หัวข้อข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ 47 ประจำวันที่ 2003-12-23

ข่าวการศึกษา

‘รมว.ศธ.’ สั่งห้ามยุบร.ร.เล็กช่วยเด็กจน-เว้นกรณีจำเป็น
อธิการฯมึนครม.ยึดเงินจ้างอจ.สวนทางนโยบายรับน.ศ.เพิ่ม
นักเรียนโวย ศธ.เพิ่มพีจีทำให้เครียดมากขึ้น
‘ไอบีเอ็ม’ จับมือ ‘มจธ.’ สอน ป.โท ‘ซอฟต์แวร์’
อธิการฯ ม.นเรศวรอึดอัดศธ.ใหม่จี้รัฐแยกตั้งกระทรวงอุดมศึกษา
ปรับข้อสอบโทเฟล-เพิ่ม Speaking

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

พัฒนาโปรแกรมบราวเซอร์บนมือถืออ่านเวบไทยได้กับเครื่องทุกสัญชาติ
เนคเทคโฃว์ผลงานไบโอเมทริกซ์บันทึกลายนิ้วมือด้วยแสงเซ็นเซอร์
ก.วิทย์ร่างแผนกลยุทธ์หนุนวาระแห่งชาติ
รถไถนั่งขับ
นักวิทย์ จุฬาฯซิวตัวแทนไปขั้วโลกใต้
นักวิทย์น้อยวิเคราะห์คุณภาพน้ำปลา

ข่าววิจัย/พัฒนา

ตั้งโรงงานต้นแบบยกระดับ ‘ไวน์ไทย’
สหรัฐพบสูตรยารักษาเอดส์ที่ดีที่สุด
ยาวัณโรคช่วยให้สมองไวเรียนรู้เร็วไม่มีความรู้สึกหวั่นหวาดสิ่งใดๆ
แอสไพรินอาจป้องกันมะเร็งกระเพาะเป็นมะเร็งมฤตยูอันดับ 2 ของโลก
โรคภัยในห้องแอร์
ใช้เทคโนโลยีดันไวน์ไทยขึ้นชั้น OTOP หนุนรัฐวิจัยสรรพคุณเชิงลึก-สร้างเอกลักษณ์

ข่าวทั่วไป

ฮอตไลน์สายด่วนยาต้านไวรัสเอดส์
สายด่วน1555 ‘สวล.เป็นพิษ’ สูงสุด
พิสูจน์แล้วรูปปั้นนักบุญองค์ล่าสุดอิตาลีหลังน้ำตาเป็นเลือดมนุษย์-วาติกันยังนิ่ง
‘แกล็กโซ่-โบห์รินเจอร์’ ไฟเขียวก๊อบปี้ยาเอดส์
อย.เตือนกินหน่อไม้ดองกระป๋องมั่วถึงตาย
ม.หอการค้าฯ ตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยตราสินค้า
ปี’ 48ใช้แน่ ‘บัตรปชช.สมาร์ทการ์ด’ ซื้อหวย-เชื่อมเน็ต-จองบ้าน-รถได้
ชี้รายการทีวีในฝันของเด็กยังขาดคุณภาพ
หญิงอ้วน-แก่บริโภคไขมันสูงระวังโรคร้าย ‘นิ่วในถุงน้ำดี’
พบเด็กไทยใช้เวลาดูทีวีมากเกินเสี่ยง ‘สมาธิสั้น-ขาดสติ-พัฒนาต่ำ’





ข่าวการศึกษา


‘รมว.ศธ.’ สั่งห้ามยุบร.ร.เล็กช่วยเด็กจน-เว้นกรณีจำเป็น

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางไปตรวจราชการที่ จ.สงขลา พร้อมประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ นายอดิศัยกล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับฟังไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่ได้ไปตรวจเยี่ยมแล้ว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่จะต้องพัฒนา โดยยึดเด็กให้เด็กอยู่กับที่ และแก้ปัญหาความไม่พร้อมในเรื่องอุปกรณ์การเรียน ซึ่งตนไม่อยากให้เขตพื้นที่ฯใช้วิธีการยุบโรงเรียนเหล่านี้หากไม่จำเป็น เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องเดือดร้อนในการเดินทางแม้ว่าเด็กจะมีไม่กี่คนก็ตาม ต้องนำอุปกรณ์ต่างๆ เคลื่อนที่เข้าไปหาเด็ก เช่น การนำรถเคลื่อนที่เข้าไปสอนคอมพิวเตอร์ การหมุนเวียนครูเข้าไปช่วยสอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยุบไม่ได้เลย หากที่ไหนมีความจำเป็น เพื่อทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นก็ยุบรวมโรงเรียนได้ อย่างไรก็ตามโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องมีการยกระดับการอย่างรวดเร็ว จะต้องยกระดับเด็กที่ยากจน ซึ่งในปีการศึกษาหน้าจะเห็นผลชัดเจน เด็กทุกคนจะได้หนังสือเรียนโดยที่ไม่ต้องใช้ร่วมกันหลายคน และจะมีรถสอนคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยทั่วประเทศ เป็นต้น (มติชน ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 20)





