หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 28 ประจำวันที่ 2003-08-05

ข่าวการศึกษา

‘ดร.วิจิตร’ ไม่เห็นด้วยตั้งมหา’ ลัยจังหวัด
ชี้อุดมศึกษาไทยน่าห่วงเพิ่มแต่ปริมาณส่วนคุณภาพลดลง
แนะราชภัฏวางแผนผลิตกำลังคน
Teen-Endutainment สื่อสอนเพศศึกษา สไตล์วัยทีน
ม.นเรศวรตั้งศูนย์สมุนไพร
“รุ่ง” ย้ำแก้โจทย์นายกฯ ต้องลดสอบซ้ำซ้อน
ดันตั้ง “ศูนย์นาโนเทคโนโลยี” วิทย์ขอปั้นสมองชาติ 8 พันล้าน
กมธ. ฟันธงยืดเวลาเกษียณ ดร.

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สุดยอดเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตคนใต้
บ้านอัจฉริยะสั่งผ่านมือถือ
ม.ไทยพร้อมสร้างดาวเทียมใช้เอง
จุฬาฯ สร้างระบบดักฝุ่นแนวดิ่งคุณภาพเท่าเครื่องนำเข้า
นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลพัฒนาแตงโมแคลอรีต่ำ
นักวิทย์ค้นหา ‘วิธีผลิตซูริมิ’ จากปลาแช่แข็ง
ญี่ปุ่นลุยวิจัย ‘วิทยาศาสตร์ชีวิต’ ค้นหาสูตรยาด้วยซูเปอร์คอมพ์
จูนสายตาแก่ให้กลับเป็นหนุ่มสาว โยนแว่นตาอ่านหนังสือทิ้งกันได้
ทอล์กกิ้งดิกติดกล้อง
นิสัยชอบแทะกัดเล็บเป็นอันตราย เท่ากับกินสารตะกั่วเข้าไปไว้ในตัว
หุ่นยนต์ก้าวกระโดดบนผิวน้ำ

ข่าววิจัย/พัฒนา

แปลงมนุษย์ให้เป็นโรงงานไฟฟ้า ขึ้นแซงหน้าปลาไหลไฟฟ้าไปเลย
สมุนไพรต้านเชื้อ HIV
อาหารปิ้งย่างปล่อยสารพิษสู่อากาศ
ม.สงขลาสำเร็จพัฒนา ‘เซลล์ไลน์’ ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสในปลา
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอาจเสี่ยงเป็นมะเร็ง

ข่าวทั่วไป

ไวรัสเวสต์ ไนต์ อาละวาดในสหรัฐ
อาจารย์จุฬาฯเผยสูตรสุขภาพดี ‘7อ.’
เตือนคุณแม่ท้องถี่-ทารกเสี่ยงอันตราย
ปีหน้ามุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าโอท็อป
พบจารึกอายุ 900 ปีที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง
องคมนตรีแนะ 3 หลักสางปัญหาสุขภาพสังคม
พบรอยเท้าบรรพบุรุษไดโนเสาร์บนผาน้ำหนาว- อายุ 240 ล้านปี





ข่าวการศึกษา


‘ดร.วิจิตร’ ไม่เห็นด้วยตั้งมหา’ ลัยจังหวัด

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาส และมหาวิทยาลัยนครพนมเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยจังหวัดว่า ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามหลอมรวมสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันเป็นมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะแต่ละหน่วยงานไม่ยอมจนมาถึงโครงการมหาวิทยาลัยจังหวัดแม้จะมาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันแล้ว แต่ก็คงทำไม่ได้เช่นกัน ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยจังหวัดขึ้นใหม่ในขณะนี้ แต่อยากให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนที่มีอยู่และยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยให้ดีก่อน ทั้งในส่วนของสถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลและวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษาเดิมที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วประเทศซึ่งยังต้องการเงินอุดหนุนจำนวนมาก ดังนั้นในส่วนของมหาวิทยาลัยจังหวัดเมื่อยังไม่มีความพร้อมก็ไม่ควรเร่งดำเนินการแต่ถ้าเป็นเขตพื้นที่เฉพาะ เช่น ภาคใต้หากจะดำเนินการด้วยนโยบายพิเศษก็ไม่เป็นไร (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 23)





ชี้อุดมศึกษาไทยน่าห่วงเพิ่มแต่ปริมาณส่วนคุณภาพลดลง

จากการเสวนา “พลิกยุทธศาสตร์ปฏิรูปอุดมศึกษาไทยแก้ไขวิกฤติ” เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นี้ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยในหลายๆ ครั้งพบว่าอยู่ในอันดับบ๊วย ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล อธิการบดีกิตติคุณ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนร้อยละ 65-70 สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ดีขึ้น แต่ผลที่ตามมาคือคุณภาพด้อยลง เพราะมาตรฐานการศึกษาไม่เพียงต่ำเท่านั้น แต่เป็นมาตรฐานที่ไม่เป็นมาตรฐาน ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยอ่อนแอมากที่สุดคือ การบริหารอาจารย์ การเรียนการสอนเป็นความลับที่มืดดำเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะบุคคล สมศ. ไปทำการประเมินภายนอกก็จะให้ดูข้อมูลที่เตรียมไว้ ยังไม่มีระบบบริหารวิชาการที่ประกันคุณภาพการเรียนการสอนปล่อยให้ประกันกันเอง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 23)





