หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 40 ประจำวันที่ 2002-11-13

ข่าวการศึกษา

ม.เกษตรฯปรับหัวแถวรุดหน้าทุกแกนผู้บริหารขานรับออกนอกระบบ
อธิการฯ วลัยลักษณ์คนใหม่ ย้ำแผนสู่ความเป็นเลิศ
‘วรเดช’ แฉสารพัดปัญหาเงินกู้เรียน ในสถาบันอุดมฯไม่ตรวจคุณสมบัติ-ปลอมสัญญา-เมินช่วยตามหนี้
มน.พะเยาสร้างหอศิลปวัฒนธรรม
“วรเดช” แบ่งงาน รองปลัดทบวงฯใหม่
ทบวงฯของเวลาทำเกณฑ์เทียบโอนประสบการณ์
จี้ราชภัฎสะท้อน “ร่วมพัฒนาท้องถิ่น”
ทยวงฯ ได้แรงหนุนเปิดทาง รร.สาธิตเก็บเงินเพิ่ม
ศธ.ไฟเขียวแผนไอทีพันล้านบาทยังหวั่นประมูลซื้อคอมพ์ผ่านเน็ต
กศน. งงกฎหมาย ศธ.ดึงเข้าเขตพื้นที่
เปิดใจยอดเยาวชนผู้รู้ จากเวที National Geographic Championship 2002
“ปองพล” ลงนามประกาศ 175 เขตพื้นที่แล้ว
สปจ.หนองบัวลำภูเคลียร์ ขรก. พร้อมแล้วรับ ‘เขตการศึกษา’
คนจนซัดอธิการฯ ม.อุบลฯ ไร้จรรยาบรรณ
คาด “สมุดพกความดี” ออกต้นปี 2546

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ไอทีมอลล์เปิดโลกวิศวกรรมไทย
นวัตกรรมสู่อวกาศ การเดินทางของคนยุคจรวด
พบวิธีชะลอความแก่กันได้แล้วเลือกกินแต่อาหารี่มีแคลอรีต่ำ
มะกันคิดเทคนิคผลิตจอประหยัดพลังงาน
ไวน์แดงรักษามะเร็ง

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบจุลินทรีย์ช่วยสร้างกลิ่นหอมในข้าว
เตรียมเปิดตัวเครื่องบินเล็กกับรถกระบะใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์
เปิดศูนย์วิจัยยาแห่งแรกของเอเชีย
ทบวงฯ ร่วมกับ สกว. แจกทุนนักวิจัยรุ่นใหม่
ไทยทำได้ แปรขยะเป็นน้ำมัน

ข่าวทั่วไป

จัดระเบียบเว็บไซต์ของรัฐ
สวทช.หนุน R&D ยกระดับวิทย์ไทย
หลักสูตรคอมพ์สำหรับคนสูงวัยดัดแปลงได้เพื่อท่านรัฐมนตรี
แหล่งฝังศพมนุษย์โบราณใหญ่คาดบอกให้รู้คนไทยมาจากไหน
อัดกรมทรัพย์สินฯ เปิดช่องจดสิทธิบัตรไวน์
จีนเปิดประตูเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไฟเขียวต่างชาติใช้สกุล ‘ดอทไชน่า’
เจ้าของยา ‘วี 1’ ร้องศาลฟ้องอนาถา
ขรก. ประถมโวยฐานะด้อยแค่เสมียน
บัตรเครดิต รายได้ต่ำมีสิทธิ์ถูกยกเลิกใช้
สระว่ายน้ำผสมคลอรีนแบบใหม่ เป็นแหล่งทำลายฟันอย่างรุนแรง
อย. ยันกินผงชูรสตาไม่บอด
บันไดขึ้นไปสู่อายุยืนเป็น 100ปี กินกระเทียมหัวหอมก็ให้คุณ





ข่าวการศึกษา


ม.เกษตรฯปรับหัวแถวรุดหน้าทุกแกนผู้บริหารขานรับออกนอกระบบ

นายชัยวัฒน์ ศีตะจิตต์ ประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฉบับปรับรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดี ได้สั่งให้มีการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเพื่อวางยุทธศาสตร์ 4 ด้าน เพื่อรับกับ พ.ร.บ.ใหม่ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีหลักสูตรสอดรับกับสังคม การบริหารจัดการทรัพยากรทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างเสริมเอกลักษณ์ ประการสุดท้ายคือ การศรัทธาต่อสังคมโลกทั้งนี้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านดังกล่าว อิงกรอบวิสัยทัศน์แผนพัฒนาการศึกษาฯ ฉบับที่ 9 ของทบวงและรัฐบาล และในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีคณะผู้บริหารระดับสูงจากทุกวิทยาเขต ต่างเตรียมการเพื่อรับกับแผนการปรับกลยุทธ์ดังกล่าว และพร้อมที่จะปรับยุทธศาสตร์ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน (มติชน เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 17)





อธิการฯ วลัยลักษณ์คนใหม่ ย้ำแผนสู่ความเป็นเลิศ

ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะตั้งอยู่ในภูมิภาค แต่ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล และเป็นผู้บุกเบิกมหาวิทยาลัยต้นแบบ จึงจำเป็นจะต้องเป็นผู้บุกเบิกในทุกด้าน ประการแรกคือ ด้านนวัตกรรมการศึกษา ประการที่สอง ด้านการจัดการเรียนการสอน และการศึกษาที่มีคุณภาพสูง บัณฑิตที่จบออกไปต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะเป็นผู้นำชุมชน เจ้าของธุรกิจ และสามารถรับใช้สังคมและประเทศชาติได้อย่างมีคุณภาพ ประการที่สามคือ การจัดการหลักสูตรสหกิจศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันว่านักศึกษาของที่นี่สามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ประการที่สี่ คือ การส่งเสริมงานด้านวิจัยที่เข้มข้น ตรงเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงทรัพยากรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและประเทศชาติ และประการสุดท้าย คือ จะต้องพัฒนาชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ให้เป็นชุมชนตัวอย่างที่เข็มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่วนเป้าหมายการบริหารงานนั้น จะต้องทำให้ลูกค้าของมหาวิทยาลัยมีความพึงพอใจสูงสุด พนักงานทุกคนจะต้องมุ่งมั่นศึกษา เข้าใจกระบวนการทำงาน พัฒนางานของตนเอง โดยยึดเป้าหมายรวมขององค์กรเป็นหลัก และการตัดสินใจทุกๆ เรื่องจะต้องอยู่บนฐานของข้อมูลข้อเท็จจริง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งการบริหารงานดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของนโยบายรวมบริการ ประสานภารกิจ ซึ่งเป็นหลักการบริหารจัดการที่มหาวิทยาลัยถือปฏิบัติ (มติชน เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 17)





