หัวข้อข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ 46 ประจำวันที่ 2002-12-24

ข่าวการศึกษา

การศึกษาสอนเด็กหวังผลประโยชน์
คนตาบอดวอนเพิ่มทางเลือก กศ. ชี้ความพิการไม่ใช่ปัญหาการเรียน
ศธ. ตั้ง ร.ร.เด็กอัจฉริยะทุกจังหวัด
วิสัยทัศน์ใหม่ “ก.ศึกษา” มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมครู
“จาตุรนต์” ถามทิศทางบริหาร ม.นอกระบบ
“ปองพล” ลุ้นดึงงบฯ นมคืน ร.ร. สั่งหาข้อมูลซื้อ “พาสเจอร์ไรซ์”
สาธิตจุฬาฯ ได้ข้อยุติค่าเทอมปี 2545
“สรภ.” จับมือ “สสวท.” จัดวิชาการวิทย์-คณิตฯ ครั้งที่ 13
เนปาลเลิกเรียนสันสกฤต
ตั้งเครือข่ายน.ศ.ครูทั่วประเทศ
นร.ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอดส์ “ห้ามไล่ออก”
แนะปรับปรุงแบบข้อสอบยกเลิกท่องจำ
ยูเอ็นเลือกวัดพระปฐมเจดีย์องค์กรเด่นหนุนคนพิการ
สปช.เปิดเวทีเด็กชิงชัยคณิตนานาชาติ
ชี้ทปอ.เลิกห่วงความดีมีเกณฑ์คุม
แนะเลิกเอนทรานซ์รวมหันมาทุ่มพัฒนามัธยมแทน
มีมติ ม.สงฆ์ย้ายสังกัด

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

มจธ.โชว์ฐานไฮเทครับลูกเสือโลก
น้ำคั้นต้นกล้วยรักษาโรคผิวหนังสุนัข
ประวัติศาสตร์โลกระทึกเด็กโคลนนิงเกิด มกราคม 2546
‘พินิจ’รื้อศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ กก.อึ้งไม่รับรองปลอดภัย-ส่อแววพับ
ล้มล้างทฤษฎีเริ่มต้นสิ่งมีชีวิต
เมาส์ควบคุมด้วยสายตา
วว.เจ๋งผลิตอาหารเสริมไก่มีเนื้อเพิ่มขึ้น – ไขมันลดลง

ข่าววิจัย/พัฒนา

เตือนภัยยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่เหมาะกับผู้หญิงบางกลุ่ม
โปรแกรมเลนส์เสมือนจริงช่วยตาบอดสีเห็นสีตามจริง

ข่าวทั่วไป

คนเอเชียโล่ง “มาลาเรีย”ลด
บุหรี่ปลอดสารเสพติดอันตรายยิ่งกว่า
ถั่ว-เนยถั่วลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
สับปะรดช่วยย่อย
แพทย์จุฬาเตือนหายนะ 30 บาท
อุตฯทุ่ม 88 ล้านวางยุทธศาสตร์ พัฒนาสุราแช่ไทยแบบยั่งยืน
ย้ายที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
หวั่นกินเผ็ดจัดกัดโดนถุงน้ำดี ล่อแหลมกับการเป็นมะเร็งสูง
พบกระดูกไดโนเสาร์เป็นมรดกชาติ
ผู้ชายอ้วนระวังโรคเส้นโลหิตในสมองตีบ
ผบ.สส.ไฟเขียว “ผู้หญิง” เข้า ร.ร.นายร้อย
ป้องกันโรคตาจากเบาหวาน
ของงบพัฒนาข่ายทะเบียนราษฎร
10 อันดับไวรัสร้ายประจำพฤศจิกายน
ก.ทรัพยากรวางกรอบอนุรักษ์เล็งเสนอฟื้นทะเลสาบสงขลา
สหกรณ์เพชรบุรีคิด ‘หม้อแกงนมสด’ หวังแก้ปัญหาราคา ‘น้ำนมดิบ’ ตกต่ำ
แนะใช้บันได 3 ขั้นตรวจวินิจฉัย ‘โรคสมองอักเสบ’
โคเนื้อพันธุ์ตาก
กทม.ปฏิรูปหลักสูตร ร.ร.ในสังกัดเริ่มใช้ปีใหม่นี้
อย.เตือนภัยเครื่องสำอางเผยพบสารต้องห้ามเพียบ
สธ.เปิดบริการคลินิกลอยฟ้าตรวจสุขภาพ
เตือนกินยาลดความอ้วนต่อเนื่องเสี่ยงโรคจิต
สรุปผลการวิจัยเขื่อนปากมูล
ฝรั่งเพิ่งฮือฮาอาหารมังสวิรัติพบลดคอเลสเตอรอล29%





ข่าวการศึกษา


การศึกษาสอนเด็กหวังผลประโยชน์

นายแดนรบ เทพรักษ์ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ปี 3 สถาบันราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าววา การละถิ่นฐานสาเหตุมาจากกระแสสังคมที่ผลักดันให้คนอยู่ใน กทม. เพราะได้เงินเดือนสูงหลายหมื่น ขณะที่อยู่ในท้องถิ่นได้เงินเดือนแค่ไม่กี่พัน เพราะการศึกษาที่สร้างให้เด็กแข่งขันตั้งแต่เด็ก วางแผนการศึกษาให้เด็กคิดผิดว่าจะต้องประกอบอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงๆ คิดหวังแต่ผลประโยชน์ คิดแต่ทำมาหากิน ไม่ได้สอนให้เด็กคิดทำมาเพื่อพัฒนาสังคม รัฐบาลต้องจริงใจที่จะแก้ปัญหาการละทิ้งถิ่น โดยการสร้างงานสร้างท้องถิ่น นอกจากนี้วิชาชีพครูที่มักมองว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายเพราะเงินเดือนน้อยนั้น ตนมองว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่เรียนครูเพราะตั้งใจที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างแท้จริง แต่เวลานี้เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็มักจะโทษครู แม้แต่ครูออกไปหารายได้เสริมสอนพิเศษก็มองในทางลบ ขณะที่วิชาชีพอื่นอย่างเช่นหมอกลับเปิดคลินิกได้ ส่วนโครงการคุรุทายาทที่คัดเด็กเก่งให้ทุนเรียน แต่พอจบออกมากลับถูกลอยแพ สิ่งเหล่านี้คือความไม่จริงใจที่จะพัฒนาวิชาชีพครู (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





คนตาบอดวอนเพิ่มทางเลือก กศ. ชี้ความพิการไม่ใช่ปัญหาการเรียน

นายประหยัด ภูหนองโอง ประธานมูลนิธิธรรมิกชน กล่าวในการเสวนาเรื่อง “การศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาสำหรับผู้พิการทางสายตา : โอกาสและทางเลือกซึ่งเป็นหนึ่งในงานจุฬาฯ วิชาการ วัฒนธรรมคนไทยจะมองผู้พิการทางสายตาว่าเป็นคนน่าสงสารทำให้งานเชิงสงเคราะห์ การเรี่ยไร เงินช่วยเหลือทำได้ง่าย ในขณะที่เรื่องโอกาสทางการศึกษากลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควรเพราะมองว่าต้องลงทุนสูงและอาจไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ปัญหาของคนตาบอดไม่ได้อยู่ที่การมองไม่เห็น แต่เป็นที่ความเข้าใจของสังคมที่มองคนตาบอดไร้ค่า อีกทั้งมองว่าคนตาบอดคือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทว่าความจริงแล้วการที่ใช้สายตาไม่ได้ เป็นเพียงการขาดแคลนความสะดวกสบายส่วนหนึ่งเท่านั้น ด้านนายกิตติพงษ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติ กล่าวถึงรายงานสถิติผู้พิการทางสายตาขององค์การอนามัยโลกว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้พิการทางสายตาถึง 180 ล้านคน ซึ่งกว่า 90% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และทุก ๆ 5 วินาท จะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 1 คน และทุกๆ นาที จะมีเด็กพิการทางสายตาเกิดขึ้น 1 คน เท่ากับว่าแต่ละปีจะมีผู้พิการทางสายตาเพิ่ม 7 ล้านคน (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2545 หน้า 8)





ศธ. ตั้ง ร.ร.เด็กอัจฉริยะทุกจังหวัด

น.ส. ณ หทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมพิจารณาร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ศธ. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเลือกสรรการสนับสนุนส่งเสริมเด็กที่มีความฉลาดและมีความสามารถพิเศษ ซึ่งที่ประชุมได้พูดถึง AP Program (Advanced Placement Program) อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในหลักสูตรวิชา AP และเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความสามารถในการเรียนโดยการสอบผ่าน AP Exam ซึ่งในเมืองไทยแม้จะไม่ได้เปิดเป็นโครงการนำร่อง แต่ก็ได้เปิดโปรแกรมดังกล่าวกันอย่างแพร่หลายแต่กระจัดกระจาย เช่นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นมีความสามารถพิเศษแห่งชาติ เพื่อมาดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ (มติชน วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





