หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 37 ประจำวันที่ 2002-10-15

ข่าวการศึกษา

อดีตแคนดิเดตชิงอธิการบดีมจธ. ร้องศาลปกครองถอด ‘กฤษณพงศ์’
มจธ.ป.โท เทคโนโลยีสารสนเทศ
‘สุพัทธ์’ เร่งนโยบายใหม่ม.วลัยลักษณ์’
ร.ร.เก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มได้หากสอนนอกหลักสูตร
สภาแก้ร่าง พ.ร.บ. “ก.ค.ศ.” ห้ามครูทุจริตกลับรับราชการ
“นายก อ.ศ.ม.ร.” แจงเหตุผล เลือกอธิการบดีรามฯ 11 พ.ย. นี้
คนทบวงฯสับสนหลังออก กม.ปรับปรุงกระทรวง
“สาธิตจุฬาฯ” รอรัฐบาล-ชะลอเก็บ “ค่าเทอม”
องค์กรท้องถิ่นเคลื่อน – จี้ถ่ายโอนการศึกษา
แนะ “รภ.” สร้างมาตรฐานสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย
นิสิตจุฬาฯ คว้าแชมป์แต่งเพลงที่ญี่ปุ่น
กทธ.เผยผลโครงสร้างใหม่ ศธ.
ครม. อนุมัติ 434 ล้าน หนุนงานวิศวะฯ สจพ.
จุฬาฯ ชวนเยาวชนฝีปากกล้า ประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษา
โลตัส-ทบวง-มสธ.พัฒนาบัณฑิตป้อนค้าปลีก
ทบวง-ศธ.เห็นพ้องเลื่อนใช้ ‘แอดมิสชั่นส์’ ปี’ 49
ชี้ครูยังสับสน น.ร เป็นศูนย์กลาง
มช.ปลื้ม ‘อี-เลิร์นนิ่ง’ ฉลุย-เร่งขยาย 40 วิชาปี’ 46
‘ทักษิณ’ ควบรักษาการรมว.ทบวงฯ แก้ปัญหาสุญญากาศ-ไร้รัฐมนตรี
“สุรพล” ออกโรงจวก “ปองพล” อย่ามั่วนิ่ม
ทบวงฯ เตรียมรับแนวคิดปรับปรุงเอนทรานซ์ใหม่

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ต้นเนียมหูเสือไล่แมลงวันบ้าน
หุ่นยนต์เตะตะกร้อลอดห่วง งานประดิษฐ์จากเด็กเทคนิคนครนายก
เจอน้องใหม่ร่วมสุริยจักรวาลดวงโตเพียง 1 ใน 10 ของโลก
Tot โลกไร้สาย TNEP แผนขยายโครงข่าย
นาซาติดกล้องสำรวจการขึ้นของจรวด
รถยนต์น้ำมันพืช
ดาวศุกร์…กับสิ่งมีชีวิตที่รอการค้นพบ

ข่าววิจัย/พัฒนา

ไอเดียนักศึกษาไทยพัฒนาเครื่องทำเนื้อนุ่ม
โครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชุมชน
ล็อกเกอร์บัตรแม่เหล็ก
ซีเมนต์เทียม
ตู้แช่อุณหภูมิต่ำ แช่เบียร์เป็นวุ้นได้ใน 6 นาที
นักวิจัยเตือนภัย “มันฝรั่งทอด” ก่อมะเร็ง
ใช้ประโยชน์น้ำนึ่งปลาผลิตซุปปลาสกัด
ญี่ปุ่นช่วยต่อยอดให้เอ็มเทคพัฒนา ‘อะลูมินาเซรามิกส์’
สิ่งประดิษฐ์ฝีมือไทย : เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนม
อังกฤษร่วมมือไทยวิจัยเด็กในครรภ์จนโต
เมธีวิจัยอาวุโส

ข่าวทั่วไป

สมเด็จฯทรงห่วงหิ่งห้อยสูญพันธุ์
ขึ้นบัญชี “โมโนโครโตทอส” ยาปราบแมลงอันตราย
อภ. ช่วยชาวบ้านลดราคายา 23 รายการ
“ข้ออักเสบ” รุมคนไทยยอดพุ่ง
‘องค์การเภสัช’ ผลิตยาเอดส์เม็ด
สาววัยรุ่นอย่าไปริสูบบุหรี่เข้าเท่ากับท้าทายมะเร็งทรวงอก
ประกาศผลสุดยอดลานกีฬาดีเด่น กทม.
ตาแดงอย่าซื้อยาหยอดมาใช้เองอาจอันตรายจนถึงขั้นตาบอด
เตือนอุตฯไฟฟ้าใช้วัสดุเบาอียูออกกฏเข้มงวดขยะสินค้า
ภูมิปัญญาท้องถิ่นดัดแปลงอาหารเพื่อสุขภาพ





ข่าวการศึกษา


อดีตแคนดิเดตชิงอธิการบดีมจธ. ร้องศาลปกครองถอด ‘กฤษณพงศ์’

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายเดช พุทธเจริญทอง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า เช้าวันเดียวกันนี้ตนได้เข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยที่แต่งตั้ง ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นอธิการบดี มจธ.อีกสมัย เพราะเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและกฎหมาย เนื่องจากการสรรหาอธิการบดี มจธ. เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใสและเลือกปฏิบัติ เช่น กำหนดวันเลือกผู้เหมาะสมที่ มจธ.วิทยาเขตบางมด และวิทยาเขตบางขุนเทียนไม่เท่ากัน ติดประกาศไม่ชัดเจน และกำหนดวันลงคะแนนสรรหาในช่วงที่บุคลากรไม่อยู่ นอกจากนี้ กรรมการสรรหาซึ่งมีนายพจน์ สะเพียรชัย เป็นประธานสรรหาได้กำหนดให้ประชาคม มจธ.ประเมินผู้เข้ารับการสรรหา 4 ด้าน โดยการลงคะแนนคือ การบริหาร ความเป็นผู้นำ วิชาการ และมนุษยสัมพันธ์ ปรากฏว่าตนได้คะแนนทั้ง 4 ด้าน มากกว่านายกฤษณพงศ์ ซึ่งตามระเบียบการสรรหาจะเน้นคะแนนในส่วนนี้เป็นหลักในการนำชื่อเสนอสภา มจธ. เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแต่งตั้ง แต่ตามข้อเท็จจริงในการนำเสนอสภา มจธ. ของคณะกรรมการสรรหากลับไม่ใช้ โดยระบุว่าผลการประเมินใช้ไม่ได้ ทั้งที่ตนได้เสนอว่าถ้าใช้ไม่ได้ก็ควรเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ (มติชน อังคารที่ 8 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





มจธ.ป.โท เทคโนโลยีสารสนเทศ

ผศ.ดร.บวร ปภัสราทร รักษาการคณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีนิสิตจบใหม่และคนทำงานหลั่งไหลมาสมัครสอบนับพันๆ คน แต่ทาง มจธ. สามารถรองรับได้เพียงปีละ 140 คน เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของคณาจารย์ที่ทางคณะเจาะจงว่า ต้องจบระดับดอกเตอร์เท่านั้น เพื่อมาตรฐานการสอนที่มีคุณภาพ โดยการรับนักศึกษาระดับ ป.โทจะแบ่งการรับเป็น 2 ส่วน คือ รับคนที่จบปริญญาตรีด้านไอทีโดยตรง 50% และจบสาขาวิชาอื่นๆ อีก 50% เพื่อให้นักศึกษาในห้องมีความหลากหลายด้านความรู้และแนวคิด นักศึกษาที่จบ ป.ตรี สาขาอื่นต้องได้รับการปูพื้นฐานความรู้ด้านไอที 1 ปีเต็ม ก่อนที่จะเรียนร่วมกับคนที่จบ ป.ตรีด้านไอทีโดยตรงโดยการเรียน ป.โท ปี 2 จะเน้นการทำงานกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากหลากหลายอาชีพได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เป็นกลยุทธ์หลักที่ตอบสนองปรัชญาของคณะที่ว่าศึกษาที่จบปริญญาโทจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศต้องคุยกับคนอื่นรู้เรื่องเข้าใจ และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ รวมทั้งมีการทดสอบประสิทธิภาพความรู้ก่อนจบ เพื่อรับใบประกาศนียบัตรด้านวิชาชีพไอทีจากบริษัทชั้นนำอย่าง 3COM และ ORACLE เป็นการการันตีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนว่านักศึกษาที่จบมีคุณภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ (เดลินิวส์ พุธที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 16)





‘สุพัทธ์’ เร่งนโยบายใหม่ม.วลัยลักษณ์’

นายสุพัทธ์ ภู่ผกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) คนใหม่ เปิดเผยถึงการเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี มวล.ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภามหาวิทยาลัย มวล.มีมติเห็นชอบให้ตนดำรงตำแหน่งอธิการบดี มวล.คนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา แทนนายนักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสิ่งใดเร่งด่วน มีเพียงต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนคณาจารย์ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันคณาจารย์ของ มวล.จะมีคุณภาพสูง แต่อาจจะยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเชิญอาจารย์จากสถาบันอื่นมาช่วยสอน ดังนั้นนโยบายของ มวล.ในขณะนี้คือ จะต้องเร่งพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ของ มวล.เอง ประวัติโดยสังเขปของนายสุพัทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2942 เป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และตำแหน่งสุดท้าย คือผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (มติชน อังคารที่ 8 ตุลาคม 2545 หน้า 21)





