หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 5 ประจำวันที่ 2002-01-29

ข่าวการศึกษา

ทบวงแฉเล่ห์ต่างชาติจัดอันดับมั่ว
ทบวงเล็งทำแผนยุทธศาสตร์ยึดหลัก”ปฏิรูปอุดมศึกษา”
ตั้ง ม. เสมือนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ทปอ. ปลื้มอังกฤษช่วยติวม.นอกระบบ
ปอมท .กดดันทบวงฯ จัดประชาพิจารณ์มหา’ลัยออกนอกระบบ
3 บิ๊กประสานเสียงยันร่าง พ.ร.บ. อุดมฯ ไม่โมฆะ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ ปี 2544 (จบ)
พม่ายืนยันสร้างเตาปฏิกรณ์ “นุ้ก” ใช้งานอย่างสันติ
สมัครเข้าค่ายหุ่นยนต์กับซีเกท-มก.
รัฐยกย่องโครงการเด็กมธ. ลดช่องว่างไอที
ค้นหาสารเคมี
ชาว ม.ขอนแก่นอวดเทคโนโลยีฝีมือล้วน ๆ

ข่าววิจัย/พัฒนา

การออกแบบและพัฒนาเครื่องศัลยกรรมด้วยไฟฟ้า
สารเคมีมูลค่าสูงจากสาหร่ายเกลียวทอง
โสมขาวปรุงอาหารสมุนไพรให้หมูกินลด”คอเลสเตอรอล”
สหรัฐเดินหน้าโครงการใช้คอมพ์สกัดแอนแทรกซ์
รมช. พาณิชย์สหรัฐชี้ทางการไร้สิทธิบีบนักวิจัยทำข้อตกลงข้าวหอมมะลิ
ประดิษฐ์เส้นใยเลียนแบบ”แมงมุม” แข็งแรงทนทานกว่าเหล็กกล้า 5 เท่า
“เกมคอมพ์เสมือนจริง” ช่วยลดอาการเมารถ
วช. มอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์เยี่ยมเครื่องให้อาหารระบบ “ปลาสั่ง”
ปรมาณูไทยผลิตรังสีคุณภาพสูงช่วยคนปวดข้อ

ข่าวทั่วไป

สมุนไพรพูดได้สอนเด็กปลูกฝังรักภูมิปัญญาไทย
เอาแน่สร้างเตาเผาขยะประกวดราคากลางปี46
ชอบของดิบ-ผักไม่สะอาด โรค ”เยื่อหุ้มสมองอักเสบ” จว. ภาคอีสานแนวโน้มพุ่ง





ข่าวการศึกษา


ทบวงแฉเล่ห์ต่างชาติจัดอันดับมั่ว

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการรายงานสภาวะความสามารถทางการแข่งขันของโลก โดยเฉพาะ IMD ที่จัดอันดับให้ระบบการบริหารราชการไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย ทั้งที่แต่เดิมในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับต้น ๆ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเนื่องจากปัจจัยชี้วัดหลักของการจัดอันดับนั้น วัดจากจำนวนหนี้สินของรัฐบาล และความสามารถในการออมเงินเพื่อใช้ชำระหนี้ที่มีค่าน้ำหนักสูงกว่า 60 % ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ด้าน ก็มีความเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก การบริหารระบบราชการไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งมีการกระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่น การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบงบประมาณ และการปรับปรุงการให้บริการของราชการ แต่ผลดังกล่าวเป็นเพียงการหลอกตา ประเทศผู้จัดอันดับกำหนดตัวชี้วัดโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลักไม่มองถึงผลชี้วัดจากประเทศอื่น ๆ ดังนั้นการทำสัญญาเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษากับประเทศต่าง ๆ ทั้ง 60 ประเทศนั้นมองว่าไทยไม่ควรผลีผลาม ต้องมองประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นอันดับหนึ่ง และต้องมองว่าการที่ต่างประเทศ จะเข้ามาเปิดการศึกษาในไทย ก็มุ่งหวังที่จะได้ประโยชน์จากคนไทย ไม่เช่นนั้นต่างชาติคงไม่เข้ามา (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 11)





