หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 3 ประจำวันที่ 2003-01-21

ข่าวการศึกษา

‘สิริกร’ พ้อสปช. ยังอืดจี้ใช้ชุด น.ร.พื้นเมือง
ชาวลำพูนขอจัดตั้งมหา’ลัยประจำจังหวัดชี้พร้อมยกฐานะวิทยาลัยเกษตรกรรม
โพลชี้ชัดการเรียนทำเด็กไร้สุขระบุหลักสูตร-สภาพร.ร.ต้นเหตุ
‘ปองพล’ ปลื้มร.ร.เอกชนคุณภาพเยี่ยม
หมอแนะวิธีปฏิรูปเรียนรู้
ประเมิน ‘เรียนรู้ร่วมกันฯ’ ผ่านฉลุยทบวงฯ รับน.ศ.รุ่น 2-ได้เงินหมื่นบ.
ยันแอดมิสชั่นส์ไม่ทำเด็กเครียด
‘ปองพล’ ชี้การศึกษาไทยเดินผิดทาง-ปลุกภูมิปัญญา
ประเมิน ร.ร.คุณภาพต่างกัน 10-20 ปี
โพลล์ชี้เรียนคอมพ์-บัญชี-ภาษาได้งานสูงกว่าสาขาอื่น
สรภ.เล็งเสนอแนวทางพัฒนาครูแบบ 3 มิติ
‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือในดวงใจเด็กไทย
สธ.ปิ๊งไอเดียหนังสือการ์ตูนดึงเด็กไทยสนใจ ‘สมุนไพร’
ชงครม.ขอวิทยาลัยพละคืนสังกัดศธ.
นายกฯแนะดึงสิงคโปร์ปรับหลักสูตรการศึกษา
ปอมท.เข้าพบ “จาตุรนต์” แจงค้านออกนอกระบบ
เอกชนยังขัดโฮมสคูลพ่อแม่จัดเองไม่อิงรัฐ
ศธ.จับมือแพทย์รามาลดภัยเครื่องเล่น
ชงครม.พิจารณางบฯหนุนสูตรครูพันธุ์ใหม่
นักวิชาการชี้ระบบเอนท์แบบใหม่โหดกว่าเดิม
ปรับเกณฑ์รับนักศึกษาแพทย์ใหม่เริ่มปี 2549
“กษมา” รุก สปช. แก้ไขปัญหานักเรียนออกกลางคัน
วุฒิฯจี้รัฐบาลยกเลิกสอบคัดเลือก นศ.
“ทักษิณ” โยนนักการศึกษาคิดเอนทรานซ์ระบบใหม่เอง
ม.กรุงเทพสร้างไซเบอร์เซ็นเตอร์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

จีนเตรียมส่งคนขึ้นสู่อวกาศ
ก.วิทย์เปิด ‘คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัย-รภ.พร้อมหนุน
มาเลย์ทุ่มทุนสร้างแล็บไฮเทคแข่งจีน-อินเดีย
โคลนนิงหมูสร้างอวัยวะอะไหล่
5 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ ปี 2545
สกัดไข่แดงแรงฤทธิ์ ทำยาแก้พิษถูกงูกัด
กล่องไฮเทคดักจับการสื่อสาร
ชีวสารสนเทศศาสตร์

ข่าววิจัย/พัฒนา

เกมปั่นจักรยานได้สาระแถมลดไขมัน
แพทย์มข.สร้างชื่อกระฉ่อนสร้างเครื่องวางยาสลบได้เอง
ม.เกษตร พัฒนาเถ้าลอยลิกไนต์ใช้แทนปูนซีเมนต์
นักวิจัยปั่นขี้เถ้าโรงไฟฟ้าให้เป็นเงิน ใช้ผสมคอนกรีตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
พืชผลไม้ชิมเหล้าไวน์แดงก็มีคุณ ยืดอายุให้สดทนนานถึงอีกเท่าตัว
วิจัยกวาวเครือขาว ทำยาคุมธรรมชาติ
คนไทย 60% ค้านโคลนนิงมนุษย์ หวั่นสร้าง “คนเลว-ผิดธรรมชาติ”
อันตรายจากเป้นักเรียนหนัก ทำเด็กสะดุดล้มมากกว่าหลังเคล็ด
คิดค้นเทคนิคตรวจน้ำลาย วิธีใหม่ช่วยสิงห์อมควันเลิกบุหรี่
มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่
วช. ระดมสมองนักวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน
กรมวิทย์ถ่ายทอดสูตร โลชั่นขมิ้นชันทากันยุง
ชุดทดสอบโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ในผลิตภัณฑ์ยางพารา
ติดหรู-เซียนโกงสอบ : ผลวิจัยเด็กไทย

ข่าวทั่วไป

เด็กไทยดูทีวีนานเสียสายตา-สมาธิสั้น
คนกรุงอยากอ่านข่าวบันเทิงเสาร์-อาทิตย์
ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่-หมอประเวศรับรางวัล ‘มหิดลวรานุสรณ์’ ผลงานเด่น
แรงงานต่างด้าวปล่อยเชื้อสู่คนไทยหมอ-พยาบาลติดวัณโรคปอดแล้ว
โอเวอร์โกลเคลียร์ข้อครหาวิเคราะห์คุณภาพน้ำพลาด
‘ทส.’ ตรวจสารพิษ ‘ดินปลูกบ้าน’
ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่นทุ่ม 200 ล้าน ผุดห้างศึกษาครบวงจรใหญ่สุดในปท.
อันตรายเด็กแบบกระเป๋าเป้ผิดวิธี
น้ำสบู่ทำสะดือทารกติดเชื้ออักเสบ
10 วิธีสู้ภัยน้ำมันแพงภาวะอึมครึม…สงครามอิรัก-สหรัฐ
อาข่าตั้งโทรทัศน์ชุมชน ชื่อสถานี “บ้านนอกทีวี”
ใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารไม่ดี
เอกชนขานรับกระแสอนุรักษ์ เกรงสงครามวิกฤติพลังงาน





ข่าวการศึกษา


‘สิริกร’ พ้อสปช. ยังอืดจี้ใช้ชุด น.ร.พื้นเมือง

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังหารือร่วมกับนางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. และกรมที่เกี่ยวข้องว่า ได้เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องต่างๆ โดยให้ปรับแผนการจัดซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องโทรสาร โดยให้เร่งดำเนินการเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ส่วนความคืบหน้าการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องแบบนักเรียน และการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องเขียนของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) นั้น ได้รับรายงานว่าจากการที่ให้มีการสำรวจความต้องการชุดนักเรียนผ้าพื้นเมืองใน 76 จังหวัด ปรากฏว่าถึงขณะนี้ส่งข้อมูลมาเพียง 40 จังหวัดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ต้องการทั้งผ้าขาวตามปรกติ และผ้าพื้นเมือง จึงได้กำชับ สปช.ให้เร่งสำรวจเพราะเวลาผ่านไปแล้ว 2 เดือน แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า (มติชน อังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 20)





ชาวลำพูนขอจัดตั้งมหา’ลัยประจำจังหวัดชี้พร้อมยกฐานะวิทยาลัยเกษตรกรรม

นางอรทัย ออประยูร เลขาธิการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดในจังหวัดที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนกันยายน 2545 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้นำร่อง 2 จังหวัดแล้ว คือ นครพนมและนราธิวาสนั้น ในส่วนของ จ.ลำพูนก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดเช่นกัน ดังนั้นทางคณะกรรมการโครงการมองเห็นว่า จ.ลำพูนมีศักยภาพและสถานศึกษามีความพร้อมโดยมีวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษารองรับ และผลิตนักศึกษาออกมารับใช้สังคมมากมายแล้ว แต่หลายคนขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพราะต้องไปศึกษาต่อในต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่และลำปาง นางอรทัยกล่าวต่อว่า ตามแผนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดลำพูนที่คิดกันไว้นั้นสามารถดำเนินการตามหลักการของรัฐบาล โดยรวมเอาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในจังหวัด ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งใน จ.ลำพูนมีวิทยาลัยที่พร้อมจะยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเช่นกัน และมีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ บุคลากร สถานที่ โดยเฉพาะที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เป็นสถานศึกษาที่เหมาะสมในการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด ซึ่งพูดคุยกันในส่วนของคณะวิชาที่จะเปิดสอนเพื่อสนองตอบความต้องการของคนในท้องถิ่น และสามารถพัฒนา จ.ลำพูนทั้งในด้านเกษตรกรรม การแปรรูปผลผลิตทางด้านเกษตร การอุตสาหกรรม ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมรองรับบุคลากรได้จำนวนมาก ด้านการท่องเที่ยวก็มีโบราณสถาน แหล่งวัฒนธรรมที่เก่าแก่และควรเผยแพร่มากมาย รวมถึงด้านการบริหารธุรกิจ เป็นต้น (มติชน อังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 21)





โพลชี้ชัดการเรียนทำเด็กไร้สุขระบุหลักสูตร-สภาพร.ร.ต้นเหตุ

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กรมประชาสัมพันธ์สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแถลงข่าวโครงการสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติว่าด้วยสุขภาพ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) กล่าวตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการจัดเวทีสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติว่าด้วยสุขภาพได้ร่วมกับสวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นเด็กและเยาวชนไทยในประเด็น ความทุกข์-ความสุขของเด็กไทยในวันนี้ โดยใช้แบบสอบถามรวม 1,515 ตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 42.44 เพศหญิงร้อยละ 57.56 ทั้งหมดอยู่ในช่วงอายุ 12-18 ปี เพื่อเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะสะท้อนสู่สังคมไทยในโอกาสวันเด็กที่จะมาถึง นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจภาวะทุกข์-สุขดังกล่าว พบว่าเด็กผู้ตอบแบบสอบถามร้อย 70 บอกว่ามีความสุขดี ร้อยละ 30 บอกว่าไม่ค่อยมีความสุข สิ่งที่นำความสุขมาให้มากที่สุด คือ ครอบครัวหรือพ่อแม่และจะเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาได้มากที่สุดเมื่อมีทุกข์ ส่วนสิ่งที่เยาวชนเห็นว่าสิ่งที่นำความทุกข์มาให้มากที่สุด คือโรงเรียนและการเรียนเมื่อถามว่าหากมีพร 3 อย่างอยากได้อะไรมากที่สุดเยาวชนตอบเรียงลำดับมากไปหาน้อยดังนี้ 1. ขอให้รวย 2. ของให้ครอบครัวมีความสุข 3. ขอให้เรียนเก่ง (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 15)





‘ปองพล’ ปลื้มร.ร.เอกชนคุณภาพเยี่ยม

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการตรวจเยี่ยมโรงเรียนผไทอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนผไทอุดมศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษา ซึ่งได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะการก้าวสู่ระบบ ICT จึงอยากรู้ว่าทำไมโรงเรียนแห่งนี้จึงได้รับรางวัลการจัดการศึกษาต้นแบบ และเมื่อได้มาดูก็เห็นว่ามีการจัดการเรียนการสอนด้วยการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จนประสบความสำเร็จ (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 20)





หมอแนะวิธีปฏิรูปเรียนรู้

การปฏิรูปการศึกษาควรมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนได้คิดเอง ทำเอง โดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำและชี้แนะ ผลันดันให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นว่าต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร และสนับสนุนให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่คิดและมีประโยชน์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้ตนเองอีกด้วย นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จะต้องสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ โดยโรงเรียนเปิดกว้างมากขึ้นมีการพูดคุยระหว่าง ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนเพื่อแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน น.ส.ยุรดา ธูปทอง นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า เห็นด้วยจะสร้างเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน น.ส.ชุติมา โอกาสเจริญพร นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก ก็คือสถาบันครอบครัวจะต้องให้ความใกล้ชิด ให้กำลังใจ เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยเมื่อออกสู่สังคมภายนอก (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 20)





ประเมิน ‘เรียนรู้ร่วมกันฯ’ ผ่านฉลุยทบวงฯ รับน.ศ.รุ่น 2-ได้เงินหมื่นบ.

