หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 30 ประจำวันที่ 2002-08-27

ข่าวการศึกษา

พระเทพฯทรงห่วงคุณภาพการศึกษาพื้นฐาน
ให้พนักงานม.นั่งสมาชิกกบข.-สวัสดิการเท่าขรก.
วก.ห่วงการศึกษายังไม่เป็นมาตรฐานชี้สถานศึกษาภูมิภาคไม่สนการประเมินฯ
รมว.ศธ.หนุน ‘กรุงไทย’ ใช้เครดิตบูโร
เริ่มใช้แล้ว ‘2กฎกระทรวง’ หนุนการศึกษาคนพิการ
อัดม.ไทยอ่อนอังกฤษบัณฑิตได้เนื้อแค่40%
‘ทักษิณ’ ชะลอตั้งปลัดกระทรวงศึกษาใหม่
ศธ.ปรับลดเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนแล้ว
จุฬาฯเปิดรับนิสิตแพทย์วิธีพิเศษ
ชี้สถานภาพศธ.-สกศ.หลัง20ส.ค.ยังไม่เปลี่ยน
ก.พ.ปรับเกษียณอายุข้าราชการธุรการแค่50ปี-ผู้เชี่ยวชาญ70ปี
อธิการบดีนิด้าชี้อันดับ ‘เอเชียอิงค์’ ข้อมูลไม่ครบถ้วน
ศธ.เล็งอนุโลมครูต่างชาติสอนใน ร.ร.เอกชน
รับสมัครเยาวชนฝึกภาษาที่สิงคโปร์
ประชาพิจารณ์แนวทางคัดเลือกนศ.
ทบวงเชิญสภาอุตฯนำร่องสหกิจศึกษาพร้อมประชาพิจารณ์
ศธ.รับลูกปฏิญญาสากลเด็กพิเศษ
ครูอย่าหวั่นใบอนุญาตฯได้แน่
แนะใช้วิทยาศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ
แย้งใช้เอ็นทรานซ์ใหม่ปี47ทบวงฯนัดถกวันนี้

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

วัณโรคกรุงเทพฯพุ่งพรวด4.6เท่าแรงงานต่างด่าว-เอดส์ต้นตอใหญ่
พบน้ำมันปาล์มอุดมด้วยวิตามินป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจ
กำจัดจุดอ่อนการพัฒนา SMEs ตัองคำนึงถึงมิติสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม
นักวิชาการอ้างอาหารโคลนนิงปลอดภัย
อุกกาบาตยักษ์ชนโลก3.5พันล้านปีที่แล้ว

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบยีนแบคทีเรียในดินจีน-อเมริกาเหนือฆ่ามะเร็งได้
นักวิจัยสหรัฐพัฒนาวัคซีนป้องกันติดเอดส์
ไทยจับมือกับสิงคโปร์ร่วมวิจัยอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์
เทคนิควิเศษช่วยผู้ป่วยอัมพาตใช้เซลล์จมูกฉีดในกระดูกสันหลัง

ข่าวทั่วไป

เตือนผู้บริโภคระวัง!ตกเป็น ‘เหยื่อ’ แนะคาถาสร้างสุขภาพด้วยตนเอง
‘ปราบดา หยุ่น’ คว้าซีไรต์ ‘ความน่าจะเป็น’





ข่าวการศึกษา


พระเทพฯทรงห่วงคุณภาพการศึกษาพื้นฐาน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชดำรัสเปิดงานว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาต่อเนื่องถึงมัธยมศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรถือเป็นหน้าที่ที่ต้องติดตามดูแลให้เยาวชน ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้นต้องพิจารณาเรื่องหลักสูตรการเรียนให้สอดคล้องกับยุคสมัย และความต้องการของแต่ละพื้นที่ ต้องพัฒนาความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐาน และโดยส่วนตัวผู้เรียนก็ควรได้รับการดูแลให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้สมบูรณ์ ให้มีการเตรียมพร้อมเสียก่อน แล้วจึงปลูกฝังนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน พร้อมกับสร้างเสริมทักษะในการเรียนรู้ นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีเสริมในการจัดการศึกษาจะช่วยให้เยาวชนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (มติชน ศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





ให้พนักงานม.นั่งสมาชิกกบข.-สวัสดิการเท่าขรก.

