หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 35 ประจำวันที่ 2002-10-01

ข่าวการศึกษา

ม.รังสิตปลื้ม ขึ้นทำเนียบสิ่งประดิษฐ์ 45
สจพ.สร้างบทเรียนลูกคิดญี่ปุ่น จากคอมพิวเตอร์
ทบวงฯได้แนวคิดอังกฤษทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม
ทบวงฯแจงสูตร “แอดมิชชั่นส์”
“วรเดช” รับหารือกฤษฎีกา ตีความอำนาจ “ผู้บริหาร ม.”
มธ.ย้ายที่เรียนลงตัวแล้ว น.ศ. 85% ขออยู่ศูนย์รังสิต
“ศึกษาสงเคราะห์อำนาจฯ” ปฏิรูป กศ. หนุน ร.ร.-ชุมชนเรียนรู้อนุรักษ์ทำนา
เน้นความเป็นผู้นำผลิตบัณฑิต
เช้าวันเสาร์กับ สสวท.
เปิด ป.โทผู้ประเมินภายนอก
ลุ้น ครม.อนุมัติงบฯหนุนบัณฑิต
นิติ มธ.รับตรง
อมธ.มึนข้อมูลเรียนรังสิตสับสน
สคศท.เตรียมหาข้อสรุปลุยปรับ 2 ร่าง พ.ร.บ.ครู

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ขยะสินค้าไฮเทค
เลเซอร์กับภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย
ปลุกวงการวิทย์เน้น “บุคลากร” เลิกหวังพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติ
3 ประสารคิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพร-ลดน้ำหนัก
ตึกกสิกรไทยสำนักงานใหญ่รับรางวัลอาคารด้านการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น
อินเดียยิงดาวเทียมขึ้นฟ้า ตรวจอากาศ-ส่งข้อมูลไฮเทค
พบลึงค์ดึกดำบรรพ์ 100 ล้านปีเก่าแก่เป็นที่สุดของสิ่งมีชีวิตโลก
“ไพรัช” ชี้กระทรวงไอทีลดช่องว่างดิจิตอล-คนจน
รู้จักกินเพื่อหาความสุขใส่ตัวน้ำตาลหวานเชื้อความเครียด

ข่าววิจัย/พัฒนา

อากาศยานไร้คนขนาดเล็ก ผลงานเด่น ของนิสิต ม.เกษตร
วิจัยผักพืชสวนหลังเก็บเกี่ยว ลดปัญหา “เหี่ยวเฉา”ก่อนส่งออก
วิจัย “ฝุ่นกทม.” เสี่ยงโรคหัวใจ พิษทำคนกรุงตายก่อนกำหนด
ผลวิจัยชี้แค่รับควันบุหรี่มีสิทธิ์เป็นมะเร็งปอดสูง
งานวิจัยหญ้าหวานขึ้นโชว์เวทีอินเตอร์
ฝุ่นกับหัวใจ

ข่าวทั่วไป

รฟม.เตรียมออกกฏคุมใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน
4 องค์กรบี้ อย. ลดกาเฟอีนเครื่องดื่ม
เตือน ม.รามฯ ระวังถูกฟ้อง! ลงโทษ “พานทองแท้”ลักลั่น
ชี้สร้างเขื่อนเยอะต้นเหตุ “น้ำท่วม”
ยาแก้ไอผสมโคเคอีนเข้ากทม.ระบาดมาจากชายแดนภาคใต้
ชี้เด็กสายตาสั้นเพิ่ม
ระดม 3 ศาสนาถกแปลงพันธุ์มนุษย์ผิดจริยธรรม





ข่าวการศึกษา


ม.รังสิตปลื้ม ขึ้นทำเนียบสิ่งประดิษฐ์ 45

อาจารย์ไพเวช วังบอน อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต สามารถคว้ารางวัลชมเชย จากผลงาน ชุด La Cage No.3 ที่ส่งเข้าประกวดในโครงการ “การเพิ่มผลผลิตด้วยภูมิปัญญานักประดิษฐ์ไทย” ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ส่งผลให้ขึ้นสู่ทำเนียบสิ่งประดิษฐ์ประจำปี 2545 ในประเภทอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไม้ La Cage No.3 เป็นโคมไฟสำหรับใช้ในบ้านและสำนักงาน ผลิตจากไม้ไผ่เส้นกลม (ไม้เสียบไก่ย่าง) ที่เหลือใช้จากการบริโภค ถูกทิ้งไว้กลายเป็นขยะ สร้างปัญหาในด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และมีราคาถูก นำมาผลิตด้วยกระบวนทัศน์แบบใหม่ ทำให้แตกต่างจากรูปแบบงานเดิมๆ เกิดมุมมองใหม่ๆ น้ำหนักเบา ประหยัดวัสดุ และสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกสุราไทย รับรางวัลจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดงานเทศกาลสุราแช่ไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 7)





สจพ.สร้างบทเรียนลูกคิดญี่ปุ่น จากคอมพิวเตอร์

บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบลูกคิดเรื่องการใช้ลูกคิดญี่ปุ่น เป็นผลงานของนาย จักราวัฒน์ มุ่งสุข นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) โดยมีอาจารย์คมกฤช สินธนะกุล และอาจารย์สมคิด แซ่หลี เป็นที่ปรึกษาโครงการ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประกอบลูกคิดเรื่องการใช้ลูกคิดญี่ปุ่น ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ชุดลูกคิดอินเตอร์เฟส ซึ่งเป็นชุดลูกคิดแบบญี่ปุ่น ขนาด 5x11 แถว ทำการอินเตอร์เฟสกับคอมพิวเตอร์ สำหรับทำแบบทดสอบท้ายบทเรียนและการ์ดอินเตอร์เฟสทำการเชื่อมต่อชุดลูกคิดกับคอมพิวเตอร์ผ่านทาง Slot ISA โดยโปรแกรมจะใช้ต่อเข้ากับตำแหน่งของลูกคิดจริงเป็นคำตอบในการทำแบบทดสอบซึ่งตำแหน่งและค่าของลูกคิดจะถูกแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วย และจะแสดงผลคะแนนของบททดสอบบนจอคอมพิวเตอร์ เมื่อสิ้นสุดการทดสอบแล้ว ที่สำคัญก็คือ บทเรียนจะมีการโต้-ตอบระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนตลอดเวลา และใช้คอมพิวเตอร์ความเร็วขั้นต่ำ 266 MHZ หน่วยความจำ 64 MB มีการ์ดเสียง ลำโพง และมี Slot ISA และการใช้งานของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนส่วนใหญ่จะหนักไปทางการเรียนด้วยตนเองมากกว่า (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2545 หน้า 7)





ทบวงฯได้แนวคิดอังกฤษทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากการที่ได้ร่วมเดินทางไป สหราชอาณาจักรกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ HEFCE หรือสถาบันเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานการศึกษาของสหราชอาณาจักร เพื่อทำความตกลงในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ เช่น การพัฒนา e-edu-cation สหกิจศึกษา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และได้เดินทางไปดูกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อมโยงระบบข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกผ่านสถานทูตของอังกฤษเพื่อที่จะนำข้อมูลด้านอุตสาหกรรม และการค้าเหล่านี้ไปบอกกับภาคธุรกิจเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 หน้า 14)





