หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 2002-03-19

ข่าวการศึกษา

นักวิชาการเคยชินไม่ปฏิเสธ “สุวัจน์” คุมทบวง
“กมธ.” จี้หน่วยงานแจ้งงบฯ เพื่อรองรับปฏิรูปการศึกษา
สสวท. เผยแพร่มาตรฐานการศึกษาวิทย์-คณิต
ระบุเรียนฟรี 12 ปี โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบ
เบรคเพิ่มซีผู้บริหารนอกสถานศึกษา (สุวิทย์) เสนอทบทวนมติใหม่ 13 มีนา
ทบวง เเตรียมคัด นศ. ออกโครงการ “ภาคฤดูร้อน”
สรุปโครงสร้าง ศธ. ยืนตาม สปศ. เสนอกลั่นกรองฯ
ทบวงฯ เผยแพร่ข้อมูลสิทธิมนุษยชนสู่ปชช
รัฐยอมรับปฏิรูป กศ. ไม่ทันขอเวลา 2 ปี
เผยรายชื่อสุดยอดหนังสือ’45
มธ.เผยผลสำรวจอาจารย์ค้าน “ล็อครหัสนักศึกษา
“ไออีเอ” คลุกวงในประเมินการศึกษาวิทยาศาสตร์เด็กไทยในระดับนานาชาติ
คาด “ถ่ายโอนสถานศึกษา” เสร็จมีนาคม ท้องถิ่นต้องมีคณะกรรมการกส. ดุแล
นักวิชาการจี้รัฐออกกฏหมายสกัดต่างชาติฮุบ
ปลัดทบวงค้านยืดเวลาปฏิรูปการศึกษา ชี้กระทบ “ราชภัฏ” ปรับเป็นมหาวิทยาลัย
“สุวิทย์” ปฏิเสธยืดปฏิรูปกศ.ออกไป 2 ปี
สภาอาจารย์ มอ. ออกโรงต้านม.ออกนอกระบบ
จุฬาฯเปิดสอนป.ตรีผ่านอินเทอร์เน็ต รุ่นแรกปี 45 ประเดิม 3 พื้นที่บริการ
แนะปรับหลักสูตรการศึกษาเป็น 16 ปีลดปัญหากวดวิชา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ความมหัศจรรย์ของชาเขียว
หมอแนะติดถุงลมนิรภัย ต้องรู้วิธีใช้ตอนที่พองตัวเร็วมากอาจจะอัดเอาได้
พบฟอสซิลมนุษย์
แอลจีโฮมเน็ตเวิร์ค
หมอซาอุฯผ่าตัดปลูกมดลูกสำเร็จ หญิงตั้งครรภ์ไ/ด้
ไทยป่วน “บึ้มสหรัฐ” รับจ.ม.แป้ง 260 ฉบับ

ข่าววิจัย/พัฒนา

สัญญาณไฟข้ามถนนแบบใหม่ไม่ต้องกดปุ่ม
“ไวน์ข้าว” หนึ่งทางเลือก..เพื่อการส่งออก

ข่าวทั่วไป

ทุ่ม 60 ล้านฝังไมโครชิปสุนัขจรจัดทั่วกรุง
เห็นเทศกิจกางร่มส้มต้องหยุดรถให้ข้าม
พัฒนาแรงงานรับอุตสาหกรรมยานยนต์
ตั้ง “ไกรสร” นำทีมสรุปแนวทางรวมกสท.-ทศท.ภายใน 30 มี.ค.





ข่าวการศึกษา


นักวิชาการเคยชินไม่ปฏิเสธ “สุวัจน์” คุมทบวง

นักวิชาการเคยชินไม่ปฏิเสธ “สุวัจน์” คุมทบวง ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (สปศ.) กล่าวถึง การปรับครม. ในรัฐบาล (ทักษิณ 2) ว่า แม้ว่ารัฐมนตรีที่ถูกปรับออกทั้ง 2 คน จะเป็นรัฐมนตรีด้านการศึกษาแต่ก็คงไม่กระทบกับการปฏิรูปการศึกษาเนื่องจากขณะนี้งานด้านกฎหมายของ สปศ. ก็ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย รศ.ดร.ภาวิชช์ ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในการปรับเปลี่ยนจะทำให้เกิดสุญญากาศ มีงานหลายด้านที่กำลังจะลงตัวก็ต้องมาชะงักงัน ดังนั้นหลังจาก นายสุวัจน์ เข้ารับตำแหน่งแล้วจะต้องเร่งทำความเข้าใจถึงปัญหาอุดมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกประเด็น ทั้งต้องเข้าใจศักยภาพมหาวิทยาลัยและทำการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณวุฒิอาจารย์ รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าวว่า รมว.ทบวงฯ เปลี่ยนบ่อยจนชาวมหาวิทยาลัยต้องยอมรับสภาพแล้ว ส่วนผลกระทบต่องานอุดมศึกษา รมว.ทบวงฯ คนใหม่คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจบ้าง แต่คิดว่าคนระดับ นายสุวัจน์ คงรับฟังและจับประเด็นต่างๆ ได้เร็ว โดยเฉพาะช่วงนี้ต้องอาศัยกลไกทางการเมืองในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องเร่งผลักดันเรื่องสำคัญในการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาล และการพัฒนาบุคลากรกับงานวิจัย ซึ่งที่ผ่านมา นายสุธรรม แสงประทุม ก็ให้การสนับสนุนที่ดี และเชื่อว่า นายสุวัจน์ เป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอดในเวทีการเมือง จะเร่งผลักดันด้วยดีเช่นกัน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 27 มีนาคม 2545 หน้า 8)





