หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 2003-01-07

ข่าวการศึกษา

สกว. ขยายทุนวิจัยอุตสาหกรรม ป.ตรี
ลุ้น พ.ร.บ.ราชมงคล ผ่านฉลุย ชูสร้างมาตรฐานทุกวิทยาเขต
กระตุ้นครู – นศ. ฝึกงานปิดเทอม
ทปอ.เชื่อ “ทักษิณ” ยังไม่เข้าใน ADMISSIONS ทั้งที่สอบน้อยลง “สิริกร” แนะต้องรีบตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
กศน.วอนรัฐจัดเงินอุดหนุนอุ้มเด็กศึกษานอกระบบ
กระตุ้นนิสิตเรียนรู้ปัญหาสังคม
ห้องสมุดครอบครัว
ม.ชินวัตรชวนเยาวชนแข่งขันโปรแกรมเมอร์เกม
ศนจ. กระบี่ติวเข้มภาษาอังกฤษรับฤดูท่องเที่ยว
‘มานพ ปราณีพลกัง’ เยาวชนมัคคุเทศก์เดินป่า
‘ปองพล’ ยอมรับวิ่งแต้น – ซื้อ ตน.ฉุดปฏิรูปการศึกษา หนักใจหาเงินอุดหนุนเรียน 12 ปี
‘อ.หนองขาหย่าง’ เปิดห้องสมุดมีชีวิตศูนย์สาธิตการเกษตร
8 ร.ร.ชิงรางวัลสิ่งแวดล้อมดีเด่น
นายกฯ ห่วงหลักสูตรใหม่ทำเด็กเครียด
ชวรครูวิทย์-คณิตทั่วไทยไปงาน วทร.13

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เรียนรู้โลกจากหินกระบวนการเรียนวิทย์ให้สนุก
อุทยานวิทย์เนื้อหอม
นักวิทยาศาสตร์เมืองเบียร์ได้ไฟเขียวนำเข้าสเตมเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ไปวิจัย
ยางรถยนต์กับกากกาแฟเหลือทิ้ง เอามาทำถ่านกัมมันต์บำบัดน้ำเสีย
เปิดโครงการส่งคนเหยียบดาวอังคาร ตั้งเป้าฝากรอยเท้าให้ได้ในปี 2568
ขยะล้นอวกาศหวั่นชนดาวเทียม
กรมวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัว ‘ทัวร์ห้องปฏิบัติการ’

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องออกลอตเตอรี่ล็อกเลขไม่ได้
ตู้ฟักไข่ปลาดุกอัตโนมัติ
‘บ้านอัจฉริยะ’ สหวิทยาการของเด็กวิศวะจุฬา
เครื่องพิมพ์ลายผ้า
ผลิตขิงจิ๋วเคลือบช็อกโกแลตแก้เมารถ
ปลาช่วยผู้ชายป้องกันอัมพาต แค่กินประจำเพียงเดือนละครั้ง
ชายวัยปลายห้าสิบไม่ต่างจากผู้หญิง เจออาการวัยหมดประจำเดือนเหมือนกัน
สังคมไทยได้อะไรจาก ‘ไบโอเทค’
นักวิจัยประสบผลสำเร็จปลูกฟันในห้องแล็บ
รักร่วมเพศ

ข่าวทั่วไป

ไทยได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวสวีเดน
สนองพระราชดำรัสในหลวง ข้าราชการทำงานใกล้บ้าน
วช. เตรียมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ
ปรับบทบาทกระทรวงอุตฯ รับสถานการณ์ ศก. โลกยุคใหม่
ปีนังใช้ขยะทำหินเทียมถมทะเลสร้างเมืองใหม่
สมาคมคนตาบอดฯจัด ‘วิทยุบริการ’ ข้อมูลข่าวสารมุ่ง ‘ผู้พิการสายตา-สูงอายุ-ไม่รู้หนังสือ’ 6 ล้านคน
ศิลปินดังค้านเพลงชาติเวอร์ชั่นใหม่
เด็กกำพร้าไทยติดเอดส์สูงสุดในเอเชีย
ฟิลิปปินส์อนุมัติพันธุ์ข้าวโพดต้านแมลงศัตรูพืช
‘ของเล่น’ อันตราย
แนวโน้มไอทีปี 2003
“สุภาพ เรืองแสง” เยาวชนนักออกแบบระดับโลก





ข่าวการศึกษา


สกว. ขยายทุนวิจัยอุตสาหกรรม ป.ตรี

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผอ.ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน โครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี หรือ IPUS( Industrial Projects for Undergraduate Students) ว่าโครงการนี้เป็นการสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทำโครงงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยนักศึกษาจะใช้โอกาสระหว่างการฝึกงานในช่วงฤดูร้อน ค้นหาปัญหาร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาและโรงงาน จากนั้นจะนำปัญหาที่ได้มาพัฒนาเป็นหัวข้อโครงงาน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การแก้ปัญหาในสภาพความเป็นจริง และนำไปใช้ประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่ง สกว.เปิดทุนไว้ทั้งสิ้น 100 ทุน ทุนละไม่เกิน 100,000 บาท และมีนักศึกษาแสดงความจำนงขอทุนรวม 108 ทุน แต่การพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติเพียง 71 ราย (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ลุ้น พ.ร.บ.ราชมงคล ผ่านฉลุย ชูสร้างมาตรฐานทุกวิทยาเขต

ผศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) เผยความคืบหน้าของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลว่า ผ่านการพิจารณาของ ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คาดว่าน่าจะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อพิจารณาได้ในสมัยประชุมหน้าซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลนี้จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในสายการบังคับบัญชาของคณะกรรมการการอุดมศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับสถานภาพของวิทยาเขตให้เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยและเมื่อ พ.ร.บ.ผ่านจะต้องออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการให้มีคณะสถาบันหรือสำนัก ตั้งแต่ส่วนราชการขึ้นไปตามความพร้อมของแต่ละวิทยาเขตในปัจจุบัน เพื่อเป็นวิทยาเขตตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ทั้งยังเปิดสอนได้ถึงระดับปริญญาเอก ผู้บังคับบัญชาของแต่ละวิทยาเขตมีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีวิทยาเขต เป็นต้น อย่างไรก็ตามในอนาคตก็เตรียมที่จะสร้างมาตรฐานการศึกษาในทุกวิทยาเขต เบื้องต้นได้เริ่มประเมินผลด้วยวิธีการสอบนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ด้วยข้อสอบเหมือนกันทั่วประเทศ และเตรียมที่จะนำไปดำเนินการกับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีในเร็วๆนี้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





กระตุ้นครู – นศ. ฝึกงานปิดเทอม

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดนิทรรศการแสดงผลงานโครงการ “เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างชุมชน” ปี 2545 ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวชื่นชมผลงานนักศึกษาว่าเป็นการเริ่มโครงการครั้งแรก แต่ทำให้ขนาดนี้ก็ถือว่าสอบผ่านดีมากและจะสนับสนุนให้ทำต่อ ซึ่งทบวงฯได้เสนอของบฯปกติแล้ว แต่ตนก็จะจัดสรรงบฯเสริมให้อีก เพราะเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ เวลานี้ประเทศไทยคนทำงานไม่พอ หาคนเป็นเจ้าภาพยาก เจ้าหน้าที่หลายคนก็ถูกตั้งกรรมการสอบหาคนดีคนเก่งๆ ไม่ค่อยได้ที่มีก็เป็นนักบริหารห้องแถว จึงฝากให้สถาบันการศึกษาช่วยกันสร้าง ในอเมริกาเด็กอายุ 13-14 ปี ล้างจาน ส่งหนังสือพิมพ์ บางคนหลังเลิกเรียนไปเขียนโปรแกรมซอฟแวร์หาเงินเรียน แต่เด็กไทยไม่ได้ทำงาน ต้องเรียนพิเศษโดยไม่รู้ว่าได้ผลอะไร เป็นสิ่งผิดพลาดที่ต้องแก้ไขและอยากให้ครูและนักเรียนไปฝึกประสบการณ์จริงช่วงปิดเทอม เช่นครูฝึกทำวิจัย นักศึกษาฝึกงานที่ตนอยากทำ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