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการประเมินการปฏิบัติงานโครงการเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างชุมชน รุ่นที่ 1 โดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประเมินจากการลงพื้นที่ที่ปฏิบัติงานของนักศึกษาและผลงานที่นักศึกษานำเสนอ สรุปได้ดังนี้ ข้อคิดเห็นของนักศึกษา 92.9% เห็นว่าได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างดี 89.2% เห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ในระดับรากหญ้า 82.6% ช่วยพัฒนาทักษะในสาขาวิชาที่เรียนอยู่ และ 79.3% เห็นว่าได้ประสบการณ์ที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาสาขาวิชาที่เรียนมากขึ้น ส่วนข้อคิดเห็นอาจารย์ที่ปรึกษา 95% เห็นว่านักศึกษาสามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ปฏิบัติตัวได้เหมาะสมกับสภาพ กาลเทศะ สนใจหาข้อมูลจากชุมชน 85.4% เห็นว่ามีความสามารถระบุปัญหาหลักของพื้นที่ และ 77.3% เห็นว่าสามารถเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้ตรงประเด็นสร้างสรรค์ และนำไปปฏิบัติจริงได้ (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 20)





ยันแอดมิสชั่นส์ไม่ทำเด็กเครียด

นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ หรือ Admissions ที่ทบวงมหาวิทยาลัยจะนำมาใช้แทนระบบสอบเอ็นทรานซ์ ปัจจุบัน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ว่าระบบใหม่นี้ไม่ได้เพิ่มภาระในการสอบให้กับนักเรียน ดังที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นกังวล เพราะคะแนนที่นำมาใช้พิจารณามีอยู่แล้วในหลักสูตรใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้น ม.ปลาย หรือ GPA และค่าเปอร์เซ็นไทล์ แรงก์ หรือ PR รวมทั้งผลการทดสอบระดับชาติ หรือ National Test (N) ซึ่งผู้ที่จบชั้น ม.6 สามารถนำใบ รบ.ไปใช้ในการสมัครได้โดยที่มหาวิทยาลัยจะให้สอบวิชาหลักอีกไม่เกิน 3 วิชาเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่สอบกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนการวัดศักยภาพหรือ SAT ก็เป็นเพียงการวัดศักยภาพในการเรียนต่อของเด็ก ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการเรื่องนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ คิดกันมานาน ทุกอย่างสมเหตุสมผลแล้ว (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 21)





‘ปองพล’ ชี้การศึกษาไทยเดินผิดทาง-ปลุกภูมิปัญญา

เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สถาบันอุดมศึกษากับการเปลี่ยนแปลง” จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับที่ประชุมประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างแห่งประเทศไทย (ปขมท.) ว่า การศึกษาในอนาคตจะต้องไม่ละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยมีจุดแข็งมากมาย แต่ถูกละเลยให้ต่างประเทศมาลอกเลียนแบบไปใช้ประโยชน์แล้วคนไทยก็กลับไปเรียนรู้จากชาวต่างประเทศทั้งที่หลายเรื่องเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นไทยและมีเด็กไทยจำนวนมากที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ขาดการส่งเสริมและต่อยอดที่ดี ทั้งยังมีการสอนและเปลี่ยนแปลงความรู้ความคิดของเด็กเหล่านี้ให้อยู่ในกรอบที่กำหนด จนเด็กไม่สามารถแสดงความรู้ความสามารถเฉพาะของตนได้ (มติชน ศุกร์ที่ 10 มกราคม 2546 หน้า 20)





ประเมิน ร.ร.คุณภาพต่างกัน 10-20 ปี

นายศิริวัฒน์ พหลทัพ ผู้จัดการบริษัท เอส.เอ.วิชั่น จำกัด หน่วยประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมส.) เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพการศึกษา ว่าจากที่ตนได้ประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ประมาณ 150 โรงเรียน ใน 3 จังหวัด ในปีที่ผ่านมาพบว่า คุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัดยังแตกต่างกันมาก โดยผลการประเมินภายนอกครั้งนี้ยังพบการจัดการศึกษาใน จ.เพชรบูรณ์ล้าหลัง จ.อุตรดิตถ์ ประมาณ 10 ปี ขณะที่การจัดการศึกษาของ จ.เลย ล้าหลัง จ.เพชรบูรณ์ประมาณ 10 ปี และเมื่อเปรียบกันแล้ว จ.เลย มีความล้าหลัง จ.อุตรดิตถ์อยู่ถึง 20 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลจะ มีปัญหาขาดแคลนครู ครูมีฐานะยากจน โรงเรียนบางแห่งไม่เชื่อว่ามีการประเมินภายนอกจริง ต้องให้นักเรียนคอยเป็นต้นทางให้ หากเห็นผู้ประเมินภายนอกจาก สมศ. ก็ให้เด็กวิ่งไปบอกเพื่อให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษารู้ตัวก่อน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 10 มกราคม 2546 หน้า 9)





โพลล์ชี้เรียนคอมพ์-บัญชี-ภาษาได้งานสูงกว่าสาขาอื่น

สวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สำรวจกรณี “เรียนอะไรจึงจะได้งานทำ” (ไม่ตกงาน) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักเรียน และผู้ปกครอง ว่าควรจะเลือกเรียน “สาขาวิชาอะไร ในระดับอุดมศึกษา” โดยสำรวจความคิดเห็นของบุคคล 3 กลุ่ม จำนวน 2,286 คน (ผู้ประกอบการ/บริษัทต่างๆ นักเรียนที่กำลังจะสำเร็จ ม.6 ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังจะเข้าเรียนอุดมศึกษา โดยสุ่มสำรวจจากตัวแทนจังหวัดในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2545-9 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งในภาพรวมส่วนใหญ่เห็นว่าการเรียนในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์จะได้งานทำมากกว่าสาขาอื่น รองลงไปคือ บัญชี และภาษาศาสตร์ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 6)





สรภ.เล็งเสนอแนวทางพัฒนาครูแบบ 3 มิติ

ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า สรภ.ได้ทำโครงการแนวทางในการพัฒนาครูเตรียมที่จะเสนอท่านนายกรัฐมนตรี โดยจะแบ่งออกเป็น 3 มิติ 1.จะปรับเปลียนกระบวนการทัศน์ของครู และผู้บริหารทั้งหมด ขณะเดียวกัน ก็ต้องปลุกเร้า สื่อสารให้ผู้ปกครอง ประชาชนได้เข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือ 2.ต้องใช้ระบบสนับสนุน เป็นพี่เลี้ยง เกื้อกูล ให้ครูพัฒนาตัวเองอย่างสบายใจ เพราะในชีวิตครูมีแต่คนคอยป้อนให้ เป็นนักเรียนก็มีครูป้อนให้ ครูจะสอนหลักสูตรก็กรมวิชาการป้อนให้ แต่พอจะให้เข้าไปเขียนหลักสูตรท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถทำได้ “ผมขอความร่วมมือจากทาง สสวท.ให้ระดมนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ทั่วประเทศมาช่วยกันเขียนและทำเว็บไซต์และใช้สำนักวิทยบริการของสถาบันราชภัฏทั้ง 41 แหง รวมทั้งมหาวิทยาลัย 24 แห่ง เป็นแหล่งข้อมูลให้แก่พวกครู โดยเฉพาะ 8 กลุ่มสาระที่จะต้องนำไปสอน อีกทั้งยังจะช่วยในเรื่องข้อมูลของแหล่งที่ครูจะฝึก หรือพัฒนาทักษะ กระบวนการทางเทคนิคของครูอีกด้วย” ดร.พลสัณฑ์ กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 6)





‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือในดวงใจเด็กไทย

ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้ปี 2546 เป็นปีแห่ง การส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้กรมวิชาการจึงได้สำรวจหนังสือในดวงใจของนักเรียนทั่วประเทศ ระดับประถม 8,142 คน ระดับมัธยมต้น 7,084 คน และระดับมัธยมปลาย 5,510 คน รวมทั้งสิ้น 20,736 คน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย การวางแผน และแนวปฏิบัติส่งเสริมการอ่านให้สอดคล้องกับความสนใจในการอ่านหนังสือของนักเรียน ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า นักเรียนในส่วนภูมิภาคทุกช่วงชั้น ส่วนใหญ่ชอบหนังสือการ์ตูนที่มีคำพูดของตัวการ์ตูนเป็นผู้ดำเนินเรื่องมากที่สุด สำหรับหนังสือที่นักเรียนส่วนใหญ่ชอบอ่าน 5 อันดับแรก เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ป.1-3 ชอบอ่านหนูน้อยหมวกแดง โดเรมอน ประวัติศาสตร์ชาติไทย สุดสาคร และกระต่ายกับเต่า ป.4-6 ชอบอ่านหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขายหัวเราะ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ไทยรัฐ และโคนันยอดนักสืบ ม.1-3 ชอบอ่าน แฮร์รี พอตเตอร์ ขายหัวเราะ โคนันยอดนักสืบ ทีวีพูล และโดเรมอน ม.4-6 ชอบอ่านหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขายหัวเราะ ทีวีพูล และโคนันยอดนักสืบ สำหรับหนังสือที่นักเรียนส่วนใหญ่ชอบอ่าน 5 อันดับแรก เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ป.1-3 ชอบอ่านหนังสือ โปเกมอน หนูน้อยหมวกแดง โดเรมอน กระต่ายกับเต่า และกล้วยหอมจอมซน ป4-6 ชอบอ่านหนังสือขายหัวเราะ โดเรมอน ประวัติศาสตร์ไทย แฮร์รี่ พอตเตอร์ และโคนันยอดนักสืบ ม.1-3 ชอบอ่านหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดเรมอน ขายหัวเราะ และ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง ม.4-6 ชอบอ่านหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 6)





สธ.ปิ๊งไอเดียหนังสือการ์ตูนดึงเด็กไทยสนใจ ‘สมุนไพร’

นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการจัดทำหนังสือการ์ตูนเพื่อนสมุนไพรไทยว่า เนื่องจากปัจจุบันสมุนไพรไทยกำลังเป็นที่นิยมของตลาดจะสังเกตเห็นว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกินหรือของใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องของสมุนไพรเข้ามาเกี่ยวข้องดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริม และปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาไทย และสมุนไพรไทย จึงควรต้องมีการปลูกฝังความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทยตั้งแต่วัยเด็กจึงจะได้ผลดี ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อจูงใจเด็กๆ ได้ดี ทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้จักและสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรไทย ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกว่า เมื่อปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จมาแล้วกับการจัดทำต้นไม้สมุนไพรพูดได้ จนเป็นที่ฮือฮากันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ “เด็กๆ ที่มาเที่ยวชมสวนสมุนไพร จะชอบกดต้นไม้พูดได้เล่น เพราะต้นไม้สามารถบอกสรรพคุณของต้นนั้นๆ ออกมาเป็นเสียงพูดได้ว่า ช่วยรักษาอาการอะไรได้บ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมาก ปีนี้จะขยายจำนวนต้นไม้พูดได้ให้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาในทำนองเดียวกันในปีนี้ ได้มีสิ่งจูงใจเด็กๆ ขึ้นด้วยการจัดทำหนังสือการ์ตูนชื่อว่า “ปุ๊น ปุ๊น เพื่อนสมุนไพร” ซึ่งมีการคิดมานานแล้วในการวางโครงเรื่องด้านวิชาการ” โฆษก สธ.กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 7)





ชงครม.ขอวิทยาลัยพละคืนสังกัดศธ.