แนะราชภัฏวางแผนผลิตกำลังคน

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) บรรยายพิเศษ เรื่องทิศทางการพัฒนาและแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสถาบันราชภัฏกับหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)” ในการประชุมสัมมนาเรื่อง การบริหารสถาบันราชภัฏใน สกอ.ว่า สถาบันราชภัฏ (รภ.) ควรวางทิศทางของตนเองให้สอดคล้องกับฐานความรู้ของสังคมไทยทั้ง 4 ฐานคือ ฐานความรู้ผู้ด้อยโอกาสเพื่อเติมเต็มและพัฒนาผู้ด้อยโอกาส, ฐานความรู้วิชาชีพเพื่อผลิตกำลังคนให้สนองต่อความต้องการของประเทศและแนวทางการพัฒนาประเทศ, ฐานความรู้นอกระบบและตามอัธยาศัยโดยเจาะกลุ่มเป้าหมายในการให้การอบรม เช่น กลุ่มฝีมือแรงงาน กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ให้มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับคนต่างชาติ เป็นต้น และฐานความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ “สถาบันอุดมศึกษาของไทยจะต้องมีการติดตามดูยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาของต่างประเทศรวมถึงติดต่อประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา และมุ่งเน้นให้ผู้บริหารทุกระดับเรียนรู้อยู่เสมอโดยเฉพาะการอ่านหนังสือต่างๆ เพื่อดึงความรู้ทั่วโลกมาใช้ในการทำงาน” ศ.ดร.วรเดช กล่าว (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 23)





Teen-Endutainment สื่อสอนเพศศึกษา สไตล์วัยทีน

สื่อออนไลน์นำร่องสอนเพศศึกษา ถูกพัฒนาจากผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีทีมงานประกอบด้วย อาจารย์เสกสรรค์ แย้มพินิจ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับทีมนักศึกษา ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี, ภาควิชาคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับความร่วมมือจากองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH) และบริษัทเอ็มเว็บ ประเทศไทย จำกัด (M-Web) เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจ และเสนอทางเลือกที่หลากหลายในเรื่องเพศศึกษาให้กับวัยรุ่นไทยอย่างถูกต้อง โดยเปิดตัวผ่าน เว็บไซต์ www.teenpath.net (สยามรัฐ จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ม.นเรศวรตั้งศูนย์สมุนไพร

นายบุญฤทธิ์ สินค้างาม อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า มน. วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีธรรมชาติและภูเขาล้อมรอบและมีเนื้อที่กว่า 5,700 ไร่ มีความหลากหลายในทางชีวภาพเหมาะแก่การทดลองและวิจัย โดยเฉพาะพืชสมุนไพร จึงคิดจัดตั้งศูนย์สมุนไพรขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลสรรพคุณยาที่ถูกต้องอันจะเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้ารวมไปถึงการสนับสนุนการเรียนการสอนและค้นคว้ารวมไปถึงการสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย โดยเน้นไปที่พืชสมุนไพรพื้นบ้านลานนาเท่านั้น เพราะสมุนไพรพื้นบ้านลานนาเป็นพืชที่มีสายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่มีความเข็งแรงเหมาะสมกับภูมิอากาศและภูมิประเทศทางภาคเหนือของเมืองไทย นายบุญฤทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันได้รวบรวมพืชสมุนไพรลานนาใน จ.พะเยา จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย ได้กว่า 200 ชนิด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจัดพื้นที่เพาะปลูกไว้จำนวน 10 ไร่ ในช่วงแรกจะลงพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 3 ไร่ และในช่วงที่ 2 จะลงพืชสมุนไพรลานนาใน จ.พะเยา จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ได้กว่า 200 ชนิด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจัดพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 3 ไร่ และในช่วงที่ 2 จะลงพืชสมุนไพรให้ครบ 10 ไร่ หลังจากนั้นจะเปิดเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ โดยมีวิทยากรคอยให้คำแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ (มติชน จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





