หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 2003-01-28

ข่าวการศึกษา

นายกฯชี้อีโก้มหาวิทยาลัยทำลายการศึกษา
เผยชี้ข้อยุติโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ
คาดร่าง กม. มหาวิทยาลัยราชภัฏ ผ่าน ครม. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์
สช. ปรับเกณฑ์โรงเรียนนานาชาติ ใหม่/พร้อมตีกรอบค่าเล่าเรียน ร.ร.สองภาษา
ราชภัฎส่วนกลางประกาศรับเด็กกว่า 1.6 หมื่นคน
คุ้มครองเด็กในโรงเรียน
สั่งมหาวิทยาลัยปรับตัวผลิตบัณฑิต
“ทักษิณ” ปิ๊งบริหารโรงเรียน 3 รูปแบบ มอบทบวงฯ หาวิธีอุดหนุนคูปอง น.ศ.
ไทยจับมือมาเลย์จัดการศึกษา
อัดสภาครู “จิ้งจก”ทบทวนปั๊มแม่พิมพ์
รับบริจาคคอมฯมือสอง สร้างการเรียนรู้เพื่อเด็ก
“ปองพล” หนุนวุฒิฯ ยกเลิกสอบคัด นศ.ปีนี้
“สิริกร”ยืนยันต้องคง GPA ส่วน PR อาจให้ทบทวน
อีเลิร์นนิ่งที่ ม.กรุงเทพ
ธ. ขยะ ร.ร.บ้านแฮะคว้ารางวัล
ขานรับนายกฯ
แฉยอดสมัครวัดความรู้ลดฮวบฮาบ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ระบบลูกหีบอ้อย
ตรวจหาสารตะกั่วจากเส้นผม
เครื่องบดหอยภูมิปัญญาเกษตรกรเปลี่ยนศัตรูข้าวเป็นปุ๋ยบำรุงพืช
ทุนวิจัยเพื่อผู้หญิงวิทยาศาสตร์
น.ศ.ช่วยค้นพบดวงดาวใหม่
จีนกับอินเดียชิงเป็นเจ้าอวกาศ ส่งมนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์
ไอซีทีใช้อินเทอร์เน็ตพัฒนานักเรียน

ข่าววิจัย/พัฒนา

เตือนเด็กไทยระวังภัยขนมหวาน
‘ยางรถยนต์-กากกาแฟ’ ช่วยบำบัดน้ำเสียโรงงานย้อมผ้า
แอสไพรินเป็นยาสงวนชีวิตชาวโลก กั้นขวางอาการของโรคหัวใจเอาไว้
4 วิธีของเด็ก-6 วิธีสำหรับผู้ใหญ่ ป้องกันอันตรายจากเน็ต
ค้างคาวดูดเลือดกลายเป็นหมอ น้ำลายรักษาโรคอัมพาตหายได้
ดื่ม “ชาเขียว-อู่หลง” ช่วยกระดูกแข็งแรง
เผย 2 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม
เปิดทำศึกกับความแก่ชราของมนุษย์ โจมตีตัวการทำให้สมองเสื่อมโทรม
ผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกร โดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง

ข่าวทั่วไป

โตโยต้าหา 200 ไร่ตั้งศูนย์วิจัยฯ ทุ่ม 4 พันล้าน ดันไทยศูนย์กลางรถ
ชี้ “ไข่เปรี้ยว” รักษาโรคเกาต์ไม่ได้
2 ก.พ. 46 : วันนักประดิษฐ์ไทย
คนไทยนักอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ปลาหมอจูบ (ปลาหมอตาล) ไว้ให้ดูกัน





ข่าวการศึกษา


นายกฯชี้อีโก้มหาวิทยาลัยทำลายการศึกษา

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมเรื่อง นายกรัฐมนตรีให้นโยบายในการพัฒนาระบบอุดมศึกษาแก่คณบดีและหัวหน้าภาควิชามหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศว่า ตนไม่สบายใจที่เห็นความเป็นอีโก้อาณาจักรของมหาวิทยาลัย แม้แต่ภายในแต่ละคณะยังต่างคนต่างอยู่ ไม่อยากให้มีกำแพงเป็นตัวทำลายระบบการศึกษา แต่ควรร่วมมือกันใช้ทรัพยากรความรู้ให้เกิดประสิทธิภาพผลิตบัณฑิตที่มีความรู้จริง จบปริญญาตรีเหมือนมีวีซ่าในการดำรงชีวิตที่คิดเป็นบูรณาการได้ พัฒนาห้องสมุดให้มีชีวิตชีวา นอกจากนี้ การทำวิจัยและการผลิตบัณฑิตต้องอยู่บนฐานความต้องการของประเทศ ซึ่งอยากให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้ามาช่วยคิดเรื่องนี้ สำหรับการรับเด็กอุดมศึกษา เวลานี้เด็กเลือกคณะเอ็นทรานซ์เพียงเพื่อให้สอบติด ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำให้ไม่มีจิตวิญญาณ เพราะเป็นการเอ็นทรานซ์แบบเหมาเข็มจึงเกิดความเครียด ซึ่งข้อมูลการวิจัยพบว่าเด็กมีความเครียดถึง 30% จากการเรียน ทำไมจึงไม่มีระบบให้เด็กเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน ทั้งนี้ ระบบแอดมิชชั่นจะทำได้หรือไม่ อยู่ที่การร่วมมือกัน เพิ่มที่นั่งให้เพียงพอโดยบริหารทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ส่วนการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ตนสนับสนุนแต่ไม่บังคับ แต่ถ้าพร้อมก็อยากให้ปรับเพื่อความคล่องตัว ทั้งนี้อยากให้กำหนดอะไรเพื่ออนาคตของชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง และส่วนของคณะกรรมการอุดมศึกษาอยากให้คลายกฏระเบียบ ให้คิดนอกกรอบให้มากขึ้น (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 15)





เผยชี้ข้อยุติโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยภายหลังการประชุมปฏิบัติการจัดทำโครงสร้างและอัตรากำลังตามโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการว่า ที่ประชุมได้หาข้อยุติการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากเดิมที่มีอยู่ 6 สำนักซึ่งคณะทำงานได้เสนอเพิ่มอีก 5 สำนัก ภายหลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มอีก 3 สำนัก รวมเป็น 9 สำนัก ดังนี้ สำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักพัฒนาการเรียนรู้และมาตรฐานการศึกษา สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สำนักบริหารการคลังและทรัพย์สิน และสำนักพัฒนานวัตกรรมการศึกษา สำหรับการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานั้น จากเดิมมีการแบ่งส่วนราชการเป็น 5 สำนัก คณะทำงานได้ขอเพิ่มอีก 5 สำนัก แต่ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นชอบให้เพิ่มขึ้นอีก 2 สำนัก รวมเป็น 7 สำนัก ได้แก่ สำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา สำนักความร่วมมือภาคเอกชน สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักวิจัยและพัฒนาครูอาชีวศึกษา สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา และสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา (สยามรัฐ อังคารที่ 21 มกราคม 2546 หน้า 7)





คาดร่าง กม. มหาวิทยาลัยราชภัฏ ผ่าน ครม. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์

นายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) กล่าวในงานประชาสัมพันธ์การรับสมัครนักศึกษาของสถาบันราชภัฏ (รภ.) กลุ่มรัตนโกสินทร์ ประจำปีการศึกษา 2546 ว่า ปัจจุบันนี้นักเรียนเลือกเข้าศึกษาตามแฟชั่นกันมากขึ้น โดยไม่ได้คิดถึงความสามารถศักยภาพ และความถนัดของตนเองจนทำให้เกิดปัญหาการเรียนตามมา ในขณะที่ตามแผนปฏิรูปการศึกษาต้องการให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิด และได้รับการศึกษาต่ออย่างทั่วถึง โดยไม่ก่อให้เกิดความเครียดจากการกวดวิชา ซึ่งตนอยากให้มองสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นใกล้ตัวก่อน ไม่อยากให้ยึดติดกับสถาบันที่มีชื่อเสียงอย่างเดียว เพราะทุกแห่งก็ได้รับการรับรองจากทบวงมหาวิทยาลัย มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 15)