ทบวงเล็งทำแผนยุทธศาสตร์ยึดหลัก”ปฏิรูปอุดมศึกษา”

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (22 ม.ค. 45) ว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการดำเนินการจัดสรรงบประมาณในปี 2546 ที่สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างของกระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนยังต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับผลผลิตชุมชน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นให้ยึดหลักปฏิรูปอุดมศึกษา ในการผลิตองค์ความรู้ให้สังคมมั่นคงแข็งแกร่งเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถแข่งขันและเชื่อมต่อกับภูมิภาคได้ รวมทั้งเน้น ให้มีส่วนร่วมในการทำงาน โดยมีแผน ที่ชัดเจนทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว(กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 11)





ตั้ง ม. เสมือนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS-HECTAF ว่าประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และจีน (เฉพาะมณฑลยูนาน โดยมีไทยเป็นประธาน ได้ร่วมดำเนินการมหาวิทยาลัยเสมือน (GMS Virtual University) เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน รวมไปถึงพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ผนึกองค์การความรู้ของแต่ละประเทศมาใช้พัฒนาสังคมต่อไป (มติชน อังคาร ที่ 22 มกราคม 2545 หน้า 10)





ทปอ. ปลื้มอังกฤษช่วยติวม.นอกระบบ

นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลประชุมระหว่าง ทปอ. และที่ประชุมอธิการบดีของสหราชอาณาจักรถึงความร่วมมือด้านวิชาการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ได้หารือถึงระบบการบริหารจัดการและงบประมาณของมหาวิทยาลัย เพราะปัญหาการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลของไทยในเวลานี้ คือปัญหาในอังกฤษเมื่อ 20 ปีก่อน ไทยจึงขอให้อังกฤษช่วยถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงเทคโนโลยี และการพัฒนาอาจารย์ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ทปอ. ที่จะเสนอให้รัฐบาลผลิตอาจารย์ปริญญาเอกจำนวน 15,000 คน ใน 15 ปี โดยให้อาจารย์เรียนและทำงานในไทยและอังกฤษ (มติชน จันทร์ ที่ 21 มกราคม 2545 หน้า 10)





ปอมท .กดดันทบวงฯ จัดประชาพิจารณ์มหา’ลัยออกนอกระบบ

รศ. สนม ครุฑเมือง ประธานที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) ได้เสนอผลสำรวจความต้องการของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการออกนอกระบบ ต่อนายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นี้ว่า อาจารย์และข้าราชการ 80 % ไม่ต้องการออกนอกระบบ และไม่เห็นด้วยที่จะเป็นพนักงาน แต่ต้องการเป็นอาจารย์ที่มีความเป็นอิสระเหมือนเดิม ปอมท. ไม่ได้คัดค้านการออกนอกระบบ แต่อยากให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้อง และปอมท. ต้องให้ ทบวงฯ จัดเวทีประชาพิจารณ์ด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 10)





3 บิ๊กประสานเสียงยันร่าง พ.ร.บ. อุดมฯ ไม่โมฆะ

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว คงไม่เป็นโมฆะ เว้นแต่ว่าร่าง พ.ร.บ. นี้จะไปขัดกับโครงสร้างการบริหารที่รัฐกำลังพิจารณาอยู่ แต่คงไม่เกิดปัญหานี้เพราะร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองต้องอยู่ภายใต้ หลักการเดียวกันอยู่แล้ว นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นโมฆะ กฎหมายฉบับอื่น ๆ ก็เช่นกัน ซึ่งเมื่อปรับโครงสร้างกระทรวงใหญ่ และได้ข้อยุติชัดเจนแล้วก็ต้องปรับถ้อยคำของร่างกฎหมายลูกทุกฉบับที่ผ่าน ครม. ให้สอดคล้องกัน ไม่เพียงแต่ร่าง พ.ร.บ. นี้เท่านั้น แต่รวมถึงฉบับอื่น ๆ ที่จะเข้า ครม.ด้วย (มติชน อังคาร ที่ 22 มกราคม 2545 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ ปี 2544 (จบ)

