หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 2004-10-26

ข่าวการศึกษา

คุมเข้มโครงสร้าง มรภ.ใหม่ 5 แห่ง
สนับสนุนลูกข้าราชการเรียนถึงปริญญาตรี
ศธ.เตรียมแผนขยายโรงเรียนวิทย์ดันอัจฉริยะปล่อยพลัง
โปรยยาหอมต้องปลอดเด็กไทยไร้การศึกษา
ม.ดังโอด ศ.เกษียณอื้อลุ้นรัฐบาลต่ออายุราชการได้อีก 5 ปี
มศก.จับมือฝรั่งเศส-อังกฤษ เปิด2หลักสูตรระดับอินเตอร์
พิบูลสงครามชวนเรียน4ภาษา
ยืนยันใช้ "ข้าราชการมหาวิทยาลัย"
มน.ตั้งสถาบันหนุนชุมชน SML
อาชีวะไทยดึงสวีเดน ร่วมปั้นคนเก่งด้านสิ่งแวดล้อม
อาจารย์ มช.เจ๋งคว้ารางวัล นักวิทย์รุ่นเยาว์ปี 2548
มหา"ลัยแดนมังกรเปิดเกมรุก ดูดน.ศ.ไทยต่อ"ป.ตรี"ยัน"ดร."
ซีพีนำร่องโรงเรียนต้นแบบผลิตคนป้อนองค์กร
สจพ.ลงนามกับม.เทคโนโลยีอาเค่น เยอรมนี
ม.ราชภัฏเชียงรายเปิดศูนย์การศึกษาในเรือนจำ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

"กบ-คางคก"วิกฤตหนัก นักวิทย์ชี้ใกล้สูญหมดโลก
ปล่อยลำแสงอินฟราเรดพุ่งจากโลก เป็นรางขนกล้องโทรทรรศน์ดูดาว
รับหลอมอัฐิผู้ตายให้เป็นอัญมณีทำเป็นจี้เพชรห้อยคอลูกหลาน
ใช้ความแปลกคว้ารางวัลประกวดเว็บ
ประกวด RFID ครั้งแรกในไทย
ม.เชียงใหม่วิจัยไขความลับกำเนิดจักรวาล
รัสเซียทำวัคซีนจากมะเขือเทศป้องกันโรคตับอักเสบโรคเอดส์
มิชิแกนผุดแล็บ ปลอดภัยดีเยี่ยม หาโรคสัตว์สู่คน
ในหลวงทรงให้ศึกษาจีเอ็มโอ ทำแบบของไทยไม่พึ่งพาเทศ
"ในหลวง" ทรงสนพระทัยวิทยาการนาโน วท.ผลิตอะตอมจิ๋ว "ภปร." ครั้งแรกของโลก
ยานรุ่นใหม่ไปกลับดาวอังคารใน 3 เดือน ใช้ปืนแม่เหล็กผลักจรวดพุ่งไปเร็วกว่ากระสุนปืน
ญี่ปุ่นร่วมพิสูจน์บั้งไฟพญานาค-ก.วิทย์ฯชี้ปรากฎการณ์ธรรมชาติ

ข่าววิจัย/พัฒนา

แยกย่อยไขมันด้วยเครื่องกล งานวิจัยเพื่อลดมลพิษทางน้ำ
อินเดีย-จีนแข่งวิจัยเทคโนโลยีจีเอ็มโอ
สหรัฐทุ่มหมื่นล้านสร้างห้องถ่ายภาพความฝัน
มศว คิดสูตรวุ้นมะพร้าว จากเปลือกผลไม้เหลือใช้
เซลล์ครึ่งเดียวปลูกไขกระดูกช่วยผู้ป่วยมะเร็งสำเร็จ
เครื่องควบคุมอุณหภูมิแม่พิมพ์ ร่นเวลาผลิต-ลดของเสียพลาสติก
เรียนสองภาษาแต่เด็ก เพิ่มพลังสมองจดจำแม่น
ฉลามหุ่น (ยนต์)
ญี่ปุ่นนำทางระบบนำทางมือถือใช้ใต้ดิน
เครื่องสาวไหมไฟฟ้าฝีมือไทย เพิ่มผลผลิต-ประหยัดแรงงาน
อุตฯน้ำดื่มประยุกต์ใช้นาโนเทค กรองสิ่งปนเปื้อน-ทำทะเลให้จืด
อินเดียหนุนเทคโนเอื้ออาทร ส่งอุปกรณ์ไฮเทค ช่วยชนบทพูดคุยไม่ง้อฮัลโหล
สุดยอดนักผลิต “คิวซีน้ำส้มแขก”
กินแอปเปิ้ลทั้งเปลือกวันละ 1 ใบป้องกันมะเร็งเจาะไชลำไส้ได้
เชิดชูนักเทคโนโลยีดีเด่นของไทย
เมธีวิจัยอาวุโส ปีล่าสุด
4นักวิจัยมรภ.สารคามบินดูงานสถาบันดังเยอรมัน
ปราบหวัดนกมีลุ้นนักวิจัยไทยคิดวัคซีนสยบระบาด
วว.หนุนวิจัยสร้างงานต้นแบบ ช่วยเอสเอ็มอีลดนำเข้าเทคโนฯ
วท.ปลื้มคนแห่งานวิทย์แห่งชาติประกาศ 3 ผลงานเด่นนวัตกรรม
พบยาเกราะป้องกันโรคเอดส์สำหรับผู้หญิงเพื่อใช้ป้องกันตัว
วิจัยพบอ้วน-ผอม-เสี่ยงเป็นหมัน

ข่าวทั่วไป

ห้ามรับประทานยาต้านภาวะซึมเศร้าดันเด็กวัยรุ่นคิดฆ่าตัวตาย
อันตรายเย็บกระเพาะลดอ้วน ร่างกายขาดสารอาหารถึงอัมพาตถาวร
ภาษิตใหม่ "คนจะงามเพราะการเดิน" ชั่วเดินเร็วแค่อาทิตย์ละ5ครั้ง
ผลิตยาจากปัสสาวะผู้หญิงสูงวัยเป็นยาช่วยให้คนมีบุตรได้ง่าย
เตือนพ่นสเปรย์ฟอกอากาศบริสุทธิ์เป็นภัยสุขภาพมารดาและทารก
ทดสอบพื้นที่ปลูกปัญจขันธ์ ดินเหนือให้สารสำคัญสูงสุด
ส่ง 10 ผลงานศิลปะเด็กไทย แสดงเวทีนานาชาติที่ญี่ปุ่น
เตรียมปรับโครงสร้างอุตฯทั่วประเทศ
กรมศิลป์เตรียมปรับหอสมุดแห่งชาติ ทุ่ม700ล.เน้นความสะดวกประชาชน





ข่าวการศึกษา


คุมเข้มโครงสร้าง มรภ.ใหม่ 5 แห่ง

นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า กกอ.ได้เห็นชอบโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 36 แห่ง ยกเว้น 5 แห่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยตั้งใหม่ คือ มรภ. ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครพนม และกาฬสินธุ์ เนื่องจากยังขาดความพร้อมหลายด้าน เช่น จำนวนอาจารย์ประจำมีน้อย และนักศึกษาก็มีจำนวนไม่มาก เป็นต้น ดังนั้น มรภ.ใหม่ก็ไม่ควรที่จะตั้งคณะ ตามโครงสร้างใหม่ มิเช่นนั้นมหาวิทยาลัยจะเกิดความอ่อนแอ กกอ.จึงขอให้แบ่งส่วนราชการเป็น 2 หน่วย คือ สำนักอธิการบดี และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนหน่วยงานอื่นๆให้เป็นโครงการจัดตั้งไปก่อน อย่างไรก็ตาม กกอ.ยังได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งมีตนเป็นประธาน และมีอธิการบดี มรภ.ทั้ง 5 แห่งเป็นกรรมการ เพื่อช่วยกันดูว่ามรภ.ดังกล่าวจะพัฒนาไปอย่างไร มีส่วนไหนที่ขาดและต้องเติมให้เต็มต่อไป ด้านนายพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า หลังจากที่ กกอ. เห็นชอบโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของ มรภ.แล้ว ขั้นตอนต่อไป สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อมาช่วยวิเคราะห์โครงสร้างกรอบอัตรากำลัง จากนั้นจะนำเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 เพื่อเสนอ ครม. และประกาศเป็นกฎหมายต่อไป (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





สนับสนุนลูกข้าราชการเรียนถึงปริญญาตรี

นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงการคลังได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเพิ่มการช่วยเหลือข้าราชการเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนบุตรให้สูงขึ้นจากเดิมที่ข้าราชการสามารถนำค่าบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียมการเรียนของบุตรมาขอเบิกค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า แต่จากปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนการศึกษาให้เรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 12 ปีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงได้ขยายการช่วยเหลือให้จนถึงระดับปริญญาตรีโดยสามารถเบิกค่าบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียมการเรียนได้ตามค่าใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปีต่อบุตร 1 คน ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการ นำค่าใช้จ่ายของบุตรมาเบิกได้ไม่เกิน 3 คน ตามประกาศเดิมของกรมบัญชีกลางคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณปีละ 1,248 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากที่ประชุม ครม. เห็นชอบก็สามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีผลในปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไปโดยเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือข้าราชการให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของบุตรลดลงได้ "สำหรับการขยายฐานการช่วยเหลือขึ้นมาถึงระดับปริญญาตรีนั้นได้รวมถึงภาคเอกชนด้วยแต่ทั้งนี้ต้องเป็นสถานศึกษาที่อยู่ในประเทศไม่รวมสถานศึกษาที่อยู่ต่างประเทศแต่อย่างใด โดยการดำเนินการครั้งนี้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เชื่อว่าจะทันกับปีการศึกษาหน้า (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





ศธ.เตรียมแผนขยายโรงเรียนวิทย์ดันอัจฉริยะปล่อยพลัง

ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีแนวคิดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในลักษณะเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อจนถึงระดับสูงสุด ตลอดจนหางานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้ด้วยนั้น ขณะนี้คณะกรรมการอำนวยการจัดทำโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ การจัดทำหลักสูตรเกียรตินิยม และการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่ผู้มีศักยภาพสูงทางด้านคณิต ศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีศ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการ บดีม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธาน ได้เสนอรายละเอียดโครงการดังกล่าวให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้ว สาระสำคัญในโครงการประกอบด้วย 3 โครงการใหญ่ที่สำคัญ คือ 1.การจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์อีก 5 โรงเรียน ใน 5 ภูมิภาค ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และ สงขลา แต่จะเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษา 2549 อีก 2 แห่งที่นครนายก และ นครราชสีมา ซึ่งจะเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษา 2550 สำหรับโครงการที่ 2 จะเป็นการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนที่มีความพร้อมสูงเพื่อให้ผู้มีศักยภาพสูงด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้เรียนในระดับ ม.ปลาย โดยให้คณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาเข้าไปสนับสนุนดูแลทางวิชา สำหรับโครงการที่ 3 จะเป็นโครงการต่อยอดระดับอุดมศึกษา โดยรัฐ จัดทุนการศึกษาให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้ได้เรียนในระดับปริญญาตรี ถึงเอก ในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิจัยในต่างประเทศ รวมทั้งให้มีการขยายหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้จบการศึกษาจากโครงการนี้ เพราะผู้ที่เรียนทางด้านนี้จะไม่ไปประกอบอาชีพส่วนตัว แต่จะมาเป็นผู้นำทางวิชาการที่แข็งแกร่งให้แก่ประเทศไทย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





โปรยยาหอมต้องปลอดเด็กไทยไร้การศึกษา

วันที่ 18 ต.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในโครงการสานฝันเด็กไทยหัวใจเดียวกัน จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนักเรียนจาก 175 เขตการศึกษา เข้าร่วมงาน 17,500 คนว่า ต้องการเปิดให้เยาวชนด้อยโอกาสทั่วทุกภาคได้เรียนรู้และทัศนศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กฉลาดขึ้น เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้ลูกหลาน ที่สำคัญรัฐบาลกำลังมีโครงการคาราวาน ช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรกเกิด หรือปฐมวัย เพื่อให้เด็กยากจนด้อยโอกาสมีรอยยิ้ม และได้รับการพัฒนาทางการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลจะลงทุนทางปัญญาให้เด็กทุกคน และจะต้องไม่มีเด็กไทย แม้เพียงคนเดียวไม่ได้รับการศึกษา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าและพัฒนาก้าวหน้า ในเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยตนจะดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิตและสุขภาพปัญญาของเด็กให้เหมือนลูกของตน จากการสำรวจพบว่าจังหวัดที่นักเรียนสนใจไปทัศนศึกษามากที่สุดได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และ กทม. ส่วนสถานที่ที่นักเรียนอยากไปชมมากที่สุด คือ หมีแพนด้า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ฐานทัพเรือสัตหีบ พระบรมมหาราชวัง ส่วนนโยบายของนายกฯที่จะจัดเป็นกองคาราวานเข้าไปดูแลเด็กๆ ทางศธ.พร้อมที่จะดำเนินการ ทั้งจะจัดให้มีการหมุนเวียนนักเรียนเพื่อให้นักเรียนต่างจังหวัดเข้ามาเรียนใน กทม. ให้เด็ก กทม.ไปเรียนต่างจังหวัด เพื่อให้เด็กเรียนร่วมกัน 1 ภาคเรียน จะทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างความเจริญกับส่วนที่ยังด้อยอยู่ ด้วย (ไทยรัฐ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ม.ดังโอด ศ.เกษียณอื้อลุ้นรัฐบาลต่ออายุราชการได้อีก 5 ปี