ทบวงฯแจงสูตร “แอดมิชชั่นส์”

ที่โรงแรมเชียงใหม่ พลาซ่า จ.เชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดประชาพิจารณ์กลุ่มผู้แทนนักเรียน ผู้ปกครอง และครูโรงเรียนมัธยม ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประมาณ 200 คน เกี่ยวกับวิธีคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่ หรือ “แอดมิชชั่นส์” ทั้งนี้ นางอุทุมพร จามรมาร อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบเอนทรานซ์รูปแบบใหม่นี้จะพิจารณาจากผลการเรียนระดับ ม.ปลาย โดยคิดจากค่า GPA 5% อีก 15% เป็นพัฒนาการของผู้เรียน การร่วมกิจกรรม รวม 25% ส่วนองค์ประกอบที่เหลือให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้พิจารณากำหนดเองรวม 75% และขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2548 หรือ 2549 ซึ่งจากผลการประชาพิจารณ์ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งที่ผ่านมาพบว่า 50% ต้องการให้ใช้ในปี 2549 มี 41% ต้องการให้ใช้ปี 2548และมี 73% ที่เห็นด้วยกับการใช้ผลการเรียนระดับม.ปลายรวม 25% เห็นด้วยกับการใช้ GPA 5% มี 60% และเห็นด้วยกับการใช้ PR 5% มี 40% นางอารีรัตน์ วัฒนสิน รองอธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการได้เตรียมทำทรานสคิปโดยบอกเกรดเป็นรายวิขา พร้อมการรวมคะแนนเป็นกลุ่มวิชาเพื่อให้ทราบว่า นักเรียนมีความรู้ความสามารถในด้านใดบ้าง ส่วนอีก 15% จะระบุผลงานของผู้เรียนอย่างชัดเจน ทั้งด้านวิชาการและการสร้างสรรค์สังคม (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 หน้า 7)





“วรเดช” รับหารือกฤษฎีกา ตีความอำนาจ “ผู้บริหาร ม.”

น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) และประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เปิดเผยว่า ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เข้าพบนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อหารือกรณีไม่เห็นด้วยกับนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ทั้งนี้ ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้แจ้งกับ ร.ต.อ.วรเดชว่า ขณะนี้สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้เห็นด้วยกับสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เกี่ยวกับสถานภาพบุคลากรที่กำหนดให้เป็นข้าราชการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่ง ร.ต.อ.วรเดชชี้แจงว่ากรณีของร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลที่ส่งให้ทบวงฯแล้ว ทางทบวงฯไม่สามารถแก้ไขให้ได้ ถ้าต้องการแก้ไขจะต้องหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอง (มติชนรายวัน วันพุธที่ 18 กันยายน 2545 หน้า 20)





มธ.ย้ายที่เรียนลงตัวแล้ว น.ศ. 85% ขออยู่ศูนย์รังสิต

นายนริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับการย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีไปที่ มธ.ศูนย์รังสิตว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ.ศ.ม.ธ.) ได้สำรวจประชามติจากนักศึกษา มธ.ทั้งหมดปรากฏว่า 85% อยากเรียนที่ มธ.ศูนย์รังสิตมากกว่า 2 ปีขึ้นไป มีเพียง 15% ที่อยากให้เรียนที่ศูนย์รังสิต 1ปี และเรียนที่ท่าพระจันทร์ 3 ปี ซึ่งตนรู้สึกดีใจมากที่นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสภา มธ. อย่างไรก็ตาม สภา มธ.เห็นว่า เพื่อให้ทุกอย่างพร้อมมากขึ้นจะคงรูปแบบให้นักศึกษาปี 1-2 เรียนที่ศูนย์รังสิต และปี 3-4 เรียนที่ท่าพระจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีมติว่าในช่วง 1 ปีนี้ให้คณะต่างๆ เปิดวิชาโทให้นักศึกษานอกคณะลงทะเบียนเรียนให้เต็ม ให้คณะจัดวิชาชั้นปี 2 มากขึ้น ส่งเสริมการเรียนผ่านทางไกลระหว่างศูนย์รังสิตและท่าพระจันทร์ ฉะนั้น นักศึกษาปี 3 จะเรียนที่ศูนย์รังสิตหรือท่าพระพระจันทร์ก็ได้ โดยให้คณะต่างๆ ทำแผนการใช้พื้นที่ที่ท่าพระจันทร์ เตรียมอาจารย์และเตรียมความพร้อมที่ศูนย์รังสิตมากขึ้น โดยเฉพาะหอพัก เพราะขณะนี้มีนักศึกษาอยู่ 90% (มติชนรายวัน วันพุธที่ 18 กันยายน 2545 หน้า 20)





“ศึกษาสงเคราะห์อำนาจฯ” ปฏิรูป กศ. หนุน ร.ร.-ชุมชนเรียนรู้อนุรักษ์ทำนา

นายสมทบ ถีระพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนจะรับนักเรียนด้อยโอกาสทางการศึกษา 10 ประเภท จากเขต จ.อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มุกดาหาร และยโสธร โดยเข้ารับการศึกษาแบบสงเคราะห์ และอยู่ประจำชั้น ป.1-ม.6 ซึ่งนักเรียนแต่ละคนมาจากหลายพื้นที่ มีความเป็นอยู่ฐานะทางครอบครัว ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนไม่เคยทำนา หรือเห็นการทำนามาก่อน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักเรียน ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำนาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ และวิถีชีวิตแบบชนบท โดยมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ปรับพฤติกรรมเข้าหาเพื่อน ครู และอื่นๆ ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการ “โรงเรียน –ชุมชนทำนาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ” ขึ้นบนพื้นที่ราชพัสดุ หลังศูนย์ราชการ บริเวณศาลากลางจังหวัด จำนวน 100 ไร่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงเดือนธันวาคม 2545 มีนักเรียนของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อำนาจเจริญ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 600 คน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 17 กันยายน 2545 หน้า 21)





เน้นความเป็นผู้นำผลิตบัณฑิต

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวเปิดสัมมนาทางวิชาการ เรื่องสาขาวิชาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศในช่วง 5-15 ปีข้างหน้าว่า โครงการเร่งรัดการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาขาดแคลนที่ทบวงฯ กำหนดเป้าหมายรับนักศึกษาใน 14 สาขาวิชา รวม 63,543 คน เพิ่มจากการรับนักศึกษาปกติ 54.06% ขณะนี้สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และทันตแพทย์ศาสตร์ครบระยะเวลากำหนดโครงการแล้ว ส่วนสาขาแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร อัญมณีและเครื่องประดับ สหเวชศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ยังมีนักศึกษาอยู่ระหว่างศึกษา สำหรับสาขาที่ยังเปิดรับนักศึกษาใหม่ในปีงบประมาณ 2545 มี 5 สาขาวิชา ได้แก่ สัตวแพทย์ เภสัชศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ การผลิตบัณฑิตทุกสาขาวิชาต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่ควรตระหนักคือการสร้างความเป็นผู้นำ มีความสามารถในการบริหารจัดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ ดังนั้นควรปรับยุทธศาสตร์ในการผลิตบัณฑิตโดยเน้นที่สหวิชาการ นำสาขาวิชาการต่างๆ เชื่อมโยงกัน และบริหารจัดการควบคู่ไปกับการเรียนในสาขาวิชาต่างๆ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 15)





เช้าวันเสาร์กับ สสวท.