‘วรเดช’ แฉสารพัดปัญหาเงินกู้เรียน ในสถาบันอุดมฯไม่ตรวจคุณสมบัติ-ปลอมสัญญา-เมินช่วยตามหนี้

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ในฐานะประธานอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2 เปิดเผยในปีการศึกษา 2544 ที่ผ่านมา พบว่าสถาบันอุดมศึกษาได้อนุมัติให้นักศึกษากู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ว่า เป็นไปตามเกณฑ์ของกองทุนหรือไม่ และมีการปลอมแปลงเอกสารสัญญาการกู้ยืมเงิน มีกรณีนักศึกษาปลอมแปลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งได้นำเงินที่ได้รับจัดสรรไปเฉลี่ยให้นักศึกษาแต่ละคนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรได้ เพื่อให้มีจำนวนนักศึกษาได้กู้ยืมมากขึ้น โดยไม่คำนึงว่าจำนวนเงินที่นักศึกษาแต่ละคนได้รับนั้นจะเพียงพอหรือไม่ อีกทั้งยังมีกรณีให้นักศึกษาในคณะหรือสาขาวิชาที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนได้กู้ยืม ให้ผู้ขอกู้ลงชื่อในสัญญาเปล่า ปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาผู้สูงอายุที่มีงานทำแล้ว ไม่แจ้งการพ้นสภาพของนักศึกษา และไม่ช่วยติดตามหนี้ (มติชน พุธที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





มน.พะเยาสร้างหอศิลปวัฒนธรรม

นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย จึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมหลายๆ แขนง ที่มีคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดคุณค่าในด้านการศึกษา วิจัย เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดพะเยาอีกด้วย นายมณฑลกล่าวด้วยว่า การดำเนินงานและการจัดการหอศิลปฯ จะแบ่งสัดส่วนของการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัฒนธรรมในแขนงต่างๆ อย่างถาวรส่วนหนึ่งและการจัดแสดงงานศิลปะประเภทต่างๆ ในลักษณะของการหมุนเวียนตามเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ เช่น การจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของศิลปินพื้นบ้านที่สำคัญโดยหมุนเวียนกันไป เป็นต้น ทั้งนี้ ในการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมของวิทยาเขตสารสนเทศพะเยา จะใช้สถานที่ในบริเวณวิทยาเขต ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการสำรวจพื้นที่การก่อสร้าง คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะรณรงค์หาทุน จึงอยากให้ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะใน จ.พะเยา และเขตภาคเหนือตอนบนได้มีส่วนร่วมในการจัดสร้างครั้งนี้ (มติชน พุธที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





“วรเดช” แบ่งงาน รองปลัดทบวงฯใหม่

ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง ด.ร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงฯ เป็นรองปลัดทบวงฯ นั้น ขณะนี้ตนได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ด.ร.จิรณีให้รักษาราชการในตำแหน่งรองปลัดทบวงฯ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นอกจากนี้ ตนยังได้จัดแบ่งงานให้รองปลัดทบวงฯดูแลงานด้านการบริหารทรัพยากรในระบบอุดมศึกษา น.ส.จิรณีดูแลเรื่องการเทียบโอนหน่วยกิตทั้งในระบบ และนอกระบบ และตามอัธยาศัย เรื่องมาตรฐานอุดมศึกษา การส่งเสริมจรรยาวิชาชีพ และการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย นายสุเมธ แย้มนุ่น ที่ปรึกษาด้านโยบายและแผน ทบวงฯดูแลสำนักงานโครงการเงินกู้ และช่วยนายสุชาติดูแลงานด้านนโยบาย และแผน นางศาสนีย์ ศิริชุมแสง ผู้ช่วยปลัดทบวงฯ ดูแลเรื่องการบริหารการเงิน และการพัฒนาสุขภาพอนามัยของบุคลากรทบวงฯดูแลงานด้านสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้ เป็นการมอบให้ปฎิบัติราชการแทน ยกเว้นในเรื่องที่ต้องเสนอเข้า ครม. (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ทบวงฯของเวลาทำเกณฑ์เทียบโอนประสบการณ์

ดร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้กำหนดว่าสถานศึกษาต่างๆ ควรเปิดกว้างให้มีการเทียบผลการเรียนจากประสบการณ์ได้นั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวมาก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สนใจอยากเทียบผลการเรียนเป็นจำนวนมาก แต่เวลานี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่รู้ว่ารูปแบบเกณฑ์มาตรฐานการเทียบผลการเรียนในแต่ละสาขาวิชาเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าปล่อยให้แต่ละมหาวิทยาลัยทำกันเองก็อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของมาตรานที่แตกต่างกัน ดังนั้นทบวงฯ คงต้องเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งการทำเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละสาขาวิชาอาจจะใช้เวลานานมาก เนื่องจากต้องเทียบประสบการณ์โดยดูผลงานที่สะสมไว้ ไม่เหมือนการสอบวัดความรู้ทั่วๆ ไป และการประเมินก็ไม่ได้ดูที่จำนวนปีในการทำงาน เพราะแต่ละคนถึงแม้ว่าจะทำงานเท่ากัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งเท่ากัน (เดลินิวส์ อังคารที่ 29 ตุลาคม 2545 หน้า 14)





จี้ราชภัฎสะท้อน “ร่วมพัฒนาท้องถิ่น”

นายชูชาติ เชิงฉลาด คณบดีคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี เปิดเผยถึงการเสวนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางและแนวทางใหม่ในการจัดการอุดมศึกษาไทย” ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องว่าการศึกษาในเวลานี้เป็นการศึกษานอกสังคม ไม่มีการเรียนรู้ ร่วมทุกข์ร่วมสุข และแก้ปัญหาสังคม ทั้งยังแยกส่วนจากสังคม ดังนั้น ทิศทางในการจัดการศึกษาต่อไปนี้จะต้องเอาพื้นที่หรือท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ร่วมแก้ปัญหาสังคมหรือท้องถิ่น จัดการศึกษาแบบองค์รวม โดยพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้และจิตวิญญาณพร้อมกัน สามารถกลั่นกรองภูมิปัญญาจากทั่วโลกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาคน โดยมีความกล้าและอิสระที่จะคิดสังเคราะห์ความรู้จนเกิดปัญญาด้วยตนเอง เชื่อมโยงนโยบายการกระจายอำนาจของรัฐไปยังท้องถิ่น เรียนรู้และเข้าใจศักยภาพของท้องถิ่น สร้างพลังของชุมชนให้เกิดทุกพื้นที่ และปรับตัวให้สมดุลกับสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยบูรณาการศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาเข้าด้วยกันในการพัฒนาคน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ทยวงฯ ได้แรงหนุนเปิดทาง รร.สาธิตเก็บเงินเพิ่ม

