หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 14 ประจำวันที่ 2002-04-02

ข่าวการศึกษา

จี้รัฐรอบคอบเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวน.ศ. มจธ.ชี้ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องสภาพจริง
สมศ.คัดผู้ประเมินอุดมศึกษา
เผยราชื่อ 16 ผู้บริหารดีเด่น
แนะให้เด็กเที่ยวปิดเทอมดีกว่างมงายกวดวิชา
ม.รังสิตผนึก NIIT ผุดศูนย์อบรมพัฒนา สร้างบุคลากรไอที
เยาวชนไทยร่วมหาทางรอดวิกฤติเอเชีย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สุดยอดห้องนักบินไฮเทค
นักวิทย์ร่วมถกเทคโนฯชีวภาพเตือนเร่งพิสูจน์ช่วยมนุษยชาติ
ไทยตั้งฐานการผลิตแก้วตาเทียม
สุคนธบำบัด (Aromatherapy)
เวิร์กช็อประบบจัดการขยะชุมชน
“แนวปะการัง”เอเชียต.อ.เฉียงใต้ถูกมนุษย์คุกคามมากสุดในโลก
เผย 3 อันดับยอดผักซ่อนพิษสารเคมี

ข่าววิจัย/พัฒนา

เอ็มเทคทุ่มงบฯ วิจัย 50 ล้ามหนุน 6 โครงการจาก 4 สถาบัน
จุฬาฯ เตรียมกำจัดจุดอ่อนสร้างหุ่นยนต์ชั้นสูง
นักวิจัยน้อยผู้สกัดตัวยารักษาโรคเริม
ม.สงขลา วิวัฒน์ยางพาราเป็นวัสดุภัณฑ์ทดแทน
“คุกอิเล็กทรอนิกส์” ควบคุมสอดส่อง คุมประพฤตินักโทษ
คุณภาพชีวิต คนข้างโรงงาน “ท้องยาก-ตายง่าย”

ข่าวทั่วไป

เอาแน่สร้างด่วนไปฝั่งธนฯ ขออนุมัติงบ 125 ล้านศึกษา
“ไทย”…ที่สองเมืองน่าอยู่
ปิดถนนจัดงาน
สโลแกนอนามัยเดย์ “ขยับกาย-สบายชีวี”
เตือนเมิน “ธาตุเหล็ก” ระวังผู้หญิงหงุดหงิดง่าย-เด็กโรคโลหิตจาง
เตือนบริษัทประกันอย่าฉวยโอกาส เบี้ยประกันภาคบังคับอัตราเดียวกัน
“บีโอไอ” ฟุ้งเวบไซต์ติดอันดับ 5 ของโลก สถดวกข้อมูลลงทุน
“สรรพากร” ปรับระบบไอทีตั้งเป้ากรมอิเล้กทรอนิกส์





ข่าวการศึกษา


จี้รัฐรอบคอบเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวน.ศ. มจธ.ชี้ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องสภาพจริง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายสัตวแพทย์สงคราม เหลืองทองคำ รองปลัทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การศึกษาค่าใช้จ่ายต่อหน่วย” ว่า รัฐมีนโยบายชัดเจนในการใช้เงินอุดหนุนทั่วไปให้ทบวงฯ จึงต้องกำหนดรูปแบบวิธีงบประมาณใหม่เห็นตรงกันให้คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัว แต่ขณะนี้มหาวิทยาลัยยังใช้ระบบบัญชีแบบราชการ ยังไม่ได้ปรับเป็นระบบบัญชีต้นทุน คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-6 ปีถึงจะดำเนินการได้ นายพิเชษฐ์ ดุรงควิโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมนโยบาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า นักศึกษาที่จะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาใน 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1.569 ล้านคน จากปัจจุบัน 0.664 ล้านคน มจธ. ได้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยแยกตามสาขาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สะท้อนความจริง ความแตกแยกระหว่างสาขา และระดับปริญญา โดยในส่วนของคณะแพทยศาสตร์เดิมไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และการจัดการเรียนการสอนในโรงพยาบาล จึงต้องปรับและให้สอดคล้องกับคณะที่เกี่ยวข้อง เช่น สัตวแพทย์ และทันตแพทย์ทั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ค่าเฉลี่ยกลาง เพราะไม่เหมาะสม นายเดชา ดีผดุล ผู้อำนวยการส่วนงบประมาณด้านการศึกษา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของต้นทุนคือ ทำอย่างไรให้เป้าหมายของอุดมศึกษาระยะกลางและยาวชัดเจน มหาวิทยาลัยควรแบ่งกันผลิตตามสาขาที่เชี่ยวชาญ และสร้างความเสมอภาคในการจัดสรรค่าใช้จ่าย ซึ่งผลการศึกษาของ มจธ. สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว และเชื่อว่าถ้าทำได้จะทำให้อุดมศึกษาไทยก้าวไปไกล ไปสู่เวทีโลก (มติชนรายวัน เสาร์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 15)





