หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 2004-02-20

ข่าวการศึกษา

ชี้ตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามไม่ซ้ำซ้อนกับ ม.นราธิวาส
ครู กทม. แห่สมัครเออร์ลีรีไทร์
อาชีวะฯ เฟ้นของดีโชว์สิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่
จุฬาฯ ดับฝันวงการวิจัยวิทยาศาสตร์
สกอ. สานต่อชุมชนเข้มแข็งปี 3
มก. เปิดรับ ป.โทวิศวะบริหารรุ่นแรก
11 ก.พ. สอบวัดผลระดับชาติ ป.6 ทั่วประเทศ ชี้ไม่ต้องติวให้เครียดข้อสอบวิเคราะห์ล้วน ๆ
ศธ. พุ่งเป้าคอมพ์ชนบทเปิดโอกาสเรียนรู้โลก
มข. ปรับยุทธศาสตร์รับผู้ว่า CEO
“พลสัณห์” คุมเข้มรับน้องนอกสถาบัน
สกอ. วางแนวแอดมิชชั่นลงตัวตั้งองค์กรกลางทำงานอิสระ
เอเชียคว้าแชมป์เด็กเรียนน้อยสุด
หลักสูตรสปา ม.วลัยลักษณ์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ดาวเพชรเปล่งประกายระยิบระยับ เป็นบทอวสานของดวงอาทิตย์
ชาร์จด้วยแสงอาทิตย์
แจกฟรีโปรแกรมท่องเน็ตปลอดภัยป้องกันเยาวชนจากเว็บไซต์อนาจาร
พบภูเขาไฟสูงตระหง่านดาวอังคาร แชมป์ความสูงที่สุดในสุริยจักรวาล
รับทำศพแบบอนุรักษ์ธรรมชาติป่นให้เป็นผงใช้เป็นปุ๋ยปลูกพืช
เปิดเผยลักษณะพื้นดินดาวอังคารเป็นชั้นหินตะกอนทับซ้อนกันอยู่
“ประพัฒน์” ปลื้ม 10 ปีการรอคอยใช้สิทธิ์เวทีอนุชีวภาพครั้งแรก
บอกลาปัญหา “แบต” โทรมือถือระเบิด
“หุ่นยนต์อัจฉริยะ”
นักวิทยาศาสตร์….......รุ่นจิ๋ว
ขุดธาตุในดินทำยาโรคกระดูกพรุน
เปลือกไข่กรองแคดเมียม
คู่แข่งฮัทช์ เนวี่...ฝีมือเด็กจุฬา
พบยารักษาหวัดนก ออสซี่เจ๋ง เตรียมนำใช้กับคน
นักวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เจ๋งถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกได้สำเร็จ
ม.สงขลาผลิตเครื่องกำเนิดโอโซน...ของดีเพื่อสุขภาพ
ประดิษฐ์เตียงนอนคอมพิวเตอร์สะกดคนนอนกรนจนเงียบเสียง
เทียนหอมนิ่ม
“เตาพลังงานแสงอาทิตย์” สิ่งประดิษฐ์เด็กไทยเพื่ออนาคต
เรียบ บาง เบา สบาย กับการเดินทางสู่ดาวอังคาร
EDS

ข่าววิจัย/พัฒนา

กินข้าวกล้องป้องโรคเบาหวานแถมยังขวางโรคหัวใจไว้ด้วย
ใช้แบคทีเรียและเชื้อไวรัสหิ่งห้อยตรวจค้นหามะเร็งซ่อนในร่างกาย
จิบเหล้ามีฤทธิ์ช่วยป้องกันหัวใจ บรรเทาอาการอักเสบให้ลดลง
นักวิจัยชาวอิตาลีพบเชื้อวัวบ้าชนิดใหม่ผุดอีก
ช๊อกโกแลตมีคุณประโยชน์เทียบชั้นแบบเดียวกับไวน์แดงและชาเขียว
สนามไฟฟ้าฆ่าเซลล์มะเร็งเกลี้ยง บังคับให้มันฆ่าตัวตายลงไปเอง
บุหรี่ทอนอายุการเป็นแม่คนให้สั้น ช่วงวัยน้อยลงกว่าปกติตั้งหลายปี
น้ำลายของค้างคาวแดร๊กกูล่าชะลออันตรายเป็นอัมพาต
กรมทรัพย์ฯ ถวายสิทธิบัตรเครื่องเรือหางกุดในหลวง
มก. วิจัยกล้วยไข่พันธุ์ใหม่ “เกษตรบานาน่า”
หมอนขยะรองรางรถไฟ เอาของเสียมาใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม
วิจัยพบความมหัศจรรย์ของเมลาโทนินอาจเป็นยาช่วยลดความดันโลหิตสูง

ข่าวทั่วไป

ข่าวดีของบรรดาผู้สูงอายุวัยออกกำลังกายให้สมองกลายดี
คนไข้ที่นอนหลับสนิทหายป่วยได้ไว เพราะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในตัว
ไม่ควรมีลูกหัวปีคนหนึ่งท้ายปีอีกคนหนึ่ง แม่เลี้ยงลูกคนพี่ไม่ทันได้โตเต็มที่
“อนุรักษ์” รับรางวัลโซคา งักไก
คุมเข้มเครื่องสำอางไทยสกัดวัวบ้าเข้าไทย
รักษาโรคผิวหนังด้วยไมโครเวฟ ใช้อุ่นนึ่งโรคเรื้อนกวางจนสลาย
ชีวาศรมคว้าสปาที่ 1 ของโลก
ปั้นความฝันไปพระจันทร์เป็นจริง
เกาหลีใต้พบรอยเท้ามนุษย์ยุคหินระเกะระกะกับรอยเท้าสัตว์มากมาย
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ศ.พระเทพโสภณ”
ชี้ไทยใกล้วิกฤติ “ขยะพิษล้นเมือง”
ฟื้นฟูอ่าวพังงาได้รางวัล
“เชษฐา” ตีปีกสัญญาศูนย์องครักษ์แห่งใหม่ผ่านฉลุย





ข่าวการศึกษา


ชี้ตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามไม่ซ้ำซ้อนกับ ม.นราธิวาส

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลาม เป็นเรื่องที่จะดำเนินการในระดับรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยอัลอัซซา ประเทศอิจิปต์ เมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่นายสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาอุดมศึกษา (สกอ.) กำลังดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาส การจัดตั้ง ม.นราธิวาส ก็คงไม่ซ้ำซ้อนกับ ม.อิสลามเพราะขึ้นอยู่กับการออกแบบหลักสูตรให้มีความหลากหลาย และไม่ควรครอบคลุมเฉพาะด้านศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องครอบคลุมให้ทุกเรื่องที่ชุมชนต้องการ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





ครู กทม. แห่สมัครเออร์ลีรีไทร์

นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ได้กล่าวถึงโครงการจากกันด้วยดี (เออร์ลีรีไทร์) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ข้าราชการเกษียณก่อนอายุราชการว่า ในส่วนของ กทม. คาดว่าใน 10 วัน น่าจะมีบุคลากรของ กทม. สมัครขอเข้าร่วมโครงการประมาณ 1,000-1,200 คน ซึ่งโครงการดังกล่าว จะดำเนินการพิจารณาให้ออกจากราชการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. นี้ และสำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะสามารถได้รับเงินก้อนแรกภายในสิ้นเดือน เม.ย. โดย กทม. ได้ตั้งงบประมาณที่จะใช้จ่ายในโครงการนี้ในวงเงินทั้งสิ้น 500 ล้านบาท (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547)





