หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 45 ประจำวันที่ 2002-12-17

ข่าวการศึกษา

“พระเทพ” สนพระทัยนำความรู้ช่วยชนบท
อธิการจุฬาฯ ยอมรับนศ.ฟุ้งเฟ้อเพราะสังคม
จี้ ปอมท. หนุนนโยบายออกนอกระบบ
ทบวงฯ พัฒนาการศึกษาเกาะกงหวังฟื้นการค้า
ทบวงฯกังขาผลสำรวจ ‘ปอมท.’ จี้เลิกค้าน-ร่วมชงม.นอกระบบ
แพทย์แผนไทยเผยผลวิจัยล่าสุดท่าเต้นกระชับทรวงทำรูปร่างดี
สกศ.ร่วมเฉลิมพระเกียรติ5ธันวา/ทำเว็ป ‘ในหลวงกับการศึกษาไทย’
นักเรียน กทม.แฉ “สมุดพกความดี” ทำพฤติกรรมแย่ลง
สภา กว.ทบทวนหลักสูตร ค.อ.บ.หลังเจอม็อบ
ทปอ.รับความเห็นองค์ประกอบเอนทรานซ์ใน 8 กลุ่มสาขาวิชาสำคัญ
“ปองพล” พร้อมปรับแนวรับเด็ก รุกลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
การประถมศึกษากับการส่งเสริมการอ่าน
คุรุสภาเผยครูดีเด่น
ทวงร้อง “ใบวิชาชีพ”
มจร.ยื่น “ทักษิณ” เปลี่ยนสังกัดเข้าอุดม
ชงครม.ให้ทุนน.ศ.ครูพันธุ์ใหม่ 8 หมื่นต่อหัวตั้งคกก.แห่งชาติจำกัดโควตา-กันล้นตลาด
เผยผลวิจัยเอนทรานซ์ระบบใหม่แนะต้องทำให้สอบเมื่อที่พร้อม
ม.ศรีปทุมรายได้ต่อปีสูงสุดเกือบพันล้าน
นักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันเสนอทฤษฎี ‘กำเนิดดาวเคราะห์’ ใหม่

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

บล็อกปูพื้นจากยางพารา : สามารถใช้ได้ดี
ผุดไอเดียรักษาผู้ป่วยหัวใจ ปลูกยีนส์ม้าน้ำ-ซ่อมอวัยวะ
“บั้งไฟ” ติดโผข่าวดังวิทย์ สวทช.
เด็กไทยสกัดสารธรรมชาติจากต้นย่านพังโหมยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักวิจัยหัวใสคิดวิธีกำจัดไวรัสแนวใหม่
มะกันพบวิธีบันทึก “ข้อมูลดิจิทัล” ในโมเลกุล เก็บภาพถ่ายกว่าพันบิต-ระบุเข้ารหัสไบนารี่
นักวิจัยชำแหละค้างคาวไทย สงสัยนำเชื้อไข้สมองอักเสบ
‘ทักษิณ” เตรียมตีปี๊บผลสำเร็จวิจัยจีโนมข้าว
วว.เดินหน้าทดสอบสมองหมู
กล้วยไม้สีน้ำเงิน
นักวิจัยสหรัฐเร่งทดลองยาแก้มะเร็งจากใบยาสูบ

ข่าวทั่วไป

ยิวผลิตโปรแกรมช่วยคนหูหนวกใช้มือถือ
หนังสือ-ห้องสมุดดิจิทัล
เครือข่ายสิ่งแวดล้อมเคลื่อนไหว คัดค้าน ปตท. รับ “อีไอเออวอร์ด”
ไทยทดสอบวัคซีนเอดส์ใหญ่สุดในโลก
โตโยต้าเลือกไทยตั้งศูนย์วิจัยรถเอเชีย
จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ อาจเป็นโรคสายตาอ่อนเพลียได้
จี้ผู้เชี่ยวชาญลงศึกษาภาพเขียนสีด่วนอุทยานสามร้อยยอดคุมเข้มคนเข้าชม
แนะผู้เลี้ยงกุ้งทำอาหารเองแก้ปัญหาสารตกค้าง
ภารกิจเรือ ‘ชลธารานุรักษ์’ ขจัดคราบน้ำมันแหล่งท่องเที่ยว
วางแผนคุม ‘ผงชูรส’ เพื่อสุขภาพประชาชน
น้ำยาล้างจาน-น้ำยาซักผ้าผลผลิตจากมะเฟือง





ข่าวการศึกษา


“พระเทพ” สนพระทัยนำความรู้ช่วยชนบท

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานจุฬาฯ วิชาการ’ 45 หัวข้อเรื่อง “กู้วิกฤติ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ” ว่า การเผยแพร่ความรู้และผลงานด้วยการบูรณาการระหว่างการเรียนการสอน ภารวิจัย และงานกิจการนิสิต เป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม ทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจะได้มีโอกาสทำงานวิชาการร่วมกัน ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ด้าน รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาฯ เผยว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระทัยการถ่ายทอดความรู้สู่ชนบท เช่น การใช้พลังงานทดแทน ระบบดูแลสุขภาพ การนำระบบธุรกิจขนาดย่อมและความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพต่างๆ มาสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น และทรงมีพระประสงค์ให้บัณฑิตกลับไปทำงานในชนบท ทั้งนี้ จุฬาฯ ได้เปิดโครงการขยายโอกาสการศึกษาให้ประชาชนได้เรียนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความผูกพันไม่ทอดทิ้งถิ่นฐาน และพัฒนาให้คนไทยแข่งขันกับสังคมโลกได้ ส่วนความฟุ้งเฟ้อของนิสิตจุฬาฯ นั้นค่านิยมบางอย่างมาจากสังคม และนิสิตก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะให้มีความประพฤติไม่เหมือนคนอื่นคงเป็นไปไม่ได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





อธิการจุฬาฯ ยอมรับนศ.ฟุ้งเฟ้อเพราะสังคม

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ผลงานวิจัยนิสิตปริญญาโท จุฬาฯ ที่ระบุถึงความฟุ้งเฟ้อของนิสิตจุฬาฯ โดยยอมรับว่านิสิตจุฬาฯ เป็นกลุ่มคนมีฐานะดี เพราะกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่การที่นิสิตมีค่านิยมแบบนั้น ก็เพราะนิสิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และค่านิยมบางอย่าง ก็มาจากค่านิยมของสังคม เช่น ชอบความบันเทิง ติดตามข้อมูลข่าวสารในเชิงลบ ดังนั้น การจะให้น.ศ.มีความประพฤติไม่เหมือนคนอื่นในสังคมคงเป็นไปไม่ได้ ในส่วนมหาวิทยาลัยพยายามให้นิสิตพัฒนาตนเองด้านวิชาการเพื่อออกไปประกอบอาชีพได้ มีคุณภาพเชิงความคิด วิชาการ และพัฒนาบุคคล และวัยของนิสิตจะเป็นช่วงเปลี่ยนจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ จึงต้องให้น.ศ.มีความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ซึ่งถ้าจะพัฒนาสังคมก็ควรมองคนในด้านดีและนำมายกย่องเชิดชูให้คนกระทำตาม เพราะถ้ามองทุกอย่างในแง่ลบจะเป็นการสกัดกั้นการพัฒนา ทั้งนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งแง่ดีและไม่ดี แล้วเราจะเอาคนส่วนน้อยที่ไม่ดีมาตัดสินคนส่วนรวมหรืออย่างไร (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 6)





จี้ ปอมท. หนุนนโยบายออกนอกระบบ

ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเผยกรณีที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอทม.) มีมติให้รัฐบาลชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ที่ส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังผลสำรวจความคิดเห็นของประชาคมมหาวิทยาลัย 15 แห่ง เห็นด้วยกับการให้ข้าราชการมหาวิทยาลัย มีสถานภาพแบบเดียวกับข้าราชการตุลาการและอัยการว่า คงต้องยืนยันนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ซึ่งขั้นตอนขณะนี้คือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ได้ผ่านความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของแต่ละสถาบันก็ถือว่าผ่านความเห็นชอบของประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้ว ผลสำรวจของ ปอมท. คงต้องดูว่า จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามมีเท่าไหร่ ทั้งนี้ ปอมท. ควรจะสนับสนุนว่า แนวทางการออกนอกระบบ เพราะเวลานี้ทั่วโลกก็พัฒนาในแนวทางนี้ทั้งนั้น (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





