หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 3 ประจำวันที่ 2002-01-15

ข่าวการศึกษา

IEA ชี้ผลสัมฤทธิ์วิชาวิทย์ ม.ต้นไทยอยู่อันดับกลาง
‘สุธรรม’ ไม่รับคำจ้างต่อบัณฑิตกองทุนฯ มั่นใจได้เรียนรู้ช่องทางเพียบไม่ตกงาน
ทบวง ฯ พร้อมกวดวิชาช่วยเด็กเอ็นทรานซ์
ทบวง ฯ ปลื้มญี่ปุ่นทุ่มเงินหนุนเป็นเจ้าภาพพัฒนาวิศวอาเซียน
มข.ชี้ต้องให้นศ.ชี้ขาดม.นอกระบบ
ทบวง ฯ พร้อมรับฟังเสียงค้านการออกนอกระบบ
ทบวงฯ ขอมีสำนักยุทธศาสตร์กันมหา’ลัยไทยเสียรู้ต่างชาติ
ผู้ประกอบการหมดสิทธิอิดออด ปี46 ไม่มีใช้ก๊าซปรุงอาหารบนโต๊ะ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

วท.เตรียมยื่นโครงสร้างวิทย์เข้าครม. ปรับความสามารถก่อนถูก ‘ลาว’ แซง
‘4 เทคโนโลยี’ สำหรับทศวรรษข้างหน้า
เพิ่ม 3 หลักสูตรดาราศาสตร์พัฒนาเด็กไทย
สหรัฐพบเทคนิคจับเท็จใบหน้า อุปกรณ์จับคนร้ายในสนามบิน
วางแผนให้เมืองน่าอยู่ ชีวิตเป็นสุข…วันหน้า
‘ไทย’ประสาน ‘มาเลย์ - อินโด’ลดกำลังผลิตยาง : แก้วิกฤตล้นตลาด
ไขปัญหาเทคโนโลยีสะอาด

ข่าววิจัย/พัฒนา

มจธ.ชวนประหยัดพลังงานด้วยหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์
ชาวนาสุดยอดทำเครื่องสีข้าวใช้ในครัวเรือน
วิจัยพบรักษามะเร็งส่งผลร่างกายแก่เร็ว
ม.เกษตรใช้วิธี ‘แช่เยือกแข็ง’ ช่วยยืดอายุข้าวกล้องหุงสุก
มหา’ลัยร้อนใจเร่งพัฒนาอาจารย์นักวิจัย

ข่าวทั่วไป

จิตแพทย์ระบุอาหารมีคุณภาพพัฒนาไอคิวเด็ก
ก.พ.นี้ตีทะเบียนสัตว์เลี้ยงทาวน์เฮ้าส์มีไม่เกิน 2 ตัว
รวม 3 สวนสวยเป็นหนึ่งเดียวให้งบ 10 ล้านทำ “สวนผีเสื้อ”





ข่าวการศึกษา


IEA ชี้ผลสัมฤทธิ์วิชาวิทย์ ม.ต้นไทยอยู่อันดับกลาง

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนายการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการวิจัยและประเมินผลวิชาวิทยาศาสตร์กับนานาชาติ หรือ The International Association for the Evaluation of Education Achievement (IEA) ซึ่งได้ทำการศึกษาเป็นครั้งที่ 3 ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้นปี 2538 ปรากฏว่าผลด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา นักเรียนชั้น ม.1 ศึกษาจาก 39 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 19 ได้คะแนนเฉลี่ย 493 คะแนน สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งเท่ากับ 479 คะแนน ทั้งนี้ มีประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ 24 ประเทศ และต่ำกว่า 15 ประเทศ (มติชน เสาร์ที่ 5 มกราคม 2545 หน้า 10)





