หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 23 ประจำวันที่ 2003-07-01

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯเผยปฏิทินเอ็นทรานซ์ปี’47
ชี้ปัญหาขาดครู-สอนไม่ตรงวุฒิต้นตอทำน.ร.ไทยคุณภาพต่ำ
กรรมการกลั่นกรองผ่านหลักเกณฑ์กลางม.ในกำกับเผยรายละเอียดถูกใจคนมหา’ลัยรอแค่เข้าครม.
สมศ.สรุปผลการประเมิน7สถาบันอุดมฯจากภายนอก
เห็นด้วยตั้งศูนย์200สำรองราชการในศธ.
‘พงษ์ศักดิ์’ กระทุ้งครูทำ E-Book ก่อนสิ้นปีต้องคลอด6หมื่นเล่ม
ย้ำราชภัฏไม่กลายพันธุ์แม้เปลี่ยนเป็นมหา’ลัย
มหาวิทยาลัยรัฐสนองนโยบายจัดระเบียบหอพักนักศึกษา
เปิดสูตรพัฒนาภาษาไทยเต็มขั้น
คน จ.สงขลาร่วมมือเทศบาลนครสงขลา จัดทำ “ห้องสมุด” ชายหาดเคลื่อนที่
“ศธ.” จัดค่ายเยาวชน “เอเปค” พาทัวร์โครงการพระราชดำริ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ดูหุ่นยนต์ฝีมือเยาวชนไทย
‘หม้อดินไฟฟ้า’ เพื่อสุขภาพ…อกไก่ไร้มะเร็ง-ไขมันเพิ่มรสชาติอร่อย
Digital TV
ยามาฮ่าเล็งพัฒนาจยย.เซลล์เชื้อเพลิงรถคันแรกของโลก
พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์
นักเทคโนโลยีมีน้อย ‘จุดอ่อน’ ไทยในเวทีโลก

ข่าววิจัย/พัฒนา

สจพ.ชงตู้ขายน้ำแข็งแบบหยอดเหรียญ
วิตถารสร้างมนุษย์ผสมสองเพศ โดนรุมต่อต้านคัดค้านรอบข้าง
สกว.วิจัยเกมสร้างสรรค์ป้องเด็ก แข่ง “แร็คน่าร็อก”
วิจัยพบบัวสารพัดประโยชน์ใบบดดื่มแทนชาแก้ฝันเปียก
แพทย์ศิริราชชี้จีโนมช่วยพัฒนาวิธีใหม่รักษาโรค
ทีมวิจัยพบกลุ่มยีนต้นเหตุโรคซึมเศร้า
แพทย์จุฬาฯพบเทคนิคใหม่เก็บตัวอย่างเชื้อพิษสุนัขบ้าได้นาน
ผู้หญิงพฤติกรรมเปลี่ยนหลังรับบท ‘คุณแม่’ มือใหม่

ข่าวทั่วไป

แนะสาวห้างเดินบำบัด ‘ล้า’
เผยรูปแบบ ‘ไซน์ปาร์ค’ เชียงใหม่
ปกป้องหลังจากคอมพิวเตอร์
พบปลาสายพันธุ์ใหม่กลางอเมซอน
เด็ก ‘ออทิสติก’ ขาดครูสอนพูดวอนเพิ่มอัตรา
เตือนไข้หวัดใหญ่ส่งผลปอดบวม
เตือนเรียนนอกถูกหลอกค้ากาม
สถิติใหม่ที่ไม่น่ายินดี





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯเผยปฏิทินเอ็นทรานซ์ปี’47

น.ส.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงฯได้จัดทำปฏิทินกำหนดการสอบวัดความรู้ และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือเอ็นทรานซ์ ประจำปีการศึกษา 2546 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยการสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2546 จะเปิดขายใบสมัครทั่วประเทศ วันที่ 25 สิงหาคม –1 กันยายน รับสมัคร 28 สิงหาคม –1 กันยายน ยื่นคำร้องแก้ไขข้อมูลภายใน 5 กันยายน ประกาศผังที่นั่งสอบ 28 กันยายน กำหนดสอบวิชาหลัก และวิชาเฉพาะ วันที่ 4-19 ตุลาคม ส่วนการสอบวัดความรู้ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม 2547 ขายใบสมัครวันที่ 7-13 มกราคม รับสมัครกรุงเทพฯ 10-13 มกราคม ภูมิภาค 9-13 มกราคม ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อมูลภายใน 16 มกราคม ประกาศผังที่นั่งสอบ 9 กุมภาพันธ์ กำหนดสอบวิชาเฉพาะ วันที่ 14-15, 21-22, 28-29 กุมภาพันธ์ และวันที่ 6-7 และ 11 มีนาคม ส่วนวิชาหลัก วันที่ 8-10 มีนาคม แจ้งผลสอบ วันที่ 2 เมษายน และขายใบสมัครเอ็นทรานซ์ วันที่ 3-11 เมษายน รับสมัคร วันที่ 8-11 เมษายน ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก วันที่ 8 พฤษภาคม สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย วันที่ 11-15 พฤษภาคม ประกาศผลผู้มีสิทธิเรียน วันที่ 22 พฤษภาคม ทั้งนี้ ปฏิทินการสอบอาจเปลี่ยนแปลง (มติชน ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 20)





ชี้ปัญหาขาดครู-สอนไม่ตรงวุฒิต้นตอทำน.ร.ไทยคุณภาพต่ำ

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถึงไม่ประเมินก็เดาได้ว่าเด็กไทยมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะในการอ่านต่ำ เพราะมีปัญหาขาดแคลนครูจำนวนมาก และครูที่มีอยู่ก็สอนไม่ตรงกับความรู้ที่เรียนมา โดยในหลายจังหวัดพบว่าขาดแคลนครูใน 3 วิชานี้ ตั้งแต่ 300-3,000 คน (มติชน ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 20)





กรรมการกลั่นกรองผ่านหลักเกณฑ์กลางม.ในกำกับเผยรายละเอียดถูกใจคนมหา’ลัยรอแค่เข้าครม.