“รุ่ง” ย้ำแก้โจทย์นายกฯ ต้องลดสอบซ้ำซ้อน

นายรุ่ง แก้วแดง เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่าที่คณะกรรมการกลั่นเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับองค์ประกอบระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ หรือ Admissions ว่า โจทย์ของนายกรัฐมนตรีคือต้องลดการสอบ เพราะถ้าสอบมากจะทำให้เด็กเครียด การตอบโจทย์คือ สกอ. และ สพฐ. ต้องประสานกัน ลดการสอบให้มากที่สุด ส่วนที่เกรงว่าสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติจะออกข้อสอบไม่ได้มาตรฐาน ข้อสอบรั่ว และคัดเด็กไม่ตรงตามความต้องการนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยอยากได้อย่างไรก็เข้ามาดูแล เพราะขณะนี้การสอบซ้ำซ้อน และมหาวิทยาลัยยังไว้ใจโรงเรียนแม้จะอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ถ้าแก้โจทย์นี้ไม่ได้ก็เลิกหวังเรื่องหลักสูตรสุดท้ายต้องสอบเอ็นทรานซ์แบบเดิม (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ดันตั้ง “ศูนย์นาโนเทคโนโลยี” วิทย์ขอปั้นสมองชาติ 8 พันล้าน

ในการประชุม ครม. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้า ครม. คณะที่ 3 ซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ เป็นประธาน ได้เสนอเรื่องการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยให้เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และขออนุมัติจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2547-2551 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 910 ล้านบาท ซึ่งส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรสนับสนุน แต่สำนักงบประมาณเห็นว่าโดยข้อเท็จจริง โครงการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นแผนระยะยาวและใช้งบลงทุนที่สูงมาก จึงเห็นควรให้ สวทช. ไปจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี และประสานกับแผนสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะที่ 3 ( พ.ศ. 2547-2551) ซึ่งเสนอเข้า ครม. ในวันเดียวกันและขออนุมัติงบฯ 8,202.50 ล้านบาท เพื่อส่งบุคคลไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ รวม 1,500 ทุน เมื่อสำเร็จการศึกษา บุคลากรเหล่านี้จะเข้าทำงานในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มจำนวนนักวิจัยของประเทศ ทั้งนี้สำนักงบประมาณเห็นว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ควรเสนอขอแปรญัตติงบฯ ปี 47 จำนวน 206 ล้านบาทเพื่อรองรับต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อไป (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





กมธ. ฟันธงยืดเวลาเกษียณ ดร.

นายสุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าจากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาของสภาผู้แทนราษฎรว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาเกษียณอายุราชการของอาจารย์มหาวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาออกไปเป็น 65 ปี มีเงื่อนไขว่าจะต้องดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์หรือรองศาสตราจารย์ สำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยและกระตุ้นให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพของอุดมศึกษาไทย (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สุดยอดเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตคนใต้

ตัวอย่างงานวิจัยไทยที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ในงานนิทรรศการ “ความรู้เพื่อชีวิต 10 ปี สกว. สัญจรใต้” ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคมนี้ ที่ลาน PSU พาวิลเลี่ยน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นักศึกษาคณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้คิดค้นเครื่องต้นแบบแยกและย่อยไขมันเป็นผลสำเร็จ ซึ่งขณะนี้เครื่องดังกล่าวได้มีการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว นิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทุนสนับสนุนจาก สกว. สร้างระบบระบายอากาศแนวดิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีภายในประเทศทั้งหมด การ อบรมเทคนิคการผสมสูตรยางทำผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจชุมชน (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





บ้านอัจฉริยะสั่งผ่านมือถือ

ในงานไอซีที เอกซโป 2003 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ได้นำเทคโนโลยีการควบคุมการสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือมาแสดง โทรศัพท์มือถือวันนี้ นอกจากใช้พูดคุย ส่งเอสเอ็มเอส และถ่ายรูปแล้วยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้ด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





ม.ไทยพร้อมสร้างดาวเทียมใช้เอง

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากรับมอบสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) แล้ว ตนได้มอบหมายให้นายสุธี อักษรกิตติ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ไปติดตามเรื่องที่กระทรวงคมนาคมเคยประสานมายัง สกอ. หรือทบวงมหาวิทยาลัย (เดิม) ในสมัยที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงฯ เกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กของไทยขึ้นเอง ทั้งนี้เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2545 ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมได้ประสานมายัง สกอ.เพื่อให้ประสานไปยังสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กโดยฝีมือคนไทยโดยความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ในวงเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคม และ สกอ.ได้เชิญสถาบันอุดมศึกษาไทยหลายแห่ง ได้แก่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ ซึ่งนายสุธียืนยันว่าวิศวกร และทีมนักวิชาการของไทยมีศักยภาพพอที่จะสร้างดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นใช้เองได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน หรือ TOR แล้ว แต่เมื่อส่งเรื่องกลับไปที่กระทรวงคมนาคมเรื่องก็เงียบ (มติชน จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





จุฬาฯ สร้างระบบดักฝุ่นแนวดิ่งคุณภาพเท่าเครื่องนำเข้า

รศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบดักจับฝุ่นที่โรงงานนิยมใช้คือ การจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต ที่ใช้ในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ จะมีราคาแพง ค่าซ่อมบำรุงสูง รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเพื่อความปลอดภัยในการเดินเครื่อง ตัวระบบถุงกรองมักพบปัญหาอุดตันหรือรั่ว อายุการใช้งานค่อนข้างต่ำ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนถุงกรอง หรือซ่อมบำรุงเป็นประจำ ขณะนี้มีงานวิจัยระดับปริญญาตรีของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ IPUS (โครงการอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมี นายสันติ ยืนยิ่ง นายปิยลาภ มานะกิจ และนายเกรียงไกร ไกรวัฒนวงศ์ ที่สามารถออกแบบระบบระบายอากาศแนวดิ่งขึ้นมาได้เอง โดยใช้เทคโนโลยีภายในประเทศทั้งหมด (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 8)





นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลพัฒนาแตงโมแคลอรีต่ำ

นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลเปิดเผยผลงานกรพัฒนาแตงโมพันธุ์ใหม่ที่ให้พลังงานต่ำและมีน้ำตาลน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้หน้าร้อนอื่นๆ หัวหน้าคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮิบรู ในกรุงเยรูซาเล็ม กล่าวว่า ปัญหาในการรับประทานแตงโม ก็คือ ยิ่งรับประทานมากเท่าไหร่ แคลอรีก็จะสะสมมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉลี่ยแตงโมให้แคลอรีราว 54 แคลอรี ต่อจำนวน 112 กรัม แต่แตงโมพันธุ์ใหม่จะให้แคลอรีน้อยลงกว่าเดิมราวร้อยละ 20-40 แคลอรีในแตงโม มาจากน้ำตาลซึ่งประกอบด้วยน้ำตาล 3 ชนิด คือ ซูโครส กลูโคส และฟรุคโตส แต่สำหรับแตงโมพันธุ์ใหม่ จะประกอบด้วยน้ำตาลฟรุคโตสเป็นส่วนใหญ่ นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลกล่าวว่า ความสำเร็จของพวกเขาในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้วิธีาการปลูกแบบธรรมชาติไม่ได้ใช้วิธีการดัดแปลงทางพันธุกรรมแต่อย่างใด (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 3)





นักวิทย์ค้นหา ‘วิธีผลิตซูริมิ’ จากปลาแช่แข็ง

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค-สวทช.) เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2546 เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลประสบปัญหาปลาสดหายากและราคาแพง ส่งผลกระทบต่อการผลิตซูริมิซึ่งผลิตจากเนื้อปลาสด และใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อปูอัด ลูกชิ้นปลา กุ้งเทียม กล้ามปูเทียม เป็นต้น จากความเดือนร้อนของภาคอุตสาหกรรม ไบโอเทคจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำโครงการวิจัยค้นหาวิธีการผลิตซูริมิจากเนื้อปลาแช่แข็งแทนปลาสด โดย รศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหารคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากกองทุนสนับสนุนการวิจัยและไบโอเทคหลังจากใช้เวลาวิจัย 2-3 ปี ขณะนี้ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตซูริมิจากปลาแช่แข็ง และอยู่ระหว่างขั้นตอนการจดสิทธิบัตร (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 12 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ญี่ปุ่นลุยวิจัย ‘วิทยาศาสตร์ชีวิต’ ค้นหาสูตรยาด้วยซูเปอร์คอมพ์

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ตัวใหม่ของไอบีเอ็ม จะมีความสามารถสูงกว่าพีซีคลัสเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินิกซ์ของห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอเรนซ์ลิเวอร์มอร์ ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผลิตโดย บริษัท ลินิกซ์ เน็ตเวิร์คซ์ และมาตรการครั้งนี้ของไอบีเอ็ม ถือได้ว่าเป็นการผลักดันลินิกซ์เข้าสู่ตลาดนาโนเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ชีวิต หรือไลฟ์ไซน์ ที่กำลังเติบโตอย่างมากในขณะนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งชาติ ในกรุงโตเกียว จะใช้คอมพิวเตอร์ที่มีชิพประมวลผล 2,636 ตัว เพื่อค้นหาวัสดุสำหรับใช้สร้างซูเปอร์คอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่เซลล์เชื้อเพลิงพร้อมกับหาสูตรยาประสิทธิภาพสูงสำหรับรักษาโรคร้ายต่างๆ ด้วยโดยชิพประมวลผลที่เลือกใช้นั้น เป็นออฟเตอรอน (Opteron) ของเอเอ็มที (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





จูนสายตาแก่ให้กลับเป็นหนุ่มสาว โยนแว่นตาอ่านหนังสือทิ้งกันได้

ผู้สูงอายุต่อไปจะไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือกันอีกแล้ว เมื่อพบเทคนิคใหม่ แก้ให้สายตากลับเหมือนกับเมื่อยังหนุ่มสาวได้ โดยเปลี่ยนวุ้นในแก้วตาที่เสื่อมลงให้ใหม่แทน พบความสำเร็จในการทดลองกับสัตว์มาแล้ว และจะได้ทดลองกับคนตอนปลายปีหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยเมืองจิงโจ้ได้คิดค้นยางโพลิเมอร์ขึ้นได้ชนิดหนึ่ง สามารถใช้ผ่าตัดเปลี่ยนแทนของเหลวในแก้วตาที่เสื่อมลงได้ ด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบเดียวกับการลอกต้อกระจก เพียงแต่ไม่ได้เอาแก้วตาออกเท่านั้นโดยใช้เวลาเพียง 15 นาที นิตยสารวิทยาศาสตร์ “นิว ไซแอนติสต์” รายงานว่า เทคนิคดังกล่าวได้ทดลองทำกับกระต่ายสำเร็จมาแล้ว และเตรียมจะทดลองกับสิ่งต่อไป หากว่าการทดลองได้ผลดี ก็จะสามารถทำกับคนได้ตอนปลายปีหน้านี้ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ทอล์กกิ้งดิกติดกล้อง