“กมธ.” จี้หน่วยงานแจ้งงบฯ เพื่อรองรับปฏิรูปการศึกษา

นายสนั่น สุธากุล โฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยมี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการเป็นประธาน ว่า กมธ. การศึกษาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ ศธ. ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เข้าชี้แจงและตอบข้อซักถาม เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้ กมธ. การศึกษาได้สอบถาม ศธ. ถึงบัญชีเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษาแนบท้าย พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพราะจากการติดตามพบว่า รัฐบาลได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปตามขั้นตอนปกติ โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) แทนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยตรง ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาสะดุดอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติว่า กงช. ให้ความเห็นชอบการกำหนดเงินเดือนข้าราชการในลักษณะพิเศษกว่าข้าราชการทั่วไป (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 7 มีนาคม 2545 หน้า 8)





สสวท. เผยแพร่มาตรฐานการศึกษาวิทย์-คณิต

สสวท. เดินสายเผยแพร่มาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แก่สถานศึกษาทั่วประเทศ ทั้งมาตรฐานครู และสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดเดือนมีนาคม 2545 โดยแบ่งเป็น 5 รุ่น 5 ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่มาตรฐานและวิธีการประเมินมาตรฐานแก่สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวช้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานสถานศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทย นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า เนื่องจาก สสวท. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างรากฐานของสังคมไทยให้มีความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งได้จัดทำและเผยแพร่มาตรฐานครู มาตรฐานหนังสือเรียน มาตรฐานด้านอุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ และคู่มือการจัดการเรียนการสอน และคู่มือประเมินผลการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 7 มีนาคม 2545 หน้า 8)





ระบุเรียนฟรี 12 ปี โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบ

นางมัณฑนา สังขฤกษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่า การคำนวณเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ ศธ. พิจารณา ซึ่งรัฐจะต้องรับภาระเพิ่มอีกประมาณ 14,000 ล้านบาทนั้น เป็นการคำนวณเงินอุดหนุนให้กับสถานศึกษาโดยภาพรวม ซึ่งจะเกิดปัญหากับสถานศึกษาขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กว่า 10,000 โรงเรียน ที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินอุดหนุนจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับสถานศึกษาขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนหลายพันคน และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว อาจจะยิ่งทำให้เกิดช่องว่างทางคุณภาพการศึกษามากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2545 หน้า 7)





เบรคเพิ่มซีผู้บริหารนอกสถานศึกษา (สุวิทย์) เสนอทบทวนมติใหม่ 13 มีนา

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้พิจารณาเรื่องที่ครม. ให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องที่ ศธ. เสนอขอขยายระดับเงินเดือนผู้บริหารนอกสถานศึกษาอีก 1 ระดับ ในสายการบริหารการประถมศึกษา สามัญศึกษา และศึกษาธิการ ตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัดโดยให้พิจารณาว่า การขอขยายซีดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเลื่อมล้ำกับข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ หรือไม่ และจะกระทบกับภาระงบประมาณอย่างไร อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับการขยายซี ระดับผู้ช่วย ผอ.ปจ. ผู้ช่วย ผอ.สศจ. และผู้ช่วย ศธ.จ. โดยขยายซีจากระดับ 7 ถึง ระดับ 8 และเห็นชอบให้ขยายซี ผู้ช่วย หน.ปอ. และผู้ช่วย ศธ.อ. จากเดิมอยู่ในระดับ 5 ถึง 6 เป็นระดับ 6 ถึง 7 เนื่องจากเห็นว่ามีความเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริหารหัวหน้าฝ่ายในข้าราชการพลเรือน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2545 หน้า 7)





ทบวง เเตรียมคัด นศ. ออกโครงการ “ภาคฤดูร้อน”

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการรับสมัครนิสิต นักศึกษาเข้าโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน จำนวน 6,080 คน ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อทำกิจกรรมภาคฤดูร้อนใน 152 ชุมชนนั้น ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 100 แห่งได้แจ้งจำนวนผู้สมัครเข้ามาทั้งสิ้น 6,363 คน คาดว่าจะมียอดผู้สมัครรวม 7,000 กว่าคน รมว.ทบวงฯ กล่าวต่อว่า เมื่อดูตัวเลขของผู้สมัครเข้าโครงการฯ โดยภาพรวมแล้วถือว่า นักศึกษาให้ความสนใจค่อนข้างมากจากนี้ทบวงมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเกลี่ยจำนวนผู้สมัครในพื้นที่ที่มีผู้สมัครเกินเพื่อไปลงพื้นที่ที่มีผู้สมัครไม่ครบ ขั้นต่อไปต้องคัดส่วนที่เกินออก (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 5 มีนาคม 2545 หน้า 7)





