หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 6 ประจำวันที่ 2003-02-11

ข่าวการศึกษา

‘จาตุรนต์’ ฟันธงปฏิรูปอุดมศึกษาที่ผ่านมาหลงทาง
ยุวทูตอนุรักษ์น้ำและพลังงานผงาดเวทีพิทักษ์โลก
หารือเลขาอาเซียนดึงซีมีโอเป็นมือวิจัย
ศธ. – เอกชนไฟเขียวกฏ “โฮมสคูล”
วิทยาลัยเลิงนกทา เปิดหลักสูตรพิเศษ สอนนวดแผนไทยรับตลาดแรงงาน ตปท.
จวก “จาตุรนต์” ก่อปัญหามหาวิทยาลัย งงฟังปอมท. – ตีกลับ ม.ในกำกับ
ประกาศผลยอดหนังสือแปลแห่งปี
ศธ.ทดลองตั้ง ร.ร.สารสนเทศ
ชี้ปรับปรุงเอนทรานซ์ถ้าไม่เลิกข้อสอบปรนัยก็แย่เหมือนเดิม
สั่งมหาวิทยาลัยปรับตัวผลิตบัณฑิต
นิสิตตบเท้าบุกทบวงฯ สางปัญหา ม.ณิวัฒนา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ลายน้ำดิจิทัล…เทคโนโลยีที่ต้องรู้จัก
เครื่องย่อยกระดาษสร้างอาชีพคนพิการ
เปิดใจ ‘ยุวฑูตอนุรักษ์น้ำ’ คิด-ทำ น้ำหาร 2

ข่าววิจัย/พัฒนา

มก.เปิดเวทีถกงานวิจัยกว่า 500 เรื่อง: ในการประชุมวิชาการ 3-7 ก.พ.นี้
เลือก 32 คนไทยอายุ 50 ปีขึ้น ต้นแบบถอด “รหัสพันธุกรรม
ทส. ตั้งคณะวิจัยไม้กลายเป็นหิน
ดับไฟด้วยไอน้ำ

ข่าวทั่วไป

แพทย์ผู้คิดค้นวัคซีนเด็กรับรางวัลมหิดล ประจำปี 2545
ข้าวพันธุ์ใหม่ป้องกันคนไทยขาดธาตุเหล็ก
รัฐเปิดเว็บท่ารวมบริการทุกหน่วยงาน
สารกรดในบรรยากาศมลพิษไร้พรมแดน
โสมขาวเตือนภัยไวรัส “แซพฟายร์” ป่วนลามเครือข่ายคอมพ์ทั่วโลก
นักโภชนาชี้เหตุคนเฉื่อยเจอภาวะพร่องธาตุเหล็ก





ข่าวการศึกษา


‘จาตุรนต์’ ฟันธงปฏิรูปอุดมศึกษาที่ผ่านมาหลงทาง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ทิศทางและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ที่ จ.นครปฐม เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรทบทวนการนับช่วงชั้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันนับจาก ป.1-ม.6 แต่ในภาวะที่รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณจึงควรนำเม็ดเงินที่มีอยู่มาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงเด็กยากจนที่ไม่ควรเสียโอกาส เพราะที่ผ่านมาการนำเงินมากระจายให้เด็กทุกคนเฉลี่ยเท่ากันไม่ว่ารวยหรือจนกลับทำให้เด็กยากจนยิ่งเสียโอกาสสิ่งที่ทำผ่านมายังไม่ใช่การปฏิรูปอุดมศึกษาที่ประเทศนี้ต้องการ เพราะเราต้องการการปฏิรูปอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ มีการปฏิรูปโครงสร้างทั้งในระดับมหภาคถึงระดับสถาบัน ต้องปฏิรูประบบการเงินการคลังเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกในการกำกับดูแลและประชาคมสามารถตรวจสอบได้ด้วย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 11)





ยุวทูตอนุรักษ์น้ำและพลังงานผงาดเวทีพิทักษ์โลก

“น้ำหาร 2 ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” เป็นอีกหนึ่งโครงการของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ที่ได้ทำการคัดเลือกเยาวชนในระดับอุดมศึกษาที่มีความสามารถ จำนวน 5 คน จาก 5 ภูมิภาคเพื่อเป็น “ยุวทูตอนุรักษ์น้ำและพลังงาน” ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ อาทิ “ถนนคนรักน้ำ” ที่ถนนท่าแพ จ.เชียงใหม่, “เด็กไทยใจรักน้ำ” ณ สวนสัตว์ดุสิต และกิจกรรมรณรงค์ “อนุรักษ์น้ำและพลังงาน” สัญจร ณ โรงเรียนมัธยมศึกษา 25 แห่ง ทั่วประเทศ จากการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้ประสิทธิ์ บุญทัน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หนึ่งในยุวทูตอนุรักษ์น้ำและพลังงาน ได้รับคัดเลือกจากโครงการสิ่งแวดล้อมจากสหประชาชาติ หรือ UNEP (United Nation Environment Programme) ให้เป็นผู้แทนเยาวชนไทยไปประชุม Global Youth Retreat ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ร่วมกับผู้แทนเยาวชนจากองค์กรสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 50 คน ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2546 (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





