หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 36 ประจำวันที่ 2002-10-08

ข่าวการศึกษา

AIT คว้าแชมป์ การแข่งขันหล่อคอนกรีตพลังช้าง
รัฐบาลนำร่องมหาวิทยาลัยจังหวัด 2 แห่ง
จุฬาฯค้านมติมธ.เลื่อนประเมินสถานศึกษา
รภ.สวนดุสิตสั่งพักการเรียนรุ่นพี่รับน้องโหด
ครุศาสตร์จุฬาหนุนใบประกอบวิชาชีพครูอนุบาล
‘โสมาภา’ ส่งแอลสไปเดอร์เข้าห้องสมุด
“อาจารย์- นักเรียน” แฉหลักสูตรอังกฤษล้าสมัย
“เชื้อปรสิต”บอกสาเหตุสัตว์เพศผู้อายุสั้นกว่าเพศเมีย
พิจารณ์ “แอดมิชชั่นส์”ที่เชียงใหม่ จี้เลิกสอบ 2 ครั้ง-เหตุทำเด็กเครียด
IBM เปิดเว็บให้ นศ. ใช้ซอฟต์แวร์ฟรี
ม.รังสิตคว้า 4 รางวัลภาพยนตร์สั้นแห่งปี

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ประดิษฐ์หุ่นยนต์ปลาว่ายน้ำโขง พิสูจน์ความลี้ลับบั้งไฟพญานาค
รถเข็นคนพิการควบคุมด้วยเสียงพูด
นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เจ้าของรางวัล TWAS ประจำปี 2001
ม.เทคโนโลยีมหานคร ช่วยชาติลดพลังงาน ผันกากตะกอนเป็นน้ำมันชีวภาพ
เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนม ฝีมือของคนไทย

ข่าววิจัย/พัฒนา

เกสรดอกไม้ต้นเหตุหอบหืดทารกในครรภ์
หวัง ‘ผอ.ใหม่เนคเทค’ชูวิจัยต่อยอด
กินอาหารทะเลมากอาจเป็นหมัน สารปรอททิ้งจากโรงงานทำพิษ
รีดสารจากกระดองปูทำยาสีฟัน ช่วยป้องกันเหงือกไม่ให้อักเลบ
วช.ทำวิจัยสร้างแก้วดรรชนีหักเหสูงใช้งานอนุรักษ์ ศิลปวัตถุ-โบราณสถาน
คลื่นวิทยาการ
คำตอบของการบำบัดน้ำเสียโรงงานย้อมผ้า
ดูปองท์ฯให้ทุนหนุนนักวิจัยไทยต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม

ข่าวทั่วไป

รัฐบาลอนุมัติศึกษาโครงการขุด ‘คลองกระ’
สหรัฐเตรียมขายเนื้อ-นมโคลนนิงปีหน้า
ขาดการออกกำลังกายบั่นทอนสุขภาพ ร้ายกาจเท่าสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง
จำกัดน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว





ข่าวการศึกษา


AIT คว้าแชมป์ การแข่งขันหล่อคอนกรีตพลังช้าง

ปูนตราช้าง ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด ในธุรกิจซิเมนต์ เครือซิเมนต์ไทยร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการแข่งขันทำคอนกรีตหล่อพลังช้าง หรือ คอนกรีตกำลังอัดสูง เมื่อเร็วๆนี้ ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ประเภทคอนกรีตทั่วไป ทีมชนะเลิศ คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กำลังอัดเฉลี่ย 1466.98 kgs. อันดับ 2 Hansan Concrete (Thailand) Co.Ltd. และอันดับ 3 บริษัท เอเชียผลิตภัณฑ์ซิเมนต์ จำกัด ประเภทฟรีสไตล์ ทีมชนะเลิศ คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กำลังอัดเฉลี่ย 1470.38 ksc. อันดับ 2 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และอันดับ 3 บริษัทแสงสว่างเสาปูน จำกัด ผู้ชนะเลิศได้รางวัล 20,000 บาท รางวัลที่ 2 15,000 บาท และรางวัลที่ 3 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลโดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรมสนับสนุนปูนซีเมนต์ตราช้าง และงบประมาณตลอดการจัดแข่งขัน การแข่งขันคอนกรีตพลังช้าง จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและผู้ผลิตคอนกรีตได้ฝึกฝีมือเพิ่มคุณภาพงานคอนกรีต รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้จากการคิดค้นสูตรผสมการทำคอนกรีตใหม่ๆ มาพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างของประเทศไทยอีกด้วย โดยมีทีมนักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และทีมผู้ผลิตคอนกรีตร่วมแข่งขัน 58 ทีม (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 หน้า 8)





รัฐบาลนำร่องมหาวิทยาลัยจังหวัด 2 แห่ง

น.พ.กระแส ชนะวงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรมต.คณะที่ 4 วันที่ 18 ก.ย. ว่า เห็นชอบการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาส และนครพนม โดยการรวมสถาบันและวิทยาลัยที่มีอยู่ใน 2 จังหวัด แล้วพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ใหม่ โดยมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครพนมจะมีการรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการเกษตร วิทยาลัยพยาบาล รวมเข้ากับวิทยาเขตมหาสารคาม สามารถรองรับนักเรียนที่จบจากชั้น ม.6 สามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีภายในจังหวัดได้ ดีกว่าการตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ซึ่งจะสิ้นเปลืองงบสูงมาก เนื่องจากปัจจุบันที่มีมหาวิทยาลัยเอกชน 24 แห่ง และมหาวิทยาลัยรัฐอีก 24 แห่ง แต่ก็ไม่เพียงพอกับการรองรับเพราะปัจจุบันมีผู้จบระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 5 แสนรายต่อปี มาเป็น 8 แสนรายต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ 81% จะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยของรัฐบาล (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 8)