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2547 มีข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยตำแหน่งศาสตราจารย์และตำแหน่งที่ได้รับเงินเดือนระดับ 10-11 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เกษียณอายุราชการทั้งสิ้นจำนวน 28 คน จาก 8 สถาบัน คือ ม.มหิดล 13 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 คน ม.เกษตรศาสตร์ 3 คน ม.ศิลปากร 2 คน ม.เชียงใหม่ 1 คน ม.ธรรมศาสตร์ 1 คน ม.นเรศวร 1 คน และ ม.รามคำแหง 1 คน ทำให้วงการอุดมศึกษาต้องเสียบุคลากรมือดีไปเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกๆ ปี เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า ผู้เกษียณราชการดังกล่าวถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์สูง กว่าจะสั่งสมความรู้มาถึงระดับนี้ได้ต้องใช้เวลานานหลายปี ดังนั้นแม้ว่าข้าราชการจะเกษียณเพียง 1 คน ก็ถือว่าเป็นการสูญเสียทางวิชาการอย่างมาก เป็นเรื่องที่ยากมากจะหาบุคลากรเช่นนี้มาทดแทนได้ในระยะเวลาอันใกล้ หากร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะช่วยลดการสูญเสียทางวิชาการได้มาก เพราะในร่างดังกล่าวจะมีผลทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถที่จะพิจารณาต่ออายุข้าราชการจากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปีได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอัตราเกษียณ (คมชัดลึก อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





มศก.จับมือฝรั่งเศส-อังกฤษ เปิด2หลักสูตรระดับอินเตอร์

ดร.สมพิศ ขัตติยกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ได้พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสู่ตลาดแรงงาน โดยมีโครงการจัดตั้งหลักสูตรนานาชาติขึ้นอีก 2 หลังสูตร ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท คือการออกแบบมัลติมีเดียและการจัดการโรงแรม ทั้ง 2 หลักสูตรนี้ จะเน้นการเรียนภาคทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง โดยจะเปิดสอนหลักสูตรใหม่ร่วมกับสถาบันการสอนที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนการเรียนการสอนตามหลักสูตรนานาชาติสาขาการจัดการโรงแรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับสถาบันวอแตล ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นสถาบันสอนด้านการท่องเที่ยวการโรงแรมที่มีชื่อเสียงของโลก เคยได้รับรางวัลสถาบันการโรงแรมดีเด่นของโลกในปี 2003 สำหรับหลักสูตรนานาชาติ สาขาการออกแบบมัลติมีเดีย คณะมัณฑนศิลป์ ได้ร่วมกับบสถาบันศิลปะและการออกแบบเบอร์มิ่งแฮม มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลอิงแลนน์ ประเทศอังกฤษ(BIAD) ซึ่งเป็นศูนย์รวมการศึกษาทางด้านศิลปะและการออกแบบที่สำคัญของประเทศอังกฤษ จะร่วมกันจัดการการศึกษา โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาส่งเสริมและพัฒนานักออกแบบมัลติมีเดีย และนักออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารธุรกิจซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และธุรกิจการสื่อสารอื่นๆ ในอนาคตตามนโยบายของภาครัฐบาล หลักสูตรนานาชาติทั้ง 2 หลักสูตร สามารถเรียนรู้ได้ในประเทศไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และเมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญาบัตร 2 ใบ จาก 2 มหาวิทยาลัย ใช้ระยะเวลาเรียนเพียง 4 ปีเท่านั้น การดำเนินงานจัดการศึกษามิติใหม่ครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสู่ตลาดแรงงาน และได้รับการยอมรับสามารถประกอบอาชีพได้ทั่วโลก ผู้สนใจสมัครเรียนได้ตั้งแต่ถึง 30 พฤศจิกายน สอบถามที่ โทร 0-2880-8684 (มติชนรายวัน อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





พิบูลสงครามชวนเรียน4ภาษา

มรภ.พิบูลสงครามเน้นเด่นด้านภาษา เปิดสอน 4 หลักสูตรภาษาต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ทรัตน์พร บัณฑิต หัวหน้าศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ศูนย์ภาษาเปิดหลักสูตรเรียนภาษาต่างประเทศ 4 หลักสูตร ดังนี้ หลักสูตรภาษาฝรั่งเศสเบื้องต้น 30 ชั่วโมง สอนโดยดร.ทรัตน์พร บัณฑิต (ปริญญาเอกการสอนภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยว จากประเทศฝรั่งเศส) หลักสูตรสนทนาภาษาอังกฤษ 30 ชั่วโมง สอนโดยเจ้าของภาษา อาจารย์ Mark Reiswig หลักสูตรสนทนาภาษาญี่ปุ่น 30 ชั่วโมง สอนโดยเจ้าของภาษา อาจารย์ Hitomi Okawachi หลักสูตรสนทนาภาษาจีน 30 ชั่วโมง สอนโดย Ass.Prof.Dr.Jianxum Liu ทุกหลักสูตรรับ 20 คน ค่าเรียนหลักสูตรละ 1,300 บาท คุณสมบัติผู้เข้าเรียน หลักสูตรภาษาฝรั่งเศส นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจใช้ในการท่องเที่ยวและบริการ ส่วนหลักสูตรภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน นักเรียนนักศึกษาประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการจะฝึกสนทนากับชาวต่างประเทศ นอกจากนี้เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว ศูนย์ภาษาจะมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้เรียนทุกหลักสูตร เริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 1-5 พ.ย. และ 8-12 พ.ย. รวม 10 วัน วันละ 3 ชั่วโมง สนใจสมัครเรียนตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 25 ต.ค. ที่ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนวังจันทน์ อาคาร 6 ชั้น 3 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณจิราพรรณ อนุมัติ โทร. 0-1532-7130 (มติชนรายวัน อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





ยืนยันใช้ "ข้าราชการมหาวิทยาลัย"

นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานพัฒนาระบบราชการ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อขัดแย้งบางประการใน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยในส่วนของการใช้ชื่อบุคลากรกลุ่มใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ซึ่งมีผู้เสนอใช้ชื่อว่า พนักงานมหาวิทยาลัย แต่บางมหาวิทยาลัยก็ต้องการใช้คำว่า "ข้าราชการมหาวิทยาลัย" ซึ่ง สกอ.ยืนยันที่จะใช้คำว่า "ข้าราชการมหาวิทยาลัย" ส่วน ครม.จะเห็นชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ ครม.จะตัดสิน สำหรับเรื่องสิทธิประโยชน์ของบุคลากรกลุ่มใหม่ ในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ยังคงได้รับสิทธิจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การประกันตัว การขอหนังสือเดินทางไปราชการ การเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก ยานพาหนะ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด ทั้งนี้พบว่า ในส่วนของการรับสิทธิจาก กบข.นั้นครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2546 ให้แก้ไข พ.ร.บ.กบข. 2539 เพื่อให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเป็นสมาชิก กบข.ได้ แต่พบว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กบข.ของกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้มีการบรรจุกลุ่มบุคลากร ที่สมัครเข้ามาใหม่ในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นสมาชิก กบข. ซึ่งกระทรวงการคลังก็รับที่จะแก้ไข เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนวิปรัฐบาล ยังไม่เข้าสู่สภา จึงยังมีเวลาที่จะแก้ไขได้ทัน ซึ่ง สกอ.จะให้ข้อมูลกับวิปรัฐบาลใน เร็วๆนี้ คาดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร ส่วนเรื่องการขอเครื่องราชย์ฯนั้น ที่ประชุมตกลงให้ สกอ.หารือกับสำนักนายกรัฐมนตรีในรายละเอียดการขออีกครั้ง (ไทยรัฐ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





มน.ตั้งสถาบันหนุนชุมชน SML

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี ม.นเรศวร กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาศักย ภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) ของ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ต้องการ “ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน จัดสรรงบประมาณ แก้ปัญหาประชาชนด้วยประชาชน” โดยการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละชุมชนบริหารงบประมาณด้วยชุมชนเอง โดยผ่านคณะกรรมการที่ชุมชนคัดเลือกขึ้นเอง มหาวิทยาลัยนเรศวรเล็งเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศหากมีกระบวนการการบริหารจัดการที่ดี จึงได้จัดตั้ง “สถาบันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ ชุมชน” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษา การพัฒนาฐานข้อมูล เครื่องชี้วัด การสร้างนวัตกรรม รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ให้แก่หมู่บ้านและชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงการดังกล่าว โดยการจัดตั้งสถาบันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นสถาบันที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรและองค์ความรู้ที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้หมู่บ้านและชุมชนได้ใช้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้อย่างถูกต้องและคนในชุมชนได้ ผล ประโยชน์สูงที่สุด และเพื่อเป็นหน่วยงานในการประสานให้คำแนะนำ เผยแพร่องค์ความรู้ รวมทั้งทำการวิจัยทุก ๆ มิติ ซึ่งสถาบันนี้จะทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของการบูรณาการจัดการองค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





อาชีวะไทยดึงสวีเดน ร่วมปั้นคนเก่งด้านสิ่งแวดล้อม

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสวีเดน ผ่านองค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประเทศสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency-SIDCA) โดยจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับทีมบุคลากรของ สอศ. และคณาจารย์ของวิทยาลัย เพื่อพัฒนาหลักสูตร ผลิตสื่อการเรียนการสอน และจัดการ ฝึกอบรม รวมทั้งจัดการศึกษาดูงานให้แก่ครูผู้สอนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม "เน้นสาขางานการบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ โดยจะนำเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสวีเดนมาปรับใช้กับประเทศไทย โครงการความร่วมมือดังกล่าว กำหนดระยะเวลา 2 ปี ระหว่างเดือน ต.ค. 2546 ถึง ก.ย. 2548 โดยได้งบจากสวีเดนคาดว่า 15.7 ล้านบาท และจากไทยอีก 2.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าดำเนินโครงการ เช่น การศึกษาข้อมูลและจัดทำแผน ค่าใช้จ่ายผู้เชี่ยวชาญระยะสั้นและระยะยาว การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมครู ฯลฯ จุดประสงค์ที่สำคัญของโครงการ มุ่งที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างประเทศไทยและสวีเดน ในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เน้นองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียของระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่ง พ.ร.บ.ด้านสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดมาตรการให้สถานประกอบการ หรือโรงบำบัดน้ำเสียจะต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่มีความรู้ร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยหลักสูตรนำร่องที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการและเทคนิคชลบุรี เพื่อผลิตนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เน้นการสอนในระบบเทียบโอนประสบการณ์ โดยโรงงานสามารถเลือกพนักงานที่มีอยู่แล้วเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม (คมชัดลึก พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





อาจารย์ มช.เจ๋งคว้ารางวัล นักวิทย์รุ่นเยาว์ปี 2548

สภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่ 3 "The Third World Academy of Sciences (TWAS)" ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 เพื่อเสริมสร้างสภาวะผู้นำทางการเมืองและวิทยาศาสตร์ อยู่ในความอุปถัมภ์ของยูเนสโก ส่วนการจัดตั้งโครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ เริ่มตั้งแต่ปี 2529 โดยให้ประเทศสมาชิกคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีผลงานดีเด่นใน 4 สาขาวิชาการ คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ เข้ารับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2540 นับเป็นประเทศลำดับที่ 25 สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ประจำปี 2548 คณะทำงานสรรหามีมติเลือก ดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่วิจัยด้าน "Complex Analysis" และ "Complex Dynamics" โดยมีผลงานวิจัยหลักคือ การศึกษาเซตจูเลียฟังก์ชันตรรกยะ และฟังก์ชันทั่วไป โดยเฉพาะฟังก์ชันเลขชี้กำลังและฟังก์ชันตรรกยะที่มีเซตจูเลียในเซตย่อยของเซตของจำนวนจริง การศึกษาผลเฉลยของสมการฟังก์ชันบางสมการ โดยให้ความสนใจกับผลเฉลยที่เป็นฟังก์ชันตรรกยะและฟังก์ชันมีโรมอร์ฟิก และการศึกษาสมบัติไม่แปรเปลี่ยนของการแปลงเชิงเส้นคู่ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะเฉพาะและสมบัติเชิงเรขาคณิตของการแปลงเชิงเส้นคู่ (คมชัดลึก พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





มหา"ลัยแดนมังกรเปิดเกมรุก ดูดน.ศ.ไทยต่อ"ป.ตรี"ยัน"ดร."