อาชีวะฯ เฟ้นของดีโชว์สิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่

นายอดิศัย โพธารามิก รมว. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับผู้บริการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) บริษัท ล๊อกชเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แถลงข่าวการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระหว่างวันที่ 19-22 ก.พ. นี้ ณ เดอะมอลล์ บางกะปิ กรุงเทพฯ โดยนายอดิศัย กล่าวว่า ศธ. ได้จัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาในสังกัดสถานศึกษาละ 30,000-60,000 บาท ร่วมกับเงินบำรุงการศึกษาที่แต่ละสถานศึกษาสมทบเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ และจัดให้มีการประกวดทั้งระดับภาค และระดับชาติ ซึ่งมีสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมถึง 904 ผลงาน โดยคัดให้เหลือรางวัลที่ 1-4 ของแต่ละประเภทผลงานจาก 5 ภาค รวมทั้งสิ้น 120 ผลงาน เพื่อนำมาประกวดเพื่อชิงความเป็นเลิศระดับชาติ ซึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ในปีนี้ ล้วนได้รับการพัฒนาให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงทั้งสิ้น มีต้นทุนการผลิตต่ำเพราะใช้วัสดุภายในประเทศบวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยนอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สอศ. ดำเนินการขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรโดยเร่งด่วน และให้หาช่องทางให้นักศึกษาเจ้าของผลงานอย่างยุติธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาผู้ผลิตระหว่างเรียนด้วย (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





จุฬาฯ ดับฝันวงการวิจัยวิทยาศาสตร์

ผลการวิจัยเรื่อง “สถานภาพการวิจัยวิทยาศาสตร์กายภาพในประเทศไทย” โดย รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ริเริ่มโดยมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ด้วยการ เก็บข้อมูลจาก 3 สาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (เคมี, ฟิสิกส์, คณิตศาสตร์) ของคณะวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 8 แห่ง (จุฬาฯ, ม.เกษตรศาสตร์, ม.มหิดล, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ, ม.เชียงใหม่, ม.ขอนแก่น, ม.สงขลานครินทร์ (หาดใหญ่) และ ม.สุรนารี) พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในระยะ 5 ปีย้อนหลัง (2541-2545) อาจารย์ใน 3 ภาควิชาของ 8 มหาวิทยาลัย ร้อยละ 76 ไม่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีมาตรฐานระดับสากล (จากฐานข้อมูล ISI, Institute for Scientific Information) และพบนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยผลิตงานวิชาการเฉลี่ย 0.07 เรื่องต่อคนต่อปี และจำนวนอาจารย์ที่ผลิตงานได้มากกว่าปีละ 1 เรื่อง มีเพียง 53 คน (เคมี 38 คน ฟิสิกส์ 11 คน คณิตศาสตร์ 4 คน) จากจำนวนอาจารย์ทั้งหมด 801 คนใน 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำ (สยามรัฐ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





สกอ. สานต่อชุมชนเข้มแข็งปี 3

สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดโครงการให้นิสิตนักศึกษารวมถึงอาจารย์ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้หรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพตามนโยบายรัฐบาลโดยจัดให้มีโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และปีนี้ตั้งเป้าหมายจะรับนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 9,120 คน หรือ 40 คนต่อหนึ่งตำบล/ชุมชน ปฏิบัติงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศใน 228ตำบล/ชุมชน นิสิตนักศึกษาที่จะร่วมโครงการฯ จะต้องกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ยกเว้นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และปีสุดท้าย ซึ่งจะปฏิบัติงาน 2 เดือน เดือนแรกจะเป็นการปฏิบัติงานในภาคสนาม และเดือนที่สองจะเป็นช่วงการจัดทำเอกสาร รายการ การวิเคราะห์ และนำเสนอผลงานค่าตอบแทนที่นิสิต นักศึกษาจะได้รับคนละ 5,000 บาทต่อเดือน รวมปฏิบัติงาน 2 เดือน จะได้รับค่าตอบแทนเพื่อเป็นทุนการศึกษาทั้งสิ้น 10,000 บาท (สยามรัฐ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





มก. เปิดรับ ป.โทวิศวะบริหารรุ่นแรก

รศ.ดร.วรากร ไม้เรียง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ทางภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้เห็นชอบให้เปิดหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานและการบริหาร โดยจะเปิดทำการสอนนิสิตรุ่นแรก ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกที่มีการบูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมและการบริหารเข้าด้วยกัน การเรียนการสอนจะเน้นการประยุกต์ใช้งานจริง โดยให้นิสิต นำปัญหาจริงในการทำงานมาหารือร่วมกัน หลักสูตรนี้ไม่เน้นการวิจัยในระดับลึก แต่เน้นที่การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยเนื้อหาของหลักสูตรได้ออกแบบขึ้นใหม่โดยเฉพาะ หลักสูตรนี้กำลังเปิดรับสมัครนิสิตเข้าศึกษาต่อรุ่นแรก จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2547 สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.eng.ku.ac.th/~ce หรือ สอบถามที่โทร 0-294-8555 ต่อ 1356, 1313 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





11 ก.พ. สอบวัดผลระดับชาติ ป.6 ทั่วประเทศ ชี้ไม่ต้องติวให้เครียดข้อสอบวิเคราะห์ล้วน ๆ

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือ GAT (General Achievement Test) เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2546 ในระดับชั้นประถมปีที่ 6 ทั่วประเทศ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 ผู้เรียนสามารถนำคะแนนผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ในระดับชั้นประถมปีที่ 6 ปีการศึกษา 2546 ไปประกอบการคัดเลือกเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในสถานศึกษาที่ต้องการได้ โดยจะมีการสอบ 4 วิชา วิชาละ 40 ข้อ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (สยามรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ศธ. พุ่งเป้าคอมพ์ชนบทเปิดโอกาสเรียนรู้โลก

นายอดิศัย โพธารามิก รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การศึกษา ร่วมกับผู้แทนสำนักงานงบประมาณและผู้บริหาร ศธ. ว่า โดยส่วนตัวต้องการเน้นให้นักเรียนมีคอมพิวเตอร์ใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้นักเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยตนจะทำอัตราส่วนคอมพิวเตอร์ ต่อนักเรียนที่เหมาะสมในแต่ละระดับ ซึ่งอาจจะต้องจัดให้อย่างน้อย 25 % ของจำนวนนักเรียน ทั้งนี้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้คาดว่าจะได้รับข้อสรุปของยุทธศาสตร์การศึกษา จากนั้นจะมีการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป (สยามรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





มข. ปรับยุทธศาสตร์รับผู้ว่า CEO

รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ว่าแบบบูรณาการ และให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับมือยุทธศาสตร์รัฐบาลและผู้ว่า CEO ระดับกลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัดนั้นขณะนี้ มข. ได้เตรียมการเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวไว้หลายด้าน เช่น โครงการนครสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT City) ที่ มข. ร่วมกับจังหวัดขอนแก่นมีการจัดตั้ง เขตอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (E-saan softpark) สำหรับทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก มข. กำลังจะเปิดศูนย์วิจัย ได้แก่ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยวัสดุ ทางด้านพยาบาลได้เตรียมจัด Health Hub หรือ ศูนย์บริการสุขภาพ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





