หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 11 ประจำวันที่ 2003-03-18

ข่าวการศึกษา

เปิดเวทีประเทศไทยเฟ้นหา ‘คนเก่ง’ สู่เวทีโลก
ชี้ยกเลิกเครื่องแบบ นร. ไม่ใช่หนทางแก้เด็กตีกัน
แบะท่า “ไฟเขียว” อุดมฯ ขยับขึ้นค่าเรียน ให้เครดิต นศ.เรียนก่อนผ่อนทีหลัง
คสส.ไฟเขียวกรอบ พอใจเปิดด็อกเตอร์
“พิศิษฐ์” ยืนยัน ปอมท.ไม่แตก ตั้งสภาอจ. 4 ภาคแค่ยกบทบาท
ตั้งเป้าวิจัยท้องถิ่น 40 เรื่อง หลังปรับ ม.ราชภัฎ
สปช.สรุปให้ ร.ร.ซื้อโต๊ะ-เก้าอี้ได้เอง
ทบวงฯตะลึง! ผอ.ซี8 ปลอม “ดอกเตอร์” นิด้า
ร.ร.อัจฉริยะขาดครูวิทย์-คณิต ‘ปองพล’ จี้แก้ไขสั่งสำรวจด่วน
ทบวงฯตะลึง! ผอ.ซี8 ปลอม “ดอกเตอร์” นิด้า

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

คนไทยขานรับ ‘โคลนนิง’ กำหนดลูกที่ดี
อีก 2 ปีจีนเหยียบดวงจันทร์
ส่งแรงเชียร์เด็กไทย…ชิงชัยยอดสมอง ‘อินเทล ไอเซฟ’
เด็กชอบกัดเล็บเป็นอันตราย ถูกพิษตะกั่วทำให้สมองทึบ
กรีนพีซกระตุ้นรัฐบาลเอาจริงใช้พลังงานสะอาดได้คุ้มเสีย
นักวิทย์มะกันพัฒนาสำเร็จ “สมองเทียม”
เหยียบดาวแดงนักบินเสี่ยง

ข่าววิจัย/พัฒนา

บ.น้ำสมุนไพรวิจัยสร้างชุดแปรรูปครบวงจร
รัฐบาลเตรียมยุบรวมกองทุนปิดทางราชการทำวิจัยซ้ำซ้อน
ดูปองท์ใช้ข้าวโพดผลิต ‘เส้นใยสิ่งทอชีวภาพ’
อังกฤษจับยีนใส่บัตรอัจฉริยะ
ประโยชน์จากเปลือกสัตว์น้ำ ผลิตไคโตซานพ่นเคลือบคงความสดผลไม้
นักวิจัยค้นพบเน็ตความเร็วสูงกว่าเดิม
ชุดตรวจสอบโรคธาลัสซีเมียฝีมือนักวิจัยไทย
ไหลตายเกี่ยวกับไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ สวดมนต์ภาวนาช่วยลดความเสี่ยง
กรมวิทย์ฯโชว์ผลงานเด่น
ลำไส้ของคนไทยเหนือกว่าฝรั่งดูดซึมแคลเซียมได้มากว่ากัน
เทคนิคลพบุรีคิดค้นกระถางประหยัดน้ำเลียนแบบไส้ตะเกียง

ข่าวทั่วไป

ชาวเมืองน้ำหอมตื่นตัวบริโภคอาหารปลอดสาร
“เกษตรกรตัวอย่าง” หญิงไทยสร้างชื่อทั่วสวีเดน ปลูกผักสมุนไพรป้อนทั่วยุโรป-ขึ้นโต๊ะรับคนดัง
สั่งทบทวนโฆษณาอาหารเสริมสาหร่าย อย.เร่งวางมาตรการคำอ้างสรรพคุณ
คนใช้เมาส์-หั่นผัก-เขียนบิลเสี่ยงเกิดโรคคูมูลาทีฟทรอม่า
ไทยสร้างรถสะเทินน้ำสะเทินบก





ข่าวการศึกษา


เปิดเวทีประเทศไทยเฟ้นหา ‘คนเก่ง’ สู่เวทีโลก

ระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นนาทีของผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการที่เต็มไปด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเกิดมาพร้อมกับ “แบ็คอัพ” พรั่งพร้อมของครอบครัวเพราะมีผู้ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนมากมาย เนื่องจากวันนี้ผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur คือกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาให้เดินไปข้างหน้า เวที “Moot Corp” จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบรับต่อกระแสดังกล่าวและขยายโอกาสให้นักศึกษาจาก “บิสซิเนส สคูล” ต่างๆ ได้มีโอกาสสัมผัสกับโลกที่เป็นจริงของธุรกิจและทำฝันให้เป็นจริงด้วยการสานต่อจากนักลงทุนที่สนใจ ในปี 1989 Moot Corp เริ่มเปิดการแข่งขันในระดับประเทศเป็นครั้งแรก ศึกษาเอ็มบีเอ จากทั่วสารทิศในสหรัฐอเมริกาหลั่งไหลเข้ามาสู่เวทีนี้เช่นทีมจากวิทยาลัย Wharton, Harvard, Michigan และ Carnegie Mellon ในปีถัดมาเวที Moot Corp มีโอกาสได้ต้อนรับนักศึกษาจากต่างชาติ อาทิ เช่น the London Business, Lyon Graduate School of Business จากประเทศฝรั่งเศส และ Bond University จากประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น หลังจากนั้น Moot Corp ก็เริ่มแตกแขนงการประกวดออกไปเป็นระดับภูมิภาคเช่นเอเชียอเมริกาใต้ ยุโรป ซึ่งในทวีปเอเชียมีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong และที่นี้เองที่เป็นอีกหนึ่งเวทีที่นักศึกษาจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันทุกปีไม่ว่าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันฯ ศศินทร์ Bangkok Business Challenge จึงเกิดขึ้นจากแนวทางของ Moot Corp เพื่อให้เป็นเวทีของประเทศไทยที่มีนักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจทั่วประเทศได้ระดมสมองประลองยุทธ์ทางธุรกิจ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 3)





ชี้ยกเลิกเครื่องแบบ นร. ไม่ใช่หนทางแก้เด็กตีกัน

นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเปิดการประชุมปฏิบัติการ “นโยบายการส่งเสริมความประพฤติและความรู้ด้านทักษะวิชาชีพนักศึกษาอาชีวศึกษา” ที่สถาบันราชภัฎสวนดุสิตว่า ขอให้ผู้บริหารช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่าปัญหาทะเลาะวิวาทในนักเรียน นักศึกษาเกิดขึ้นเพราะอะไร และหามาตรการในการแก้ไข โดยให้มุ่งเน้นการป้องปรามไม่ใช่ปราบปราม ส่วนกรณีที่นักเรียน นักศึกษามักผลิตอาวุธเข้ามาใช้ในการก่อเหตุมากขึ้นนั้นต้องดูแลมากขึ้น ทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพกองสารวัตรนักเรียนไม่ใช่เป็นเสือกระดาษ นายพยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษากล่าวว่า การยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาทไม่ใช่สิ่งสำคัญ การจะแก้ปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับการบริหารและครูจะต้องเอาใจใส่เด็กใกล้ชิด สร้างคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็กตลอดเวลา หากมีรุ่นพี่ซึ่งจบไปแล้วมีพฤติกรรมที่เกเรก็ต้องห้ามไม่ให้เข้ามาปลุกระดมรุ่นน้อง รวมทั้งกำหนดเวลาเรียน หากผู้ที่มีพฤติกรรมเกเรมากกว่าเวลาเรียนที่สถาบันกำหนดก็ควรให้ออก (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 4 มีนาคม 2546 หน้า 15)