ในงานมหกรรมการศึกษาเพื่ออนาคตที่จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคมที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่สำนักงาน ก.พ.เป็นเจ้าภาพจัดงานการศึกษาต่อต่างประเทศ โดยมีสถาบันการศึกษาจากประเทศต่างๆ ร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะ 7 ประเทศยอดฮิตตลอดกาลของนักเรียนไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาจากประเทศจีนเป็นที่น่าจับตาที่สุดเพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการจีนสนับสนุนให้สถาบันการศึกษากว่า 30 แห่งเข้าร่วมโรดโชว์อย่างเป็นทางการ นายเจียง หยาง หัวหน้าโครงการการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยจิหลิน มหาวิทยาลัยใหญ่ที่สุดในจีน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเดินทางมาโรดโชว์ในไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีสถาบันมามากขนาดนี้เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการจีนให้การสนับสนุนเพราะเห็นว่าปัจจุบันไทยเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาจากตัวเลขนักศึกษาไทยที่เดินทางไปเรียนภาษาในจีน ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น และเป็นอันดับ 6 ของนักศึกษาต่างชาติ ในปัจจุบันเกือบทุกมหาวิทยาลัยของจีนมีศูนย์ภาษาเพื่อให้บริการกับนักศึกษาต่างชาติ โดยมหาวิทยาลัยในจีนจะเปิดรับสมัครนักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไปเข้าเรียนในหลักสูตรภาษา โดยมีระยะเวลาการสอนตั้งแต่ 1 เดือนไปจนถึง 3-4 ปี โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมค่าเดินทางจะอยู่ระหว่าง 3-4 แสนบาท สำหรับเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ขณะที่เมืองอื่นๆ จะอยู่ระหว่าง 2-3 แสนบาท ที่ผ่านมาการจะเรียนในระดับปริญญานั้นนักศึกษาต่างชาติต้องใช้ภาษาจีนระดับสูงเนื่องจากใช้การเรียนการสอนภาษาจีน แต่ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดหลักสูตรนานาชาติสำหรับนักศึกษาต่างชาติในระดับปริญญา เช่น มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น เป็นต้น (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





ซีพีนำร่องโรงเรียนต้นแบบผลิตคนป้อนองค์กร

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ได้ซื้อกิจการโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ มูลค่า 130 ล้านบาท โดยบริษัทเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ และดำเนินกิจการภายใต้ชื่อ บริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด เพื่อเปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ชื่อโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ ในแต่ละปีเราต้องการบุคลากรถึง 4,000 คน แต่บัณฑิตที่จบออกมามีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของเรา ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงมีนโยบายซื้อโรงเรียน สร้างเป็นโรงเรียนของบริษัทเอง เพื่อผลิตบุคลากรป้อนบริษัท และส่วนหนึ่งเพื่อป้อนตลาดแรงงาน เป็นรูปแบบการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จริงในการทำงานควบคู่ไปกับการศึกษา โดยนักศึกษาสามารถฝึกงานกับสถานประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการได้ เป็นการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี จะลดความรุนแรงปัญหาเด็กอาชีวะตีกันได้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักการทำงาน มีความรับผิดชอบ และมีรายได้ระหว่างเรียน มีประสบการณ์ตรงที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เมื่อจบแล้วมีงานทำ คาดเปิดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2548 ส่วนเทอมหน้าจะเปิดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนไว้ในโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





สจพ.ลงนามกับม.เทคโนโลยีอาเค่น เยอรมนี

(วันที่22 ต.ค.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอาเค่น ( Aachen University of Technology ) สหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี ในโครงการ Thai-German Graduate School of Engineering:TGGS ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสจพ. กล่าวว่า ในความร่วมมือดังกล่าวจะได้จัดตั้งโครงการบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินทร ไทย-เยอรมัน ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ โดยจะเป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะในสจพ. ทำหน้าที่จัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทและเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์เชิงอุตสาหกรรม ในสาขาวิชา วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง วิศวกรรมการผลิต วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสื่อสาร วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมกระบวนการ วิศวกรรมวัสดุ เทคโนโลยีการผลิตของโลหะ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิศวกรรมเกษตร และวิศวกรรมสิ่งทอ ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษาสาขาละ 20 คน เนื้อหาและเอกสารการสอนจะจัดทำโดยม.เทคโนโลยีอาเค่น ตลอดจนจัดส่งอาจารย์มาช่วยสอนในโครงการ และหลังจากเรียนภาคทฤษฎีแล้วนักศึกษาทุกคนต้องฝึกงานในอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 4 เดือน และทำวิจัยเชิงอุตสาหกรรมในหัวข้อที่สอดคล้องกับความต้องการจริง และนักศึกษาที่มีผลการเรียนสูงกว่า 3.5 จะได้รับทุนไปศึกษาฝึกงานและทำวิจัย ณ ม.เทคโนโลยีอาเค่น และหลักสูตรทั้งหมดจะได้รับการประเมิน เพื่อเข้าสู่การรับรองคุณภาพจากองค์กระดับนานาชาติ เช่น Accreditation Board for Engineering and Technology, ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 23 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ม.ราชภัฏเชียงรายเปิดศูนย์การศึกษาในเรือนจำ

ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย(มรช.) เปิดเผยว่า ทางสถาบันได้มีการปรึกษา กับ อ.ธนูศักดิ์ ธนะสาร ผอ.วิทยาเขตเทิง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ว่าควรจะมีการปรับระดับการศึกษาให้ทั่วถึง จึงได้เดินทางไปที่เรือนจำ อำเภอเทิง จ.เชียงราย เนื่องจากที่นั่นมีศาลากลางจังหวัดเทิงตั้งอยู่ เพื่อเจรจาความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์การศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ “ผู้ต้องขัง” ในเรือนจำอำเภอเทิง อ.เทิง โดยได้รับการต้อนรับอย่างดี จากนายพิชัย อักษร รองผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอเทิง และคณะกรรมการการศึกษาอย่างดียิ่ง ทั้งนี้เพื่อความร่วมมือและให้โอกาสแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำดังกล่าวได้มีโอกาสเรียนในระดับอุดมศึกษา วิชาเอกที่เปิดสอนนำร่องครั้งนี้ คือ วิชาเอก “นิติศาสตร์” คาดว่าจะเริ่มเปิดสอนได้ในปลายเดือนมกราคมปีหน้า ภาคเรียนที่ 3/48 ขณะนี้มีผู้ต้องขังที่ประสงค์จะเรียนแล้ว 1 ห้องเรียน โดยจะใช้วิธีการบรรยายแบบครูกับศิษย์ เผชิญหน้าสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ส่วนที่เหลือจะให้ผู้ต้องขังศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เพราะที่ศูนย์การศึกษาของเรือนจำแห่งนี้ได้ร่วมมือกับ ร.ร.การศึกษาผู้ใหญ่อำเภอเทิงมานาน ซึ่งมีห้องสมุดค่อนข้างจะสมบูรณ์ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 23 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


"กบ-คางคก"วิกฤตหนัก นักวิทย์ชี้ใกล้สูญหมดโลก

นายอะชิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการบริหารสากลว่าด้วยการอนุรักษ์(IUCN) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกมากกว่า 500 คน จาก 60 ประเทศ ได้ร่วมกันประเมินสถานภาพสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั่วโลกจำนวน 5,743 ชนิด หรือที่รู้จักดีในชื่อทั่วไปว่า กบ เขียด คางคก อึ่งอ่าง ปาด จิ้งจกน้ำ และเขียดงู ทั้งหมดนี้พบว่า 1,856 ชนิดพันธุ์ หรือ 32% กำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างหนัก จนอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์เต็มที นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่ออีกว่า อีก 1,300 ชนิดพันธุ์ กำลังถูกคุกคามเช่นกัน แต่ยังขาดข้อมูลเพียงพอที่จะเอามาประเมิน ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกตีพิมพ์รายละเอียดทั้งหมดในวารสาร Science อีกประมาณ 2 สัปดาห์หน้า (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





ปล่อยลำแสงอินฟราเรดพุ่งจากโลก เป็นรางขนกล้องโทรทรรศน์ดูดาว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ กำลังศึกษาหาหนทาง เพื่อปล่อยลำแสงรังสีอินฟราเรด ที่มีขนาดความยาวช่วงละ 40 เมตร ออกไปในอวกาศให้ไปเป็นรางบรรทุกกล้องโทรทรรศน์วิทยุเคลื่อนที่ยื่นยาวออกไป เพื่อขึ้นไปส่องดูดวงดาวต่างๆในอวกาศอันไกลโพ้น รายงานข่าวแจ้งว่า กล้องจะเคลื่อนไปตามลำแสงเหมือนกับรถไฟ เพื่อมองกวาดส่องทะลุอวกาศเข้าไป ด้วยเครื่องมือที่ใช้เทคนิคแบ่งลำแสงออกเป็นหลายๆลำ แล้วนำลำแสงที่แบ่งแล้วกลับมารวมกันใหม่ ทำให้เกิดการประสมประสานกันขึ้น เก็บรวบรวมข้อมูลจากดวงดาวต่างๆที่ห่างไกล สามารถที่จะทราบถึงองค์ประกอบทางเคมี ของชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ๆ ที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ต่างๆ แต่จุดประสงค์สำคัญของโครงการนี้ ก็เพื่อที่จะให้รู้คำตอบใหญ่ๆ ในปริศนาของจักรวาลที่ยังคงเป็นอยู่ อย่างเช่น ดาวเคราะห์เกิดขึ้นอย่างไร และมนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีสติปัญญา ในจักรวาลเพียงแห่งเดียวเท่านั้นหรือไม่ ให้รู้กระจ่างแจ้งกันลงไป (ไทยรัฐ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





รับหลอมอัฐิผู้ตายให้เป็นอัญมณีทำเป็นจี้เพชรห้อยคอลูกหลาน

บริษัทผลิตอัญมณีแห่งหนึ่งของสวิสส์ คิดค้นวิธีหลอมเพชรพลอยขึ้นจากอัฐิของผู้วายชนม์ได้ สามารถจะเอาไปทำเป็นเครื่องประดับห้อยติดอยู่กับตัว เพื่อจะให้บรรดาลูกหลานได้อุ่นใจ ได้ว่าบรรพบุรุษจะคอยติดอยู่กับตัวเขาอยู่ตลอดเวลา ทางบริษัทกล่าวว่า ได้คิดค้นวิธีที่จะฟอกอัฐิของผู้ตายให้บริสุทธิ์ แล้วนำมาหลอมให้เป็นอัญมณี ด้วยความร้อนและความกดดันสูง เป็นเวลานานประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะได้อัญมณีขึ้นจากอัฐิของผู้ตาย มีสภาพเป็นเหมือนแก้วผลึกสีน้ำเงินทั้งอ่อนและแก่ สุดแต่ว่าเจ้าของอัฐิเมื่อยังมีชีวิตอยู่ชอบกินอาหารอย่างใดและใช้ชีวิตมาแบบใด ข่าวของสถานีวิทยุจีนรายงานว่า อัญมณีนั้นจะนำมาเจียระไนเป็นหัวแหวน หรือทำเครื่องประดับเพชรพลอยต่างๆได้ทุกชนิด เช่น จี้เพชร จะมีชื่อของบรรพบุรุษจารึกไว้ด้วยเสร็จ ทางบริษัทพร้อมที่จะรับบริการทำตามสั่งแล้ว โดยขอคิดค่าจ้างรายละประมาณ 100,000 บาท. (ไทยรัฐ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ใช้ความแปลกคว้ารางวัลประกวดเว็บ

โครงการเปิดโลกความรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดประกวดออกแบบเว็บไซต์ เพื่อร่วมฉลองสมโภช 200 ปี แห่งการพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 18 ตุลาคม 2547 นักเรียน ทีมปทุมคงคาใช้ความแปลกแต่เรียบง่ายชนะคู่แข่ง 149 ทีม จาก 80 โรงเรียนในการประกวดออกแบบเว็บไซต์ พระราชกรณียกิจ พระราชประวัติ พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย จนคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง นายปรมินทร์ อินโสม นายภูมินทร์ วิจิตรชัยศิลป์ นักเรียนชั้นม.5 และด.ช.ไพสิฐ สายทอง นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนปทุมคงคา เล่าถึงผลงานการออกแบบเว็บไซต์ที่ส่งเข้าประกวดว่า ใช้เวลาทำทั้งหมด 3 วัน โดยแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องกราฟิกและการหาข้อมูล เน้นใช้สีเรียบง่ายชูรูปแบบดูสบายตา เนื้อหาไม่มากจนเกินไป มีการแทรกรูปให้ดูสวยงาม ซึ่งจุดต่างจากเว็บไซต์อื่นคือการนำเมนูใส่ไว้ตรงกลางของเนื้อหาเพื่อสร้างความแปลกแหวกแนว พร้อมทั้งมีรูปภาพที่เปลี่ยนแปลงตามเนื้อหาที่อ่านช่วยให้เว็บไซต์น่าสนใจมากขึ้น ผู้สนใจสามารถเข้าชมทุกเว็บไซต์ที่ได้รางวัลใน http://siweb.dss.go.th หรือ พบตัวจริงทีมปทุมคงคาได้ที่งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 19-23 ต.ค.นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี. (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





ประกวด RFID ครั้งแรกในไทย

เทคโนโลยี RFID หรือ Radio Frequency Identification กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างสิงคโปร์ที่ประกาศจะเป็นผู้นำเทคโน โลยีนี้ในภูมิภาค มีการพัฒนาประยุกต์ใช้งานกับการเก็บค่าทางด่วน แค่รถยนต์ติดชิป RFID ขับผ่านเครื่องอ่านที่ติดไว้ตามด่านเก็บเงินก็สามารถหักเงินได้ทันที หรือการใช้งานในห้องสมุด ติดชิปบนหนังสือทำให้ยืมคืนที่ไหนก็ได้ ส่วนมาเลเซียมีการนำมาใช้กับบัตรประชาชน อิเล็กทรอนิกส์ หรือสมาร์ทการ์ดตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีนี้ได้รับการทำนายว่าเป็น 1 ใน 10 ของเทคโนโลยียอดฮิตประจำปีนี้ ซอฟต์แวร์ปาร์ค เนคเทค บริษัทไอเดน ทิไฟ บริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ บริษัทเอ็มเอฟอีซี และบริษัทฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) จึงร่วมมือกันกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทย โดยจัดให้มีการแข่งขัน เปิดรับฟังรายละเอียดแข่งขัน 20 พ.ย.นี้ที่ตึกซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ดูรายละเอียดได้ที่ www.id.co.th หรือ www.swpark.or.th (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





