หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 13 ประจำวันที่ 2002-03-26

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯเพิ่งได้คิด เก็บข้อมูลหลักสูตร
“สุวัจน์” กระตุ้นจุฬาฯเป็นผู้นำการทำวิจัย
เดินเครื่องเอนทรานซ์ใหม่กลางปี 48
ฝาก “ทักษิณ” รุกแก้ปัญหานิสิต-นักศึกษา
ยึดพิมพ์เขียว สปศ. จัดโครงสร้างศึกษา
“หว้ากอ” ลุยขยายเพิ่มอีก 6 ฐานการเรียนรู้
เผยแผนรับ ม.1/ม.4 ทั่วประเทศปี 45 “ลดห้อง ม.1” ร.ร.ใหญ่- “ขยาย ม.4” แทน
อบรม 800 น.ศ.ต้านเอดส์-ขี้ยา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ทีมนักวิจัยสหรัฐค้นพบวิธีจัดการแบคทีเรียดื้อยา
“สนธยา” ลุยจัดงบวิทย์
หนุนจุฬาฯเปิดเว็บไซต์สิ่งแวดล้อม

ข่าววิจัย/พัฒนา

ระวัง! ใส่ผ้าไหมมีสิทธิ์มะเร็ง ของปลอมทะลักจากจีนใช้ส่วนผสมสารเคมี
ม.แม่โจ้จดสิทธิบัตรเครื่องขุดมัดฝรั่ง
การเตรียมผงแบเรียมไทเทเนตที่มีความบริสุทธิ์สูงโดยวิธีซอลเจล
การศึกษาการนำเศษ HDPE กลับมาหมุนเวียนใช้ในการเป่าหล่อ
เตือนอย่าดื่มยาไมยราบมาก อาจขับปัสสาวะออกจนป่วย
คิดยาหลอกร่างกายของตัวเอง หลงกำจัดไขมันลดความอ้วน
พบสารต้านมะเร็งในข้าวสาลี
หมอผู้ดีสั่งคนไข้ปลูกต้นไม้แทนการจ่ายยา
ตื่นฉีดสารพิษลบรอยตีนกา ช่วยให้หน้าตากลับเป็นหนุ่มสาว
ประดิษฐ์ไม้เท้าเอาอย่างค้างคาว ทำให้คนตาบอดมองเห็นทางเดิน
ทีมวิจัยมะกันขอเวลาอีกปี กำจัดมะเร็งตับอ่อน
ก.วิทย์ห่วง “โคลนนิ่ง” เร่งคุมจรรยาบรรณก่อนปฏิรูป
ฝรั่งเศสเจ๋งแกะรอยนักข่มขืนใกล้สำเร็จ

ข่าวทั่วไป

รถพ่วงบรรทุกสารอันตรายสูญพันธุ์ 5 ส.ค. กรมขนส่งเลิกจดทะเบียน
ไทยคว้า 3 รางวัลด้านการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ
หวั่น 30 บาททำคลินิกเอกชนเจ๊ง





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯเพิ่งได้คิด เก็บข้อมูลหลักสูตร

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนได้ขออนุมัติเปิดหลักสูตรใหม่เป็นจำนวนมาก โดยที่ทบวงฯ ยังไม่มีฐานข้อมูลว่า สถาบันใดบ้างเคยมีการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ แล้วจำนวนเท่าใด และมีสถาบันใดบ้างที่เปิดสอนหลักสูตรในลักษณะเดียวกันบ้าง เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ อย่างไรก็ตามตนไม่อยากให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่กันเปิดหลักสูตรยอดนิยมเพียงอย่างเดียว ดังนั้นต่อไปจึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลการเปิดหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั้งหมด เพื่อให้สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประสานงานกับผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกันจะทำให้ไม่เกิดการจัดหลักสูตรที่ซ้ำซ้อน ซึ่งทบวงฯ จะเสนอให้มีการปฏิรูประบบการผลิตบัณฑิตและการใช้ทรัพยากรในการเปิดหลักสูตรใหม่ต่อไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 มีนาคม 2545 หน้า 10)