สมศ.คัดผู้ประเมินอุดมศึกษา

ศ.ดร.สมหวัง พิริยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติและกระบวนการสรรหาผู้ประเมินภายนอกระดับอุดมศึกษา ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา (กพอ.) เสนอมา โดยมีสาระว่า ให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สมาคม สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) สถาบันราชภัฏ (รภ.) และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) ทั่วประเทศเสนอรายชื่อผู้มีความเหมาะสมกลุ่มละ 40 รายชื่อ และให้คณะกรรมการ สมศ. เสนออีก 10 รายชื่อ รวมแล้วประมาณ 150-200 รายชื่อ จากนั้นรวบรวมรายชื่อทั้งหมดส่งให้กับองค์กรต่างๆ รับเรื่องต่อไป (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2545 หน้า 14)





เผยราชื่อ 16 ผู้บริหารดีเด่น

สกศ. มีมติเป็นเอกฉันท์มีงานแสดงความชื่นชม 23 เม.ย.นี้ จาก 250 โรงเรียนโครงการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพ เหลือเป็นสุดยอดผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบปี 44 แค่ 16 ราย พิจารณาจากวงการวิชาชีพผู้บริหารโดยแท้เน้นมีคุณธรรม จรรยา และผลงานเด่นสะดุดตา เผย 23 เม.ย.นี้เตรียมพบตัวจริง (สยามรัฐ อังคารที่ 2 เมษายน 2545 หน้า 7)





แนะให้เด็กเที่ยวปิดเทอมดีกว่างมงายกวดวิชา

ดร.นิคม จารุมณี ผู้อำนวยการกองสารวัตรนักเรียน กรมพลศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่กองสารวัตรนักเรียนได้ออกติดตามพฤติกรรมนักเรียนนักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนพบว่า ขณะนี้มีผู้ปกครองนักเรียนส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชาเป็นจำนวนมากทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ทั้งที่มีผลการวิจัยจากหลายแห่งต่างก็ระบุตรงกันว่า การให้เด็กเรียนและหมกมุ่นอยู่กับวิชาการมากเกินไปจะไม่เกิดผลดีกับตัวเด็ก เพราะเด็กจะมีความรู้สึกเบื่อหน่าย เนื่องจากต้องเรียนมาทั้งปีอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้บางคนเกิดความเครียด ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนนี้ตนจึงขอเตือนผู้ปกครองว่า อย่าบีบบังคับลูกหลานให้เรียนกวดวิชาทั้งที่เด็กไม่อยากเรียน แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ไปพักผ่อน และทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวมากกว่า (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 1 เมษายน 2545 หน้า 14)