นายจำลอง ครุฑขุนทด ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ วุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิฯ ได้หารือเรื่องการบริหารงานหน่วยงานต่างๆ ของศธ. ตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งพบในส่วนของสถาบันราชภัฏ (รภ.) ทั้ง 41 แห่งนั้นยังไม่ได้เป็นนิติบุคคล และหากร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้รภ.หายไป เนื่องจาก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ กำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่ขณะนี้ยังไม่เกิดและเมื่อปรับโครงสร้างใหม่ก็จะเกิดปัญหาได้ อีกทั้งในช่วงเวลานี้ก็ยังไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดให้บทเฉพาะกาลเพื่อให้รภ. สามารถบริหารงานต่อไปได้ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หยิบยกเรื่องการจัดการศึกษาของวิทยาลัยพลศึกษา ซึ่งปัจจุบันสังกัดในในกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม การแยกองค์กรจัดการศึกษาไปอยู่ในกระทรวงอื่น ก็ยังมีปัญหาด้านการบริหารงานบุคลากรและไม่มีความคล่องตัว ซึ่งเทียบไม่ได้กับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ ดังนั้นที่ประชุมมีความเห็นว่าน่าจะให้วิทยาลัยพลศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กลับมาอยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการตามเดิม (สยามรัฐ พุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 7)





นายกฯแนะดึงสิงคโปร์ปรับหลักสูตรการศึกษา

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่า จากการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีประชุมร่วมกับนายโก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้หารือถึงประเด็นการศึกษาซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทยและทางสิงคโปร์ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการไทยไปหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ โดยเน้นในเรื่องการปรับปรุงหลักสูตร การวัดผลประเมินผล รวมถึงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ และตนได้รับหน้าที่ดำเนินหารต่อไป โดยจะเชิญทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยมาหารือร่วมกัน (สยามรัฐ พุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 7)





ปอมท.เข้าพบ “จาตุรนต์” แจงค้านออกนอกระบบ

ผศ.นพ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (14 ม.ค.) ได้เข้าพบนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในเวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอรายงานความเป็นมาในการคัดค้านการปรับเปลี่ยนสถานภาพการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล เกี่ยวกับแนวคิด และเหตุผลว่าทำไม ปอมท. จึงเลือกช่องทางในการเป็นมหาวิทยาลัยอิสระที่พึงประสงค์ รวมถึงผลสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์ที่ไม่ต้องการออกนอกระบบ พร้อมจะขอคำยืนยันจากรองนายกรัฐมนตรีว่าในการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับนั้นยังให้ขึ้นกับการตัดสินใจของประชาคมหรือไม่ เนื่องจาก ปอมท. นำเสนอผลสำรวจดังกล่าวต่อผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ผู้บริหารกลับไม่ยอมรับฟัง และปล่อยให้กระบวนการทางกฎหมายยังดำเนินต่อไป เหมือนว่าหากเงียบไว้ไม่นานกฎหมายก็จะแล้วเสร็จและสามารถปรับเปลี่ยนสถานภาพได้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ ในวันที่ 18-19 ม.ค. ปอมท. จะได้จัดประชุมสมัยสามัญที่เชียงใหม่ เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานคัดค้านการปรับเปลี่ยนสถานภาพว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และอาจจะล่ารายชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อ อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าประชาคมมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกแนวทางการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 7)





เอกชนยังขัดโฮมสคูลพ่อแม่จัดเองไม่อิงรัฐ

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในกรณีการจัดทำร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (โฮมสคูล) โดยได้รับรายงานจาก นายอำรุง จันทวานิช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างกฎกระทรวงว่า ได้มีการยกร่างกฎกระทรวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทำหน้าที่อนุญาตการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลตามหลักการของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของศธ. ส่วนการวัดผลนั้นครอบครัวสามารถดำเนินการเองได้ตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนการประเมินผล กำหนดให้มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ประเมินเท่านั้น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานตามที่กระทรวงกำหนด ส่วนการส่งเสริม กำกับและติดตามหรือตรวจสอบ ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานในส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการและสำนักงานเขตพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 7)





ศธ.จับมือแพทย์รามาลดภัยเครื่องเล่น

นางจรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการสัมมนาเรื่อง โรงเรียนสร้างเสริมความปลอดภัยว่า จากการศึกษาการตายของเด็กไทย พบว่าเด็กอายุ 1-14 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุคือ การจมน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กโตซึ่งเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ในแต่ละปียังมีเด็กที่ได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุเล็กๆ อีกประมาณ 150,000 คน ขณะเดียวกันต้องรับรักษาในห้องฉุกเฉินถึงปีละ 2,000,000 คน จากตัวเลขดังกล่าวพบว่าเด็กไทยมีความเสียงกับการตายด้วยอุบัติเหตุสูงมาก จึงได้ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำการเก็บข้อมูลการบาดเจ็บและหาจุดอันตรายเพื่อวิเคราะห์หาทางแก้ไขและปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย โดยจะมีการนำร่องโรงเรียนในกทม. 5 แห่ง คือ ร.ร.ประชานิเวศน์ (ประถม) ร.ร.ไทยนิยมสงเคราะห์ ร.ร.อนุบาลวัดปรินายก ร.ร.วัดโบสถ์และ ร.ร.สวนบัว ก่อนที่จะขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 7)





ชงครม.พิจารณางบฯหนุนสูตรครูพันธุ์ใหม่

นายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ กล่าวว่า การผลิตครูรุ่นใหม่นั้น ครูจะต้องมีคุณสมบัติ 8 ประการ ประกอบด้วย 3 พื้นฐานและ 5 ทักษะ ได้แก่ พื้นฐานด้านคุณลักษณะส่วนตัวพื้นฐานด้านทักษะ และพื้นฐานด้านการคิดให้เชื่อมโยงกับผู้เรียน ส่วนทักษะทั้ง 5 ได้แก่ ทักษะด้านการจัดการ ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ ทักษะในการจัดการข้อมูลข่าวสารทั้งการเก็บ การใช้ข้อมูลข่าวสาร ทักษะการทำงานเป็นหมู่คณะ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายและได้รับมอบหมายจากนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรผลิตครูรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตร 5 ปี โดยคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยและสถาบันราชภัฏ ตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะผลิตครูรุ่นใหม่โดยยึดหลักการดังกล่าวปีละ 2,500 คน ในระหว่างการเรียนการสอนนั้นจะให้นักศึกษาครูเหล่านี้ ได้สัมผัสกับวิชาชีพครูอย่างแท้จริงตั้งแต่ปี 1 โดยร่วมมือกับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเรียกว่า “โรงเรียนร่วมพัฒนา” และให้ครูในโรงเรียนเป็นพี่เลี้ยง (สยามรัฐ เสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 7)





นักวิชาการชี้ระบบเอนท์แบบใหม่โหดกว่าเดิม

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ จัดเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปการเรียนรู้สู่สุขภาวะของเด็กและเยาวชนไทย” ที่โรงเรียนบ้านคลองบัว เพื่อรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องและตัวแทนเด็กนักเรียนและผู้ปกครองว่าในยุคที่กำลังมีการปฏิรูประบบต่างๆ มากมายในสังคม ทั้งการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูประบบสุขภาพจะทำอย่างไรให้เด็กไทยมีความสุข เก่งและดี รศ.สมพงษ์ ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับระบบการสอบเอนทรานซ์ในระบบปัจจุบันว่า เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังใช้ระบบเอนทรานซ์อยู่ โดยเฉพาะประเทศไทยมีความพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบแอดมิชชั่นสร้างความสับสนและไม่ถูกต้อง กล่าวคือระบบแอดมิชชั่นที่แท้จริงมหาวิทยาลัยต้องทำงานหนักขึ้น และลงไปสัมภาษณ์คัดตัวเด็กไม่ใช่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างและรอให้เด็กมาสมัครให้คัดเลือกเหมือนเก่า และก็เลือกแต่เด็กที่เก่งเข้าสู่ระบบ (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 7)





ปรับเกณฑ์รับนักศึกษาแพทย์ใหม่เริ่มปี 2549

น.พ.เอื้อพงษ์ จตุรธำรงค์ รองคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลเปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ สำหรับปีการศึกษา 2549 ซึงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้นำผลการเรียนและคะแนนต่างๆ จากโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักทดสอบกลางแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นในอนาคต มาใช้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ จะใช้ผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร (GPA) สัดส่วน 5% ค่าตำแหน่งลำดับที่ (PR) 5% คะแนนผลการทดสอบระดับชาติ National Test (NT) 8 กลุ่ม สาระการเรียนรู้ 40% และการสอบวิชาหลัก 3 วิชาได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และวิชาเฉพาะ หรือความพร้อมในการเรียน ตามแต่ละสาขาวิชาจะกำหนดอีก 50% เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาคะแนน NT 40% จะช่วยให้เด็กตั้งใจเรียนรู้ใน 8 กลุ่มสาระวิชา สำหรับการสอบวิชาหลักหากเป็นไปได้ควรจัดสอบคราวเดียวกับการสอบ NT และที่ไม่ใช้คะแนน SAT เพราะเห็นว่าข้อสอบเป็นแบบเลือกคำตอบที่สามารถกวดวิชาได้ ดังนั้นจึงจะใช้วิธีสอบประเมินความสามารถ ความพร้อม และทักษะในการศึกษาโดยตรงแทน (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2546 หน้า 8)





“กษมา” รุก สปช. แก้ไขปัญหานักเรียนออกกลางคัน

ตามที่กองนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) สำรวจนักเรียนที่ออกกลางคันในปีการศึกษา 2544 ในสังกัด สปช. พบว่าออกกลางคันเป็นจำนวนมาก สาเหตุมาจากการอพยพตามผู้ปกครองไปทำงานต่างถิ่นนั้น ดร.กษมาวรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สมัยที่ตนเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีหลายโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น ขอให้โรงเรียนดูแลนักเรียนที่ผู้ปกครองต้องอพยพไปทำงานตามที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เด็กต้องออกกลางคัน ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ไม่ต้องห่วงหรือกังวลว่าลูกจะไม่ได้เรียนหนังสือ โดยโรงเรียนอาจจะจัดเป็นหอพักให้นักเรียนได้อาศัยอยู่ในโรงเรียนจนกว่าจะเรียนจบ แต่หากผู้ปกครองต้องการให้ลูกร่วมเดินทางไปด้วยจริงๆ ก็ให้โรงเรียนเก่าของเด็กประสานกับโรงเรียนใหม่ในพื้นที่ที่ผู้ปกครองจะเดินทางไปทำงาน ให้รับเด็กเข้าเรียนและจัดค่าอาหารกลางวัน รวมทั้งอาหารเสริมนมโรงเรียนเพิ่มให้ในภายหลัง (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2546 หน้า 15)





วุฒิฯจี้รัฐบาลยกเลิกสอบคัดเลือก นศ.