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษาด้านการปฏิรูปอุดมศึกษาของคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์กลางตามที่ กกศ.และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอซึ่งหลักเกณฑ์กลางดังกล่าวจะมีอยู่ในทุกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ โดยมีสาระสำคัญได้แก่ มหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจากรัฐ เพื่อผลิตบัณฑิต ทำการวิจัย บริการชุมชนและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามความต้องการของสังคมและตามนโยบายของรัฐ รวมทั้งมีความคล่องตัวภายใต้กลไกของสภามหาวิทยาลัย โดยสามารถกำหนดระเบียบข้อบังคับการบริหารจัดการได้เองตามกรอบแห่ง พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัย ส่วนองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยควรประกอบด้วยบุคคลจากภายในมหาวิทยาลัย บุคคลภายนอกที่เป็นผู้แทนหรือบุคคลที่คณะกรรมการอุดมศึกษาเสนอ และผู้แทนจากภาคเอกชน ชุมชนหรือสังคม และทั้งนี้สัดส่วนของบุคคลภายนอกจะต้องมากกว่าบุคคลภายในมหาวิทยาลัย หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในเร็วๆ นี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





สมศ.สรุปผลการประเมิน7สถาบันอุดมฯจากภายนอก

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สมศ.ได้ประเมินสถาบันอุดมศึกษา 7 แห่ง ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐเอกชน และสถาบันราชภัฏ (รภ.) ซึ่งเมื่อมีการประมวลผลพบว่า ด้านคุณภาพบัณฑิตมีภาวะการมีงานทำโดยรวมอยู่ในระดับดี แต่ผู้ใช้บัณฑิตเสนอให้ปรับปรุงในเรื่องทักษะภาษาต่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ การวางแผน วิเคราะห์งาน ตลอดจนความสร้างสรรค์ในการทำงาน ส่วนบทความวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในระดับชาติหรือนานาชาติยังมีน้อยและควรนำมาใช้ด้วยไม่ใช่วางไว้บนหิ้ง, ด้านการเรียนรู้ พบว่า หลายสถาบันตระหนักในเรื่องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ, ด้านการสนับสนุนการเรียนรู้ พบว่า หลายสถาบันยังมีจำนวนอาจารย์ผู้สอนไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนนักศึกษา และต้องพัฒนาระบบการพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการมากขึ้น ส่วนเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน จะแตกต่างกันไปตามงบประมาณของสถาบัน ผอ.สมศ. กล่าวต่อไปว่า ในด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ พบว่า สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีจำนวนผลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์จำนวนมาก แต่สาขาสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ยังมีผลงานไม่มากนัก, ด้านการบริการวิชาการ ส่วนใหญ่ให้บริการแก่สังคมในระดับที่น่าพอใจ แต่พบว่าบางแห่งเน้นการบริการทางวิชาการที่มุ่งแสวงหารายได้มากเกินไป จนอาจทำให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสไม่มีโอกาสใช้บริการของสถาบันอุดมศึกษาเท่าที่ควร ซึ่ง สมศ.เป็นห่วงเรื่องนี้มาก ส่วนด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สถาบันส่วนใหญ่ได้ดำเนินการอย่างดียิ่ง, ด้านการบริหารจัดการพบว่าแต่ละสถาบันมีความแตกต่างกันในเรื่องงบประมาณที่ได้รับ มีความพยายามพึ่งตนเอง และบริหารจัดการงบฯที่ได้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน สำหรับด้านการประกันคุณภาพภายในนั้นสถาบันทุกแห่งมีความตระหนัก และเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





เห็นด้วยตั้งศูนย์200สำรองราชการในศธ.

จากกรณีที่นายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ขึ้นศูนย์หนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อใช้สำหรับสำรองราชการข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมอบหมายให้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพื่อขอกันอัตราการสำรองราชการสำหรับศูนย์ดังกล่าวจำนวน 200 อัตรา จากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้เตรียมไว้ 3,000 อัตรา นั้น นายไพฑูรย์ จัยสิน อธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์สำรองราชการขึ้นมาในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกจุด เพราะข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีจำนวนมาก หากมีผู้กระทำความผิดแล้วถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ย้ายไปที่อื่นก็เป็นการย้ายปัญหาให้ไปเกิดที่อื่นได้ แต่การสั่งให้เข้าไปประจำที่ศูนย์สำรองราชการจะเป็นการนำเข้าไปอบรมความประพฤติเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





‘พงษ์ศักดิ์’ กระทุ้งครูทำ E-Book ก่อนสิ้นปีต้องคลอด6หมื่นเล่ม

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book ว่า จากการหารือกับกรมวิชาการแล้วตนได้มอบหมายให้กรมวิชาการทำงบประมาณเสนอเป็นโครงการเร่งด่วนในการจัดทำ E-Book ให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้โรงเรียนได้ใช้ E-Book โดยวิธีการดำเนินการนั้นให้กระจายไปยังครูและนักเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมเป็นผู้จัดทำ E-Book ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาในการจัดทำลงได้ อาจจะเหลือเพียง 2-3 เดือน ทำได้ตามเป้าหมาย คือ 50,000-60,000 เล่ม จากเดิมที่ใช้เวลา 1 ปีทำได้เพียง 500 เล่ม อย่างไรก็ตามหากมีผู้ที่มีความพร้อมและจำขอทำเป็นจำนวนมาก ตนคิดว่าควรให้โอกาสแก่ครูที่มีหนี้สินแต่มีความขยันขันแข็งในการสอนได้เป็นผู้จัดทำ E-Book ก่อน เพื่อจะได้มีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 24)