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท.ได้เปิดช่องทางให้ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาความรู้ด้วยตัวเองตามอัธยาศัย โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมช่อง 14 จัดทำรายการ “เช้าวันเสาร์กับ สสวท.” ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-12.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ช่อง 14 สถานศึกษาหรือบ้านเรือนที่มีจานรับสัญญาณดาวเทียม สามารถติดตามรับชมรายการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดหรือตารางออกอากาศล่วงหน้าได้ที่เว็บไซด์ สสวท. WWW.IPST.AC.TH (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 15)





เปิด ป.โทผู้ประเมินภายนอก

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เผยว่า ขณะนี้ สมศ.ได้ให้การรับรองผู้ประเมินภายนอกไปแล้วกว่า 900 คน และคาดว่าในปีนี้จะอบรมได้จำนวน 15 รุ่น ขณะเดียวกันคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ 44 แห่งตอบรับที่จะเป็นหน่วยประเมินภายนอกแล้ว นอกจากนี้ สมศ.ยังวางแผนที่จะรับรองหลักสูตรปริญญาโทด้านการประเมินภายนอกสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ทำหลักสูตรดังกล่าวแล้ว อาทิ มศว ประสานมิตร ม.นเรศวร ม.สงขลานครินทร์ จุฬาฯ ซึ่งสมศ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาและรับรองหลักสูตร และหากบัณฑิตจบหลักสูตรดังกล่าวก็จะได้รับใบอนุญาตผู้ประเมินภายนอกจาก สมศ.ทำหน้าที่ผู้ประเมินภายนอกได้ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 15)





ลุ้น ครม.อนุมัติงบฯหนุนบัณฑิต

ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ ในฐานเลขานุการอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เปิดเผยถึงโครงการบัณฑิตกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองว่าขณะนี้ได้เตรียมการดำเนินงานในขั้นตอนที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งและยั่งยืน ให้แก่หมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยจะจัดสอบคัดเลือกบัณฑิตที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตรการจัดการและการประเมินโครงการในปีนี้ เพื่อเข้ารับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท 7,040 ทุน บัณฑิตที่ได้รับทุนจะต้องทำหน้าที่วิจัยพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำผลวิจัยมาพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง โดยรัฐจะจัดงบฯในการวิจัยให้แก่บัณฑิตคนละ 84,480 บาท/ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 800 กว่าล้านบาท รองเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ กล่าวอีกว่า ส่วนบัณฑิตที่จบการศึกษาแล้ว แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนในระดับปริญญาโท ทางคณะอนุกรรมการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ได้เตรียมจัดการประชุมสัมมนา เพื่อให้เกิดแนวคิดในการประกอบอาชีพอิสระ หรือธุรกิจขนาดย่อม (SME) โดยจะร่วมกับสถาบันราชภัฏ (รภ.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บัณฑิตกลุ่มดังกล่าว ตลอดจนช่วยสนับสนุนเรื่องงบฯในการลงทุนด้วย โดยคาดว่าจะต้องใช้งบฯในการดำเนินโครงการดังกล่าวประมาณ 30 กว่าล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพฯได้เสนอทั้ง 2 เรื่อง เพื่อ บรรจุเข้าเป็นวาระให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาไว้แล้ว ซึ่งตนเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก ครม.อย่างแน่นอน (ไทยรัฐ พุธที่ 18 กันยายน 2545 หน้า 15)





นิติ มธ.รับตรง

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เผยว่า ในปีการศึกษา 2546 คณะนิติศาสตร์ จะรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาคปกติเข้าศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต จำนวน 500 คน แบ่งการรับเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกรับผ่านระบบการสอบเอ็นทรานซ์ 375 คน ส่วนที่สองรับสมัครโดยตรง ในโครงการส่งเสริมการศึกษาวิชานิติศาสตร์ 125 คน โดยจะรับสมัครนักเรียนชั้นม.6 ทุกสายที่มีผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.00 เป็นต้นไป รับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ กำหนดการทดสอบความรู้ข้อเขียนเพื่อคัดเลือกในวันที่ 2 พ.ย. นักเรียนที่สนใจสอบถามรายละเอียดที่ฝ่ายแนะแนวโรงเรียนหรือที่ http:// www.regofc.tu.ac.th,www.tu.ac.th หรือ โทร.0-2986-9086 เลือก Hotnews กด 1 การรับนักเรียนในโครงการนี้ จะมีการสอบความสามารถทางวิชาการ สอบความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายและความสามารถในการใช้กฎหมาย และการสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และถ่ายทอดความคิดด้วยการเขียนเรียงความและการย่อความ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 15)





อมธ.มึนข้อมูลเรียนรังสิตสับสน

นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ชี้แจงกรณีที่ รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร อธิการบดี มธ. ระบุว่า ผลสำรวจของ อมธ.ชี้ว่า นักศึกษา มธ. 85% เห็นด้วยที่จะย้ายไปเรียนที่ มธ.ศูนย์รังสิตมากกว่า 2 ปีว่า ข้อมูลที่อธิการบดี มธ.ระบุ ไม่ตรงกับข้อมูลที่ อมธ.สำรวจและนำเสนอต่ออธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย ซึ่งความจริงแล้วความคิดเห็นของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยเห็นว่า ควรเรียนที่ มธ.ท่าพระจันทร์ 2 ปี และศูนย์รังสิต 2 ปี จำนวน 48.59% ควรศึกษาที่รังสิต 1 ปี ที่ท่าพระจันทร์ 3 ปี มี 24.81% ส่วนที่เห็นด้วยที่จะเรียนที่รังสิต 4 ปี มีเพียง 13.7% และจำนวน 77.29% เห็นว่ารังสิตยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น ข้อมูลของอธิการบดีคงไม่ถูกต้อง และไม่อยากให้นักศึกษาทุกคนเกิดความสับสน (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 15)





สคศท.เตรียมหาข้อสรุปลุยปรับ 2 ร่าง พ.ร.บ.ครู

รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุม สคศท.ว่า ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรที่มีนายจำลอง ครุฑขุนทด เป็นประธานนั้น ทาง สคศท.จะเร่งหาข้อสรุปเสนอแนะในบางประเด็น ที่คิดว่าน่าจะปรับเปลี่ยน เพราะทั้ง 2 ร่างเกี่ยวข้องกับ สคศท.มาก นายสมเชาวษ์ เกษประทุม กรรมการคณะกรรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวว่า เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.สถานศึกษาเอกชนน่าจะเป็นร่างสุดท้ายที่เกิดขึ้น เพราะจนขณะนี้ก็ยังถกเถียงจนเป็นปัญหาโลกแตกโดยเฉพาะสถานศึกษาอาชีวเอกชนก็ยังไม่รู้จะอยู่ในส่วนไหน ส่วนที่นายจำลองเสนอว่าครูอนุบาลเอกชนไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น ถือว่าขัดกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้ครูที่ทำหน้าที่การสอนและอบรมเป็นหลักต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู นอกจากนี้ จากการที่ได้พูดคุยกับศึกษานิเทศก์ (ศน.) สังกัดกรมพลศึกษา ที่กำลังจะเป็นกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว เดิมศน.เหล่านี้จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่เมื่อต้องแยกสังกัดก็เป็นห่วงถึงงานที่จะดำเนินการ และเมื่อ ศน.เหล่านั้นจะขอย้ายมาอยู่ในสังกัด ศธ.ก็ให้ย้ายตัวแต่ไม่ให้ตำแหน่ง ซึ่งกำลังเป็นปัญหา รวมไปถึงกระทรวงวัฒนธรรม ที่ต้องดูแลวิทยาลัยนาฏศิลป์ วิทยาลัยช่างศิลป์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งไม่รู้ว่าจะรองรับเด็กจากส่วนไหนนอกจากในสังกัดตัวเอง (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ขยะสินค้าไฮเทค