นายผ่อง เล่งอี้ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนาศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา เผยผลประชุมกรรมาธิการการศึกษาฯวุฒิสภาว่า ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย อธิการบดี และนักวิชาการหารือการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (เอ็นทรานซ์)ที่สร้างปัญหา จึงเห็นควรให้ยกเลิกและกำหนดวันที่ 23 ม.ค. นี้ จะเชิญนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ. มาชี้แจงปัญหาการสอบเอ็นทรานซ์การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่สถานศึกษารัฐและเอกชนที่ต่างกัน ปัญหานมโรงเรียนที่จะให้สถานศึกษาหรือองค์การบริหารส่วนตำบลจัดซื้อ แม้แต่เรื่องการศึกษาสงฆ์ว่าจะดำเนินการอย่างไร นายวิบูลย์ แช่มชื่น รองประธารคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ วุฒิสภา กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ทบวงฯ ยกเลิกระบบการสอบคัดเลือกนักศึกษาเนื่องจากทำให้ระบบการศึกษาเสียหาย เพราะทำให้เด็กมุ่งกวดวิชาโดยเฉพาะเด็ก ม.6 ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยกลับเป็นผู้ออกข้อสอบเท็นทรานซ์ ที่นำเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัยมาออก ยิ่งผลักดันให้เด็กกวดวิชา จึงเห็นควรคืนอำนาจให้มหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาเอง เพราะสถาบันอุดมศึกษามีเพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาทั้งหมดหากไม่คืนอำนาจให้ถือว่าขัดกับหลักความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย สวนทางกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งผู้ปกครองบางคนชี้แจงว่าจะยื่นฟ้องรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวต่อศาลปกครอง (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2546 หน้า 15)





“ทักษิณ” โยนนักการศึกษาคิดเอนทรานซ์ระบบใหม่เอง

จากการประชุมเรื่องนโยบายการพัฒนาระบบอุดมศึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหากต้องการจะพัฒนาการศึกษาเราต้องยอมรับก่อนว่าเรามีปัญหาด้านการศึกษาและอยากทำให้ดีขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่านักการศึกษารู้ว่าเรามีปัญหาและอยากที่จะพัฒนา ดังนั้นเราต้องมาร่วมมือกันกำหนดทิศทางว่าควรจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการทำให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ และบูรณาการความรู้จากที่เรียนมาแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนจุดอ่อนของการศึกษาไทยก็มีจุดอ่อนตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งหากจะแก้ต้องใช้เวลาและยากที่จะปรับเปลี่ยน เนื่องจากครูที่ผลิตไว้แต่เดิมไม่ค่อยแข็งแรง แต่ตนเชื่อว่าทุกคนอยากปรับปรุงซึ่งก็ต้องเหนื่อยกันบ้าง และนายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า “เรื่องการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาผมคงไม่ไปสั่งให้หันซ้ายหันขวาหรือจะเอาวิธีไหนเพราะผมไม่ใช่นักการศึกษา ดังนั้นให้นักการศึกษาไปคุยกันเอง แต่ระบบดังกล่าวควรจะทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบไม่ใช่อยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่ไปติดคณะครุศาสตร์ หรือต้องเลือกคณะที่คิดว่าจะสอบติดแทนที่จะเลือกคณะที่ชอบ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีจิตวิญญาณที่จะเรียนและทำให้เครียด ถือเป็นการเอนทรานซ์แบบเหมาเข่งซึ่งผมไม่รู้ว่าระบบแอดมิชชั่นแบบใหม่จะทำได้หรือไม่ ส่วนเรื่องออกนอกระบบผมไม่บังคับ ขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ถ้าพร้อมเร็วก็เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นทุกคนต้องไปช่วยกันคิดว่าจะทำกันอย่างไร” (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 10)





ม.กรุงเทพสร้างไซเบอร์เซ็นเตอร์

ผศ. สมจิตต์ ลิขิตถาวร ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษา และอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาและคณาจารย์ จึงมีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบไอที จัดทำโครงการอีเลิร์นนิ่งและบริการเว็บเซอร์วิสที่ครบวงจร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ลงทุนจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เอชพีกว่า 1,600 เครื่อง เพื่อสร้างไซเบอร์เซ็นเตอร์ (Cyber Center) ห้องปฏิบัติการแบบใหม่ พร้อมขยายระบบอินทราเน็ตรองรับการใช้งานของคณาจารย์และนักศึกษา ล่าสุด ในปีการศึกษา 2546 นี้นักศึกษาใหม่จะมีบัตรนักศึกษาแบบสมาร์ทการ์ดในลักษณะบัตรเติมเงิน เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำบัตรดังกล่าวจ่ายค่าบริการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยแทนการพกพาเงิน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมพร้อมจัดตั้งจุดเติมเงินเพื่อให้บริการและในอนาคตจะขยายงานบัตรนักศึกษาดังกล่าวให้สามารถใช้งานร่วมกับร้านค้าหรือหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยได้ต่อไป สำหรับไซเบอร์เซ็นเตอร์เป็นห้องปฏิบัติการที่จัดทำขึ้นในแนวคิดการเรียนรู้แบบ Edutainment ซึ่งปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยมีลักษณะเสมือนห้องอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่ที่มุมหนึ่งจัดเป็นพื้นที่สำหรับดีเจใช้ในการเปิดเพลงหรือบางครั้งประยุกต์ใช้เป็นเวทีสำหรับวิทยากรบรรยายมีจอภาพขนาดใหญ่ และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นักศึกษาสามารถเข้าไปใช้บริการในการค้นคว้าหาข้อมูล ฟังเพลง ฟังการบรรยายพิเศษและบริการอื่นๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเสริมการเรียนรู้ (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


จีนเตรียมส่งคนขึ้นสู่อวกาศ

หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของปี 2545 ที่ผ่านมา หยวน จี้ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินอวกาศเซี่ยงไฮ้ ก็เปิดเผยว่าทางการจีนเตรียมส่งยาวอวกาศทีมีมนุษย์อวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลกให้ได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะถือเป็นการเปิดศักราชใหม่สำหรับการเดินทางสำรวจอวกาศของทางการจีนเลยทีเดียว ยานเฉินโจว 4 ขึ้นไปโคจรอยู่บนห้วงอวกาศเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2546 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักวิทยาศาสตร์ด้านการบินอวกาศของจีน ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิน ของจีนถึงกับประกาศว่าความสำเร็จของเฉินโจว 4 เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ทำให้เชื่อว่าการส่งมนุษย์อวกาศของจีนขึ้นสู่ห้วงอวกาศนั้นคงเป็นไปได้ในเวลาอีกไม่นาน จนถึงขณะนี้มีเพียงสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเท่านั้นที่สามารถส่งนักบินอวกาศขึ้นไปกับยานอวกาศของตนได้ นักบินอวกาศจากประเทศอื่นๆ จะขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศก็จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์การบินอวกาศทั้ง 2 ชาติ กำหนดส่งยานอวกาศเฉินโจว 5 นั้นยังไม่มีการกำหนดแน่นอนแต่คาดกันว่าสามารถเป็นไปได้ภายในสิ้นปี 2546 นี้ (มติชน อังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 19)





ก.วิทย์เปิด ‘คลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัย-รภ.พร้อมหนุน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ประกาศโครงการจัดตั้งคลินิกเทคโนโลยีขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากสนใจที่จะร่วมเปิดคลินิกเทคโนโลยีอย่างมาก แต่ได้ให้นโยบายว่าหากจะเปิดต้องมีความพร้อมทุกด้าน ไม่ใช่แค่การทำงานแบบผักชีโรยหน้าหรือไฟไหม้ฟางเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะจุดประสงค์ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำโครงการนี้เพื่อต้องการช่วยเหลือให้คนในชนบทได้มีแหล่งในการปรึกษาปัญหา และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจริงๆ ทั้งนี้ การทำงานจะเน้นเชิงรุก โดยจะจัดส่งนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ลงไปยังสถาบันการศึกษาและลงไปพบกับชาวบ้านในพื้นที่จริง โดยได้ขอความร่วมมือไปทางสถานีวิทยุกระจายเสียงช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวบ้านเตรียมเข้ามาพบปะพูดคุยกันที่คลินิกเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้อย่างน้อย 4-5 แห่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ด้านนายศักดิ์สิทธ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้มีสถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นครราชสีมา อุดรธานี รำไพพรรณี ยะลา สนใจเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตามในอนาคตทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คาดหวังว่าคลินิกเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคได้ในที่สุด เพราะการทำงานของคลินิกฯ จะครบวงจร ตั้งแต่ปัญหาระดับล่างของเกษตรกรจนถึงการทำงานให้คำปรึกษาด้านไฮเทคมากๆ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ส่วนงบประมาณนั้นทางกระทรวงใช้วิธีการปรับแผนงานจากกรมต่างๆ แทนการตั้งงบประมาณใหม่ ดังนั้น จึงทำให้ตัดปัญหาในเรื่องนี้ (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 18)





มาเลย์ทุ่มทุนสร้างแล็บไฮเทคแข่งจีน-อินเดีย

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่ารัฐบาลมาเลย์เซีย มีแผนสร้างห้องทดลอง (แล็บ) มูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์เพื่อใช้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แข่งกับประเทศจีนและอินเดีย ที่กำลังมีระดับการเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว นายโมฮัมหมัด อาริฟ นัน หัวหน้าฝ่ายบริหารบริษัทมัลติมีเดีย เดเวลอปเม้นท์ คอร์เปอเรชั่น องค์กรซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลเปิดเผยว่าการสร้างห้องทดลองที่ทันสมัยเช่นนี้มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมาเลเซียกำลังมีนโยบายเปลี่ยนโฉมจากการเป็นฐานการผลิตและประกอบชิ้นส่วนเพื่อกลายเป็นแหล่งค้นคว้าและพัฒนาเทคโนลยี ตึกห้องทดลองแห่งใหม่ จะสร้างขึ้นในเมืองไซเบอร์จายา ศูนย์กลางเทคโนโลยีของประเทศนอกเมืองกัวลาลัมเปอร์ และจะมีต้นทุนก่อสร้างราว 18 ล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงค่าติดตั้งห้องแล็บและอุปกรณ์ทดสอบอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย ห้องทดลองด้านนาโนเทค สำหรับใช้ค้นคว้าเทคโนโลยีในระดับโมเลกุล เพื่อใช้ในการผลิตอุปกรณ์หรือโปรแกรมที่ต้องอาศัยชิ้นส่วนและแผงวงจรขนาดจิ๋วต่อไป ขณะที่แหล่งข่าววงในรายหนึ่งคาดว่า ค่าใช่จ่ายที่เหลือมีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างตัวตึกหลายเท่า นายซาเด็ก ฟาริส ผู้อำนวยการบริษัทเรวิโอ หนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทอินเวนท์คิวจายา ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้บริหารห้องทดลองดังกล่าว เปิดเผยว่าโครงการนี้จะประกอบด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์จากนิวยอร์ก และมาเลเซีย ฝ่ายละ 10-15 คน โดยคาดว่าห้องทดลองจะสร้างเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มกราคมปีหน้า (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 5)





โคลนนิงหมูสร้างอวัยวะอะไหล่

ศาสตราจารย์แรนดอลพราเธอร์ จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี-โคลัมเบีย ประกาศความสำเร็จในการโคลนนิงหมูจิ๋วซึ่งเชื่อว่าเป็นก้าวแรกในการใช้อวัยวะหมูเป็นอวัยวะอะไหล่เปลี่ยนถ่ายให้แก่คน โดยศาสตราจารย์พราเธอร์เผยว่า จีจีทีเอส 1 อันเป็นยีนทำให้เกิดกระบวนการปฏิเสธไม่รับอวัยวะใหม่หลังการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ โดยศาสตราจาย์พราเธอร์และคณะมีแผนจะทดลองเปลี่ยนอวัยวะจากหมูที่ปราศจากยีนจีจีทีเอ 1 ให้แก่คน ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 27)





