หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 29 ประจำวันที่ 2003-08-13

ข่าวการศึกษา

ชงยุทธศาสตร์อุดมฯ จี้เพิ่มงบฯ “รภ.-รม.”
“ทักษิณ” แนะนำหนังสือใหม่ การบริหารเทคโนโลยีอีก 10 ปี
เผยผลประเมินปฏิรูปการศึกษา
ค้านจัดกลุ่มอุดม
จี้อุดมฯ แนะทางใหม่ชี้นำสังคม
รุกครูรู้ทันศัพท์วัยรุ่น พัฒนาภาษาไทย นร.
กลั่นกรองฯ ไฟเขียวยุทธศาสตร์อุดมฯ ตั้งสนง.จัดงบฯ-เรียนข้ามสถาบันได้
เงินอุดหนุน ร.ร.เอกชนลงตัวศธ.ปิ๊งช่วย 14 ปี-คง ‘ม.ปลาย’
เด็กเอกชนคะแนนสูงกว่าทุกสังกัด
นิด้าเตรียมยุบสาขาในตจว.

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สร้างจรวดปรมาณูไปดาวอังคาร ย่นเวลาไปถึงได้ในแค่ 6 อาทิตย์
ค้างคาวเกาะกวม สารพิษเอื้อ กินแล้วถึงขั้น “โรควิกลจริต”
ครม.ตีกลับแผนตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยี

ข่าววิจัย/พัฒนา

เทน้ำผลไม้ทิ้ง หันมากินไวน์ขาวรีดไขมันออกได้มากกว่ากัน
ผลิตเตาอบอินฟราเรดกึ่งสูญญากาศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย
วิจัยพบ 81% ของคนคิดฆ่าตัวตาย ไม่ได้วางแผนหรือแสดงท่าทีก่อน
อาหารเสริมบำรุงของนักกีฬา เพาะได้ทั้งกล้ามและสติปัญญา
ยาแอสไพรินนับเป็นยายอดอัศจรรย์ รักษามะเร็งผิวหนังจนถึงทรวงอกได้
มหิดลวิจัย ‘เถาโคคลาน’ แก้ปวด-ต้านอักเสบ
มหิดลวิจัย ‘หม่อน’ ใช้แทนครีมหน้าขาว
เผยรหัสจีโนมมนุษย์คล้ายหนูบ้าน

ข่าวทั่วไป

ครม.มีมติห้ามนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง
กมธ.ร่วมแก้กฎหมายสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์





ข่าวการศึกษา


ชงยุทธศาสตร์อุดมฯ จี้เพิ่มงบฯ “รภ.-รม.”

นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษาด้านการปฏิรูปอุดมศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่าจะเสนอแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปอุดมศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 โดยสาระของแผนมี 6 ด้าน คือ 1.ปฏิรูประบบโครงสร้าง สร้างเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และจัดระบบมหาวิทยาลัย 2. ปฏิรูประบบงบประมาณ ตั้งแต่จัดสรรงบฯ และมีคณะกรรมการงบฯอุดมศึกษาเฉพาะรวมทั้งจัดระบบเงินกู้ของสถาบันอุดมศึกษา 3.ปฏิรูปการเรียนรู้และวิจัย 4. พัฒนาบุคลากรอุดมศึกษา 5. ผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และกระจายโอกาส และ 6. ให้บทบาทภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนสนับสนุนอุดมศึกษา (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





“ทักษิณ” แนะนำหนังสือใหม่ การบริหารเทคโนโลยีอีก 10 ปี

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับบรรดารัฐมนตรี โดยแนะนำตัวอย่างหนังสือ ไอที อิตอิส อะไลฟ์ แต่งโดยคริสโตเฟอร์ เมเยอร์ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยี ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เนื้อหาเกี่ยวกับการบริหาร เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทุกอย่างเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต ดังนั้น จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัย โดยนายกฯเน้นย้ำถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ โมลิกูลา เทคโนโลยี ที่มีส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ นาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี และแมททีเรียลเทคโนโลยี โดยในทุก 10 ปีข้างหน้า จะมีอัตราเร่งทางเทคโนโลยีจะเร็วมากเป็น 2 เท่าของในอดีต ดังนั้น อย่าไปคิดวางแผนให้สมบูรณ์เพียงอย่างเดียว ต้องมีความเร็วด้านการบริหารจัดการด้วย รวมทั้งการดูแลบริหารส่วนล่าง ทั้งนี้ นายกฯมองว่า อนาคตซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ จะเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน เพราะจะเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันทำให้คนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 13)