วิสัยทัศน์ใหม่ “ก.ศึกษา” มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมครู

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวผลประชุมกำหนดวิสัยทัศน์ ศธ. ว่าร่างวิสัยทัศน์ที่กำหนดขึ้นนี้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงต่างๆทำขึ้นเพื่อเป็นข้อตกลงระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ที่จะทำงานให้มีผลสัมฤทธิ์ โดยร่างของ ศธ. จะเป็นแผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2547-2549 โดยได้กำหนดให้คนไทยต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข รักการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และมีพันธกิจหลักในการจัดและส่งเสริมการจัดบริการการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนไทยทุกคนอย่างทั่วถึง บนพื้นฐานความเป็นไทย โดยมีเป้าหมายให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมให้มีคุณลักษณะตามวัย ให้ผู้ที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผลิตนักศึกษาสายอาชีวศึกษาให้มีปริมาณตามความต้องการและจำเป็นของประเทศ นอกจากนี้ยังกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการศึกษาให้คนไทยทุกคนมีโอกาศได้รับการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพซึ่งจะต้องมุ่งการพัฒนาคุณภาพการผลิต และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครู (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





“จาตุรนต์” ถามทิศทางบริหาร ม.นอกระบบ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านการศึกษา กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปการอุดมศึกษาเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่จะพูดผิดประเด็น ขาดทิศทางและการจัดการที่เหมาะสมและเท่าที่ดูในเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาการอุดมศึกษานั้นทุกวันนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของวิธีการหรือการทำแผนมากกว่าสาระหรือตัวยุทธศาสตร์ จึงทำให้ไม่เห็นความชัดเจนในการปฏิรูป ฉะนั้นตนคิดว่าจะต้องมีการพูดให้มีความเข้าใจตรงกันว่าการปฏิรูปเพื่อไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร โดยการทำยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปอุดมศึกษานั้น ต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบันต่างๆ คุณภาพของบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น เพราะการที่รัฐจัดการมากเกินไปทำให้ประสิทธิภาพที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ รองนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงเรื่องการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า ขณะนี้มีทั้งมหาวิทยาลัยที่พร้อมที่จะออกนอกระบบและที่ยังไม่พร้อม โดยสิ่งที่มีความเป็นห่วงกันมาก ก็คือสถานภาพของข้าราชการที่จะไม่ได้เป็นข้าราชการ การใช้จ่ายงบประมาณ สิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการแต่สิ่งที่ไม่มีการพูดถึงกันเลยก็คือ การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และจะกำกับอะไรบ้าง อย่างไร ซึ่งตนเห็นว่ารัฐไม่ควรมุ่งกำกับในรายละเอียดมากเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องงบประมารและการใช้จ่าย แต่ควรกำกับเรื่องคุณภาพ จำนวนการผลิตในสาขาต่างๆ ให้ได้ผลในภาพรวมของประเทศ (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





“ปองพล” ลุ้นดึงงบฯ นมคืน ร.ร. สั่งหาข้อมูลซื้อ “พาสเจอร์ไรซ์”

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดที่จะดึงงบฯ นมโรงเรียนกลับมาไว้ที่โรงเรียนนานแล้ว หลังจากที่โอนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว เกิดปัญหา โดยแนวคิดนายปองพลก็คือ จะนำงบฯนมกลับมาให้โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อนมถุงพาสเจอร์ไรซ์ให้นักเรียนดื่ม เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่านมกล่องยูเอชทีซึ่งมีราคาสูง ทำให้เด็กได้ดื่มน้อย ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายเป็นห่วงถ้าให้เด็กดื่มนมพาสเจอร์ไรซ์ หากโรงเรียนอยู่ไกลอาจจะเกิดปัญหานมบูดเน่าเหมือนในอดีตนั้น นายปองพลได้หทางออกเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยให้โรงเรียนสั่งซื้อนมพาสเจอร์ไรซ์จากโรงงานผลิตในรัศมี 100 กิโลเมตร และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) สำรวจแหล่งผลิตนมถุงพาสเจอร์ไรซ์ทั่วประเทศว่าอยู่ในรัศมีที่กำหนดหรือไม่ และมีพื้นที่ใดที่ไม่มีโรงงานผลิต ซึ่งปรากฏว่ามี 2 จังหวัดที่อาจจะได้รับผลกระทบคือ ภูเก็ตและนราธิวาส อย่างไรก็ตามเชื่อว่านายปองพลจะเสนอ ครม. เพื่อดึงงบฯกลับมาให้โรงเรียนดำเนินการเองในเร็วๆ นี้ (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





สาธิตจุฬาฯ ได้ข้อยุติค่าเทอมปี 2545

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าแนวทางการจัดเก็บค่าเล่าเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภาคเรียนที่ 2/2545 ว่าโรงเรียนสาธิตฯ ได้มีการประชุมเป็นระยะ ๆ ระหว่างสมาคมครูและผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยถึงแนวทางการจัดเก็บเพิ่มเติม เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับจากรัฐ 1,100 บาทต่อคนต่อปี ในระดับประถมศึกษา และ 1,800 บาทต่อคนต่อปีในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่เพียงพอต่อการดำเนินการที่จากเดิมเก็บคนละ 6,400-6,500 บาทต่อคนต่อภาคเรียน ซึ่งผลการหารือเพิ่งจะมีข้อยุติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าในส่วนของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ภาคเรียนที่ 2 นี้ จะจัดเก็บเพิ่มเติมจากผู้ปกครองในส่วนของอาหารและนม จำนวน 3,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะมอบหมายให้สมาคมครูและผู้ปกครอง เป็นผู้ดำเนินการขอรับบริจาคแทน ซึ่งจะเป็นการขอรับบริจาคตามความสมัครใจของผู้ปกครองและมีใบเสร็จให้ ทั้งนี้ เนื่องจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่กล้าดำเนินการเองเพราะเกรงจะผิดกฎหมาย (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





“สรภ.” จับมือ “สสวท.” จัดวิชาการวิทย์-คณิตฯ ครั้งที่ 13

นายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสถาบันราชภัฎ (สรภ.) เปิดเผยว่า สรภ.และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์จัดประชุมทางวิชาการวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างเศรษฐกิจพอเพียง” ที่สถาบันราชภัฏ (รภ.) มหาสารคาม ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2546 เพื่อเปิดโอกาสให้ครูอาจารย์ ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ ทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ตลอดจนเพิ่มพูนความรู้ในเนื้อหาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ทันสมัย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนางาน และพัฒนาตนเองให้เป็นครูมืออาชีพได้ ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานทางวิชาการ หนังสือ สื่อการเรียนการสอน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาศให้สถาบันการศึกษาที่มีผลงานดีเด่น นำผลงานมาจัดแสดงสำหรับเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ และพัฒนาต่อไป (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





เนปาลเลิกเรียนสันสกฤต

ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาโบราณ ส่วนใหญ่ใช้ในพิธีทางศาสนา ซึ่งทั้ง 2 ภาษาเป็นราก หรือที่มาของหลายๆ ภาษาในเอเชีย รวมทั้ง ภาษาไทย ในประเทศไทยพระสงฆ์ยังเรียนภาษาบาลี เรียกว่าเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนของพระภิกษุสามเณร ส่วนในประเทศเนปาลนั้น ภาษาสันสกฤตยังเป็นวิชาภาคบังคับในมัธยมศึกษา เพราะแม้จะเป็นภาษาที่ตายแล้วแต่ทางรัฐบาลก็ยังบังคับให้เรียนตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป หลักสูตรวิชาสันสกฤตจะถูกยกเลิกเนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาใหม่ เพราะเห็นว่าการเรียนภาษาสันสกฤตไม่ได้ประโยชน์อะไรเพราะเป็นภาษาที่เหลืออยู่ในหนังสือสวดมนต์เท่านั้น (มติชน จันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





ตั้งเครือข่ายน.ศ.ครูทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการสัมมนาเรื่องบทบาทนิสิตนักศึกษาครูต่อการใช้การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคม ในงานจุฬาฯ วิชาการ’ 45 นั้นนิสิตนักศึกษาครูได้เห็นปัญหาสังคมที่จำเป็นต้องแก้ไข และพัฒนาเร่งด่วน 6 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การขายบริการทางเพศของนักศึกษา 2.ปัญหาอาชญากรรมในสังคม 3.ปัญหายาเสพติดในกลุ่มนักเรียน 4.ความไม่เท่าเทียมกันในการรับการศึกษาของเด็กในเมือง และชนบท 5.ค่านิยมในการเลือกเข้าสถาบันศึกษาดังๆ ปัญหายาเสพติดในกลุ่มในกลุ่มนักเรียน และ 6.ปัญหาการหลงตามเทคโนโลยี โดยนิสิตนักศึกษาเห็นว่าปัญหาใหญ่มาจากสิ่งแวดล้อมในสังคมที่ส่งเสริมสนับสนุน ให้เด็ก และนักศึกษาเดินตามสังคมโดยไม่ระมัดระวัง ขณะเดียวกันเรื่องของการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวก็เป็นสาเหตุสำคัญเพราะปัจจุบันขาดความอบอุ่นมาก อีกทั้ง สื่อก็มีส่วนกระตุ้นให้นักศึกษาเลียนแบบตาม และกลุ่มเพื่อนก็มีการชักจูงกันไป (มติชน อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