นายภาวิช ทองโรจน์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลการประชุม ทปอ.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการพิจารณาของที่ประชุมกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) ที่เห็นชอบตามที่ ทปอ.เสนอให้ข้าราชการเดิมที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการแล้วสมัครมาเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย มีสิทธิเป็นสมาชิก กบข. ต่อไปจนกว่าเกษียณได้ เช่นเดียวกับพนักงานที่เข้าใหม่สามารถเข้าเป็นสมาชิก กบข.ได้ ส่วนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลยังคงได้เท่ากับข้าราชการเดิมทุกประการ สำหรับบำเหน็จจะเท่ากับฐานเงินเดือนของข้าราชการ แต่ในส่วนของเงินเดือนพนักงานของมหาวิทยาลัยซึ่งจะสูงกว่าข้าราชการส่วนนี้ทางมหาวิทยาลัยสามารถนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการได้นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่คณบดีผู้บริหารสถาบันทางการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ทำหนังสือถึง ทปอ.ให้สนับสนุนวิทยาลัยพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โอนมาอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วเห็นว่าควรเป็นเรื่องระดับนโยบายที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ (มติชน จันทร์ที่ 19 สิงหาคม หน้า20)





วก.ห่วงการศึกษายังไม่เป็นมาตรฐานชี้สถานศึกษาภูมิภาคไม่สนการประเมินฯ

นายพนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่ปรึกษากรมวิชาการ (วก.) กล่าวในการประชุมการปฏิบัติการกำหนดแผน และวิธีประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ปีการศึกษา 2545 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีประธานกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 200 คน ว่า เนื่องจากที่ผ่านมา หลายโรงเรียนในระดับอำเภอ และจังหวัด ไม่เห็นความสำคัญและไม่เอาจริง ทำให้การประเมินคุณภาพการศึกษา ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน กรมวิชาการ จึงต้องจัดประชุมทำความเข้าใจทุกภาคของประเทศไทยจำนวน 4 ครั้ง โดยเริ่มที่ภาคเหนือเป็นแห่งแรก นายพนมกล่าวว่า ต่อไปแต่ละโรงเรียนจะต้องสร้างหลักสูตรท้องถิ่นเอง แต่คงลืมนึกถึงหลักสูตรแกนกลาง และการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 3, 6 ปีละครั้ง ซึ่งได้ทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผลคะแนนไม่ตัดสินได้หรือตก แต่จะวัดกับเด็กทุกคน เพื่อประมวลไว้ที่ระบบทะเบียนกลาง ใช้เป็นข้อมูลการศึกษาทั่วประเทศ ในการศึกษาและทำงาน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีคะแนนของตัวเอง ปัญหาที่ผ่านมา เพราะเราไม่ค่อยวัดผลรวมระดับชาติ จึงมองไม่เห็นจุดเด่นจุดด้อย จึงเร่งทำข้อสอบกลางเพื่อให้รู้ปัญหา และทุ่มทรัพยากรเข้าไปแก้ไขไห้ตรงจุดโดยเฉพาะด้านภาษา การคิดคำนวณ และด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญ (มติชน จันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2545 หน้า21)





รมว.ศธ.หนุน ‘กรุงไทย’ ใช้เครดิตบูโร

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายสุวิทย์ คุณกิติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เสนอวิธีแก้ปัญหาผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเบี้ยวชำระหนี้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีประมาณ 1 แสนคน โดยใส่ชื่อในเครดิตบูโร หรือลงประวัติเครดิตการกู้เสีย ในรายที่เบี้ยวหนี้ เพื่อปลูกฝังวินัยทางการเงินว่า เมื่อนักเรียนนักศึกษาได้รับเงินกองทุนฯ แล้ว และเรียนจบมีงานทำแล้วก็ต้องรับผิดชอบชำระหนี้คืน เพื่อให้นักเรียนคนอื่นที่ด้อยโอกาสได้มีทุนการศึกษาต่อไปด้วย แต่หากไม่มีความรับผิดชอบ ทางธนาคารก็สามารถดำเนินการตามวิธีการของธนาคารได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูถึงปัญหาของผู้กู้ยืมด้วย รวมทั้งหาวิธีช่วยเหลือก่อนที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด อย่างน้อยก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมได้แสดงความพยายามหรือแสดงความรับผิดชอบ นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับมาตรการเครดิตบูโรเพราะเงินกู้ส่วนนี้มาจากภาษีอากรของประชาชน หากผู้กู้ไม่ชำระคืนก็น่าจะเก็บเป็นประวัติ ซึ่งทำให้ผู้กู้ต้องมาธิบายว่าเหตุใดไม่อาจคืนเงิน (มิติชน อังคารที่ 20 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





เริ่มใช้แล้ว ‘2กฎกระทรวง’ หนุนการศึกษาคนพิการ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา และกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยสืบเนื่องจากในปีการศึกษา 2542 ศธ.ได้ประกาศนโยบายปีการศึกษาเพื่อคนพิการให้คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน และจัดตั้งคณะอนุกรมกรรมการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา กระทั่งนำเสนอและได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในประเทศไทย (มิติชน อังคารที่ 20 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





อัดม.ไทยอ่อนอังกฤษบัณฑิตได้เนื้อแค่40%

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาไทยนิยมหันมาจัดหลักสูตรพิเศษ หรือหลักสูตรนานาชาติที่เป็นภาษาอังกฤษ โดยมองในเรื่องของการหารายได้ การขายค่านิยมเป็นหลัก มากกว่าจะเน้นในเรื่องของเนื้อหาวิชา หรือคุณภาพผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนได้เนื้อหาสาระ หรือความรู้ภาษาอังกฤษประมาณ 40% เท่านั้น (มติชน อังคารที่ 20 สิงหาคม 2545 หน้า 20)