จุฬาฯค้านมติมธ.เลื่อนประเมินสถานศึกษา

ตามที่ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ มีมติแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้กระทรวงจัดการประเมินผลภายนอกครั้งแรกของสถานศึกษาทุกแห่ง ภายใน 6 ปี ให้เป็น ไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือประเมินผลครั้งแรกหลังวันที่ 20 ส.ค.2552 นั้น รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ปัญหาของการแก้ไข พ.ร.บ. ไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลา แต่อาจเป็นเพราะความไม่เห็นด้วย และความไม่ลงรอยในวิธีการทำงานของ สำนักงานรับรองมาตรฐาน และการประเมินคุณภาพการศึกษาของ (สมศ.) ที่ตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้ง สมศ. ก็มีการเปลี่ยนจุดยืนจากรูปแบบการประเมินสถานศึกษาตามเกณฑ์ มาเป็นประเมินตามสภาพความเป็นจริง หรือการเปลี่ยนตัวผู้ประเมินจากการที่ให้บริษัทมาให้นักวิชาการช่วยประเมิน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 8)





รภ.สวนดุสิตสั่งพักการเรียนรุ่นพี่รับน้องโหด

ผศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนานโยบาย รภ.สวนดุสิต เปิดเผยกรณีเหตุการณ์รุ่นพี่แอบพารุ่นน้องไปรับน้องที่หาดแม่รำพึง ส่งผล นายจิตปรีดี เคลือคล้าย น.ศ.ปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ จมน้ำถึงแก่ความตายว่า เบื้องต้นที่ประชุมมีมติว่า การจัดกิจกรรมนอกสถาบันโดยนำชั้นปีที่ 1 เป็นเรื่องผูกพันกับกิจกรรม และหลีกเลี่ยงการรับรู้ของสถาบัน ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบสถาบันอย่างร้ายแรง จึงลงโทษทำทัณฑ์บนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนประมาณกว่า 100 คน ส่วนรุ่นพี่ที่จัดงานลงโทษพักการเรียน 1 ภาคการศึกษา ทั้งนี้บทลงโทษทางวินัยสูงสุดคือ ให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา แต่เนื่องจากเป็นการกระทำเป็นกลุ่มจึงลดหย่อนโทษ นอกจากนี้ทางสถาบันได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อำนวยความสะดวกเรื่องงานศพ ของนายจิตปรีดี เคลือคล้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิต และสถาบันจะรับเป็นเจ้าภาพทุกคืน รวมถึงงานฌาปนกิจศพ พร้อมกันนี้ทางครอบครัวจะได้รับค่าทดแทนสินไหมจากเมืองไทยประกันภัย เป็นวงเงิน 100.000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บ ทางบริษัทประกันภัยจะออกค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท หากเกินกว่านั้นทางสถาบันจะรับผิดชอบทั้งหมด (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 24 กันยายน 2545 หน้า 11)





ครุศาสตร์จุฬาหนุนใบประกอบวิชาชีพครูอนุบาล

รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสนอให้ครูอนุบาลไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูว่า ส่วนตัวของตนเองคิดว่าครูอนุบาลน่าจะมีใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับครูทั่วไป เพระนอกจากเป็นการสร้างความมั่นใจต่อผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาให้ดูแล และใบประกอบวิชาชีพยังเป็นหลักประกันในวิชาชีพให้กับตัวครูเอง รวมทั้งทำให้ครูเกิดความกระตือรือล้นในการพัฒนางานวิชาการเพื่อตัวเองมากขึ้นด้วย “ขณะนี้ครูอนุบาลมีความรู้และเข้าใจในการดูแลรักษาความสะอาดและความปลอดภัยให้กับเด็กเท่านั้น เหมือนกับที่รับเลี้ยงเด็กหรือเนิร์สเซอรี่แต่ไม่ใช่โรงเรียน ทั้งที่เด็กควรได้รับการดูแลมากกว่านี้ คือต้องมีการพัฒนาเด็กให้เติบโตตามศักยภาพ ฝึกความพร้อมทางด้านทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ชีวิต และถูกกระตุ้นให้คิดเป็นไปตามวัยได้ เราต้องกระตุ้นให้เจ้าของโรงเรียนเห็นความสำคัญของการรับครูที่จะมาดูแลเด็กด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นใครเลี้ยงเด็กได้ก็รับเข้ามาโดยไม่ดูว่าครูคนนั้นมีความรู้ความเข้าใจการพัฒนาการของเด็กมากน้อยเพียงใด” (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 24 กันยายน 2545 หน้า 11)





‘โสมาภา’ ส่งแอลสไปเดอร์เข้าห้องสมุด

นายนำโชค โสมาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โสมาภา อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2546 หน่วยงานราชการมีแนวโน้มจะลงทุนระบบห้องสมุดเฉพาะกันมาก เพื่อให้บริการข้อมูลเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด, หน่วยงานด้านการพาณิชย์, ธนาคาร ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ และหน่วยงานด้านการศึกษา เช่น กรมวิชาการ กรมสามัญศึกษา เป็นต้น นายนำโชค กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทเปิดตัวโปรแกรมใหม่ “Lspider” เป็นโปรแกรมระบบบริหารจัดการห้องสมุดด้วยคอมพิวเตอร์และเป็นระบบที่จัดเก็บสารนิเทศของห้องสมุดในรูปแบบของแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกแบบสำหรับใช้งานในห้องสมุดขนาดกลางและเล็กโดยเฉพาะ ซึ่งมีบรรณารักษ์ไม่เกิน 99 คน สมาชิกห้องสมุดไม่เกิน 1 หมื่นคน ปริมาณทรัพยากรสารนิเทศไม่เกิน 8 หมื่นชื่อเรื่อง หรือ 2 แสนฉบับ รวมมีปริมาณการยืมคืนไม่เกิน 3 พันรายการ /วัน จากเดิมบริษัทจะมุ่งห้องสมุดขนาดใหญ่เป็นหลักแต่แนวโน้มตลาดดังกล่าวใกล้อิ่มตัว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 6)