อธิการฯมึนครม.ยึดเงินจ้างอจ.สวนทางนโยบายรับน.ศ.เพิ่ม

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายวิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มหาวิทยาลัยปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ที่ให้นำเงินเหลือจากเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรพร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2542-2545 ส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินว่า กำลังสับสน และเครียดกับเรื่องนี้เพราะโดยหลักการในการจ้างอาจารย์ทำได้ไม่ง่ายเหมือนซื้อเสื้อผ้า เพราะต้องมีความรู้ และคุณวุฒิต้องตรงกับสาขา จะให้รวดเร็วอย่างที่รัฐบาลต้องการไม่ด้จึงยังมีเงินส่วนนี่ที่ยังไม่ได้ใช้ นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่าเงินก้อนนี้เคยหารือกับกระทรวงการคลังว่า จะใช้พัฒนาบุคลากรโดยส่งอาจารย์ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกเนื่องจากจ้างบุคลากรไม่ทัน รวมทั้งจะใช้ทำวิจัย เพราะทุนที่รัฐบาลให้ไม่เพียงพอ ซึ่งเชื่อว่าที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ คงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้มหาวิทยาลัยรับนักศึกเพิ่มขึ้นปีละ 5-10% ในขณะที่อาจารย์เกษียณอายุมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าเอาเงินส่วนนี้คืนก็จะรักษาคุณภาพบัณฑิตไว้ไม่ได้ (มติชน ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 20)





นักเรียนโวย ศธ.เพิ่มพีจีทำให้เครียดมากขึ้น

วานนี้ (11 ธ.ค.) นายบุญเลิศ ไพรินทร์ ส.ว.ฉะเชิงเทรา และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ส.ว.กทม.พร้อมด้วยตัวแทนจากเด็ก และเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ได้ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภาเพื่อคัดค้านกรณีที่ นายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ ประกาศขึ้นค่าคะแนนสะสมหรือจีพีเอ และพีอาร์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 547 โดยนายบุญเลิศ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงในกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการต้องการเพิ่มค่าจีพีเอเพราะจะกระทบต่อระบบเอนทรานซ์ทั่วประเทศและจะทำให้เด็กนักเรียนเกิดความเครียดในการเรียนหนังสือมากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 12)





‘ไอบีเอ็ม’ จับมือ ‘มจธ.’ สอน ป.โท ‘ซอฟต์แวร์’

นายมานัส อาจรักษา รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจบริการ Integrated Technology Services บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ไอบีเอ็ม ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการเสริมหลักสูตร ระดับปริญญาโท โดยทางไอบีเอ็มได้เสนอโปรแกรม Advanced Career Education (ACE) ที่มุ่งผลิตมืออาชีพป้อนตลาดไอทีในประเทศ โดยเน้นนำความรู้ไปใช้ในภาคธุรกิจได้จริง ซึ่งสอดรับกับโปรแกรมรัฐบาลในการเร่งผลิตนักโปรแกรมจำนวน 50,000 คน และนักวิเคราะห์ระบบอีก 10,000 คน ภายใน 5 ปี นายประเสริฐ คันธมานนท์ รองคณบดีอาวุโสฝ่ายบริการ มจธ. กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดโดยเฉพาะนักวิเคราะห์ระบบ ซึ่ง มจธ.ได้เห็นควรเปิดหลักสูตรปริญญาโทรสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ขึ้น เพื่อที่นักศึกษาไม่ต้องไปเรียนถึงต่างประเทศเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเรียน ทั้งนี้ ได้ประกาศรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกไปแล้ว โดยผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครได้ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2547 รับเพียง 40 คน (มติชน จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 20)





อธิการฯ ม.นเรศวรอึดอัดศธ.ใหม่จี้รัฐแยกตั้งกระทรวงอุดมศึกษา

นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเริ่มโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่มาได้ประมาณ 5 เดือน ปรากฏว่าพบปัญหามากมายในการบริหารจัดการงบประมาณการศึกษา โดยเฉพาะระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอุดมศึกษาทั้งนี้เพราะแม้จะเป็นงานด้านการศึกษาเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีความแตกต่างกัน ฉะนั้น อยากเรียกร้องให้รัฐบาลแยกงานการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาออกไปต่างหาก ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน รวมเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงหรือทบวงเช่นเดิม เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว แต่ก็ยังคงการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาขึ้นพื้นฐานกับอุดมศึกษาเหมือนเดิม (มติชน จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 20)