‘ทักษิณ’ ชะลอตั้งปลัดกระทรวงศึกษาใหม่

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ.เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้กระทรวงที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่อนข้างมากมีทั้งคนย้ายเข้าย้ายออก ชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายไว้ก่อนโดยไม่ต้องคำนึงถึงมติครม.ที่ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม แต่ของให้รอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาก่อน ซึ่งคาดว่าจะผ่านได้ในวันที่ 20 กันยายน เพราะฉะนั้นกรณีของกระทรวงศึกษาธิการก็อยู่ในข่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่อนข้างมาก ดังนั้น การดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายก็ต้องดำเนินการหลังจากวันที่ 20 กันยายนดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 21 สิงหาคม 2545 หน้า 8)





ศธ.ปรับลดเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนแล้ว

นายจรูญ ชูลาภ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมการประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้ง สปช. กรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานงบประมาณเพื่อปรึกษาการปรับลดตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวให้เหมาะสมจากจำนวนนักเรียนเกินจริง และค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน และในที่สุดปรับลดตัวเลขที่ 6,705 ล้านบาท ซึ่งศธ.จะนำตัวเลขนี้เสนอสำนักงบประมาณต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 21 สิงหาคม 2545 หน้า 8)





จุฬาฯเปิดรับนิสิตแพทย์วิธีพิเศษ

คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับสมัคร “นิสิตแพทย์” ประจำปีการศึกษา 2546 “วิธีพิเศษ” พร้อมกันนี้ ต้องมีภูมิลำเนาหรือเคยศึกษาในระดับมัธยมไม่น้อยกว่า 3 ปี ในเขต 21 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว อยุธยา บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ สุรินทร์ นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด นครพนม มุกดาหาร โดยต้องได้คะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาไม่ต่ำกว่า 2.75 สำหรับนักเรียนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายวิชาการ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ โทร02-2522702 หรือที่ www.academic.chula.ac.th (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2545 หน้า 8)





ชี้สถานภาพศธ.-สกศ.หลัง20ส.ค.ยังไม่เปลี่ยน

ตามที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ที่เปลี่ยนไปหลัง 20 ส.ค.2545 ซึ่งถูกยุบไปแล้วตามผลของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ทว่ายังดำรงอยู่ได้ เนื่องจากต้องให้การบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แต่อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามเดิมนั้น นานสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความชัดเจนว่า วันที่ 20 ส.ค.2545 เป็นเพียงกรอบในการเร่งรัดให้รัฐดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่ประกาศวันเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษา และในการปฏิรูปการศึกษาก็มีกระบวนการ และผู้เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ใช่อยู่ที่ขั้นตอนเดียว คือ ที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือตนคนเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2545 หน้า 8)





ก.พ.ปรับเกษียณอายุข้าราชการธุรการแค่50ปี-ผู้เชี่ยวชาญ70ปี

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ก.พ. วานนี้ (21 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงกำหนดการเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน โดยกลุ่มที่เกษียณอายุได้ตั้งแต่อายุ 50 ปี คือ กลุ่มงานสายที่เริ่มจากระดับหนึ่งและระดับสอง ในกลุ่มงานธุรการหรือบริการทั่วไปและกลุ่มปฏิบัติภารกิจที่ต้องใช้ความพร้อมทางสมรรถภาพร่างกาย เสี่ยงอันตรายตรากตรำมีผลเสียต่อสุขภาพส่วนกลุ่มที่เลือกเกษียณที่อายุ 55 ปี ได้แก่กลุ่มสายงานที่มีผู้ทำงานอายุราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป โดยกำหนดสิ่งจูงใจคือ ให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเพิ่มเติมจากสิทธิที่มีอยู่เดิม กลุ่มภารกิจทั่วไปและภารกิจทางด้านบริหารยังคงเกษียณที่อายุ 60 ปี และกลุ่มที่ควรเกษียณอายุมากกว่าอายุ 60 ปีจึงถึง 70 ปี ได้แก่กลุ่มงานที่เริ่มจากระดับหนึ่งและระดับสอง เป็นภารกิจที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญทักษะเฉพาะตัว และกลุ่มที่เริ่มจากระดับ 3 ขึ้นไป ในตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะต้องอาศัยประสบการณ์ซึ่งไม่อาจหาได้โดยทั่วไป มีความขาดแคลนเป็นที่ต้องการของส่วนราชการ สามารถเกษียณได้ที่ 70 ปี ในกรณีที่เกษียณอายุมากกว่า 60 ปีให้ส่วนราชการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการปฏิบัติงาน ซึ่งเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจะกำหนดเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวเป็นรายๆ ตัวเป็นรายๆ ไป สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามที่ ก.พ.กำหนด โดยจะให้มีการประเมินเมื่ออายุ 60 ปี และภายหลังจากอายุ 65 ปีให้ประเมินเป็นรายปี โดยกำหนดสิ่งจูงใจว่า หากผ่านการประเมินก็ให้เป็นข้าราชการ และได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดิม โดยจะนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการให้มีช่วงอายุในการเกษียณระหว่างอายุ 50-70 ปี (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2545 หน้า 16)