ม.เชียงใหม่วิจัยไขความลับกำเนิดจักรวาล

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หน่วยวิจัยดาราศาสตร์ของภาควิชาฟิสิกส์ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับระบบดาวคู่ และศึกษาถึงวิวัฒนาการว่ามีผลอย่างไรต่อระบบสุริยจักรวาล และจะอาศัยหลักการค้นหาดาวฤกษ์คู่ดังกล่าว ไปใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงการหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก โดยเป็นโครงการวิจัยร่วมกับหอดูดาวยูนนานของประเทศจีน ภายใต้การสนับสนุนสภาวิจัยแห่งชาติของทั้งสองประเทศ สำหรับการประชุมดาราศาสตร์นานาชาติ ครั้งที่ 5 จ.เชียงใหม่ ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปีพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาแห่งดาราศาสตร์ไทย และฉลองครบรอบ 400 ปีการค้นพบซูเปอร์โนวา มีผู้เข้าร่วมเกือบ 10 ประเทศ อาทิ เกาหลี จีน สหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ โดยประเด็นที่เวทีประชุมหารือกันมาก คือ การค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ โดยเฉพาะดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจอย่างมาก รศ.บุญรักษา กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันไทยมีนักดาราศาสตร์ประมาณ 20 คน แต่หากมองถึงภูมิปัญญาโบราณแล้ว ไทยสามารถเทียบชั้นกับนานาชาติได้ ขณะที่ดาราศาสตร์ยุคใหม่ต้องยอมรับว่ายังคงตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่อีกไกล เนื่องจากขาดทั้งเครื่องมือ บุคลากร ทว่าขณะนี้ไทยมีความตระหนักในด้านดาราศาสตร์มากขึ้น จะเห็นได้จากการส่งเด็กไทยไปแข่งดาราศาสตร์โอลิมปิก และในอนาคตไทยจะมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติด้วย (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





รัสเซียทำวัคซีนจากมะเขือเทศป้องกันโรคตับอักเสบโรคเอดส์

นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันชีวเคมีพืชและสถาบันชีวเคมีและศูนย์ ไวรัสวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพของรัสเซีย ได้กล่าวแจ้งว่า จากการทดลองวัคซีนมะเขือเทศกับสัตว์ทดลอง โดยการป้อนให้กินวันละ 3 เวลา ปรากฏว่าได้ผลดี ระบบภูมิคุ้มโรคในสัตว์เหล่านี้ ได้แสดงการต่อต้านโรคตับอักเสบได้อย่างแข็งขัน และในระดับต่ำกว่ากับไวรัสของโรคเอดส์ หัวหน้าแผนชีววิทยาโมเลกุลของศูนย์ไวรัสวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ นายเซอไก เชคูนอฟ ได้บอกว่า ความจริงเคยทดลองวัคซีนแบบนี้แต่ล้มเหลวมาหลายสิบปีแล้ว แต่มันเพิ่งจะมาได้ผลเป็นครั้งแรก พร้อมกันนี้ทางศูนย์ก็เตรียมจะเพาะหัวผักกาดแดงที่ถูกปรับแต่งทางพันธุวิศวกรรม เพื่อจะนำมาปรุงเป็นสลัด ซึ่งจะมีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบและโรคเท้าช้างในตัวต่อไป (ไทยรัฐ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





มิชิแกนผุดแล็บ ปลอดภัยดีเยี่ยม หาโรคสัตว์สู่คน

โลนนี คิง อธิบการบดีวิทยาลัยสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สหรัฐ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนจัดสรรงบประมาณ 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2,400 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์วินิจฉัยสุขภาพประชาชนและสัตว์ สำหรับวิเคราะห์โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือนต.ค.นี้ โดยมีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยราว 150 คนเข้าร่วมปฏิบัติงาน ภารกิจของศูนย์จะตรวจสอบสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ภายในตัวสัตว์ทุกชนิด ซึ่งไม่เคยมีใครดำเนินการในสิ่งนี้มาก่อน โดยภายในศูนย์จะประกอบด้วยห้องปฏิบัติการขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ทำงานเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ และจะวางระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงระบบระบายอากาศที่ดีเยี่ยม เพื่อรองรับงานวิเคราะห์สิ่งมีชีวิตอันตรายที่กำลังทวีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วนักวิทยาศาสตร์ในศูนย์ได้ทดสอบกว่า 1.2 ล้านครั้งใน 60,000 รายการ ไม่ว่าจะเป็น เลือด ตัวอย่างเนื้อเยื่อ หรือสัตว์ที่ตายแล้ว ถือเป็นห้องปฏิบัติการเดียวในรัฐมิชิแกนขณะนี้ ที่มีอุปกรณ์ตรวจจับไวรัสเวสต์ไนล์ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคสมองอักเสบ และยังจัดว่าเป็นศูนย์ทดลองสัตว์ที่มีระดับความปลอดภัยสูงอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของศูนย์แห่งนี้ยังเปิดกว้างรับทดสอบสัตว์ป่วยจากทั่วรัฐมิชิแกน ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัข ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ในฟาร์ม เช่น วัว (คมชัดลึก พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





ในหลวงทรงให้ศึกษาจีเอ็มโอ ทำแบบของไทยไม่พึ่งพาเทศ

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงชมงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2547 โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี คอยรับเสด็จตลอดระยะเวลาชมงาน ระหว่างเสด็จฯชมนิทรรศการวิทยาศาสตร์ ในส่วนของการศึกษาวิจัยเรื่องทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ ภายหลังรับฟังคำอธิบายของเจ้าหน้าที่ว่าวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัยเรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทย เพื่อเป็นการหาทางแก้ไขปัญหาโรคแมลงชนิดต่างๆ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า "ถ้าอย่างนั้นก็ควรมีการพัฒนาศึกษาจีเอ็มโอของไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งควรทำในแบบของเราเองไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ" นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจกับการจัดแสดงโชว์ผ้าไหมยืดได้เป็นอย่างมาก และทรงถามว่า "ผ้าไหมนี้ถ้าใส่ตอนอ้วนมันจะยืดไหม และถ้าผอมมันจะหดตัวลงด้วยหรือไม่" (มติชนรายวัน พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





"ในหลวง" ทรงสนพระทัยวิทยาการนาโน วท.ผลิตอะตอมจิ๋ว "ภปร." ครั้งแรกของโลก

นายไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 2547 ที่เมืองทองธานีเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยความก้าวหน้า ในผลงานต่างๆที่จัดมาแสดงอย่างมาก โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยี ซึ่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้มีการจัดทำชื่อ "ภปร." จากอะตอมคาร์บอนมอนอกไซด์ จำนวน 50 อะตอมวางเรียงเป็นตัวอักษรบนแผ่นทองแดง ถวายแด่ พระองค์ท่าน ซึ่งการนำอะตอมที่เล็กระดับนาโนมาเรียงเป็นตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของทีมนักวิจัยไทยในระดับโลก โดยที่ผ่านมาเคยมีการนำ อะตอมมาเรียงตัวเป็นคำว่า IBM เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น นอกจากนี้ ยังทรงถามเรื่องผลิตภัณฑ์จากการใช้เทคโนโลยีนาโน เช่น เสื้อผ้านาโน หมึกกันน้ำ กระจกกันน้ำอีกด้วย นายไพรัชกล่าวถึงโครงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์เพื่อทดแทนไฟฟ้าด้วยว่า ขณะนี้ วท.ร่วมกับกระทรวงพลังงาน วางแผนขยายโครงการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ บนหลังคาของสถานที่ราชการ รวมทั้งประชาชนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยรัฐจะออกเงินคนละครึ่งเพื่อสร้างแรงจูงใจในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ที่สำคัญจะรับซื้อไฟฟ้าคืนในราคาที่แพงด้วย เนื่องจากนักวิจัยไทยผลิตแผงโซล่าเซลล์ได้แล้ว โดยที่ผ่านมาได้ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในหมู่บ้านชนบทห่างไกล 200,000 ครัวเรือน ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้แล้ว ด้านนางแคทธริน พี ไฮร์ หนึ่งในนักบินอวกาศ ขององค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า ซึ่งมาร่วมงานวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การทดลองในห้องปฏิบัติการอวกาศนูโรแล็บในกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ระหว่างวันที่ 17 เม.ย.-3 พ.ค. 2541 ซึ่งมีนักบินอีก 7 คน ทำหน้าที่เป็นมนุษย์ทดลองและผู้ปฏิบัติการทดลอง พบว่านักบินอวกาศที่กลับจากการปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอวกาศ เมื่อเหยียบลงบนผิวโลกและสัมผัสกับแรงโน้มถ่วงอีกครั้ง มักจะมีอาการมึนงงหน้ามืด เนื่องจากเลือดสูบฉีดไปเลี้ยง สมองได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ระบบสูบฉีดโลหิต และหลอดเลือดหัวใจกำลังปรับตัวกลับเข้าสู่การทำงาน ภายใต้แรงดึงดูดของโลกอีกครั้ง โดยเป็นความบกพร่องในการทรงตัวแนวดิ่ง ซึ่งข้อมูลนี้เป็นความรู้ใหม่ที่จะนำไปขยายผล เพื่อการรักษาโรคและบำบัดอาการผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคความดันโลหิต และโรคนอนไม่หลับได้ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ยานรุ่นใหม่ไปกลับดาวอังคารใน 3 เดือน ใช้ปืนแม่เหล็กผลักจรวดพุ่งไปเร็วกว่ากระสุนปืน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน สหรัฐ เสนอแนวคิดใหม่ในการส่งยานอวกาศไปดาวอังคารที่เร็วกว่าวิธีการที่ใช้กันในปัจจุบัน เทคนิคใหม่นี้เป็นการยิงลำคลื่นแม่เหล็กพลาสมา ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีประจุ หรือไอออน ไปยังแผงแม่เหล็กของยานอวกาศเพื่อผลักให้ตัวยานเคลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง จากแรงผลักระหว่างปีกและลำคลื่นที่ยิงใส่ หลังจากยานอวกาศถูกปล่อยออกจากสถานีอวกาศที่โคจรอยู่นอกโลกแล้ว สถานีดังกล่าวจะยิ่งคลื่นแม่เหล็กผ่านท่อที่มีความกว้าง 10 เมตร ผลักให้ยานอวกาศวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง จนกระทั่งตัวยานใกล้ถึงจุดหมาย ลำคลื่นที่สองที่ยิงจากสถานีอวกาศ ซึ่งโคจรรอบดาวอังคาร จะชะลอให้ยานเดินทางช้าลงเมื่อเข้าใกล้ดาวอังคาร ยานอวกาศทั่วไปจะใช้หลักการเผาไหม้เชื้อเพลิงช่วยในการขับเคลื่อน ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับดาวอังคารนานถึง 2 ปี แต่ลำคลื่นแม่เหล็กตามแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์จะร่นระยะเวลาให้สั้นลง ด้วยแรงผลักที่ส่งผลให้ยานวิ่งด้วยความเร็วนับหมื่นไมล์ต่อชั่วโมง การเดินทางไปยังดาวอังคารที่สั้นลงช่วยประหยัดอาหารและเชื้อเพลิงที่ใช้ระหว่างเดินทาง ทำให้มีแหล่งพลังงานสำรองและยังชีพเหลือมากขึ้น ตัวนักบินอวกาศเองก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะการอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อลีบ และกระดูกไม่แข็งแรง นอกจากนี้ เจ้าของแนวคิดพลังแม่เหล็กนี้ ยังได้สร้างตัวกำเนิดคลื่นแม่เหล็กที่เรียกว่า "ไฮ เพาเวอร์ เฮลิกอน" (เอชพีเอช) เพื่อผลิตอนุภาคประจุ หรือ "ลำคลื่นแม่เหล็ก" ขนาด 60 กิโลวัตต์ สำหรับยิงไปยังปีกยานอวกาศ ณ จุดที่กำหนดไว้ นับเป็นหนึ่งในตัวกำเนิดพลาสมาพลังงานสูงสุดในโลกก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่าคลื่นแม่เหล็กดังกล่าว จะส่งไปยังจุดรับได้ไกลแค่ไหน จากการทดลองในปัจจุบันยังสามารถส่งแรงผลักได้ไกลเพียงไม่กี่เมตร เท่านั้น (คมชัดลึก พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





ญี่ปุ่นร่วมพิสูจน์บั้งไฟพญานาค-ก.วิทย์ฯชี้ปรากฎการณ์ธรรมชาติ

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ในฐานะหัวหน้าทีมพิสูจน์ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย ซึ่งได้ทำวิจัย เพื่อหาข้อพิสูจน์ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากธรรมชาติ หรือเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น เกิดจากมนุษย์ทำขึ้น โดยได้ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลา 1 ปี กล่าวถึงความคืบหน้า การทำวิจัยเรื่องนี้ว่า ผลวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงวันที่ 9-15 ตุลาคม 2546 ก่อนและหลังวันออกพรรษา รวม 9 จุด ได้แก่ ปากห้วยเป อ.รัตนวาปี(สบน้ำเปกับแม่โขง) ปากห้วยหลวง อ.โพนพิสัย หนองสรวง อ.โพนพิสัย ปากห้วยงึมน้อย อ.รัตนวาปี ปากน้ำปากคาด อ.ปากคาด ปากห้วยวัดอาฮง อ.บึงกาฬ ปากห้วยวังฮู วัดจอมมณี อ.เมืองหนองคาย สมห้วยเปลวเหงือก น้ำเป และจุดอ้างอิงเหนือบ้านม่วง(ภูโปด/แม่โขง) โดยเก็บตัวอย่างตะกอนใต้น้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของน้ำ อากาศ และสภาพทางธรณีวิทยา ทำให้สามารถตรวจจับก๊าซฟอสฟีน และมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้ ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ให้ชาวบ้านใน 7 หมู่บ้าน 4 อำเภอ คือ โพนพิสัย บึงกาฬ ปากคาด และ อ.รัตนบุรี ช่วยติดตามปรากฏการณ์มาตลอดระยะ 1 ปี โดยชาวบ้านรายงานการเกิดบั้งไฟในหนองน้ำที่เชื่อมถึงลำน้ำโขง คือหมู่บ้านอาฮง อ.บึงกาฬ และที่บ้านโนนศิลา พบบั้งไฟในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่บริเวณปากน้ำเป อ.รัตนบุรี จะพบบั้งไฟขึ้นในเดือนพฤษภาคมด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สามารถยืนยันได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าบั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 100% เกิดจากการสะสมของซากพืชซากสัตว์ใต้แหล่งน้ำที่ปรับตัวเองเป็นก๊าซที่ติดไฟได้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ ทีมวิจัยจะลงไปวิจัยภาคสนามอีกครั้ง โดยสื่อมวลชนจากญี่ปุ่นจะมาถ่ายทำการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคของนักวิจัยร่วมกับชาวบ้านเพื่อนำไปเผยแพร่ (มติชนรายวัน ศุกร์ที่ 22 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