ปรับข้อสอบโทเฟล-เพิ่ม Speaking

นายชลินทร เบอเรียน ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ (IIE) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยถึงการปรับระบบการสอบโทเฟล (TOEFL) ว่า รูปแบบข้อสอบโทเฟลมีวิวัฒนาการเรื่อยๆ ตั้งแต่การสอบระบบ paper-based แล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบ computer-based ในปี ค.ศ.2000 และในอนาคตราวเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2005 จะมีการพลิกโฉมอีกครั้งโดยเน้นการสื่อสารมากขึ้น โดยเพิ่มในส่วนของ Speaking เข้ามา ซึ่งจากเดิมการสอบ computer-based มี 3 ส่วนคือ Listening Structure, Writing และ Reding เป็นการสอนผ่านระบบคอมพิวเตอร์คะแนนเต็ม 300 คะแนน แต่การสอบรูปแบบใหม่จะเริ่มใช้ระบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต รูปแบบข้อสอบจะบูรณาการทั้ง 4 ส่วนดังกล่าวเข้าด้วยกันโดยยกสถานการณ์สมมุติขึ้นมา ซึ่งจะต้องใช้ทุกทักษะในการแก้ปัญหาที่เน้นการได้ตอบ (มติชน จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


พัฒนาโปรแกรมบราวเซอร์บนมือถืออ่านเวบไทยได้กับเครื่องทุกสัญชาติ

นายวุฒิชัย อัมพรอร่ามเวทย์ นักวิจัยคนไทยซึ่งปัจจุบันทำงานใจศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น หรือเอ็นไอไอ เจ้าของผลงานโปรแกรม Simple Thai เปิดเผยว่า ที่พัฒนาโปรแกรมตัวนี้ขึ้นมาก็เพราะต้องการติดตามอ่านข่าวเมืองไทยบนมือถือระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งในแต่ละวันต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมง และการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด และช่วยให้หายเบื่อระหว่างการเดินทาง วุฒิชัยจึงได้อาศัยความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมภาษาจาวาพัฒนา “SimpleThai Platform” โดยแบ่งตัวโปรแกรมออกเป็นสองส่วน ได้แก่ โปรแกรมที่ติดอยู่บนฝั่งเซิร์ฟเวอร์และโปรแกรมลูก (client) ที่ติดตั้งบนอุปกรณ์พกพาและมือถือชนิดต่างๆที่รองรับภาษาซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเซิร์ฟเวอร์จากโครงการไทยโปรเจคจากศูนย์เอ็นไอไอเป็นอย่างดี (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 8)





เนคเทคโฃว์ผลงานไบโอเมทริกซ์บันทึกลายนิ้วมือด้วยแสงเซ็นเซอร์

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไบโอเมทริกซ์ (biometrics) หรือเทคโนโลยีระบุตัวตนทางชีวภาพกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดโดยเฉพาะเครื่องบันทึกลายพิมพ์นิ้วมือ (fingerprint scanner) “ทีมงานเลือกทำฟิงเกอร์ปรินท์สแกนเนอร์ เนื่องจากเทคโนโลยีตัวนี้กำลังเป็นที่นิยม โดยวงการตำรวจใช้ประโยชน์อยู่แล้ว คาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีการนำไปใช้ร่วมกับบัตรประชาชน และการควบคุมแรงงานต่างด้าวตอนนี้มในไทยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็นำเข้าตัวอุปกรณ์มาหมด ซึ่งอุปกรณ์ของเราจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ” ดร.ศรัณย์ กล่าว คณะทำงานเริ่มดำเนินโครงการเมื่อต้นปี 2545 และแล้วเสร็จราวกลางปี 2546 โดยได้จดสิทธิโดยอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมานี้ใช้เทคนิคหรือเซ็นเซอร์แสง (optical) เข้าช่วย ต่างจากในท้องตลาดที่ส่วนใหญ่จะเป็นเซ็นเซอร์ประจุไฟฟ้า (capacitive senser) และเซ็นเซอร์อุณหภูมิ (thermal sensor) “เทคโนโลยีประจุไฟฟ้าและอุณหภูมิผู้ใช้ต้องสัมผัสไปที่เซ็นเซอร์โดยตรงทำให้อายุใช้งานสั้น และมีปัญหาด้านการบำรุงรักษา โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว จะเกิดไฟฟ้าสถิตทำลายผิวเซ็นเซอร์ได้ ขณะที่แบบแสงจะมีความทนทานกว่า และมีคุณสมบัติรวมของเทคโนโลยีมาไว้ด้วย” ดร.ศรัณย์ กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2546 หน้า 8)





ก.วิทย์ร่างแผนกลยุทธ์หนุนวาระแห่งชาติ

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า วท.ได้จัดทำกรอบแผนกลยุทธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2547-2556 เพื่อเป็นกรอบในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนนี้มองระยะยาว และมีแผนระยะสั้นที่หวังผลในระยะช่วง 3-5 ปีแรก รองปลัด วท.กล่าวต่อว่า แผนดังกล่าวมีเป้าหมายนำวิทย์ไปสนับสนุนวาระแห่งชาติ 10 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหาร ดูแลโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) กลุ่มยานยนต์โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กลุ่มซอฟต์แวร์ ให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดูแลกลุ่มแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดูแล กลุ่มสุขภาพดูแลโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กลุ่มเทคโนโลยีสนับสนุนการท่องเที่ยว กลุ่มพลังงานและกลุ่มสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ให้ วว. ดูแล กลุ่มสร้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สังคม ให้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดูแล และกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ให้สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (สทอภ.) โดยทั้ง 10 กลุ่ม วท.จะเป็นเจ้าภาพในแต่ละเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนวาระแห่งชาติประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 8)