10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ ปี 2544 ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงข่าวเด่นข่าวสำคัญ จัดโดยผู้เขียนไปแล้ว 6 ข่าว คือ (1) เหตุก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา 11 กันยายน (2) กำเนิดมนุษย์โคลนคนแรก ? (3) ยานเนียร์ชูเมเกอร์ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยอีรอส (4) เด็กเกิดใหม่มียีนของพ่อ แม่และคนที่สาม (5) นักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกของโลก (6) ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ปี 2544 7. ลิงมียีนแมงกะพรุนเรืองแสงในตัว คณะนักวิทยาศาสตร์ แห่งศูนย์วิจัย Oregon Regional Primate Research Center ที่บีเวอร์ตัน สหรัฐอเมริกา ประกาศความสำเร็จของการให้กำเนิด ลิงรีซัส (Rhesus Monkey) ตัวแรกที่มียีนของแมงกะพรุนเรืองแสงอยู่ในตัว เชื่อ (ANDi) 8. หยุดแสงให้อยู่กับที่ คณะนักวิทยาศาสตร์สองคณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ต่างประกาศความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ทำให้แสงหยุดเคลื่อนที่อยู่กับที่ได้ชั่วขณะเวลาหนึ่ง แล้วจึงปล่อยให้แสงเคลื่อนที่ต่อไป เป็นก้าวสำคัญของพัฒนาการคอมพิวเตอร์แบบควอนตัม (Quantum Computer) ต่อไปในอนาคต 9. การค้นพบไดโนเสาร์มีขน คณะนักวิทยาศาสตร์โบราณจีนและอเมริกันร่วมกันประกาศการค้นพบ ฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดเล็ก เรียก โดรมีโอซอร์ (Dromaeosaur) ที่สมบูรณ์ และมีขนลักษณะอ่อนนุ่มทั่วตัวในประเทศจีน 10. จำนวนยีนมนุษย์มีน้อยกว่าที่คิด ประมาณกลางปี พ.ศ. 2544 พบว่าจำนวนยีนของมนุษย์ ซึ่งเข้าใจกันโดยทั่วไปตลอดมาว่า มีอยู่ประมาณหนึ่งแสนยีนนั้นจริง ๆ แล้ว มีอยู่เพียงสามหมื่นยีนเศษเท่านั้น ซึ่งมากกว่ายีนของพยาธิตัวกลมเพียงประมาณสองเท่า (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 8)





พม่ายืนยันสร้างเตาปฏิกรณ์ “นุ้ก” ใช้งานอย่างสันติ

นายขิ่น หม่อง วิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศพม่า ออกแถลงการณ์ยืนยันเมื่อวันจันทร์ (21 ม.ค.) ว่า รัฐบาลกำลังวางแผนสร้างเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ และเร่งหารือกับรัสเซียเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงได้แจ้งต่อสำนักงานพลังงานอะตอมระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เพื่อแสดงเจตจำนงแผนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อใช้งานอย่างสันติ แผนปรับใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของพม่าเพิ่มความวิตกกับชาติตะวันตก และเพื่อนบ้านที่มองว่า พม่าอาจนำเทคโนโลยีไปใช้ด้านการทหาร พร้อมตั้งคำถามถึงแหล่งเงินทุนที่พม่าจะนำมาใช้ในการผุดโครงการนิวเคลียร์ครั้งนี้ (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 28)





สมัครเข้าค่ายหุ่นยนต์กับซีเกท-มก.

บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติกำแพงแสน เปิดรับสมัครน้อง ๆ ที่มีอายุระหว่าง 10-13 ปี เข้าค่าย “เยาวชนสมองแก้วเกษตรศาสตร์-ซีเกท รุ่นที่ 15” เป็นเวลา 7 วัน 6 คืนกิจกรรมในค่ายประกอบด้วยการสอนพื้นฐานความรู้ทางด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการกล่าวว่า จุดมุ่งหมายของกิจกรรมคือ ต้องการให้เด็กในวัย 10-13 ปี เติบโตขึ้นอย่างมีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ กำหนดออกค่ายวัน 22-28 เมษายน 2545 ที่ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-9428555 ต่อ 1403(เดลินิวส์ อังคาร ที่ 22 มกราคม 2545 หน้า 16)