แบะท่า “ไฟเขียว” อุดมฯ ขยับขึ้นค่าเรียน ให้เครดิต นศ.เรียนก่อนผ่อนทีหลัง

ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาที่ จ.นครปฐม โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะทำงานด้านการเงินเพื่ออุดมศึกษา ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการเงินมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการระดมทรัพยากรซึ่งข้อเสนอหนึ่งคือ การเพิ่มค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เท่าจากปัจจุบัน เพื่อสะท้อนต้นทุนดำเนินการ โดยค่อยๆเพิ่มภายใน 5 ปี จะระดมเงินได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการที่ผู้เรียนจะต้องรับภาระค่าเรียนที่สะท้อนต้นทุนดำเนินการหรือตามความเป็นจริงมากขึ้น โดยที่มาของรายได้ของมหาวิทยาลัยมี 2 ทางคือ รัฐให้การสนับสนุนงบฯดำเนินการ วิจัยและพัฒนา อีกทางหนึ่งคือ รายได้จากผู้เรียนโดยคิดค่าธรรมเนียมการเรียนที่สะท้อนต้นทุนดำเนินการ โดยในส่วนของเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น รัฐจะให้การช่วยเหลือนักศึกษาผ่านระบบกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่น การปรับเกณฑ์การกู้ยืมให้สอดคล้องเหมาะสมกับฐานะของนักศึกษา หรือยืดระยะเวลาการคืนเงินกองทุน เป็นต้น ทั้งนี้ นักศึกษาจะมีภาระผูกพันกับหนี้นั้น โดยจะต้องมีการจัดระบบการจ่ายเงินคืนกองทุนผ่านระบบภาษีเมื่อผู้เรียนมีงานทำและมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำเพียงพอกับการครองชีพ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยมีเงินมากขึ้นในการพัฒนาสถาบันและจะไม่เป็นการสร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐ เนื่องจากผู้เรียนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในลักษณะที่เป็นตัวเลขหนี้ในบัญชีหรือเครดิตกองทุนฯ ซึ่งในระยะเริ่มต้นสถานศึกษาก็ยังไม่ได้ค่าธรรมเนียมที่ผู้เรียนเป็นหนี้จนกว่าผู้เรียนจะเริ่มชำระหนี้เงินกู้ รายได้นั้นจึงจะนำมาจัดสรรให้กับสถานศึกษานั้นๆต่อไป สำหรับผู้เรียนที่สามารถจ่ายได้ทันทีก็มีข้อเสนอให้ด้วยว่าอาจมีส่วนลดให้ (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 15)





คสส.ไฟเขียวกรอบ พอใจเปิดด็อกเตอร์

ดร.พลสัญห์ โพธิ์ศรีทอง เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฎ (สรภ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฎ (คสส.)ว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการผนึกกำลังเปิดสอนระดับปริญญาเอกของสถาบันราชภัฏพระนคร และ รภ.ราชนครินทร์ ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิใน คสส. ต่างชื่นชมความพร้อมของ 2 สถาบันที่มีการเตรียมตัวเพื่อเปิดสอนระดับปริญญาเอกได้เป็นอย่างดี และเห็นว่าในการเปิดสอนระดับปริญญาตรีและโทของ รภ. ทุกแห่งน่าจะมีการตั้งประธานคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการจัดการศึกษาในเรื่องคุณภาพ นอกจากนี้ สรภ.ได้รายงานการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งได้ผลน่าพอใจ และที่ประชุมเห็นว่าน่าจะนำสาระการเรียนรู้ ซึ่งบัณฑิตกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้ทำวิจัยในขณะที่เรียนเสนอให้รัฐบาลได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบอัตรากำลังข้าราชการครู และข้าราชการสามัญใน รภ. เพื่อรองรับการถ่ายโอนบุคลากร (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 15)





“พิศิษฐ์” ยืนยัน ปอมท.ไม่แตก ตั้งสภาอจ. 4 ภาคแค่ยกบทบาท

น.พ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)ให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวว่า ปอมท.แตกแยก โดยมีการตั้งเป็นสภาอาจารย์ 4 ภาคว่า ไม่เป็นความจริง โดยทางสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บอกว่าต้องการประชาสัมพันธ์และเพิ่มบทบาทให้มหาวิทยาลัยของตัวเองเท่านั้น นอกจากนี้ กลุ่มสภาอาจารย์ที่รวมอยู่ในสภาอาจารย์ 4 ภาค เป็นกลุ่มที่สนับสนุนและเตรียมตัวจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล น.ส.ชัชสรัญ เต็งพงศธร เลขาธิการสภาอาจารย์ มธ. กล่าวว่าสภาอาจารย์ 4 ภาค เป็นกลุ่มเฉพาะกิจ เพราะมองว่าสภาอาจารย์มีบทบาทเรื่องวิชาการน้อยลง น.พ.มงคล ตั้งเง็กกี่ ประธานสภาอาจารย์ มธ. จึงได้ร่วมมือกับสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น.ส.ชัชสรัญกล่าวอีกว่า “มธ. ไม่ได้แตกแยกจากใคร แต่มีความเห็นแตกต่างเท่านั้น และเนื่องจาก ปอมท.มักจะประชุมวันเสาร์- อาทิตย์ และประชุมต่างจังหวัด จึงทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางไปร่วมประชุม และแม้จะมีกรณีปัญหาการอ้างมติ ปอมท.ที่ทำให้เกิดความคลางแคลงใจ และบางครั้งเป็นมติเร่งด่วน โดยที่สภาอาจารย์หลายแห่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ ปอมท.ก็ไม่ได้แตกแยกเพียงแต่ น.พ.พิศิษฐ์เป็นคนมุ่งมั่นและขาดการประนีประนอม” (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 20)





ตั้งเป้าวิจัยท้องถิ่น 40 เรื่อง หลังปรับ ม.ราชภัฎ

นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยความคืบหน้าการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ว่าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎกำลังเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้ ขณะนี้ทาง รภ.อุตรดิตถ์ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอน ที่เน้นท้องถิ่นเป็นสำคัญ การปรับปรุงการทำงานบุคลากร รวมถึงการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ หลังปรับเปลี่ยนสถานภาพแล้ว จะมุ่งการเรียนการสอนควบคู่กับการทำวิจัยท้องถิ่นซึ่งมีกว่า 40 เรื่อง สิ่งที่วิจัยจะเอื้อต่อการสร้างองค์ความรู้ เช่น การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สังคม การเกษตร การตลาด การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ ปรัชญาที่วางไว้จะทำให้สถาบันมีคุณค่าต่อท้องถิ่น (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 21)