สรุปโครงสร้าง ศธ. ยืนตาม สปศ. เสนอกลั่นกรองฯ

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้าง ศธ. ใหม่ ที่มีร่างกฎหมายที่เสนอโดย ศธ. กับร่างที่เสนอโดย สำนักงานปฏิรูปการศึกษา สปศ. ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยเป็นวาระต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว สำหรับประเด็นขัดแย้งระหว่าง สปศ. และ ศธ. เช่น โครงสร้างของสภาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ ศธ. เสนอให้อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง ขณะที่ สปศ. ให้แยกออกไปอีกแท่งหนึ่ง รวมถึงประเด็นของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่ศธ. เสนอให้อยู่ในส่วนกลาง มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ สปศ. กลับเสนอให้อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่ต้องเป็นนิติบุคคล ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องรายละเอียดสามารถไปแก้ไขในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือออกเป็นกฎกระทรวงต่อไปได้ ทั้งนี้ในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการ วันที่ 18 มีนาคม 2545 จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ. อีก 3 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ พ.ศ… ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ พ.ศ…. และร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้สอดคล้องกับโครงสร้างระบบบริหาร (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 5 มีนาคม 2545 หน้า 7)





ทบวงฯ เผยแพร่ข้อมูลสิทธิมนุษยชนสู่ปชช

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์กลางประสานงานสิทธิมนุษยชน ว่า ที่ประชุมได้เสนอให้สถาบันอุดมศึกษามีการจัดงานวิจัยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทั้งให้มีการรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีการจัดทำอย่างกระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นให้นำออกเผยแพร่ไปสู่นักศึกษาและประชาชน ได้รับทราบถึงสิทธิต่างๆ ทั้งโอกาสในการได้รับการศึกษา โอกาสการเข้ารับบริการจากรัฐ การรู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น การอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ พร้อมกันนี้จะให้มหาวิทยาลัยต่างๆ กำหนดแผนการศึกษาระยะยาว เรื่องการจัดการศึกษาหลักสูตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีการฝึกอบรมบุคลากรในสถาบันให้มีความรู้ ความเข้าใจ สำหรับการกระตุ้นมหาวิทยาลัยในการพัฒนาความรู้สู่ประชาชน เนื่องจากปัจจุบันด้านวิชาการยังไม่มีการรวมกลุ่มงานสิทธิมนุษยชน(กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 5 มีนาคม 2545 หน้า 7)





รัฐยอมรับปฏิรูป กศ. ไม่ทันขอเวลา 2 ปี

หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องความไม่จริงใจในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่น้อย ตลอดระยะเวลาการทำงานครบ 1 ปีของรัฐบาลชุดนี้ จนทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า ปฏิรูปการศึกษาจะแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด วันที่ 20 สิงหาคม 2545 นั้น ล่าสุด นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศธ. ซึ่งมารับตำแหน่งที่ปรึกษา นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ตอบปัญหานี้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติให้ปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการฝ่ายบริหาร เพื่อรองรับการปฏิรูประบบราชการ ตนได้เชิญคณะทำงานด้านกฎหมายของ ศธ. มาหารือในประเด็นการปรับแก้ พ.ร.บ. การศึกษาประกอบด้วย 1. เปลี่ยนชื่อกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เป็น กระทรวงศึกษาธิการตามมติ ครม. 2. เพิ่มสำนักงานปลัด ศธ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 3. ปรับแก้อำนาจหน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ โดยโอนงานเกี่ยวกับการสนับสนุนทรัพยากร งบประมาณ การประสานงานในกระทรวงและต่างกระทรวง การออกกฎหมายเป็นต้น และ 4. แก้บทเฉพาะกาลมาตรา 71 ที่ระบุให้โครงสร้างใหม่กระทรวงศึกษาธิการ มีผลบังคับใช้ 3 ปีนับจากวันออก พ.ร.บ.คือ วันที่ 20 สิงหาคม 2545 เปลี่ยนเป็นให้มีผลบังคับใช้เป็น 5 ปีเท่ากับขยายเวลาไปอีก 2 ปี ในวันที่ 20 สิงหาคม 2547 เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการและเรื่องอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้มีผลบังคับใช้ จะสามารถนำเสนอนายสุวิทย์ ได้ในวันที่ 11 มีนาคม ก่อนนำเสนอพิจารณาใน ครม. (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2545 หน้า 7)





