หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 30 ประจำวันที่ 2003-08-19

ข่าวการศึกษา

‘สิริกร’ ชงข้อมูลอุดหนุน 14 ปีเริ่มแจกทุนหวยรัฐภาคเรียน2
‘sMaRT School’ โรงเรียนพัฒนาความคิดด้วยประสิทธิภาพ ICT
คนเก่งสวนกุหลาบ โชว์กึ๋นสิ่งแวดล้อมโลก
ผ่านฉลุยร่าง ม.เทคโนฯราชมงคล
ม.สงขลาเร่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ
เปิดแผนการศึกษาคนพิการ ทุ่ม 200 ล้าน แจงคูปองนำร่อง 13 จังหวัด
ไทยซิว 3 เหรียญเงิน ในการแข่งคอมพ์โอลิมปิก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

หุ่นยนต์แมลงสาบ
e-visa เทคโนโลยีใหม่นักเดินทาง
หุ่นยนต์นักสืบงู
ถ่านอัดแท่งซังข้าวโพดผลงาน ‘หนองกระท้าว-พิษณุโลก’
กว่าจะมาเป็น ‘สัปดาห์วิทยาศาสตร์ไทย’
กลางปี 47 คนไทยได้ใช้พาสปอร์ตฝังชิพ

ข่าววิจัย/พัฒนา

นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสมุนไพรเตาอบอินฟราเรด
เทคโนโลยีซ่อมอาคารแบบประหยัด
นักวิจัย มข. สกัด “ข่อย” แก้ปัญหาโรคฟัน
นักวิจัยไทยเร่งหา DNA แยกเพศตาลโตนดเปลี่ยนพืชไร่ค่าสู่ธุรกิจชุมชน
ยากำจัดปลวกจากพริกไทยเบา

ข่าวทั่วไป

น้ำพุร้อนไม่มีคุณภาพ
พบสัญญาณอันตรายวัยรุ่นไทยชอบรุนแรงต้นตอจากครอบครัว
ชี้หมอสมองไหลค่าจ้างต่ำ-งานหนัก
‘กระดูก-เครื่องมือ’ ถ้ำเขาผาลาด 4 พันปี
เลือกเชียงใหม่จัดงานพืชสวนโลกปี 46 พื้นที่ติดโครงการไนท์ซาฟารี





ข่าวการศึกษา


‘สิริกร’ ชงข้อมูลอุดหนุน 14 ปีเริ่มแจกทุนหวยรัฐภาคเรียน2

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษานัดแรก วันที่ 18 สิงหาคม จะนำเสนอข้อมูลการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละระดับ โดยเปรียบเทียบวงเงินงบประมาณประกอบการพิจารณา ได้แก่ 1. นโยบายเดิม อุดหนุนอนุบาลบางส่วน ประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนปลาย 100% มีนักเรียน 13.7 ล้านคน ใช้งบฯ อัตราเดิมปีที่ผ่านมา 30,038 ล้านบาท อัตราใหม่ 32,307 ล้านบาท 2. นโยบายใหม่ อนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น 100% และมัธยมปลาย 505 เฉพาะนักเรียนยากจนมีนักเรียน 13.1 ล้านคน นักเรียนลดลง 6 แสนคนใช้งบฯ อัตราเดิม 29,716 ล้านบาท อัตราใหม่ 31,619 ล้านบาท 3. อุดหนุนการศึกษา 14 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล 2 ปี ถึงมัธยมปลาย จำนวนนักเรียน 13.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 แสนคน ใช้งบประมาณ 33,920 ล้านบาท 4. อุดหนุนการศึกษา 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 ปี ถึงมัธยมปลาย จำนวนนักเรียน 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 แสนคน ใช้งบฯ 34,700 ล้านบาท ทั้งนี้ ในวันที่ 20 สิงหาคม จะเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อมูลเรื่องนี้ด้วย (มติชน เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 15)