อธิการบดีนิด้าชี้อันดับ ‘เอเชียอิงค์’ ข้อมูลไม่ครบถ้วน

รศ.ดร.ปรีชา จรุงกิจอนัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจแห่งเอเชีย ของนิตยสารเอเชียอิงค์ที่นิด้าติดอันดับที่ 23 ว่า วิธีการวิจัยยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เพราะใช้วิธีให้มหาวิทยาลัยกรอกแบบสอบถาม ซึ่งอาจมีการเบี่ยงเบนข้อมูลได้ และคณะบริหารธุรกิจของนิด้ามีอาจารย์กว่า 80% จบวุฒิการศึกษาปริญญาเอก ซึ่งหากกลุ่มวิจัยลงพื้นที่สำรวจสถานที่ รูปแบบการสอน ผลงานวิจัยของนักศึกษา และอาจารย์ด้วยตนเอง การจัดอันดับน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2545 หน้า 9)





ศธ.เล็งอนุโลมครูต่างชาติสอนใน ร.ร.เอกชน

นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยผลการประชุม กช.ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับโรงเรียนเอกชนเปิดการเรียนการสอนสื่อด้วยภาษาอังกฤษซึ่งขณะนี้มีผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนรวมแล้ว 54 แห่งโดยการเปิดสอนต้องดำเนินการตามระเบียบของกรมวิชาการ ซึ่งมีระเบียบหลายเรื่องที่ทางโรงเรียนเอกชนดังกล่าวเห็นว่าเคร่งครัดเกินไป โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของครูผู้สอน ที่กรมวิชาการกำหนดให้ผู้สอนต้องเป็นเจ้าของภาษา หากไม่ใช่จะต้องมีการทดสอบภาษาอังกฤษโทเฟลจะต้องไม่ต่ำกว่า 550 คะแนน การกำหนดให้โรงเรียนเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาในหลักสูตรที่กรมวิชาการกำหนดไว้ แต่ทางโรงเรียนส่วนใหญ่ต้องการที่จะเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษในทุกวิชา ซึ่งจะต้องมีการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวให้ทางกรมวิชาการพิจารณาเพื่อผ่อนปรน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2545 หน้า 9)





รับสมัครเยาวชนฝึกภาษาที่สิงคโปร์

สถาบันบ้านเยาวชนแห่งประเทศไทย (Thai Youth Hostels Association) ร่วมกับ People Association แห่งรัฐบาลสิงคโปร์ รับสมัครเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12-14 ปี หรือนักเรียนมัธยม 1-3 เข้าร่วมโครงการภาษาและพัฒนาตนเองหลักสูตร สิงคโปร์รุ่นที่ 14 ขึ้นในช่วงปิดเทอมระหว่างวันที่ 10-23 ตุลาคม 2545 โดยเยาวชนจะได้รับทั้งความรู้ในห้องเรียนและประสบการณ์จริง จากโปรแกรมทัศนศึกษาตามสถานที่ที่สำคัญต่างๆ เช่น Sentosa, Night Safari, Singapore Discovery Centre รวมทั้งการเข้าเยี่ยมชมสถานเอกอัครราชฑูตไทยในประเทศสิงคโปร์ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งฝึกฝนการช่วยเหลือตนเองและความเป็นผู้นำ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0-2628-7413-5 (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2545 หน้า 6)





ประชาพิจารณ์แนวทางคัดเลือกนศ.

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการแระชุมคณะกรรมการนโยบายการสอบคัดเลือกว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดตั้งสำนักงานทดสอบกลางแห่งชาติ โดยจะให้มีสถานะเป็นองค์การมหาชนขนาดเล็ก และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา 200 แห่ง และตัวแทนจากมหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้จะได้ทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง ถึงการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาใหม่ ซึ่งปี 2546 จะเริ่มใช้สูตรใหม่ใน 19,000 โรงเรียน และอีก 38,000 โรงในปี 2547 และข้อสอบคัดเลือกที่เนื้อหาจะไม่ต่างกันเพียงแต่ข้อสอบจะออกในเชิงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นหลัก และเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2545 หน้า 6)