ทปอ.เชื่อ “ทักษิณ” ยังไม่เข้าใน ADMISSIONS ทั้งที่สอบน้อยลง “สิริกร” แนะต้องรีบตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องการปรับปรุงระบบเอนทรานซ์อาจเป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าในกัน แต่ความจริงแล้วระหว่างข้อเสนอของ ทปอ. กับแนวคิดของของนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยหากเน้นการสอบที่มีจำนวนสอบมากครั้งก็เหมือนแกงโฮะ ตนจึงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ต้องการดำเนินการในขณะนี้คือการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขึ้น เพื่อจัดทดสอบเด็กในทุกช่วงชั้น คือ ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยที่ต้องการให้เด็กรีบเรียนรีบจบ ซึ่งตนคิดว่าในการจัดสอบ 2 ครั้งเพื่อให้โอกาสเด็กมากกว่า 1 ครั้งนั้นเหมาะสมดีแล้ว แต่การสอบครั้งแรกควรเริ่มเดือนเมษายน และสอบครั้งที่ 2 ในช่วงถัดไป แต่ที่ผ่านมาเริ่มสอบครั้งแรกในเดือนตุลาคม และสอบครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม เพื่อต้องการให้เด็กเกิดความเครียดและต้องไปกวดวิชา ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ผู้ปกครองและประเทศชาติเลย ยกเว้นสถาบันกวดวิชาเท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์จากการสอบเอนทรานซ์อย่างเดิม (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2545 หน้า 14)





กศน.วอนรัฐจัดเงินอุดหนุนอุ้มเด็กศึกษานอกระบบ

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่จะให้เน้นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจากสถิติแห่งชาติในการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2543 พบว่าประชาชนที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ไม่มีการศึกษาจำนวน 4,860,045 คน จำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง299,095 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่าประชากรอายุ 6-29 ปี จำนวน 25 ล้านคน ไม่มีโอกาสศึกษาถึง 12.75 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้คือผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้และส่วนหนึ่งได้รับการบริการจากการศึกษานอกโรงเรียน 3.14 ล้านคน ซึ่งแต่ละรายได้รับการอุดหนุนรายหัวเพียง 700-1,000 บาทต่อปี โดยรวมค่าจ้างครูไว้ในเงินอุดหนุนดังกล่าวด้วย ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายหันมามองการศึกษาเพื่อคนจน คนด้อยโอกาสที่อยู่นอกระบบโรงเรียน (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





กระตุ้นนิสิตเรียนรู้ปัญหาสังคม

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หัวหน้าโครงการเครือข่ายวิจัยปริญญาตรี หรือ UR-Net ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จุดประสงค์ของการส่งเสริมการวิจัยระดับปริญญาตรีคือ การกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่เรียนรู้ที่ดี ไม่หันหลังให้กับปัญหาสังคม ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นได้รับการเผยแพร่และช่วยผลักดันการแก้ปัญหาสังคม เช่น เรื่องบันทึกผีเสื้อ ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาการจัดระเบียบสังคม โรงหนังชั้นสองซึ่งเป็นเรื่องการขายบริการทางเพศในโรงหนังชั้นสอง งานวิจัยส่วนใหญ่ของนิสิตดังกล่าวเป็นงานวิจัยขนาดย่อมที่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเพื่อการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา ผู้ทำวิจัยเองไม่มีเป้าหมายที่จะตีความเชื่อมโยงเป็นตัวแทนประชากรกลุ่มใหญ่ อย่างกรณีงานวิจัยเรื่องครู ที่เผยแพร่ชูประเด็นเรื่องเด็กอยากได้ครูใส่สายเดี่ยวนั้น แท้จริงเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยจากเด็กที่ตอบแบบสอบถามบางส่วนเท่านั้น จึงขอให้เข้าใจและอยากให้ร่วมผลักดันการปฎิรูปการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





ห้องสมุดครอบครัว

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) กล่าวว่า จากการที่ สปช.ได้จัดโครงการปี 2546 เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้นั้น ปรากฎผลสำเร็จอย่างมาก โดยมีโรงเรียน 10% สามารถใช้อาคารเป็นห้องสมุดได้ จำนวนหนังสือในห้องสมุดต่อจำนวนนักเรียนมากกว่า 10 เล่มต่อคน ทั้งนี้มีการจัดสรรงบค่าหนังสือให้ห้องสมุดเฉลี่ยโรงละ 5,000-10,000 บาท จากผลสำเร็จดังกล่าว สปช. ได้เตรียมพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนและชุมชนอย่างแท้จริง โดยร่วมมือกับสถาบันสวัสดิการและพัฒนาการเด็ก และศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดโครงการห้องสมุดครองครัวขึ้น โดยจะขยายการอ่านมาที่โรงเรียน คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2546 ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ทรงคุณวุฒิและสำรวจความต้องการของโรงเรียน (วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





ม.ชินวัตรชวนเยาวชนแข่งขันโปรแกรมเมอร์เกม

ดร.วิทยา มานะวาณิชเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยจัดโครงการแข่งขันซอฟต์แวร์เกมเชิงสร้างสรรค์ “24 Hours Young Game Developer” เพื่อค้นหาเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความสามารถด้านการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ และมีความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม ตลอดจนการนำไปปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม (สยามรัฐ เสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ศนจ. กระบี่ติวเข้มภาษาอังกฤษรับฤดูท่องเที่ยว

นายวิศิษฎ์ มั่นชูพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด (ผอ.ศนจ.) กระบี่ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามาชมความงามของทัศนียภาพใน จ.กระบี่ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้เข้ามาติดต่อข้อมูลต่างๆ กับภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง ศนจ.กระบี่ด้วย ทาง ศนจ. จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนกลุ่มสนใจ วิชาภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว หลักสูตร 30 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาบุคลากรในจังหวัดให้มีศักยภาพและให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ เนื้อหาของหลักสูตรได้เน้นเกี่ยวกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของ จ.กระบี่ด้วยซึ่งลักษณะการเรียนการสอนจะเป็นการสนทนากันแบบตัวต่อตัวระหว่างวิทยากรกับผู้เรียน เชื่อว่าเมื่อจบหลักสูตรแล้วบุคลากรดังกล่าวจะสามารถนำความรู้ไปใช้และขยายผลให้กับกลุ่มอื่นๆ ต่อไปด้วย (มติชน พฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 21)





‘มานพ ปราณีพลกัง’ เยาวชนมัคคุเทศก์เดินป่า

มานพ ปราณีพลกัง หนุ่มน้อยวัย 17 กำลังเรียนอยู่ในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อีกเพียงปีกว่าๆ ก็จบหลักสูตรระดับมัธยมศึกตอนปลาย มานพ เป็นเยาวชนมัคคุเทศก์รุ่นที่ 3 พานักท่องป่าเดินจากหมู่บ้านซับใต้ขึ้นเขานมนางจังหวัดนครราชสีมาเพื่อไปชื่นชมธรรมชาติบนยอดเขาใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ไปสัมผัสกับบรรยากาศที่มีชีวิตคนเมืองยากจะเห็นเยาวชนมัคคุเทศก์ต้องได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เริ่มต้นการอบรมดูแบบการเดินป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อบรมเรื่องขยะและมลพิษก่อปัญหาในป่า เขากล่าวว่า “การเข้าร่วมชมรมเยาวชนมัคคุเทศก์ไม่ได้หวังจะทำเป็นรายได้หลัก โดยส่วนตัวต้องการประสบการณ์ ผมชอบการเดินป่า ที่โรงเรียนก็ไม่รู้ว่าทำงานนี้ แต่หากรู้คงสนับสนุน ครอบครัวก็รู้และสนับสนุนให้ทำดีกว่าหันไปติดยาเสพติด” (สยามรัฐ จันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





‘ปองพล’ ยอมรับวิ่งแต้น – ซื้อ ตน.ฉุดปฏิรูปการศึกษา หนักใจหาเงินอุดหนุนเรียน 12 ปี