รัฐยกย่องโครงการเด็กมธ. ลดช่องว่างไอที

นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวยกย่องโครงการ Thai Rural Net ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานสัมมนา “เยาวชน ICT กับการพัฒนาชนบท” ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้สังคมและชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของไอที ช่วยลดช่องว่างความรู้ด้านไอทีระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทให้เกิดการทัดเทียมกัน ด้วยการเข้าไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตให้แก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล เนื่องจากเทคโนโลยีด้านไอทีมีวิวัฒนาการรวดเร็วมาก จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ที่รู้จักวิธีใช้กับผู้ที่ไม่ค่อยรู้จัก (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 24 มกราคม 2545 หน้า 12)





ค้นหาสารเคมี

รศ.ดร.วราพรรณ ด่านอุตรา จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุนจาก สกว. ทำฐานข้อมูลสารเคมีอันตราย พร้อมเลขอ้างอิง ให้หน่วยงานนำไปใช้ เช่น กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร กรมโรงงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น มีข้อมูลของสารเคมี เกือบ 3,000 รายการ ข้อมูลสารเคมีอันตรายนี้ สามารถสืบค้นได้จาก http://chemtrack.trf.or.th มีให้อ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 25 มกราคม 2545 หน้า 16)





ชาว ม.ขอนแก่นอวดเทคโนโลยีฝีมือล้วน ๆ

งานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปี 2545 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จุดเด่นของงานนอกจากดึงดูดความสนใจด้วยการโชว์เครื่องบินเล็กและเรือสะเทินน้ำสะเทินบกแล้ว ไฮไลต์จะอยู่ที่ 40 ผลงานที่มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องด้านเกษตร วิศวกรรมการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ เตียงสุขภาพ สิ่งประดิษฐ์ด้านกายภาพบำบัดที่ช่วยลดการนำเข้า แถมประยุกต์การใช้งานให้เข้ากับพฤติกรรมคนไทย นวดหลังและขาคลายเครียดได้แม้อยู่ที่บ้าน ไม้เท้าคนพิการชนิดพับได้ สิ่งประดิษฐ์ไฮเทคก็มีรถจักรยานไฟฟ้าใช้งานได้ทั้งแบบคนปั่นเองหรือใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ที่ประยุกต์การใช้พลังงานกลจากแรงปั่นหรือจากแบตเตอรี่ ข้อดีไม่มีมลพิษ แถมหมดปัญหาเรื่องยางแบนเพราะเป็นยางตัน และอื่น ๆ อีกมากมาย สนใจชมงาน “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” 24-27 มกราคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก มข. ถ้าอยากรู้รายละเอียดล่วงหน้าดูที่ http://auc.kku.ac.th (เดลินิวส์ อังคาร ที่ 22 มกราคม 2545 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


การออกแบบและพัฒนาเครื่องศัลยกรรมด้วยไฟฟ้า

การผ่าตัดเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่ให้ผลดีและรวดเร็ว แต่การผ่าตัดด้วยใบมีดที่ใช้กันอยู่มีข้อเสียคือ ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดมากขณะทำการผ่าตัด การทำศัลยกรรมด้วยไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และตามสถานพยาบาลต่าง ๆ มีการสั่งซื้อเครื่องศัลยกรรมด้วยไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ปีละมาก ๆ รศ.ดร. สมโภชน์ อิ่มเอิบ ภาควิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องศัลยกรรมด้วยไฟฟ้าขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ งานวิจัยนี้เป็นงานศัลยกรรมที่ใช้คลื่นกระแสไฟฟ้าความถี่ในช่วงคลื่นวิทยุ สามารถเลือกรูปแบบการทำงานได้ คือ การตัด การจี้ และการตัด-การจี้ในเวลาเดียวกัน โดยสามารถปรับกำลังไฟฟ้าได้แต่ละรูปแบบการทำงาน และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 28)