ทบวงเชิญสภาอุตฯนำร่องสหกิจศึกษาพร้อมประชาพิจารณ์

ดร.ประวิทย์ รัตนเพียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสหกิจศึกษา ว่า ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ทบวงฯจะเชิญสภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ 400 กว่าแห่งเพื่อหารือถึงข้อดีข้อเสียของโครงการจัดการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษาและความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย จากนั้นกลางเดือนกันยายน คณะอนุกรรมการและสถานประกอบการจะร่วมมือกันหารือเพื่อจัดทำคู่มือการสอน กำหนดเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนสหกิจศึกษา การกำหนดหน่วยกิตการเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และจะจัดประชาพิจารณ์ 4 ครั้ง ใน 4 ภาค ก่อนดำเนินการนำร่องในภาคเรียนที่ 2 เดือนพฤศจิกายน นี้ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 2547 จะมีการดำเนินการสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2545 หน้า 6)





ศธ.รับลูกปฏิญญาสากลเด็กพิเศษ

จากการประชุมนานาชาติเพื่อผู้ที่มีความสามารถพิเศษครั้งที่ 7 เรื่อง “จุดประกายความคิดสร้างชีวิต สร้างปัญญา” ซึ่งมีผู้แทนองค์กรและสถาบันต่างๆ ประมาณ 450 คนจาก 20 กว่าประเทศมาร่วมประชุม มีนายสุวิทย์ คุณกิติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานและรับมอบประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องผู้ที่มีความสามารถพิเศษ กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนเด็กที่มีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษ เพราะถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ศธ.เองรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการในเรื่องนี้ สำหรับข้อเสนอแนะในการประชุม อาทิ เปิดโอกาสและสร้างกลุ่มสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถพิเศษ สร้างหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม จัดหาและกระจายสนับสนุนการศึกษาสำหรับบุคลากรในการสอน ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ให้เหมาะสมกับผู้มีความสามารถพิเศษ สนับสนุนส่งเสริมสถาบัน สมาคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นต้น โดยศธ.จะรับเรื่องไปดำเนินการต่อ เพราะเชื่อว่าแนวทางของผู้เชี่ยวชาญที่มาพูดคุยกันนี้ มีประสบการณ์ตรงที่จะช่วยค้นหาเด็กที่มีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษได้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาครูให้สามารถเข้าใจในตัวเด็กเหล่านี้ เพื่อจัดกระบวนการศึกษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเด็ก (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





ครูอย่าหวั่นใบอนุญาตฯได้แน่

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศธ. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ผ่านสภาวาระแรกแล้ว 3 ฉบับได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยในส่วนของใบประกอบวิชาชีพนั้น จะให้ครูประจำการทุกคน แต่เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกามีการปรับแก้ว่าจะต้องเป็นครูไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งอาจทำให้ครูเข้าใจ ตนจึงมอบหมายให้มีการดำเนินการแปรญัตติแก้ไขเรียบร้อยแล้ว (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





แนะใช้วิทยาศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ

วันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ ได้ประกอบพิธีถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องในวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้น ได้เดินทางมาเป็นประธานมอบรางวัลแก่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ครูวิทยาศาสตร์ และนักเรียนที่ชนะการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งกล่าวในพิธีเปิดงานตอนหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในความสนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีความสุข และมีความก้าวหน้าของชาติ ดังนั้น การจัดงานวิทยาศาสตร์จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยในการส่งเสริมสนับสนุนและเอื้ออำนวยความรู้และความเข้าใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ นักเรียน ตลอดจนประชาชนได้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ และช่วยทางด้านเศรษฐกิจ สังคมต่อไป (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





แย้งใช้เอ็นทรานซ์ใหม่ปี47ทบวงฯนัดถกวันนี้

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เผยข้อเสนอของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะให้ปรับเปลี่ยนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (เอ็นทรานซ์) เป็นระบบกลางคัดเลือกนักศึกษา อย่างช้าให้ได้ภายปี 2547 ว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ที่ ศธ.ประกาศใช้ได้ดำเนินการนำร่องกับ ร.ร.มัธยมศึกษาในปีการศึกษา 2545 เพียง 1,000 โรงเท่านั้น แต่จะดำเนินการกับทุก ร.ร.มัธยมศึกษาทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง ในปีการศึกษา 2546 ดังนั้น นักเรียนที่ใช้หลักสูตรใหม่ทั้งหมดจะจบในปีการศึกษา 2548 ดังนั้น หากจะปรับเปลี่ยนระบบการเอ็นทรานซ์ใหม่ก็จะต้องสอดคล้องกับนักเรียนที่จบหลักสูตรใหม่ทั้งหมด การดำเนินการในปี 2547 ซึ่งคาบเกี่ยวทั้งนักเรียนหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น น่าจะดำเนินการได้ในปีการศึกษา 2548 ซึ่งสอดรับกับแนวทางที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอให้ปรับเปลี่ยนในปีการศึกษา 2548 อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 ส.ค.นี้ คณะกรรมการพัฒนานโยบายการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาแนวทางการคัดเลือกนักศึกษาที่ดีที่สุด โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงฯ เป็นประธาน จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงระบบเอ็นนทรานซ์ใหม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปตามที่นายกฯกำหนดภายใน 90 วัน ซึ่งในการประชุมจะหารือถึงโครงสร้างและภารกิจของสำนักทดสอบกลางแห่งชาติด้วย ซึ่งนายสุวิทย์อยากให้สำนักทดสอบกลางแห่งชาติดูแลถึงการทดสอบมาตรฐานกลางที่ ศธ.กำลังดำเนินการด้วย (ไทยรัฐ อังคารที่ 20 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


