หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 14 ประจำวันที่ 2003-04-08

ข่าวการศึกษา

มอบรางวัล นศ. ดูงานเมืองนอก
“กษมา” เร่งสร้างความเข้าใจนับอายุภาคบังคับ
นัดถกต้นแบบร่าง ม.ในกำกับ
รุกปรับรูปแบบการสอนรับภาคบังคับ
ต่างชาติแห่ขอเปิดหลักสูตรระยะสั้น ค่าเรียนสูงลิ่ว- “สช.” แก้เกณฑ์รับมือ
พระเทพฯทรงห่วงเด็กไทยใส่ใจแต่วัตถุ
กระทั้งรัฐให้แต้มต่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส
เผย ร.ร.นำร่องรูปแบบใหม่ ดึง มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ICT
เร่งพัฒนาสมองปฐมวัย
ทบวงฯชี้การศึกษาภาคพิเศษ ช่วยลดช่องว่างเมือง-ชนบท
เปิดวิทยาลัยชุมชน 10 แห่งเข้าเรียนได้เปิดเทอมนี้

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

มจธ.โชว์ไอเดียบริการแมสเซตเชื่อมธุรกิจ
มจธ.พัฒนาเกม ‘ป้อมปืน’ ให้ทหารซ้อมรบจริง
เทคโนโลยีแสดงผล 3 มิติในห้องผ่าตัด
ร.พ.พญาไทให้ “นิวโรเนวิเกเตอร์” ผ่าเนื้องอกสมอง
D-READER หนังสือเสียงเพื่อผู้พิการสายตา
เวบเผยโฉยเด็ก ‘โคลนนิง’ สยบข่าวลวงโลก
สวทช.ของงบฯ 910ล้านตั้งศูนย์ ‘นาโนเทคโนโลยี
สเปรย์ปลูกผม
ศูนย์นาโนเทคไทยคืบหน้าไปอีกขั้น
ก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบโปรตีนสร้างผิวหนัง-เส้นผมสาเหตุมะเร็งและผมร่วง
มีเงิน3หมื่นเป็นเจ้าของโรงสีข้าวเคลื่อนที่ ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’
วว.เปิดตัวโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“โรงสีพระราชทาน” ข้าวเปลือกติดแอร์ ผลิตหอมมะลิปลอดเคมี
เผยอาหารสูตรต่อต้านโรคมะเร็ง เป็นยำรวมทั้งไก่ผักปลาผสมกัน
“ขี้เหล็ก” ดับเครียด นอนหลับสนิทตื่นแล้วรู้สึกสดชื่น
เยื่อกระดาษกล่องนมฉลุย ลดขยะได้ 30,000 ตัน/ปี
ประดิษฐ์เสื่ออะลูมิเนียมกับพลาสติก ก่อคลื่นแม่เหล็กรักษากระดูกพรุน
รัฐไฟเขียวงานวิจัยชุดตรวจสารตกค้างพัฒนาเชิงพาณิชย์
นักวิจัยอังกฤษเน้นพัฒนา ‘พีซีปัญญาประดิษฐ์’ รับรู้อารมณ์ผู้ใช้งาน
วช.เสนอ 15 งานวิจัยหนุนใช้ ‘เอทานอล’ ขอ 20 ล้านพัฒนาต่อ
มทส.โชว์ผลงานวิจัยเด่นสารรังไหมชะลอความแก่
เด็กไทยถูกสถานเริงรมย์โอบล้อมผลวิจัยเฉลี่ยจังหวัดละ 200 แห่ง

ข่าวทั่วไป

กรมสุขภาพจิตเตือนระวังเด็กดูข่าวสงครามก้าวร้าว
เตือนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดพบแพทย์
รีไซเคิลเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์
ไวรัสคอมพิวเตอร์ระบาดน้อยลง
‘กูเกิ้ลอันเซอร์’ เสริมบริการใหม่จ้างนักวิจัยช่วยคลิกค้นข้อมูลทันที
นายกฯตั้งเป้าทุกหน่วยงานมีเวบไซต์สิ้นปี
รอยเตอร์ ‘เพิ่มทุน-คน’ ขยายศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในไทย
‘พีเอสบี’ พัฒนาแล็บเทสต์มาตรฐานสินค้าติดอาวุธส่งออกไทยสู้กีดกันการค้าโลก
เน็ตไร้สาย





ข่าวการศึกษา


มอบรางวัล นศ. ดูงานเมืองนอก

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษให้มีวิสัยทัศน์ โดยคัดเลือกนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษไปศึกษาดูงานที่สถาบันอุดมศึกษา และสถานประกอบการธุรกิจในต่างประเทศ โดยในปี 2546 จะจัด 3 รุ่น รุ่นละ 30 คน และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 10 รุ่น รวมงบประมาณดำเนินการ 10 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนักศึกษากลับมาก็จะให้ทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์อาวุโสและส่งเสริมการศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีความสามารถพิเศษได้เห็นวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนำไปสู่เครือข่ายคลังสมองของชาติ ขณะนี้ทบวงฯคัดเลือกนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษเบื้องต้นแล้วจำนวน 5,263 คน จากจำนวนในบัญชีรายชื่อทั้งหมด 10,080 คน จากนั้นจะคัดเลือกเชิงลึกอีกครั้งโดยคณะกรรมการให้ได้ 30 คนในรุ่นแรก ทั้งในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ซึ่งจะเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 14 วัน ในปลายเดือน พ.ค.นี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นรางวัลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบให้แก่คนรุ่นใหม่ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 26 มีนาคม 2546 หน้า 15)





“กษมา” เร่งสร้างความเข้าใจนับอายุภาคบังคับ

จากการประชุมสัมมนาการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 โดยมีผู้บริหารจากประถมศึกษาจังหวัด สามัญศึกษาจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนกรรมการสถานศึกาษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในภาคกลางและภาคตะวันออกเข้าร่วม 667 คน ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่าตามที่ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ส่งผลให้ปีการศึกษา 2546 ผู้ปกครองต้องส่งเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุย่างเข้าปีที่ 16 เข้าเรียนในสถานศึกษาตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.3 หากผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้าเรียนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่มีเด็กมาทำงานหรืออาศัยอยู่แล้วปกปิดไม่แจ้ง มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้หากเด็กยังมีอายุไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ปกครองก็สามารถของผ่อนผันให้เข้าเรียนก่อนได้ แต่สถานศึกษาต้องพิจารณารับเด็กที่มีอายุครบตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับก่อน อย่างไรก็ตาม ทราบว่าบางจังหวัดปฏิเสธไม่รับเด็กที่มีอายุไม่ครบตามเกณฑ์เข้าเรียน บางจังหวัดให้เด็กที่อายุไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.2 กลับไปเรียนชั้น ป.1 ใหม่ ซึ่งในส่วนนี้เด็กสามารถเรียนในชั้น ป.2 ได้ เพียงแต่ต้องดูความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย (ไทยรัฐ วันพุธที่ 26 มีนาคม 2546 หน้า 15)





นัดถกต้นแบบร่าง ม.ในกำกับ

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ว่า ทบวงฯจะได้เชิญ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี สจพ. และ รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดี มร. หารือถึงการเพิ่มเติมสาระร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลให้ครบถ้วน ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเสนอให้เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับเอกลักษณ์เฉพาะของมหาวิทยาลัยและกฏหมายกลางให้แล้วเสร็จก่อนเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจะเป็นต้นแบบให้กับร่าง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยอื่นต่อไป ส่วนการวิจัยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลและมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น ได้มอบหมายให้ ดร.ทิพวรรณ เหล่าสุวรรณรัตน์ เป็นผู้ศึกษาวิจัย ซึ่งกำลังสัมภาษณ์เจาะลึกบุคลากรของ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.แม่ฟ้าหลวง และ ม.วลัยลักษณ์ ถึงสภาพการดำเนินงาน ผลกระทบ ความพอใจและความเป็นธรรมต่อระบบการบริหารภายในทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ คาดว่าจะสรุปผลเสนอต่อทบวงฯ เดือน มิ.ย.นี้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 15)