สช. ปรับเกณฑ์โรงเรียนนานาชาติ ใหม่/พร้อมตีกรอบค่าเล่าเรียน ร.ร.สองภาษา

นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการ กช.ว่า กช.มีมติเห็นชอบปรับปรุงเกณฑ์การจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ ตามที่ สช.ได้พิจารณาร่วมกับสมาคมโรงเรียนนานาชาติ โดยเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนาม และจะมีผลบังคับกับโรงเรียนนานาชาติที่จะขออนุมัติจัดตั้งใหม่ ทั้งนี้สาระสำคัญมี อาทิ สถานที่ตั้งโรงเรียนระดับอนุบาลต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต้องไม่น้อยกว่า 2 ไร่ และหากเปิดสอนทั้ง 2 ระดับในพื้นที่เดียวกัน ต้องไม่น้อยกว่า 5 ไร่ โดยต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด และต้องมีพื้นที่ในร่มหรือนันทนาการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วยเช่นกัน นางพรนิภากล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบอาคารต้องมีขนาดและบริเวณที่เหมาะสมกับหลักสูตรแต่ละระดับ และมีระบบรักษาความปลอดภัย โดยอนุบาลต้องเป็นอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหากเป็นอาคารสูงเกิน 4 ชั้น ต้องมีลิฟต์ ภายในห้องเรียนต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 48 ตารางเมตร มีทางเข้าออก 2 ทาง กว้างไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร ส่วนจำนวนนักเรียนอนุบาลต้องมีไม่เกิน 20 คน ต่อ 1 ห้อง ประถมศึกษาไม่เกิน 25 คน ต่อ 1 ห้อง นอกจากนี้ จะต้องจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยแก่นักเรียนที่เป็นต่างชาติ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 คาบ และสำหรับนักเรียนไทยอย่างน้อย 5 คาบ ต่อ 1 สัปดาห์ (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 15)





ราชภัฎส่วนกลางประกาศรับเด็กกว่า 1.6 หมื่นคน

ดร.พลสัณฑ์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฎ (สรภ.) แถลงถึงการรับสมัครนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันราชภัฎ (รภ.) กลุ่มรัตนโกสินทร์ว่า ในปีการศึกษา 2546 รภ.กลุ่มรัตนโกสินทร์จะรับนักศึกษาใหม่ 16,325 คน เป็น รภ.จันทรเกษม 2,065 คน รภ.สวนดุสิต 3,110 คน รภ.สวนสุนันทา 3,520 คน รภ.พระนคร 3,690 คน รภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา 2,020 คน และ รภ.ธนบุรี 1,920 คน โดยสามารถซื้อใบสมัครได้ที่ รภ.ทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่บัดนี้ถึง 23 เม.ย.รับสมัคร 19-23 เม.ย.46 (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 15)





คุ้มครองเด็กในโรงเรียน

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้มาหารือกับตนเกี่ยวกับโครงการนำร่องโรงเรียนคุ้มครองเด็ก โดยสร้างระบบความปลอดภัยในโรงเรียน สร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนอันจะก่อให้เกิดความร่วมมือในการดูแลและคุ้มครองเด็กร่วมกัน และสร้างระบบความปลอดภัยจากการข่มเหงรังแกในโรงเรียน ซึ่งความปลอดภัยในโรงเรียนนั้นจะมีทั้งระบบการดูแลเด็ก สร้างกฎความปลอดภัยไม่ให้เด็กหรือผู้ใหญ่อยู่ด้วยกันตามลำพัง 2 ต่อ 2 จัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียน มีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ เป็นระยะ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก เช่น หลักสูตรตัวฉันเป็นของฉัน โดยจะใช้สอนเด็กอายุระหว่าง 8-10 ขวบ ให้รู้จักการป้องกันภัยทางเพศ และภัยจากยาเสพติด เป็นต้น (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 15)





สั่งมหาวิทยาลัยปรับตัวผลิตบัณฑิต

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ 92.5 เมกะเฮิร์ตซ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ถึงการมอบนโยบายแก่คณบดีและหัวหน้าภาควิชาของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนว่า ได้ให้เน้นเรื่องประสิทธิภาพการผลิตบัณฑิต แต่ก่อนมองรับบัณฑิตไปที่ความสามารถในการผลิต ไม่ได้มองในด้านของความต้องการบัณฑิตของสังคม ทำให้การบริหารการศึกษาผิดพลาด เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับตัวสูง ไม่ใช่ว่าคณะไหนอยากจะผลิตเท่าไหร่ก็ทำได้ตามใจชอบ บางคณะบางปีอาจจะไม่มีความต้องการ มหาวิทยาลัยจึงต้องมีความอ่อนตัวในการปรับตัว การใช้ทรัพยากรร่วมกันข้ามคณะ ข้ามมหาวิทยาลัยจะต้องเกิดขึ้นได้ ทั้งด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน อาคารสถานที่ และรวมทั้งวิชาการ (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2546 หน้า 11)





“ทักษิณ” ปิ๊งบริหารโรงเรียน 3 รูปแบบ มอบทบวงฯ หาวิธีอุดหนุนคูปอง น.ศ.

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการหารือร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. และผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้เสนอแนวนโยบายให้ศธ. จัดการศึกษาโดยแบ่งโรงเรียนเป็น 3 ประเภท คือ 1.โรงเรียนที่อิงวิถีพุทธศาสนา ให้นำพระสงฆ์และวัดเข้ามามีส่วนร่วมโดยเน้นคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 2.โรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่จัดตั้งอยู่หลายแห่งแล้ว เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์และโรงเรียนกาจนาภิเษก โดยต้องพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้ให้ดีขึ้นเบื้องต้นจะต้องพัฒนาและอบรมครูให้มีทักษะวิทยาศาสตร์โดยจะให้มหาวิทยาลัยและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และ 3.โรงเรียนที่เป็นองค์กรมหาชนอิสระ เป็นแนวคิดที่ ศธ.เคยคิดไว้แล้วจะทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแยกเป็นอิสระจาก ศธ. และให้บริหารงานเองทั้งหมด โดยจะจัดที่เรียนส่วนหนึ่งให้กับเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดสรรโรงเรียนเป็นรายโรงไป ทั้งนี้จะนำร่องทั้ง 3 รูปแบบก่อนขยายให้มากขึ้น (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 20)





ไทยจับมือมาเลย์จัดการศึกษา

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า พบว่าระบบการศึกษาของไทยกับมาเลเซียต่างกันมาก โดยมาเลเซียมีระบบบริหารงานเน้นการควบคุมจากส่วนกลาง แม้ว่ามาเลเซียจะแบ่งออกเป็น 14 รัฐ แต่หลักสูตร คุณภาพ มาตรฐาน และงบประมาณถูกควบคุมโดยส่วนกลาง เพราะเชื่อว่าจะควบคุมมาตรฐาน และคุณภาพได้ เช่น การจัดทำหลักสูตร จะมีหน่วยงานกลางกำหนดหลักสูตรให้โรงเรียนต่างๆ ใช้รวมทั้งการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาจะกำหนดขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 13 ปี โดยทุกคนต้องสอบข้อสอบกลาง มีองค์กรกลางเช่นเดียวกับทบวงมหาวิทยาลัย คัดเลือกเด็กส่งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีที่นั่งจำกัดเพียง 10% ที่เหลือต้องไปเรียนอาชีวะ หรือวิทยาลัยชุมชน สำหรับไทยเน้นการกระจายอำนาจ เช่น หลักสูตร ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดหลักสูตรแกนกลาง 70% อีก 30% ให้ท้องถิ่นและโรงเรียนทำ ส่วนการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือเอ็นทรานซ์ จะเน้นความต้องการของผู้เรียน และมหาวิทยาลัยคัดผู้เรียนได้เอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยและมาเลเซียจะมีมุมมองด้านการศึกษาต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือต้องการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ และแข่งขันได้ (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2456 หน้า 20)