“สุวัจน์” กระตุ้นจุฬาฯเป็นผู้นำการทำวิจัย

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 มี.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับผู้บริหารจุฬาฯ โดย นายสุวัจน์ กล่าวว่า ขณะนี้หากเราจะเปรียบเทียบนักวิจัยต่อจำนวนประชากร 10,000 คน จะพบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยต่ำมากเพียง 2 คนในขณะที่เกาหลี หรือ สิงคโปร์มีถึง 20-30 คน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มีถึง 70 คน ดังนั้นเราจึงต้องมาช่วยกันพัฒนานักวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น เพราะการวิจัยจะส่งผลไปสู่การวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และเปิดสอนในหลากหลายสาขา ดังนั้นตนจึงอยากให้จุฬาฯ เป็นผู้นำทางการวิจัยของประเทศไทย โดยเรื่องที่มาวิจัยในขณะนี้คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เพราะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชีวิต การเพิ่มผลผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยประเทศที่เป็นผู้นำทางการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพในเวลานี้คือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งหากเราไม่สนใจที่จะศึกษาเรื่องดังกล่าวก็จะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2545 หน้า 14)





เดินเครื่องเอนทรานซ์ใหม่กลางปี 48

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ประชุมการปรับปรุงระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สรุปถึงระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา โดยจะใช้ระเบียนสะสมผลงานซึ่งรวมถึงบันทึกคุณงามความดีของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือผู้สมัครเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณา ส่วนผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPA) และตำแหน่งระดับที่ (PR) ยังคงใช้ส่วนประกอบในสัดส่วน 10% และจะเริ่มใช้ระบบกลางในปี 2548 ทั้งนี้จะมีการพัฒนาหน่วยงานกลางตามแนวปฏิรูปการศึกษา เพื่อเป็นหน่วยทดสอบมาตรฐานผู้เรียนระดับ ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 พร้อมเป็นหน่วยทดสอบวิชาการในการรับนิสิตนักศึกษา โดยจะยกระดับสำนักทดสอบกลาง ทบวงฯ ขึ้นเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ข้อสรุปดังกล่าวจะเสนอที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งหารือกับสถาบันอุดมศึกษาซึ่งจะเข้าร่วมโครงการอุดมศึกษาใหม่ด้วย ซึ่งขณะทำงานการคัดเลือกนักศึกษาที่ตนเป็นประธานจะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนเร็วๆ นี้ (ไทยรัฐ พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า15)





ฝาก “ทักษิณ” รุกแก้ปัญหานิสิต-นักศึกษา

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปัญญาชนรุ่นใหม่กับการพัฒนาประเทศ” ในโครงการประชุมสัมมนา นายกฯ พบนิสิต/นักศึกษา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่า ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงมาก เพราะที่ผ่านมาเรียนแบบท่องจำไม่ทำให้เกิดการใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต แม้แต่ ม. ยังออกข้อสอบแบบท่องจำและทุกคนคิดแต่จบปริญญา เพื่อเป็นลูกจ้าง รับราชการ แต่ไม่คิดเป็นผู้ประกอบการจึงอยากให้สร้างนักคิดตั้งแต่วันนี้ และอยากให้คนรุ่นใหม่รวมกลุ่มทำงานเป็นทีม หรือเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ วันนี้รัฐบาลได้จัดโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรสร้างชุมชนเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้กับชาวบ้าน นำคนรุ่นใหม่เชื่อมต่อกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อไม่ให้ขาดหายทั้งอย่าทำลายสมองตัวเองด้วยการใช้ยาเสพย์ติด ทั้งนี้โลกข้างหน้าคาดหวังให้คนรุ่นใหม่ต้องรู้อินเทอร์เน็ต ภาษาอังกฤษ และวัฒนธรรมสากล หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ผู้แทนนิสิตนักศึกษาแสดงความเห็น ซึ่ง น.ส.ศิริพรรณ อ่วมกลัด นายกสโมสรนักศึกษา ม. อัสสัมชัญ ขานรับที่นายกฯ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่กล้าเสี่ยงเป็นผู้ประกอบการ แต่ไม่มั่นใจการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอาจทำให้โครงการต่างๆ ขาดความต่อเนื่อง นายปกรณ์ เชิญพิมาย ว่าที่นายกสโมสรนักศึกษา ม.รังสิต เสนอให้นายกฯ แก้ไขหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องแต่ละสาขาวิชา ปัญหาการทำงานวิจัยของอาจารย์ เพื่อเลื่อนตำแหน่งที่ส่งผลกระทบการสอนนักศึกษา และการพนันบอลที่ขณะนี้ทุกสถาบันมีโต๊ะรับพนันบอลรายล้อม นักศึกษาบางคนต้องนำเงินที่ลงทะเบียนไปพนันบอล หรือต้องหนีหัวซุกหัวซุนซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ รับที่จะสนับสนุนโครงการต่างๆ ของนักศึกษา (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2545 หน้า 15)