ย้ำราชภัฏไม่กลายพันธุ์แม้เปลี่ยนเป็นมหา’ลัย

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวมอบนโยบายแก่อธิการบดีสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ ที่สถาบันราชภัฏสวนดุสิตเมื่อเร็วๆนี้ว่าในโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏตามโครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงแม้ว่าสถาบันราชภัฏจะเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ก็ยังมีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนาครูเป็นหลักและตนเองเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏคือสถาบันการศึกษาที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น คือเป็นสถาบันที่เน้นการปฏิบัติจริง (Practical Education) นอกจากนี้ ยังได้เน้นให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดทำยุทธศาสตร์การศึกษาแต่ละจังหวัดโดยหาจุดดีจุดด้อยและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





มหาวิทยาลัยรัฐสนองนโยบายจัดระเบียบหอพักนักศึกษา

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีนโยบายจัดระเบียบหอพักนิสิตนักศึกษาว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวโดยเฉพาะกับหอพักเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยที่ต้องดูมาตรฐานอาคารและสถานที่ตั้ง ไม่ควรใกล้แหล่งบันเทิงเริงรมย์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในเมืองต่างจังหวัด ที่บางครั้งถึงขนาดเปิดผับในหอพักหรือใต้ถุนหอพัก นอกจากนี้ ต้องสร้างบรรยากาศในหอพักให้เหมาะสมกับสภาพหอพักนิสิตนักศึกษา อย่างบางแห่งเปิดให้อยู่ร่วมกันระหว่างชายหญิง อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนหอพักของมหาวิทยาลัยยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิสิตนักศึกษาต้องไปอาศัยอยู่ในหอพักภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ใน มมส.เอง มีนิสิตกว่า 19,000 คน แต่มีหอพักที่สามารถรองรับนิสิตได้เพียง 6,000 คนเท่านั้น ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบาย แต่จะให้สำเร็จได้ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกัน ร่วมถึงสถาบันอุดมศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องช่วยสร้างจิตสำนึกการใช้ชีวิตวัยเรียนที่ถูกที่ควรให้กับเด็กเพราะกฎหมายไม่สามารถสร้างจิตสำนึกได้ รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า มข.พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดที่จะเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึงและตนยังทราบว่าการให้นิสิตนักศึกษาอาศัยในหอพักภายนอกที่ขาดการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดส่งผลให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น นิสิตอยู่ด้วยกันระหว่างชายหญิง ขณะเดียวกัน มข.เองก็ประสบปัญหาหอพักภายในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักศึกษา และทำให้นักศึกษาบางส่วนต้องไปหาที่พักนอกมหาวิทยาลัย ซึ่ง มข.มีหอพักที่รองรับนักศึกษาได้เพียงร้อยละ 70% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 8 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





เปิดสูตรพัฒนาภาษาไทยเต็มขั้น

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับภาค ปีการศึกษา 2545 แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของนักเรียนค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนในวิชาอื่นๆ เนื่องจากเด็กไทย ขาดทักษะการ ฟัง อ่านและเขียน ไม่สามารถคิดวิเคราะห์และถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ออกมาได้ จึงได้เสนอมาตรการการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยระดับประถมศึกษาต่อนายปองพล อดิเรกสาร รมว.ศธ. เพื่อลงนามเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้สถานศึกษาหน่วยงานและครูผู้สอนปฏิบัติให้นักเรียนได้พัฒนาภาษาไทยได้เต็มศักยภาพ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามประกาศของ ศธ.อย่างเคร่งครัดโดยให้ผู้บริหารทุกระดับตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อใช้ประกอบพิจารณาความดีความชอบ (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





คน จ.สงขลาร่วมมือเทศบาลนครสงขลา จัดทำ “ห้องสมุด” ชายหาดเคลื่อนที่

นายวิมล วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด (ผอ.ศนจ.) สงขลา เปิดเผยว่า เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี พ.ศ.2546 เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา ศูนย์จึงได้ร่วมกับเทศบาลนครสงขลา จัดโครงการห้องสมุดชายหาดเคลื่อนที่ขึ้น โดยจัดรถยนต์เคลื่อนที่ออกบริการให้ผู้มาเที่ยวพักผ่อนในบริเวณสวนสนชายหาดสมิหลา ได้ยืมหนังสืออ่านพร้อมทั้งเสื่อกระจูดนั่งอ่าน และจะได้พัฒนาหาดสมิหลาเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ให้ความบันเทิงแก่เด็กและครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของเทศบาลนครสงขลาที่จะทำให้หาดสมิหลาเป็นห้องรับแขกของภาคใต้ (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2546 หน้า 21)





“ศธ.” จัดค่ายเยาวชน “เอเปค” พาทัวร์โครงการพระราชดำริ

ข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งว่าสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมผู้นำเอเปค 2003 ในเดือนตุลาคมนี้ ศธ.ได้รับมอบหมายให้จัดโครงการเครือข่ายโรงเรียนที่โรงเรียนน้องของเอเปค (APEC Sister School Networking-ASSN) และกำหนดจัดค่ายเยาวชนนานาชาติเอเปค (APEC International Youth Camp) เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับเอเปคและเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดค่ายเยาวชนนานาชาติเอเปคครั้งนี้ประกอบด้วยครู นักเรียน จากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมโครงการ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู เม็กซิโก แคนาดา รัสเซีย อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมประมาณ 100 คน และนักเรียนไทยจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 19 จังหวัด จำนวน 100 คน รวมทั้งเยาวชนผู้อำนวยความสะดวก (มติชนรายวัน วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2546 หน้า 21)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ดูหุ่นยนต์ฝีมือเยาวชนไทย