สปช.สรุปให้ ร.ร.ซื้อโต๊ะ-เก้าอี้ได้เอง

นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานการจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนครูในคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ สปช. ว่า ได้พิจารณาการจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องตัดกระแสไฟฟ้า รวมมูลค่า 130 ล้านบาท ที่ สปช. จะให้ดึงการจัดซื้อจัดจ้างจากโรงเรียนมาไว้ที่ส่วนกลาง ด้วยระบบ E-Bidding แต่ที่ประชุมมีมติให้โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อเองตามเดิม เพราะเห็นว่าหากให้ส่วนกลางเป็นผู้จัดซื้ออาจจะมีปัญหา เนื่องจากมีมูลค่าการจัดซื้อหลายล้านบาท และการที่ให้โรงเรียนจัดซื้อจะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งตรงตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น กองคลังและกองแผนจะเร่งทำหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนให้ทราบ (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ทบวงฯตะลึง! ผอ.ซี8 ปลอม “ดอกเตอร์” นิด้า

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งให้ น.ส.นิตยา บุญทวี ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร สำนักมาตรฐานอุดมศึกษาและหลักสูตร สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงฯ ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะปลอมปริญญาบัตรว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ทั้งนี้ เนื่องจากในการเสนอให้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ที่ผ่านมา น.ส.นิตยาถูกเสนอว่าเป็นผู้เหมาะสมกับตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร เพราะจบปริญญาเอกด้านประชากรศาสตร์ คณะสถิติประยุกต์ นิด้า แต่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าจบจริงหรือไม่ ประกอบกับมีข่าวว่าทบวงฯมีดอกเตอร์เก๊ ตนจึงได้ส่งสำเนาปริญญาบัตรไปยังนิด้าให้ตรวจสอบและได้รับแจ้งกลับว่า น.ส.นิตยาไม่ได้จบปริญญาเอก และพ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว และทางนิด้าจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.นิตยาด้วย ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ในข้อหาปลอมแปลงเอกสารราชการ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร.ต.อ. วรเดชกล่าวต่อว่า ทบวงฯยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง น.ส.นิตยาด้วย โดยมีนายโอภาส เขียววิชัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหาร ทบวงฯ เป็นประธาน ซึ่งก่อนหน้านี้การสืบข้อเท็จจริงได้พบว่าในระหว่างที่ น.ส.นิตยาเป็นหัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่เมื่อประมาณต้นปี 2545 ได้ทำเรื่องลงในทะเบียนประวัติตนเองโดยไม่ผ่านผู้บังคับบัญชาว่าจบปริญญาเอก ประทับตราหนังสือราชการ และเซ็นชื่อกำกับ รวมทั้งส่งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บันทึกประวัติ ฉะนั้น ทบวงฯจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และเนื่องจากเป็นคดีอาญา จึงได้แจ้งความดำเนินคดีที่สน.พญาไทด้วยเมื่อสัปดาห์ก่อน ในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร และเป็นข้าราชการที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และเนื่องจากผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการซี 8 และเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่ อาจจะส่งผลต่อการสอบสวนได้ ตนจึงได้ลงนามในคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการตั้งกรรมการสอบวินัย เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงเพื่อความเป็นธรรม แต่หากผลสอบวินัยพบว่าผิดจริง ก็ต้องไล่ออกจากราชการ (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ร.ร.อัจฉริยะขาดครูวิทย์-คณิต ‘ปองพล’ จี้แก้ไขสั่งสำรวจด่วน

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายปรับปรุงโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนกาญจนาภิเษก และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ว่า ในขณะที่โรงเรียนเด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นเป็นโรงเรียนที่ต้องมีการเรียนการสอน ที่เน้นให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แต่โรงเรียนดังกล่าว ที่มีอยู่ 60 แห่ง ทั่วประเทศ รับผิดชอบพัฒนาเด็กความสามารถพิเศษรวม 60,000 คน กลับมีปัญหาคล้ายกันทุกแห่ง คือขาดแคลนครู โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 4 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ทบวงฯตะลึง! ผอ.ซี8 ปลอม “ดอกเตอร์” นิด้า

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งให้ น.ส.นิตยา บุญทวี ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร สำนักมาตรฐานอุดมศึกษาและหลักสูตร สำนักมาตรฐานอุดมศึกษา ทบวงฯ ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะปลอมปริญญาบัตรว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ทั้งนี้ เนื่องจากในการเสนอให้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ที่ผ่านมา น.ส.นิตยาถูกเสนอว่าเป็นผู้เหมาะสมกับตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการศึกษาและหลักสูตร เพราะจบปริญญาเอกด้านประชากรศาสตร์ คณะสถิติประยุกต์ นิด้า แต่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าจบจริงหรือไม่ ประกอบกับมีข่าวว่าทบวงฯมีดอกเตอร์เก๊ ตนจึงได้ส่งสำเนาปริญญาบัตรไปยังนิด้าให้ตรวจสอบและได้รับแจ้งกลับว่า น.ส.นิตยาไม่ได้จบปริญญาเอก และพ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว และทางนิด้าจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.นิตยาด้วย ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ในข้อหาปลอมแปลงเอกสารราชการ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร.ต.อ. วรเดชกล่าวต่อว่า ทบวงฯยังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง น.ส.นิตยาด้วย โดยมีนายโอภาส เขียววิชัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหาร ทบวงฯ เป็นประธาน ซึ่งก่อนหน้านี้การสืบข้อเท็จจริงได้พบว่าในระหว่างที่ น.ส.นิตยาเป็นหัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่เมื่อประมาณต้นปี 2545 ได้ทำเรื่องลงในทะเบียนประวัติตนเองโดยไม่ผ่านผู้บังคับบัญชาว่าจบปริญญาเอก ประทับตราหนังสือราชการ และเซ็นชื่อกำกับ รวมทั้งส่งให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บันทึกประวัติ ฉะนั้น ทบวงฯจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และเนื่องจากเป็นคดีอาญา จึงได้แจ้งความดำเนินคดีที่สน.พญาไทด้วยเมื่อสัปดาห์ก่อน ในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร และเป็นข้าราชการที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และเนื่องจากผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการซี 8 และเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่ อาจจะส่งผลต่อการสอบสวนได้ ตนจึงได้ลงนามในคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการตั้งกรรมการสอบวินัย เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงเพื่อความเป็นธรรม แต่หากผลสอบวินัยพบว่าผิดจริง ก็ต้องไล่ออกจากราชการ (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


