หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 6 ประจำวันที่ 2004-02-13

ข่าวการศึกษา

เร่งจัดคณะทดสอบระดับชาติ
ทปอ.ไม่สนเอนทรานซ์ใหม่เป็นเอกสิทธิ์บังคับไม่ได้
ชูไฮเทคเลือกผู้นำนักเรียน
ฟ้าหญิงเร่งรัฐพัฒนากำลังคนด้านพิษวิทยาเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม
ไอซีทีผุดหนึ่งวัดหนึ่งศูนย์คอม
ศธ. ยืนยันเดินหน้าอบรมครู-ผู้บริหาร เพิ่มวุฒิปริญญาตรี
5 มหาวิทยาลัยรับเป็นพื่เลี้ยง เสริมงาน ‘ ไอซีที ‘ ให้โรงเรียน
ศิริราชสอบพิเศษคัดน.ศ.แพทย์ 47
‘รามคำแหง’ ขอช่อง’ยูบีซี’ ออกอากาศเล็กเชอร์ 24 ช.ม.
ไทยเตรียมถก”ค้าโลก” เปิดเสรีการศึกษา
ศธ.ผุดโครงการ”ครูเอื้ออาทร” ให้ทุนต่อป.โท-เอกเมืองนอก
อุดมฯลุ้นงบฯ 48 กว่า 4 หมื่นล้าน ผลิต 15 สาขา-มุ่งวิจัยประยุกต์
กฤษฎีกาปรับร่างพ.ร.บ.ระเบียบครูฯ
ศธ. เปิดช่อง ร.ร. 2 ภาษาเก็บค่าเรียนเพิ่ม

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

หุ่นยนต์นักวิทยาศาสตร์
ยานสำรวจ 2 ลำรุมเจาะไชดาวอังคาร
อินเทลใช้นาโนผลิตชิปเพนเทียม
ปากกาแปลภาษา
เครื่องปอกเปลือก ‘บักหุ่ง’
อินเทอร์เน็ตไทย-ลาว
ใช้ไอทีเชื่อมระบบการศึกษาลุ่มน้ำโขง
กำจัดขยะโดยการขนไปทิ้งทะเล
ชุดปอกผิวมันหนุนเอสเอ็มอี
นักวิทย์พบตำแหน่งขั้วโลกเปลี่ยน หวั่นสนามแม่เหล็กหมดจากโลก !
ม.สงขลาฯเผยเทคนิคชีวภาพยับยั้งจุลินทรีย์
เครื่องผลิตขนมทองม้วน ยกระดับอาหารไทยส่งออก
“มจธ” ร่วมกับ”ปูนตราช้าง” วิจัยและผลิต”เสาเข็มดินซีเมนต์” สร้างประโยชน์แก่คนไทยในด้านงานฐานราก ป้องกันปัญหาดินยุบตัว
อาชีวศึกษาโชว์ผลงานประดิษฐ์นักศึกษา
ก.วิทย์ผลิตชุดตรวจเชื้อ”หวัดนก”สำเร็จราคาถูก-แม่นยำสูง รู้ภายใน 10 นาที
ยุโรปส่งยานสำรวจดาวหาง

ข่าววิจัย/พัฒนา

หุ่นจำลองยางพารา’ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ปี 47
หนุนผลิตหุ่นยนต์สายพันธุ์ไทยช่วยวิจัยขั้วโลกใต้
นักจุลชีวะรั้วมหิดลคว้า “นักวิทย์ดีเด่น”
งานวิจัยนาโน : พัฒนาถ่านกัมมันต์
พบโปรตีนเป็นปุ๋ยของเซล์สมอง ทำยาเป็นเม็ดกินแก้โรคสมองเสื่อม
เปิดเพลงคลาสสิกกล่อมผู้ป่วยทางสมองอาการก้าวร้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สกว.มีเฮไม่ยุบรวม
วช.ระดมสมองสร้างเครือข่าย สร้างงานวิจัยสกัดไข้หวัดนก
ประดิษฐ์วัคซีนต่อสู้โรคซาร์สได้แล้วทดสอบของจริงกับมนุษย์ที่เมืองจีน
ใช้แมลงผึ้งเป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ พบวิธีรักษาโรคสมองฝ่อคนสูงอายุ
ส่งหุ่นยนต์ไทยช่วยวิจัยขั้วโลกใต้ ก.วิทย์หวังพัฒนาเทียบชั้น สปิริต’
นักวิทย์ใช้ 20 ปีวิเคราะห์จุลินทรีย์สร้างสารปฏิชีวนะผลิตยาและเคมี
เล็งพัฒนาพันธุ์พืชจีเอ็มดูดซับโลหะหนัก
ตัดต่อยีนพิเศษผลิตโอเมก้า 3 เพิ่มคุณค่าเนื้อ
แพทย์รามาผ่าตัดฝัง “หูไฟฟ้า” ช่วยคนพิการ
สำรวจพบสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่ ประโยชน์ตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ
น้ำลายค้างคาวกลายเป็นยา
เปิดเพลงคลาสสิกกล่อมผู้ป่วยทางสมองอาการก้าวร้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ข่าวทั่วไป

พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่ ภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณ
กระทะอาหารก่อไอควันพิษฆ่านก
เตือนคนอ้วนท้วนเมื่อขับรถยนต์ ง่วงเหงาด้วยโรคของการนอน
หมอเลี้ยบเสียงแข็งไม่ขยายเวลาเกมออนไลน์
องค์กรสหรัฐทูลเกล้าฯถวายรางวัลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ยกย่องพระราชกรณีกิจเพื่อมนุษยธรรม
‘ จิตแพทย์’ ชี้รู้พัฒนาการลดปัญหาเด็กดื้อ





ข่าวการศึกษา


เร่งจัดคณะทดสอบระดับชาติ

รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทก.) เผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง สทก. ว่าที่ประชุมได้หารือถึงแผนดำเนินการจัดทดสอบระดับชาติ โดยคณะกรรมการ จัดทำเกณฑ์มาตรฐานการสอบขั้นพื้นฐานของผู้เรียนที่มี ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นประธาน ได้ลงนามจัดตั้ง โดยมีคณะกรรมการแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำนวยการ ระดับดำเนินการ ระดับคณะทำงาน การจัดสอบจะใช้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นฐาน โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมด้วย และใช้กลไกเอนทรานซ์จัดสอบ คาดว่า เดือน ก.ย.นี้ข้อสอบชุดแรกจะเสร็จ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 หน้า 15)