เผยผลประเมินปฏิรูปการศึกษา

ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาในรอบ 4 ปี โดยแบ่งผลการประเมินออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าสัดส่วนผู้เข้าเรียน ม.ปลายยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรในกลุ่มอายุ 15-17 ปี ระดับการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษายังมีปัญหาการกระจุกตัวของสถานศึกษาในเขตเมือง ส่วนการจัดการศึกษาทางเลือกโดยครอบครัว ชุมชน สถานประกอบการ มีความก้าวหน้าค่อนข้างน้อย การถ่ายโอนภารกิจด้านศึกษาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่แล้วเสร็จ 2. ด้านคุณภาพการศึกษา พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของนักเรียน ป.6, ม.3 ในวิชาพื้นฐาน ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษยังต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับครูนั้น ส่วนหนึ่งยังขาดความมั่นใจในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน 3. ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการจัดการศึกษา พบว่า อัตราการออกกลางคันยังสูง ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ยังไม่สนองตอบต่อตลาดแรงงานและความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างเต็มที่ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ค้านจัดกลุ่มอุดม

จากแนวคิดที่จะให้มีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาแต่ละประเภท และพัฒนาความเป็นเลิศในแต่ละกลุ่มนั้น ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างชนชั้นมหาวิทยาลัยให้หลากหลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้น 1 ชั้น 2 ไม่ว่าจะเป็นการจัดในกลุ่มมหาวิทยาลัย กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎหรือกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล แต่ควรหลากหลายในลักษณะเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียน โดยสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ต้องหันมาประเมินสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ความเชี่ยวชาญและสร้างเครือข่ายร่วมกันในพื้นที่ ด้าน ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวว่าการจัดกลุ่มต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีความเฉพาะด้าน ทั้งนโยบายรัฐบาลเน้นการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ ซึ่งได้มอบนโยบายของรัฐบาลต่ออธิการบดีแล้ว เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าจะผลิตบัณฑิตในด้านใดให้สอดคล้องกัน โดยจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมทำวิจัยเชิงลึกรองรับการผลิตบัณฑิต ทั้งนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2548 (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





จี้อุดมฯ แนะทางใหม่ชี้นำสังคม

รศ.ทพ.จีรศักดิ์ นพคุณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึง “คุณภาพผลงานวิชาการ” ว่าการเขียนบทความ ผลงานวิชาการ ตำราเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและจุดเด่นของสถาบัน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเขียนบทความคือเวลา ด้าน รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ถึงจุดเปลี่ยนของงานวิชาการจากที่เป็นฝ่ายรับจะต้องปรับเป็นฝ่ายรุกและชี้นำมากขึ้น ซึ่งคณะฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเน้นการวิจัย สร้างผลงานวิชาการเชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาแนวคิดใหม่ให้มากขึ้น โดยปีงบประมาณ 2547 จะกำหนดว่าอาจารย์จะต้องมีผลงานวิชาการอะไรบ้าง และเป็นไปในแนวไหน เพื่อสะท้อนการปรับเปลี่ยนคณะที่จะก้าวไปสู่ยุคใหม่ ที่ผ่านมาบทบาทเชิงวิชาการ งานวิจัยของอุดมศึกษาเน้นสนองความต้องการของสังคมหน่วยงานต่างๆ และตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งทั้งสองบทบาทดังกล่าวถือว่ายังสำคัญและจำเป็น แต่อีกบทบาทที่ควรจะก้าวไปข้างหน้าคือ การเสนอทางเลือก ทิศทาง ประเด็นใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งคณะฯ ก็คาดหวังว่าใน 2-3 ปีข้างหน้า จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





รุกครูรู้ทันศัพท์วัยรุ่น พัฒนาภาษาไทย นร.