หารือเลขาอาเซียนดึงซีมีโอเป็นมือวิจัย

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ. 2546 ตนในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีเมค จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ระดับภูมิภาค ว่าด้วยชีววิทยาเขตร้อน (ไบโอทรอป) ที่ประเทศอินโดนีเซียและศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการฝึกอบรมของซีมีโอ (รีแทรค) นอกจากนี้ยังจะเข้าพบเลขาธิการอาเซียน ที่มีความชำนาญทางด้านการค้าเศรษฐกิจ การเมือง โดยจะเสนอให้อาเซียนได้ใช้ซีมีโอเป็นมือทางด้านวิชาการ การค้นคว้าวิจัยเพราะถือเป็นงานหลักของซีมีโออยู่แล้ว หากอาเซียนมีงานค้นคว้าวิจัยในเรื่องใดก็สามารถร่วมมือซีมีโอ เพราะมีประเทศสมาชิกเหมือนกันอยู่แล้ว และศูนย์ของซีมีโอก็มีอยู่ในอาเซียนถึง 15 ศูนย์กระจายอยู่ทุกประเทศ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ศธ. – เอกชนไฟเขียวกฏ “โฮมสคูล”

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าร่างกฏกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ว่าขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญมีทั้งหมด 19 ข้อ นายอำรุง จันทวานิช รองปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างกฏกระทรวงฉบับนี้ กล่าวว่า ได้ข้อยุติทั้งหมดแล้ว ทั้งเรื่องหลักสูตรและการวัดผล ประเมินผล โดยตัวแทนเอกชนเห็นตรงกับ ศธ. ว่าควรใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยอมให้มีการปรับหลักสูตรตามจุดเน้นและสาระการเรียนรู้ที่ครอบครัวพัฒนาได้ ส่วนการวัดผล ประเมินผล ได้ข้อยุติโดยทาง ศธ. ยอมให้ครอบครัวเป็นผู้วัดผลและประเมินผลได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีความสอดคล้องกับหลักการและเกณฑ์การวัดและประเมินผลของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งต้องส่งผู้เรียนเข้ารับการวัดผลและประเมินผลระดับชาติ ตามเงื่อนไขที่ ศธ. กำหนด สำหรับกรณีครอบครัวที่ไม่ประสงค์จะจัดโฮมสคูลตลอดหลักสูตรหรือถูกเพิกถอนสิทธิ จะต้องส่งเด็กเข้าสู่สถานศึกษาโดยใช้ผลการเรียนรู้ที่สะสมไปเทียบโอนผลการเรียนตามระเบียบที่ ศธ.กำหนด ทั้งนี้ขั้นต่อไปจะนำเสนอ ศธ.เพื่อประกาศเป็นกฏกระทรวง และเร่งทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2546 หน้า 20)





วิทยาลัยเลิงนกทา เปิดหลักสูตรพิเศษ สอนนวดแผนไทยรับตลาดแรงงาน ตปท.

นายสุพัฒน์ ไชยกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเลิงนกทา จ.ยโสธร เปิดเผยว่าทางวิทยาลัยได้ทำหลักสูตรท้องถิ่นวิชานวดแผนไทยขึ้นเป็นแห่งแรก โดยจัดสอนเป็นหลักสูตรพิเศษแก่กลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาที่สนใจ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เรียน จึงได้ขยายผลจัดเป็นโครงการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์พัฒนาแรงงาน ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ยิ่งได้รับความสนใจจากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศเดินทางมาดูงานและขอหลักสูตร เพื่อขยายผลไปเปิดสอนโดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านที่ให้บริการนวดแผนไทยแก่นักท่องเที่ยว สำหรับหลักสูตรนวดแผนไทยที่จัดทำขึ้นมีทั้งการนวดฝ่าเท้า จับเส้น การนวดแบบพระราชสำนัก และเชลยศักดิ์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ และขณะนี้มีหลายประเทศที่ต้องการแรงงานที่มีความสามารถด้านการนวดแผนไทยเข้าไปทำงานด้วย เช่น ญี่ปุ่น คูเวต เกาหลี เป็นต้น ดังนั้น ทางวิทยาลัยจึงได้เปิดหลักสูตรพิเศษระยะสั้นให้กับแรงงานที่เดินทางไปขุดทองยังประเทศต่างๆ ด้วย โดยจะรับเกียรติบัตรเป็นภาษาอังกฤษเพื่อใช้แสดงเป็นหลักฐานในการสมัครงาน ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจมีผู้มาสมัครเรียนจำนวนมาก (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 28 มกราคม 2546 หน้า 21)