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานสัมมนา “3 ปีแห่งการปฏิรูปการศึกษาของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.)” จัดโดย สปศ. ว่าการปฏิรูปการศึกษามีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาหลายเรื่อง อย่างเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ การประเมินคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สถานศึกษาแต่ละแห่งรู้ตนเองว่าอยู่จุดใด หากไม่มีการประเมินก็จะคิดว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว แต่ผู้ที่ทำการประเมินอย่างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้ถูกประเมินด้วย รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องของการลงทุนด้านการศึกษานั้น แม้ว่ากระทรวงศึกษาฯ จะหลอมรวมกับทบวงมหาวิทยาลัย จนมีงบประมาณมากที่สุดเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ ก็ตามแต่งบประมาณส่วนใหญ่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนของข้าราชการ ส่วนเนื้องานต่างๆ มีงบประมาณดำเนินการประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนงบฯ ลงทุนที่น่าห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาฯ ยังมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ที่เป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในขณะที่งบประมาณของรัฐบาลก็มีจำกัด เรื่องนี้ยังแก้ไม่ตก คิดไม่ออกว่าจะหาทางออกอย่างไร เพราะมีหลากหลายความเห็น และมีความเหลื่อมล้ำกันมากระหว่างโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกแห่งก็ต้องการเงินลงทุน (มติชน 28 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





‘อ.หนองขาหย่าง’ เปิดห้องสมุดมีชีวิตศูนย์สาธิตการเกษตร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม นายเจตน์ ธนวัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายธาดา ธรรมนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน อ.หนองขาหย่าง ทำพิธีเปิดโครงการห้องสมุดมีชีวิตศูนย์สาธิตการเรียนรู้ ภายในวัดหนองสะแก ต.หนองไผ่ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี นายเจตน์กล่าวว่า โครงการห้องสมุดมีชีวิตเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรให้มีอาชีพหลังฤดูทำนา และแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะชาวหนองขาหย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก ศูนย์สาธิตการเรียนรู้แห่งนี้ ถือเป็นแหล่งภูมิปัญญา เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้นำไปปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักปลอดสารพิษ พืชสมุนไพร การเลี้ยงสัตว์ การผลิตปุ๋ยชีวภาพ เพื่อที่จะลดต้นทุนการผลิตโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือของชาวบ้าน เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกคนได้มีส่วนร่วมโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้านถือเป็นความสำเร็จอีกรูปแบบหนึ่ง (มติชน เสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 17)





8 ร.ร.ชิงรางวัลสิ่งแวดล้อมดีเด่น

นายอดิศักด์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย สนับสนุนโครงการ “โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ” พ.ศ.2545 ขึ้น โดยให้สมาคมสร้างสรรค์ไทยเป็นผู้ดำเนินงาน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น 8 โครงการที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ 1.โครงการธนาคารขยะเงินล้านของหนูจากโรงเรียนอนุบาลเพื่อนเด็ก จังหวัดอุดรธานี 2.โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายพืชสมุนไพรในป่าชายเลนแหล่งสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร จากโรงเรียนวัดแสมดำ กรุงเทพมหานคร 3.โครงการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อใช้เป็นอาหารกลางวัน จากโรงเรียนเกษมทรัพย์ จังหวัดนราธิวาส 4.โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์การเรียนรู้ พระอัจฉริยะ ร.9 จากโรงเรียนปรีดาวิทย์ จังหวัดสุพรรณบุรี 5.โครงการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จากโรงเรียนอนุบาลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 6.โครงการเกษตรครบวงจรเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากโรงเรียนบ้านงิ้วใหม่ จังหวัดเชียงราย 7.โครงการขี้ควายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จากโรงเรียนบ้านหนองป่าท้าว จังหวัดนครพนม และ 8.โครงการขยะเศรษฐกิจ ชุปชีวิตสิ่งแวดล้อม จากโรงเรียนแมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์ จังหวัดชลบุรี (มติชน อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2545 หน้า 8)





นายกฯ ห่วงหลักสูตรใหม่ทำเด็กเครียด

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน” เกี่ยวกับความคืบหน้าในการปฏิรูปการศึกษา โดยระบุว่าหลักสูตรการศึกษา พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มีการระดมสมองจากผู้รู้ต่างๆ เป็นอย่างดี แต่เห็นว่า เนื้อหาบางวิชาแน่นเกินไป ทำให้เด็กเครียด และจะเรียนหนักกว่าเดิมที่เป็นอยู่ สิ่งที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้เด็กเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งครูผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบใหม่ให้กับเด็ก (มติชน อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2545 หน้า 8)





ชวรครูวิทย์-คณิตทั่วไทยไปงาน วทร.13

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของไทย จัดงานใหญ่เอาใจครูวิทย์-คณิต ทั่วประเทศ ในงาน “การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน” (วทร.) ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างเศรษฐกิจพอเพียง” ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2546 ณ สถาบันราชภัฏมหาสารคาม (สยามรัฐ เสาร์ที่ 4 มกราคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เรียนรู้โลกจากหินกระบวนการเรียนวิทย์ให้สนุก

อาจารย์เบ็ญจวรรณ ศรีเจริญ ผู้ชำนาญสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งคลุกคลีกับการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียน กล่าวว่า การเรียนรู้จากหิน…ไม่ใช่เรื่องยากหากโรงเรียนต่างๆ มีการจัดสวนหินด้วยแล้วจะเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เพราะสามารถใช้เป็นกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ทุกระดับ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ รู้จักหินและแร่ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในหลักสูตรใหม่กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกนั้นนักเรียนควรจะได้รู้จักดิน หิน แร่ ได้ชัดกว่าหลักสูตรเดิมๆ เด็กจะได้ทำกิจกรรม ได้ปฏิบัติและเรียนรู้จากของจริง ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือการปลูกฝังให้เด็กรักธรรมชาติมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในท้องถิ่นเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้เขาก็จะทราบว่าในท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยอยู่นั้นมีหินอะไรอยู่ เพราะหินเป็นทรัพยากรของโลกและของท้องถิ่นที่ควรจะรู้จัก เพื่อที่อย่างน้อยเขาจะได้ซาบซึ้งหวงแหน และรู้จักที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่าที่สุด ที่สำคัญครูต้องสนุกกับการสอน และต้องมีใจรัก (สยามรัฐ จันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





อุทยานวิทย์เนื้อหอม

นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและให้นโยบายว่าภายใน 5 ปี จะต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยให้แซงเพื่อนบ้านในแถบเอเชียได้นั้น ขณะนี้ได้มอบหมายการบ้านนี้ให้กับปลัดกระทรวง อธิบดีกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมปรับแผนงานและโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายเอาไว้แล้วอย่างไรก็ตามยังเกิดไอเดียที่จะให้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นลูกธนูสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย จึงค่อนข้างให้ความสำคัญมากจนต้องกลับไปเยี่ยมหลายครั้ง และยังได้ชักนำระดับผู้บริหารประเทศ ผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ทั้งของภาครัฐในส่วนอื่นๆ สภาอุตสาหกรรมและเอกชน แม้แต่ระดับเกษตรกรก็มีโครงการจะไปดูงานที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อจะได้ให้การทำงานกับกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ตรงทิศทางมากขึ้น (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 15)





นักวิทยาศาสตร์เมืองเบียร์ได้ไฟเขียวนำเข้าสเตมเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ไปวิจัย

