หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 38 ประจำวันที่ 2003-10-14

ข่าวการศึกษา

เลิกสอบคัด ‘น.ศ.อาชีวะ’ พร้อมเทียบวุฒิแรงงาน
เปิด’ อี-เลิร์นนิ่ง’ ห้องเรียนอาชีวะ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

มก.ผุดโรงไฟฟ้า ‘พลังก๊าซชีวภาพ’
เทคโนโลยี เครื่องจับภาพ ‘ทำผิดกฎจราจร’
ชื่อไทย…ไม่มีดอทอนุรักษ์ภาษาไทยในการท่องเว็บ

ข่าววิจัย/พัฒนา

วช.ยกระดับกล้วยไม้ไทยหนุนวิจัยสร้างเทคโนฯ ผลิต
ผลวิจัยชี้มือถือ 3 จีทำให้ปวดหัว

ข่าวทั่วไป

ไฟเขียวปรับค่าส่งไปรษณีย์ใหม่หมด
เกษตรกร-คนว่างงานนำร่องในสมาร์ทการ์ด





ข่าวการศึกษา


เลิกสอบคัด ‘น.ศ.อาชีวะ’ พร้อมเทียบวุฒิแรงงาน

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (กอศ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ พัฒนายุทธศาสตร์การบริการการอาชีวศึกษา : สู่ความเป็นเลิศทางวิชาชีพ” ทีโรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ เพื่อมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดว่า จะจัดให้มีการเทียบโอนประสบการณ์แก่ผู้ทำงานในสถานประกอบการและโรงงาน เพื่อจะได้มีวุฒิความรู้และเติบโตในหน้าที่การงาน โดยไม่ต้องลาออกมาเรียน ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้องได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อการวางหลักเกณฑ์ต่อไป คาดว่าจะเริ่มได้ในปีการศึกษา 2547 ส่วนความคืบหน้าเรื่องการยกเลิกการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้น ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งช่วยกันคิดหลายๆ รูปแบบ โดยตนขีดเน้นให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2547 เพื่อประกาศใช้ได้เดือนพฤษภาคม หรือเริ่มปีการศึกษา 2547 ด้วย ซึ่งจะไม่มีการสอบคัดเลือกเข้าสถาบันต่างๆ ต่างๆ อีก ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กได้เรียนสาขาที่อยากเรียน (มติชน เสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2546 หน้า 15)





เปิด’ อี-เลิร์นนิ่ง’ ห้องเรียนอาชีวะ

นายชาติชัย พาราสุข ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้องค์การค้าฯ ได้เตรียมทำโครงการ “อี-เลิร์นนิ่ง” เพื่อนำไปเสนอใช้ในสถานศึกษา ซึ่งได้ร่วมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการนำโครงการดังกล่าวเข้าไปใช้ในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง โดยเบื้องต้นทาง ศธ.เห็นชอบในหลักการแล้ว ให้องค์การค้าฯ จัดการเรียนการสอนในโครงการดังกล่าวมีภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนวางระบบและจัดทำซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์ ส่วนองค์การค้าฯ จะผลิตเนื้อหาวิชาซึ่งจะหารือร่วมกับเจ้าขอหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาเกิดความสนใจและสนุกกับการเรียน โดยห้องเรียนอี-เลิร์นนิ่งจะให้ผู้เรียนเลือกลงทะเบียนตามความสมัครใจ โดยต้องเสียเพิ่มอีกรายวิชาละ 300-400 บาท ซึ่งจะมีให้เลือกทั้งแบบเอาคะแนนและไม่เอาคะแนน (มติชน เสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2546 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


มก.ผุดโรงไฟฟ้า ‘พลังก๊าซชีวภาพ’

ดร.กนกศักดิ์ เอี่ยมโอภาส รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิจัยและวิเทศสัมพันธ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า แหล่งฝังกลบมูลฝอย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับขยะจากกรุงเทพฯประมาณ 5,000 ตันต่อวันถือเป็นแหล่งก๊าซชีวภาพที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของอินทรีย์วัตถุประเภทเศษอาหาร เศษผลไม้ ในหลุมฝังกลบภายใต้สภาวะไร้อากาศ ก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นเป็นประเภทก๊าซมีเทน ซึ่งจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเรือนกระจกที่สร้างปัญหาโลกร้อน ขณะเดียวกันยังเป็นก๊าซที่ได้สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ทั้งในรูปแบบความร้อนและการผลิตกระแสไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เริ่มจัดทำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซชีวภาพจากหลุมขยะบนพื้นที่ฝังกลบขยะที่อำเภอกำแพงแสนเมื่อปี พ.ศ.2538 (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





เทคโนโลยี เครื่องจับภาพ ‘ทำผิดกฎจราจร’

สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง หรือ สนข.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ควบคุมดูแลแผนงานและนโยบายเกี่ยวกับระบบจราจรและการขนส่งของประเทศ ได้รับความร่วมมือจากบริษัท โสมาภา อินฟอร์เมชั่น ทดลองติดตั้งระบบตรวจนับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ที่แยกศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา อุปกรณ์ในชุดระบบตรวจจับ ประกอบไปด้วยตัวเซ็นเซอร์ อยู่ในสายไฟฟ้าติดอยู่ที่พื้นถนนหลังเส้นหยุดล้อสัญญาณไฟ (หากใช้เป็นการถาวรก็จะต้องฝังอยู่ใต้พื้นถนน) เชื่อมระบบกับตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร ซึ่งส่งข้อมูลไปยังศูนย์สั่งการและควบคุมการจราจร (บก.02) เซ็นเซอร์จะเริ่มทำงานหลังจากสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีแดงหากรถคันใดวิ่งผ่าน หรือใช้ความเร็วสูง จะส่งสัญญาณไปยังกล้อง และแฟลชที่ติดตั้งอยู่บริเวณข้างถนน ซึ่งสามารถบันทึกได้ทันที โดยกล้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เป็นกล้องวีดีโอบันทึกภาพได้ตลอดเวลาที่รถเคลื่อนที่ผ่าน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2546 หน้า 32)





ชื่อไทย…ไม่มีดอทอนุรักษ์ภาษาไทยในการท่องเว็บ

ดร.อภิศักดิ์ จุลยา กรรมการผู้จัดการบริษัทนิภา เทคโนโลยี จำกัด สนใจและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเป็นพิเศษ ได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของโดเมนเนม จึงมองเห็นว่าสิ่งที่เมืองไทยควรจะมีก็คือชื่อไทยในการเข้าสู่เว็บไซต์ภาษาไทยเหมือนดังต่างประเทศที่บูมด้านอินเทอร์เน็ตอย่างจีนและเกาหลี ซึ่งใช้ภาษาของตัวเองในการเข้าถึงเว็บไซต์ 2 ปีกว่ากับการพัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดเป็นชื่อไทยไม่มีดอท (Real Internet Names) ซึ่งหมายถึงคำภาษาไทยที่ใช้แทนที่อยู่บนเว็บไซต์ (URL) โดยไม่ต้องมีนามสกุล ชื่อโฟลเดอร์ย่อยหรือชื่อไฟล์ต่อท้าย สามารถท่องเว็บได้โดยการพิมพ์คำไทยบนแอดเดรสบาร์ได้เลย โดยไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรม (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


วช.ยกระดับกล้วยไม้ไทยหนุนวิจัยสร้างเทคโนฯ ผลิต

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ให้ทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อทำวิจัยเรื่อง แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีด้านการวิจัยและพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการบูรณาการนำร่องเป็นเวลา 1 ปี วช.จึงจัดโครงการให้ทุนวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่สินค้าไม้ดอกไม้ประดับเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกล้วยไม้ ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอตลอดปี พร้อมกับพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ให้ทันความต้องการของตลาด ตลอดจนยกระดับให้ได้มาตรฐานด้วยสุขอนามัยพืช เพื่อแก้ปัญหากีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาและปรับปรุงวิธีปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เช่น การยืดอายุ การเก็บรักษาและการขนส่งเพื่อช่วยลดการนำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นและสามารถแข่งขันในตลาดโลก ในปัจจุบัน ไทยยังขาดข้อมูลหลายด้านที่สำคัญ ในการวิจัยและพัฒนางานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ ขณะที่องค์ความรู้จากการวิจัยพื้นฐานไม่มีการวิจัยต่อยอดให้ครบวงจร ขาดการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การส่งออก (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2546 หน้า 7)





ผลวิจัยชี้มือถือ 3 จีทำให้ปวดหัว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีดัตช์ ทีเอ็นโอ ได้เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางกายภาพและระบบประสาทการรับรู้ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเปรียบเทียบการแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานนีฐานของโทรศัพท์ที่ส่งสัญญาณรองรับการใช้งานแบบมัลติมีเดีย หรือ 3 จี พบว่า การแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในสถานีฐานสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 3 จี มีผลทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์ปวดหัวแปลบๆ และมีอาการคลื่นไส้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2546 หน้า 16)





ข่าวทั่วไป


ไฟเขียวปรับค่าส่งไปรษณีย์ใหม่หมด

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรับอัตราค่าบริการในประเทศใหม่และให้ส่วนลดบริการไปรษณีย์ในประเทศ แก่ลูกค้ารายใหญ่ที่ได้เตรียมการล่วงหน้าก่อนการฝากส่ง การปรับค่าบริการใหม่มีผลให้กิจการไปรษณีย์ มีสภาพคล่องทางการเงิน การบริการมีคุณภาพหลากหลายมากขึ้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2546 หน้า 18)





เกษตรกร-คนว่างงานนำร่องในสมาร์ทการ์ด

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลในการจัดทำบัตร “สมาร์ทการ์ด” ตามนโยบายรัฐที่ต้องการให้ประชาชนสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว โดยจะนำร่องให้เกษตรกร คนว่างงาน และประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้ก่อน (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2546 หน้า 16)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215