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐประมาณการว่า นับจากนี้เป็นต้นไป เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ตามบ้าน ตามสำนักงานต่างๆ จะมีอายุการใช้งานสั้นลงซึ่งจากเดิมที่กว่าจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็หลังจากใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ด้วยเหตุผลคือ สินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ราคาแพงมาก แต่ในปัจจุบันกลับตรงกันข้าม คือ เทคโนโลยีพัฒนาล้ำหน้าไปเรื่อยๆ มีแรงซื้อมาก มีกำลังผลิตมาก ราคาก็ถูกลงมากเช่นกัน อายุการใช้งานของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะสั้นลง ต่อไปนี้ผู้คนจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 2-5 ปี ก็เปลี่ยนกันแล้ว หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ตอนนี้ผู้คนที่พกโทรศัพท์มือถือใน 1 คน ส่วนใหญ่จะมีมากว่า 1 เครื่อง เพื่อรองรับเทคโนโลยีให้ทัน และด้วยเหตุผลด้านราคาด้วย ดังนั้นจึงมีการประมาณการณ์ว่าในสิ้นปีนี้เมืองไทยจะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ประมาณ 15-18 ล้านเครื่อง รวมทั้งเครื่องเก่าและเครื่องใหม่ และหากกลายเป็นขยะ แล้วขยะเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน องค์กรสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาคำนวณออกมาว่า สิ้นปีนี้เฉพาะในประเทศของเขาเองจะมีขยะจากสินค้าไฮเทคเหล่านี้มากถึง 3 ล้านตัน และในจำนวนนี้จะถูกส่งไปกำจัดในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนถึงร้อยละ 80 สาเหตุที่ต้องส่งขยะเหล่านี้ออกนอกประเทศ เพราะเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าทำลายในประเทศ ขยะสินค้าไฮเทคเหล่านี้ ก็มีพ่อค้าหัวใสนำมาขายต่อเป็นสินค้ามือสองกระจัดกระจายไปยังประเทศอื่นต่อไป (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2545 หน้า 7)





เลเซอร์กับภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย

เทคโนโลยีอันหนึ่งที่มีการคิดค้นและพัฒนากันมากกว่ายี่สิบปีและกำลังหวนกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของกองทัพสหรัฐนั้นก็คือการใช้เลเซอร์มาเป็นตัวตรวจจับและวิเคราะห์สสารเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่วิเคราะห์ได้นั้นเป็นชนิดใดและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่ แน่นอนที่สุดว่าในชั่วระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที ระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมีชื่อว่า LIBS(Laser-Inducted Breakdown Spetroscopy) สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่การระเบิดว่าเป็นการระเบิดจากวัสดุประเภทใด สารเคมีหรือก๊าซพิษต่างๆ รวมไปถึงเชื้อโรคอย่างเช่นแบคทีเรียได้ และถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีแล้วระบบ LIBS นี้ สามารถตรวจจับและวิเคราะห์สสารได้แทบทุกชนิดเลยทีเดียว (เดลินิวส์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2545 หน้า 16)





ปลุกวงการวิทย์เน้น “บุคลากร” เลิกหวังพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติ

นายวิโรจน์ ตันตราภรณ์ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ก็คือ ต้องมีบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง จึงจะสามารถต่อยอดสิ่งที่มีอยู่จนสร้างนวัตกรรมขึ้นได้เอง อย่างไรก็ตาม จากการประเมินประเมินของไอเอ็มดีในปีล่าสุดยังพบว่าคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทยนั้น กลุ่มทำคะแนน 500-600 ได้ยังเลือกคณะแพทยศาสตร์ กลุ่มวิศวกรรมตกมาต่ำกว่า 400 กลุ่มอาชีพครูประมาณ 200 แต่ผู้เลือกสาขาฟิสิกส์เป็นผู้ที่มีคะแนนสอบต่ำลงไปถึง 126 ซึ่งนับเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงการลงดิ่งสุดสำหรับประเทศใน 20 ปีข้างหน้า หากผู้วางแผนของชาติยังไม่มีวิสัยทัศน์หรือ รู้สึกตระหนักในปัจจุบันพอที่จะเริ่มแก้ไขกันอย่างจริงจัง (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 18)





3 ประสารคิดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพร-ลดน้ำหนัก

น.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสมุนไพรไทยว่า องค์การเภสัชกรรมร่วมมือกับสถาบันการแพทย์แผนไทยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกันคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสมุนไพรไทย เพื่อเป็นการลดการนำเข้าของวัตถุดิบหรือการสั่งยาจากต่างประเทศ น.พ.ธงชัยกล่าวอีกว่า “ อาหารเสริมขมิ้นชันสูตรใหม่ที่กำลังจะวางขายในเดือนตุลาคมที่จะมาถึงนี้ มีลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบ โดยมีสารวิตามินธรรมชาติ ตัวยาเข้มข้นมากถึง 80% ซึ่งมีสารวิตามินอีแรงกว่าสารวิตามินอีสังเคราะห์ที่ประชาชนทั่วไปนิยมรับประทานกันอยู่ มีสรรพคุณช่วยในเรื่องของผิวพรรณและบำรุงความงาม อีกทั้งในขมิ้นชันยังมีสารป้องกันการเกิดมะเร็งอีกด้วย ในเวลาต่อไปจะมีการจำหน่ายในรูปของสารสกัดเพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่สนใจสามารถนำไปผลิตใช้ได้ ซึ่งในตอนนี้ได้วางแผนหารือกับกระทรวงเกษตรฯและกรมป่าไม้ เพื่อที่จะนำความรู้ไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านปลูกขมิ้นชันและขายต่อให้กับองค์การเภสัชฯใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยที่ทางกรมป่าไม้มีส่วนในการจัดสรรพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ ให้ชาวบ้านปลูกขมิ้นชันได้ ถือเป็นการสร้างรายได้ทางหนึ่งให้กับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์แห่งชาติที่ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยกันผลิต ไม่ใช่ว่าองค์การเภสัชฯขายได้แล้วเงินจะเป็นขององค์การเภสัชแต่ผู้เดียว แต่จะกระจายไปให้กับเกษตรกรที่ปลูกขมิ้นขายด้วย นอกจากนี้ทางองค์การเภสัชฯประกาศรับซื้อขมิ้นชันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 17 กันยายน 2545 หน้า 18)