วัณโรคกรุงเทพฯพุ่งพรวด4.6เท่าแรงงานต่างด่าว-เอดส์ต้นตอใหญ่

น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงพร้อม น.พ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการกองวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข และ น.พ.นัดดา ศรียาภัย นายกสมาคมปราบวัณโรคฯถึงสัปดาห์รณรงค์ต่อต้านวัณโรคระหว่างวันที่ 21-27 สิงหาคม นี้ ว่า สถานการณ์วัณโรคของ กทม.มีอัตราป่วยจำนวน 59.62 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยปี พ.ศ. 2535 และพ.ศ.2544 พบว่ามีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากถึง 4.6 เท่า ซึ่งยังไม่รวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มารับการรักษา โดยปัจจุบัน กทม. ได้ให้การรักษาฟรีที่โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข 61 แห่งของ กทม.โดยวิธี DOT คือ การกินยาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยหายขาดได้อย่างน้อย 85% ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดแต่รักษาหายขาดได้เพียง 75% เท่านั้น เนื่องจากมีผลกระทบจากปัญหารอบด้าน อาทิ การเคลื่อนย้ายแรงงาน แรงงานต่างด้าว ผู้เสพยาเสพติด และผู้ป่วยโรคเอดส์ (มติชน อังคารที่ 20 สิงหาคม 2545 หน้า 12)





พบน้ำมันปาล์มอุดมด้วยวิตามินป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยในที่ประชุมเรี่องน้ำมันพืชที่ใช้บริโภคว่า น้ำมันพืชที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดปัจจุบัน อย่างเช่นน้ำมันปาล์มแดงอุดมด้วยวิตามินเอและอีที่มีอยู่ในธรรมชาติ น้ำมันปาล์มเป็นแหล่งของสารแครโรเตนอยด์ ที่ร่างกายได้ใช้เป็นเหมือนวิตามินเออันอุดมที่สุด มันมีอยู่มากเหนือกว่าหัวแครอทถึง 15 เท่า ซ้ำยังมีวิตามินอีระดับสูง หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคนิคของสภาน้ำมันปาล์มแห่งมาเลเซียบอกต่อไปว่า นอกจากนั้นยังมีวิตามินที่ชื่อโตโคเฟรอลส์กับโตโคไทรอีนอลควบกันอยู่ทั้งสองชนิด อย่างที่ไม่มีในแหล่งอื่น วิตามินชนิดอย่างหลัง ได้แสดงให้เห็นในการทดลองว่า มีสรรพคุณกำจัดเซลล์มะเร็งทรวงอกได้ มันแรงกว่าสารที่เป็นตัวล้างพิษอย่างโตโกเฟรอน ระหว่าง 40-60 เท่า (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





กำจัดจุดอ่อนการพัฒนา SMEs ตัองคำนึงถึงมิติสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

ในงานประชุมวิชาการหนึ่งทศวรรษสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อเร็วๆ นี้นายสมบัติ เหสกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การศึกษาผลกระทบจากอุตสาหกรรมต่อสุขภาพของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนใกล้เคียง ส่วนใหญ่เน้นไปที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏผลกระทบความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดเจนและก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างมากต่อสังคมโดยรวม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือไม่มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพเลย ทั้งนี้จากการศึกษาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนหนึ่งเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น โรงสีข้าว อู่เคาะพ่นสีรถยนต์ นอกจากนี้ยังพบว่าประเด็นปัญหาโรคติดต่อจากแรงงานต่างชาติ การพัฒนาเอสเอ็มอีของประเทศ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพกาย แต่ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพใจทั้งในส่วนของแรงงานในโรงงานและชุมชนใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้การประกอบการได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศการประมง และทำลายแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค บางพื้นที่ต้องเผชิญปัญหากลิ่นเหม็นจากโรงงาน รบกวนจิตใจของประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจประเด็นเหล่านี้ด้วย (มติชน อังคารที่ 20 สิงหาคม 2545 หน้า 18)