รถไถนั่งขับ

ไขมุกข์ โภคาวานิช และคณะจากบริษัท เน็คเทคเอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด ประดิษฐ์ รถไถนั่งขับ โดยใช้เครื่องยนต์เก่าที่มีอยู่แล้ว และผลิตรถไถเพิ่มขึ้นมา ทำให้ประหยัดต้นทุนโดยนำความคิดจาก รถไถแบบเดินตาม มาเป็นแบบนั่งขับและได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2546 หน้า 26)





นักวิทย์ จุฬาฯซิวตัวแทนไปขั้วโลกใต้

ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการ สวทช.ได้ประกาศผลการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ตัวแทนประเทศไทย ที่ไปร่วมทำวิจัยกับคณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่น จากผู้สมัครทั้งหมด 14 คน ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับงานวิจัยที่จะไปร่วมทำกับประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2546 หน้า 17)





นักวิทย์น้อยวิเคราะห์คุณภาพน้ำปลา

น.ส.ชนากานต์ ทองสุข นักเรียนของโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม เป็น นร.ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริม ผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง “การหาปริมาณ Nitrogen ในน้ำปลาตัวอย่างโดยใช้เทคนิค Flow Injection Spectrophotometry” และยังนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์หาปริมาณ Nitrogen ในสัตว์, และปุ๋ยได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2546 หน้า 34)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ตั้งโรงงานต้นแบบยกระดับ ‘ไวน์ไทย’

ผศ.ดร.ธิราวัลย์ ชาญฤทธิเสน หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมและส่งเสริม สถาบันวิจัยและฝึกอบรมและส่งเสริม สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลกล่าวว่า ปัญหาสำคัญชองไวน์ที่ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคือขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไวน์ ผศ.ดร.ธิราวัลย์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความเห็นว่า นอกจากการปรับปรุงด้านคุณภาพแล้วรสชาติและปริมาณแอลกอฮอล์เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ผลิตไวน์ของไทยต้องพัฒนาให้ใกล้เคียงกับไวน์ของต่างประเทศ โครงการ ITAP จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการคุณภาพชองไวน์ผลไม้และสาโทขึ้น เพื่อสร้างระบบการผลิตสุราและไวน์พื้นบ้านที่มีคุณภาพโดยเริ่มจากการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจโรงงานผลิตไวน์ในภาคต่างๆ และพบปัญหาคล้ายคลึงกัน เช่น การขาดความรู้ ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์รวมถึงความรู้ทางการตลาด โรงงานและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ขาดการควบคุมคุณภาพและสุขลักษณะ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที 12 ธันวาคม 2546 หน้า 8)





สหรัฐพบสูตรยารักษาเอดส์ที่ดีที่สุด

ดร.เกรกอรี รอบบินส์ จากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล และวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่าที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า สูตรไหนจะสามารถใช้ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ผลดีที่สุดและการค้นพบในครั้งนี้ประกอบกับการวิจัยที่คล่ายกันนี้จะช่วยลดการคาดเดาในการจัดสูตรลงได้ ในการรักษาโรคเอดส์ เมื่อยาสูตรหนึ่งรักษาไม่ได้ผลแล้วผู้ป่วยก็ต้องเปลี่ยนสูครยาใหม่ทำให้แพทย์สับสนอยู่เสมอว่าเมื่อไรควรจะเริ่มให้ยาผู้ป่วยและยาสูรไหนได้ผลดีที่สุด โรบินส์และคณะ ได้ทำการเปรียบเทียบผลของสูตรยา 3 ตัว 4 สูตรกับผู้ป่วย 620 คน ในสหรัฐและอิตาลี โดยใช้เวลามากกว่า 2 ปี สูตรที่พวกเขาผสมเพื่อศึกษาประกอบด้วย ยาดิด้าโนไซน์ หรือ ดีดีแอลและยาสเตวูดีนหรือดี 4 ที ร่วมกับยาเอฟวิเรนซ์ หรือยายับยั้งเอนไซน์โปรติเอสหรือเนลไฟนาเวอร์ อีก 2 กลุ่มเริ่มต้นรักษาด้วยยาเอแซดทีเอไพเวียร์ และเซอร์ริทหรือไม่ก็ซัสทิวาและพวกเขาพบว่ายาสูตรหนึ่งดูเหมือนว่าจะอันตรายเป็นพิเศษ “ผู้ที่ได้รับไอดาโนซีนและสเตวูดีนมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษมากกว่าผู้ที่ได้รับยาซีโดวูดีนและลามิวูดีน” นักวิจัย กล่าว วิรัตน์ ทองรอด อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า กลุ่มยาในปัจจุบันที่ใช้ยับยั้งไวรัสเอดส์ ประกอบด้วยยาสี่กลุ่มด้วยกัน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 8)