ข่าววิจัย/พัฒนา


แยกย่อยไขมันด้วยเครื่องกล งานวิจัยเพื่อลดมลพิษทางน้ำ

นายเกียรติณรงค์ ครูบา และ นายเจษฎา เงางามดี จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล นักศึกษาที่ได้รับทุนจากโครงการอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (Industrial Projects for Undergraduate Students) หรือ IPUS ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้คิดค้น "เครื่องต้นแบบแยกและย่อยไขมัน" ขึ้น โดยมี ผศ.ดร.สมพร เจนคุณาวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เครื่องต้นแบบนี้สามารถแยกไขมัน และของแข็งในน้ำเสีย ออกจากเครื่องแยกได้ 100% และยังมีข้อดีคือไขมัน ที่ผ่านกระบวนการนี้ จะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยเครื่องสามารถดักไขมัน และของแข็งเจือปนโดยอาศัยแรงกล และความถ่วงจำเพาะ ของสารแยกส่วนของน้ำ น้ำมัน ของแข็งออกจากกัน แยกส่วนที่เป็นของแข็งออกมา และนำส่วนที่เป็นน้ำมันหรือไขมันไปย่อยสลาย โดยจุลินทรีย์และเอนไซม์ไลเปส น้ำมันและไขมันจะเปลี่ยนเป็นกรดไขมันและกลีเซอไรด์ ซึ่งทำ ให้จุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสียทั่วไปสามารถย่อยสลายหรือนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ช่วยลดมลพิษทางน้ำที่เกิดจากไขมันและน้ำมันลงได้เครื่องแยกและย่อยไขมันมีหลักการทำงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เครื่องแยกจะทำหน้าที่แยกส่วนของน้ำ และน้ำมันออกจากกัน เครื่องย่อยทำหน้าที่ย่อยน้ำมันหรือไขมัน โดยจุลินทรีย์และเอนไซม์ที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ หลังจากที่น้ำมันและไขมันผ่านการย่อยแล้ว ก็จะส่งเข้ารวมกับส่วนของน้ำทิ้ง เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียได้ต่อไป ซึ่งถ้าเป็นการบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย บางครั้งจุลินทรีย์ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากพิษในน้ำเสียและจุลินทรีย์อื่นๆมาทำลาย ทำให้จุลินทรีย์ลดลง เอนไซม์ไลเปสจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีการศึกษา เพื่อนำมาใช้ในการย่อยสลายของเสียประเภทไขมัน แต่การใช้เอนไซม์เพียงอย่างเดียวอาจทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์ที่คัดเลือกแล้วว่า มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายไขมันได้ดี ประกอบกับการใช้เอนไซม์น่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีขึ้น เมื่อนำมาใช้ร่วมกับเครื่องแยกและย่อยไขมันจะช่วยสลายไขมันให้มีโมเลกุลเล็กลง เพื่อให้เป็นอาหารแก่จุลินทรีย์อื่นๆ ได้เร็วขึ้น และเป็นมลพิษน้อยลง สามารถส่งต่อไปยังระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพแบบอื่นๆทำงาน





อินเดีย-จีนแข่งวิจัยเทคโนโลยีจีเอ็มโอ

คณะนักวิทยาศาสตร์ในอินเดีย เปิดเผยว่า ขณะนี้ อินเดียและจีน ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชีย กำลังแข่งขันกันเพิ่มการลงทุนในส่วนของการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อชิงความได้เปรียบด้านเกษตรกรรม และให้ประชากรจำนวนหลายล้านคนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ นักวิทยาศาสตร์ในศูนย์วิจัยพันธุกรรมแห่งหนึ่งของอินเดียเผยว่า จีนและอินเดียครองส่วนแบ่งในแง่การทุ่มงบประมาณด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพพันธุ์พืชในสัดส่วนกว่าครึ่งของการลงทุนด้านนี้ทั่วโลก นางมาร์การิตา เอสคาเลอร์ แห่งสำนักงานบริการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านเกษตรกรรมระหว่างประเทศ เผยว่า จีนและอินเดียกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีปรับแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชากรหลายล้านคนจะมีอาหารเพียงพอสำหรับการบริโภค "ในอินเดียมีหน่วยงานด้านการวิจัยของรัฐบาลอยู่ราว 50 แห่ง โดยทุ่มลงทุนเป็นมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพันธุ์พืชของภาคเอกชนในอินเดียมีมูลค่าราว 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะนี้ การลงทุนด้านการวิจัยของจีนได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ความเคลื่อนไหวในทิศทางดังกล่าวของจีนและอินเดีย มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งจากการที่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ให้การยอมรับเทคโนโลยีจีเอ็มโอ โดยเฉพาะในแถบยุโรป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





สหรัฐทุ่มหมื่นล้านสร้างห้องถ่ายภาพความฝัน

เจอรัลด์ รูบิน และทีมงานจากสถาบันการแพทย์โฮวาร์ด ฮิวส์ เปิดเผยว่า จะใช้พื้นที่กว่า 700 ไร่ ในรัฐเวอร์จิเนีย สร้างศูนย์วิจัยรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยจะเน้นวิจัยในสิ่งที่พวกเขาอยากทำ และจะหาผู้เชี่ยวชาญมาทำให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการทำงานภายในสมองของมนุษย์ แม้จะต้องใช้เวลานานนับร้อยปีก็ตาม "ศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นเหมือนกับบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะผลิตความรู้ใหม่ๆ ออกมา และจะมีนักลงทุนให้การสนับสนุนงบดำเนินการอย่างไม่จำกัด" รูบิน เผยและว่า ทีมงานจะให้ความสำคัญกับปัญหาด้านชีวการแพทย์ ที่เป็นเรื่องยากเกินกว่าสถาบันการศึกษาทั้งหลายจะทำได้ และเรื่องที่เราต้องการศึกษาอย่างมากคือ วิธีที่เซลล์สมองจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล คณะทำงานต้องการถ่ายภาพเซลล์สมอง ขณะที่กำลังบันทึกความคิดอยู่ และการที่จะดำเนินการดังกล่าวได้นั้น จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา นักฟิสิกส์ นักชีววิทยา นักเคมี นักพันธุกรรม นักออกแบบอุปกรณ์ และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาช่วยกัน ศูนย์วิจัยแห่งใหม่จะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2549 ซึ่งจะมีเครื่องมือทุกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการใช้ ภายในอาณาเขตของศูนย์วิจัยจะสร้างโรงแรมขนาด 96 ห้อง และห้องชุดสุดหรูท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยให้กับนักวิจัยและแขกที่มาเยี่ยมเยียน (คมชัดลึก จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





มศว คิดสูตรวุ้นมะพร้าว จากเปลือกผลไม้เหลือใช้

นายสมปอง ใจดีเฉย อาจารย์สาขาวิชาชีวเคมี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) เปิดเผยว่า เปลือกและไส้ผลไม้ เช่นเปลือกกสับปะรด เปลือกแตงโม ซังขนุนและไส้ฝรั่ง นำมาผลิตวุ้นมะพร้าวได้ เพราะในเปลือกผลไม้เหล่านั้นมีทั้งน้ำตาลและกรดผสมอยู่ ที่ผ่านมาการผลิตวุ้นมะพร้าวนั้นในน้ำมะพร้าวอ่อนบ้างแก่บ้างมาผลิตเป็นวุ้นมะพร้าว มาถึงตอนนี้คิดว่า ของที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าสามารถนำมาผลิตเป็นวุ้นมะพร้าวได้อย่างไม่ยาก โดยการนำซังขนุน เปลือกสับปะรด เปลือกแตงโมและไส้ฝรั่งที่ได้จากร้านค้าซึ่งเขาไม่ใช้แล้วนำมาทำความสะอาด จากนั้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบางสะอาดๆ หลายๆ ครั้ง แล้วจึงตรวจวัดน้ำตาลในน้ำผลไม้แต่ละชนิด เสร็จแล้วเติมน้ำตาลทรายหรือบางครั้งอาจไม่ต้องเติมน้ำตาลอีกเนื่องจากในเปลือกของผลไม้ หรือไส้ผลไม้มีความหวานมากพออยู่แล้ว จากนั้นตรวจสอบความเข้มข้นของน้ำตาลสุดท้ายให้ได้ร้อยละ 6 ปรับความเป็นกรด ด่างของน้ำผลไม้ให้เป็น 4.5 เติมแอมโมเนียมซัลเฟต จากนั้นนำไปต้ม ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นถ่ายเชื้อแบคทีเรีย ACETOBACTER XYLINUM ลงในน้ำเปลือกผลไม้ที่เตรียมไว้ในถาดแบนมีความลึกพอควร ทิ้งไว้ 3 วันจะเกิดแผ่นวุ้นที่ผิวหน้าของน้ำเปลือกผลไม้ ส่วนน้ำคั้นจากเปลือกผลไม้ที่สามารถนำมาทำวุ้นมะพร้าวได้ดีที่สุดคือเปลือกแตงโม เปลือกสับปะรด ไส้ฝรั่ง และซังขนุนตามลำดับ ยังมีผู้คิดค้นพยายามนำวุ้นมะพร้าวไปผลิตเป็นกระดาษลำโพง ด้วยคุณสมบัติที่ให้คลื่นเสียงที่มีความเร็วสูง ลดคลื่นเสียงรบกวนได้ดี คุณภาพของเสียงชัดเจน ตลอดถึงยังมีการนำวุ้นมะพร้าวไปทำการผลิตกระดาษและสารให้ความหนืดและความคงตัวในอุตสาหกรรมอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จึงคาดว่าการทำวุ้นมะพร้าวน่าจะขยายไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตได้ต่อไป (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





เซลล์ครึ่งเดียวปลูกไขกระดูกช่วยผู้ป่วยมะเร็งสำเร็จ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม น.พ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล ศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูก หน่วยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า ความเจริญก้าวหน้าด้านการแพทย์สมัยใหม่ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นโรคที่ไม่หายขาด และจำเป็นต้องปลูกถ่ายไขกระดูกที่เดิมเคยมีข้อจำกัดต้องใช้เซลล์เม็ดเลือดของพี่น้องท้องเดียวกันที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน 100% เท่านั้น ล่าสุด วงการแพทย์ในต่างประเทศ ได้พัฒนานวัตกรรมการปลูกถ่ายไขกระดูก โดยนำเซลล์เม็ดเลือดจากพ่อ แม่ ลูก ที่มีลักษณะเหมือนกันครึ่งเดียว มาปลูกถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วยในครอบครัวนั้นๆ ได้สำเร็จ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดมีโอกาสรอดชีวิต หรือมีชีวิตได้ยืนยาวยิ่งขึ้น (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 18 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





เครื่องควบคุมอุณหภูมิแม่พิมพ์ ร่นเวลาผลิต-ลดของเสียพลาสติก

โครงการวิจัย “เครื่องควบคุมอุณหภูมิสำหรับแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก” โดยคณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการ IRPUS ได้พัฒนาเครื่องดังกล่าว เพื่อลดรอบเวลาการผลิตในโรงงานผลิตพลาสติกแห่งหนึ่ง นายสมเกียรติ บุญณสะ หัวหน้าโครงการกล่าวว่า เครื่องควบคุมอุณหภูมิแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะทำหน้าที่สร้างน้ำเย็นอุณหภูมิ 10-15 ํ เซลเซียส และน้ำร้อนอุณหภูมิ 50-70 ํเซลเซียส เพื่อจ่ายให้แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ซึ่งต้องการน้ำ 2 ลักษณะได้แก่ น้ำเย็นและน้ำร้อน โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดผลิตภัณฑ์พลาสติก ดังนั้น จึงต้องสร้างเครื่องที่มี 2 ระบบอยู่ด้วยกัน โดยระบบแรกใช้เครื่องทำน้ำเย็นและระบบที่สองใช้เครื่องทำน้ำร้อน หลักการทำงานของเครื่องจะแบ่งเป็น 2 ระบบได้แก่ ระบบน้ำเย็นจะมีเครื่องทำน้ำเย็นขนาด 3 TR ชนิดหล่อเย็นด้วยน้ำ โดยเครื่องทำน้ำเย็นจะผลิตน้ำเย็นและส่งไปเก็บที่ถังน้ำเย็น เพื่อส่งจ่ายมาที่แม่พิมพ์ โดยมีเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบเปลือกและท่อ (shell and tube) อยู่ระหว่างเครื่องทำน้ำเย็นและแม่พิมพ์ เหตุผลที่ต้องใช้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนเครื่องนี้คือ โรงงานไม่มีระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (softener) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเย็นไหลผ่านเข้าแม่พิมพ์โดยตรง เพราะอาจทำให้ท่อแลกเปลี่ยนความร้อนภายในแม่พิมพ์เกิดสกปรก อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของเครื่องแม่พิมพ์ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงออกแบบให้น้ำเย็นที่ไหลเข้าแม่พิมพ์เป็นแบบระบบปิด ส่วนระบบที่สองเป็นระบบน้ำร้อน จะมีเครื่องทำน้ำร้อนขนาด 9 กิโลวัตต์ ทำน้ำร้อนส่งเข้าแม่พิมพ์ โดยระบบทำน้ำเย็นและระบบทำน้ำร้อนจะสลับกันทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ว่าเป็นชนิดใด หลังจากนำเครื่องควบคุมอุณหภูมิแม่พิมพ์นี้ไปใช้ในโรงงานพลาสติก ที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า พบว่า สามารถลดรอบเวลาการทำงานและลดของเสียของการผลิตลงได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มคุณภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์ได้สูงขึ้นอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