“พลสัณห์” คุมเข้มรับน้องนอกสถาบัน

ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ของทุกปี มักมีนักศึกษารุ่นพี่ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ แอบพารุ่นน้องไปจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถาบัน และมีหลายครั้งที่นักศึกษารุ่นพี่จัดกิจกรรมเกินเลย ไม่เหมาะสมในลักษณะของการอนาจาร การใช้ ความรุนแรง จนเป็นเหตุให้รุ่นน้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตแทบทุกปีนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าวไว้ล่วงหน้าก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2547 ตนจึงได้มอบนโยบายให้อธิการบดีสถาบันราชภัฏ ทั่วประเทศ ได้เตรียมมาตรการในการป้องกันปัญหา พร้อมทั้งให้แต่ละสถาบันยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมติของคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ (คสส.) ที่ได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามนักศึกษาไปรับน้องนอกสถาบัน กิจกรรมรับน้องที่จัดขึ้นจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายจนบาดเจ็บ อับอาย หรือผิดศีลธรรมอันดีงาม (ไทยรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





สกอ. วางแนวแอดมิชชั่นลงตัวตั้งองค์กรกลางทำงานอิสระ

ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาระบบกลางการรับบุคลากรเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (แอดมิชชั่นส์) ในปีการศึกษา 2549 เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินงานแล้ว โดยเห็นควรให้จัดตั้งองค์กรกลางขึ้นในระดับประเทศ เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่เป็นส่วนราชการ มีคณะกรรมการบริหารที่เป็นผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทำหน้าที่ประสานการสมัครและแจ้งผลระหว่างนักเรียน และสถาบันอุดมศึกษา โดยแยกการทำงานจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เน้นการประสาน และให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา โดยจะทำหน้าที่รับสมัคร ส่งข้อมูลให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ พิจารณา การสมัครเข้ามหาวิทยาลัย การทดสอบ การแจ้งข้อมูลให้สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และการประกาศผลการคัดเลือก เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาประมาณเดือนมิถุนายน ทั้งเห็นควรให้จัดตั้งหน่วยงานระดับภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ข้อสรุปต่าง ๆ จะเสนอต่อ ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.คธ. วันที่ 11 ก.พ. นี้ (ไทยรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





เอเชียคว้าแชมป์เด็กเรียนน้อยสุด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างเปิดเผยของยูเนสโก ระบุสถิติพบว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีเด็กไม่ได้เรียนหนังสือมากที่ในโลกทั้งที่ในช่วงนับตั้งแต่ปี2533 ภูมิภาคนี้มีการสมัครเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานซึ่งกระทำขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2543-2544 ต่อประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกจำนวน 22 ประเทศ พบว่า มีเด็กประถมราว 46 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือต่อ จำนวนนี้เป็นเด็กหญิง 28 ล้านคน และเด็กชาย 18 ล้านคนขณะที่ทั่วเอเชีย มีเด็กไม่ได้เรียนหนังสือเป็นจำนวน 104 ล้านคน หรือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนทั่วโลกมากกว่าแถบตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ซึ่งมีเด็กไม่เรียนหนังสือ 42 เปอร์เซ็นต์ (สยามรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 4)





หลักสูตรสปา ม.วลัยลักษณ์

รศ.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ คณบดีสำนักวิชาการจัดการม. วลัยลักษณ์ กล่าวว่า บ้านวลัยสปา เป็นสปาแห่งใหม่ของจัดหวัดนครศรีธรรมราช เปิดบริการมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2546 โดย นศ.หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวโครงการเสริมธุรกิจ และการท่องเที่ยวภาคใต้ สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ เพื่อให้เป็นกิจกรรมของ นศ. หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยว การอบรมหลักสูตรสปา ม.วลัยลักษณ์ ได้ความร่วมมือจากสบันงา สปาภูเก็ตมาให้ความรู้ทางด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 23)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ดาวเพชรเปล่งประกายระยิบระยับ เป็นบทอวสานของดวงอาทิตย์

นักดาราศาสตร์ของศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียนพบก้อนเพชรขนาดมหึมา เปล่งประกายระยิบระยับในอวกาศ มีน้ำหนักมหาศาลถึง 10 พันล้านล้าน ล้านล้าน ล้านกะรัต มันเป็นก้อนผลึกคาร์บอนยักษ์อยู่ในกลุ่มดาวเซนตอรัส และเป็นแกนของดาวฤกษ์เก่า ซึ่งเคยเป็นดวงอาทิตย์มาก่อนที่จะยุบอัดตัวลง ดาวเพชรดวงนี้ตามหลักวิชาแล้วเป็นดาวแคระขาว นักดาราศาสตร์ยังได้ทำนายว่า ดวงอาทิตย์ของเราก็เช่นกัน จะต้องกลายเป็นดาวแคระในอีก 5 พันล้านปีข้างหน้านี้ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ชาร์จด้วยแสงอาทิตย์

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของญี่ปุ่น “เอ็นทีที” เผยโฉมเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ชื่อ “พ๊อกเกตเอ็นเนอร์ยี่” ช่วยให้ผู้ใช้สามารถชาร์จแบตเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องพีดีเอ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล และวีดีโอเกมมือถือ เป็นต้น คาดว่าจะวางตลาดเดือน พฤษภาคมนี้ (ไทยรัฐ พุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





แจกฟรีโปรแกรมท่องเน็ตปลอดภัยป้องกันเยาวชนจากเว็บไซต์อนาจาร

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดตัวโปรแกรมท่องอินเตอร์เน็ต ปลาวาฬ บราวเซอร์ ที่สามารถป้องกันเว็บไซต์ไม่เหมาะสม รวมถึงเว็บไซต์อนาจารได้ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ สสส. คือ www.plawan.com (ปลาวาฬดอทคอม) โดยมีเป้าหมายให้โปรแกรมท่องอินเตอร์เน็ตปลอดภัยสำหรับเยาวชนนี้ ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ ให้ได้ 1 ล้านเครื่อง ภายในปี 2547 (ไทยรัฐ อังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





พบภูเขาไฟสูงตระหง่านดาวอังคาร แชมป์ความสูงที่สุดในสุริยจักรวาล

ยานสำรวจ "มาร์ส เอ็กซ์เพรสส์ " ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งเฝ้าอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคาร ได้ส่งภาพอันน่าตื่นเต้นของภูเขาไฟบนดาวเคราะห์สีแดง เป็นภูเขาไฟลูกที่มีความสูงที่สุดในระบบสุริยจักรวาล ภาพที่ส่งมาให้สถานีควบคุม เป็นภาพของภูเขาไฟที่มีชื่อว่า "โอลิมปุส มอนส์" มีความสูงถึง 22 กม. ศาสตราจารย์เกอฮาร์ด นิวคุม เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสถานี กล่าวเผยว่า ภูเขาไฟลูกนี้ มีความสูงเกือบสามเท่าของยอดเขาเอเวอเรสต์ในทิวเขาหิมาลัยบนโลกของเรา (ไทยรัฐ อังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





รับทำศพแบบอนุรักษ์ธรรมชาติป่นให้เป็นผงใช้เป็นปุ๋ยปลูกพืช

นางซูซาน วิลลก-เมสัก นักชีววิทยาผู้เป็นเจ้าของบริษัทโปรเมสซา ออร์แกนิก ของสวีเดน อ้างว่า ได้คิดวิธีจัดการกับศพวิธีใหม่ขึ้น โดยจะใช้วิธีแช่ศพให้เย็นจัดจนแข็งด้วยก๊าซไนโตรเจนเหลวก่อน หลังจากนั้นจะเอาไปบดให้ป่นเป็นผงด้วยคลื่นเสียง แล้วจึงนำกลับไปคืนสู่ดิน เอาคืนกลับเข้าไปในห่วงโซ่ของระบบทางนิเวศวิทยา ใช้เป็นปุ๋ยปลูกพืช (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เปิดเผยลักษณะพื้นดินดาวอังคารเป็นชั้นหินตะกอนทับซ้อนกันอยู่

องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ภาพถ่ายใกล้ของพื้นดินดาวอังคาร ทำให้รู้ว่าพื้นดินมีลักษณะเป็นชั้นทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น นอกจากนั้น ยังมีดินหินเป็นเม็ดกลมๆ เหมือนกับลูกปัดมีขนาดโตเกือบถึง 3 มม. อยู่ในดินเกลื่อน แม้กระทั่งในหินที่โผล่ขึ้นมาพ้นพื้น ลักษณะทั้งสองอย่างล้วนแต่ส่อว่าเป็นหิน เกิดขึ้นจากการตกตะกอนในน้ำ แต่ถ้าหากจะรู้ให้แน่ จะต้องได้เม็ดหินเหล่านั้นมาผ่าตรวจดู (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





“ประพัฒน์” ปลื้ม 10 ปีการรอคอยใช้สิทธิ์เวทีอนุชีวภาพครั้งแรก

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า หลังจากที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในลำดับที่ 188 ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 47 ขณะนี้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพได้จัดประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญา สมัยที่ 7 ระหว่างวันที่ 9-29 ก.พ. นี้ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียขึ้น โดยวันที่ 18-19 ก.พ. นี้ ตนได้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนไทยจะลงสัตยาบัน ผู้แทนไทยได้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในเวทีประชุม แต่ในครั้งนี้ตนถือว่าไปในฐานะรัฐบาลไทยที่มีสิทธิ์มีเสียงเต็มที่ ทั้งนี้ ได้เตรียมแถลงการณ์เสนอในที่ประชุมว่า ไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังตั้ง ทส.ขึ้นมา และขณะนี้มีคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว เชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยมีประสิทธิภาพขึ้น (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





บอกลาปัญหา “แบต” โทรมือถือระเบิด

ข้อมูลจากนิตยสาร ด้านโทรศัพท์มือถืออย่าง "เฟิร์สท์ โมไบล์" (first mobile) เดือนกุมภาพันธ์ ให้คำแนะนำป้องกันอันตรายไว้ เริ่มแรกผู้ใช้ต้องทราบเสียก่อนว่า กำลังใช้แบตเตอรี่ชนิดใด โดยดูจากสติ๊กเกอร์บนแบตฯ นั้น หากเพิ่งเริ่มใช้อย่างใหม่แกะกล่อง ทางโรงงานผู้ผลิต จะแนะนำให้ต้องชาร์จและคลายประจุอย่างสมบูรณ์ใน 2-3 ครั้งแรกในขั้นตอนการชาร์จแบตเตอรี่ ไม่ควรชาร์จนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะมีผลให้อุณหภูมิของแบตเตอรี่มีความร้อนสูงขึ้น แม้วงจรของแบตฯ และเครื่องโทรศัพท์จะมีการสั่งให้หยุดชาร์จ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ อุณหภูมิของแบตฯ เย็นลง และมีการคลายประจุไฟออกมา จะก่อให้เกิดการชาร์จซ้ำ นั่นหมายถึงว่า อายุการใช้งานจะสั้นลงกรณีที่แบตเตอรี่ยังมีประจุไฟฟ้าเหลืออยู่มาก ไม่ควรนำไปชาร์จใหม่ ควรรอให้แบตฯ หมดเสียก่อน สำหรับตอนชาร์จแบตฯ นั้น หากชาร์จขณะปิดเครื่องได้จะยิ่งดี เพราะหากมีสายเรียกเข้า จะทำให้การชาร์จ หยุดไปชั่วขณะ และเริ่มชาร์จใหม่เมื่อสนทนา แต่บางรุ่นบางยี่ห้อก็บอกว่าให้เปิดเครื่องขณะชาร์จ เพราะฉะนั้นปฏิบัติตามคู่มือจะดีกว่าเรื่องการวางโทรศัพท์ก็สำคัญ อย่าวางไว้กับโลหะ อย่างเช่น เหรียญกษาปณ์ และขอเตือนสำหรับคนที่ชอบเอาโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าที่มีเศษเหรียญ เพราะโลหะเหล่านี้เมื่อสัมผัสกับขั้วที่ใช้ชาร์จอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอาจเป็นที่มาของการระเบิดได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





“หุ่นยนต์อัจฉริยะ”

โครงการ “Intelligent Puzzle Robot Contest” และ “Robot Camp” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในปีนี้ใช้ชื่องานว่า “KMITNB AIS ROBOT CONTEST 2003” เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์แบบโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์ งานได้จบลงแล้วอย่างสมบูรณ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นการเปิดโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่แก่นักศึกษา เยาวชน ได้มีส่วนร่วม สัมผัสและทดลองใช้จิตนาการ ของตนในการดัดแปลง เทคโนโลยีอุตสาหกรรม อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศ (เดลินิวส์ อังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 26)





นักวิทยาศาสตร์….......รุ่นจิ๋ว

สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทยและบริษัทเทเลคอมเอเชีย คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดโครงการ "นักวิทยาศาสตร์รุ่นจิ๋ว "เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนส่งโครงการวิทยาศาสตร์เข้าประกวด ชิงรางวัลประทานจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ ผลงานที่ได้รับรางวัลมี “ดินเทียม” ผลงานน้อง ๆ นักวิทยาศาสตร์น้อยจาก โรงเรียนบ้านเขาแหลม จ.กาญจนบุรี ไดรับเหรียญทอง โดยการนำเอาวัสดุและสารเคมี เช่น แป้งมัน ขนมปัง กระดาษหนังสือพิมพ์ มาทำเป็นดินเทียมที่มีคุณสมบัติปั้นได้เช่นเดียวกับดินจริง ส่วนโครงการ “สารเคมีที่พ่อใช้” ของนักวิทยาศาสตร์รุ่นจิ๋ว จากโรงเรียนบ้านมะขาม (มะขามสาครราษฎร์) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน เป็นโครงการศึกษาการใช้สารเคมีทางการเกษตรของผู้ปกครองนักเรียนว่า มีความรู้เกี่ยวกับแถบสีและความหมายของแถบสีบนฉลากว่าเป็นสารพิษหรือไม่เป็นสารพิษ สำหรับรางวัลเหรียญทองแดง เป็นโครงการผลิต “กาวจากเมล็ดมะขาม” ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นจิ๋วจากโรงเรียนวัดเสมียนนารี (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





ขุดธาตุในดินทำยาโรคกระดูกพรุน

นักวิทยาศาสตร์ใช้ธาตุสตรอนเตียมที่พบอยู่ในดิน มาทำยารักษาโรคกระดูกพรุน ปรากฏว่าใต้ผลดียิ่ง ทั้งยังบำรุงกระดูกใหม่ให้แข็งแรง เนื่องจากธาตุสตรอนเตียมมีสรรพคุณบำรุงกระดูกให้ขยันผลิตแคลเซียม จึงช่วยบรรเทาอาการแตกร้าวของกระดูกให้น้อยลง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เปลือกไข่กรองแคดเมียม

อาจารย์อัจฉรา ดวงเดือน แห่งภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำการศึกษาวิธีการกำจัดโลหะหนักที่อยู่ในน้ำเสียโดยใช้ วัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรผสมผสานกับเทคโนโลยีง่าย ๆ เช่น โครงการกำจัดตะกั่ว โดยใช้เถ้าแกลบดำและโครงการกำจัดแคดเมียมโดยใช้เปลือกไข่ หลักการของ 2 โครงการนี้ คือ ทำให้น้ำเสียไหลผ่านสารดูดติดผิว โดยใช้เปลือกไข่ไก่ หรือไข่เป็ด ที่บดละเอียดและเถ้าแกลบดำ โลหะหนักจะถูกกำจัดออก จากน้ำเสียได้ เนื่องจากว่า เปลือกไข่และเถ้าแกลบดำมีความพรุนสูง และมีองค์ประกอบทางเคมีที่เอื้ออำนวยให้โลหะหนักมาเกาะติดที่ผิว สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ อ.อัจฉรา ดวงเดือน โทร 0-2942-8555 ต่อ 1014 ในเวลาราชการ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