สารเคมีมูลค่าสูงจากสาหร่ายเกลียวทอง

สาหร่ายเกลียวทองมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ สารไฟโคไซยานิน และกรดแกมมาลิโนลิก ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมสุขภาพ ตลอดจนใช้ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และยังเป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์ซึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาวะแวดล้อมเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสาหร่าย จึงทำให้ได้ผลผลิตสูง แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีโรงงาน หรือการสกัดสารดังกล่าวจากสาหร่าย ต้องส่งวัตถุดิบไปสกัดที่ต่างประเทศ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารเคมีจากสาหร่ายขึ้นมาใช้ในประเทศ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 28)





โสมขาวปรุงอาหารสมุนไพรให้หมูกินลด”คอเลสเตอรอล”

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หนังสือพิมพ์จุงอัง อิลโบ ในเกาหลีใต้ได้รายงานว่า นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเกียงซัง ประเทศเกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเนื้อหมู โดยผสมสมุนไพรหลายชนิดที่ใช้ในการปรุงยาลงไปกับอาหารหมู เมื่อทดลองให้อาหารนั้นกับหมูต่อเนื่องกันในช่วง 20-40 วันปรากฏว่า นอกจากอาหารหมูสูตรใหม่จะทำให้เนื้อหมูแดงขึ้นจากเดิมถึง 22 % แล้วไขมันหมูยังลดลงถึง 5.5 % ของน้ำหนักตัว ขณะที่หมูทั่วไปนั้นจะมีไขมันอยู่ในระดับ 8.6 % โดยที่เนื้อที่ได้นั้นยังมีรสชาติเหมือนเดิม (มติชน พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 7)





สหรัฐเดินหน้าโครงการใช้คอมพ์สกัดแอนแทรกซ์

ซาน โฮเซ่ – สมาคมวิทยาศาสตร์และบริษัทเทคโนโลยี ประกาศขอความร่วมมือประชาชนทั่วโลก หันมาใช้คอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาวิธีการรักษาโรคแอนแทรกซ์ โครงการดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับความพยายามใช้การประมวลผลแบบแยกส่วน เพื่อค้นคว้าวิธีการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ และรักษาโรคมะเร็ง ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ค้นหาวิธีรักษาโรคแอนแทรกซ์ โครงการดังกล่าวจะนำเทคโนโลยีแบบพีทูพี (peer-to-peer) มาใช้เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์นับล้านเครื่อง สามารถแบ่งปันไฟล์ข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมโครงการ จะดาวน์โหลดสกรีน-เซิร์ฟเวอร์ และใช้ความสามารถของซีพียูประมวลตามเป้าหมายของโครงการดังกล่าว เมื่อผู้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์จะส่งข้อมูลกลับไปยังศูนย์กลาง และรับมอบหมายงาน หากมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 160,000 คน จะทำให้ผู้วิจัยมีขีดความสามารถในการประมวลผลเหนือกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดของโลกทำงานรวมกัน 10 เครื่อง (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 7)





รมช. พาณิชย์สหรัฐชี้ทางการไร้สิทธิบีบนักวิจัยทำข้อตกลงข้าวหอมมะลิ

นายวิลเลียม เอช.แลช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในโอกาสเยือนไทยว่า ในประเด็นข่าวหอมมะลิ ทางการสหรัฐไม่มีอำนาจจะกดดันให้นักวิจัยชาวสหรัฐ มาลงนามข้อตกลงกับทางรัฐบาลไทยได้ เพราะเป็นการวิจัยในนามเอกชน และเชื่อว่าพวกเขายังดำเนินการภายใต้ข้อตกลงการรับโอนเชื้อพันธุ์ กับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (อีรี่) จึงไม่น่าจะมีการละเมิดข้อตกลงอย่างไรก็ตาม สหรัฐพร้อมให้การสนับสนุนและประสานในการจดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐ ในชื่อ “Thai Jusmine Rice” หลังจากไทยผ่านกฎหมายว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 20)