เรียนสองภาษาแต่เด็ก เพิ่มพลังสมองจดจำแม่น

นักวิจัยอังกฤษพบว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองตั้งแต่เยาว์วัย มีส่วนทำให้สมองขนาดใหญ่ขึ้น จดจำได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่รู้เพียงภาษาเดียว นักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ผู้ที่สามารถพูดสองภาษาได้จะมีมันสมองในส่วนภาษามากกว่าผู้ที่รู้เพียงภาษาเดียว โดยเฉพาะการเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะยิ่งทำให้โครงสร้างทางกายวิภาคของสมองเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น แต่สมองของผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปก็สามารถเปลี่ยแปลงได้หากได้เรียนรู้ภาษาที่สอง แม้จะไม่มากเท่ากับผู้ที่เรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ก็ตาม ในการศึกษาของทีมงานชุดนี้ พวกเขาได้เปรียบเทียบขนาดมันสมอง ผ่านทางภาพโครงสร้างสมองของกลุ่มตัวอย่างที่รู้ภาษาเดียว 25 คน กับผู้รู้สองภาษาตั้งแต่เด็ก 25 คน ซึ่งเริ่มเรียนภาษาที่สองก่อนอายุ 5 ขวบ และช้าสุดตอนอายุ 33 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รู้สองภาษาจะมีมันสมองในส่วนซ้ายใหญ่กว่าผู้ที่รู้ภาษาเดียว โดยเฉพาะเด็กที่ได้เรียนรู้ภาษาที่สองในช่วงอายุ 10-15 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คณะทำงานมีแผนวิจัยเพิ่มเติมในกลุ่มคนที่เรียนรู้ภาษาได้ยากกว่าคนปกติ เพื่อดูว่าขนาดสมองของกลุ่มดังกล่าวมีความแตกต่างเพียงใด และยังจะศึกษาเพิ่มในกลุ่มผู้ที่พูดได้หลายภาษาด้วยว่า มันสมองเพิ่มขนาดตามจำนวนภาษาที่พวกเขารู้หรือไม่ (คมชัดลึก อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





ฉลามหุ่น (ยนต์)

การประชุมนานาชาติ Intelligent Robots and Systems (IROS) ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2004 นี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจาก Chinese Academy of Sciences กรุงปักกิ่งประเทศจีน ได้นำเสนอผลงานวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ขนาดเล็กที่แม้จะยังไม่ใช่ผลงานจากนาโนเทคโนโลยี แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงไปอีกและแน่นอนว่าประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวก็คือหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่สามารถขับเคลื่อนได้ในของเหลว ซึ่งจะเรียกว่าหุ่นยนต์จิ๋วที่สามารถว่ายน้ำได้ ด้วยขนาดที่เล็กที่มีความกว้าง x ความยาว x ความหนา ประมาณ 3 x 2 x 0.4 มิลลิเมตร สิ่งที่ทำให้มันสามารถว่ายในของเหลวได้ก็คือครีบขนาดเล็กที่ทำจากโลหะผสมหรืออัลลอย ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สามารถยืดหดได้ด้วยสนามแม่เหล็ก โดยการเพิ่มระดับความแรงของสนามแม่เหล็กอย่างรวดเร็วและการลดระดับความแรงของสนามแม่เหล็กอย่างช้า ๆ ทำให้ครีบดังกล่าวหดตัวและคลายตัวกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมได้ นักวิจัยตั้งเป้าที่จะลดขนาดของหุ่นยนต์ลงให้มีขนาดของความยาวประมาณ 0.1 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่หุ่นยนต์สามารถว่ายเข้าไปในเส้นเลือดที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์เราได้ และเมื่อสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีขนาดเล็กได้ในระดับนั้น แล้วก็จะลำเลียงยาเข้าไปรักษาโรคยังอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายของเราหรือแม้แต่กระทั่งการแก้ไขการอุดตันของเส้นเลือดอย่างเช่นเส้นเลือดหัวใจ (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





ญี่ปุ่นนำทางระบบนำทางมือถือใช้ใต้ดิน

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท เคดีดีไอ คอร์ป และบริษัท เอ็นอีซี คอร์ป ได้ประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรธุรกิจในการพัฒนาระบบนำทางผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่สามารถแสดงผลในรูปแบบ 3 มิติ สำหรับผู้ใช้งานที่อยู่ภายในอาคาร หรืออยู่ชั้นใต้ดิน สามารถระบุทิศทางไปยังบันไดขึ้น-ลง ระหว่างชั้น บันไดหนีไฟ ลิฟต์โดยสาร หรือช่องทางพิเศษ ภายในอาคารสำหรับผู้พิการ เป็นต้น นอกจากนี้ระบบดังกล่าว ยังถูกดัดแปลงเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านอื่น อาทิ หากผู้ใช้งานต้องการเดินไปยังประตูทางเข้าห้างสรรพสินค้าในชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นแผนกจำหน่ายเสื้อผ้าสตรี เมื่อระบบได้รับข้อมูลจะสามารถแสดงข้อมูล หลังจากค้นหาเส้นทางที่ดีที่สุด พร้อมรายละเอียดเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการลดราคาในแผนกเสื้อผ้านั้น ๆ เป็นต้น จากการทดสอบระบบพบว่า สามารถแสดงรายละเอียดได้เป็นที่น่าพอใจ และจะเปิดบริการในเร็ว ๆ นี้ (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





เครื่องสาวไหมไฟฟ้าฝีมือไทย เพิ่มผลผลิต-ประหยัดแรงงาน

นายชัยพร พัฒนจักร อาจารย์โรงเรียนกุดดู่พิทยาคม จ.หนองบัวลำภู ผู้คิดค้นเครื่องสาวไหมไฟฟ้าแบบ 2 หัว ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตวัตถุดิบเส้นไหมมากขึ้นถึงเท่าตัว หรือ 20 กก./วัน เพียงพอสำหรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันได้ดัดแปลงภาชนะบรรจุรังไหมให้เป็นสเตนเลสเก็บความร้อน ลดใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ปัจจุบันคุณภาพฝีมือของชาวบ้านในการทอผ้าไหมได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างมาก ขณะที่ขั้นตอนการผลิตในการสาวใยไหมจากรังไหม ซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอนกว่าจะได้เส้นไหมตามต้องการ จึงเสียทั้งเวลาและแรงงานคน ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตเส้นไหมได้ทันต่อความต้องการ จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้ประดิษฐ์เครื่องสาวไหมไฟฟ้า ภายใต้การสนับสนุนของโครงการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สิ่งประดิษฐ์เครื่องสาวไหมที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการจดสิทธิบัตร จากนั้นจึงจะผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยในเบื้องต้นได้ผลิตเพื่อทดลองใช้งานในกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ และผลตอบรับอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถเพิ่มวัตถุดิบเส้นไหมในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน รวมทั้งคุณภาพเส้นไหมมีความยาวสม่ำเสมอและเรียบ จึงคาดว่าผลงานน่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มทอผ้าไหมในลักษณะโอท็อป และสถานฝึกอบรมวิชาชีพที่มีหลักสูตรทอผ้าไหม (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





อุตฯน้ำดื่มประยุกต์ใช้นาโนเทค กรองสิ่งปนเปื้อน-ทำทะเลให้จืด

นักวิชาการและนักธุรกิจน้ำดื่มพร้อมใจจัดการประชุมนาโนวอเตอร์ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เพื่อจะพัฒนานาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำดื่มบริสุทธิ์ พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ซึ่งใช้งานโดยกองทัพสหรัฐในต่างแดน นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมกันอภิปราย ค้นหาวิธีประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำสะอาด และภายในงานได้จัดนิทรรศการอะควาเทค 2004 ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำ ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถนำเทคโนโลยีมาผลิตน้ำดื่มปราศจากสารปนเปื้อน เปลี่ยนน้ำเค็ม และน้ำเสียทุกรูปแบบมาเป็นน้ำสะอาดได้ ในงานได้แสดงอุปกรณ์กรองน้ำระดับนาโน ซึ่งสามารถกรองแบคทีเรีย ไวรัส โลหะหนักและอินทรีย์วัตถุออกมาได้อย่างหมดจด และเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่บริษัทหลายแห่ง อาทิ บริษัท อาร์โกไนด์ และบริษัท เคเอ็กซ์ อินดัสทรีส์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีกรองที่ใช้นาโนเทคโนโลยีเป็นฐานการผลิตสำคัญ คาดว่าจะวางจำหน่ายได้ในปีหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในประเทศกำลังพัฒนา ที่ประชุมระบุว่ามีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด และในอีก 20 ปีข้างหน้าการบริโภคน้ำของโลกจะเพิ่มเป็นสองเท่า ขณะที่โรงงานบำบัดน้ำเสียได้เริ่มนำตัวกรองระดับนาโนมาใช้แยกน้ำดีและน้ำเสียออกจากกันมากว่า 5 ปีแล้ว และเทคโนโลยีนี้กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





อินเดียหนุนเทคโนเอื้ออาทร ส่งอุปกรณ์ไฮเทค ช่วยชนบทพูดคุยไม่ง้อฮัลโหล

เชการ์ บอร์กานการ์ และทีมงานศูนย์วิจัยบริษัทฮิวเลตต์ แพคการ์ด ในบังกาลอร์ กำลังพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อว่า "สคริปต์ เมล" สำหรับช่วยชนบทที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน สามารถสื่อสารกับญาติมิตรห่างไกลผ่านทางเทคโนโลยีไร้สายในภาษาพูดของตัวเอง คุณสมบัตินี้ช่วยให้ประเทศอินเดียที่มีภาษาทางการมากถึง 18 ภาษา และภาษาท้องถิ่นอีกนับร้อยภาษา สามารถสื่อสารถึงกันได้โดยไร้ข้อจำกัด สคริปต์ เมล ประกอบด้วยแผ่นรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่ติดตั้งจอแสดงผลขนาดเล็กในตัว และใช้งานโดยวางกระดาษลงบนแผ่นรองนี้ แล้วเขียนข้อความที่ต้องการสื่อสารด้วยภาษาใดก็ได้ด้วยปากกาอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องใช้แป้นพิมพ์ จากนั้นสคริปต์ เมล จะจดจำลายมือเขียน และแสดงข้อความบนหน้าจอเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะจัดเก็บและส่งผ่านไปเป็นอีเมลผ่านโมเด็มที่ติดตั้งไว้ภายนอก ทีมงานเชื่อว่าอุปกรณ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อชนบทที่ไร้ซึ่งคู่สายโทรศัพท์ และมีเพียงที่ทำการไปรษณีย์เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับคนไกลบ้านเท่านั้น โดยสคริปต์ เมล แตกต่างจากโทรเลข เพราะชาวบ้านสามารถเขียนข้อความได้มากเท่าที่ต้องการ ขณะเดียวกันที่เมืองบอมเบย์ ศ.กีรติ ตรียเวทิ สถาบันเทคโนโลยีอินเดีย กำลังสร้าง "ศูนย์กลางการสื่อสารขนาดย่อม" ให้โรงเรียนที่ขาดแคลนคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในรูปกล่องสีดำขนาด 1 ลูกบาศก์ฟุต บรรจุฮาร์ดดิสก์และติดตั้งเครื่องฉายภาพความละเอียดสูง สามารถยิงลำแสงไปแสดงผลบนผนังที่ระดับความสูง 300 นิ้ว ใช้งานผ่านแป้นพิมพ์และเม้าส์ไร้สาย เหมาะกับใช้งานในห้องเรียนขนาดใหญ่ที่จุนักเรียนได้เกือบ 100 คน กำลังได้รับความสนใจจากสถานศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ มาเลเซีย คาซัคสถาน นอกจากนี้ ศูนย์มีเดียแล็บเอเชียในอินเดียกำลังจับมือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมให้ชนบทที่ห่างไกล โดยดึงเทคโนโลยีไว-ไฟ หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายมาใส่ในคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านสามารถส่งสัญญาณเสียงและข้อมูลทางไกลระหว่างกันได้โดยไม่ต้องพึ่งสายโทรศัพท์ (คมชัดลึก พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





สุดยอดนักผลิต “คิวซีน้ำส้มแขก”

กลุ่มแม่บ้านชุมชนร่วมรัฐสามัคคีหรือชุมชนดอนกระต่าย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณประชาอุทิศ54ได้ทำน้ำส้มแขกขาย แต่มีปัญหาว่า ชาวบ้านยังขาดความรู้ในเรื่องของกระบวนการผลิตน้ำส้มแขกที่มีคุณภาพ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาประสบอุปสรรคบางประการ หน่วยวิจัยและทดสอบวัตถุและผลิตภัณฑ์ ศูนย์เทคโนโลยีซ่อมบำรุงรักษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)ได้อาสาเข้ามาช่วยดูแลและควบคุมผลิตภัณฑ์โดยนำเทคโนโลยีด้านระบบการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำส้มแขก อาจารย์วรรณภพ กล่อมเกลี้ยง หัวหน้าโครงการจาก มจธ.เล่าว่า “ปัญหาคือขั้นตอนการผลิตน้ำสมุนไพรที่ยังใช้กระบวนการแบบเดิมๆ ทำให้การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตไม่สม่ำเสมอ ทางศูนย์ต้องเข้าไปอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มแม่บ้าน รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นในการควบคุมกระบวนการผลิต ปรับปรุงกระบวนการฆ่าเชื้อทำให้น้ำส้มแขกมีความสะอาดปลอดภัย” หลังจากศูนย์ฯได้ส่งนักศึกษาเข้าไปถ่ายทอดและนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจของชุมชน โดยการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเครื่องดื่มส้มแขก ทุกวันนี้ชุมชนได้สร้างรายได้และมาตรฐานการผลิตได้มากขึ้นและมียอดจัดจำหน่ายสูงขึ้น (สยามรัฐ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