นร.ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอดส์ “ห้ามไล่ออก”

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษา ถูกล่วงละเมิดสิทธิ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ เพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาได้ถือปฏิบัติดังนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่ล่วงละเมิดทางเพศกับนักเรียน นักศึกษาทั้งทางกายและวาจา หรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในทางเพศกับนักเรียน นักศึกษาถือเป็นหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะต้องสอดส่องดูแล ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดสิทธินักเรียน นักศึกษา สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ต้องควบคุมดูแลไม่ให้ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดนักเรียน นักศึกษา “รวมทั้งหากเกิดการตั้งครรภ์ต้องไม่ไล่เด็กออก และจะต้องไม่ปฏิเสธนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์เข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา แต่ถ้ามีปัญหาจะต้องหาที่เรียนใหม่รองรับด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 6)





แนะปรับปรุงแบบข้อสอบยกเลิกท่องจำ

รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ผอ.สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอรายงานเรื่อง “Investigative and Integrated Science Education in Thailand : Problems and Prospects” ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมวิชาการ สมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASAIHL ครั้งที่ 25 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ไทยต้องยกระดับความสามารถของเด็กที่นอกจากเก่ง จะต้องมีความมุ่งมั่น และอดทน ทั้งต้องปรับกระบวนการเรียนในเด็กเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่แท้จริง (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 6)





ยูเอ็นเลือกวัดพระปฐมเจดีย์องค์กรเด่นหนุนคนพิการ

น.ส.ศุลีรัตน์ กิติโรจน์พันธ์ รักษาการพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันคนพิการสากล ซึ่งทั่วโลกจะได้มีการรณรงค์และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อคนพิการพร้อมกัน โดยในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดจัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2545 ขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2545 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ สำหรับผลการพิจารณาคัดเลือกองค์กรดีเด่น ที่ให้การสนับสนุนคนพิการ ประจำปี 2545 วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร โดยพระเทพปริยัติมุนี เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ และเจ้าคณะภาค 15 ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลโล่เกียรติคุณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (เดลินิวส์ อังคารที่ 17 ธันวาคม 2545 หน้า 32)





สปช.เปิดเวทีเด็กชิงชัยคณิตนานาชาติ

นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้เป็นผู้รับผิดชอบการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติครั้งที่ 1 พ.ศ. 2546 Thailand Elementary International Contest 2003 (TEMIC) ระหว่างวันที่ 5-11 กันยายน 2546 ณ สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา จ.นครปฐม โดยจะมีนักเรียนในระดับประถมศึกษาทั้งจากประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงไม่เกิน 4 คน เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์ ทั้งนี้สปช.ได้มอบหมายให้ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดทุกแห่งและสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานครทำการจัดแข่งขันในระดับจังหวัดเพื่อค้นหาตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ชี้ทปอ.เลิกห่วงความดีมีเกณฑ์คุม

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเสนอแนวคิดในการปรับระบบเอนทรานซ์ ที่จะให้ใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมมัธยมปลาย GPA และค่าตำแหน่งลำดับที่ PR หรือไม่ จนทำให้เกิดความสับสนแก่นักเรียนและผู้ปกครอง ว่า ศธ.ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอยู่แล้ว และในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ กลุ่มสาขาวิชา และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะหารือกันเกี่ยวกับองค์ประกอบสัดส่วนของคะแนนที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงระบบเอนทรานซ์โดยศธ. จะนำผลดังกล่าวและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ เสนอต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการนำ GPA และ PR มาใช้นั้น ศธ.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและคิดว่าจะสามารถชี้แจงกับสังคมได้ เพราะ GPA จะส่งเสริมให้เด็กตั้งใจเรียนอย่างสม่ำเสมอนอกจากนี้ผลการสำรวจของ สนง. สถิติแห่งชาติซึ่งสำรวจฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำนวน 50,000 คนเกี่ยวกับการปรับเอนทรานซ์นั้น พบว่าทุกฝ่ายเห็นชอบในการนำ GPA และ PR มาใช้ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





แนะเลิกเอนทรานซ์รวมหันมาทุ่มพัฒนามัธยมแทน

ดร.พยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา ในฐานะนายกสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างตน ดร.อินทร์ จันทร์เจริญ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย นายมานิจ มาถนอม นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ นางจินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และ ดร.บุญเรือน หมั้นทรัพย์ เลขาธิการสมาคมการศึกษาคาทอลิกเกี่ยวกับเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการสอบเอนทรานซ์ในปัจจุบันเป็นระบบที่เน้นการสอบวัดความรู้เป็นหลักถึงร้อยละ 90 รวมทั้งนำผลการเรียนเฉลี่ย (GPA) และตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ (PR) มาใช้ 10% ที่ประชุมได้มีมติที่จะเสนอแนะวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้ยกเลิกการสอบแข่งขันรวมแล้วหันมาสร้างมาตรฐานคุณภาพมัธยมศึกษา โดยให้มีการใช้ข้อสอบกลาง หรือ SAT รวมทั้งใช้คะแนนการสอบ SAT แทนการใช้คะแนน GPA และ PR ซึ่ง SAT เป็นข้อสอบที่วัดทั้งทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความสามารถ ความคิดริเริ่มและความถนัด เพื่อวัดภาพรวมของเด็กแต่ละคนได้ โดยให้จัดสอบข้อสอบกลางปีละ 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ชั้น ม.5 ผู้ที่สอบผ่านถือว่ามีคุณสมบัติเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยกำหนดหลักเกณฑ์และคัดเลือกผู้เรียนเองอย่างหลากหลายเพื่อให้ได้นักศึกษาตรงตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ และมหาวิทยาลัยควรเปิดรับสมัครได้ทุกภาคเรียนและอนุมัติจบหลักสูตรได้ทุกภาคเรียนเช่นเดียวกัน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2545 หน้า 14)





มีมติ ม.สงฆ์ย้ายสังกัด

พระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทร์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) เปิดเผยว่าในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อเร็วๆนี้ พิจารณาเรื่องที่ มมร.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการทบทวนการออกพระราชกฤษฏีกาเปลี่ยนอำนาจการบริหารจาก รมว.ศึกษาธิการไปเป็นนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.ปฏิรูประบบราชการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลักษณะงานของ มมร.ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการจัดการศึกษาด้านอุดมศึกษาของประเทศมาตรฐานการศึกษา ความเข้มแข็งทางวิชาการและความร่วมมือกันในการพัฒนาการศึกษา ขณะที่มติของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ทอมก.) ก็ได้มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีปัญหาเรื่องการโอนย้ายสังกัดทั้งของมหากุฎฯ และมหาจุฬาฯ โดยจะทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้ (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


มจธ.โชว์ฐานไฮเทครับลูกเสือโลก

ผศ.สุรพนธ์ ตุ้มนาค อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงงานด้านคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ เพื่อโชว์ในงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 20 เปิดเผยว่า ฐานกิจกรรมนี้ จะหลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เหล่าลูกเสือทั่วโลกที่มาร่วมงานเกิดการเรียนรู้และได้ฝึกทักษะการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ผ่านเกมส์ต่างๆ ได้แก่ Mobile Robot Racing โดยณัฐดนัย องค์โฆษิต สร้างขึ้นเพื่อต้องการสอนให้ลูกเสือ เข้าใจหลักการและพื้นฐานการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างง่าย การประกอบรถ (Mobile Robot) กราฟิกและแอนิเมชั่น โดยบัญชา วงศ์ธำรง ลูกเสือจะได้เรียนรู้หลักเบื้องต้นในการออกแบบ วิธีการใช้โปรแกรม ซึ่งจะมีโจทย์ฝึกสร้างโมเดลง่ายๆ และปั่นจักรยานเที่ยวเมืองไทย โดยสุภาภรณ์ อังศรีสุรพร นักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์มัลติมีเดียคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจธ.ได้ร่วมกับเพื่อนอีกสองคนคือ (วิราณี ทองนุช และสมโภช โพธิ์สินสมวงศ์) รับผิดชอบฐานเกมจักรยานซีมูเลเตอร์ ซึ่งฐานนี้เหล่าลูกเสือจะได้เที่ยวเมืองไทยจากเกมส์จักรยานซีมูเลเตอร์ ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