รุกปรับรูปแบบการสอนรับภาคบังคับ

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมนอกรอบร่วมกับผู้แทนครูใน กปช. ว่า ได้หารือถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่มีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2546 เป็นปีแรก ซึ่งอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) จะเร่งส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคูรค่าของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้หลากหลาย ทั้งนี้หลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาภาคบังคับที่ ศธ.กำลังเดินสายชี้แจงทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ สปช.จะนำข้อคิดเห็นมาจัดรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมต่อไป เลขาธิการ กปช. กล่าวว่า สำหรับการนับอายุเด็กเข้าเรียนชั้น ป.1 ที่มีปัญหาว่าเกิดปี พ.ศ.2543 หรือปี 2540 นั้น ศธ.ได้ชี้แจงแล้วว่าเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 ทุกคน หรือมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ สามารถเข้าเรียนได้ ส่วนที่ว่าขณะนี้มีเด็กที่กำลังจะขึ้นชั้นอนุบาล 2 แต่อายุครบกำหนดที่จะเข้าเรียนชั้น ป.1 นั้น นักเรียนสามารถเข้าเรียนชั้น ป.1 ได้ทันที แต่ตนเชื่อว่ายังมีผู้ปกครองอยากให้ลูกได้รับการพัฒนาที่เป็นระบบ ไม่ใช่รีบดันให้ลูกเรียนเร็วทั้งหมด ส่วนการจัดซื้อเครื่องเขียนและเสื้อผ่านักเรียนนั้น สปช.ได้ทำหนังสือยืนยันการขยายเวลาการจัดซื้อจัดจ้างจากวันที่ 10 มี.ค. เป็นวันที่ 30 เม.ย.แล้ว ส่วนการจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ โดยการประมูลผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น จะทดลองนำร่องใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดที่เหลือให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ต่างชาติแห่ขอเปิดหลักสูตรระยะสั้น ค่าเรียนสูงลิ่ว- “สช.” แก้เกณฑ์รับมือ

นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นทบทวนเพื่อแก้ไขระเบียบว่าด้วยการขออนุญาตจัดตั้งสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งกำหนดระยะเวลาเรียนตามหลักสูตรไม่เกิน 2 ปี โดยจะกำหนดระยะเวลาเป็นช่วงให้สั้นลง ทั้งนี้ เนื่องจากอาจเป็นช่องทางของการขออนุญาตเปิดสอนจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศระดับอุดมศึกษา ที่ต้องการเข้ามาขอเปิดการสอนกับ สช.แทนการขอเปิดกับทางทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันนี้มีสถาบันจากต่างประเทศได้มาขอเปิดสถาบันสอนหลักสูตรด้านแฟชั่นเสื้อผ้าระดับประกาศนียบัตร อาทิ จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเก็บค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูงปีละ 2 แสนบาท ในระยะเวลาเรียน 2 ปี โดยเสนอขอเก็บค่าเล่าเรียน 6 แสนบาทตลอดหลักสูตร แต่ทาง สช.ได้ปรับลดลงมาเหลือ 4 แสนบาทตลอดหลักสูตร (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 21)





พระเทพฯทรงห่วงเด็กไทยใส่ใจแต่วัตถุ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสกับร้านหนังสือของนานาชาติที่มาร่วมในงาน ซึ่งทำให้ทราบว่าพระองค์สนใจทั้งภูมิปัญญาไทยและก้าวทันโลก อีกทั้งการจัดงานครั้งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการทำงานวิจัยมากขึ้น เพราะมีหนังสือของต่างชาติหลายเล่มที่พูดถึงงานวิจัย อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเทพฯได้ทรงมีพระราชดำรัสถึงการสอนวิชาจริยธรรมศึกษาว่าการเรียนการสอนควรเน้นเนื้อหามากกว่าวัตถุ และควรมีการสอนหน้าที่พลเมือง รวมทั้งศีลธรรม ครูต้องสอนให้สนุก เพราะพระองค์ทราบว่ามีเด็กที่ตกวิชาดังกล่าวมาก นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้มีการจัดงานเช่นทุกปี มีหนังสือทั้งที่ผลิตในไทยและนานาชาติมาแสดง มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่นำหนังสือมาตั้งขายอย่างไม่มีชีวิต ซึ่งเมื่อมีการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ต่อไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับนานาชาติของภูมิภาคเอเชีย เป็นการเปิดตลาดให้กับวงการหนังสือ และเป็นเวทีเจรจาธุรกิจการซื้อขายสิ่งพิมพ์ ขายลิขสิทธิ์หนังสือรวมทั้งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการศึกษา (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2546 หน้า 15)





กระทั้งรัฐให้แต้มต่อการศึกษาเด็กด้อยโอกาส

จากการสัมมนาวิพากษ์เรื่อง “ร่างนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษว่า ตนอยากให้มีการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเด็กด้อยโอกาสให้ชัดเจน และกำหนดแผนโดยมองภาพรวมและรายละเอียดแต่ละกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทั้งอยากฝากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาเรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายรายหัวนั้นควรเฉลี่ยการให้อย่างเท่าเทียมทั้งเด์กยากจน และร่ำรวยจนกลายเป็นความไม่เท่าเทียมกัน ตนยืนยันมาตลอดว่าควรช่วยเด็กที่ยากจนให้มากกว่าเด็กที่ร่ำรวย เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาส ดร.สายสุรี จุติกุล ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส กล่าวว่า ตนเสนอแบ่งกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในเบื้องต้น ได้แก่ เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กติดเชื้อเอชไอวี แรงงานเด็ก เด็กยากจน เด็กไม่มีสัญชาติ เด็กไม่มีสูติบัตรหรือทะเบียนบ้าน เด็กห่างไกลความเจริญ เด็กในสถานสงเคราะห์ เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายและทางเพศ เด็กที่เป็นเหยื่อความรุนแรง เด็กที่ถูกล่อลวงมาค้าประเวณี เด็กที่อยู่ตามลำพัง เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กในค่ายอพยพ เด็กที่เป็นเหยื่อสงครามหรือการเมือง เด็กขอทาน เด็กในสถานพินิจ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดที่รัฐควรดูแลเด็กด้อยโอกาสในสัดส่วนที่มากกว่าปกติ เพราะที่ผ่านมาเด็กขาดโอกาสไปมากแล้ว เป็นการให้แต้มต่อกับเด็กเหล่านี้ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2546 หน้า 15)





เผย ร.ร.นำร่องรูปแบบใหม่ ดึง มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ICT

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.)ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการจัดการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อทดลองนำร่องในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2546 ดังนี้ 1. โรงเรียนในกำกับของรัฐ จำนวน 19 โรง ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา 15 โรงและโรงเรียนประถมศึกษา 4 โรง 2. โรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน 15 โรง 3. โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ โดยมีโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 75 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 14 โรง ในส่วนของโรงเรียนสองภาษานั้น มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เข้าร่วมโครงการจำนวน 16 โรงเรียน สำหรับโรงเรียนต้นแบบการใช้ระบบเทคโนโลยีสารานเทศและการสื่อสาร (ICT)ในเบื้องต้นนั้น มีมหาวิทยาลัย 4 แห่ง จะรับเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนต้นแบบ ICT ดังนี้ ม.เกษตรศาสตร์รับเป็นพี่เลี้ยงให้กับ ร.ร.วัดโสมนัสและ ร.ร.อนุราชประสิทธิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับเป็นพี่เลี้ยงให้กับ ร.ร.กลาโหมอุทิศ และ ร.ร.เขมาภิรตาราม ม.ศิลปากร วิทยาเขตทับแก้วรับเป็นพี่เลี้ยงให้กับ ร.ร.ประถมฐานบินกำแพงแสน และ ร.ร.ท่าม่วงราษฎร์บำรุง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ร.ร.ไชยฉิมพลีวิทยาคมยื่นความจำนงขอความช่วยเหลือในการเข้าโครงการ แต่ยังไม่ได้เสนอแผนการดำเนินงานเข้ามา แต่มีโรงเรียนยื่นความจำนงขอความช่วยเหลือในการเข้าโครงการกับทางสถาบัน นอกจากนี้ยังมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าจะเข้าร่วมโครงการแต่ยังไม่ได้เสนอแผนการดำเนินเข้ามา แต่มีโรงเรียนยื่นความจำนงขอรับความช่วยเหลือในการเข้าร่วมโครงการแล้วคือ ร.ร.วัดบวรนิเวศ และ ร.ร.วัดพลับพลาชัย (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2546 หน้า 7)