ทปอ.ไม่สนเอนทรานซ์ใหม่เป็นเอกสิทธิ์บังคับไม่ได้

ศ.ดร.อุทุมพร จารมรมาน ประธานกลุ่มเสวนาเเอ็ดมิชชั่น ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ระบุว่า ในปีการศึกษา 2548 ให้เพิ่มค่าน้ำหนักคะแนนเฉลี่ยสะสม (จีพีเอ) 25% ยกเลิกค่าตำแหน่งลำดับที่ (PR) และในปีการศึกษา 2549 ให้ใช้ค่าน้ำหนักจีพีเอ 100% กับผลการทดสอบระดับชาติ หรือ (National Test) ก่อให้เกิดความสับสนและทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อใช้ค่าจีพีเอ 100% แล้ว จะใช้เกณฑ์อื่นมาใช้อีกได้หรือ อีกทั้งการให้นักเรียนยื่นสมัครยังสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งโดยตรงก็จะทำให้นักเรียนวิ่งพล่านสมัครแต่ละมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อประกาศดังกล่าวสร้างความสับสน ก็ควรแก้ประกาศ ศธ. ศ.น.พ.อดุลย์ วิริยเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ในการประชุม ทปอ. ในวันที่ 28 ก.พ.นี้จะมีการหารือเอนทรานซ์ ซึ่งตนเชื่อว่าเรื่องที่อยู่ในอนาคตทบทวนได้ทั้งนั้น และถึงแม้จะไม่มีการแก้ไขประกาศ ศธ. ที่ออกมาแล้ว แต่ก็เป็นเอกสิทธิ์ ของมหาวิทยาลัยทีหากเห็นว่าประกาศของ ศธ.ไม่เหมาะก็สามารถรับตรงเองได้แต่ความโกลาหลก็เกิดขึ้น ดังนั้นควรมีการออกแบบระบบให้สั้นที่สุด (เดลินิวส์ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





ชูไฮเทคเลือกผู้นำนักเรียน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกโรงเรียนสตรีวิทยา 2 นำร่องจัดกิจกรรมการเลือกตั้งสภานักเรียนโดยใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์หรือ Thai Voting Machine ขึ้นโดยเครื่องลงคะแนนเสียงดังกล่าว เป็นเครื่องต้นแบบที่ สพฐ. ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมี 3 หน่วยงานประกอบด้วย ส.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลิตเครื่องลงคะแนนดังกล่าวขึ้น เพื่อลดงบประมาณ ลดขั้นตอน และลดบุคลากรในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบใช้ (ไทยรัฐ พุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





ฟ้าหญิงเร่งรัฐพัฒนากำลังคนด้านพิษวิทยาเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงมีพระประสงค์ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วงมือกันในการจัดฝึกอบรมบุคลากร ให้มีความรู้ด้านพิษวิทยาและด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะประเทศไทยและประเทศต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่ายิ่งสมควรได้รับการอนุรักษ์ และปกป้องการทำลายจากมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม รัฐบาลจำเป็นต้องมีระบบบริการจัดการที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้มีน้อยที่สุด พระองค์ได้จัดตั้งศูนย์พิษวิทยานานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม (ICEIT) จัดอบรมระยะสั้นและระยะยาวจัดหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีโดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยมหิดล มี นศ.จากประเทศไทยและประเทศต่างๆในเอเซีย เป็น นศ.ปริญญาโท 22 คน และปริญญาเอก 30 คน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





ไอซีทีผุดหนึ่งวัดหนึ่งศูนย์คอม

นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไอซีทีเตรียมจัดตั้งโครงการหนึ่งวัดหนึ่งศูนย์คอมพิวเตอร์ (One Temple One Computer Center: OTEC)เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเสริมทักษะพัฒนาคนในชุมชนด้านไอซีทีซึ่ง คาดว่าจะมีวัดที่สนใจเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 วัดโดยทางกระทรวงจะจัดหาคอมพิวเตอร์เข้าวัดจากการจัดผ้าป่าคอมพิวเตอร์รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์จากโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีมาให้วัดต่างๆแห่งละ 20 เครื่อง เพื่อให้มีอุปกรณ์การเรียนรู้เพียงพอต่อการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศ รวมถึงการสนับสนุนซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่กลางชุมชนหรืออินเทอร์เนตความ เร็วปกติในพื้นที่ห่างไกลชุมชนด้วย (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 5)





ศธ. ยืนยันเดินหน้าอบรมครู-ผู้บริหาร เพิ่มวุฒิปริญญาตรี

นายพลสันต์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้จัดโครงการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา ประจำการให้ได้รับวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษา และประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป. บัณฑิต) การบริหารการศึกษาในปี 2546-2549 เพื่อแก้ปัญหาครูที่ยังไม่ได้รับวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษาและผู้บริหารที่ยังไม่มีวุฒิทางการบริหารการศึกษา โดยได้เริ่มโครงการรุ่นที่ 1 เมื่อเดือน มิ.ย. 2546 จากการประเมินผลโครงการพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจซึ่งผู้เข้าร่วมผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่แบ่งเป็นทักษะพื้นฐาน 3 เรื่อง ได้แก่ทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ ทักษะการคิด มีคุณลักษณะพื้นฐานที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ตรงต่อเวลา รวมถึง สมรรถนะ 5 ด้าน คือ การบริหารการจัดการ มองทุกอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการข้อมูล ทำงานเป็นทีมและใช้คอมพิวเตอร์สมัยใหม่ได้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 11)





5 มหาวิทยาลัยรับเป็นพื่เลี้ยง เสริมงาน ‘ ไอซีที ‘ ให้โรงเรียน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับผิดชอบโรงเรียน ไผทอุดมศึกษากรุงเทพฯ ร.ร. อนุราชประสิทธิ์ นนทบุรี ร.ร. วัดโสมนัส กรุงเทพฯ และร.ร. ประถมฐานบินกำแพงแสน นครปฐม เน้นการอบรมครูและการนำโปรแกรม Micro World ไปสู่การเรียนการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ ร.ร.ท่าม่วง ราชบำรุงและร.ร.อนุบาลวัดลูกแกประชาชนูทิศ กาญจนบุรี เน้นหลักสูตรสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ การจัดทำแผนการสอนใช้สื่อ ICT และการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ด้วย ICT สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับผิดชอบ 2 โรงเรียน ร.ร.วัดเขมาภิรตารามและร.ร. กลาโหมอุทิศ นนทบุรี เน้นการปูพื้นฐานความรู้ด้าน ICT ให้กับบุคลากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับผิดชอบ 2 โรงเรียน ร.ร. ดวงวิภา และโรงเเรียนไชยฉิมพลี กรุงเทพฯ เน้นการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเช่น E-Learning E-Office E-Library และการสร้างองค์ความรู้ตามแนวคิด ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ ( กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า11)





ศิริราชสอบพิเศษคัดน.ศ.แพทย์ 47

น.พ. เอื้อพงศ์ จตุรธำรง รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าในการรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประจำปีการศึกษา 2547 จำนวน 30 คนปรากฏว่ามีผู้สมัคร 1,073 คน ในการคัดเลือกนั้นจะใช้คะแนนสอบ 7 วิชาหลักที่จัดสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) คือ ภาษาไทย สังคม ฟิสิกส์ คณิต 1 ต้องได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 และภาษาอังกฤษ ชีววิทยา เคมี ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 และผู้สมัครต้องผ่านการสอบพิเศษอีก 400 คะแนน ได้แก่ ความสามารถและทักษะในการฟัง อ่านจับใจความและเขียนเรียงความ ความสามารถและทักษะในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผลรวมทั้งความสามารถและทักษะด้านตัวเลขซึ่งกำหนดวันสอบพิเศษวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุด 330 คนแรกจะได้เข้ารับการตรวจร่างกายสอบสัมภาษณ์และการทดสอบสุขภาพจิตก่อนจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในหลักสูตร จำนวน 225 คน (มติชนรายวัน เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





‘รามคำแหง’ ขอช่อง’ยูบีซี’ ออกอากาศเล็กเชอร์ 24 ช.ม.