ยูเนี่ยน เซ้นซ์ เทคโนโลยีเปิดตัวทอล์กกิ้งดิกล่าสุด T988c Camera เครื่องแรกในโลกที่ถ่ายภาพได้โดยเป็นทั้งพจนานุกรมเคลื่อนที่หลายภาษา พีดีเอและกล้องดิจิทัลในตัว นายสุรชัย ธนลาภไพบูลย์กุล ประธานบริษัท ยูเนี่ยน เซ้นซ์ เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่าพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของทอล์กกิ้งดิก T988c Camera เป็นพจนานุกรมเคลื่อนที่ พีดีเอ และกล้องถ่ายรูปในตัว และถือเป็นพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์รายแรกในโลกที่ถ่ายภาพได้ ซึ่งแนวโน้มการรวมเอาเทคโนโลยีหลายอย่างไว้ในสินค้าชนิดเดียวกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 12 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





นิสัยชอบแทะกัดเล็บเป็นอันตราย เท่ากับกินสารตะกั่วเข้าไปไว้ในตัว

นักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียได้บอกเตือนว่า การแทะกัดเล็บเป็นนิสัยที่เป็นอันตรายก็เพราะร่างกายจะสะสมสารตะกั่วไว้ตามเล็บ เมื่อแทะกัดเล็บก็จะได้รับสารตะกั่วเข้าไปในตัว และหากมันเข้าไปสะสมอยู่มากๆเข้า จะทำให้เจ็บป่วยไม่สบายได้ โดยเฉพาะเด็กซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างเจริญเติบโต ยิ่งเป็นอันตรายหนัก อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ที่เมืองเยกาเทรินเนนเบิร์ก แนะนำต่อไปว่า การดื่มนมและวิตามินจะช่วยบรรเทาอาการแพ้พิษจากตะกั่วลงได้ (ไทยรัฐ วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





หุ่นยนต์ก้าวกระโดดบนผิวน้ำ

ทีมนักวิจัยนำโดย ดร.จอห์น บุช จากสถาบัน MIT สร้างหุ่นยนต์เหมือนแมลง ชื่อ Robostrider หรือหุ่นยนต์ก้าวกระโดด เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของแมลงบนผิวน้ำ โดยการบันทึกภาพด้วยวิดีโอ และพยายามอธิบายการเคลื่อนไหวของแมลงเหล่านั้นด้วยกฏทางฟิสิกส์ของนิวตัน โดยอาศัยความตึงของผิวน้ำทำให้แมลงลอยตัวอยู่ได้ และกระโดดได้อย่างเร็วมาก (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


แปลงมนุษย์ให้เป็นโรงงานไฟฟ้า ขึ้นแซงหน้าปลาไหลไฟฟ้าไปเลย

นักวิจัยในญี่ปุ่นกำลังคิดวิธีผลิตไฟฟ้าจากกลูโคสในเลือดของคนเรา ทำนองเดียวกับที่ร่างกายสร้างพลังงานจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไป โดยได้คิดคำนวณว่า หากทำให้สำเร็จจะทำให้คนเรากลายเป็นมนุษย์ไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าขนาด 100 วัตต์ เพียงพอที่จะจุดหลอดไฟฟ้าหนึ่งดวงให้สว่างขึ้นได้ เดิมทีพวกเขาคิดใหญ่ หวังจะให้ร่างกายใช้อาหารที่กินเข้าไป มาผลิตให้เป็นไฟฟ้าไปทั้งหมด แต่ที่สุดมาเล็งเห็นว่า ร่างกายเองก็จำเป็นต้องใช้อาหารของตนอยู่ด้วยเหมือนกัน นักวิทยาศาสตร์ของแผนกวิจัยนาโนเทคโนโลยี ของบริษัทพานาโซนิคซึ่งเป็นคนต้นคิด กล่าวว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทางชีววิทยานี้อาจจะผ่าตัดเข้าไปไว้ในตัวคนเรา หรือใส่ไว้ในหุ่นยนต์ที่กินน้ำตาลเป็นพลังงานก็ได้ ในการทดลองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พวกเขายังทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชีววิทยาผลิตไฟฟ้าออกมาในระดับต่ำเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะสามารถทำให้มันผลิตให้มากขึ้นได้ในที่สุด เครื่องทำงานโดยใช้เอนไซม์แยกอิเล็กตรอนในกลูโคสออกมา (ไทยรัฐ วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