เร่งพัฒนาสมองปฐมวัย

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ร่วมกับสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมอง ครีเอทีฟเบรน จัดแถลงข่าวโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กปฐมวัย โดยนางมัณฑนา ศังขะกฤษณ รองปลัดศธ. กล่าวว่า นางปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ 2-5 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่มีพัฒนาการเรียนรู้ทางสมองและตามอติของครม. ได้ให้รัฐบาลดูแลเรื่องการศึกษาเด็กปฐมวัยเป็นพิเศษ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ การให้ความรู้แก่พ่อ แม่ ในการดูแลเด็กโดยตรง กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี โดยมุ่งพัฒานาคุณภาพและฝึกทักษะให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย และกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 3-5 ปี (ช่วงชั้นอนุบาล) จะพัฒนาหลักสูตรให้เชื่อมโยงจนถึงระดับอุดมศึกษา นพ.บวร งามศิริอุดม ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย ในปี 2542 ในพื้นที่ 9 จังหวัดจำนวน 3,096 คน พบว่าพัฒนาการรวมทุกด้านของเด็กที่มีอายุ 1-2 ปี อยู่ในเกณฑ์ปกติ 78% ส่วนเด็กอายุ 4-5 ปี จะมีพัฒนาการลดเหลือ 62% ส่วนปัญหาที่พบคือ พัฒนาด้านภาษา รองลงมา คือ ตาและมือ ซึ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะมาปรับปรุงต่อไป (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2546 หน้า 7)





ทบวงฯชี้การศึกษาภาคพิเศษ ช่วยลดช่องว่างเมือง-ชนบท

ศาสตราจารย์ ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องโครงการศึกษาภาคพิเศษให้อะไรแก่สังคมว่า การที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้เปิดสอนโครงการพิเศษนั้น สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกมากยิ่งขึ้น ปลัดทบวงฯกล่าวต่อว่า โครงการศึกษาภาคพิเศษยังได้จัดให้มีการบรรจุการทำวิจัยไว้ในหลักสูตรด้วย เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้ทำงานวิจัยในเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้สังคมมองการศึกษาภาคพิเศษว่าเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์เป็นการลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่ต้องการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ได้มีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มมากขึ้นด้วย (สยามรัฐ วันอังคารที่ 9 เมษายน 2546 หน้า 7)





เปิดวิทยาลัยชุมชน 10 แห่งเข้าเรียนได้เปิดเทอมนี้

นายประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 32,150,000 บาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนกรุงเทพมหานคร ขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาที่เปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกอบรมได้ตลอดชีวิต โดยมีโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร และให้โรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม.อีก 9 แห่ง เป็นเครือข่ายร่วมกันโดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนที่กำหนดขึ้นโดยสภาวิทยาลัยชุมชนเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาซึ่งเดิมมีการเรียนการสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นการสอนในระดับอนุปริญญา รวมทั้งการจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นที่จะมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม นายประพันธ์ กล่าวต่อในภาคเรียนที่ 1/2546 นี้ จะเปิดสอนพร้อมกันทั้ง 10 แห่ง โดยในระดับอนุปริญญาจัดสอนพร้อมกันทั้ง 10 แห่ง โดยในระดับอนุปริญญาจัดสอนในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ากำลัง อุตสาหกรรมการเกษตร และหลักสูตรระยะสั้นมี 6 สาขาวิชา คือ ช่างตั้งศูนย์ถ่วงล้อรถยนต์ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และเบเกอรี่ (เดลินิวส์ อังคารที่ 1 เมษายน 2546 หน้า 38)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


มจธ.โชว์ไอเดียบริการแมสเซตเชื่อมธุรกิจ

ณัฐดนัย องค์โฆษิต และพิเชฐ สุจินต์ธรรมสาร นศ.จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เกิดไอเดียว่าน่าจะนำ SMS (Short Message Service) หรือบริการส่งข้อความสั้นๆ มาประยุกต์ใช้งานได้มากกว่าที่เราใช้กันอยู่ โดยผศ.ดร.ธำรงรัตน์ อมรรักษา อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำว่า น่าจะมองไปที่การดำเนินธุรกรรมต่างๆ ในปัจจุบัน คือ การตรวจสินค้า (Check Stock) สั่งจองหรือซื้อสินค้า (Order) และยกเลิกการทำธุรกรรม (Cancel) โดยนำระบบฐานข้อมูลมาใช้ ร่วมกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีบทบาทสูงมากในชีวิตประจำวันของคนเราและเลือกในส่วนของการส่ง SMS มาประยุกต์ใช้เพราะใช้งานง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อยและเป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องมือสำหรับผู้สนใจระบบดังกล่าวสามารถติดต่อได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือ e-mail:nut_cpe@hotmail.com (สยามรัฐ เสาร์ที่ 5 เมษายน 2546 หน้า 7)





มจธ.พัฒนาเกม ‘ป้อมปืน’ ให้ทหารซ้อมรบจริง

นักศึกษา มจธ. พัฒนาเกมจำลองสถานการณ์ป้อมปืนให้ทั้งสนุกและสามารถนำมาใช้เพื่อซ้อมรบได้จริงในถานการณ์สมจริง หวังช่วยชาติประหยัดและลดการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมของทหาร “การจำลองสถานการณ์ป้อมปืน” (Gun Turret Simulation) เป็นผลงานของนายลาโก ดีรูป นางสาวโสภาพร ชินตะวัน และนางสาวกันยารัตน์ ศักดิพนา นักศึกษาภาควิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดียมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งมีแนวความคิดมาจากดูการฝึกของทหารชาวอเมริกันที่นำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการฝึกซ้อมรบมากขึ้น ทำให้ประหยัดทรัพยากร อาวุธและยังลดอาการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมเพื่อลดอัตราการทำลายและการสูญเสียให้ต่ำที่สุด นางสาวโสภาพร เผยว่า เกมจำลองสถานการณ์ป้อมปืนจะคล้ายกับเกมแนวยิงสู้รบที่กำลังนิยมในปัจจุบันแต่จะเน้นในเรื่องการฝึกซ้อมรบทางการทหารมากขึ้นโดยจะกำหนดให้ผู้เล่นแก้ไขและสร้างความคุ้นเคยกับสถานการณ์รบจริงและสะสมประสบการณ์เพื่อให้มีความชำนาญโดยผู้เล่นสามารถควบคุมทิศทางได้ทั้งขึ้นและลงหรือกดปุ่มเพื่อเปลี่ยนทิศทางตามแนวราบซ้าย-ขวาโดยภาพและเสียงจะแสดงออกทางจอและลำโพงในขณะเดียวกันก็จะมีการบันทึกคะแนนไว้ทุกครั้งที่เล่นและจัดไว้เพื่อดูพัฒนาการอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 8)





เทคโนโลยีแสดงผล 3 มิติในห้องผ่าตัด

ซิลิคอน กราฟฟิค ร่วมกับแวลลู ซิสเต็มท์ เปิดตัวเทคโนโลยีระบบการแสดงผลข้อมูลกราฟิก 3 มิติเพื่อการทำงานในห้องผ่าตัด ซึ่งจะสามาระนำไปใช้ในห้องผ่าตัดผ่านระบบเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และรักษาอวัยวะคนไข้ โดยการทำงานผ่านระบบนวัตกรรม visual area networking จะช่วยให้ข้อมูลได้รับการเก็บและผ่านกระบวนการในที่หนึ่ง สามารถแสดงผลและส่งให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ซึ่ง OperGL Vizderver ถือเป็นองค์ประกอบหลักของการใช้ SGI Visual Area Networking และเป็นระบบที่ออกแบบเพื่อการแสดงภาพล้ำหน้าผ่านการทำงานของเวิร์กสเตชั่น หรือระบบไร้สายและเหมาะสมสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการร่วมใช้การแสดงผลทางภาพ โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบการแสดงผลข้อมูลกราฟิก 3 มิติ เริ่มมีการใช้ตั้งแต่ปี 2545 ที่โรงพยาบาลแมนเชสเตอร์ รอยัล อินเฟอร์มารี เพื่อการผ่าตัดรักษาตับอ่อน โดยสมัยก่อนกระบวนการผ่าตัดจะเริ่มด้วยการพิจารณาข้อมูลจากฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งเป็นภาพ 2 มิติผ่านไลต์บ็อกซ์ แพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องแปลงข้อมูลเป็นภาพ 3 มิติ ด้วยความสามารถส่วนตัวและใช้วิธีจำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการทำการผ่าตัด และการจำกัดภาพที่แสดงบนไลต์บ็อกสามารถแสดงได้สูงสุดเพียง 60 ภาพเท่านั้น ในขณะที่มาตรฐานแล้วต้องการภาพถึง 128 ภาพ และความสามารถในการสแกนภาพทางการแพทย์สมัยใหม่จะสามารถทำได้สูงถึง 512 ภาพ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 25 มีนาคม 2546 หน้า 19)