นายโอลิเวอร์ บรูสเติล นักวิทยาศาสตร์ผู้ร้องขออนุมัติการนำเข้าเซลล์ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2543 ได้ไฟเขียวให้นำเข้าสเตมเซลล์จากอิสราเอลมาใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเนื้อเยื่อในระบบประสาทสำหรับการรักษาอาการผิดปกติทางสมอง และคาดว่าจะได้รับสเตมเซลล์ดังกล่าวในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยผู้จัดส่งในเมืองท่าไฮฟา ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เตรียมพร้อมสำหรับการจัดส่งแล้ว นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ได้ทำวิจัยกับหนูทดลองมานานหลายปี จนกระทั่งรัฐสภาเปิดทางเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามระเบียบของสภาจริยธรรมแห่งชาติ ที่จัดตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ระเบียบดังกล่าวกำหนดว่าสเตมเซลล์ที่นำเข้าจะต้องมาจากตัวอ่อนของผู้บริจาคที่ให้ความยินยอมแล้วเท่านั้น และต้องไม่มีการให้เงินเป็นสิ่งตอบแทน พร้อมกันนี้ต้องใช้เพื่อการวิจัยเท่านั้น (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ยางรถยนต์กับกากกาแฟเหลือทิ้ง เอามาทำถ่านกัมมันต์บำบัดน้ำเสีย

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานย้อมผ้ามักจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ่านกัมมันต์ที่ใช้ส่วนใหญ่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากทำให้ต้องสูญเสียเงินให้กับต่างประเทศปีละไม่น้อย ถ่านเหล่านั้นยังมีประสิทธิภาพต่ำ มีขนาดรูพรุนเล็กกว่าโมเลกุลของสารพิษที่ต้องการกำจัด ดังนั้นจึงต้องการที่จะวิจัยเพื่อหาเทคนิคที่สามารถควบคุมขบวนการผลิตถ่านกัมมันต์ในขนาดพรุนตามที่ต้องการได้ อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงงานเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ประเด็นสำคัญงานวิจัยซึ่งอยู่ภายใต้ทุนเมธีวิจัยอาวุโส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องนี้ คือจะครอบคลุมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผลิตถ่านดังกล่าวจากของเหลือทิ้งเช่นยางรถยนต์หรือกากกาแฟ ศ.ดร. วิวัฒน์กล่าวว่า “เนื่องจากถ่านกัมมันต์คือสารประกอบกลุ่มคาร์บอน เพราะฉะนั้น ยางรถยนต์หรือกากกาแฟ ที่มีส่วนผสมหลักเป็นธาตุคาร์บอนก็น่าจะนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตถ่านกัมมันต์ได้ ขั้นตอนที่จะทำก็คือนำยางรถยนต์หรือกากกาแฟที่แยกเฉพาะส่วนที่ต้องการแล้วนำมาบดเป็นผงและให้ความร้อนที่เหมาะสมจนได้เป็นถ่านออกมา ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้ความรู้ด้านขบวนการกึ่งเคมีอย่างลึกซึ้ง จากนั้นจะถึงขบวนการนำไปอัดเม็ดและบรรจุท่อ ก่อนนำไปทดลองใช้จริงซึ่งเทคนิคที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียจากโรงงานย้อมผ้าได้แล้ว ยังช่วยลดภาระในการกำจัดยางรถยนต์และกากกาแฟที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวิธีการรีไซเคิลในภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสม” (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





เปิดโครงการส่งคนเหยียบดาวอังคาร ตั้งเป้าฝากรอยเท้าให้ได้ในปี 2568

ตามแผนการที่กลุ่มชาติของสหพันธ์ยุโรปได้หารือกัน ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องส่งหุ่นยนต์ลงไปปักหลักบนดาวอังคารก่อนที่จะส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไปถึง องค์การอวกาศยุโรปเชื่อว่า ปี พ.ศ.2568 จะเป็นปีฤกษ์ดีที่สุดของการส่งมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคาร โดยได้วางโครงการเอาไว้ว่าจะต้องส่งยานอวกาศ 2 ลำไปกรุยทางล่วงหน้าก่อน เพื่อไปค้นหาที่เหมาะๆ ของยานอวกาศที่มนุษย์จะเดินทางไปและจะได้นำตัวอย่างดินหินของดาวเคราะห์เพื่อนบ้านโลกดวงนี้กลับมาดูกันด้วย โดยสามารถจะรอการตัดสินใจว่าพร้อมจะส่งคนไปได้หรือยัง เอาไว้ได้จนต้นปี พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ขององค์การผู้หนึ่งกล่าวว่า “เชื่อว่า บางทีในปี พ.ศ.2568 องค์การจะสามารถส่งคนไปยังดาวอังคารและพากลับได้” (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ขยะล้นอวกาศหวั่นชนดาวเทียม

วอลเตอร์ เฟลอรี ผู้ประสานงานโครงการขยะอวกาศสำนักอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เปิดเผยว่า มีขยะลอยอยู่ในห้วงอวกาศกว่า 100,000 ชิ้น ขยะอวกาศส่วนใหญ่ จะเป็นซากชิ้นส่วนของจรวดนำส่งวัตถุอวกาศต่างๆ ที่ระเบิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ในขณะที่มีดาวเทียมที่ยังปฏิบัติการอยู่เพียง 600-700 ดวงเท่านั้น เมื่อปีที่แล้วสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้จัดสรรพิกัดตำแหน่งดาวเทียมสื่อสาร ได้ออกคำแนะนำให้ผู้ให้บริการดาวเทียม นำดาวเทียมที่ไม่ใช้แล้วไปทิ้งอวกาศในระดับสูง เพราะดีไม่ดี ขยะอวกาศเหล่านี้อาจจะพุ่งชน และเป็นอันตรายต่อดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2545 หน้า 35)





กรมวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัว ‘ทัวร์ห้องปฏิบัติการ’

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดโครงการ “กรมวิทย์เปิดตัว…ทัวร์ห้องปฏิบัติการ” ขึ้น โดยมีกำหนดการเข้าชมดังนี้ วันที่ 8 มกราคม 2546 (8.30-12.00 น.), ยาและวัตถุเสพติด (อาคาร 2) วันที่ 22 มกราคม 46 (8.30-12.00 น.) สมุนไพร (อาคาร 9) , 12 กุมภาพันธ์ 46 (8.30-12.00 น.) เครื่องสำอางและวัตถุอันตรายรังสีและเครื่องมือแพทย์ (อาคาร 9) และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 46 (8.30-16.00 น.) งานวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (อาคาร 1) ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.(02)951-0000 ต่อ 9081,9816-7 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2545 หน้า 8)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องออกลอตเตอรี่ล็อกเลขไม่ได้

ราชศักดิ์ ศักดา นุภาพ และดวงฤทัย จารุกานนท์ สองนิสิตคนเก่งจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นเครื่องต้นแบบการออกรางวัลลอตเตอรี่ (A Prototype Quantum Lottery Machine) โดยมี ดร.สุรศักดิ์ เชียงกา อาจารย์ประจำภาควิชาฯ เป็นที่ปรึกษา ต้นแบบเครื่องออกรางวัลลอตเตอรี่นี้สร้างโดยกระบวนการทาง Quantum Physics ในการสร้างเลขสุ่ม จุดเด่นของผลงานนี้คือไม่สามารถบังคับตัวเลขใดๆ หรือล็อกเลขได้นั้นเอง (สยามรัฐ เสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ตู้ฟักไข่ปลาดุกอัตโนมัติ

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คิดค้น “ตู้ฟักไข่ปลาดุกอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์บางพระ ร่วมมือกับคณะวิชาไฟฟ้าแผนกเทคนิคคอมพิวเตอร์ วิทยาเขตนนทบุรีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิจัยขึ้นโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในปีงบประมาณ 2544 ความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนานี้ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 และถูกนำไปทดลองในการเพาะฟักปลาดุกอุย เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2545 (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