ประดิษฐ์เส้นใยเลียนแบบ”แมงมุม” แข็งแรงทนทานกว่าเหล็กกล้า 5 เท่า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทเนเซียของแคนาดา ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์ เส้นใยเลียนแบบใยแมงมุมซึ่งมีความแข็งแรงทนทานกว่าเหล็กกล้าถึงห้าเท่า ทางบริษัทเปิดเผยว่า ใยดังกล่าวประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยหลักการของวิธีธรรมชาติผสานกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเริ่มจากนำยีนหรือสารพันธุกรรมของแมงมุมมาใส่ในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อให้ผลิตเป็นเส้นใยซึ่งใยที่ได้มีลักษณะคล้าย ๆ ใยไหมแต่มีความยืดหยุ่นเหนียวและแข็งแรงทนทานกว่า สามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น เสื้อเกราะ เส้นไหมเย็บแผล และเส้นเอ็นตกปลา ฯลฯ แต่อุปสรรคสำคัญคือ ยังไม่สามารถผลิตออกมาในเชิงอุตสาหกรรมได้ (มติชน อังคาร ที่ 22 มกราคม 2545 หน้า 7)





“เกมคอมพ์เสมือนจริง” ช่วยลดอาการเมารถ

นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ เดินหน้าโครงการใช้เกมคอมพิวเตอร์เสมือนจริง แก้ปัญหาอาการเมารถและเครื่องบิน มั่นใจหากได้แสดงอารมณ์จริงออกมา จะช่วยลดอาการป่วยได้น้อยลงตามกระบวนการสร้างความเคยชิน ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ อยู่ระหว่างค้นหาอาสาสมัครราว 200 คน เพื่อทดสอบแนวคิดดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า ร่างกายสามารถปรับอารมณ์ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเมารถหรือเครื่องบินได้โดยจะนำเกมแข่งรถเสมือนจริง มาใช้เพื่อจำลองความรู้สึกของอาการป่วย ที่มีสาเหตุมาจากการเดินทาง เป็นที่ยอมรับกันว่าอาการป่วยทางอารมณ์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง ทั้งนี้ดอกเตอร์ ปีเตอร์ ฮาวาร์ธ จากมหาวิทยาลัยลอชโบรูช ต้องการทดสอบปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งเรียกว่ากระบวนการทำให้เกิดความเคยชิน (habituation) ในสถานการณ์จริง อาสาสมัครแต่ละคนถูกร้องขอให้เล่นเกมรถแข่งเสมือนจริง ด้วยการใช้หน้าจอแบบสวมหัว เป็นเวลา 20 นาทีในการทดสอบแต่ละครั้งการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จึงไม่ได้ให้เฉพาะความสนุกสนานเท่านั้น แต่สามารถลดการป่วยทางอารมณ์ที่มีสาเหตุจากการเดินทางได้ (กรุงเทพธุรกิจ พุธ ที่ 23 มกราคม 2545 หน้า 7)





วช. มอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์เยี่ยมเครื่องให้อาหารระบบ “ปลาสั่ง”

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2545 รางวัลชมเชยด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร แก่ผลงานเรื่อง เครื่องให้อาหารปลาดุกระบบปลาสั่ง ของนายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ และคณะแห่งโรงเรียนสุราษฎร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เครื่องให้อาหารปลาดุกระบบปลาสั่ง เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้การจ่ายอาหารปลาดุกเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของปลาในแต่ละมื้อ โดยจะเป็นผู้กำหนดปริมาณอาหารที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่อง เครื่องให้อาหารปลาดุกระบบปลาสั่ง ทำงานโดยใช้ปลาเป็นตัวเปิดสวิตช์ เมื่อปลาหิวจะดึงเหยื่อปลอมซึ่งมีสายผูกติดกับไมโครสวิตช์ทำให้สวิตช์เปิด กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่วงจรชุดควบคุมเวลาซึ่งต่อกับมอเตอร์ที่ทำหน้าที่ฉุดให้เกลียวหมุนนำอาหารลงมาสู่ท่อกระจายอาหารตามเวลาที่ตั้งไว้ (มติชน พุธ 23 มกราคม 2545 หน้า 7)