ยึดพิมพ์เขียว สปศ. จัดโครงสร้างศึกษา

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ว่า ได้มีการพิจารณาโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ยึดหลักการตาม ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ตามที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ยกร่างและให้เร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง เสนอ ครม. คณะที่ 4 เพื่อให้กฎหมายสามารถเดินหน้าไปได้ ส่วนประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่าง สปศ. และ ศธ. ในประเด็นของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาฯ ที่ ศธ. เสนอให้อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ แต่ สปศ. ให้แยกออกไปอีกแท่งหนึ่ง รวมถึงประเด็นของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่ ศธ. เสนอให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล สังกัดสำนักงานปลัด แต่ สปศ. ให้อยู่ในการปฏิรูประบบราชการตามโครงการใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่เป็นนิติบุคคลนั้นที่ประชุมเห็นว่า เป็นเรื่องรายละเอียดสามารถไปแก้ไขในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการหรือคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไปได้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 5 มีนาคม 2545 หน้า 15)





“หว้ากอ” ลุยขยายเพิ่มอีก 6 ฐานการเรียนรู้

นายประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า อุททยานฯ หว้ากอ ได้มีการปรับปรุงและเปิดให้บริการฐานการเรียนรู้สำหรับเยาวชนเพิ่มเติมอีก 6 ฐานการเรียน คือ ฐานหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ ฐานวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ ฐานเปิดโลกคอมพิวเตอร์ ฐานทรัพย์จากแผ่นดิน ฐานโลกของเด็ก และฐานบันทึกเกียรติยศ ซึ่งแต่ละฐานจะเน้นการเรียนที่ผู้เรียนจะต้องได้ลงมือฝึกและปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่มุ่งเน้นให้จัดและบริการการเรียนรู้แก่เยาวชน และประชาชนกลุ่มเป้าหมายนอกโรงเรียนให้มากขึ้น โดยเน้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต และเรียนรู้ตามความสนใจของแต่ละบุคคล (มติชน พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 21)





เผยแผนรับ ม.1/ม.4 ทั่วประเทศปี 45 “ลดห้อง ม.1” ร.ร.ใหญ่- “ขยาย ม.4” แทน

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยถึงการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2546 ว่า แนวปฏิบัติการรับนักเรียน ม.1 ให้รับในพื้นที่บ้านใกล้โรงเรียน 70% ส่วนอีก 30% เป็นการสอบคัดเลือก เด็กความสามารถพิเศษ และเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ ใน ม.4 คือ ให้รับนักเรียนชั้น ม.3 ที่ต้องการเรียนต่อทั้งหมดหากไม่สามารถรับได้ทั้งหมด ให้โรงเรียนในสหวิทยาเขตนั้นๆ ร่วมกันดูแลจัดที่เรียนให้ โดยจะรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ทั่วประเทศรวม 1,017,000 คน เป็นชั้น ม.1 จำนวน 558,720 คน ม.4 จำนวน 458,280 คน โดยจะปรับแผนชั้นเรียน ม.1 ของโรงเรียนขนาดใหญ่ให้ลดจำนวนรับนักเรียนลงและไปขยายชั้นเรียน ม.4 แทน เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนเดิมได้เรียนต่ออย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเปิดทางให้นักเรียนสังกัดอื่นเข้ามาเรียนต่อได้ด้วย โดยมอบอำนาจให้ขณะกรรมการสหวิทยาเขตไปพิจารณาปรับลด หรือเพิ่มจำนวนชั้นเรียนในสหวิทยาเขตเดียวกัน (มติชนรายวัน อังคารที่ 5 มีนาคม 2545 หน้า 20)





อบรม 800 น.ศ.ต้านเอดส์-ขี้ยา

นายวิรัช โหตระไวศยะ ผู้อำนวยการกองบริการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยว่า จากสภาพสังคมปัจจุบันที่ชาย-หญิง จำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และเริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อยู่ในวัยรุ่น ทำให้โรคเอดส์ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือ พบว่าปัญหาเอดส์และยาเสพติดมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง คือสารเสพติดบางประเภทมีผลในการกระตุ้นพฤติกรรมทางเพศ เมื่อเสพแล้วคึกคะนองขาดความระมัดระวัง จึงมีเพศสัมพันธ์โดยขาดการป้องกัน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจึงจัดอบรมผู้นำนักศึกษาในสถานศึกษา เพื่อป้องกันโรคเอดส์และต่อต้านสารเสพติดในโครงการ “เพื่อนดูแลเพื่อน พี่ดูแลน้อง” เพื่อลดปัญหาส่วนหนึ่ง มุ่งให้ความรู้ ทักษะชีวิตเพื่อป้องกันโรคเอดส์และสารเสพติดที่ทุกคนควรมีไว้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง ระหว่างวันที่ 19-25 มีนาคม ที่ลพบุรีอินน์ รีสอร์ท จ.ลพบุรี รวมทั้งดูงานเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ทีมนักวิจัยสหรัฐค้นพบวิธีจัดการแบคทีเรียดื้อยา