จากงาน Shin Fun Fair ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี มีหุ่นยนต์ 2 ตัว จาก 2 สถาบันที่ได้รับความสนใจ คือ หุ่นยนต์ Global สำหรับดูแลคนป่วย เป็นผลงานของอาจารย์วนายุทธ์ แสนเงิน อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และตัวที่ 2 คือหุ่นยนต์ปลาทูน่า เป็นผลงานของนายวิฑูร จูวราหะวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หุ่นยนต์ตัวนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะหาความสัมพันธ์ของการเคลื่อนที่แบบปลากับความต้องการพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน รวมถึงการไหลของกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวปลา ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบระบบขับเคลื่อนแบบใหม่ของยานยนต์ทางน้ำ (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





‘หม้อดินไฟฟ้า’ เพื่อสุขภาพ…อกไก่ไร้มะเร็ง-ไขมันเพิ่มรสชาติอร่อย

ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้คือ อาจารย์วสันต์ มานะชนน์ เป็นอาจารย์แผนกไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ซึ่งเป็นผู้นำมาโชว์ภายในงาน หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ภายในห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี หม้อดินไฟฟ้า คือการเอาหม้อดินที่มีขนาดพอเหมาะมาดัดแปลงให้เป็นหม้ออบไฟฟ้า ข้อดีของหม้อดินไฟฟ้าที่ต่างจากภาชนะเตาอบไฟฟ้าทั่วไปคือ ดีต่อสุขภาพอบแล้วอร่อย ไม่มีไขมัน ไร้ควันพิษ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรสชาติอาหารด้วยกลิ่นของดินเผา ซึ่งดีกว่าการอบตามธรรมชาติ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 33)





Digital TV

โทรทัศน์ดิจิทัล เป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ในอนาคต และจะเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีการทำงานในระบบแอนนาล็อกโดยที่ลักษณะของการกระจายเสียงแบบดิจิทัล จะสามารถสื่อสารไปยังปลายทางด้วยคุณภาพที่สูงและสามารถส่งสัญญาณไปตามช่องต่างๆ โดยใช้เวลาเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้รับสามารถเลือกใช้ความบันเทิงต่างๆ ได้หลากหลายขึ้นพร้อมกับคุณภาพของภาพและเสียงคมชัดมากขึ้น และสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือจะต้องมีเครื่องรับสัญญาณโทรศัพท์ดิจิทัลโดยไม่ต้องจำเป็นต้องซื้อโทรทัศน์ใหม่ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





ยามาฮ่าเล็งพัฒนาจยย.เซลล์เชื้อเพลิงรถคันแรกของโลก

บริษัทยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น บริษัทที่ผลิตจักรยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เปิดตัวโครงการพัฒนารถจักรยานยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงเมทานอลขนาดเล็กหรือฟูเอลลเซลล์ทดแทนการใช้น้ำมันเป็นแหล่งเชื้อเพลิงแบบเดิมซึ่งนับเป็นรถจักรยานยนต์คันแรกของโลก ที่จะใช้เทคโนโลยีทางด้านเซลล์เชื้อเพลิงทำให้ไม่เป็นพิษทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เซลล์เชื้อเพลิง เปิดขึ้นจากการคิดค้นและวิจัยของ วิลเลี่ยม กรูฟ จากประเทศอังกฤษ โดยเซลล์เชื้อเพลิงนี้จะสร้างพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาจากปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจนซึ่งของเสียหรือของเหลือที่ออกมานั้นจะเป็นน้ำแทนที่จะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์อย่างในรถทั่วไป (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์

คุณธัชพล จรูญวรรธนะ ผู้จัดการฝ่ายบริหารลูกค้า บริษัทไซเบอร์ดิค เทคโนโลยี จำกัด ได้ปรับแนวทางดิกอิเล็กทรอนิกส์ไซเบอร์ดิค V II ให้สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้ใช้ได้ทุกเวลาซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งหรือการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา โดยใช้ Naturalistic Learning Technology ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถฝึกพูดภาษาจากการฟังได้ด้วยตนเองใส่ไว้ในเครื่อง พร้อมด้วยแบบทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ แบบฝึกการแต่งประโยค แบบฝึกการพูดโต้ตอบภาษาอังกฤษพร้อมบทสนทนาที่สำคัญเมื่อมีคำศัพท์ใหม่ผู้ใช้ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ได้เลย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)





นักเทคโนโลยีมีน้อย ‘จุดอ่อน’ ไทยในเวทีโลก

ดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส และประธานโครงการนักเทคโนโลยีดีเด่นกล่าวว่า ระบบวิจัยและพัฒาไทยไม่มุ่งส่งเสริมให้นักวิจัยและพัฒนาไทยไม่มุ่งส่งเสริมให้นักวิจัยทำงานเพื่อภาคอุตสาหกรรมแต่จะมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อสนองตอบความสนใจของตัวเองเป็นหลัก “ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีนักเทคโนโลยีมากกว่านักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีรวมกันประมาณ 1,300,000 คน ขณะที่ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์มากกว่านักเทคโนโลยี แต่รวมกันแล้วมีเพียง 13,000 คนเท่านั้น หรือเท่ากับร้อยละ 1 ของญี่ปุ่น และเป็นผลให้การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีไทยน้อยกว่าญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 1,000” ดร.วิโรจน์ กล่าวในการสัมมนาเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : พลังขับเคลื่อนขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศเมื่อปลายอาทิตย์ที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์อาวุโสท่านเดิมกล่าวต่อว่า โครงสร้างของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของไทยมัวไปมุ่งเน้นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) มากกว่าวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (applied science) ซึ่งการแบ่งแยกลักษณะนี้เท่ากับว่า นักเทคโนโลยีอย่างพวกวิศวกร และช่างมีความสำคัญน้อยกว่าวิทยาศาสตร์ ทำให้มีการสร้างนักเทคโนโลยีออกมาน้อย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 8)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สจพ.ชงตู้ขายน้ำแข็งแบบหยอดเหรียญ