คู่แข่งฮัทช์ เนวี่...ฝีมือเด็กจุฬา

ทีม NIAN (เนียน) นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธีระวัฒน์ บุญประภาสิทธิ์ นายณัฐพล บุญภินนท์ นายสรวิชญ์ ธนพานิชกุล และนายสิทธิพล พรรณวิไล ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดแอพพลิเคชั่นในโครงการ DTAC + NOKIA DOT AWARD ครั้งที่ 3 จากผู้เข้าแข่งขัน 1,100 คน รวม 260 ทีม เขาใช้แอพพลิเคชั่น Enhanced Location Service หรือ ELS มีโซลูชั่นในการบริการ 4 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ Smart Map, E. Coupon, Broadcast Me และThird Party Service (เดลินิวส์ อังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





พบยารักษาหวัดนก ออสซี่เจ๋ง เตรียมนำใช้กับคน

นักวิทยาศาสตร์ของออสเตเลียสามารถค้นพบวิธีการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการเปิดเผยของนาง เจนนี่ แมคคิมม์-เบรชคิน แห่งองค์การวิจัยอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ของเครือจักรภพ กล่าวว่า ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ ชี้ว่า ยารีเลนซา (Relenza) ซึ่งเป็นยารักษาไข้หวัดนกที่มีอยู่แล้ว ให้ผลช่วยยับยั้งการแพร่เชื่อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยาขนานนี้จะออกฤทธิ์ยับยังการผลิตโปรตีนบริเวณผิวนอกของเชื้อไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่ กระจายพันธุ์ แต่ยังจะต้องทดลองทางคลินิกกับมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของยาต่อไป (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 1, 19)





นักวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เจ๋งถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกได้สำเร็จ

ศ.น.สพ.ดร.ณรงศักดิ์ ชัยบุตร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์พร้อมด้วย รศ.น.สพ.ดร.คณิศักดิ์ อรวีระกุล หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา และ ศ.น.พ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าหน่วยวิจัยไวรัสตับอักเสบคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกในประเทศไทย โดย ศ.น.พ.ยง กล่าวว่า การถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกเพื่อประโยชน์ในเชิงเปรียบเทียบพันธุกรรมของไวรัส ที่ระบาดในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เป็นการแก้ไขปริศนาที่มาของไวรัสซึ่งจะสามารถบ่งชี้ได้ถึงความรุนแรงในการก่อโรค เมื่อทราบรหัสทางพันธุกรรมแล้ว จะได้ทำการคัดลอกแบบ (โคลนนิ่ง) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจสอบไข้หวัดนก สามารถตรวจถอดรหัสทางพันธุกรรมได้ประมาณ 13,600 หมื่นหน่วย โดยจะนำส่งไปที่ธนาคารพันธุกรรมโลก รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยระดับโลก และจะได้ทำการแลกเปลี่ยน ข้อมูลพันธุกรรมกับประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 19)





ม.สงขลาผลิตเครื่องกำเนิดโอโซน...ของดีเพื่อสุขภาพ

คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดย นายอนุสรณ์ ตองอ่อน และนายธรรมนูญ ศรีน่วม นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกันผลิตเครื่องกำเนิดโอโซนขึ้น โดยมี รศ.ดร.ธวัช ชิตตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ รศ.ดร. ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวอธิบายว่า โอโซนเป็นก๊าซที่มีศักยภาพสูงในการฆ่าเชื้อโรคกำจัดกลิ่นประยุกต์ใช้ทั้งในน้ำและอากาศ เมื่อโอโซนสลายตัวจะไม่มีสารตกค้างเช่นเดียวกับคลอรีน เมื่อโอโซนสลายตัวจะกลายเป็นก๊าชออกซิเจนที่จำเป็นกับมนุษย์ ทีมงานนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จึงได้ผลิตคิดค้นเครื่องกำเนิดโอโซนขึ้น 2 ชนิด คือ เครื่องโอโซนภายในรถยนต์ โดยปริมาณโอโซนที่ผลิตได้ 18 มิลลิกรัมต่อชั่วโมงหรือเท่ากับ 0.05 ppm เทียบกับปริมาตรรถยนต์ มีขนาดเล็กกะทัดรัด และเครื่องโอโซนอเนกประสงค์ ใช้ในบ้านและสำนักงานผลิตโอโซนได้ 500 มิลลิกรัมต่อชั่วโมง (สยามรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ประดิษฐ์เตียงนอนคอมพิวเตอร์สะกดคนนอนกรนจนเงียบเสียง

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ได้ร่วมกับบริษัทออกแบบเตียงดับเสียงกรนขึ้น เตียงนอนใหม่นี้จะทำให้ผู้นอนเงียบเสียงกรนลง ผู้เชียวชาญเรื่องโรคของการนอนได้ติดเครื่องตรวจวัดติดกับคอมพิวเตอร์ คอยตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการหายใจ การพลิกตัวและเสียงกรนของผู้นอน หากว่าเมื่อมีเสียงกรนดังขึ้น เตียงจะยกหัวเตียงให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้ลิ้นห้อยตกไปปิดคอหอยเป็นเหตุให้เกิดเสียงกรนได้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เทียนหอมนิ่ม

ภัชรดนัย นิยมธรรม ประธานกลุ่มเทียนหอม ค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยถึง “เทียนหอมนิ่ม” หรือ “Soft candle” เป็นการต่อยอดการทำเทียนหอมแบบเดิม แต่สูตรเทียนหอมของเขาแตกต่างจากเทียนหอมโดยทั่วไป คือบรรจุน้ำหอมได้มากกว่า 8 เท่า ไม่หดตัว ไม่เปลี่ยนสี มีควันน้อย เผาไหม้ได้นาน และได้ออกรูปแบบภาชนะใหม่ ได้จดอนุสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





“เตาพลังงานแสงอาทิตย์” สิ่งประดิษฐ์เด็กไทยเพื่ออนาคต

นายไชยยันต์ ตันไพบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยรังสิต ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ “เตาพลังงานแสงอาทิตย์” วัตถุประสงค์ที่สร้างเพื่อใช้ในการประกอบอาหารเพียงอย่างเดียว หลักการทำงานของเตาพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ตัวจานรับแสงทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสงไปยังหม้อประกอบอาหารที่พ่นสีดำ ซึ่งมีทั้งหมด 6 จาน ความร้อนที่ได้จากจานสะท้อนแสง สูงถึง 250 องศาเซลเซียส (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 31)





