หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 2002-06-01

ข่าวการศึกษา

จุฬาฯ เห็นพ้องมติสภามหาวิทยาลัย
ทบวงฯดึงนักวิชาการทั้งใน-นอก ตั้งทีมศึกษาโครงการรัฐหวังลดงบ
คณบดี มช.แนะ “ออกนอกระบบ”คำนึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
“รังสรรค์” แจงออกนอกระบบ-หวั่นเป็น ร.ร ในศธ.
มธ. เปิดศูนย์ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนา “เอสเอ็มอี” สู่ธุรกิจยั่งยืน
ครูเฮ “กลั่นกรอง” ให้ใบวิชาชีพอัตโนมัติ ขีดเงื่อนไขไม่จบ ป.ตรี 5 ปีต้องพัฒนา
กรรมาธิการพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาฯเห็นดีกระทรวงใหม่ไม่เอาชื่อ ‘ศึกษาธิการ’ ขอเป็นกระทรวงศึกษา
สภาจุฬาฯเลือกหนทางออกนอกระบบ
ทบวงเข้มเครือข่ายสู้ยารุ่นแรก
รอสักหน่อย…ค่อยคลิกเมาส์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ชิงกันเจาะลึกดาวอังคาร ได้ฤกษ์ส่งยานสว่านปีหน้า
ท่อส่งก๊าซรอบกรุง-ปริมณฑลเสร็จปี48
ผลงานชิ้นเยี่ยมของ…มจธ. ผลิตน้ำมะนาวเข็มข้นเก็บได้ 2 ปี
ชี้ผ่าตัด ‘รังไข่’ ลดเสี่ยงถึงครึ่งมะเร็งเต้านม
ประกวดสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อเยาวชน
ซีดีไฮเทคป้องกันผีแอบก๊อบปี้
สินค้าเนสท์เล่ปนเปื้อน GMO กรีนพีซวอนผู้บริโภคเลิกซื้อ

ข่าววิจัย/พัฒนา

จีนสนวิจัยร่วมตรวจมะเร็งจากเลือด
การกำจัดโรคผลเน่าของแตงโมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ภาวะฝนกรดในแอ่งเชียงใหม่และแอ่งแม่เมาะ

ข่าวทั่วไป

พบโครงกระดูกมนุษย์อายุ 5 พันปีที่ถ้ำลอดเตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เผยมุมมอง 3 ว่าที่ ผอ.เนคเทค
อย่า!มองข้าม ‘เทคโนโลยีสะอาด’
ชวนทารกจ้อเร่งการพัฒนาสมอง





ข่าวการศึกษา


จุฬาฯ เห็นพ้องมติสภามหาวิทยาลัย

อาจารย์จุฬาฯเห็นพ้องมติสภามหาวิทยาลัย ที่กำหนดสถานภาพเป็นข้าราชการจุฬาฯ และบริหารภายในที่เป็นอิสระโดยมี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง แนะมหาวิทยาลัยจะต้องมีความชัดเจนถึงเป้าหมายในการออกนอกระบบที่ต้องมุ่งคุณภาพประสิทธิภาพการทำงาน จากมติที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นชอบถึงสถานภาพของจุฬาฯในแนวทางที่คณะที่กรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ……..เสนอให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอิสระบริหารงานภายในตนเอง โดยผู้ทำงานในมหาวิทยาลัยมีสถานภาพเป็นข้าราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





ทบวงฯดึงนักวิชาการทั้งใน-นอก ตั้งทีมศึกษาโครงการรัฐหวังลดงบ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงได้จัดประชุมเพื่อระดมคลังสมองของชาติ สร้างเครือข่ายพันธมิตรช่วยเหลืองานของรัฐบาล ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยโครงการแรกได้มอบหมายให้ศึกษาความเป็นไปได้การสร้างถนนเลียบชายทะเลตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการสร้างถนนสายใหม่สู่ภาคใต้ เริ่มจากแหลมผักเบี้ย ถนนปากท่อไปจนถึงอำเภอชะอำ จากเดิมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการจัดการจราจรทางบกเป็นผู้ดำเนินการ ทว่าต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชนโดยใช้งบถึง 55 ล้านบาท “การให้มหาวิทยาลัยเข้ามาทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ก็เพื่อทดแทนการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติก็รับงานแล้วกลับมาจ้างคนไทยสำรวจข้อมูล และหากเราทำกันเองได้น่าจะเป็นการดีกว่าโดยคาดว่าจะช่วยประหยัดทั้งงบประมาณ และได้งานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ตลอดจนอาให้นักศึกษาได้ร่วมปฏิบัติงานจริงในการสำรวจข้อมูลพื้นฐานโครงการอีกด้วย” นายสุวัจน์กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