ม.รังสิตผนึก NIIT ผุดศูนย์อบรมพัฒนา สร้างบุคลากรไอที

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ NIIT สถาบันสอนไอทีนานาชาติในแง่ของงานวิชาการ การวิจัย ความแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบัน ทั้งนี้ เนื่องจาก NIIT เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งมีสาขากว่า 2,000 สาขาใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก และหลักสูตรได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการรวมทั้งได้รับรางวัลศูนย์การศึกษาด้านเทคโนโลยียอดเยี่ยนแห่งเอเซีย จากไมโครซอฟต์ และได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถาบันสอนไอทีอันดับหนึ่งของเอเชียจากสถาบัน ไอดีซี (สยามรัฐ พุธที่ 27 มีนาคม 2545 หน้า 8)





เยาวชนไทยร่วมหาทางรอดวิกฤติเอเชีย

โครงการ “ผู้นำเยาวชนฮิตาชิ” ครั้งที่ 5 ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคม 2545 จะมีเยาวชนจาก 6 ประเทศแถบเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และญี่ปุ่น เข้าร่วมโครงการรวม 40 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและค้นหาทางรอดให้กับประเทศในแถบเอเชีย โดยตัวแทนเยาวชนไทยได้แก่ 4 หนุ่มต่างสถาบัน นายเจริญ จิวแสง นักศึกษาปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายภานุวัฒน์ อิทธิกุสุมาลย์ นักศึกษาปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายทิวัตถ์ นิตย์โชติ นักศึกษาปี4 สาขาการจัดการธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล และนายวุฒิสรณ์ นฤมิตญาณ นักศึกษาปี 3 สาขาชีวการแพทย์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 มีนาคม 2545 หน้า 16)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สุดยอดห้องนักบินไฮเทค

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นดอตคอม รายงานว่า องค์กรการบินสหรัฐหรือเอฟเอเอ ผู้ให้การสนับสนุนการคิดค้นเทคโนโลยีไฮเทค ได้นำ “โบอิ้ง 737-900” เครื่องบินลำแรกที่ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว ออกบินไปยังที่ต่างๆ ในเมืองซีแอตเติล เพื่ออวดประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีใหม่กับผู้โดยสาร รายงานข่าวระบุการทำงานของห้องนักบินไฮเทคนี้ว่า จะปรากฏข้อมูลการบินซึ่งแสดงภาพเป็นระบบดิจิทัล อาทิ ตำแหน่งเครื่องบิน สภาพภูมิศาสตร์ และเส้นทางการบินบนกระจกด้านหน้าห้องนักบิน โดยแบ่งแยกสีชัดเจนทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดในห้องนักบินจะถูกส่งไปแสดงบนจดโทรทัศน์ในห้องผู้โดยสารด้าย ทำให้ผู้โดยสารเห็นความเคลื่อนไหวในการเดินทางตลอดเวลา (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม 2545 หน้า 16)





นักวิทย์ร่วมถกเทคโนฯชีวภาพเตือนเร่งพิสูจน์ช่วยมนุษยชาติ

นายอิสมาอิล เซราเกลดิน ประธานที่ประชุม การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะมีขึ้นที่ เมืองอเล็กซานเดรีย ของอียิปต์ ในสัปดาห์นี้ ประธานกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เป็นศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 21 นักวิทยาศาสตร์จะต้องอธิบายให้ชาวโลกทราบว่า เทคโนโลยีชีวภาพมีประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างไร จากการที่มีการค้นพบรหัสชีวิตจากแผนที่ดีเอนเอในร่างกายมนุษย์ ความปลอดภัยในการผลิตอาหาร และภัยจากสิ่งแวดล้อมจากพืชตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาทดลองอีกมากก่อนที่จะนำออกสู่ตลาดได้ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 22)





ไทยตั้งฐานการผลิตแก้วตาเทียม

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มีการหารือร่วมกันกับมูลนิธิเฟรด พอลโล ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของประเทศออสเตรเลีย ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตาต้อกระจก โดยเฉพาะประเทศยากจน เช่น เวียตนาม ลาว กัมพูชา พม่า นอกนั้นยังมีความประสงค์ตั้งโรงงานผลิตแก้วตาเทียมในประเทศไทย ซึ่งตัวแทนมูลนิธิเฟรด พอลโล เห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมในด้านต่างๆ มากกว่าประเทศอื่นแถบเอเชีย นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยจะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้ โดยเลนส์แก้วตาเทียมที่ผลิตขึ้นนี้เป็นเลนส์ที่มีราคาถูกแต่มีคุณภาพสูง (สยามรัฐ พุธที่ 27 มีนาคม 2545 หน้า 22)