ตึกกสิกรไทยสำนักงานใหญ่รับรางวัลอาคารด้านการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น

นางสิริพร ไศละสูต อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน ร่วมจัดประกวดอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ประกวดบัลลาสต์แกนเหล็กประสิทธิภาพ และประกวด โครงการดีเด่นด้านพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนประจำปี 2545 เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐบาลและเอกชนแต่ละประเทศเห็นถึงความจำเป็นในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานนั้น ปรากฏว่าอาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ของไทย ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงานดีเด่น เพราะได้ออกแบบตัวตึกให้สามารถอนุรักษ์และประหยัดพลังงานอย่างมาก นอกจากนี้ยยังได้รับรางวัลดีเด่นการดูแลสิ่งแวดล้อมในอาคารอีกด้วย โดยอาคาร Chamgi General Hospital ของสิงคโปร์ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทอาคารใหม่และอาคารที่กำลังใช้งาน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 17 กันยายน 2545 หน้า 18)





อินเดียยิงดาวเทียมขึ้นฟ้า ตรวจอากาศ-ส่งข้อมูลไฮเทค

อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมตรวจสอบสภาพอากาศเป็นครั้งแรก รัฐบาลอินเดียหวังว่าดาวเทียมดังกล่าวจะช่วยทำนายการเกิดพายุไซโคลนและสภาพอากาศแปรปรวนอย่างแม่นยำมากขึ้น ดาวเทียมดังกล่าวมีชื่อว่า “เมตสาต” น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม องค์การวิจัยอวกาศอินเดียยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าจากฐานยิงในเมืองมัทราช ซึ่งจะเก็บข้อมูลด้านความเร็วลม ความชื้นของอากาศและอุณหภูมิ นอกจากนี้แล้วยังเป็นดาวเทียมสำหรับการสื่อสารโทรคมนาคมและการส่งกระจายเสียง นักวิทยาศาสตร์ในเมืองบังกาลอร์ กล่าวว่า การยิงดาวเทียมครั้งนี้เป็นนัยสำคัญของการบุกเบิกอวกาศครั้งแรกของอินเดีย เนื่องจากดาวเทียมที่ยิงขึ้นไปนั้นเข้าสู่วงโคจรระดับกลางที่เรียกว่า “จีโอสเตชั่นเนรี่ รานส์เฟอร์ ออร์บิต” โดยดาวเทียมจะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี มีจุดใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะ 250 กิโลเมตร และห่างจากโลกมากที่สุดที่ 36,000 กิโลเมตร การยิงดาวเทียม “เมตสาต” นั้นใช้จรวดที่แรงดันสูงโดยควบคุมการยิงและการโคจรจากศูนย์อวกาศ “ฮัสซัน” ห่างจากเมืองบังกาลอร์ 200 กิโลเมตร ทางการอินเดียยังเชื่อว่า ข้อมูลที่เก็บและส่งจากดาวเทียมเมตสาตจะเป็นข้อมูลคุณภาพสูงโดยเฉพาะภาพถ่ายด้านอุตุนิยมวิทยา และยังจะอีกช่องทางในการแสงผลกำไรจากตลาดการสื่อสารด้วยดาวเทียม (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 19)





พบลึงค์ดึกดำบรรพ์ 100 ล้านปีเก่าแก่เป็นที่สุดของสิ่งมีชีวิตโลก

เพิ่งขุดพบซากลึงค์ดึกดำบรรพ์ที่สุด อายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปีถือเป็นลึงค์เก่าแก่ที่สุดของโลก เป็นของสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในน้ำ พวกหอยและกุ้งดึกดำบรรพ์ ศาสตราจารย์ เดวิด สิเวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ รายงานในที่ประชุมของสมาคมวิทยาศาสตร์อังกฤษว่า ได้มีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในน้ำ มีเปลือกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ออสตาค็อด” มีสภาพสมบูรณ์อยู่ในสภาพเปลือกอ้า มีองคชาตอยู่ภายใน และไม่ใช่แค่เพียงอันเดียว หากแต่มีถึง 1 คู่ “เราคิดว่ามันคงวิวัฒนาการเปลี่ยนมาจากที่มีอยู่เดิมเป็นชุด ตัวเมียก็คงมีอวัยวะเพศคู่ด้วยเช่นกัน และมันคงต้องใช้เวลานานในการผสมพันธุ์กัน ตั้งแต่ 2-3 วินาที ไปจนถึง 2-3 นาที” ศาสตราจารย์กล่าวต่อไปว่า “เราเคยพิสูจน์กันมาว่า การมีเพศเกิดขึ้นเมื่อสัก 500 ล้านปีมานี้ เท่าที่ผมเคยได้ยิน ต้องถือว่าเป็นการพบลึงค์เก่าแก่ที่สุดไม่เคยได้ยินที่ไหนอีกว่าเก่ากว่าครั้งนี้” แม้ไดโนเสาร์จะเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ อายุเก่าแก่ประมาณ 100 ล้านปี แต่ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่เคยพบก็เป็นแต่กระดูก ไม่ใช่เนื้อเยื่ออ่อนๆ นักบรรพชีวินวิทยาผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “เขาเชื่อว่าสัตว์ที่ขุดพบดึกดำบรรพ์ของมันนี้ ต้องเป็นสัตว์จอมเจ้าชู้ด้วย มันมีขนาดตัวโตแค่ มม.แต่มีอสุจิยาวที่สุดเป็นอันดับสองในหมู่สัตว์ด้วยกัน ยาวตั้ง 10 มม. ยาวถึง 10 เท่าของตัวมันซึ่งมันจะต้องมีอวัยวะพิเศษ แบบสูบลมยางรถจักรยาน ถึงจะส่งตัวอสุจิของมันเข้าผสมกับตัวเมีย (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 7)





“ไพรัช” ชี้กระทรวงไอทีลดช่องว่างดิจิตอล-คนจน

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงผลดีของการจัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่า เนื่องจากการผลักดันกระทรวงไอซีทีที่ผ่านมา ประชาชนยังเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร และอาจจะมองในแง่ของธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ แต่รายละเอียดส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน โดยเฉพาะในแง่ของการลดช่องว่างทางสังคม ที่เรียกว่าช่องว่างทางดิจิตอล ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ จะช่วยยกระดับทางสังคมให้คนทุกกลุ่มไม่ตกยุค ด้านการศึกษา และการนำไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสสังคมนั้น การรับรู้ของสังคมยังน้อยมาก ซึ่งภายหลังมีกระทรวงไอซีทีขึ้นมาแล้ว งานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ เคยริเริ่มไว้แล้วบางเรื่อง และงานที่กำลังจะทำใหม่ก็น่าจะทำให้เกิดความชัดเจน และสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น สำหรับการบริหารจัดการนั้น หากสามารถผลักดันให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นได้ เชื่อว่าอนาคตจะแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสในการประมูลงาน เพราะการประมูลจะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการจัดประชาพิจารณ์ก็อาจให้โหวตผ่านระบบเครือข่ายที่เปิดขึ้นก็ได้ ซึ่งกระทรวงไอซีทีจะต้องประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่อกระทรวงหรือแม้แต่การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในเรื่องน้ำท่วม ที่ปัจจุบันยังไม่เป็นระบบ นายกรัฐมนตรีก็ได้เน้นย้ำ ดังนั้น ประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงจากกระทรวงไอซีที อย่างแน่นอน (ไทยรัฐ พุธที่ 18 กันยายน 2545 หน้า 15)