คณบดี มช.แนะ “ออกนอกระบบ”คำนึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจ้งว่า จากการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการเสนอข้อสังเกตถึงการศึกษานอกระบบว่า ในการเปิดรับนักศึกษาตามจำนวนที่ได้กำหนดในแต่ละปีนั้น ควรคำนึงถึงสัดส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ด้วยว่าจะสามารถรองรับนักศึกษาได้เพียงพอหรือไม่ เพราะเกรงว่าหากนักศึกษาไม่สามารถเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามแผนที่กำหนด ก็จะเป็นปัญหาในเรื่องการขาดแคลนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษารุ่นต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล การเปิดหลักสูตรควรมีการศึกษาในภาพรวมว่า แต่ละหลักสูตรจะต้องใช้งบประมาณโดยรวมเท่าไหร่และเพื่อให้หลักสูตรสามารถดำเนินการเปิดสอนและพัฒนาได้ต่อไป รัฐบาลควรให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ และผู้เรียนควรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเท่าไรเพื่อให้หลักสูตรสามารถเลี้ยงตัวเองได้(กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2545 หน้า 8)





“รังสรรค์” แจงออกนอกระบบ-หวั่นเป็น ร.ร ในศธ.

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ให้สัมภาษณ์กรณีมีกลุ่มนักศึกษา มร.เคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายรัฐบาลในการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลว่า ไม่ใช่กลุ่มนศ.ในองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เป็นกลุ่มสภานักศึกษา มร. ทั้งนี้อยากให้นักศึกษาพิจารณาเองว่าการพัฒนาระบบในรูปแบบนี้เป็นการเปลี่ยนหลักการหรือไม่ เช่น มร.ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบหรือไม่ ถ้าหลักการนี้เปลี่ยนตนก็คงไม่ยอมด้วยเช่นกัน อยากให้พิจารณาว่าการเปลี่ยนสถานภาพดังกล่าวจะทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาดีขึ้น เพราะจะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก (มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2545 หน้า 20)





มธ. เปิดศูนย์ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนา “เอสเอ็มอี” สู่ธุรกิจยั่งยืน

ดร.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Enviroment Management System Center : EMSC) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า EMSC ก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ตระหนักถึงการบริหารสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมบทบาทขององค์การในการบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ กิจกรรมแบ่งเป็นโครงการวิจัย การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนรับเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจสิ่งแวดล้อม ISO 14001 การบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน เป็นต้น รวมถึงการรวบรวมข้อมูล และกรณีศึกษาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางจัดธุรกิจแบบยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลทั้งไทยและต่างประเทศ โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเก็บข้อมูลท่าเรือแหลมฉบัง และจัดส่งทีมงานไปประเทศลาวเพื่อศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟ ข้าว ไม้ และเสื้อผ้า อย่างไรก็ดี การบริหารสิ่งแวดล้อมเป็นวิชาที่มีมหาวิทยาลัยต่างๆสนใจจัดการเรียนการสอนหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะจัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ศูนย์ฯ มองว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบและให้การสนับสนุน โดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมประกอบกับใน มธ. เองก็มีหลายคณะที่จัดการสอนด้านการบริหารสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักสูตรแบ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการบริหาร นโยบายการแข่งขัน การเงิน ระบบการบริหารเพื่อสิ่งแวดล้อม และการบริหารแบบยั่งยืน จากนั้นให้นักศึกษาทำวิจัยกรณีศึกษาที่เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ SME ให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดสอนได้ในภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2545 นี้ (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 8)