จวก “จาตุรนต์” ก่อปัญหามหาวิทยาลัย งงฟังปอมท. – ตีกลับ ม.ในกำกับ

นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 3 ระบุให้นำร่าง พ.ร.บ. สจพ.และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ซึ่งปรับไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลกลับไปปรับปรุงใหม่ ว่าเป็นเพราะนายจาตุรนต์ไม่เข้าใจ อย่างในร่าง พ.ร.บ. สจพ. ก็ไม่ได้บังคับให้ข้าราชการต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ให้เลือกสถานภาพได้จนเกษียณ และการยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลก็เพื่อรองรับพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เริ่มรับมาตั้งแต่ปี 2541 หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายจำกัดอัตรากำลังคน ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะมีบุคลากร 2 ระบบ อย่างที่ สจพ. มีพนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 200 คน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีถึง 1,000 กว่าคน นายธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า วันที่นายจาตุรนต์เรียกตนกับรองอธิการบดี มร. เข้าไปชี้แจง ก็ไม่ได้ชี้แจงเลย ให้แต่นั่งรออยู่นอกห้อง 2 ชั่วโมง แต่กลับเรียกประธาน ปอมท. เข้าไป และให้เจ้าหน้าที่ออกมาบอกว่าเรียบร้อย กลับได้ และต่อมาก็มาให้สัมภาษณ์ว่าให้ทั้ง 2 สถาบันนำร่างกฏหมายกลับไปปรับปรุงให้ ซึ่งไม่ถูกต้อง นายธีรวุฒิกล่าวต่ออีกว่า “ถ้ามีปัญหาก็น่าจะเรียกผมและรองอธิการบดี มร. เข้าไปถาม เพราะ ปอมท. ไม่ใช่เสียงของอาจารย์ส่วนใหญ่ อย่างที่ สจพ. ก็จะให้สภาอาจารย์และสภาข้าราชการทำประชาพิจารณ์แล้ว ก็ไม่มีปัญหา ผมยังงงๆ ว่า คุณจาตุรนต์ จะเอาอย่างไร เพราะกำลังจะสร้างปัญหาให้กับมหาวิทยาลัย (มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 20)





ประกาศผลยอดหนังสือแปลแห่งปี

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการเปิดเผยถึงผลการประกวดหนังสือแปลดีเด่นครั้งที่ 4 พ.ศ. 2545 โดยการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือแปลดีเด่นเป็นภาษาไทย พิมพ์โฆษณาเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2545 ปรากฏดังนี้ กลุ่มหนังสือสารคดี รางวัลดีเด่น ได้แก่ ผู้ชายหลายมิติ ผู้แปล นพมาศ แววหงส์ รางวัลชมเชย ได้แก่ รายงานลูกาโน การอนุรักษ์ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ผู้แปล ภัศวดี วีระภาสพงษ์ , เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สังเขปประวัติศาสตร์ ผู้แปล มัทนา เกษกมล และคณะ , หมอฝรั่งในวังสยาม ผู้แปล พิมาน แจ่มจรัล กลุ่มหนังสือนวนิยายและสาระบันเทิง รางวัลดีเด่น ได้แก่ ปมปริศนาราชาไหมไทย จิม ทอมบ์สัน ผู้แปล สุรเดช ไกรนวพันธ์ กลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์และกลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น ไม่มีส่งเข้าประกวด กลุ่มหนังสือการ์ตูนและ/หรือหนังสือนิยายภาพ ไม่มีหนังสือเล่มใดได้รับรางวัล กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน อายุ 3-5 ปี ได้แก่ ดอกไม้จากใครเอ่ย ผู้แปล รอนงค์ นิยมค้า รางวัลชมเชย ได้แก่ ขอโทษนะคุณเป็นแม่มดรึเปล่า? ผู้แปล น้านกฮูก กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-11 ปี หนังสือบันเทิงคดี รางวัลดีเด่น ไม่มีเล่มใดได้รับรางวัล รางวัลชมเชย ได้แก่ วันที่ย่าไม่ได้ยืนอยู่ตรงหน้าต่าง ผู้แปล ชลิต ดุรงค์พันธุ์ , ไอเลิฟยูหนูรักแม่ ผู้แปล มณฑา พิมพ์ทอง หนังสือสารคดี ไม่มีส่งเข้าประกวด กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี หนังสือบันเทิงคดี รางวัลดีเด่น ได้แก่ ห้าสหายผจญภัย ตอน เกาะมหาสมบัติ ผู้แปล ฉันทนา ไชยชิต รางวัลชมเชย ได้แก่ แก๊งจระเข้ ผู้แปล ชลิต ดุรงค์พันธ์ , บ้านนี้ยังมีรัก ผู้แปล ปิยะภา , เสี้ยวความทรงจำ ผู้แปล สมพร วาร์นาโด หนังสือสารคดี รางวัลดีเด่น ไม่มีหนังสือเล่มใดได้รับรางวัล รางวัลชมเชย ได้แก่ วิทยาการเปลี่ยนชีวิต (ชุดเปิดโอกาสอนาคตด้วยเทคโนโลยี) ผู้แปลพุทธิพงศ์ จิตรปฏิมา , มหาสมุทรโลกมหัศจรรย์เหนือผืนน้ำและใต้ท้องทะเล ผู้แปล ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ หนังสือร้อยกรองไม่มีส่งเข้าประกวด (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ศธ.ทดลองตั้ง ร.ร.สารสนเทศ