‘sMaRT School’ โรงเรียนพัฒนาความคิดด้วยประสิทธิภาพ ICT

โครงการ SMaRT School (Science Mathematics and Rich Technology) โรงเรียนแนวใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นโดยมีผลสืบเนื่องจากการหารือร่วมกันในปี 2545 ระหว่างนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ ของอังกฤษ ถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศที่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย รูปแบบโครงการนำร่อง SMaRT School เป็นการนำ ICT (Information Communication and Technology) มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาระการเรียนรู้ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีการสอนในประเทศไทยมาก่อนเป็นตัวนำเสนอ โดยครูทุกประเทศในโครงการฯ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดและพัฒนาแนวการสอนวิชานี้ผ่านทางเว็บไซต์ htt: www.baesystems-isn.com ของ SMaRT School ได้ด้วย โดยขั้นแรกของการอบรมวิทยากรแกนนำเพื่อปฏิบัติการใช้ ICT (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





คนเก่งสวนกุหลาบ โชว์กึ๋นสิ่งแวดล้อมโลก

พีระ ผิวนิ่ม (โอ) เด็กหนุ่มวัย 18 ปีจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสี่เยาวชนดีเด่น จากเยาวชนกว่า 100 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เข้าร่วมการประชุม ECO-INNO-VATE 03 ณ ประเทศออสเตรเลีย ไปร่วมประชุมในเวที “TUNZA International Youth Conference” ที่จะจัดขึ้นวันที่ 25-27 สิงหาคม 2546 ที่ประเทศรัสเซีย โดยความร่วมมือในโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และการสนับสนุนของกลุ่มไบเออร์ “เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวนะครับทุกคนสามารถเริ่มจากที่บ้าน รู้จักการรีไซเคิลวัสดุใดที่นำมาใช้หรือประยุกต์ได้ หรือเพื่อนๆ อาจจะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เราไม่มีเวลาแล้ว อย่ารอที่จะเริ่มต้น ถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้วขยายไปสู่สังคมใหญ่ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาอาการให้โลกใบนี้นี้ได้บ้าง” ผู้แทนประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ผ่านฉลุยร่าง ม.เทคโนฯราชมงคล

ผศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 แล้ว จากนั้นจะเข้าสู่การประชุมครม. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณา และจึงกลับมาที่ ครม.อีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้การหลอมรวมวิทยาเขตในสังกัดจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งในด้านการบริหารจัดการ ความเป็นอิสระทางวิชาการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ม.สงขลาเร่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ

รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงการกำหนดทิศทางของแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลาฯ ในระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า (2546-2549) ว่า มหาวิทยาลัยได้สรุปภาพรวมของทิศทางดังกล่าวไว้ 5 แนวทาง คือ การมุ่งเน้นการวิจัย เพื่อพัฒนาภูมิภาคและประเทศ การผลิตบัณฑิตที่มีความเข้มแข็ง คิดเป็น ทำเป็นมีคุณธรรมจริยธรรมตามแนว พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างใกล้ชิด การสร้างความเข้มแข็งให้กับวิทยาเขตต่างๆ และการเป็นองค์กรแห่งธรรมาภิบาล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับที่มีประสิทธิภาพ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนฯ กล่าวต่อว่า แผนงานพัฒนาดังกล่าวได้เข้าสู่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย และมีมติเห็นชอบพร้อมเสนอแนะว่ามหาวิทยาลัยควรประกาศความเป็นเลิศในสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ที่วิทยาเขตภูเก็ต เนื่องจากเป็นสาขาที่สามารถสนองความต้องการของท้องถิ่นและรัฐบาลในเชิงการท่องเที่ยว ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะประกาศแผนพัฒนาดังกล่าวต่อประชาคมของวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขตเพื่อทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจะทำแผนปฏิบัติการต่อไป (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เปิดแผนการศึกษาคนพิการ ทุ่ม 200 ล้าน แจงคูปองนำร่อง 13 จังหวัด