ครูเฮ “กลั่นกรอง” ให้ใบวิชาชีพอัตโนมัติ ขีดเงื่อนไขไม่จบ ป.ตรี 5 ปีต้องพัฒนา

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสภาครู โดยมีมติให้คุรุสภาทำหน้าที่สภาครูโดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู ดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆของครู และให้การแปรสภาพองค์การค้าของคุรุสภาเป็นบริษัท อยู่ภายใต้สำนักงานดังกล่าว สำหรับคณะกรรมการคุรุสภาให้เป็นไปตามที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เสนอ จำนวน 27 คน โดยให้เพิ่มเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษาเข้าร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย สำหรับเรื่องใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่ง สปศ. เสนอให้มี 3 ใบคือ 1.ใบวิชาชีพ 2. ใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา 3. ใบประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น ในที่ประชุมมีมติให้ครูทุกคนต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูเป็นพื้นฐานก่อน ส่วนใบวิชาชีพอื่นอีก 2 ใบนั้น ให้คุรุสภาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และกำหนกหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตต่อไป แต่ผู้ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพดังกล่าว ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบแรก ผู้สื่อข่าวถามว่า ครูเก่าทุกคนจะได้รับใบประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติหรือไม่ นายปองพลกล่าวว่า ผู้ที่เป็นครูอยู่ในปัจจุบันแต่ไม่จบปริญญาตรีให้สามารถทำการสอนต่อไปได้ แต่ต้องเข้ารับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนดภายในระยะเวลา 5 ปี หากพัฒนาถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ คุรุสภามีอำนาจที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 15)





กรรมาธิการพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.การศึกษาฯเห็นดีกระทรวงใหม่ไม่เอาชื่อ ‘ศึกษาธิการ’ ขอเป็นกระทรวงศึกษา

นายอรรถพล ตรึกตรอง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ….เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งมีนายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ว่าที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขชื่อ “กระทรวงศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม” ซึ่งที่ประชุมสภาฯได้เคยรับหลักการไว้แล้วที่ให้แก้ไขชื่อเป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” แต่ ศ.ดร.พิจิตร ศรีสอ้าน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ได้ขอแปรญัตติโดยเสนอให้ใช้ชื่อ กระทรวงการศึกษา เพราะเห็นว่าควรหาชื่อที่มีความเป็นกลาง ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายในประ เด็นดังกล่าวกันอย่างกว้างขวางและในที่สุดได้มีมติรับหลักการในการเปลี่ยนชื่อเรียกกระทรวงใหม่ โดยให้ใช้ชื่อว่า กระทรวงการศึกษา (เดลินิวส์ พุธที่ 22 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





สภาจุฬาฯเลือกหนทางออกนอกระบบ

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้หารือเกี่ยวกับสถานภาพจุฬาฯที่ได้ข้อสรุปจากการรับฟังความคิดเห็นแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ 1. เป็นส่วนราชการของรัฐแบบเดิมโดยปรับปรุงบางมาตราในพ.ร.บ.จุฬาฯ พ.ศ.2522 แต่จะไม่สามารถบริหารได้อย่างสมบูรณ์ภายในมหาวิทยาลัย และ 2. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอิสระมิได้อยู่ใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย แต่จะบริหารภายใต้ พ.ร.บ.ของตนเองรวมทั้งรับงบฯจากรัฐบาล มีระบบบริหารที่เป็นอิสระคล่องตัว มีประสิทธิภาพประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้และยุติธรรมมีบัญชีเงินเดือนของตนเองผู้ทำงานในมหาวิทยาลัยมีสถานภาพเป็น“ข้าราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”ซึ่งจะทำให้มีความมั่นคงในการทำงาน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบตามแนวที่ 2 และยังเห็นเพิ่มเติมว่ายังมีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้องที่ต้องมีการเจรจาทำความเข้าใจกันอีก (เดลินิวส์ อังคารที่ 21 พฤษภาคม 2545 หน้า 14)