5 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ ปี 2545

1. กำเนิดมนุษย์โคลนนงคนแรกของโลก มนุษย์โคลนนิงคนแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2545 เป็นทารกเพศหญิง ชื่อ อีฟ จากเซลล์ต้นแบบของผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่ง อายุ 31 ปี ทั้งนี้ตามการประกาศของบริษัท Clonaid ซึ่งเป็นส่วนธุรกิจของลัทธิ Raelian มีนาย Claonaid ซึ่งเป็นส่วนธุรกิจของลัทธิ Raelian มีนาย Claude Vorihon เป็นหัวหน้าลัทธิและมีนักวิทยาศาสตร์หญิง Brigitte Boisselier เป็นหัวหน้าโครงการสร้างศูนย์โคลนนิงของบริษัท Clonaid และเป็นผู้ประกาศข่าวกำเนิดมนุษย์โคลนนิงคนแรกนี้ 2. หลักฐานใหม่สนับสนุนนิวตริโนมีมวล สำหรับวงการดาราศาสตร์ปี พ.ศ. 2545 นับเป็นปีของนิวตริโนทีเดียว เพราะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2545 ผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลส่วนหนึ่ง เป็นของนักฟิสิกส์อเมริกัน (Raymond Davis JR.) และญี่ปุ่น (Masatoshi Koshiba) ผู้ทำการทดลองตรวจหาและพบนิวตริโน และเมื่อเดือนเมษายน 2545 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ Sudbury Neutrino Observatory ในเมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดานำโดย Art McDonald ประกาศการค้นพบหลักฐานแสดงว่า นิวตริโนมีมวลจริงยืนยันการค้นพบ เรื่องนิวตริโนมีมวลที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ 3. นักวิทยาศาสตร์สร้างแอนติไฮโดรเจนอะตอมได้เป็นปริมาณมาก แอนติไฮโดรเจนอะตอม ประกอบด้วยแอนติโปรตอน และโปสิตรอน คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ CERN ในเจนีวา เคยประสบความสำเร็จสร้างแอนติไฮโตรเจนอะตอมมาแล้ว แต่เป็นจำนวนน้อย เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2545 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ CERN มี Jeffrey Hangst เป็นผู้ประสานงานโครงการ ประกาศว่า สามารถสร้างแอนติไฮโดรเจนอะตอม เป็นจำนวนหนึ่งได้แล้ว คือ หลายแสนอะตอมซึ่งมากพอสำหรับการศึกษาปฏิสสารอย่างจริงจังต่อไป 4. พบหัวกะโหลกมนุษย์โบราณอายุ 7 ล้านปี เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2545 คณะนักวิทยาศาสตร์ศึกษาชีวิตโบราณ นำโดย Michel Bruner แห่ง University of Poiter ในฝรั่งเศส ประกาศการค้นพบหัวกะโหลกบรรพบุรุษมนุษย์โบราณ อายุเกือบ 7 ล้านปี (ค้นพบจริงๆ ปี 2544 แต่รอผลการตรวจสอบอายุ) ที่ทะเลทราย Djourab Desert ในประเทศชาติ แอฟริกามีขนาดเล็กคล้ายลิง แต่มีลักษณะของใบหน้าและฟันคล้ายมนุษย์มากกว่าลิง ได้รับการตั้งชื่อตามภาษาท้องถิ่น Goran ว่า Toumai แปลว่า “ความหวังแห่งชีวิต” การค้นพบ Toumai มีผลต่อทฤษฏีวิวัฒนาการของมนุษย์ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่ามนุษย์กับลิงแยกสายพันธุ์กันเมื่อประมาณ 5 หรือ 6 ล้านปีก่อน แต่การค้นพบใหม่นี้แสดงว่ามนุษย์กับลิงเริ่มแยกสายพันธุ์กันเร็วกว่าเดิม เป็นประมาณ 7 ล้านปีก่อน 5. นักวิทยาศาสตร์ย้ายแสงเลเซอร์ได้สำเร็จ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2545 คณะนักวิทยาศาสตร์นำโดย Pink Koy Lam แห่ง Australian National University กรุงแคนเบรา ประเทศออสเตรเลีย รายงานความสำเร็จในการย้าย “ช่วงหนึ่งของแสงเลเซอร์” จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ห่างไกลออกไปหนึ่งเมตรได้สำเร็จ โดยวิธีการใช้สัญญาณวิทยุเป็นตัวเพื่อตรวจสอบส่งเข้าไปอยู่กับแสงเลเซอร์ที่ตำแหน่งหนึ่ง (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 8)





สกัดไข่แดงแรงฤทธิ์ ทำยาแก้พิษถูกงูกัด

วิธีการแก้พิษงูดังกล่าวเป็นวิธีใหม่ ซึ่งจะสกัดเอาภูมิคุ้มโรคจากไข่ไก่ซึ่งมีอยู่มากในไข่แดงออกมาผลิตเป็นสารต้านพิษ นาย พี.วี. ซับบาราว ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์แห่งมูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ วัตตัลมาลยา (VMSRF) ในเมืองบังกาลอร์ กล่าวว่า ได้ใช้เวลาถึง 3 ปีในการวิจัยสารต้านพิษจากไข่ไก่ที่นอกจากคุ้มค่าเรื่องราคาแล้วยังไม่มีผลข้างเคียงอีกด้วย ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิฯ กล่าวว่า “เมื่อเราศึกษาด้านพิษเสร็จสมบูรณ์แล้ว เราก็จะเป็นรายแรกของโลกที่จะฉีดภูมิคุ้มโรคของไก่ใส่ไปในตัวมนุษย์ได้” อันเนื่องมาจากที่ผ่านมา การที่จะให้ภูมิคุ้มโรคของไก่ทำงานได้นั้นก็มีแต่เพียงการกินเข้าไปเท่านั้น การทดสอบด้านต่างๆ ของยาแก้พิษงูจากไข่ไก่ที่ว่านี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีหน้า (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2546 หน้า 7)





กล่องไฮเทคดักจับการสื่อสาร

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทัพสหรัฐได้นำเทคโนโลยีตัวล่าสุดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการโจมตีของศัตรูและผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีวัตถุประสงค์การใช้งานที่หลากหลายมาโชว์ในงาน นอร์ท อเมริกัน อินเตอร์ เนชั่นแนล ออโต้ โชว์ ในเมืองดีทรอยต์ โดยอุปกรณ์นี้มีชื่อว่า “Smar Truck II” เป็นที่ใช้ติดตั้งในห้องคนขับของรถถัง มีลักษณะเป็นกล่องซึ่งประสานการทำงานเข้ากับเทคโนโลยีสุดไฮเทค อาทิ ระบบแผนที่ (3-D mapping system) และระบบการติดต่อสื่อสาร (Communication system) รายงานข่าวระบุว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถตรวจสอบการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ได้ หากผู้คนในบริเวณรอบๆ พื้นที่ที่สำรวจมีการติดต่อสื่อสารกันทางอีเมลในเรื่องที่ไม่ประสงค์ดี Smar Truck II จะทำการตอบอีเมลเองโดยอัตโนมัติ เพื่อให้คนที่ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เกิดความสับสน ถ้าไม่สำเร็จอุปกรณ์ของกองทัพชิ้นดังกล่าวจะทำลายระบบการสื่อสารของผู้ใช้นั้นทันทีเพื่อรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ อุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาโชว์ในงาน ใช้งบในการสร้างประมาณ 1 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปติดตั้งไว้ในเครื่องบินขนาดเล็ก เพื่อใช้ลาดตระเวนตรวจตราความเรียบร้อยบริเวณชายแดน และชายฝั่งทะเลได้ เนื่องจากระหว่างที่บินอุปกรณ์จะส่งภาพมายังหน้าจอมอนิเตอร์ของผู้ที่ควบคุมซึ่งอยู่บนฝั่งด้วย (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 16)





ชีวสารสนเทศศาสตร์

“ Bioinformatics” เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำข้อมูลทางชีววิทยามาใช้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งการจัดเก็บ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์แบบต่างๆ สำหรับเปรียบเทียบ วิเคราะห์ คำนวณ และประเมินผล ข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นจากคอมพิวเตอร์ระดับองค์กรหรือระหว่างองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายสารสนเทศต่างๆ Bioinformatics ได้ถูกใช้ในการหาคำตอบหรือตอบคำถามทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในหลายรูปแบบ ซึ่งเดิมทำได้ยากหรือไม่อาจทำได้เลย นับเป็นเครื่องมือที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบหลัก (paradigm shift) ของการค้นคว้าวิจัย จากแบบดั้งเดิม ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องปฏิบัติการ มาเป็นการผสมผสานกับการสืบค้น วิเคราะห์ หรือทำการทดลองบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (dry lab) โดยการจำลอง (simulation) โดยใช้ข้อมูล (digital data) เป็นวัตถุดิบ จากนั้นจึงนำกลับมาวิจัยในห้องปฏิบัติการ (wet lab) เพื่อยืนยันผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินหรือวิเคราะห์ผลจากข้อมูลเหล่านั้น อันเป็นการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนา ข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 10)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เกมปั่นจักรยานได้สาระแถมลดไขมัน

นายสมโภช โพธิ์สินสมวงศ์ น.ส.วิราณี ทองนุช และ น.ส.สุภาภรณ์ วังศรีสุรพร นักศึกษาชั้นปี 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของผลงาน เล่าว่า Bicycle Simulation เป็นเกมที่สร้างขึ้นเพื่อให้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์มีความเสมือนจริงมากขึ้น โดยนำจักรยายมาทำเป็นตัวควบคุมเกมการเล่นแทนแป้นควบคุมปกติ โดยติดตั้งกล่องควบคุม (ตัวเซ็นเซอร์) ไว้ที่จักรยาน เพื่อวัดความเร็วในการปั่นและวัดองศาในการเลี้ยว พร้อมกับติดชุดนิวเมติกไว้ที่ส่วนหน้าของจักรยานเพื่อช่วยให้การขี่ขึ้น-ลงเนินได้ความรู้สึกเสมือนเข้าไปอยู่ในฉากจริง “ระหว่างที่ผู้เล่นปั่นจักรยานไปตามพื้นที่ต่างๆ ในฉาก ซึ่งเขียนด้วยโปรแกรม Visual basic ตัวเซ็นเซอร์จะทำการจับความเร็วและองศาที่เลี้ยว โดยส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง โดยมีตัวนิวเมติกซึ่งใช้แรงลมในการอัดทำหน้าที่ยกแฮนด์ขึ้นลงเมื่อเจอกับเนินต่างเล็กใหญ่ ซึ่งลูกยางที่ติดอยู่บริเวณล้อหลังก็จะช่วยเพิ่มความฝืดและทำให้การปั่นจักรยานแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานมากขึ้น” ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ปรากฏบนหน้าจอ เบื้องต้นมีให้เลือกเล่นเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น โดยแต่ละจังหวัดจะมีการนำเสนอของดีของดังประจำจังหวัดและจุดสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแต่ละอำเภอที่ปั่นจักรยานผ่าน เพื่อให้ผู้เล่นได้รับความรู้ควบคู่กับความสนุกสนาน ที่สำคัญยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวของไทย แต่ที่โดดเด่นกว่าเกมคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น คือ การที่หน้าจอคอมพิวเตอร์มีการแสดงผลของปริมาณพลังงานที่ใช้ หรือ ปริมาณแคลอรี่ที่ถูกเผาผลาญในการปั่นจักรยานและระยะเวลาที่นั่งปั่นอยู่บนเบาะด้วย เพื่อเตือนให้ผู้เล่นรู้ว่าหมดเวลาเล่นแล้วด้วย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 12)





แพทย์มข.สร้างชื่อกระฉ่อนสร้างเครื่องวางยาสลบได้เอง

แพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นสร้างชื่อเสียงดังกระฉ่อนโลก ประดิษฐ์เครื่องวางยาสลบ “EARCORCUIT” ราคาแค่ 5 พันบาท ต่างกันลิบลับกับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศที่สูงถึง 6 แสนบาทแถมมีประสิทธิภาพเทียบเท่าทุกประการ หลังจากใช้เวลาคิดค้นมานานเกือบ 5 ปี แนะโรงพยาบาลรัฐที่สนใจนำไปใช้ ก่อนขอจดลิขสิทธิ์อุปกรณ์เพื่อการค้าต่อไป รศ.นพ.สรรชัย ธีรพงศ์ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิสัญญีแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยและคิดค้นเครื่องวางยาสลบแบบใหม่ เปิดเผยว่า เครื่องวายาสลบตัวนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้เกือบ 80% จากเดิมที่ประเทศไทยเคยซื้อเครื่องวางยาสลบจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงประมาณเครื่องละกว่า 1.3 แสนบาท หากเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ราคาอาจสูงถึง 6-7 แสนบาท (สยามรัฐ พุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 25)