น้ำคั้นต้นกล้วยรักษาโรคผิวหนังสุนัข

นางสาวกนกวรรณ ตาลดี อายุ 17 ปี โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นเจ้าของโครงการวิจัยเรื่อง “น้ำคั้นต้นกล้วยรักษาโรคผิวหนังสุนัข” โดยเกิดแนวคิดที่จะตรวจสอบการออกฤทธิ์ของน้ำคั้นจากพืชต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา Microsporum gypseum และ Trichophyton mentagrophytes ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังสุนัข โดยอาศัยวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือได้ โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 ขั้นตอน โดยในขั้นแรก หาความเข้มที่เหมาะสมของยาคีโตโคนาโซลแชมพู ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนังสุนัข เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับน้ำคั้นจากพืชของไทย ซึ่งพบว่ายาคีโตโคนาโซลแชมพูความเข้มขัน 1:128 เท่าสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ ขั้นที่สอง ก็มุ่งหาชนิดของน้ำคั้นของพืชพื้นบ้านของไทยที่ให้ผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดีที่สุด โดยนำน้ำคั้นจากโคนกล้วยเน่า น้ำคั้นจากต้นตะไคร้ และน้ำคั้นจากใบน้อยหน่า มาทดสอบการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราเปรียบเทียบกับยาคีโตโคนาโซลแชมพู พบว่าน้ำคั้นจากโคนกล้วยเน่าให้ผลยับยั้งการเจริญได้ดีที่สุด และได้ผลใกล้เคียงกับคีโตโคนาโซลแชมพูความเข้มข้น 1: 128 เท่าด้วย (เดลินิวส์ วันเสาร์ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





ประวัติศาสตร์โลกระทึกเด็กโคลนนิงเกิด มกราคม 2546

ผู้เชี่ยวชาญการโคลนนิงยืนยัน เด็กโคลนนิงคนแรกของโลกจะคลอดในเดือน ม.ค. แน่นอน พร้อมระบุ เซอร์เบียเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่จะมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นสถานที่ให้กำเนิดมนุษย์โคลนคนแรก แม้จะมีข้อบังคับทางการแพทย์ที่ห้ามไม่ให้มีการโคลนนิงคนและหลายประเทศถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ ดร.เซเวริโน อันติโนริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินารีแพทย์ชาวอิตาลีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “นิน” ของเซอร์เบีย ที่กรุงเบลเกรดว่า เด็กโคลนนิงคนแรกของโลกจะถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ในเดือน ม.ค. ในปี 2546 อย่างแน่นอน ดร.อันติโนริกล่าวว่า “ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำ คือ การปฏิวัติวงการพันธุศาสตร์ และเซอร์เบีย จะเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศที่มีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้” พร้อมกันนั้น ผู้เชี่ยวชาญชาวอิตาลีเสริมว่าจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง เกี่ยวกับการทำคลอดเด็กโคลนนิงคนแรกของโลก รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวของเด็ก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 16)





‘พินิจ’รื้อศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ กก.อึ้งไม่รับรองปลอดภัย-ส่อแววพับ

นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตามที่ได้หารือกับนายธัชชัย สุมิตร ประธานคณะอนุกรรมการความปลอดภัยโรงงานนิวเคลียร์ เกี่ยวกับการออกใบรับรองอนุญาตก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) แล้วค่อนข้างเป็นห่วงในการเดินหน้าโครงการที่อาจจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหายจากการดื้อดึงทำโครงการนี้ต่อไปอีก เพราะแม้แต่คณะอนุกรรมการฯ เองก็ยังไม่กล้าออกใบรับรองความปลอดภัยเพื่อประกอบการก่อสร้างได้เนื่องจากทางสหรัฐอเมริกา ยอมออกใบรับรองการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ให้กับการก่อสร้างนอกประเทศและโดยส่วนตัวก็เห็นว่าตราบใดที่รายงานยังไม่สมบูรณ์ก็ยังสร้างไม่ได้ (มติชน จันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 18)





ล้มล้างทฤษฎีเริ่มต้นสิ่งมีชีวิต

นักวิทยาศาสตร์หลายคนระบุว่า ตามทฤษฎีใหม่นี้การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตจะพลิกกลับจากเดิมโดยสิ้นเชิง เพราะทฤษฎีใหม่ของศาสตราจารย์ทั้งสองนี้ชี้ว่า สิ่งมีชีวิตเริ่มต้นในระดับของเซลล์ ไม่ใช่ในระดับของโมเลกุล และเป็นเซลล์ที่ไม่มีชีวิตเสียด้วย ทฤษฎีใหม่นี้เสนอไว้ว่า เมื่อความร้อนภายในแกนกลางของโลกผลักให้กระแสน้ำอุ่นทะลักขึ้นมาตามช่องระบายของพื้นผิวของเปลือกโลกบริเวณใต้ท้องทะเลนั้นมันจะก่อให้เกิดปฎิกิริยาขึ้นภายในเซลล์ซึ่งไม่มีชีวิตที่มีอยู่ในหินไอออนซัลไฟต์ที่อยู่ตามบริเวณปากปล่องหรือช่องระบายกระแสน้ำอุ่นดังกล่าวด้วยการทำให้ภายในเซลล์ที่มีสภาพเชิงโลหะหรือเป็นเมทาลิกเหล่านี้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีเกิดการแบ่งตัวและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นสัตว์เซลล์เดียวในเวลาต่อมา (มติชน อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 19)





เมาส์ควบคุมด้วยสายตา

นายสัณฑ์ คุณะวัตนาการณ์ และนายสุรเชษฐ ภิรมย์กิจ นักศึกษาชั้นปี 3 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวความคิดเกี่ยวกับคนที่เป็นอัมพาตทั้งตัวจะขยับได้เพียงแค่กรอกสายตาไปมาเท่านั้น ก็เลยคิดสร้างอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องใช้มือ หลักการทำงานของเมาส์ควบคุมด้วยสายตาเป็นการตรวจจับการเคลื่อนไหวตามตำแหน่งการจ้องมองของดวงตา โดยใช้อุปกรณ์หลักๆ 3 อย่างคือคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง, กล้อง webcam 1ตัวและแว่นตาอะไรก็ได้ที่ต้องตัดกระดาษสีแดงมาแปะตรงกรอบแว่นเพื่อจับพิกัดจุดศูนย์กลางของดวงตา (เดลินิวส์ อังคาร 17 ธันวาคม 2545 หน้า 32)





วว.เจ๋งผลิตอาหารเสริมไก่มีเนื้อเพิ่มขึ้น – ไขมันลดลง

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม นางนงลักษณ์ ปานเกิดดี รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แถลงว่า สถาบันวิจัยพยายามคิดค้นวิธีการวิทยาการใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์เพื่อช่วยภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ล่าสุดสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “โพรไบโอติก” (Probiotic) ซึ่งเป็นอาหารเสริมสำหรับไก่ สกัดมาจากจุลินทรีย์สายพันธุ์โพรไบโอติกจากลำไส้ไก่ในประเทศไทย เมื่อนำอาหารเสริมนี้ไปให้ไก่กินปรากฏว่า มีผลทำให้ไก่เจริญเติบโตและมีน้ำหนักดีตามมาตรฐานความต้องการของท้องตลาด แต่ที่พิเศษคือ ไก่มีเนื้อเพิ่มขึ้นขณะที่ไขมันลดลง (มติชน พุธที่ 18 ธันวาคม 2545 หน้า 18)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เตือนภัยยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่เหมาะกับผู้หญิงบางกลุ่ม

วารสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ รายงานผลการวิจัยที่ ดร.สตีเวน นารอด แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา เป็นผู้นำการวิจัย พบว่าผู้หญิงที่มียีนผ่าเหล่าของยีน บีอาร์ซีเอ 1 เมื่อกินยาคุมกำเนิดเข้าไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 และยังมีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมเร็วขึ้น โดยอาจเป็นมะเร็งก่อนอายุ 40 ปี ผู้หญิงที่มีการผ่าเหล่าของยีนตัวนี้ มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในชีวิตนี้ถึง 50-80% ขณะที่ผู้หญิงทั่วไปมีโอกาสเสี่ยง 1 ใน 9 สำหรับการวิจัยครั้งนี้ ได้ศึกษากับผู้หญิงกว่า 2,600 คน ที่มีการผ่าเหล่าของยีนบีอาร์ซีเอ 1 หรือบีอาร์ซีเอ 2 ใน 11 ประเทศ เปรียบเทียบกันระหว่างผู้ที่รอดชีวิตจากการเป็นมะเร็งเต้านมและผู้ที่ยังไม่เป็นมะเร็ง ในจำนวนฝ่ายละ 1,311 คน โดยต้องมีภูมิหลังคล้ายกันทั้งอายุ รูปแบบการดำรงชีวิต เช่น สูบบุหรี่ เพื่อให้มีข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือ การใช้ยาคุมกำเนิด ปรากฏว่าผู้หญิงที่มีการผ่าเหล่าของยีน บีอาร์ซีเอ 2 ซึ่งพบได้น้อยกว่า ทำให้มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ในกลุ่มที่มีการผ่าเหล่าของยีน บีอาร์ซีเอ 1 ปรากฏความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 นักวิจัยพบว่า ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดก่อนปี 2518 ซึ่งช่วงนั้น ยาคุมมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่า ผู้นำการวิจัยให้ข้อแนะนำว่าผู้หญิงที่มียีน บีอาร์ซีเอ 1 ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดก่อนอายุ 25 ปี (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