นายประจวบ ไชยสาส์น นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ให้สัมภาษณ์ว่ามร.ในตอนนี้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการเรียนทางไกล ซึ่งต่อไปการศึกษาตามอัธยาศัยจะเป็นหัวใจหลักซึ่งรามจะต้องส่งเสริมให้คนตื่นตัวต่อการเรียนรู้ ปัจจุบันมีความผันแปรทางด้านองค์ความรู้ เราต้องรู้เท่าทันว่าโลกคิดอย่างไร ซึ่งจะใช้ระบบการศึกษาแบบธรรมดาไม่ได้ ตอนนี้รามกำลังเจรจาขออนุมัติไปยัง อ.ส.ม.ท. เรื่องขอช่องจากยูบีซีเพื่อจัดทำรามแชลนอลโนเลสทเวนติโฟร์ (ความรู้ 24 ชั่วโมง) ซึ่งจะนำเล็คเชอร์ทุกวิชาในรามมาออกอากาศทุกๆวันและสามารถซื้อเป็นวีซีดีได้โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างสำรวจค่าใช้จ่ายต่างๆ (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 21)





ไทยเตรียมถก”ค้าโลก” เปิดเสรีการศึกษา

ดร.ฉันทวิทย์ สุชาตานนท์ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีทางการศึกษาว่าไทยจะเปิดเสรีทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเรียนผ่านอินเตอร์เนต 2. นักศึกษาไทยไปเรียนต่อในต่างประเทศ 3.สถาบันการศึกษาต่างประเทศเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในไทย 4.การเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนหรือเข้ามาในฐานะครูสอนในไทย ซึ่งจะเปิดเฉพาะด้านที่ 2-4 ก่อนเนื่องจากมีกฎระเบียบรองรับไว้อยู่แล้ว ในขณะนี้สกอ.อยู่ระหว่างร่างกฎระเบียบการให้บริการข้ามพรมแดนโดยมุ่งเน้นที่สาขานาโนเทคโนโลยีหรือสาขาที่ไทยยังขาดแคลนบุคลากรและขาดความชำนาญที่จะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาสอนได้ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้แทนการเจรจาของไทยในการประชุมองค์การการค้าโลกในเดือนมิถุนายน 2547 นี้ โดยจะเน้นการเจรจาแบบทวิภาคีในประเทศที่มีความพร้อมก่อน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





ศธ.ผุดโครงการ”ครูเอื้ออาทร” ให้ทุนต่อป.โท-เอกเมืองนอก

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวหลังจากการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ส่งนักเรียนม.6 ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีต่างประเทศหรือในประเทศรวม 921 ทุน ว่าจะขยายเวลารับสมัครไปถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 6 ที่อายุเกิน 18 ปี นักเรียนสายอาชีวศึกษาและนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนก็สามารถสมัครขอรับทุนได้สำหรับ ขั้นตอนการสอบคัดเลือกจะสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษ และสอบสัมภาษณ์วันที่ 20-21 มีนาคม ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกแต่ละจังหวัดกำหนดไว้ นอกจากนี้ศธ.จะจัดโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอสำหรับข้าราชการครูโดยให้ทุนข้าราชการครูไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นครูในสาขาที่ขาดแคลนซึ่งจะนำเสนอนายจาตุรงค์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีต่อไป (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 20)





อุดมฯลุ้นงบฯ 48 กว่า 4 หมื่นล้าน ผลิต 15 สาขา-มุ่งวิจัยประยุกต์

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยผลการประชุมระดมความคิดเรื่อง”การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบการอุดมศึกษาของประเทศ” ว่าได้ชี้แจ้ง แก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ สถาบันราชภัฏและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณปี 2547 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ 1. ประชาชนต้องรับการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และต่อเนื่อง 2. สร้างคนดีคนเก่งให้สังคม 3. เพิ่มมาตรฐานการศึกษาและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการผลิตและการวิจัยเป็นหลัก โดยให้เสนอแผนภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ คาดว่าในปี 2548 จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท สาขาวิชาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มี 15 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม เกษตร สัตวแพทย์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ภาษา สังคมและมนุษยศาสตร์ ศิลปะ ส่วนการวิจัยจะเน้นการประยุกต์ใช้เป็นหลัก เช่นพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น (มติชนรายวัน ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 20)





กฤษฎีกาปรับร่างพ.ร.บ.ระเบียบครูฯ

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชครูเปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับแก้ไข) ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วว่า ร่างพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีการปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ. โดยปรับเพิ่มข้อความในหมวด 3และ4 ว่าการกำหนดบรรจุตำแหน่งแต่งตั้งข้าราชการจะต้องพิจารณายึดหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี และมีการเพิ่มตำแหน่ง”พนักงานข้าราชการครู” นอกเหนือจากตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้กฤษฎีกายังมีการเพิ่มเติมในหมวด 5 เรื่องของการประเมินและเลื่อนตำแหน่งข้าราชการครู และการมอบรางวัลจูงใจโดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาและผู้บริหารศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการประเมินและทำให้สามารถพัฒนาข้าราชการครูได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากกฤษฎีกาพิจารณาตรวจเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎร (มติชนรายวัน ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 20)





ศธ. เปิดช่อง ร.ร. 2 ภาษาเก็บค่าเรียนเพิ่ม

น.ส. ณ หทัย ทิวไผ่งาม โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ .) เปิดเผยกรณีการจัดเก็บค่าเล่าเรียนของโรงเรียนเปิดสอนหลักสูตร English Program ( EP ) และ Mini English Program ( MEP ) ที่บางแห่งจัดเก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่าเพดานที่ ศธ. กำหนด ซึ่งศธ.กำหนดว่า โรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตร EP ในระดับอนุบาล ประถมและ ม.ต้นสามารถเก็บเงินเพื่อบำรุงการศึกษาไม่เกิน 35,000 ต่อภาคการศึกษาและระดับม.ปลายเก็บได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อภาคเรียน ส่วนโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตร MEP สามารถเก็บเงินบำรุงการศึกษาในระดับอนุบาล ประถมและ ม. ต้น เก็บได้ไม่เกิน 17,500 บาทต่อภาคเรียน และ ม.ปลายเก็บได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อภาคเรียนนั้น โรงเรียนสามารถจัดเก็บเพิ่มเติมได้ในกรณีที่งบประมาณเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่เพียง พอ โดยต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองพร้อมทั้งต้อง ออกใบเสร็จพร้อมจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้โปร่งใส ( มติชนรายวัน เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15 )





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


หุ่นยนต์นักวิทยาศาสตร์

ผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ทำหน้าที่เหมือนนักวิทยาศาสตร์และนักค้นคว้าทดลองนั้นเกิดขึ้นโดย ศาสตราจารย์รอสคิง Ross King แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ที่เมืองอะแบริสทวิธ Aberystwyth ที่ประเทศอังกฤษและทีมงาน ทั้งนี้เพื่อที่จะลดงานด้านทดสอบและทดลองหลายๆ ครั้ง ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อตัดสินใจด้านการทดลองและทดสอบในแต่ละครั้งว่าจะเดินไปทิศทางไหน เพื่อให้การทดสอบรวดเร็วมากขึ้นและการค้นพบจะได้รวดเร็ว หุ่นยนต์นี้ถูกสร้างขึ้นให้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์กันเลย อีกหน่อยก็จะมีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ โดยนักวิทยาศาสตร์หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นนี้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