ม.เกษตร พัฒนาเถ้าลอยลิกไนต์ใช้แทนปูนซีเมนต์

รศ.ดร.ประเสริฐ สุวรรณวิทยาและ รศ.ดร.สุวิมล สัจจวาณิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีมวิจัยรุ่นเก๋าที่พัฒนาเถ้าลอยลิกไนต์ ให้มีประโยชน์หลากหลายใช้แทนปูนซีเมนต์ได้ยอดเยี่ยมจนได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีเด่น กลุ่มพัฒนาเถ้าลอยลิกไนต์ไทย ประจำปี 2545 ในวันเทคโนโลยีแห่งชาติที่ผ่านมา ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ หัวหน้าโครงการย่อยๆ เปิดเผยว่า ได้ศึกษาเถ้าลอยมาเป็นเวลานาน ประกอบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาการนำเถ้าลอยลิกไนต์มาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รางวัลนักวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมในงานวิจัยได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 13 คน ฉะนั้นหากเราสามารถนำเถ้าลอยลิกไนต์ไปใช้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยลดภาระให้กับการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงคือ ลดภาระในด้านการกำจัดทิ้งเถ้าลอยให้ลดลง และทางอ้อมยังเป็นการช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 7)





นักวิจัยปั่นขี้เถ้าโรงไฟฟ้าให้เป็นเงิน ใช้ผสมคอนกรีตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางหรือที่เรียกว่า “เถ้าลอย” เกิดจากการเผาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เป็นแหล่งเถ้าลอยใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเถ้าลอยเกิดขึ้น 2 ล้านกว่าตันต่อปี ทุกวันทางโรงต้องลำเลียงไปทิ้งวันละ 5,000 ตันทุกวัน จากที่เป็นขยะเหลือทิ้งปีละกว่า 2 ล้านตัน ปัจจุบันเถ้าลอยกลายเป็นสินค้าที่มีราคาตันละ 120 บาท และต้องสั่งซื้อข้ามปี ดร.พิชัย นิมิตยงสกุล จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงประโยชน์ของเถ้าลอยลิกไนต์ว่าเถ้าลอยมีคุณสมบัตเป็นตัวเชื่อมประสานที่ดี เมื่อนำไปใช้ทดแทนปูนซิเมนต์ ทำให้เนื้อคอนกรีตแน่นขึ้น ทึบขึ้น ส่งผลให้น้ำ ความชื้น และความเค็มผ่านเข้าไปในเนื้อปูน รวมถึงเนื้อเหล็กภายในได้ยากขึ้น ทำให้คอนกรีตทนทานต่อการกัดกร่อนความเค็ม การค้นพบจากทีมวิจัยได้ยืนยันคุณสมบัติของเถ้าลอยจากเมืองแม่เมาะว่า มีคุณสมบัติของเถ้าลอยจากเหมืองแม่เมาะว่ามีคุณสมบัติที่ดีมากสำหรับการนำมาใช้ผสมกับปูนซิเมนต์ในการหล่อคอนกรีต (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2546 หน้า 7)





พืชผลไม้ชิมเหล้าไวน์แดงก็มีคุณ ยืดอายุให้สดทนนานถึงอีกเท่าตัว

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอมเพลเตนส์ ที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของประเทศสเปน ได้พบในการศึกษาว่าผลแอปเปิ้ลที่แช่ในน้ำยาของสารทรานส์-เรสเวราทรอล อันเป็นสารที่เชื่อว่าสรรพคุณเป็นตัวล้างพิษในหล้าไวน์ จะสามารถเก็บไว้ได้นานแค่ตามปกติได้ 2 อาทิตย์ ไปเป็นนานถึง 3 เดือน แม้แต่กับองุ่นก็เช่นกัน ทำให้มันถูกเก็บเอาไว้ได้นานขึ้นอีกเท่าตัวได้ถึง 2 อาทิตย์ เพราะสารนั้นได้ฆ่าเชื้อราที่มารบกวนตามผลไม้ลงได้ นอกจากนั้นยังช่วยต้านโรคศัตรูพืชผัก อันเกิดจากเชื้อราต่างๆ อื่นๆ อีกด้วย เป็นที่เชื่อกันมาว่า สารทรานส์-เรสเวราทรอล เป็นตัวการที่ทำให้เหล้าไวน์แดงมีสรรพคุณ ช่วยป้องกันรักษาโรคหัวใจ และแม้แต่โรคมะเร็ง กับผู้ที่ดื่มเพียงแค่พอดี เพราะมันได้ช่วยล้างพิษของสารที่เรียกว่า พวกตัวอนุมูลอิสระ อันเป็นเหมือนกับขยะของปฏิกิริยาเคมีของเซลล์ตามปกติ พวกตัวอนุมูลอิสระเหล่านี้ จะกัดกร่อนเนื้อเยื่อถ้าหากปล่อยให้มันสะสมอยู่นานๆเข้า (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2546 หน้า 7)





วิจัยกวาวเครือขาว ทำยาคุมธรรมชาติ

นพ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงโครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์กวาวเครือว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีโครงการที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาการปลูกกวาวเครือขาวเพื่อให้ได้มาตรฐาน ในอนาคตอาจผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการพาณิชย์ที่ได้มาตรฐานเนื่องจากในกวาวเครือขาวมีฮอร์โมนที่เรียกว่าไฟโตรเอสโตรเจนอยู่มาก อาจจะวิจัยเพื่อพัฒนากวาวเครือขาวให้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดจากธรรมชาติแทนที่จะต้องนำเข้ายาเม็ดคุมกำเนิดสังเคราะห์ และประเทศไทยก็จะเป็นเจ้าของสิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยนี้แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็กำลังอยู่ในระดับหนึ่ง โดยในขั้นต้นนี้จะเสนอขอทุนวิจัยประมาณ 20 ล้านบาท (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2546 หน้า 15)





คนไทย 60% ค้านโคลนนิงมนุษย์ หวั่นสร้าง “คนเลว-ผิดธรรมชาติ”

ศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา รามคำแหงโพลล์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานคร 1,494 คน ในหัวข้อ “โคลนนิง! มนุษย์อัดสำเนา : คนไทยยอมรับหรือไม่” โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.9 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ที่เหลือเป็นปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีพบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 60 ไม่ยอมรับการจำลองแบบพันธุกรรม หรือโคลนนิงมนุษย์ สำหรับกลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรทำ ร้อยละ 75.9 ให้เหตุผลว่า อาจมีการโคลนนิงคนที่ไม่มีคุณธรรมขึ้นมา เป็นอันตรายต่อสังคม รองลงมาร้อยละ 70.6 เห็นว่า ร่างกายอาจจะเหมือนกัน แต่จิตใจอาจไม่เหมือนกัน ร้อยละ 69.0 เห็นว่ามนุษย์ที่โคลนนิงขึ้นมา จะรู้สึกว่าตนไม่ได้เกิดจากความรักของพ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศตามธรรมชาติ ร้อยละ 68.8 เห็นว่ามนุษย์ที่โคลนนิ่งขึ้นมา จะมีความรู้สึกว่าตนปกติ ไม่เหมือนมนุษย์ที่เกิดมาโดยธรรมชาติ ร้อยละ 66.3 เห็นว่าไม่ควรทำ เพราะผิดธรรมชาติ ร้อยละ 65.6 เห็นว่าจะทำให้สับสนวุ่นวาย แยกไม่ออกว่าใครเป็นใครและร้อยละ 62.7 เห็นว่า ต้องลงทุนมาก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย (กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2546 หน้า 9)





อันตรายจากเป้นักเรียนหนัก ทำเด็กสะดุดล้มมากกว่าหลังเคล็ด

วารสารกุมารเวชศาสตร์ ในสหรัฐฯรายงานผลการวิจัยของเบรนต์ ไวเออร์ซมา แพทย์โรคกระดูกของโรงพยาบาลชุมชนไบ-เคาน์ตี เมืองวอร์เรน รัฐมิชิแกน ที่พบว่าอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่ของเด็กที่แบกกระเป๋าเป้ใบหนักไปโรงเรียนนั้นมักเกิดจากการที่ข้อถูกบิดจนขัดบวมเมื่อสะดุดล้ม หรือถูกตีจากคนอื่น รายงานดังกล่าวได้เตือนว่า ควรจะลดน้ำหนักของเป้นักเรียนลงจะได้ช่วยลดอาการบาดเจ็บดังว่าได้ถึง 1 ใน 4 นอกจากนี้ควรสอนเด็กให้ลดน้ำหนักกระเป๋าลงเสียบ้าง และไม่ควรแกว่งกระเป๋าเหมือนแกว่งกระบองก็จะช่วยให้การสะพานเป้ปลอดภัยขึ้นมาก จากรายงานของคณะกรรมการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคพบว่าในระหว่างปี 2542-2543 ในสหรัฐฯมีอาการบาดเจ็บที่มีสาเหตุมาจากเป้หลังมากกว่า 12,000 ราย ส่วนรายงานวิจัยชิ้นนี้ได้สำรวจข้อมูลนับร้อยกรณีและพบว่าประมาณ89%ของการบาดเจ็บนั้นมักเกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ของร่างกายมากกว่าบาดเจ็บบริเวณหลัง การบาดเจ็บบริเวณหลังนั้นอยู่ในลำดับที่ 6 เป็นรองจากการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือหน้า มือ ข้อมือ หัวไหล่ และเท้าหรือข้อเท้า (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2546 หน้า 7)





คิดค้นเทคนิคตรวจน้ำลาย วิธีใหม่ช่วยสิงห์อมควันเลิกบุหรี่

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ คิดค้นเทคนิคการตรวจน้ำลายแบบใหม่เรียกว่า “สโมคสกรีน” ( Smokescreen) ที่ใช้เวลาในการตรวจเพียง 10 นาที ก็สามารถตรวจวัดปริมาณนิโคตินที่ผู้สูบบุหรี่ได้รับเข้าไปในตัวเองได้ ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาเป็นรหัสสี จากนั้นก็นำไปให้ผู้สูบบุหรี่ได้ดูผลงานของตน ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูบบุหรี่ 100 คน ที่ได้รับคำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพนั้น ในจำนวนนี้ 50 คน ได้รับการทดสอบด้วยเทคนิคสโมคกรีนช่วยลดนิสัยสูบบุหรี่ลงได้มากถึง 21% เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ลดได้เพียง 6% นักวิจัยบอกว่า งานชิ้นนี้อาจมีส่วนช่วยเหลือสิงห์อมควันให้เลิกบุหรี่ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้อย่างรวดเร็วทันใจ และเชื่อถือได้ ทั้งยังช่วยประเมินตรวจวัดปริมาณนิโคตินที่เนื้อเยื่อในช่องปากได้รับจากบุหรี่ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยตรวจสอบความเกี่ยวพันกันระหว่างการสูบบุหรี่กับโรคติดเชื้อบริเวณเหงือกและอาจทำให้ฟันผุได้ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2546 หน้า 7)





มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ดำเนินโครงการทดสอบมะเขือเทศรับประทานสดสายพันธุ์ใหม่ ก่อนนำออกส่งเสริมในพื้นที่โครงการหลวง โดยได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิโครงการหลวงในการทดสอบมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ที่มีความเหมาะสมสำหรับปลูกทดแทนสายพันธุ์เดิม และเป็นการเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์มะเขือเทศที่จะทำการผลิตเชิงการค้า และจากการทดลองพบว่าในมะเขือเทศพันธุ์ดีที่ทำการทดสอบและคัดเลือกไว้นั้น ยังมีลักษณะที่อ่อนแอต่อโรคเหี่ยว ซึ่งจะต้องทำการทดลองหาพันธุ์ต้นตอที่มีลักษณะต้านทานโรค ให้คุณภาพและผลผลิตสูงซึ่งผลการทดลองขั้นดังกล่าวจะสามารถเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมทำการผลิตเมล็ดพันธุ์เชิงการค้า โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยมีแผนงานปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศที่มีลักษณะตามความต้องการของตลาดเพื่อลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ผู้สนใจสามารถรับคำปรึกษาได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. โทรศัพท์ 0-2579-1121-30 ต่อ 1124-5 ในวันและเวลาราชการ (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 31)