คนไทยขานรับ ‘โคลนนิง’ กำหนดลูกที่ดี

โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ร่วมกับ www.thaitopic.com สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การรับรู้ความเข้าใจ และการยอมรับเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมมนุษย์” โดยเก็บข้อมูลจากประชากร กลุ่มตัวอย่างใน 6 จังหวัด ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจ ดังนี้ กลุ่มตัวอย่าง 67% มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการโคลนนิง 86% รู้ และเข้าใจความหมายของพันธุกรรมได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่เข้าใจเรื่องเซลล์ต้นตอ (เซลล์อ่อนของมนุษย์ที่ได้จากการปฏิสนธิระหว่างไข่ของเพศหญิงกับอสุจิของเพศชายหรือเซลล์ชนิดใดชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้และสามารถใช้เป็นแหล่งเซลล์เพื่อใช้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะมนุษย์ได้) ได้ถูกต้องเพียง 29% การยอมรับเทคโนโลยีชีวภาพด้านการโคลนนิงนั้นกลุ่มตัวอย่างยอมรับให้มีการโคลนนิงได้ด้วยเหตุผลว่าหากผู้นั้นมีบุตรยากและทดลองวิธีอื่นไม่ได้ผลมากที่สุด (30%) ส่วนเหตุผลอันดับรองลงมาที่ยอมให้มีการโคลนนิง ได้แก่ เพื่อเก็บรักษาคนดี คนเก่ง เพื่อทดแทนคนที่รักที่ตายจากไปและเพื่อให้มีทายาทไว้สืบสกุลหรือสืบทอดทรัพย์สมบัติ ส่วนเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างยอมให้มีการโคลนนิงได้น้อยที่สุด คือ เพื่อเป็นอวัยวะสำรองสำหรับเปลี่ยนถ่ายให้มนุษย์ (14%) (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 8)





อีก 2 ปีจีนเหยียบดวงจันทร์

นายโอหยาง จีหยวน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โปรแกรมสำรวจดวงจันทร์ของจีน กล่าวว่า คณะทำงานจะสามารถปฏิบัติการภารกิจแรกได้ภายใน 2 ปีครึ่ง หากรัฐบาลของจีน ลงนามอนุมัติโครงการเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม กำหนดการที่แน่นอนของภารกิจดังกล่าวไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการรวมถึงงบประมาณสนับสนุนด้วย ด้านนายหลวน เอินจี ผู้อำนวยการคณะบริหารการบินและอวกาศของจีน ยืนยันว่า รัฐบาลจีนสนใจทรัพยากรที่หายากและมีประโยชน์บนดวงจันทร์ โดยคาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนได้ โดยรัฐบาลจีนเริ่มเตรียมความพร้อมในการสำรวจดวงจันทร์แล้ว จากก่อนหน้านี้ได้ทดสอบยานอวกาศ “เสิ่นโจว” หรือ “ยานเทพเจ้า” จำนวน 4 ลำ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และหากจีนสามารถดำเนินการครั้งใหม่นี้ได้สำเร็จ จีนจะกลายเป็นชาติที่ 3 ของโลกที่สามารถส่งมนุษย์ออกไปยังนอกโลกพร้อมยานอวกาศต่อจากสหรัฐและอดีตสหภาพโซเวียด (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 8)





ส่งแรงเชียร์เด็กไทย…ชิงชัยยอดสมอง ‘อินเทล ไอเซฟ’

“โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์” โดยความร่วมมือของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสรรหาผู้แทนระดับประเทศ ไปร่วมชิงชัยกับนานาชาติในการประกวด Intel ISEF (Intel International Science and Engineering Fair) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ มีเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 117 โครงงานจากทั่วประเทศ โครงงาน “ระบบตรวจหาวัตถุในภาพอัตโนมัติ” ของจุฬา พิทยาภินันท์ และโครงงาน “เครื่องห่อผลไม้อัตโนมัติ” ของสุประวีณ์ พงษ์ทองเจริญ ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงงานชนะเลิศระดับประเทศ และเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการประกวด “อินเทล ไอเซฟ ครั้งที่ 54” ณ เมืองคลีฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 11-17 พฤษภาคม ศกนี้ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 10 มีนาคม 2546 หน้า 7)





เด็กชอบกัดเล็บเป็นอันตราย ถูกพิษตะกั่วทำให้สมองทึบ

พบนิสัยชอบกัดเล็บของเด็กเป็นโทษ เพราะเป็นการกินเอาตะกั่วที่มีอยู่ในฝุ่นละอองที่ติดอยู่ตามซอกเล็บเข้าไปในร่างกาย เป็นผลให้ปัญญาทึบได้ เคยศึกษากันพบมานานแล้วว่าพิษของตะกั่ว บั่นทอนการเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งยังพบร่องรอยว่าอาจทำอันตรายกับระบบประสาทได้อีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ศึกษาปัญหาสาธารณสุขของสิ่งแวดล้อม ที่แคว้นอูราลของรัสเซียมีความเชื่อมั่นจากการศึกษาว่านิสัยการกัดเล็บของเด็กอาจเป็นสาเหตุของการพบระดับของสารเคมีในตัวเด็กสูง นักวิจัยได้พบจากการตรวจศึกษาจากเด็กที่อยู่ตามเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ในแคว้นอูราลพบว่า เด็กตามท้องถิ่นบางที่ถึงสองในสามคนมีปริมาณตะกั่วในเลือดสูงอย่างน่าวิตก และยังจับได้ว่าพวกเด็กเหล่านี้ยังมีนิสัยชอบกัดเล็บด้วย โดยเฉพาะเป็นเด็กหญิงที่ชอบประพฤติดังกล่าวอยู่ถึง 69% และเด็กชาย 62% (ไทยรัฐ วันพุธที่ 5 มีนาคม 2543 หน้า 7)





กรีนพีซกระตุ้นรัฐบาลเอาจริงใช้พลังงานสะอาดได้คุ้มเสีย

น.ส.เพ็ญรพี นพรัมภา เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพลังงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องแสดงความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถยกเลิกการใช้พลังงานสกปรก เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และหันมาใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และพลังงานลม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการอิงพลังงานในประเทศ อยู่กับราคาน้ำมันที่ผันผวนในตลาดโลก ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลสั่งทบทวนพื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติ กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนและพัฒนาพลังงานสะอาดภายในประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ( มติชนรายวัน วันพุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 18)





นักวิทย์มะกันพัฒนาสำเร็จ “สมองเทียม”

วารสาร “นิว ไซเอินทิสต์” รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พัฒนาสมองเทียมส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก หลังจากทุ่มเทวิจัยมานานเกือบ 10 ปี โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส ออกแบบชิพให้เลียนแบบการทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมบัส ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความจำ อารมณ์ และการรู้สึก และ ในอนาคตอาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือที่สมองกระทบกระเทือน ได้รับจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก โรคลมบ้าหมู โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อดูว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ทำงานอย่างไร จากนั้นจึงจำลองการทำงานลงในชิพซิลิคอน และแทรกแผ่นชิพเข้าไปในสมองในการทดลองที่ห้องแล็ป โดยเลียนแบบพฤติกรรมของสมองส่วนนี้ หากการทดสอบเบื้องต้นกับเนื้อเยื่อสมองในห้องทดลองประสบความสำเร็จ ทางทีมงานก็จะเริ่มทดลองกับหนูและลิงต่อไป (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546)