โปรแกรมเลนส์เสมือนจริงช่วยตาบอดสีเห็นสีตามจริง

สำหรับโปรแกรมที่มีชื่อว่า “อี-เลนส์” (Electronic Lens : E-Lens) ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด 600 kb เท่านั้นเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาตาบอดสีในการแยกแยะสีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยผู้ใช้สามารถบันทึกใส่แผ่นดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว ที่มีความจุ 1.4 MB เพื่อนำไปใช้งานกับคอมพิวเตอร์ได้ทุกที่ ดร.จันทร์จิรา สินทนะโยธิน นักวิจัยด้านการประมวลผลภาพทางการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เจ้าของผลงาน “อี-เลนส์” หรือซอพต์แวร์ช่วยคนตาบอดสีให้สามารถแยกแยะความแตกต่างของสีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เล่าให้ฟังว่าโปรแกรมตัวนี้จะช่วยให้คนตาบอดสีมองเห็นความแตกต่างของสีได้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้ไม่สามารถแยกแยะดอกไม้และใบไม้ที่มีความสว่างของสีแดง-เขียว ใกล้เคียงกันได้โปรแกรมก็จะทำให้เห็นข้อมูลเพิ่มขึ้นและรู้ว่าส่วนไหนเป็นดอกไม้หรือใบไม้ อี-เลนส์ เป็นโปรแกรมประยุกต์ขนาด 2 เมกะไบต์ (รวม Help file) ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยภาษา Borland C++Builder แต่หากต้องการเวอร์ชั่นประหยัดพื้นที่ก็จะมีขนาดเพียง 600 กิโลไบต์ โดยตัดส่วนที่เป็นวิธีใช้ (Help) ออกไป สำหรับการใช้งานนั้นก็เพียงแต่เรียกโปรแกรม อี-เลนส์ขึ้นมาใช้งานตามปกติจากนั้นโปรแกรมจะแสดงพื้นที่เฉพาะขึ้นมาบางส่วนโดยกำหนดค่าเริ่มต้นเป็นฟังก์ชั่นขยายภาพเพียงอย่างเดียวซึ่งผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนสถานะให้เหมาะกับคนตาบอดสีได้ใน 2 ระดับ ได้แก่ ไม่รุนแรง (low) กับรุนแรง (high) ผู้สนใจสามารถขอรับโปรแกรมไปใช้งานได้ฟรีที่ pooh@notes.or.th หรือส่งไปรษณีย์บัตรมายังศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ 112 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 และเมื่อทดลองใช้แล้วให้แจ้งกลับมาด้วย เพื่อว่าจะได้เป็นข้อมูลสำหรับปรับปรุงในเวอร์ชั่นต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ อาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





ข่าวทั่วไป


คนเอเชียโล่ง “มาลาเรีย”ลด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาลาเรีย หรือโรคไข้จับสั่น โรคติดต่อซึ่งมียุงเป็นพาหนะสำคัญที่มักพบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังลดน้อยลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการรณรงค์แก้ไขอย่างจริงจังด้วยงบประมาณนับพันล้านบาท ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ในโครงการควบคุมโรคมาลาเรียประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้จำนวนของผู้ติดเชื้อโรคมาลาเรียในภูมิภาคนี้ลดลงจนอยู่ในระดับต่ำที่สุด ถึงแม้ว่ามาลาเรียจะยังคงเป็นโรคที่มีอัตราเสี่ยงสูงในหลายพื้นที่ แต่ขณะนี้ถือได้ว่าโรคดังกล่าวอยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมได้ โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อสำคัญที่สร้างความสูญเสียทั้งในด้านบุคลากรและงบประมาณให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่า ลาว เวียตนาม หรือกัมพูชา แต่หลังจากการให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับโรคดังกล่าวในทุกๆด้าน การรณรงค์ให้ใช้มุ้งเพื่อป้องกันยุง และการนำยาใหม่ๆ มาใช้ ปริมาณของผู้ติดเชื้อมาลาเรียในประเทศลาวลดลงถึงร้อยละ 90 ภายในเวลาเพียง 5 ปี ขณะที่เวียตนามและกัมพูชา ซึ่งเคยมีผู้เป็นโรคมาเลเรียถึง 170,000 าย ในปี พ.ศ. 2540 ก็มีปริมาณผู้ติดเชื้อลดลงถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้ ปริมาณของผู้ติดเชื้อที่ลดลงยังสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยถึงร้อยละ 75 ด้วย (มติชน วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2545 หน้า 5)





บุหรี่ปลอดสารเสพติดอันตรายยิ่งกว่า

บรรดาวัยรุ่นกำลังหันมานิยมบุหรี่ยี่ห้อใหม่ที่มักโฆษณาอวดอ้างว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากปลอดสารเสพติด แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจมีสารพิษเจือปนมากกว่าบุหรี่แบบเดิม นักวิจัยสหรัฐบอกว่า จากการทดสอบบุหรี่ทางเลือกใหม่ที่ระบุว่า ปลอดสารเสพติด ปรากฏว่ากลับมีระดับนิโคตินสูงกว่า จากการสำรวจวัยรุ่นในเขตบอสตันของสหรัฐ พบว่ามีถึง 40% ทีเคยลองสูบบุหรี่ประเภทนี้อย่างน้อยครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นบุหรี่ที่มีราคาไม่แพงและยังหาซื้อได้ง่ายอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีหลายรสให้เลือกทั้งช็อกโกแลตและรูทเบียร์ ผลการศึกษายังพบว่านอกจากพบปริมาณนิโคตินสูงกว่าแล้วยังพบว่าบุหรี่เหล่านั้น ยังมีสารเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งมีคาร์บอนมอนอกไซด์ระดับสูงพอๆกับบุหรี่แบบเดิม (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





ถั่ว-เนยถั่วลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งใช้เวลานาน 16 ปี โดยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2520 กับพยาบาลสตรีเกือบ 84,000 คน ใน 11 รัฐ พบว่าการรับประทานถั่วชนิดต่างๆ และเนยถั่วหลายครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ลงได้มาก อย่างน้อยก็ในสตรีเพราะถั่วอุดมด้วยไขมันอิ่มตัวกับสารอาหารอื่นๆ ช่วยเสริมความมีเสถียรภาพของสารอินซูลินและกลูโคสซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดที่ช่วยขจัดโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ ซึ่งมีชาวอเมริกันป่วยเป็นโรคนี้ 16 ล้านคนและมีคนป่วยเป็นโรคนี้ทั่วโลก 135 ล้านคน คณะผู้วิจัยพบว่า หากบริโภคถั่วครั้งละ 1 ออนซ์หรือ 28.3 กรัม เป็นเวลา 5 ครั้ง หรือมากกว่าต่อสัปดาห์ จะส่งผลให้สามารถลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะป่วยเป็นโรคเบาหวานลงได้ร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เคยรับประทานถั่วหรือรับประทานนานๆ ครั้ง และหากรับประทานถั่ว 1-4 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ร้อยละ 16 ขณะที่การรับประทานเนยถั่ว 5 ออนซ์ หรือมากกว่าต่อ 1 สัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยรับประทาน หรือรับประทานเนยถั่วเพียงนานๆ ครั้ง (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