ทบวงฯ พัฒนาการศึกษาเกาะกงหวังฟื้นการค้า

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายยุทธ ภูทอง ผู้ว่าการจังหวัดเกาะกง สาธารณรัฐกัมพูชา ว่าทบวงฯ และมหาวิทยาลัยบูรพาได้ร่วมมือกับจังหวัดเกาะกง จัดโครงการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ โดยมอบให้ มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยแกนนำหลักในการให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการให้ทุนเพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษากับชาวจังหวัดเกาะกงเนื่องจากมองว่า การพัฒนาบุคลากรเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวเกาะกงจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสังคม รวมถึงความมั่นคงของทั้งสองประเทศตามมา ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมถ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะเน้นการพัฒนาบุคลากร จังหวัดเกาะกงในระดับปริญญาตรีและโท ด้านพยาบาล สาธารณสุข นิเทศศาสตร์ การโรงแรมและท่องเที่ยว การบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ และจัดอบรมดูงานระยะสั้น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในสาขาการบริหารการท่องเที่ยว การบริหารการศึกษา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนจะมีความร่วมมือทางการวิจัยเชิงพัฒนาชุมชน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ธุรกิจการประมงสิ่งแวดล้อมและการบริหารชุมชนของ จังหวัดเกาะกง (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ทบวงฯกังขาผลสำรวจ ‘ปอมท.’ จี้เลิกค้าน-ร่วมชงม.นอกระบบ

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) มีมติให้รัฐบาลชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลที่ส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากได้ผลสรุปการสำรวจความคิดเห็นของประชาคมมหาวิทยาลัย 15 แห่ง เกี่ยวกับสถานภาพของมหาวิทยาลัย และบุคลากร ซึ่งระบุผลว่าทุกแห่งเห็นด้วยกับการให้ข้าราชการมหาวิทยาลัยมีสถานภาพแบบเดียวกับข้าราชการตุลาการ และอัยการนั้นทางทบวงฯ ยังคงต้องยืนยันนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลซึ่งขั้นตอนขณะนี้คืออยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งก่อนที่จะมาถึงขั้นนี้ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลฉบับต่างๆ ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้วด้วย (มติชน พฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





แพทย์แผนไทยเผยผลวิจัยล่าสุดท่าเต้นกระชับทรวงทำรูปร่างดี

พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ รองอธิการบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงการนำภูมิปัญญาไทยเข้ามาช่วยทำให้ให้หน้าอกกระชับเต่งตึง ท่าเต้นกระชับเต้าหรือกระชับทรวง เพื่อให้หน้าอกที่อาจจะเกิดอาการเบี้ยว คล้อย ห่าง หรือไม่ได้สัดส่วนให้ดูสวยงามขึ้น โดยการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ท่าเต้นสำหรับสาวอกเล็กและ ท่าเต้นสำหรับสาวอกใหญ่ สำหรับท่าเต้นสำหรับสาวอกเล็กนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน โดยเริ่มจากท่าแรกเรียกว่าท่าเขย่า คือให้ก้มตัวลงพร้อมกับทิ้งแขนเขย่าขึ้นลงประมาณหนึ่งร้อยครั้ง จากนั้น ให้กระโดดขึ้นลงคล้ายกับการเต้นสเต็ปอีก 100 ครั้ง เพื่อให้เต้านมเกิดการเคลื่อนไหว จากนั้น ให้ใช้มือพยุงที่ฐานของเต้านมเพื่อจัดเต้าให้กระชับทั้งด้านบนด้านล่างและด้านข้างทั้งสองข้าง ส่วนท่าสุดท้ายให้ใช้มือประสานกันทั้งสองข้าง เหยียดแขนให้ตึงดึงลงไปด้านล่าง เพื่อให้เกิดความกระชับที่ฐานของเต้านม โดยใช้เวลาบริหารประมาณ 30 นาที –1 ชั่วโมง ในแต่ละครั้ง ส่วนผู้ที่มีเต้านมใหญ่ให้ทำกลับกัน คือแทนที่จะก้มลงให้หงายตัวขึ้นใช้มือประสานกันเหยียดให้ตึง หงายหลังจนสุดประมาณ 100 ครั้งจากนั้น ให้นวดกระชับแบบเดียวกันท่านี้จะช่วยให้ฐานของเต้นนมมีความกระชับขึ้น (มติชน พฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 10)





สกศ.ร่วมเฉลิมพระเกียรติ5ธันวา/ทำเว็ป ‘ในหลวงกับการศึกษาไทย’

นายรุ่ง แก้วดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยว่า เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม 2545 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวางแผนและกำหนดนโยบายทางการศึกษาของชาติ ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่การพัฒนาการศึกษาของชาติ พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดมา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา สกศ.จึงได้รวบรวมเว็บไซต์ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ประมวลพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสพระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้สนใจมีความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าและใช้ประโยชน์ต่อไป โดยสามารถเข้าชมเว็บไซต์ “ในหลวงกับการศึกษาไทย” ได้ที่ http://www.one.go.th/theking/ (มติชน พฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





นักเรียน กทม.แฉ “สมุดพกความดี” ทำพฤติกรรมแย่ลง

ได้มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นผ่านทางรายการ “แวดวงการศึกษา” ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท.เอฟเอ็ม 100.5 ว่าที่โรงเรียนมีการให้คะแนนคุณธรรมเพื่อสะสมในสมุดพกความดี แต่ตนอยากให้ยกเลิกคะแนนส่วนนี้ เพราะเป็นต้นเหตุให้เพื่อนหลายคนในโรงเรียนไม่มีคุณธรรมบางคนถึงกับแอบเขียนคะแนนให้ตัวเองในสมุดบัญชีแทนผู้ปกครองแล้วให้ครูเซ็น หรือบางคนถึงกับแอบล้วงกระเป๋าครูเพื่อเอาบัตรคะแนนคุณธรรมในตอนที่ครูไม่อยู่ นอกจากนี้ยังเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในกลุ่มครูที่เป็นผู้ให้คะแนนด้วย เพราะขณะที่นักเรียนบางคนทำความดีแต่ครูบางคนก็ไม่ให้คะแนนคุณธรรม ดังนั้นถ้าตนมีโอกาสได้พูดกับนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อยากจะขอให้ยกเลิกการเก็บคะแนนคุณธรรม (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)