เผยรายชื่อสุดยอดหนังสือ’45

นายประพัฒน์ แสงวณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ.2545 มีหนังสือส่งเข้าประกวด 383 เรื่อง ชนะการประกวด 37 เรื่อง ได้รางวัลดีเด่น 5 เรื่อง และรางวัลชมเชย 32 เรื่อง กลุ่มนวนิยาย รางวัลดีเด่นเรื่อง www.คุณย่า.com ของดวงใจ กลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์ รางวัลดีเด่นเรื่อง หมายเหตุจากสวนโมกข์ ของกานติ ณ ศรัทธา กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน อายุ 3-5 ปี รางวัลดีเด่นเรื่อง ขอหนูหลับหน่อย ของรินนา คลานุวัฒน์ กลุ่มหนังสือสวยงาม รางวัลดีเด่นเรื่อง มรดกล้ำค่าสมเด็จพระสังฆราช (แพร ติสสเทวมหาเถร) ของกิจจา วาจาสัจ และกลุ่มหนังสือสวยงามสำหรับเด็ก รางวัลดีเด่นดอกไม้ใกล้ตัว ของหลานโตกับลุงมวล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหนังสือแปลดีเด่นด้วย ผู้ที่ได้รับรางวัลข้างต้นจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 30 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2545 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2545 หน้า 20)





มธ.เผยผลสำรวจอาจารย์ค้าน “ล็อครหัสนักศึกษา

ผศ.น.พ.มงคล ตั้งเง็กกี่ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ผลการแสดงความคิดเห็นกรณี “การกำหนดให้นักศึกษาปี 2 จดทะเบียนเรียนที่ศูนย์รังสิตเท่านั้น” ของคณาจารย์ทั้งที่ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2545 ที่ผ่านมานั้นได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 270 คน โดยเป็นอาจารย์จากท่าพระจันทร์ 214 คน โดยเห็นด้วยกับการล็อครหัสลงทะเบียน 10 คน ไม่เห็นด้วย 200 คน ไม่เแสดงความคิดเห็น 3 คน และบัตรเสีย 1 ใบ ส่วนอาจารย์จากศูนย์รังสิตแสดงความคิดเห็นจำนวน 56 คน เห็นด้วย 35 คนไม่เห็นด้วย 11 คน และไม่แสดงความคิดเห็น 10 คน ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า นักศึกษาควรมีทางเลือกได้เอง และศูนย์รังสิตไม่มีความพร้อม (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 8)





“ไออีเอ” คลุกวงในประเมินการศึกษาวิทยาศาสตร์เด็กไทยในระดับนานาชาติ

ในรายงานของ The World Competitiveness Year Book ของ Institute for Management (IMD) องค์กรของสวิสต์เซอร์แลนด์ ในการจัดอันดับดังกล่าว IMD ได้พิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ อาทิ อัตราส่วนของจำนวนนักเรียนต่อจำนวนครู ผลการวิจัย IEA ครั้งที่ 3 จำนวนของประชากรที่ไม่รู้หนังสือ ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.imd.ch เห็นผลการจัดอันดับของ IMD แล้ว ก็อย่าเพิ่มท้อถอยหมดกำลังใจ เพราะจริงๆ แล้วเด็กไทยไม่ได้ “อ่อนด้อย” ถึงขนาดนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีโครงการวิจัยและประเมินผลวิชาวิทยาศาตร์ระดับนานาชาติร่วมกับสมาคมนานาชาติเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (The International Association for the Evaluation of Educatinal Achivement) หรือ IEA ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในวงการศึกษาระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้ประสานงานการวิจัยในประเทศไทย ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมทำวิจัยกับ IEA ครั้งแรกในปี พ.ศ.2513 เรียกการวิจัยครั้งนั้นว่า First International Science Study.. FISS ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2528 (Second International Science Study..SISS และล่าสุดเป็นการศึกษาครั้งที่ 3 ที่เรียกว่า Third International Mathematics and Science Studies TIMSS) ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้นในปี 2538 ผู้อำนวยการ สสวท. ได้กล่าวถึง เป็นพิเศษคือ ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปรากฏว่า นักเรียนชั้น ม.1 ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ย 493 คะแนน “สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ” ซึ่งเท่ากับ 479 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 19 จาก 39 ประเทศ นั่นคืออยู่ในกลุ่มกลาง (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 8)





คาด “ถ่ายโอนสถานศึกษา” เสร็จมีนาคม ท้องถิ่นต้องมีคณะกรรมการกส. ดุแล

นายดิเรก พรสีมา ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการยกร่างเกณฑ์ประเมินความพร้อมถ่ายโอนสถานศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะทำงานร่างเกณฑ์ได้ประชุมเพื่อนำความคิดเห็นจากตัวแทนกรมที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กรมสามัญศึกษา เป็นต้น มาปรับเข้ากับร่างเกณฑ์เดิมที่ ศธ. มอบหมายให้ สปช. จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่าต้องการให้ตัวแทนกรมที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอของที่ประชุมไปปรับแก้ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า จะใช้เกณฑ์อะไร จะพิจารณาความพร้อมนั้นอย่างไร และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา แล้วให้นำกลับมาเสนอที่ประชุม ศธ. ภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อเตรียมเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาให้ความเห็น (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 8)