สับปะรดช่วยย่อย

สับปะรดผลไม้ธรรมดาๆ หากินได้ทั่วไป แต่ผลไม้ชนิดนี้ยังมีสรรพคุณทางยา เพราะสามารถช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อยได้อย่างเป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะในสับปะรดมีเอนไซม์ตามธรรมชาติที่มีชื่อว่า บรอมีเลน (Bromelains) ที่สามารถช่วยย่อยอาหารได้ทั้งในสภาวะเป็นกรดและด่าง จึงเหมาะสมที่จะพาไปช่วยย่อยในกระเพาะซึ่งเป็นกรด ก่อนจะตามไปย่อยต่อในลำไส้เล็กซึ่งเป็นด่าง และถ้าจะให้ดีก็ต้องเอาสับปะรดปั่นกับมะละกอสุกๆ ชิ้นประมาณเท่าฝ่ามือ ก็จะทำให้ได้เครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยย่อยเป็นสองแรง เพราะในมะละกอมีน้ำย่อยธรรมชาติอีกตัว ชื่อ ปาเปน (Papian) เจอเข้าไปสองขนานก็ช่วยให้การย่อยมีพลังมากยิ่งขึ้น ทางที่ดีในการดื่มควรดื่มหลังอาหารที่หนักไปทางเนื้อสัตว์ที่อาจทำให้คุณเกิดอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ในหลายประเทศมีการสกัดเอนไซม์บรอมีเลนจากสับปะรดไปใช้เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดทุเลาเร็วขึ้น รวมทั้งลดอาการอักเสบ แผลบวม หรืออาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา รวมทั้งมีการทดลองใช้บรรเทาอาการอักเสบจากริดสีดวงทวาร อาการเกี่ยวกับเส้นเลือดดำ โรคกระดูกและข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เก๊าท์ และอาการปวดประจำเดือน มีงานวิจัยที่พบด้วยว่าด้วยฤทธิ์ย่อยโปรตีนอย่างเป็นธรรมชาติของบรอมีเลนที่ทำให้เมื่อบรอมีเลนดูดซึมเข้ากระแสเลือดอาจช่วยลดการเกาะกันเป็นลิ่มเลือดของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดแดง ซึ่งจะมีช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกหลายชนิด (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





แพทย์จุฬาเตือนหายนะ 30 บาท

น.พ.ภิรมย์ กมลรัตนกูล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในการสัมมนาผลกระทบ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพว่า นักการเมืองมักกล่าวหานักวิชาการที่วิจารณ์โครงการ 30 บาทว่าพูดโดยขาดข้อมูลวิชาการ ซึ่งไม่จริง ตนได้รวบรวมรายงานการศึกษาจากทั่วโลกพบว่า แพทย์ถูกฟ้องร้องด้วยระบบหลักประกันสุขภาพในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงไทยด้วยสิ่งที่น่ากลัวและจะเกิดขึ้นคือแพทย์เฉพาะทาง สูตินรีแพทย์จะขาดแคลนเพราะไม่กล้ารักษาและอาจจะลาออกไปทำธุรกิจอื่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแพทยศาสตร์ได้จัดบอร์ดเพื่อให้แพทย์ได้ระบายความอึดอัดใจ ที่ต้องให้การรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนของ ร.พ.จุฬาฯนำเสนอข้อมูลว่ายังมีหนี้คงค้างที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จากการส่งต่อผู้ป่วยถึง 120 ล้านบาท และความเชื่อที่ว่าเมื่อมีโครงการ 30 บาท ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยที่ผ่านระบบสังคมสงเคราะห์จะลดลง แต่ความจริงกลับเพิ่มขึ้น โดยเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาเดือนเดียวมีมากถึง 42 ล้านบาท (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





อุตฯทุ่ม 88 ล้านวางยุทธศาสตร์ พัฒนาสุราแช่ไทยแบบยั่งยืน

นายธีระชัย แสนแก้ว โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสุราแช่ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการผลิตด้วยกรรมวิธีที่ได้มาตรฐาน ควบคุมคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะใช้งบประมาณใน 9 โครงการ รวม 88.09 ล้านบาท สำหรับโครงการทั้ง 9 โครงการประกอบด้วย 1. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต วงเงิน 8 ล้านบาท 2. การสัมมนาปรับความรู้นักวิชาการในพื้นที่ วงเงิน 9 หมื่นบาท 3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวงเงิน 2 ล้านบาท 4. การจัดทำมาตรฐานสุราแช่ 1 ล้านบาท 5. การพัฒนาห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพ วงเงิน 40 ล้านบาท 6. การปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมสุราแช่ให้ได้มาตรฐาน วงเงิน 10 ล้านบาท 7.การพัฒนาการตลาดเพื่อการส่งออก วงเงิน 5 ล้านบาท 8. การพัฒนาการผลิตและสร้างโรงงานต้นแบบกล้าเชื้อสุรา วงเงิน 20 ล้านบาท 9. การพัฒนาเครื่องกลั่นสุราตันแบบสำหรับอุตสาหกรรมพื้นบ้าน วงเงิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญการพัฒนาอุตสาหกรรมสุราแช่ โดยทุ่มงบประมาณบางส่วน เพื่อแก้ปัญหาหลังจากพบว่าผลิตภัณฑ์สุราแช่ส่วนใหญ่ขาดคุณภาพ ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อถือ เนื่องจากผู้ผลิตขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้ผลิตที่ต้องการพัฒนาคุณภาพแต่ขาดเงินทุน (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2545 หน้า 22)





ย้ายที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย่าได้มอบให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเขียนแผนในการย้ายที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เนื่องจากสถานที่ปัจจุบันซึ่งเป็นวังหน้ามาก่อนคับแคบ ประกอบกับได้ทราบว่ากระทรวงกลาโหมจะย้ายหน่วยงานออกไป จึงคิดว่าน่าจะใช้อาคารของกระทรวงกลาโหมเป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นายปองพลกล่าวว่า “ขั้นแรกนี้ผมขอให้ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรเขียนแผนมาให้ก่อนว่า จะต้องทำอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพื่อจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นโครงการร่วมกันของ 3 กระทรวง นอกจากนี้ ยังมอบให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำหนังสือเกี่ยวกับประวัติพระบรมมหาราชวังทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งยังไม่มีใครทำเลย จะให้เขียนละเอียดตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ขึ้นมา โดยทางมหาวิทยาลัยก็มีข้อมูลอยู่แล้ว” และหลังจากย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออกไปแล้ว จะมีโครงการบูรณะวังหน้าเก่าให้เหมือนกับแต่เดิม คือ มีห้องที่ประทับ ห้องบรรทม ท้องพระโรง เป็นต้น (มติชน วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





หวั่นกินเผ็ดจัดกัดโดนถุงน้ำดี ล่อแหลมกับการเป็นมะเร็งสูง

วงการแพทย์ของชิลีได้พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งของถุงน้ำดีในประเทศได้ทวีสูงขึ้น นับแต่ทศวรษปี 2513 เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นจากอัตรา 3 ต่อประชากร 100,000 คน ขึ้นเป็นถึงถึง 12 ต่อ 100,000 คน และมีอัตรายอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้สูงสุดครองสถิติโลก คณะแพทย์ได้ศึกษากับคนไข้โรคมะเร็งถุงน้ำดี 114 ราย โดยศึกษาวิจัยในเรื่องอาหารการกิน เปรียบเทียบกับคนไข้โรคนิ่วในถุงน้ำดี แต่ไม่ได้เป็นมะเร็ง ในจำนวนเท่ากันได้พบว่า “คนไข้สองกลุ่มโรค มีความแตกต่างกัน นอกจากคนไข้กลุ่มที่เป็นนิ่ว มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีกว่าอีก แล้วยังมีนิสัยการกินอยู่ผิดกันด้วย โดยเฉพาะในการกินพริกแดงและผลไม้สด พวกคนยากจน จะกินพริกแดงมากกว่าคนอื่นถึง 6 เท่า แต่ก็จะเป็นโรคมะเร็งในถุงน้ำดีสูงกว่า 3 เท่า (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





พบกระดูกไดโนเสาร์เป็นมรดกชาติ

กรณีพบซากไดโนเสาร์พันธ์ซอโรพอด กลายเป็นหินในพื้นที่ดอยแก่งหลวง บ้านหนองกลาง ม.7 ต.บ้านมาง อ. เชียงม่วนจ.พะเยา ซึ่งนักธรณีวิทยาได้มาตรวจสอบเชื่อว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 130 ล้านปี ด้านนายสมศักดิ์ บุญเปลื้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การพบกระดูกไดโนเสาร์ครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือ ขอความร่วมมือชาวบ้านช่วยกันดูแลและป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปลักขโมย และใครที่เคยเอาไปก็ขอให้นำมาคืนเสีย โดยกระดูกที่พบบางส่วนทางจังหวัด ได้นำไปเก็บไว้ในตู้โชว์ยังที่ว่าการอำเภอ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยดีกว่า อีกทั้งนักท่องเที่ยวสามารถชมได้อย่างใกล้ชิดด้วย สำหรับการขุดค้นหาอย่างเป็นทางการนั้น ต้องรอทางกรมทรัพยากรธรณีอนุมัติมาเสียก่อน จากนั้นจะประสานกับทางป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เข้าตรวจสอบต่อไป (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 19)