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รองโฆษกรัฐบาล กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “วิกฤตภาษาไทย…จะแก้ไขได้อย่างไร” ว่า การใช้ภาษาไทยเป็นวิกฤตมานานแล้วและเชื่อว่าทุกคนก็เห็นคุณค่าของภาษาไทย จึงได้เร่งที่จะหาทางแก้ไขภาวะวิกฤตเหล่านี้ โดยเฉพาะศัพท์ที่เด็กวัยรุ่นนิยมใช้ เช่น “กิ๊ก” ซึ่งหมายถึง เพื่อนสนิท “รั่ว” หมายถึง อาการของคนตื่นไม่เต็มที่ “ปลิ้น” หมายถึง อาการที่เกินความจริง และ “ขำขำ” หมายถึงผู้หญิงที่แอบไปเล่นชู้กับชาวบ้าน จะเห็นได้ว่าคำในภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงอยากฝากให้ครูภาษาไทยเร่งติดตามความเคลื่อนไหวของคำเหล่านี้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อพัฒนาตนเองให้ทันกับเด็กยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กใช้ภาษาไทยได้ไม่ดีนัก เนื่องจากเด็กมีความรู้สึกว่าภาษาไทยเป็นวิชาที่ยากและน่าเบื่อ ดังนั้น ครูสอนภาษาไทยจะต้องสร้างให้เด็กเห็นคุณค่าของภาษาไทยให้ได้ และการที่เด็กได้รับภาษาศิลป์ ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกชอบภาษาไทยได้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาทักษะการฟังให้แก่เด็กก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





กลั่นกรองฯ ไฟเขียวยุทธศาสตร์อุดมฯ ตั้งสนง.จัดงบฯ-เรียนข้ามสถาบันได้

วันที่ 14 สิงหาคม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบยุทธศาสตร์และแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อศึกษารายละเอียดในยุทธศาสตร์ฯ พร้อมทั้งมอบให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาเปินผู้ติดตามการจัดทำแผนปฏิบัติการ แล้วรายงานให้ ครม. ทราบเป็นระยะๆ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ย่อย 1. การปฏิรูปโครงสร้างและระบบบริหารให้มีประสิทธิภาพ โดยให้จำแนกประเภทสถาบันอุดมศึกษาตามจุดแข็งและสร้างกระบวนการสรรหาผู้บริหารที่โปร่งใส 2. ปฏิรูปการเงินสถาบันอุดมศึกษา โดยตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิจารณาและกำหนดเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษา เป็นองค์กรอิสระดูแลเรื่องการจัดงบฯ ให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด พร้อมปรับระบบบัญชีให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ จะปรับระบบกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย 3. ขยายโอกาสและปริมาณในการผลิตกำลังคน โดยเน้นสาขาที่ขาดแคลน และให้มีการเทียบโอนและลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้ 4. ปฏิรูปการเรียนการสอน โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานวัดความสำเร็จของทุกหลักสูตร 5. ปฏิรูปการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษา และ 6. สนับสนุนให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการอุดมศึกษาโดยรัฐจะกำหนดสัดส่วนและกลุ่มเป้าหมายของภาครัฐและเอกชนให้ชัดเจน (มติชน ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





เงินอุดหนุน ร.ร.เอกชนลงตัวศธ.ปิ๊งช่วย 14 ปี-คง ‘ม.ปลาย’