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ “เครื่องจำหน่ายน้ำแข็งอัตโนมัติ” โดยฝีมือของ อ.สมานมิตร อยู่สุขสวัสดิ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และอ.ธวัชชัย วงศ์ช่าง จากภาควิชาเทคโนโลยีเครื่องต้นกำลัง เครื่องจำหน่ายน้ำแข็งอัตโนมัติตัวนี้ ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กลุ่ม SMEs และคุณชัยวัฒน์ สันติชีวะวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แสงสุวรรณน้ำแข็งหลอด จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการช่วยเหลือ SMEs ของสวทช. โดยในช่วงแรกจะสามารถผลิตจำหน่ายได้ 100 เครื่อง ในราคาที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ แถมยังได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วด้วย อ.สมานมิตร กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า ผลงานนี้ถือเป็นเครื่องต้นแบบเครื่องจำหน่ายน้ำแข็งอัตโนมัติ ชนิดหยอดเหรียญโดยสร้างให้สามารถบรรจุน้ำแข็งขนาด 1.4 กิโลกรัมได้ไม่น้อยกว่า 80 ถุง ส่วนขนาดของตู้โดยประมาณ มีความกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร และสูงไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งตู้จะต้องมีความเย็นเพียงพอที่จะรักษาสภาพน้ำแข็งให้คงอยู่ได้โดยไม่ละลาย (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





วิตถารสร้างมนุษย์ผสมสองเพศ โดนรุมต่อต้านคัดค้านรอบข้าง

ดร.นอร์เบิร์ต ไกลเซอร์ นักวิจัยของมูลนิธิเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ในนครชิคาโกของสหรัฐฯ กับเพื่อนนักวิจัยอีกคน ทดลองฉีดเซลล์เพศชายลงไปในตัวอ่อนเพศหญิง โดยมีความเชื่อว่าผลการทดลองที่ได้จะช่วยพัฒนาการรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนเพศชายหรือเพศหญิงเพียงอย่างเดียวให้ได้ผลดีขึ้นกว่าเดิม และเหตุผลที่เลือกใช้เซลล์เพศชายผสมในตัวอ่อนเพศหญิงแทนที่จะใช้เซลล์เพศหญิงผสมในตัวอ่อนเพศชาย ก็เพราะสะดวกกว่าสำหรับการติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนที่มีอายุเพียง 6 วัน อย่างไรก็ดีหลังจากที่ได้เปิดเผยเรื่องการทดลองนี้ในที่ประชุมประจำปีของสมาคมยุโรป ว่าด้วยการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนวิทยา ปรากฎว่าถูกรุมตำหนิจากผู้เข้าร่วมประชุมด้วยกัน ด้านกลุ่มที่ต่อต้านการทำแท้ง ก็ประณามการทดลองนี้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์นอกลู่นอกทาง ถือเป็นการควบคุมชีวิตมนุษย์อย่างน่ารังเกียจ (ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 7) เพื่อช่วยเด็กรู้จักคิดวิเคราะห์และเลือกได้ว่าเว็บไซต์ไหนดีหรือไม่ดี (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 14)





สกว.วิจัยเกมสร้างสรรค์ป้องเด็ก แข่ง “แร็คน่าร็อก”

นางสุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐบาลมีแนวคิดจัดระเบียบควบคุมเกมออนไลน์ ป้องกันปัญหาเด็กก่อเหตุรุนแรงว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมา สกว.ได้เริ่มนำผลวิจัยมาจัดทำเป็นเกมคอมพิวเตอร์สอดแทรกความรู้คู่ความสนุกให้เยาวชนไทยชื่อว่า “เกมส์คอมพิวเตอร์ในการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับเด็ก” เป็นเกมออกแบบเมืองน่าอยู่ ซึ่งผู้เล่นสามารถวางแผนสร้างเมืองน่าอยู่ของตัวเองได้ ว่าควรจะมีรูปแบบอย่างไร มีบ้านกี่หลัง ถนนกี่สาย ยานพาหนะกี่คัน ต้นไม้กี่ต้น ฯลฯ มีการควบคุมไม่ให้มีการปล่อยก๊าซพิษ โดยภายในจอคอมพิวเตอร์จะปรากฎกราฟแสดงค่ามลพิษที่เกิดขึ้น 3 ค่า คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน และฝุ่น นางสุชาตากล่าวว่า “เกมนี้หากไปสู้กับเกมสุดฮิตอย่างแร็คน่าร็อกก็คงไม่ได้ แต่อย่างน้อยถือเป็นทางเลือกให้เด็กที่ต้องการเล่นเกมสร้างสรรค์ก็หามาเล่นได้นี้หากพัฒนาเสร็จ สกว.อาจจะนำไปเชื่อมต่อกับโครงการสคูลเน็ตให้เยาวชนสนใจสามารถเข้ามาเล่นได้ ทุกฝ่ายจะได้ไม่ลงโทษเด็กว่าเด็กเล่นแต่เกมไม่ดี เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีสิ่งดีๆ ให้เด็กได้เลือก” และ สกว.มีแผนจะทำโครงการวิจัย “ชวนเพื่อนท่องเว็บ” ให้เด็กๆรวมตัวกันท่องเว็บไซต์ และเสนอว่าเว็บไซต์ที่พบนั้นดีหรือไม่อย่างไร เพื่อช่วยเด็กรู้จักคิดวิเคราะห์และเลือกได้ว่าเว็บไซต์ไหนดีหรือไม่ดี (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 14)