‘สุธรรม’ ไม่รับคำจ้างต่อบัณฑิตกองทุนฯ มั่นใจได้เรียนรู้ช่องทางเพียบไม่ตกงาน

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมรับฟังการสรุปผลวิจัยติดตามการประเมินผลการดำเนินการกองทุนหมู่บ้าน ที่สถาบันราชภัฎพิบูลสงครามจังหวัดพิษณุโลก ว่า การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ประชาชนให้ความร่วมมือและสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ในส่วนของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเอง หรือ โครงการบัณฑิตกองทุนหมู่บ้านนั้น ยังประสบปัญหาบัณฑิตไม่ครบทุกหมู่บ้าน เนื่องจากในบางหมู่บ้านไม่มีบัณฑิตมาสมัครเข้าโครงการเลย มีบัณฑิตถามเข้ามาว่าจะมีการจ้างต่อเนื่องหลังจากจบหลักสูตรหรือไม่นั้น รัฐบาลไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องจ้างงานอย่างต่อเนื่องตลอดไป ไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเมื่อจบหลักสูตรไปแล้วบัณฑิตเหล่านี้จะสามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้มากขึ้นและจะมีงานทำอย่างแน่นอน (มติชน พุธที่ 9 มกราคม 2545 หน้า 11)





ทบวง ฯ พร้อมกวดวิชาช่วยเด็กเอ็นทรานซ์

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทบวง ฯ ได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อจะมากวดวิชาให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังจะสอบวัดความรู้ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคมนี้ โดยการกวดวิชาจะมีกิจกรรมใน 4 รูปแบบคือ 1) ผลิตวีดีโอ 6 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ สังคม คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี โดยจะเชิญอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดวิชา จากนั้นจะส่งวีดีโอไปให้กับโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ 2) ให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศร่วมกับหนังสือพิมพ์เนชั่น เชิญวิทยากรไปทบทวนความรู้ใน 6 วิชาหลักทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนสถานที่ติวนั้นจะจัดในจังหวัดใหญ่ ๆ 3) จัดพิมพ์เอกสารแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ประโยชน์ในการเตรียมตัวสอบ และ 4) จัดอบรมครูที่สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สอน 6 วิชาหลัก เพื่อไปสอนนักเรียนในต่างจังหวัดเป็นพิเศษรวมทั้งแนะแนวทางเลือกให้กับผู้ที่จบม. 6 ว่าจะไปทำอะไรซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์นี้ (เดลินิวส์ พุธที่ 9 มกราคม 2545 หน้า 10)





ทบวง ฯ ปลื้มญี่ปุ่นทุ่มเงินหนุนเป็นเจ้าภาพพัฒนาวิศวอาเซียน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ว่าที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการที่จะให้กรมวิเทศสหการเข้ามาช่วยเหลือประสานงานระหว่างทบวงมหาวิทยาลัยกับประเทศญี่ปุ่น ในการจัดโครงการความร่วมมือระหว่าง JIKA และมหาวิทยาลัยในกลุ่มอาเซียน ในการพัฒนาด้านวิศวกรรมข้ามพรมแดน เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประสานงานการจัดโครงการพัฒนาทางด้านวิศวกรรมให้กับกลุ่มประเทศในอาเซียน เช่น พม่า ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นยังได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาจัดทำโครงการโดยมีแผนดำเนินการที่จะให้ทุนแก่นักศึกษาและอาจารย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ได้เรียนต่อระดับปริญญา โท เอก และจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นทางด้านวิศวกรรมโดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2544 – 2549 ทั้งนี้ในการอบรม ทางประเทศญี่ปุ่นจะจัดส่งผู้มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มาเป็นวิทยากรให้ด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการให้สิทธิพิเศษในการนำเข้าอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในโครงการความร่วมมือดังกล่าวรวมทั้งให้กระทรวงการคลังช่วยดูว่าจะมีสินค้านำเข้าชนิดใดที่สามารถยกเว้นภาษีได้บ้าง (เดลินิวส์ พฤหัสที่ 10 มกราคม 2545 หน้า 10)