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้ ศธ. จัดตั้งโรงเรียนใน 3 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนที่เปิดสอนสองภาษา โรงเรียนแนวพุทธและโรงเรียนที่เปิดสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดการศึกษาให้มีความหลากหลายนั้น ล่าสุดนายปองพลได้สั่งการให้มีการจัดตั้งโรงเรียนที่เปิดสอนด้วยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มอีก 1 ประเภท เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ มีการนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแต่ยังไม่เต็มศักยภาพ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการจัดตั้งโรงเรียนที่เปิดสอนด้วยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นต้นแบบที่ดีให้โรงเรียนอื่นๆ ได้นำสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ได้อย่างสูงสุด โดยเบื้องต้นตนได้ขอให้นายอธิปัตย์ คลี่สุนทร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงานในการพิจารณารูปแบบการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนที่เปิดสอนด้วยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว และจะมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีความชำนาญในเรื่องนี้ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ด้วย (เดลินิวส์ วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 14)





ชี้ปรับปรุงเอนทรานซ์ถ้าไม่เลิกข้อสอบปรนัยก็แย่เหมือนเดิม

จากการอภิปรายเรื่อง “การศึกษาขั้นพื้นฐานสู่อุดมศึกษา : สอบเอนทรานซ์ยังจำเป็นหรือ” นายวิทยากร เชียงกูล ผอ.ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ระบบเอนทรานซ์เป็นตัวทำลายคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนไทย เพราะเน้นการสอบแบบปรนัยอาศัยท่องจำและกวดวิชา มุ่งเอาชนะเพื่อนมากกว่าการเรียนเพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ ถึงแม้ว่าทบวงฯ จะพยามยามปรับปรุงวิธีการคัดเลือก แต่ก็เป็นเพียงการปรับปรุงในส่วนย่อย โดยยังไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงคือ โครงสร้างเศรษฐกิจการศึกษาที่เป็นแบบแพ้คัดออก และสังคมตีค่าคนจบปริญญาสูงกว่าคนจบมัธยมหรืออาชีวศึกษามากเกินไป จนทำให้เด็กทุกวันนี้เครียดและไม่สนุกกับการเรียนเท่าที่ควร และแม้ว่าขณะนี้ระบบเอนทรานซ์จะเปลี่ยนเป็นระบบกลางรับนิสิตนักศึกษาหรือ Admission ที่เปลี่ยนจากระบบการสอบอย่างเดียวมาเป็นวัดผลหลายอย่างซึ่งในแง่ทฤษฏีน่าจะมีประสิทธิภาพสามารถคัดคนได้เหมาะสมมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติกลับยังขึ้นอยู่กับการออกข้อสอบปรนัย ซึ่งตนเชื่อว่าถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ว่าระบบไหนก็แย่เหมือนกันหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือต้องสร้างการศึกษาอาชีวะในระดับมัธยมตอนปลายและอุดมศึกษารวมทั้งวิทยาลัยชุมชนให้มีคุณภาพและใช้งานได้จริง เพื่อเด็กจะได้มีทางเลือกไม่มุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว (ไทยรัฐ วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 14)