ยาวัณโรคช่วยให้สมองไวเรียนรู้เร็วไม่มีความรู้สึกหวั่นหวาดสิ่งใดๆ

นิตยสาร “เคมีและอุตสาหกรรม รายงานว่า คณะแพทย์ในสหรัฐฯเชื่อว่า ยาที่ใช้เพื่อรักษาวัณโรค อาจช่วยให้คนเราเอาชนะความกลัวแมงมุม หรือความกลัวสิ่งอื่นๆ ได้ จากการทดลองกับอาสาสมัครที่กลัวความสูงพบว่า เมื่อใช้ยา D-cycloserine ควบคู่ไปการบำบัดแบบเดิมสามารถช่วยให้อาสาสมัครกลุ่มนี้เอาชนะความกลัวความสูงได้ คณะนักวิจัยได้ทำการทดลอง โดยให้ผู้ป่วยที่กลัวความสูง 20 คนจาก 30 คน ได้รับยา D-cycloserine หลังจากนั้น ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว โดยการจับพวกเขาใส่ในลิฟต์แก้ว ซึ่งจะยกพวกเขาขึ้นๆ ลงๆ ดร.เดวิสบอกว่า เมื่อลิฟต์ยกพวกเขาให้สูงขึ้น พวกเขาจะเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นๆ แต่เมื่อได้รับยา D-cycloserine สามารถเรียนรู้ในการเอาชนะความกลัวได้เร็วกว่า โดยใช้เวลาเพียง 2 ครั้งเท่านั้นจากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 8 ครั้ง (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





แอสไพรินอาจป้องกันมะเร็งกระเพาะเป็นมะเร็งมฤตยูอันดับ 2 ของโลก

จากการศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 2,831 คน พบว่า การใช้ยาแอสไพรินที่มีสรรพคุณลดไข้บรรเทาปวด และปราศจากสารสเตียรอยด์ อาจลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลงได้ร้อยละ 22 แต่ ดร.เบนจามิน หว่อง กล่าวเตือนว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผลอย่างชัดเจนว่า ยาขนานนี้อาจนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้หรือไม่ ผลวิจัยที่ได้ในขณะนี้ยังคงเป็นผลในขั้นของการป้องกันเท่านั้น และว่าไม่ต้องการที่จะทำให้เกิดความสับสน ย้ำว่ายังจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป รวมทั้งการศึกษาวิจัยทางคลินิก เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 7)





โรคภัยในห้องแอร์

คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย MeGill แห่งเมือง Montreal ประเทศแคนาดาได้ทำการวิจัยโดยการติดตั้ง UV germicidal irradiation (UVGI) ซึ่งเป็นแสงรังสีอัลตราไวโอเล็ต เพื่อฆ่าเชื้อโรค เข้าไปในระบบปรับอากาศ และระบบระบายอากาศของอาคารซึ่งมีผลการวิจัยพบว่า UVGI สามารถลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียลงได้ถึง 99% รวมถึงสารพิษต่างๆ จะช่วยให้ผู้คนที่อยู่ในอาคารมีสุขภาพที่ดี ไม่ป่วยเป็นโรค “Sick Building Syndrome” (เดลินิวส์ พุธที่ 17 ธันวาคม 2546 หน้า 17)





ใช้เทคโนโลยีดันไวน์ไทยขึ้นชั้น OTOP หนุนรัฐวิจัยสรรพคุณเชิงลึก-สร้างเอกลักษณ์

ผศ.ธีรวัลย์ ชาญฤทธิเสน หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรม และส่งเสริมสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เกษตรกรไทยยังขาดความรู้ในกระบวนการผลิตไวน์ ดังนั้นการที่จะทำให้ไวน์ไทยเป็นสินค้าในตลาดโลก จึงเป็นได้ยาก รัฐบาลจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจังและจะต้องศึกษาวิจัยเชิงลึก สร้างเอกลักษณ์ และความแตกต่างให้ได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 ธันวาคม 2546 หน้า 34)





ข่าวทั่วไป


ฮอตไลน์สายด่วนยาต้านไวรัสเอดส์

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุให้การรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ไว้ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในปีงบประมาณ 2547 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 พบว่ามีผู้ติดเชื้อเข้ามารับการรักษาน้อยกว่าที่ควรเป็น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอดส์ได้รับข้อมูลการรับยาต้านไวรัสเอดส์ หรือ ยาจีพีโอเวียร์ กรมควบคุมโรคได้เปิดสายด่วนยาต้านไวรัสเอดส์ 4 คู่สาย หมายเลข 0-2590-3323-5 และ 0-2590-3336 ซึ่งจะให้บริการตามวัน และเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม เป็นต้นไป สำหรับค่ายาต้านไวรัสเอดส์นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 สูตร คือ สูตรแรกเป็นจีพีโอเวียร์ ราคา 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยประมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อที่แพ้ยาสูตรแรก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15% ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนสูตรที่ 3 ใช้กับผู้ติดเชื้อ 5% ที่ใช้ยาสองสูตรแรกไม่ได้ ราคาประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อคนต่อเดือน (มติชน ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 18)