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ และรักษาราชการ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย ได้ให้ทางออกในเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของ ร.ร.สาธิต ว่าใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 58 วรรค 2 ได้เปิดช่องให้เก็บเพิ่มเติมได้ โดยระบุว่าสามารถระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น โดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนสาธิตก็มีความแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ เช่น เป็นสถาบันที่มีการลงทุนสูงมาก ทั้งที่ไม่ได้ใช้งบแผ่นดิน มีครูเฉพาะทาง มีห้องแล็บกิจกรรมเสริม และมีการจัดจ้างครูซึ่งใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาทต่อเดือนเป็นต้น ดังนั้นนายปองพลจึงได้มอบหมายให้ตนช่วยดูว่าจะมีการออกเป็นประกาศของทบวงให้มีการจัดเก็บเพิ่มเติมได้อย่างไร (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 14)





ศธ.ไฟเขียวแผนไอทีพันล้านบาทยังหวั่นประมูลซื้อคอมพ์ผ่านเน็ต

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของ ศธ.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) 4 ด้าน ซึ่งใช้งบประมาณประจำปี 2546 จำนวน 924 ล้านบาท เพื่อใช้ด้านพัฒนาบุคลากร ด้านเครือข่าย ด้านซอฟต์แวร์ สื่อ และเนื้อหาการเรียนรู้ และด้านการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับ 924 ล้านบาทนี้ จะกระจายในกรมที่แยกออกจาก ศธ. ไปอยู่ในกระทรวงอื่นด้วย ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ปรับแผนในรายละเอียดใหม่ นอกจากนี้ ยังมอบหมายนางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. ไปปรับโครงสร้างองค์ประกอบคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ รวมถึงให้จัดทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่รวบรวมข้อมูลนักเรียน เพื่อใช้ในการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวขั้นพื้นฐาน 12 ปี ให้กับนักเรียนได้ถูกต้องด้วย (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





กศน. งงกฎหมาย ศธ.ดึงเข้าเขตพื้นที่

จากการประชุมสัมมนา “ กศน.อยู่ที่ไหน คนไทยไม่เสียประโยชน์” นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการประชุมสภาฯที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตนจะสนับสนุนให้ดึง กศน. กลับมาอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงเพื่อให้จัดการศึกษาตลอดชีวิตตลอดไป ด้านนายสนั่น สุธากุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ กล่าวว่า เมื่อแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาฯยอมรับให้ กศน. เป็นการศึกษาที่มีลักษณะพิเศษ ก็ไม่ควรให้รวมยู่กับสำนักงานปลัด ควรแยกให้ชัดเจน แต่เมื่อยังทำไม่ได้ก็ทำในรูปขององค์คณะบุคคล ดังนั้น การพิจารณากำหนดตำแหน่งและเงินเดือนบุคลากร กศน. ก็ต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ส่วนข้าราชการ กศน. แม้เป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนการสอน ก็ต้องเป็นข้าราชการครูไปโดยปริยาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบการอภิปรายที่ประชุมได้รับทราบมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการว่า ให้ กศน.ไปสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา นายชินวรณ์ และนายสนั่น เห็นว่ามติดังกล่าวขัดกับหลักการใหญ่ในร่างแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาฯจึงรับที่จะไปอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของการให้ กศน. สังกัดสำนักงานปลัดฯ ต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ด้านนายสุทิน คลังแสง รองโฆษกพรรคไทยรักไทยแถลงผลการประชุมพรรคไทยรักไทยวันเดียวกันว่า ที่ประชุมมีมติเกี่ยวกับร่างระเบียบราชการกระทรวงศึกษาให้ กศน. ไปสังกัดสำนักปลัดฯ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15





เปิดใจยอดเยาวชนผู้รู้ จากเวที National Geographic Championship 2002

National Geographic (ฉบับภาษาไทย) จัดโครงการ National Geographic Championship 2002 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โครงการดีที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยจากทั่วประเทศได้พิสูจน์ภูมิความรู้ความสามารถของตนเอง และยังช่วยกระตุ้นให้เกิดสำนึกรักการอ่านหนังสือให้มากขึ้นด้วย แม้จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแข่งขัน National Geographic Championship 2002 แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะได้รับความสนใจจากเด็กไทยทั่วสารทิศ ซึ่งคณะกรรมการต่างต้องทำงานหนักในการคัดสรรคนเก่งให้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายเพียง 50 คน เพื่อเฟ้นหายอดเยาวชนผู้รู้ ในด่านสุดท้าย ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเป็นเวลา 4 วัน ที่สุดของเยาวชนผู้รู้ จากโครงการ National Geographic Championship 2002 รางวัลชนะเลิศ น.ส.งามจิต แสงจันทร์รุ่ง ม.3 โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ กรุงเทพฯ รางวัลรองชนะเลิศ น.ส.เนติกานต์ รูปงาม ม.4 โรงเรียนบุญวาทยวิทยาลัย ลำปาง รางวัลชมเชย นายภาคภูมิ โลหวริตานนท์ ม.4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ น.ส.เบญจพร มายูร ม.4 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร ด.ช.ศุภชัย อาวิพันธุ์ ม.3 โรงเรียนมงฟอรต์วิทยาลัย เชียงใหม่ รางวัลปลอบใจ ด.ช.เจษฎา ศิรินิรันดร์ ม.3 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ น.ส.พัดชา รัญตเสรี ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ ด.ช.จินตสิทธิ์ ประวิตร ณ อยุธยา ม.3 โรงเรียนจิตรลดา กรุงเทพฯ นายประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ม.3 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี ด.ญ.ลีลา สีมาขจร ม.3 โรงเรียนสุรนารีวิทยา นครราชสีมา (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





“ปองพล” ลงนามประกาศ 175 เขตพื้นที่แล้ว

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามประกาศ ศธ. เมื่อวันที่ 30 ต.ค.เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีข้อความระบุว่า จากการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นว่าสมควรจะดำเนินการให้มีการประกาศกำหนดเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2543 รัฐมนตรีว่าการ ศธ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงให้มีการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาในระยะเริ่มแรกจำนวน 175 เขต โดยให้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือจำนวนและขอบเขตของเขตพื้นที่การศึกษา ตามที่กำหนดในประกาศนี้เป็นหลักการกำหนดอัตรากำลัง ฯลฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในประกาศ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





สปจ.หนองบัวลำภูเคลียร์ ขรก. พร้อมแล้วรับ ‘เขตการศึกษา’