นักวิชาการจี้รัฐออกกฏหมายสกัดต่างชาติฮุบ

ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังพยายามนำเอาภูมิปัญญาไทยไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำเปล้าน้อยไปทำยา ข้าวหอมมะลิ ผัดไทย รถตุ๊กตุ๊ก การนำภาพวาดรามเกียรติ์ฝาผนังที่วัดพระแก้ว ไปทอเป็นลายพรมเช็ดเท้า จนถึงกองทุนป่าเขตร้อนซึ่งประเทศไทยค่อนข้างจะถูกเอาเปรียบ กรณีต่างๆ เหล่านี้ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่สังคมไทย 2 ประการคือ ทำให้รู้ว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติที่มีค่า ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและมรดกภูมิปัญญา และสัมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นที่หมายปองของต่างประเทศที่อยากเข้ามาคบหากับไทย โดยมิได้เป็นลักษณะของกัลยาณมิตร แต่มองในฐานะหุ้นส่วนผลประโยชน์ที่คอยจ้องเอาเปรียบ เรารู้ไม่เท่าทัน (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 9)





ปลัดทบวงค้านยืดเวลาปฏิรูปการศึกษา ชี้กระทบ “ราชภัฏ” ปรับเป็นมหาวิทยาลัย

ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยแนะรัฐบาลไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก เพราะจะกระทบต่อสถาบันราชภัฏทั้ง 41 เทคโนโลยีราชมงคลที่กำลังจะปรับเป็นมหาวิทยาลัย ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณี การปรับแก้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในส่วนบทเฉพาะกาลให้ขยายเวลาการปฏิรูปการศึกษาไปอีก 2 ปีว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้ดี ศ.ดร.วรเดช กล่าวต่อว่า เงื่อนไขใน พ.ร.บ. การศึกษาระบุถึงแนวทางนิติบัญญัติที่มอบหมายให้สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 23 ฉบับ ซึ่งต้องเข้าใจว่า กฎหมายได้ออกแบบให้ สปศ. ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการที่เป็นคนกลางในการจัดทำกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเราควรยึดในสิ่งที่คนกลางดำเนินการ แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายผ่านขั้นตอนของ สปศ. เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเริ่มมีผลประโยชน์ของหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวช้อง ดังนั้นอยากให้ทุกฝ่ายมองถึงประโยชน์โดยส่วนรวมเป็นสำคัญ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 6)





“สุวิทย์” ปฏิเสธยืดปฏิรูปกศ.ออกไป 2 ปี

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรง เรื่องปฏิรูปการศึกษา ทั้ง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องฯ ชุดที่ 4 ต่างออกมาปฏิเสธเรื่อง การยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษา โดย นายสุวิทย์ กล่าวว่า การปรับแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยเฉพาะการแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 71 เพื่อยืดระยะเวลาการปฏิรูปการศึกษาออกไปอีก 2 ปีนั้น ยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องนี้ เพราะได้มอบหมายให้คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเสนอของ ศธ. น่าจะเป็นแนวคิดของคณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาที่ นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่เคยมีการพูดคุยถึงการแก้ไขบทเฉพาะกาล เพื่อยืดเวลาการปฏิรูปการศึกษากับตัวแทนของ ศธ. ขณะที่ นายปองพล กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ผ่านมาไม่ได้มีการพูดเรื่อง การขยายเวลาออกไปเพียงแต่กรรมการบางท่านเป็นห่วงว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปทั้ง 23 ฉบับ จะเสร็จไม่ทัน 20 ส.ค. 2545 ซึ่งตนในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 ก็พยายามเร่งผ่านกฎหมายทั้ง 23 ฉบับให้ทัน (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 6)





สภาอาจารย์ มอ. ออกโรงต้านม.ออกนอกระบบ

นายวีระพันธ์ มุสิกสาร ประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.) พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการ มอ. พร้อมด้วยกลุ่มนักวิชาการ มอ. 9 คน เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาอาจารย์จากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้มีมติคัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าจะสร้างผลเสียอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ ทางสภาอาจารย์ทั่วประเทศมีมติคัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย เพราะมองแล้วว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาของประเทศ อย่างแรกที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ค่าบำรุงการศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้น ดูจากมหาวิทยาลัย นอกระบบ 4 แห่งที่กำลังดำเนินการอยู่ รายได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากค่าบำรุงการศึกษา การจ้างบุคลากรเดือนละไม่ตำกว่า 100,000 บาท เมื่อการศึกษากลายเป็นการค้าแล้ว ในอนาคตลูกหลานประชาชนที่มีฐานะยากจนจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนในระดับอุดมศึกษาเลย อีกประเด็นก็คือ รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะจัดสรรให้มหาวิทยาลัยเมื่อออกนอกระบบ เพราะมีการนำเสนอว่าเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัยจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 1.7 เปอร์เซ็นต์ จะเอาเงินมาจากไหนในระยะ 10 ปีจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม หน้า 6)