ยานสำรวจ 2 ลำรุมเจาะไชดาวอังคาร

องค์การอวกาศสหรัฐ รายงานว่า ยานสำรวจขององค์การ 2 ลำ ชื่อ “สปิริต” และ “ออพพอร์จูนนิตี้” กำลังขุดไชดินบนดาวอังคารด้วยมือกลซึ่งอยู่ห่างกันคนละซีกของดาวอังคาร เพื่อที่จะถ่ายภาพในระยะใกล้ของก้อนหินภูเขาไฟก้อนหนึ่งชื่อว่า “อดิรอนแดค” และยังมีเป้าหมายที่จะสำรวจหลักฐานในทางธรณีวิทยาของร่องรอยการมีน้ำในอดีตในหลุ่มบ่อที่มีชื่อว่า “บอนเนวิล” ซึ่งอาจแสดงให้รู้ว่าดาวอังคารเคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันล้านปีก่อน (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





อินเทลใช้นาโนผลิตชิปเพนเทียม

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าเทคโนโลยีการผลิตแบบ 90 นาโนเมตรเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในวงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่อินเทลนำมาใช้เป็นพิเศษสำหรับผลิตชิปบนเวเฟอร์ขนาด 300 มิลลิเมตร วิธีการผลิตดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสมรรถนะการใช้งานในออฟฟิศและดิจิทัลโฮมสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันโดยไม่ต้องกลัวเครื่องสะดุด คาดวางจำหน่ายภายในปีนี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





ปากกาแปลภาษา

ข้อมูลจากนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจสท์ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์มีคำแนะนำว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตปากกาที่สามารถอ่านได้มากถึง 25 ภาษา เรียกว่า ปากกามหัศจรรย์ซูเปอร์เพนของวิซคอมพ์เทคโนโลยี ปากกาแปลภาษาจะทำงานโดยการสแกนข้อความและแปลคำศัพท์ลงบนจอที่ด้ามปากกา ถ้าเป็นรุ่นล่าสุด ซูเปอร์เพนวอยซ์ จะมีคุณสมบัติพิเศษออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษได้ หากคำศัพท์ในตัวเครื่องไม่พอ ก็ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิซคอมพ์ ที่ชอบใจก็คือปากกานี้เก็บข้อมูลได้ทั้งข้อความและรูปภาพขนาดเล็ก แล้วถ่ายโอนไปเก็บไว้ในเครื่องพีซี พีดีเอ และโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ราคาขายคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,500-9,500 บาท (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





เครื่องปอกเปลือก ‘บักหุ่ง’

สุรพล ภูมิพระบุ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดประดิษฐ์ “เครื่องปอกเปลือกและฝานเส้นแบบกึ่งอัตโนมัติชนิดไม่จำกัดรูปทรงของมะละกอ” โดยขอทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.สุรพล กล่าวว่า ได้ประดิษฐ์กลไกใบมีดอัตโนมัติขึ้น ที่ใช้ในการปอกเปลือกสับ และฝานเส้น ในขณะที่ตัวจับมะละกอนั้น ออกแบบให้เป็นแบบติดสปริงเพิ่มเติมเครื่องสไลด์เส้นด้วย ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 47)





อินเทอร์เน็ตไทย-ลาว

โครงการอินเทอร์เน็ตไทย-ลาวได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วในวันที่ 30 มกราคม 2547 ณ ที่ทำการแขวงหลวงพระบางสาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ท่านบุนเตียม พิดสะหมัย รัฐมนตรีว่าการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมของลาว ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิด โครงการอินเทอร์เน็ตไทย-ลาว แม้จะเป็นเพียงก้าวแรก แต่ทำให้ลาวสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้จากทุกแขวงทั่วประเทศ ด้วยความเร็วไม่แพ้ในเมืองไทยและยังสามารถลิงค์เข้ากับเครือข่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เข้าด้วย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





ใช้ไอทีเชื่อมระบบการศึกษาลุ่มน้ำโขง

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอทีซี เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีอยู่ระหว่างจัดทำโครงการความร่วมมือด้านไอทีซีกับกลุ่มประเทศแถบลุ่มน้ำโขง (Mekon Institute of Technology) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ในสาขาเกษตรศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้ จะเชื่อมโยงเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยสมาคมประชาชาติหนองคาย และมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ที่นครเวียงจันทน์ส่วนวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ในหลวงพระบางจะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอนาคตจะตั้งเป็นไอซีทีคอร์ริดอร์ เชื่อมโยงจากขอนแก่นมายังอุดรธานี หนองคาย เวียงจันทน์ และฮานอย อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีจะนำโครงการดังกล่าวไปหารือในการประชุมร่วม ครม.ไทย-เวียดนาม ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





กำจัดขยะโดยการขนไปทิ้งทะเล

ประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองโอซากา ได้ทำโครงการทิ้งขยะในทะเล เริ่มมา 20-25 ปีแล้ว ท้ายที่สุดสามารถพัฒนาพื้นที่ทิ้งขยะนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ และที่สำคัญก็คือต้องมีการโครงสร้างรองรับที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยวิศวกรได้ออกแบบกำแพงเข็มพืดถาวรที่สามารถปิดล้อมพื้นที่และต้องปิดกั้นผ่านชั้นทราย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนชั้นระบายสู่น้ำทะเลนอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์ เสถียรภาพของลาดเนินเพื่อความปลอดภัยในระหว่างถม วิเคราะห์การทรุดตัวของถนนเพื่อคำนวณปริมาณการทรุดตัวเพื่อใช้เป็นข้อมูลการก่อสร้างสาธารณูปโภคอื่นๆ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 31)





ชุดปอกผิวมันหนุนเอสเอ็มอี

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ได้ร่วมกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตแหนม เนืองจังหวัดหนองคายและการสนับสนุนทางวิชาการจาก GTZ ประเทศเยอรมันนี ร่วมพัฒนาเครื่องปอกผิวมันฝรั่งอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพในการขัดและปอกเปลือกผิวทำให้ได้หัวมันฝรั่งที่สดและสะอาดหลักการทำงานของเครื่องขัดผิวมันฝรั่งอัตโนมัติประกอบด้วยลูกกลิ้งขัดจำนวน 8 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยช่วงขัดทราย ช่วงแปรงขนแข็งและแปรงขนนุ่ม มีลูกกลิ้งหมุนด้วยความเร็ว 180 รอบ/นาทีที่ปรับระดับความเร็วได้ พร้อมปั๊มน้ำหมุนเวียนเป็นเหล็กไร้สนิมและหัวฉีดแบบ Clip eye let ที่ล้างทำความสะอาดได้ ประสิทธิภาพในการล้างขัดปอกผิวใช้เวลาเพียง 2 นาที กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม/ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 3 เท่าจึงสามารถสนองความต้องการของธุรกิจเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างด ี(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





นักวิทย์พบตำแหน่งขั้วโลกเปลี่ยน หวั่นสนามแม่เหล็กหมดจากโลก !