รู้จักกินเพื่อหาความสุขใส่ตัวน้ำตาลหวานเชื้อความเครียด

นักวิจัยพบว่าการกินก็สามารถสร้างความสุขให้เราได้ หากรู้จักเลือกอาหารการกินให้ถูก ก็ช่วยทำให้เรารู้สึกเป็นสุข มีสุขภาพจิตดีขึ้นได้ อาหารที่ถือว่ากินแล้วสร้างความเครียด กลุ่มตัวอย่าง 80% ระบุว่าเป็นน้ำตาล 79% ว่าเป็นกาแฟ 55% ถือว่าเป็นพวกเหล้ายา และ 53% ระบุว่าเป็นช็อกโกแลตส่วนอาหารที่พวกเขาเห็นว่า กินแล้วช่วยให้จิตใจดีขึ้น 80% ระบุว่าได้แก่ น้ำดื่ม รองลงมาได้แก่ผลไม้และน้ำมันปลา และบอกด้วยว่า ควรกินอาหารเช้าเป็นประจำ ก็มีส่วนทำให้จิตใจสบายเช่นกัน ทางด้านสมาคมโภชนาการ ดร.เวนดี้ ดอยล์ กล่าวว่า สมาคมเห็นว่าผักผลไม้และน้ำมันปลาเป็นอาหารบำรุงร่างกายและจิตใจ นอกนั้นควรจะดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำไว้ด้วย พร้อมกับเสริมว่า คนเราจะมีความสุข หากว่ากินอาหารที่เป็นประโยชน์และได้ออกกำลังกาย(ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 20 กันยายน 2545 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


อากาศยานไร้คนขนาดเล็ก ผลงานเด่น ของนิสิต ม.เกษตร

ผลงานการศึกษาและออกแบบสร้างอากาศยานไร้คนขนาดเล็ก (Micro Aeril Vehilec-MAV) ของนางสาวสิรินทร์ เรืองดิษฐ์ และนายศริยศ ธรรมกุล 2 นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 13 ผลงานทางสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านการคัดเลือกระดับภูมิภาคในส่วนของภาคกลาง ในการแข่งขันโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2545 (Thailand Innovation Award 2002) และเข้าชิงชนะเลิศระดับประเทศ ในวันเทคโนโลยีไทย ในกลางเดือนตุลาคมนี้ ทั้ง 2 นิสิตวิศวกรรมการบินได้กล่าวถึงผลงานของตนเองว่าโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากต้องการศึกษาเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขนาดเล็กเพราะเห็นว่ามีประโยชน์มาก แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจน้อย ซึ่งอากาศยานไร้คนขนาดเล็กที่ออกแบบสร้างขึ้นนี้ มีขนาดเล็กมาก มีความกว้างของปีก (span) มีขนาดไม่เกิน 10 นิ้ว ขับเคลื่อนโดยใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน บังคับด้วยมือคนโดยติดตั้งกล้องรูเข็มบนเครื่อง และส่งสัญญาณภาพขณะบินเข้าสู่จอมอนิเตอร์ ทำให้สามารถติดตามการเคลื่อนไหวและบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ นอกจากการศึกษาแล้ว ทั้ง 2 คนยังหวังให้อากาศยานไร้คนขนาดเล็ก สามารถใช้สำหรับการลาดตระเวนในพื้นที่ที่ยากต่อมนุษย์ในการเข้าไปถึง เช่น การค้นหาผู้ประสบภัยเหตุไฟป่า ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ลาดตระเวนชายแดน หรือใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น โดยการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ แล้วแต่ภารกิจนั้น เช่น เครื่องบันทึกสัญญาณเสียง sensor วัดปริมาณก๊าซพิษในอากาศ กล้องอินฟราเรด ตรวจหาสิ่งมีชีวิต เป็นต้น (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2545 หน้า 7)





วิจัยผักพืชสวนหลังเก็บเกี่ยว ลดปัญหา “เหี่ยวเฉา”ก่อนส่งออก

ศ.ดร.สายชล เกตุษา อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ในฐานะเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2545 สนใจศึกษาเพื่อลดปัญหาการเหี่ยวเฉาก่อนส่งออก โดยพืชที่ศึกษาได้แก่ กล้วยไข่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน เงาะ กระเจี๊ยบ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ กล้วยไม้ และกุหลาบ เป็นต้น โดยศึกษาเกี่ยวกับสรีระและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของผลิตผลสดพืชสวนได้ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ การยืดอายุการใช้ประโยชน์ และลดความเสียหายของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว สำหรับขั้นตอนการวิจัยหลังการเก็บเกี่ยวต้องมีข้อมูลผลิตผลแต่ละชนิดเมื่อเก็บเกี่ยวมาแล้ว ได้เน้นการศึกษาของผลิตผลในเขตร้อนในประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้านการส่งออก เช่น ประเทศไทยส่งออกกล้วยไม้ตระกูลหวายเขตร้อนประมาณ 80% ของกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นยอดส่งออกที่มากที่สุดในโลกขณะนี้ (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 29)





วิจัย “ฝุ่นกทม.” เสี่ยงโรคหัวใจ พิษทำคนกรุงตายก่อนกำหนด

น.พ.สัมมน โฉมฉาย จากสาขาวิชาพิษวิทยาคลินิก และอาชีวเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ การป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องความแปรผันได้ของอัตราการเต้นของหัวใจและมลพิษที่เป็นฝุ่นของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งนี้จากทฤษฎีที่มีอยู่ว่า เมื่อฝุ่นเข้าไปสู่ร่างกายจะทำให้อวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องเกิดอาการอักเสบ ซึ่งการอักเสบนั้นก่อให้เกิดความเครียดขึ้น ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงพัฒนา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาและมลพิษใน กทม. ยังอยู่ในระดับที่เกินมาตรฐาน มีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นตลอดปีมากถึง 67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ค่ามาตรฐานรายปีเพียง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของ กทม.เกินมาตรฐานไปมากถึง 17 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพพบว่า หากปริมาตรฝุ่นเกินมาตรฐานเฉลี่ย 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผลให้ประชาชนตายก่อนวันอันควรจำนวน 700 คน/ปี ซึ่งกทม. มีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานมากถึง 17 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้นจะทำให้คนกทม.ประมาณ 1,400 คน ต้องตายก่อนวัยอันควร ทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของประชาชนต่อปัญหามลพิษมากถึง แสนล้านบาทต่อปี (มติชนรายวัน วันพุธที่ 18 กันยายน 2545 หน้า 18)





