หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 26 ประจำวันที่ 2002-07-29

ข่าวการศึกษา

ชี้ม.นอกระบบไม่ควรอยู่ด้วยกลไกตลาด
ทบวงฯยอมรับยังไม่มั่นใจไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา
ชี้ทางยก ‘มหา’ลัย’ ขึ้นชั้นระดับโลก
ม.รามฯคำแหงเดินหน้าปั้น ‘บัณฑิตอบต.’ เปิดสอนทางไกลถึงบันไดบ้าน/คาดเปิดรับปี2546นี้
ตัดสิทธิ์ลุกขรก.เบิกค่าเทอม
ไม่บังคับมหา’ลัยออกนอกระบบ
ศธ.ชี้เด็กไทยไอคิวต่ำ เพราะขาดโอกาสแสดงออก
เตรียมใช้ข้อมูลนำร่องพิจารณากำหนดเขตพื้นที่ฯ
“วชิราวุธ” จับมือมิลวอล์กกี้เปิด ป.ตรีนิเทศศิลป์
แนะมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

อ.มหิดลคว้า2นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนเจ้าพระยาลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า-ไม่เป็นปัญหาเกษตรกร
Blu-ray-Discรูปแบบดีวีดีแห่งอนาคต
สยามดิสฯมีเน็ตไร้สายความเร็วสูง

ข่าววิจัย/พัฒนา

สมู เครื่องดนตรีเชื่อมต่อมนุษย์กับเครื่องจักร
พระจอมเกล้าธนบุรีประดิษฐ์ ‘เครื่องปอกกระเทียม’
รม.จันทบุรีเมินสารเคมีหันมาพึ่งธรรมชาติ…ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากเศษปลา
วิจัยพบจุลินทรีย์ในราก ‘หญ้าแฝก’ พืชแห่งการอนุรักษ์…ดินและน้ำ

ข่าวทั่วไป

วิทยาลัยราชสุดาจับมือสถาบันระดับโลกผลิต…ล่ามภาษามือรุ่นแรกในเอเชีย
ความจำเป็นของกระทรวงไอซีที
อยากตั้ง “นามสกุล” จะทำอย่างไร
เลิกใช้ใบเสร็จเบิกค่าโรงหมอ
คืนอดีตสองฝั่งคลอง…ฝากไว้ไห้ลูกหลาน





ข่าวการศึกษา


ชี้ม.นอกระบบไม่ควรอยู่ด้วยกลไกตลาด

จากการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่อง “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกับสัมฤทธิผลการศึกษาไทยตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศ.น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและอดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาจะต้องกระจายโอกาสในระดับอุดมศึกษาไปสู่ชนบท เพราะที่ผ่านมาคนที่เข้าเรียนระดับอุดมศึกษามีเพียง 2-3% ที่มาจากชาวไร่ชาวนา ซึ่งตนขอฝากให้มหาวิทยาลัยไปคิดถึงเรื่องระบบรับตรงเพื่อให้คนยากจนมีโอกาสเรียนอุดมศึกษาได้มากขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นรัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการคลังและการอุดหนุนสถาบัน ที่รัฐจะต้องยืนยันว่าสามารถให้การอุดหนุนได้อย่างเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจของสถาบันเพราะการออกนอกระบบไม่ใช่การปล่อยให้มหาวิทยาลัยไปยึดอยู่กับกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ต้องทำความชัดเจนในเรื่องเงื่อนเวลาของการออกนอกระบบว่าจะต้องทำเมื่อใด (เดลินิวส์ พุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 14)