‘บ้านอัจฉริยะ’ สหวิทยาการของเด็กวิศวะจุฬา

นัฐพล บุญภินนท์ หรือ หนึ่ง นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ในทีมงานกว่า 20 คนบ้านอัจฉริยะเล่าให้ฟังว่าความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการร้อยเรียงองค์ความรู้ของศาสตร์แต่ละสาขาในคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันและทุกคนก็เห็นพ้องกันว่า “บ้านอัจฉริยะ” (Home Automation) น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แนวคิดของบ้านอัจฉริยะซึ่งใช้เวลาสร้างราว 2-3 เดือนเป็นการแปลงโฉมบ้านธรรมดาให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะที่ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงานของระบบไฟภายในบ้าน อาทิ สวิตช์ไฟฟ้า พัดลม และเครื่องปรับอากาศ ผ่านทางเสียง และคอมพิวเตอร์โดยคอนเซ็ปท์หลักจะเน้นให้คนอาศัยเกิดความสบายและอิงแนวคิดด้านการประหยัดพลังงานมาประกอบด้วย นอกจากนี้ตัวบ้านยังออกแบบในลักษณะน๊อคดาวน์ทำให้ไม่ต้องใช้เสา ส่วนผนังสร้างจากวัสดุกันความร้อนและมีน้ำพุประดับนอกตัวบ้านเพื่อช่วยระบายความร้อนภายนอก ซึ่งสามารถสั่งเปิด – ปิดได้ด้วยเสียงเช่นกัน สำหรับผลพลอยได้จากโครงงานชิ้นนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นฝีมือของเด็กไทยแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพิงการซื้อเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญก่อนจะผันตัวเองไปเป็นวิศวกรมืออาชีพในอนาคต (มติชน อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2545 หน้า 8)





เครื่องพิมพ์ลายผ้า

อัจฉราวรรณ ณ สงขลา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช หนึ่งในคณะอาจารย์ที่ปรึกษาของบุญรัตน์ ภูแก้ว และพุทธา สุริยะฝ่าย นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศน์และโชติเวช เจ้าของผลงาน “เครื่องพิมพ์ลายผ้าด้วยความร้อน” บอกว่า งานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือของทั้งสองสถาบัน โดยวิทยาเขตเทเวศน์จะดูแลด้านรายละเอียดต่างๆ ของตัวเครื่อง ส่วนด้านเทคนิคการพิมพ์ลายนั้นจะเป็นหน้าที่ของวิทยาเขตโชติเวช ทั้งนี้เครื่องพิมพ์ลายผ้าด้วยความร้อนสามารถควบคุมอุณหภูมิและเวลาได้ตามต้องการโดยตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ ควบคุมการทำงานด้วยระบบนิวเมติกส์ พิมพ์ผ้าได้ขนาด 80X100 เซนติเมตร สามารถพิมพ์ลายผ้าได้ดีกับผ้าใยสังเคราะห์และกึ่งสังเคราะห์รวมทั้งเลือกพิมพ์ลายผ้าได้หลากหลายตามความต้องการของผู้บริโภค (กรุงเทพธุรกิจ อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





ผลิตขิงจิ๋วเคลือบช็อกโกแลตแก้เมารถ

นายเฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัย/ผู้จัดการโปรแกรมสรีรวิทยา และชีวเคมีด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า ขิงหัวขนาดเล็กเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จดสิทธิบัตรเป็นของไบโอเทค ทำวิจัยขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากการปลูกขิงในอดีตต้องใช้ระยะเวลานานถึง 8 เดือน และเกิดโรคระบาดบ่อยจนต้องย้ายที่ปลูกทุก 3-5 ปี ดังนั้นการวิจัยขิงจิ๋วปลอดโรคดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกน้อยและร่นระยะเวลาการปลูกให้เหลือเพียง 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นักวิจัยไบโอเทคกล่าวต่อว่า ขิงจิ๋วเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 1 ซม. หนึ่งต้นมีประมาร 5-6 หัว รูปร่างคล้ายกระเทียมโทน มีความเผ็ดความหวานและความนุ่มในตัว เบื้องต้นโครงการได้ทำงานร่วมกับบริษัท เกษตรอุตสาหกรรมเขาค้อ และบริษัทดอยคำอาหารหลวง จำกัด โดยทั้ง 2 บริษัทจะเป็นผู้ผลิตหัวพันธุ์ขิงจิ๋วและกระจายหัวพันธุ์เข้าสู่ภาคเกษตร เพื่อขยายขอบเขตการเพาะปลูกให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ นายเฉลิมพล กล่าวต่อว่าการปลูกขิงจิ๋วที่ออกหัวในหลอดทดลอง ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่ทำได้ ซึ่งการนำไปปลูกขิงทั่วไป โดยอนาคตมีแผนที่จะนำหัวขิงจิ๋วไปเคลือบช็อกโกแลต เพื่อผลิตเป็นยาแก้เมารถเมาเรือตามฉบับคนไทย ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกระยะหนึ่ง (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 23 ธันวาคม 2545 หน้า 16)





ปลาช่วยผู้ชายป้องกันอัมพาต แค่กินประจำเพียงเดือนละครั้ง

วารสารของแพทยสมาคมอเมริกันได้เปิดเผย รายงานผลการศึกษาคุณประโยชน์ของการบริโภคปลาที่มีต่อสุขภาพว่า เพียงแต่ได้บริโภคปลาเดือนละ 1,2 หรือ 3 ครั้งเท่านั้น ถ้าเทียบกับคนเกลียดปลากันแล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นอัมพาตเพราะสมองขาดเลือดได้ถึง 43% แต่ถ้าเป็นกับคนกินปลาด้วยกันเพียงแต่มากน้อยต่างกันแล้ว ก็ไม่สู้ผลแตกต่างทางสถิติกว่ากันเท่าใดนัก การศึกษาได้ทำจากผู้ชาย 43,000 คน เป็นเวลาต่อเนื่องมาถึง 12 ปี นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า “เราอดรู้สึกแปลกใจไม่ได้ เพียงแต่ได้กินปลาและกรดไขมันโอเมก้า –3 ที่มีอยู่ในปลานิดหน่อยไว้ให้สม่ำเสมอก็ยังช่วยป้องกันไม่ไห้เป็นอัมพาตได้อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นผู้ชายควรจำไว้ว่าควรจะกินปลาเอาไว้แม้จะเป็นปลากระป๋องก็ได้ จะช่วยป้องกันอัมพาตได้ แต่นักวิจัยของโรงเรียนสาธารณสุขฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐฯ ได้ยกให้คุณประโยชน์ของกรดโอเมก้า-3 ในปลานั้นอยู่ที่คุณสมบัติช่วยให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อนของมัน ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองอุดตัน ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ส่อว่าการกินปลาจะมีผลคลุมถึงการเป็นอัมพาต เนื่องมาจากเส้นเลือดในสมองแตกต่างอย่างใดด้วย (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ชายวัยปลายห้าสิบไม่ต่างจากผู้หญิง เจออาการวัยหมดประจำเดือนเหมือนกัน