นายโกวิท หอมวิเศษวงศา ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด (ผอ.ปจ.) หนองบัวลำภู เปิดเผยว่า สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) หนองบัวลำภู ได้ประชุมข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างในสังกัด สปจ.หนองบัวลำภูและสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ (สปอ.) ทุกอำเภอ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการบริหารรูปแบบเขตพื้นที่การศึกษาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ และสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการได้เข้าใจว่า การเข้าสู่โครงสร้างใหม่ไม่ได้เป็นการทำให้เสียโอกาส หรือเป็นการปรับลดตำแหน่งแต่อย่างใด ซึ่งจากการประชุมชี้แจงทำให้ทุกคนมีความเข้าใจและพอใจ และพร้อมสำหรับการปรับโครงสร้างเข้าสู่การศึกษารูปแบบใหม่ เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะไม่มีสำนักงานการประถมศึกษา “ขณะนี้บุคลากรในสังกัดไม่มีปัญหาอะไรพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และพร้อมต่อการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” นายโกวิทกล่าว (มติชน พุธที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





คนจนซัดอธิการฯ ม.อุบลฯ ไร้จรรยาบรรณ

กลุ่มสมัชชาคนจน 30 คน ได้มาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เรื่องการปิดเขื่อนปากมูลโดยได้ออกแถลงการณ์ประณาม นายประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่า การที่ให้สัมภาษณ์ว่าการเปิดประตูเขื่อน 4 เดือนเป็นข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นการขัดต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะที่ทำการศึกษา ทั้งยังพยายามขัดขวางไม่ให้คณะวิจัยเสนอผลศึกษาต่อสาธารณะเพื่อให้สังคมเข้าใจว่ารัฐบาลตัดสินใจตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณและทรยศต่อวิชาชีพ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำหุ่นนายประกอบถ่วงน้ำที่คลองผดุงเกษมด้วย นายนันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษากลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า กลุ่มต้องการพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีซึ่งดูแลงานด้านสังคม เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหา หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่มีท่าทีในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ชาวบ้านก็จะปักหลักชุมนุมต่อไป เพราะการปิด-เปิดประตูน้ำถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เขื่อนปากมูลให้ปิดประตูน้ำในวันที่ 5 พฤศจิกายน ด้านนายสุวิช ภูมิเวียงศรี วิศวกรระดับ 11 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าขณะนี้ กฟผ. ยังไม่ได้ปิดประตูเขื่อนปากมูล เนื่องจากพื้นที่ตอนบนโดยเฉพาะบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำด้าน อ.เมืองอุบลราชธานีและ อ.วารินชำราบยังมีน้ำท่วม ต้องรออีก 3-4 วัน เพื่อดูระดับน้ำแม่น้ำมูล หากเข้าสู่ภาวะปกติก็จะปิดประตูเขื่อนตามมติ ครม. โดยจะปิดวันละ 1 บาน ด้านหัวท้ายซึ่งจะปิดเพียงครึ่งเดียว ส่วนหนึ่งเพื่อให้มีการระบายน้ำในแต่ละบานประตู และข้อเท็จจริงการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เสนอรวม 4 แนวทาง การปิดประตูเขื่อน 4 เดือน เปิด 8 เดือน เป็นการบูรณาการและประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย(มติชนรายวัน วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)





คาด “สมุดพกความดี” ออกต้นปี 2546

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า กรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้สมุดพกความดีเป็นส่วนหนึ่งในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ หรือ Admissions นั้น กรมวิชาการได้ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งคณะทำงานที่มีนายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงฯ เป็นประธานเพื่อหาแนวทางจัดทำสมุดพกความดี โดยมีตัวแทนมหาวิทยาลัยร่วมด้วย ทั้งนี้ กรมวิชาการอยากให้ทบวงฯใช้สมุดพกความดีเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกนักศึกษา นอกเหนือจากการทดสอบด้านวิชาการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยอาจไม่มั่นใจว่าจะนำพฤติกรรมเด็กมาเปลี่ยนเป็นคะแนนอย่างไร ซึ่งคณะทำงานต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยแนวทางหนึ่งคือใช้ประกอบการสัมภาษณ์ ไม่เช่นนั้นเด็กที่ทำดีแต่ไม่เก่งทางวิชาการ หรือมีความสามารถเฉพาะด้านจะไม่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย “เท่าที่ทราบ ทปอ. ยังไม่ได้ปฎิเสธสมุดพกความดี เพียงแต่เป็นห่วงวิธีบันทึกเป็นคะแนน จึงต้องทำด้วยความรอบคอบและตรวจสอบผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น ตรวจสอบจากเพื่อนร่วมชั้น คาดว่าก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2546 จะมีรูปร่างหน้าตาของสมุดพกความดี ส่วนขั้นสูง หรือวิชาหลัก 5 วิชา กรมวิชาการเห็นด้วยที่ไม่อิงเนื้อหา แต่เป็นการทดสอบความสามารถและความคิดวิเคราะห์ของเด็ก ซึ่งจะช่วยลดปัญหากวดวิชาได้ระดับหนึ่ง” นายประพัฒน์พงศ์กล่าว (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ไอทีมอลล์เปิดโลกวิศวกรรมไทย

สภาคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกับบริษัท ซี.พี. พลาซ่า จำกัด จัดแถลงเปิดตัวงาน “นวัตกรรมงานวิศวกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ครั้งที่ 1” โดยนายทวีศักดิ์ พูนธเนศ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัท ซี.พี.พลาซ่าฯ และผู้บริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ เปิดเผยว่าการจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้วงการวิศวกรรมและเทคโนโลยีไทย เกิดความสนใจการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอันเป็นผลของนิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเป็นเวทีกลางในการเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยรุ่นใหม่ ตลอดจนเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติได้เข้าชมและศึกษาความเคลื่อนไหวของนวัตกรรมใหม่ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจลงทุนด้วยอีกทางหนึ่ง โดยนิทรรศการดังกล่าวนี้จะมีขึ้นในวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2545 ณ บริเวณลานกิจกรรม ศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