วันที่ 14 สิงหาคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้แทนภาคการศึกษาเอกชนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และสายอาชีวศึกษาในเรื่องการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ทาง ศธ. ได้ข้อยุติแล้ว โดยสถานศึกษาเอกชนจะใช้แนวทางการอุดหนุนตามอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) เดิมกำหนด อุดหนุน 100 % รวมค่าใช้จ่ายพื้นฐานและเงินเดือนครูอัตราใหม่ ซึ่งเพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยที่สถานศึกษาไม่ต้องเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ปกครองอีก โดยมีตัวเลขอุดหนุนดังนี้ ระดับอนุบาล 9,000 บาทต่อคนต่อปี ประถมศึกษา 9,000 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 10,900 บาท มัธยมปลาย 10,900 บาท ประเภทอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างอุตสาหกรรม 16,680 บาท พาณิชยกรรมหรือบริหารธุรกิจ 13,070 บาท ศิลปหัตถกรรมหรือศิลปกรรม 13,760 บาท และเกษตรกรรม 14,180 บาท นอกจากนี้ ในส่วนอัตราค่าใช้จ่ายรายหัวพื้นฐานของรัฐจะมีการปรับปรุงเพิ่มให้ตามสภาพที่ตั้งและขนาดในแต่ละระดับชั้นการศึกษาได้แก่ อนุบาลอัตราค่าใช้จ่ายรายหัวพื้นฐาน 800 บาท เพิ่มตามที่ตั้งและขนาดอย่างละ 200 บาท ประถมศึกษา 1,100 บาท เพิ่มตามที่ตั้งและขนาดอย่างละ 200 มัธยมต้น 1,800 บาท เพิ่มตามที่ตั้ง 100 บาท ขนาด 200 บาท มัธยมปลาย 2,700 บาท เพิ่มตามที่ตั้ง 500 บาท และขนาด 300 บาท (มติชน ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





เด็กเอกชนคะแนนสูงกว่าทุกสังกัด

นางพรนิภา ลิมปพยอม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่าที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยรายวิชา (GAT) ของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสังกัด สช. กับนักเรียนโรงเรียนรวมทุกสังกัด พบว่า ในชั้น ป.3 นักเรียนเอกชนมีคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ สูงกว่านักเรียนสังกัดอื่นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของโรงเรียนเอกชน (มติชน ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 20)





นิด้าเตรียมยุบสาขาในตจว.

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม คณะกรรมาธิการ (กทธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2547 ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการต่อเนื่องในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ซักถามถึงปัญหาที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเอกชน นอกจากนี้ นายสุรชัย เป้าจรรยา กรรมาธิการจากพรรคไทยรักไทย ยังสอบถามถึงกระแสข่าวที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า จะปิดสาขาที่ขยายไปต่างจังหวัดหรือไม่ซึ่งนายปรีชา จรุงกิจอนันต์ อธิการบดีนิด้า ได้กล่าวชี้แจงกรณีอาจารย์ประจำที่ไปสอนหนังสือข้างนอกมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งถือเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในการสอน และเป็นสิทธิที่อาจารย์สามารถทำได้ แต่ต้องไม่กระทบกับงานประจำส่วนเรื่องการปิดสาขาของนิด้าในต่างจังหวัดนั้นคณะกรรมการบริหาราของนิด้ามีแนวคิดเช่นนั้นจริงโดยจะปิดสาขาที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่สามารถทำงานได้เข้มแข็ง (มติชน เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สร้างจรวดปรมาณูไปดาวอังคาร ย่นเวลาไปถึงได้ในแค่ 6 อาทิตย์

นักวิทยาศาสตร์องค์การอวกาศสหรัฐฯ กำลังพยายามสร้างจรวดพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อจะให้สามารถย่นระยะเวลาเดินทางไปยังดาวอังคารที่ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน มาเหลือแค่ 6 อาทิตย์เท่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์อวกาศได้พัฒนาระบบขับเคลื่อนของจรวดพลังงานนิวเคลียร์ ด้วยระบบแบบเดียวกับที่ก่ออำนาจระเบิดของลูกระเบิดไฮโดรเจนขึ้น ตามทฤษฎีแล้ว มันจะให้พลังขับดันสูงกว่าจรวดใช้พลังสารเคมีกว่ากันได้ถึง 300 เท่า โดยกินเชื้อเพลิงเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น ซึ่งตามหลักการทำงานของเครื่องยนต์จรวดนิวเคลียร์ จะต้องใช้คลื่นไมโครเวฟเผาก๊าซด้วยความร้อนอันมหาศาล จนกลายเป็นอนุภาคของก๊าซฮีเลียมที่มีประจุไฟฟ้า แล้วพ่นออกมาทางท่อแม่เหล็ก ขับดันยานให้ทะยานไปในอวกาศ นายบิลล์ เอมริช วิศวกรศูนย์การเดินทางในอวกาศมาร์แชลล์ขององค์การเชื่อว่าจะสามารถสร้างจรวดแบบนี้ขึ้นมาได้สำเร็จภายในช่วงเวลาไม่เกิน 10-20 ปีหน้านี้ (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2456 หน้า 7)