เหยียบดาวแดงนักบินเสี่ยง

นักวิทยาศาสตร์สรุปผลสำรวจดาวอังคารชี้ดาวแดงยังอันตรายเกินกว่ามนุษย์จะตั้งถิ่นฐาน เพราะมีระดับกัมมันตภาพรังสีรุนแรงที่สามารถคุกคามได้แม้แต่นักบินอวกาศ โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์สรุปโครงการการสำรวจดาวอังคารด้านวิทยาศาสตร์รอบปีระบุว่าดาวแดงมีกัมมันตภาพรังสีรุนแรงในระดับที่สามารถทำอันตรายต่อนักบินอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวพระเคราะห์ดวงนี้ และแม้แต่มนุษย์ต่างดาวก็ยังยากจะอาศัยบนดาวอังคาร จากสภาพบรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นและพื้นผิวที่หนาวเย็น อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังเปิดเผยว่า พื้นผิวของดาวอังคารเกิดจากหินแร่ ขณะที่พื้นที่ส่วนเหนืออุดมด้วยน้ำแข็งมากกว่าส่วนใต้หรือราว 75 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ซึ่งเป็นน้ำแข็งทั้งหมด กัมมันตภาพรังสีบนดาวอังคารส่วนใหญ่มาจากกาแล็กซี่ รวมทั้งจากการระเบิดบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ ขณะที่การสรุปครั้งนี้ที่ว่าดาวอังคารมีกัมมันตภาพรังสีคุกคามระดับอันตรายชี้ว่า การประจำการมนุษย์บนดาวอังคารเป็นภารกิจที่เสี่ยงขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าดาวอังคารจะมีน้ำที่สามารถใช้เป็นปัจจัยยังชีพก็ตามและบางรายเชื่อว่า กัมมันตภาพรังสีบนพื้นผิวดาวอังคารอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์อวกาศที่ถูกส่งไปประจำการด้วย (สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิจัย/พัฒนา


บ.น้ำสมุนไพรวิจัยสร้างชุดแปรรูปครบวงจร

ห้างหุ้นส่วน จำกัด เอ็น.พี.กรุ๊ป กรุงเทพฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ยี่ห้อ ‘มิ้นท์ เฟรช’ ซึ่งดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน มีกำลังการผลิตวันละ 200 ขวด ใช้แรงงานคน 3 คนในการผลิตครบวงจร ทำงาน 8 ชั่วโมง สินค้นมีอายุเฉลี่ย 3 วัน บริษัทมีความต้องการขยายตลาดโดยกระจายสินค้นไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดจึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตและยืดอายุสินค้นในเก็บรักษาได้นานขึ้น บริษัทได้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อทำการออกแบบและสร้างชุดเครื่องจักร ที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรได้ครบวงจรโดยได้ผลิตในปริมาณสูงในเวลาอันสั้น สามารถยืดอายุสินค้าให้นาน 3 เดือนขึ้นไป ขึ้นกับชนิดของสินค้า และสินค้ามีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีซึ่งเป็นผู้ออกแบบและสร้างชุดเครื่องมือแปรรูปน้ำสมุนไพรเปิดเผยว่า ชุดเครื่องมือนี้เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ประกอบด้วย เครื่องบรรจุน้ำสมุนไพร เครื่องปิดฝาขวด และหม้อนึ่งฆ่าเชื้อโรคผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิมเพื่อให้เหมาะสมกับการสัมผัสกับอาหาร นอกจากนี้ชุดเครื่องมือยังออกแบบให้ง่ายต่อการทำความสะอาด และปริมาตรที่ทำการเติมมีความเที่ยงตรง ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างอุปกรณ์ชุดนี้ 157,800 บาท (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 8)





รัฐบาลเตรียมยุบรวมกองทุนปิดทางราชการทำวิจัยซ้ำซ้อน

นายพินิจ จารุสมบัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานแถลงข่าวการแข่งขันโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 กล่าวว่า การแข่งขันโครงการรางวัลนวัตกรรมฯ จะเป็นการกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ได้ผลงานที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศ นำไปสร้างค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันรางวัลนวัตกรรมจะทำให้ขีดความสามารถของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าจะรวมกองทุนวิจัยและพัฒนาต่างๆ เป็นกองทุนเดียวกันเนื่องจากปัจจุบันงานวิจัยต่างๆ ซ้ำซ้อนมีหลายหน่วยงานทำวิจัยเรื่องเดียวกัน โดยงานวิจัยและพัฒนาบางเรื่องสามารถนำมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดได้ไม่ต้องมานั่งนับ 1 ใหม่ เพื่อย่นระยะเวลา ประหยัดเวลาและงบประมาณ นอกจากนี้ ในอนาคตกองทุนพัฒนานวัตกรรมกำลังจะจัดให้มี ‘รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ’ หรือ National Innovation Award เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรม บริษัทห้างร้าน ได้นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาองค์กรขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และกำลังคิดที่จะคัดเลือกผลงานจากผู้ที่ชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมจัดในระดับหน่วยงานและบริษัทต่างๆ เพื่อให้มารับรางวัลสุดยอดผลงานนวัตกรรมไทย สำหรับการแข่งขันโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมามีนักศึกษาส่งโครงการเข้าร่วมแข่งขันรวมปีละกว่า 90 โครงการนักศึกษาที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เวบไซต์ www.tiacompettion.org (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 8)





ดูปองท์ใช้ข้าวโพดผลิต ‘เส้นใยสิ่งทอชีวภาพ’

นายมนตรี สิมะกรัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานดูปองท์ประสบความสำเร็จในการค้นพบเส้นใยโพลีเมอร์จากข้าวโพด โดยนำข้าวโพดมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ให้กลายเป็น PDD (1,3 propanediol) ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์ โดยเส้นใยที่ได้มีคุณภาพเช่นเดียวกับโพลีเอสเตอร์และไนลอน แต่มีความนุ่มนวลเหมือนกับผ้าฝ้ายเนื้อดี ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากผ้าใยสังเคราะห์ทั่วไป นวัตกรรมสิ่งทอชนิดนี้ยังมีความยืดหยุ่น และกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ดีกว่าไนลอน 2-3 เท่า มีสีสันสดใสสะดุดตา ทนต่อคลอรีนและรังสี UV แห้งเร็วขจัดคราบ รองเปื้อนได้ง่ายโดยไม่ต้องเคลือบสารเคมีใดๆ และที่สำคัญคือดูแลรักษาง่ายสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ชุดลำลอง ชุดว่ายน้ำ ชุดกีฬา ไปจนถึงชุดทำงาน ด้าน Dr. Uma Chowdhry รองประธานศูนย์วิจัยของดูปองท์ในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงขบวนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพในครั้งนี้ว่า ดูปองท์ได้นำข้าวโพดมาผ่านกรรมวิธีสันดาปเชิงชีวเคมีทำให้ได้น้ำตาลแล้วใช้จุลินทรีย์มาแปลงน้ำตาลจากข้าวโพดให้เป็น PDD ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใยโพลีเมอร์ชีวภาพคุณสมบัติเฉพาะตัวของ PDD หรือสารตั้งต้นดังกล่าวคือ โครงสร้างโมเลกุลที่มีลักษณะกึ่งผลึก เป็นคุณสมบัติที่แตกต่างจากโพลีเอสเตอร์และไนลอน ให้ความสัมผัสที่นุ่มกว่า ย้อมสีได้ดีกว่า ทนต่อรังสียูวี และขจัดคราบสกปรกได้ง่าย (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 4 มีนาคม 2546 หน้า 7)