ทบวงฯยอมรับยังไม่มั่นใจไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา

จากการสัมมนาเรื่อง “ความเป็นสากลของการอุดมศึกษาไทย : สู่ความเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ” เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุดมศึกษาไทยจะเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติได้ต้องมีการเตรียมกำหนดแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในระดับชาติทีไม่ใช่ภารกิจของทบวงมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียว แต่จะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งจะต้องกำหนดแผนการเรียนการสอน การสอบคัดเลือกที่จะต้องตกลงเป็นกติกาใหม่ว่าการเก็บค่าใช้จ่ายของคนต่างชาติและคนไทยให้เป็นมาตราฐานเดียวกัน นอกจากนี้ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องร่วมมือกันและประกาศต่อสาธารณชนให้ชัดเจนว่าแต่ละสถาบันทำอะไรบ้าง ทำเพื่อใครและมีประโยชน์อย่างไรกับประเทศชาติ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำหรืองุบงิบทำเหมือนที่ผ่านมา หลักสูตรนานาชาติที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนจะได้แจ้งต่อทบวงฯ กว่า 300 หลักสูตรยังไม่เป็นหลักสูตรนานาชาติทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยยังไปไม่ถึงสากล ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯ กล่าวว่าอุดมศึกษาไม่ควรที่จะแยกส่วนจากระบบการบริหารราชการ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การแข่งขัน และการแก้ปัญหาของประเทศ แต่ทั้งระบบจะต้องไปด้วยกันแต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากคือมหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ได้เอง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน และยังขาดความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลง (เดลินิวส์ พุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 14)





ชี้ทางยก ‘มหา’ลัย’ ขึ้นชั้นระดับโลก

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวในการอภิปรายเรื่อง เส้นทางสู่การเป็น World Class University เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกได้นั้น สิ่งสำคัญคือการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งแสวงหาความรู้ที่แท้จริง มีการวิจัยการอนุรักษ์ความเป็นรู้พื้นฐาน ทั้งในมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยหรือมหาวิทยาลัยท้องถิ่นมิเช่นนั้นคุณภาพจะลดลง ด้าน รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวว่าการจะให้มหาวิทยาลัยไทยติดท็อปเท็นนั้นคงเป็นเรื่องยากแต่มีทางเป็น World Class ได้ ถ้านั่นหมายถึงความเป็นเลิศทางวิชาการแต่ทั้งนี้จะต้องรู้สถานะของตัวเองว่ายืนอยู่จุดใดเพราะปัจจุบันมหาวิท ยาลัยไทยกำลังอยู่ในสภาวะการขยายตัวจึงต้องระวัง ขณะที่ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(สจพ.) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยไทยจะต้องสร้างมาตรฐานการศึกษา รวมถึงความสามัคคีในหมู่บุคลากรมีความโปร่งใสในระบบบริหาร อีกทั้งในส่วนวิชาการจะต้องมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรที่จะเริ่มต้นเพื่อก้าวไปสู่ World Class แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลอกเลียนแบบมหาวิทยาลัยต่างประเทศ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ม.รามฯคำแหงเดินหน้าปั้น ‘บัณฑิตอบต.’ เปิดสอนทางไกลถึงบันไดบ้าน/คาดเปิดรับปี2546นี้

มหาวิทยาลัยรามคำแหงจับมือสมาคม อบต.อัพเกรดคน อบต.เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสร้างบัณฑิตอบต.ให้กับผู้บริหารด้วยการใช้ระบบการสอนทางไกลถึงสำนักงานอบต.ทุกแห่งทั่วประเทศเผยคาดว่าปีการศึกษา 2546เปิดรับสมัครรุ่นแรก โดยเน้นในเรื่องการบริหารการศึกษา ซึ่งทาง อบต.จะจัดสถานที่ให้การศึกษาทางไกลในวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนในวันธรรมดาอาจจะมีการขยายต่อไปในอนาคต ส่วนในด้านการลงทะเบียนคงต้องให้ทาง ม.รามฯเป็นผู้จัดการ แต่ทาง อบต.จะช่วยประสานงานให้ และในส่วนนี้เอง ม.รามฯ จะสามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวนมากเพราะไม่ต้องสร้างสถานศึกษาในต่างจังหวัดแต่จะใช้ที่ทำการ อบต.เป็นหน่วยงานย่อยแทน (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 21)