สั่งมหาวิทยาลัยปรับตัวผลิตบัณฑิต

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ 92.5 เมกะเฮิร์ตซ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ถึงการมอบนโยบายแก่คณบดีและหัวหน้าภาควิชาของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนว่า ได้ให้เน้นเรื่องประสิทธิภาพการผลิตบัณฑิต แต่ก่อนมองรับบัณฑิตไปที่ความสามารถในการผลิต ไม่ได้มองในด้านของความต้องการบัณฑิตของสังคม ทำให้การบริหารการศึกษาผิดพลาด เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับตัวสูง ไม่ใช่ว่าคณะไหนอยากจะผลิตเท่าไหร่ก็ทำได้ตามใจชอบ บางคณะบางปีอาจจะไม่มีความต้องการ มหาวิทยาลัยจึงต้องมีความอ่อนตัวในการปรับตัว การใช้ทรัพยากรร่วมกันข้ามคณะ ข้ามมหาวิทยาลัยจะต้องเกิดขึ้นได้ ทั้งด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน อาคารสถานที่ และรวมทั้งวิชาการ (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2546 หน้า 11)





นิสิตตบเท้าบุกทบวงฯ สางปัญหา ม.ณิวัฒนา

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังตัวแทนนิสิตมหาวิทยาลัยณิวัฒนา จ.สุพรรณบุรี ประมาณ 100 คน มาเข้าพบว่า นิสิตเหล่านี้ได้ยื่นหนังสือเพื่อบอกเล่าถึงปัญหาภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะปัญหาในการจัดการศึกษา ซึ่งเกรงว่าจะไม่ได้รับการรับรองหลักสูตร เท่ากับจบไม่ได้ เฉพาะอย่างยิ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์จะมีปัญหามากที่สุด จึงได้ชี้แจงไปว่าทางทบวงจะช่วยเหลือนิสิตทุกคนโดยจะรับรองมาตรฐานให้เป็นรุ่นๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีคณะกรรมการด้านวิศวะ บริหารธุรกิจ นิติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ กำลังทยอยเข้าไปช่วยตรวจสอบ ทั้งนี้ ตัวแทนนิสิตยังได้เล่าถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาสวัสดิการ การเรียน คุณภาพอาจารย์ ซึ่งหลายเรื่องทางทบวงเข้าไปแก้ไขโดยเร็ว เพราะจะสิ้นปีการศึกษาแล้ว (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2546 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ลายน้ำดิจิทัล…เทคโนโลยีที่ต้องรู้จัก

นักคอมพิวเตอร์ได้คิดค้นเทคโนโลยีลายน้ำดิจิทัล (Digital Watermarking) ขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันการปลอมแปลงเอกสารและยังสามารถแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของในข้อมูลที่ผ่านการลงลายน้ำด้วย โดยเทคโนโลยีนี้จะทำการฝังตัว (embedded) ลายน้ำดิจิทัลด้วยโปรแกรมพิเศษ ในรูปสัญญาลักษณ์ อักษร ข้อมูล สำคัญอื่นๆ เช่น ผู้จัดทำเอกสารนั้น วันที่ เวลา เป็นต้น ซึ่งมีทั้งแบบที่มองเห็นและตรวจสอบโดยโปรแกรมพิเศษ เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำมาใช้ควบคู่กับข้อมูลหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ หรือเสียง หากใครอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็เข้าไปอ่านข้อมูลที่ www.watermarking world.org/ หรือ www.digimarc.com/ ได้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





เครื่องย่อยกระดาษสร้างอาชีพคนพิการ

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพายัพ โชว์ผลงานเครื่องย่อยกระดาษจากสมองของคนรุ่นใหม่ ทุ่นแรงคนพิการหนุนอาชีพในชุมชน ด้วยสมองและสองมือของ 4 หนุ่มสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้แก่ กัมพล จารุวัฒน์ ,ประเทือง นันทเสน, พิเชษฐ์ โค้วตระกูล และชาญ ณงค์ใจปัญญา ที่ช่วยกัน ที่ช่วยกันคิดค้นและประดิษฐ์ผลงานนี้ขึ้น ภายใต้การแนะนำดูแลให้คำปรึกษาของ อาจารย์สุรพงษ์ บางพาน สำหรับเครื่องย่อยกระดาษนี้ เป็นเครื่องที่พัฒนามาจากเครื่องต้นแบบความเร็วรอบในการตี 860 รอบ / นาที ใช้เวลาในการตีย่อยเพียงแค่ 20 นาที และได้ความละเอียดที่มากกว่า ส่วนราคาของเครื่องต้นแบบก็ตกราวๆ 25,000 บาท เท่านั้น (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