วช. ระดมสมองนักวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรไทย จึงได้จัด “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน” ขึ้น เพื่อเป็นการระดมนักวิจัยหลากหลายสาขาวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และหน่วยงาน NGO ที่มีประสบการณ์งานวิจัย ร่วมทำการวิจัยแบบสหวิทยาการเพื่อหารูปแบบในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้ยังจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำวิจัยแบบสหวิทยาการของนักวิจัยในองค์การต่างๆ อีกด้วย โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 7 เดือน ส่วนเนื้อหาการประชุมสัมมนาดังกล่าวประกอบด้วย การกำหนดปัญหาเพื่อหาสาเหตุและขอบเขตการศึกษาปัญหาในชุมชน เพื่อกำหนดแผนการวิจัยและนำผลที่ได้เผยแพร่ไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงการติดตามประเมินผลการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้รับประสบการณ์หลากหลายทางวิชาการ การทำงานเป็นคณะและสามารถใช้ความรู้อย่างบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รูปแบบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนที่ดี สามารถนำไปเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลไปสู่พื้นทื่อื่นๆ ซึ่งเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศชาติให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 31)





กรมวิทย์ถ่ายทอดสูตร โลชั่นขมิ้นชันทากันยุง

น.พ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยสมุนไพรไทย คือ ขมิ้นชัน พบว่านอกจากจะมีสรรพคุณในด้านยา คือ ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แผลพุพอง รักษาสิวและบำรุงแล้ว ยังพบว่าน้ำหอมระเหยจากเหง้าของขมิ้นชันยังมีสรรพคุณที่ดีในการป้องกันกำจัดยุง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าของขมิ้นชัน โดยศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัด การกำจัดลูกน้ำ และการป้องกันการวางไข่จากยุง สรุปว่า ขมิ้นชันมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดยุงได้เป็นอย่างดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับชมรมรักษ์สมุนไพรลำปาง และชมรมพืชยาไทย เพราะเห็นว่ามีความพร้อมในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่สิ่งที่อยากเห็นคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากโลชั่นและอยากให้พัฒนาเป็นสเปรย์ หรือ แป้งทาสำหรับเด็ก ถ้าหากทำในรูปแบบที่หลากหลายก็สามารถที่จะตีตลาดต่างประเทศได้ เพราะสินค้าสมุนไพรกำลังเป็นที่นิยม ที่สำคัญมีความปลอดภัยสูง (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 30)





ชุดทดสอบโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ในผลิตภัณฑ์ยางพารา

รศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2543 และคณะ ได้ค้นพบว่าในน้ำยางพารามีโปรตีนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ละลายน้ำ และมีหน้าที่ช่วยในการขันก๊อกปิดท่อน้ำยาง โดยทำหน้าที่เหนี่ยวนำหรือก่อให้เกิดสารอุดตันก้อนยางขึ้นบริเวณปากท่อน้ำยาง พร้อมกันนี้ยังพบว่าโปรตีนเหล่านี้เป็นต้นตอที่สำคัญต่อการทำให้เกิดการแพ้ และยากที่จะกำจัดทิ้งในกระบวนการผลิตถุงมือยางโดยให้น้ำล้าง คณะผู้วิจัยได้นำเอาแอนติบอดี้ต่อโปรตีนดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาชุดทดสอบโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ในผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งชนิดที่เหมาะกับการใช้ของผู้บริโภค ซึ่งสามารถตรวจดูอย่างรวดเร็วว่ามีหรือไม่มี โดยการพัฒนาชุดทดสอบแบบ lateral flow cassette และชนิดที่เหมาะสมกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งสามารถตรวจวัดดูว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยการพัฒนาชุดทดสอบแบบ ELISA plate kit ชุดทดสอบดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ให้กับมนุษย์ทั่วโลกและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก ขณะนี้ทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย กำลังแข่งขันกันพัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวโดยมุ่งให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อการครอบครองตลาดให้ได้นานที่สุด (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 31





ติดหรู-เซียนโกงสอบ : ผลวิจัยเด็กไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนา “ทางเลือก ทางรอด พฤติกรรมเด็กไทยยุคไฮเทค” ที่ห้องประชุม สกว. เผยผลงานวิจัยของโครงการเครือข่ายวิจัยปริญญาตรี หัวข้อ “มองปัญหาวัยรุ่นไทยผ่านงานวิจัยปริญญาตรี” ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำวิจัยแม้เป็นการสุ่มตัวอย่างกลุ่มเล็กๆ แต่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของสังคมอย่างดี ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะไร้รัก-ไร้ราก คือเด็กเหงาเป็นโรคซึมเศร้า ค้นหาตัวตนไม่เจอ ใช้เวลาไปกับการแชตทางอินเตอร์เน็ตนำไปสู่การถูกล่อลวง ไม่รู้จักรัก ไม่สามารถพัฒนาความรักความผูกพันกับใครๆได้ดีนัก เพราะขาดความใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ ขาดตัวแบบทางจริยธรรม การต่อสู้กับปัญหานี้ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ทางสังคมที่เข้มแข็งเข้ามาช่วยกัน ทั้งครอบครัว สถาบันการศึกษา ศาสนา สื่อมวลชน ที่ต้องช่วยกันสร้างค่านิยมและต้นแบบที่ดีให้เด็ก (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 22)





ข่าวทั่วไป


เด็กไทยดูทีวีนานเสียสายตา-สมาธิสั้น

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครมูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดงานสื่อสารสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ในงานมีการเสวนาเรื่อง “ครอบครัวไทยร่วมใจปิดทีวีหันมาหาสื่อดีดี” โดย น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลาดูโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงต่อ 1 วัน ซึ่งเวลาที่เหมาะนั้นเพียงแค่ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง การใช้เวลาดูโทรทัศน์หลายชั่วโมงทำให้เสียสายตาเนื่องจากจับจ้องจอโทรทัศน์เป็นเวลานาน ทำให้สมาธิสั้นจากสิ่งกระตุ้นเร้าความสนใจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น โฆษณา ละคร รวมทั้งรับสื่อที่ไม่เหมาะกับวัยเด็ก (มติชน จันทร์ที่ 6 มกราคม 2546 หน้า 5)





คนกรุงอยากอ่านข่าวบันเทิงเสาร์-อาทิตย์

เมื่อวันที่ 5 มกราคม สวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฏสวนดุสิต รายงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาวิชาชีพในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ จำนวน 2,157 คน เรื่อง “วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ประชาชนอยากฟัง อ่าน ชม อะไร” พบว่า ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ประชาชนอยากอ่านข่าวบันเทิงจากหนังสือพิมพ์มาก เป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 38.56 โดยในจำนวนนี้เป็นหญิงถึงร้อยละ 57.04 เป็นชายร้อยละ 20.07 อันดับ 2 ข่าวกีฬาหรือบทวิเคราะห์รายงานผลกีฬา คิดเป็นร้อยละ 20.43 และอันดับ 3 ข่าวหรือคอลัมน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดเป็นร้อยละ 11.89 และอันดับ 4 ข่าวหรือบทวิเคราะห์ทางการเมืองคิดเป็นร้อยละ 10.94 ในส่วนวิทยุพบว่าประชาชนอยากฟังข่าวบันเทิงจากวิทยุมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 32.78 อันดับ 2 อยากฟังรายการเพลงหรือการจัดอันดับเพลง คิดเป็นร้อยละ 29.26 และอันดับ 3 อยากฟังข่าวการเมืองหรือวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 11.30 นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนอยากชมโทรทัศน์รายการทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 11.30 นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนอยากชมโทรทัศน์ในรายการเพื่อความบันเทิง เช่น เกมโชว์ เพลง สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 26.73 รองลงมาอยากชมข่าวบันเทิง ร้อยละ 25.04 และอยากชมกีฬาหรือรายงานผลกีฬา ร้อยละ 21.19 (จันทร์ที่ 6 มกราคม 2546 หน้า 5)





ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่-หมอประเวศรับรางวัล ‘มหิดลวรานุสรณ์’ ผลงานเด่น

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 7 มกราคม ว่าสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้คัดเลือกบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นในด้านสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคม มีความประพฤติเรียบร้อยอยู่ในศิลธรรมอันดี สมควรถือเป็นตัวอย่างและแบบฉบับ ในวันมหิดลประจำปี 2545 เป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเทิดพระเกียรติคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งในปีนี้ผู้ที่ได้รับยกย่องและรับพระราชทานโล่รางวัลมหิดลวรานุสรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีจำนวน 6 คน บุคคลทั้ง 6 ได้แก่ 1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งทรงริเริ่มจัดการแสดง “แม่น้ำแห่งแผ่นดิน ชุดเล่าขานมหานครและชุดมหาราชาจอมราชัน” ปี 2544-2545 นำรายได้มอบเพื่อการกุศล และทรงรับเป็นองค์ประธานโครงการทู บี นัมเบอร์วัน ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 2. สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศดำรงตนอยู่ในระเบียบวินัยสงฆ์อย่างเคร่งครัดเป็นพระเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ 3. พล.อ.อ.สิทธ เศวตศิลา องคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมนานาประเทศ ร่วมมือกับอาเซียน ประชาคมโลกแก้ไขปัญหากัมพูชาและผู้อพยพ 4. คุณหญิงสลวยปาณิกบุตร ซึ่งทำงานเสียสละกำลังกายและทรัพย์ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ 5. พล.ต.ต.ม.ร.ว.ถวัลภากร ทำงานด้านพัฒนาคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ร่วมกับแพทย์สาขาต่างๆ สร้างความเข้าใจให้คนไทยทั่วประเทศรู้จักวิธีปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยโรคข้อ 5. น.พ.ประเวศ วะสี ในฐานะแพทย์นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของชาติ และทรงคุณวุฒิอีกหลายสาขา (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 5)





แรงงานต่างด้าวปล่อยเชื้อสู่คนไทยหมอ-พยาบาลติดวัณโรคปอดแล้ว

น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขต 8 กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานอพยพชาวพม่าจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกถึง 2 แสนคน ได้ก่อโรคอย่างน่าวิตก มีทั้งโรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้คือ โรควัณโรค ซึ่งเป็นตัวเสริมที่ทำให้คนติดเชื้อเอชไอวี เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้ามีแรงงานเหล่านี้เข้ามาจำนวนมากก็จะมีการนำเชื้อโรคมากระจายในประเทศได้ อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาในเรื่องค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะในโครงการ 30 บาทด้วย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียน เพราะโรงพยาบาล (ร.พ.) จะต้องออกค่าใช้จ่ายและรักษาให้ทั้งหมด (มติชน พุธที่ 8 มกราคม 2546 หน้า 18)





โอเวอร์โกลเคลียร์ข้อครหาวิเคราะห์คุณภาพน้ำพลาด

กรณีที่ บริษัท วอร์เตอร์เทส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาที่เคยรับงานจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าไปดูแลระบบเครื่องวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ที่สถานีตรวจคุณภาพน้ำ 12 สถานีทั่วประเทศยื่นหนังสือต่อนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรี ทส. กล่าวหาว่า บริษัท โอเวอร์โกล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประมูลงานรับเหมาดูแลระบบเครื่องวิเคราะห์คุณภาพน้ำรายใหม่ของ คพ. ทุจริตการประมูลงาน และทำงานบกพร่อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดูแล และวิเคราะห์คุณภาพน้ำของแต่ละพื้นที่ ที่มีสถานีตั้งอยู่ โดยเฉพาะที่ จ.อุดรธานี เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในปีที่ผ่านมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี ทส.กล่าวว่า จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่อยากฟังความข้างเดียว จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า บริษัทที่ถูกฟ้องนั้นเดิมเคยอยู่บริษัทที่ยื่นฟ้องมาก่อน และลาออกมาตั้งบริษัทใหม่ และประมูลงานของ คพ.ชนะ มูลค่าของงานที่ประมูลได้ประมาณ 2 ล้านบาท ยังไม่ได้ดูข้อกล่าวหาว่าทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร นายอนุรุทธิ์ ทรัพย์มี ผู้จัดการบริษัท โอเวอร์โกล จำกัด ซึ่งเดินทางมาชี้แจงและให้ข้อมูลกับ คพ.เรื่องที่ถูกกล่าวหา ชี้แจงว่า เป็นบริษัทวางระบบเครื่องวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั้ง 12 สถานีให้กับ คพ.ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้น คพ.ยังไม่ได้ใช้วิธีประมูลงาน โดยเหมาจ่ายสำหรับค่าดูแลจัดการ สถานีตรวจวัดแต่สถานี สถานีละประมาณ 4 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ต่อมาใช้วิธีการประมูลงาน จึงลาออกจากบริษัทเดิมมาตั้งบริษัทใหม่และเข้าร่วมประมูล ปรากฏว่า ได้งานมา และทำให้ คพ.ลดค่าใช้จ่ายจากเดิมเหลือเพียงเดือนละ 2 หมื่นบาท งานยังมีประสิทธิภาพเท่าเดิม ไม่เห็นเสียหายอะไร ไม่ทราบว่าจู่ๆ ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตได้อย่างไร ส่วนที่ว่ารับงานแล้วไม่ค่อยไปดูแล ทำให้เกิดน้ำท่วมที่อุดรฯ นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะน้ำท่วมที่อุดรฯ เกิดจากเหตุสุดวิสัย อุทกภัยไม่สามารถป้องกันอะไรได้ บริษัทเก็บสถิติข้อมูลทุกอย่างมีบันทึกหลักฐานชัดเจน (มติชน ศุกร์ที่ 10 มกราคม 2546 หน้า 18)