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการว่า ขณะนี้สำนักส่งเสริมการศึกษาพิเศษ ศธ. ที่ดูแลการศึกษาคนพิการได้จัดให้มีกองทุนการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมีงบประมาณดำเนินการเบื้องต้น 200 ล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจะนำมาจัดสรรให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษเพื่อคนพิการ ที่มีอยู่ 76 โรง และโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้พิการอีก43 โรง โดยจะจัดสรรงบฯ ให้กับโรงเรียนที่เปิดรับเด็กพิการเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ ผ่านศูนย์เขตในรูปแบบของคูปองการศึกษา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าว่าจะให้การสนับสนุนเด็กพิการจำนวน 20,000 คน โดยจะทดลองนำร่องใน 1 โรงเรียน 1 อำเภอ ที่มีศูนย์การศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ ใน 13 จังหวัด ภายในเดือนกันยายนนี้ (สยามรัฐ วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ไทยซิว 3 เหรียญเงิน ในการแข่งคอมพ์โอลิมปิก

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยผลการแข่งขันคณิต-วิทย์โอลิมปิกรายการสุดท้ายที่อเมริกา ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ณ เมือง เมดิสัน รัฐวัสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ผู้แทนจากประเทศไทย สามารถคว้า 3 เหรียญเงินมาได้ ซึ่งได้แก นายณัฐวุฒิ แย้มพิกุลสกุล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, นายปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และนายนวพล ธีระอัมพรพันธุ์ จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย และอีก 1 เหรียญทองแดง โดย นายพิชญุฒม์ จิรภิญโญ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สยามรัฐ วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


หุ่นยนต์แมลงสาบ

ดร.โรเบิร์ต ฟูล ศาสตราจารย์ด้านชีวศึกษาแบบบูรณาการแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาการเคลื่อนไหวของแมลงโดยการถ่ายทำเทปด้วยเครื่องมือความเร็วสูงมาก บันทึกไว้ทุกอาการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างหุ่นยนต์แมลง 6 ขา ที่เรียกว่า อาร์เฮกซ์ (Rhex) คือหุ่นยนต์ตัวนี้วิ่งบนผิวดินได้เหมือนแมลงสาบ และว่ายน้ำได้เหมือนปูเวลาเคลื่อนไหวในน้ำ องค์การอวกาศ แห่งสหรัฐอเมริกาหรือที่เรียกว่า นาซา ได้ให้เงินสนับสนุนการวิจัย ดร.บูห์เลอร์ นักวิจัยอีกคนหนึ่ง แห่งมหาวิทยาลัยแมคกิล ประเทศแคนาดาได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเช่นกัน โดยบอกว่าหุ่นยนต์ประเภทอาร์เฮกซ์ยังจะออกแบบได้ง่ายกว่าหุ่นยนต์ 2 ขา เลียนแบบมนุษย์ เพราะหุ่นยนต์หลายขานั้นมีการทรงตัวได้ดีกว่าของประเภทเลียนแบบมนุษย์มาก ส่วนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็อาศัยลักษณะแมลงสาปแล้วสามารถออกแบบประดิษฐ์ให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้ประมาณ 5 เท่าของความยาวตัวเองต่อวินาทีขนาดเท่ากล่องรองเท้าตอนนี้ก็สร้างเสาอากาศเป็นเหมือนกับเรดาห์ นำทิศทางการเคลื่อนไหว (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2546 หน้า 4)





e-visa เทคโนโลยีใหม่นักเดินทาง

มร.ซุน ฮอค ลิม ประธานบริษัท ซีต้า ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีที่จะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้ คือ เทคโนโลยีการจัดการเรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์วีซ่า (Electronic Visa System) หรือ อี-วีซ่า ที่ทำให้สายการบินต่างๆ สามารถตรวจสอบการขอวีซ่า หรือใบอนุญาตเข้าประเทศ ของผู้ซื้อตั๋วผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อการทำงานผ่านเน็ตเวิร์กได้ทันที ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าวแล้ว คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ระบบนี้ (เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