ผู้ชายอ้วนระวังโรคเส้นโลหิตในสมองตีบ

ผลการศึกษาในสหรัฐพบว่าผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวมากมีแนวโน้มว่าจะเสี่ยงเกิดอาการเส้นโลหิตในสมองตีบหรือแตกมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนความคิดที่ว่าการมีน้ำหนักตัวมากเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะความอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด ดร.โทเบียส เคิร์ธ จากโรงพยาบาลหญิงบริกแฮมในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นโลหิตในสมองตีบ ซึ่งมีสาเหตุจากเลือดออกในสมองมีมากขึ้นเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่ม ทั้งนี้ดัชนีมวลรวมร่างกาย หรือ บีเอ็มไอ วัดจากความสัมพันธ์ของน้ำหนักกับส่วนสูงผู้ใหญ่ที่มีบีเอ็มไอ เกินกว่า 30 ขึ้นไป จัดอยู่ในข่ายคนอ้วน ส่วนคนที่อยู่ในรดับ 25-30 จัดว่ามีน้ำหนักตัวเกินปกติ (กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2545 หน้า 3)





ผบ.สส.ไฟเขียว “ผู้หญิง” เข้า ร.ร.นายร้อย

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงว่า กองทัพคงต้องปรับตัวในเรื่องการศึกษา อย่างปัจจุบันหลักสูตรที่ใช้เรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนเสนาธิการทหารหรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ต้อหันกลับมาพิจารณาใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวต่อว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังดูความเป็นไปได้ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีความสนใจเป็นทหาร สามารถสมัครสอบเข้ามาเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารเหมือนผู้ชายได้ เพื่อความเสมอภาคเนื่องจากปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากองทัพในต่างประเทศอย่างสหรัฐ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปเรียนในโรงเรียนนายร้อยได้ มีจำนวนมากที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี ล่าสุดกองทัพสหรัฐอนุมัติให้ทหารหญิงปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินประจำเครื่องบินขับไล่เอฟ-18 แล้ว (มติชน วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2545 หน้า 13)





ป้องกันโรคตาจากเบาหวาน

ดร.จันทร์จิรา กำลังเนินโครงการช่วยงานด้านการแพทย์อีก 2 รายการได้แก่ โครงการระบบคอมพิวเตอร์ช่วยวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาและซอพต์แวร์ช่วยทันตแพทย์ในการจัดฟัน เครื่องมือที่มาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยตัวเองได้ในเบื้องต้นก็จะลดขั้นตอนการไปพบแพทย์ทุก 2 เดือน ได้ “คอนเซ็ปท์เหมือนตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์เพียงแต่ต้องหยอดตาเพื่อขยายม่านตาก่อนจากนั้นก็มาถ่ายภาพนัยน์ตาเพื่อนำภาพที่ได้ไปเข้าโปรแกรมประมวลผลภาพโดยการวิเคราะห์หาความผิดปกติใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็เรียบร้อย” โปรแกรมช่วยจัดฟัน สำหรับโปรแกรมช่วยจัดฟันนั้นเป็นการศึกษาร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีโดยก่อนหน้านี้การจัดฟันจะใช้การเอกซเรย์ด้านข้างและเอาภาพมาคำนวณหาจุดและทำเครื่องหมายตรงจุดที่ต้องการปรับเปลี่ยนของระยะห่างระหว่างฟันและกะโหลกโดยมากจะทำด้วยมือหรือใช้ไม้โปรวัดแต่เพื่อให้งานง่ายขึ้นสามารถนำเอาซอพต์แวร์มาช่วยได้ซึ่งปัญหาอยู่ตรงที่ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทำให้มีราคาแพงและที่สำคัญไม่เหมาะกับรูปหน้าและกะโหลกมาตรฐานของคนไทย (กรุงเทพธุรกิจ อาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





ของงบพัฒนาข่ายทะเบียนราษฎร

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า วานนี้ (9) คณะกรรมการบูรณาการและปฏิรูประบบการทะเบียนแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฏรได้ข้อสรุปว่าจะพิจารณาถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฏรได้ข้อสรุปว่าจะต้องพัฒานาโครงข่ายงานทะเบียนราษฎรสำหรับ 76 จังหวัดทั่วประเทศโดยจะใช้งบประมาณราว 1,185 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ โดยเรื่องที่จะเสนอ ประกอบด้วย การขออนุมัติงบประมาณจัดทำโครงข่ายเพื่อออกบัตรประชาชนการพิจารณาความเหมาะสมของการจัดทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบแม่เหล็ก หรือสมาร์ทการ์ดและการจัดทำบัตรข้าราชการอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำบัตรข้าราชการอิเล็กทรอนิกส์ก่อนทั้งคาดว่าพร้อมจะเริ่มออกบัตรสมาร์ทการ์ดใบแรกได้ตามกำหนดการเดิม คือ วันที่ 1 เมษายน (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 5)





10 อันดับไวรัสร้ายประจำพฤศจิกายน

“โซโฟส” ผู้นำด้านการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ภายในองค์กรระดับโลก จัดอันดับบัญชีดำ 10 อันดับไวรัสคอมพิวเตอร์ที่พบมากที่สุดในอินเตอร์เน็ตประจำเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อันดับ 1.W32 / Bugbear – A (Bugbear worm) 29.4% 2. W32 / Braid – A (Braid worm) 8.5% 3. W32 / Klez –H (Klez variant) 7.7% 4.W32 / Opaserv – A (Opaserv- worm) 5.4% 5. W32 / Opaserv – C (Opaserv variant) 5.1% 6. W32 / Flcss (FunLove worm) 4.6% 7. W95 / Spaces (Spaces virus) 3.3% 8. W32 / Opaserv – F (Opaserv variant) 2.5% 9. W32 / Opaserv – B (Opaser variant) 2.1% 10. W32 / Opaserv – D (Opaserv variant) 2.0% และอื่นๆ 29.4% (มติชน อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 19)





ก.ทรัพยากรวางกรอบอนุรักษ์เล็งเสนอฟื้นทะเลสาบสงขลา

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัด ทส. พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง ว่าที่ประชุมได้เสนอมาตรการเร่งด่วนจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม 3 โครงการ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา วันที่ 21-22 ธันวาคมนี้ คือ โครงการฟื้นฟูป่าชายเลน 7.2 หมื่นไร่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 6 รอบในปี 2546 โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา และเสนอให้ประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ทะเลไทยบริเวณพื้นที่อ่าวอันดามันเพื่อปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฏหมายและฟื้นฟูทะเลไทยในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 6)





สหกรณ์เพชรบุรีคิด ‘หม้อแกงนมสด’ หวังแก้ปัญหาราคา ‘น้ำนมดิบ’ ตกต่ำ

ผศ.ทวีพร เนียมมาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบันราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า การวิจัยทดลองใช้น้ำนมวัวดิบมาเป็นส่วนผสมในการทำขนมหม้อแกง ได้เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 โดยทดลองจากสูตรกะทิซึ่งเป็นสูตรตายตัวของขนมหม้อแกง เมืองเพชรอยู่แล้ว ทั้งนี้ การทดลองได้เริ่มผสมน้ำนมเพิ่มลงไปในกะทิเรื่อยๆ จากอัตราส่วน 1 ต่อ 5 ไปจนถึงขั้นนำน้ำนมดิบมาใช้แทนกะทิได้ตามสูตรขนมหม้อแกงนม โดยขนมหม้อแกงนมสดจะมีไขมันต่ำ โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนระยะการเก็บรักษาขนมหม้อแกงนมสดมีอายุเท่ากับขนมหม้อแกงกะทิ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 ธันวาคม 2545 หน้า 16)





แนะใช้บันได 3 ขั้นตรวจวินิจฉัย ‘โรคสมองอักเสบ’

น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “โรคสมองอักเสบ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า โรคสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อซึ่งอาจเป็นไวรัส หรือ แบคทีเรีย จัดเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก การวินิจฉัยที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วยบันได 3 ขั้น โดยประสานข้อมูลจากอาการและความผิดปกติจากการตรวจทางระบบประสาท ซึ่งจะทำให้แพทย์สงสัยเชื้อโรคในกลุ่มหนึ่งซึ่งแต่ละกลุ่มก็ยังมีเชื้อโรคอีกหลายชนิด จากนั้นบันไดขั้นที่ 2 คือ ข้อมูลที่ได้จากคอมพิวเตอร์สมองทั้งแบบธรรมดาและสนามแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งจะระบุเชื้อโรคให้แคบลงไปอีกทำให้ได้ข้อสรุปว่า โรคพิษสุนัขบ้าในคนก่อให้เกิดการอ่อนแรงของแขนขาจากความผิดปกติในเส้นประสาท โดยยืนยันจากอาการ การตรวจทางไฟฟ้า การตรวจทางคอมพิวเตอร์ และการตรวจสภาพศพหลังเสียชีวิต บันไดขั้นที่ 3 ในการวินิจฉัย คือการใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้พัฒนาวิธีการตรวจหา DNA และ RNA จากสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยสมองอักเสบ วิธีการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในข้อมูลระบาดวิทยาเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในอนาคต (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