แบร์รี่ ฮอลล์ หัวหน้าคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโลเชสเตอร์ ของสหรัฐฯ เผยว่า สามารถจำลองวิวัฒนาการของแบคทีเรียที่ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้ดื้อยาปฏิชีวนะ โดยวิธีการเขียนแผนภูมิการพัฒนาของแบคทีเรียต่อยาชนิดหนึ่งๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทผู้ผลิตยาที่จะสามารถทราบลักษณะเฉพาะและคิดค้นยาที่สามารถจัดการกับแบคทีเรียนั้นๆก่อนที่พวกมันจะสามารถพัฒนาตัวเองได้ทัน โดยเฉพาะแบคทีเรียบางชนิดที่พัฒนาตัวเองจนสามารถดื้อยาที่ใช้รักษาโรคระบาดที่กลับมาใหม่ได้ เช่น วัณโรค โกโนเรียและโรคต่างๆ ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในอดีต (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 21 มีนาคม 2545 หน้า 15)





“สนธยา” ลุยจัดงบวิทย์

นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้เตรียมความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. 2545 โดยต้องแยกเป็น 4 กระทรวงคือ กะทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามการปรับรอบบริหารราชการ ซึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณและภารกิจที่จะแบ่งออกไป ขณะนี้อยู่ระหว่างัดทำงบประมาณปี 2546 เพื่อรองรับกระทรวงใหม่ทั้ง 4 กระทรวง โดยแยกเป็นภารกิจหลักในแต่ละด้านให้ชัดเจน (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 มีนาคม 2545 หน้า 8)





หนุนจุฬาฯเปิดเว็บไซต์สิ่งแวดล้อม

อ.ชินเทพ เพ็ญชาติ ผู้อำนวยการโครงการระบบสารสนเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 4 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการจัดตั้ง ระบบบริการข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ http://WWW.teenet.chula.ac.th และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสารสนเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2545 หน้า23)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ระวัง! ใส่ผ้าไหมมีสิทธิ์มะเร็ง ของปลอมทะลักจากจีนใช้ส่วนผสมสารเคมี

นักวิจัยออกโรงเตือนภัยผู้นิยมใช้ผ้าไหมหลังเปิดการค้าเสรีอุตสาหกรรมผ้าไหมจากประเะทศจีนทะลักเข้ามาพบว่าไม่ได้คุณภาพ แถมยังใช้สารเคมีผสมเลียนแบบไหมไทย ใครใช้มีสิทธิ์อันตรายถึงกับเป็นมะเร็ง นางธิดารัตน์ ติยะจามร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเครือข่ายพัฒนาหม่อนไหมภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือ การเข้ามาของไหมจีนที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ผลิตผ้าไหมรายใหญ่ที่เป็นอุตสาหกรรมต่างหันไปใช้และปฏิเสธที่จะรับซื้อเส้นไหมจากผู้ผลิตไทยซึ่งมีราคาสูงกว่าหรือหากรับซื้อก็กดราคาให้อยู่ระดับเท่ากับจีนหรือต่ำกว่า โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติที่แตกต่าง ทำให้ผู้ผลิตวัตถุดิบไทยอยู่ไม่ได้ ทางด้าน นายสมยศ สุภาพรเหมินทร์ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยเรื่อง การกำหนดมาตรฐานคุณภาพผ้าทอพื้นบ้านเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผู้ผลิตฝ้ายได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับผู้เลี้ยงไหม และเป็นที่รู้กันว่าการปลูกฝ้ายของจีนมีการใช้สารเคมีในการผลิตมากที่สุด มีปัญหาการตกค้างของสารเคมีในเนื้อผ้า เมื่อนำมาใช้จะเกิดผลเสียต่อผู้บริโภค เช่น อาการแพ้ หรือแม้กระทั่งโรคร้ายอย่างมะเร็ง เป็นต้น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตผ้าทอพื้นบ้านของไทยมีความกระตือรือล้นพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ปลอดสารเคมีอันตราย(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2545 หน้า 23)