นักวิจัยชาวสวีเดนพบว่า กลุ่มอาการชายวัยหมดประจำเดือนนั้นได้แก่ การมีเหงื่อออกมาก และรู้สึกร้อนวูบวาบ หน้าตาแดง เหมือนกับที่เป็นในกลุ่มสตรีวัยทอง โดยเฉพาะชายวัยเกิน 55 ปีนั้นมีเหตุมาจากการทำงานของโปรตีน “ซีจีอาร์พี” (CGRP) มีส่วนทำให้เกิดกลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือนทั้งในหมู่ชายและหญิงในวัยนี้ โดยมันจะไปขยายเส้นเลือดอันนำไปสู่อาการเหงื่อแตกและร้อนวูบวาบอย่างที่ว่ามา ดังนั้นถ้าสามารถควบคุมระดับของโปรตีนซีจีอาร์พีไว้ได้ ก็จะนำไปสู่หนทางใหม่ในการรักษากลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือนได้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิ้งค็อปปิง ในสวีเดน ยังพบด้วยว่ากลุ่มอาการดังกล่าวในหมู่ผู้หญิงสามารถจะบรรเทาลงได้ด้วยการฝังเข็ม ส่วนกลุ่มผู้ชายนั้นหากได้รับการรักษาโดยให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงก็จะช่วยลดกลุ่มอาการดังกล่าวลงได้มากกว่าคนที่ผ่าตัด พร้อมกันนี้ในการศึกษาของนักวิจัยคณะเดียวกัน ยังดูผลกระทบในการรักษาด้วยการฝังเข็มในกลุ่มผู้หญิงก็พบว่าได้ผลดี โดยลดอาการไม่สบายเนื้อตัวลงได้ราว 75 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการวัยหมดประจำเดือนในกลุ่มผู้หญิงที่ไม่สามารถรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาได้ต่อไป (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 7)นักวิจัยชาวสวีเดนพบว่า กลุ่มอาการชายวัยหมดประจำเดือนนั้นได้แก่ การมีเหงื่อออกมาก และรู้สึกร้อนวูบวาบ หน้าตาแดง เหมือนกับที่เป็นในกลุ่มสตรีวัยทอง โดยเฉพาะชายวัยเกิน 55 ปีนั้นมีเหตุมาจากการทำงานของโปรตีน “ซีจีอาร์พี” (CGRP) มีส่วนทำให้เกิดกลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือนทั้งในหมู่ชายและหญิงในวัยนี้ โดยมันจะไปขยายเส้นเลือดอันนำไปสู่อาการเหงื่อแตกและร้อนวูบวาบอย่างที่ว่ามา ดังนั้นถ้าสามารถควบคุมระดับของโปรตีนซีจีอาร์พีไว้ได้ ก็จะนำไปสู่หนทางใหม่ในการรักษากลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือนได้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิ้งค็อปปิง ในสวีเดน ยังพบด้วยว่ากลุ่มอาการดังกล่าวในหมู่ผู้หญิงสามารถจะบรรเทาลงได้ด้วยการฝังเข็ม ส่วนกลุ่มผู้ชายนั้นหากได้รับการรักษาโดยให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงก็จะช่วยลดกลุ่มอาการดังกล่าวลงได้มากกว่าคนที่ผ่าตัด พร้อมกันนี้ในการศึกษาของนักวิจัยคณะเดียวกัน ยังดูผลกระทบในการรักษาด้วยการฝังเข็มในกลุ่มผู้หญิงก็พบว่าได้ผลดี โดยลดอาการไม่สบายเนื้อตัวลงได้ราว 75 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการวัยหมดประจำเดือนในกลุ่มผู้หญิงที่ไม่สามารถรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาได้ต่อไป (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





สังคมไทยได้อะไรจาก ‘ไบโอเทค’

ผู้อำนวยการศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ กล่าวถึง การตั้งไบโอเทคพาร์ค นั่นคือ การสร้างเครือข่ายงานวิจัยชีวภาพโดยร่วมมือกันหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญเพื่อนำเงินตราเข้าสู่ประเทศและเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเป็นหลัก ไบโอเทคเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากจะเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยแล้วไบโอเทคยังดำเนินการวิจัยเองโดยสามารถแบ่งโครงการต่างๆ ออกไปเป็น 7 ด้าน ได้แก่ โครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชและผลิตผลจากพืช โครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนาพันธุ์สัตว์และผลิตผลจากสัตว์ โครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาชนบทและเกษตรกรรายย่อย โครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ โครงการเทคโนโลยีชีวภาพด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต รวมทั้งโครงการเฉพาะด้าน เช่น เทคโนโลยีชีวภาพด้านกุ้ง ด้านข้าว และด้านชีวสารสนเทศ เป็นต้น นอกจากไบโอเทคยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ในด้านการเกษตร ด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยพันธุกรรมนั้น ไบโอเทคเน้นในหลักการประเมินและการบริหารจัดการ “ความปลอดภัยทางชีวภาพ” งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการประเมินความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอต่อการบริโภค ในด้านการบริหารจัดการระดับชาติหรือภูมิภาค ได้มีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการและกฎระเบียบที่สอดคล้องกัน (harmonization) ทั้งนี้เพื่อให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับร่วมกันในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ และการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ข้อมูลโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 31)





นักวิจัยประสบผลสำเร็จปลูกฟันในห้องแล็บ

ดร.พาเมลา เยลิกา นักวิจัยสหรัฐ กล่าวกับวารสารวิจัยทันตกรรมว่า ภายใน 5 ปี น่าจะรู้ว่าสเต็มเซลล์ของฟันจะกลายเป็นฟันจริงได้หรือไม่ และในเวลาอีก 5-10 ปี น่าจะสามารถพัฒนาฟันสำหรับมนุษย์โดยวิธีมีทั้งการใช้เอนไซม์เพื่อแยกเซลล์ฟันที่ยังเติบโตไม่เต็มที่จากหมูอายุ 6 เดือน จากนั้นเพราะบนวัสดุโพลิเมอร์ แล้วนำไปใส่ไว้ในหนูทดลองส่วนประกอบแบบเดียวกับฟันปกติ นับเป็นครั้งที่นักวิจัยประสบผลสำเร็จในการปลูกฟันที่มีส่วนประกอบทั้งเดนทิน และอีนาเมลเหมือนฟันทั่วไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2545 หน้า 3)





รักร่วมเพศ

งานวิจัย ‘รักคาว…ในรั้วขาว’ ของนิสิตคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับพฤติกรรมชายรักชายและหญิงรักหญิงรั้วโรงเรียนระบุว่า กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษามีพฤติกรรมรักร่วมเพศมากที่สุด รองลงมาเป็นบุคคลในแวดวงบันเทิง ช่างแต่งหน้า ช่างตัดผม และดีไซเนอร์ ขณะที่สถานที่ยอดฮิตในการประกอบกิจกรรมมีทั้งห้องน้ำ ห้องเก็บของ ห้องพยาบาล และห้องสมุด นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมว่า น.ส.กรพินธ์ ธีระโกเมน น.ส.กัญนี ศรีสุข น.ส.เกศริน สินนะ น.ส.ชนิดา เลิศศรัทธา น.ส.ธนวรรณ ภู่เจริญ และ น.ส.วีรภัทร อารีศิริ ได้เสนองานวิจัยเรื่อง “รักคาว…ในรั้วขาว” และหญิงรักหญิง หรือเลสเบี้ยนในโรงเรียนหญิงล้วนโดยจิตแพทย์แบ่งพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ หรือรักร่วมเพศ ว่าเกิดจาก 3 ทฤษฎีคือ กรรมพันธุ์ ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน และทฤษฎีที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดคือ มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะมีพฤติกรรมทางเพศได้กับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม หรือวัยรุ่น โดยเฉพาะประสบการณ์ตรงจากครอบครัว สำหรับผลการวิจัยและสำรวจครั้งนี้ สรุปว่า 5 อาชีพที่มีกลุ่มรักร่วมเพศมากที่สุดคือ 1.นักเรียน นิสิต นักศึกษา 2.วงการบันเทิง 3.ช่างแต่งหน้า 4.ช่างตัดผม และ 5.ดีไซเนอร์ ทั้งนี้ผู้จัดทำระบุในงานวิจัยนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติทางจิตใจมากกว่า แม้จะได้รับการบำบัดทางกายภาพ แต่ไม่อาจล้มเลิกความประพฤติ ดังนั้น ถ้าได้อ่านงานวิจัยชิ้นนี้จะได้รับรู้เรื่องต่างๆ ถ่องแท้มากขึ้น คงเปิดใจรับบุคคลเหล่านี้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างสนิทใจมากขึ้น เพราะมนุษย์ทุกคนที่อยู่ร่วมโลกย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ฉะนั้น การให้โอกาสคนเป็นการให้โอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (มติชน อังคารที่ 31 ธันวาคม 2545 หน้า 11)





ข่าวทั่วไป


ไทยได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวสวีเดน

ททท.สต็อกโฮล์ม ได้เข้าร่วมงานส่งเสริมการท่องเที่ยว Resmssan ณ กรุง สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็น The Destination of The Year Abroad 2002 และ The Dream Destination of The year 2002 โดยผู้จัดงานได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในสวีเดนลงคะแนนเลือก ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการคัดเลือกและได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งทั้งประเภทเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวสวีเดนในปี 2002 และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฝันของชาวสวีเดนประจำปี 2002 (เดลินิวส์ วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2545 หน้า 20)