เรียบ บาง เบา สบาย กับการเดินทางสู่ดาวอังคาร

ผู้เชี่ยวชาญจาก Colorado School of Mines และวิศวกรจากบริษัท Lockheed Martin ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาและวิจัยโครงการหลายอย่างให้กับองค์การ NASA ในการที่จะใช้ประโยชน์ จากคาร์บอนไดออกไซด์ในการเดินทางไปยังดาวอังคารและกลับมายังโลก นักวิจัยทดลองนำ Membrane มาแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซอื่นๆ โดยจำลองให้มีสภาพใกล้เคียงกับส่วนผสมของอากาศบนดาวอังคารให้มากที่สุดนอกจากนั้นดาวอังคารยังมีก๊าซไนโตรเจนและอาร์กอน ซึ่งเป็น อุปสรรคต่อกระบวนการ Sabatier ซึ่งเป็นกระบวนการในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นมีเทน โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนเป็นสารตั้งต้น โดยจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำและมีเทนนั่นเอง มีเทนจะถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญของเครื่องยนต์ที่จะพามนุษย์กลับมาจากดาวอังคาร นอกจากนี้ในระหว่างการเดินทางเราอาจใช้ Membrane ดังกล่าว กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของกระบวนการเมตาบอลิซึมของมนุษย์เรา ทำให้ได้น้ำและมีเทนไว้ใช้และยังสามารถนำน้ำที่ได้มาแยกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตมีเทนอีกรอบหนึ่งได้อีกด้วย (เดลินิวส์ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





EDS

EDS (Explosive Detection System) เป็นระบบตรวจจับวัตถุต้องสงสัยที่เรียกกันว่า examiner 6000 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบตรวจจับ วัตถุระเบิดเวอร์ชั่นล่าสุดที่พัฒนาจากระบบคอมพิวเตอร์ เทอร์โมกราฟฟี่ ซึ่งในวงการถือว่าเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบตอบสนองความต้องการ ของสนามบินนานาชาติได้เต็มที่ มีระดับความเร็วในการตรวจจับสูงสุดมีความแม่นยำในการประเมินผล โจเซฟ พารีซี ประธานบริษัท L3 Communication Security and Detection System กล่าวว่าได้วางระบบรักษาความปลอดภัยติดตั้งระบบเอกซเรย์รักษาความปลอดภัยทั่วโลกกว่า 18,000 เครื่อง และรัฐบาลได้เลือกระบบตรวจจับวัตถุระเบิด EDS ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินแห่งใหม่ของไทย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


กินข้าวกล้องป้องโรคเบาหวานแถมยังขวางโรคหัวใจไว้ด้วย

นักวิจัยเรื่องอาหาร บอกแนะนำจากผลของการศึกษาวิจัยว่า คนเราควรจะกินข้าวกล้องกันมาก ๆ โดยเฉพาะธัญญาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร จะช่วยบำรุงสุขภาพไม่ค่อยเป็นโรคเบาหวานซึ่งบ่อยทำลายสุขภาพ นักวิจัย ดร.นิโคลา เอ็ม. แม็กเคียว แห่งศูนย์วิจัยโภชนาการ ทางเกษตรของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กล่าวว่าผู้ที่บริโภคอาหารผสมข้าวกล้องด้วย จะช่วยบำรุงไฟธาตุ ไม่ให้แปรปรวน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวานแบบที่ 2 และโรคหัวใจ อันเป็นสองโรคที่เจ็บไข้ได้ป่วยกันอยู่ทั่วโลกกันมานาน (ไทยรัฐ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ใช้แบคทีเรียและเชื้อไวรัสหิ่งห้อยตรวจค้นหามะเร็งซ่อนในร่างกาย

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่งรู้ว่า ใช้แบคทีเรียและเชื้อไวรัส ชนิดเรืองแสง ให้ค้นหาเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นซ่อนอยู่ในตัว เป็นวิธีที่ ดีที่สุดทั้งปลอดภัยด้วย นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโลมา ลินดา ที่แคลิฟอร์เนีย ได้ความรู้จากการศึกษากับสัตว์ เพื่อค้นคว้ายืนยันความรู้ที่ทราบกันมาก่อนว่า พวกจุลชีพจะชอบใช้เนื้อร้ายตามที่ต่างๆเป็นรัง และก็ได้พบการยืนยันในการศึกษาครั้งนี้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





จิบเหล้ามีฤทธิ์ช่วยป้องกันหัวใจ บรรเทาอาการอักเสบให้ลดลง

นักวิจัยได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์เรื่อง "การไหลเวียนของโลหิต" ของแพทย์สมาคมโรคหัวใจอเมริกา เปิดเผยว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำ จะมีส่วนทำให้ปริมาณของโปรตีนสองตัว ที่ชื่อ "อินเตอร์ลิวกิน-6" กับ "ซี-รีแอกทีฟ" เป็นโปรตีนที่เกิดขึ้นจากการอักเสบ ซึ่งมีส่วนทำให้เป็นโรคหัวใจในเลือดลดต่ำลง คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเฟอรารา ในอิตาลี กับคณะนักวิจัยในสหรัฐฯ ได้ช่วยกัน วิเคราะห์ข้อมูล จากการศึกษาตัวอย่างเลือดของผู้ชายมีอายุ แต่ยังคงแข็งแรง 2,574 คน กล่าวสรุปรายงานว่า "จากข้อมูลได้ยืนยันว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เพียงเล็กน้อย อาจจะช่วยต่อต้านอาการอักเสบได้" (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





นักวิจัยชาวอิตาลีพบเชื้อวัวบ้าชนิดใหม่ผุดอีก

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐระบุเมื่อวันอังคารว่า คณะวิจัยชาวอิตาลี นำโดยนายซัลวาตอเร่ โมนาโก หัวหน้านักวิจัยของสถาบันโพลีคลินิกในเมืองเวโรน่า ค้นพบเชื้อวัวบ้าชนิดใหม่ จากวัว 2 ใน 8 ตัว ของอิตาลีที่มีการทดสอบ บีเอสอี (โรคสมองฝ่อ) นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบ Amyloid โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในสมองมนุษย์ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์สำหรับเชื้อชนิดใหม่ มีชื่อว่า “บีเอเอสอี” (เดลินิวส์ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 13)





ช๊อกโกแลตมีคุณประโยชน์เทียบชั้นแบบเดียวกับไวน์แดงและชาเขียว

จากการสัมมนาของนักวิจัยที่กล่าวในที่ประชุมของเนชั่นแนล อะคาเคมี ออฟ ไซเอินซ์ ในสหรัฐ บอกว่า ในช๊อกโกแลตนั้นมีสารตามธรรมชาติชื่อว่า “ฟลาโวนอยด์” มีประโยชน์ในการช่วยลดความดันโลหิตช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อสุขภาพด้วย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





สนามไฟฟ้าฆ่าเซลล์มะเร็งเกลี้ยง บังคับให้มันฆ่าตัวตายลงไปเอง

วารสารนิวไซเอินซ์ติสต์รายงานอ้างงานวิจัยของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียและที่มหาวิทยาลัยโอลด์โดมิเนียนในสหรัฐฯ พบวิธีการกำจัดเซลล์มะเร็งด้วยนาโนเทคโนโลยีโดยพบว่า การใช้สนามไฟฟ้าสร้างแรงสั่นสะเทือนนานไม่ถึงเศษเสี้ยวของวินาทีสามารถเล่นงานเซลล์มะเร็ง โดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง (ไทยรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





บุหรี่ทอนอายุการเป็นแม่คนให้สั้น ช่วงวัยน้อยลงกว่าปกติตั้งหลายปี

คณะนักวิจัยของโรงพยาบาลกลางซิวิตตาโนวา มาร์ช ในอิตาลีได้รายงานในวารสารการแพทย์ เรื่องการสืบพันธุ์ กล่าวว่า ผู้หญิงคนที่สูบบุหรี่ จะหมดประจำเดือนเร็วกว่าธรรมดา และยังเป็นอุปสรรคกับการจะมีลูกด้วย จากการศึกษากับสตรีที่มารับบริการจากโรงพยาบาลจำนวน 350 ราย ยังได้พบว่า การสูบบุหรี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของการตั้งครรภ์อีกด้วย (ไทยรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