“อาจารย์- นักเรียน” แฉหลักสูตรอังกฤษล้าสมัย

นางมัทนา สานติวัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลประชุมกลุ่มย่อยในการสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กไทยเพื่อก้าวใหม่ที่มั่นคง” ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยและครูในโรงเรียนเห็นว่าหลักสูตรภาษาอังกฤษมีชั่วโมงเรียนในแต่ละสัปดาห์ไม่พอ หลักสูตรไม่เหมาะสมกับสภาพจริง ไม่ต่อเนืองจากประถมถึงมหาวิทยาลัย ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเป็นอย่างไร ควรเน้นทักษะการพูดมากขึ้นด้วย นางมัทนากล่าวต่ออีกว่า ในส่วนนักเรียนนักศึกษาเห็นว่าเนื้อหาที่เรียนไม่ตรงกับความสนใจ ไม่ทันสมัย เนื้อหาซ้ำซ้อน ครูสอนโดยไม่ดูความแตกต่างของเด็ก เน้นท่องจำ ทำให้น่าเบื่อ โดยครูไทยจะเน้นไวยากรณ์มากกว่าการพูด ขาดความรู้ความชำนาญ ส่วนห้องเรียนก็ใหญ่เกินไป นักเรียนขาดจุดยืนเพราะไม่รู้จุดมุ่งหมายในการเรียน คิดแต่เอ็นทรานซ์ ทำให้นำไปใช้ได้จริงไม่ได้ ขาดความมั่นใจ กลัวพูดผิดแล้วถูกล้อ ครูจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นความสำคัญ เน้นสอนแบบประยุกต์ ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับชีวิตจริง มีสื่อประกอบ ให้นักเรียนเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ จัดระดับการสอนตามความสามารถของผู้เรียน และใช้ข้อสอบอัตนัย (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 20)





“เชื้อปรสิต”บอกสาเหตุสัตว์เพศผู้อายุสั้นกว่าเพศเมีย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาของนายเคนเนธ วิลสัน และซาราห์ มัวร์ จากมหาวิทยาลัยสเตอริ่ง เรื่องเชื้อปรสิตที่อยู่ในร่างกายของคน ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า เชื้อโรคเหล่านี้อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศผู้จำนวนมาก รวมถึงมนุษย์จึงมีอายุสั้นกว่าสัตว์เพศเมีย ทั้งๆ ที่ผู้ชายมีร่างกายที่แข็งแรงใหญ่โตกว่าผู้หญิง เนื่องจากพบว่า สัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โตมักจะต้องกินอาหารมาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการกลืนแบคทีเรียเข้าไปมากกว่า ขณะที่สัตว์ซึ่งสร้างความรำคาญ เช่น ยุง เห็บ หมัด ก็มักจะเลือกเป้าหมายในการดูดเลือดหรือหาอาหารในสัตว์ตัวใหญ่มากกว่าสัตว์เล็กๆ และสิ่งที่สังเกตได้ง่ายอีกประการหนึ่ง คือ สัตว์เพศผู้มีระบบภูมิคุ้มกันจากโรคร้ายอ่อนแอกว่าสัตว์เพศเมีย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโตสเตอโรน จะไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในมนุษย์อ่อนแอลงเล็กน้อย ทำให้เชื้อแบคทีเรียและปรสิตอื่นๆจากภายนอกแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ข้อสรุปทั้งหมดนี้มาจากการศึกษาในสัตว์หลายชนิด เช่น หนู ลิง ปลาวาฬ กวาง แต่ก็สามารถใช้อธิบายช่วงชีวิตของมนุษย์ทั้งเพศชายและหญิงได้เช่นกัน (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 18)





พิจารณ์ “แอดมิชชั่นส์”ที่เชียงใหม่ จี้เลิกสอบ 2 ครั้ง-เหตุทำเด็กเครียด

ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัยจัดประชาพิจารณ์ผู้แทนนักเรียน ผู้ปกครองและครูโรงเรียนมัธยมสังกัดภาคเหนือตอนบนประมาณ 200 คน เกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่หรือ แอดมิชชั่นส์ นางอุทุมพร จามรมาน อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอรูปแบบที่คิดจากผลการเรียนระดับ ม.ปลาย โดยคิดค่าจีพีเอ 5% และค่าพีอาร์ 5% และการพัฒนาของผู้เรียน การเข้าร่วมกิจกรรมและข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนที่ปรากฎในทรานสคริปอีก 15% องค์ประกอบที่เหลือให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้กำหนด ซึ่งผลประชาพิจารณ์ใน กทม. 50% ต้องการให้นำมาใช้ในปี 2549 ส่วนอีก 41% ต้องการให้ใช้ในปี 2548 ทางด้านนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งจะเป็นรุ่นแรกที่ใช้ระบบใหม่นี้ต่างแสดงความกังวลใจ ส่วนกลุ่มครูท้วงติงกรณีที่มีการจัดสอบวัดความรู้ 2 ครั้งต่อปี ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กนิยมกวดวิชามากขึ้น เพราะโรงเรียนกวดวิชาจะเปิดติวทั้งปี ขณะที่กลุ่มผู้ปกครองมองว่าการสอบวัดความรู้ 2 ครั้งดังกล่าวจะยิ่งทำให้เด็กเครียดมากขึ้น และครูบางคนจะเปิดสอนกวดวิชาและบังคับให้เด็กมาเรียนกับตัวเอง (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 หน้า 20)





IBM เปิดเว็บให้ นศ. ใช้ซอฟต์แวร์ฟรี

นางเจษฎา ไกรสิงขร รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจซอฟต์แวร์บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าเพื่อแก้ไขการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไอที ไอบีเอ็มได้ขยายช่องทางให้อาจารย์และนักเรียนนักศึกษาได้เข้าถึงซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มมากขึ้นโดยเปิดตัวโครงการ IBM Scholars Program ซึ่งนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป สามารถสมัครเป็นสมาชิกรับรหัสผ่านเพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมของไอบีเอ็มไปใช้ได้ฟรีที่เว็บไซด์ www.ibm.com/university/scholarprogramรวมทั้งใช้บริการรับข่าวสาร ค้นคว้าบทความทางวิชาการและบริการปรึกษาปัญหาซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มแบบออนไลน์ นอกจากนี้ ไอบีเอ็ม ยังมีโครงการ Linux Scholar Challenge 2002 ที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยจากทั่วโลก รวมทั้งนักศึกษาในประเทศไทย ร่วมแข่งขันชิงรางวัล IBM Linux Cluster โดยนักเรียนที่ทำคะแนนได้สูงสุด 20 ราย จะได้รับคอมพิวเตอร์แบบพกพา IBM ThinkPad และผู้ได้รับการคัดเลือก 3 รายจะได้ไปฝึกงานที่ศูนย์เทคโนโลยีของไอบีเอ็มในภาคฤดูร้อนปีหน้า ทั้งนี้ผู้สมัครจะต้องเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สมัครผ่านทางเว็บไซด์ www.ibm.com/university/Linuxchllenge ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2545 หน้า 16)