โคเนื้อพันธุ์ตาก

นายยอดชาย ทองไทยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก จ.ตาก เปิดเผยว่าได้ส่งผลงาน “โคเนื้อพันธุ์ตาก” เข้าประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นเพื่อขอรับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2546 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา โดยเป็นงานคิดค้นที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตากเป็นผู้ดำเนินการ คิดประดิษฐ์โคเนื้อพันธุ์ตากลูกผสม 2 สายพันธุ์ อเมริกันบราห์มันและชาร์โรเล่ส์ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนอากาศร้อนเนื้อคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทดแทนการนำเข้าโคเนื้อจากต่างประเทศได้ปีละกว่า 133 ล้านบาท (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2545 หน้า 35)





กทม.ปฏิรูปหลักสูตร ร.ร.ในสังกัดเริ่มใช้ปีใหม่นี้

นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผอ.สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าในปี 2546 กทม.จะมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 431 แห่งโดยขณะนี้ ครูและนักเรียนอยู่ระหว่างระดมความเห็นร่วมกันว่าเด็กต้องการเรียนแบบใดหรืออยากรู้อะไรบ้าง เน้นที่การเรียนรู้ชีวิต ท้องถิ่น และเรียนรู้ตามนโยบายหลักของประเทศ โดยหลักสูตรที่ กทม. จะปรับเปลี่ยน คือ ต่อไปการเรียนการสอนจะต้องมี 3 ส่วนการเรียนรู้ ได้แก่ 1. รู้เหมือนเด็กทั่วประเทศตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ 2. รู้ในหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งก็คือ เรียนรู้รูปแบบการปกครองของกรุงเทพมหานครการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อให้เด็กใน กทม. ตระหนักและเป็นการปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย และ 3. รู้ชีวิตสิ่งแวดล้อมในชุมชนของนักเรียน เช่น รู้ว่าของดีของเขตที่โรงเรียนตัวเองตั้งอยู่มีอะไรบ้าง ให้เด็กรักชุมชน ร่วมพัฒนาชุมชน รวมถึงสามารถแนะนำนักท่องเที่ยวอื่นให้รู้จักชุมชนของตัวเองได้ ทั้งนี้ หลักสูตรใหม่ของ กทม. จะเริ่มใช้ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปี พ.ศ. 2546 นี้เป็นต้นไป (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 17 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





อย.เตือนภัยเครื่องสำอางเผยพบสารต้องห้ามเพียบ

ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ นักวิชาการอาหารและยา 10 ชช. ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์สาธารณสุข เปิดเผยถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อ้างว่าขจัดสิวฝ้า ทำให้ผิวขาว หรือช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ซึ่งมีขายอยู่ตามท้องตลาดตามแผงลอย และในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งการขายตรงด้วย ว่า จากการที่ อย.เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มักพพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค เป็นต้นว่า สารปรอทแอมโมเนียซึ่งจะทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของปรอททำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ สารไฮโดรควิโนนทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองเกิดจุดด่างขาวที่หน้าผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หายและกรดวิตามินเอ ใช้แล้วหน้าแดง ระคายเคือง แสบร้อนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 17 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





สธ.เปิดบริการคลินิกลอยฟ้าตรวจสุขภาพ

พล.ต.อ.ประชา พรมนอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการคลินิกลอยฟ้า “Sky Clinic ครั้งที่ 2 กรมการแพทย์ 60 ปีเพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน” เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้รับบริการการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล เป็นการป้องกันการเกิดโรคตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ได้แบ่งเวลาการให้บริการตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำด้านสุขภาพเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่เวลา 10.00-13.00 น. และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เวลา 16.00-19.00 น. (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 17 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





เตือนกินยาลดความอ้วนต่อเนื่องเสี่ยงโรคจิต

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการกินยาลดความอ้วนว่าเป็นอีกอุทาหรณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นซึ่งผู้ที่มีปัญหาความอ้วนมักใช้วิธีลดหุ่นโดยการกินยาลดความอ้วน ซึ่งเป็นวิธีที่กลุ่มวัยรุ่นและผู้หญิงนิยมใช้กันมากยาลดความอ้วนเป็นยาที่มีอันตรายต่อผู้ใช้ จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 2 มียาหลายตัวเป็นส่วนประกอบ เช่นแอมเฟพราโมน เฟนเทอมีน มาซินดอล และแคทีน สารเหล่านี้ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ไม่อยากอาหารมีผลอาการข้างเคียงต่อระบบจิตประสาทเกิดภาวะผิดปกติทางจิตประสาทอย่างรุนแรง รวมทั้งเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดอันตรายถึงชีวิต การใช้ยาลดความอ้วนในระยะยาวมีผลร้ายมากกว่าผลดี (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





สรุปผลการวิจัยเขื่อนปากมูล

ศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รายงานผลการวิจัยเขื่อนปากมูล ทีสำนักนายกรัฐมนตรีว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการศึกษาวิจัยมาเป็นระยะเวลาปีเศษแล้วว่าผลการศึกษาสามารถสรุปเป็นแนวทางการ เปิด-ปิด ประตูน้ำของเขื่อนปากมูลเป็น 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 เปิดการปิดประตูเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าตามความต้องการของ กฟผ. ซึ่งแนวทางนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนดังที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออาชีพการประมง เนื่องจากเป็นการปิดกั้นการขึ้นมาวางไข่ของปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูล แนวทางที่ 2 เป็นการแก้ปัญหาสุดขั้วไปอีกทางคือเปิดประตูเขื่อนตลอดปีเพื่อฟื้นฟูสภาพของลำน้ำบริเวณแก่งสะพือลงไปจนถึงปากมูล เนื่องจากไม่มีสภาพการเป็นเกาะแก่งธรรมชาติที่กักน้ำไว้เหมือนในอดีต ที่สำคัญคือจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าขนาด 130 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วในขณะที่รัฐกำลังศึกษาหาลู่ทางการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะต้องลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้กำลังผลิตเท่ากับเขื่อนปากมูล ส่วน แนวทางที่ 3 นั้นเป็นทางสายกลางคือ ให้เปิดประตูน้ำอย่างน้อย 4 เดือนในช่วงหน้าฝน คือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ซึ่งจะสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม จากนั้นจึงปิดเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นน้ำชลประทานสำหรับหมู่บ้านที่แห้งแล้งห่างลำน้ำออกไป เมื่อรัฐบาลพิจารณาทางเลือกต่างๆ ดังกล่าวที่เสนอโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งผลดีผลเสียในแต่ละทางเลือกแล้ว ครม.มีมติเลือกทางสายกลาง คือให้เปิดประตูเขื่อนอย่างน้อย 4 เดือน ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี (มติชน พุธที่ 18 ธันวาคม 2545 หน้า 6)





ฝรั่งเพิ่งฮือฮาอาหารมังสวิรัติพบลดคอเลสเตอรอล29%

ความสำเร็จของทีมงานศาสตราจารย์เจนกินส์เกิดขึ้นจากกระบวนการทดลองโดยนำเอารายการอาหารมังสวิรัติหลายๆ อย่างที่ประกอบด้วยผักและผลไม้ยืนพื้นไปปรุงเป็นอาหารประจำวันให้ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 13 คน บริโภคเป็นเวลานาน 30 วันหลังจากนั้นนำเอาผู้เข้าร่วมในการทดลองมาวัดระดับของคอเลสเตอรอลในร่างกายเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับระดับของคอเลสเตอรอลที่บันทึกไว้ก่อนหน้าการทดลอง พบว่าระดับของคอเลสเตอรอลลดลงถึง 29 เปอร์เซ็นต์ซึ่งศาสตราจารย์เจนกินส์บอกว่า เป็นอัตราการลดลงของคอเลสเตอรอลที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคหัวใจในระดับเดียวกันกับการใช้ยาสเตตินส์ ที่ถูกใช้เพื่อรักษาอาการของผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงมานานกว่า 15 ปีแล้ว สำหรับอาหารที่ถูกปรุงขึ้นมาจากพืชและผลไม้เป็นหลักซึ่งใช้ในการทดลองครั้งนี้มี -อาหารเช้า ประกอบด้วย นมถั่วเหลือง, ซีเรียลที่ทำจากรำข้าวโพด, ผลไม้สับและอัลมอนด์, ขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวโอ๊ต, มาการีนที่ทำจากไขมันพืช และแยม -อาหารกลางวัน วุ้นถั่วเหลือง, ขนมปังจากรำข้าวโอ๊ต, ซุปถั่วเหลืองและผลไม้ -อาหารเย็น ผัก (บร็อกโคลี่, พริกแดง, ไส้กรอกถั่วเหลือง) เต้าหู้, ผลไม้, และอัลมอนด์ผสมให้เข้ากันแล้วนำไปผัด (มติชน พุธที่ 18 ธันวาคม 2545 หน้า 19)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215