ตัดสิทธิ์ลุกขรก.เบิกค่าเทอม

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง เรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะที่ 4 เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้เสนอมาเป็น 4 แนวทางโดยได้เห็นชอบให้ใช้แนวทางที่ 4 คือ การอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานตามที่ ศธ.คำนวณ รวมเงินเดือนครูเฉลี่ยต่อหัวนักเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากงบฯปี 2545 จำนวน 11,500 ล้านบาท สำหรับงบประมาณที่จะนำมาอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวนั้น จะมีการปรับงบฯในส่วนเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรข้าราชการมาใช้ เพราะเมื่อรัฐอุดหนุนเรียนฟรีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเบิกอีก (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ไม่บังคับมหา’ลัยออกนอกระบบ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประสัมมนาวิชาการประจำปี 2545 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ที่หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า วิกฤติการศึกษาในขณะนี้ คือเรื่องทุนทางปัญญาที่กำลังลดน้อยลง จึงต้องให้ความสำคัญและทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาไม่ใช่พัฒนาเฉพาะเด็กหัวดี อีกส่วนคือเรื่องงบประมาณที่ใช้ไปกับการสร้างตึกอาคารไม่ได้นำไปใช้ในบริหารจัดการศึกษาใหม่ๆ สำหรับการออกนอกระบบนั้นมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบหรือไม่นั้นตนไม่บังคับรัฐบาลที่แล้วอาจบังคับแต่รัฐบาลนี้ไม่บังคับ และเชื่อว่าถ้าใครต้องการความมีอิสระก็จะแย่งกันออกนอกระบบกันเอง (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ศธ.ชี้เด็กไทยไอคิวต่ำ เพราะขาดโอกาสแสดงออก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศธ. กล่าวถึง กรณีที่ พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ ผอ. โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทยระบุว่า พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กไทยต่ำลงว่า ความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่เด็กยังไม่ได้รับโอกาสในการแสดงอย่างเต็มที่ในทุกส่วนของร่างกายและสมอง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเน้นมากๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เด็กได้แสดงความสามารถเต็มศักยภาพ ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากความไม่พร้อมของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในชนบท ที่ประชาชนส่วนใหญ่มักแต่งงานในช่วงอายุน้อย ทิ้งถิ่นฐานมาทำงานในเมือง ทำให้สังคมในชนบทล่มสลาย ซึ่งการแก้ไขทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งครอบครัว วัด ชุมชน โรงเรียน จะเห็นได้จากความสำเร็จของเด็กไทยที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันทางวิชาการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่อบอุ่น(กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 8)





เตรียมใช้ข้อมูลนำร่องพิจารณากำหนดเขตพื้นที่ฯ

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการนำร่องเขตพื้นที่การศึกษาใน 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ชลบุรี อำนาจเจริญ ภูเก็ต และพิษณุโลก ซึ่งเห็นว่าควรนำผลการนำร่องและผลการวิจัยเขตพื้นที่การศึกษาที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา , ศธ. ได้ดำเนินการไว้ตลอดจนถึงผลสรุปการติดตามประเมินผลจากสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ มาประกอบการพิจารณาในการกำหนดจำนวนเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนอีก 71 จังหวัดที่ยังไม่ได้ทดลองนำร่องก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล วิชาการและงบประมาณ เนื่องจากเมื่อร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว ก็จะสามารถรองรับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ทันที (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 8)





“วชิราวุธ” จับมือมิลวอล์กกี้เปิด ป.ตรีนิเทศศิลป์

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2545 วชิราวุธได้ร่วมกับสถาบันมิลวอล์กกี้ อินสติทิว ออฟ อาร์ทแอนด์ดีไซน์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ ซึ่งเป็นการฝากสอนที่วชิราวุธ ช่วง 2 ปีแรก ในวิขา วาดเขียนเบื้องต้น องค์ประกอบศิลป์ วิชาออกแบบสามมิติ และวิชาภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการวิจารณ์ รายงาน การพูดฟังอ่าน และเขียน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในประเทศไทย จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชาเพื่อเตียมความพร้อมทางภาษาสำหรับการศึกษาต่อในชั้นปีที่ 3 และ 4 ในสถาบันมิลวอล์กกี้ รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตร์จากสถาบันมิลวอล์กกี้ หลักสูตรนิเทศศิลป์ ทั้งนี้ ในแต่ละปีสถาบันจะเปิดรับตรง โดยรับนักศึกษาไม่เกิน 15 คน ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวอีกว่า การเปิดสอนในไทยช่วง 2 ปีแรก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองได้จำนวนมาก ซึ่งการเรียนในประเทศจะเสียค่าเล่าเรียน 220,000 บาทต่อปี ส่วนการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาประมาณ 800,000 บาทต่อปี รวมตลอดหลักสูตรประมาณ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ได้จัดสรรทุนสนับสนุนนักศึกษาเรียนดีจำนวน 2 ทุน คือ ทุนจักรพันธุ์ โปษยกฤต และทุนหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ทุนละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และสถาบันมิลวอล์กกี้จะสมทบเพิ่มอีกทุนละ 5,000ดอลลาร์(กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 8)





แนะมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์

น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เปิดเผยในการปาฐกถาหัวข้อ “การปฏิรูปมหาวิทยาลัยกับควมอยู่รอดของชาติ” ว่า สิ่งแรกในการปฏิรูปมหาวิทยาลัยจะต้องลงทุนพัฒนาคุณภาพอาจารย์ และทบวงฯ ต้องกำหนดสัดส่วนอาจารย์ในการเปิดหลักสูตรใหม่ให้เหมาะสม ทั่งมีการอบรมผู้บริหารให้เข้าใจหลักกรบริหารภายใต้การปฏิรูป หลักสูตรการสอนก็ต้องเน้นความเป็นจริงในสังคม และภูมิปัญญาไทยให้มากขึ้น ทั้งนี้ ในการผลิตบัณฑิตมหาวิทยาลัย ต้องคำนึงถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มีการหารือถึงคุณสมบัติบัณฑิตที่พึงประสงค์ (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 8)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


อ.มหิดลคว้า2นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

วันที่ 1 ส.ค. มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี พ.ศ.2545 ให้แก่ ศ.ดร.ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาชีวเคมี และศาตราจารย์นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมสยามซิตี โดยมี ศ.ดร.สิปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นประธาน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 19)





ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนเจ้าพระยาลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า-ไม่เป็นปัญหาเกษตรกร

เพื่อให้การจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาเกิดประโยชน์สูงสุดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จึงได้ศึกษาความเหมาะสมของการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ลำน้ำเดิม โดยการรับน้ำบางส่วนที่ระบายลงท้ายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งในการนี้จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการใช้น้ำเพื่อการชลประทานโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นจากกรมชลประทานและคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแล้ว โดยเมื่อที่ผ่านมา นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมคณะได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน โครงการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังน้ำขนาดเล็ก เขื่อนเจ้าพระยา เป็นโครงการที่มุ่งสนองนโยบายพลังงานของรัฐบาล ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ โดยโครงการนี้เป็นการใช้พลังน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้า (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 21)





Blu-ray-Discรูปแบบดีวีดีแห่งอนาคต

เว็บไซต์ www.bbc.com ที่นำเสนอเทคโนโลยีการบันทึกภาพและเสียงระบบใหม่ ที่เก็บข้อมูลได้มากกว่าดีวีดีแบบปัจจุบันถึงเท่าตัว ซึ่งมีการตั้งชื่อระบบนี้ว่า แผ่นแสงสีน้ำเงิน (Blu-ray-Disc) (หมายเหตุ คำว่า “Blu” เป็นศัพท์เทคนิค ไม่ต้องแก้เป็น “Blue”) แผ่นแสงสีน้ำเงิน (Blu-ray-Disc) เป็นการร่วมกันค้นคว้าของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ชั้นนำระดับโลก 9 บริษัท โดยมีการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2000 ที่ผ่านมา แผ่นแสงสีน้ำเงินใช้แสงเลเซอร์สีน้ำเงิน ที่มีความยาวคลื่นสั้นมากเพียง 405 นาโนเมตร ในการอ่านข้อมูลส่วนการเก็บข้อมูลของเจ้าแผ่นแสงสีน้ำเงินนี้ สามารถเก็บข้อมูลได้สูงถึง 27 กิกะไบท์ ในแผ่นที่เป็นหนึ่งด้าน, หนึ่งชั้นข้อมูล (Single Side,Single Layer)ซึ่งความจุมหาศาลขนาดนี้สามารถเก็บข้อมูลภาพและเสียงในรูปแบบภาพยนต์ทั่วไปได้นานถึง 13 ชั่วโมง (แผ่นดีวีดีทั่วไปเก็บได้เพียง 2-3 ชั่วโมง และบันทึกรายการจากโทรทัศน์ระบบ HDTVได้นานถึง 2 ชั่วโมง แผ่นแสงสีน้ำเงินจะวางตลาดอย่างเป็นทางการ ก็คงราวๆ ปลายปี 2003 หรือต้นปี 2004 และกว่าระบบทุกอย่างจะลงตัว ตลอดจนราคาของเครื่องจะลดลงมาอยู่ระดับที่เราๆ สามารถหาได้ก็คงไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีนับจากนี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 16)