สภา กว.ทบทวนหลักสูตร ค.อ.บ.หลังเจอม็อบ

สภาวิศกรเตรียมทบทวนเกณฑ์การออกใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (กว.) ของหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรม (ค.อ.บ.) อีกครั้ง หลังมีนักศึกษาออกมาเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล จากที่เคยมีมติให้บัณฑิต ค.อ.บ. ต้องทดสอบก่อนได้รับใบ กว. ไปก่อนหน้านี้ พร้อมย้ำหลักสูตร ค.อ.บ.มีวิชาพื้นฐานวิศวะไม่พอ เสนอทางแก้ให้ยกระดับหลักสูตร พร้อมเปลี่ยนชื่อเทียบเท่าวิศวกรรมด้านทบวงเร่งประสานให้ได้ข้อยุติโดยเร็วขณะที่คณบดี ค.อ.ม.บางมด เผยเหตุที่ นศ.ประท้วง เพราะไม่ต้องการให้สภา กว. ถ่วงเรื่องไปมา จากกรณีเหตุการณ์ประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล ของนักศึกษาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) กว่า 200 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการยื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้แก้ไขเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวควบคุมของสภาวิศวกรที่ได้มีมติไปเมื่อ 10 ก.ย. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (กว.) ว่าต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามเกณฑ์ก่อนรับใบอนุญาต ซึ่งส่งผลให้นักศึกษาที่จบและกำลังจะจบการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2543-2545 ต้องผ่านการทดสอบ ขณะที่บัณฑิตที่จบหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ บัณฑิตไม่ต้องทดสอบความรู้จึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิของนักศึกษาที่เข้าศึกษาก่อนหน้ามติดังกล่าว ทั้งนี้ ทางสภาวิศวกรได้แก้ปัญหานี้โดยให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตร ค.อ.บ. และ อส.บ.ปรับหลักสูตรเพื่อยกระดับหลักสูตรให้เทียบเท่าวิศวกรรมศาสตร์และประสาทปริญญาเป็นวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต โดยจะมีมหาวิทยาลัยเริ่มทยอยเข้าปรับหลักสูตรตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป ส่วนบัณฑิตในปริญญาที่เป็นวุฒิเทียบ เช่น หลักสูตร ค.อ.บ. , อส.บ.รวมถึง วศ.บ. ในหลายหลักสูตรจะต้องเข้าทดสอบความรู้เพื่อปรับเกณฑ์เป็นวุฒิตรง ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครขอรับกวดวิชาก่อนเข้าทดสอบความรู้กว่า 100 คน ซึ่งเต็มตามจำนวนที่ทางสภาวิศวกรจะเปิดสอนได้ ด้าน ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ทบวงได้ประสานไปยังคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้ทำเรื่องชี้แจงข้อเท็จจริง โดยเท่าที่ทราบหลักสูตร ค.อ.บ.และ อส.บ.เคยได้รับอนุโลมให้ได้รับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ในสมัย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทยและเป็นประธานกรรมการสภาวิศวกร อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ใกล้ได้ข้อยุติแล้ว โดยตนมองว่าน่าจะเป็นไปได้ที่จะให้หลักสูตรค.อ.บ. และ อส.บ. ได้รับใบประกอบวิชาชีพแต่ก็เป็นเพียงความเห็นไม่สามารถก้าวล่วงในสภาวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังผู้ทรงคุณวุฒิให้รีบตัดสินใจ โดยให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ทปอ.รับความเห็นองค์ประกอบเอนทรานซ์ใน 8 กลุ่มสาขาวิชาสำคัญ

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา” เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ว่า ที่ประชุมได้เสนอรูปแบบและวิธีการคัดเลือกใน 8 กลุ่มสาขาวิชาดังนี้ สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, สาขาวิชาแพทย์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ, สาขาวิชาศึกษาศาสตร์และการฝึกหัดครู, สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์, สาขาวิชาสถาปัตยกรรม, สาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, สาขาวิชาการบริหารพาณิชยการและบริหารธุรกิจ ส่วนสาขาวิชาศิลปกรรม วิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ และได้กำหนดผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPA) ค่าตำแหน่งลำดับที่ (PR) การประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (National Test) และแบบทดลองความถนัดทางการเรียน (SAT) ไว้ในแต่ละสาขาวิชา ทั้งนี้ข้อเสนอทั้งหมดจะนำเสนอต่อ ทปอ. เพื่อพิจารณาในวันที่ 15 ธ.ค.อีกครั้ง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2545 หน้า 14)





“ปองพล” พร้อมปรับแนวรับเด็ก รุกลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

ตามที่นายจาตุรงค์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลด้านการศึกษา เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทบทวนแนวการรับนักเรียนของกรมสามัญศึกษา ซึ่งแบ่งการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 70 และการสอบคัดเลือก การคัดเลือก การคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กผู้มีอุปการคุณ รวมร้อยละ 30 นั้น นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ. กล่าวว่า ตนเคยหารือเรื่องนี้กับนายจาตุรนต์เช่นกัน ซึ่งก็มีความคิดตรงกันว่าต้องทบทวนเพราะเป็นการสร้างปัญหาความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำ ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศธ. กล่าวว่า เห็นด้วย และเป็นเรื่องที่อยู่ในใจว่าจะต้องมีการทบทวนนโยบายการรับนักเรียนใหม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดไม่เหมือนกัน ซึ่งกรุงเทพฯ มีปัญหาในเรื่องการจราจรที่ติดขัดจึงต้องให้เด็กเรียนใกล้บ้าน แต่ถ้าจำกัดให้นักเรียนในเมืองเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด ก็ไม่เป็นธรรมกับนักเรียนที่อยู่ต่างอำเภอ และอยู่ห่างไกลที่ต้องการมาเรียนในเมือง แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำคู่ขนานไปกับการจัดสรรงบประมาณด้วย โดยให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ดังนั้น การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2546 จะต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)





การประถมศึกษากับการส่งเสริมการอ่าน

จากนโยบายการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนชั้น ป.1-ป.2 อ่านได้ ป.3 อ่านคล่อง ป.5-6 อ่านเป็น ยังเป็นนโยบายหลักไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายเต็ม 100% ก็ตาม ดังนั้น การที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดตัวโครงการปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธิการ ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการมาในช่วงเวลานี้จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้นักเรียนระดับประถมศึกษาได้เติมเต็มในส่วนที่พร่องในเรื่องเกี่ยวกับการอ่าน ซึ่งผู้รับผิดชอบกลุ่มสาระทั้ง 8 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระภาษาไทย กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ได้กำหนดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนโดยมีจุดมุ่งหมายแบ่งการจัดกิจกรรมเป็นระดับต่างๆ คือระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ซึ่งจะได้มีการประชุมและปรับกิจกรรมอีกครั้ง ก่อนแจ้งหน่วยงานระดับต่างๆ ทราบเพื่อประยุกต์หลอมรวมเข้ากับกิจกรรมที่แต่ละระดับได้กำหนดล่วงหน้าไว้แล้ว นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านแล้วยังจะได้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการจัดซื้อหนังสือที่เยาวชนควรอ่านให้กับห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ต่อไปด้วย (มติชน อาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2545 หน้า 4)





คุรุสภาเผยครูดีเด่น

นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้พิจารณาอนุมัติครู ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ปฎิบัติงานมีผลงานดีเด่นได้รับรางวัลคุรุสภาประจำปี 2545 จำนวน 9 ราย และครูที่ได้รับการเสนอชื่อจากกรมเจ้าสังกัดให้ได้รับรางวัลชมเชย จำนวน 36 ราย เพื่อเข้ารับรางวัลในวันครูที่ 16 มกราคม 2546 โดยครูผู้ปฎิบัติงานมีผลงานดีเด่น ได้แก่ ประเภทผู้สอน ก่อนประถม นางมลิกา เหมือนอบ ร.ร.วัดมัชฌันติการาม กทม. ระดับประถม น.ส.วิญญูวดี กุลจลา ร.ร.ปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ระดับมัธยม นายประเสริฐ ทองทิพย์ ร.ร.ชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย ระดับอุดมศึกษา นายจรัสเดช อุลิต วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม การศึกษานอกโรงเรียน/การศึกษาพิเศษ นายเอกสิทธิ์ ปรมะ วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ ประเภทผู้บริหารสถานศึกษา ระดับก่อนประถมและระดับประถม นายวิศิษฏ์ วิทยาวรการ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 29 จ.ศรีสะเกษ ระดับมัธยม นายประดิษฐ์ จันทร์แสนตอ ร.ร.บุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ระดับอุดมศึกษา รศ.เปรื่อง กิจรัตน์ภร สถาบันราชภัฏพระนคร การศึกษานอกโรงเรียน/การศึกษาพิเศษ นายสมควร อานามวัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจันทบุรี (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ทวงร้อง “ใบวิชาชีพ”