ม.แม่โจ้จดสิทธิบัตรเครื่องขุดมัดฝรั่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บัณฑิต หิรัญสถิตพร อาจารย์ประจำภาควิชา วิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สร้างเครื่องขุดมันฝรั่งแบบตะแกรงร่อนบันไดเลื่อนติดรถไถเดินตามแล้วเสร็จ ซึ่งสามารถทำงานได้ดีในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถขุดมันฝรั่งได้ 0.88 ไร/ช.ม. หรือประมาณ 7 ไร่/วัน นับเป็นความสำเร็จของงานวิจัยที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง โดยสามารถลดต้นทุนในการผลิตมันฝรั่งในขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวได้เป็นอย่างมาก ผู้สนใจขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร โทร. 0-5349-8174 (ข้อมูลจากงานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้) (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 มีนาคม 2545 หน้า 29)





การเตรียมผงแบเรียมไทเทเนตที่มีความบริสุทธิ์สูงโดยวิธีซอลเจล

นางสุคนธ์ พานิชพันธ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาค้นคว้าและรวบรวมผลงานวิจัยที่เป็นวิธีเตรียมแบเรียมไทเทเนตโดยวิธีต่างๆ นำมาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี และได้เลือกการเตรียมโดยวิธีซอลเจล ซึ่งเป็นวิธีที่จะให้อนุภาคขนาดเล็กและสม่ำเสมอ มีความบริสุทธิ์สูง จากนั้นจึงทำการทดลองเปรียบเทียบการเตรียมกับวิธีที่คล้ายคลึงกันต่อไป ผลงานวิจัยนี้ทำให้สามารถเตรียมแบเรียมไทเทเนตที่มีความบริสุทธิ์สูงและราคาไม่แพง สามารถนำเข้าไปใช้เป็นสารตั้งต้นการทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และอาจพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป เป็นการลดการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้เทคนิคซอลเจลยังสามารถนำไปใช้กับการเตรียมสารพีโซอิเล็กทริกอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เพราะเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่สามารถควบคุมปริมาณและองค์ประกอบได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 มีนาคม 2545 หน้า 24)





การศึกษาการนำเศษ HDPE กลับมาหมุนเวียนใช้ในการเป่าหล่อ

ดร.กฤษฎา สุชีวะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยและพัฒนาการนำเศษ HDPE กลับมาหมุนเวียนเพื่อผลิตใหม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เนื่องจาก HDPE เป็นพลาสติกที่มีการใช้งานมาก ผลงานวิจัยทำให้ได้เทคโนโลยีและวิธีการควบคุมคุณภาพในการนำเสษ HDPE กลับมาหมุนเวียนใช้ในการเป่าหล่อผลิตภัณฑ์พลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้ภาคอุตสาหกรรมได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 มีนาคม 2545 หน้า 24)





เตือนอย่าดื่มยาไมยราบมาก อาจขับปัสสาวะออกจนป่วย

ตำรายาไทยให้ใช้ต้นไมยราบทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับฤดูขาวสำหรับไตพิการ ตำรายาไทยระบุว่า เป็นอาการที่เจ็บปวดจากหลายสาเหตุทำให้ร่างกายซูบซีด โลหิตจาง ปวดเมื่อย ซึ่งประเทศอินเดียมีรายงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของไมยราบในการขับปัสสาวะ เมื่อปี 2521 แต่เป็นการวิจัยในสัตว์ทดลอง ส่วนงานวิจัยของประเทศไทยมีผลงานของนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปี 2525 ได้ทดลองในหนูพบว่า ไมยราบมีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด จึงสรุปได้ว่า ไมยราบ มีคุณสมบัติในการขับปัสสาวะ รองคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ กล่าวต่อว่า การขับปัสสาวะจะช่วยขับของเสียในร่างกาย ซึ่งเวลาที่ร่างกายปวดเมื่อยเกิดจากการทำงานเกินกำลัง และเกิดของเสียในกล้ามเนื้อมากขึ้น การขับปัสสาวะเป็นการช่วยการกำจัดของเสียทางหนึ่ง แต่ในการขับปัสสาวะไม่ได้นำของเสียออกไปเท่านั้น ยังมีแร่ธาตุต่างๆ ถูกขับไปด้วย ดังนั้นหากขับปัสสาวะมากเกินไปอาจจะทำให้แร่ธาตุในร่างกายลดลง และเกิดผลเสียต่อร่างกายได้โดยเฉพาะธาตุโปแตสเซียม หากมีการขับออกจากร่างกายมากเกินไปอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 12 มีนาคม 2545 หน้า 7)





