หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 16 ประจำวันที่ 2000-12-05

ข่าวการศึกษา

ดึงจันทรเกษมเข้าเอนท์ ลองปีหน้ารับแค่ 175 คน
ม.ธรรมศาสตร์เปิดโรงเรียนอนุบาล
สปศ.ยัน 4 ฝ่ายมอบให้ร่างเกณฑ์ประเมิน ย้ำมุ่งให้ปฏิบัติได้ไม่ใช่สกัดถ่ายโอนศึกษา
‘วิจิตร-ปุระชัย’ หนุนมหา’ลัยใช้ระบบไตรภาค
‘สมศักดิ์’ กร้าวจี้เลื่อนแผนโอนการศึกษาชี้มีสิทธิถูกรบ.ใหม่รื้อ-ย้ำต้องฟังผู้ปฏิบัติ
เร่งขยายเครือข่าย ‘สคูลเน็ต’ เป็น 5 พันแห่ง

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

บัณฑิตวิศวะจุฬาเผ่นนอก
ระบบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์
เชิญน.ศ.สร้างงานนวัตกรรมชิงรางวัล ‘ถ้ายพระราชทาน’
ระบบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์

ข่าววิจัย/พัฒนา

สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ลดอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอี
สหรัฐสร้าง ‘ฮ.จิ๋ว’ ลำแรกใช้ประโยชน์วงการแพทย์นำยารักษาโรคในสิ่งมีชีวิต

ข่าวทั่วไป

สร้างอุโมงค์กลับรถแห่งแรกปากทางม.ปัญญาถ.พัฒนาการ
เลือกไทยฐานผลิตถ่านอัลคาไลน์
คนไทยได้รางวัลสหประชาชาติ อุทิศตนต่อต้านภัยยาเสพย์ติด
ทุ่ม 70 ล้านปรับปรุงสวนพฤกษศาสตร์





ข่าวการศึกษา


ดึงจันทรเกษมเข้าเอนท์ ลองปีหน้ารับแค่ 175 คน

นายสุวรรณ นาคพรม รองเลขาธิการสถาบันราชภัฏจันทรเกษม (สรภ.) เปิดเผยว่า ทางสถาบันราชภัฏจันทรเกษมจะรับนักศึกษาร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย ผ่านระบบการสอบเอนทรานซ์จำนวน 7 โปรแกรมวิชา ได้แก่ คหกรรมศาสตร์ทั่วไป เคมี วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสถิติประยุกต์ โดยรับโปรแกรมละ 25 คนรวมเป็น 175 คน ซึ่งเป็นโครงการที่จะทดลองใช้เฉพาะปีการศึกษา 2544 เท่านั้น เพื่อเปรียบเทียบระบบการรับนักศึกษาระหว่างสถาบันราชภัฏ กับระบบของทบวงมหาวิทยาลัยว่ามีความแตกต่าง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการรับนักศึกษา และเตรียมความพร้อมให้จันทรเกษมดำเนินการรับนักศึกษาในบทบาทอุดมศึกษาในกำกับรัฐบาลต่อไป (ไทยโพสต์ อังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2543 )





ม.ธรรมศาสตร์เปิดโรงเรียนอนุบาล

รศ. ดร. นริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยความคืบหน้าของการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ขณะนี้ได้รับการอนุมัติการจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเพื่อสวัสดิการแห่งมหาวิทยาลัยและทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนศูนย์เด็กเล็กของมธ. ที่มีอยู่เดิมให้เป็นโรงเรียนอนุบาลแห่ง มธ. จะเปิดสอนเด็กระดับอนุบาล 1-2-3 โดยจะรับอายุตั้งแต่ 3-5 ขวบ ส่วนหลักสูตรที่จะสอนก็จะเน้นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม สำหรับการเรียนต่อในระดับประถมศึกษา นอกจากนี้จะมีการเสริมความรู้ด้านวิชาการ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ รวมทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