นางนิตยา จันทร์เรื่อง มหาผล กรรมการสภาวิศวกร กล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาและบัณฑิตหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) และหลักสูตรอุตสาหกรรมบัณฑิต (อส.บ) ประท้วงเรียนร้องให้พิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรให้ว่า สภาวิศวกรได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรทั้ง 2 ปรับหลักสูตรให้เทียบเท่าหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (ว.ศ.บ.) ส่วนบัณฑิตเดิมก็เปิดโอกาสให้เข้าทดสอบความรู้เพื่อปรับเป็นวุฒิ วศ.บ. อย่างไรก็ตาม สภาวิศวกรมีมติยืนยัน 4 ครั้งแล้วว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 จะรับรองเฉพาะหลักสูตร วศ.บ. เท่านั้น ส่วนบัณฑิต ค.อ.บ. และ อศ.บ. ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปี 2541-45 จะต้องผ่านการทดสอบความรู้ตามเกณฑ์ก่อนได้รับใบประกอบวิชาชีพเป็นรายบุคคล ซึ่งเรื่องนี้สมาคมครุศาสตร์ฯ ได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนมติ สภาวิศวกรจึงจะพิจารณาอีกครั้งในการประชุมวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ส่วน ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯ กล่าวว่าจะประสานให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสภาวิศวกรรีบตัดสินใจ และจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)





มจร.ยื่น “ทักษิณ” เปลี่ยนสังกัดเข้าอุดม

นายสนิท ไชยวงศ์คต ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ตนได้นำหนังสือที่ลงนามโดยพระเทพโสภณ อธิการบดีมจร. กรณียืนยันการเข้าสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปส่งถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องการที่จะไปสังกัดสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองและการจัดการศาสนสมบัติมากกว่าการศึกษาหากนำ มจร. ไปสังกัดสำนักพุทธ ก็จะเหมือนกับเป็นการปล่อยเกาะ และจะกลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้น 2 และยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งปีนี้ได้รับ 3 แสนบาทซึ่งน้อยมาก (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 15)





ชงครม.ให้ทุนน.ศ.ครูพันธุ์ใหม่ 8 หมื่นต่อหัวตั้งคกก.แห่งชาติจำกัดโควตา-กันล้นตลาด

นายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า ภายหลังนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบร่วมกับที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.) ปรับหลักสูตรผลิตครู 6 ปี เป็น 5 ปี โดยยึดสาระกระบวนการและหน่วยกิตของหลักสูตรเป็นสำคัญนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สรภ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรมบัญชีกลาง สคศท. เป็นต้น เข้าร่วมพิจารณาการปรับแผนผลิตครูดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่เนื่องจากเราขาดการประสานแผนว่านักศึกษาครูที่จะผลิต 2,500 คนนั้น สถาบันราชภัฏและมหาวิทยาลัยทั้ง 56 แห่ง สถาบันใดจะผลิตนักศึกษาครูในสังกัดส่วนเท่าใดบ้าง ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สรภ.จัดทำแผนเสนออีกครั้ง โดยเบื้องต้นกำหนดว่าสถาบันที่จะผลิตครูตามแนวทางใหม่นี้ได้ ควรเป็นสถาบันที่มีหอพักนักศึกษามีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะรับนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 รวมถึงฝึกปฏิบัติการสอน 1 ปีหลังจบหลักสูตร โดยต้องเป็นโรงเรียนที่มีครู ผู้บริหารเข้าใจการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะเป็นโรงเรียนต้นแบบให้บัณฑิตครูลงไปซึมซับ อาจเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาก็ได้ หลังนำเสนอแผนดังกล่าวแล้ว ศธ.จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้ชื่อโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรีโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำงบประมาณได้เสร็จทันปีงบประมาณ 2547 นายพลสัณห์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะของบประมาณสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาให้กับผู้เรียนทั้ง 2,500 คนจนกว่าจบการศึกษา 5 ปี รายหัวละ 80,000 บาทต่อปี และขอสนับสนุนเป็นงบฯ ดำเนินการของสถาบันผลิตครู รายหัวละอีก 30,000 บาทต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110,000 คนต่อคนต่อปี โดยโครงการดังกล่าวเสนอ ครม.เป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2547-2549 ระหว่างการดำเนินงานตลอด 3 ปี (มติชน จันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





เผยผลวิจัยเอนทรานซ์ระบบใหม่แนะต้องทำให้สอบเมื่อที่พร้อม

ผศ.ดร.สุชาดา บวรกิติวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับการสอบเอนทรานซ์ระบบใหม่ ผลวิจัยพบประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การเลือกอันดับน่าจะลดลงเหลือ 2-3 อันดับ, ควรหาวิธีทำ GPA ให้ได้มาตรฐานส่วนองค์ประกอบที่ใช้ในการคัดเลือกควรคำนึงถึงจุดมุ่งหมายของการนำผลไปใช้ประโยชน์ โดยดูจากพื้นฐานของมัธยมศึกษาตอนปลาย ศักยภาพในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย และความสนใจในอาชีพ ควรมีการฝึกอาชีพ และมีการสอบเรียงความเพื่อวัดการคิดวิเคราะห์การคิดเชิงระบบ วิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ จิตสำนึกส่วนรวม รวมทั้งกระตุ้นให้แต่ละโรงเรียนสร้างกระบวนการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานและต่อเนื่องตั้งแต่มัธยมปลายจนเข้ามหาวิทยาลัยและออกไปประกอบอาชีพ และควรเป็นระบบที่สอบได้ทุกเมื่อที่เด็กมีความพร้อม ส่วนการเก็บคะแนนไว้ 3 ปีทำให้สูญเปล่า ส่วนการสอบ 2 ครั้งต่อปีก็มีความยากง่ายไม่เท่ากัน และเด็กที่สอบในครั้งที่ 1 ช่วงเทอมปลาย หากทำคะแนนได้ดีแล้วมักจะสร้างปัญหาในชั้นเรียน เนื่องจากไม่มีอะไรทำ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 14)





ม.ศรีปทุมรายได้ต่อปีสูงสุดเกือบพันล้าน

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 50 แห่งได้รายงานงบการเงินประจำปีการศึกษา 2543 (เดือนมิถุนายน 2543-พฤษภาคม 2544) ที่แสดงผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของสถาบันมายังทบวงฯ พบว่ามีสถาบันที่มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 34 แห่งและมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย 16 แห่ง ดังนี้ สถาบันที่มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ ม.ศรีปทุม 807 ล้านบาท ม.อัสสัมชัญ หรือเอแบค 682 ล้านบาท ม.กรุงเทพ 620 ล้านบาท ม.หอการค้าไทย 412 ล้านบาท ม.รังสิต 293 ล้านบาท ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 285 ล้านบาท ม.เกษมบัณฑิต 262 ล้านบาท ม.สยาม 236 ล้านบาท ม.เทคโนโลยีมหานคร 217 ล้านบาท ม.พายัพ 181 ล้านบาท ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 118 ล้านบาท และ ม.เอเชียอาคเนย์ 102 ล้านบาท ร.ต.อ.วรเดชกล่าวต่อว่า สำหรับสถาบันที่มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายเกินกว่า 1 เท่าตัว มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเมืองหาดใหญ่ สูงกว่า 63 ล้านบาท ม.ศรีปทุม 807 ล้านบาท ม.เกษมบัณฑิต 262 ล้านบาท ม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 118 ล้านบาท ม.ณิวัฒนา 64 ล้านบาท วิทยาลัยศรีโสภณ 24 ล้านบาท ม.ภาคกลาง 30 ล้านบาท และ ม.กรุงเทพ 620 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคมีการดำเนินงานที่ได้รับผลตอบแทนเมื่อเทียบกับงบฯ ดำเนินการแล้วเกินกว่า 1 เท่าตัว 5 แห่ง แสดงว่าสามารถจัดการศึกษาที่เอื้อต่อความต้องการของท้องถิ่น และเลี้ยงตัวเองได้ ยกเว้น ม.ณิวัฒนา จ.สุพรรณบุรี ถึงแม้มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย แต่ยังมีปัญหาความไม่โปร่งใสในด้านการบริหารจัดการของคณะผู้บริหารชุดก่อนและอยู่ระหว่างการควบคุมฟื้นฟูกิจการ (มติชน จันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





นักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันเสนอทฤษฎี ‘กำเนิดดาวเคราะห์’ ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย (สดท.) แจ้งว่า ขณะนี้นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้เสนอทฤษฎีกำเนิดดาวเคราะห์ใหม่ โดยกล่าวว่า ดาวเคราะห์ เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวเนปจูน และดาวพลูโตอาจกำเนิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น ทั้งนี้ทฤษฎีกำเนิดดาวเคราะห์แบบฉบับที่นักดาราศาสตร์เชื่อถือกันในปัจจุบันคือ ดาวเคราะห์เกิดมาจากจานก๊าซมหึมาที่ล้อมรอบดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อเวลาผ่านไปนับล้านปี หลังจากความรุนแรงของดาวฤกษ์ลดลงและเริ่มเสถียร ดาวเคราะห์จึงเริ่มกำเนิดขึ้นในจานก๊าซนั้น ดาวเคราะห์ที่ใกล้ดาวฤกษ์จะเป็นดาวเคราะห์หิน ส่วนห่างออกมาก็จะเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ ทฤษฎีนี้แม้จะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังมีปัญหาสำคัญสองข้อที่ยังอธิบายไม่ได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นเป็นจำนวนมากนับร้อยดวง ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ที่พบเป็นดาวเคราะห์ก๊าซแบบดาวพฤหัสบดีและที่ระยะใกล้ดาวฤกษ์มากๆ บางดวงมีรัศมีวงโคจรเล็กกว่าดาวพุธเสียอีก ตามทฤษฎีแบบฉบับดาวเคราะห์ก๊าซไม่น่าจะกำเนิดขึ้นที่ระยะใกล้ดาวฤกษ์ขนาดนั้นได้ อีกข้อหนึ่ง เนื่องจากดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์กำเนิดขึ้นในเมฆกำเนิดดาวฤกษ์เช่นในเนบิวลานายพราน รังสีอัลตราไวโอเลตเข้มข้นในระบบสุริยะจะปัดเป่าก๊าซในจานที่ล้อมดาวฤกษ์ให้เหือดหายไปหมดภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งล้านปีเท่านั้น ดาวเคราะห์จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ (มติชน ศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 18)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


บล็อกปูพื้นจากยางพารา : สามารถใช้ได้ดี

กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบล็อกยางปูพื้นและยางขวางถนนจำกัดความเร็วเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมยางที่สนใจนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ในการศึกษาวิจัยได้พัฒนาสูตรและเทคโนโลยีการผลิต โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ คือยางพารา ประมาณ 30% ยางรีเคลม ประมาณ 30% และแคลเซียมคาร์บอเน็ต ประมาณ 30% ที่เหลืออีกประมาณ 10% เป็นสารเคมีที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การศึกษาวิจัยนอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้งานแล้ว ยังได้คำนึงถึงรูปแบบสีสันและความสวยงามของผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดควมสนใจของลูกค้าด้วย จึงได้ทำการออกแบบผลิตภัณฑ์บล็อกยางปูพื้นแบบต่างๆ จำนวน 5 แบบ และออกแบบยางขวางถนนจำกัดความเร็ว 1 แบบ โดยทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำแบบพิมพ์ขึ้นเอง พร้อมได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบและได้ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจนประสบความสำเร็จ (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 27)





ผุดไอเดียรักษาผู้ป่วยหัวใจ ปลูกยีนส์ม้าน้ำ-ซ่อมอวัยวะ

นักวิทยาศาสตร์พบไอเดียใหม่ซ่อมแซมหัวใจมนุษย์ ใช้วิธีปลูกสร้างยีนส์ของม้าน้ำ ซึ่งเป็นสัตว์พิเศษที่มีกระบวนการซ่อมแซมหัวใจในตัวเอง ไอเดียดังกล่าวมาจากคณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งพบว่าม้าน้ำเป็นสัตว์ที่มีกระบวนการซ่อมแซมหัวใจตัวเอง จากการทดลองเมื่อไม่นานมานี้และเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ได้กับมนุษย์ หากมีการปลูกสร้างยีนส์ม้าน้ำในผู้ป่วยโรคหัวใจ กระบวนการซ่อมแซมของม้าน้ำถูกค้นพบจากคณะจากการทดลองซึ่งกลุ่มได้ทำการตัดก้อนเนื้อหัวใจบางส่วนทิ้งและพบว่ามันสามารถฟื้นหัวใจขึ้นได้เองด้วยการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ โดยม้าน้ำที่ถูกทดลองปรากฏว่ามีสุขภาพฟื้นตัวตามปกติเพียงระยะเวลา 10 วันและหัวใจมีการสูบฉีดโลหิตดีกว่าเดิม ทั้งนี้ คณะได้นำม้าน้ำมาทดลองเนื่องจากพบว่าเป็นสัตว์ที่สามารถฟื้นอวัยวะบางส่วนในร่างกายคือ ครีบและตา ขณะที่ไอเดียสร้างยีนส์ม้าน้ำในผู้ป่วยโรคหัวใจยังเป็นแนวทางใหม่ที่ต่างจากแนวทางปัจจุบันจากคณะแพทย์หลายกลุ่มที่พยายามมุ่งรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีสร้างเซลล์หัวใจใหม่ขึ้นทดแทนแต่เชื่อว่าจะต้องใช้เวลาเป็นระยะหลายปี (สยามรัฐ วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





“บั้งไฟ” ติดโผข่าวดังวิทย์ สวทช.

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทย์ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้จัดกิจกรรมการจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อเนื่องมา 6 ปี ได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนร่วมกิจกรรมอย่างมาก ซึ่งในปีนี้ได้คัดเลือกข่าวสำคัญไว้ถึง 18 เรื่องด้วยกัน อาทิ ยาต้านเอดส์เม็ดเดียวครั้งแรกในโลก นักวิจัยไทยพบทางสู้เชื้อมาลาเรียดื้อยา พบเฟินชนิดใหม่ของโลก “แววปีกแมลงทับ” อันดับความสามารถไทยขึ้นจาก 38 มาที่ 34 ออสซี่ใช้ดีเอ็นเอปลุกชีพเสือแทสมาเนีย ประเมินคุณภาพการศึกษานักเรียนไทยลุ่ย เกรดเฉลี่ยทั่วประเทศต่ำเกณฑ์ เลข-วิทย์-อังกฤษ-สุดอ่อน มหัศจรรย์มะนาวเมกเลิฟรสเปรี้ยวตายเรียบ “ทัวร์อวกาศ” ของเล่นใหม่เศรษฐีไทย เดินเครื่องผลิตยาอายุวัฒนะจากสมองหมู “พินิจ ระดมนักวิทย์พิสูจน์บั้งไฟพญานาค และหุ่นยนต์ปลาทูน่าความหวังเที่ยวล่าสุดพิสูจน์ความลับบั้งไฟพญานาคทั้งนี้ สามารถลงประชามติผ่าน htt://www.nstda.or.th หรือ โทร.02-564-7000 ต่อ 1552, 1548 หมดเขตรับวันที่ 15 ธ.ค. ประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดัง วันที่ 19 ธ.ค.นี้ และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล วันที่ 7 ม.ค.2546 (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





เด็กไทยสกัดสารธรรมชาติจากต้นย่านพังโหมยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม

เอมอร ทองเป็นใหญ่ กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีปี 1 คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คิดค้นผลงานโครงงานเรื่อง การสกัด การแยก และการทดสอบการออกฤทธิ์กับเชื้อ Herpes simplex ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักวิจัยหัวใสคิดวิธีกำจัดไวรัสแนวใหม่