สนองพระราชดำรัสในหลวง ข้าราชการทำงานใกล้บ้าน

นางมัณฑนา ปิยะมาดา รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการให้ข้าราชการทำงานใกล้บ้านว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสมาหลายปีแล้ว เรื่องทำอย่างไรจะช่วยแก้ปัญหาให้ข้าราชการได้ทำงานใกล้บ้าน ในสภาพจราจรติดขัด ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับมาดำเนินการ โดย ก.พ.ได้ตั้งสำนักงานเพื่อการโอนย้าย ซึ่งดำเนินการกับข้าราชการระดับ 8 ลงมา ที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่งและเปิดตัวโครงการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เริ่มที่ข้าราชการ ก.พ.ก่อน เน้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนข้าราชการในสังกัดอื่นหรือส่วนภูมิภาคต้องประเมินผลโครงการนำร่องก่อนแล้วจึงจะขยายไปยังจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา รองเลขาธิการ ก.พ. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้าราชการยื่นใบสมัครมาแล้ว 3,000 ราย จากที่ตั้งเป้าไว้ 20,000 ราย เชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับบุคลากร เพราะโยกย้ายสลับในสายงานเดียวกัน ทั้งนี้ ข้าราชการทุกคนมีโอกาสก้าวหน้า แต่สิ่งที่จะได้รับคือ สุขภาพจิต มีเวลาใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น ส่วนการลดเวลาวันทำงานของข้าราชการลงนั้น นางมัณฑนากล่าวว่า การเสนอ เช่น ทำ 10 ชั่วโมงหยุด 3 วัน หรือ อาจตั้งศูนย์ราชการไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง หรือทำงานที่บ้าน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งต้องแก้ไขระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงด้วย อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามข้าราชการเมื่อปี 2538 พบว่ามีข้าราชการ ร้อยละ 40-50 เห็นด้วย (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2545 หน้า 3)





วช. เตรียมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติปี 2545 ซึ่งมีทั้งรางวัลนักวิจัยดีเด่น รางวัลผลงานวิจัยและรางวัลวิทยานิพนธ์ นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “การให้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นนโยบายและภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย และเชิดชูเกียรติของนักวิจัยไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์” ซึ่งในปี 2545 คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาตัดสินให้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 ราย ใน 7 สาขาวิชาการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ปราโมทย์ เดชะอำไพ ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ศาสตราจารย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศาสตราจารย์สุดา เกียรติกำจรวงศ์ ในสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ดร.จำลอง เพ็งคล้าย ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา รองศาสตราจารย์ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ในสาขาปรัชญา รองศาสตราจารย์พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว ในสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ปราณี ทินกร ในสาขาเศรษศาสตร์ สำหรับรางวัลผลงานวิจัยมีทั้งหมด 19 เรื่องที่ได้รับรางวัล โดยแบ่งเป็นรางวัลดีเยี่ยมจำนวน 4 เรื่อง และรางวัลชมเชยจำนวน 15 เรื่อง และรางวัลวิทยานิพนธ์มีทั้งหมด 18 เรื่องที่ได้รับรางวัล มีรางวัลดีเยี่ยมจำนวน 3 เรื่อง และรางวัลชมเชยจำนวน 15 เรื่อง (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 31)





ปรับบทบาทกระทรวงอุตฯ รับสถานการณ์ ศก. โลกยุคใหม่

นายธีระชัย แสนแก้ว โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าขณะนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.อุตสาหกรรมได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของทุกหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อทบทวนวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ในการนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมปี 2546 ใหม่ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ( SMEs) สำหรับยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1. การชี้นำและกำกับดูแล SMEs ซึ่งมีเป้าหมายให้บริการกับอุตสาหกรรมให้ได้รับการพัฒนาที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสามารถลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโลก 2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและ SMEs โดยมีเป้าหมายให้บริการ ด้านการผลิตและส่งออกภาคอุตสาหกรรมให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายการให้บริการที่จะต้องเพิ่มผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น 4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายการบริการให้สินค้าของชุมชนมีคุณภาพสูงขึ้นและสามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการสามารถปรับใช้ความรู้สมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการผลิต (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 9)





ปีนังใช้ขยะทำหินเทียมถมทะเลสร้างเมืองใหม่

ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร รายงานว่า ปีนัง หรือเกาะหมากมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเมืองซิลิคอนของมาเลเซีย คนเพิ่มขึ้น ธุรกิจขยายตัวต้องการพื้นที่เพิ่ม โรงงานต่างๆ ร่วมกับพลเมืองผลิตขยะเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาขยะมีหลายวิธี ใช้ขยะถมทะเลในจุดที่ต้องการ จนสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ซึ่งถมขยะมากว่า 15 ปี ทำให้ได้พื้นที่ก่อสร้างเมือง ได้กำจัดขยะไปในตัว แต่ขยะนั้นไม่ได้เอาใส่ลงทะเลโดยตรง แต่นำขยะมาผสมซีเมนต์และกรวดทราย ทำเป็นอิฐเทียม แล้วจึงนำไปถมทะเล เงินใช้ไปเพื่อกำจัดขยะก็ได้คืนจากแผ่นดินในทะเลที่สร้างเมือง สร้างโรงงานนั่นเอง (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2545 หน้า 29)





สมาคมคนตาบอดฯจัด ‘วิทยุบริการ’ ข้อมูลข่าวสารมุ่ง ‘ผู้พิการสายตา-สูงอายุ-ไม่รู้หนังสือ’ 6 ล้านคน

นายมณเฑียร บุญตัน อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมคนตาบอดฯได้ร่วมกับมูลนิธิของคนตาบอดไทย จัดทำโครงการวิทยุบริการการอ่านเพื่อประชาชน เพื่อประโยชน์ของคนตาบอดและผู้ไม่รู้หนังสือในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเอกสารและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มผลผลิตรายการและทดลองออกอากาศทางสถานนีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ความถี่ AM.819 กิโลเฮิร์ตช์ ทุกวัน ในช่วงเวลา 19.30-20.00 น. และทางสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ความถี่ AM.1494 กิโลเฮิร์ตช์ ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00-15.00 น. ทั้งนี้ ในประเทศไทยปัจจุบันมีกลุ่มผู้พิการทางสายตา ผู้สูงอายุและกลุ่มของผู้ที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์อยู่รวมกว่า 6.2 ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้น รายการวิทยุที่จัดทำขึ้นจึงเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ (มติชน พฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2546 หน้า 21)





ศิลปินดังค้านเพลงชาติเวอร์ชั่นใหม่

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม จากกรณีกระทรวงกลาโหมเตรียมผลิตเพลงชาติใหม่ โดยให้นักร้องดังจากค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด อาทิ นายธงไชย แมคอินไตย์ , นันทิดา แก้วบัวสาย , เสกสรร สุขพิมาย , หรือเสก โลโซ , พลพล พลกองเส็ง มาร้องร่วมกับวงออร์เคสตร้าวงใหญ่ นำไปออกอากาศทางวิทยุ-โทรทัศน์ทุกเช้าเย็นแทนเพลงชาติเก่า ที่ร้องโดยกลุ่มนักร้องโดยกลุ่มนักร้องจากกรมศิลปากรเพลงเวอร์ชั่นใหม่ยังคงเนื้อร้องและทำนองเดิมทุกประการ ส่วนสาเหตุให้นักร้องดังมาร้องแทนนักร้องจากกรมศิลปากรนั้น เนื่องจากต้องการให้เยาวชนหันมาสนใจเพลงชาติไทยมากกว่าเดิม เพลงชาติไทยรูปแบบใหม่จะแล้วเสร็จและถูกนำมาออกอากาศในเดือนมีนาคม ปี 2546 ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านจากนายสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ และนายสุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติปี 2533 สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง) และนายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเนื่องจากเพลงชาติเก่าที่นักร้องศิลปากรร้องดีอยู่แล้ว ส่วนการที่จะทำแบบใหม่เพื่อดึงดูดใจวัยรุ่นนั้นคิดว่าไม่จำเป็น นายพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติสาขาเพลงไทยสากลและเพลงไทยลูกทุ่ง ปี 2534 กล่าวว่า มีความเห็นเรื่องนี้ในสองด้านด้วยกัน ประการแรกเพลงชาติไทยควรร้องด้วยความขลัง ด้วยความเคารพ แต่ภาพลักษณ์ของธงไชย แมคอินไตย์ และนักร้องอื่นๆ นั้นคือนักร้องยอดนิยมการที่จะมาร้องเพลงชาติให้คนทั่วประเทศฟังนั้นต้องปรับภาพลักษณ์ร้องเพลงให้ถูกต้องตามอักขระ ถูกต้องตามตัวหนังสือ เพราะเพลงชาติไม่ใช่เพลงที่เอามาร้องเพื่อความสนุก เพื่อเรียกเสียงกรี๊ดเหมือนบนเวทีคอนเสิร์ต อนึ่ง เพลงชาติไทยฉบับปัจจุบันแต่ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ คำร้องโดย พ.อ.หลวงนรา นุประพันธ์ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด เพิ่งเห็นข่าวเมื่อเช้านี้ เป็นเรื่องชองทางเหล่าทัพไปคิดไปปรึกษาหารือประชุมร่วมกัน ถึงเวลาแล้วคงมีคนนำเรื่องมาปรึกษา (มติชน ศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2545 หน้า 5)