ร.ร.เก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มได้หากสอนนอกหลักสูตร

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมพิจารณาแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองสถานศึกษาของรัฐและเอกชนว่า ในการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม จะยึดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2542 ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายที่รัฐไม่เก็บจากผู้ปกครอง คือ ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน ส่วนเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส รัฐจะให้ค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติม แต่จะต้องมีการตีความว่าเด็กพิการและด้อยโอกาสหมายถึงใคร สำหรับในส่วนของสถานศึกษาของรัฐ หากจะเรียกเก็บก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาที่นอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปกติทั้งนี้ต้องได้รับเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียนโดยไม่บังคับ (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545 หน้า 8)





สภาแก้ร่าง พ.ร.บ. “ก.ค.ศ.” ห้ามครูทุจริตกลับรับราชการ

นายเพิ่ม หลวงแก้ว โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( ก.ค.ศ.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นำบัญชีอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.ก.ค.ศ.ด้วย จากเดิมที่ไม่ได้แนบมาด้วย แต่รายละเอียดเรื่องอัตราเงินเดือนให้นำมาพิจารณาครั้งหน้า เช่นเดียวกับเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ. สถานศึกษา ซึ่งที่ประชุมยังหาข้อยุติไม่ได้ ทั้งนี้สำหรับการลงโทษข้าราชการครูซึ่งเดิมระบุให้ครูที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะกระทำผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ตามมติ ก.ค.ศ. สามารถกลับเข้ารับราชการได้อีกภายหลังพ้นราชการแล้ว 3 ปี ที่ประชุมเห็นว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เมื่อกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ก็ไม่สมควรได้กลับเข้ารับราชการอีก จึงเห็นควรให้แก้ไขโดยไม่ให้กลับเข้ารับราชการอีก (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545 หน้า 21)





“นายก อ.ศ.ม.ร.” แจงเหตุผล เลือกอธิการบดีรามฯ 11 พ.ย. นี้

ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษา มร.ได้เริ่มทยอยมาฟัง นายวีรวัฒน์ รัตนะ ประธานสภานักศึกษา มร. และกรรมการอำนวยการสรรหาอธิการบดี มร.คนใหม่ ซึ่งกล่าวปราศรัยคัดค้านกรณี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสรรหาฯ กำหนดวันหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งอธิการบดี มร. ในวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยอ้างว่าอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน พร้อมทั้งขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เพื่อรักษาสิทธินักศึกษา ซึ่งจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อ พล.ต.อ.สุนทรก่อนเริ่มประชุมคณะกรรมการอำนวยการสรรหาฯ ด้านนายอนุชิต สกุลบุญมา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรรมการอำนวยการสรรหาอธิการบดี มร.กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการอำนวยการยังไม่ได้รับรองมติกำหนดวันที่ 11 พฤศจิกายนเป็นวันเลือกตั้ง แต่มีความเห็นว่าเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด เพราะตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน นักศึกษาจะเริ่มออกค่ายอาสาประมาณ 1 เดือน และวันที่ 18 พฤศจิกายน สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจะปิดภาคเรียนจนถึงช่วงปีใหม่ ส่วนช่วงเดือนธันวาคม 2545-มกราคม 2545 ก็เป็นช่วงรับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมคณะกรรมการวันที่ 4 ตุลาคม คงจะได้เสนอเหตุผลเพื่อให้ได้ข้อสรุป (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





คนทบวงฯสับสนหลังออก กม.ปรับปรุงกระทรวง

นายสุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานภาพของทบวงมหาวิทยาลัย ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ว่าจริงๆ แล้วทบวงมหาวิทยาลัยสิ้นสุดสถานภาพลงตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมาตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติให้ยุบรวมเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) เพื่อตั้งกระทวงการศึกษาใหม่ขึ้นมา แต่ก็ถือว่ายังมีทบวงฯชั่วคราวตามบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ตาม เมื่อขณะนี้มี พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ตามนโยบายปฏิรูประบบราชการของรัฐบาลแล้ว ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นว่ารักษาการรัฐมนตรีว่าการทบวงฯนั้น ควรจะพิจารณาตามสายงาน โดยมอบให้กับนายปองพลเป็นผู้รักษาการ เพราะตามโครงสร้างใหม่ทบวงฯจะต้องยุบรวมกับ ศธ. อยู่แล้ว และนายปองพลเองก็รู้เรื่องมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี เพราะเป็นประธานคณะกรรมการเข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยด้วย (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





“สาธิตจุฬาฯ” รอรัฐบาล-ชะลอเก็บ “ค่าเทอม”

นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการจัดเก็บค่าเล่าเรียนนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาฯ ในภาคเรียนที่ 2/2545ว่า อธิการบดีจุฬาฯได้พิจารณาเห็นควรให้โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ชะลอการเก็บเงินค่าเทอมในภาคที่ 2/2545 ออกไปจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีของรัฐบาล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งทำให้ขณะนี้ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ยังไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วควรต้องปฏิบัติอย่างไร เท่าที่ทราบเพียงว่าโรงเรียนสาธิตฯ ได้รับเงินอุดหนุนเท่ากับโรงเรียนอื่นๆ ซึ่งจะไม่สามารถบริหารโรงเรียนได้ ดังนั้น กลุ่มโรงเรียนสาธิตสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยกำลังจะจัดหารือในระดับนโยบาย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ด้วย (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





องค์กรท้องถิ่นเคลื่อน – จี้ถ่ายโอนการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรีและสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “การประเมินความก้าวหน้าเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการภายในท้องถิ่น” ทั้งนี้ นายสมชาย เสียงหลาย ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดการศึกษายังยึดโยงกับการให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการ ไม่ปล่อยให้ท้องถิ่นได้ดูแลเอง จากตัวเลขของนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีไม่ถึง 6% ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่รัฐบาลมองว่าท้องถิ่นไม่พร้อม จึงต้องมีการกำหนดเกณฑ์ในการประเมินความพร้อมในการถ่ายโอน นายพิชัย สัตตารักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดสมอราย เทศบาลนครราชสีมา กล่าวว่าในส่วนของเทศบาลทั้ง 1,129 แห่งทั่วประเทศ มีเพียง 130 แห่งที่จัดการศึกษา โดยมีโรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้งสิ้น 500 กว่าโรง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ สำหรับการถ่ายโอนการศึกษากลับมาสู่นครเทศบาลในครั้งนี้นั้น ขอให้ทำอย่างจริงใจ (มติชนรายวัน วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





แนะ “รภ.” สร้างมาตรฐานสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย

นายปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ให้สัมภาษณ์ ภายหลังร่วมประชุมปฏิบัติการ ปรับวิสัยทัศน์การจัดงบประมาณ เพื่อเตรียมความพร้อมของสถาบันราชภัฏสู่การเป็นมหาวิทยาลัย ณ โรงแรมสุภารอยัลบีช อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ว่าสถาบันราชภัฏ (รภ.) ต้องยอมรับความจริงว่ามีข้อจำกัดหลายอย่าง ประการแรกคือ คนที่จะเข้ามาเรียนส่วนใหญ่ครอบครัวมีรายได้ไม่สูงมากนัก และสอบเข้ามหาวิทยาลัยอื่นไม่ได้แล้ว จึงเป็นคนที่มีความรู้ด้อย เหล่านี้เป็นสภาพปัญหาที่ราชภัฏต้องพบเจอ และจะถูกคาดหวังไว้สูง ในขณะที่กำลังสนับสนุนน้อยมาก คุณภาพและความรู้สึกของคณาจารย์ งบประมาณก็แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ อีกทั้งต้องรับผิดชอบการสอนมาก อาจารย์ไม่มีเวลาไปทำวิจัย หรือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม (มติชนรายวัน วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 21)





นิสิตจุฬาฯ คว้าแชมป์แต่งเพลงที่ญี่ปุ่น

สิรเศรษฐ ปัณฑุรอัมพร นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาดุริยางคศิลป์ (ตะวันตก) คณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกการประพันธ์เพลง ผู้ได้รับรางวัลอิริโนะ ครั้งที่ 23 จากการประกวดแต่งเพลงสำหรับวงออร์เคสตร้า ประจำปี 2545 ซึ่งถือเป็นรางวัลชนะเลิศ นอกจากนี้บทเพลงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะออกแสดงโดยวงนิวฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตร้า แห่งประเทศญี่ปุ่น ( The New Japan Philharmonic Orchestra) รางวัลอิริโนะ ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิ รางวัลอิริโนะ เพื่อระลึกถึงนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นชื่อ โยชิโร อิริโนะ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่มีเกียรติสำหรับวงการดนตรีในระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลกในการจัดประกวดการประพันธ์เพลงเป็นประจำทุกปี สำหรับปี 2545 นี้ ได้เปิดโอกาศให้นักแต่งเพลงที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ส่งบทเพลงสำหรับวงออร์เคสตร้า มาตรฐานเข้าประกวดเพลงต้องมีความยาว 10-20 นาที และมีเงื่อนไขว่าบทเพลงที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นเพลงใหม่ที่ไม่เคยได้รับรางวัลและไม่เคยออกแสดงที่ใดมาก่อน โดยในปีนี้มีผู้ส่งบทเพลงเข้าประกวดทั้งสิ้น 79 เพลง จาก 25 ประเทศทั่วโลก กรรมการตัดสิน 9 คน เป็นชาวญี่ปุ่นทั้งหมด สิรเศรษฐได้ส่งบทเพลงชื่อ “โครมอสเฟียร์” บทกวีแห่งพระอาทิตย์ (Chromosphere; Poem of the sun) เข้าร่วมประกวด สำหรับนักดนตรี 65 คน และนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





กทธ.เผยผลโครงสร้างใหม่ ศธ.