ทบวงเข้มเครือข่ายสู้ยารุ่นแรก

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดโครงการฝึกอบรมพัฒนานิสิตนักศึกษา เรื่องนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่เท่ได้โดยไม่พึ่งยาเสพติดเยาวชนคนเท่ เพื่อสร้างผู้นำนิสิตนักศึกษาและผู้นำชุมชนให้สามารถเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีภูมิคุ้มกันยาเสพติด รวมทั้งสร้างนิสิตเป็นแกนนำในการต่อต้านยาเสพติดและสามารถจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาและในกลุ่มเยาวชนทั่วไปได้ สำหรับผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจะประกอบไปด้วย ผู้แทนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยทุกแห่งจำนวน 72 สถาบัน และผู้นำชุมชนจังหวัดละ 1 คน เข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและเป็นเครือข่ายอาสาสมัคร โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค.45 รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย.45และรุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย.45 (สยามรัฐ พุธที่ 22 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





รอสักหน่อย…ค่อยคลิกเมาส์

อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ท่านให้แนวคิดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายเกี่ยวกับการเรียนคอมพิวเตอร์ของลูกน้อยว่า การจะให้ลูกเรียนรู้สิ่งใดก็ตาม ต้องหยุดคิดเสมอถึงวิธีการ จังหวะ เวลา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก การเรียนคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ต้องให้ถูกวิธี ถูกเวลามีความพอเหมาะพอควรจึงจะมีประโยชน์กับเด็ก มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดโทษหากปล่อยให้ลูกนั่งจมอยู่หน้าคอมพิว เตอร์โดยไม่มีกติกาใดๆ หรือยอมตามใจลูกมากเกินไป มารู้ตัวอีกทีลูกก็ติดคอมพิวเตอร์งอมแงมแล้วคราวนี้แหละยากจริงๆ กับการให้ลูกยอมเลิกเล่นแล้วมาอ่านหนังสือ มาออกกำลังกาย หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน คอมพิวเตอร์เหมาะกับเด็กเล็กๆ หรือไม่อย่างไรเรื่องนี้นักวิชาการเขาต่างสรุปกันว่า “น่าจะเริ่มได้” แต่…ต้องเริ่มให้เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ยังมีเสียงคัดค้านว่ารอไว้ชั้นประถมจะดีกว่า (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2545 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ชิงกันเจาะลึกดาวอังคาร ได้ฤกษ์ส่งยานสว่านปีหน้า

นักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ กล่าวชี้ว่า การพบน้ำในดาวอังคารทำให้เกิดความหวังกันว่า อาจจะมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก พวกเขาปลาบปลื้มว่าอาจจะได้พิชิตการค้นพบชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ก่อนใครเพื่อน เพราะอังกฤษมีกำหนดจะส่งยานสำสวจธรณีวิทยาที่มีชื่อว่า “บีเกิล 2” เดินทางไปยังดาวอังคาร อยู่ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ยานจะไปถึงและร่อนลงบนพื้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกันยานบีเกิลถูกสร้างให้สามารถขุดเจาะพื้นอันเป็นหินของดาวดวงอื่น มันจะขุดลึกลงไปถึงระดับที่เชื่อว่าจะมีน้ำ-แข็งฝังอยู่ใต้พื้นดินพื้นหิน การค้นพบน้ำแข็งใต้ผิวพื้น นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่แต่เพียงทำให้ได้รู้เบาะแสของสิ่งมีชีวิตที่อาจเคยมี หรือที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วเท่านั้นหากยังเป็นประโยชน์กับการเดินทางไปสำรวจของมนุษย์ หรือแม้แต่การไปตั้งถิ่นฐานอยู่อีกด้วย เนื่องจากมนุษย์อวกาศที่เดินทางไปย่อมไม่อาจขนน้ำเอาไปให้พอเพื่อใช้และบริโภคเมื่อต้องไปค้างอ้างแรมบนนั้นเป็นเวลานานๆได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2545 หน้า 8)