นายลาร์รี นีวิตต์ จากคณะสำรวจทางธรณีทยา ประเทศแคนาดากล่าวว่าตำแหน่งขั้วแม่เหล็กโลกมีการเคลื่อนที่เปลี่ยนไปจากเดิมและความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกยังลดลงประมาณ 10 % ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ทำให้เป็นที่หวาดวิตกว่าสนามแม่เหล็กโลกกำลังจะหมดไปหรือไม่ ซึ่งนายแกรี แกลตซ์ไมเออร์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ออกมากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับในอดีต จากการศึกษาแถบแม่เหล็กในแผ่นหินพบว่าความเข้มของสนามแม่หล็กโลกมีการเพิ่มขึ้นและลดลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งสนามแม่เหล็กโลกในขณะนี้มีความเข้มข้นมากกว่าความหนาแน่นเฉลี่ยในช่วงหนึ่งล้านปีที่ผ่านมาถึงสองเท่า ซึ่งการเกิดสนามแม่เหล็กนั้นเกิดจากการเคลื่อนที่ของเหล็กหลอมเหลวที่แกนโลกชั้นนอกทำให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าขึ้นเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าปรากฏการณ์ไดนาโม นอกจากนี้ขั้วเหนือของแกนหมุนของโลกกับขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ขั้วเหนือของแกนหมุนอยู่ที่ละติจูด 90 องศา บนแผ่นน้ำแข็งของมหาสมุทรอาร์กติก ส่วนขั้วเหนือแม่เหล็กโลกอยู่ในเขตประเทศแคนาดา (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า18)





ม.สงขลาฯเผยเทคนิคชีวภาพยับยั้งจุลินทรีย์

ศ.บัญชา อุไรกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยในเวทีวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง”จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้ Food Additives” ว่า จากการที่ผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร ความต้องการบริโภคอาหารที่ สด อร่อย และเก็บได้นานมากขึ้น ทำให้ต้องมีการใช้สารเติมแต่งอาหารเพื่อคงความสดและรสชาติอาหารไว้ ซึ่งผู้บริโภคบางรายไม่อยากได้อาหารที่เติมสารเคมี ดังนั้นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคจึงอยู่ที่ “เฮอร์เดิล เทคโนโลยี” (Huedle Technology) เทคโนโลยีในการถนอมอาหารโดยสร้างเครื่องกีดขวางมายับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมค่าความเป็นกรดเบส การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยวีธีต่างๆ ฉายรังสี ใช้อุณหภูมิสูงต่ำ การใช้ความดันรวมถึงการบรรจุหีบห่อ ซึ่งเหมาะกับอาหารเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะอาหารสดหรือกึ่งสด ซึ่งในการใช้เทคโนโลยีนี้ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในตัวผลผลิตเป็นอย่างดีจึงจะสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมได้และเทคโนโลยีนี้เหมาะกับอาหารสำหรับการส่งออกหรืออาหารชนิดที่ตลาดมีกำลังซื้อสูงพอซึ่งน่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารจะสูงขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





เครื่องผลิตขนมทองม้วน ยกระดับอาหารไทยส่งออก

นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงศ์ นักวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ทองม้วนเป็นขนมไทยที่รู้จักอย่างแพร่หลาย วว.จึงออกแบบและพัฒนาเครื่องม้วนทองม้วนแบบอัตโนมัติเพื่อให้ทองม้วนมีมาตรฐานมากขึ้น โดยเครื่องม้วนทองม้วนสามารถผลิตทองม้วนได้ 5 ชิ้นต่อนาที ส่วนประกอบหลักของเครื่องม้วนทองม้วนได้แก่ เตาความร้อนที่ควบคุมอุณหภูมิ ชุดลูกกลิ้งสำหรับม้วนแผ่นแป้ง และชุดตัดทำหน้าที่ตัดแท่งทองม้วนให้ได้ขนาดพอดี ทำให้ทองม้วนมีขนาดเท่ากันทุกชิ้นและถูกสุขอนามัย ซึ่งต้นทุนการผลิตเครื่องอยู่ที่ 30,000 บาท โดยปัจจุบันบริษัทผลิตทองม้วนส่งออกได้นำไปติดตั้งเพื่อทดสอบการใช้งานในระดับอุตสาหกรรมและหาข้อบกพร่องต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





“มจธ” ร่วมกับ”ปูนตราช้าง” วิจัยและผลิต”เสาเข็มดินซีเมนต์” สร้างประโยชน์แก่คนไทยในด้านงานฐานราก ป้องกันปัญหาดินยุบตัว

รศ.เกษม เพชรเกตุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เปิดเผยถึงผลงานการวิจัย เสาเข็มดินซีเมนต์ (Cement Column) ซึ่งเป็นการนำดินผสมกับซีเมนต์โดยอัดฉีดแรงดันสูงให้ปูนซีเมนต์ทำปฏิกิริยาเคมีกับดินเหนียวอ่อนกลายเป็นดินแข็ง ช่วยแก้ปัญหาการทรุดตัวของถนนบนดินอ่อน ฐานรากสนามบินที่ก่อสร้างบนดินอ่อน แก้ไขปัญหาการพังทลายของลาดริมตลิ่งและแก้ปัญหาด้านงานขุดลึกในดินอ่อนหรือดินหลวม โดยได้รับการสนับสนุนปูนซีเมนต์จากบริษัทปูนซีเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ตราช้าง นอกจากนี้เสาเข็มดินซีเมนต์ยังได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศอีกด้วย (มติชนรายวัน พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





อาชีวศึกษาโชว์ผลงานประดิษฐ์นักศึกษา

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่าในการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดจากสถาบันอาชีวศึกษาจากทุกภาคของประเทศมากถึง 904 ผลงาน อาทิเช่น ผลงานเครื่องบดย่อยวัสดุแบบหยาบและละเอียดจากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ที่ให้ความละเอียดในการสับบด 3-5 มิลลิเมตร, เครื่องแช่เบียร์วุ้นจากแผนกช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกซึ่งสามารถแช่เบียร์วุ้นได้คราวละ 10 ขวดใช้เวลาเพียง 10 นาที นอกจากนี้ยังมีเครื่องสีข้าวกล้องจากวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร, ปากกาจับชิ้นงานเชื่อมฉากจากวิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์, เครื่องพ่นทรายระบบอากาศ หมุนเวียนจากวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรีเป็นต้น ซึ่งผลงานจะจัดแสดงที่เดอะมอลล์บางกะปิตั้งแต่ระหว่างวันที่ 19-22 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้จะเป็นปีแรกที่ที่กรมอาชีวศึกษาและกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือในการผลักดันให้สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้รับการจดสิทธิบัตรเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอย่างถูกต้องและป้องกันการลอกเลียนแบบจากผู้อื่น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ก.วิทย์ผลิตชุดตรวจเชื้อ”หวัดนก”สำเร็จราคาถูก-แม่นยำสูง รู้ภายใน 10 นาที

ก.วิทย์ผลิตชุดตรวจเชื้อ”หวัดนก”สำเร็จราคาถูก-แม่นยำสูง รู้ภายใน 10 นาที พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า วท. ซึ่งมีหน่วยงาน สวทช. ที่ร่วมกับบริษัทอินโนว่า ไบโอเทคโนโลยีและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัทแปซิฟิก ไบโอเทคจำกัด ผลิตชุดตรวจสอบไข้หวัดนกทั้งหมด 2 ชุดที่มีคุณสมบัติการใช้งานแตกต่างกัน โดยชุดตรวจสอบของบริษัทอินโนว่านั้นใช้กับห้องปฏิบัติการที่มีวิธีการตรวจสอบแบบมาตรฐานคือการเพาะเชื้อในไข่ ซึ่งน.พ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการไบโอเทคกล่าวว่าชุดตรวจสอบนี้มีความไวสูง สามารถอ่านผลได้ภายใน 10 นาทีมีีความแม่นยำสูงถึง 93% ส่วนของสถาบันนวัตกรรมผลิตเพื่อรองรับการตรวจสอบในฟาร์มของเกษตรกรซึ่งสามารถตรวจสอบจากไก่ได้ทันที โดยนำแผ่นทดสอบป้ายมูลไก่ ทั้งไก่ที่ตายและยังมีชีวิตอยู่ จากนั้นนำไปผสมน้ำยา แล้วนำไปหยดในแผ่นทดสอบ 8 หยดและรอ 10 นาที หากแผ่นทดสอบขึ้น 2 ขีด แสดงว่าสัตว์ปีกมีเชื้อ (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 18)