นวัตกรรมสู่อวกาศ การเดินทางของคนยุคจรวด

หลักสูตรปริญญาตรี สหกิจศึกษาสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) สมาคมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งประเทศสัมพันธ์สาธารณรัฐเยอรมรี (DAAD) และการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอาคเคน โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ของสมาคมความร่วมมือทางเทคนิคเยอรมัน หรือที่รู้จักกันในนาม “จีทีแซด” หลักสูตรดังกล่าว เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีเนื้อหาครอบคลุมด้านวิศวกรรมการบิน ทั้งในระดับชั้นบรรยากาศและชั้นอวกาศ ซึ่งมีผลงานในการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอวกาศที่น่าสนใจอย่างหลากหลาย เช่น การจัดสร้างเครื่องจำลองการทรงตัวของดาวเทียม ดาวเทียมจำลองเป็นแผ่นจานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 90 ซม. มีความสามารถของมวลอย่างดี และวางลอยอย่างไร้ความเสียดทานอยู่บนแบริ่งอากาศรูปครึ่งวงกลม เพื่อเลียนแบบพฤติกรรมในสภาวะไร้น้ำหนัก และเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ สจพ. จึงได้จัดแสดงนิทรรศการ “นวัตกรรมสู่อวกาศ-การเดินทางของคนยุคจรวด” นำเสนอทางเลือกใหม่ของการเดินทางสู่อวกาศ ซึ่งผู้เข้าชมจะได้พบกับระบบปฎิบัติการพื้นฐานขั้นตอนการเดินทางสู่อวกาศจนกระทั่งกลับลงมาสู่พื้นโลก เช่นเดียวกับระบบปฏิบัติการของเครื่องบิน โดยนิทรรศการดังกล่าวจะมีไปจนถึง วันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 ณ หอประชุมชั้น 2 อาคารอเนกประสงค์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





พบวิธีชะลอความแก่กันได้แล้วเลือกกินแต่อาหารี่มีแคลอรีต่ำ

หัวหน้าคณะนักวิจัย ดร.โปรลลาอธิบายว่าหัวใจแก่เฒ่าลง เพราะความเปลี่ยนแปลงของหน่วยพันธุกรรมบางชนิด การให้ผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนกินแต่อาหารที่มีแคลอรีน้อยอาจไป “ปรับโปรแกรม” ทำให้หน่วยถ่ายพันธุกรรมเสื่อมช้าลงได้ นอกจากนั้นอาหารที่มีแคลอรีต่ำยังมีสรรพคุณ ช่วยยืดอายุของเซลล์และไปต้านบางส่วนของระบบภูมิคุ้มโรคที่กัดกร่อนเนื้อเยื่อต่างๆ ให้เสียหายได้ด้วย ที่สำคัญจะต้องรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นใด จึงเป็นเหตุให้หัวใจที่เก่าแก่ เกิดมีอาการหัวใจวายง่ายกว่าหัวใจที่ยังหนุ่มแน่นให้ได้ “พูดง่ายๆ การศึกษาครั้งนี้ จะช่วยให้เราได้รู้ว่าหัวใจมันแก่ลงไปอย่างไร” (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





มะกันคิดเทคนิคผลิตจอประหยัดพลังงาน

สำนักข่าวซีเน็ต รายงานว่า บริษัทอิริไดม์ ในเมืองซานฟรานซิสโก ได้พัฒนาเทคโนโลยีจอภาพสะท้อนแสงรุ่นใหม่ ใช้อุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์แมคคานิคอล ซิสเต็มส์ หรือเมมส์ (MEMS) ซึ่งทางบริษัทเรียกว่า “อินเตอร์เฟอร์โรแมทริก โมดูลเลเตอร์” หรือ “ไอมอด” (iMOD) ตัวแทนบริษัทอิริไดม์ เปิดเผยว่าเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้จอภาพของอุปกรณ์พกพามีความสว่างมากกว่าจอภาพคริสตัลเหลว หรือแอลซีดี ถึง 3 เท่า อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า ทั้งนี้เนื่องจากจอภาพทั่วไป ทำให้อุปกรณ์พกพาใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่จอภาพไอมอด มีคุณสมบัติทางทฤษฎีที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ กินไฟน้อย กระนั้น นายอีริค ลาร์สัน ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์บริษัทอิริไดม์ (www.irdigm.com) กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าจอภาพดังกล่าวประหยัดพลังงานได้เท่าใด เมื่อเทียบกับจอแอลซีดีแต่ได้ย้ำว่า เทคโนโลยีไอมอดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้อุปกรณ์พกพาในอนาคตกินไฟน้อยลง (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)





ไวน์แดงรักษามะเร็ง

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษและสหรัฐได้แถลงในวันเดียวกันนี้ว่า จะเริ่มศึกษาตัวยาใหม่ที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งซึ่งชื่อว่า “เรสเวอเรทรอล” (Resverastrol) ซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติของไวน์แดง ซ้ำยังพบตัวยานี้ในถั่วลิสง เบอรี่และองุ่น โดยอาสาสมัครแต่ละคนจะได้รับตัวยานี้คนละ 0.5 กรัม เท่ากับจำนวนตัวยาที่มีอยู่ในไวน์นับสิบขวด จุดประสงค์เบื้องต้นคือวิเคราะห์ว่าสารตัวนี้อยู่ในร่างกายนานเท่าไหร่และแพร่เข้าไปในเลือดมากเท่าไร จากการศึกษานี้พบว่าผู้ที่ดื่มไวน์เป็นประจำจะพบการเกิดโรคมะเร็งน้อยมาก (มติชน พุธที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หน้า 10)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบจุลินทรีย์ช่วยสร้างกลิ่นหอมในข้าว

ดร.ศันสนลักษณ์ รัชฎาวงค์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะได้ค้นพบจุลินทรีย์ curvularia sp. ที่อยู่ในข้าวลูกผสมระหว่างข้าวหอมมะลิกับพันธุ์อื่น ในแถบ จ.ปทุมธานี โดยจุลินทรีย์ดังกล่าวเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในข้าว ซึ่งจุลินทรีย์ดังกล่าวเป็นตัวก่อให้เกิดกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตยในข้าว ดร.ศันสนลักษณ์ ได้นำจุลินทรีย์ curvularia sp. มาเพาะเลี้ยง ก่อนจะใส่จุลินทรีย์ดังกล่าวลงไปในน้ำ และเมื่อทำการแยกจุลินทรีย์ออกมาจากน้ำ ก็พบว่าน้ำจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นใบเตย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 31)





เตรียมเปิดตัวเครื่องบินเล็กกับรถกระบะใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์

นายปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่าในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 14 ในวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2545 จะมีการบินสาธิตเครื่องบินเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ (แก๊สโซลีนผสมเอทานอล) และรถกระบะที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงดีโซฮอล์ (ดีเซลผสมเอทานอล) ซึ่งเป็นผลงานจากการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่างเอ็มเทค กับองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายเพื่อระดมสมองเกี่ยวกับเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ โดยมุ่งเน้นการนำแอลกอฮอล์ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ และเทคโนโลยียานยนต์ที่เกี่ยวข้อง โดยนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบายวิศวกร นักเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 31)