ปรมาณูไทยผลิตรังสีคุณภาพสูงช่วยคนปวดข้อ

นายเกรียงกร เพชรบุตร เลขาธิการสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน พป. โดยกองพัฒนาไอโซโทปได้พัฒนาและวิจัยจนสามารถผลิตสารเภสัชรังสีซามาเรียม-153 ไฮดรอกซีอะปาไตต์ เพื่อใช้ในการรักษาโรคเยื่อหุ้มไขข้ออักเสบหรือรูมาตอยด์ได้สำเร็จ โดยโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าได้ทดลองใช้สารดังกล่าวในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งผลการรักษาพบว่าการฉีดสารเภสัชรังสีชนิดนี้เข้าข้อมีประสิทธิภาพทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถลดการอักเสบ ความเจ็บปวดและเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังจะช่วยลดการนำเข้าสารเภสัชรังสีชนิดนี้จากต่างประเทศอันจะเป็นการประหยัดเงินตราออกนอกประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 26)





ข่าวทั่วไป


สมุนไพรพูดได้สอนเด็กปลูกฝังรักภูมิปัญญาไทย

พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย เปิดเผยว่า ในงานชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้จัดทำโครงการสมุนไพรพูดได้ โดยนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพรไทยมาประยุกต์กับอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อส่งเสริมให้เด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกได้มีโอกาสได้รับรู้ ซึ่งเด็กๆ สามารถเข้ามากดปุ่มฟังเสียงการบรรยายชื่อต้นไม้ และสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ โดยที่เด็กๆ และผู้ปกครองจะจดจำชื่อและสรรพคุณได้โดยไม่ต้องไปซื้อตำราอ่าน สอดคล้องแนวคิดการจัดงานที่ว่า ครอบครัวสุขสันต์ด้วยการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้งานนี้จะมีไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 (เดลินิวส์ เสาร์ ที่ 26 มกราคม 2545 หน้า 26)





เอาแน่สร้างเตาเผาขยะประกวดราคากลางปี46

ร.ต.ต. เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า กทม. ได้ตัดสินใจสร้างโรงกำจัดขยะแบบผสมผสานโดยกู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) จำนวน 5,730 ล้าน แน่นอนแล้วโดยรัฐบาลจะค้ำประกันให้ ซึ่งจากการที่คณะผู้บริหารได้เดินทางไปสังเกตการณ์ที่เตาเผามูลฝอย (Tuas) ซึ่งเป็นเตาเผาที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ กำจัดขยะด้วยการเผามากถึง 90 % จากจำนวนขยะวันละ 7,677 ตัน กากที่เหลือนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งคล้ายการกำจัดขยะของ กทม. โดยระบบเตาเผาแบบ (Stoker Type) ของสิงคโปร์เป็นแบบเดียวกับที่ กทม. จะสร้างที่อ่อนนุช ในพื้นที่ 60 ไร่ คือ มี 2 ห้องเผา มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นไอกรดด้วยการใช้ปูนขาว มีเครื่องกรองฝุ่นขนาดเล็ก ส่วนสารไดออกซินไม่ให้เกิด โดยจะควบคุมอุณหภูมิการเผาให้สูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ทั้งนี้จะได้กระแสไฟฟ้าจากการเผาขยะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย โดยเตาเผาขยะที่ กทม. จะสร้าง เผาได้วันละ 1,360 ตัน (เดลินิวส์ ศุกร์ ที่ 25 มกราคม 2545 หน้า 34)





ชอบของดิบ-ผักไม่สะอาด โรค ”เยื่อหุ้มสมองอักเสบ” จว. ภาคอีสานแนวโน้มพุ่ง

น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าจากรายงานการเฝ้าระวังโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิล่าสุดในเดือนธันวาคม 2544 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวน 1,082 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ที่ผ่านมาพบสูงสุดในเดือนมกราคม ส่วนมากเป็นชาวอีสานที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเลย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และบุรีรัมย์ สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พวก หอย ปู ปลา กุ้ง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำโดยไม่ทำให้สุก หรือการกินผักสดโดยไม่ล้างให้สะอาด เมื่อบริโภคอาหารที่มีพยาธิตัวอ่อนเข้าไป จะทำให้ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการซึม แขนขาชาไม่มีแรง คอแข็ง หลังแข็ง มีไข้ต่ำ ๆ หงุดหงิด อาการดังกล่าว จะเป็นอยู่ประมาณ 2-8 สัปดาห์ก็จะหายเอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าเกิดอัมพาต ปากเบี้ยว หลับตาไม่ลง (มติชน อังคาร ที่ 22 มกราคม 2545 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215