ยุโรปส่งยานสำรวจดาวหาง

องค์การอวกาศแห่งยุโรป(อีเอสเอ) เตรียมส่งยานสำรวจ “โรเซตต้า”ขึ้นสู่อวกาศด้วยนายแอเรียน 5 จากฐานส่งยานโคอูรัว ที่เฟรนช์เกียนา ทวีปแอฟริกาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้น 10 ปียานจะไปบรรจบกับวงโคจรของดาวหาง “67 พี/ชูรีมออฟ-การาสซิเมนโก” ในปี 2557 จากนั้นยานโรเซตต้าจะปล่อยยานลูก “ฟีเล่” ลงสำรวจพื้นผิวของดาวหางโดยมีโรเซต้าโคจรอยู่รอบๆเพื่อถ่ายทอดสัญญาณจากฟีเล่ส่งกลับมายังหอควบคุมบนพื้นดิน บนยานฟีเล่จะติดตั้งอุปกรณ์โครมาโตกราฟสำหรับตรวจสภาพก๊าซบนพื้นผิวดาวหางและเครื่อง สเปคโตรมิเตอร์สำหรับตรวสอบมวลของดาวหางซึ่งเชื่อว่าเป็นดาวหางที่องค์ประกอบเกือบทั้ง หมดยังไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่ระบบสุริยจักรวาลก่อรูปขึ้นในราว 4,500 ล้านปีมาแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดหมายว่าการได้ข้อมูลรายละเอียดองค์ประกอบมวลของดาวหางมาศึกษาจะช่วยเพิ่มความกระจ่างให้กับการก่อกำเนิดจักรวาลได้ (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 40)





ข่าววิจัย/พัฒนา


หุ่นจำลองยางพารา’ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ปี 47

ศ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาสื่อการสอนรูปหุ่นจำลองจากยางพาราได้ทำการศึกษาวิจัยการนำยางพารามาใช้งานในด้านนี้เป็นผลสำเร็จ และได้รับรางวัลประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2547 จากสภาวิจัยแห่งชาติ นับเป็นนิมิตที่ดีในการพัฒนาด้านสื่อการสอน และมีแนวโน้มที่จะผลิตเป็นสินค้าส่งออก สถาบันการศึกษาต้องการรายละเอียด ติดได้ที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โทร 0-2942-8954-6 (เดลินิวส์ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





หนุนผลิตหุ่นยนต์สายพันธุ์ไทยช่วยวิจัยขั้วโลกใต้

พ.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลังจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้คัดเลือกส่ง ดร.วรณพ วิยกาจน์ อาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิจัยคนแรกของไทยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยขั้วโลกใต้กับสถาบัน NIPR ประเทศญี่ปุ่น สวทช. จะเปิดรับผลงานวิจัยที่สามารถประยุกต์กับงานวิจัยที่ขั้วโลกใต้ และสามารถวิจัยได้พร้อมๆกับที่ขั้วโลกใต้และไทยในช่วงที่ ดร.วรณพ อยู่ที่สถานีวิจัย Showa Station คณะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ไมโครชิปของไทยและใช้แผงโซลาเซลล์ชนิดฟิลม์เป็นพลังงานของหุ่นยนต์ช่วยสำรวจได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 14)





นักจุลชีวะรั้วมหิดลคว้า “นักวิทย์ดีเด่น”

ศ.ดร.วิทยา มีวุฒิสม อาจารย์จากภาควิชา จุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จากผลงานวิจัยเรื่องของการผลิตปฏิชีวนะสาร มานานกว่า 20 ปี จนสามารถค้นพบสารตัวใหม่จากการศึกษาเอ็นไซน์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาปฏิชีวนะชนิดเพนนิซิลลิน วิจัยการใช้จุลินทรีย์และเอ็นไซน์ต่างๆ ผสมเป็นอาหารสัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยภาคเอกชนตรวจวิเคราะห์เกี่ยวกับจุลินทรีย์จนได้ผลิตภัณฑ์ช่วยกำจัดมลพิษ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





งานวิจัยนาโน : พัฒนาถ่านกัมมันต์

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. หนึ่งในคณะผู้จัดทำแผนแม่บทศูนย์นาโนเทค กล่าวว่า งานวิจัยนาโนเทคโนโลยี จะนำมาใช้พัฒนากระบวนการผลิตถ่านกัมมันต์เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม หลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมเคมี เภสัชกรรม การฟอกสี การกรองน้ำดี เครื่องกรองอากาศ เป็นต้น แล้วยังสามารถนำกากของเสียกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถ่านกัมมันต์แบบโมโซพอร์ได้อีกด้วย คาดว่าในอีก 2 ปีจะมีโรงงานผลิตถ่านกัมมันต์คุณภาพสูงในประเทศไทยโดยมีต้นทุนต่ำ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





พบโปรตีนเป็นปุ๋ยของเซล์สมอง ทำยาเป็นเม็ดกินแก้โรคสมองเสื่อม

นักวิจัย กล่าวว่า ได้ค้นพบโปรตีนสมองที่เรียกว่า ไซปิน เป็นตัวการสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ เพราะมันมีส่วนกับการจับกลุ่มของเซลล์สมอง นักวิจัยมั่นใจว่าจะคิดยาเม็ดป้องกันการหลงลืมของผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ นับว่าเป็นความหวังให้กับผู้ประสบความทุกข์กับโรคสมองเสื่อม (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2547 หน้า 7)





เปิดเพลงคลาสสิกกล่อมผู้ป่วยทางสมองอาการก้าวร้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ดร.คริสเตียน เฮน ผู้วิจัยและคณะได้ใช้เวลา 6 เดือนในการศึกษาวิจัยผู้ป่วยทางสมอง มีอาการสติปัญญาเสื่อมโดยให้กลุ่มผู้ป่วยฟังดนตรีคลาสสิกบาโร้ค วันละ 2-3 ชั่วโมง มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น อาการก้าวร้าวรุนแรง และร้องตะโกนลดลงกว่า 40% (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 หน้า 7)





สกว.มีเฮไม่ยุบรวม

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยความคืบหน้ากรณียุบรวม วช.กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการวิจัยบูรณาการนำร่อง ซึ่งมี ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวานิช เป็นประธานได้ข้อสรุปเรื่องนี้แล้ว โดยจะไม่ยุบรวมหน่วยงานวิจัยทั้งสองแต่จะให้ทำงานในลักษณะของเครือข่ายวิจัยร่วมกัน และอยู่ภายใต้หน่วยงานยุทธศาสตร์การวิจัยที่ตั้งขึ้นใหม่ ร่วมถึงสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประชาติ (สวพช.) ด้วย คาดว่าข้อสรุปจะถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อนัดประชุมอีกครั้งหนึ่ง (ไทยรัฐ อังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





