความเร็วได้ ตั้งแต่ 5-17 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ในอีกแง่หนึ่งมันเป็นยานยนต์ที่ทรงตัวดีเยี่ยม และเป็นการเดินทางในตัวเมืองในอนาคตที่รถยนต์จะเป็นสิ่งนอกเหนือความจำเป็น-อย่างน้อยที่สุดก็ในความคิดของคาเมน เส็กเวย์ ในทรรศนะของคาเมน คืออวัยวะชิ้นที่ 33 ของคนเรา มันมีเครื่องเซ็นเซอร์ สมรรถนะสูงสำหรับตรวจสอบภาวะการทรงตัว มีคอมพิวเตอร์สำหรับคิดและสั่งการเครื่องยนต์แทนสมองของคนเราและมีล้อชุดหนึ่งใช้แทนแขนขาของคนเรา (มติชน พุธที่ 2 มกราคม 2545 หน้า 20)





กึ๋นคนไทยสร้างเครื่องบิน 2 ที่นั่งสำเร็จ

นายศุภชัย หล่อโลหการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนานวัตกรรม เปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับการติดต่อจากนายประเสริฐ ปรุงคณานนท์ ประธานชมรมการบินโฟร์โก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อของบประมาณสนับสนุนการสร้างเครื่องบินเล็กขนาด 4 ที่นั่ง ใช้ประโยชน์สำหรับงานสำรวจในภาคพื้นอากาศ การตรวจการ การถ่ายภาพแผนที่ทางอากาศ ฯลฯ ที่ผ่านมานั้น นายประเสริฐได้สร้างเครื่องบินเล็กขนาด 2 ที่นั่งสำเร็จมาแล้ว จำนวน 2 ลำ ใช้งบฯ ของตัวเองลำละประมาณ 2 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหลังจากทราบเรื่องนี้ตนพร้อมเจ้าหน้าที่กองทุนและสื่อมวลชนได้ไปพบนายประเสริฐที่ชมรมการบินโฟร์โก อ.ปากช่องทันที สำหรับประวัติการบินในประเทศไทยนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2472 หลวงเวชยันตรังสฤษดิ์ หรือ พล.อ.ท.มุนีมหาสันทนะ จากกรมอากาศยาน กองทัพบก ได้ออกแบบสร้างเครื่องบินปีก 2 ชั้นสำเร็จ ตั้งชื่อว่าเครื่องบิน “บริพัตร” ถือเป็นเครื่องบินลำแรกที่คนไทยออกแบบสร้างได้สำเร็จ (มติชน อังคาร ที่ 1 มกราคม 2545 หน้า 24)





ทดลองใช้”จุลินทรีย์”ย่อยซากพืช ฝันอนาคตผลิตเชื้อเพลิงใช้ในปท.

นายธีรนาท เอี่ยมศรีตระกูล บัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังทดลองหาวิธีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายซากพืชโดยการผ่านกระแสไฟฟ้า เพื่อให้โมเลกุลของสารที่ได้จากจุลินทรีย์และโมเลกุลที่ได้จากส่วนประกอบของจุลินทรีย์เองเกิดการเรียงตัวเป็นโมเลกุลของเชื้อเพลิง หากทำได้ในอนาคตอาจจะสามารถผลิตเชื้อเพลิงขึ้นมาใช้ได้เองในประเทศ เขาได้นำแนวคิดดังกล่าวเข้าไปหารือกับสำนักกองทุนพัฒนานวัตกรรม ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อของบประมาณในการสนับสนุนการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น หากทดลองเป็นผลสำเร็จ ในอนาคตประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้า หรือต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอีกต่อไป แต่สามารถผลิตเชื้อเพลิงใช้เองในครัวเรือน (มติชน พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2545 หน้า 7)