สายด่วน1555 ‘สวล.เป็นพิษ’ สูงสุด

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลสรุปยอดประชาชนที่ใช้บริการแจ้งเรื่องร้องเรียนการทำงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านเบอร์ 1555 ตั้งแต่เดือน มกราคม-ตุลาคม 2546 ปรากฏว่า มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 11,984 เรื่องโดยมีการแก้ไขไปแล้ว 10,574 เรื่อง ที่ยังไม่ได้แก้ไขมี 1,410 เรื่อง ซึ่งจากการจัดอันดับ พบว่า เรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ เรื่องสภาพแวดล้อมเป็นพิษทั้งเรื่องเสียง กลิ่น ควัน ฝุ่นละออง, การขอให้ตรวจสอบการใช้และเก็บสารเคมี, การระบายน้ำทิ้งลงในถนน ที่สาธารณะ หรือบ้านใกล้เคียง และให้เร่งแก้ปัญหา สุนัข หนู ยุง นกพิราบ ส่วนปัญหารองลงมา ได้แก่ การกระทำผิดในที่สาธารณะ เช่น ให้ดำเนินการลงโทษกับผู้ตั้งวางสิ่งของกีดขวาง, ให้ผ่อนผันมาตรการควบคุมการตั้งวางสิ่งของ, จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย, ให้ดำเนินการกับผู้จอดรถกีดขวางทางสัญจร, ขอให้ผ่อนผันจอดรถ, ให้ดำเนินจัดการเก็บซากรถเก่าที่จอดทิ้งตามที่สาธารณะ และขอให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ (มติชน ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 18)





พิสูจน์แล้วรูปปั้นนักบุญองค์ล่าสุดอิตาลีหลังน้ำตาเป็นเลือดมนุษย์-วาติกันยังนิ่ง

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เอพีรายงานว่า กรณีรูปปั้นนักบุญปาเดร ปิโอ นักบวชชาวอิตาลีที่เพิ่งได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญเมือเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ปรากฏหยาดน้ำตาในลักษณะที่เป็นหยดเลือด ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น สำนักข่าวอันซ่าของอิตาลี รายงานว่า คลินิกแพทย์ในเขตเรจ์จิโอ คาลาบริอา ได้นำของเหลวดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าเป็นเลือดมนุษย์ ส่วนผลการพิสูจน์จากห้องแล็บของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตเดียวกัน จะปรากฏในอีกไม่กี่วันข้างหน้า รูปปั้นนักบุญดังกล่าวอยู่ในเมืองบรังคาลีโอนของอิตาลี และนักบุญปาเดร ปิโอ เป็นนักบวชในคริสต์ศาสนาคนแรกในรอบหลายศตวรรษ ที่ปรากฏรอยแผลเช่นเดียวกับที่เกิดกับพระเยซูเมื่อถูกตรึงกับไม้กางเขนของกองทัพโรมัน คือปรากฏรอยแผลและเลือดที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง ที่ข้อเท้าสองข้างและที่สีข้างเป็นสัญญลักษณ์ความเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระเจ้าตามคติความเชื่อของศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ดี นักบุญปิโอเพิ่งเสียชีวิตลงในปี 2511 และเมื่อปีที่แล้ว รูปปั้นนักบุญปิโอในเมืองเมสสินา บนฝั่งตรงข้ามกับเขตเรจ์จิโอคา ลาบริอา ก็ได้ปรากฏหยาดเลือดมาแล้วเช่นกัน ข่าวแจ้งว่า ทางด้านสำนักวาติกันยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ครั้งนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร้องขอชาวบ้านไม่ให้เช็ดหยาดน้ำตาเพื่อนำกลับไปบูชาที่บ้านด้วย (มติชน ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 10)





‘แกล็กโซ่-โบห์รินเจอร์’ ไฟเขียวก๊อบปี้ยาเอดส์

แกล็กโซ่ สมิธไคลน์ ค่ายเวชภัณฑ์ชั้นนำประกาศเมื่อวันพุธ (10ธ.ค.) ว่าจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยารายที่ 2 ผลิตยาต่อต้านโรคเอดส์กลุ่มเออาร์วี ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทในประเทศแอฟริกาใต้ และจะรับพิจารณาคำร้องขอผลิตยาเอดส์ราคาถูกจากผู้ผลิตยาอีก 2 ราย อันเป็นผลมาจากข้อตากลงประนีประนอมที่บริษัทถูกร้องเรียนโดยผู้ป่วยโรคเอดส์รายหนึ่ง เจ้าหน้าที่สำนักงานเพื่อการแข่งขันแห่งแอฟริกาใต้เผยวา การตัดสินใจของแกล็กโซ่ สมิธไคลน์ จะทำใหราคายาโรคเอดส์ถูกลง โดยหวังว่า ราคายาจะเริ่มลดลงในสิ้นปีนี้ ก่อนหน้านี้ นางฮาเซล ทาอู ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการเพื่อการแข่งขันแห่งแอฟริกาใต้ว่าแกล็ก โซ่สมิธไคลน์ และบริษัทโบห์รินเจอร์ อินเจลไฮม์ แห่งเยอรมนีตั้งราคายารักษาโรคเอดส์ไว้สูงเกินจริง ซึ่งต่อมา คณะกรรมาธิการฯ มีคำตัดสินว่า บริษัททั้ง 2 ตั้งราคายาเอดส์สูงจริงตามที่ถูกร้องเรียนรวมทั้ง มีพฤติกรรมกีดกันคู่แข่ง พร้อมแนะให้บริษัททั้ง 2 ถูกปรับในสัดส่วน 10% ของรายได้ทั้งปีในแอฟริกาใต้ กลุ่มต่อสู้เพื่อการรักษาโรคเอดส์ (ทีเอซี) เปิดเผยว่า บริษัทโบห์รินเจอร์ อินเจลไฮม์ จะทำข้อตกลงประนีประนอมเช่นเดียวกับแกล็กโซ่ สมิธไคลน์ ปัจจุบัน มีชาวแอฟริกาใต้ ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์ราว 5.3 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 44.8 ล้านคน ขณะเมื่อเดือน พ.ย.รัฐบาลประกาศจะจัดสรรเงิน 46 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้รับมือโรคเอดส์จนถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2546 หน้า 36)