นักวิชาการอ้างอาหารโคลนนิงปลอดภัย

นายจอนห์น แวนเดนเบิร์ก แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.) ว่า อาหารและผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพจากสัตว์โคลนนิง หรือสัตว์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ไม่มีความเสี่ยงที่จะก่ออันตราย ร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์ นายแวนเดนเบิร์ก ผู้ทำการวิจัยนาน 1 ปี ให้รายละเอียดว่า มีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่การบริโภคอาหารจากสัตว์โคลนนิง จะกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์เกิดอาการแพ้ แต่หากเกิดปฏิกิริยา อาจสร้างความเสี่ยงต่อบุคคลบางกลุ่ม พร้อมแสดงความกังวลว่าการหย่อนยานในการสอดส่องของภาครัฐ อาจทำให้ผลิตภัณฑ์สัตว์โคลนนิงเพื่อการแพทย์ เล็ดลอดเข้าสู่ตลาด (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2545 หน้า28)





อุกกาบาตยักษ์ชนโลก3.5พันล้านปีที่แล้ว

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐหลุยส์เซียนา อ้างเหตุผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหินโบราณ ระบุว่าเมื่อประมาณ 3,470 ล้านปีที่แล้ว โลกเคยถูกชนโดยดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 20 กม.ซึ่งถือเป็นขนาดใหญ่ 2 เท่า ของดาวเคราะห์น้อย ที่พุ่งชนโลกจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ดร.โดนัลด์ อาร์.โลว์ จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด กล่าวเมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) ว่า ตัวอย่างหินที่ได้จากออสเตรเลียและแอฟริกา บ่งชี้ถึงการพุ่งชนโลกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัย ไม่ค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในยุคต่อมา ได้กลบหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่เกิดจากการพุ่งชนครั้งนั้นไปหมดแล้ว นายสตีเวน สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โลกยุคดึกดำบรรพ์ จากมหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ กล่าวว่า โลกในยุคนั้น มีโอกาสจะถูกชนโดยอุกกาบาตบ่อยครั้งมาก เนื่องจากระบบสุริยะจักรวาลยุคต้นๆ มีเศษซากที่หลงเหลือจากการก่อกำเนิดดาวเคราะห์น้อย ลอยอยู่ในอวกาศเต็มไปหมด ทางด้าน ดร.โลว์ กล่าวว่า โลกเมื่อ 3,470 ล้านปีที่แล้ว เป็นโลกที่ยังอายุน้อยมาก และสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่คือ เชื้อแบคทีเรีย ดร.โลว์ กล่าวว่า เมื่อดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนโลก จะทำให้เกิดรูรั่วขนาดใหญ่ในชั้นบรรยากาศซึ่งทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในช่วงสั้นๆ และรูรั่วที่ว่านี้ จะดูดเศษดินและหินที่ระเหิดกลายเป็นไอ จากแรงกระแทกของดาวเคราะห์น้อย ลอยขึ้นปกคลุมชั้นบรรยากาศโลกจนมืดมิด หลังจากนั้น เศษดินและหินเหล่านี้ จะอัดแน่นจนกลายอยู่ในรูปของเศษแก้วขนาดเล็ก ก่อนจะตกลงมาเหมือนเม็ดฝนที่กระหน่ำทั่วทุกภูมิภาคของโลก นอกจากนี้คณะนักวิจัยยังเชื่อว่าแรงกระแทกจากดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลก ยังทำให้เกิดคลื่นยักษ์ความสูงกว่า 1 กม.ที่พัดกระหน่ำชายฝั่งทุกแห่งในโลก (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2545 หน้า21)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบยีนแบคทีเรียในดินจีน-อเมริกาเหนือฆ่ามะเร็งได้

วันที่ 15 สิงหาคม เอเอฟพีรายงานอ้างนิตยสารไซเอ็นซ์ระบุว่า ยีนพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรียที่พบในดินแดนจากประเทศจีนและอเมริกาเหนือ มีคุณสมบัติที่สามารถฆ่าเชื้อมะเร็งร้ายได้ ข่าวระบุว่า ทีมนักวิจัยได้ศึกษาแบคทีเรีย 2 ชนิดที่พบในดินที่ได้จากจีนและอเมริกาเหนือ ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกัน พบว่ายีนของแบคทีเรียชนิดนี้ได้ผลิตโมเลกุลที่มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ การค้นพบนี้สามารถนำไปสู่การผลิตสารเคมีที่เรียกว่า เอ็นเนดิอายเนส สารพิษธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองจากการผลิตของเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของมันมีความซับซ้อนยากแก่การสังเคราะห์ แต่ทีมของนักวิจัยเชื่อว่ายีนของแบคทีเรียชนิดดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้มากกว่ายาต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งวางขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้หลายพันเท่า (มติชน ศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2545 หน้า 10)