สุคนธบำบัด (Aromatherapy)

สุคนธบำบัด คือ การบำบัดด้วยกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากพืชหอมและสมุนไพร เมื่อสูดดมน้ำมันหอมระเหยเข้าทางจมูก โมเลกุลของน้ำมันหอมจะระเหยเข้าสู่เซลล์รับกลิ่นภายในโพรงจมูก โดยเซลล์ดังกล่าวจะส่งกระแสสัญญาณไฟฟ้าเคมีไปยัง lymbic cell ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสมองส่วนต่างๆ น้ำมันหอมระเหยจะไปกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารเคมีต่างๆ กันไป เช่น สาร serotonin ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดอาการเครียดลงได้ สาร endorphin ช่วยปรับสมดุลยทางอารมณ์ สาร encepphalin ช่วยให้มีความรู้สึกสดชื่น ปลอดโปร่ง โดยกระบวนการรับกลิ่นและการตอบสนองจากสมองจะเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ในปัจจุบันสุคนธบำบัดจัดเป็นการแพทย์ทางเลือกอีกแบบหนึ่งที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาอาการ หรือโรคที่ไม่ร้ายแรง และเป็นการเสริมสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 1 เมษายน 2545 หน้า 14)





เวิร์กช็อประบบจัดการขยะชุมชน

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานระบบจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมสำหรับชุมชนให้กับผู้บริหารจากเทศบาล 21 เทศบาลระหว่างวันที่ 25-29 มีนาคม โรงแรมแกรนด์ทาวเวอร์อินท์ กรุงเทพ ภายหลังเสร็จสิ้นการอบรมจะได้ดูงานที่เทศบาลตำบลด่านขุนทด เทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี การจัดงานครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการรณรงค์การจัดการครัวเรือนและโรงเรียนเพื่อลดขยะชุมชนขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์วัสดุรีไซเคิลชุมชนธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียน การทำปุ๋ยหมัก เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด จึงได้จัดให้มีการอบรมและศึกษาดูงานการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมสำหรับชุมชน (สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 หน้า 23)





“แนวปะการัง”เอเชียต.อ.เฉียงใต้ถูกมนุษย์คุกคามมากสุดในโลก

สถาบันทรัพยากรโลก รายงานผลการวิจัยร่วมระหว่างนักวิทยาศาสตร์ 35 รายจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐ ออสเตรเลีย และอังกฤษ พบว่าแนวปะการังในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกันก็ถูกคุกคามมากที่สุดในโลกด้วย โดย 88% เผชิญความเสี่ยงจากพฤติกรรมมนุษย์ รายงานของสถาบันทรัพยากรโลกประมาณว่า แนวปะการังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างมูลค่าแก่การประมงถึง 2,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี หากรวมการท่องเที่ยวเข้าไปด้วยก็จะยิ่งมีมูลค่าสูงกว่านี้ อินโดนีเซียซึ่งมีแนวปะการังใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คาดว่าได้ประโยชน์ปีละ 1,600 ล้านดอลล่าร์ ส่วนฟิลิปปินส์ ตามาเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 1,100 ล้านดอลล่าร์ การจับปลาแบบทำลายล้าง อย่างการใช้ยาพิษหรือระเบิด คุกคามแนวปะการังของภูมิภาคประมาณ 56% และหากการจับปลาในเอเชียอาคเนย์ไม่ลดลง ทั้งแนวปะการังและความมั่นคงทางอาหารจะตกอยู่ในสภาพอันตราย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2545 หน้า 28)