หุ่นยนต์นักสืบงู

รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอเอฟพีเผยว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ประดิษฐ์คิดค้นหุ่นยนต์สอดแนมรูปร่างเหมือนงูขึ้น โดยใช้หลักวิวัฒาการของดาร์วินในการเคลื่อนไหวโดยสามารถเคลื่อนที่ได้แม้ว่าจะได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ ซึ่งผู้ออกแบบหุ่นยนต์ดังกล่าวคือ ปีเตอร์ เบนท์ลี่ และเซียวาช ฮารุน มาดาวี 2 นักวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ จาก University College London โดยได้รับทุนวิจัยจาก Britain aerospace company BAE Systems ซึ่งเจ้าหุ่นยนต์นักสืบงูนี้มีชื่อว่า “สเนกบอท” มันสามารถเลื้อยคลานรอบๆ สนามรบโดยใช้การมอง, การฟัง และเซ็นเซอร์อื่นๆ เพื่อเก็บภาพอากัปกิริยาของศัตรู สเนกบอทถูกประกอบขึ้นโดยมีกระดูกสันหลังซึ่งทำจากโมดูลที่ประกอบต่อกันเหมือนของเล่นเด็ก และสามารถเคลื่อนไหวโดยกล้ามเนื้อที่ทำจากโลหะอัลลอยในนิกเกิลและไททาเนียม ซึ่งจะหดตัวเมื่อกระแสไฟไหลผ่าน แต่มันจะกลับสู่ร่างปกติเมื่อปิดกระแสไฟไม่ให้ไหลผ่าน ทั้งนี้ผู้ออกแบบได้ทดสอบโปรแกรมโดยทำให้หลายส่วนของหุ่นยนต์ใช้การไม่ได้ เพื่อจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับบาดเจ็บและเขาก็พบว่า ถึงแม้มันจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เมื่อบาดเจ็บ แต่สมองก็ยังทำงานตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง(เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





ถ่านอัดแท่งซังข้าวโพดผลงาน ‘หนองกระท้าว-พิษณุโลก’

นายสาคร เมืองยง เลขานุการกลุ่มถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ต.หนองกระท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ในเขตพื้นที่ อ.นครไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดถึง 30,000 ไร่ ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้มีเศษซังข้าวโพดเหลืออยู่จำนวนมาก ได้คิดค้นวิธีการผลิตถ่านจากซังข้าวโพดที่เผาได้นั้นมาบดและผสมกับส่วนผสมหลายสูตร และทดลองเข้าเครื่องอัดแท่ง ผลปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากถ่านที่ได้ผลิตออกมามีประสิทธิภาพในการเผาไหม้สูงและใช้ประโยชน์ได้ดีใกล้เคียงกับถ่านที่ผลิตจากไม้ สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดของชาวบ้านตำบลหนองกระท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ตำบลหนองกระท้าว โทรศัพท์ 0-5538-8980 (สยามรัฐ จันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2546 หน้า 21)





กว่าจะมาเป็น ‘สัปดาห์วิทยาศาสตร์ไทย’

ในปี พ.ศ. 2525 สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ รศ.ดร.กำจัด มงคลกุล นายกสมาคมได้เสนอรัฐบาลกำหนดวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างถูกต้อง และได้ถวายพระนามให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์” มีการจัดงานนิทรรศการวิทยาศาสตร์มในปีแรกเริ่มต้นที่บริเวณท้องฟ้าจำลอง หรือสมัยนั้นเรียกว่า ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา นับแต่นั้นมารัฐบาลก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดงานทั่วประเทศ และให้ความสำคัญกับงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ โดยการสนับสนุนงบประมาณเป็นประจำทุกปี (สยามรัฐ จันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





กลางปี 47 คนไทยได้ใช้พาสปอร์ตฝังชิพ

น.พ.สุรพงษ์ สิบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ประมาณกลางปี 47 คนไทยจะได้ใช้หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตแบบฝังชิพ ที่มีการบรรจุลายนิ้วมือไว้ในสมุดนอกเหนือจากข้อมูลเดิม เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกามีนโยบายให้ผู้โดยสารที่เดินเข้าประเทศต้องมีข้อมูลลายนิ้วมือแสดงในพาสปอร์ตด้วย โดยจะเริ่มตรวจสอบตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 47 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายให้กระทรวงต่างประเทศ ร่วมกับ กระทรวงไอซีที จัดทำหนังสือเดินทางที่สามารถแสดงข้อมูลลายนิ้วมือแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ คาดว่าจะสามารถเปิดทำ อี-พาสปอร์ตได้ ราวเดือน ก.ค.-ก.ย. 47 (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสมุนไพรเตาอบอินฟราเรด

ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ทำวิจัยเรื่อง “เตาอบอินฟราเรดแบบกึ่งสุญญากาศ” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการศึกษากระบวนการผลิตสมุนไพรหลายชนิด เช่น หญ้าหนวดแมว ขิง ข่า หรือ ไพล หลายแห่งพบว่า ในกระบวนการผลิตสมุนไพรต้องใช้แสงแดด สำหรับอบสมุนไพรนาน 2-3 วัน ประกอบกับข้อจำกัดของเตาอบสมุนไพรแบบเก่าที่ยังมีประสิทธิภาพต่ำทำให้เกิดปัญหาด้านเชื้อราหรือความสะอาดจึงเกิดแนวคิดพัฒนาเตาอบอินฟราเรดแบบกึ่งสุญญากาศขึ้น ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โทร 0-2470-9678, 0-2872-9483, 0-2470-9190 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





เทคโนโลยีซ่อมอาคารแบบประหยัด

นักวิจัยเอไอที ได้พบวิธีซ่อมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแบบประหยัด ด้วยเฟอร์โรซีเมนต์ คอนกรีตเสริมเหล็กประสิทธิภาพสูงแต่ราคาถูก โดย รศ.ดร.พิชัย นิมิตยงกุล ผู้อำนวยการศูนย์สารนิเทศเฟอร์โรซีเมนต์ระหว่างชาติ (IFIC) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า เฟอร์โรซีเมนต์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประสิทธิภาพสูง มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรง ทำให้ซ่อมแซมอาคารคอนกรีตที่โครงสร้างได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุหรือเกิดการแตกร้าว เหล็กเสริมเกิดสนิม ซึ่งการใช้เฟอร์โรซีเมนต์นอกจากจะช่วยให้งานซ่อมแซมอาคารทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ และหลังจากซ่อมแซมแล้วก็ไม่ทำให้รูปร่างและพื้นที่การใช้เดิมเปลี่ยนแปลงมากนัก การเสริมโครงสร้างอาคารด้วยเฟอร์โรซีเมนต์ต้องอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรม ทักษะและประสบการณ์ รวมถึงต้องติดตั้งตามขั้นตอนด้วย หากผู้ใดสนใจปรึกษาการใช้เฟอร์โรซีเมนต์ได้ที่กลุ่มนักวิจัยเทคโนโลยีเฟอร์โรซีเมนต์ สถาบันเอไอที (เดลินิวส์ วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2546 หน้า 16)





นักวิจัย มข. สกัด “ข่อย” แก้ปัญหาโรคฟัน

รศ.ดร.สุวิมล ทวีชัยศุภพงศ์ นักวิจัยจากภาควิชาวินิจฉัยโรคช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงงานวิจัยที่ใช้สารสกัดจากใบข่อยว่า จากการทดลองกับอาสาสมัครโดยใช้สารสกัดบ้วนปากแล้วรู้สึกสะอาดและยังช่วยรักษาเหงือกและฟันได้ แต่จะต้องมีการปรับปรุงกลิ่นและรสสารสกัดจากใบข่อยลง และในอนาคตก็อาจจะมีการผลิตเจลจากใบข่อย เพื่อใช้สำหรับป้ายรักษาแผลในปากด้วย (สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2546 หน้า 7)





นักวิจัยไทยเร่งหา DNA แยกเพศตาลโตนดเปลี่ยนพืชไร่ค่าสู่ธุรกิจชุมชน

นักวิจัยในโครงการวัฒนธรรมตาลโตนดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ค้นพบวิธีการช่วยเกษตรกรผู้มีอาชีพการเกี่ยวกับการใช้ผลผลิตจากตาลโตนดสร้างรายได้ โดยการหาวิธีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพและวิธีการแยกเพศตาลโตนด “เพศผู้” และ “เพศเมีย” ตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องเสียเวลาในการรอเป็นสิบๆ ปีจนตาลออกดอกออกลูกจึงรู้ตัวผู้หรือตัวเมีย โดยได้ ผศ.ดร.จรัสศรี นวลศรี จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มอ.หาดใหญ่ มาเริ่มกระบวนการทดสอบเพศของต้นตาลโดยกระบวนการพิสูจน์ DNA เชื่อว่าหากการศึกษาเบื้องต้นในการค้นหาเครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยีนที่มีการควบคุมการสร้างเพศในตาลโตนด เป็นไปได้และทำสำเร็จจะทำให้ชื่อเสียงและผลงานด้านพืชศาสตร์ของไทยโด่งดัง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 30)