มข.ชี้ต้องให้นศ.ชี้ขาดม.นอกระบบ

ผศ.น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ ม.ขอนแก่น (มข.) ประธานสภาอาจารย์ มข. กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) มีมติไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยว่า เป็นเพราะปอมท. เชื่อว่าการออกนอกระบบจะทำให้มหาวิทยาลัยกังวลกับการหารายได้จากการศึกษาและมองว่าการศึกษาเป็นสินค้า รวมถึงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักศึกษาที่อาจจะต้องจ่ายค่าหน่วยกิตเพิ่ม ผศ.น.พ.พิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนปอมท. ได้เข้าพบ นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยเพื่อหารือถึงปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งนายเสนาะก็เห็นพ้องกับมติของ ปอมท. และเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้และการศึกษาก็ไม่ใช่สินค้า รวมถึง นายเสนาะ ยังเสนอว่าการรื้อระบบราชการเดิมมาสู่ระบบใหม่ควรมีการประเมินระบบทั้ง 2 ว่ามีข้อดีข้อด้อยให้ชัดเจนเสียก่อน ดังนั้นปอมท. จะเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระบบและมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกระบบว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นภาพของมหาวิทยาลัยที่พึงประสงค์และจะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อนักวิชาการด้านการศึกษาของพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 – 20 ม.ค. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 10)





ทบวง ฯ พร้อมรับฟังเสียงค้านการออกนอกระบบ

นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) มีมติไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยว่า คงจะมีบางคนที่เห็นแตกต่างแต่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ เพราะเวลานี้หลายมหาวิทยาลัยก็ทยอยส่งร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาที่ทบวงฯ เพื่อนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งที่ผ่านมาทบวง ฯ ก็ทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยมาตลอดว่าการออกนอกระบบจะทำให้การทำงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในเรื่องของความเห็นแตกต่างไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใด รวมถึงกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือ สนนท. ที่ค้านการออกนอกระบบเพราะเห็นว่าการออกนอกระบบเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงการบริหารที่ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นนั้น ตนเห็นว่าทุกองค์กรควรเสนอแนวคิดมาว่าสิ่งที่เห็นแตกต่างคืออะไร แต่สิ่งที่เสนอมานั้นจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ และทบวงฯ จะรับฟังความเห็นทั้งหมด จากนั้นเราจะได้นำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาร่วมกันพิจารณาต่อไป (เดลินิวส์ อังคารที่ 8 มกราคม 2545 หน้า 10)





ทบวงฯ ขอมีสำนักยุทธศาสตร์กันมหา’ลัยไทยเสียรู้ต่างชาติ

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (กสอ.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเสนอจัดตั้งสำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ โดยให้ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาในกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมตามโครงสร้างใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลการจัดการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศอย่างชัดเจน จนทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการไปตามนโยบายของตน ซึ่งบางครั้งทำให้มีการทำสัญญาความร่วมมือเป็นจำนวนมากและเกิดปัญหาการเสียเปรียบกับต่างประเทศ ทั้งนี้สำนักยุทธศาสตร์ฯ จะทำหน้าที่ดูแลการจัดการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น การกำหนดค่าเล่าเรียน และดูแลเรื่องสัญญาที่จะไม่ทำให้เกิดการเสียเปรียบกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เป็นต้น (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2545 หน้า 12)





ผู้ประกอบการหมดสิทธิอิดออด ปี46 ไม่มีใช้ก๊าซปรุงอาหารบนโต๊ะ

วันที่ 9 ม.ค. 45 ที่ประชุมสภา กทม. ได้ผ่านความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. …ในวาระ 2 – 3 ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ เป็นผลให้ร่างข้อบัญญัติที่กำหนดห้ามการใช้ก๊าซในการปรุงหรือประกอบอาหารบนโต๊ะอาหาร จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน โดยจะทำให้ร้านอาหารที่ใช้ก๊าซประกอบอาหารบนโต๊ะอาหาร เช่น ร้านสุกี้ บาร์บีคิว ต้องเลิกใช้ก๊าซอย่างเด็ดขาด ซึ่งผู้ที่ประกอบการโดยใช้ก๊าซบนโต๊ะอาหารในกรุงเทพ ฯ ขณะนี้มีอยู่ 68 ราย แต่เมื่อข้อบัญญัตินี้ประกาศใช้ ร้านดังกล่าวจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตให้หากไม่เลิกใช้ก๊าซ และจะทำให้ร้านที่ใช้ก๊าซปรุงอาหารบนโต๊ะในกรุงเทพ ฯ หมดภายในปี 2546 นี้ (เดลินิวส์ พฤหัสที่ 10 มกราคม 2545 หน้า 30)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