นักวิจัยอังกฤษคิดค้นมาตรการป้องกันไวรัสใหม่ มุ่งแก้ปัญหาเทคนิคแพร่ระบาดใช้วิธีควบคุมจำนวนการส่งอีเมล ชี้ช่วยให้มีอัตราโจมตีช้าลง เปิดทางผู้เชี่ยวชาญตรวจจับได้ง่าย ขณะที่ระบุไม่มีผลต่ออัตราการทำงานคอมพิวเตอร์ปกติ นายวิลเลียมสัน เปิดเผยว่า วิธีการดังกล่าวจะอาศัยการจำกัดจำนวนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของคอมพิวเตอร์ที่ได้รับไวรัส ซึ่งช่วยชะลอการแพร่ระบาดและทำให้ผู้เชี่ยวชาญมีเวลาตรวจเช็คและกำจัดไวรัสเหล่านี้มากขึ้น นายวิลเลียมสันอธิบายว่า “เมื่อคอมพิวเตอร์ของคุณติดไวรัส เครื่องจะทำการส่งอีเมลจำนวนมหาศาลออกไปในอัตราที่สูงกว่าการส่งจดหมายตามปกติของคุณมาก ดังนั้น ผมจึงหันมาใช้วิธีจำกัดปริมาณการส่งอีเมลในช่วงระยะเวลา 10 นาที ทำให้ไวรัสที่ต้องการส่งจดหมายราว 100 หรือ 200 ฉบับ แพร่ระบาดได้ช้าลง” ทั้งนี้ แทนที่จะหาทางฆ่าไวรัสเหล่านี้ นายวิลเลียมสันได้หันมาศึกษาวิธีป้องกันการแพร่กระจายไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นแทน อย่างไรก็ดีวิธีการดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันแต่อย่างใด โดยได้ทดลองติดตั้งเทคนิคดังกล่าวในคอมพิวเตอร์ตลอดช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมาและไม่พบว่าเครื่องทำงานช้าลง (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)





มะกันพบวิธีบันทึก “ข้อมูลดิจิทัล” ในโมเลกุล เก็บภาพถ่ายกว่าพันบิต-ระบุเข้ารหัสไบนารี่

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐเผยผลการวิจัยใหม่ ซื้ออะตอมของโมเลกุลคริสตันเหลวสามารถเก็บข้อมูลดิจิทัลได้กว่าพันบิตพร้อมระบุใช้วิธีเข้ารหัสไบนารี่ บันทึกข้อมูลผ่านแรงสั่นสะเทือนแม่เหล็กไฟฟ้าขณะที่เล็งพัฒนาใช้เก็บข้อมูลมหาศาลในพื้นที่ขนาดจิ๋ว แต่ยอมรับยังอยู่ในระยะเริ่มต้น นายบิง ฟุง และทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโอกลาโฮมา เปิดเผยผลการศึกษา ซึ่งบ่งชี้ว่า อะตอมไฮโดรเจน จำนวน 19 ตัว ในโมเลกุลคริสตันเหลว 1 หน่วย (liquid crystal molecule) สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างต่ำ 1,024 บิต โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บในชั้นปฎิกิริยาอันซับซ้อน ของพื้นที่พลังงานแม่เหล็กในโปรตอน (อนุภาคของอะตอมที่มีประจุบวก ซึ่งมีขนาดประจุเท่ากับของอิเล็กตรอน) พร้อมเสริมว่าเทคนิคดังกล่าว มีชื่อว่า “การบันทึกภาพถ่ายระดับโมเลกุล” (molecular photography) และอาจสามารถพัฒนาเพื่อใช้บรรจุข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลภายในพื้นที่ขนาดจิ๋วได้ แต่ยอมรับว่าเทคโนโลยีดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นทดลอง (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2545 หน้า 5)





นักวิจัยชำแหละค้างคาวไทย สงสัยนำเชื้อไข้สมองอักเสบ

ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ด้านอายุรศาสตร์วิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันโรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคที่ตกสำรวจ มีการรายงานพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วประเทศเพียง 500 รายต่อปี แต่กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจใน 6 จังหวัดภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้แล้วพบว่า มีผู้ป่วยถึง 500 ราย และคาดว่าในความเป็นจริงจะมีผู้ป่วยนับพันราย เมื่อเดือนมีนาคม 2545 คณะวิจัยหน่วยประสานวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้สำรวจและเก็บข้อมูลพาหะต่างๆที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ เพื่อให้คนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ถูกต้องเพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่าโรคไข้สมองอักเสบมีสาเหตุหลักมาจากการป่วยเป็นโรคเอดส์ซึ่งความจริงแล้วผู้ป่วยเพระเหตุนี้เพียง 30% เท่านั้น แต่ที่เหลือมาจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะการติดเชื้อจากไวรัสพิษสุนัขบ้าซึ่งมีพาหะ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด หรือติดเชื้อไวรัสนิปาห์ที่พบได้ในค้างคาว น.พ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า “ คณะวิจัยกำลังศึกษาอยู่ว่าค้างคาวในประเทศไทยจะมีเชื้อเหล่านี้อยู่หรือไม่เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนที่ประเทศมาเลเซียมีการแพร่ระบาดของไวรัสนิปาห์จากค้างคาวไปสู่สุกร ทำให้ต้องฆ่าสุกรทิ้งกว่า 2 ล้านตัว ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานว่าเชื้อนิปาห์จากค้างคาวสามารถติดต่อมาถึงมนุษย์โดยตรงหรือไม่ แต่คนติดเชื้อนี้จากสุกรได้โดยสัมผัสกับสุกรที่ป่วย กลุ่มเสี่ยงคือ คนที่ทำงานในฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ และมีรายงานว่า ในออสเตรเลียมีผู้เสียชีวิตเพราะติดเชื้อนี้แล้วสองราย ส่วนในประเทศฟิลิปปินส์พบว่ามีการติดเชื้อเช่นกัน หากผลวิจัยพบว่าค้างคาวในประเทศไทยเป็นพาหะนำเชื้อโรคจะมีการชี้แจงให้ทราบและจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับกรมปศุสัตว์เพื่อออกมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคต่อไป” (มติชน เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 16)





‘ทักษิณ” เตรียมตีปี๊บผลสำเร็จวิจัยจีโนมข้าว

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติ เมื่อปี 2542 ร่วมกับอีก 9 ประเทศ โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำกลุ่ม พร้อมด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ บราซิล ฝรั่งเศส จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย และไทยเพื่อวิจัยหาลำดับเบสข้าวสายพันธุ์นิพพอนบาเร โดยมีหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการศึกษาวิจัยโครโมโซมที่ 9 ประมาณ 2 ล้านเบสจาก 430 ล้านเบส ของข้าวสายพันธุ์นิพพอนบาเรนั้น ขณะนี้ส่วนการวิจัยของไทยได้ประสบความสำเร็จและได้ส่งข้อมูลลำดับเบสลงในฐานข้อมูลยีนแบงก์ เรียบร้อยแล้ว โดยในวันที่ 18 ธันวาคม นี้ประเทศญี่ปุ่นในฐานะผู้นำกลุ่มโครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติจะประกาศความสำเร็จในการลำดับเบสฉบับสมบรูณ์ของข้าวสายพันธุ์นิพพอนบาเร ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องมากที่สุดและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ นายพินิจกล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยจะทำพิธีประกาศความสำเร็จในโครงการวิจัยนี้ไปพร้อมๆ กับญี่ปุ่น และสมาชิกที่ร่วมโครงการโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เปิดบ้านพิษณุโลก เป็นสถานที่ประกาศความสำเร็จนี้ในเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 18 ธันวาคม โดยได้เชิญสมาชิกโครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติพร้อมกับนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงานครั้งนี้พร้อมกับจะพูดคุยถึงโอกาสธุรกิจจีโนม และการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยอีกด้วย จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นสนับสนุนให้ไบโอเทคนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าว (มติชน ศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 5)





วว.เดินหน้าทดสอบสมองหมู

ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการวิจัยยาและอาหารเสริมเซลล์ตัวอ่อนจากสมองหมู ผลงานวิจัยของสถาบัน St.petersburg Institute of Bioregulation and Gerontology ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ตามนโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า เมื่อวันที่ 25-30 พ.ย.ที่ผ่านมา วว.ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ไปศึกษาดูงานที่สถาบันเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก และได้นำผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมจำนวน 60 ตัวอย่าง กลับมาทดลองความเป็นพิษและการออกฤทธิ์ในสัตว์ทดลอง ใช้เวลา 6-8 เดือน จากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในขั้นคลินิกกับคนไข้และในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ดร.คาลวินสันและคณะจะเดินทางมาร่วมประชุมสัมมนาในเรื่องนี้ ส่วนการถ่ายเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นหลังขั้นตอนนี้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