นายพิษณุ ตุลสุข โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญแปรญัญัติร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 75 มาตรา โดยได้ข้อยุติว่ากระทรวงศึกษาธิการจะมี 6 กรมหลัก ได้แก่ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ ส่วนโครงสร้างอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นที่พอในของทุกฝ่ายแล้ว เช่น งานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ก็จะเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง แต่จะมีพื้นที่พิเศษของ กศน. เป็นการเฉพาะขึ้นตรงกับส่วนกลาง อย่างไรก็ตามขณะนี้เหลือเพียงของงานการศึกษาเอกชนเพียงประเด็นเดียวที่มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้ เนื่องจากยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าควรให้การศึกษาเอกชนเป็นหน่วยงานอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงเช่นเดียวกับ กศน. หรืออยู่กับเขตพื้นที่การศึกษามากกว่า จึงต้องรอหาข้อยุติอีกครั้งหนึ่ง(สยามรัฐ วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





ครม. อนุมัติ 434 ล้าน หนุนงานวิศวะฯ สจพ.

นายวรเดช จันทศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากการประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณสนับสนุน ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ดำเนินงานโครงการพัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมระดับอุดมศึกษา จำนวน 434.87 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินกู้ 425.68 ล้านบาท และงบฯ สมทบอีก 9.19 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะเน้นการพัฒนานิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรีให้มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมเครื่องกล เครื่องเชื่อม อิเล็กทรอนิกส์และโยธา และคาดว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาเหล่านี้ได้ปีละประมาณ 1,240 คน โดยส่วนหนึ่งจะเข้ามาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์สอนในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และจะพัฒนาศักยภาพของผู้จบการศึกษาออกไปประกอบอาชีพเป็นช่างฝีมือแรงงานเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในประเทศอีกด้วย (สยามรัฐ วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





จุฬาฯ ชวนเยาวชนฝีปากกล้า ประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษา

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดโครงการ “ถวายงานผ่านภาษา” ซึ่งเป็นการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2545 ครั้งที่ 3 ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทุนการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายในการรณรงค์ให้เยาวชนไทย รู้จักการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม และน้อมนำเอาพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการส่งเสริมคนดีมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาของสังคมไทยได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการประกวดในครั้งนี้ ได้ปรับรูปแบบโดยจัดให้มีการประกวดแบบสัญจรทั่วทุกภาค โดยสถาบันที่เข้าร่วมแข่งขันสามารถส่งผู้ประกวดได้ 2 คน ส่วนหัวข้อหลักที่ใช้ในการประกวด คือ “ตามรอยพระยุคลบาทช่วยชาติได้อย่างไร” โดยจะต้องนำเสนอแนวทาง ปฏิบัติสำหรับบุคคล องค์กร หรือสังคม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในภาวะปัจจุบันหรือพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว โดยยึดถือแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญ และผู้พูดใช้เวลาพูดคนละ 7 นาที แบ่งเป็นหัวข้อย่อยตามสภาพภูมิภาค 6 หัวข้อ ภาคเหนือ หัวข้อ “ความเพียรนำไปสู่ความสำเร็จ” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวข้อ “ความอดทนนำตนพ้นวิกฤติ” ภาคตะวันออก หัวข้อ “คุณธรรมนำชุมชนให้พ้นภัย” ภาคกลาง หัวข้อ “เยาวชนที่ดีต้องมีวินัย” ภาคใต้ หัวข้อ “สามัคคีคือพลังสร้างชุมชน” และกรุงเทพฯ- ปริมณฑล หัวข้อ “ผู้นำที่ดีต้องมีคุณธรรม” ทั้งนี้หัวข้อรอบชิงชนะเลิศ คือ “เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชาติรอด” (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





โลตัส-ทบวง-มสธ.พัฒนาบัณฑิตป้อนค้าปลีก

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ปรึกษาโครงการเพื่อการศึกษาสำหรับบัณฑิตชั้นปีที่ 3-4 และบัณฑิตว่างงาน เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการว่า เทสโก้โลตัส ร่วมกับทบวง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดโครงการเทสโก้โลตัสบูรณาการเรียนรู้และการทำงานเพื่อนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย และโครงการเทสโก้โลตัส บูรณาการเรียนรู้และการทำงานเพื่อบัณฑิตว่างงาน ทั้งนี้ ในโครงการเทสโก้โลตัส บูรณาการเรียนรู้และการทำงานเพื่อนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย จะเปิดรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและต้องศึกษาในสาขาการเกษตรและสหกรณ์ในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมค้าปลีก เช่น การจัดการการผลิตพืช การจัดการการผลิตสัตว์ และไบโอเทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาบริหารธุรกิจ การตลาด บัญชี และการเงิน สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสารสนเทศ สาขาการจัดการโรงแรม และสาขาคหกรรมศาสตร์ ทั้งต้องมีผลการเรียนเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป ซึ่งบริษัทจะมอบทุนการศึกษาต่อเนื่อง 2 รุ่น ปีละ 50 ทุน ทุนละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 100 ทุน อย่างไรก็ดี โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองนำร่อง ซึ่งจะดำเนินโครงการช่วงแรกเป็นเวลา 2-3 ปี และเปิดรับบัณฑิตว่างงานในสาขาต่างๆ เช่นเดียวกับโครงการแรก จำนวน 30 คนต่อปี จากนั้นจะประเมินผลและอาจมีการขยายเป็นหลักสูตรถาวรต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสื่ออุปกรณ์การศึกษา ค่าเล่าเรียน และค่าตอบแทนระหว่างการทำงาน ทางบริษัทจะจ่ายให้ทั้งหมด ผู้รับทุนจาก 2 โครงการ จะไม่มีพันธะผูกพันใดๆ กับบริษัท (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 8)





ทบวง-ศธ.เห็นพ้องเลื่อนใช้ ‘แอดมิสชั่นส์’ ปี’ 49

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการนโยบายการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารทบวงฯ และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่หรือแอดมิสชั่นส์ ที่กำหนดให้พิจารณาจากค่าน้ำหนักในส่วนของผลการเรียนในชั้น ม.ปลาย 25% แบ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้น ม.ปลาย หรือ GPA และค่าเปอร์เซ็นไทล์ แรงก์ หรือ PR รวม 10% และผลพัฒนาการของนักเรียน ม.ปลาย การเข้าร่วมกิจกรรม และข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนที่ปรากฏในทรานสคริปต์รวมอีก 15% และ National Test หรือข้อสอบมาตรฐานกลาง ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และแบบทดสอบศักยภาพรวมอีก 75% อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รอบคอบมากกว่านี้ที่ประชุมจึงมีมติให้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทั่วประเทศใน 5 กลุ่ม คือ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ใช้บัณฑิต โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยนั้นที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รับไปดำเนินการเอง นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า ระบบแอดมิสชั่นส์จะเริ่มใช้กับนักเรียนอยู่ชั้น ม.3 ในเวลานี้ และจะจบชั้น ม.6 ในปี 2549 ซึ่งจะตรงกับที่มีสำนักทดสอบกลางแห่งชาติเกิดขึ้น (มติชน พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





ชี้ครูยังสับสน น.ร เป็นศูนย์กลาง

นางอรุณี วิริยะจิตรา ที่ปรึกษาภาควิชาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพการเรียนการสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกำลังมีปัญหามากมาย ทำให้นักเรียนออกมาโวยวายว่า ครูโยนงานให้เด็กทำเองหมด เนื่องจากครูส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าการสอนในรูปแบบดังกล่าวเป็นอย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วรูปแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลางคือ การแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่โยนงานให้นักเรียนทำ ฉะนั้นถ้าผู้สอนยังไม่เข้าใจ ในขณะที่ระดับนโยบายให้นำรูปแบบนี้มาใช้ในทุกระดับชั้นโดยเฉพาะประถมและมัธยมศึกษา สภาพการเรียนการสอนคงแย่กันไปหมด (มติชน พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





มช.ปลื้ม ‘อี-เลิร์นนิ่ง’ ฉลุย-เร่งขยาย 40 วิชาปี’ 46

นายชัยธวัช เสาวพนธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า จากที่ มช.มีนโยบายจัดทำ E-Learning หรือการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ภาคเรียน 1/2545 ที่ผ่านมา โดยได้จัดทำใน 5 รายวิชาพื้นฐาน ด้วยระดับรายวิชาออนไลน์คุณภาพสูงในรูปของมัลติมีเดีย ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งผู้สอนและผู้เรียน รวมทั้งมีความต้องการให้เพิ่มจำนวนรายวิชาในคณะต่างๆ มากขึ้น โดยในปีการศึกษา 2546 สำนักบริการคอมพิวเตอร์จะพัฒนาเทคโนโลยีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ E-Learning โดยฝึกอบรมบุคลากรและผู้สอน เพื่อผลิต E-Learning ในระดับรายวิชาออนไลน์เชิงโต้ตอบ และประหยัดด้วยการใช้ตัวอักษร ภาพ เสียง และวีดีทัศน์ ประกอบการเรียนการสอน ซึ่งระดับรายวิชาที่ผู้สอนสามารถพัฒนารายวิชาได้เอง ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการบริหารหลักสูตรงานสอนจาก E-Learning ยังทำให้ผู้เรียนศึกษาเนื้อหาในลักษณะออนไลน์ หรือจากซีดี-รอมได้ และสามารถนำเสนอโดยอาศัยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และเทคโนโลยีเชิงโต้ตอบด้วย คาดว่าในปีการศึกษาหน้าจะผลิต E-Learning ได้อย่างน้อย 40 รายวิชา ( มติชน พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 20)