สยามดิสฯมีเน็ตไร้สายความเร็วสูง

นายภาคภูมิ เสตะรัต ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า แอปเปิ้ล สามารถ และสยามดิสคัฟเวอรี่เปิดให้บริการเน็ตไร้สายความเร็วสูงแห่งแรกในไทยคนไอทีติดโน้ตบุ๊กสามารถถือเข้ามาใช้งานในห้างฯได้เลย พร้อมบริการชั่วโมงอินเตอร์เน็ตฟรี (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สมู เครื่องดนตรีเชื่อมต่อมนุษย์กับเครื่องจักร

นักวิจัยจากศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสยาน (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประดิษฐ์เครื่องดนตรีเสมือน หรือ สมู (SMu) ที่สามารถเล่นเสียงดนตรีได้มากกว่า 100 เสียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตร ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการหลักหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า สมู (SMu) นั้นมาจากคำว่า Sonar-based Musical Instrument เป็นเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นจากผลงานภายใต้โจทย์ในวิชาการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับเครี่องจักร (Human-Machine Interface) ซึ่งสอนให้เข้าใจเรื่องการสร้างระบบที่ทำให้คนสามารถใช้กับเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะผู้ประดิษฐ์คือ นายณัฐพล ปฐมอารีย์ นายพนาไพร โตถาวรยืนยง นายประเสริฐศักดิ์ เดชอุดม นายสมหวัง อริสริยวงศ์ และนางสาวปัณรสี ฤทธิประวัติ โดย ดร.สยาม เจริญเสียง เป็นผู้ให้คำปรึกษา (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 16)





พระจอมเกล้าธนบุรีประดิษฐ์ ‘เครื่องปอกกระเทียม’

อ.มงคล ไชยศรี และนักศึกษาภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้แก่ นายเจษฎา อุ่นสวิง นายนัฏฐนันท์ มูลสระดู่ และนายสุทธิพงษ์ โสภา ได้คิดค้นพัฒนาเครื่องปอกกระเทียมต้นแบบที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากเครื่องปอกกระเทียมแล้วยังมีสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระเทียมอีกหลายเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแยกกลีบกระเทียม เครื่องบดกระเทียมแบบเพลา เครื่องบีบน้ำกระเทียม เป็นต้น หากใครสนใจก็สามารถแวะมาเยี่ยมชมหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธุรการภาค โทร.0-2470-8557 หรือ อ.มงคล ไชยศรี 0-2470-8552. (เดลินิวส์ พุธที่ 31 กรกฎาคม 2545 หน้า 27)





รม.จันทบุรีเมินสารเคมีหันมาพึ่งธรรมชาติ…ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากเศษปลา

อาจารย์ประสาน ทองอำไพ และคณะแห่งภาควิชาพืชศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรี ได้มีการคิดค้นสูตรการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพขึ้นมา อาทิ สูตรที่ทำจากพืช ผลไม้ มูลสัตว์ เศษขยะในครัวเรือน หรือแม้แต่สูตรรวมมิตร ซึ่งจะรวมเอาวัตถุดิบหลายๆ ชนิดรวมกัน ล่าสุดได้คิดค้น ปุ๋ยน้ำชีวภาพ สูตรปลาจากปลาเป็ด (ปลาข้างเหลือง) อาจารย์ประสานบอกว่า เรื่องประโยชน์ที่พืชจะได้รับนั้นเกินร้อยเพราะปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจะมีปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ครบทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง จุลธาตุรวมถึงจุลินทรีย์ที่มีมากมายหลายชนิดในปุ๋ยก็จะถูกเติมลงไปในดิน และยังช่วยปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นด้วย เกษตรกรท่านใดที่สนใจติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ประสาน โทร 0-3945-2387-8 ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรี (สยามรัฐ เสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