อัดสภาครู “จิ้งจก”ทบทวนปั๊มแม่พิมพ์

จากกรณีที่ที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดตรงกันที่จะปรับหลักสูตรการผลิตครูใหม่ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจาก 6 ปีเป็น 5 ปีนั้น ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) กล่าวว่า ครม.มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และเห็นชอบตามข้อเสนอการผลิตครูหลักสูตร 6 ปี ซึ่งผ่านการหารือจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งที่ประชุมสภาคณบดีฯ หากต้องการให้ครูเป็นวิชาชีพที่เข้มแข็งก็ต้องเพิ่มระยะเวลาเรียน แต่ถ้าใครเรียนเก่งก็สามารถจบเร็วกว่า 6 ปีได้ หากทบทวนก็ต้องสอบถามความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ และต้องหาข้อพิสูจน์มาเสนอด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านความเห็นชอบจากขั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2545 หน้า 15)





รับบริจาคคอมฯมือสอง สร้างการเรียนรู้เพื่อเด็ก

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ เปิดเผยถึงโครงการสร้างโครงข่ายเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าภายในเดือน เม.ย. 46 นี้ โครงข่ายในกลุ่มนักเรียนมัธยมจะแล้วเสร็จ ส่วนระดับประถมศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งภายใต้โครงข่ายนี้ เด็กจะสามารถเชื่อมต่อกับครู ซึ่งจะเป็นผู้แนะนำ รวมถึงการจัดทำเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยให้เด็กสามารถเข้าใจได้ รวมถึงการเปิดเว็บไซต์ความรู้ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความรู้ต่างๆ ที่เป็นคลังสมองของชาติมาเป็นเจ้าของเว็บให้เด็กสามารถซักถามหรือเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ภายในเว็บไซต์ได้เลย นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า มีโครงการที่จะเปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์มือสองหรือคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้แล้วให้เด็กๆ และโรงเรียนในชนบท เพราะที่ผ่านมาเจ้าของก็อาจจะไม่ได้ใช้ นำไปวางทิ้งไว้เฉยๆ ซึ่งถ้านำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยจะเริ่มเปิดรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 46 เป็นต้นไป ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ได้ 10,000 เครื่องภายในปีนี้ ส่วนการบริจาคสามารถที่จะแจ้งให้ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งไปรับคอมพิวเตอร์ถึงบ้าน ซึ่งเมื่อรับมาแล้วก็จะดูว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ ถ้าใช้ได้ก็จะนำส่งให้แก่โรงเรียนในชนบท แต่ถ้าต้องซ่อมก็ได้ประสานงานกับทางสถาบันราชภัฎในการซ่อมก่อนจะนำไปบริจาคต่อไป (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 15)





“ปองพล” หนุนวุฒิฯ ยกเลิกสอบคัด นศ.ปีนี้

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม ของวุฒิสภา เสนอให้ยกเลิกการสอบเอ็นทรานซ์ และให้อิสระแก่มหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาเองนั้น นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เห็นด้วยเพราะโดยหลักทั่วไปแต่ละมหาวิทยาลัยก็สามารถคัดเลือกนักศึกษาได้จาก 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ พิจารณาจากผลการเรียน ม.ปลาย, ผลทดสอบจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และพิจารณาจากกิจกรรมของผู้เรียนและบางมหาวิทยาลัยยังอาจจัดสอบวิชาเฉพาะอีกก็ได้ และหากจะยกเลิกปีนี้ก็น่าทำได้ บางเรื่องเราต้องเป็นผู้ชี้นำ ไม่ใช่ให้เด็กชี้นำและต้องยอมรับว่าจะให้เด็กทุกคนเดินเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องสอบคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนการใช้ข้อสอบกลางจะช่วยลดการกวดวิชาหรือไม่นั้น ตนเชื่อว่าเราคงไม่สามารถห้ามเด็กกวดวิชาได้ แต่ต้องเริ่มทำข้อสอบกลางให้เป็นข้อสอบเชิงคิดวิเคราะห์ ด้าน รศ.ดร. ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้และไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นว่าใครจะคัดเลือกตามใจ ถ้าระบบกลางทำดีก็คัดเลือกถูกต้องได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การสอบส่วนกลางไม่ใช่การรวบอำนาจจากมหาวิทยาลัย ส่วน รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอยากทำตามข้อเสนอที่ว่า แต่มีข้อจำกัดที่จะทำให้นักศึกษาต้องวิ่งรอก ทำให้ระบบการคัดเลือกขาดประสิทธิภาพ รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า ถ้ายกเลิกการสอบรวมก็กลับไปสู่ระบบเดิมเมื่อ 40 ปีก่อน กรณีที่ กมธ.วุฒิสภาเสนอให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจัดสอบเองนั้นเด็กจะเหนื่อยมาก เพราะต้องตระเวนสอบไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 15)





“สิริกร”ยืนยันต้องคง GPA ส่วน PR อาจให้ทบทวน

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงกรณีที่ชมรมนักเรียน ม.5-ม.6 ผู้ปกครอง และครูโรงเรียนบดินทรเดชาฯ เตรียมอุดมศึกษา สามเสนวิทยาลัย สวนกุหลาบ สตรีวิทยาและเซนต์คาเบรียล เป็นต้น ได้ส่งจดที่ส่งถึงกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมของวุฒิสภา และผู้เกี่ยวข้อง ให้ยกเลิกระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ หรือ Admissions และยกเลิกการใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้น ม.ปลาย หรือ GPA และค่าเปอร์เซ็นไทล์ แรงก์ หรือ PR โดยให้กลับไปใช้ระบบเอ็นทรานซ์รูปแบบเดิมที่สอบปีละครั้งเพราะที่ผ่านมาเปิดช่องให้ครูหาประโยชน์นั้น ขอให้นักเรียนเขียนจดหมายถึงตนโดยตรงเพื่อแจ้งพฤติกรรมของครู โดยขอให้เปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง ส่วนที่ให้ยกเลิก GPA และ PR นั้น ได้รับจดหมายจากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยซึ่งได้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของระบบเอ็นทรานซ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าให้คง GPA ส่วน PR อาจทบทวน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 20)