เปิดศูนย์วิจัยยาแห่งแรกของเอเชีย

เอเอฟพี รายงานว่า เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) เอลี ลิลลี บริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ได้เปิดศูนย์วิจัยและค้นคว้าเวชภัณฑ์ ในสิงค์โปร์ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของเอเชีย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยมาใช้ในการหาแนวทางรักษาโรคต่างๆ เอลี ลิลลี เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเวชภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า ลิลลี ซีสเท็มส์ ไบโอโลจี (แอลเอสบี) จะทุ่มเงินมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สิงค์โปร์เพื่อใช้ในการวิจัยภายใน 5 ปีข้างหน้าโดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลสิงค์โปร์ นายริชาร์ด ดีมาร์ชี รองประธานกลุ่มด้านเทคโนโลยีการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของศูนย์วิจัยลิลลี กล่าวว่า การวิจัยเวชภัณฑ์จำเป็นต้องหาผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งก็หมายถึงการค้นคว้าหายาตัวใหม่ และว่าการลงทุนของบริษัทในสาขาเกี่ยวกับระบบชีววิทยา เป็นความพยายามเพื่อควบคุมความซับซ้อนทั้งหมดของชีววิทยามนุษย์ เพื่อจุดประสงค์ทางการค้า ทั้งนี้ แอลเอสบีจะเพิ่มจำนวนคณะนักวิทยาศาสตร์ และมืออาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างประเทศ จาก 27 คน เป็น 50 คนภายในเดือน ธ.ค.นี้ (กรุงเทพ เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 21)





ทบวงฯ ร่วมกับ สกว. แจกทุนนักวิจัยรุ่นใหม่

ศ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ทบวงมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดทำโครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ประจำปี 2546 โดยจะจัดสรรทุนวิจัยให้อาจารย์รุ่นใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประมาณ 200 ทุน ซึ่งทั้งทบวงฯ และ สกว. ได้สนับสนุนเงินทุนคนละครึ่ง โดย สกว.จะเป็นการจัดสรรงบในส่วนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย ซึ่งไม่เกิน 120,000 บาท/ปี และทบวงฯจะสนับสนุนงบในส่วนของค่าตอบแทน จำนวน 10,000 บาท/เดือน แต่ไม่เกิน 120,000 บาท/ปี (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





ไทยทำได้ แปรขยะเป็นน้ำมัน

คนไทยสามารถผลิตเครื่องแปรขยะให้เป็นน้ำมันได้แล้ว เรียกว่า เครื่องปฎิกรณ์ไพโรไลซิส ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมระหว่างเทคโนโลยีมหานครและกรมควบคุมมลพิษ การทำงานของเครื่องนี้คือ มันสามารถแปรรูปกากตะกอนของเสีย 300 กก. ให้เป็นน้ำมัน 50 ลิตร ภายในเวลาเพียง 8 ชั่วโมง และมีการทดลองนำน้ำมันที่ได้นี้ไปใช้กับเครื่องยนต์ ก็พบว่าเครื่องยนต์ไม่สึกหรอใช้ได้สมบูรณ์ 100% อย่างไรก็ตาม ทางผู้วิจัยยังต้องปรับปรุงเครื่องปฎิกรณ์นี้ให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและนำไปใช้กับโรงงานขนาดใหญ่ได้ เพราะตอนนี้รับได้เพียงกากตะกอนจากโรงงานขนาดเล็กเท่านั้น และที่น่าสนใจก็คือ โครงการนี้มุ่งเน้นให้ใช้กับเครื่องยนต์ยันมาร์ที่ใช้ไถนา หากหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนให้ก่อสร้างเจ้าเครื่องปฎิกรณ์นี้ขึ้น ขยะที่เราสร้างมันขึ้นมาทุกวันจะมีค่าขึ้นมาทันที (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2545 หน้า 31)





ข่าวทั่วไป


จัดระเบียบเว็บไซต์ของรัฐ

ที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสื่อสาร เสนอจัดระเบียบเว็บไซต์ราชการหลังจัดโครงสร้างใหม่ วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาสืบค้นข้อมูล และรับบริการออนไลน์จากภาครัฐนั่นเอง ครม.จึงมอบหมายให้ไอซีที เนคเทค และ THNIC ร่วมกันกำหนดวิธีการตั้งชื่อโดเมนเนมแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างของส่วนราชการหลังปฏิรูปแล้ว กำหนดเวลาให้เสร็จภายในวันที่ 10 พ.ย.2545 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





สวทช.หนุน R&D ยกระดับวิทย์ไทย

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงข้อมูลการสำรวจและพัฒนาระบบฐานด้านการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมบริการของระเทศไทยว่า ข้อมูลวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนชี้ช่วยฉุดอันดับวิทย์และเทคโนโลยีของไทยให้พุ่งสูงขึ้น พร้อมร่วมมือกับธนาคารปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเอกชนทำวิจัย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





หลักสูตรคอมพ์สำหรับคนสูงวัยดัดแปลงได้เพื่อท่านรัฐมนตรี

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมครม.ว่า หากรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี ที่ไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต จะจัดให้บุคคลเหล่านี้เข้าแคมป์ เพื่ออบรมข้อมูลดังกล่าว โดยจะจัดอบรมให้ช่วงวันสุดสัปดาห์ เชื่อว่าเพียง 3 วัน ทุกคนจะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่วขึ้น และย้ำให้ทุกกระทรวงจัดทำเว็บไซต์และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานชมรม OPPY ผู้ชำนาญการกับการสอนคอมพิวเตอร์ให้เหล่าผู้สูงวัย คุณหญิงชัชนี เห็นว่าระยะเวลาเพียง 3 วัน ไม่เพียงพอกับการสอนผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานคอมพิวเตอร์เลย เพราะผู้ใหญ่ในวัยนี้ค่อนข้างมีการเรียนรู้ช้า จะเริ่มตั้งแต่สอนปิด เปิดเครื่อง สอนวิธีลากเมาส์ คนสูงอายุนั้นให้นั่งแค่ 2 ชั่วโมง ก็แย่แล้ว (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 16)





แหล่งฝังศพมนุษย์โบราณใหญ่คาดบอกให้รู้คนไทยมาจากไหน

แหล่งฝังศพมนุษย์โบราณเพิ่งขุดพบเมื่อไม่นาน อยู่ในพื้นที่ของเขตจังหวัดลพบุรี การขุดสำรวจได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและเครื่องประดับ และเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ ตลอดจนเปลือกหอยทะเล กระดองเต่า แก้วและหินจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรประมาณว่า จากร่องรอยที่สังเกตพบแหล่งที่ฝังศพมนุษย์โบราณแห่งนี้ กินอาณาเขตกว้างขวาง อาจจะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศเท่าที่เคยพบกันมา เชื่อว่า อาจพบโครงกระดูกฝังอยู่ไม่ต่ำกว่า 10,000 โครง ตามร่องรอยเท่าที่เห็น แหล่งฝังศพแห่งนี้จะต้องเป็นของชุมชนในสมัยโบราณขนาดใหญ่โตมากแห่งหนึ่ง นับว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญมาก” นักวิชาการของกรมศิลปากรยังมีความเห็นว่าการค้นพบแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยต้นฯ ประวัติศาสตร์ของคนไทย อาจจะช่วยให้สืบสาวราวเรื่องได้ว่าคนไทยมาจากไหนด้วย