‘ทักษิณ’ ควบรักษาการรมว.ทบวงฯ แก้ปัญหาสุญญากาศ-ไร้รัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายวิจิตร ศรีสอ้าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และการทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่ผ่านมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่รอบคอบ เพราะทำให้ทบวงฯ เกิดสุญญากาศเพราะไม่มีรัฐมนตรีว่าการ ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงฯ ทบวงมหาวิทยาลัยต้องไปหลอมรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) แต่ขณะนี้โครงสร้างกระทรวงใหม่ยังไม่เกิดขึ้น ต้องรอจนกว่าร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการจะมีผลบังคับใช้ซึ่งเชื่อว่าคงจะผ่านวุฒิสภาได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2546 (มติชน เสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2545 หน้า 15)





“สุรพล” ออกโรงจวก “ปองพล” อย่ามั่วนิ่ม

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เผยกรณีที่นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ให้เริ่มดำเนินการโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่ว่า ขณะนี้ความเข้าใจผิด คิดว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับแก้ไข ซึ่งปลาย ต.ค.นี้ จะประกาศให้ใช้ในราชกิจจาจุเบกษา จะสามารถบริหารตามโครงสร้างใหม่ที่มี 5 องค์กร รวมถึงการประกาศเขตพื้นที่การศึกษา 175 เขต สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะเวลานี้ทุกอย่างยังบริหารเช่นเดิมที่ยังมีศธ.ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ตามมาตรา 51, 51 วรรค 2 และ 52 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวง ทบวง กรม ที่ให้คงหน่วยงานดังกล่าวจนกว่า ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 กลาง ต.ค.นี้ จากนั้นจะเข้าสู่วุฒิสภา คาดว่ากว่าจะมีผลบังคับใช้คงเป็นปลาย ก.พ. 2546 หากจะให้บริการตามโครงสร้างใหม่ก็จะเป็นเพียงการสมมติที่ไม่มีฐานกฎหมายรองรับ และไม่สามารถสั่งการข้ามกรมได้ ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ช่วง 4 เดือนนี้ แม้ยังไม่สามารถบริหารตามโครงสร้างใหม่ได้ แต่สามารถเตรียมการได้ ทั้งการบริหารงบประมาณ บุคลากร และอำนาจการสั่งการ เช่นการตั้งกรรมการสรรหาผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เพื่ออบรมทำความเข้าใจและการจัดกรอบอัตรากำลัง เพราะหากไม่เตรียมการจะโกลาหลเหมือนเช่นกฎหมายปฏิรูประบบราชการ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2545 หน้า 15)





ทบวงฯ เตรียมรับแนวคิดปรับปรุงเอนทรานซ์ใหม่

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการกำหนดน้ำหนักของคะแนนจากองค์ประกอบต่างๆ ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (เอนทรานซ์) โดย 25% ของคะแนนทั้งหมดจะประกอบด้วยผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPA) 5% ค่าตำแหน่งลำดับที่ (Percentile rank) 5% และคะแนนพัฒนาการของผู้เรียน การเข้าร่วมกิจกรรมและข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนที่ปรากฏใน Transcript 15% ส่วนอีก 75% จะมาจากผลการสอบ National test ผลการสอบวัดศักยภาพในการเรียนระดับอุดมศึกษาและผลการสอบวัดความถนัดในสาขาวิชาชีพนั้น ทั้งนี้ทบวงฯจะจัดการการประชุมรับฟังความคิดเห็นการกำหนดแนวทางการเอนทรานซ์ดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้อง 5 กลุ่ม ได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครอง ครูตัวแทนมหาวิทยาลัย และตัวแทนผู้ประกอบการ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 50,000 ตัวอย่างให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนรวมทั้งจะมีการเปิดรับความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของทบวงมหาวิทยาลัยด้วย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 14)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ต้นเนียมหูเสือไล่แมลงวันบ้าน

พรรณี ลีลาดี หรือน้องแหวน นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และเป็นเจ้าของผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องศึกษาการใช้ต้นเนียมหูเสือเพื่อไล่แมลงวันบ้าน โดยมี อ.ธาริดา สริยาภรณ์ อ.เสริม วัฒนโชค และ อ.ราตรี คำเทียนทอง จากหมวดวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบดินทรเดชาฯ เป็นที่ปรึกษา และมี รศ.ดร.อภิชาต สุขสำราญ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นที่ปรึกษาพิเศษ โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ต้นเนียมหูเสือในการไล่แมลงวันบ้าน เริ่มจากนำใบและต้นไปทดสอบ โดยนำไปใส่รวมกับปลาป่นแล้วนำไปไว้ในกรงที่มีแมลงวันบ้านอยู่ ปรากฏว่าส่วนของใบสามารถไล่แมลงวันบ้านได้ดีกว่าส่วนลำต้น จากนั้นจึงได้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบเนียมหูเสือ แล้วนำน้ำมันหอมระเหยที่ได้ไปทดสอบโดยนำไปทาภาชนะที่ใส่ปลาป่นแล้วจึงใส่กรงที่มีแมลงวันอยู่ ปรากฏว่าน้ำมันหอมระเหยนี้สามารถไล่แมลงวันบ้านได้ดี ซึ่งคาดว่าจะนำไปใช้ไล่แมลงวันในแหล่งที่มีแมลงวันชุกชุมได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์(เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2545 หน้า 24)





หุ่นยนต์เตะตะกร้อลอดห่วง งานประดิษฐ์จากเด็กเทคนิคนครนายก

วิทยาลัยเทคนิคนครนายก ได้ส่ง หุ่นยนต์เตะตะกร้อลอดห่วง ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนนักศึกษาแผนกช่างวิชาไฟฟ้า โดยทางวิทยาลัยเทคนิคนครนายกเป็นผู้ให้การสนับสนุนและมี นายมะโน ส้มกลีบ ผช.ผอ. วิทยาลัยเทคนิคฯ และนายอนันต์ ลิ่มเชย หน.แผนกช่างไฟฟ้าฯและคณะอาจารย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเป็นผู้ควบคุมทีมส่งเข้าประกวดในการแข่งขันร่วมกับวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดกรมอาชีวศึกษาที่ส่งหุ่นยนต์เข้าประกวด จำนวน 88 ทีม ผลปรากฏว่า หุ่นยนต์เตะตะกร้อลอดห่วง ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นฝีมือของนักเรียนนักศึกษาแผนกวิชาช่างไฟฟ้าวิทยาลัยเทคนิคนครนายกได้รับรางวัลชนะเลิศ สำหรับในการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค็ของนักศึกษาที่มีการประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านต่างๆ โดยมีการทำงานทำงานกันแบบเป็นทีมทั้งนี้ก็เพราะว่าในหุ่นยนต์ 1 ตัวนั้นจะต้องผสมผสานความรู้หลากหลายทั้งเรื่องโครงสร้างของหุ่นยนต์ การขับเคลื่อน และการควบคุมในระบบต่างๆ เช่น การเก็บลูกตะกร้อ การยิงลูกตะกร้อให้เข้าห่วง ซึ่งล้วนจะต้องใช้ความรู้นำมาใช้แทบทั้งสิ้น (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545 หน้า 32)





เจอน้องใหม่ร่วมสุริยจักรวาลดวงโตเพียง 1 ใน 10 ของโลก

ดาวน้องใหม่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1,280 กม. หรือแค่เพียง 1 ใน 10 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของโลกถือได้ว่าเป็นดาวใหม่ลูกใหญ่ที่สุด นับแต่พบดาวพลูโตมานานถึง 72 ปีแล้ว นักดาราศาสตร์ไมเคิล บราวน์ ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ผู้ค้นพบกล่าวเปรียบเทียบว่า “ถ้าเอาดาวเคราะห์น้อยที่นับได้ 50,000 ดวง มารวมกันก็ยังโตไม่เท่ามัน ก็นับว่ามันใหญ่พอดูเหมือนกัน มันโคจรอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่าแถบคูเปอร์ อันเป็นบริเวณที่มีวัตถุประกอบด้วยหินและน้ำแข็งมากมาย โคจรรวมกันอยู่เป็นฝูง อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป เชื่อกันว่าพวกเหล่านี้ เป็นเศษเดนที่เหลือจากการก่อตัวของสุริยจักรวาลเมื่อห้าพันล้านปีมาแล้ว การค้นพบวัตถุใหม่นี้ ทำให้เกิดความหวังกันว่า อาจจะมีวัตถุที่มีขนาดใหญ่โตเท่าดาวพลูโตซ่อนอยู่อีก และ1 ปีของดาวใหม่นี้นานเทียบเท่ากับ 288 ปีของโลกเรา (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