อีเลิร์นนิ่งที่ ม.กรุงเทพ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เอชพีกว่า 1,600 เครื่อง เพื่อสร้างไซเบอร์เซ็นเตอร์ขึ้น สำหรับพัฒนาระบบไอทีของมหาวิทยาลัยและขยายระบบอินทราเน็ตเพื่อรองรับการใช้งานของนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยล่าสุดทางมหาวิทยาลัยได้ทำบัตรนักศึกษาเป็นสมาร์ตการ์ดเพื่อใช้งานอีเพิร์ส ภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย การสร้างไซเบอร์เซ็นเตอร์ขึ้นนี้ เป็นการทำตามนโยบายการพัฒนาระบบไอที เพื่อทำโครงการอีเลิร์นนิ่งและบริการเว็บเซอร์วิสครบวงจรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไอทีมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางมหาวิทยาลัยมีโครงการพัฒนาระบบไอที แบ่งออกเป็นระยะๆ เริ่มจากไซเบอร์เซ็นเตอร์หรือห้องปฏิบัติการที่จัดทำขึ้นตามแนวคิดเรื่อง เอ็ดดูเทนเม้นต์ (Edutainment ) จากความเชื่อที่ว่า การเรียนรู้ของนักศึกษาปัจจุบัน แตกต่างไปจากการเรียนในอดีต การเรียนการสอนรวมไปถึงกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็จะต้องมีการปรับรูปแบบใหม่ ลักษณะของไซเบอร์เซ็นเตอร์จึงเหมือนเป็นห้องอินเตอร์เน็ตสมัยใหม่ ต่อมาคือ URSA ( University Record System Access) เป็นระบบอินทราเน็ต ที่จะช่วยให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลหรือบริการของมหาวิทยาลัยโดยผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น การลงทะเบียนและชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ต การเช็คผลการเรียน ตารางเรียน ตารางสอบ วิชาและกลุ่มที่เปิดสอน เพื่อวางแผนการเรียนได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการใช้บริการห้องสมุดหรือสืบค้น การตรวจสอบรายชื่อหนังสือที่ยืม การใช้เทบออนไลน์ e-Jorunal การขอคำปรึกษาโดยผ่านทาง Virtual Help Desk (FAQ) ขณะเดียวกันยังสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อการค้นข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้งานได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำการติดตั้งกระจายครอบคลุมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ หากนักศึกษาต้องการพิมพ์งานประเภทต่างๆ ก็สามารถสั่งผ่านบริการพิมพ์งานด้วยระบบ Self-service Peinting โดยเพียงแต่นักศึกษาใส่รหัสแล้วสั่งพิมพ์ก็สามารถรับงานพิมพ์ที่เครื่องส่วนกลางได้ทันที อีกทั้งการชำระเงินค่าบริการก็สามารถกระทำได้สะดวกและรวดเร็วด้วยการชำระผ่าน Pre-Paid Card ด้วย (มติชนรายวัน วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 19)





ธ. ขยะ ร.ร.บ้านแฮะคว้ารางวัล

นายธงชัย ทุนคำ ผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านแฮะ สำนักงานประถมศึกษาอำเภอ (สปอ.) เชียงคำ ได้จัดทำโครงการธนาคารขยะขึ้น โดยร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จัดทำการประชาพิจารณ์ถึงวิธีการกำจัดขยะของหมู่บ้านในแบบต่างๆ และร่วมกันเสนอแนวทางการนำขยะมาเพิ่มมูลค่า โดยขยะที่ขายได้ให้นำมาฝากขายกับธนาคารขยะในโรงเรียนซึ่งคณะกรรมการนักเรียนจะขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อ ส่วนขยะที่ไม่สามารถขายได้จะนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และเอาเศษกระดาษที่เหลือใช้จะนำมาผ่านกระบวนการปั่นแล้วย่อยสลาย นำไปตากแดดแล้วสามารถนำกลับมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้อีก (มติชนรายวัน วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 21)





ขานรับนายกฯ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการเผยหลังประชุม ครม.ว่า จากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับนายโก๊ะ จ๊ก ตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้มีการพูดถึงประเด็นด้านการศึกษา ซึ่งสิงคโปร์ยินดีให้ความช่วยเหลือ นายกฯ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาฯ ส่งผู้แทนไปหารือ โดยเน้นเรื่องการปรับหลักสูตร การวัดผลประเมินผล รวมทั้งระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ และตนจะเชิญทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยมาหารือต่อไป นอกจากนี้ได้มีการเร่งรัดการจัดทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงต่างๆ ต้องการพ่วงข้อมูลเข้าไปอยู่ในบัตรเดียวกัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จะประสานกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว ทั้งนี้ จะขอให้ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ที่ปรึกษาผู้ทรงวุฒินายกรัฐมนตรี เป็นผู้วางระบบข้อมูลนักเรียนทุกสังกัด (ไทยรัฐ วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 15)





แฉยอดสมัครวัดความรู้ลดฮวบฮาบ

ดร.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เผยยอดรับสมัครสอบวัดความรู้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (เอ็นทรานซ์) ประจำปี 2546 ระหว่างวันที่ 10-14 ม.ค. ว่ามีผู้สมัครในส่วน กทม.ประมาณ 50,000 คน ลดลงจากปี 2545 ที่มีผู้สมัครประมาณ 56,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กกระจายการสอบไปยังศูนย์รับสมัครในเขตปริมณฑล สำหรับแนวทางการปรับเปลี่ยนเป็นระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น ซึ่งขณะนี้วิพากษ์วิจารณ์จนหลากหลายแนวคิด แนวทางปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าไม่ใช่ใช้ไม่ได้ การใช้ระบบใดต้องศึกษาให้รอบคอบและไม่ให้เกิดการลงทุนสูงอย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบนักศึกษาที่เอ็นทรานซ์เข้าไปได้แล้วเรียนปี 1 ก็ต้องลาออกจำนวนเป็นร้อย เพราะเด็กสอบเข้าโดยไม่ได้เกิดจากความชอบหรือความถนัด ดังนั้นภายในมหาวิทยาลัยควรเปิดกว้างให้เด็กได้เทียบโอนหน่วยกิตย้ายคณะที่ถนัดได้ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ระบบลูกหีบอ้อย

นายนิยม ตัณฑ์อำไพ วิศวกรประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คิดค้น “ระบบลูกหีบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจากอ้อย” ระบบการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาลแบบเดิม คือ ระบบลูกหีบ 3 ลูก ซึ่งประสิทธิภาพในการฉีดได้เพียง 75% เท่านั้น ซึ่งระบบเดิมนี้ต้องใช้ลูกหีบถึง 5 ชุด จึงจะหีบอ้อยได้ครบกระบวนการ ส่วนระบบการหีบอ้อย 5 ลูกหีบ จะใช้ลูกหีบเพียง 3 ชุดเท่านั้น ซึ่งประสิทธิภาพในการหีบอ้อยนั้นมากกว่า 80% ระบบนี้มีข้อดีตรงที่ว่าลดพื้นที่ในการใช้งาน ลดพลังงานของการใช้ลูกหีบ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานดีเซลหรือไอน้ำ ชิ้นส่วนของระบบใหม่ไม่มีปัญหาในการซ่อมบำรุงมากมาย แน่นอนที่สุดคือเรื่องประสิทธิภาพที่เหนือกว่าระบบลูกหีบเดิม และได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2546 หน้า 25)





ตรวจหาสารตะกั่วจากเส้นผม

การตรวจหาสารโลหะหนักในกระดูกอาจทำได้ยาก ดังนั้นจึงมีการทำวิจัยการตรวจวัดหาสารโลหะหนักต่างๆ จากเส้นผม เพราะผมก็เชื่อมโยงกับกระดูก การตรวจเส้นผมเราจะทราบถึงการสะสมของสารต่างๆ จากมลพิษรอบตัวเราได้มากมายรวมไปถึงตรวจหาสารเสพติดที่เข้าไปในร่างกายได้ด้วย ผมส่วนที่จะนำมาตรวจหาสารโลหะหนักจะใช้บริเวณท้ายทอย และต้องตัดเส้นผมให้ติดโคนออกมาด้วยเพราะโคนผมจะตรวจสอบได้ดีสุด แต่การใช้ผมมาตรวจหามีข้อเสียคือ ต้องใช้ผมในปริมาณมากประมาณ 100 กรัม แถมยังยากในการนำมาสกัดกว่าจะพบสารตะกั่ว การตรวจทางเส้นผมเป็นเทคนิคใหม่ที่เริ่มนำมาพิจารณากัน และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งก็ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2546 หน้า 31)