กล้วยไม้สีน้ำเงิน

ผศ.ดร.พัฒนา ศรีฟ้า ฮุนเนอร์ จากภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และคณะ ได้ทำการวิจัยเรื่องถ่ายยีนสร้างสีดอกในกล้วยไม้ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) งานวิจัยดังกล่าวเป็นการตัดต่อพันธุกรรมในกล้วยไม้ โดย ผศ.ดร.พัฒนา หวังว่าการวิจัยครั้งนี้จะทำให้เกิดกล้วยไม้สีน้ำเงินซึ่งเป็นกล้วยไม้ตัดดอก มิใช่เป็นกล้วยไม้กระถางเหมือนฟ้ามุ่ย การใช้เทคโนโลยีทางด้านพันธุวิศวกรรมเข้ามาช่วย ทำให้การปรับปรุงสีของดอกกล้วยไม้ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาน้อยกว่าการปรับปรุงพันธุ์ตามปกติ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





นักวิจัยสหรัฐเร่งทดลองยาแก้มะเร็งจากใบยาสูบ

นักวิจัยมะกันหันหน้าพึ่งเกษตรกรรมค้นหายาป้องกันมะเร็ง กระเพาะปัสสาวะอักเสบและล่าสุดตั้งความหวังผลิตยาแก้เอดส์ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความก้าวหน้าในการค้นหาตัวยาจากพืชชนิดต่างๆ ว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น นักวิจัยในเคนตั๊กกี้ได้พยายามที่จะค้นหาสารบางชนิดจากใบยาสูบเพื่อนำมาต่อสู้กับโรคมะเร็ง ส่วนในเวอร์จิเนีย ก็พยายามที่จะสกัดสารจากข้าวโพดเพื่อนำมารักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และในเนบร้าสก้า นักวิจัยก็มีความหวังว่าพื้นดินที่ใช้ในการเพาะปลูกจะสามารถให้ผลผลิตของพืชที่สามารถป้องกันโรคเอดส์ได้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2545 หน้า 16) (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





ข่าวทั่วไป


ยิวผลิตโปรแกรมช่วยคนหูหนวกใช้มือถือ

เทล อาวิฟ – เซลล์คอม ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของอิสราเอลจับมือสปีชวิว บริษัทน้องใหม่อวดโฉมซอฟต์แวร์ช่วยคนหูหนวกหรือมีปัญหาด้านการได้ยิน ให้มีโอกาสใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ดังเช่นคนปกติ พร้อมชูคุณสมบัติเด่นแปลได้ทุกภาษา ขณะที่วางแผนพัฒนาให้สามารถใช้ได้กับพีดีเอนอกเหนือจากพีซี และโน้ตบุ๊คในปัจจุบัน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าซอฟแวร์ดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า ลิพซีเซลล์ ( Lipcell) จะติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ และเชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ทางสายเคเบิล ทั้งนี้เมื่อผู้ใช้ซึ่งหูหนวก ยกหูรับโทรศัพท์ ซอฟแวร์ดังกล่าวจะแปลงเสียงของผู้โทร เป็นภาพใบหน้าเคลื่อนไหว 3 มิติ แสดงบนจอคอมพิวเตอร์ โดยปากจะเคลื่อนไหวตามเสียงพูด เพื่อช่วยให้ผู้รับสามารถอ่านริมฝีปากได้ ชุดซอฟแวร์ใหม่นี้ ประกอบด้วยซีดี สายเคเบิลและจะมีราคา 125 ดอลลาร์ โดยในส่วนของคู่มือแนะนำการใช้งานซีดีดังกล่าว จะช่วยอธิบายความแตกต่างเพียงนิดเดียวของภาพริมฝีปาก ขณะที่สีบนจมูกและแก้ม จะทำให้การแยกแยะเสียงที่คล้ายกันมากทำได้ง่ายขึ้น พร้อมเสริมว่าในปัจจุบันยังไม่เคยมีเทคโนโลยีนี้ในโลก และสปีชวิวจะร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอังกฤษ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เพื่อวางขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 5)





หนังสือ-ห้องสมุดดิจิทัล

ในยุคแห่งความก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในรูป ดิจิทัลนั้น ได้ส่งอิทธิพลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บเอกสาร หนังสือ หรือสื่อต่างๆ ไว้ในระบบดิจิทัล ทั้งนี้ ล่าสุดหอสมุดแห่งกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่คัมภีร์อัลกุรอาน อายุ 700 ปี ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของโลกอิสลามในรูปแบบของเอกสารดิจิทัล หอสมุดในกรุงลอนดอน ได้จัดทำสำเนาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีชี่อว่า “กุรอานของสุลต่านเบย์บาร์ส” ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถเปิดชมได้ทุกหน้าโดยไม่สร้างความเสียหายกับคัมภีร์ต้นฉบับ และทำให้คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอิสลามดังกล่าว กลายเป็นเอกสารสำคัญทางศาสนาเล่มแรก ที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โครงการจัดทำคัมภีร์อัลกุรอานฉบับดิจิทัลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เทิร์นนิ่ง เดอะ เพจ” ซึ่งผู้ดำเนินการระบุว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เก่าแก่ออกไปสู่โลกกว้าง และภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ จะสามารถเปิดหน้าต่างๆ ของคัมภีร์ เพื่ออ่านจารึกภาษาอาหรับได้จากจอภาพระบบสัมผัส พรัอมกับเสียงบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของคัมภีร์เล่มนี้ นอกจากนี้ ผู้อ่านยังสามารถซูมเพื่อชมรายละเอียดของตัวหนังสือได้ง่าย เพียงการใช้นิ้วสัมผัสจอภาพเท่านั้น ทั้งนี้คัมภีร์ “กุรอานของสุลต่านเบย์บาส” ซึ่งมีการจารึกตัวอักษรไว้ด้วยทองคำ เป็นของอตีตเจ้าผู้ปกครองอียิปต์ในศตวรรษที่ 14 ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปะการเขียนลายมือชิ้นสำคัญของโลกอิสลาม ด้านสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซสต์ หรือเอ็มไอทีร่วมมือกับบริษัทเอชพี เปิดให้บริการระบบห้องสมุดดิจิทัล ที่เชื่อมโยงเนื้อหาดิจิทัลทั้งในรูปหนังสือ วิดีโอ และสื่ออื่นๆ เข้าสู่เครื่อข่ายอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้เข้ามาใช้บริกรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แอน วอลเพิร์ท ผู้อำนวยการห้องสมุดของเอ็มไอทีกล่าวว่า อายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของเอกสารดิจิทัลส่วนใหญ่จะมีอายุไม่กี่ปี แต่ด้วยระบบดีสเปสจะทำให้ระบบการจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 6)





เครือข่ายสิ่งแวดล้อมเคลื่อนไหว คัดค้าน ปตท. รับ “อีไอเออวอร์ด”

กรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้มอบรางวัลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น (อีไอเอ อวอร์ด) ให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด ที่ทำโครงการท่อก๊าซยาดานาและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทำโครงการเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมานั้น ม.ล.วัลวิภา บุรุษรัตนพันธ์ กรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผลกระทบทางด้านสังคมโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียกล่าวว่า ตามหลักการแล้วผลกระทบทางด้านสังคม (เอสไอเอ) เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่อยู่ในอีไอเอถ้าเอสไอเอไม่ผ่าน ก็ยากที่จะยอมรับว่าอีไอเอทั้งระบบจะผ่าน ดังนั้นคิดว่าในสถานการณ์ท่ามกลางความขัดแย้ง เช่นนี้ โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ไม่น่าจะได้รับรางวัลนี้เลย (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