คิดยาหลอกร่างกายของตัวเอง หลงกำจัดไขมันลดความอ้วน

ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดค้นตัวยาพิฆาตไขมัน ซึ่งจะหลอกให้ร่างกายเข้าใจว่า กำลังออกกำลังกาย เนื่องจากฤทธิ์ยาจะสั่งให้กล้ามเนื้อร่างกายเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน อีกทั้งคอยป้องกันไม่ให้ไปจับตัวสะสมกันอยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน ยาขนานใหม่นี้จะอาศัยกระบวนการทางพันธุกรรมชื่อ เอเอ็มพีเค ซึ่งค้นพบโดย ศาสตราจารย์ แกรม ฮาร์ดี แห่งมหาวิทยาลัยดันดี เมื่อ 15 ปีก่อน เข้าใจว่ากระบวนการนี้จะถูกกระตุ้นให้ทำงานเมื่อเราออกกำลังกาย และจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง เป็นเกราะป้องกันโรคอ้วนและเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ฮาร์ดี ย้ำว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพก็คือ จะต้องกินอาหารให้เหมาะสมและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะกลายเป็นคนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ถ้าหากออกกำลังกายเป็นประจำไม่ได้ เช่น ในหมู่คนสูงอายุที่อาจจะป่วยกระเสาะกระแสะ หรือสังขารไม่เอื้ออำนวยที่จะออกกำลังกายได้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 12 มีนาคม 2545 หน้า 7)





พบสารต้านมะเร็งในข้าวสาลี

ดร.โดโลเรส ทาเกโมโตะ นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตต ได้ศึกษาพบว่า ในข้าวสาลีมีสารแอนตี้ออกซิแดนต์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันทั้งมะเร็งลำไส้ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ การค้นพบเช่นนี้อาจทำให้สามารถสร้างข้าวสาลีดัดแปลงยีน ซึ่งมีสารเคมีต้านมะเร็งได้ และขณะนี้พวกตนก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาพันธุ์ดังกล่าว (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 18)





หมอผู้ดีสั่งคนไข้ปลูกต้นไม้แทนการจ่ายยา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนโธรว์ในอังกฤษ พบว่า การปลูกต้นไม้จะส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของคน จากการศึกษาโดยให้แพทย์สั่งให้คนไข้ปลูกต้นไม้แทนการสั่งจ่ายยาแก่ผู้สูงอายุและคนพิการ ปรากฏว่าคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้น ทางกองทุนจึงมีแผนที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยลัฟเบอเรอะ ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษาคนไข้โดยใช้การปลูกต้นไม้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 18)





ตื่นฉีดสารพิษลบรอยตีนกา ช่วยให้หน้าตากลับเป็นหนุ่มสาว

สมาคมศัลยกรรมตกแต่งของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การเสริมสวยด้วยการฉีดสารพิษโบตูลินัม ได้กลายเป็นศัลยกรรมตกแต่ง ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอเมริกาของรอบปีที่แล้ว มีผู้เข้ารับการบริการมากถึง 1,600,000 คน เหนือกว่า เหนือกว่าการทำศัลยกรรมเสริมอกในราคาบริการระหว่าง 13,200-21,500 บาท สารพิษนี้เป็นสารพิษที่เป็นพิษต่อระบบประสาท ซึ่งแบคทีเรียชนิดหนึ่งสร้างขึ้นในอาหารกระป๋องหรืออาหารหมักดอง ทำให้อาหารเกิดเป็นพิษชนิดรุนแรงมาก จนอาจใช้เป็นอาวุธชีวภาพร้ายแรงได้ แต่มันมีคุณสมบัติช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและลบรอยตีนกา และรอยเหี่ยวย่นตามผิวหน้าออกไปได้ แต่ก็มีเสียงบ่นว่าทำไมทำให้หน้าดูจืดไปเหมือนใบหน้าที่ปราศจากความรู้สึกใดๆ ไม่อาจปั้นสีหน้าอย่างธรรมชาติเดิมได้ ยาดังกล่าวนี้เดิมทีใช้ในการฉีดรักษาอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อรู้สึกเขม่นตามใบหน้า หมอมาพบภายหลังว่า มันมีประโยชน์ช่วยรักษาริ้วรอยบนใบหน้าให้หายลง ได้ผลดีกว่าอย่างอื่นขณะนี้ทางองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคำร้องขออนุมัติให้ใช้ยานี้เพื่อการเสริมสวยอยู่ เป็นที่คาดว่าหากองค์การอนุมัติ อาจจะกลายเป็นยาที่ขายดี (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 7)