วท.เตรียมยื่นโครงสร้างวิทย์เข้าครม. ปรับความสามารถก่อนถูก ‘ลาว’ แซง

นายพีระศักดิ์ วรสุนทรโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ ไทย (วท.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ดูแลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รู้สึกกังวลใจที่สถาบันจัดลำดับความสามารถระหว่างประเทศ หรือ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับความสามารถทางด้านโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ของไทยอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 49 ประเทศ ในปี 2544 ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกลดอันดับความสามารถทางด้านนี้ลงเรื่อย ๆ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยยังไม่ร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังในอนาคตจะสู้ประเทศเวียดนาม ประเทศลาวไม่ได้อย่างแน่นอน ต้องยอมรับว่า ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยพื้นฐานเดิมทั้งความรู้ทางด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านบุคลากรกำลังคน งบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานสำคัญคือ กลุ่มเยาวชนซึ่งยังขาดการสนับสนุนให้ความสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนังสือ ตำราเรียน ครูผู้สอน ยังมีไม่เพียงพอเมืเทียบกับนักเรียนและโรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ การปลูกฝังความเป็นวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ ก็ยังมีค่อนข้างจำกัด ผู้ว่าการ วท. กล่าวว่า ทาง วท.จะนำเรื่องความสามารถที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ นี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เพื่อหารือหน่วยงานในสังกัดในการหาจุดบกพร่อง และหาวิธีการแก้ไขด่วน (มติชน จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 7)





‘4 เทคโนโลยี’ สำหรับทศวรรษข้างหน้า

การ์ทเนอร์ได้วิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยีสำหรับทศวรรษข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเทคโนโลยีทั้ง 4 มีดังนี้ 1) เทคโนโลยีลูกค้าสัมพันธ์แบบบริการตนเอง (Customer Self Service) การ์ทเนอร์ ได้วิเคราะห์ว่าภายในปี พ.ศ. 2548 มากกว่าร้อยละ 70 ของการติดต่อสอบถามข้อมูลและการจัดการธุรกิจของลูกค้า จะดำเนินการเป็นแบบอัตโนมัติหรือบริการตนเอง โดยไม่ต้องมีพนักงานมาช่วย 2) เทคโนโลยีสำหรับบริการเวบ (Web Service) การ์ทเนอร์ ก็คาดการณ์ไว้ว่าเทคโนโลยีเวบ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้อีบิสซิเนต ประสบความสำเร็จได้ เทคโนโลยีเวบ จะช่วยให้การพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งข้อได้เปรียบนี้ ทำให้องค์กรธุรกิจเข้าสู่อี-บิสซิเนตได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำ 3) เทคโนโลยีสำหรับคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ (Wearable Computers) ด้วยการขยายตัวของการใช้งานอุปกรณ์ไร้สาย ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ มีความสะดวกในการใช้งาน สามารถที่จะเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ง่าย เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้ด้วยกันและเพื่อเข้าถึงข้อมูลแบบปัจจุบันทันด่วน 4) เทคโนโลยีสำหรับป้ายสินค้า (Tagging the World) ป้ายสินค้าที่ประกอบไปด้วยข้อมูลสินค้า และความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสินค้านั้น ๆ ในอนาคตป้ายสินค้าจะใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถบรรจุข้อมูลต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าคำแนะนำ การแสดงความคิดเห็น และงานวิจัยของสินค้านั้น ๆ (กรุงเทพธุรกิจ อังคาร ที่ 8 มกราคม 2545 หน้า 5)