อย.เตือนกินหน่อไม้ดองกระป๋องมั่วถึงตาย

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงอันตรายจากหน่อไม้ดองกระป๋องที่ส่วนใหญ่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน การทำลายเชื้อโรคด้วยความร้อนไม่ได้มาตรฐานก่อนนำมาบรรจุลงกระป๋อง ทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นยังคงอยู่ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง “เชื้อโรคในอาหารกระป๋องเป็นเชื้อโรคที่ไม่ต้องการออกซิเจน โตได้ในที่ที่ไม่มีอากาศ หากมีเชื้อเหลืออยู่ก็จะแบ่งตัวสร้างสารพิษโดยเชื้อโรคพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่ทนความร้อนสูง เพราะมีการสร้างสปอร์ที่เป็นเกราะป้องกันตัวเอง ความร้อน 60-70 องศาเซลเซียส ไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรคจะส่งผลต่อระบบประสาทหยุดการทำงาน และหากปริมาณสารพิษมากก็จะมีผลต่อระบบหายใจ ทำให้ขาดออกซิเจนหากส่งตัวเข้ารักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้สำหรับสารพิษดังกล่าวเป็นสารตัวเดียวกับที่ผู้หญิงฉีดโอท็อกเพื่อแก้ไขรอยเหี่ยวย่น หรือที่ทางการแพทย์นำมารักษาผู้ที่มีอาการทางประสาท” เลขาธิการ อย.กล่าว (มติชน เสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2546 หน้า 16)





ม.หอการค้าฯ ตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยตราสินค้า

รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการที่คณะนิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาและวิจัยตราสินค้า” เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ด้านตราสินค้าตลอดจนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และให้คำปรึกษาในการสร้างและพัฒนาตราสินค้าแก่ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจในระดับโลก โดยได้ยื่นขออนุมัติจัดตั้งจากสภามหาวิทยาลัยไปแล้วนั้นขณะนี้โครงการจัดตั้งดังกล่าวได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีอาจารย์ตรรกะเทศศิริ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโทนิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างตราสินค้า ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยอำนวยการศูนย์ฯ ที่ผ่านมาศูนย์ฯ ได้จัดสัมมนาให้ความรู้แก่นักธุรกิจและนักวิชาการไปแล้วสองครั้ง คือ “เรื่องผลกระทบของตราสินค้าต่อธุรกิจไทย” และ “การสร้างแบรนด์อย่างไร…SME ไทยจึงไปโลด” โดยได้เชิญวิทยากรระดับแนวหน้ามาเป็นผู้บรรยาย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าฟังเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ศูนย์ฯกำลังวิจัยศึกษาเรื่องของการสร้างตราสินค้าของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารรายย่อยสำหรับนักวิชาการ ผู้บริหารและผู้ประกอบการที่ต้องการคำปรึกษาศูนย์ฯ พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยตราสินตลอดเวลา (มติชน เสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2546 หน้า 17)





ปี’ 48ใช้แน่ ‘บัตรปชช.สมาร์ทการ์ด’ ซื้อหวย-เชื่อมเน็ต-จองบ้าน-รถได้

วันที่ 12 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์หรือ “สมาร์ทการ์ด” ว่า ภายในเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2548 จะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานนำร่องหลักทั้ง 6 หน่วยงาน และหน่วยงานย่อยอีกกว่า 1,077 แห่งทั่วประเทศ และในอนาคตจะนำข้อมูลพื้นฐานของหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าบรรจุไว้ในบัตร รวมทั้งนำบัตรมาร่วมลงคะแนนเสียง และจะประสานงานไปยังหน่วยงานอื่นว่าจะบรรจุข้อมูลอื่นๆ ลงไปได้อีกหรือไม่ สำหรับต้นทุนของบัตรจะอยู่ที่ 80-82 บาทต่อใบ โดยจะใช้งบประมาณชองสำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2547-2548 จำนวน 400-500 ล้านบาท รัฐบาลเตรียมเปิดตัวเครื่องบริการประชาชนอเนกประสงค์ (เอ็มพีเอ็ม) จำนวน 100,000 เครื่องทั่วประเทศ เพื่อรองรับ (มติชน เสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2546 หน้า 24)