อังกฤษจับยีนใส่บัตรอัจฉริยะ

เซอร์พอล เนิร์ส หัวหน้าฝ่ายบริหารของสถาบันวิจัยมะเร็งอังกฤษเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2544 คาดว่า กระบวนการเปิดเผยรหัสพันธุกรรม หรือจีโนมมนุษย์จะเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ และภายใน 20 ปีข้างหน้า เด็กเกิดใหม่ทุกคนจะต้องบันทึกข้อมูลพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรวม การดำเนินงานดังกล่าวสามารถป้องกันการเกิดโรคร้าย และนำไปสู่การรักษาทั่วไปได้อย่างเห็นผล กระนั้นเซอร์พอลก็มองว่ารูปแบบปฏิบัติการดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อความไม่เสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะประเด็นการแบ่งแยกทางยีนที่ตัวแทนประกันชีวิต หรือบริษัทต่างๆ กีดกันพนักงานที่มียีนบกพร่องไม่ให้ใช้สิทธิตามที่ตนมีได้ จะเห็นได้ว่า ความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้การถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่ปี ขณะเมื่อปี 2528 ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีจึงจะสามารถถอดรหัสยีนเพียงตัวเดียวได้สำเร็จ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 8)





ประโยชน์จากเปลือกสัตว์น้ำ ผลิตไคโตซานพ่นเคลือบคงความสดผลไม้

นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการประมงที่เจริญรุดหน้า เฉพาะในปี 2542 ผลิตภัณฑ์ปู,กุ้ง และปลาหมึก แปรรูปส่งออกต่างประเทศมีปริมาณหลายแสนตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ในการแปรรูปส่วนใหญ่มีเศษเหลือประเภทเปลือกของสัตว์น้ำเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย สามารถนำมาผลิตเป็นไคโตซาน ได้จำนวนมาก ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตไคโตซานอยู่บ้างแล้ว แต่การนำมาใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรยังไม่ค่อยแพร่หลาย จนกระทั่ง ดร.อัธยา กังสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำกรมประมงได้ทดลองศึกษาวิจัยนำไคโตซานจากเปลือกสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้แก่ เปลือกกุ้ง กระดองปู และกระดองหมึกที่ผลิตออกได้แล้ว นำมาทดลองฉีดพ่นเคลือบผิวมังคุด ปรากฏว่าไคโตซานทำปฏิกิริยาปกป้องและรักษาสีสันเปลือกมังคุดไว้ได้นานประมาณ 1 เดือน โดยมังคุดเปลือกแข็งเพียงร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับมังคุดที่ไม่ได้ฉีดพ่นเคลือบไคโตซาน มีการแข็งตัวของเปลือกสูงถึง 22 % (ในตู้เย็น) และถึง 90% ในอุณหภูมิห้อง การศึกษาวิจัยเพื่อนำสิ่งที่สามารถสกัดได้จากเปลือกสัตว์น้ำคือ ไคโตซานมาใช้ประโยชน์กับผลไม้ส่งออกยอดนิยมของไทย เช่น ทุเรียน, น้อยหน่า โดยเฉพาะมังคุด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 7)





นักวิจัยค้นพบเน็ตความเร็วสูงกว่าเดิม

นักวิจัยสหรัฐค้นพบเน็ตความเร็วสูง ส่งข้อมูลได้มากแถมเร็วกว่าเดิมหลายเท่า หวังใช้เป็นเส้นทางลำเลียงข้อมูลระหว่างหมอ และเป็นช่องทางในการเผยแพร่งานวิจัย เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นดอทคอมรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แผนกพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกาค้นพบการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยใช้ ไฟเบอร์ ออพติก เคเบิล (fiber-optic cables) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลขนาด 6.7 กิกะไบต์ หรือเทียบเท่ากับความจุของแผ่นดีวีดี 2 แผ่น ได้ภายในไม่กี่วินาทีผ่านระยะทาง 6,800 ไมล์ รายงานข่าวแจ้งว่า จากการทดลองส่งข้อมูลขนาด 923 เมกะบิต ซึ่งเป็นขนาดข้อมูลปกติที่ถือว่าไม่บีบอัดมากของทีมนักวิจัย โดยส่งจาก Sunnyvale, แคลิฟอร์เนีย ไปยัง แอมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้เวลาเพียง 58 วินาที เร็วกว่าความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความหวังของการคิดค้นการส่งข้อมูลความเร็วสูงในครั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งข้อมูลที่มีจำนวนมากสลับซับซ้อน เช่น การส่งข้อมูลเพื่อปรึกษาอาการคนไข้ วินิจฉัยโรค และวิธีการรักษา ระหว่างแพทย์กับแพทย์ และเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีเนื้อหามาก (เดลินิวส์ วันพุธที่ 12 มีนาคม 2546 หน้า16)





ชุดตรวจสอบโรคธาลัสซีเมียฝีมือนักวิจัยไทย

การตรวจกรองเฮโมโกบินอีในประชากรทั่วไปเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินงานเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียของประเทศไทย ผศ.ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ ผศ.ดร.กนกวรรณ แสนไชยสุริยา รศ.กุลนภา ฟู่เจริญ และ ผศ.ณัฐยา แซ่อึ้ง จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาและพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรองเฮโมโกบินอีอย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยดัดแปลงวิธีดั้งเดิมที่อาศัยคุณสมบัติของเฮโมโกบินอีที่ถูกออกซิไดซ์ให้ตกตะกอนได้ง่ายกว่าเฮโมโกบินชนิดอื่น ด้วยสารไดคลอโรฟีนอลอินโดฟีนอล (ดีซีไอพี)วิธีที่ดัดแปลงขึ้นใหม่นี้ใช้เวลาตรวจเพียง 15 นาที ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส โดยใช้น้ำยา 2 มิลลิลิตร และใช้เลือดเพียง 20 ไมโครลิตร หรือประมาณ 1 หยด นอกจากนี้ยังได้พัฒนาขึ้นเป็นชุดน้ำยาสำเร็จรูปใช้ชื่อว่า KKU-DCIP-Clear reagent Kit โดยได้ยื่นของจดสิทธิบัตรไปแล้วและมีภาคเอกชนรับไปขยายผลเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม และชุดน้ำยานี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมโรคเลือดจางธาลัสซีเมียในอนาคต และใช้ให้ภาวะสุขภาพของคนไทยดีกว่าวันนี้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 8 มีนาคม 2546 หน้า 25)





ไหลตายเกี่ยวกับไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ สวดมนต์ภาวนาช่วยลดความเสี่ยง

นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงปัญหาโรคไหลตายว่า โรคนี้คือโรคที่เกิดการตายเฉียบพลันโดยไม่คาดคิดมาก่อน ในชายหญิงวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานที่แข็งแรงดี มักจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อายุเฉลี่ย 33 ปี พบน้อยมากในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี การตรวจศพไม่พบสาเหตุการตายที่ชัดเจน ทางการแพทย์เรียกว่า กลุ่มอาการตายโดยไม่ทราบสาเหตุ จากการวิจัยที่ผ่านมา โรคไหลตายมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติมาแต่กำเนิด ซึ่งยังไม่มีวิธีการใดที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจัยส่งเสริมหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดคลื่นหัวใจผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น ภาวะโปแตสเซียมต่ำ ความเครียด รวมทั้งการดื่มสุรา เป็นปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ จึงควรแนะให้ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง งดการดื่มสุรา รับประทานผักผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูงเป็นประจำ และคลายความเครียดความกังวล อาจโดยการสวดมนต์ ไหว้พระ เจริญศีล สมาธิ ปล่อยวางจากสิ่งที่ทำให้เครียด (ไทยรัฐ วันอังคารที่ 4 มีนาคม 2546 หน้า 7)