เพิ่ม 3 หลักสูตรดาราศาสตร์พัฒนาเด็กไทย

น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า จากการวิจัยกว่า 30 ประเทศที่เปรียบเทียบว่าเด็กเรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งสรุปได้ว่าวิชาที่ประเทศไทยมีเนื้อหาในหลักสูตรน้อยมากและเด็กไทยไม่มีความรู้เท่ากับมาตรฐานสากล คือ วิชาดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา และธรณีวิทยา ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงได้บรรจุหลักสูตรวิชาอุตุนิยมวิทยา ธรณีวิทยา และดาราศาสตร์เข้าไปเป็นวิชาบังคับให้เด็กเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจะเริ่มทดลองใช้หลักสูตรใหม่ปีนี้เป็นปีแรกในโรงเรียนนำร่องกว่า 1,000 โรงเรียนก่อนจะใช้หลักสูตรใหม่ทั่วประเทศในปี 2547 สมาคมดาราศาสตร์ไทยกำลังเร่งทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทย เพื่อเป็นตำราทางศาสตร์ให้เสร็จ คาดว่าจะเสร็จก่อนวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ วันที่ 18 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบพจนานุกรม 2,000 เล่ม และซีดี-รอม 500 ชุด จะนำไปแจกให้กับโรงเรียนที่นำร่องสอนหลักสูตรใหม่ก่อน และเผยแพร่ผ่านเวบไซต์ของสมาคม คือ http://thaiastro.nectec.or.th (กรุงเทพธุรกิจ อังคาร ที่ 8 มกราคม 2545 หน้า 8)





สหรัฐพบเทคนิคจับเท็จใบหน้า อุปกรณ์จับคนร้ายในสนามบิน

วารสารเนเชอร์ เดือนมกราคม รายงานว่า ดร.เจมส เอ ลีไวน์ แห่งคลีนิกเมโย ในรัฐมินเนโซตา และทีมงาน ซึ่งประดิษฐ์คิดค้นกล้องจับเท็จ อธิบายว่าคนที่พูดเท็จหลอกหลวงคนอื่น มักจะมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นบนใบหน้า คือ การไหลเวียนของเลือด และความร้อนบริเวณรอบ ๆ ดวงตาจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ดร.ลีไวน์ เชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่งอุปกรณ์เทคนิคใหม่ที่เพิ่งคิดค้นพัฒนาขึ้นมาอาจจะช่วยจับตัวคนที่จะลงมือก่อการร้ายที่แฝงตัวมาในคราบผู้โดยสารตามสนามบินแห่งต่าง ๆ ได้ เพราะสามารถอาศัยกล้องจับเท็จตรวจสแกนหาความผิดปกติที่ปรากฏบนใบหน้าผู้คนโดยไม่รู้ตัว แต่จะต้องทดสอบประสิทธิภาพของกล้องจับเท็จเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจกล้องจับเท็จจะทำงานได้ว่องไวและแม่นยำหรือไม่เมื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 8)





วางแผนให้เมืองน่าอยู่ ชีวิตเป็นสุข…วันหน้า

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า การมองอนาคตไม่มองว่าอนาคตจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง เนื่องจากเชื่อว่าอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จึงต้องมองว่าอนาคตอาจจะเกิดอะไรได้บ้างเป็นหลายภาพ เพื่อสามารถวางแผนรับมือได้ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ สวทช. ได้ก่อตั้งศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีโอเปก (APEC Center for Technology Foresight) โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโอเปก เมื่อปี 2540 เพื่อศึกษาและเผยแพร่วิธีการมองอนาคตและการวางแผนแนวใหม่แก่ประเทศสมาชิกเอกเปกทั้ง 21 ประเทศนับว่าเป็นหน่วยงานแรกในโลกที่ริเริ่มวิธีการศึกษามองอนาคตสำหรับหลายประเทศ ศูนย์ฯ ทำหน้าที่วางแผนโครงการและทำการศึกษาเบื้องต้น จากนั้นประสานงานให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโอเปกในด้านที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันศึกษาวิจัย และเสนอผลการศึกษาต่อคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งเอเปก เพื่อประกอบการตัดสินใจในโครงการต่าง ๆ และเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ http://www.apectf.nstda.or.th เป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้สนใจทั่วโลก (เดลินิวส์ อังคารที่ 6 มกราคม 2545 หน้า 31)