ร.พ.พญาไทให้ “นิวโรเนวิเกเตอร์” ผ่าเนื้องอกสมอง

น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ผู้อำนวยการใหญ่โรงพยาบาล (ร.พ.) พญาไท แถลงถึงการจัดตั้งศูนย์ศัลยกรรมสมองครบวงจรเทคโนโลยีการผ่าตัดสมอง มินิมอลลี อินวาสซีฟ นิวโร เซอร์เจอรี (Minimally Invasive Neurosurgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่เปิดช่องกะโหลกในขนาดเล็กเท่าที่จำเป็น โดยบาดแผลมีขนาดเพียง 2-3 ซ.ม.เท่านั้น ทำให้การผ่าตัดแม่นยำ และคนไข้ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้น ยังรักษาโรคหลอดเลือดตีบตัน อัมพาต อัมพฤกษ์ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ ร.พ.พญาไทจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการผ่าตัดสมองมาให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ผ่าตัดไปแล้ว 60-70 ราย ถือว่าเป็นเครื่องที่ 2 ของไทย โดยเครื่องแรกอยู่ที่สถาบันประสาทวิทยา น.พ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดสมอง ศูนย์ศัลยกรรมสมอง แถลงว่า การผ่าตัดวิธีนี้อาศัยอุปกรณ์ นิวโรเนวิเกเตอร์ (Neuronavigator) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่บอกตำแหน่งจุดที่ต้องการผ่าตัดว่าอยู่ลึกเข้าไปในสมองเท่าใด และต้องผ่าในทิศทางใดจึงจะใกล้และเกิดผลกระทบต่อเนื้อสมองส่วนที่ดีน้อยที่สุด ทั้งนี้ต้องอาศัยกล้องผ่าตัดขนาดเล็กที่มีเลนส์ติดอยู่ที่ปลายที่เรียกว่า เอนโดสโคป (Endoscope) และเมื่อผ่าถึงตำแหน่งของเนื้องอก จะใช้เครื่องมือ คาลวิตรอน อัลตราโซนิก เซอร์จิคัล แอสพิเรเตอร์ (Calvitron Ultrasonic Surgical Aspirator (CUSA) ที่ส่งคลื่นไปสลายก้อนเนื้องอกให้มีขนาดเล็กลงและดูดออกมา (มติชนรายวัน วันพุธที่ 26 มีนาคม 2546 หน้า 18)





D-READER หนังสือเสียงเพื่อผู้พิการสายตา

D-READER (Digital Talking Book Reader) หรือ หนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นผลงานของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ จากการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 เป็นรางวัลรับประกันคุณภาพ โดยนายธนาคม ตาฬวัฒน์ และนางสาวศุภรัตน์ เปี่ยมลาภพิทยา เจ้าของผลงานเปิดเผยถึงรายละเอียดของหนังสือเสียงอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้พิการทางสายตาว่า D-READER เป็นโปรแรมที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางสายตา เพื่อลดปัญหาความยุ่งยากในการฟังหนังสือเสียง โดยใช้วิธีการฟังจากเทปคาสเซ็ต ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการอ่านหนังสือเสียง ปัจจุบันโปรแกรมนี้ได้มอบให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปใช้งานจริง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาในรายละเอียดของโปรแกรมนี้ ได้ที่ http://www.thaidownload.com/dreader/document.zip และ ดาวน์โหลดโปรแกรมที่ http://www.st.kmutt.ac.th/~s2211530/dsetup.exe หรือ โทร 0-6049-0711 (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2546 หน้า 7)





เวบเผยโฉยเด็ก ‘โคลนนิง’ สยบข่าวลวงโลก

บริษัทโคลนนิงชื่อดังของโลกที่อ้างตัวว่าสามารถโคลนนิงมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เผยแพร่ภาพหน้าตาเด็กโคลนนิงคนที่ 3 ใน 5 คน ผ่านทางเวบไซต์เป็นหนแรก หลังถูกครหาจากนักวิทยาศาสตร์ว่าลวงโลก เผยพร้อมช่วยคู่สามีภรรยาอีกกว่า 20 คู่เข้าสู่กระบวนการโคลนนิง เพื่อให้ทายาทโคลนนิงรุ่นที่ 2 เร็ววันนี้ บริษัทโคลนแอด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้ลัทธิ “ราเอเลียน” ลัทธิความเชื่อที่ว่ามนุษย์ต่างดาวเป็นผู้สร้างมนุษย์ขึ้นมา หลังจากที่มาเยือนโลกราว 25,000 ปีที่แล้ว ได้เปิดเผยภาพเด็กโคลนนิงผ่านทางเวบไซต์ htt://www.clonaid.com ซึ่งเป็นเวบไซต์ของบริษัทเป็นครั้งแรก ระหว่างลัทธิดังกล่าวเดินทางเยือนประเทศบราซิล เพื่อทำการประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มใหม่ของลัทธิที่ชื่อว่า “Yes to Human Cloning” และหาผู้สนับสนุนโครงการโคลนนิงไปในตัว (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 26 มีนาคม 2546 หน้า 16)





สวทช.ของงบฯ 910ล้านตั้งศูนย์ ‘นาโนเทคโนโลยี

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าในอนาคต นาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นเทคโนโลยีขนาดเล็ก จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องอุตสาหกรรม และทางการแพทย์ดังนั้น สวทช.จึงได้จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สังกัด สวทช. ซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้ว 3 ศูนย์ คือ ศูนย์ไบโอเทค ศูนย์เอ็มเทค และศูนย์เนคเทคโดยรอเพียงให้ นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ลงนามรับรองเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า ได้เสนอของบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์จำนวน 910 ล้านบาท โดยแผนงานประกอบด้วย การผลิตบุคลากร และปรับปรุงหลักสูตรในสถาบันการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะต้องผลิตบุคลากร และปรับปรุงหลักสูตรในสถาบันการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะต้องผลิตบุคลากรให้ได้อย่างน้อย 300 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้จะส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยผ่านทางมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งการทำแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2546 หน้า 8)





สเปรย์ปลูกผม

ทิม เธียรกิจธำรง เจ้าของผลงาน “สูตรบำรุงผมที่มีส่วนประกอบของโสมและสมุนไพรจีน” ทิม เล่าถึงที่มาของการประดิษฐ์ว่าได้แนวคิดจากบทสนทนากับญาติผู้ใหญ่เรื่องของสรรพคุณของสมุนไพรโบราณกับสุราจีนราคาแพงหากนำมาทาที่ศรีษะแล้วสามารถช่วยให้ผมขึ้นได้ เขาได้เริ่มคิดและทดลองนำสมุนไพรที่หลากหลายชนิดที่มีสรรพคุณมาประกอบกัน ใช้เวลาในการคิดค้นเก็บข้อมูลอยู่นานพอสมควรจนได้สูตรเฉพาะออกมาและได้ผลดีพร้อมทั้งจดอนุสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2546 หน้า 31)