เปิดใจ ‘ยุวฑูตอนุรักษ์น้ำ’ คิด-ทำ น้ำหาร 2

นายเมตตา บันเทิงสุข ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนากระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า การนำยุวฑูต อนุรักษ์น้ำและพลังงานไปทัศนศึกษาที่ประเทศสหรัฐ โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน “เราเน้นให้ยุวฑูตอนุรักษ์น้ำและพลังงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดที่หลากหลายได้รับความรู้เรื่องการอนุรักษ์น้ำและพลังงานในเชิงลึกให้ได้มากที่สุด เพราะยุวฑูตทั้ง 5 คนถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่และเป็นตัวแทนของโครงการ “น้ำหาร 2 ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” ที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์กระตุ้นจิตสำนึกการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” กว่า 10 วันเต็ม กับการตระเวนศึกษาวิธีการจัดการด้านแหล่งน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลและประสิทธิภาพของน้ำ รวมถึงการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ทำให้เหล่ายุวฑูตได้ความรู้ของการรักน้ำเพิ่มมากขึ้น (สยามรัฐ เสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มก.เปิดเวทีถกงานวิจัยกว่า 500 เรื่อง: ในการประชุมวิชาการ 3-7 ก.พ.นี้

คุณจุไร เกิดควร ประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แจ้งเข้ามาว่าในระหว่างการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2546 นี้ จะมีการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 41 ส่วนหนึ่งก็เป็นการเฉลิมฉลอง 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยได้รับความสนใจจากนักวิชาการ และนักวิจัยทั่วประเทศ เสนอผลงานวิจัยในภาคบรรยายพิเศษ การอภิปราย การเสวนาทางวิชาการที่น่าสนใจอีก 26 หัวข้อเรื่องใน 16 สาขา (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 22)





เลือก 32 คนไทยอายุ 50 ปีขึ้น ต้นแบบถอด “รหัสพันธุกรรม

นายวสันต์ จันทราทิต นักวิชาการจากหน่วยไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาโมเลกุล ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ สถาบันปาสเตอร์และสถาบันซีเอ็นจี ฝรั่งเศส ทำโครงการจัดทำแผนที่จีโนม สนิปส์ ในคนไทย ใช้งบประมาร 1,000 ล้านบาท เพื่อศึกษาความแตกต่างในพันธุกรรมของคนไทย อยู่ระหว่างการคัดเลือกคนไทย 32 คน เพื่อเป็นต้นแบบหรือมาตรฐานกลาง เทียบเคียงได้กับ 3% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ตัวเลขนี้มีนัยบางอย่างทางสถิติที่นำมาอ้างอิงได้ ประมาณเดือนมีนาคมนี้จะเริ่มคัดเลือกประชากรที่มีร่างกายแข็งแรงอายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดสำหรับศึกษาพันธุกรรมอย่างละเอียด นายวสันต์บอกว่า หากโครงการนี้ทำสำเร็จ ในอนาคตแพทย์จะสามารถทำนายได้ว่าคนหนึ่งคนมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง อาจจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตในช่วงไหนบ้าง เมื่อรู้แล้วคนคนนั้นก็จะได้หาทางป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงทำทำให้เกิดโรคหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลไม่ดีกับตัวเองในอนาคตได้ (มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 18)





ทส. ตั้งคณะวิจัยไม้กลายเป็นหิน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน จ.นครราชสีมาที่บริเวณบ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งพบไม้กลายเป็นหินนับหมื่นไร่ แต่ในปัจจุบันมีการลักลอบขุดนำไปเก็บไว้และขาดการอนุรักษ์ค้นคว้าที่ถูกต้องตามขั้นตอนนั้น ทส. จึงได้ร่วมกับทาง จ.นครราชสีมา และสถาบันราชภัฏนครราชสีมาดำเนินโครงการศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษา ค้นคว้า อนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.นครราชสีมา ขณะนี้ ทส.ได้เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยไม้กลายเป็นหินในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และสำรวจซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ช้างป่าโบราณ ที่มีมากถึง 9 สกุลจากช้างทั่วโลกที่มีจำนวน 35 สกุล ซึ่งซากช้างที่ค้นพบนั้นเก่าแก่มากกว่าช้างแมมมอธโดยมีอายุตั้งแต่ 16 ล้านปีขึ้นไป (มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 18)