‘ไทย’ประสาน ‘มาเลย์ - อินโด’ลดกำลังผลิตยาง : แก้วิกฤตล้นตลาด

นายประสาท เกศวพิทักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันยาง เปิดเผยว่าในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ราคายางค่อนข้างตกต่ำจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ปริมาณการใช้ยางลดลงในขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกยาง ในระยะสั้นจะส่งเสริมให้ปลูกพืชเสริมรายได้ประเภทไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนมาตรการระยะยาว ประเทศผู้ผลิตยาง ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ตกลงหาแนวทางเพื่อไม่ให้ยางล้นตลาด โดยร่วมมือกันลดกำลังการผลิตในแต่ละประเทศลงร้อยละ 4 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี และจะโค่นต้นยางมีอายุมากลงปีละ 350,00 ไร่ ขณะเดียวกันจะลดปริมาณการส่งออกลงร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตลดลงประมาณ 75,000 – 80,000 ตัน สำหรับประเทศไทยเดิมมีโควต้าส่งออกปีละ 2.4 ล้านตัน เมื่อทำตามข้อตกลงแล้ว จะสามารถส่งออกได้ไม่เกิน 1.9 ล้านตัน ทำให้มียางเหลืออยู่ภายในประเทศอีก 400,000 ตัน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 23)





ไขปัญหาเทคโนโลยีสะอาด

ดร.อมรา อมรแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หนึ่งในกรรมการร่างหลักสูตร “คู่มือการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม Train the Trainer ด้านการตรวจประเมินและการใช้เทคโนโลยีสะอาด” ของสวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เล่าว่า เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology CT) เริ่มเข้ามาประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2532 โดยการสนับสนุนขององค์กรการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เทคโนโลยีสะอาดเป็นกลยุทธ์หรือวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ที่ช่วยลดปัญหามลพิษ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนเป็นของเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เป็นเครื่องมือสร้างความปลอดภัยและสุขภาพ สุดท้ายจึงกลายเป็นมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมได้โดยมีวิธีปฏิบัติอยู่ 2 ประการหลัก คือ การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด (Source Rebuction) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) ประโยชน์ของเทคโนโลยีสะอาด เป็นไปอย่างครบวงจร เริ่มด้วยการลดของเสียจากการผลิต เมื่อลดได้ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายจากการกำจัดของเสียนั้น เมื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ ก็จะใช้วัตถุดิบน้อยลง ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญจะช่วยลดมลพิษ ณ แหล่งเกิด ทำให้คุณภาพของขบวนการผลิตดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ทำให้การทำงานของคนงานมีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ภาพพจน์ขององค์กรดียิ่งขึ้น สุดท้ายโรงงานนั้น ๆ หรือองค์กรนั้น ๆ ก็จะมีสภาพเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐกำหนด เทคโนโลยีสะอาด สามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาด เชิญไปพบกันได้ที่ งานราชมงคลวิชาการ’45 ระหว่าง วันที่ 22 – 27 มกราคม 2545 ณ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลคลองหก (สยามรัฐ อังคารที่ 8 มกราคม 2545 หน้า 20)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มจธ.ชวนประหยัดพลังงานด้วยหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์

นายวิทยา พวงสมบัติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีพลังงาน คณะพลังงานและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงาน “หลังคาเซลล์แสงอาทิตย์ อีกทางเลือกเพื่อการประหยัดพลังงาน” บอกว่า หลังคาเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของบ้านซึ่งเป็นจุดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ จึงทำให้ห้องใต้หลังคาเป็นแหล่งสะสมความร้อน ก่อนที่จะถ่ายเทความร้อนผ่านฝ้าเพดานเข้าสู่ตัวบ้าน ถ้าทำการระบายอากาศร้อนภายในห้องใต้หลังคาออก จะทำให้ความร้อนที่ถ่ายเทผ่านฝ้าเพดานมีค่าน้อยลง และส่งผลให้ผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้านเกิดความสบายมากขึ้นด้วย เหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดในการนำเอาแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาช่วยระบายอากาศรวมถึงเป็นการประหยัดพลังงานภายในบ้านและเป็นรูปแบบของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี รศ.ดร.โจเซฟ เคดารี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าอยากเห็นผลงานจริงก็ติดตามชมได้ใน “โซนพลังงาน” กับงานเทคโนโลยีแฟร์ 2002 ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 26 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2545 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สยามรัฐ จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 20)