กรมวิทย์ฯโชว์ผลงานเด่น

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนางานสาธารณสุข เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลการศึกษาวิจัยไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ทันกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจวิเคราะห์ วิจัยทางห้องปฏิบัติการ จึงได้จัดแสดงผลงานที่สำคัญๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น การตรวจวิเคราะห์ผู้ได้รับสารเคมี การตรวจวิเคราะห์เชื้อโรคต่างๆ เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาของแพทย์ รวมถึงการศึกษาวิจัยและพัฒนาชุดน้ำยาสำเร็จรูปต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์โรคไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซีส หัดเยอรมัน สครัปไทฟัส ฯลฯ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ลำไส้ของคนไทยเหนือกว่าฝรั่งดูดซึมแคลเซียมได้มากว่ากัน

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมธีวิจัยอาวุโส กล่าวว่าแม้จะมีการศึกษาถึงโรคกระดูกพรุนค่อนข้างลึกซึ้งในต่างประเทศ แต่เนื่องจากความแตกต่างทางกรรมพันธุ์ อาหารการกิน และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจทำให้ลักษณะอาการรวมถึงการป้องกันและการรักษาโรคนี้ในคนไทยแตกต่างจากประเทศตะวันตก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนของเราขึ้นมาเอง ทั้งนี้งานวิจัยที่ ศ.นพ.รัชตะ ดำเนินการเมื่อปี 2544 มุ่งศึกษาความแตกต่างเหล่านี้ที่มีผลต่อการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในคนไทย ในแง่มุมต่างๆ พบว่า 1. คนไทยส่วนใหญ่มักได้รับแคลเซียมจากอาหารที่มิใช่นม และปริมาณแคลเซียมที่เด็กไทยได้รับยังไม่เพียงพอ 2. ในเชิงกรรมพันธุ์ คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 88 จะมียีนตัวหนึ่งที่ช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ดีกว่าคนที่ไม่มียีนนี้ โดยคนตะวันตกพบยีนชนิดนี้เพียงร้อยละ 23 เท่านั้น 3. ยาเม็ดแคลเซียมชนิดฟองฟู่ที่มีราคาแพง ไม่จำเป็นสำหรับผู้หญิงไทยวัยก่อนหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนไปแล้วไม่เกิน 5 ปี เพราะร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีพอๆ กับยาเม็ดแคลเซียมชนิดแคปซูลที่มีราคาถูกกว่ามาก และกว่าร้อยละ 70 ของหญิงที่หมดประจำเดือนมาแล้วมากกว่า 10 ปี ก็ยังสามารถใช้ยาเม็ดแคลเซียมชนิดแคปซูลได้เช่นกัน (ไทยรัฐ วันพุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 7)





เทคนิคลพบุรีคิดค้นกระถางประหยัดน้ำเลียนแบบไส้ตะเกียง

นายธวัชชัย ศรีสวัสดิ์ อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีเปิดเผยว่า กระถางมหัศจรรย์เป็นผลงานการประดิษฐ์ของนักศึกษา ที่ช่วยประหยัดน้ำรดต้นไม้ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้รักต้นไม้ที่ต้องละทิ้งบ้านเป็นเวลานานๆ โดยแนวคิดการประดิษฐ์ใช้หลักการดูดซึมของน้ำมันก๊าด หรือ แอลกอฮอล์ของไส้ตะเกียงในขณะกำลังจุดไฟ แอลกอฮอล์ด้านบนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจะถูกไหม้ระเหยไปไส้ตะเกียงทำหน้าที่ดูดซึมแอลลกอฮอล์จากด้านล่างขึ้นมาชดเชย ทำให้เกิดเปลวไฟเพื่อให้ความร้อนได้อย่างต่อเนื่อง จากหลักการนี้จึงนำมาประยุกต์ใช้กับน้ำโดยนำกระถางดินเผามาซ้อนกันสองใบ ใบล่างใช้เก็บน้ำ ส่วนใบบนเป็นกระถางที่มีรูเจาะทะลุ จากนั้นหาวัสดุที่ดูดซึมน้ำได้ โดยใช้เชือกที่ทำด้วยเส้นใยฝ้ายชุบน้ำให้ชุ่ม สอดผ่านรูกระถางส่วนบนขึ้นมาแล้วใส่น้ำในกระถางส่วนล่าง โดยที่ปลายเชือกจะต้องจุ่มน้ำ จากนั้นนำกระดาษทิชชู่ประมาณพอสมควรมาม้วนหลวมๆ แล้ววางไว้ในกระถางส่วนบนโดยให้สัมผัสกับส่วนปลายของไส้ด้านบน (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 4 มีนาคม 2546





ข่าวทั่วไป


ชาวเมืองน้ำหอมตื่นตัวบริโภคอาหารปลอดสาร

สำนักงานอาชีวภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกอบด้วยภาครัฐและตัวแทนเกษตรกรจากฟาร์มปลอดสารพิษหรือฟาร์มสีเขียวของผรั่งเศส เปิดเผยวานนี้ว่า ในปีก่อนมีฟาร์มสีเขียวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2544 คิดเป็นจำนวน 11,177 แห่ง และพื้นที่รวมที่เกษตรกรหันมาเพาะปลูกแบบฟาร์มสีเขียวเพิ่มขึ้น 21% หรือประมาณ 1.272 ล้านเอเคอร์ นอกจากนี้ เกษตรกรยังหันมาเลี้ยงสัตว์ตามวิธีธรรมชาติ อย่างวัวเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติเพิ่มขึ้น 21% หรือประมาณ 107,000 ตัว แกะเพิ่มขึ้น 9% และแพะเพิ่ม 12% อย่างไรก็ตาม ฟาร์มสีเขียวมีสัดส่วนเพียง 1.7% ของพื้นที่เกษตรกรรมในฝรั่งเศสซึ่งสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เพียงครึ่งเดียว แม้ว่าอาหารปลอดสารพิษมีราคาแพงกว่าอาหารทั่วไปที่วางจำหน่ายอยู่ อิตาลีนับเป็นประเทศใหญ่สุดในยุโรปที่มีฟาร์มปลอดสารพิษแต่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 10% รองลงมาคือ เยอรมนีและออสเตรีย ทำให้สหภาพยุโรปและชาติสมาชิก กำลังมีการเสนอการอุดหนุนเกษตรกรให้หันมาทำฟาร์มสีเขียว (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 1 มีนาคม 2546 หน้า 21)





“เกษตรกรตัวอย่าง” หญิงไทยสร้างชื่อทั่วสวีเดน ปลูกผักสมุนไพรป้อนทั่วยุโรป-ขึ้นโต๊ะรับคนดัง