ศูนย์นาโนเทคไทยคืบหน้าไปอีกขั้น

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สวทช. ได้ยื่นขอจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีต่อนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมงบประมาณ 910 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินงาน 5 ปี หาก ครม.ให้ความเห็นชอบศูนย์นาโนเทคโนโลยี จะสังกัด สวทช. ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเป็นคลื่นลูกที่ 3 ต่อจากเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งในอนาคตจะมีประโยชน์มากในด้านการแพย์เพราะมีการค้นพบว่าในร่างกายมนุษย์มีเครื่องจักรทางชีวภาพที่สามารถเคลื่อนที่ได้ และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 13 นาโนเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเครื่องจักรชีวภาพสามารถนำตัวยาเข้าไปรักษาโรคได้ตรงจุด รวมทั้งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์การเกษตร และอาหาร (เดลินิวส์ อังคารที่ 1 เมษายน 2546 หน้า 20)





ก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์

The Asia Pacific Network of Science and Technology Centres (ASPAC) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สำหรับ Science Centres จากองค์กรเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นสมาชิกและสนับสนุนงบประมาณการเผยแพร่ความรู้ มีการบริหารองค์กรในรูปของคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในวาระครั้งละ 2 ปี ปัจจุบันมีศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจากภูมิภาคอื่นๆ เป็นสมาชิก ของ ASPAC แล้วจำนวน 26 หน่วยงาน สำหรับประเทศไทยมี 3 หน่วยงานที่เป็นสมาชิกได้แก่ 1.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน 2.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) 3.พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร ในทุกๆ 2 ปี ASPAC จะจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการให้แก่สมาชิกโดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ประเทศจีนในปี ค.ศ.1997 ครั้งที่สองจัดที่ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1999 ครั้งที่สามที่ประเทศไทย ในปี ค.ศ.2001 และครั้งที่สี่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม ค.ศ.2003 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย กรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาครั้งนี้ด้วย สำหรับตัวแทนของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย ที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นรินทร์ จริญญา ถนอมถิ่น ชัยชาญ วิริยานนท์ และรุจิราพรรณ รุ่งรอด โดยได้นำเสนอผลงานการประดิษฐ์บอลลูนอากาศร้อน (Hot air balloon) ด้วยกระดาษ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เอกมัย กรมการศึกษานอกโรงเรียน โทร 0-2392 ต่อ 1112 ได้ทุกวันในเวลาราชการ (สยามรัฐ พุธที่ 2 เมษายน 2546 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบโปรตีนสร้างผิวหนัง-เส้นผมสาเหตุมะเร็งและผมร่วง

คณะนักวิจัยจากสถาบันการแพทย์โฮเวิร์ด ฮิวจ์ มหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ นิวยอร์ก ทำการศึกษาเส้นทางเดินของสารเคมีที่เป็นตัวกำหนดว่าจะให้เซลล์แต่ละตัวเดินทางไปทางไหนและพบว่าระบวนการทั้งหมดถูกควบคุมโดยการทำงานของโปรตีนตามธรรมชาติสองตัว ได้แก่ Wnt และ noggin โปรตีนทั้งสองตัวนี้ทำให้เกิดปฎิกิริยาที่ทำให้รูปร่างของสเต็มเซลล์เปลี่ยนแปลงไปจนตัวมันเองสามารถหลุดออกจากเซลล์ที่มันเกาะอยู่และเคลื่อนตัวลงมานับเป็นขั้นตอนพัฒนาการที่มีความสำคัญต่อการก่อรูปร่างของรากผม นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าโปรตีน Wnt เกี่ยวพันกับการลุกลามของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ และเต้านม ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่างานวิจัยนี้อาจช่วยให้พวกเขารู้ว่าเซลล์มะเร็งแพร่กระจายออกจากเนื้องอกที่มันสิงตัวอยู่ได้อย่างไร (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2546 หน้า 8)





มีเงิน3หมื่นเป็นเจ้าของโรงสีข้าวเคลื่อนที่ ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’

เครื่องสีข้าวกล้องขนาดครอบครัวแห่งแรกของประเทศไทย ที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยคนไทยที่มีชื่อนางชุลีพร ไชยประสิทธิ์ เจ้าของร้านแก้วฟ้า เลขที่ 2/194-195 ถนนกาดน้ำทอง อ.เมือง จ.แพร่ นำแนวคิดจากเครื่องสีข้าวขนาดใหญ่นำมาย่อขนาดที่นำมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็กมาใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อน พร้อมย่อขนาดของเครื่องสีข้าวให้มีน้ำหนักเบาและสีข้าวได้โดยไม่ให้เม็ดข้าวหัก และมีวิธีการใช้ไม่ยุ่งยากประกอบกับสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าในเวลา 1 ชั่วโมงเพียง 2.50-3 บาท มีผลผลิตจากการสีข้าวได้มากถึง 50 กิโลกรัม และได้นำข้าวกล้องมาเป็นจุดขายในการผลิต จึงได้รับความนิยมจากประชาชนที่สนใจอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางร้านได้นำไปจดสิทธิบัตรแล้วเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบจึงเป็นสินค้าของร้านแก้วฟ้า จ.แพร่เพียงแห่งเดียว หมายเลขโทรศัพท์ 0-5452-3294 / 0-1672-2336 ติดต่อคุณชุลีพร ไชยประสิทธิ์ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 31 มีนาคม 2546 หน้า 26)





วว.เปิดตัวโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการสนับสนุนของแผนงานสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations of Environment Programmer:UNEP) เปิดตัวโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย-แปซิฟิก (GERIAP) หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมไทย ลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้เทคโนโลยีสะอาดในภาคการผลิต โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและสาธิตกลไกที่ใช้การผลิตที่สะอาด (Cleaner Production) ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกระบวนการผลิต หากมีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้พร้อมกัน ในการดำเนินการโครงการจะมุ่งเน้นกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างขีดความสามารถของตนเองในการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกระบวนการผลิตและสามารถลดการปล่อยก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพิ่มความเข้าใจในการคิดคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วย (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2546 หน้า 26)





“โรงสีพระราชทาน” ข้าวเปลือกติดแอร์ ผลิตหอมมะลิปลอดเคมี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 6,820,000 บาท เพื่อทำการก่อสร้างโรงสีข้าวพระราชทาน ณ ตำบลโนนศิลาเลิง กิ่งอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ มีกำลังการผลิตขนาด 40 เกวียนต่อวัน และพระราชทานชื่อว่า “โรงสีพระราชทาน” เพื่อต้องการให้เป็นโรงสีแห่งความสุขร่วมกัน นายบรรเจิด สมหวัง ประธานอุตสาหกรรมอำนวยการโรงสี โครงการเมืองสหกรณ์ กล่าวว่าโรงสีพระราชทานได้ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริเป็นโรงสีขนาดใหญ่มีระบบที่ทันสมัย รับซื้อข้าวจากเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และขยายไปตามพื้นที่ใกล้เคียงเป็นหลัก หลังจากเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2541 มีชาวนาในพื้นที่เป็นสมาชิกมีประมาณ 1,997 คน โรงสีรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลัก ศักยภาพของเครื่องจักรสามารถสีได้ 65 ตันต่อวัน ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 50 ตันต่อวัน ทั้งนี้เพื่อยืดอายุเครื่องจักรไม่ให้ทำงานเต็มกำลัง และที่สำคัญมีผลต่อคุณภาพของข้าวที่ได้ การสีข้าวมีการพักเครื่อง ไม่เน้นเร่งเครื่องซึ่งมีผลต่อข้าวทำให้ข้าวหักมีปลายข้าวจำนวนมาก นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เพราะระบบออกแบบให้กระบวนการสีข้าวไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเสียงดัง มีระบบเก็บข้าวเปลือกติดแอร์ และสาเหตุที่ว่าข้าวหอมมะลิมีจุดอ่อนทางธรรมชาติ ถ้าเป็นข้าวใหม่ต้นปี ข้าวจะมีความหอม แต่พอถึงปลายปีความหอมของข้าวเริ่มหมดไป บางโรงสีแก้ปัญหาจุดนี้ด้วยการเติมกลิ่นเคมีเข้าไปแทน นั่นเป็นเพราะไซโลที่เก็บข้าวมีความร้อน แต่มีผลงานวิจัยจากนักวิชาการคนไทยพบว่าความเย็นช่วยรักษาคุณภาพข้าวเปลือกหอมมะลิให้คงความหอมได้ยาวนาน เครื่องรักษาคุณภาพข้าวเปลือกชนิดนี้เป็นผลงานวิจัยจากนักวิจัยไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายบรรเจิดยังกล่าวว่า ผลผลิตของข้าวจากโรงสีมียอดสั่งมาตลอด กระจายไปตามเครือข่ายในกรุงเทพฯ มีหลายบริษัทรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเพราะไว้วางใจว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้ ไม่มีการปนข้าวขาวชนิดอื่น (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2546 หน้า 34)