กินแอปเปิ้ลทั้งเปลือกวันละ 1 ใบป้องกันมะเร็งเจาะไชลำไส้ได้

นักวิจัยของสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์ของฝรั่งเศส ระบุว่า สารเคมีในแอปเปิ้ลที่มีชื่อว่า "โปรไซยานิดิน" เพราะได้พบจากการทดลองในห้องปฏิบัติการว่ามันช่วยทำให้รอยแผลมะเร็ง ของหนูทดลองจางหายลงไปอย่างสังเกตเห็นได้ ผลการค้นพบครั้งนี้ ยังอาจจะทำให้จะต้องเปลี่ยนวิธีการบำบัดรักษามะเร็งเสียใหม่อีกด้วย ในเปลือกของแอปเปิ้ลมีสารโพลีฟีนอลอยู่หลายอย่าง และเมื่อเอามาแยกได้พบสารเคมี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งได้แก่ โปรไซยานิดิน ซึ่งมีสรรพคุณบังคับให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวเอง จึงสามารถยับยั้งมะเร็งไม่ให้เติบโตและลุกลามได้ หัวหน้านักวิจัย ดร.แฟรนวิส ราอูล ได้กล่าวสรุปว่า "บัดนี้ ผลการค้นพบของเราส่อว่า การกินแอปเปิ้ลหมดลูกทั้งเปลือก อาจเป็นคุณช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ได้ มันเป็นของแน่นอนที่สามารถทำกันได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีการศึกษาวิจัยต่อไปอีก" (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





เชิดชูนักเทคโนโลยีดีเด่นของไทย

กลุ่มที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2547 คือ บริษัทไทยออพติคอลกรุ๊ปจำกัด (มหาชน) โดยคณะวิจัยนั้น สามารถผลิตเลนส์สายตาที่ทำจากวัสดุพลาสติกชนิดธรรมดา และในระยะต่อมาก็สามารถทำการวิจัยและ พัฒนาผลิตเลนส์สำเร็จรูปประเภท Finished Uncut Single Vision Lens โดยใช้วัสดุ Trivex เป็นบริษัทแรกของโลก ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นเลนส์นิรภัยที่สามารถทนต่อแรงกระแทกสูงโดยไม่แตกหัก และสามารถพัฒนาระบบการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จโดยสามารถที่จะผลิตได้เกือบล้านชิ้นต่อปีและสามารถผลิตเพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์นำรายได้เข้าประเทศด้วยสมองของนักประดิษฐ์ไทยซึ่งจดลิขสิทธิ์เป็นของไทยและเป็นบริษัทของคนไทย 100% สำหรับนักวิจัยทั้งหมดก็ เป็นทีมงานนักวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ไทยดังนี้คือ นายสาโรจน์ ประจักษ์ธรรม, นายธรณ์ ประจักษ์ธรรม และ นายธีรชัย สุรวัฒนสกุล ซึ่งทั้งทีมก็จบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาและไทย อีกท่านหนึ่งก็คือ คุณปิยะ จงวัฒนา แห่งบริษัทพัฒน์กล จำกัด (มหาชน) คุณปิยะนั้นเป็นวิศวกรสาขาเครื่องกล สามารถวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องทำน้ำแข็งหลอดและอุตสาหกรรมนมที่สะอาดและปลอดภัย และสามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเป็นผู้ผลิตน้ำแข็งหลอดรายใหญ่เป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของโลก ซึ่งคู่แข่งที่ชัดเจนนั้นอยู่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่คือ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ แห่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้พัฒนาบุกเบิกงานด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาคและอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเซนเซอร์ขนาดจิ๋ว อีกท่านหนึ่งคือ ผศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา แห่งมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี โดยสามารถสร้างเครื่องอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยิ่งยวดที่ภาวะความดันต่ำ เครื่องอบแห้งกุ้งแบบเจตสเปาท์เตด เบท และเครื่องผสมอาหารแบบกระแสชนในเส้นการไหล (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th) สหรัฐพัฒนาเทคนิคแกะรอยแบงก์ปลอม ศ.เอ็ดเวิร์ด เดล์พ และทีมงานจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินเดียนา สหรัฐ ค้นพบว่า เครื่องพิมพ์ตั้งโต๊ะแต่ละเครื่องจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่จะทิ้งร่องรอยไว้บนเอกสารที่เครื่องพิมพ์ผลิตออกมา และจากการค้นพบครั้งนี้สามารถใช้ระบุเครื่องพิมพ์เลเซอร์ จากการตามรอยเอกสารได้ถูกต้องเกือบ 100% โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการตามหาเครื่องพิมพ์ ที่ใช้ในการปลอมแปลงธนบัตร หนังสือเดินทาง และเอกสารสำคัญต่างๆ เคล็ดลับความสำเร็จนี้อยู่ที่ซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ ที่ช่วยให้มองเห็น "ลักษณะเฉพาะภายใน" ของเครื่องพิมพ์ที่ผลิตออกมาแต่ละเครื่อง ซึ่งความแตกต่างในชิ้นงานที่พิมพ์ออกมานั้น เกิดขึ้นเมื่อเครื่องพิมพ์ปล่อยหมึกลงกระดาษ โดยทั่วไปเครื่องพิมพ์จะปล่อยหมึกออกมาในแถบชุดตัวอักษรที่แตกต่างกัน และซอฟต์แวร์จะจดจำรูปแบบดังกล่าวไว้ "ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ และการวัดขนาดจากตัวอักษรที่ได้จากการพิมพ์ ส่งต่อไปยังขั้นตอนการวิเคราะห์ภาพและเทคนิคจดจำรูปแบบ ในท้ายที่สุดเราก็สามารถค้นหาคำตอบที่ต้องการ และไม่เพียงแต่รุ่นเท่านั้นที่เราสามารถระบุได้ แต่ยังสามารถชี้ชัดได้เลยว่า เอกสารพิมพ์มาจากเครื่องพิมพ์เครื่องไหน ทั้งนี้ เครื่องพิมพ์ตั้งโต๊ะและสแกนเนอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้งานคู่กัน ในการปลอมแปลงธนบัตรที่เหมือนจริงอย่างมาก รวมถึงเอกสารส่วนตัวที่หลอกตาคนทั่วไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น ทีมงานจึงเตรียมพัฒนาเทคนิคนี้ให้สามารถใช้งานกับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต ซึ่งรายละเอียดของงานวิจัยจะนำเสนอในงานประชุมนานาชาติเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล ที่จัดขึ้นต้นเดือน พ.ย.นี้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





เมธีวิจัยอาวุโส ปีล่าสุด

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานโล่เกียรติยศ 16 เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ประจำปี 46 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย มีผู้ได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ทั้งสิ้น 16 คนและรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. 4 คน ดังนี้ กลุ่มการแพทย์ 1.รศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล สาขาชีวเคมี ที่ได้พบวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราจากส่วนที่ไม่ใช่น้ำยางสด โดยพบสารชีวเคมีมูลค่าสูงหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค และเสริมสุขภาพ 2.ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน ได้พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่รู้ผลได้ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงทั้งยังมีความแม่นยำสูง 3.ศ.น.พ.ธีระ ศิริสันทนะ สาขาอายุรศาสตร์ ศึกษาหาวิธีที่จะชะลอการดื้อยา และลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน 4.ศ.น.พ.บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล สาขาอายุรศาสตร์ ศึกษาหาแบบจำลอง และข้อมูลเพียงพอเพื่อการประเมินทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขสำหรับเบาหวาน ซึ่งอาจนำไปสู่การจดสิทธิบัตรเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 5.ศ.น.พ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน ศึกษาถึงปัญหาการเกิดโรคไข้เลือดออกซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาวัคซีนโรคไข้เลือดออกได้ 6.ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล สาขาเคมีอินทรีย์ ศึกษาวิจัยเพื่อหาสารต้นแบบจากธรรมชาติในพืชตระกูลพุด และมังคุด พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อเอดส์ 7.รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว สาขาเคมีเชิงฟิสิกส์ ได้นำวิธีการทางเคมีคอมพิวเตอร์มาใช้สำหรับการออกแบบโครงสร้างยารักษาโรคเอดส์ โดยล่าสุดจัดตั้งเครือข่าย In Silico Screening Network ใน 8 มหาวิทยาลัยเพื่อร่วมมือกันค้นหาสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรไทยเพื่อนำมาออกแบบโครงสร้างยารักษาโรคเอดส์ สำหรับด้านการเกษตร 1.ศ.ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม สาขาอณูชีววิทยา ได้ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมพัฒนาวิธีการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสภายในเซลล์กุ้งที่ติดเชื้อ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียการระบาดของไวรัสกุ้งได้ปีละนับพันล้านบาท 2.ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร สาขาพันธุศาสตร์สัตว์น้ำ ถือเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยทางด้านพันธุกรรมของปลาน้ำจืด 3.ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ สาขาเกษตรศาสตร์ สนใจด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วทั้งถั่วเขียว และถั่วเหลือง เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร 4. ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ สาขาเทคโนโลยีพลังงานได้คิดค้นเครื่องอบแห้งข้าวฟลูอิดไดซ์เบด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และโรงสีแก้ปัญหาความชื้นข้าว จนได้รางวัล UNESCO SCIENCE PRIZE ประจำปี 2003 จาก UNESCO 5.ศ.ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง สาขาฟิสิกส์ ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ด้วยเทคนิคลำไอออน จนเกิดข้าวหอมมะลิพันธุ์ใหม่ 2 ชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ตามความต้องการของตลาด พร้อมจดสิทธิบัตรคุ้มครองพันธุ์พืชชนิดใหม่ทั้งสองพันธุ์นี้ 6.ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้หนึ่งที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวงจรรวมต่อเนื่องยาวนาน 7.ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล นำพื้นฐานความรู้ที่ได้ไปใช้ในการออกแบบเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ทำความเย็น ที่มีสมรรถนะสูง และสามารถใช้ได้กับสารทำความเย็นชนิดใหม่ซึ่งจะนำมาทดแทน CFC ที่ทำลายสภาวะแวดล้อม 8.ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน สาขาฟิสิกส์ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทฤษฎีตัวนำยวดยิ่งมายาวนาน โดยผลงานวิจัยที่ผ่านมาทำให้นักฟิสิกส์ของแข็งเข้าใจธรรมชาติของตัวนำยวดยิ่งดีขึ้น ด้านสังคมศาสตร์ 1.นางพรพิไล เลิศวิชา สาขาการศึกษาชุมชน ที่ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวิถีการดำรงอยู่ของชาวบ้านทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมายาวนาน ยังมีนักวิจัยอีก 4 คนคือ 1.ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2.ศ.น.พ.ยง ภู่วรวรรณ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม สาขาเกษตรศาสตร์ 4.รศ.สุพจน์ หารหนองบัว สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เข้ารับพระราชทานรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว.ประจำปี 2546 ด้วยเช่นกัน (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





4นักวิจัยมรภ.สารคามบินดูงานสถาบันดังเยอรมัน

รศ.ดร.สมเจตน์ ภูศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยจำนวน 4 ท่านประกอบด้วย ดร.สุณี สาธิดานันต์ อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โสภา อาจารย์เมตตา เก่งชูวงศ์ อาจารย์วุฒิพล ฉัตรจรัสกุล ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติของประเทศไทยและกองทุนสนับสนุนงานวิจัยของประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี เดินทางไปประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ตามคำเชิญของนักวิจัยจาก UNIVERSITY OF APPLIED SCIENCES NEUBRANDENBURG เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางร่วมกันเกี่ยวกับงานวิจัยของทั้งสองสถาบันภายใต้หัวข้อ SUSTAINABLE DEVELOPMENT OF NORTH-EASTEMREGION OF THAILAND A CASE STUDY OF MAHASARAKHAM PROVINCE CENTER OF NORTH-EASTEM REGION โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติของประเทศไทย และกองทุนสนับสนุนงานวิจัยของประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี(DFG) กำหนดเดินทางในเดือน ต.ค.นี้ โครงการความร่วมมือนี้คาดว่าจะส่งผลดีให้ผลงานทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามเป็นที่ยอมรับในวงกว้างยิ่งขึ้น (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