Tot โลกไร้สาย TNEP แผนขยายโครงข่าย

SDH หรือระบบสื่อสัญญาณความเร็วสูงของ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นระบบที่มีคุณสมบัติเหนือกว่า PDH ตรงมีการเชื่อมต่อ 2 ชั้น แบ่งกันทำงานระหว่างเครือข่ายภายในกับเครือข่ายภูมิภาค ซึ่งทำให้การสื่อสารเร็วขึ้นเพราะแบ่งแยกชัดเจน แต่ในเวลาเดียวกันก็ช่วยเรื่องความมั่นคง เพราะหากเกิดขัดข้องเช่น สายเคเบิลโดนรถชนขาด ระบบก็จะวิ่งสวนกลับแล้วแสวงหาช่องทางเพื่อสื่อสารให้ได้ เทคโนโลยีนี้สำหรับการใช้โทรศัพท์เพื่อการพูดกันธรรมดาระหว่างเครื่องที่บ้านกับเครื่องที่สำนักงานอาจจะไม่เห็นคุณค่า แต่ในสภาพปัจจุบันการสื่อสารผ่านเครือข่ายเป็นทั้งการติดต่อผ่านระบบโทรศัพท์มือถือและการส่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลชนิดตัวอักษร ภาพ และเสียง ซึ่งต้องการความรวดเร็วและแม่นยำสูง จึ่งถือได้ว่ามันคือเทคโนโลยีของวันนี้อย่างแท้จริง SDH เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายโครงข่าย (Transmission Network Expansion Project) หรือ TNEP ของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2538-2541 ด้วยงบประมาณ 10,400 ล้านบาทเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ จะทำให้ผู้ใช้สามารถพูดโทรศัพท์พร้อมกันได้ 941,100 วงจร (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 16)





นาซาติดกล้องสำรวจการขึ้นของจรวด

เว็บไซด์ซีเอ็นเอ็นดอทคอมรายงานการส่งยานอวกาศล่าสุด แอตแลนติสของนาซาขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศว่า นาซาได้มีการติดตั้งกล้องไว้ที่ตัวยานเพื่อเก็บภาพระหว่างที่ยานอวกาศถูกปล่อยออกจากฐานส่งจรวด เคนเนดี้ สเปซ เซ็นเตอร์ ขณะยานขึ้นสู่อวกาศในช่วงเวลา 8 นาที 30 วินาที รวมถึงทัศนียภาพรอบๆ ยานระหว่างโคจรอยู่ในอวกาศ ก่อนที่นักบินอวกาศจะเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก รายงานข่าวแจ้งว่า กล้องดังกล่าวจะเก็บภาพตั้งแต่เริ่มเกิดประกายไฟจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงขณะขึ้น การแบ่งแยกเชื้อเพลิงในช่วงเวลาต่างๆ ระหว่างขึ้น และการมอดไหม้ของเชื้อเพลิงเมื่อถึงที่หมายและเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก อย่างที่นักบินคุ้นเคยเมื่อถึงอวกาศ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า16)





รถยนต์น้ำมันพืช

ประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าฯ บอกว่า รถน้ำมันพืชวิ่งมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว โดยเยาวชนแกนนำที่ผ่านการอบรมจะมาขอยืมรถน้ำมันพืชไปจัดนิทรรศการตามโรงเรียนและชุมชนต่างๆ ตามแนวคิดที่ว่า เพื่อนคุยกับเพื่อนจะสร้างความเข้าใจและจดจำได้ดีกว่าให้ครูมาสอน รถยนต์น้ำมันพืชใช้เครื่องยนต์ดั้งเดิมที่ออกจากโรงประกอบรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า เป็นเครื่องดีเซลเผาไหม้ 2 ชั้น Prechamber แต่เพิ่มอุปกรณ์ที่เรียกว่าหัวเผา Glow Plug เพื่อช่วยในการสตาร์ตเครื่องยนต์ น้ำมันพืชจากถั่วเหลือง ปาล์ม หรือ ทานตะวัน ก็สามารถใช้ได้ทั้งนั้น แต่ที่สำคัญที่สุด คือ รถน้ำมันพืชจะไม่มีมลพิษ ในปีหน้านี้อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะขยายการบริการรถน้ำมันพืชเพิ่มเป็น 6-12 คัน ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หมู่ 4 ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77000 โทร 0-3266-1726,0-3266-1098 โทรสาร 0-3266-1727 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2545 หน้า 24)





ดาวศุกร์…กับสิ่งมีชีวิตที่รอการค้นพบ

ข้อมูลที่นักวิจัยจาก University of Texas ซึ่งเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากภารกิจการสำรวจดาวอังคารของรัสเซียที่ชื่อว่า Rusian Venera space mission และ US Pioneer Venus ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้แสดงให้เห็นว่ามีข้อมูลบางอย่างที่น่าจะบ่งบอกได้ว่าบนดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิต น่าเสียดายที่ว่ากว่าที่เราจะได้คำตอบที่แน่ชัดก็คงต้องอาศัยเวลาอีกหลายปีเนื่องจากภารกิจในการสำรวจดาวศุกร์ของ European Space Agency ที่มีชื่อว่า Venus Express Mission นั้นกว่าจะได้ฤกษ์ปล่อยยานอวกาศก็ราวๆ ปี ค.ศ.2005 (เดลินิวส์ พุธที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ไอเดียนักศึกษาไทยพัฒนาเครื่องทำเนื้อนุ่ม

นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โชว์นวัตกรรมเครื่องอัดความดันสูงสำหรับอาหารทำให้เนื้อนุ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางความร้อนหรือใช้สารเคมี คุณค่าทางอาหารยังอยู่ครบถ้วน นายศิระ จั่นฤทธิ์ หรือน้องเบิร์ด เจ้าของผลงานเครื่องทำเนื้อนุ่ม เปิดเผยว่า การทำเนื้อนุ่มโดยการอัดความดันสูงสำหรับอาหารเป็นการประยุกต์ความดันสูงที่มีผลต่อโครงสร้างเส้นใยของอาหาร และความสามารถในการทำลายจุลชีวันที่ปะปนมากับอาหาร เนื้อสัตว์จะนุ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางความร้อน หรือใช้สารเคมี ซึ่งจะทำให้รูปร่าง สี กลิ่น และรสชาติ ของอาหารเป็นไปตามธรรมชาติเหมาะกับการทำให้เนื้อสัตว์ที่เหนียวมากๆ มีความนุ่มขึ้นเพื่อบริโภค ขณะที่ยังเหมาะกับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพแตกต่างจากทั่วๆ ไป เช่นหมูหรือเนื้อแดดเดียว เนื้อสัตว์สำหรับทำสเต็ก ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์สำหรับทำอาหาร อุปกรณ์ทำงานก็สามารถหาได้ภายในประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวผลิตภัณฑ์ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





โครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชุมชน

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียด้วยระบบพืชกรองน้ำเสียขึ้น โดยใช้พืช 3 ชนิด คือ ธูปฤาษี กกกลม (จันทบูร) และหญ้าแฝกอินเดีย พืชทั้ง 3 ชนิดจะช่วยกรองน้ำเสียขณะที่ไหลผ่าน และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนที่ได้จากการสังเคราะห์แสงให้กับน้ำเสีย ร่วมกับการใช้ดินผสมทรายช่วยในการกรองน้ำเสีย และการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ในดินเพื่อให้การบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบสามารถรับน้ำเสียได้วันละประมาณ 75 ลูกบาศก์เมตร หรือสามารถรองรับน้ำเสียจากจำนวนประชากร 375 คนต่อสัปดาห์ สำหรับต้นธูปฤาษีเมื่อครบ 90 วัน และต้นกกกลม กับแฝกอินเดีย เมื่อครบ 45 วันต้องทำการตัดออกนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของระบบพืชกรองน้ำเสีย และทุกๆ 1 ปี ต้องทำการถอนต้นพืชที่หนาแน่นบางส่วนออกจากระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม เพื่อให้เกิดช่องว่างมากขึ้น ทำให้แสงอาทิตย์สามารถส่องผ่านลงไปในน้ำได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบได้ดีขึ้น (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2545 หน้า 24)





ล็อกเกอร์บัตรแม่เหล็ก

ผลงานสุดไฮเทคนี้ เป็นของ 2 นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) นายพินิจ วงษ์เมือง และ น.ส. ศรวณีย์ คิ้วสุวรรณ จากสาขาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ภาควิชาไฟฟ้า ล็อกเกอร์เก็บของแบบใช้บัตรแถบแม่เหล็ก จะปฎิวัติการทำงานของล็อกเกอร์จากที่เคยใช้กุญแจคล้องสายยูมาคราวนี้ก็จะใช้บัตรแม่เหล็กเป็นกุญแจแทน ลักษณะการทำงานของล็อกเกอร์แบบใช้บัตรจะควบคุมการทำงานโดยไมโครคอนโทรลเลอร์ใช้ระบบไฟฟ้า และที่พิเศษไปกว่านั้นหากไฟดับก็จะมีระบบไฟสำรองจากแบตเตอรี่เพื่อให้ล็อกเกอร์ทำงานได้ตามปกติ ผู้ใช้เพียงแค่มีบัตรแม่เหล็ก แล้วป้อนรหัส 4 หลัก ก็สามารถสั่งเปิดประตูได้ แต่หากเจ้าของตู้ไม่มาเปิดภายในเวลาที่กำหนด การรูดบัตรก็จะถือเป็นโมฆะ และหากผู้ใช้กดรหัสผิด 3 ครั้ง ก็จะถูกระงับการใช้ทันที การใช้งานจะต้องเป็นบัตรที่ได้รับการลงทะเบียนเท่านั้น ล็อกเกอร์ผลงานของ 2 นักศึกษา สจพ. สามารถสร้างโปรแกรมเพิ่มได้ถึง 250 ตู้ ลงทุนเพียง 10,000 บาทเท่านั้น (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2545 หน้า 25)