ผลวิจัยชี้แค่รับควันบุหรี่มีสิทธิ์เป็นมะเร็งปอดสูง

ผลวิจัยชี้ผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ที่ได้รับควันบุหรี่ในที่ทำงานเป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงถึง 3 เท่า ในขณะที่ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง 2 เท่า ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า จากรายงานการวิจัยของ ดร.ครูซเซอร์ แห่งสถาบัน The Institue of Radiation Hygiene ประเทศเยอรมนี ระบุว่า ผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ที่ทำงานร่วมกับคนสูบบุหรี่ในสำนักงาน จะมีโอกาสเสียงเป็นมะเร็งปอดสูงถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ทำงานในสำนักงานปลอดบุหรี่ ในขณะที่ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ประกิตกล่าวด้วยว่า มูลนิธิฯได้รับการร้องเรียนมากถึงเรื่องการสูบบุหรี่ในที่ทำงาน โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่ทำงานในสำนักงานที่มีผู้ชายค่อนข้างมากจะประสบปัญหาการสูบบุหรี่ในห้องทำงาน ทั้งๆที่ห้องทำงานต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่และไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ดังนั้น กฎหมายฉบับใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาบังคับใช้ โดยขยายพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในร้านอาหารและในสำนักงานทุกประเภทที่มีระบบปรับอากาศ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 24)





งานวิจัยหญ้าหวานขึ้นโชว์เวทีอินเตอร์

ผศ.ดร.ธมลวรรณ ส่วนอรุณสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า จากการได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และทบวงมหาวิทยาลัย ทำการวิจัยเรื่องผลของหญ้าหวาน และสติวิโอไซด์ต่อระดับน้ำตาลของเลือดหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน โดยทุน สกว.จะดูในเรื่องของกลไก และทุนทบวงฯจะดูเรื่องของผล หลังจากนั้นได้นำผลวิจัยมาประกอบกัน พบว่าหญ้าหวานมีคุณสมบัติพิเศษเพราะมีความหวานสูงประมาณ 300 เท่า สามารถใช้แทนน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูง และยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดน้ำตาลในเลือดได้ ขณะนี้งานวิจัยได้รับความสนใจมาก และในวันที่ 23-26 ก.ย.นี้ก็จะไปเสนอในงานประชุม FAOPS ที่มาเลเซีย (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 15)





ฝุ่นกับหัวใจ

นพ.สัมมน โฉมฉาย แพทย์สาขาวิชาพิษวิทยาคลินิกและอาชีวเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์การป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องความแปรผันได้ของอัตราการเต้นของหัวใจและมลพิษที่เป็นฝุ่นของประชากรในเขต กทม.ทั้งนี้ จากทฤษฎีจะพบว่าเมื่อฝุ่นเข้าไปสู่ร่างกาย จะทำให้อวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องเกิดอาการอักเสบ ซึ่งการอักเสบนั้นก่อให้เกิดความเครียดขึ้น และหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่สนองตอบกับความเครียดนั้นได้อย่างดี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าว่าปริมาณฝุ่นที่ร่างกายได้รับนั้น มีผลกับการเกิดโรคหัวใจโดยตรงหรือไม่ เป็นเพียงการศึกษาตามทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้เท่านั้น ทั้งการวิจัยก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีอาสาสมัครร่วมโครงการ 36 คน จากชุมชนดินแดงและฝั่งธนบุรี โดยทีมวิจัยจะเข้าไปตรวจสุขภาพ วัดอัตราการเต้นของหัวใจของคนที่เข้าร่วมโครงการและประเมินผล (ไทยรัฐ พุธที่ 18 กันยายน 2545 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


รฟม.เตรียมออกกฏคุมใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. อยู่ระหว่างร่างข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อออกข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่างๆ ในการใช้โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ) ซึ่งจะใกล้เคียงกับการใช้ระบบของบีทีเอส เช่น ห้ามรับประทานอาหารในรถ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงขึ้นรถ ห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทั่วๆไป ในส่วนของพื้นที่พัฒนาซึ่งบีเอ็มซีแอลดูแล เช่น การมีร้านค้าก็ต้องกำหนดประเภท เช่น ห้ามมีการประกอบอาหารเพราะจะมีกลิ่นควันรบกวน นอกจากนี้ยังห้ามวางถังขยะภายในตัวรถ และบริเวณสถานี ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ ซึ่งมีการกำหนดในต่างประเทศ เนื่องจากอาจจะมีการวางวัตถุอันตรายไว้ภายในถังขยะ เพื่อก่อเหตุร้ายต่างๆ เนื่องจากเป็นระบบใต้ดิน แม้จะมีระบบลำเลียงผู้โดยสารไว้อย่างรอบคอบและปลอดภัยแล้วแต่เพื่อความไม่ประมาณ รวมทั้งตรวจสอบดูแลในการวางสิ่งของตามจุดต่างๆ ให้มีความโปร่งที่สุดเพื่อง่ายในการตรวจสอบ เมื่อแล้วเสร็จต้องให้หน่วยงานด้านกฎหมายช่วยดูแลถ้อยคำ ซึ่งจะประกาศใช้ก่อนเปิดใช้โครงการ (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 36)





4 องค์กรบี้ อย. ลดกาเฟอีนเครื่องดื่ม

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีมติให้เพิ่มกาเฟอีนในเครื่องดื่มจาก 50 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เป็น 80 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตรนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ 4 องค์กร คือมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาสภาสตรีแห่งชาติ สมาคมพิทักษ์ประโยชน์ผู้บริโภคและมูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งได้ติดตามในเรื่องนี้มาโดยตลอด ไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เพราะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขควรที่ อย.จะได้ทบทวนเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รายงานการศึกษาของคณะกรรมการอาหารที่ได้ศึกษาไว้เกี่ยวกับกาเฟอีน สวนทางกับนโยบายกับการส่งเสริมสุขภาพของรัฐบาล จากสถิติคณะกรรมการกรรมการอาหารปี 2536 พบว่ามีผู้ที่ยอมรับว่าติดการบริโภคเครื่องดื่มผสมกาแฟอีนจำนวน 1.9 แสนคน และในปี 2543 จำนวน 1.7 แสนคน สมควรที่ อย.จะได้ทบทวนปริมาณกาเฟอีน และจะนำเหตุผลเรื่องการส่งออกมาอ้างไม่ได้ เพราะมาตรฐานนานาชาติก็ให้ใช้ไม่เกิน 32 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตรเท่านั้น ขณะเดียวกันควรมีการติดฉลากเตือนปริมาณกาแฟอีนเหมือนในยุโรป (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2545 หน้า 21)