สปศ.ยัน 4 ฝ่ายมอบให้ร่างเกณฑ์ประเมิน ย้ำมุ่งให้ปฏิบัติได้ไม่ใช่สกัดถ่ายโอนศึกษา

นายสุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายพนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่าในการจัดทำร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะรับถ่ายโอนการจัดการศึกษา เป็นหน้าที่ของ ศธ. ไม่ใช่ สปศ. ว่าความจริงแล้ว ทั้งการยกร่างแผนปฏิบัติการกระจายอำนาจการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างทำร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินความพร้อมนั้น ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ สปศ. แต่ สปศ. ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมร่วม 4 ฝ่ายคือ คณะกรรมการร่างแผนปฏิบัติการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปศ. และ ศธ. ให้สปศ. มาเป็นผู้ยกร่างทั้ง 2 เรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกัน และสามารถปฏิบัติการถ่ายโอนการจัดการศึกษาได้จริง ไม่ใช่เขียนกฎกระทรวงชนิดที่ไม่สามารถถ่ายโอนได้เลย เพราะพิจารณาอย่างไรท้องถิ่นก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด (มติชน เสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 หน้า 10)





‘วิจิตร-ปุระชัย’ หนุนมหา’ลัยใช้ระบบไตรภาค

วันที่ 28 พฤศจิกายน นายวิจิตร ศรีสอ้าน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ทวิภาค หรือ 2 ภาคเรียน และไตรภาค หรือ 3 ภาคเรียน ซึ่งที่ มทส. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใช้ระบบไตรภาคเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เนื่องจากทำให้นักศึกษาสามารถบริหารเวลาเรียนเป็น รวมทั้งเป็นการฝึกประสบการณ์ก่อนทำงานจริง ขณะที่ระบบการศึกษาของไทยที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่ได้สอนให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ในการเรียน และบริหารเวลาเป็นพร้อมออกสู่ตลาดแรงงาน นายปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร กล่าวว่า ระบบไตรภาคเป็นระบบสากลซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทำวิจัย การแลกเปลี่ยนวิชาการกับต่างประเทศ และส่งผลให้นักศึกษามีความเข้มแข็งในการเรียน รู้จักต่อสู้ชีวิต (มติชน พุธที่ 29 พฤศจิกายน 2543 หน้า 10)





‘สมศักดิ์’ กร้าวจี้เลื่อนแผนโอนการศึกษาชี้มีสิทธิถูกรบ.ใหม่รื้อ-ย้ำต้องฟังผู้ปฏิบัติ

นายทองคูณ หงส์พันธุ์ เปิดเผยว่า เห็นชอบในหลักการตามที่ สปศ. จัดทำร่างแผนปฏิบัติการการกระจายอำนาจด้านการจัดการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันระหว่าง ศธ. ผู้แทนครูและคณะกรรมการการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ทั้ง 2 ฉบับ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรชะลอแผนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปก่อนเพื่อรอรัฐบาลใหม่ เพราะไม่มั่นใจว่าทำไปแล้วรัฐบาลใหม่จะเห็นด้วยหรือไม่ จะรื้อแล้วยกร่างใหม่หรือไม่หากชะลอช้าไปอีก 1 เดือนคงไม่ทำให้ประเทศชาติล่มจม ที่สำคัญทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากันรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลกระทบ ไม่อยากให้คนยกร่างแผนคิดแทนคนอื่นแล้วดำเนินการเอง อย่าคิดว่าความคิดของตนเองต้องเป็นสูตรสำเร็จ ที่ผ่านมาผลของการคิดเองทำเองส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่าง อบต. และองค์กรครู ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องดังนั้น ควรรับฟังความคิดเห็นแล้ววางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติ (มติชน พุธที่ 29 พฤศจิกายน 2543 หน้า 10)





เร่งขยายเครือข่าย ‘สคูลเน็ต’ เป็น 5 พันแห่ง

นายอำรุง จันทวานิช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ. ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดทำโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนหรือสคูลเน็ต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนในเครือข่ายจำนวน 2,089 แห่ง และมีโรงเรียนที่จัดทำโฮมเพจของตนเองแล้ว 672 แห่ง ดังนั้นจึงได้มีมติเห็นชอบให้ขยายโครงการไปยังโรงเรียนประถม มัธยม และอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 แห่ง และจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมต่างๆ เพื่อจัดสรรโควตาให้สถานศึกษาในแต่ละกรม (มติชน เสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2543 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