เผยอาหารสูตรต่อต้านโรคมะเร็ง เป็นยำรวมทั้งไก่ผักปลาผสมกัน

นักวิจัย ดร.ยงปิง บาว ของสถาบันวิจัยอาหารของอังกฤษกล่าวเปิดเผยว่า ทีเด็ดของอาหารสูตรที่พบอยู่ที่สารประกอบซัลโฟราเฟนและธาตุเซเลเนียม ซัลโฟราเฟนเป็นสารเคมีที่พบอยู่ในพืช มีสรรพคุณในการต้านและรักษามะเร็ง มีอยู่อย่างอุดมในผักบร็อคโคลี กะหล่ำปม กะหล่ำปลี ต้นวอเตอร์ เครสส์ และผักร็อกเกต ส่วนธาตุเซเลเนียมมีอยู่มากในถั่ว เป็ด ไก่ ปลา ไข่ เมล็ดทานตะวันและเห็ด การขาดแร่ธาตุนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งหลายชนิด ตั้งแต่มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยจะเริ่มทดลองอาหารสูตรต้านมะเร็งนี้กับคนเราในปีหน้านี้ เป็นการทดสอบสูตรอาหารป้องกันมะเร็งสูตรแรกด้วย (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า 7)





“ขี้เหล็ก” ดับเครียด นอนหลับสนิทตื่นแล้วรู้สึกสดชื่น

เภสัชกรหญิงวนิดา จันทรเทพขวัญ นักวิชาการองค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้คนเราเครียดกันมากขึ้น ซึ่งสภาวะความเครียดหรือวิตกกังวลนำมาสู่การนอนไม่หลับ บางคนหันมาพึ่งยากันมากขึ้น แต่ว่ายาแผนปัจจุบันที่เป็นกลุ่มยาคลายเครียดหรือช่วยให้นอนหลับ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ตามกฎหมายแล้วร้านขายยาจะขายไม่ได้ เว้นแต่มีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ดังนั้นทางเลือกใหม่คือยาจากธรรมชาติพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาคลายเครียด และช่วยให้นอนหลับมาใช้ทดแทน สมุนไพรที่ว่านี้คือ “ขี้เหล็ก” ยาเม็ดขี้เหล็กขององค์การฯ ได้มีการทดสอบฤทธิ์ในคนพบว่าได้ผลดีช่วยให้นอนหลับและยังมีการศึกษาฤทธิ์นอนหลับของยาเม็ด พบว่ายาขี้เหล็กทำให้ง่วงนอน เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน ฤทธิ์ยาแผนปัจจุบันหลังใช้แล้วจะมีอาการเหมือนเมาค้างแต่ยาเม็ดขี้เหล็กจะหลับเหมือนปกติ เมื่อตื่นแล้วจะรู้สึกสดชื่น นอกจากนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติยังวิจัยพบว่า ยาขี้เหล็กสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาเม็ดขี้เหล็กต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย จึงควรรับประทานเฉพาะแต่เวลาที่เครียด นอนไม่หลับหรือวันละไม่เกิน 600 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับยาเม็ดครึ่ง (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า 7)





เยื่อกระดาษกล่องนมฉลุย ลดขยะได้ 30,000 ตัน/ปี

นายอิทธิ พิชเยนทรโยธิน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า คนนิยมบริโภคนมและน้ำผลไม้มากขึ้น จากข้อมูลการผลิตกล่องปลอดเชื้อ ในปี 2545 มีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านกล่อง คำนวณเป็นน้ำหนักของขยะที่ต้องกำจัดทิ้งจะมีปริมาณถึง 30,000 ตัน/ปี วศ.จึงจัดทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีกำจัดขยะพร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะกล่องนม โดยนำเศษขยะเหล่านี้มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำมาผลิตเป็นเยื่อเวียนทำใหม่ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษชนิดอื่นต่อไป โดยวัสดุที่นำมาเป็นกล่องเชื้อต้องได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ลักษณะโครงสร้างของกล่องประกอบด้วยกระดาษ พลาสติก และอะลูมิเนียมฟอยล์ เรียงซ้อนกันอยู่ 6 ชั้น ผลการศึกษาวิจัยพบว่าสามารถแยกเยื่อกระดาษออกจากพลาสติกและแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ได้ดี ส่วนที่เป็นเยื่อกระดาษทำจากเยื่อใยยาวและเยื่อใยสั้นผสมกัน เยื่อที่ได้มีส่วนของหมึกพิมพ์ติดอยู่ต้องนำเยื่อไปผ่านกระบวนการแยกหมึก แล้วนำไปฟอกขาวจะได้เยื่อเวียนทำใหม่ฟอกขาวที่มีความขาวสว่างถึงร้อยละ 81 และสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษเพื่อการพิมพ์และเขียนได้ดี (มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า 18)





ประดิษฐ์เสื่ออะลูมิเนียมกับพลาสติก ก่อคลื่นแม่เหล็กรักษากระดูกพรุน

ศูนย์ศึกษาที่รัฐคอนเนคติกัต กล่าวแจ้งว่า เสื่อใช้ทอด้วยชั้นแผ่นอะลูมิเนียมและโพลีเอสเตอร์บางๆ ทั้งหมดรวมถึง 200 ชั้นด้วยกัน สามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ให้กระดูกต้องสูญเสียความแน่นหนาของเนื้อกระดูกลงไป เพราะเมื่อเวลาล้มตัวลงนอน ชั้นต่างๆของเสื่อจะเกิดการเสียดสีกัน ก่อให้เกิดสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างอ่อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้คิดค้นกล่าวอธิบายว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยเสริมความแน่นหนาของกระดูก โดยไปกระตุ้นให้เกิดแคลเซียมในกระดูกจับหนาขึ้นระหว่างที่นอนหลับ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า )





รัฐไฟเขียวงานวิจัยชุดตรวจสารตกค้างพัฒนาเชิงพาณิชย์

นายสัตวแพทย์ธงชัย เฉลิมชัย ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากผลงานการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจสอบยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ “CM-test” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุน ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตรวจสารปฎิชีวนะที่ให้ความแม่นยำเกือบ 100% โดยใช้เวลาทดสอบเพียง 3 ชั่วโมง ด้วยวิธีที่ง่ายและไม่ต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาแพงแต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าต่างประเทศในราคาถูกกว่ามาก ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจะจำหน่ายได้แก่ CM-test และ AM-test ชุดตรวจสอบปฎิชีวนะตกค้างในน้ำนม ซึ่งเป็นผลงานของคณะวิจัยชุดเดียวกันช่วงแรกทางคณะวิจัยจะเป็นผู้ผลิตน้ำยาซึ่งห้องปฎิบัติการของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์มีขีดความสามารถในการผลิต 6,000-7,200 หลอด/เดือน ส่วนบริษัทจะดูแลด้านการบรรจุภัณฑ์ เอกสารแนะนำสินค้าและการตลาดในเบื้องต้นกำหนดราคาขายชุดตรวจน้ำนม 31 บาท/หลอด และชุดตรวจเนื้อสัตว์ 72 บาท/หลอด ขณะที่ราคาชุดตรวจนำเข้า 120 บาท ส่วนอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิที่ซื้อครั้งเดียวแต่ใช้งานได้ตลอดไปราคา 7,000 บาท (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 26 มีนาคม 2546 หน้า 7)





นักวิจัยอังกฤษเน้นพัฒนา ‘พีซีปัญญาประดิษฐ์’ รับรู้อารมณ์ผู้ใช้งาน

นักวิจัยอังกฤษเดินหน้าพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์ คาดไม่เกิดทศวรรษนี้คอมพิวเตอร์กับมนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นมิตรมากขึ้น คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยบรูเนลในกรุงลอนดอน เปิดตัวโครงการวิจัยระยะเวลา 3 ปีที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีสั่งงานด้วยอารมณ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างคอมพิวเตอร์และมนุษย์ในอนาคตโดยทีมงานจะดำเนินการทดสอบเป็นขั้นๆ เพื่อวัดการตอบสนองอารมณ์ของคอมพิวเตอร์ และดูว่ามนุษย์จะมีปฎิกิริยาอย่างไรเมื่อคอมพิวเตอร์แสดงอาการรับรู้อารมณ์ของมนุษย์ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 26 มีนาคม 2546 หน้า 7)