อัดกรมทรัพย์สินฯ เปิดช่องจดสิทธิบัตรไวน์

คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ จัดสัมมนา เรื่อง “การจดสิทธิบัตรของอุตสาหกรรมไวน์” เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเกี่ยวกับกรณีบริษัท เชียงรายไวน์เนอร์รี่ ได้จดสิทธิบัตรไวน์กระชายดำ และไวน์กระท้อน นายกมล กมลตระกูล ผู้อำนวยการ ฟอรั่มเอเชีย หน่วยงานเอ็นจีโอติดตามปัญหาในเอเชียกล่าวในงานสัมมนา ว่า ประเด็นปัญหาเรื่องการจดสิทธิบัตรไวน์ กระชายดำ และกระท้อน นั้นในความคิดเห็นส่วนตัว ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรอนุญาต เพราะหลักเกณฑ์การจดสิทธิบัตรในสากลคือต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่การทำไวน์จากกระชายดำ หรือกระท้อน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านรู้มาก่อนนานแล้ว ดร.เชิดชัย เชียวธีรกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า หลักการจัดสิทธิบัตรมีหลักเกณฑ์ คือ เป็นของใหม่ นำไปใช้เป็นประโยชน์ได้ และต้องเป็นสิ่งที่เห็นอย่างที่อ้างไว้ในคำพรรณนาขอจดสิทธิบัตรชัดเจนถ้าผู้อื่นเห็นว่าไม่ถูกก็ฟ้องร้องต่อศาลขอถอนสิทธิบัตรได้ หลังการจัดงานสัมมนา ปรากฏว่า กลุ่มชาวบ้านได้พยายามซักถามทางเชียงรายไวน์เนอร์รี่ว่ามีความแน่ใจหรือไม่ที่สูตรที่คิดค้นได้นั้นไม่ได้นำภูมิปัญญาชาวบ้านไปต่อยอด เนื่องจากในส่วนของลูกแป้งเหล้า ก็มีเชื้อราทำหน้าที่เหมือนกับสารต่างๆ ที่ทางเชียงรายไวน์เนอร์รี่ใช้ หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับเอาเปรียบสังคม ซึ่งทางเชียงรายไวน์เนอร์รี่ ได้ตอบปฏิเสธ และระบุว่า เป็นกระบวนการวิจัยที่ไม่เกี่ยวกับลูกแป้งเหล้า (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 3)





จีนเปิดประตูเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไฟเขียวต่างชาติใช้สกุล ‘ดอทไชน่า’

สำนักข่าวเอพี รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า รัฐบาลจีนจะอนุญาตให้เว็บไซต์ต่างประเทศสามารถใช้สกุลดอทซีเอ็น (.cn) ซึ่งเป็นอักษรต่อท้ายสำหรับเว็บสังกัดประเทศจีนได้ ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไปเพื่อขยายบทบาทของตนในเครือข่ายออนไลน์ นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทต่างชาติสามารถเจาะตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้มากขึ้น และสอดคล้องกับการรณรงค์ให้ใช้เว็บในเชิงพาณิชย์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ ประเทศจีนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์สกุลดอทซีเอ็นทั้งหมด ภายใต้กฎการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจะอนุญาตเฉพาะองค์การภายในประเทศ และบริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในจีน ให้จดทะเบียนภายใต้สกุลดังกล่าวได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยปัจจุบันมีชาวจีนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่างๆ ราว 45 ล้านคน และมีเว็บที่จดทะเบียนสกุลดอทซีเอ็น ราว 127,475 แห่ง แต่ยังถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคน (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)





เจ้าของยา ‘วี 1’ ร้องศาลฟ้องอนาถา

เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ออกนั่งอ่านคำสั่งในคดีที่ นายวิชัย จิรฎฐิติกาล เภสัชกรเจ้าของสูตรยา วี 1 “อิมมูนิเตอร์” และบริษัท อิมมูนิเตอร์แมนูแฟกเจอร์เรอร์ จำกัด ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมช. สาธารณสุข เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายจำนวน 1 หมื่นล้านบาทและขอดำเนินคดีอย่างอนาถา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ทำให้นายวิชัยยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเข้ามาในชั้นอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเงินจำนวน 2 แสนบาท มาวางเป็นค่าธรรมเนียมศาล เพราะมีภาระต้องผลิตยา วี 1 แจกผู้ป่วย โดยในการมาฟังคำสั่งครั้งนี้มีนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ อดีตส.ส.ศรีสะเกษ เป็นทนายความแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากน.พ.สุรพงษ์ จำเลยย้ายที่ทำงานจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ไม่สามารถส่งหมายคดีนี้ได้ จึงต้องของเลื่อนคดีเพื่อส่งหมายให้ น.พ.สุรพงษ์ใหม่ศาลพิจารณาแล้วมีเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปในวันที่ 14 ก.พ. 2546 เวลา 10.00 น. นายวิชัย ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับแนวร่วมสนับสนุนวี 1 จำนวนกว่า 10 คนให้สัมภาษณ์ว่า ในการวิจัยยาของตน ก็มีกลุ่มคนติดเชื้อเอดส์หลายคนใช้ยาไปแล้วได้ผลดีในระดับหนึ่ง ผลการตรวจหลังจากทานยาแล้วก็ไม่พบเลือดบวก เท่ากับว่าหายจากโรคเอดส์ หลังจากนี้เมื่อตนเสร็จเรื่องที่ศาลแพ่งแล้ว ก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์แล้วใช้ยาได้ผล ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ทราบต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





ขรก. ประถมโวยฐานะด้อยแค่เสมียน

ที่หอประชุมใหญ่คุรุสภาข้าราชการพลเรือนสามัญสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) 1,000 คน ได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการกำหนดตำแหน่งบัญชีเงินเดือนให้กับข้าราชการพลเรือนใน สปช. ซึ่งจะถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นบุคลากรทางการศึกษา โดยนายวิศร์ อัครสันตติกุล นายกสมาคมฯ เผยว่า ข้าราชการ สปช.ต้องปรับเปลี่ยนตนเองไปเป็นบุคลากรทางการศึกษา แต่กฎหมายกลับไม่ได้กำหนดความเท่าเทียมในวิชาชีพที่ชัดเจน ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เพิ่มเติมตำแหน่ง แต่ถูกปฎิเสธ เพราะมองว่าบุคลากรทางการศึกษาเป็นเพียงเด็กเดินหนังสือในมหาวิทยาลัยหรือเสมียน และเคยยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับความสนใจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าพบนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งนายปองพลได้ให้ตัวแทน 5 คน เข้าหารือก่อนจะรับดำเนินการให้ตามข้อเรียกร้อง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงพอใจและเดินทางกลับ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)