เครื่องบดหอยภูมิปัญญาเกษตรกรเปลี่ยนศัตรูข้าวเป็นปุ๋ยบำรุงพืช

นายสนิท ทิพจร ประธานกลุ่มเกษตรผสมผสานตำบลอุโมค์ กล่าวว่า กลุ่มเกตรผสมผสานตำบลอุโมค์ได้ทดลองหาวัสดุมาทดลองทำเครื่องบดหอยเชอรี่ ดูตัวอย่างจากเครื่องโม่น้ำแข็งมาทดลองทำ จนสามารถนำมาเป็นเครื่องต้นแบบทำเครื่องบดหอยเชอรี่ได้ ผลที่ได้คือสามารถบดหอยเชอรี่ได้อย่างรวดเร็วอัตรา 30 กิโลกรัม / 15 นาที/ครั้ง โดยต้นทุนเครื่องบดหอยเชอรี่ตกอยู่ที่ราคาเครื่องละ 9,000 บาท นอกจากบดหอยเชอรี่ได้แล้วยังสามารถบดพืชอื่นๆ ได้อีกด้วย (สยามรัฐ อังคารที่ 21 มกราคม 2546 หน้า 25)





ทุนวิจัยเพื่อผู้หญิงวิทยาศาสตร์

โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ มอบทุนอุดหนุนงานวิจัยที่ดีเด่นในด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เรื่องนี้ศาสตราจารย์ ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา ผู้หญิงในงานวิทยาศาสตร์ที่โลกชื่นชมคนแรกของไทย เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ของโครงการ คัดเลือกงานวิจัยที่สมควรได้รับทุนและเหมาะสมที่จะรับการเสนอเพื่อชิงทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ระดับสากล กำลังใกล้ปิดรับสมัคร จึงมีข้อแนะนำดีๆ สำหรับผู้ส่งโครงการขอรับทุนวิจัยว่า โครงการที่มีประโยชน์ต่อผู้หญิงในสายงานนี้ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์สตรีเก่งๆ หลายคน แต่ขาดการสนับสนุนเพียงพอ การส่งโครงการมาขอรับทุนอยากแนะนำว่า ต้องเป็นงานที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ลึกซึ้ง มีผลงานอย่างต่อเนื่อง อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตามกระแสนิยม ควรเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์ในแง่เป็นพื้นฐานเพื่อให้มีความรู้ต่อยอดขึ้นไปในอนาคตด้วย ทั้งนี้ทุนวิจัยดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระดับ สำหรับนักวิทยาศาสตร์อายุมากกว่า 36 ปีขึ้นไป มอบปีละ 2 ทุน ทุนละ 1.5 แสนบาท ทุนวิจัยเพื่อสตรีรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 35 ปี ปีละ 3 ทุน ทุนละ 1.5 แสนบาท สนใจขอรับใบสมัครและสอบถาม โทร. 0-2684-3192 (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 26)





น.ศ.ช่วยค้นพบดวงดาวใหม่

ดาวเคราะห์แต่ละดวงมีดาวบริวารเหมือนกับดวงจันทร์โคจรอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง อย่างโลกเรามีดวงจันทร์ดวงเดี่ยว แต่ดางเคราะห์บางดวงอาจมีดาวบริวารเป็นสิบๆ ดวงก็มี เช่น ดาวเคราะห์เนปจูน เดิมทีนักดาราศาสตร์ระบุไว้ว่ามีดาวบริวาร 8 ดวง โดยดวงที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า “ทรีตัน” รองลงมาชื่อว่า “ นีเรด” ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2389 และ พ.ศ. 2492 ตามลำดับ แต่ล่าสุดมีการค้นพบใหม่ว่าแท้จริงแล้ว ดาวเคราะห์เนปจูนมีดาวบริวารมากกว่า 8 ดวง โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศูนย์ดาราศาสตร์ฮาร์เวิร์ด สมิธโซเนีย ในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศการค้นพบดาวบริวารเพิ่มอีก 3 ดวง ที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์เนปจูน ทำให้ดาวเคราะห์เนปจูนมีดาวบริวารเพิ่มเป็น 11 ดวง ซึ่งขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของดาวบริวารใหม่อยู่ที่ระหว่าง 30-40 กิโลเมตร ถือว่าเป็นดวงที่เล็กมากทีเดียวและยากมากในการค้นพบ การค้นพบครั้งนี้สำเร็จด้วยกล้องโทรทรรศน์แบลนโก้ จากหอดูดาวเวอร์โร โทโลโล อินเตอร์อเมริกัน ที่ชิลี และกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย ที่ตั้งอยู่บนเกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา การค้นพบใหม่ครั้งนี้ มีอีกจุดที่น่าสนใจ ก็คือเป็นการค้นพบโดยที่มีนักศึกษาชาวแคนาดา 2 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองแฮมิลตัน แคว้นออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ได้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ค้นพบ โดยเข้าไปร่วมงานกับ เจ.เจ.กาเวลาร์ สภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการศึกษาดาวต่างๆ ของศูนย์ดาราศาสตร์ฮาร์เวิร์ด สมิธโซเนีย (มติชนรายวัน วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 20)





จีนกับอินเดียชิงเป็นเจ้าอวกาศ ส่งมนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์

จีนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะส่งมนุษย์อวกาศจีน เดินทางในอวกาศอยู่ตอนปลายปีนี้ และพร้อมกับเตรียมส่งดาวเทียมสำรวจโลกด้วย หลังจากที่ได้ส่งยานอวกาศกล ออกไปนอกโลกสำเร็จในระยะสองสามปีนี้มา 2-3 หนแล้ว และกำลังเตรียมส่งมนุษย์อวกาศ ออกเดินทางในวงโคจรรอบโลกระยะต่ำ กะไว้ว่าจะออกเดินทางในเดือนกันยายนนี้ อันเป็นเวลาก่อนหน้าวันชาติอยู่หนึ่งเดือน และจะทำให้จีนได้ชื่อเสียงว่าเป็นชาติมหาอำนาจชาติที่ 3 ที่สามารถส่งคนเดินทางในอวกาศได้สำเร็จ ต่อจากสหรัฐฯและรัสเซีย อินเดียคงจะรู้สึกร้อนใจในความก้าวหน้าของจีนขึ้นมา จึงอยากจะประชันขันแข่งกับจีนในด้านอวกาศ ด้วยการคิดส่งมนุษย์อวกาศอินเดียเดินทางไปยังดวงจันทร์บ้าง ทางด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าววิจารณ์ว่า แม้อินเดียจะมีจรวดขนาดใหญ่ของตนเองอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ จึงได้คิดชวนรัสเซียมาร่วมโครงการ ด้วยความคิดจะอาศัยจรวดขับดันของรัสเซีย แต่ใช้ยานอวกาศของตนเอง (ไทยรัฐ วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 7)





ไอซีทีใช้อินเทอร์เน็ตพัฒนานักเรียน

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีซี) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินโครงการพัฒนาเด็กไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรณรงค์ให้เด็กนำความรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง โดยจะเริ่มนำร่องในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กว่า 3,000 แห่ง หลักสูตรที่ใช้การเรียนด้านคอมพิวเตอร์จะเน้นวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาอื่นๆ และเน้นให้นำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยจะจัดอบรมครู-อาจารย์ในโรงเรียนทุกแห่ง โดยวิทยากรจากกระทรวงไอซีที เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนทุกแห่งหลังจากจะประเมินโดยวิธีประกวดโรงเรียน ครูและนักเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เตือนเด็กไทยระวังภัยขนมหวาน