ม.รังสิตคว้า 4 รางวัลภาพยนตร์สั้นแห่งปี

4 รางวัลจากผลงานภาพยนตร์สั้น ฝีมือนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 6 (The 6th Short Film and Video Festival) ประจำปี 2545 ของมูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ รางวัลช้างเผือก และรางวัล The Kodak Filmschool Competition จากภาพยนตร์สั้นเรื่อง “A Little Dad” ผลงานของ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ วรวุฒิ ชวนอยู่ โสภณ นิ่มอนงค์ และกุลนารี นุชิตประสิทธิชัย รางวัลวิจิตรมาตรา จากภาพยนตร์สั้นเรื่อง “หญิงชรากับนิทานเรื่องหนึ่ง” โดย นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ จารุศักดิ์ เพ็งวาด อภิชาต เชื้อเชย โทมัน สตกูลมะ อัศวิน วัชรสกุณี ภัทรพล วิมลศิลปิน ขวัญเลิศ พาณิชมาท สุชาดา ดิษฐ์โชติ ศุภรัตน์ ตั้งโคมแสงทอง และวิภารัตน์ ชีวไชยมงคล และเรื่อง “โมบายกับลูกอมทั้ง 10” ผลงานของโสภณ นิ่มอนงค์ พิธาน โชคกิจการ พิสุทธิ์ ชูจิตติบุตร กัลย์ณรี รุ่งสาโรจน์ และ ศุภวรรณ ณ นคร รางวัล Nomad Award รางวัลล่าสุดของสุวรรณ ห่วงศิริสกุล จากสาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยฝากฝีมือเรื่อง “บ้านสีชมพู” ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม รางวัลช้างเผือกปี 2544 มาแล้ว รางวัลดุ๊ก (DUKE AWARD) จากภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ประตูสรรพสาตร” ผลงานของ อภิวัฒน์ แสงพันธสีมา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์วาจวิมล เดชเกตุ หัวหน้าสาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดีทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่า รางวัลที่ได้รับจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้นักศึกษาก้าวสู่วงการภาพยนตร์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะกำชับเสมอว่าอย่าเอารางวัลมาเป็นเครื่องวัดคุณภาพงานให้ผลิตผลงานอย่างเต็มที่ จะได้รับรางวัลหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะรางวัลไม่ได้อยู่ในอุดมการณ์ของคนทำหนังมันเป็นเพียงผลพลอยได้จากความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ประดิษฐ์หุ่นยนต์ปลาว่ายน้ำโขง พิสูจน์ความลี้ลับบั้งไฟพญานาค

ดร.สาโรช ไทรเมฆ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้กล่าวว่า มีความปรารถนาที่จะพิสูจน์ความลี้ลับของปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค จึงจะเสนอขอทำวิจัยเรื่องนี้ โดยจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ปลาขึ้นใช้เป็นเครื่องมือ ด้วยเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นในสหรัฐฯ หุ่นยนต์ปลาจะใช้แบบโครงร่างของปลาทูน่าเป็นแบบ คาดว่าจะต้องใช้เวลาประดิษฐ์ประมาณ 5 ปี แต่ภายในปีหน้า หุ่นดังกล่าวก็น่าจะว่ายน้ำได้แล้ว ความตั้งในในคราวแรกต้องการจะสร้างหุ่นยนต์ปลาให้เหมือนจริงที่สุด เพื่อเป็นการทำวิจัยขั้นพื้นฐาน ดูการไหลของน้ำรอบตัวปลาว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงได้ผนวกการทำงานของหุ่นยนต์ปลา ให้ทำงานใต้น้ำได้ จึงมีส่วนเข้าเกี่ยวโยงกับการศึกษาบั้งไฟพญานาคด้วย ปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทุกวันเพ็ญเดือน 11 ตรงกับในเดือนตุลาคม ปรากฏให้เห็นเป็นดวงไฟลอยขึ้นจากแม่น้ำโขง ช่วงผ่านจังหวัดหนองคายหลายแห่ง ชาวบ้านเชื่อถือกันว่า เป็นบั้งไฟของพญานาคถวายพระพุทธเจ้า เนื่องในเทศกาลออกพรรษา เคยมีนักวิชาการหลายคน พยายามพิสูจน์ความลี้ลับในเรื่องนี้มาแล้ว แต่ยังไม่มีคำอธิบายใดที่สามารถพิสูจน์ได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 7)





รถเข็นคนพิการควบคุมด้วยเสียงพูด

นายณรงค์รัตน์ เลี้ยวรุ่งโรจน์ และ นายอนุพงษ์ ธรรมรักษาสิทธิ์ นักศึกษาปี 1 ปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ วัย 22 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ประดิษฐ์ “รถเข็นคนพิการควบคุมด้วยระบบจำเสียงพูด” ทั้ง 2 กล่าวว่า รถเข็นดังกล่าวควบคุมโดยใช้เสียงสั่งงานผ่านทางไมโครโฟนที่เชื่อมต่อกับซีพียูของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีคำสั่งที่ใช้ควบคุมทั้งหมด 9 คำสั่ง ได้แก่ เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา กึ่งซ้าย กึ่งขวา เร็วขึ้น ช้าลง และ หยุด โดยระบบจำเสียงพูดส่วนประกอบหลักของรถเข็นได้นำระบบโครงข่ายประสาทเทียมแบบแพร่กลับซึ่งเป็นโปรแกรมที่อาศัยการประมวลผลของซีพียูในคอมพิวเตอร์เป็นตัวรับคำสั่งเสียงจากไมโครโฟนซึ่งจะมีการเปลี่ยนสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาญดิจิทัลเพื่อง่ายต่อการประมวลผลสัญญาณของคอมพิวเตอร์ สุดท้ายข้อมูลหรือคำสั่งที่ได้จากการประมวลผล จะถูกส่งไปยังมอเตอร์เพื่อให้มอเตอร์ทำงานตามคำสั่ง ผลงานชิ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างขึ้นจากความรู้และความตั้งใจของนักศึกษา ซึ่งได้นำไปแสดงในงาน “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “วันเทคโนโลยีไทย” ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2545 ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 5-6 (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2545 หน้า 16)





นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เจ้าของรางวัล TWAS ประจำปี 2001

สภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่สาม หรือ The Third World Academy of Sciences (TWAS) เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสภาวะผู้นำทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ซึ่ง TWAS ได้จัดตั้งโครงการรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยให้ประเทศสมาชิกคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีผลงานดีเด่นใน 4 สาขาวิชา คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ หมุนเวียนกันไปทุกปี เข้ารับรางวัลซึ่งประกอบด้วยโล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัลจำนวน 2,000 เหรียญสหรัฐ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในนามของประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการ TWAS เมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นประเทศลำดับที่ 26 และสำหรับปี 2544 สำนักงานฯร่วมกับ TWAS ได้มีมติให้ รศ.ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ได้รับรางวัล “2001 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand” สาขาชีววิทยา จากผลงานวิจัยด้านมาลาเรียวิทยา นอกจากนี้ รศ.ดร.ศันสนีย์ ได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือในการศึกษา population genetic ของเชื้อมาลาเรียฟัลซิพารั่มกับหน่วยผลิตวัคซีนป้องกันมาลาเรีย Center for Disease Control, Atlanta, Georgia ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการตรวจสอบความแตกต่างของ alleles ต่างๆ ของโปรตีนของมาลาเรียที่จะใช้ในการผลิตวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่จะผลิตขึ้นนี้เป็นวัคซีนรวมที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก และได้เริ่มทดสอบแล้วในลิงและในคน (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2545 หน้า 24)





ม.เทคโนโลยีมหานคร ช่วยชาติลดพลังงาน ผันกากตะกอนเป็นน้ำมันชีวภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ มีอยู่ ผช.อธิการบดี และ ผอ.ศูนย์วิจัยด้านวัสดุประยุกต์และสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชียร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยใช้กระบวนการไพโรไลซิสซึ่งเป็นกระบวนการแปรรูป “กากตะกอนของเสีย” ให้เป็น “พลังงานเชื้อเพลิง” และยังได้คิดค้นเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบ สำหรับการแปรรูปกากตะกอน ซึ่งเครื่องมิอดังกล่าวสามารถแปรรูปตะกอนของเสียจำนวน 300 กิโลกรัม ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 50 ลิตร ภายในระยะเวลาเพียง 8 ชั่วโมง เครื่องปฏิกรณ์ ต้นแบบตัวนี้มีหลักการทำงานโดยเผาไหม้กากตะกอนในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน เนื่องจากออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบในวัตถุดิบบางชนิด ซึ่งจะได้แก๊สที่เป็นมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นเมื่อตะกอนได้รับความร้อนอย่างต่อเนื่องจนมีอุณหภูมิประมาณ 400 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีจนได้ผลิตภัณฑ์เป็น น้ำมันชีวภาพ และเมื่อน้ำมันชีวภาพผ่านกระบวนการกลั่นให้บริสุทธิ์ จะได้น้ำมันที่คุณภาพใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล ซึ่งสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และนี่ก็เป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการ คือ น้ำมันชีวภาพ และถ่านชาร์ เพื่อทดแทนทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทาง (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนม ฝีมือของคนไทย

เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนม เครื่องต้นแบบผลงานการออกแบบและสร้างโดย ผศ.วิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป รับในประกาศพร้อมเงินรางวัล 5 หมื่นบาท จากพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นโดยฝีมือคนไทยในงานภูมิปัญญาแผ่นดิน จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผศ.วิชา กล่าวว่า ปัจจุบันธัญพืชหรืออาหารที่มาจากธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปที่เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพ และน้ำนมข้าวยาคูเป็นเครื่องดื่มที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งกระบวนการทำน้ำนมข้าวยาคูวัตถุดิบสำคัญก็คือเมล็ดข้าว ซึ่งแต่เดิมการปลิดเมล็ดข้าวน้ำนมให้หลุดจากรวงใช้แรงงานคนในการรูดเมล็ดน้ำนมให้หลุดจากรวงใช้แรงงานคนในการรูดเมล็ดออกจากรวงด้วยมือ หรือใช้ซี่วงล้อรถจักรยานตีรวงข้าวให้เมล็ดหลุดจากรวงซึ่งวิธีการนี้ทำให้สูญเสียเมล็ดเนื่องจากการนวดไม่หมดค่อนข้างสูง เมล็ดมีสิ่งเจือปนในปริมาณมากเมื่อนำมาผลิตเป็นน้ำนมข้าวยาคูจะได้น้ำนมที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนมที่ออกแบบขึ้นมานี้ได้พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อปลิดเมล็ดข้าวในระยะที่เป็นน้ำนมออกจากรวงแทนการใช้แรงงานคน และปัจจุบันเครื่องต้นแบบนี้ได้รับการติดต่อไปใช้ในงานจริงแล้ว (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2545 หน้า 22)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เกสรดอกไม้ต้นเหตุหอบหืดทารกในครรภ์