เผย 3 อันดับยอดผักซ่อนพิษสารเคมี

นายณฐนนท์ ทวีสิน ประธานคณะทำงานแผนปฏิบั้ติการสิ่งแวดล้อม 21 ของกทม. เปิดเผยว่า ตามที่ กทม. ได้ส่งเสริมให้มีการดำเนินการเรื่อง “ผักปลอดสารพิษ” ทั้งในด้านปลูกผักปลอดสารพิษ และตรวจสอบหาสารพิษตกค้างในผักเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันมิให้มีการจำหน่ายผักที่มีสารเคมีตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 42 – ม.ค.45 ในตลาดค้าปลีกทั่วกทม. 160 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 45 เขต ยกเว้นเขตคลองสามวา ตลิ่งชัน ทุ่งครุ สะพานสูง และห้วยขวาง ด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่างจาก คะน้า กวางตุ้ง ผักชี กทม. สำรวจพบติดอันดับมียาฆ่าแมลงปนเปื้อนสูงสุด ระบุโครงการรณรงค์ผักปลอดสารพิษในกทม. ได้ผลน่าพอใจ เน้นจี้ถึงตัวคนปลูก (สยามรัฐ อังคารที่ 2 เมษายน 2545 หน้า 6)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เอ็มเทคทุ่มงบฯ วิจัย 50 ล้ามหนุน 6 โครงการจาก 4 สถาบัน

นายปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า เอ็มเทคมีเป้าหมายในการวิจัยแนวใหม่ คือการสนับสนุนกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อให้สามารถทำงานวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์การวิจัยกับวงการอุตสาหกรรมได้ จึงได้ให้การสนับสนุนโครงงานวิจัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บท สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมได้ทั้งสิ้น 6 โครงการ จาก 4 สถาบันการศึกษา โครงการละ 3 ล้านบาทต่อเนื่อง เป็นโครงการละไม่เกิน 3 ปี ประกอบด้วยโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับผิวของโพลิเมอร์ การประยุกต์ในอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการพ่นเคลือบด้วยความร้อน เพื่อการประยุกต์ในอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบแม่พิมพ์ขึ้นรูปโลหะ โดยการศึกษาด้านไตรบอโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการออกแบบและพัฒนาระบบดีโอดีเนียนแย็กเลเซอร์สูงสำหรับงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์แสดงผลวัสดุอินทรีย์เปล่งแสง มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหุ่นยนต์ชั้นสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มติชนรายวัน เสาร์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 16)





จุฬาฯ เตรียมกำจัดจุดอ่อนสร้างหุ่นยนต์ชั้นสูง

นายวิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ชั้นสูง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับเงินสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ทำวิจัยเรื่องรูปแบบใหม่ของเทคโนโลยีการผลิตเชิงหุ่นยนต์ชั้นสูง กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาวิจัยว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ชั้นสูงเพื่อให้สามารถกำจัดจุดอ่อนในการทำงานของมนุษย์และของหุ่นยนต์ เพื่อให้ทั้งสองได้ทำงานร่วมกันได้ “ที่ผ่านมาพบว่าแม้หุ่นยนต์จะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงได้มาตรฐานและแข็งแรงกว่ามนุษย์ แต่ก็พบจุดบกพร่องหลายประการ เช่น หากเกิดกรณีไฟดับ ไฟลัดวงจร คอมพิวเตอร์ขัดข้อง สายไฟขาด ระบบการทำงานของหุ่นยนต์ จะบกพร่องไปทันที เรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนของหุ่นยนต์ ขณะที่มนุษย์ไม่สามารถทำงานหนักๆ และต้องใช้ความแม่นยำมากๆ ได้ ในขณะเดียวกันมนุษย์จะมีข้อดีคือ มีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โครงการนี้เราจะเอาข้อดีของมนุษย์และหุ่นยนต์มารวมกัน และกำจัดจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายออกไป จะได้งานออกมาเป็นหุ่นยนต์ชั้นสูง คาดว่าจะใช้เวลาในการวิจัยพัฒนา 3 ปี” (มติชนรายวัน เสาร์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 16)