ประดิษฐ์ไม้เท้าเอาอย่างค้างคาว ทำให้คนตาบอดมองเห็นทางเดิน

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยลีดส์ ของอังกฤษได้ตั้งชื่อว่า “ไม้เท้าค้างคาว” มันสามารถเปล่งคลื่นโซนาร์ ที่คนไม่ได้ยินออกไปได้เกือบรอบตัว เมื่อเจอสิ่งกีดขวางที่อยู่ใกล้จะก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นที่ด้ามถือที่เป็นพลาสติก โดยเมื่อยิ่งเข้าใกล้มันก็จะยิ่งสั่นรัวขึ้น โฆษกบริษัทแคมบริดจ์ คอนซัลแตนท์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล่าวว่า ไม้เท้าจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตานึกเห็นภาพสิ่งรอบตัว และไปไหนได้เองโดยเฉพาะในเมืองได้ ปกติแล้วผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่มักจะถูกจับให้อยู่แต่ในบ้าน แต่ไม้เท้านี้จะสามารถช่วยให้เดินออกไปข้างนอกได้ ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะนี้กำลังทดลองใช้อยู่ในอังกฤษ อเมริกา แคนาดา และเยอรมัน คาดว่าจะผลิตออกจำหน่ายได้ในราวปีนี้ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 7)





ทีมวิจัยมะกันขอเวลาอีกปี กำจัดมะเร็งตับอ่อน

ดร.เลโอนิด ครูกลิยัก จากสถาบันวิจัยมะเร็งฮัตชินสัน เปิดเผยว่า การรู้ที่ตั้งของยีนที่เป็นสาเหตุของมะเร็งตับอ่อน จำนำไปสู่การพัฒนายา และวิธีการรักษาอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ที่ผ่านมานั้นคนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนมักจะเสียชีวิตไม่เกิน 6 เดือนหลังตรวจพบ เพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการให้เห็น จนกระทั่งจะแพร่ขยายไปทั่วร่างกายแล้ว และนักวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ค่อนข้างจำกัด “ยีนที่ต้องสงสัยอยู่ในโครโมโซมตัวที่ 4 นั้นมีประมาณ 100 ตัว ขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษายีนเหล่านี้ โดยนำมาผ่านกระบวนการคัดแยกและจัดเรียง คาดว่าไม่เกิน 1 ปีก็จะทราบผล” ดร.เลโอนิด ระบุ (มติชนรายวัน พุธทื่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 18)





ก.วิทย์ห่วง “โคลนนิ่ง” เร่งคุมจรรยาบรรณก่อนปฏิรูป

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “มีประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์หลายประเด็นที่จะต้องคุมเข้ม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านชีวภาพ ซึ่งจะต้องประกาศควบคุมด้านจรรยาบรรณ โดยจะออกกฎกระทรวง เช่น การโคลนนิ่ง การกำกับความปลอดภัยทางชีวภาพ เพราะจะเป็นประเด็นสำคัญในอนาคตที่จะต้องมีการควบคุมกำกับจรรยาบรรณ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานควบคุมในสาขาเหล่านี้ ในประเด็นเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ จะต้องดูในรายละเอียดอีกครั้งว่า สมาคมไหนจะเป็นผู้ควบคุมกำกับ หรือจะควบคุมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในด้านดังกล่าวโดยตรง โดยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นประธานตรวจร่างครั้งแรก ก่อนนำเสนอ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้ทันสมัยประชุมรัฐสภาต่อไป (มติชนรายวัน พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 18