วิจัยพบบัวสารพัดประโยชน์ใบบดดื่มแทนชาแก้ฝันเปียก

นางพรทิพย์ โภไคยอุดม นักวิชาการ ผู้ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำวิจัย เรื่องบัว กล่าวถึงบัวเป็นพืชดอกชนิดหนึ่งที่สามารถนำทุกๆ ส่วนมาทำประโยชน์ได้ นางพรทิพย์กล่าวว่า นอกจากจะปลูกไว้เพื่อขายดอกแล้ว ประโยชน์จากบัวยังมีอีกมาก เช่นเป็นไม้ประดับ รับประทานสด และนำมาปรุงอาหาร เป็นยาสมุนไพร โดยเม็ดบัว มีสรรพคุณบำรุงประสาท บำรุงไต รักษาอาการท้องร่วง บิดเรื้อรัง ต้นอ่อนในเม็ดบัวเมื่อนำมาตากแห้งกินกับน้ำสุกหรือแช่น้ำร้อนดื่มเหมือนน้ำชาจะแก้อาการเวียนศีรษะและนอนไม่หลับ เหง้าบัวหรือรากบัว คั้นน้ำผสมน้ำผึ้งดื่มชุ่มคอ แก้กระหาย ใบบัวหั่นฝอยชงหรือต้มดื่มต่างน้ำชา แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ปวดท้องและเลือดกำเดาไหล ถ้าเป็นใบบัวแห้งบดเป็นผงกินกับข้าวต้มครั้งละ 3 กรัมวันละ 2 ครั้งเช้าเย็นยังแก้อาการฝันเปียก ถ้าเป็นมากให้กินวันละ 3 ครั้ง ดีบัว ซึ่งมีรสขมจัด แต่ถ้านำมาชงดื่มต่างน้ำชา แก้ความดันโลหิตสูง ตาอักเสบ ทั้งเชื่อว่ามีฤทธิ์ไปขยายหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ขั้วใบบัว เมื่อใช้ต้มน้ำดื่ม จะแก้บิดเป็นมูกเลือดและท้องเสีย สายบัว นิยมนำมาปรุงอาหาร แก้ร้อนใน ท้องเสีย ขับนิ่วและแก้ระดูขาว เกสร ปรุงเป็นยาหอมและยาชูกำลัง (มติชน ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 18)





แพทย์ศิริราชชี้จีโนมช่วยพัฒนาวิธีใหม่รักษาโรค

น.พ.ธนินทร์ สิ่มวงศ์ สาขาเวชพันธุศาสตร์และหน่วยอณูพันธุศาสตร์ สถาบันส่งเสริมการวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ร.พ.ศิริราช) กล่าวในการสัมมนาวิชาการ “การพบโครงสร้างดีเอ็นเอ ครบรอบ 50 ปี From DNA TO GENOMICS” นับเป็นความสำเร็จของโครงการจีโนมมนุษย์จำนวน 3 ล้านคู่เบสถือเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์เข้าสู่ยุคใหม่ซึ่งเชื่อว่าความรู้ดังกล่าวจะสามารถใช้ในการรักษาโรคได้จำนวน ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช กล่าวว่า การที่เราสามารถค้นพบยีน และข้อมูลทางด้านพันธุศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ ซึ่งขณะนี้เราสามารถตรวจสอบสาเหตุของโรคจากข้อมูลดังกล่าวได้ถึง 6,000 โรค และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการนำวิธีรักษาโรคด้วยวิธียีนบำบัดมาใช้มากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ทีมวิจัยพบกลุ่มยีนต้นเหตุโรคซึมเศร้า

ดร.จอร์จ ซูเบนโค ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิทท์สเบิร์ก และทีมงานได้ศึกษาในกลุ่มครอบครัวตัวอย่าง 81 ครอบครัวซึ่งสมาชิกครอบครัวได้รับผลกระทบจากโรคซึมเศร้า พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีลักษณะทางพันธุ์กรรมหรือยีน จำนวน 19 ตัวที่คาดว่าเป็นต้นเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้า ทีมงานยังพบด้วยว่า การกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้จะมีจำเพาะต่อเพศบางเพศด้วย อาทิ อาจจะมีการจำเพาะในหญิงบางคน และจำเพาะในผู้ชายในอัตราที่น้อยกว่า 1 คน ดังนั้นผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่าซึ่งลักษณะพันธุกรรมที่พบจะมีความแตกต่างกันในกลุ่มหญิง-ชายเหล่านี้ด้วย การค้นพบดังกล่าว ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้หญิงบางคนถึงจิตใจเปราะบางและถูกโจมตีได้ง่ายกว่าผู้ชายเมื่อครั้งที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ขณะตั้งครรภ์ คลอดลูก และวัยประจำเดือนหมดไปแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