เคยมีผลการศึกษาที่ระบุว่าโรคหอบหืดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์สวีเดน แห่งมหาวิทยาลัยอูมี ศึกษาทารกเกิดใหม่ในกรุงสตอกโฮล์มประเทศสวีเดน จำนวน 111,702 คน ระหว่างปี 2531-2538 โดยศึกษาชีวิตในช่วงขวบปีแรก พบว่ามีเด็ก 923 คนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะป่วยเป็นหอบหืด และได้ข้อสรุปว่า เด็กทารกที่แม่สูดดมละอองเกสรดอกไม้ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นหอบหืดซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กป่วยเป็นโรคนี้ ผลวิจัยระบุว่า ระดับการสูดดมละอองเกสรดอกไม้ของแม่จะต่างกันในแต่ละเดือน และแม้นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เจาะลึกเรื่องความสัมพันธ์ของเดือนเกิดกับความเสี่ยงที่ทารกจะเป็นหอบหืด แต่ก็ยอมรับว่าอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณของละอองเกสรดอกไม้ที่ลอยอยู่ในอากาศในแต่ละปียังแตกต่างกันด้วย คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาทารกเหล่านี้จนถึงอายุครบ 2 ขวบด้วย ซึ่งก็ได้ผลการศึกษาเช่นเดียวกัน และมีแผนการจะศึกษาต่อไปจนกว่าเด็กเหล่านี้จะมีอายุ 4-6 ขวบ เพื่อดูว่าการสูดดมละอองเกสรดอกไม้ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของพวกเขาหรือไม่ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 23 กันยายน 2545 หน้า 3)





หวัง ‘ผอ.ใหม่เนคเทค’ชูวิจัยต่อยอด

นายอาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) หนึ่งในคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) กล่าวว่า การสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นั้น ผู้บริหารคนใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับภารกิจใหม่ของเนคเทค และนโยบายในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยเฉพาะที่รัฐบาลกำหนดลงมารวมถึงกระทรวงไอซีทีที่กำลังจะเกิดขึ้น นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการเนคเทคคนใหม่ ต้องทำงานด้วยความเข้าใจว่าการเป็นศูนย์แห่งชาติต้องมุ่งเน้นการทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทั้งนี้ต้องแบ่งภาพให้ชัดระหว่างการทำวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ และวิจัยพาณิชย์ ซึ่งงานวิจัยสองด้านแรก มหาวิทยาลัย หรือสถาบันของรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่งานวิจัยด้านสุดท้ายควรให้เอกชนเป็นหลัก โดยเรื่องไอทีเกี่ยวพันกับความเจริญของประเทศโดยเฉพาะซอฟต์แวร์ภาครัฐจะมาแรง หากได้รับการประคบประหงมที่ดีพอ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมได้ แต่ถ้าภาครัฐแสดงบทบาทมากเกินไปเอกชนจะอ่อนแอ ซึ่งความแข็งแกร่งของประเทศจะเกิดจากภาคเอกชนเข้มแข็ง แล้วภาครัฐจะสามารถเก็บเกี่ยวผลอันเนื่องมาจากความเข้มแข็งของภาคเอกชนได้ เช่น การเก็บภาษีต่างๆ เป็นต้นฉะนั้นถ้าเอกชนอยู่ไม่ได้รัฐก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามรายงานการวิจัยและพัฒนาถือเป็นสิ่งสำคัญหาก ณ วันนี้ไม่มีผู้สร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะไม่เกิด บางสิ่งภาครัฐอาจทำได้ดี แต่ถ้าไม่ส่งเสริม หรือเปิดโอกาสให้เอกชนเลย อนาคตจะอยู่ไม่ได้ พร้อมกันนี้ เขาแสดงความเห็นว่า หากผู้อำนวยการใหม่ยังเป็นคนเดิมก็เชื่อว่า จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ เพราะคณะกรรมการบริหารของ สวทช. และเนคเทคเอง ปัจจุบันมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมเป็นจำนวนมากและผู้อำนวยการต้องปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากบอร์ด (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 6)





กินอาหารทะเลมากอาจเป็นหมัน สารปรอททิ้งจากโรงงานทำพิษ

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ได้ตรวจพบว่า คู่ผัวเมียที่เป็นหมัน มีปริมาณของสารปรอทในเลือดสูง มักเป็นผู้ที่กินอาหารทะเลมากด้วย นักวิจัย ดร. คริสติน ฉ่อย นักวิจัยกล่าวให้ความเห็นว่า “พวกอาหารทะเลที่ปนเปื้อนปรอทคงจะเป็นแหล่งของสารปรอท ที่สะสมอยู่ในเลือดของพลเมืองผู้ที่เป็นหมันของเรา” สารปรอทที่ถูกปล่อยปะปนอยู่ในธรรมชาติ มักเกิดมาจากมลพิษในวงการอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้พวกสัตว์ทะเล เช่น ปลา พลอยได้รับไปด้วย ยิ่งปลาทะเลที่มีอายุยืนยาวอย่างเช่นปลาฉลามและปลาฉนาก ยิ่งมีสารปรอทสะสมอยู่ในตัวค่อนข้างมาก เมื่อบริโภคปลาเหล่านี้มากๆ ก็จะได้สารปรอทเข้าไปด้วย (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 7)





รีดสารจากกระดองปูทำยาสีฟัน ช่วยป้องกันเหงือกไม่ให้อักเลบ

ยาสีฟันดังกล่าวนี้จะประกอบด้วยสารเคมีเหนียวๆ ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ที่เรียกว่า “ไตรโคลซาน” เป็นสารสกัดจากกระดองปู โดยมันจะติดอยู่รอบฟันและเหงือกบริเวณที่เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตและเป็นเหตุให้เกิดโรคเหงือกและฟันผุ ขณะนี้ยาสีฟันจากกระดองปูยังอยู่ในขั้นทดลองคือประกอบด้วยสารทำความสะอาด แต่ไม่มีฟลูออไรด์หรือสารแต่งกลิ่นแต่อย่างใด นักวิจัยของมหาวิทยาลัยปอร์ตสมัธในอังกฤษ บอกว่า ตอนนี้หาทางที่จะนำไตรโคลซานผสมกับยาสีฟันได้แล้ว เนื่องจากมันเป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำจึงต้องหาสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ใช้ได้ประโยชน์จริง ถ้ามากเกินไปอาจจะทำให้ผู้ใช้ยาสีฟันนั้นรู้สึกสาก แต่ถ้าใส่น้อยไปก็จะไม่พอเพียงที่จะเป็นตัวยาจากการทดสอบในห้องทดลองปรากฏว่า ตอนนี้อนุภาคดังกล่าวสามารถติดเนื้อเยื่อได้มากกว่า 2 ชั่วโมง นักวิจัยหวังว่าจะสามารถทำให้มันเกาะติดได้ถึง 24 ชั่วโมงต่อไป (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 หน้า 7)