นักวิจัยน้อยผู้สกัดตัวยารักษาโรคเริม

เอมอร ทองเป็นใหญ่ หรือน้องเอม วัย 17 ปี จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย นักเรียนทุนโครงการพัฒนา โครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้สนใจนำสรรพคุณทางตัวยาของต้นย่านพังโหมมาใช้รักษาโรคเริม โดยใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์ทดสอบตัวยาดังกล่าว จึงเกิดเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ เรื่องการสกัดการแยก และการทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพเบื้องต้นของสารสกัดจากต้นย่านพังโหม หลังจากนั้นนำสารที่ได้มาทดสอบกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมชื่อว่า Herpes simplex type I พบว่าสารทุกตัวออกฤทธิ์ต่อเชื้อโรคเหล่านี้ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ จากการทดลองดังกล่าวจึงจะนำไปสู่การนำสารจากต้นพังโหมไปผลิตเป็นยารักษาโรคเริมได้ (สยามรัฐ จันทร์ 25 มีนาคม 2545 หน้า 2)





ม.สงขลา วิวัฒน์ยางพาราเป็นวัสดุภัณฑ์ทดแทน

อาจารย์สุรสิทธิ์ ประสานปราน หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีวัสดุภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้คิดค้นภาชนะจากยางพารา และดินประดิษฐ์ดอกไม้เปิดเผยว่า ทางภาควิชาได้ผลิตถ้วยย่อยสลายแทนโฟม โดยใช้ส่วนผสมของน้ำยางข้นและแป้งมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ง่ายเพราะใช้วัสดุจากธรรมชาติ ส่วนการผลิตดินสำหรับประดิษฐ์ดอกไม้แทนที่ “ดินญี่ปุ่น” ที่ไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น อาจารย์สุรสิทธิ์ เปิดเผยถึงการคิดค้นว่า ได้ใช้ดินขาวสำหรับนำไปผลิตเซรามิกจากจังหวัดระนอง สงขลา นครศรีธรรมราช มาผสมกับกาวลาเท็กซ์ ผู้สนใจในรายละเอียดของวัสดุภัณฑ์ทั้งสองชนิดสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีวัสดุภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร. 0-7444-6731 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 7)





“คุกอิเล็กทรอนิกส์” ควบคุมสอดส่อง คุมประพฤตินักโทษ

ผู้กระทำผิดระหุโทษที่ได้รับการตัดสินให้กักบริเวณแทนโทษจำคุก เดอะ สเตรท ไทมส์ เปิดเผยว่า แผ่นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติของกรมราชทัณฑ์สิงคโปร์ สอดส่องความเคลื่อนไหวของผู้ต้องโทษได้สะดวกขึ้น รายงานข่าวระบุว่า สิงคโปร์มีโครงการกักบริเวณมานานแล้ว แต่ใช้เฉพาะนักโทษที่มีโทษจำเหลือไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งแผนใหม่สิงคโปร์ต้องการขยายโครงการกักบริเวณแทนโทษจำคุกให้ครอบคลุมผู้กระทำผิดลหุโทษเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งความผิดที่ศาลจะพิจารณากักบริเวณพร้อมกับติดแผ่นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ ผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร ฉกสินค้าจากร้านขายของ และฉกชิงทรัพย์ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 7)





คุณภาพชีวิต คนข้างโรงงาน “ท้องยาก-ตายง่าย”

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และคุณวลัยพร มุขสุวรรณ ได้ทำวิจัยและประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในบริเวณการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ผลจากการวิจัยพบว่า สารมลพิษต่างๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน โดยเฉพาะอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นภูมิแพ้ เป็นหวัดง่าย และมีอาการทางผิวหนัง ชาวบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรมบางรายมีลูกยาก บางรายคลอดออกมาแล้วมีอาการผิดปกติ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบได้แน่ชัด นอกจากนี้ยังมีผลทางด้านการเกษตร ต้นไม้ต่างๆ ได้รับความเสียหาย ระบบนิเวศวิทยาในทะเลช่วงหาดแหลมรำพึงมีปัญหา (สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 หน้า 23)