ค้างคาวเกาะกวม สารพิษเอื้อ กินแล้วถึงขั้น “โรควิกลจริต”

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบสารพิษระดับสูงในค้างคาวบนเกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งการบริโภคเนื้อค้างคาวมีผลต่อความผิดปกติทางสมองของมนุษย์ ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวโรโลยี (ประสาทวิทยา) ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม ระบุไว้ว่า จากการศึกษาของนักประสาทวิทยาพบสารพิษในตัวซากค้างคาวที่สตัฟฟ์ไว้ในพิพิธภัณฑ์บนเกาะกวม ซึ่งค้างคาวเป็นอาหารโปรดของชาวเกาะกวม การศึกษาพบด้วยว่าสาเหตุที่ค้างคาวบนเกาะกวมมีสารพิษนั้นเกิดจากการที่ค้างคาวกินเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่มีสารพิษ ส่งผลให้คนที่ทานเนื้อค้างคาวติดเชื้อและเกิดความผิดปกติทางสมอง ข่าวระบุว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นก้าวแรกในการไขปริศนาที่ว่าค้างคาวเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวกวมเป็นโรควิกลจริตหรือความผิดปกติทางสมองที่แพทย์เรียกว่า เอแอลเอส-พาร์กินสัน ซึ่งช่วงทศวรรษ 1940-1970 ชาวกวมที่เป็นโรควิกลจริตสูงขึ้นเป็น 100 เท่า ช่วงเวลาเดียวกับจำนวนค้างคาวบนเกาะกวมลดลงอย่างมาก ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ว่าค้างคาวเป็นต้นเหตุของโรคนี้ (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 10)





ครม.ตีกลับแผนตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยี

ครม.ตีกลับแผนแม่บทนาโนเทคโนโลยี 910 ล้านบาท ระบุใช้งบประมาณสูงเกินไปโดยแผนดำเนินการไม่ชัดเจน ขณะที่สำนักงบ-สคช.ระบุแผนแม่บทขาดภาพเชื่อมโยงยุทธศาสตร์รวมแนะให้ความสำคัญกำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะยาวถึง 10 ปี แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (13 ส.ค.) ได้สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลับไปทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีระยะแรก ตั้งแต่ปี 2547-2551 ใหม่ เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าแผนแม่บทดังกล่าวเป็นแผนระยะสั้นแต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงถึง 910 ล้านบาท และมีหน่วยงานต่างๆ แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 3)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เทน้ำผลไม้ทิ้ง หันมากินไวน์ขาวรีดไขมันออกได้มากกว่ากัน

คณะผู้เชี่ยวชาญได้เสนอผลของการศึกษาวิจัยผลของการดื่มไวน์ของคนอ้วน ในที่ประชุมเรื่องไวน์กับสุขภาพ ในประเทศเยอรมนีว่า จากการทดลองกับคนอ้วน 40 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ดื่มน้ำผลไม้วันละ 200 มิลลิลิตร ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้ดื่มเหล้าไวน์ในปริมาณเท่ากัน พร้อมกับการควบคุมอาหารไปด้วย ดร.เฮดกวิก เฮอร์เบิร์ต ดิตชูเนต หัวหน้าคณะนักวิจัยกล่าวเปิดเผยผลว่า การดื่มไวน์กับการบริโภคอาหารที่ควบคุมไปด้วย ช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าในกลุ่มผู้ที่ดื่มไวน์เฉลี่ยแล้วน้ำหนักลดลงได้ 4.5 กก. เศษๆ ส่วนพวกดื่มน้ำผลไม้ เฉลี่ยแล้วน้ำหนักลดลงไป 3.76 กก. เขายังบอกเสริมว่า การดื่มเหล้าไวน์ในปริมาณพอประมาณ ไม่เป็นอันตรายกับตับหรือสุขภาพของคนเราแต่อย่างใด (ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ผลิตเตาอบอินฟราเรดกึ่งสูญญากาศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย

นายบวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัยเตาอบอินฟาเรดแบบกึ่งสูญญากาศ ร่วมกับนายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง นักวิจัยโครงการอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ผลงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อออกแบบพัฒนาเครื่องอบแห้งสมุนไพร ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านประสบปัญหา พบว่าการอบแห้งด้วยเตาอบอินฟราเรดน่าจะเหมาะ เนื่องจากเป้าหมายหลักในการอบสมุนไพรคือให้สมุนไพรอบออกมาแล้วแห้งสนิท สามารถนำไปบดเป็นผงบรรจุในแคปซูลได้ง่ายและได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่เสียคุณค่าทางคุณสมบัติของตัวยาแต่อย่างใด นายบวรโชคกล่าวอีกว่า จุดเด่นของอินฟราเรดมีคุณสมบัติทนความร้อนดีเยี่ยม แข็งแกร่งและไฟไม่รั่ว ซึ่งมีความสามารถในการแผ่ความร้อนสูง และอีกทั้งยังถ่ายเทความร้อนได้เร็วและควบคุมได้ง่าย ใช้เวลาในการทำงานน้อยลง โดยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 30-50% อีกทั้งขนาดของเตาอบอินฟราเรดยังมีขนาดให้เลือกตามความเหมาะสม และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การอบไม้ อบวัตถุดิบ อบโลหะอินฟราเรดก็สามารถทำได้ นอกจากนี้อุตสาหกรรมเกษตรยังสามารถนำไปอบแห้งผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ได้เหมือนกัน ผู้สนใจถามได้ที่ โทร. 0-2470-9678, 0-2872-9483, 0-2470-9190 (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





วิจัยพบ 81% ของคนคิดฆ่าตัวตาย ไม่ได้วางแผนหรือแสดงท่าทีก่อน

ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยผลการศึกษาการระบาดวิทยาของการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย ของ น.ส.นิรมล เมืองโสม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 2,470 ราย จาก 7 จังหวัด คือ ระยอง ชัยภูมิ เพชรบุรี พิจิตร เชียงราย กระบี่ ตรัง ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2545 พบว่ามีอัตราการทำร้ายตัวเอง 51 คนต่อแสนคน แต่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 8 คนต่อแสนคน และมีอัตราการทำร้ายตัวเองมากกว่า 1 ครั้ง 5 คนต่อแสนคน สาเหตุ 38% มาจากความน้อยใจที่ถูกคนใกล้ชิดดุด่า 19% เกิดจากผิดหวังในความรัก หึงหวง และ 11% เกิดจากปัญหาโรคเรื้อรัง พิการ เสียโฉม ด้าน น.ส.นิรมล กล่าวว่า วิธีการทำร้ายตนเองที่พบบ่อยที่สุดคือ การกินสารเคมี 46% ส่วนการฆ่าตัวตายนั้น 81% ไม่ได้คิดวางแผนมาก่อน และ 75% ไม่แสดงท่าทีหรือบอกคนอื่นว่าจะทำร้ายตนเอง ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 65% ใช้วิธีรุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่เสียชีวิต คือ ผูกคอตายและยิงตัวตาย นอกจากนี้ ยังพบว่าเพศชายและเพศหญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายใกล้เคียงกัน คือ 51% และ 49% ผู้ฆ่าตัวตาย 57% มักเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ช่วงอายุ 20-39 ปี อายุน้อยที่สุดที่พบคือ 9 ปี มากที่สุดคือ 89 ปี (มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 12)