ซีเมนต์เทียม

“ซีเมนต์เทียม” หรือ “วัสดุประสานชนิดใหม่ในงานคอนกรีต” เป็นผลงานของ รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล อาจารย์ประจำภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะฯ อ.ไกรวุฒิ เล่าถึงที่มาของความคิดว่าเป็นการนำของเหลือใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมมาสร้างให้เกิดงานใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยและการศึกษาในอนาคต “เถ้าถ่านหิน” ได้มาจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินลิกไนต์ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง มีจำนวนถึง 2-3 ล้านตัน/ปี ส่วน “กากแคลเซียมคาร์ไบต์” ได้มาจากกระบวนการผลิตก๊าซอะเซทิลีน ที่ใช้ในการเชื่อมไฟโดยที่โรงงานผลิตก๊าซอะเซทิลีนนี้จะอยู่ย่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม มีจำนวนถึง 20,000-30,000 ตัน/ปี ของเหลือทั้ง 2 อย่างนี้ เมื่อนำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสมแล้ว จะมีลักษณะคล้ายปูนซีเมนต์ รวมไปถึงคุณสมบัติเมื่อโดนน้ำก็จะแข็งตัว และสามารถยึดเกาะแน่นกับวัสดุอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อเสีย คือ แข็งตัวช้า กำลังในการยึดเกาะ ความทนทานไม่เท่ากับซีเมนต์ แต่ใช้ในงานที่ก่อสร้างธรรมดา เช่น เทพื้น ทางเดินก็สามารถทดแทนซีเมนต์ได้ ของทั้ง 2 สิ่งข้างต้น เป็นของที่ไม่ต้องหาซื้อให้เสียเงิน เพราะเป็นของที่ทางโรงงานไม่ต้องการ เพียงขออนุญาตเข้าไปเก็บก็มาใช้ได้เลย อ.ไกรวุฒิ บอกถึงเหตุที่ไปจดสิทธิบัตรว่าเป็นการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา เกรงว่าต่างชาติจะมาลอกเลียนแบบไป เพราะอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และ อ.ไกรวุฒิได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2545 หน้า 25)





ตู้แช่อุณหภูมิต่ำ แช่เบียร์เป็นวุ้นได้ใน 6 นาที

ผลงานการประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นของนักศึกษาแผนกช่างไฟฟ้าชั้น ปวช.3 โดยมี อาจารย์ อนิรุท บาริรี เป็นอาจารย์ผู้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้ทฤษฎีหลักการทำงานของระบบเครื่องทำความเย็น และหลักวิธีการดึงความร้อนออกจากวัตถุในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งตู้แช่อุณหภูมิต่ำนี้ใช้น้ำเกลือเป็นตัวกลางในการนำพาความร้อนออกจากสิ่งของที่แช่ลงไป โดยใช้มอเตอร์เป็นตัวทำให้น้ำเหลือหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งของที่แช่ลงไปก็จะเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วด้วย ส่วนแนวทางการพัฒนาเครื่องนี้นั้นทางคณะผู้ประดิษฐ์กำลังคิดค้นให้สามารถนำเอาเครื่องดื่มไหลผ่านเข้าไปในท่อทำความเย็นได้โดยไม่ต้องแช่ขวดได้ด้วย ขณะนี้เครื่องนี้ได้รับความสนใจจากเจ้าของกิจการการร้านอาหารหลายแห่งติดต่อขอซื้อไปใช้ ซึ่งทางวิทยาลัยก็คิดจำหน่ายในราคาเพียงเครื่องละ 17,000 บาท ซึ่งถูกกว่าตู้แช่ทั่วไปโดยสามารถติดต่อได้ที่วิทยาลัยการอาชีพจังหวัดนครนายก โทรศัพท์ 0-3731-2601 และ 0-9046-1431 (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2545 หน้า 22)





นักวิจัยเตือนภัย “มันฝรั่งทอด” ก่อมะเร็ง

หลังจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ออกโรงเตือนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า คาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าว มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากข้าว ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้รับประทานกันอยู่แพร่หลาย จะเปลี่ยนรูปไปเป็นสารอะคริลาไมด์ทันที เมื่อถูกความร้อนไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการทอดหรืออบ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สารอะคริลาไมด์ เป็นตัวการสำคัญที่ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทและก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลังจากนั้นไม่นาน นักวิจัยจากประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ก็ออกมายอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การศึกษาดังกล่าวเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างแต่ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดในเรื่องของกระบวนการกำเนิดสารอะคริลาไมด์ขึ้นมานั้นเป็นอย่างไรกันแน่ (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 1)





ใช้ประโยชน์น้ำนึ่งปลาผลิตซุปปลาสกัด

น.ส.สุมาลัย ศรีกำไลทอง ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมผลิตปลากระป๋องเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ประสบปัญหากับการจัดการของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ซึ่งโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋อง 21 โรงงาน และโรงงานผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋อง 16 โรงงาน จะมีปริมาณของเหลือใช้ทางอุตสาหกรรม คือ “น้ำนึ่งปลา” ซึ่งต้องทำการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าวทาง วท. โดยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร ภายใต้แผนปรับโครงการอุตสาหกรรมระยะที่ 2 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการนำ “น้ำนึ่งปลา” ที่เหลืออยู่เป็นปริมาณมากในอุตสาหกรรมดังกล่าวมาทำการวิจัยเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์ น.ส.สุมาลัย กล่าวอีกว่าในน้ำนึ่งปลานั้นพบว่ามีกรดอะมิโนที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ ( essential amino acids) อยู่มาก จึงได้นำ “น้ำนึ่งปลาทูน่า” มาผลิตเป็น “ซุปปลาสกัดเข้มข้นและพร้อมดื่ม” โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีสีน้ำตาลเข้มเหนียวและใส มีโปรตีนประมาณ 66% ประกอบด้วยกรดอะมิโน 8 ชนิด ที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณสูงและร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ คือ ลูซีน ไอโซลีน ไลซีน เมโทโอนีน เฟนิลอะลานิน เทรโอนีน ทริฟโทเฟน และวาลีน ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีอาหารฯ กล่าวอีกว่าทั้งนี้ทาง วท.ได้มีการเปิดอบรมให้กับโรงงานที่มีอุตสาหกรรมทางด้านปลาไป 2 รุ่น เพื่อให้โรงงานดังกล่าวกลับไปพัฒนาระบบการผลิตเพื่อให้สร้างประโยชน์จากน้ำนึ่งปลาได้ โดยเน้นในโรงงานผลิตปลาทูน่าเป็นหลักก่อน ซึ่งตลาดใหญ่ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ซุปปลาสกัดเข้มข้นนั้นจะส่งไปที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนผลิตภัณฑ์ซุปปลาพร้อมดื่มทราบว่ามีเอกชน 1 ราย กำลังอยู่ระหว่างการศึกษากระบวนการผลิตเพี่อเตรียมวางจำหน่ายตลาดภายในประเทศต่อไป (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2545 หน้า 27)





ญี่ปุ่นช่วยต่อยอดให้เอ็มเทคพัฒนา ‘อะลูมินาเซรามิกส์’

น.ส.กุลจิรา สุจิโรจน์ หัวหน้าโครงการการบ่มเพาะเทคโนโลยีเซรามิกส์โครงการสร้างรูปร่างซับซ้อน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็ทเทค) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะผู้วิจัยเอ็มเทคได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอะลูมินาเซรามิกส์ขึ้นจากต้นแบบในประเทศญี่ปุ่น โดยจะเน้นการผลิตอะลูมินาความหนาแน่นสูง ที่มีรูปร่างซับซ้อน ในเบื้องต้น 3 แบบ คือ เฟือง กล่อง และท่อ ทำให้สามารถออกแบบและผลิตชี้นส่วนอะลูมินาเซรามิกส์ที่มีรูปร่างซับซ้อนและบางได้ถึง 0.5 มิลลิเมตร น.ส.กุลจิรากล่าวว่า อะลูมินาเซรามิกส์ เป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง เพราะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการวัสดุที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทนต่อสภาวะการทำงานที่อุณหภูมิสูง เกิดการกัดกร่อนรุนแรง หรือมีการเสียดสีตลอดเวลา ตัวอย่างการใช้อะลูมินาเซรามิกส์ เช่น ลูกลอยในการวัดการใหลของสารเคมี ชิ้นส่วนในเครื่องจักรผลิตเส้นใย หัวรีดลวดทองแดงและอัลลอยอื่นๆ ฉนวนสำหรับวิทยุ เรดาร์ และระบบโทรศัพท์ ช่วยลดการนำเข้าเซรามิกส์ในงานอุตสาหกรรมได้มากกว่า 10 % สนใจติดต่อขอข้อมูลและส่ง แบบชิ้นงานมาได้ที่งานบริการเทคนิค เอ็มเทค โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4109 (มติชน พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 18)





สิ่งประดิษฐ์ฝีมือไทย : เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนม

เครื่องนวดเมล็ดข้าวน้ำนมต้นแบบผลงานการออกแบบและสร้างโดย ผศ.วิชา หมั่นทำการ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป รับประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท จาก พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนคตรีในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นโดยฝีมือคนไทยในงานภูมิปัญญาแผ่นดิน จัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปัจจุบันเครื่องต้นแบบนี้ได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อไปผลิตสำหรับการใช้งานในการผลิตน้ำนมยาคูแล้ว (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 27)