จากผลการวิจัยชิ้นหนึ่งภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง “เกณฑ์แบ่งระดับความเสี่ยงของขนมที่เชื่อมโยงกับโรคฟันผุในเด็กไทย” โดยทันตแพทย์หญิงสุณี วงศ์คงคาเทพ และคณะ ได้ทำการสำรวจความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในเด็กนักเรียน ผลการวิจัยใน 4 จังหวัด (แพร่ เลย นครสวรรค์ ลพบุรี) นำร่องลดความเสี่ยงต่อโรคจากขนมหวาน โดยการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพในเด็กเมื่อปี 2543-2544 พบว่า 9 ใน 10 คน เป็นโรคฟันผุเฉลี่ย 4 ซี่ / คน ที่น่าตกใจคือภาวะโรคฟันผุเกิดขึ้นกับเด็กแม้อายุเพียง 9 เดือน ความเสี่ยงของขนมแต่ละชนิดที่สุ่มทดสอบพบว่า ขนมกลุ่มโปรตีนอบแห้ง (เมล็ดทานตะวัน ปลาหมึก ปลาเส้นอบแห้ง) และมะละกอ นั้นมีความเสี่ยงต่ำ กลุ่มเครื่องดื่มนม และน้ำผลไม้มีความเสี่ยงปานกลาง ขณะที่กลุ่มลูกอม หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต ผลไม้แปรรูป (มะม่วงกวน มะขามแก้ว) ใส่น้ำตาล ถั่วเคลือบ กลุ่มแป้งกรอบ ขนมปังกรอบ ขนมปังนิ่ม ขนมไทย (ทองหยอด กล้วยแขก ขนมชั้น หม้อแกง ข้าวต้มมัด ขนมตาล) และขนมถุงพวกแป้งกรอบที่ไม่ เคลือบน้ำตาล เป็นขนมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคฝันพุ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 25 มกราคม 2546 หน้า 7)





‘ยางรถยนต์-กากกาแฟ’ ช่วยบำบัดน้ำเสียโรงงานย้อมผ้า

ศ.ดร.วิวัฒน์ ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเมธีอาวุโส สกว. ประจำปีล่าสุด (2545) ต้องการที่จะวิจัยเพื่อหาเทคนิคที่สามารถควบคุมขบวนการผลิตถ่านกัมมันต์ในขนาดรูพรุนตามที่ต้องการได้ อันจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีน้ำทิ้งจากขบวนการผลิตได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ประเด็นสำคัญงานวิจัยซึ่งอยู่ภายใต้ทุนเมธีวิจัยอาวุโสเรื่องนี้ คือโครงการวิจัยนี้จะครอบคลุมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผลิตถ่านกัมมันต์จากของเหลือทิ้ง เช่น ยางรถยนต์หรือกากกาแฟ “เนื่องจากถ่านกัมมันต์คือ สารประกอบกลุ่มคาร์บอน เพราะฉะนั้นยางรถยนต์หรือกากกาแฟที่มีส่วนผสมหลักเป็นธาตุคาร์บอน ก็น่าจะนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตถ่านกัมมันต์ได้ ขั้นตอนที่จะทำก็คือนำยางรถยนต์หรือกากกาแฟที่แยกเฉพาะส่วนที่ต้องการแล้วนำมาบดเป็นผงและให้ความร้อนที่เหมาะสมจนได้เป็นถ่านออกมา ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้ความรู้ด้านขบวนการกึ่งเคมีอย่างลึกซึ้ง จากนั้นก็จะถึงขบวนการนำไปอัดเม็ดและบรรจุท่อ ก่อนนำไปทดลองใช้จริง ซึ่งเทคนิคที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียจากโรงงานย้อมผ้าได้แล้ว ยังช่วยลดภาระในการกำจัดยางรถยนต์และกากกาแฟที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวิธีการรีไซเคิลในภาคอุตสาหกรรมที่เหมาะสม” ศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าว นอกเหนือจากงานวิจัยเรื่องการบำบัดน้ำเสียจากโรงงานย้อมผ้าแล้ว งานวิจัยของ ศ.ดร.วิวัฒน์ ภายใต้ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ก็จะมีงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมภาคอุตสาหกรรมอีกหลายเรื่อง เช่น การแก้ปัญหากลิ่นเหม็นจากเมรุเผาศพระบบไซโคลนประสิทธิภาพสูงที่ลดการสูญเสียการผลิตแป้งออกสู่สิ่งแวดล้อม การจำลองพฤติกรรมของอนุภาคด้วยเทคนิค DEM เป็นต้น (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 27)





แอสไพรินเป็นยาสงวนชีวิตชาวโลก กั้นขวางอาการของโรคหัวใจเอาไว้

นักวิจัยรู้สึกสำนึกในบุญคุณช่วยป้องกันเลือดจับตัวของยาแอสไพริน จากการศึกษาวิจัยครั้งใหญ่กับคนไข้โรคหัวใจตามสถานพยาบาลต่างๆ ในอังกฤษ จำนวน 200,000 ราย เมื่อพบว่า หากหมอที่สั่งยาแอสไพรินให้กับคนไข้โรคหัวใจวาย หรือคนไข้เกิดอาการปวดร้าวอกเพราะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว ซึ่งข้อค้นพบนี้ช่วยให้หมอมีความมั่นใจในการสั่งยาแอสไพรินให้กับคนไข้ได้ง่ายมากขึ้น การศึกษาได้รู้ว่า ยามีสรรพคุณกับอาการได้กว้างขวางมากกว่าที่เคยเชื่อกันมา แต่นักวิจัยได้บอกขอเตือนกับคนทั่วไปไว้ว่า ยาแอสไพรินเหมาะกับผู้ที่ต้องเสี่ยงกับอาการหัวใจวายหรือลมปัจจุบันด้วยสาเหตุเฉพาะบางอย่างเท่านั้น ผู้ที่คิดจะหากินยาเอาเอง ควรจะได้ปรึกษาหมอเสียก่อน (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2546 หน้า 7)





4 วิธีของเด็ก-6 วิธีสำหรับผู้ใหญ่ ป้องกันอันตรายจากเน็ต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อเสนอ 6 แนวทางสำหรับผู้ใหญ่ และ 4 แนวทางสำหรับเด็กในการป้องกันอันตรายจากอินเตอร์เน็ตที่มีกับเด็ก ลดช่องว่างด้านเทคโนโลยี และสกัดกั้นความเสียหายต่ออนาคตของชาติ จากผู้ใช้ในเมืองไทย 4.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ในส่วนของผู้ใหญ่ ทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครองด้วย คือ 1. ไม่ควรปล่อยให้เยาวชนหรือบุตรหลานเล่นอินเตอร์เน็ตตามลำพัง 2. กระตุ้นให้เด็กเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นในอินเตอร์เน็ตให้กับผู้ปกครองได้รับทราบ และให้ร้องขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาเมื่อพบกับปัญหา 3. ทำความเข้าใจกับเด็กเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อป้องกันเด็กจากเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม 4. แนะนำเด็กในการใช้อีเมล์ และให้ตรวจสอบหรือสอบถามเกี่ยวกับการส่งอีเมล์ที่ส่งมาให้เด็กอยู่เสมอ 5. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้แชตรูม หรือห้องสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลที่เด็กควรปกปิดไว้ ไม่ควรบอกให้คู่สนทนารู้ เช่น นามสกุล ที่อยู่ หรือรหัสผ่านที่เป็นความลับกับผู้ไม่เคยรู้จัก หรือเริ่มรู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต 6. ควรวางคอมพิวเตอร์ที่เด็กใช้ไว้ในที่เปิดเผย เช่น ห้องนั่งเล่น มากกว่าที่จะวางไว้ในห้องนอน หรือห้องส่วนตัว สำหรับเยาวชน มีข้อควรระวัง คือ 1. ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ชื่อโรงเรียน ที่ทำงาน หรือเบอร์ที่ทำงานของผู้ปกครองให้แก่บุคคลอื่นที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต 2. แจ้งให้ผู้ปกครองทราบโดยทันทีที่พบข้อมูลหรือรูปภาพใดๆ บนอินเตอร์เน็ตที่หยาบคายไม่เหมาะสม 3. ไม่ไปพบบุคคลใดก็ตามที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน 4. ไม่ส่งรูปหรือสิ่งของใดๆ ให้แก่ผู้อื่นที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 32)