สมุนไพรต้านเชื้อ HIV

ผลงานการวิจัยสมุนไพรที่น่าสนใจเป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ โดย รศ.โสภิต ธรรมอารี หัวหน้าคณะวิจัยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV กล่าวว่า ถ้าผ่านการทดสอบความเป็นพิษ และการทดสอบความปลอดภัยแล้ว น่าจะมีการนำเอาสมุนไพรทั้งสองชนิดมาใช้ร่วมกันได้ เนื่องจากผักเป็ดแดงมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ HIV ส่วนมะเม่าจะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่อย่างไรก็ดี การวิจัยก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังอยู่ในขั้นของการทดสอบความเป็นพิษอยู่ คาดว่าอีก 1-2 เดือนจึงจะสรุปผลการทดสอบความเป็นพิษได้และจะได้นำไปทดลองกับสัตว์ทดลองและทดลองกับคนไข้ต่อไป (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 30)





อาหารปิ้งย่างปล่อยสารพิษสู่อากาศ

บีบีซีนิวส์ออนไลน์ รายงานว่ากลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวฝรั่งเศสได้กล่าวถึงผลการวิจัยว่าการปิ้งบาร์บีคิวจะทำให้เกิดสารพิษ โดยระบุว่า การปิ้งบาร์บีคิวประมาณ 2 ชั่วโมงอาจปล่อยสารไดออกซินสู่อากาศในระดับเดียวกับการสูบบุหรี่ถึง 220,000 มวน ซึ่งสารพิษไดออกซินนี้ ถือเป็นกลุ่มสารเคมีที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง สำนักงานควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของฝรั่งเศส ยังเปิดเผยผลการวิจัยผลของการรับประทานอาหารปิ้งย่าง พบว่า มีสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งในอาหารเหล่านั้นด้วย (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม 2546 หน้า 35)





ม.สงขลาสำเร็จพัฒนา ‘เซลล์ไลน์’ ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสในปลา

รศ.ดร.กิจการ ศุภมาตย์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เซลล์ไลน์ คือเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกเตรียมไว้ในห้องปฏิบัติการ ที่สามารถแบ่งเซลล์และเพิ่มจำนวนเองได้ภายนอกร่างกายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเทคโนโลยีเซลล์ไลน์มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์ ในงานวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตเซลล์ไลน์ กับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง” ต้องการพัฒนาเทคนิคการผลิตเซลล์ไลน์จากปลาทะเลที่สำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ปลากะพงขาวและปลาเก๋าโดยจะนำเซลล์ไลน์ที่เลี้ยงได้มาเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัส เพื่อผลิตเป็นวัคซีนป้องกันโรคจากไวรัสชนิดนั้นๆ ต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 8)





ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอาจเสี่ยงเป็นมะเร็ง

นักวิจัยสกอตแลนด์กล่าวว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและไม่ได้รับการรักษาด้วยยาอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด จากงานวิจัยชิ้นนี้ได้ระบุหลักฐานล่าสุดที่ยืนยันว่าไวรัสเอชไอวีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งงานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้สถิติที่บันทึกก่อนที่จะเริ่มมีการนำยาต้านไวรัสที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาใช้ และพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในช่วงเวลาดังกล่าว มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งได้มากกว่าปกติถึง 11 เท่า นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิดยังสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวด้วย เช่น มะเร็ง Kaposis Sarcoma ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มากถึง 2,000 เท่า ในขณะที่ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง non-Hodgkins lymphoma มีถึง 100 เท่า นอกจากนี้ อัตราการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นด้วย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 3)





ข่าวทั่วไป


ไวรัสเวสต์ ไนต์ อาละวาดในสหรัฐ

ดร.จูลี เกอร์เบอร์ดิง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ (ซีดีซี) ของสหรัฐ แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเวสต์ ไนล์ ในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว เป็น 164 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาขณะที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 รายโดยทุกรายเป็นผู้สูงอายุซึ่งทางการวิตกว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในปีนี้อาจสูงกว่าเมื่อปีที่แล้วซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 4,156 ราย และเสียชีวิต 284 รายโดยไวรัสเวสต์ ไนล์ เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งพบในสหรัฐ มียุงเป็นพาหะนำเชื้อซึ่งผู้ติดเชื้อ จะมีอาการปวดศรีษะ ไข้ขึ้นสูง และบางครั้งถึงขั้นเป็นอัมพาต (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 22)





อาจารย์จุฬาฯเผยสูตรสุขภาพดี ‘7อ.’