วิจัยพบจุลินทรีย์ในราก ‘หญ้าแฝก’ พืชแห่งการอนุรักษ์…ดินและน้ำ

จากการศึกษาวิจัยของทีมงานของ กลุ่มอินทรีย์วัตถุและวัสดุเหลือใช้ กองอนุรักษ์ดินและน้ำ เปิดเผยข้อมูลว่า หญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์ที่ระบบรากมีลักษณะพิเศษ คือ มีการกระจายของรากหยั่งลึกดินในแนวลึกมากกว่าแนวนอน มีอัตราการเจริญและการแพร่กระจายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบรากฝอยกระจายประสานกันอย่างหนาแน่น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยยึดเหนี่ยวอนุภาคของดิน และลดการสูญเสียหน้าดินได้อย่างดี ด้วยเหตุนี้หญ้าแฝก จึงเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยผลการวิเคราะห์พบว่า รากหญ้าแฝกเป็นระบบรากที่ส่งเสริมการเพิ่มจุลินทรีย์ ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เอ็นโดไมครอ์ไรซา จะงอกเส้นใยเข้าสู่เซลล์รากพืชที่เป็นประโยชน์ต่อพืช สุดท้ายยังพบอีกว่า ปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายและแปรสภาพของเศษชิ้นส่วนของใบและรากหญ้าแฝกที่ตายไปแล้วสะสมอยู่ในดิน จนกลายเป็นอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอีกด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 27)





ข่าวทั่วไป


วิทยาลัยราชสุดาจับมือสถาบันระดับโลกผลิต…ล่ามภาษามือรุ่นแรกในเอเชีย

ด้วยความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับการศึกษาหูหนวกและการวิจัย ภาษามือ (National Institute for Deaf studies and Sing Language Research) มหาวิทยาลัยลาโทรป (la Trobe) ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัย กาลาเด็ท ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรสาขาวิชาการสอนภาษามือไทยและสาขาวิชาล่าม (ภาษามือไทย) ดร.จิตประภา ศรีอ่อน ผอ.วิทยาลัยราชสุดา เล่าถึงที่มาของ หลักสูตรนี้ว่า “ในบ้านเรากำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนล่ามภาษามือมากรวมถึงคุณภาพของล่ามด้วย จึงทำให้คนหูหนวกในประเทศไทยขาดโอกาสในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะการ ศึกษาในระดับสูงๆ ที่ขาดแคลนผู้ทำหน้าที่ล่ามภาษา ทั้งหากเรามีบุคคลากรในด้านนี้ที่เพียงพอและมีคุณภาพคนหูหนวกไทยก็จะได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นตามไปด้วย” หลักสูตรการสอนภาษามือและล่ามภาษามือไทยนี้ ถือเป็นหลักสูตรแรกของเอเชียที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องและตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนหูหนวกโดยเฉพาะสำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรสาขาวิชาล่าม (ภาษามือไทย) นั้นเริ่มเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2543 และใช้เวลาในการศึกษาเพียงปีครึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรนี้ถึง 16 คน (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ความจำเป็นของกระทรวงไอซีที

กระทรวงนี้ถือเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศครองโลก โดยเฉพาะภาคเอกชนผู้ประกอบการไอที ที่ตั้งความฝันไว้…ว่ากระทรวงนี้จะมาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้แข่งขันได้ในตลาดโลก ส่วนภาระกิจหลัก ดร.บวร ปภัสราทร คณบดีคณะเทคโนโลยี สารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แจกแจงไว้อย่างน่าสนใจว่า “DEEP & FAR” มีทั้งภาระกิจแนวลึกและแนวกว้าง โดย D ย่อมาจาก Data หรือข้อมูล กระทรวงนี้จะต้องเป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลของประเทศ เป็นกระทรวงสารพัดตอบ เป็นดัชนีชี้ได้ว่าข้อมูลที่ประชาชนต้องการอยู่ที่ไหน นี่คือภาระกิจแรกที่จะต้องทำให้ได้ ตัวอักษรต่อมาคือ E ย่อมาจาก Example หรือ ตัวอย่าง หมายถึง การเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในการใช้ไอทีบริการประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว E อีกตัวย่อมาจาก Educate หรือ การศึกษา ในเมื่อพึ่งกระทรวงศึกษาไม่ได้ กระทรวงนี้จะต้องให้ความรู้ด้านไอที ทำให้ประชาชนใช้เครื่องมือไอทีเป็น ซึ่งถือว่าเป็นการลดช่องว่างทางดิจิทัลในสังคมไทย สำหรับตัว P ย่อมาจาก Promotion หรือให้การสนับสนุน ที่ดีแก่อุตสาหกรรมไอทีไทย ส่วนภาระกิจด้านกว้าง (FAR) ประกอบด้วย F ย่อมาจาก Facilitate หรือความสะดวก กระทรวงไอซีทีมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐและองค์กรธุรกิจอื่นๆ เป็นตัวกลางประสานให้เกิดการใช้งานไอทีหรือใช้ไอทีได้ในราคาถูก A ย่อมาจาก Assessment หรือการประเมินผล ต้องมีการวัดผลในสิ่งที่ดำเนินการไป ส่วน R ย่อมาจาก Research หรือวิจัย หมายถึง กระทรวงไอซีทีต้องสนับสนุนการวิจัยที่นอกเหนือจากการวิจัยในสถาบันการศึกษา (เดลินิวส์ อังคารที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 16)