ยากำจัดปลวกจากพริกไทยเบา

อ.นันทวัน บุณยะประภัศร จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ได้ทำการศึกษาหาสารจากธรรมชาติซึ่งปลอดภัยมาใช้ในการกำจัดปลวก คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาวัสดุเหลือใช้ในการผลิตแทน ซึ่งวัสดุเหล่านี้ได้มาจากการผลิตพริกไทยดำ ทั้งพริกไทยเม็ดลีบที่เกษตรกรร่อนเอาออก และเนื้อกับเปลือกที่ถูกสีออกในขบวนการผลิตพริกไทยล่อน การที่สารสกัดพริกไทยให้ผลในการกำจัดปลวกที่ดี จึงได้พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นผง ซึ่งสามารถพัฒนาได้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ที่ดี และออกฤทธิ์ได้นาน ซึ่งจะได้ศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ และควบคุมมาตรฐานต่อไป (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 30)





ข่าวทั่วไป


น้ำพุร้อนไม่มีคุณภาพ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คณะกรรมาธิการเพื่อการค้าที่เป็นธรรม หรือ เอฟซีที ได้ศึกษาโฆษณาบ่อน้ำพุร้อน 22,000 แห่ง ทั่วโลก พบว่า 70% ของสถานประกอบการบ่อน้ำพุร้อนในญี่ปุ่นบิดเบือนคุณภาพน้ำพุร้อน และมีเพียง 30% ของสถานประกอบการเท่านั้นที่โฆษณาตามความเป็นจริงว่าบ่อน้ำพุร้อนที่ให้บริการอยู่เป็นบ่อตามธรรมชาติโดยไม่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำ หรือสร้างบ่อขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ทางเอฟซีทียังพบว่าบ่อยครั้งที่สถานบริการน้ำพุร้อนได้นำน้ำธรรมดามาผสมกับน้ำพุร้อน หรือสูบน้ำจากบ่อน้ำพุร้อนตามธรรมชาติมาใส่บ่อที่สร้างขั้นมาใหม่ หรือไม่ก็นำน้ำพุร้อนที่ผ่านการใช้งานแล้ว กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในการแช่น้ำพุร้อนนั้นมีประโยชน์หลายประการเพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายแล้ว ยังสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยบางอย่างได้ด้วย แต่คุณประโยชน์เหล่านี้จะหายไปทันทีถ้านำคลอรีนมาเติมในน้ำพุร้อน เพื่อทำให้น้ำสะอาดหรือแม้กระทั่งการอุ่นหรือทำให้น้ำร้อนขึ้นนอกเหนือจากที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมา รวมทั้งการนำน้ำพุร้อนกลับมาใช้ใหม่ก็ทำให้แร่ธาตุต่างๆ ในน้ำสลายไปได้ แต่สถานให้บริการน้ำพุร้อนหลายแห่งกลับไม่ได้บอกรายละเอียดเหล่านี้ให้ลูกค้าทราบ (เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2546 หน้า 39)





พบสัญญาณอันตรายวัยรุ่นไทยชอบรุนแรงต้นตอจากครอบครัว

นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป เจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็ก เปิดเผยภายหลังเข้าพบคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรายงานข้อมูลจากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงในเด็กวัยรุ่นในโรงเรียนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ว่า จากการเข้าไปศึกษาวิจัยโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ทำโดยการเข้าไปพูดคุยและสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเรียนจำนวน 131 คน เป็นนักเรียนที่ถูกโรงเรียนแทงบัญชีว่าเป็นเด็กเหลือขอ มีปัญหาพฤติกรรมทางเพศ จากนักเรียนทั้งหมด 2,000 คน ซึ่งพบสัญญาณความรุนแรงในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือด่วน เนื่องจากผลวิจัยพบว่าเด็กอายุระหว่าง 13-19 ปี 50.84% อยากตาย โดยมีเด็ก 37.90% กินเหล้า-สูบบุหรี่ ทั้งนี้เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวใช้ความรุนแรงสูงมาก (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 11)