ท่อส่งก๊าซรอบกรุง-ปริมณฑลเสร็จปี48

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการระบบท่อส่งก๊าซในขนส่งก๊าซธรรมชาติรอบกรุงเทพฯและปริมณฑลทางปตท.เชื่อมั่นว่าคงสามารถเปิดดำเนินการได้ทันตามเป้าหมายที่กำหนดคือในกลางปี 2548 ซึ่งจากการดำเนินการชี้แจงอย่างต่อเนื่องและท่อก๊าซฯส่วนใหญ่จะเดินไปตามแนวทางรถไฟ, ถนนและสายไฟฟ้า จึงเชื่อมั่นว่าประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่จะรับทราบว่าท่อก๊าซฯเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายคงจะไม่มีการคัดค้านเหมือนกับโครงการท่อส่งและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) “โครงการท่อก๊าซฯกรุงเทพ เป็นแนวทางที่จะเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงานทั้งนำไปทดแทนน้ำมันเตา ส่งเสริมการใช้ก๊าซฯสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) นำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเดิม (รีเพาเวอร์ริ่ง) ช่วยแก้ไขมลพิษที่มีสาเหตุจากไอเสียโรงไฟฟ้า โรงงานและรถยนต์ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์จึงเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้” (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2545 หน้า 9)





ผลงานชิ้นเยี่ยมของ…มจธ. ผลิตน้ำมะนาวเข็มข้นเก็บได้ 2 ปี

ผศ.วีระชัย แก่นทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดค้นวิธีเก็บมะนาวเอาให้ได้นานที่สุด โดยการผลิตน้ำมะนาวเข้มข้นด้วยวิธีเยือกแข็ง (Freeze Concentration) การผลิตน้ำมะนาวเข้มข้นโดยวิธีเยือกแข็งนี้ มีข้อดีหลายประการคือ สารอาหารและส่วนประกอบต่างๆ ในน้ำมะนาวยังคงมีคุณภาพใกล้เคียงกับมะนาวสด ในการผลิตน้ำมะนาวเข้มข้นนั้นเปลือกและเมล็ดที่เหลือยังสามารถนำไปผลิตน้ำมันหอมระเหย มะนาวแช่อิ่ม และยากำจัดแมลงได้อีกด้วย สนใจรายละเอียดสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีโทร. 0-2470-9123 และโทรสาร 0-2470-9111. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2545 หน้า 20)





ชี้ผ่าตัด ‘รังไข่’ ลดเสี่ยงถึงครึ่งมะเร็งเต้านม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างผลการวิจัยใหม่ของสถาบันทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกและระบุว่า การผ่าตัดรังไข่อาจช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมากต่อบรรดาผู้หญิงที่มีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพราะมียีนพันธุกรรมที่บกพร่องอย่างมากแทนการขจัดภาวะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดเต้านมโดยรายงานนี้ถือเป็นการชี้ว่าผู้หญิงเสี่ยงมะเร็งเต้านมมีโอกาสที่จะป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการผ่าตัดรังไข่เพียงอย่างเดียว (สยามรัฐ พุธที่ 22 พฤษภาคม 2545 หน้า 15)





ประกวดสื่อคอมพิวเตอร์เพื่อเยาวชน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดประกวดสื่อคอมพิวเตอร์ดีเด่นเพื่อเยาวชน ประจำปี 2544-2545 ในโครงการส่งเสริมผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ผลิตผลงานสื่อมวลชนสำหรับเยาวชนได้ตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติ โดยในปีนี้การประกวดเว็บเพจดีเด่น เน้นส่งเสริมการเรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ คู่กับการสร้างสรรค์สังคม กำหนดส่งผลงานเข้าประกวดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2545 นี้ รายละเอียดเพิ่มเติม สยช. โทร. 0-2651-6745, 0-2255-5850-7 ต่อ 235,238 เนคเทค โทร. 0-2644-8150-9 ต่อ 648 หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซด์ต่อไปนี้ www.nectec.or.th,www.nitc.go.thและwww.school.net.th (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





ซีดีไฮเทคป้องกันผีแอบก๊อบปี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทคโนโลยีสุดไฮเทคของบริษัท โซนี่ มิวสิค “Copy-proof” คือแผ่นซีดีบันทึกเพลงแบบใหม่ป้องกันการก๊อบปี้ ออกแบบให้ใช้งานคู่กับเครื่องเล่นแผ่นซีดีขนาดมาตรฐาน เครื่องเล่นซีดีขนาดพกพาและระบบเครื่องเสียงในรถยนต์ โดยหวังว่าจะสามารถหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงและการทำซีดีเถื่อนได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2545 หน้า 12)