ไทยทดสอบวัคซีนเอดส์ใหญ่สุดในโลก

น.พ.ศุภชัย ฤกษ์งาม ผอ.โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง “ปูพื้นตามด้วยกระตุ้น” เปิดเผยถึงกรณีที่ประเทศไทยจะเริ่มโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยรับอาสาสมัครใน จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เข้าร่วมจำนวน 1.6 หมื่นคนว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆทั้งสถานีอนามัย และโรงพยาบาลที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการชุดต่างๆ คาดว่าประมาณเดือน ม.ค. ปี 2546 ทุกอย่างจะเรียบร้อย น.พ.ศุภชัยกล่าวว่า “สำหรับผลที่จะได้รับในการศึกษาครั้งนี้ ผมว่าเราได้รับตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มศึกษาด้วยซ้ำ เพราะประเทศไทยได้มีการพัฒนาเตรียมการมาอย่างต่อเนือง ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาห้องปฎิบัติการของ รพ.พระมงกุฎเกล้า จนห้องปฎิบัติการตรวจชันสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหรัฐว่ามีมาตรฐานระดับโลก อย่างไรก็ตามเมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว หากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงก็ถือว่าได้ผล ซึ่งแนวคิดในการใช้วัคซีน 2 ขนาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในเซลล์ และน้ำเลือด เพื่อให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ใน 2 ระดับ ถือเป็นแนวคิดที่พิสูจน์แล้วว่ามีความหวังมากที่สุด นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์” (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 34)





โตโยต้าเลือกไทยตั้งศูนย์วิจัยรถเอเชีย

แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้าได้พิจารณาจะใช้ไทยเป็นฐานการวิจัยและพัฒนารถยนต์เป็นประเทศที่ 5 ในโลกนี้ หลังจากที่ในปัจจุบันมีฐานอาร์แอนด์ดี ในญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นโรงเรียนทางด้านยานยนต์ พัฒนาการผลิตยานยนต์ของไทย ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของโตโยต้าในอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ของโครงการดังกล่าว จะเป็นการบ่มเพาะนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทยให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น และยังมีงานรองรับอีกด้วย เพราะรถยนต์จากค่ายยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างก็เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแล้ว (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ อาจเป็นโรคสายตาอ่อนเพลียได้

แพทย์หญิงนุชนาฏ สินพรชัย จักษุแพทย์โรงพยาบาลจักษุรัตนินทร์เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยที่เข้ามารักษาโรคตา ส่วนใหญ่เป็นโรคสายตาอ่อนเพลีย มีอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดจากการเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่พักสายตา เข้ามารักษามากถึงร้อยละ 30 วิธีแก้ไข นอกจากต้องพักสายตาทุกๆ 20-30 นาทีแล้ว อาจเพิ่มให้ยาหยอดตาสำหรับคนที่ตาแห้ง หรือให้ใช้แว่นตากันลม หรือแว่นตาสำหรับใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นเลนส์พิเศษ เคลิอบสารมัลติโคต สำหรับผู้ที่สายตาปกติ ส่วนคนที่มีอาการสายตาผิดปกติ ให้ตัดแว่นเท่ากับระดับของสายตา (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2545 หน้า 7)





จี้ผู้เชี่ยวชาญลงศึกษาภาพเขียนสีด่วนอุทยานสามร้อยยอดคุมเข้มคนเข้าชม

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงการพบภาพเขียนสีภายในถ้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอดว่า แสดงถึงอารยธรรมของชุมชนโบราณในเทือกเขาหินปูนที่ผู้เชี่ยวชาญต้องให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษ เบื้องต้นคาดว่าสภาพธรรมชาติบริเวณรอบเขาสามร้อยยอดมีน้ำทะเลท่วมถึง ทำให้มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ในถ้ำ และใช้ความคิดสร้างสรรค์วาดรูป ส่วนชาวบ้านในท้องถิ่นที่ตีความว่าเป็นลายแทงขุมทรัพย์นั้นต้องรับฟังและอย่าขัดแย้ง แต่ทางที่ดีภาครัฐควรหาทางป้องกันไม่ให้ชาวบ้านหรือผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพื่อดำเนินการตามหลักวิชาการ และส่งเสริมเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวในอนาคต นายไชยา เพ็งอุ่น เจ้าหน้าที่กองทุนสัตว์ป่าโลก ทางอุทยานฯมีแนวคิดที่จะพัฒนาถ้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากขณะนี้มีผู้สนใจเข้าชมถ้ำจำนวนมาก เพราะเริ่มต้นเดินทางจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติหรือบึงบัว ใกล้กับที่ทำการสำนักงานอุทยานฯ ไปทางทิศเหนือ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เฝ้าพื้นที่อยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการบุกรุก (มติชน พฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2545 หน้า 22)





แนะผู้เลี้ยงกุ้งทำอาหารเองแก้ปัญหาสารตกค้าง

ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิตจุลินทรีย์ในประเทศ เปิดเผยว่าได้นำผลิตภัณฑ์ไปให้ วท.ทำการวิเคราะห์หากลุ่มจุลินทรีย์ถึง 22 กลุ่มสายพันธุ์ จุลินทรีย์ทั้งหมดจะช่วยบำบัดน้ำ บำรุงดินและรักษาสภาพแวดล้อม นอกจากกุ้งจะเจริญเติบโตดีแล้ว ยังทำให้มีปลายเจริญเติบในบ่อกุ้งเป็นจำนวนมากและปลาก็ยังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอเอกสาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2509-3762 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





ภารกิจเรือ ‘ชลธารานุรักษ์’ ขจัดคราบน้ำมันแหล่งท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (9 ธ.ค.) เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเจิมเรือชลธารานุรักษ์ ณ ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวี ตำบลบางด้วน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.คมนาคม พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ข้าราชการกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามเรือชลธารานุรักษ์ โดยเป็นเรืออเนกประสงค์ขนาด 292.53 ตันกรอส พร้อมอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์ความปลอดภัย อุปกรณ์ดับเพลิง เรือเล็กสำหรับการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน และเรือสำหรับปฏิบัติงานช่วยชีวิต ซึ่งกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดหาด้วยภารกิจในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ด้วยตระหนักถึงปัญหามลพิษจากน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำไทยว่า เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว (สยามรัฐ อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





วางแผนคุม ‘ผงชูรส’ เพื่อสุขภาพประชาชน

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุขให้ อย.ศึกษาถึงพิษผงชูรสและความถูกต้องของการโฆษณา เพื่อคุ้มครอง ด้านสุขภาพของประชาชน โดยพบว่ามีการบริโภคผงชูรสที่ไม่เหมาะสม เช่นใช้จิ้มขนมครก หรือใส่ผงชูรสผสมพริกกับเกลือจิ้มผลไม้ผู้บริโภคบางรายที่มีอาการแพ้ผงชูรส “ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ผงชูรสจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ผู้ผลิตผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตการผลิต การนำเข้า และขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร ต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามกฎหมายกำหนด และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 พ.ศ.2543 กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทุกชนิดที่มีผงชูรสเป็นส่วนผสมต้องแสดงข้อความระบุในฉลากว่า มีผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium L-Glutamate) เป็นวัตถุปรุงแต่งอาหารด้วย” นางสุดารัตน์ กล่าว (สยามรัฐ พุธที่ 11 ธันวาคม 2545 หน้า 10)





น้ำยาล้างจาน-น้ำยาซักผ้าผลผลิตจากมะเฟือง

“มะเฟือง” ผลไม้พื้นบ้านของไทย มีรสเปรี้ยว ซึ่งเด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว มะเฟืองมีปลูกกันมากแถว ต.ศรีจุฬา อ.เมือง จ.นครนายก ด้วยคุณสมบัติความเปรี้ยวของตัวมันเอง มีฤทธิ์ที่ขจัดสิ่งสกปรกออกได้ กลุ่ม “ชีวภาพกับชีวิต ชุมชนพึ่งตนเอง บ้านศรีจุฬา” หมู่ที่ 1 ต.ศรีจุฬา อ.เมือง จังหวัดนครนายก จึงได้นำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ น้ำยาล้างจาน และน้ำยาซักผ้าสูตรมะเฟือง (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2545 หน้า 25)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215