อยากตั้ง “นามสกุล” จะทำอย่างไร

บุคคลที่จะขอตั้งชื่อสกุลต้องบรรลุนิติภาวะ ถ้าเป็นผู้เยาว์จะต้องให้บิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองเป็นผู้ยื่นคำขอแทนที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตท้องที่ที่ผู้ขอตั้งชื่อสกุลมีภูมิลำเนาอยู่หลักเกณฑ์การตั้งชื่อ ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี-ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแตJราชทินนามของตน ของบุพการี หรือ ของผู้สืบสันดาน-ต้องเป็นคำไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทาน หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว-ต้องไม่มีคำ หรือความหมายหยาบคาย-ต้องมีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่ราชทินนาม-ต้องมีคำแปลตามหลักภาษาไทยในพจนานุกรมและเขียนตัวสะกดการันต์ถูกต้อง-ห้ามผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุลใช้คำว่า “ณ” นำหน้าชื่อ หรือ “ณ อยุธยา” เป็นชื่อ สกุลหรือต่อท้ายชื่อสกุลของตนเอง-ห้ามนำนามพระมหานคร ซึ่งเคยเป็นราชธานีมาแล้ว แต่ก่อนหรือในปัจจุบันมาใช้เป็นชื่อ สกุล เช่น กรุงเทพฯ บางกอก สุโขทัย สงขลา อู่ทอง-ห้ามนำคำศัพท์ที่เป็นพระบรมราชทินนานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งหรือประกอบคำศัพท์อื่น ตั้งเป็น ชื่อสกุล เช่น นฤบาล เทพ อธิป เป็นต้น หลักฐานที่ต้องใช้ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอตั้งชื่อสกุล ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของผู้ขอตั้งชื่อสกุล กรณีดำเนินการแทนผู้เยาว์ต้องใช้สูติบัตรผู้เยาว์ ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่มีชื่อผู้เยาว์ บัตรประจำตัวผู้ดำเนินการแทน ทั้งนี้เสียค่าธรรมเนียม 50 บาท. (เดลินิวส์ อังคารที่ 30 กรกฎาคม 2545 หน้า 35)





เลิกใช้ใบเสร็จเบิกค่าโรงหมอ

นายกุลิศ สมบัติศิริ โฆษกกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กรมบัญชีกลางจะปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด บำนาญ พนักงานของรัฐ และบุคคลในครอบครัวใหม่ โดยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลต่างๆ ในลักษณะของผู้ป่วยนอกได้โดยไม่ต้องชำระเงินแล้วค่อยนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกกับทางราชการอีกต่อไป ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก และสามารถตรวจสอบได้ง่าย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 9)





คืนอดีตสองฝั่งคลอง…ฝากไว้ไห้ลูกหลาน

ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ ปี พ.ศ.2544-2546 เป็น “ปีแห่งการอนุรักษ์แม่น้ำ คู คลอง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำ คู คลอง ให้มีคุณภาพที่ดีสอดคล้องกับระบบนิเวศธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน หรือพูดง่ายๆ ก็คือให้แม่น้ำ คู คลอง วิถีชีวิตของคนริมน้ำกลับคืนมาถ้าไม่เหมือนเดิมก็ขอให้ใกล้เคียงของเดิม ทุกคนสามารถช่วยเหลือได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่างน้อยให้ความรู้แก่คนในครอบครัว เพื่อนฝูง ลูกศิษย์ โดยเฉพาะคนที่เป็นครู หรือมีหน้าที่จัดการศึกษาต้องให้ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้มีจิตสำนึกร่วมกันที่จะดูแลรักษาแม่น้ำ คู คลอง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยในเชิงของการพัฒนา แต่ก็อย่าทำลายแม่น้ำ คู คลอง เท่านี้ก็เพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2545 หน้า 9)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215