อาหารเสริมบำรุงของนักกีฬา เพาะได้ทั้งกล้ามและสติปัญญา

นักวิจัยพบว่า อาหารเสริมที่พวกนักกีฬาใช้บำรุงร่างกายนั้นประกอบด้วยสารที่เรียกว่า “ครีอะติน” เป็นสารประกอบที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ เป็นที่นิยมของนักกีฬา กินเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของร่างกาย นักวิจัยของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลียได้ค้นพบคุณประโยชน์ของมัน เมื่อศึกษากับอาสาสมัครที่เป็นชายฉกรรจ์จำนวน 45 คน ให้ทดลองบริโภคอยู่นาน 6 อาทิตย์ แล้วจับทดสอบระดับสติปัญญาทั่วๆ ไปและความจำด้วยการให้จำตัวเลขหลายๆตัว เปรียบเทียบกันกับผู้ที่กินอาหารปกติธรรมดา เมื่อครบกำหนด หัวหน้าของนักวิจัย ดร.คาโรลีน แร กล่าวว่า ผลของการทดสอบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาหารเสริมครีอะตินช่วยเพิ่มพูนกำลังสมองขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้ทดสอบสามารถจำเลขได้มากหลักขึ้น ประมาณจาก 7 หลัก เป็น 8.5 หลัก โดยเฉลี่ย และเชื่อว่ามันได้ช่วยเพิ่มพลังของสมองในการคิดคำนวณและสติปัญญาทั่วๆไป อย่างไรก็ตามความรู้ถึงผลของการบริโภคมันไปนานๆ ยังมีอยู่อย่างจำกัด เพราะเคยมีข่าวว่ามันมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งคงจะเหมาะสำหรับผู้อยากให้หัวดีขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว อย่างเช่น พวกนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสอบ (ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ยาแอสไพรินนับเป็นยายอดอัศจรรย์ รักษามะเร็งผิวหนังจนถึงทรวงอกได้

วารสารวิทยาศาสตร์ “ธรรมชาติ” รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยโรคมะเร็งในกรุงลอนดอนได้พบว่าสรรพคุณการแก้อักเสบของยาแอสไพริน ช่วยรักษาอาการเกิดเนื้องอกรูปเห็ดที่หนังศีรษะ อันเป็นโรคมะเร็งของผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งมักเป็นกรรมพันธุ์ เริ่มมาจากการอักเสบของเนื้อเยื่อที่ผิวหนังหรือตามบริเวณที่มีขนขึ้นตามร่างกาย ทำให้เพาะโมเลกุลออกมาและอาจไปช่วยหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็งให้ดำรงชีวิตขึ้นได้ ด้วยเหตุที่ตัวยาแอสไพรินแก้การอักเสบได้ ดังนั้นมันจึงทำให้พวกเซลล์มะเร็งเหล่านั้นขาดอาหารลง รายงานการศึกษากล่าวว่า ยาแอสไพรินยังส่อว่า อาจใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นได้อีกด้วย เช่นมะเร็งเมล็ดโลหิตและของต่อมน้ำเหลืองบางแบบด้วย (ไทยรัฐ วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





มหิดลวิจัย ‘เถาโคคลาน’ แก้ปวด-ต้านอักเสบ

รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะร่วมกันวิจัยสารสำคัญจากเถาโคคลาน ชื่อเบอร์จีนิน (bergenin) ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาปวดกล้ามเนื้อ-ต้านอักเสบโดยเชื่อว่า จะสามารถพัฒนาเป็นยาเม็ดได้ สำหรับโคคลาน ต้นโด่ไม่รู้ล้ม และทองพันชั่ง เป็นสมุนไพรที่ชาวชนบทนิยมใช้เป็นยาต้นและยาลูกกลอน สรรพคุณรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ยังไม่มีงานวิจัยวิทยาศาสตร์รับรอง ในการศึกษาสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด พบว่า สารสกัดของเถาโคคลานและสารประกอบ bergenin (20 มก./กก.) แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ใกล้เคียงยาแผนปัจจุบัน แต่ไม่แสดงฤทธิ์แก้ปวด ทีมวิจัยจึงเลือกโคคลานเป็นสมุนไพรนำร่องในการวิจัยแบบบูรณาการกำหนดระยะเวลา 4 ปีได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