เตือน ม.รามฯ ระวังถูกฟ้อง! ลงโทษ “พานทองแท้”ลักลั่น

นายวิวัฒน์ลัย กุลมาตย์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมที่ปรึกษามหาวิทยาลัย (ทปอ.) มร.มีมติกรณี นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทุจริตที่เอาคำตอบเข้าไปในห้องสอบวิชา PS 421 ว่า ผลการพิจารณาดังกล่าวอาจจะเสี่ยงที่ทางมหาวิทยาลัยจะถูกฟ้องจากนักศึกษาอีก 10 คน ที่ถูกตัดสินว่า ทุจริต ถูกปรับตกทุกวิชา และห้ามลงทะเบียนเรียนเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษาได้ หากมีการร้องกับสภาทนายความว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และยังสามารถขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารได้ จึงเป็นเรื่องที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรจะตระหนัก นายวีรวัฒน์ รัตนะ ประธานสภานักศึกษา มร. กล่าวว่า ผลการพิจารณาดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ว่าทาง มร. ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แม้ว่าจะเป็นลูกนายกรัฐมนตรี ตนไม่ได้ติดใจอะไร ส่วนเรื่องความเคลื่อนไหวเพื่อให้ นางระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน รักษาการอธิการบดี มร.ออกจากตำแหน่งนั้นในวันเดียวกันนี้ได้เดินทางไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศาลปกครอง เรื่องที่เรียกร้องให้ทางสภา มร.ตั้งคณะกรรมการสอบสวน นางระวิวรรณ กรณีที่ขึ้นป้ายสนับสนุนนายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดี มร. ช่วงระหว่างการสรรหาอธิการบดีที่ผ่านมา ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร และขณะนี้กำลังเก็บหลักฐานและจะยื่นให้กับศาลปกครองต่อไป (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2545 หน้า 10)





ชี้สร้างเขื่อนเยอะต้นเหตุ “น้ำท่วม”

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปภัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเวลานี้ นอกเหนืออิทธิพลของลมพายุ และปริมาณน้ำฝนตามสภาพธรรมชาติแล้ว มีสาเหตุสำคัญอีกอย่างคือ สร้างเขื่อนมากเกินความจำเป็นและไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เป็นระบบ เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมากเพียงพอ หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้มองเพียงแค่น้ำมากเขื่อนน้อย น้ำน้อยเขื่อนน้อย แต่ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบถ่องแท้แล้ว ปัญหาเกี่ยวกับน้ำที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทุกระยะนั้นเกิดจากการจัดการน้ำไม่เป็นนั้นเอง นายณรงค์ยังกล่าวอีกว่า “คำพูดของนักวิชาการ หรือคนที่รับผิดชอบเรื่องการสร้างเขื่อนว่า สาเหตุที่น้ำท่วมเป็นเพราะถูกประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) คัดค้านการสร้างเขื่อนจึงฟังไม่ขึ้นเลย ในทางตรงกันข้าม คำพูดของคนกลุ่มเดิมที่บอกว่าประชาชนพื้นที่ใกล้เขื่อนไม่ต้องเป็นห่วงสามารถคุมน้ำจากเขื่อนไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนได้แน่นอน แล้วเป็นไงล่ะ มีใครออกมาพูดอะไรบ้างหลังจากที่ประชาชนเดือดร้อนกันแล้ว ขณะนี้จะต้องยอมรับว่า เขื่อนไม่ใช่ตัวแก้ปัญหาน้ำท่วม และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมอีกด้วย” (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 18)





ยาแก้ไอผสมโคเคอีนเข้ากทม.ระบาดมาจากชายแดนภาคใต้

นพ.ยอห์น จิระนคร นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกันสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสงขลา กล่าวเปิดเผยว่า ยาแก้ไอผสมโคเคอีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ระบาดมานานแล้วและขยายแพร่ระบาดมากขึ้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมืออย่างจริงจัง หากไม่รีบป้องกัน ในอนาคตเด็กและเยาวชน จะหันหน้าเข้าหายาเสพติดที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้น เภสัชกรวชิระ อำพล เภสัชกร 8 วช.ประจำสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายว่า โคเคอีนเป็นยาเสพติดประเภท 2 ประเภทเดียวกับมอร์ฟีนและเฮโรอีน หากนำไปใช้ในทางยาจะกลายเป็นยาเสพติดประเภท 3 สามารถจำหน่ายตามร้านขายยา โดยการควบคุมของเภสัชกรได้ ทำให้เยาวชนสามารถซื้อหากันได้ง่าย โดยการผสมยาแก้ไอผสมโคเคอีนกับน้ำอัดลม นมเปี้ยว หรือโยเกิร์ต เพื่อเพิ่มรสชาติของยาแก้ไอให้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถตบตาเจ้าหน้าที่ได้ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 7)





ชี้เด็กสายตาสั้นเพิ่ม

ผศ.นพ.เจริญชัย จิวจินดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ปัจจุบันพบปัญหาสายตาสั้นในเด็กมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวก็คือประวัติครอบครัว ถ้าพ่อแม่สายตาสั้น ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสสูงที่จะสายตาสั้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่นการคลอดก่อนกำหนด การใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานานๆ ซึ่งการที่เด็กมีสายตาสั้นนี้ จะมีการเพิ่มขึ้นทุกๆปีประมาณปีละ 50-100 อย่างไรก็ตาม จะให้เด็กที่สายตาสั้นใส่หรือไม่ใส่แว่นนั้นขึ้นอยู่กับว่าเด็กมีสายตาสั้นมากน้อยเพียงใด และเด็กมองเห็นกระดานหรือไม่ ถ้ามองไม่เห็นก็ควรใส่ แต่ถ้าสายตาสั้นไม่มาก เช่นไม่ถึง 100 และไม่ได้นั่งอยู่หลังห้องเรียนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่แว่น (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 16 กันยายน 2545 หน้า 15)





ระดม 3 ศาสนาถกแปลงพันธุ์มนุษย์ผิดจริยธรรม

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เผยว่าจากการที่วิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังค้นคว้าวิจัยที่จะทำให้เกิดการเปลียนแปลงอย่างมากในอนาคต เช่น การทำโคลนนิ่ง การทำพันธุวิศวกรรม เพื่อกำหนดลักษณะของคนที่จะเกิดได้ตามความต้องการ ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลในแวดวงต่างๆในสังคม ทั้งนักสังคมศาสตร์ นักการศาสนา หรือแม้กระทั่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเองว่า การฝืนธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่ผิดต่อจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ทางโครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ภายใต้ มสช. กับศูนย์พันธุวิศวกรรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จะจัดระดมความคิดเห็นเรื่องแปลงพันธุ์มนุษย์ ผิดจริยธรรม? ขึ้น โดยมีผู้นำทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน มาพูดคุยกันเป็นครั้งแรก นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง มสช.กับไบโอเทค ได้ศึกษาเบื้องต้นถึงหลักการในศาสนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทดลองที่ก่อให้เกิดการทำลายชีวิตการคัดเลือกพันธุ์มนุษย์และผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดตามมา จากการรับข้อมูลทางด้านพันธุกรรม ซึ่งได้รับคำตอบที่น่าสนใจมากมาย เช่น เรื่องการผสมเทียมหรือเด็กหลอดแก้ว ซึ่งต้องมีการทำลายตัวอ่อนที่ไม่ต้องการ ศาสนาพุทธเห็นว่าการที่แพทย์ทำลายตัวอ่อนที่เกิดขึ้นจากไข่และสเปิร์มที่ผสมกันแล้ว ถือเป็นการทำลายชีวิตและผิดศีลธรรม เป็นต้น โดยผลการศึกษานี้เป็นเพียงการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความพยายามหาข้อสรุปจากสังคม โดยตั้งต้นจากมุมมองทางด้านศาสนา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ (ไทรัฐ ศุกร์ที่ 20 กันยายน 2545 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215