ฝรั่งเศสเจ๋งแกะรอยนักข่มขืนใกล้สำเร็จ

นิวโซเอินทิสต์ รายงานว่า นายฟิลิปป์ เดอ มาซาน คอร์ต นักชีววิทยาที่เชี่ยวชาญด้านนิติเวชแห่งโรงพยาบาลเรย์มอนด์ โปแองกาเร่ เมืองการ์เซ่ส์ ประเทศฝรั่งเศส ได้ตรวจหาโครโมโซมวาย (Y CHROMOZOMES) ของคนร้ายซึ่งมักจะตกค้างอยู่ตามผิวหนังของเหยื่อซึ่งเป็นหญิงจำนวน 79 คน ที่ถูกข่มขืนแล้วตรวจไม่พบสเปิร์มของคนร้าย ปรากฏว่า สามารถพบร่องรอยของโครโมโซมวาย ของคนร้ายถึงเกือบ 30% และร่องรอยนี้ก็ยังไม่หายไป แม้ว่าเหยื่อบางรายจะผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้นมาหลายวันแล้วก็ตาม ตามรายงานระบุว่า บางรายผ่านเหตุการณ์นั้นมาถึง 8 วันแล้วก็ยังพบโครโมโซมวายของคนร้ายอยู่ ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส เชื่อว่า เทคนิคใหม่ล่าสุดนี้จะใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพในคดีข่มขืนทั่วไป เมื่อวิธีการตรวจสอบแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมา เกิดไม่ได้ผล (มติชนรายวัน พุธที่ 6 มีนาคม 2545 หน้า 18)





ข่าวทั่วไป


รถพ่วงบรรทุกสารอันตรายสูญพันธุ์ 5 ส.ค. กรมขนส่งเลิกจดทะเบียน

นายปรีชา ออประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมขนส่งฯ ออกมาตรการคุมเข้มความปลอดภัยบนท้องถนน ตั้งแต่ 5 ส.ค. ยกเลิกจดทะเบียนรถพ่วงบรรทุกวัตถุอันตรายให้เหลือเฉพาะรถกึ่งพ่วง และบรรทุกติดตัวรถเท่านั้น ชี้รถพ่วงเกิดอุบัติเหตุเคลื่อนย้ายยากสร้างปัญหา แต่ให้รถเก่าต่ออายุได้ 5 ปี (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 21 มีนาคม 2545 หน้า 34)





ไทยคว้า 3 รางวัลด้านการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ

สุวัฒน์ คุ้มวงษ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแฟรงก์เฟิร์ต เผยถึงรางวัลด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยได้รับถึง 3 รางวัล คือ รางวัล Attractive Presentation ในงาน The 19th International Tourist 2002 ที่เมือง Linz ประเทศออสเตรเลีย รางวัลที่ 2 คือ The Best Foreign NTO Representative Office in Strengthen of Mutual Co-operation ภายในงาน Russian Tourism Award, Crystal Globe จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศรัสเซีย และรางวัล TTG Czech Travel Awards จากประเภท The Best Selling Destination ในงาน Holiday World 2002 ซึ่งจัดโดย TTG Czech Republic ร่วมกับ Holiday World, Mosen และ Hertz ที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ก จากรางวัลดังกล่าวนับเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงทิศทางการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงประสิทธิภาพทางการตลาดในต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มของนักท่องเที่ยวเป้าหมายได้แก่ เยอรมนี ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และยุโรปตะวันออก ล้วนศักยภาพและแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 มีนาคม 2545 หน้า 26)





หวั่น 30 บาททำคลินิกเอกชนเจ๊ง

นพ.โชติช่วง ชุตินธร ประธานกลุ่มผู้บริโภคแห่งสยาม กล่าวว่า ตนได้ส่งหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเสนอโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและดครงการประกันสังคมดังนี้ 1. ไม่ควรออกบัตรทอง 30 บาทให้แก่คนรวย ชนชั้นกลางที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ 2. ให้ประชาชนที่ถือบัตรทอง 30 บาท เลือกสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนทุกแห่งที่ร่วมโครงการได้โดยไม่จำกัดเขต 3. ให้คลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งรับคนไข้บัตรทองโดยไม่ต้องผ่านผู้รับเหมาของรัฐหรือเอกชน 4. ควรเปิดเสรีให้คนไข้ประกันสังคมพบแพทย์ที่ตนเลือก แล้วถือใบเสร็จไปขอเบิกคืนจากสำนักประกันสังคมในอัตราและกฎเกณฑ์ที่กำหนด 5. คลินิกเอกชนต้องเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนไข้ที่ถือบัตรทอง เพราะการบังคับให้คลินิกขนาดเล็กต้องประกอบด้วย พยาบาลและเภสัชกร หรือทันตแพทย์ รวมแล้ว 9 คน จึงจะเข้าเป็นเครือข่ายของโครงการ 30 บาท ซึ่งเป็นไปได้ยาก ทำให้แพทย์ขาดอิสระในการประกอบอาชีพสุจริต ทั้งนี้หากรัฐไม่รีบแก้ไขปัญหา ในอนาคตคลินิกเอกชนที่ไม่ได้เข้าโครงการต้องสูญพันธุ์เหมือนร้านโชว์ห่วย (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215