อังกฤษร่วมมือไทยวิจัยเด็กในครรภ์จนโต

โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทยเรื่องของภาวะโภชนาการที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังถือว่าเป็นงานวิจัยครั้งแรกของประเทศที่มีการเริ่มการทำวิจัยติดตามเด็กไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแรกคลอดและติดตามเป็นระยะๆ จนกระทั่งอายุ 24 ปี ศ.เดวิด บาร์เกอร์ ที่ทำการวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับภาวะโภชนาการของมารดาขณะตั้งครรภ์กับความสัมพันธ์ของการเกิดโรคเรื้อรัง จนได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามแนวความคิดขเกิดและความยาวของลำตัวทารกวัดจากศีรษะถึงปลายเท้าเป็นตัวบ่งชี้ธรรมชาติ พบว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย 2,500 กรัม และมีความยาวลำตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เฉลี่ย 50 เซนติเมตร จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันสูงกว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักและความยาวของลำตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในส่วนการวิจัยมารดาขณะตั้งครรภ์นั้นเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเรื้อรังมีการศึกษาวิจัยตั้งแต่ในครรภ์ถึงวัยผู้ใหญ่ ความรู้ที่พบจะเป็นเรื่องน่ายินดีมีการนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาประมวลเข้ากับงานวิจัยระยะยาวในเด็กไทยเพื่อให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้เนื้อหาชัดเจนมากขึ้นโดยการร่วมทำวิจัยภาคสนามที่ภาคใต้และ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เพื่อร่วมเก็บข้อมูลและวางแผนในอนาคตต่อไป (สยามรัฐ อังคารที่ 8 ตุลาคม 2545 หน้า 23)





เมธีวิจัยอาวุโส

รศ.ดร.อภิชาต สุขสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ปี 2545 สาขาเคมี ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการค้นหาสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ หรือแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถป้องกันการรุกรานของแมลงได้ (สยามรัฐ อังคารที่ 8 ตุลาคม 2545 หน้า 7) ศ.ดร.ทวี ตันฆศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโสประจำปี 2545 ด้านสาขาฟิสิกส์ งานวิจัยที่ศึกษาอยู่ขณะนี้เกี่ยวกับสารเฟียโซอิเล็กทริก ซึ่งเกิดในเซรามิกเนื้อละเอียด นอกจากนี้ยังมีวิจัยเพื่อหาสารที่สามารถใช้แทนตะกั่วได้ รวมถึงงานวิจัยเพื่อหาเทคนิคการเตรียมเซรามิกเนื้อละเอียดก่อนเผาให้เป็นแผ่นบางๆ ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิในการเผาลงได้ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


สมเด็จฯทรงห่วงหิ่งห้อยสูญพันธุ์

หิ่งห้อยถือเป็นตัวชี้วัดพื้นที่ชุ่มชื้น และแหล่งน้ำที่ใสสะอาด หากพื้นที่ใดไม่ถูกรบกวนพื้นที่นั้นจะมีหิ่งห้อยอาศัยอยู่ ดร.องุ่น ลิ่ววานิช นักกีฎวิทยาอาวุโส หนึ่งในทีมงานศึกษาวิจัยโครงการหิ่งห้อยในพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บอกว่า ผลการวิจัยทางพันธุวิศวกรรมเราสามารถใช้สารลูซิเฟอรินที่สะกัดได้จากอวัยวะผลิตแสงของหิ่งห้อยเป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงผลการตัดต่อยีนว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ จากการสำรวจความหลากหลายและชนิดพันธุ์ของหิ่งห้อยทั้ง 4 ภาคของไทย พบว่าเราสามารถระบุสกุลของหิ่งห้อยได้ 10 สกุล และคาดว่าจะมีจำนวนชนิดพันธุ์เกินกว่า 100 ชนิด แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุชนิดพันธุ์ได้แน่นอน เนื่องจากไทยไม่มีการศึกษาหิ่งห้อยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงห่วงวงจรชีวิตหิ่งห้อยที่นับวันจะหมดลงไปทุกที จึงทรงเร่งให้ทีมงานวิจัยศึกษาวงจรชีวิตหิ่งห้อยอย่างเร่งด่วน การเร่งศึกษาวงจรชีวิตหิ่งห้อย นอกจากจะช่วยไม่ให้หิ่งห้อยสูญพันธุ์แล้ว ยังเป็นเสมือนการรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2545 หน้า 31)





ขึ้นบัญชี “โมโนโครโตทอส” ยาปราบแมลงอันตราย

ที่ประชุมสหประชาชาติได้กำหนดให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชชื่อ “โมโนโครโตทอส” ซึ่งเป็นยาปราบแมลงในข้าวและฝ้ายซึ่งเกษตรกรในแถบเอเชียใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นผลิตภัณฑ์เคมีอันตรายเพราะสารนี้มีอันตรายถึงขั้นทำลายระบบประสาทของมนุษย์และสัตว์ให้เสียหายได้ และได้ใส่ชื่อสารเคมีนี้ไว้ในบัญชีรายชื่อเคมีภัณฑ์อันตรายตามอนุสัญญาร็อตเตอร์ดิม 2541 แล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการควบคุมเคมีภัณฑ์ชนิดนี้อย่างเข้มงวดซึ่งตามอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้ผู้ส่งออกเคมีชนิดนี้ต้องได้รับการแจ้งยินยอมจากผู้นำเข้าเสียก่อนถึงจะซื้อขายกันได้ และถ้าประเทศใดนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ ก็ต้องใช้อย่างปลอดภัย โดยภาคีอนุสัญญาจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและช่วยให้ผู้ส่งออกได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่จนถึงขณะนี้มีเพียง 34 ประเทศเท่านั้นที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว ขณะที่อนุสัญญาจะมีผลใช้บังคับเมื่อมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้สัตยาบันอย่างน้อย 50 ประเทศ สำหรับประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศห้ามใช้เคมีภัณฑ์ชนิดนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2543 แต่ยังไม่หมดไปจากตลาดเพราะมีผู้ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ ถึงขณะนี้ทางราชการก็ได้พยายามติดตามจับกุมผู้ฝ่าฝืนอยู่ตลอดมา (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545 หน้า 18)





อภ. ช่วยชาวบ้านลดราคายา 23 รายการ

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุขแถลงถึง การลดราคายาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมว่า ตั้งแต่วันที่1 ต.ค. 2545 เป็นต้นไป องค์การเภสัชกรรมได้ปรับลดราคายาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นยาที่คัดเลือกให้ใช้ในสถานพยาบาลกว่า 900 รายการ ลงถึง 23 รายการ โดยปรับลดลงจากราคาเดิมตั้งแต่ 1% ถึง 36% ยาที่ลดส่วนใหญ่ 90% อยู่ในบัญชีประเภท ก. ซึ่งกำหนดให้ใช้ในสถานพยาบาลทุกระดับที่เหลืออยู่ในบัญชีประเภท ข. ซึ่งใช้ในสถานพยาบาลบางระดับ นพ. ธงชัย ทวิชาชาติ ผอ.องค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า สำหรับยาที่ปรับลดราคาในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ยาที่ลดราคามากที่สุด 63% ได้แก่ยาอะมิกาซิน ( Amikacin) ชนิดฉีดเพื่อรักษาการติดเชื้ออักเสบลดจาก 53.60 บาท เหลือเพียง 32 บาท ยาเม็ดไซโปรเฮป ตาดีน (Cyproheptadine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ ลด 57% จาก 163.71 บาท เหลือ 70 บาท ยาเม็ดไกลเบน คลาไมด์ ( Glibenclamine) รักษาโรคเบาหวาน ลด 49% จาก 350 บาท เหลือ 180 บาท ยาเม็ดนอร์ฟอกซ ซิน (Norfloxacin) รักษาอาการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะลด 47% จาก 739.37 บาท เหลือ 390 บาท ยาเม็ดไซเมทีดีน (Cimetidine) รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารลด 42% จาก 791.80 บาท เหลือ 460 บาท ยาแคปซูลคล็อกซ่าซิลลิน (Cloxacillin) ใช้รักษาการอักเสบ ฝีหนอง ลด 41% จาก 1,070 บาท เหลือ 635 บาท ครีมเบต้าเมทธาโซน (Betamethasone) ทาผิวแก้ผดผื่นคัน ลด 33% จาก 29.92 บาท เหลือ 9.96 บาท เป็นต้น (ไทยรัฐ วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 15)





“ข้ออักเสบ” รุมคนไทยยอดพุ่ง

พันเอกหญิง รศ.พรฑิตา ชัยอำนวย อายุรแพทย์โรคข้อ และผอ.กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคข้อคุกคามคนไทยรุนแรงมากขึ้น โดยสามารถพบโรคนี้ได้ในทุกวัย ไม่เพียงแต่ผู้ที่มีอายุเกิน 40 เหมือนที่ประชาชนมีความเข้าใจที่ผิดๆ โดยสถานการณ์ของโรคข้อในขณะนี้พบในประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยโรคปวดข้อปวดเมื่อยถึง 30% หรือใน 3 คน จะพบ 1 คน อย่างไรก็ตาม อาการของโรคจะบรรเทาลงได้ ถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจและกำลังใจดี โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่คนส่วนมากมักไม่เข้าใจหรือเข้าใจ แต่ทำใจไม่ได้ และมักแสวงหาวิธีการต่างๆในการรักษาโดยมีความคาดหวังที่สูงมาก ทั้งในเรื่องของระยะเวลาในการรักษาและการหายขาดจากโรค ซึ่งความเครียดนี้จะส่งผลทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาที่แพทย์จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจอาการของโรคและวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้อง รวมถึงกระตุ้นเตือนให้ตื่นตัวในการดูแลรักษาตัวเองแทนการมาพบแพทย์เมื่อป่วยแล้ว และในโอกาสวันโรคข้อสากลปี 2545 ทางโรงพยาบาลพระมงกุฎจะจัดประชุมวิชาการในเรื่องนี้ขึ้น และขอเชิญผู้สนใจร่วมงาน โดยมีกิจกรรมให้ความรู้และรับฟังประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ





‘องค์การเภสัช’ ผลิตยาเอดส์เม็ด

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญา มีคำพิพากษาว่า การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาตัดข้อกำหนดเรื่องขนาดยาออกจากสิทธิบัตรยาไดดาโนซีนหรือดีดีไอซึ่งเป็นยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ที่บริษัทไมเยอร์ สควิบบ์ (ประเทศไทย ) จำกัด หรือบีเอ็มเอส ถือสิทธิบัตรอยู่ เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งผลจากคำพิพากษาดังกล่าวจะทำให้ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดนี้ สามารถผลิตยาดีดีไอในขนาด ความเข้มข้น ของการบรรจุนอกเหนือขนาด 5-100 มิลลิกรัมได้นั้น น.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า เมื่อมีคำตัดสินเรื่องสิทธิบัตรที่ชัดเจนแล้ว อภ. ก็จะประสานงานกับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อดำเนินการผลิตยาดีดีไอชนิดเม็ดโดยเร็วต่อไป “ส่วนการที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ ในประเทศไทย เตรียมยื่นฟ้องเบิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอของบริษัทเอ็มเอส เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะจัดเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านสิ่งประดิษฐ์นั้น อภ. กำลังหารือ ผู้บริหารและกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อประสานงานหารือกันอยู่หากตกลงกันได้ก็ไม่ต้องฟ้องร้อง” น.พ.ธงชัยกล่าว (มติชน พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2545 หน้า 18)





สาววัยรุ่นอย่าไปริสูบบุหรี่เข้าเท่ากับท้าทายมะเร็งทรวงอก

สาวๆที่ริสูบบุหรี่ตั้งแต่เพิ่งยังรุ่น เท่ากับเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของโรคมะเร็งทรวงอก เพราะจะเป็นโรคร้ายได้เร็วมากกว่าคนปกติธรรมดาถึงสองในสาม วารสารการแพทย์ “แลนเซต” อันมีชื่อเสียงของอังกฤษ รายงานผลการศึกษากับคนไข้โรคมะเร็งทรวงอก ที่เป็นผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ จำนวน 1,000 กว่า คน เทียบผู้หญิงที่ปกติธรรมดาจำนวนเท่ากัน พบว่าคนไข้มากถึง 96% เคยมีประวัติสูบบุหรี่ มาตั้งแต่เพิ่งแตกเนื้อสาวไม่เกิน 5 ปี (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545 หน้า 7) (ไทยรัฐ วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 15)





ประกาศผลสุดยอดลานกีฬาดีเด่น กทม.

สำนักสวัสดิการสังคม ได้จัดประกวดลานกีฬาดีเด่นขึ้นเพื่อเฟ้นหาลานกีฬาดีเด่น เป็นรางวัลให้สำหรับความมุ่งมั่นในการช่วยกันสร้างให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนมีคุณภาพ ประจำปี 2545 นี้ กทม.ได้กำหนดจัดระหว่างเดือนตุลาคม 2544 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 สำหรับผลการประกวดลานกีฬาประเภทต่างๆ ระดับกลุ่ม เขต มีดังนี้ ประเภทลานกีฬาโรงเรียน 1.โรงเรียนกุหลาบวิทยา 2.โรงเรียนบ้านบางกะปิ 3.โรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก 4.โรงเรียนวชิรธรรมสาธิต 5. โรงเรียนขจรโรจน์วิทยา 6. โรงเรียนวัดศรีนวลธรรมวิมล ประเภทชุมชน 1. ชุมชนเกียกกาย 2. ชุมชนเคหะชุมชนออเงิน 3.ชุมชนคลองจวน 4.ชุมชนสวนอ้อย 5.ชุมชนหลังสวนธนบุรีรมย์ 6.ชุมชนพูนบำเพ็ญ ประเภทสวนธารณะ 1.สวนสาธารณะเชิงสะพานพระราม 7 2.สวนสาธารณะวัชรพล 3.สวนสาธารณะสวนสุขภาพประเวศ 4. สวนสาธารณะประดิษฐ์มนูธรรม 5. สวนสาธารณะใต้ทางด่วนสุขสวัสดิ์ 6. สวนสาธารณะสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ในส่วนผลการประกวดลานกีฬากรุงเทพมหานคร มีดังนี้ รางวัลชนะเสิศได้แก่ ลานกีฬาโรงเรียนวัดใหม่ลำนกแขวก รองชนะเลิศอันดับ 1 ลานกีฬาโรงเรียนวชิรธรรมสาธิต รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ลานกีฬาโรงเรียนบ้านบางกะปิ ประเภทลานกีฬาชุมชน รางวัลชนะเลิศได้แก่ ลานกีฬาชุมชนเคหะชุมชนออเงิน รองชนะเลิศอันดับ 10 ชุมชนหลังสวนธนบุรีรมย์ รองชนะเลิศอันดับ 2 ชุมชนพูนบำเพ็ญ ประเภทลานกีฬาสวนสาธารณะ รางวัลชนะเลิศได้แก่ ลานกีฬาเชิงสะพานพระราม 7 รองชนะเลิศอันดับ 1 ลานกีฬาสวนสาธารณะสวนสุขภาพประเวศ รองชนะเลิศอันดับ 2 ลานกีฬาสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ประเภทลานกีฬาศูนย์เยาวชน รางวัลชนะเลิศได้แก่ ลานกีฬานันทนาการชุมชน สะพานพระราม 9 รองชนะเลิศอันดับ 1 ลานกีฬาศูนย์เยาวชนบางนา รองชนะเลิศอันดับ 2 ลานกีฬาศูนย์เยาวชนลุมพินี (สยามรัฐ จันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2545 หน้า 6)





ตาแดงอย่าซื้อยาหยอดมาใช้เองอาจอันตรายจนถึงขั้นตาบอด

คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือนผู้ป่วยตาแดง อย่าซื้อยาหยอดตา ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาหยอดด้วยตนเอง อาจได้รับอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ เนื่องจากภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมทั้งหลายพื้นที่ของ กทม. ทำให้โรคตาแดงระบาดขึ้น ซึ่งประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ คณะกรรมการอาหารและยา ได้ขอเสนอแนะนำผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปว่า อย่าซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เพราะอาจได้รับยาไม่ถูกกับอาการ เป็นอันตรายจนถึงขั้นตาบอดได้ โดยเฉพาะจากยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะที่ และเป็นยาอันตราย ต้องจำหน่ายโดยร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีใบอนุญาตขายยา และจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้นเพราะมีความเป็นพิษค่อนข้างสูง มีข้อห้ามใช้หลายประการ ดังนั้นให้สังเกตบุตรหลานหรือตัวท่านเอง หากมีอาการคันหรือบวมที่ตาเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2545 หน้า 7)





เตือนอุตฯไฟฟ้าใช้วัสดุเบาอียูออกกฏเข้มงวดขยะสินค้า

นายภักดี รัตนวิเชียร ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยภายหลังสัมมนาพิเศษ WEE:ระเบียบของอียูกับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า ขณะนี้ทางสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้เร่งดำเนินการหารือ เพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับมาตรการการจัดการเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้คาดว่าภายในกลางปี 2546 ทางสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถเสนอมาตรการการจัดเก็บเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับรัฐบาลได้ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบต่อมาตรการดังกล่าวที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยภายหลังจากที่กลุ่มประเทศในอียูได้ประกาศว่า หากประเทศใดส่งสินค้าประเภทไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศในกลุ่มอียู หากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่เหลือทิ้ง ประเทศที่ส่งสินค้าเข้ามา ต้องดำเนินการจัดเก็บสินค้าดังกล่าวทั้งหมด โดยประเทศในกลุ่มอียูจะไม่เป็นผู้จัดการกับสินค้านั้น นอกจากได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้จัดการ อย่างไรก็ตามหลังจากประเทศกลุ่มอียูออกกฎดังกล่าว ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศ ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อจัดเก็บเศษเหลือทิ้งทั้งหมด และยังเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย “คาดว่าประเทศอียู จะประกาศให้ใช้มาตรการดังกล่าวประมาณปี 2547 ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทย จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนที่ประเทศอียูจะประกาศใช้มาตรการดังกล่าว(สยามรัฐ พุธที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 9)





ภูมิปัญญาท้องถิ่นดัดแปลงอาหารเพื่อสุขภาพ

มงคล เกษประเสริฐ จากกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช กรมการเกษตร ได้เขียนไว้ในหนังสือ บุกอาหารเพื่อสุขภาพเล่ม 1 และเล่ม 2 ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยว่าด้วย บุก หรือ กระบุก พืชพื้นเมืองของไทยที่กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย มีปลูกกันมากอยู่ทุกภาคในประเทศไทยแต่จะปลูกกันมากในภาคใต้ ภาคอีสาน ผู้ที่ศึกษาและวิจัยเรื่องของ บุก ยังอธิบายว่าพื้นบ้านไทยมีวิธีนำส่วนต่างๆ ของบุกมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย ชาวบ้านถือว่ามีสรรพคุณในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพืชสมุนไพร นี้คือภูมิปัญญาชาวบ้าน ในปัจจุบันการศึกษาเพื่อนำบุกมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ แต่คงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเนื่องจากหากทำถูกต้องตามหลักวิชาการมีการควบคุมจากหน่วยงานอย่างกระทรวงสาธารณสุขย่อมมีผลดีต่อผู้บริโภคแน่นอน (สยามรัฐ พุธที่ 9 ตุลาคม 2545 หน้า 23)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215