ข่าวทั่วไป


เอาแน่สร้างด่วนไปฝั่งธนฯ ขออนุมัติงบ 125 ล้านศึกษา

นายสมบัติ อุทัยสาง รมช.มหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อระบบทางด่วนในแนวตะวันออก-ตกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำเสนอ คจร. เพื่อขออนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมศึกษาความเป็นไปได้ และรูปแบบการก่อสร้างโครงการทางด่วนไปฝั่งธนฯ โดยมีแนวสายทางเริ่มจากทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณบางซื่อ และใช้แนวสายทางของการรถไฟฯ ข้ามสพานพระราม7 ไปเชื่อมต่อกับถนนบรมราชชนนีของกทม. ที่บริเวณสายใต้ใหม่ ซึ่งหาก คจร. เห็นชอบก็จะนำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติศึกษาด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง เพราะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนในย่านฝั่งธนฯ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 1 เมษายน 2545 หน้า 34)





“ไทย”…ที่สองเมืองน่าอยู่

บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและกากรเมือง หรือ “เพิร์ก” ซึ่งมีสำนักงานใหญี่อยู่ที่ฮ่องกง ได้จัดอันดับประเทศที่มี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีที่สุดในเอเชียประจำปีเอาไว้ ปรากฏว่า สิงคโปร์ ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ประเทศไทยเป็นอันดับสอง จีนพุ่งจากอันดับเจ็ดเมื่อปีที่แล้วมาเป็นอันดับสาม อันดับสี่ถึงสิบสอง เรียงตามลำดับดังนี้ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียตนาม อินเดีย แฃะอินโดนีเซีย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 หน้า 7)





ปิดถนนจัดงาน

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปิดถนนเพื่อเปิด “ถนนสายวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์” ได้กำหนดไว้ 5 ครั้ง คือ อาทิตย์ที่ 31 มี.ค. อาทิตย์ที่ 7 เม.ย. อาทิตย์ที่ 14 เม.ย. อาทิตย์ที่ 21 เม.ย. และอาทิตย์ที่ 28 เม.ย.2545 กิจกรรมที่นำเสนอเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน วิถีชีวิตอันดีงามต่างๆ ทั้งอดีตและปัจจุบันของสิ่งต่างๆ ที่อยู่สองฟากถนน ซึ่งจะนำเสนอใน 11 ชุมชนได้แก่ ชุมชนบางลำพู ชุมชนวัดสังเวช ชุมชนพระอาทิตย์ ชุมชนท่าช้างวังหน้า ชุมชนท่าพระจันทร์ ชุมชนหน้าพระลาน เป็นต้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 มีนาคม 2545 หน้า3)





สโลแกนอนามัยเดย์ “ขยับกาย-สบายชีวี”

ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงวันอนามัยโลกปี 2545 กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายในทุกกลุ่มวัย พร้อมกระตุ้นให้หันมาใส่ใจกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อการมีสุขภาพที่ดี มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีในวันอนามัยโลก ปีนี้ตรงกับวันที่ 7 เมษายน เป็นปีแห่งการออกกำลังกายภายใต้คำขวัญว่า “ขยับกาย สบายชีวี” ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายในการป้องกันโรคและไม่เป็นอุปสรรคทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและ-ภูมิประเทศ ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดช่วยให้คนมีอายุยืน และสุขภาพแข็งแรง (สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 หน้า 23)