นักวิจัยสหรัฐพัฒนาวัคซีนป้องกันติดเอดส์

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 ส.ค.) ว่า คณะนักวิจัยจากสถาบันไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ของสหรัฐ กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชไอวี ดร.โรเบิร์ท กัลโล หัวหน้าสถาบันซึ่งเคยมีส่วนร่วมในการค้นพบโรคเอดส์ กล่าวว่า คณะนักวิจัยสามารถสร้างแอนติบอดี้ ที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้หลายชนิด รวมถึงเชื้อไวรัสเอชไอวีหลายสายพันธุ์ ดร.กัลโล กล่าวว่า ลิงที่ได้รับการฉีดวัคซีน จะสร้างแอนติบอดี้ หรือโปรตีนที่มีสรรพคุณทำลายเชื้อโรคหลายชนิด รวมถึงไวรัสเอชไอวี สายพันธุ์ เอ บี ซี ดี และอี ซึ่งครอบคลุมประชากรแทบทุกกลุ่ม (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 21 สิงหาคม 2545 หน้า 28)





ไทยจับมือกับสิงคโปร์ร่วมวิจัยอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์

นายดำริ สุโขธนัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับยานยนต์ระหว่างไทย-สิงคโปร์ ว่า ผู้ประกอบการรถยนต์และชิ้นส่วนของสองประเทศมีแผนจะร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น โดยจะพัฒนาการผลิต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อส่งออกหลังพบว่าความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับรถยนต์ทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์มาก จึงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในการผลิตอุตสาหกรรมด้านนี้ เพราะเทคโนโลยีการผลิตสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ของสิงคโปร์ เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2545 หน้า 15)





เทคนิควิเศษช่วยผู้ป่วยอัมพาตใช้เซลล์จมูกฉีดในกระดูกสันหลัง

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.อลัน แมคคีสลิม แห่งมหาวิทยาลัยบริสเบนกับทีม เชื่อมั่นว่าวิธีการใช้เซลล์จากในจมูก สามารถเอามารักษาผู้เป็นอัมพาตได้ผลขึ้นได้ เขาเชื่อว่าเซลล์ในจมูกที่ฉีดเข้าไปในกระดูกสันหลัง จะไปกระตุ้นให้เซลล์ประสาทไขสันหลังกลับงอกใหม่ขึ้นได้อีก ซึ่งปกติแล้วใยประสาทกระดูกสันหลังที่ขาดไปแล้ว จะไม่กลับงอกต่อติดใหม่ได้อีก (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2545 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


เตือนผู้บริโภคระวัง!ตกเป็น ‘เหยื่อ’ แนะคาถาสร้างสุขภาพด้วยตนเอง

น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สุขภาพไม่ได้หมายถึงภาวะที่มีโรคเท่านั้น แต่จะหมายถึงภาวะแห่งความสุขที่เกิดมาจากกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้สิ่งที่กระทบต่ต่อสุขภาพจะมาจากภัยใกล้ตัว เช่น พันธุกรรม ปัญหาสุขภาพที่ใหญ่มากขณะนี้คือการถูกมอมเมาให้เชื่อในวัตถุนิยม และบริโภคนิยม ฝ่ายแพทย์ผู้รักษาบางท่าน มีนายทุนต่างชาติมอมเมาโดยการออกค่าใช้จ่ายให้ไปประชุมต่างประเทศ จิตสำนึกของแพทย์รู้สึกว่าตนเป็นหนี้ จึงทดแทนด้วยการสั่งซื้อยา และเครื่องมือแพทย์ แล้วนำมาใช้กับคนไข้ ขณะที่คนไข้ก็เชื่อหมอต้องจ่ายเงินเป็นค่ายาและเครื่องมือแพทย์จำนวนมาก ประชาชนจึงต้องมีการพิจารณาอย่าเชื่อถือผู้ใดโดยง่าย ต้องมีการปฏิบัติให้เห็นผลประสบกับตนเองเสียก่อนว่ามีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร สุขภาพที่ดีต้องเกิดจากการเรียนรู้อย่างถูกต้อง “ฉลาดซื้อก็คือการไม่ซื้อ” “กลยุทธ์การขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็เพื่อโน้มน้าวใจให้หลงเชื่อ เป็นการมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น การต่อต้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เข้ามามีบทบาทในสังคมนั้น ควรใช้การพึ่งพาตนเองเกิดความรู้เห็นโทษของผลิตภัณฑ์ที่ไร้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่าเพศหญิงได้ให้ความสนใจต่อผลิตภัณฑ์และบริการมากกว่าชาย เพราะฝ่ายหญิงเป็นผู้ดูแลครอบครัว ดังนั้นถ้าสตรีฉลาดซื้อลูกหลานก็จะไม่ถูกหลอก” น.พ.สันต์กล่าว (มติชน จันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2545 หน้า 18)





‘ปราบดา หยุ่น’ คว้าซีไรต์ ‘ความน่าจะเป็น’

คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) มีมติให้รวมเรื่องสั้นชุด ‘ความน่าจะเป็น’ ผลงานของ ‘ปราบดา หยุ่น’ ได้รับรางวัลชนะเลิศซีไรต์ ประจำปี 2545 ด้วยเอกลักษณ์การเขียนเฉพาะตัว แปลกใหม่สร้างสรรค์สะท้อนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2545 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215