ชาวนาสุดยอดทำเครื่องสีข้าวใช้ในครัวเรือน

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ ได้รับมอบรางวัลแก่บุคคลที่มีผลงานด้านการประดิษฐ์คิดค้นประจำปีขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลงาน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการอุตสาหกรรมและรายได้ในปี 2544 บุคคลที่ได้รับรางวัล คือ นายถวิล ศรีอ่อนรอด อายุ 68 ปี บ้านเลขที่ 149 ม.2 บ้านน้ำคำใหญ่ อ.เมือง จ.ยโสธร ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรก้าวหน้า เจ้าของผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกมะม่วงในน้ำได้สำเร็จเป็นคนแรก ผลงานที่นายถวิล ศรีอ่อนรอด ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ คือ การประดิษฐ์เครื่องสีข้าวขนาดจิ๋วขนาด 2 แรง ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเป็นเยี่ยมคือ สามารถแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารได้ในปริมาณ 6.6 สีได้ทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง แยกส่วนอื่น ๆ ออกเป็นรำอ่อนปลายข้าว รำแก่ และแกลบ ราคาเครื่องละ 2 หมื่นบาทเศษเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ อังคาร ที่ 8 มกราคม 2545 หน้า 8)





วิจัยพบรักษามะเร็งส่งผลร่างกายแก่เร็ว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จากกรณีที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ พบว่าร่างกายของมนุษย์ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาทางสร้างสมดุลระหว่างการต่อสู้กับมะเร็งเนื้อร้ายที่คุกคามสุขภาพและการต่อสู้กับความแก่ที่มาเยือน แต่ดูเหมือนว่าคนไข้โรคมะเร็งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในภาวะจำยอมรับสภาพแก่เร็ว ขณะที่ระบบภูมิต้านทานตามธรรมชาติในตัวออกฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งร้าย วารสารเนเชอร์ในประเทศอังกฤษ รายงานผลการวิจัยล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ ในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ที่ค้นพบว่า การรักษาโรคมะเร็งบางอย่างอาจจะทำให้คนไข้แก่ก่อนวัย (มติชน จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 7)





ม.เกษตรใช้วิธี ‘แช่เยือกแข็ง’ ช่วยยืดอายุข้าวกล้องหุงสุก

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานว่า ดร.อรอนงค์ นัยวิกุล จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้ทำการศึกษาทดลองเก็บรักษาข้าวกล้องหุงสุก ด้วยการแช่เย็นและแช่เยือกแข็ง เป็นวิธีการที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพข้าวกล้องหุงสุกได้ ซึ่งทั้ง 2 วิธี จะทำให้คุณภาพของข้าวกล้องหุงสุกที่แตกต่างกัน โดยในการทดลองจะเปรียบเทียบ คุณภาพข้าวกล้องหุงสุกที่ได้จากการแช่เย็นและการแช่เยือกแข็งต่อการยอมรับของผู้บริโภค (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 8)





มหา’ลัยร้อนใจเร่งพัฒนาอาจารย์นักวิจัย

รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (อ.ก.ม.) เปิดเผยผลการประชุม อ.ก.ม.วิสามัญฯ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการพัฒนาคณาจารย์และบัณฑิตศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมา IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยกับต่างประเทศว่าอยู่ที่ 44 จาก 49 ประเทศ รศ.ดร.สุมณฑา กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยไทยจะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย โดยต้องสร้างเครือข่ายการวิจัย หรือ CRN ประมาณ 200 ศูนย์เพื่อดึงนักวิจัยที่กระจัดกระจายให้มาร่วมกันทำงาน โดยจะแบ่งงานวิจัย เป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่จะต้องมีการสร้างความสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 2. กลุ่มแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเอง 3. กลุ่มวิจัยเชิงรุก เพื่อการแข่งขันในเวทีโลก และ 4. กลุ่มเผยแพร่และใช้งานวิจัยอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้การสร้าง CRN นั้นไม่ต้องใช้งบประมาณแต่จะนำหน่วยงานวิจัยที่มีอยู่ และตั้งขึ้นใหม่มารวมกัน โดยมีสำนักงานประสานงานอยู่ที่ทบวงมหาวิทยาลัย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2545 หน้า 12)