‘ทส.’ ตรวจสารพิษ ‘ดินปลูกบ้าน’

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 มกราคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัด ทส. กล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษว่า คณะกรรมการการควบคุมมลพิษได้ผ่านความเห็นชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน เพื่อเป็นเกณฑ์ในการป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยจะแบ่งดินเป็น 2 ประเภท คือดินประเภทที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม และดินที่สามารถใช้เป็นประโยชน์เพื่อธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมหรืออื่นๆ โดยดินทั้ง 2 ประเภท ต้องมีสารพิษจำพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย โลหะหนัก สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์และสารพิษอื่นๆ ไม่เกินตามที่กำหนด อาทิสารหนูไม่เกิน 3.9 ม.ก ต่อ ก.ก. ตะกั่วไม่เกิน 400 ม.ก.ต่อ ก.ก. ปรอทไม่เกิน 23 ม.ก.ต่อ ก.ก. เพราะถ้าเกินจะเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย (มติชน ศุกร์ที่ 10 มกราคม 2546 หน้า 18)





ศึกษาภัณฑ์ขอนแก่นทุ่ม 200 ล้าน ผุดห้างศึกษาครบวงจรใหญ่สุดในปท.

ขอนแก่น-นายประสม ประคุณสุขใจ เจ้าของและผู้จัดการ บริษัทศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น เลขที่ 23/11-17 ถนนประชาสโมสร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ดำเนินธุรกิจการศึกษามานานกว่า 36 ปีเห็นว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ช่วยสร้างคนให้มีคุณภาพสร้างชาติให้เข็มแข็ง ดังนั้นหลังจากรับมอบกิจการจากบิดาอย่างเต็มตัวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545 ที่ผ่านมา จึงได้เตรียมขยายงานของบริษัทออกไปอีก โดยจะดำเนินการสร้างห้างสรรพสินค้าการศึกษาที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนจำนวน 200 ล้านบาท โดยจะซื้อที่ดินและปรับปรุงพื้นที่เดิมให้มีพื้นที่บริการรวม 30,000 ตารางเมตร ก่อสร้างเป็นศูนย์หนังสือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด จำหน่ายเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานศูนย์สุขภาพสมบูรณ์แบบ ศูนย์ประชุมจัดเลี้ยง ศูนย์อาหารนานาชาติเพื่อสุขภาพ ศูนย์เรียนรู้ภาษาสากลและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเธคสุขภาพเพื่อการบริหารร่างกาย ซึ่งมีที่จอดรถรองรับได้กว่า 500 คัน และมีการจ้างแรงงานเพิ่มกว่า 800 คน (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 14)





อันตรายเด็กแบบกระเป๋าเป้ผิดวิธี

ดร.อีริค วอล ศัลย์แพทย์เด็กประจำโรงพยาบาลซินซินเนติในสหรัฐรายงานว่าร้อยละ 23 ของเด็กจำนวน 247 รายที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น มีสาเหตุมาจากการสวมใส่ ยก หรือถอดกระเป๋าเป้ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่คิด แต่พฤติกรรมการใช้กระเป๋าของนักเรียนต่างหากที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการใช้กระเป๋าเป้ได้ อาการบาดเจ็บจากแรงดึงของน้ำหนักในกระเป๋าเป้อาจทำให้ไหล่ร้าว ข้อเท้าเคล็ด และปวดเมื่อยลำคอไปจนถึงอาการนิ้วมือล็อกได้ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 3)





น้ำสบู่ทำสะดือทารกติดเชื้ออักเสบ

มหาวิทยาลัย บริติช โคลัมเบีย เผยว่า การใช้สบู่ปกติในการทำความสะอาดสะดือของเด็กแรกเกิดแทนการใช้น้ำยาต้านแบคทีเรีย ส่งผลให้เด็กแรกเกิดมีโอกาสติดเชื้อที่สะดือได้โดยนักวิจัยยกตัวอย่างว่าปัจจุบันเด็กทารกอยู่ในห้องอนุบาลของโรงพยาบาลหลังคลอดน้อยลง แต่กลับใช้เวลาในการอยู่ในห้องพักฟื้นแม่มากขึ้น เนื่องจากแพทย์คิดว่าจะเป็นการเลี่ยงการติดเชื้อจากเด็กไปสู่เด็กผ่านทางนางพยาบาล ทำให้การดูแลทำความสะอาดเด็กด้วยสบู่ หรือน้ำยาต้านแบคทีเรียถูกละเลยไป อัตราการติดเชื้อ และอักเสบที่สะดือจึงเพิ่มมากขึ้นซึ้งอาการสะดืออักเสบนี้มักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กบ่อยครั้ง นักวิจัยเสริมว่า การละเลยการใช้น้ำยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะเกิดจากการอยู่ในห้องพักฟื้นของมารดานานขึ้นแล้ว ยังเป็นเพราะความกลัวว่าหากใช้แอลกอฮอลล์แล้วจะเกิดปฏิกิริยาและส่งผลก่อมะเร็งกับเด็กได้ซึ่งเคยมีการทดลองก่อนหน้านี้ ชี้ว่า สัตว์ทดลองที่ได้รับสารส่วนผสมในน้ำยาต้านแบคทีเรียเกิดมะเร็งในภายหลัง (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 3)





10 วิธีสู้ภัยน้ำมันแพงภาวะอึมครึม…สงครามอิรัก-สหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เสนอแนะทางออกในการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นมากในปีแพะ 2546 ด้วยวิธีการปฏิบัติตนอย่างง่ายๆ 10 วิธี ดังต่อไปนี้ 1.วางแผนการใช้รถเพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำมันอย่างจริงจัง 2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางใหม่ 3.ขับรถให้ถูกวิธีและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด 4.หมั่นตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ 5.ศึกษาวิธีขับรถอย่างชาญฉลาด 6.เลือกเติมน้ำมันในสถานีบริการที่มีน้ำมันราคาถูก 7.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การท่องเที่ยวและการผักผ่อน 8.ใช้ระบบการติดต่อสื่อสารให้มากขึ้นปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาก้าวไกลไปมากและมีประสิทธิภาพสูง 9.ใช้ระบบรถร่วมทาง (Car Pool) 10.จับจ่ายซื้อของใกล้บ้านไม่ต้องขับรถไปวิธีนี้ปฏิบัติได้ง่าย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 9)





อาข่าตั้งโทรทัศน์ชุมชน ชื่อสถานี “บ้านนอกทีวี”

นางสาวประไพ เกสรา ผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ชุมชน “บ้านนอกทีวี” กล่าวว่า โครงการบ้านนอกทีวี ก่อตั้งโดยกลุ่มอาสาสมัครศิลปวัฒนธรมกระจกเงาเชียงราย วัตถุประสงค์เพื่อดึงเยาวชนอาข่ามาร่วมกันผลิตรายการโทรทัศน์เป็นของชุมชนเพื่อชุมชน โดยอาศัยสิทธิภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ปัจจุบัน สามารถผลิตและออกอากาศรายการโทรทัศน์ทั้งในแบบออกอากาศสดและถ่ายทำบันทึกเทป มีเยาวชนอาข่าในหมู่บ้านห้วยขมใน ต.แม่ยาว เข้ามาร่วมเป็นทีมงานในการถ่ายทำและตัดต่อ และดำเนินรายการ น.ส.ประไพ กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ชุมชนแห่งนี้ยัประสบปัญหาในเรื่อง ความไม่ชัดเจนในการจัดสรรตัวบุคคล (กสช.) และร่างระเบียบการจัดสรรคลื่นที่ยังไม่ออกมาอย่างชัดเจน ทำให้การดำเนินการทดลองด้านการส่งสัญญาณไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ แต่เราก็มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือจะพยายามขยายพื้นที่การออกอากาศให้ได้มากกว่านี้ และที่นี่จะเป็นสถานีโทรทัศน์ชุมชนต้นแบบที่สามารถไปเกิดขึ้นในชุมชนอื่นต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2545 หน้า 8)





ใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารไม่ดี

วารสารระบาดวิทยา ของสหรัฐอเมริการะบุว่า มีผู้ล้มป่วยด้วยโรคท้องเสีย เนื่องจากนำอาหารค้างคืนมาบริโภคอีก จากการสอบสวนทางการแพทย์พบว่าสาเหตุเกิดจากการใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารที่เหลือทานจากมื้อก่อน แต่ความร้อนจากเตาไมโครเวฟไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคให้ตายได้ ทางวารสารระบาดวิทยาจึงเตือนว่า การอุ่นอาหารค้างคืนนั้น ควรใช้เตาอบธรรมดาหรือใช้กระทะทอดอาหารแทนเพราะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่า สำหรับบ้านไหนที่ใช้เตาไมโครเวฟแนะว่าควรจะใช้อุ่นอาหารที่ไม่ค้างเป็นเวลานานจะดีกว่า และหากมีอาหารค้างคืน อาจจะใช้วิธีผนึกด้วยแผ่นพลาสติกก่อนนำเข้าตู้เย็น เมื่อจะนำออกมาทานก็ให้เทลงกระทะตั้งไฟให้เดือดก่อนรับประทาน (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2546 หน้า 31)





เอกชนขานรับกระแสอนุรักษ์ เกรงสงครามวิกฤติพลังงาน

นายประวิทย์ ลีละแก้ว ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงผู้ประกอบการโรงงานและอาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานและอาคารควบคุมที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 2535 มีการใช้มาตรการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ นายประวิทย์กล่าวว่า “จนถึงขณะนี้โรงงานและอาคารควบคุมจากทั่วประเทศ ได้แสดงเจตจำนงที่จะร่วมกันรณรงค์ให้โรงงานและอาคารทั้งควบคุมและทั่วไปที่ยังไม่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในองค์กรของตน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่องค์กรของตนโดยตรงในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยประเทศชาติลดค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศซึ่งปีหนึ่งๆ คิดเป็นจำนวนเงินมากมาย ซึ่งโรงงานเหล่านี้ยินดีถ่ายทอดการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อเป็นวิทยาทานในการอนุรักษ์พลังงานต่อไป” และหลังจากการตรวจสอบและเยี่ยมชมความสำเร็จของการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานของบริษํท ผลิตไฟฟ้า (มหาชน) ได้รับรางวัลอาคารดีเด่นที่อนุรักษ์พลังงานทั้งระดับประเทศและระดับอาเซียนมาแล้ว และบริษัท โตชิบา ดีสเพล ดีไวส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นประเภทโรงงานควบคุมที่อนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 องค์กรนี้สามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการอื่นๆ ได้นำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรของตนได้เป็นอย่างดี (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 20)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215