ชี้รายการทีวีในฝันของเด็กยังขาดคุณภาพ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่รัฐสภา คณะกรรมมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดสัมมนาเรื่อง “รายการเด็กในฝัน อยากเห็นเป็นอย่างไร” โดยมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.กทม.เป็นประธาน มีตัวแทนสื่อมวลชน และเยาวชนเข้าร่วม โดยส่วนใหญ่เห็นได้ว่า รายการเด็กมักนำเสนอการ์ตูนเพียงอย่างเดียว หรือไม่ก็นำเด็กมาแสดงซึ่งมักไม่ได้คุณภาพ ขณะที่รายการเด็กที่ดีต้องทำให้สนุกมีสาระที่ทำให้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่สามารถดูและขบคิดร่วมกันได้ ส่วนการตอบปัญหาที่ผ่านมา ก็คิดเฉพาะเด็กหัวกะทิของโรงเรียนเข้าร่วม นอกจากนั้นผู้ร่วมสัมมนาที่เป็นนักเรียนยังเห็นว่า พิธีกรในรายการเด็กบางรายการ และนักแสดงละครบางเรื่อง แต่งกายไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ละครน้ำเน่าหลายเรื่อง ใช้คำพูดและกริยาที่ไม่น่าฟังบางรายการไม่มีการตรวจสอบข้อความที่นำเสนอก่อน อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจรายการในฝันสำหรับเด็ก และเยาวชนของสวนดุสิตโพล เห็นว่าปัจจุบันรูปแบบและสาระความรู้ค่อนข้างดี แต่สารประโยชน์ยังไม่เพียงพอเพราะเน้นความบันเทิงมากเกินไป ส่วนรูปแบบรายการที่ชอบดู คือรายการที่ให้เด็กแสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ การแข่งขันตอบปัญหา สารคดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สารคดีสัตว์ป่า (มติชน เสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2546 หน้า 11)





หญิงอ้วน-แก่บริโภคไขมันสูงระวังโรคร้าย ‘นิ่วในถุงน้ำดี’

รศ.สมใจ วิชัยดิษฐ นักโภชนาการ เปิดเผยว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่พบบ่อยในปัจจุบันเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการรับประทานอาหารไม่ถูกหลัก โดยกินอาหารไขมันสูง กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากในผู้หญิงอ้วนช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ญาติพี่น้องมีประวัติเป็นนิ้วในถุงน้ำดีอาการที่พบบ่อยคือ หลังรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง จะเกิดความรู้สึกแน่นหน้าอก จุกเสียดชายโครงด้านขวา เพราะถุงน้ำดีอยู่บริเวณตับทางซี่โครงด้านขวา คลื่นไส้ อาเจียน โดยเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยช่วงแรกจุดแน่นหน้าอกเกรงว่าจะเป็นโรคหัวใจจึงเข้ารับการตรวจหัวใจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ไม่พบความผิดปกติ แพทย์จึงสั่งอุลตราซาวนด์ภายในช่องท้อง พบก้อนนิ่วในถุงน้ำดี จึงผ่าตัดรักษา ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้วเมื่อก่อนชอบรับประทานก๋วยเตี๋ยวแห้งมาก ทุกครั้งที่รับประทาน 2 ชาม จะรู้สึกแน่นหน้าอก ก็ทายาหม่อง จะจุกเสียดแทยทุกครั้งที่กินก๋วยเตี๋ยวแห้งเพระใส่น้ำมันกระเทียมเจียวมาก (มติชน จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 18)





พบเด็กไทยใช้เวลาดูทีวีมากเกินเสี่ยง ‘สมาธิสั้น-ขาดสติ-พัฒนาต่ำ’

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมากรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายโคทม อารียา ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาด้านเด็ก (พมด.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชน ในคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวเปิดเสวนาเรื่อง “วิทยุโทรทัศน์ในยุคปฏิรูปสื่อที่เด็กไทยต้องการ” ว่า ในยุคที่รัฐบาลกำลังปฏิรูปสื่อให้มีรายการสำหรับเด็กมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ตรงตามความต้องการของทุกฝ่ายและตรงกับความต้องการของสหประชาชาติที่กำหนดให้วันเสาร์ที่สองเดือนธันวาคมเป็นวันสากลของโทรทัศน์ วิทยุเพื่อเด็ก อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าเด็กไทยใช้เวลากับโทรทัศน์มากถึงวันละ 3-5 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ามากเกินไปเพราะเด็กควรบริโภคสื่อโทรทัศน์ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้จะทำให้เด็กสมาธิสั้น ขาดสติ ขาดความคิดสร้างสรรค์ มีพัฒนาการต่ำด้วย นอกจากนั้น รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ รายการการ์ตูน และสื่อโฆษณายังล้างสมองให้เด็กต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น รัฐจึงควรหันมาสนับสนุนการทำสื่อที่สร้างสรรค์ด้วย (มติชน จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 หน้า 12)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215