วช.ระดมสมองสร้างเครือข่าย สร้างงานวิจัยสกัดไข้หวัดนก

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐ์กิจโดยรวมของประเทศ วช. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสภาคณบดีคณะเกษตรแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมระดมสมองเรื่อง “เครือข่ายงานวิจัยด้านการจัดการฟาร์ม เพื่อป้องกันและกำจัดโรคไข้หวัดนก” ขึ้นในวันที่ 5 ก.พ.ที่โรงแรมมารวยการ์เด็น กรุงเทพฯ เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ เกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำหนดแนวทางการวิจัย เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและกำจัดโรคดังกล่าว (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ประดิษฐ์วัคซีนต่อสู้โรคซาร์สได้แล้วทดสอบของจริงกับมนุษย์ที่เมืองจีน

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ประกาศว่า ประสบความสำเร็จในการคิดค้นทำวัคซีนได้แล้ว โดยใช้สารภูมิต้านทานสังเคราะห์ อันเป็นโปรตีนที่มนุษย์สร้างขึ้นแบบหนึ่ง สกัดเชื้อโรคไวรัสซาร์ส ไม่ให้เกาะติดเซลล์มนุษย์ในหลอดทดลองได้โดยสารภูมิต้านทาน จะเข้าเกาะติดเชื้อไวรัส ขัดขวางป้องกันไม่ให้มันโจมตีเซลล์มนุษย์คาดว่าจะทดลองกับคน โดยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในจีนอีกไม่นานนี้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ใช้แมลงผึ้งเป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ พบวิธีรักษาโรคสมองฝ่อคนสูงอายุ

หัวหน้าคณะวิจัยจูดิธ ไรน์ฮาร์ด นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เชื่อว่าจากการค้นคว้าในเรื่องความทรงจำของผึ้งจากการที่ได้กลิ่นของแหล่งอาหารที่เคยกิน ก็จะกลับมาที่แหล่งอาหารเดิม เขาจะใช้ประโยชน์จากการค้นพบนี้มารักษาโรคสมองฝ่อในคน เพราะเมื่อรู้ว่าอณูใดและหน่วยพันธุกรรมใดมีส่วนก่อกำเนิดความจำในสมองมนุษย์ขึ้นได้ ก็จะเอาหน่วยพันธุกรรมนั้นมารักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ส่งหุ่นยนต์ไทยช่วยวิจัยขั้วโลกใต้ ก.วิทย์หวังพัฒนาเทียบชั้น สปิริต’

ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ ผอ. ศุนย์เทคโนโลยีไมโครอิเลคทรอนิกส์กล่าวถึง ดร.วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยคนแรกของไทยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยขั้วโลกใต้ที่ทวีปแอนตาร์กติกกับสถาบัน NIPRประเทศญี่ปุ่นว่า ดร.วรณพจะต้องเตรียมการสำหรับการไปทวีปแอนตาร์กติก โดยวันที่ 14 พฤศจิกายน เรือ Shirase จะออกจากอ่าวโตเกียวมีลูกเรือ 150 คนและนักวิจัยอีก 65 คน กำหนดถึงทวีปแอนตาร์กติกวันที่ 12 ธันวาคม 2547 ซึ่งจะนำแผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางและไมโครชิปของสวทช.ไปทบสอบที่ขั้วโลกใต้ด้วยโดย คาดหวังว่าจะนำไปสู่การร่วมมือของสถาบันการศึกษาสวทช. ในการสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ไมโครชิปของไทยและใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานหุ่นยนต์ได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





นักวิทย์ใช้ 20 ปีวิเคราะห์จุลินทรีย์สร้างสารปฏิชีวนะผลิตยาและเคมี

มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2546 ให้ ศ.ดร.วิทยา มีวุฒิสม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดเผยว่าได้ทำวิจัยต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 ปี และค้นพบสารปฏิชีวนะใหม่หลายชนิด รวมถึงการศึกษาเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาปฏิชีวนะชนิดเพนนิซิลินและเซฟาโลสปอรินกึ่งสังเคราะห์ต่างๆซึ่งนำไปประยุกต์และใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยาและเคมีซึ่งผลการวิจัยนอกจากจะช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการผลิตยาปฏิชีวนะแล้ว ยังทำให้สามารถโคลนยีน penicilin acylase จาก Bacillus megaterium ได้เป็นกลุ่มแรก รวมถึงการค้นพบ D-phenylglycine aminotransferase เอนไซม์ที่ทำหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของกรดอะมิโนแบบใหม่ ต่างๆ นอกจากนี้มูลนิธิโทเรยังมอบรางวัลหน่วยงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ (BEC) ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เนื่องจากมีผลงานวิจัยดีเด่นรวมทั้งพัฒนากระบวนการทางเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ นำไปสู่การใช้งานจริง เช่น เทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายสไปรูลิน่า เทคโนโลยีการผลิต Bacillus subtilis เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





เล็งพัฒนาพันธุ์พืชจีเอ็มดูดซับโลหะหนัก

รศ.ดร.สุพัฒน์ อรรถธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ(บีบีไอซี) หน่วยปฏิบัติการพันธุวิศวกรรมด้านพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ขณะนี้บีบีไอซีมีแผนจะพัฒนาพืชจีเอ็มโอเพิ่มสองชนิด ได้แก่กล้วยไม้เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสีให้มากขึ้นและพืชที่มีลักษณะดูดซับโลหะหนักเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการทำความสะอาดแหล่งน้ำกับช่วยเกษตรกรฟื้นฟูที่ดินทำกินที่มีการสะสมของสารเคมีในดินเป็นจำนวนมาก โดยเลือกพืชที่มีวัฏจักรอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งน้ำหรือขึ้นได้ดีในที่น้ำแฉะหรือน้ำขังซึ่งจะเป็นตัวทำความสะอาดแหล่งน้ำโดยธรรมชาติ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ตัดต่อยีนพิเศษผลิตโอเมก้า 3 เพิ่มคุณค่าเนื้อ

วารสารทางวิทยาศาสตร์เนเจอร์รายงานว่านักวิจัยจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประสบความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมหนูทดลองให้ทำการผลิตกรดโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่พบมากในปลาทั่วไปและมีประโยชน์ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ โดยทีมงานได้ตัดต่อยีนที่ชื่อว่า ‘แฟท1’ ซึ่งเป็นยีนของหนอนพยาธิตัวกลมแครอแนบดิติส เอลิแกนเข้ากับยีนของหนู หลังจากนั้นพบว่าหนูที่ได้รับการตัดต่อยีนจะมีระดับของสารโอเมก้า 3 มากกว่าหนูทั่วไป จากผลการทดลองทำให้เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถใช้การตัดต่อยีนสร้างสัตว์รุ่นใหม่ที่ให้คุณค่าทางอาหารมากขึ้นกว่าเดิม (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