แพทย์จุฬาฯพบเทคนิคใหม่เก็บตัวอย่างเชื้อพิษสุนัขบ้าได้นาน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ทำวิจัยเรื่อง “โรคสมองอักเสบ” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า โรคสมองอักเสบเกิดจากการติดเชื้อซึ่งอาจเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย จัดเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากเนื่องจากไม่มีลักษณะเฉพาะตัวที่จะบ่งชี้ว่าเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาพบว่า อาการของผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าหลากหลายขึ้น เช่นแขนขาอ่อนแรง อัมพาต หายใจไม่ได้ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคประสาทอักเสบ ส่งผลให้มีการรักษาที่ผิดวิธีไป หรือบางรายไม่มีการแปรปรวนทางอารมณ์ ไม่เอะอาละวาดแต่หัวใจกลับเต้นผิดปกติซึ่งทำให้วินิจฉัยโรคไม่ได้แม้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าตายเพราะโรคชนิดนี้ จนกว่าจะมีการชันสูตรศพ “จากการคิดค้นเทคนิคที่เราพัฒนาขึ้นเป็นวิธีการง่ายๆ ใช้เข็มสองชั้นเจาะผ่านลูกตาไปสู่เนื้อสมองในระดับความลึกที่ต้องการและนำเนื้อสมองดังกล่าวออกมาป้ายลงบนกระดาษกรองชนิดเดียวกับที่ใช้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (filter paper S$S 903) โดย กระดาษ 1 ชิ้นสามารถป้ายเนื้อสมองของผู้เสียชีวิตได้ถึง 5 จุดด้วยกัน” ผู้ทำวิจัยกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 8)





ผู้หญิงพฤติกรรมเปลี่ยนหลังรับบท ‘คุณแม่’ มือใหม่

นายธนินทร์ ติรณานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟว์อายส์ จำกัด บริษัทด้านงานวิจัยและที่ปรึกษา เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการวิจัยผู้หญิงที่แต่งงานและมีบุตรในประเทศไทย พบว่า พฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงจากช่วงที่เป็นโสดอย่างชัดเจน ได้แก่ การเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค จะมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น คำนึงคุณภาพและความพึงพอใจของลูกเป็นสำคัญ ตัวอย่างการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคกลุ่มนี้ อาทิ เลือกซื้อกระดาษชำระที่มีความอ่อนนุ่มที่สุด เริ่มใช้น้ำยาล้างจานสูตรปราศจากน้ำหอม หรือสูตรสำหรับเด็กอ่อน เลือกซื้อเฉพาะตราผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้เป็นต้น สำหรับกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นการสำรวจและจัดสัมมนากลุ่มคุณแม่ทั่วประเทศ 1,000 คน ใน 5 กลุ่ม คือ สตรีที่มีบุตรอายุ 1-6 ปี , สตรีที่บุตรอายุ 6-11 ปี , สตรีที่มีบุตรในวัยรุ่น 11-17 ปี และ สตรีที่มีบุตรอายุ 17-21 ปี นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าคุณแม่ 37% อยากเป็นเพื่อนที่พร้อมจะรับฟังและเข้าใจลูก 20% จะวางตัวเป็นแม่ที่ควบคุมลูกทุกอย่างในตัวลูก 28% เป็นแม่ที่ตามใจลูก และให้ลูกในสิ่งที่ตนไม่เคยได้รับเมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก 6% จะคอยเป็นที่ปรึกษา และยังพบว่าเป็นแม่จะออมเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ น้อยลง แต่หันไปทำประกันชีวิตให้กับลูกแทน (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 31)





ข่าวทั่วไป


แนะสาวห้างเดินบำบัด ‘ล้า’

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดสัมมนาเรื่อง “การยืนทำงานของพนักงานห้างสรรพสินค้า” โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างจำนวน 94 คน ปรากฏว่าพนักงานขายของประจำห้างสรรพสินค้า 48.7% ต้องยืนทำงานวันละ 7-8 ชั่วโมง โดย 55.3%ได้พัก 1 ชั่วโมง ดังนั้นส่วนใหญ่จึงปวดเมื่อย โดย 66.7% ปวดน่อง รองลงมาคือต้นขา เท้า นายวรรธนะ ชลายนเดชะ ผู้ออกแบบท่ากายบริหารจากโครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงท่าออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยว่า หากจำเป็นต้องยืนเป็นระยะเวลานานติดต่อกันโดยไม่มีที่นั่งพัก ควรยืนพักเท้าเพื่อถ่ายน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่ง ออกกำลังกายระหว่างยืนโดยเดินไปเดินมา อย่ายืนนิ่งๆ เป็นเวลานาน เมื่อไปถึงบ้าน ควรนอนราบบนพื้น ยกขาทั้งสองข้างพาดกับฝาผนังให้สูงกว่าหัวใจประมาณ 5-10 นาที กระดกข้อเท้าขึ้นลงติดต่อกัน 10 ครั้ง นอกจากนี้ควรสวมใส่รองเท้าที่มีสันไม่สูงมากนัก (มติชน ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 18)





เผยรูปแบบ ‘ไซน์ปาร์ค’ เชียงใหม่

นายพีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังร่างแนวคิดของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย แห่งที่ 2 ซึ่งจะตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่เบื้องต้นคิดว่าอุทยานวิทยาศาสตร์ในต่างจังหวัด ควรจะอยู่ในระดับที่ใช้งานได้จริงกับชุมชน และจะเป็นศูนย์กลางของคลินิกเทคโนโลยีภาคเหนือ โดยทำหน้าที่เผยแพร่ถ่ายทอดเทคโนโลยีส่วนการวิจัยและพัฒนาจะเน้นเทคโนโลยีชีวภาพและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ส่วนสาเหตุที่ รมว.วิทยาศาสตร์ต้องการให้ จ.เชียงใหม่เป็นที่ตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ แห่งที่ 2 เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2546 หน้า 7)