จุฬาฯเปิดสอนป.ตรีผ่านอินเทอร์เน็ต รุ่นแรกปี 45 ประเดิม 3 พื้นที่บริการ

รศ.ดร.ธัธชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2545 จุฬาฯ จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต ที่เป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยเน้นการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น ที่ผ่านสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งข้อมูลเอกสาร และกิจกรรมการอภิปรายเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนมีอิสระ และโอกาสในการแสวงหาความรู้ เข้าถึงฐานข้อมูลและเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสอุดมศึกษา เร่งให้สังคมไทยพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมข้อมูลและข่าวสารในระดับนานาชาติ เนื่องจากจะเน้นการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งด้านวิชาการที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้เป็นแหล่งความรู้ในภูมิภาค โดยจะจัดการสอนใน 3 พื้นที่บริการ คือ จังหวัดน่าน ศรีสะเกษ และตรัง ซึ่งการประเมินวัดผลจะใช้มาตรฐานเดียวกันกับนิสิตในหลักสูตรปกติ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม หน้า 6)





แนะปรับหลักสูตรการศึกษาเป็น 16 ปีลดปัญหากวดวิชา

นางปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ สมศ. ซึ่งจัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่า ในฐานะที่ดูแลการศึกษา ตนมีความสนใจใน 2 เรื่องคือ หลักสูตร และครู โดยเห็นว่าหลักสูตรต้องมีการปรับปรุงใหม่ ให้มีความต่อเนื่องเป็นหลักสูตร 16 ปีซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องการกวดวิชาได้ไม่ใช่แบ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี และอุดมศึกษา 4 ปีเหมือนปัจจุบันที่ทำให้เด็กจบ ม.6 แล้ว ต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม เนื่องจากหลักสูตรไม่มีความต่อเนื่องเด็กเรียนไม่ทัน ดังนั้น หากปรับเป็นหลักสูตร 16 ปีก็จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 6)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ความมหัศจรรย์ของชาเขียว

ความลับของชาเขียวอยู่ที่ ปริมาณสาร Catechin Polyphenol โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Epigallocatechin Gallate (EGCE) ที่มีอยู่มากในตัวชา EGCE เป็นสารต้านพิษ และยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และยังช่วยลดระดับ LDL คลอเรสเตอรอล และยังยับยั้งการก่อตัวแบบผิดปกติของก้อนเลือด (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2545)





หมอแนะติดถุงลมนิรภัย ต้องรู้วิธีใช้ตอนที่พองตัวเร็วมากอาจจะอัดเอาได้

นพ.เจริญชัย จิวจินดา อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า ถุงลมนิรภัยติดรถยนต์หรือ แอร์แบ็ก เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับการใช้เข็มขัดนิรภัยเพียงอย่างเดียว วิธีใช้แอร์แบ็กที่ถูกต้อง คือ จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง และไม่ควรนั่งขับชิดพวงมาลัย เนื่องจากการพองของแอร์แบ็กจะใช้เซนเซอร์ตรวจจับความเร็วของรถ เมื่อรถมีความเร็วลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดที่ตั้งไว้ จะมีการพองออกของแอร์แบ็ก จากการวิจัยพบว่า ระยะห่างระหว่างหน้าอกกับที่ตั้งของแอร์แบ็กควรมากกว่า 10 นิ้วจึงจะปลอดภัย (สยามรัฐ อังคารที่ 12 มีนาคม 2545 หน้า 6)





พบฟอสซิลมนุษย์

นายทรงทรัพย์ วิริยะกุลธร นายอำเภอเกาะเต่า เปิดเผยว่า ในขณะนี้บริเวณบ้านทุ่งกู่ด้าย ต.นาแสง อ.เกาะดำ จ.ลำปาง ได้มีการขุดพบฟอสซิลมนุษย์โบราณอายุ 500,000 ปี ซึ่งมีนักโบราณคดีและนักสำรวจเข้าไปศึกษาค้นคว้าเพื่อที่จะพยายามหาที่มาของคนลำปางและชาวเหนือว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทางอำเภอได้จัดสร้างรูปปั้นจำลองมนุษย์ในยุคนั้นขนาดใหญ่เท่าตัวจริง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด (สยามรัฐ เสาร์ที่ 16 มีนาคม 2545 หน้า 7)