ค้างคาวดูดเลือดกลายเป็นหมอ น้ำลายรักษาโรคอัมพาตหายได้

วารสารเรื่อง “โรคอัมพาต” ของสมาคมโรคหัวใจอเมริกา รายงานว่าได้ค้นพบว่าโปรตีนชนิดหนึ่งในน้ำลายของค้างคาวชนิดซึ่งหากินด้วยการดูดเลือดสัตว์กิน มีสรรพคุณรักษาอัมพาตอันเกิดจากเส้นเลือดสมองอุดตันได้อย่างจริงจัง นักวิจัยทางการแพทย์รู้สึกตื่นเต้นกับการค้นพบและยกย่องว่าเป็นยารักษาที่มีสรรพคุณวิเศษที่สุดเท่าที่ได้เคยพบมา ค้างคาวชนิดนี้ มีขนาดลำตัวโตเมื่อกางปีกประมาณ 8 นิ้ว พบอยู่ทางดินแดนอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในน้ำลายของมันมีสารที่ทำให้เลือดของเหยื่อไม่จับตัว ช่วยให้เลือดไหลออกมาให้มันดูดกินได้ตลอดเวลา ในการวิจัยขั้นต้นกับสัตว์ทดลองพบว่า มันออกฤทธิ์ได้เร็ว แรงและนานกว่ายาที่ใช้รักษากันอยู่ในทุกวันนี้ (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 7)





ดื่ม “ชาเขียว-อู่หลง” ช่วยกระดูกแข็งแรง

ข่าวแจ้งว่า จากการเก็บข้อมูลในประชากรชาย-หญิง อายุ 30 ปีขึ้นไป จำนวน 1,037 คน โดยสอบถามประวัติพฤติกรรมการดื่มชาและวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) รวมทั้งปัจจัยที่อาจมีผลกระทบอื่นๆ เช่น เพศ อายุ ความหนาแน่นของร่างกาย (body mass index) และลักษณะการดำเนินชีวิต ปรากฏว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างจะดื่มชาเป็นประจำมาอย่างน้อยหนึ่งปี ส่วนใหญ่จะดื่มชาเขียวหรือชาอู่หลงโดยไม่ใส่นม ชาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่นิยมในคนเอเชีย ทำให้ผู้ดื่มได้รับแคลเซียมจากชาเป็นประจำ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงที่สุด คือคนที่ดื่มชาประจำมานานกว่า 10 ปี โดยพบ BMD บริเวณสะโพกสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มชาเป็นประจำถึง 6.2% ส่วนคนที่ดื่มชาประจำ 6-10 ปี จะมี BMD บริเวณสะโพกสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มชาประจำ 2.3% แต่ไม่พบความแตกต่างของ BMD ในคนที่ดื่มชาประจำเป็นเวลา 1-5 ปี ผลการศึกษาครั้งนี้นอกจากจะเป็นข่าวดีของผู้ที่ชอบดื่มชาแล้ว ยังอาจมีประโยชน์ในวงกว้าง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะกระดูกหักจากภาวะกระดูกบางในหญิงวัยหมดประจำเดือนเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก (มติชนรายวัน วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 18)





เผย 2 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม

นายจิรพันธุ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัย (วช.) แถลงผลการให้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2546 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการจัดงานวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์ว่า ปีนี้มีผลงานที่ได้รับรางวัลดีเยี่ยมเพียง 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานโคเนื้อพันธุ์ตาก ของนายยอดชาย ทองไทยนันท์ และคณะ จากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก ได้รางวัลด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร สาขาเกษตรศาสตรและชีววิทยาและผลงานชุดจำแนกชนิดเชื้อกลุ่มก่อวัณโรคโดยวิธีมัลติเพล็กพีซีอาร์ ของนางอังคณา ฉายาประเสริฐและคณะ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัลด้านการแพทย์และสาธารณสุข สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานโคเนื้อพันธุ์ตากของนายยอดชายเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างโคสายเลือดพันธุ์ชาร์โรเลส์ 62.5% และโคพันธุ์เนื้ออเมริกาบราห์มัน 37.5% มีคุณสมบัติคือโตเร็ว เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและให้เนื้อคุณภาพดีไม่ต้องพึ่งน้ำเชื้อจากพ่อโคต่างประเทศ การผสมเทียมพ่อโค 1 ตัว สามารถให้ลูกได้ประมาณ 125 ตัวตลอดชั่วอายุ ขณะนี้ได้เผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงแทนโคเนื้อสายพันธุ์ต่างประเทศและโคพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่มีขนาดเล็กแล้ว ส่วนผลงานชุดจำแนกเชื้อกลุ่มวัณโรคของนางอังคณา เป็นชุดที่ใช้จำแนกชนิดเชื้อจากโคโลนีโดยตรวจหาดีเอ็นเอจากเป้าหมาย ปรากฏว่าชุดจำแนกที่พัฒนาได้ 1 ชุดสามารถทำได้ 50 การทดสอบ มีลักษณะเด่นคือใช้งานง่าย สะดวก ให้ผลการจำแนกถูกต้องแม่นยำสูงมากกว่าร้อยละ 98 และสามารถจำแนกชนิดเชื้อได้พร้อมกันอย่างน้อย 14 ถึง 28 สายพันธุ์ใน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคเป็นไปได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและตัดวงจรการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ 10-25 เท่า สำหรับตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย คือผลงานสลีป-อะลาร์ม (Sleep Alarm) เครื่องป้องกันการหลับขณะขับยานพาหนะ ของนายพลชัย พันธุ์อำไพ สามารถนำไปติดตั้งกับยานพาหนะทุกชนิด ขณะนี้ได้ผลผลิตจำหน่ายให้ผู้สนใจไปแล้วกว่า 100 ชิ้น ราคาประมาณ 2,500 บาทต่อชิ้น (มติชนรายวัน วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 15)สามารถทำได้ 50 การทดสอบ มีลักษณะเด่นคือใช้งานง่าย สะดวก ให้ผลการจำแนกถูกต้องแม่นยำสูงมากกว่าร้อยละ 98 และสามารถจำแนกชนิดเชื้อได้พร้อมกันอย่างน้อย 14 ถึง 28 สายพันธุ์ใน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคเป็นไปได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและตัดวงจรการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ 10-25 เท่า สำหรับตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย คือผลงานสลีป-อะลาร์ม (Sleep Alarm) เครื่องป้องกันการหลับขณะขับยานพาหนะ ของนายพลชัย พันธุ์อำไพ สามารถนำไปติดตั้งกับยานพาหนะทุกชนิด ขณะนี้ได้ผลผลิตจำหน่ายให้ผู้สนใจไปแล้วกว่า 100 ชิ้น ราคาประมาณ 2,500 บาทต่อชิ้น (มติชนรายวัน วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 15)





เปิดทำศึกกับความแก่ชราของมนุษย์ โจมตีตัวการทำให้สมองเสื่อมโทรม

บริษัทมีชื่อว่า “เซเนกซิส” จะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษ จะตั้งหน้าตั้งตาค้นหายาต่อสู้กับโรคอันเนื่องมาจากความเสื่อมของสมองต่างๆ อันเนื่องมาจากความแก่ชราโดยตรง อย่างเช่น โรคความจำเสื่อม โรคของเซลล์ประสาทสั่งการ และโรคอัมพาตแบบสั่น โรคเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นเพราะการเกิดสารแป้งในส่วนเนื้อของร่างกายขึ้น เลยทำให้โปรตีนบางชนิดยึดเกาะกันเป็นก้อนพิษ กัดกินเซลล์สมองขึ้น นักวิจัยคิดว่า หากสามารถหายาที่แก้ไม่ให้โปรตีนเกาะยึดติดกันได้ ก็จะช่วยป้องกันโรคเหล่านี้ได้ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 15 มกราคม 2546 หน้า 7)





ผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกร โดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่นักวิจัยจากภาครัฐ และเอกชน ทั้งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยกรมปศุสัตว์ และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมกันจัดทำชุดโครงการวิจัย เรื่องการวิจัยและพัฒนาวิธีวินิจฉัย ควบคุม และป้องกันโรคอหิวาต์สุกรในประเทศไทยขึ้น ชุดโครงการวิจัยดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 โครงการวิจัยย่อย ได้แก่ การศึกษาสถานภาพระดับภูมิคุ้มกันและการประเมินประสิทธิภาพของโปรแกรมการฉีดวัคซีน การศึกษากรรมวิธีตรวจวินิจฉัยโรคอหิวาต์สุกรด้วยเทคนิคใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของโรค พัฒนาวิธีผลิตวัคซีนอหิวาต์สุกรโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง และศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคอหิวาต์สุกร ขณะนี้งานวิจัยดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้ว และได้ตั้งชื่อว่า WPE/Th strain ด้วยกรรมวิธีในการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนการผลิตต่ำ วัคซีนที่ผลิตได้จึงมีความเหมาะสมที่จะนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการผลิตวัคซีนชนิดฉีดเข้ากระต่าย คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีเกษตรกรจะได้ใช้วัคซีนแบบใหม่นี้ เกษตรกรจะได้ใช้วัคซีนที่มีราคาถูกลง และมีความคุ้มโรคดี มีมาตรฐาน ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสี่ยงต่อโรคของหมู เกษตรสามารถวางแผนการผลิตได้มีประสิทธิภาพขึ้น วัคซีนแบบใหม่สามารถลดการฆ่ากระต่ายที่ต้องนำมาทำวัคซีนได้ปีละหลายพันตัว ที่สำคัญคือสามารถผลิตได้มากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการใช้วัคซีนภายในประเทศ ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ในอนาคตประเทศไทยอาจส่งออกวัคซีนอหิวาต์สุกรไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้ด้วย (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2546 หน้า 27)





ข่าวทั่วไป


โตโยต้าหา 200 ไร่ตั้งศูนย์วิจัยฯ ทุ่ม 4 พันล้าน ดันไทยศูนย์กลางรถ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งดำเนินการกรณีที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยขอให้ร่วมมือในการจัดสรรพื้นที่เพื่อลงทุนโครงการวิจัยและพัฒนา คือ โตโยต้าเทคนิคเซ็นเตอร์เอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ งบฯลงทุนไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และการจัดตั้งศูนย์ทดสอบรถยนต์พื้นที่ 2,000 ไร่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการศูนย์วิจัยและพัฒนานั้น บริษัทตั้งเป้าที่จะตั้งให้ได้ภายใน 1 ปี เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแผนของโตโยต้าที่จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนด้วยการใชชิ้นส่วนภายในประเทศทั้ง 100% ส่วนโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์ในเบื้องต้นอาจจะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพื่อเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะ นายเรียวอิจิ ซาซากิ ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้โตโยต้าอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของโครงการทั้งหมด คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดีในประเทศไทยจะนับเป็นแห่งที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2546 หน้า 6)





ชี้ “ไข่เปรี้ยว” รักษาโรคเกาต์ไม่ได้

น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนจังหวัดระยองมีความเชื่อจากจีนว่าการรับประทานไข่ไก่หมักน้ำส้มสายชู หรือที่เรียกว่า “ไข่เปรี้ยว” จะรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเกาต์ว่า การรับประทานไข่หมักน้ำส้มสายชู ไม่น่าจะมีอันตรายคงจะเหมือนกับรับประทานไข่ดองโดยน้ำส้มสายชูที่หมักไข่จะส่งผลทำให้โปรตีนไข่ตกตะกอน หรือเปลี่ยนสภาพไปบ้างเท่านั้น หากไข่ที่นำมารับประทานไม่มีเชื้อโรค หรือจุลินทรีย์เจือปนและน้ำส้มสายชูที่มาหมักเป็นน้ำส้มที่บริโภคได้ มิใช่กรดน้ำส้มที่นำมาบริโภคไม่ได้ ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย น.พ. สถาพรกล่าวว่า “ความจริงแล้วไข่ดิบก็ไม่ได้มีสรรพคุณหรือมีประโยชน์ในการรักษาโรคเกาต์แต่อย่างใด และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม่ควรที่จะรับประทานไข่มากเกินไป เพราะในไข่แดงจะมีคอเลสเตอรอลสูง อย่างไรก็ตามมีบ้างที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตรับประทานไข่ขาวให้มากขึ้น อันเนื่องมาจากการสูญเสียโปรตีนไข่ขาว แพทย์จะแนะนำให้กินไข่ขาวหลายๆฟอง แต่คนปกติธรรมดาไม่มีความเป็นจำเป็นที่ต้องกิน” (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 14 มกราคม 2546 หน้า 5)





2 ก.พ. 46 : วันนักประดิษฐ์ไทย

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ไทย ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 วันนักประดิษฐ์ไทยนี้มีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งคือเพื่อส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้นจากกลุ่มผู้คนต่างๆ ทั้งเยาวชน นักเรียน นักศึกษา อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ในการจัดกิจกรรมได้มีการนำสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นมาประกวดเพื่อการรับรู้ของสังคมและเพื่อร่วมสร้างแนวคิดตลอดจนการพิจารณาให้ทุนการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อส่วนที่มีแนวคิดที่แสดงได้ว่ามีความสร้างสรรค์และมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ต่อสังคมอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นับเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของกลุ่มผู้คิดค้นเป็นอย่างดี และในปีนี้เพื่อให้มีการกระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ อย่างกว้างขวางทางคณะผู้จัดงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่าจะมีการจัดงาน 3 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 24- 26 มกราคม 2546 ภาคกลาง จัดที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 4 และ 5 ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2546 ภาคเหนือ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญไชย ถนนเลียบริมแม่น้ำปิง ไปจนถึงเชิงสะพานท่าขาม อ.เมือง จ.ลำพูน ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2546 (เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2546 หน้า 22)





คนไทยนักอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ปลาหมอจูบ (ปลาหมอตาล) ไว้ให้ดูกัน

ปลาหมอจูบ (ปลาหมอตาล) เป็นปลาไทยพันธุ์แท้ที่ปัจจุบันใกล้ที่จะสูญพันธุ์ และเป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ คือ เมื่อกินอาหารจะยื่นริมฝีปากออกมาคล้ายกับการจูบของคน คุณโชค ตุ่มศิริ เจ้าของฟาร์มผู้เพาะเลี้ยงปลาหมอตาลกล่าวว่า ได้ทดลองเลี้ยงปลาชนิดนี้ เนื่องจากว่าขณะนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพราะว่าด้วยอุปนิสัยของแม่ปลาหมอตาลตะวางไข่ลอยไว้ตามกอสวะในน้ำแล้วจากไปไม่เฝ้าระวังดูแลทำให้ไข่ของปลาถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร โดยตนเองเป็นแรกที่คิดพัฒนาสายพันธุ์ของปลาชนิดนี้ให้ตัวสั้นลงเนื้อมากขึ้นและหัวเล็กลง ซึ่งจะเหมาะสำหรับเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ และกำลังพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถเลี้ยงเป็นปลาตู้ที่สวยงามเนื่องจากปลานี้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครโดยที่เพิ่งจะนำไปเปิดตัวในงานวันประมงน้อมเกล้าเมื่อปีที่แล้วด้วย และเนื่องจากเนื้อปลาแน่นเนื้อขาวจึงเหมาะสำหรับมาทำอาหารประเภทนึ่ง ย่างเกลือ ต้มยำและโดยเฉพาะไข่ปลาหมอตาลนั้นอร่อยมากทีเดียว ซึ่งทางเจ้าของฟาร์มบอกว่าตอนนี้กำลังคิดพัฒนาสายพันธุ์ให้มีไข่มากอีกด้วย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 21 มกราคม 2546 หน้า 25)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215