เตือนเมิน “ธาตุเหล็ก” ระวังผู้หญิงหงุดหงิดง่าย-เด็กโรคโลหิตจาง

ดร.เดวิด หยาง ผู้เชียวชาญด้านโภชนาการ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงความสำคัญของธาตุเหล็ก ว่าเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อประชาชนทุกเพศทุกวัย ธาตุเหล็กเป็นตัวการสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด เป็นส่วนประกอบในการสร้างสารฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกายและนำของเสียอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ไปขับออกที่ปอด ผู้ใหญ่มีความต้องการธาตุเหล็กวันละ 10-15 มิลลิกรัม ถ้าไม่พอร่างกายจะอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย สมองล้า หัวใจเต้นเร็ว ส่วนในเด็กวัยกำลังโตหากได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอ อาจทำให้ร่างกายเติบโตไม่เต็มที่ ถ้าปล่อยไว้นานจะทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ ธาตุเหล็กจะมีมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล เช่น หอยนางรม หรือซอสหอยนางรม หากเลือกซอสหอยนางรมที่เสริมธาตุเหล็กเข้าไปด้วย เชื่อได้ว่าผู้บริโภคได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังมีในผักใบเขียวจัด เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตำลึง เป็นต้น (สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 หน้า 23)





เตือนบริษัทประกันอย่าฉวยโอกาส เบี้ยประกันภาคบังคับอัตราเดียวกัน

นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยถึง อัตราเบี้ยประกันภัยรถภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดใหม่เป็นอัตราคงที่ ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยทุกรายจะต้องขายในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ไม่สามารถขายต่ำหรือสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ได้ โดยรถยนต์ส่วนบุคคล 7 ที่นั่งจากเดิม 920 บาท เหลือ 800 บาท และรถบรรทุกส่วนบุคคลไม่เกิน 3 ตัน(ปิกอัพ) จากเดิม 1,150 บาท ลดลงเหลือ 1,100 บาท (ไม่รวมภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม) อัตราภาษีดังกล่าว เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ( 1 เม.ย.) เป็นต้นไป น.น.พจนีย์ กล่าวอีกว่า อัตราเบี้ยประกันภัยคงที่ดังกล่าว จะลดการแข่งขันด้านราคาของบริษัทประกันวินาศภัย พร้อมทั้งจะช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการให้หันมาเน้นการแข่งขันด้านการให้บริการ อาทิ การจ่ายสินไหม โดยเฉพาะค่าสินไหมเบื้องต้นที่รวดเร็วและเป็นธรรม (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 2 เมษายน 2545 หน้า 20)





“บีโอไอ” ฟุ้งเวบไซต์ติดอันดับ 5 ของโลก สถดวกข้อมูลลงทุน

นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับเวบไซต์ที่เผยแพร่ข่าวสารด้านการลงทุนของทุกประเทศทั่วดลก ประจำปี 2544 โดย Corporation Location ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำในเครือยูโรมันนี่ และเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำในด้านการลงทุนของโลก ปรากฏว่าเวบไซต์ของบีโอไอ ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 จากเวบไซต์ทั้งหมด 50 เวบไซต์ โดย Corporation Location พิจารณาเนื้อหารูปแบบการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลด้านการลงทุน ซึ่งเวบไซต์ของบีโอไอมีขาวสารครอบคลุมเรื่องการลงทุนที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน เช่น ข่าวความเคลื่อนไหวของการลงทุนในแต่ละช่วง ทั้งแบบภาพรวมและข้อมูลรายอุตสาหกรรม ตลอดจนมีการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน อาทิ กฏระเบียบและแบบฟอร์มในการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 2 เมษายน 2545 หน้า 20)





“สรรพากร” ปรับระบบไอทีตั้งเป้ากรมอิเล้กทรอนิกส์

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะปรับองค์กรให้เป็นหน่วยงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมได้สั่งซื้อระบบเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ มูลค่า 140 ล้านบาทมาใช้ร่วมกับเครื่องเมนเฟรมเดิม เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลของผู้เสียภาษีทุกรายอย่างละเอียด สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่จำเป็นจากระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ทั่วประเทศทันทีและทั่วถึงครบทุกอำเภอ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 25 มีนาคม 2545 หน้า 9)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215