มหิดลวิจัย ‘หม่อน’ ใช้แทนครีมหน้าขาว

รศ.ดร.อ้อมบุญ ล้วนรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงผลการวิจัยพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ หม่อน อบเชย บานเย็น พบว่า สารสกัดหม่อนและอบเชยมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซน์ไธโรซิเนส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวหนังคล้ำหมอง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า จึงเหมาะที่จะนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางช่วยลดสีคล้ำบนใบหน้า โดยการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในโครงการ 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบลได้เลย ทีมวิจัยกล่าวอีกว่า สารสกัดจากแก่นกิ่งหม่อนขนาดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 15 มิลลิเมตรที่ลอกเปลือกออกแล้วมีฤทธิ์สามารถยับยั้งเอนไซม์ไธโรซิเนสได้ดีกว่าเปลือก 3 เท่าในความเข้มข้นที่น้อยกว่า 10 เท่า และผลการวิจัยยืนยันว่า ผู้ผลิตสามารถใช้กิ่งหม่อนแทนการใช้รากหม่อน ที่ต้องโค่นต้นทิ้งทำให้ต้นทุนสูงและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ด้วย ในส่วนของอบเชย พบว่ารากอบเชยเถามีศักยภาพสูงมาก สำหรับใช้เตรียมสารสกัดเพื่อใช้ในเครื่องสำอางลดความคล้ำของผิวพรรณในการวิจัยสามารถเตรียมสารสกัดเข้มข้นที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไบโรซิเนสได้มากกว่า 90% ส่วนบานเย็นใช้เฉพาะผลทั้งหมดเพื่อเตรียมสารสกัดพบว่ามีฤทธิ์ต้านจุลชีพและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว แต่อบเชยและบานเย็นเป็นการทดสอบในหลอดทดลองเท่านั้น ยังไม่ได้ทดสอบอาการแพ้และระคายเคือง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เผยรหัสจีโนมมนุษย์คล้ายหนูบ้าน

คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ (เอ็นเอชจีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ร่วมกันเปรียบเทียบสายดีเอ็นเอของมนุษย์กับชิมแปนซี ลิงบาบูน แมว สุนัข วัว หมู หนูบ้าน หนูตัวเล็ก ไก่ ปลาม้าลาย และพัฟเฟอร์ฟิชอีก 2 สายพันธุ์ ดร.อีริค กรีน ผู้อำนวยการเอ็นเอชจีอาร์ไอ และหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ผลที่ได้นำมาซึ่งหลักฐานชี้ชัดว่ามนุษย์มีความใกล้ชิดกับหนูบ้านมากกว่าสัตว์กินเนื้ออย่างสุนัขและแมว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ครม.มีมติห้ามนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินมาตรการด้านการนำเข้า ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายการนำเข้า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่จะเป็นเศษเหลือทิ้ง หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อบุคคล สัตว์ และพืชยกเว้นกรณีที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาแนวโน้มการนำเข้าสินค้าใช้แล้วสูงขึ้นเพื่อนำมารีไซเคิลและแยกส่วนที่เป็นเศษเหลือทิ้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกประกาศควบคุมการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยเร็ว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





กมธ.ร่วมแก้กฎหมายสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์

กมธ.ร่วมแก้กฎหมายสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ นายปกิต พัฒนกุล กรรมาธิการจากสภาผู้แทนราษฎรซีกรัฐบาล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ทบทวนกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้คุ้มครองชื่อข้าวหอมมะลิ และพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ กล่าวว่า จากการหารือกันภายในของรัฐบาลนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องตั้งชื่อของสายพันธุ์พืชและสัตว์ ออกจากนิยามของคำว่าชื่อสามัญในมาตรา 5 แล้ว ทำให้กรณีข้าวหอมมะลิ จะไม่ถูกระบุว่าเป็นชื่อสามัญอีกต่อไป จากนั้น คณะกรรมาธิการร่วมกัน จึงได้ยกมือลงมติด้วยคะแนน 11 ต่อ 3 ให้ตัดข้อความว่า “หรือเป็นชื่อของสายพันธุ์พืชหรือสัตว์” ออกจากนิยามของคำว่า “ชื่อสามัญ” ในมาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส่งผลให้ชื่อของ “ข้าวหอมมะลิ” และชื่อสายพันธุ์พืชและสัตว์ สามารถขอรับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายฉบับนี้ได้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2546 หน้า 15)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215