ดับไฟด้วยไอน้ำ

การศึกษาวิจัยโดยองค์การ NASA และบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา โดยการใช้น้ำเป็นตัวดับไฟซึ่งน้ำที่พูดถึงนี้เป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ ในระดับที่เรียกได้ว่าไอน้ำที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นผมของเราประมาณ 10 เท่า และเล็กกว่าหยดน้ำที่ออกมาจากสปริงเกอร์ทั่วไปถึง 50 เท่า หลักการของการนำหยดน้ำขนาดเล็กดังกล่าวมาใช้ในการดับไฟก็คือมันจะช่วยลดปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งเราทราบกันดีว่าความร้อนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการติดไฟ ส่วนการระเหยของหยดน้ำอย่างรวดเร็วก็จะช่วยในการแทนที่ออกซิเจน ทำให้เพลิงที่เกิดขึ้นอยู่ในวงจำกัดและไม่สามารถลุกลามหรือทำให้ส่วนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันติดไฟได้นั่นเอง ทาง NASA คาดว่าเทคนิคการดับไฟด้วยวิธีนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมการดับเพลิงของอเมริกาที่มีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพราะว่าสามารถนำมาใช้ในการดับเพลิงแทนที่ Halons ได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญราคาถูก แต่ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นบ้างสำหรับเครื่องมือในการสร้างหยดน้ำขนาดเล็กมากๆ ดังกล่าว แต่ก็คาดว่าต้นทุนจะต่ำลงเมื่อมีการผลิตออกมาในระดับอุตสาหกรรมในที่สุด (เดลินิวส์ วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





ข่าวทั่วไป


แพทย์ผู้คิดค้นวัคซีนเด็กรับรางวัลมหิดล ประจำปี 2545

แพทย์ผู้บุกเบิกการวิจัยพัฒนาวัคซีน 36 ชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (Japanese Encephalits B) หัด, คางทูม, หัดเยอรมัน, วัคซีนผสม MMR , โปลิโอ, อีสุกอีใส, ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และบี เป็นต้น โดยโรคร้ายทั้งหมดเหล่านี้หากยังระบาดก็อาจคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกได้ถึงปีละกว่า 2 ล้านคน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 มกราคม 2546 หน้า 27)





ข้าวพันธุ์ใหม่ป้องกันคนไทยขาดธาตุเหล็ก

ศูนย์พันธุกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติร่วมกับ สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้มีการจัดประชุมเรื่อง “การพัฒนางานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีธาตุเหล็กสูง” ขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมครั้งนั้นส่งผลให้มีการดำเนินงานวิจัยเพื่อหากลยุทธ์ในการป้องกันการขาดธาตุเหล็ก โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพทางโภชนาการสูงขึ้นโดยเฉพาะธาตุเหล็ก จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าข้าวสารดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวปรับปรุง และข้าวสารเจ้าหอมนิล และลูกผสมของสายพันธุ์ทั้งสอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าจะเป็นประชากรที่เหมาะสมในการศึกษาเกี่ยวกับยีนที่ควบคุมปริมาณและความมีประโยชน์ของธาตุเหล็กเนื่องจากประชากรดังกล่าวพัฒนามาจากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวสีม่วงกับข้าวขาว ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้ในการศึกษาข้อจำกัดในแง่ของปัจจัยที่มีผลต่อการดูดรับธาตุเหล็กอีกด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 27)





รัฐเปิดเว็บท่ารวมบริการทุกหน่วยงาน

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในการประชุมอี-กัฟเวอร์เม้นท์ ฟอรั่มได้ข้อสรุปว่า ก.ไอซีที จะกำหนดให้มีเว็บไซต์กลาง หรือ เว็บท่า (Portal Site) เพื่อรวมบริการออนไลน์ต่างๆ ของภาครัฐไว้ในเว็บเดียว ภายใต้ชื่อ www.ecitizen.go.th คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า สาเหตุที่สร้างเว็บไซต์กลาง เพราะต้องการลดความยุ่งยากในการจดจำชื่อเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ โดยเว็บไซต์กลางจะเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น เนื่องจากการจดจำชื่อเว็บไซต์เพียงชื่อเดียวก็สามารถค้นหาข้อมูลของหน่วยงานราชการที่ต้องการได้เหมือนกับการเข้าสู่เว็บไซต์ตรงหน่วยงานนั้น รวมทั้งยังสามารถทำธุรกรรมจากการเปิดให้บริการของหน่วยงานราชการต่างๆ ผ่านเว็บไซต์กลางได้ด้วย เบื้องต้นมีหน่วยงานราชการเข้าร่วมอยู่ในเว็บไซต์กลางแล้ว 31 หน่วยงาน โดยใช้งบประมาณของกระทรวงไอซีที (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 16)