น้ำลายของค้างคาวแดร๊กกูล่าชะลออันตรายเป็นอัมพาต

นักวิจัยสหรัฐฯ แจ้งว่า ยาซึ่งใช้น้ำลายของค้างคาวดูดเลือดเป็นตัวยา สามารถช่วยเยียวยา บรรเทาอาการของคนไข้ที่อาจไปถึงหมอได้ภายในเวลานานออกไปเป็น 9 ชั่วโมง ดร.โฮเวิร์ด โรวลี่ย์ ของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซินกล่าวแจ้งว่า ยานี้ทำขึ้นจากโปรตีนชนิดหนึ่งสกัดจากน้ำลายของค้างคาวดูดเลือด น้ำลายของมันมีฤทธิ์ป้องกันโลหิตจับกันได้ ในการทดลองกับคนไข้ ดูเหมือนว่ามันช่วยละลายลิ่มเลือดในสมอง โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการจับตัวของเลือดที่ส่วนอื่นของร่างกาย และที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่ทำให้เกิดเสี่ยงกับการ “ตกเลือดในสมอง” สูงขึ้นด้วย (ไทยรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





กรมทรัพย์ฯ ถวายสิทธิบัตรเครื่องเรือหางกุดในหลวง

นายวัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น “อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว” ซึ่งใช้ติดตั้งเข้ากับเรือ หรือที่เรียกว่า “เครื่องเรือหางกุด” เพื่อผลักดันน้ำให้เกิดการขับเคลื่อนเรือ อีกทั้งยังสามารถใช้ในการสูบน้ำและบำบัดน้ำเสียโดยการพ่นเติมออกซิเจนให้กับน้ำ และทรงมีพระบรมราชานุญาติให้มูลนิธิโครงการหลวงร่วมขอรับสิทธิบัตรและยื่นจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2545 ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ถวายการตรวจสอบเบื้องต้นการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร และการตรวจสอบการประดิษฐ์ตามขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตร และได้ถวายการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรเลขที่ 16100 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2547 ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยฉบับที่ 6 การประดิษฐ์คิดค้นตามสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย (สยามรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 9)





มก. วิจัยกล้วยไข่พันธุ์ใหม่ “เกษตรบานาน่า”

ศ.เบญจมาศ ศิลาย้อย อาจารย์ประจำวิชาพืชสวน ภาควิชาเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ปี 2534 ได้ทำการวิจัยและขยายพันธุ์กล้วยไข่ โดยทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ต้นอ่อนแล้วใช้สารเคมีและรังสีแกมมาในการปรับปรุงพันธุ์และได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทดสอบการใช้สาร Colchicines ได้ปลูกทดสอบที่ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้ผลไม่ดี ปี 2541-2544 ได้ทดลองนำต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไปทำการฉายรังสีแกมมา ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วนำไปปลูกทดสอบที่ จ.นครสวรรค์ พบว่า ได้กลายพันธุ์ถึง 5 สายพันธุ์ จังตั้งชื่อว่า เกษตรศาสตร์บานาน่า 1, 2, 3, 4, 5 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





หมอนขยะรองรางรถไฟ เอาของเสียมาใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม

งานวิจัยของ “Tie Tek” ของสหรัฐอเมริกา ชิ้นหนึ่งที่ได้ผลในการแปรรูปโดย เอายางรถยนต์ที่หมดสภาพแล้วมารีไซเกิลนำมาใช้ในงานใช้ประโยชน์ได้อีก และใช้งานได้อายุยืนยาวคือ “หมอนรองรางรถไฟ” นักวิทยาศาสตร์อเมริกันกลุ่มนี้มีเชื้อสายไทยรวมอยู่ด้วยคือ “มิสเตอร์ประเสริฐ จันทร์ประทีปฉาย” โดยใช้กระบวนการทางฟิสิกส์มาย่อยสลายขยะพลาสติกและยางรถยนต์แล้วอัดกลับเข้าไปเป็น “หมอนรถไฟ” ด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยี ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพทั้งหมดจากห้องปฏิบัติการและในสถานที่ใช้งานจริงผลของ หมอนรองรางรถไฟขยะนี้ใช้งานได้ประมาณ 50 ปี (หมอนรถไฟที่ใช้ไม้จะมีอายุประมาณ 20 ปี) (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





วิจัยพบความมหัศจรรย์ของเมลาโทนินอาจเป็นยาช่วยลดความดันโลหิตสูง

นักวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ที่สถาบันวิจัยสมองในเนเธอร์แลนด์พบว่า ฮอร์โมนเมลาโทนินน่าจะมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ โดยทำวิจัยกับผู้ชายเพียง 16 ราย ที่ไม่ได้มีการรักษาความดันโลหิตสูงมาก่อน หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ ปรากฏว่ากลุ่มคนที่ได้รับเมลาโทนินนั้น มีระดับความดันโลหิตสูงลดลงอย่างเห็นได้ชัด (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ข่าวดีของบรรดาผู้สูงอายุวัยออกกำลังกายให้สมองกลายดี

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยระหว่าง 58-78 ปี เพียงแต่เริ่มกลับฟิตตัว แค่ด้วยการเดินเร็ว ๆ สมองจะกลับกระฉับกระเฉงขึ้นได้อีก เพราะได้เห็นจากการจัดโปรแกรมให้กับผู้สูงอายุ 41 คน ออกกำลังด้วยการค่อยเดินให้เร็วขึ้นพักละ 45 นาที เป็นเวลาอาทิตย์ละ 3 วัน นาน 3 เดือน เมื่อใช้เครื่องตรวจคลื่นสมองวัดได้ว่า สมองมีความแข็งแรงขึ้น สามารถทำคะแนนในการทดสอบการตัดสินใจและการทดสอบแบบอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีก 11 เปอร์เซ็นต์ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





คนไข้ที่นอนหลับสนิทหายป่วยได้ไว เพราะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในตัว

นักวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยหลุยส์วิลส์ ที่สหรัฐฯ ได้รายงานทางวิชาการต่อที่ประชุมสมาคมวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอเมริกัน ได้ค้นพบว่า การนอนหลับให้สนิทอาจจะเป็นโอสถต้านโรคมะเร็งขนานเอก เพราะได้ค้นพบว่า คนไข้ที่นอนหลับได้สนิท กลับมีอาการของโรคทุเลาขึ้นได้ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ไม่ควรมีลูกหัวปีคนหนึ่งท้ายปีอีกคนหนึ่ง แม่เลี้ยงลูกคนพี่ไม่ทันได้โตเต็มที่

คณะผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานอันเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของสำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศ กล่าวบอกแนะนำว่า พ่อแม่ควรมีลูกแต่ละคน ทิ้งระยะห่างกันคนละ 3-5 ปี จึงจะเหมาะสมที่สุด จะได้มีเวลาเลี้ยงลูกคนโตให้เต็มที่ เพราะความรักเอาใจใส่ของแม่ มีส่วนบำรุงสติปัญญา และการพัฒนาทางสังคมของลูก (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





“อนุรักษ์” รับรางวัลโซคา งักไก

นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับแจ้งจากองค์กรสร้างคุณค่าสากล (โซคา งักไก) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพโลก และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมทั่วโลกว่าจะมอบรางวัลเกียรติยศให้กับตน ในฐานะมีผลงานด้านการสร้างคุณค่าของคนในสังคมด้วยหลักศีลธรรม จริยธรรมกับวัฒนธรรมอันดีงาม โดยจะเดินทางไปรับมองรางวัลดังกล่าวในวันที่ 15 ก.พ. นี้ ที่มหาวิทยาลัยโซดา เมืองฮาจิโอยิ ประเทศญี่ปุ่น รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ในโอกาสนี้ตนจะถือโอกาสมอบประกาศนียบัตรเกียติคุณเพื่อยกย่องความดีด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม แก่ ดร.ไดซาขุ อเคตะ ประธานองค์กรโซคา งักไก ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนสู่สันติภาพของโลก (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