แพทย์รามาผ่าตัดฝัง “หูไฟฟ้า” ช่วยคนพิการ

แพทย์หญิงชนิดา กาญจนลาภ ภาควิชาโสตศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา เผยว่า โรงพยาบาลรามาประสบความสำเร็จในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมซึ่งสามารถช่วยผู้ที่สูญเสียการได้ยินจากประสาทหูพิการทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ให้ได้ยินเสียงใกล้เคียงปกติ ประสาทหูเทียมเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่รับสัญญาณสียงและเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ส่วนคืออุปกรณ์ที่อยู่ภายในฝังไว้ในกะโหลกศีรษะ หลังใบหู ทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณจากภายนอก ส่วนที่ 2 เป็นไมโครโฟนทำหน้าที่รับเสียง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระแทกบริเวณศีรษะและการเปียกน้ำ นอกจากนี้อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังราคาแพงมากจึงจำกัดเฉพาะผู้ที่ใช้อุปกรณ์ช่วยฟังอื่นๆแล้วไม่ได้ผล (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 11กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





สำรวจพบสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่ ประโยชน์ตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า โครงการวิจัยศักยภาพของการพัฒนาลุ่มน้ำที่มีผลต่อคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งมีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองค้นพบไบรโอซัวสายพันธุ์ใหม่ของโลกและได้รับพระราชทานชื่อว่า “สิรินธรเนลลา คริสตาตา” (Sirindhornella cristata) โดยดร.จักรกฤษณ์ มหัจฉริยวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อธิบายถึงไบรโอซัวว่า คือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายตะไคร่น้ำ สามารถพบได้ตามขวด พลาสติก เศษไม้ ใบบัว ฯลฯ ที่ลอยอยู่ในน้ำ สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำในแง่ของความเป็นกรดเป็นด่าง อุณหภูมิของน้ำ ค่าความเป็นพิษของสารตะกั่ว แคดเมียมโดยดูจากการมีชีวิตและจำนวนของไบรโอซัว หากมีอยู่มากแสดงว่าน้ำยังมีคุณภาพดี (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





น้ำลายค้างคาวกลายเป็นยา

นายแพทย์โฮเวิร์ด โรลีย์ นักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการสกัดยาเดสมาเตพลาสซึ่งมีพื้นฐานเป็นโปรตีนจากน้ำลายค้างคาวมาใช้รักษาโรคหมดสติเนื่องจากอาการอุดตันของเส้นเลือดในสมองหรือที่เรียกว่า “สโตรก” คุณสมบัติสำคัญของยานี้คือการเข้าสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในสมองโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการสลายลิ่มเลือดบริเวณอื่นๆของร่างกาย นอกจากนี้ยังไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีเลือดออกในสมองเพิ่มมากขึ้น จึงช่วยยืดระยะเวลาการพบแพทย์ได้นานถึง 9 ชั่วโมง ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยที่มาของอาการได้อย่างถูกต้องและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีกว่าเดิม (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 40)





เปิดเพลงคลาสสิกกล่อมผู้ป่วยทางสมองอาการก้าวร้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ดร.คริสเตียน เฮน ผู้วิจัยและคณะได้ใช้เวลา 6 เดือนในการศึกษาวิจัยผู้ป่วยทางสมอง มีอาการสติปัญญาเสื่อมโดยให้กลุ่มผู้ป่วยฟังดนตรีคลาสสิกบาโร้ค วันละ 2-3 ชั่วโมง มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น อาการก้าวร้าวรุนแรง และร้องตะโกนลดลงกว่า 40% (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 มกราคม 2547 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่ ภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณ

ไพบูลย์ รักษาพงษ์พาณิชย์ เจ้าของฟาร์มไก่ “ฟาร์มไพบูลย์” มีเทคนิคการเลี้ยงไก่ โดยใช้สมุนไพรไทยเข้ามาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ไข่ ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคระบาด โดยใช้ฟ้าทะลายโจรผสมกับบอระเพ็ดคลุกเคล้ากับอาหารไก่ และนำตะไคร้มาต้มกับน้ำให้ไก่กินแทนน้ำส่วนไอน้ำตะไคร้ก็ใช้ต่อท่อพีวีซีพ่นเข้าไปในเล้าไก่เพื่อเป็นการไล่หวัดไก่ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





กระทะอาหารก่อไอควันพิษฆ่านก

นักวิทยาศาสตร์ ของกองทุนอนุรักษ์ธรรมชาติโลก กล่าวว่า ได้รับรายงานว่ากระทะทอดอาหารแบบไม่ทำให้อาหารติด ก่อเหตุให้นกที่เลี้ยงในกรงที่ในสหรัฐตายลงไปมาก เพราะไอควันของกระทะเป็นสารประกอบทางเคมีก่อมลพิษซึ่งอาจเกิดผลร้ายได้ทั้งคนและสัตว์ (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เตือนคนอ้วนท้วนเมื่อขับรถยนต์ ง่วงเหงาด้วยโรคของการนอน

หมอ ลี ดอร์สัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคการนอนหลับของอังกฤษกล่าวให้ความเห็นว่าผู้ขับรถที่มีรูปร่างอ้วนท้วนอาจจะก่อเหตุได้ยิ่งกว่า “เมาแล้วขับ” เนื่องจากคนอ้วนขณะนอนจะเป็นโรคหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เพราะตอนหลับกรนไปเนื้อคอจะหย่อนยานลงมาปิดกั้นช่วงทางเดินหายใจ จึงจำเป็นต้องตื่นขึ้นมาสักชั่วเสี้ยววินาทีก่อนจะหลับต่อไปก็จะเป็นเช่นนี้อยู่ทั้งคืนจึงหลับไม่สนิทเมื่อขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ (ไทยรัฐ 3 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





หมอเลี้ยบเสียงแข็งไม่ขยายเวลาเกมออนไลน์

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สัมภาษณ์ถึงการขยายเวลาเล่นเกมออนไลน์ในช่วงปิดภาคเรียนว่า กระทรวงยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับอนุญาตให้เล่นเกมออนไลน์ได้ไม่เกิน 22.00 น. ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กมีเวลาว่างมาก แต่การเล่นเกมออนไลน์ก็ยังใช้นโยบายเหมือนเดิม (เดลินิวส์ พุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





องค์กรสหรัฐทูลเกล้าฯถวายรางวัลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ยกย่องพระราชกรณีกิจเพื่อมนุษยธรรม

องค์กร The Marshall Legacy Institute (MLI) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ทูลเกล้าถวายรางวัล MLI Annual International Award ประจำปี 2003 แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิตัน ดี.ซี. เพื่อเทิดพระเกียรติ ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบรรเทาทุกข์ประชาชนและทรงส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งได้ทรงตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา ฯลฯ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





‘ จิตแพทย์’ ชี้รู้พัฒนาการลดปัญหาเด็กดื้อ

พ.ญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าสาเหตุของเด็กดื้ออาจมาจากปัจจัยทางกายภาพ ทำให้สมองบกพร่อง หรืออาจเป็นไปตามขั้นตอนการพัฒนาการซึ่งเด็กอายุ 2-3 ขวบจะเริ่มอยากทำอะไรด้วยตนเอง ต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมซึ่งถ้าผู้ใหญ่ห้ามปรามหรือดุจะทำให้เด็กแสดงอาการต่อต้าน ดังนั้นการรู้พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงอายุจะช่วยให้สามารถเลี้ยงดูเด็กด้วยความเข้าใจได้ สำหรับแนวทางในการอบรมลูกนั้นพ่อแม่ควรอบรมระเบียบวินัยที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อย่าให้สินบนเด็ก ไม่ลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีเพราะจะก่อให้เกิดความโกรธซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นเด็กอาจจะรังแกเพื่อนได้ (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 18)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215