สกว.ตั้งเป้าปี 45 ตอบคำถามสังคมงานวิจัยใช้ประโยชน์ประจำวันได้

นายปิยะวัฒน์ บุญหลง ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ทิศทางการทำงานของ สกว.ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นไปนี้ จะนำความรู้ที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ให้เกิดความหลากหลายให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องทำให้ประชาชนคลายความสงสัยจากคำถามที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่มีใครตอบคำถามให้ได้ เช่น สังคมไทยจะมีทางออกในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) อย่างไร ควรจัดการกับสถานการณ์ชายแดนอย่างไร ควรจะจัดการกับเรื่องหวยอย่างไร ฯลฯ เพราะเรื่องเหล่านี้ยังมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และเบื้องลึกหลายส่วนที่ยังไม่เปิดเผยให้ประชาชนทราบ สกว. มีงานวิจัยที่ตอบคำถามและเป็นทางเลือก ในประเด็นคำถามของสังคมเหล่านี้มากพอสมควร จะเร่งนำเสนอผ่านทางสื่อและช่องทางที่มีอยู่ให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นทางออกและทางเลือกให้ประชาชนต่อไป (มติชน ศุกร์ที่ 4 มกราคม 2545 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


เขมรสั่งห้ามสร้างบ้านไทยอ้างบ่อนทำลายวัฒนธรรม

หนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชารายงานเมื่อวานนี้ว่ารัฐบาลของกัมพูชา ได้ออกประกาศว่า สถาปัตยกรรมแบบไทยซึ่งกำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด กลายเป็นสิ่งที่บดบังทัศนียภาพอันสวยงามของสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ และมีคำสั่งห้ามสร้างบ้านในแบบดังกล่าวตามริมถนนในกรุงพนมเปญอีกต่อไป นอกจากนี้พื้นที่ในบริเวณโดยรอบศาลาว่าการกรุงพนมเปญ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่เลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันกับในประเทศไทยอีกด้วย นายเจีย โสพารา ผู้ราชการกรุงพนมเปญกล่าวว่า ทางการกัมพูชาจะไม่อนุญาตให้สร้างบ้านในแบบไทยอีก และบ้านหลังใหม่ก็ควรจะสร้างในแบบของกัมพูชาเท่านั้น นอกจากนี้การออกแบบสร้างอาคารในแบบไทยประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในแต่ละหลังเป็นเงินจำนวนถึงประมาณ 1,600 ดอลลาร์ หรือประมาณ 72,000 บาท เลยทีเดียว (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 4 มกราคม 2545 หน้า 15)





ดึงจุดเด่นขายนักท่องเที่ยว ทำป้ายชื่อยาวที่สุดในโลก

นายชาญชัย โรหิตศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว กทม. เปิดเผยว่า กทม. ได้รับการประสานงานจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะดำเนินการติดตั้งป้ายชื่อกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งจุดเด่นนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะนำมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยจะทำป้ายชื่อกรุงเทพฯ ด้วยหินแกรนิต ติดตั้งไว้บริเวณลานคนเมือง ด้านหน้าศาลาว่าการ กทม. ฝั่งตรงข้ามกับเสาชิงช้า สำหรับชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คือ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวสน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 4 มกราคม 2545 หน้า 30)





ชี้เหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนไทยต้นเหตุใหญ่รัฐพัฒนาประเทศ

นายเสน่ห์ จามริก ประธานที่ปรึกษาสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผยว่า จากงานวิจัยชุดโครงการสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล ที่สถาบันทำโดยการสนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่ เกิดจากนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ๆ ที่กำลังสร้างความขัดแย้งกับหลายชุมชนทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น นอกจากถูกล่วงละเมิดสิทธิโดยชอบธรรม และได้รับความเสียหายด้านจิตใจแล้ว ยังมีผลพวงไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติส่วนรวมอีกด้วย (มติชน ศุกร์ที่ 4 มกราคม 2545 หน้า 7)





โรคหัวใจฆาตกรอันดับหนึ่งในสหรัฐ

สมาคมโรคหัวใจอเมริกาเปิดเผยรายงานที่ว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ ยังคงเป็นสาเหตุนำอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในสหรัฐ โดยคาดว่า มีคนอเมริกัน 61.8 ล้านคน เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งรวมถึง ความดันเลือดสูง โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดอาการหัวใจวาย และเจ็บหน้าอก เส้นเลือดตีบ มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแต่กำเนิด และหัวใจล้มเหลว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2545 หน้า 8)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215