สารกรดในบรรยากาศมลพิษไร้พรมแดน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับบรรยากาศโลกและมลภาวะของอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งก่อตัวขึ้นมาแล้วในขณะนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่มีสารกรดในบรรยากาศเพิ่มขึ้นในทุกๆ ส่วนของโลก นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมเชื่อกันว่า จะเกิดขึ้นมาในระยะไม่กี่สิบปีนี้เอง โดยได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้ามาทดสอบหาค่าความเป็นกรด-ด่าง อย่างง่ายๆ วัดโดยค่าพีเอช (pH) และพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นกรดมากขึ้น คือค่าเฉลี่ย pH ต่ำกว่า 5.6 ซึ่งโดยปกติแล้วน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วไป จะมีค่า pH อยู่ที่ระดับ 5.6-7 (Ph =7 เป็นกลาง pH ต่ำกว่า 7 เป็นกรด) จะเห็นได้ว่าปัญหาการตกสะสมของสารกรด ซึ่งเป็นมลพิษที่ไร้พรมแดนนั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราปัญหาการตกสะสมของสารกรดยังไม่มากจนก่อเกิดปัญหา หากแต่เราทุกคนร่วมมือร่วมใจกันลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ให้น้อยลง เสียตั้งแต่บัดนี้ ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งช่วยลดมลพิษการเกิดสารกรดในบรรยากาศได้ (สยามรัฐ พุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 หน้า 7)





โสมขาวเตือนภัยไวรัส “แซพฟายร์” ป่วนลามเครือข่ายคอมพ์ทั่วโลก

สำนักข่าวเอเอฟพีและเอพีรายงานว่า กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเกาหลีใต้ได้ประกาศเตือนประชาชนที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้ระวังไวรัสหนอนคอมพิวเตอร์ที่กำลังอาละวาดไปทั่วเครือข่ายบรอดแบรด์ รวมไปถึงบริการอินเตอร์เน็ตไร้สายของเกาหลีใต้ หลังจากที่หลายประเทศในเอเชียถูกไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวนี้โจมตีกันอย่างกว้างขวาง และกำลังลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเกาหลีใต้ได้ออกแนวทางปฏิบัติให้แก่ประชาชนหรือบริษัทที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็นที, วินโดว์ส 2000 และ วินโดว์ส เอ็กซ์พี ให้ดาวน์โหลดเครื่องมือช่วยป้องกันไวรัสได้จากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ รายงานแจ้งว่า ไวรัสหนอนตัวใหม่นี้มีชื่อว่า “แซพฟายร์” หรือ “แอสคิวแอล สแลมเมอร์” สามารถส่งผ่านตัวเองข้ามเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างตัวเองขึ้นใหม่แบบเท่าตัว โดยขณะนี้ไวรัสได้แพร่ระบาดไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกกว่า 3 หมื่นเครื่อง ด้วยการสร้างตัวเองขึ้นจำนวนมาก เพื่อทำให้การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งนอกเหนือจากเกาหลีใต้แล้ว ประเทศญี่ปุ่น อเมริกาหรือแคนาดา ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสตัวนี้ด้วย (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2546 หน้า 10)





นักโภชนาชี้เหตุคนเฉื่อยเจอภาวะพร่องธาตุเหล็ก

นายสง่า ดามาพงศ์ นักโภชนาการ กรมอนามัย ในฐานะนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า ประชาชนควรรับประทานอาหารอย่างหลากหลาย งดเว้นการรับประทานซ้ำซาก สำหรับปลาร้าที่มีสารไตโตรซามีนซึ่งก่อมะเร็งในท่อน้ำดีนั้น ประชาชนสามารถรับประทานได้ แต่ขอให้ปรุงปลาร้าให้สุก และไม่ควรรับประทานเกิน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ คนไทยในปัจจุบันมีภาวะพร่องธาตุเหล็กส่งผลให้เป็นคนเฉื่อยชาเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน และสตรีมีประจำเดือน จึงแนะนำให้กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักผลไม้สีเขียวเข้ม นอกจากนั้น การกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กสัปดาห์ละ 1 เม็ด ก็ได้รับธาตุเหล็กเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 มกราคม 2546 หน้า 18)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215