สินค้าเนสท์เล่ปนเปื้อน GMO กรีนพีซวอนผู้บริโภคเลิกซื้อ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดเผยผลตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปล่าสุดพบว่า ขนมปังกรอบเคลือบครีมกลิ่นวานิสลา ตราเนสท์เล่ สตราร์ฟิช มีการปนเปื้อนของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม หรือข้าวโพดบีที ซึ่งเป็นข้าวโพดที่ถูกผลิตให้สร้างพิษฆ่าแมลงได้ด้วยตัวเองจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอัน ตรายต่อสิ่งแวดล้อม นางสาววรุณวาร สว่างโสภากุล เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านวิศวพันธุกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ให้ระวังผลิตภัณฑ์ของเนสท์เล่ เพราะอาจมีจีเอ็มโอเมื่อใดก็ได้ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายใช้วัตถุดิบจีเอ็มโอในการผลิตอาหาร ผลิตภัณท์ของเนสท์เล่จะอยู่ในบัญชีดำของคู่มือจ่ายตลาดต่อไป (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2545 หน้า 9)





ข่าววิจัย/พัฒนา


จีนสนวิจัยร่วมตรวจมะเร็งจากเลือด

น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้มีเอกชนจากประเทศจีน ให้ความสนใจด้านการทำวิจัยเรื่องการผลิตชุดทดสอบหามะเร็ง 10 ชนิดด้วยการตรวจเลือด หรือ โปรตีนชิพ โดยได้มีการประสานเพื่อของความร่วมมือระหว่างกัน โดยทางเอกชนจีนมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีบ้างแล้วแต่ยังขาดด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ลักษณะมะเร็ง จึงได้มีการติดต่อเพื่อร่วมมือกับกรมวิทย์ฯเนื่องจากประเทศไทยได้มีการเก็บข้อมูลโรคมะเร็งมาอย่างตอย่างต่อเนื่อง จะมีพิธีลงนามความร่วมมือการทำวิจัยดังกล่าวร่วมกับผู้แทนจากประ เทศจีนในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2545 หน้า 34)





การกำจัดโรคผลเน่าของแตงโมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

พยอม พินยพงค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะได้ทำการทดลองเบื้องต้นในการกำจัดโรคผลเน่าของแตงโมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผลการวิจัยทำให้ได้เทคนิคป้องกันกำจัดโรคผลเน่าของแตงโมด้วยเทคนิคผสมผสานให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของเกษตรผู้ใช้จริง สามารถลดการใช้สารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ไม่ได้ผล และเพื่อลดหรือกำจัดการถ่ายทอดเชื้อไปทางเมล็ดพันธุ์แตงโม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2545 หน้า 32)





ภาวะฝนกรดในแอ่งเชียงใหม่และแอ่งแม่เมาะ

กลิ่นประทุม ปัญญาปิง สถาบันเทคโนโลยีราชมงวิทยาเขตภาคพายัพ และคณะได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาภาวะฝนกรดในแอ่งเชียงใหม่และแอ่งแม่เมาะ ผลการศึกษาพบว่าองค์ประกอบของการเกิดความเป็นกรดที่สำคัญคือ องค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม และองค์ประกอบของระบบการเกิดภาวะมลพิษทางอากาศ ส่วนลักษณะฝนกรดที่เกิดขึ้น น้ำฝนมีความเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นกลาง ในแอ่งแม่เมาะน้ำฝนจะมีความเป็นกรดมากกว่าในแอ่งเชียงใหม่ ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการหามาตรการป้องกัน และลดผลกระทบต่อชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนใช้ในการดำเนินการศึกษาและติดตามตรวจสอบภาวะฝนกรดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กรมวิชาการเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2545 หน้า 32)