แอลจีโฮมเน็ตเวิร์ค

เผยเครือข่ายโฮมเน็ตเวิร์คของแอลจี ยกระดับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ในยุคเทคโนโลยี รายงานข่าวจากบริษัทแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด แจ้งว่า แอลจีเกาหลี ได้พัฒนาระบบโฮมเน็ตเวิร์คครบสมบูรณ์แบบแล้ว โดยรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทุกชนิด และอุปกรณ์ไอทีเข้ามาสู่เครือข่ายเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา โดยการสั่งงานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทำงานแม้จะยังกลับไม่ถึงบ้าน สำหรับเครือข่ายโฮมเน็ตเวิร์คประกอบด้วย ตู้เย็นอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีจอแอลซีดี เชื่อมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับรับส่งอีเมล ค้นหาข้อมูลและตำราอาหาร สั่งสินค้า หรือใช้เป็นจอโทรทัศน์ขณะอยู่ในครัว รวมทั้งใช้งานแบบวีดีโอโฟน โทรทัศน์ดิจิทอล ซึ่งสามารถดาวน์โหลดรายการที่ต้องการดูโดยสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือ เตาไมโครเวฟอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะดาวน์โหลดสูตรอาหารผ่านรีโมทคอนโทรลไร้สายไม่ต้องเชื่อมต่อกับพีซี และยังเก็บบันทึกข้อมูลไว้ในหน่วยความจำได้มากกว่า 20 โปรแกรม ส่วนเครื่องปรับอากาศอินเทอร์เน็ต พัฒนาให้ทำงานผ่านพอร์ตสื่อสารและเบราวเซอร์อินเทอร์เน็ต สามารถเชื่อมกับเครื่องพีซีแล้วลงทะเบียนควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศจากนอกบ้าน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 มีนาคม 2545 หน้า 16)





หมอซาอุฯผ่าตัดปลูกมดลูกสำเร็จ หญิงตั้งครรภ์ไ/ด้

ทีมศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกษัตริย์ฟาฮัด และศูนย์วิจัยในเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ลงมือผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกได้เป็นครั้งแรกในโลก และนำมดลูกที่ได้รับบริจาคมาจากผู้หญิงวัย 46 ปี ไปฝังไว้ในตัวผู้หญิงวัย 26 ปี ซึ่งมีปัญหาเลือดไหลไม่หยุดจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด การผ่าตัดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว โดยแทบไม่มีการปฏิเสธเนื้อเยื่อใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดนำมดลูกที่เพิ่งปลูกถ่ายออกหลังจากเวลาผ่านไป 99 วัน เพราะเลือดเกิดการอุดตันและทำลายเนื้อเยื่อเสียหาย แต่คณะแพทย์ยืนยันว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 7)





ไทยป่วน “บึ้มสหรัฐ” รับจ.ม.แป้ง 260 ฉบับ

ในการประชุมวิชาการศิริราชพยาบาล เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ศาสตราจารย์เกียรติคุณของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ราชบัณฑิตและอนุกรรมการทำลายอาวุธชีวภาพขององค์การอนามัยโลก ได้บรรยายเรื่อง “การก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพจะเป็นปัญหาในประเทศไทยหรือไม่ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่เป้าหมายของการคุกคามนี้ เหมือนประเทศที่เป็นพันธมิตรอย่างอังกฤษ เยอรมนี หรือออสเตรเลียก็จริง แต่ก็มีความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องมีแผนการจัดเตรียมความพร้อมรับภัยปัญหาดังกล่าว นายแพทย์ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการ การรองรับปัญหาประเทศไทยวางแผนได้ดี โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2544 ได้มอบให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงสาธารณาสุข (สธ.) เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ และมอบให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติทำหน้าที่ประสานการดำเนินการ ให้กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหา (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สัญญาณไฟข้ามถนนแบบใหม่ไม่ต้องกดปุ่ม

นายนพดล เหลืองดิลก รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักการจราจรฯ ได้ทดลองติดตั้งสัญญาณไฟ สำหรับคนข้ามถนนแบบใหม่จำนวน 1 จุดบริเวณด้านหน้าศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เพื่อทดสอบระบบและประเมินผลเบื้องต้น โดยสัญญาณไฟคนข้ามถนนแบบใหม่ คนข้ามไม่ต้องกดปุ่ม แต่ให้ยืนรอบนจุดที่กำหนดไว้ประมาณ 1 ตารางเมตร ซึ่งติดตั้งเครื่องตรวจจับสัญญาณว่ามีคนยืนอยู่ และจะเชื่อมวงจรกับสัญญาณไฟหยุดรถโดยอัตโนมัติเพื่อให้คนข้ามได้ เนื่องจากระบบเดิมที่ติดตั้งไว้ตามทางข้ามต่างๆ ในพื้นที่ กทม. นั้นไม่สัมพันธ์กัน เพราะประชาชนที่ต้องการข้ามถนนจะเป็นผู้กดเอง แต่บ่อยครั้งที่ประชาชนรีบข้ามไปโดยไม่รอสัญญาณไฟหรือกดเล่น ทำให้ไฟแดงปรากฏและรถต้องจอดรอเป็นเวลานานโดยไม่มีคนข้าม (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 มีนาคม 2545 หน้า 25)