เด็กกำพร้าไทยติดเอดส์สูงสุดในเอเชีย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่า จากการวิจัยพบว่าบางจังหวัด จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์สถิติที่แท้จริงยังต่างกันมาก จากการวิเคราะห์พบว่าผู้ติดเชื้อในไทย 90% อยู่ในวัยแรงงานอายุ 15-49 ปี คาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมน่าจะมีถึง 1,003,500 เสียชีวิตแล้ว 3.98 แสนราย ที่เหลือ 6.35 แสนราย กำลังเริ่มป่วย นอกจากนี้ ไทยยังมีเด็กกำพร้าเพราะโรคเอดส์มากที่สุดในเอเชีย ในปี 2544 มี 2.98 แสนคน คาดว่าปี 2548 จะมีถึง 3.8 แสนคน ซึ่งปัญหาเอดส์ถือเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงมากพฤติกรรมการใช้ยาและการมีเพศสัมพันธ์ ขณะนี้ก็เปลี่ยนไปปัจจุบันเด็กอายุ 15 จะเป็นเอดส์มาก โดยในหญิงมากกว่าชาย (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2545 หน้า 7)





ฟิลิปปินส์อนุมัติพันธุ์ข้าวโพดต้านแมลงศัตรูพืช

กรมวิชาการเกษตรของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติพืชดัดแปลงพันธุกรรมให้ไฟเขียวเกษตรกรปลูกข้าวโพด “Yield Guard Corn Borer” ซึ่งเป็นข้าวโพดที่สามารถต้านแมลงศัตรูพืชของบริษัทมอนซานโต้ โดยเกษตรกรจะเริ่มปลูกได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ยีลด์การ์ด เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมชนิดแรกที่มีการนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์ที่ประเทศฟิลิปปินส์และยังเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกได้ในเอเชีย พืชชนิดดังกล่าวมีความปลอดภัยและให้ผลประโยชน์สูงจึงเป็นผลทำให้มีการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมแพร่หลายไปทั่วโลก และทำให้การใช้ยาปราบศัตรูพืชลดลงอย่างเห็นได้ชัด (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2545 หน้า 31)





‘ของเล่น’ อันตราย

มีข้อมูลน่าตกใจจากสหรัฐ โดย Consumer Watchdog Group ที่จัดทำรายงานประจำปี Trouble in Toyland ระบุว่า มีของเล่น 255,100 ชิ้นที่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กๆ ในจำนั้น เด็กในสหรัฐ 25 คนเสียชีวิตเพราะของเล่นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเด็ก 9 คนเสียชีวิตจากการเล่นของเล่นจำพวกบอลลูนลูกบอล และของเล่นชิ้นเล็กๆ อีก 10 คนเสียชีวิตเพราะสกูตเตอร์ คือ 9 คนเล่นสกูตเตอร์และยานพาหนะชน ส่วนอีก 1 คนเสียชีวิตเพราะตกลงมาจากสกูตเตอร์ส่วนที่เหลือเสียชีวิตจากการเล่นของเล่นที่ขึ้นไปขี่กล่องของเล่นจำพวกต่อบ้าน และของเล่นที่มีรีโมท คอนโทล นอกจากนี้ยังพบอีกว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเล่นเด็ก ๆ ยังเป็นของเล่นที่ติดคอ หรือเข้าไปขวางทางเดินหายใจ ดังนั้น การเลือกซื้อของเล่นชิ้นเล็กควรทดสอบขนาดง่ายๆ โดยนำแกนกระดาษชำระมาวัด ถ้าของเล่นลอดผ่านแกนกระดาษได้ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ส่วนผสมในของเล่นก็สำคัญเช่นกัน ก่อนซื้อต้องดูด้วยว่าของเล่นมีส่วนผสมของสารพิษ PVC หรือไม่ เพราะสารดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดอันตราย สนใจดูข้อมูลเพิ่มเติมรายชื่อของเล่นที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ได้ที่เว็บไซต์ http:/www.toysafety.net/ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2545 หน้า 3)





แนวโน้มไอทีปี 2003

ผศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า แนวโน้ม ที่คิดว่าน่าจะมีความนิยมเข้าสู่เมืองไทยด้วยน่าจะมี 4 เรื่อง เท่าที่สรุปมาได้คือ เรื่องที่ 1 อุปกรณ์ทีวีแบบหน้าจอแบนจะนิยมมากขึ้น เรื่องที่ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟต์คาดว่าคอมพิวเตอร์แบบกระดานชนวน (ภาษาผรั่งเรียก Tablet PC-เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บันทึกด้วยการเขียนลายมือได้) จะเป็นที่นิยม แต่นักคาดการณ์หลายสำนักบอกว่าไม่ใช่ปีนี้ เรื่องที่ 3 ข้อมูลดีๆ จากอินเทอร์เน็ตที่เป็นของฟรีจะไม่มีอีกต่อไป เรื่องที่ 4 ธุรกิจบริการข้อมูลไร้สายแบบ โมบายคอมเมิร์ซจะมีมากขึ้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2546 หน้า 12)





“สุภาพ เรืองแสง” เยาวชนนักออกแบบระดับโลก

สุภาพ เรืองแสง นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พิชิตรางวัลการออกแบบประกวดตราสัญลักษณ์ต่างๆ มาแล้วมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศการออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบ 50 ปี FBT รางวัลชนะเลิศการออกแบบตราสัญลักษณ์บริษัท สวิตวอท์ช จำกัด รางวัลชนะเลิศการออกแบบตราสัญลักษณ์ WWW.PAPAYON.COM หรือรางวัลดีเด่นศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประเภทหัตถกรรมตกแต่งเป็นต้น เส้นทางสู่ความสำเร็จของ สุภาพ เริ่มต้นจากการลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน รางวัลชิ้นแรกจากการออกแบบเป็นกำลังใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ถึงตอนนี้เขาคว้ามาแล้วกว่า 100 รางวัล รางวัลชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์ “หอการค้าของอังกฤษ” เป็นงานที่เขาภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะตราสัญลักษณ์นี้ใช้เผยแพร่กันทั่วโลก โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบท ที่ 2 แห่งประเทศอังกฤษ เมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาเยือนประเทศไทยปี 2539 “สุดท้ายสุภาพได้ฝากข้อคิดไปยังนิสิต นักศึกษารุ่นน้องว่า การที่จะประสบความสำเร็จอย่างงดงามนั้น ไม่ว่าเรื่องใดก็ต้องอาศัยความอดทนและความพยายามที่สำคัญอย่าท้อแท้ เพราะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่ก้าวแรกที่ทำ หากน้องๆ ทุ่มเทและตั้งใจอย่างเต็มที่แล้ว เชื่อว่าความสำเร็จย่อมเป็นจริงได้อย่างแน่นอน” (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 3 มกราคม 2546 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215