คุมเข้มเครื่องสำอางไทยสกัดวัวบ้าเข้าไทย

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ได้ออกคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้นำเข้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ผลิตจากโค แพะ แกะ จาก 24 ประเทศที่มีข่าวความเสียงต่อการเกิดโรควัวบ้า (BSE) ได้แก่ สหราชอาณาจักรโปรตุเกส ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อิตาลี ลิกเตนสไตน์ ลักเซมเบิร์ก สเปน สาธารณรัฐเช็ก กริซ ญี่ปุ่น สโลวัก สโลวีเนีย ออสเตรีย ฟินแลนด์ อิสราเอล โปแลนด์ แคนนาดา และสหรัฐอเมริกา ต้องมีเอกสารเป็นหนังสือรับรองจากสถานทูตไทยหรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศผู้ผลิตว่า ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรควัวบ้า (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





รักษาโรคผิวหนังด้วยไมโครเวฟ ใช้อุ่นนึ่งโรคเรื้อนกวางจนสลาย

แพทย์โรคผิวหนังของอังกฤษ พบวิธีรักษาโรคผิวหนัง เช่นโรคเรื้อนกวาง โรคสะเก็ดเงิน วิธีใหม่ด้วย การใช้ไมโครเวฟ “หุงต้ม” ทำลายเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงผิวหนังตรงที่เป็นโรค โดยคนไข้ไม่รู้สึกเจ็บปวด การรักษาใช้เวลา 15-20 นาที (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ชีวาศรมคว้าสปาที่ 1 ของโลก

ในการประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลสปาที่ดีที่สุดในโลกของนิตยสาร “คอนเดนาสต์ ทราเวลเลอร์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สถานฟื้นฟูสุขภาพและให้บริการแบบครบวงจร “ชีวาศรม” ได้รับการคัดเลือกจากผู้อ่านนิตยสารที่ตีพิมพ์ในอังกฤษให้เป็นสถานที่ฟื้นฟูสุขภาพและให้บริการครบวงจรอับดับหนึ่งของโลก ประจำปี 2547 นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับสปาที่ดีที่สุดของโลก 100 อันดับ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 9)





ปั้นความฝันไปพระจันทร์เป็นจริง

บริษัทเอกชนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ชื่อบริษัท “ทรานสออบิตตัล” เป็นบริษัทเอกชนส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์แห่งแรก กำหนดส่งยานอวกาศลำแรกออกเดินทางในปีนี้ ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์บนยานเพื่อให้รับส่งเอกสารจากเว็บไซต์บนโลก กับยานไปกลับระหว่างกัน และรับบริการจัดส่งสิ่งของต่าง ๆ ไปยังดวงจันทร์ด้วย (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เกาหลีใต้พบรอยเท้ามนุษย์ยุคหินระเกะระกะกับรอยเท้าสัตว์มากมาย

นายคิม เจียง ยูล นักโบราณคดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า การค้นพบซากฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์จากยุคพาลีโอลิธิค หรือมนุษย์ยุคหินที่ประเมินค่ามิได้ในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่ามนุษย์ยุคหินเคยอาศัยอยู่บนเกาะเชจูในเกาหลีใต้ นับเป็นครั้งแรกของการค้นพบรอยเท้าดังกล่าวในเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ศ.พระเทพโสภณ”

พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่นายวิษณุ เคลืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานด้านพระพุทธศาสนาได้เสนอตามรายงานของ มจร. ขอให้ความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโร) อธิการบดี มจร. ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชาปรัชญา ของ มจร. เนื่องจากมีผลงานทางวิชาการ งานวิจัย เป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ผลงานวิชาการยังได้รับการอ้างอิงในวารสาร ตำรารวมทั้งหนังสือที่เชื่อถือได้ในวงวิชาการและมีการนำผลงานทางวิชาการไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับในสาขาปรัชญานั้น ขณะนี้เป็นที่น่าปีติยินดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเทพโสภณ เป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาปรัชญาแล้ว (ไทยรัฐ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





ชี้ไทยใกล้วิกฤติ “ขยะพิษล้นเมือง”

ดร.พิจิตร รัตกุล กรรมการผู้อำนวยการมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีปัญหามลพิษเกิดขึ้นแทบทั่วทุกภาค มีการแอบนำขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรมไปทิ้งในที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมไปตั้งใกล้ชุมชนปล่อยไอพิษ น้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็นออกสู่สภาพแวดล้อมเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลพบว่า แต่ละปี ประเทศไทยมีขยะอุตสาหกรรมมากว่า 12.3 ล้านตัน แต่ส่งเข้าสู่โรงงานกำจัดกากฯ เพียง 28,000 ตันเท่านั้น ที่ เหลือเอกชนมักจะแอบนำไปเททิ้งในป่า ในเขาหรือข้างถนนหนทาง ในที่สาธารณะต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเดือนร้อน ดังนั้นในเรื่องนี้ทางมูลนิธิฯ จึงได้ตั้ง “หน่วยเคลื่อนที่เร็ว” ที่มีเครือข่ายนักวิชาการให้ความช่วยเหลืออยู่ทั่วประเทศ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักสิ่งแวดล้อม หมอ-นายแพทย์ ในการเข้าไปช่วยเหลือ หากพื้นที่ใดประสบปัญหาสามารถประสานมายังมูลนิธิได้ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 10)





ฟื้นฟูอ่าวพังงาได้รางวัล

จากการที่ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จังหวัดพังงา ร่วมกับกรมประมง สำนักงานบริหารจัดการด้านการประมง ส่วนบริหารจัดการทะเล ได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแผนฟื้นฟูอ่าวพังงา ทำให้สัตว์น้ำ พืช หญ้าทะเลที่เป็นอาหารปลา แนวปะการังเกิดขึ้นหลายแห่ง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำ (แบบอนุรักษ์) เพิ่มขึ้น ในแผนงานปฏิบัติการฟื้นชีวิตให้กับอ่าวพังงา ผลงานเป็นเกียรติคุณที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวดังไปทั่วโลก ทำให้ได้รับรางวัล “เวิลด์ เลกาซี่-อวอร์ด” (world legacy award 2002) (ไทยรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





“เชษฐา” ตีปีกสัญญาศูนย์องครักษ์แห่งใหม่ผ่านฉลุย

พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า หลังจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้แจ้งผลการเจรจาการต่อสัญญา กับบริษัทเจเนอรัล อะตอมมิค (จีเอ) เพื่อต่อสัญญาก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก และเพิ่มวงเงินก่อสร้างจำนวน 2,000 ล้านบาทนั้น เพื่อความรอบคอบ วท.ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด ช่วยพิจารณาข้อสัญญาอย่างละเอียดว่า สัญญาที่ผ่านมาและสัญญาที่กำลังจะเซ็นกันใหม่ว่ารัฐเสียเปรียบหรือไม่ ขณะนี้สำนักงานอัยการตรวจสอบสัญญาแล้วพบว่า ไม่มีสัญญาข้อไหนเสียเปรียบรวมทั้งการขอเพิ่มงบประมาณก่อสร้างด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในที่ประชุม ครม.แล้ว (ไทยรัฐ พุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215