ข่าวทั่วไป


จิตแพทย์ระบุอาหารมีคุณภาพพัฒนาไอคิวเด็ก

น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง จิตแพทย์ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการเลี้ยงลูกให้ฉลาดมีสติปัญญาดีหรือไอคิวดีว่า การพัฒนาไอคิวเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตอีกมุมหนึ่ง 75% พบว่าลักษณะนิสัยใจคอของแต่ละบุคคลมีผลต่อความสำเร็จ นิสัยเหล่านี้เริ่มจากการมองตนเองในด้านบวก มั่นใจในตนเอง เข้าใจตนเองว่า คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เข้าใจคนอื่นเผื่อแผ่คนอื่น มีปัญหาแก้ได้ สำหรับการพัฒนาสติปัญญาให้ลูกมีความฉลาด พ่อแม่สามารถเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกได้เป็นการฝึกนิสัยพ่อแม่ พบว่าหลายคนอารมณ์ร้อนจะแสดงออกเมื่อควบคุมลูกไม่ได้ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 มกราคม 2545 หน้า 9)





ก.พ.นี้ตีทะเบียนสัตว์เลี้ยงทาวน์เฮ้าส์มีไม่เกิน 2 ตัว

นายอมรเทพ เศตะพราหมณ์ สมาชิกสภากทม. (ส.ก.) เขตยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม. ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์เปิดเผยว่า คาดว่าวันที่ 16 ม.ค. สภากทม. จะผ่านร่างข้อบัญญัติดังกล่าวแน่นอน หลังจากนั้นให้สิทธิผู้ว่าฯ กทม.ออกระเบียบปฏิบัติ โดยกำหนดทั้งจำนวนประเภท ชนิดของสัตว์เลี้ยงในสถานที่ต่าง ๆ การทำทะเบียน และการปล่อยสัตว์ เช่น ในคอนโดมิเนียมเลี้ยงสุนัขได้ 1 ตัว น้ำหนักไม่เกิน 5 กก. บ้านตึกแถวที่มีรั้วรอบขอบชิด เลี้ยงสัตว์ได้ไม่เกิน 5 ตัว ทาวน์เฮาส์ที่ติดกัน 3 หลังขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว หากผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเกินกว่าที่กำหนดจะให้เลี้ยงจนกว่าสัตว์จะสิ้นอายุขัย แต่จะไม่สามารถเลี้ยงเพิ่มได้อีก และให้เจ้าของนำมาขึ้นทะเบียนคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ภายในเดือน ก.พ.นี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 30)





รวม 3 สวนสวยเป็นหนึ่งเดียวให้งบ 10 ล้านทำ “สวนผีเสื้อ”

นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า สำนัก ฯ จะรวบรวมสวนสาธารณะ 3 สวน คือ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ และสวนรถไฟเข้าด้วยกันเป็นสวนเดียว ในชื่อ “อุทยานในการเรียนรู้จตุจักร” เพื่อให้เด็กและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์รถไฟ พิพิธภัณฑ์เด็ก สวนไม้มงคล 76 จังหวัด สวนพฤกษศาสตร์ สวนป่าในเมือง สวนปิกนิก การเข้าค่ายพักแรม นอกจากนี้ สำนักฯ กำลังจะจัดสร้างอุทยานผีเสื้อและแมลงกทม.ในพื้นที่ 4 ไร่ที่สวนรถไฟ เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาชีวิตของผีเสื้อและแมลงต่าง ๆ ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาแล้วใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท (สยามรัฐ อังคารที่ 8 มกราคม 2545 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215