นางสุทิพย์ สมบูรณ์ทรัพย์ อุสตอด หญิงไทยวัย 48 ปี เป็นที่รู้จักของชาวสวีเดน ในฐานะผู้เบิกบานฟาร์มปลูกพืชผักสมุนไพรไทยปลอดสารพิษ ในดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน จนได้รับการยกย่องเป็นเกษตรกรตัวอย่าง และได้รางวัลเชิดชูเกียรติ จากกรมวิชาการเกษตรแห่งสวีเดน นางสุทิพย์ให้สัมภาษณ์ว่า มีที่ดิน 600 ไร่อยู่ชานเมืองโกเตนเบิร์ก (Gothenburg) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่อันดับ 2 รองจากกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงสวีเดน โดยนำเมล็ดพันธุ์จากประเทศไทยและจีนบางส่วนมาปลูกในแปลงผักเพียง 300 ไร่ มีพืชจากประเทศไทยกว่า 200 ชนิดที่เจริญเติบโตได้ดี โดยจะเริ่มปลูกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนได้ร้านค้าใหญ่ๆ เป็นลูกตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารไทย นางสุทิพย์ กล่าวว่า พืชผักส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรปลอดสารพิษ ที่ปลูกตามหลักธรรมชาติซึ่งปลอดภัยและให้คุณค่าทางอาหารสูง จึงทำให้สามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้เอง โดยมีลูกค้าเป็นร้านอาหารชั้นหนึ่ง ร้านค้าขนาดใหญ่ ทั้งในสวีเดนและประเทศอื่นในยุโรป แต่ละเดือนมียอดสั่งซื้อเฉลี่ยประมาณล้านกว่าโครนา โดยจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนกันยายนที่จะได้เห็นแสงแดดยาวนาน จากนั้นก็เข้าฤดูใบไม้ร่วงและหน้าหนาวซึ่งต้องหยุดพักประมาณ 6 เดือน นางสุทิพย์กล่าวว่า ช่วงที่ว่างจะเปิดสอนการทำอาหารไทย จีน และออกไปสาธิตการทำอาหารให้แก่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่สนใจ นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสวีเดน เช่น มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม มหาวิทยาลัยแห่งเมืองลุนด์ มหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ตลอดจนวิทยาลัยอาชีวะต่างๆ ซึ่งใช้แปลงผักของตนในการศึกษาวิจัยด้านเกษตร สำหรับพืชผักและผลิตภัณฑ์จากฟาร์มได้รับเลือกให้เป็นอาหารจานพิเศษ สำหรับบุคคลสำคัญต่างๆ มาแล้ว ทั้งพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรี นักการเมือง ตลอดจนต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง อาทิ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คราวที่มาเยือนสวีเดนด้วย ( มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 15)





สั่งทบทวนโฆษณาอาหารเสริมสาหร่าย อย.เร่งวางมาตรการคำอ้างสรรพคุณ

น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงว่า อย.ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคได้ และขณะนี้ อย. กำลังพิจารณาทบทวนสรรพคุณของอาหารเสริมที่อนุญาตให้เอ่ยอ้างสรรพคุณเช่น เอ่ยถึงสรรพคุณกลไกการทำงานของร่างกายว่าอาหารเสริมอาจจะไปช่วยบำรุงร่างกายเพื่อต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่อนุญาตให้อวดอ้างสรรพคุณว่าอาหารเสริมรักษาโรคได้ นอกจากนี้ อย.ยังให้นักวิชาการทบทวนรายละเอียดว่าสมควรจะปรับเกณฑ์ของไทยอย่างไรให้ทันกระแสของตลาด รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศต่างๆ เพื่อวางแนวทางว่าประเทศไทยควรมีมาตรการอย่างไรที่จะให้เอ่ยถึงสรรพคุณบางอย่างของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ ที่ใช้เป็นอาหาร น.พ.สถาพรกล่าวอีกว่า “ถือว่าอาหารเสริมเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ จึงเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ หากมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณต้องขออนุญาตกับทาง อย. ด้วยทุกครั้ง ตอนนี้มีการโฆษณาแข่งขันกันสูงมาก เราได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่ตลอดเวลา และยังพบว่ามีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำลูกยอที่มีการโฆษณาและบางรายการเป็นระบบขายตรง จึงต้องเร่งทบทวนและส่งทีมไปดูข้อมูลมาทบทวนเร่งด่วน ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสาหร่ายสไปรูรีนานั้น อย.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของแล้ว ในเรื่องการโฆษณาสรรพคุณอาหารว่า จะต้องแสดงฉลากโภชนาการว่ามีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันเป็นส่วนประกอบอยู่ในปริมาณเท่าใด และต้องมีผลวิเคราะห์อาหารที่ออกมาอย่างชัดเจน หากไม่ปฏิบัติตามและไม่ขออนุญาตต้องสั่งระงับโฆษณาและปรับ” (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2546 หน้า 18)





คนใช้เมาส์-หั่นผัก-เขียนบิลเสี่ยงเกิดโรคคูมูลาทีฟทรอม่า

พ.ญ.อารีรัตน์ สุพุทธิธาดา อาจารย์แพทย์ระดับ 8 ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคซีทีดีหรือ โรคคูมูลาทีฟ ทรอม่า ดิสออร์เดอร์ (Cumulative Traum Disorder) คือโรคที่เกิดจากเส้นเอ็นอักเสบจากการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ทำงานซ้ำ เช่น การใช้เมาส์ การเขียนหนังสือ การหั่นผักและเนื้อขณะทำครัว การเขียนใบเสร็จ ฯลฯ มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาตัวที่ ร.พ.จุฬาลงกรณ์สัปดาห์ละประมาณ 10 คน และอนาคตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาการของโรคซีทีดีทำให้ป่วยเมื่อย บวม ที่ข้อมือ คอ และไหล่ ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทอาจจะชาต้องกินยาและทำกายภาพบำบัด ข้อแนะนำในการป้องกันโรคนี้ คือ ปรับอุปกรณ์ที่ใช้งาน เช่น แผ่นรองเมาส์ที่มีเบาะรอง หรือเลือกใช้มีดที่มีด้ามใหญ่ขึ้น หยุดพักงาน 10 นาทีทุกๆ ครึ่งชั่วโมง และออกกำลังกายด้วย ( มติชนรายวัน วันพุธที่ 5 มีนาคม 2546 หน้า 18 )





ไทยสร้างรถสะเทินน้ำสะเทินบก

กรมสรรพาวุธทหารบก ร่วมกับ สจพ. วิจัยสร้างรถสะเทินน้ำสะเทินบกต้นแบบเสร็จต้นปีหน้า ใช้งบเกือบ 2 ล้านบาท พล.ท.วิชา เตชะวณิชย์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสให้ทางกองทัพบกสร้างยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลำเลียงสิ่งของและช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมและได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นทางกรมสรรพาวุธจึงได้ร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) วิจัยและสร้างยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกขึ้น โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการโครงการตั้งแต่ 1 มีนาคม 2546 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2547 เบื้องต้นเตรียมยื่นเรื่องเสนอของบประมาณในการวิจัยและสร้างจากกองทัพบก จำนวน 1,800,000 บาท ( เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2546 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215