วช.เสนอ 15 งานวิจัยหนุนใช้ ‘เอทานอล’ ขอ 20 ล้านพัฒนาต่อ

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการวช. กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาวช.ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพลังงานทดแทน 15 โครงการ วงเงิน 18 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงานวิจัยทางด้านเอทานอล 5 โครงการ ด้านไบโอดีเซล 6 โครงการ และพลังงานน้ำขนาดเล็กจำนวน 1 โรงงาน ผลงานวิจัยบางโครงการแล้วเสร็จ คือ โครงการวิจัยเอทานอล หรือไบโอดีเซล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้อนุมัติให้ตั้งโรงงานเอทานอลจำนวน 8 โรงงาน นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนโครงการวิจัยต้นแบบโรงงานเอทานอล โดยการพัฒนาเทคโนโลยีจากมันเส้นแห่งแรกที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิตเอทานอล จำนวน 4,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งในปี 2547 วช. ได้เสนอของบประมาณจำนวน 20 ล้านบาทเพื่อวางแผนการพัฒนาวิจัยในโครงการระยะที่ 2 ให้สามารถใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น นายเจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยโรงงานต้นแบบโรงงานเอทานอล การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจากมันเส้น กล่าวว่า การศึกษาวิจัยมีความสำเร็จพอสมควรจากการทดลองผลิตเอทานอลบริสุทธิ์เพื่อทดแทนเบนซิน บางส่วนคือร้อยละ 10 ทำให้จำเป็นจะต้องมีการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ 2 ล้านลิตร/วัน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 8)





มทส.โชว์ผลงานวิจัยเด่นสารรังไหมชะลอความแก่

ดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยถึงผลวิจัยที่ประสบความสำเร็จ ในการสกัดโปรตีนซิริซินออกจากรังไหม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเครื่องนุ่งห่มได้เป็นอย่างดี โดยโปรตีนซิริซินถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น มีคุณสมบัตินุ่มและลื่น เมื่อนำกลับไปเครือบอยู่บนผิวหน้าของวัสดุธรรมชาติ และสังเคราะห์ช่วยดูดซับแสงยูวี ระงับกิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับสร้างเม็ดสีเมื่อผิวได้รับแสงแดด ทำให้สีผิวสม่ำเสมอไม่ด่าวดำ อีกทั้งยังช่วยต่อต้านการเกิดออกซิเดชั่นและช่วยชะลอความแก่ โดยในปัจจุบันมีการนำโปรตีนชนิดนี้มาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสำอาง เสื้อผ้าของสตรีและเด็กอ่อน ซึ่งไม่ทำให้ระคายเคืองเพราะโปรตีนซิริซินในเส้นใยจะทำให้ผิวนุ่มเนียนเมื่อใช้เป็นเวลานาน (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 4 เมษายน 2546 หน้า 7)





เด็กไทยถูกสถานเริงรมย์โอบล้อมผลวิจัยเฉลี่ยจังหวัดละ 200 แห่ง

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะหัวหน้าโครงการ Child Watch ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยผลการวิจัยว่า การวิจัยในระยะนำร่อง 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง ลำพูน น่าน อุตรดิตถ์ มหาสารคาม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี โดยการสำรวจพฤติกรรมวัยรุ่นด้วยแบบสอบถามจังหวัดละประมาณ 1,000 คน พบว่า เด็กไทยมีสุขภาพไม่ดีนัก ซึ่งมีข้อมูลหลายทางชี้ว่า ร้อยละของเด็กที่น้ำหนัก และส่วนสูง ต่ำกว่าเกณฑ์ยังค่อนข้างสูง โดยในอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มีเด็กอนุบาลที่น้ำหนัก และส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 70 ซึ่งเด็กวัยรุ่นในต่างจังหวัดร้อยละ 50 เข้าร้าน internet เป็นประจำและร้อยละ 30 มีโทรศัพท์มือถือใช้ทั้งนี้วัยรุ่นร้อยละ 40 ไม่ได้ไปเที่ยวกับพ่อแม่พี่น้องเลยในระยะเวลาหนึ่งเดือนตลอดจนมีความผูกพันกับศาสนาน้อยลง โดยเกือบร้อยละ 50 ไม่ได้ใส่บาตรและเกือบร้อยละ 70 ไม่ได้ฟังเทศน์เลยในรอบ 1เดือน ทั้งนี้ รัฐบาลควรลงทุนเรื่องพื้นที่ดีสำหรับเด็กให้มากขึ้น เพราะมีเด็กใฝ่ดีอีกจำนวนมากแต่ไม่มีที่ไป คุณภาพห้องสมุด และทรัพยากรการเรียนรู้ส่วนใหญ่ก็ย่ำแย่ โรงเรียนประถมศึกษาไม่ถึงร้อยละ 10 ที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ และงบห้องสมุดโรงเรียนแต่ละแห่งมีเพียง 28 บาทต่อนักเรียน 1 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดร.อมรวิชช์ ชี้แจงว่าผลที่ได้เป็นเพียงข้อมูลจากการนำร่องใน 12 จังหวัด ซึ่งในการขยายผลไปทั่วประเทศ จะต้องมีการปรับการข้อมูลบ่งชี้ตลอดจนเครื่องมือสำรวจให้ละเอียดรัดกุมขึ้นอีก (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


กรมสุขภาพจิตเตือนระวังเด็กดูข่าวสงครามก้าวร้าว

น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวเตือนไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองถึงการดูข่าวสงครามของเด็กและเยาวชนว่า ควรให้คำแนะนำแก่เด็กเพราะยังอยู่ในวัยเรียน เนื่องจากการดูข่าวสงครามต่อเนื่องกันมากๆ จะทำให้เด็กซึมซับภาพของความรุนแรงการทำลายล้าง ซึ่งในอนาคตเด็กอาจเปลี่ยนพฤติกรรมกลายเป็นเด็กก้าวร้าวได้ ดังนั้น ถ้าผู้ปกครองรวมถึงประชาชนทั่วไปมีข้อสงสัยก็สามารถโทรศัพท์มาปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 1667 สำหรับผู้ใหญ่นั้นไม่ห่วง เพราะการรับข้อมูลสงครามช่วงแรกอาจตื่นเต้น แต่เมื่อรับข้อมูลซ้ำๆ ก็จะชินสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ ที่สำคัญผู้ใหญ่มีวิจารณญาณที่แยกแยะได้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์สงครามอยู่ห่างไกลจากประเทศมาก จึงไม่ควรหวั่นวิตก น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจประสานงานให้ความช่วยเหลือคนไทยและผู้ใช้แรงงานไทยที่ลี้ภัยสงครามและเดินทางกลับประเทศไทย ที่สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ อยู่ที่อาคาร 5 กรมสนับสนุนบริการ โดยมี น.พ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน เบอร์โทรศัพท์ประสานงานหมายเลข 0-2590-1629-30 โทรสาร 0-2590-1634 (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 25 มีนาคม 2546 หน้า 18)





เตือนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดพบแพทย์

น.พ.พิชาญ ศรีอรุณ แพทย์อายุรกรรมด้านสมอง เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ในโรคทางระบบประสาทวิทยา และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทย ขณะที่ผู้รอดชีวิตบางรายพิการ อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้และถ้ารีบรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ คือ พบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมง จะช่วยให้พิการน้อยลงหรือกลับไปทำงานตามปกติได้ ดังนั้น หากประชาชนมีอาการสับสน พูดไม่ออก พูดไม่ชัด ฟังไม่เข้าใจ และเกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว ต้องรีบพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ที่มีอาการโรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากเป็นปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดทางสมองได้ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 18)





รีไซเคิลเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์

ประเทศรัสเซีย มีโครงการจะทำลายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์รุ่นแรกโดยการนำมารีไซเคิลใหม่ และเรือที่จะถูกทำลายเป็นลำแรก จะเป็น 1 ใน 16 ลำ ที่กองทัพรัสเซียปลดประจำการ กองทัพเรือลากจูงเรือดำน้ำลำที่ว่านี้ไปยังโรงงานรีไซเคิลที่เมืองโพลิอาร์นีซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของรัสเซีย เรือทั้งหมดจะถูกแยกเป็นเศษเหล็ก เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยส่วนไหนที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะถูกเก็บไว้ เพื่อเตรียมหลอมกลับมาใช้ใหม่ และนอกเหนือจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ทั้ง 16 ลำแล้ว ยังมีเรือรุ่นใหม่อีกประมาณ 100 ลำ ที่รัสเซียเพิ่งจะปลดประจำการจากกองเรือภาคเหนือ (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2545 หน้า 34)





ไวรัสคอมพิวเตอร์ระบาดน้อยลง

การสำรวจล่าสุดของห้องปฎิบัติการไอซีเอสเอ พบว่า การแพร่ระบาดไวรัสคอมพิวเตอร์ยังคงมีอยู่แต่อัตราการขยายตัวชะลอตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยการสำรวจระบุว่า จากการสำรวจบริษัทจำนวน 306 แห่ง พบไวรัสประมาณ 1.2 ล้านชนิด ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องแม่ข่าย รวมทั้งเครื่องที่ใช้งานระบบเครือข่าย จำนวน 900,000 เครื่อง จากสถิติ ยังระบุอีกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละเดือนจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ติดไวรัสกันประมาณ 113 ชนิด ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ 1,000 เครื่อง ส่วนอัตราการขยายตัวนั้นอยู่ที่ 10% ในขณะที่การติดตาม สำรวจการติดไวรัสของปี 2000 และปี 2001 อยู่ที่ 13 % สำหรับการติดไวรัสของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นห้องปฎิบัติการไอซีเอสเอ บอกว่า เป็นปัญหาของหน่วยงานที่ใช้เทคโนโลยี เพราะต้องใช้งบประมาณในการดูแลแก้ไขในแต่ละปีค่อนข้างมาก (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 25 มีนาคม 2546 หน้า 6)





‘กูเกิ้ลอันเซอร์’ เสริมบริการใหม่จ้างนักวิจัยช่วยคลิกค้นข้อมูลทันที

“กูเกิ้ล แอนเซอร์” (Google Answers) บริการใหม่จาก “กูเกิ้ล” เครื่องมือค้นหายอดนิยมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการช่วยเหลือภายในเวลา 24 ชั่วโมง การเข้าใช้บริการ ก็ไม่ยากเย็น เพียงแค่ป้อนคำถามผ่านเวบไซต์ และกำหนดเวลาที่จะให้บรรดานักวิจัยของกูเกิ้ลทำการค้นหา โดยอัตราค่าบริการจะมีตั้งแต่ 110-4,300 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณงานและคำตอบที่ได้ว่าตรงกับที่ผู้ใช้บริการต้องการหรือไม่ ซึ่งนักวิจัยมีสิทธิได้รับเงินพิเศษเพิ่มหากผู้ใช้บริการพอใจกับคำตอบที่ได้รับ ปัจจุบันนักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังบริการใหม่ มีจำนวนกว่า 500 ราย โดยพวกเขาสามารถทำงานจากที่บ้าน หรือสถานที่อื่นๆ ได้ตามสะดวกซึ่งการทำงานจะเริ่มขึ้นเมื่อพวกเขาได้รับคำถาม (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 25 มีนาคม 2546 หน้า 7)





นายกฯตั้งเป้าทุกหน่วยงานมีเวบไซต์สิ้นปี

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่างแนวทางการดำเนินโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ว่าหน่วยงานรัฐตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป จะมีเวบไซต์ที่ให้บริการประชาชนได้ในสิ้นปีนี้ ส่วนหน่วยงานในภูมิภาค ต้องมีอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยง ขณะที่กระทรวงกับกรมต้องเชื่อมโยงสู่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูลจากทุกหน่วยงาน มาใช้วางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ และสู่การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน ด้าน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในอีก 2 สัปดาห์จะนำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติให้บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะเป็นหน่วยงานหลักให้บริการคอลล์เซ็นเตอร์ของทุกกระทรวงเพื่อบริการประชาชนซึ่งจะทำให้ ทศท มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 6)





รอยเตอร์ ‘เพิ่มทุน-คน’ ขยายศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในไทย

นายโรแนลด์ เดล ประธานบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจรอยเตอร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท รอยเตอร์ ซอฟต์แวร์ กล่าวว่า บริษัทได้ลงทุนราว 78 ล้านบาท ในการขยายศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ภายใต้ บริษัท รอยเตอร์ ซอฟต์แวร์และเตรียมเพิ่มพนักงานกว่า 300 คน โดยที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดรับบัณฑิตใหม่กว่า 100 คน ที่เพิ่งจบการศึกษาด้านไอทีในปี 2546 นี้ และบัณฑิตเหล่านี้ได้เข้ามาร่วมงานกับรอยเตอร์แล้วเป็นเวลากว่า 4 เดือนคาดว่ารอยเตอร์ ซอฟต์แวร์จะมีบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็น 230 คน ภายในเดือนสิงหาคมนี้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2546 หน้า 6)





‘พีเอสบี’ พัฒนาแล็บเทสต์มาตรฐานสินค้าติดอาวุธส่งออกไทยสู้กีดกันการค้าโลก

นายบวย ก๊อก ไฟ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทพีเอสบี เทสต์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในเครือของ PSB Corporation Pte Ltd. จากประเทศสิงค์โปร์ ดำเนินธุรกิจประเภท Testing and Consultancy เพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานด้านเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องจักรกลโดยจัดตั้งห้องปฎิบัติการวิเคราะห์เพื่อออกใบรับรองผลการการทดสอบ (Certificate) ภายใต้ระบบ ไอเอสโอ/ไออีซี 17025 ทั้งนี้การให้บริการ Testing and Consultancy ของพีเอสบี (ประเทศไทย) ประกอบด้วย 3 ประเภทคือ ห้องปฎิบัติการจุลชีววิทยา (Microbiology Laboratory) ห้องปฎิบัติการทดสอบความเข้ากันได้ของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility Laboratory) และห้องปฎิบัติการทดสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (Safety Laboratory) โดยห้องปฎิบัติการจุลชีววิทยาจะทดสอบวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา-ยีสต์ในอาหารและน้ำดื่มผลิตภัณฑ์ยาผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องรวมทั้งการวินิจฉัยเชื้อจุลินทรีย์แบบ unknown (ldentification of Bacteria) โดยวิธีปฎิบัติงานเป็นไปตามข้อกำหนด ISO/IEC 17025 จากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ. ทำให้มีผลถึงการให้บริการแก่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในไทย ที่ยังไม่สามารถบริการเต็มรูปแบบจนกว่าจะได้รับรองจาก สมอ. ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติประมาณเดือนเมษายน ที่จะถึงนี้ และก่อนสิ้นปี 2546 คาดว่าการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ จะเสร็จสมบูรณ์ สามารถให้บริการได้ 100% ทั้งสินค้าเพื่อส่งออกและสินค้าที่จำหน่ายในไทย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2546 หน้า 8)





เน็ตไร้สาย

ความนิยมของอินเทอร์เน็ตไร้สายมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกาปัจจุปันมีท่าอากาศยานร้านกาแฟหรือร้านจำหน่ายหนังสือหลายพันแห่งกลายเป็นสถานที่ที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปหรือคอมพิวเตอร์มือถือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายได้ ส่วนรัฐบาลอังกฤษก็กำลังใช้เทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นเครื่องมือในการยกระดับเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ในแคว้นเวลล์เพื่อให้ดินแดนดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางของโลกอินเทอร์เน็ตไร้สาย สำหรับในประเทศไทยเองแม้จะไม่ก้าวล้ำไปถึงขนาดอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา แต่ก็เรียกได้ว่าไม่ตกยุค มีการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารก็สนใจในบริการดังกล่าวมากขึ้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 1 เมษายน 2546 หน้า 20)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215