ปกป้องหลังจากคอมพิวเตอร์

มนุษย์งานวันนี้ จำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อต้องใช้เวลาวันละหลายๆ ชั่วโมงในท่านั่งเดิมๆ ท่านั่งที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่เช่นนั้น อาการปวดหลังไหล่ไปจนถึงบั้นเอวก็จะตามมา มีคำแนะนำสำหรับการนั่งหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้ปลอดจากอาการปวดและยอกเริ่มจากการจัดโต๊ะทำงานให้ความสูงกำลังพอดีนั่งแล้วไม่รู้สึกเมื่อยเกร็งเก้าอีควรมีพนักพิงและสูงพอที่เท้าจะวางถึงพื้นได้ในท่านั่งปกติ ถ้ามีที่เท้าแขนจะช่วยพักแขนได้ดี คีย์บอร์ดก็ควรสูงได้ระดับที่เมื่อวางมือลงไปแล้ว ข้อศอกจะงอประมาณ 100-101 องศา เพราะถ้าคีย์บอร์ดอยู่สูงหรือต่ำเกินไป แขนจะเมื่อยเร็ว เพราะกล้ามเนื้อไหล่และสะบักจะทำงานมากเกินจำเป็น หน้าจอมอนิเตอร์ควรสูงประมาณระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มหรือเงยมากไป การก้มคอนานๆ เป็นตัวการของการปวดเมือยกกล้ามเนื้อ ยิ่งถ้าต้องโน้มตัวไปข้างหน้ายิ่งแย่ใหญ่เพราะกล้ามเนื้อหลังทำงานหนักพาลจะพาให้ปวดไปถึงบั้นเอว ท่านั่งทำงานที่สบายคือ การนั่งพิงพนักเก้าอี้ให้เต็มที่ ถ้าพิมพ์ไม่ถนัดให้เลื่อนเก้าอี้ไปใกล้คีย์บอร์ด ดีกว่าโน้มตัวไปหาคีย์บอร์ด ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็หาหมอนใบเล็กๆ มาหนุนตรงบั้นเอว เพราะหมอนจะช่วยรับน้ำหนักของบั้นเอวได้เป็นอย่างดีกล้ามเนื้อเอวจะได้ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 3)





พบปลาสายพันธุ์ใหม่กลางอเมซอน

แจนเซ่น ซันนอน หัวหน้านักวิจัยด้านชีววิทยาสัตว์น้ำจากสถาบันอเมซอนแห่งชาติ ประเทศบราซิล ค้นพบปลาชนิดใหม่ในแถบป่าอเมซอนโดยปลาชนิดใหม่นี้ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อแต่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “ปลาลึกลับ” ไปก่อนชั่วคราว เหตุเพราะว่ายังไม่สามารถจัดปลาชนิดนี้ลงในปลากลุ่มใดที่มีก่อนหน้านี้ได้ ลักษณะลำตัวซึ่งยายคล้ายปลาไหล โดยความยาวตลอดลำตัวเท่ากับ 15 เซนติเมตร ปลาตัวนี้มีครีบครบทั้งชุดเหมือนปลตัวอื่นมีลักษณะเฉพาะในตัวหลายอย่างซึ่งแตกต่างจากกลุ่มปลาที่มีอยู่ในแถบอเมซอนที่เคยพบมาก่อนโดยทีมงานเชื่อว่าอาจะเป็นปลาที่ยังไม่เคยจัดสายพันธุ์มาก่อนถึง 150 ปี (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 8)





เด็ก ‘ออทิสติก’ ขาดครูสอนพูดวอนเพิ่มอัตรา

น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ กรมประสบปัญหาการขาดแคลนในตำแหน่งนักฝึกการพูดให้กับเด็กที่มีความบกพร่องในการได้ยินไม่ว่าจะเป็นเด็กออทิสติกและกลุ่มเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมจึงได้ประสานไปยังนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเร่งประสานขอตำแหน่งกับสำนักงานข้าราชการพลเรือนด้วย เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อเกษียณไปแล้วตำแหน่ง ก.พ.ก็ให้ยุบ ไม่ได้มีตำแหน่งอีก (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





เตือนไข้หวัดใหญ่ส่งผลปอดบวม

น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนโรคที่มากับหน้าฝนนั้นเป็นจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีมากขึ้น เพราะเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วจะมีอาการไข้สูง ไอ จาม มีน้ำมูกและมีการติดเชื้อเพิ่มเติมและเป็นโรคปอดบวมได้ทั้งในเด็กและผู้สูงอายุซึ่งโรคปอดบวมนั้นนำมาซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตได้ทั้งนี้จะต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอ และทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หากต้องประสบกับภาวะโดนฝนก็ควรถอดซักและสวมเสื้อที่สะอาดแห้งซึ่งจะต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรากตรำฝนหรือโดนแดด (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





เตือนเรียนนอกถูกหลอกค้ากาม

นายดุสิต จันตะเสน รองอธิบดีกรมการกงสุลกระทรวงต่างประเทศเปิดเผยว่า มีหญิงไทยจำนวนมากถูกหลอกไปค้าประเวณีในต่างประเทศ โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีชาวต่างชาติเข้ามาหาหญิงไทยที่จะแต่งงานด้วยและอ้างสิทธิที่จะได้รับแต่หลังแต่งงานก็พาไปค้าประเวณีให้กับชาวต่างชาติด้วยกันหรือไม่ก็บังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสโดยเฉพาะทำงานบ้านให้แก่ชาวต่างประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2546 หน้า 15)





สถิติใหม่ที่ไม่น่ายินดี

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorologieal Organization (WMO) ได้ให้ข้อมูลอุณหภูมิของโลกที่สู่พื้น ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องกับลูกโซ่ไปยังระบบอื่น เช่น ปริมาณฝน พายุ ปริมาณน้ำแข็งที่ขั้วโลก จะเห็นได้จากประเทศต่างๆ ที่ประสบกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เช่น สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อินเดีย, ศรีลังกา, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าซ้ำจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อมนุษย์ และผลิตผลทางการเกษตรย่อมได้รับผลกระทบด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 9 กรกฎาคม 2546 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215