บัตรเครดิต รายได้ต่ำมีสิทธิ์ถูกยกเลิกใช้

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสรุปรายละเอียดการกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เสร็จภายในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่หากสรุปได้เร็วในวันที่ 4 พฤศจิกายนก็อาจเสนอเป็นวาระจรเพื่อทราบในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าทันที นายวราเทพกล่าวว่า สำหรับการกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิตที่มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 15,000 บาทนั้น เป็นระดับที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด และกำลังในการใช้จ่ายเครดิตการ์ด ส่วนผู้ถือบัตรเครดิตก่อนหน้านี้ที่สมัครโดยมีรายได้ขั้นต่ำไม่ถึง 1 หมื่นบาทตามที่สถาบันการเงินบางแห่ง รวมทั้งที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์อนุมัติไปก่อนหน้านั้น จะหารือในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน โดยจะพิจารณาใน 2 แนวทาง คืออาจจะยกประโยชน์ให้กับผู้ใช้บัตรไป หรือยกเลิกบัตรผู้ถือบัตรแต่จะกำหนดระยะเวลาในการยกเลิกไว้ 1-2 ปี เพื่อให้มีการเตรียมพร้อม (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2545 หน้า 8)





สระว่ายน้ำผสมคลอรีนแบบใหม่ เป็นแหล่งทำลายฟันอย่างรุนแรง

ท.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ประจำกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า คณะทำงานของกองทันตสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงเรียนการกีฬา วิจัยเรื่องภาวะฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำ โดยได้วิจัยตรวจสภาพฟันกร่อนของนักกีฬาว่ายน้ำจากโรงเรียนการกีฬา จ.ขอนแก่น จำนวน 18 คน ผลปรากฎว่าทั้งหมดมีสภาพฟันกร่อนอย่างรุนแรง ทั้งนี้เป็นผลมาจากนักกีฬาว่ายน้ำสัมผัสกับน้ำในสระ ซึ่งมีความเป็นกรดสูง เพราะใช้สารประกอบคลอรีนประเภทกรดไตรคลอโรไอโซไชยานูริกหรือคลอรีน 90% เป็นระยะเวลานาน สารประเภทนี้ราคาถูกแต่สามารถช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำได้และคลอรีนจะอยู่ในน้ำนานกว่า จากการวิจัยพบว่า นักกีฬาเหล่านี้จะว่ายน้ำในสระที่มีความเข้มข้นของกรดสูง เฉลี่ยวันละ 11.33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพียง 2 เดือน ก็มีอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามปกติแล้วนักกีฬามีโอกาสเกิดฟันกร่อนมากกว่าผู้ที่ว่ายน้ำธรรมดา 4.68 เท่า แต่นักกีฬาว่ายน้ำในสระน้ำใช้สารประกอบคลอรีนดังกล่าว มีโอกาสเกิดฟันกร่อนมากกว่า ใช้คลอรีนตัวอื่นเช่น แคลเซียมไฮเปอร์คลอไรต์และโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 2.78 เท่า แต่ผู้ที่สัมผัสปัจจัยทั้ง 2 ร่วมกันมีโอกาสเสี่ยงเกิดฟันกร่อนมากกว่า 13.1 เท่า ของผู้ที่ไม่สัมผัสทั้ง 2 ปัจจัย (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 18)





อย. ยันกินผงชูรสตาไม่บอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการเผยแพร่ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งค้นพบว่าการบริโภคผงชูรสอาจจะมีผลทำให้ตาบอดเพราะทดลองให้ผงชูรสกับหนูแล้วปรากฎว่า เรตินาในตาหนูได้ลดลงถึงร้อยละ 75 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงขอให้ผู้บริโภคอย่าหวั่นวิตก เพราะในระดับนานาชาติมีการประเมินค่าความปลอดภัยของผงชูรสแล้ว ระบุมีความเป็นพิษต่ำมาก ไม่เป็นอันตรายในการบริโภค ยกเว้นผู้ที่แพ้ อาการจะไม่รุนแรงและหายไปเอง อย่างไรก็ตาม อย.มิได้นิ่งนอนใจ จะติดตามนำรายงานวิจัยฉบับเต็มมาพิจารณาทบทวนข้อมูลความปลอดภัยต่อไปนั้น ล่าสุด น.ส.พจศนา บุญทอง เลขาธิการชมรมไม่บริโภคผงชูรส ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ อย. ระบุว่าทางชมรมมีข้อสงสัยในการทำงานของ อย. และต้องการให้ตอบข้อสงสัย 3 ประการ คือ 1.ผงชูรสมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่ 2. นักวิชาการหรือบุคลากรใน อย. เคยได้รับทุนดูงานหรืออื่นๆ จากบริษัทผงชูรสหรือไม่ 3. ทุกครั้งที่มีข่าวสารทางลงในเรื่องผงชูรสทำไม อย.ถึงต้องรีบออกมาปกป้องประหนึ่งปกป้องผลประโยชน์ผู้ประกอบการ (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2545 หน้า 18)





บันไดขึ้นไปสู่อายุยืนเป็น 100ปี กินกระเทียมหัวหอมก็ให้คุณ

หมอโรเจอร์ แฮนเดอสัน บอกไว้ในเรื่อง “100 วิธีเพื่อให้อายุยืนถึง 100 ปี” ของเขา แนะนำวิธีการต่างๆ ในจำนวนนี้ มีตั้งแต่ให้เลือกกินอาหารที่มีกากใยเป็นประจำ ดื่มชา เพราะเป็นตัวช่วยล้างพิษ ดื่มช็อกโกแลตดำชั้นดีปริมาณไม่ต้องมากนักทุกวัน เติมพวกเครื่องเทศอย่างเช่นกระเทียม หัวหอมลงในอาหาร เขายังได้กำชับว่า ควรจะกินอาหารเช้าทุกวัน กินพวกถั่วต่างๆ ปลาพวกที่มีรสชาติมันๆ ถั่วแขกชนิดเมล็ดแดงและเหลือง อาหารพวกเหล่านี้จะช่วยให้อายุยืน ด้วยเหตุว่ามันช่วยกำจัดไขมันเลว พร้อมกับบริโภคพืชใบเขียวๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมสารพิษไม่ให้สะสมอยู่ในตัวมากเกินไป (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215