ผศ.ดร.วาริน แสงกิตติโกมล ภาควิชาเคมีคลินิกคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระในผักสมุนไพร” พบว่าในพืชผักสมุนไพรมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นพฤกษาเคมีหรือยารักษาโรค สามารถต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในกระบวนการที่ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ได้ ผศ.ดร.วาริน กล่าวว่า ได้ศึกษาพืชผักสมุนไพรไทยร้อยกว่าชนิด ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมากน้อยต่างกัน ผักสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง ได้แก่ เบญกานี ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ในยาไทย รองลงมาคือผลหมาก สมอเทศ มะขามป้อม เปลือกทับทิม ชาเขียว ขี้เหล็ก ใบมะกอก ผักบุ้งนา ยอดกระถิน ใบสะระแหน่ ผักขม มะเขือพวง ใบกระเพรา ผักชี โหระพา ฯลฯ “หลักง่ายๆ ของการมีสุขภาพดี เรียกว่า 7 อ. ประกอบด้วย อาหารดี ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่อดอาหาร หรือทานอาหารจานเร่งด่วนจนอิ่มเกินพอดี อากาศดี พยายามหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง นาน 15-30 นาที อารมณ์ดี มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เครียด ความคิดดี พูดดี อุจจาระ เป็นปกติ ควรรับประทานผักผลไม้ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระและมีใยอาหารทำให้ไม่ท้องผูก ลำไส้ทำงานเป็นปกติ อันตรายที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรดื่มสุราและสูบบุหรี่ สุดท้ายคือนอนหลับให้เพียงพอ” (มติชน จันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





เตือนคุณแม่ท้องถี่-ทารกเสี่ยงอันตราย

วารสารแพทย์ของอังกฤษ ฉบับประจำเดือนสิงหาคมนี้ ได้เผยรายงานเตือนบรรดาผู้หญิงว่าอย่าท้องถี่เกินไป เพราะจะเป็นอันตรายต่อทารกในท้อง หรือทำให้ทารกใหม่คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวเมื่อคลอดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ เป็นผลจากการเฝ้าติดตามผู้หญิงท้อง 89,000 คน ในสกอตแลนด์ ช่วงระหว่างปี 1992-1998 โดยทีมแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในอังกฤษ ซึ่งมีนายแพทย์กอร์ดอน สมิธ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นหัวหน้า จากการสำรวจกลุ่มผู้หญิงทั้งหมดนี้ พบว่าผู้หญิงทุกๆ 1 ใน 20 คน จะตั้งครรภ์ใหม่อีกหลังจากคลอดทารกก่อนหน้าได้นานเพียง 6 เดือน และทารกใหม่ที่คลอดออกมามักประสบปัญญาคลอดก่อนกำหนด หรือมีเหตุผิดปกติอื่นๆ ถึงขั้นเสียชีวิตระหว่างคลอด ทั้งนี้ เนื่องจากสุขภาพของมารดายังไม่กลับเข้าภาวะปกติสมบูรณ์ดี ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า ผู้หญิงที่มักตั้งท้องถี่นั้น มักจะเป็นกลุ่มหญิงวัยรุ่นที่ด้อยโอกาสทางสังคมหรือฐานะการเงินยากจน จนไม่สามารถซื้อยาคุมกำเนิดมาใช้ หลายคนมีปัญหาในการคลอดบุตรตั้งแต่ท้องแรกหรือสูญเสียทารกคนแรก ดังนั้น จึงสมควรที่บรรดานายแพทย์จะต้องเตือนให้บรรดาหญิงสาวทั้งหลายได้ทราบ ขณะที่รัฐก็ควรให้ความช่วยเหลือผู้หญิงด้อยโอกาส ให้มีความสามารถคุมกำเนิดทารกตนเองได้ (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546)





ปีหน้ามุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าโอท็อป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินผลการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย หรือ โอท็อป ว่า จากรายงานผลการคัดสรรพบว่าได้ผลดีเกินคาด เพราะสินค้าส่วนใหญ่มีมาตรฐานสามารถส่งออกได้ทันที โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ระดับ 3-5 ดาว ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องตลาดส่งออกทั้งหมด และอยู่ในระหว่างการประสานกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำของต่างประเทศหลายแห่งที่สนใจนำสินค้าโอท็อปของไทยไปจำหน่าย นายสมคิดกล่าวว่า แผนงานในปีหน้าคือ จะเสริมความเข้มแข็งให้กับสินค้าโอท็อปมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานสินค้าทั้งระบบ โดยมอบให้คณะอนุกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์เข้ามาดูแล ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าสินค้าโอท็อปไทยจะสามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างแน่นอน (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 10)