วช.ทำวิจัยสร้างแก้วดรรชนีหักเหสูงใช้งานอนุรักษ์ ศิลปวัตถุ-โบราณสถาน

นายจีรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าว่า กระจกเกรียบหรือแก้วอังวะหรือจีน เป็นแก้วหรือกระจกชนิดหนึ่งที่คนไทยในอดีตนำไปสร้างสรรค์งานศิลปกรรมสำหรับประดับและตกแต่งศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น ในพระราชวังเก่า สิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าแก้วอังวะมีส่วนผสมของทรายแก้วและตะกั่วเป็นหลัก มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับแก้วที่มีดรรชนีหักเหสูง เพราะมีการหักเหหรือสะท้อนแสงได้ดี มีเนื้อแก้วที่บางหนักแต่มีความอ่อนตัว ปัจจุบันไม่มีการทำวัสดุประเภทนี้ ทั้งๆที่มีความต้องการในการใช้งานเพื่อการบูรณะ อนุรักษ์ศิลปวัตถุและโบราณสถาน วช.จึงให้ทุนวิจัยแก่ พันตรีพิศุทธิ์ ดารารัตน์ทำวิจัยเรื่องการสร้างแก้วที่มีดรรชนีหักเหสูงด้วยส่วนผสมของสารเคมี โดยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผสมกับเทคโนโลยีที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 หน้า 18)





คลื่นวิทยาการ

กองทัพเรือสหรัฐได้วิจัยและพัฒนาระบบนำวิถีของจรวดขึ้นมาใหม่ โดยที่ระบบใหม่นี้เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ตัดสินใจได้ว่าเป้าหมายที่ระเบิดกำลังจะไปลงนั้นมีความถูกต้องหรือเปล่าและยังสามารถเปลี่ยนเป้าหมายไปลงยังตำแหน่งอื่นที่คิดว่าถูกต้องได้ก่อนที่ความเสียหายจากการโจมตีผิดเป้าจะเกิดขึ้น ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า Automatic Target Acquisition (ATA) ซึ่งล่าสุดทางกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกาได้นำไปผนวกเข้าเป็นระบบนำวิถีของจรวด SLAMER ที่เปรียบเสมือนเป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งของจรวด cruise missile เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า ตามปกติแล้วจรวด SLAMER จะถูกปล่อยจากเครื่องบินที่บินอยู่นอกอาณาเขตของศัตรูโดยจะพุ่งไปสู่เป้าหมายด้วยพิกัดความสูงระดับต่ำคือ บินใกล้พื้นดินค่อนข้างมากนั่นเอง ระบบนำวิถีของมันประกอบไปด้วยระบบบอกพิกัดด้วย GPS (Global Positioning System) และระบบจดจำสภาพภูมิประเทศ (Terrain Recognition) ความสามารถพิเศษก็คือตัวจรวดนั้น สามารถส่งภาพถ่ายด้วยกล้องอินฟราเรดที่ติดไปกับตัวจรวดกลับมายังเครื่องบินที่ปล่อยมันได้ด้วย โดยที่นักบินสามารถพิจารณาได้ว่าจรวดนั้นเริ่มหลงทางหรือมีแนวโน้มว่าจะลงผิดเป้าหมายหรือไม่ พร้อมทั้งสามารถบังคับจรวดให้ไปลงตามเป้าหมายที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง อย่างน้อยที่สุดนั้นระบบ ATA คงจะช่วยป้องกันความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้ไม่มากก็น้อย (เดลินิวส์ วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 16)





คำตอบของการบำบัดน้ำเสียโรงงานย้อมผ้า

ศ.ดร. วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ประจำปี 2545 กล่าวว่า ถ่านกัมมันต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือแม้แต่ที่ผลิตในบ้านเรามีขนาดของรูพรุนเล็กมากๆ เล็กกว่าขนาดของอนุภาคซึ่งเป็นโลหะหนักจากโรงงานย้อมผ้า ฉะนั้นโอกาสที่ถ่านจะสามารถจับกับโลหะหนักชนิดนี้ได้จึงมีค่อนข้างต่ำ แม้จะผ่านการบำบัดแล้วแต่น้ำนั้นก็ยังมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูง ศ.ดร.วิวัฒน์จึงทำการวิจัยหาเทคนิคที่สามารถควบคุมขบวนการผลิตถ่านกัมมันต์ในขนาดรูพรุนตามที่ต้องการได้ อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงงานเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด โดยทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะผลิตถ่านดังกล่าวจากของเหลือทิ้ง เช่น ยางรถยนต์ หรือกากกาแฟ ขั้นตอนที่จะทำคือ นำยางรถยนต์ หรือกากกาแฟที่แยกเฉพาะส่วนที่ต้องการแล้ว นำมาบดเป็นผงและให้ความร้อนที่เหมาะสมจนไปเป็นถ่านออกมา ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้ความรู้ด้านขบวนการกึ่งเคมีอย่างลึกซึ้ง จากนั้นก็จะถึงขบวนการนำไปอัดเม็ดและบรรจุท่อ ก่อนนำไปทดลองใช้จริง ซึ่งเทคนิคที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียจากโรงงานย้อมผ้าได้แล้ว ยังช่วยลดภาระในการกำจัดยางรถยนต์และกากกาแฟที่ปัจจุบันประเทศไทยไม่มาวิธีการรีไซเคิลในภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสม (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





ดูปองท์ฯให้ทุนหนุนนักวิจัยไทยต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม

นายจอห์น บริทเทนสไตน์ ประธานบริษัท ดูปองท์ ดาว อีลาสโตเมอร์ส เอเชีย แปซิฟิก ธุรกิจด้านเคมีรายใหญ่ และเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก กล่าวในงานมอบทุนวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรมแก่นักวิจัยไทย 3 ราย โครงการที่ได้รับมอบทุนมี 2 โครงการได้แก่ “Surface Characterization for ENGAGE Reactive Blends” ของ ดร.รัตนวรรณ มกรพันธ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวงเงิน 235,000 บาท และ “Improvement of Adhesion Properties of Ethylene-Octene Rubber” ผศ.ดร.กฤษฎา สุชีวะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และอาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวงเงินราว 300,000 บาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 6 เดือน ขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัท อินโนเวชั่นธุรกิจจำหน่ายเคมีภัณฑ์ในไทย ได้มอบทุนสนับสนุนจำนวน 600,000 บาท ในระยะเวลา 3 ปี ให้กับ ผศ.ดร.ปราณี ภิญโญชีพ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานวิจัยเรื่อง “Chemical Modification of Natural Rubber for Properties Improvement” เช่นกัน โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการพัฒนายางธรรมชาติให้มีคุณสมบัติที่หลากหลายเทียบเท่ากับยางสังเคราะห์โดยเฉพาะด้านความทนน้ำมัน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 3)





ข่าวทั่วไป


รัฐบาลอนุมัติศึกษาโครงการขุด ‘คลองกระ’

นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติการกำหนดขอบเขตการศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสมบรูณ์ ในโครงการขุดคลองกระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ทั้งนี้ การขุดคลองกระเคยมีการประเมินก่อนหน้านี้ว่า ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าแสนล้านบาท และมีบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ค่าใช้จ่ายและการออกแบบอย่างน้อย 3-4 บริษัท ซึ่งล่าสุดบริษัทภูเก็ตพาสโปรเจค จำกัด จากประเทศฮ่องกง ได้ให้การสนับสนุนเงินจำนวน 2,000 ล้านบาทในการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2545 หน้า 20)





สหรัฐเตรียมขายเนื้อ-นมโคลนนิงปีหน้า

หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ของสหรัฐรายงานว่า นม เนื้อสัตว์ และเนื้อหมู ที่มาจากการลอกแบบพันธุกรรม หรือโคลนนิง จะเริ่มมีวางจำหน่ายในสหรัฐในต้นปีหน้า รายงานระบุว่า บรรดาผู้เลี้ยงปศุสัตว์ได้เร่งเพาะพันธุ์สัตว์ที่เกิดจากการโคลนนิ่ง หลังจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ หรือเอ็นเอเอส ออกรายงานซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงอันเกิดจากการลอกแบบพันธุกรรม นักชีววิทยาของสถาบันโพลีเทคนิคเวอร์จิเนีย และมหาวิทยาลัยแบลสบวร์ก กล่าวว่า เขาคิดว่ารายงายของเอ็นเอเอสชี้ชัดแล้ว และเชื่อว่า การลอกแบบพันธุกรรมจะไม่ก่อเกิดปัญหาอย่างที่วิตก เพราะว่าเทคนิคนี้ลอกแบบจากสัตว์ที่โตเต็มวัยแล้วโดยไม่ได้มีการดัดแปลงยีนแต่อย่างใด แต่กระนั้นคณะกรรมการก็ยังได้เรียกร้องให้มีการศึกษากันต่อไปหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า จำนวนสัตว์ที่เกิดจากการลอกแบบพันธุกรรมในสหรัฐขณะนี้อาจจะยังไม่ถึง 100 ตัว (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 23 กันยายน 2545 หน้า 3)





ขาดการออกกำลังกายบั่นทอนสุขภาพ ร้ายกาจเท่าสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง

ทางสหพันธ์โรคหัวใจแห่งโลกได้ระบุว่า การขาดการออกกำลังจะทำให้เสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจ มากกว่าปกติธรรมดาถึงสองเท่า และจะป่วยเป็นเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงง่ายขึ้น แม้แต่เด็กเล็กก็ไม่เว้นเช่นกัน ประธานสหพันธ์ศาสตราจารย์มาริโอ มารันเฮา กล่าวว่าวงการ แพทย์ประมาณว่า มีชาวโลกส่วนใหญ่ไม่เคยออกกำลังกาย มากถึงระหว่าง 65-85% ยิ่งเด็กๆด้วยแล้ว มีถึง 2 ใน 3 แทบจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายกันเลย ดังนั้น จึงอยากชักชวนให้มาออกกำลังกายกัน อย่างเช่น การเดินเร็ว วันละ 30 นาที ก็จะช่วยไม่ให้อ้วน ลดความเครียด ความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าลงได้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2545 หน้า 7)





จำกัดน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว

นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว โดยระบุว่าในแต่ละปีจะมีน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วจากภาคขนส่ง อุตสาหกรรม เรือประมง ประมาณ 300 ล้านลิตร ซึ่งนอกจากการนำน้ำมันเหล่านี้ไปลักลอบทิ้งตามที่ต่างๆ แล้ว ยังมีปัญหาการนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปผลิตน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพต่ำขายตามต่างจังหวัด ทำให้เกิดปัญหากับเกษตรกรนับล้านคนเพราะน้ำมันเหล่านี้จะถูกนำไปใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรและรถจักรยานยนต์ สำหรับการแก้ไขปัญหาจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกจะขอเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปีละ 300 ล้านบาท เพื่อนำไปรับซื้อน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว ส่วนขั้นตอนที่ 2 ผลักดันให้รัฐจัดระบบตลาดน้ำมันหล่อลื่นรวมทั้งอาจต้องแก้ไขกฏระเบียบ โดยใช้หลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย ด้วยการเพิ่มค่าการตลาดให้ผู้ขายน้ำมันหล่อลื่นต้นทาง ซึ่งผู้ใช้จะต้องเป็นผู้รับภาระค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นและผู้ขายน้ำมันหล่อลื่นจะต้องส่งผ่านค่าการตลาดไปให้ผู้จัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2545 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215