ข่าวทั่วไป


พบโครงกระดูกมนุษย์อายุ 5 พันปีที่ถ้ำลอดเตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้ช่วยนักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ได้นำทีมสำรวจของมหาวิทยาลัยศิลปากร 10 คน เดินทางเข้ามาสำรวจโครงกระดูกมนุษย์ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2545 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ผลการสำรวจพบโครงกระดูกมนุษย์อายุ 5,000 ปีบริเวณถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า เตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมโครงกระดูกมนุษย์โบราณดังกล่าว (สยามรัฐ อังคารที่ 21 พฤษภาคม 2545 หน้า 26)





เผยมุมมอง 3 ว่าที่ ผอ.เนคเทค

30 มิถุนายนนี้ ถือเป็นวันสุดท้ายสำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คนปัจจุบัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานจิบน้ำชาเสวนาในหัวข้อ “แนวคิด มุมมองของว่าที่ ผอ.เนคเทค” โดยเปิดโอกาศให้ 3 ผู้สมัคว่าที่ ผอ.เนคเทค ได้มีโอกาสแสดงมุมมอง และโชว์วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการบริหารเนคเทค ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ที่ตัดสินใจลงสมัครอีกครั้งเพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ของตนเองที่รู้ทั้งข้อจำกัดของภาครัฐ คลุกคลีกับภาคอุตสาหกรรม และมีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะยกระดับไอทีของประเทศ รศ.ดร.สุชาย กล่าวว่า หากได้เข้ามาบริหารแล้ว จะต้องปรับปรุงองค์กรใหม่ทั้งด้านนโยบายและความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ มีการดึงคนเก่งจากภายนอกเข้าสู่ระบบเน้นสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก ส่วน น.อ.ชนกเห็นด้วยกับรศ.ดร.สุชายในประเด็นการแบ่งงานให้ภาคเอกชนทำแทน ทั้งนี้หากได้เป็น ผอ.เนคเทค จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชน ส่งเสริมการผลิตที่ทดแทนการนำเข้า เน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีมูลค่า 9 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี ตั้งกองทุนพัฒนาโอเพ่น ซอร์ส จัดทำโครงการนักคิดพบนักลงทุนเพื่อให้ผลงานไปสู่ภาคการผลิตโดยตรงและส่งเสริมให้ภาครัฐพัฒนาแนวคิดในการทำไอทีไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าแทนที่จะมุ่งแต่การจัดหาวัสดุอุปกรณ์อย่างเดียว (เดลินิวส์ อังคารที่ 21 พฤษภาคม 2545 หน้า 16)





อย่า!มองข้าม ‘เทคโนโลยีสะอาด’

เทคโนโลยีสะอาด คือ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของกระบวนการผลิต การบริการ และการบริโภคโดยก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้นและต้องมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งทำได้โดยการลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดและการใช้ซ้ำหรือการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกคนในองค์กรบ้านและชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการวิจัยและจัดโครงการนำร่องในการนำระบบพลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับพื้นที่นำไปติดตั้งให้เป็นรูปธรรมภายใต้ชื่อ “โครงการระบบผลิตไฟฟ้าและผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า”(สยามรัฐ อังคารที่ 28 พฤษภาคม 2545 หน้า 23)





ชวนทารกจ้อเร่งการพัฒนาสมอง

น.พ.วิโรจน์ เศรษฐิน ผอ.โรงพยาบาลหัวเฉียว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวถึงคำแนะนำพ่อ-แม่ที่ต้องการให้ลูกเก่งภาษาและมีไอคิวสูงว่า จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่า มนุษย์เรานั้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ที่สุดวิเศษของชีวิต เพราะสมองจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วที่สุดดังนั้นพ่อแม่ต้องอาศัยช่วงเวลาที่พิเศษนี้ให้ทารกมีการเรียนรู้ภาษาอย่างมีศักยภาพ โดยการพูดคุยกับลูกน้อยอย่างอบอุ่นด้วยท่าทีที่ดีต่อลูกตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารก ผอ.โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผลการวิจัยยังบอกว่า เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นมาจะมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้พูดคุยกับลูกมากนัก การที่เด็กเริ่มพูดได้เร็วกว่าคน อื่น การพัฒนาการด้านภาษาก็เร็วตามไปด้วย และยังมีระดับไอคิวที่สูงกว่าอีกด้วย (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2545 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215