พบจารึกอายุ 900 ปีที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง

นายธงชัย อนันตกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่าได้เข้าตรวจสอบศิลาจารึกหินทรายหลักใหม่ ที่บ้านกระสัง ต. ประทัดบุ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่ชาวบ้านไถนาและพบโดยบังเอิญเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่าเป็นศิลาจารึกขอบโบราณจริง คาดว่าจะมีอายุในราวสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 หรือกว่า 900 ปีมาแล้ว โดยศิลาจารึกหลักนี้มีลักษณะเป็นใบเสมาหินทราย มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จารึกเป็นภาษาขอมโบราณ มีสองด้าน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นศิลาจารึกของปราสาทหินพนมรุ้ง นายธงชัยกล่าวว่าได้สั่งการให้นำศิลาจารึกดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เพื่อรอกรมศิลปากรส่งผู้เชี่ยวชาญลงมาตรวจสอบและแปลอักษรขอมดังกล่าว นางนงคราญ สุขสม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะไม่มีโอกาสพบศิลาจารึกเช่นนี้บ่อยครั้งนัก เชื่อว่าเป็นศิลาจารึกหลักที่ 8 ของปราสาทพนมรุ้ง โดยที่ผ่านมาถูกค้นพบแล้ว 7 หลัก แต่ทุกหลักมีสภาพเสียหายลบเลือนจนไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับประวัติของปราสาทพนมรุ้งได้เลย แต่ศิลาจารึกหลักใหม่นี้ คาดว่าสามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์พนมรุ้งได้มากเพราะตัวอักษรสมบูรณ์มาก ซึ่งจะช่วยไขปริศนาทางประวัติศาสตร์หลายประการที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้ง (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





องคมนตรีแนะ 3 หลักสางปัญหาสุขภาพสังคม

ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2546 เรื่อง “สมัชชาสุขภาพสู่การสร้างสุขภาวะของคนไทย” ว่า คนทั่วโลกต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี เดิมพูดถึงสุขภาพจะคำนึงถึงสุขภาพกาย สุขภาพจิต แต่ก็เกิดคำถามว่า คนที่สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดีไม่ป่วย เขามีความสุขหรือไม่ จึงเกิดคำนิยามสุขภาพใหม่ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ 1. สุขภาพกายดี เกิดมาไม่พิการ 2. สุขภาพจิตเป็นเรื่องวิธีคิดวิธีมองตัว 3. สุขภาพสังคม มีทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่น คบค้าสมาคมกับคนอื่นได้ 4. สุขภาวะทางศีลธรรม อยากไปวัดไปโบสถ์มีโอกาสหรือไม่ ซึ่งการจะเกิดสุขภาพทั้ง 4 มิติได้นั้นครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก และ ศ.นพ.เกษมกล่าวต่อว่า สุขภาพไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขเพียงลำพัง แต่ต้องมีหลัก 3 ประการ คือ หลักคิดที่ชัดเจน อยู่บนเหตุผลเจตนาที่ดี มีฉันทะ มีวิธีคิดที่ชัดเจน หลักวิชาการ คิดสิ่งใดแล้วให้มีหลักวิชาการหนุน ตรงกับปัญหาหรือเปล่า และหลักปฏิบัติ อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่คิดได้แล้วนำมาปฏิบัติเลย ขาดหลักวิชาการหนุนจึงมีโอกาสผิดพลาด ซึ่งทั้ง 3 หลักนี้เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ควรน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2546 หน้า 15





พบรอยเท้าบรรพบุรุษไดโนเสาร์บนผาน้ำหนาว- อายุ 240 ล้านปี

คณะเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี นำโดยนายวราวุทธ สุธีธร นักธรณีวิทยา 8 และหัวหน้าศูนย์วิจัยภูกุ่มข้าว จ.กาฬสินธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายสุชิน อินทร์สา อาจารย์สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ เดินทางเข้าไปยังผาหิน หมู่ 5 บ้านนาพอสอง ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบรอยเท้าบนผาหิน โดยนำอุปกรณ์ไปตรวจวัดหาพิกัดและความลาดเอียงของผาหินที่มีรอยเท้า พร้อมจดบันทึกตรวจวัดขนาดและระยะห่างของรอยเท้าอย่างละเอียด นายวราวุธกล่าวว่า ชั้นหินที่มีรอยเท้าปรากฎเป็นชั้นหินหน่วยหินห้วยหินลาด ที่มีความเก่าแก่และเกิดในช่วงไทรแอ๊กสิกตอนปลาย หรือประมาณ 220 ล้านปีที่แล้ว ดังนั้นรอยทางเดินที่ปรากฎอยู่บนหินนี้เป็นสัตว์โบราณที่ค่อนข้างเก่ามาก คาดว่ามีอายุราว 220-240 ล้านปี ที่สำคัญชุดห้วยหินลาดยังไม่เคยพบฟอสซิลไดโนเสาร์มาก่อน และลักษณะรอยเท้าหน้าและหลังค่อนข้างชัด โดยเท้าหน้ามี 4 นิ้ว เท้าหลังมีลักษณะเป็นอุ้งและยาวกว่าโดยแยกเป็น 2 กลุ่มไม่ต่อเนื่องกัน นายวราวุธกล่าวว่า พื้นที่เก่าถึงขนาดนี้เพิ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ธรรมชาติช่วยเก็บรักษารอยเท้าไว้เป็นอย่างดี จนทำให้เราเห็นแนวทางเดินยาวมากกว่า 50 เมตร หากไม่ทุบทำลายหรือไปสกัดทำลายก็จะทำให้เป็นมรดกไปอีกนาน ซึ่งในด้านวิชาการต้องทำการถอดแบบรอยเท้าทุกรอยไปเปรียบเทียบศึกษารายละเอียดต่อไป (มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม 2546 หน้า 24)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215