“ไวน์ข้าว” หนึ่งทางเลือก..เพื่อการส่งออก

งานวิจัยการทำ ไวน์ข้าวไทย โดย ดร.ลูกจันทร์ ภัครัชพันธุ์ จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร ดร.ลูกจันทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกข้าวมาผลิตเป็นไวน์ เพราะ ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีข้าวจำนวนไม่น้อยที่ยังระบายออกสู่ตลาดไม่ทันซึ่งมีปัญหาเรื่อง การจัดเก็บและราคาตกต่ำ หากนำข้าวมาผลิตเป็นไวน์และมีการพัฒนาคุณภาพให้ดี ศักยภาพสู่การส่งออกนั้นมีมาก ซึ่งแตกต่างจากผลไม้ที่มีข้อจำกัดของฤดูกาลและปริมาณ อีกทั้งการผลิตไวน์ข้าวใช้ต้นทุนไม่มากนัก ขณะเดียวกันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าได้อีกมาก การวิจัยและผลิตไวน์ข้าวทำในลักษณะไวน์ขาวของเยอรมันที่มีเอกลักษณ์สาเก รสชาตินุ่ม ไม่บาดคอ มีกลิ่นหอม สีออกเหลืองคล้ายบรั่นดี มีชื่อว่า “ลอไรซ่า” ซึ่งดัดแปลงจากชื่อวิทยาศาสตร์ของข้าว ผู้สนใจติดต่อได้ที่ ดร.ลูกจันทร์ โทร. 0-2561-3483ม 0-1643-2378 ในเวลาราชการ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 มีนาคม 2545 หน้า 20)





ข่าวทั่วไป


ทุ่ม 60 ล้านฝังไมโครชิปสุนัขจรจัดทั่วกรุง

นายประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้สรุปว่า กทม. จะดำเนินการฝังไมโครชิป ทำหมัน ฉีดวัคซีนให้สุนัขจรจัดที่มีอยู่ประมาณ 120,000 ตัว ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ให้ครอบคลุมทั้งหมดภายใน 1 ปี โดยดำเนินการวันละ 400 ตัว และจะร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ คณะแพทยศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งจะประสานกับคลีนิกของเอกชนด้วยว่า จะรับทำหมันสุนัขจรจัดหรือไม่ หากคลีนิกใดตกลงก็จะให้เงินเป็นรายหัวสุนัข โดยเมื่อฝังไมโครชิป และทำหมัน ฉีดวัคซีนแล้ว กทม. จะใส่ปลอกคอที่มีลักษณะเหนียวคล้ายพลาสติก การใช้งานประมาณ 1 ปี ราคาประมาณอันละ 10 บาท ให้มองเห็นได้แต่ไกลและไม่ต้องทำหมันซ้ำ ทั้งนี้การทำหมันและใส่ปลอกคอจะใช้งบประมาณของ กทม. เอง ประมาณ 60 ล้าน อยู่ระหว่างเสนอผู้ว่าฯ กทม. อนุมัติ อาจใช้งบกลางของ กทม. คาดว่าภายใน 3 เดือนจะได้ข้อสรุป (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 มีนาคม 2545 หน้า 34)





เห็นเทศกิจกางร่มส้มต้องหยุดรถให้ข้าม

สำนักเทศกิจเตรียมกางร่มสีส้ม ให้คนข้ามถนนได้กลางเดือนมีนาคมนี้ 400 จุดทั่วกรุงเทพ ฯ เตรียมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ทราบสัญลักษณ์ใหม่ เห็น “ร่มส้ม” ต้องหยุดรถให้คนข้ามทันที นายธวัชชัย กำลังงาม ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ เปิดเผย ความคืบหน้าโครงการเทศกิจร่วมจัดระเบียบเมืองว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านกำลังเจ้าหน้าที่ และการเตรียมแผ่นป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะสามารถให้บริการประชาชน นักท่องเที่ยว นักเรียน บริเวณทางม้าลายทั่วกรุงเทพฯ กว่า 400 จุด โดยสำนักเทศกิจจะทำร่มสีส้มแจกจ่ายพร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่รับทราบว่า ร่มสีส้ม เป็นสัญลักษณ์ของการชะลอความเร็วและจอดให้คนข้าม จากนั้นเมื่อรถหยุดเจ้าหน้าที่เทศกิจจะกางร่ม พร้อมนำนักเรียนข้ามถนนอย่างปลอดภัย ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 มีนาคม 2545 หน้า 34)





พัฒนาแรงงานรับอุตสาหกรรมยานยนต์

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า เป็นโอกาสของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า บริษัทผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก นายสุรินทร์ จิระวิศิษฎ์ อธิบดีกรมฝีมือแรงงาน ก็ได้เซ็นสัญญาลงนามความร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2545 หน้า 6)





ตั้ง “ไกรสร” นำทีมสรุปแนวทางรวมกสท.-ทศท.ภายใน 30 มี.ค.

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐวิสาหกิจ กรมวิชาการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานการร่วมกิจการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ นายไกรสร พรสุธี รองปลัดด้านสื่อสาร กระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานศึกษาการรวมกิจการ กสท. และ ทศท. โดยกำหนดให้สรุปผลศึกษาแล้วเสร็จในวันที่ 30 มีนาคมนี้ โดยผลการศึกษาดังกล่าวจะใช้เป็นแนวทางจัดทำโครงสร้างใหม่ ของการรวมกิจการทั้งสองหน่วยงานตามนโยบายล่าสุดของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับการร่วมกิจการ โดยคาดว่าจะมีการใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจเป็นแนวทางในการรวม (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 มีนาคม 2545 หน้า 5)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215