ชี้หมอสมองไหลค่าจ้างต่ำ-งานหนัก

น.พ.พินิจ กุลละวณิชย์ เลขาธิการแพทย์สภา กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “ปัญหาและแนวทางแก้ไขการลาออกของแพทย์จากระบบราชการ” ที่โรงพยาบาลราชวิธี ว่าแพทย์สภาได้ส่งแบบสอบถามไปยังแพทย์ทั่วประเทศ จำนวน 27,000 คน เพื่อทราบจำนวนแพทย์ที่ลาออกและเหตุผลที่แท้จริง ระหว่างวันที่ 2 ก.ค.-ส.ค. 2546 โดยมีแพทย์ที่ตอบกลับมาทั้งสิ้น 1,137 คน เป็นกลุ่มแพทย์ลาออกถึง 850 คน และคิดจะลาออกจำนวน 287 คน ในจำนวนแพทย์ที่ลาออกนั้น ย้ายเข้าสู่ระบบเอกชน 469 คน คลินิก 317 คน และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 23 คน ส่วนที่เปลี่ยนอาชีพไปเลย 41 คน สำหรับปัจจัยที่ทำให้แพทย์ลาออกนั้น น.พ.พินิจ กล่าวว่า อันดับแรก คือ ค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป รองลงมาคือภาระหน้าที่รับผิดชอบมากเกินไป สถานที่ปฏิบัติงานอยู่ห่างไกลไม่พอใจระบบราชการ เสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน รวมทั้งการไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการและโครงการ 30 บาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ กฎหมายการชันสูตรพลิกศพ ฯลฯ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 11)





‘กระดูก-เครื่องมือ’ ถ้ำเขาผาลาด 4 พันปี

นายวรวุธ สุวรรณฤทธิ์ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี เดินทางมาที่เขาผาลาด และตรวจสอบโดยรอบพื้นที่ขุดแร่ จากนั้นเดินทางไปที่วัดท่ามะนาว ต.วังด้ง สถานที่เก็บเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องมือหินขัดที่พบในถ้ำ นายวรวุธกล่าวว่า โครงกระดูกและภาชนะดินเผาที่พบ สันนิฐานว่าอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ อายุกว่า 4,000 ปี ในฐานะนักโบราณคดีพบว่ามีเครื่องปั้นดินเผาชิ้นหนึ่งที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน เท่าที่ทราบใน จ.กาญจนบุรียังมีหลักฐานทางโบราณคดีอีกมาก แต่น่าเสียดายว่าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่ให้ความสนใจ หากค้นพบแล้วเจ้าของพื้นที่แจ้งให้ทางราชการทราบ จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อเยาวชนรุ่นหลังต่อไปได้” (มติชน เสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2546 หน้า 17)





เลือกเชียงใหม่จัดงานพืชสวนโลกปี 46 พื้นที่ติดโครงการไนท์ซาฟารี

มติของรัฐมนตรี อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (กรมวิชาการเกษตร) บริเวณไร่นาสาธิตแม่เหียะ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 500 ไร่ ในระยะเวลาการจัดงาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549-31 มกราคม 2550 ชื่องานเต็มๆ ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “งานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ราชพฤกษ์” เฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนพรรษา 80 พรรษา และชื่อภาษาอังกฤษ “RATCHAPHRUEK 2006” กิจกรรมคร่าวๆ ที่เตรียมจัดแสดงในงานนี้ ได้แก่ พื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยีและนิทรรศการที่เที่ยวกับการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก พื้นที่จัดการประกวดผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางด้านงานพืชสวน ทั้งสดและแปรรูป (ไม้ผลพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร) รวมทั้งอุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์ทางการเกษตรต่างๆ การประชุมสัมมนาวิชาการด้านพืชสวน การจำหน่ายสินค้าเกษตร วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตร การแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทย และนานาชาติ รวมถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทย (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม 2546 หน้า 39)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215