บัณฑิตวิศวะจุฬาเผ่นนอก

นายสมศักดิ์ ปัญญาแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ ถึงสาเหตุที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยยังไม่ก้าวหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ว่า ปัญหาหลักๆ มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ ไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตคิดค้นคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการคาดหวังว่าจะพัฒนาเทียบเท่าประเทศผู้ผลิตคงเป็นไปไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือเรียนรู้และใช้มันในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนประการที่สองเป็นเรื่องที่สำคัญมากสามารถแยกได้เป็น 3 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ระบบการศึกษาเราต้องปรับปรุงในด้านของระดับอุดมศึกษาเน้นที่ตัวบุคลากร เช่น เงินเดือน ครู อาจารย์ ต้องเพียงพอต่อการครองชีพ ทำอย่างไรที่จะให้คนที่เป็นครู อาจารย์ ไม่ต้องออกไปหาอาชีพเสริม ประเด็นที่สอง การขาดแคลนบุคลากร ประเด็นนี้ไม่ใช่ว่าประชากรของไทยไม่มีคุณภาพ แต่มองไม่เห็นคุณภาพของประชากรมากกว่า ดังนั้นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจึงถูกซื้อตัวไปทำงานต่างประเทศกันหมด อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปีหนึ่งๆ ผลิตนิสิตออกมาทั้งที่ไปทำงานในต่างประเทศ และไปศึกษาต่อต่างประเทศมีอัตราถึง 95-99% เลยทีเดียว วิธีให้ทุนการศึกษา พอศึกษาจบกลับมาก็ต้องทำงานชดใช้หนี้ให้กับภาครัฐ ใช้วิธีแบบนี้ในการดึงคนที่มีคุณภาพไว้ เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ประเด็นสุดท้าย รัฐต้องปรับปรุงระบบราชการ เพราะการทำงานในระบบราชการไม่ปรับตัวให้เข้าการเปลี่ยนแปลงของโลก (มติชน ศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ระบบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการ "การพัฒนาระบบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้ในเชิงธุรกิจ" วัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดปัญหาปริมาณขยะให้สามารถนำกลับมารีไซเคิล ยังถือเป็นการหลีกเลี่ยงการเผาหรือฝังกลบ อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ผลิต ทางโครงการขอเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม บริษัท เข้าร่วมโครงการใช้เวลา 6 เดือน ผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร.331-0047 ต่อ 4166 (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 หน้า 24)





เชิญน.ศ.สร้างงานนวัตกรรมชิงรางวัล ‘ถ้ายพระราชทาน’

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GIZ) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองทุนพัฒนานวัตกรรม และบริษัทการบินไทย จำกัด จัดโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ขึ้นเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของนวัตกรรมที่มีต่อประเทศให้แก่เยาวชนไทย และสาธารณชนทั่วไป โดยผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันต้องเป็นผลงานที่คิดค้นประดิษฐ์ด้วยตนเอง และไม่เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลระดับประเทศหรือนานาชาติมาก่อน การแข่งขันจะแบ่งเป็น 3 สาขาคือ วิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพและสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมศาสตร์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และนิเทศศาสตร์ กำหนดรับสมัคร ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม - 28 กุมภาพันธ์ 2544 ติดต่อรับใบสมัครได้ที่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 252-7987 และ 218-5245 โทรสาร 252-7987 หรือ อีเมล info@tiacompetition.org ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มกราคม 2544 (ข่าวสด เสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2543 หน้า 24)





ระบบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้ในเชิงธุรกิจ” วัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดปัญหาปริมาณขยะให้สามารถนำกลับมารีไซเคิล ยังถือเป็นการหลีกเลี่ยงการเผาหรือฝังกลบ อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ผลิต ทางโครงการขอเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม บริษัท เข้าร่วมโครงการใช้เวลา 6 เดือน ผู้สนใจติดต่อได้ที่ โทร.331-0047 ต่อ 4166 (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 หน้า 24)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ลดอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอี

เมล็ดและเปลือกองุ่นมีสารเฟลโวนอยด์ ชนิดที่เรียกว่า โปรแอน-โฮไชยานิดิน (Proanthocyananidin) สูง เมื่อรวมตัวกันจะอยู่ในรูปโอลิโกเมริค โปรแอโธไชยานิดิน (Oligomeric proanthocyanidin) หรือเรียกย่อๆ ว่า "OPC" สาร "OPC" นี้พบในเปลือกต้นสน เมล็ดองุ่น เปลือกต้นมะนาว เครนเบอรี่ เปลือกส้ม และชา สารสกัดจากเมล็ดองุ่นใช้ในการรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด เส้นเลือดฝอยเปราะ และใช้รักษาเบาหวานขึ้นตา และจอประสาทตาเสื่อม (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2543 )





สหรัฐสร้าง ‘ฮ.จิ๋ว’ ลำแรกใช้ประโยชน์วงการแพทย์นำยารักษาโรคในสิ่งมีชีวิต

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ได้สร้างวัตถุที่มีลักษณะคล้ายเฮลิคอปเตอร์ขนาดจิ๋วลำแรกของโลก โดยหวังว่าในอนาคตจะเป็นยานพาหนะที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ เพื่อนำยาเข้าไปรักษาความเจ็บป่วยของร่างกายให้ถูกที่ เฮลิคอปเตอร์ลำนี้มีขนาดเล็กขนาดเท่าเชื้อไวรัส ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากสารเคมีที่ชื่อ เอทีที ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ยอมรับว่าการทดลองนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะเฮลิคอปเตอร์ที่สร้างขึ้นมา 400 ลำ สามารถใช้งานได้เพียง 5 ลำเท่านั้น (มติชน พฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


สร้างอุโมงค์กลับรถแห่งแรกปากทางม.ปัญญาถ.พัฒนาการ

นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเตรียมก่อสร้างอุโมงค์กลับรถบนถนนพัฒนาการ ปากทางเข้าหมู่บ้านปัญญา เป็นอุโมงค์กลับรถแห่งแรกใช้งบประมาณ 134 ล้านบาท สร้างสะพานลอยรถข้ามถนนศรีนครินทร์อีก 3 ทางแยก ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดซอง คาดว่าจะลงมือก่อสร้างต้นปี 2544 (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)





เลือกไทยฐานผลิตถ่านอัลคาไลน์

นายโยชิคาซี โยโคเอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทมัทสุชิตะ แบตเตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถ่านไฟฉายอัลคาไลน์พานาโซนิค เปิดเผยว่า บริษัทได้เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตไฟฉายอัลคาไลน์ขนาน เอ เอ เพื่อส่งออกในตลาดโลก 1 ใน 5 แห่ง เนื่องจากเห็นว่าไทยมีศักยภาพมาก (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543 หน้า 8)





คนไทยได้รางวัลสหประชาชาติ อุทิศตนต่อต้านภัยยาเสพย์ติด

นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติได้มอบรางวัลประชาสังคมเวียนนา ครั้งที่ 2 (UN Vienna Civil Society Award) ให้นางอามีนะ บีดิลและ นายกสมาคมอาสาสมัครต่อต้านยาเสพย์ติดคลองเตย ซึ่งเป็นผู้ที่อุทิศตน เสียสละ เป็นแกนนำในการต่อต้านยาเสพย์ติดในชุมชนอย่างจริงจังและต่อเนื่องมานานกว่า 14 ปี รวมทั้งเป็นวิทยากรรณรงค์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพย์ติดในชุมชนร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. มาโดยตลอด นับเป็นสตรีไทยคนเดียวที่ได้เข้ารับรางวัลนี้





ทุ่ม 70 ล้านปรับปรุงสวนพฤกษศาสตร์

นายอุภัย วายุพัฒน์ ป่าไม้เขต จังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า ได้รับงบประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสวนพฤกษศาสตร์ภาคกลาง (พุแค) ให้เป็นสวนระดับสากล และสวนรุกขชาติที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ สำหรับเป็นแหล่งเพื่อการศึกษา เป็นศูนย์วิจัยพรรณไม้ เป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้ทุกชนิด เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215