ปราบหวัดนกมีลุ้นนักวิจัยไทยคิดวัคซีนสยบระบาด

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสกล พันธุ์ยิ้ม ที่ปรึกษาสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นเมธีวิจัยอาวุโสประจำปี 2546 และศึกษาวิจัยเรื่อง เทคนิค Small interfering RNA (SiRNA) เทคนิคใหม่สยบไวรัสโรคกุ้ง ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาทดลองวัคซีนไข้หวัดนกว่า ขณะนี้พอมีความหวังว่าจะสามารถสร้างวัคซีนไข้หวัดนกทั้งคนและสัตว์ได้ โดยที่เชื้อไม่กลายพันธุ์อย่างที่หลายคนเป็นห่วง การนำเอาเทคนิค SiRNA ที่ใช้ในการสยบไวรัสในโรคกุ้งกุลาดำมาปรับปรุงใหม่ เพื่อพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดนก SiRNA เป็นสารชนิดหนึ่งที่สามารถสังเคราะห์ได้ในห้องทดลอง ซึ่งโครงสร้างพันธุกรรมของมันคล้ายโครงสร้างพันธุกรรมบางส่วนของไวรัส ซึ่งสามารถใช้ไปตัดพันธุกรรมของไวรัสเพื่อไม่ให้มีการขยายเซลล์ต่อไปได้อีก ทำให้สามารถหยุดการระบาดของโรคได้ โดยที่เชื้อไม่กลายพันธุ์ "เทคนิค SiRNA จะแตกต่างจากวัคซีนที่พัฒนาทั่วไป เพราะจะเข้าไปสกัดไวรัสตั้งแต่ในเซลล์ ทำให้ไวรัสยังไม่ทันได้กลายพันธุ์ จึงไม่ต้องกลัวว่าใช้วัคซีนไปแล้วจะมีปัญหา อีกทั้งเทคนิค SiRNA นี้ได้ใช้ได้ผลมาแล้วในระดับห้องทดลอง สยบไวรัสโรคกุ้งหัวเหลืองและตัวแดงได้สำเร็จมาแล้ว ผมคิดว่า วิธีนี้น่าจะได้ผลกับการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนก" นายสกล กล่าว และย้ำว่า มีความต้องการจะทดลองพัฒนาวิจัยวัคซีนหวัดนกด้วยเทคนิค SiRNA นี้เป็นอย่างมาก แต่ติดปัญหาว่ายังไม่สามารถหาห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานได้ เพราะการทดลองวัคซีนหวัดนกจะต้องใช้ห้องปฏิบัติการอีกระดับหนึ่ง และต้องยอมรับว่าวิธีเก่าที่ใช้กำจัดเชื้อหวัดนกในปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลแล้ว แต่ไม่มีทางเลือก ซึ่งการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดนกด้วยเทคนิค SiRNA จึงถือเป็นความหวังใหม่ ที่จะสามารถสยบไวรัสหวัดนกได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 22 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





วว.หนุนวิจัยสร้างงานต้นแบบ ช่วยเอสเอ็มอีลดนำเข้าเทคโนฯ

ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยถึงแนวนโยบายการดำเนินงานเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า จะเน้นการวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในประเด็นที่มีผลกระทบสูงหรือมีส่วนผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้ขยายผล โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี รวมทั้งจะต้องมีความสมดุลในการทำงาน ด้วยการเชื่อมโยงและประสานงานกันระหว่างกลุ่มวิจัยพัฒนา กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีกับกลุ่มบริการ สำหรับโครงการวิจัยที่จะผลักดันในอันดับแรก ประกอบด้วย 3 โครงการหลักคือ โครงการความร่วมมือกับองค์กรการวิจัยภายนอก โครงการที่ดำเนินตามนโยบายหลักของรัฐบาล และ โครงการพัฒนาความพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยให้ไทยพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนั้น จะมุ่งสร้างกระบวนการผลิตต้นแบบงานวิจัยของประเทศ รวมทั้งจะจัดทำฐานข้อมูลให้มากขึ้น จากปัจจุบัน วว. จัดทำฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหย ฐานข้อมูลสมุนไพร และได้เผยแพร่เพื่อให้สังคมรู้จัก วว. มากขึ้นอีกทางหนึ่ง “การทำงานในปัจจุบันจะอาศัยเพียงสาขาใดสาขาหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ในหลายๆ สาขามารวมกัน จึงจะได้ผลงานที่เป็นรูปธรรม หากเราพัฒนาความรู้เฉพาะด้านจะไม่สามารถนำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดได้ เราจะต้องเอาความรู้หลายๆ ด้านมาทำให้เป็นรูปธรรมที่พร้อมถ่ายทอดได้ จุดอ่อนของบ้านเราส่วนหนึ่งก็คือ วิจัยแล้วก็จบแค่นั้น แต่สะพานเชื่อมระหว่างการวิจัยไปสู่การใช้ในเชิงพาณิชย์ยังมีช่องว่างที่ใหญ่มาก ดังนั้น ภารกิจของ วว.จะเข้ามาอุดช่องว่างนี้” ผู้ว่าการสถาบันวิจัยฯ คนใหม่ กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





วท.ปลื้มคนแห่งานวิทย์แห่งชาติประกาศ 3 ผลงานเด่นนวัตกรรม

นายไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2547 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า หลังจากพระองค์ท่านเสด็จฯแล้ว ก็มีผู้เข้ามาชมงานอย่างเนืองแน่นมากกว่าวันละ 50,000-60,000 คนตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ทั้งนี้ นับเป็นการทำให้วงการวิทยาศาสตร์ของไทยมีความตื่นตัวมากขึ้น โดยวันนี้จะเป็นการจัดงานวันสุดท้าย จึงขอเชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วไปและเยาวชน ร่วมสัมผัสโลกวิทยาศาสตร์ ด้าน นางสุชาตา ชินะจิตร อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการประกวดโครงการรางวัลนวัตกรรมปี 47 ว่า มีผลงานได้รับรางวัลในสาขาต่างๆ ดังนี้ สาขาวิทยาศาสตร์ กายภาพและชีวภาพ ได้แก่ ต้นแบบซอฟต์แวร์วัดการเจริญเติบโตของ Spirulina platensis สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ เครื่องตัดเสาเข็ม และสาขาสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองแบบพกพา ซึ่งผลงานเหล่านี้สามารถพัฒนาในเชิงธุรกิจได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 23 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





พบยาเกราะป้องกันโรคเอดส์สำหรับผู้หญิงเพื่อใช้ป้องกันตัว

นักวิจัยชั้นนำของมหาวิทยาลัยเคส เวสเติร์น รีเสิร์ฟ ดร.ไมเคิล เลเดอร์แมน กล่าวเปิดเผยว่าได้พบตัวยา ที่จะใช้ทำครีมเพื่อป้องกันผู้หญิงทั่วโลก ไม่ให้ติดโรคเอดส์จากการร่วมเพศ โดยไม่มีการป้องกัน ตัวยานั้นจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโรคเอดส์เข้าไปสู่เนื้อเยื่อของช่องคลอดได้ โดยการปิดกั้นปากทางเข้าเซลล์เอาไว้ อันเป็นหนทางช่วยในการป้องกันโรคเอดส์อย่างง่าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยายังไม่พร้อมที่จะทดลองใช้กับมนุษย์ ในการทดลองตัวยาอันเป็นสารเคมีที่ชื่อ "พีเอสซีแรนต์ส" เมื่อพ่นเคลือบอวัยวะเพศให้กับลิงตัวเมีย แล้วลองเอาเชื้อไวรัสเอดส์ใส่ให้ ปรากฏว่าลิงตัวที่ได้รับการพ่นสารมากที่สุด สามารถป้องกันเชื้อโรคได้หมด และตัวที่ได้รับยาน้อยลงไป ก็ยังป้องกันโรคไว้ได้ถึง 80% ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ผู้หญิงตามดินแดนส่วนต่างๆของโลกหลายแห่ง ต้องตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์มากกว่าผู้ชาย ในจำนวนผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ทั้งโลกเป็นสตรีเสียตั้งกว่าครึ่ง ยิ่งในบริเวณดินแดนแถบกึ่งทะเลทรายสฮาราในทวีปแอฟริกา มียอดผู้ป่วยที่เป็นหญิงจำนวนสูงเกือบ 60% (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 23 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





วิจัยพบอ้วน-ผอม-เสี่ยงเป็นหมัน

สำนักข่าวต่างประเทศเอพีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ อ้างการเปิดเผยผลวิจัยทางการแพทย์ของคณะนักวิทยาศาสตร์สเดนมาร์ก ระบุว่า น้ำหนักตัวของคนเราทั้งชายและหญิงจะมีผลต่อการให้กำเนิดบุตร โดยผลวิจัยซึ่งกระทำต่ออาสาสมัครจำนวน 1,558 ราย อายุระหว่าง 20-25 ปี พบว่า หากผู้ชายมีน้ำหนักตัวผอมหรืออ้วน จะมีอสุจิไม่เข้มแข็ง และเสี่ยงที่จะหมันให้กำเนิดบุตรยาก โดยหากเป็นชายที่มีน้ำหนักตัวผอมจะมีจำนวนอสุจิและความเข้มแข็งของอสุจิน้อยกว่าผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวปกติเฉลี่ยราว 28-36 เปอร์เซนต์ หากเป็นชายที่มีน้ำหนักอ้วนจะน้อยกว่าราว 21-23 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบด้วยว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวอ้วนจะมีเสี่ยงต่อการเป็นหมัน แม้ว่าร่างกายจะมีการผสมพันธุ์ระหว่างไข่และอสุจิของเพศชายแล้วก็ตาม โดยหากมีน้ำหนักตัวมากเท่าใด ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหมันสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุแท้จริงที่การอ้วนและผอมมีผลกระทบทำให้คนเราเสี่ยงต่อการเป็นหมัน แต่ประเมินว่าอาจเป็นเพราะภาวะอ้วนและผอมจะทำให้คนเรามีวิถีชีวิตที่สุขภาพไม่สมบูรณ์เต็มที่ รวมทั้งอาจเกิดการเป็นมีโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยยังยืนยันด้วยว่าการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้าหนักมีผลต่อความสามารถในการผลิตอสุจิของผู้ชาย (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 24 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





ข่าวทั่วไป


ห้ามรับประทานยาต้านภาวะซึมเศร้าดันเด็กวัยรุ่นคิดฆ่าตัวตาย

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ ออกคำเตือนว่า การรับประทานยาต้านภาวะซึมเศร้าอาจทำให้เด็กวัยรุ่นเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และเอฟดีเอจึงเห็นสมควรให้ติดฉลากเตือน นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนอันตรายครั้งใหญ่ จากเอฟดีเอต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วย สำนักงานได้ออกคำเตือน หลังจากได้รับ คำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอิสระและการแสดงหลักฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ประกอบ คณะกรรมการที่ปรึกษาระบุว่า จากการทดลองทางคลินิกหลายครั้งต่อผู้ป่วยวัยรุ่น 4,000 คน โดยผู้ผลิตยา 5 ขนาน ที่แพทย์สั่งจ่ายในสหรัฐฯ และพบว่าผู้ป่วยวัยรุ่นที่รับประทานยาต้านภาวะซึมเศร้า มีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาเลียนแบบถึงสองเท่า แต่ยังไม่มีรายงานการฆ่าตัวตายในกลุ่มทดลอง (ไทยรัฐ อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





อันตรายเย็บกระเพาะลดอ้วน ร่างกายขาดสารอาหารถึงอัมพาตถาวร

ดร.เจมส์ ดิก ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา จากศูนย์แพทย์เมโยในเมืองโรเชสเตอร์ มลรัฐมินนิโซตา สหรัฐ เปิดเผยถึงผลการศึกษาผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เข้ารับการผ่าตัดเย็บกระเพาะเพื่อจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารแก้ปัญหาโรคอ้วน พบว่ามีอาการที่ส่งผลทำลายระบบปลายเส้นประสาท และมีแนวโน้มว่าจะเกิดจากภาวะโภชนาการบกพร่อง อาการที่ชี้ให้เห็นว่าระบบปลายเส้นประสาทเสียหายคือ ผู้ป่วยจะน้ำหนักลดลงเร็วกว่าปกติ และยังมีอาการคลื่นเหียนอาเจียน การขับถ่ายบ่อยผิดปกติ เนื่องจากอาหารเคลื่อนตรงไปที่ลำไส้ใหญ่ทันที แทนที่จะผ่านการย่อยจากกระเพาะก่อน ภาวะดังกล่าวทำให้ร่างกายดูดซับวิตามินไม่ดีพอ โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ทำให้เกิดอาการปลายเส้นประสาทอักเสบ มีอาการเป็นเหน็บ มึนหัว และบางครั้งรู้สึกปวดเหมือนถูกแทง และในระยะยาวอาจทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดเย็บกระเพาะเป็นอัมพาตถาวร งานวิจัยของ ดร.ดิก และทีมงาน ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารประสาทวิทยาสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการสำรวจกับผู้ป่วย 435 คน ที่เข้ารับการผ่าตัดหดกระเพาะ ทั้งที่ศูนย์แพทย์เมโย หรือคนที่เคยรักษาจากที่อื่นแล้วมาเข้ารับการบำบัดต่อที่นี่ โดยพบว่าผู้ป่วย 71 ราย หรือร้อยละ 16 มีอาการเป็นโรคปลายเส้นประสาทอักเสบหลังผ่าตัด ขณะเดียวกัน วารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันรายงานว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเย็บกระเพาะรักษาโรคอ้วน เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลและช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ถึง 45 กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น (คมชัดลึก อังคารที่ 19 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





ภาษิตใหม่ "คนจะงามเพราะการเดิน" ชั่วเดินเร็วแค่อาทิตย์ละ5ครั้ง

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์อุลสเตอร์ ของไอร์แลนด์เหนือ ได้ศึกษาวิจัยกับกลุ่มผู้หญิง พวกที่มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการนั่งๆนอนๆ ไม่ค่อยได้เดินเหินเคลื่อนไหว จำนวน 32 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ออกกำลังด้วยการเดินเร็ว เป็นเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 5 หน กลุ่มที่ 2 ก็ให้ออกกำลังเดินเร็ว และใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าด้วย ส่วนกลุ่มที่ 3 ไม่ได้สั่งให้ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อครบกำหนด 2 อาทิตย์ จากการจับตรวจร่างกายผู้หญิงทั้ง 3 กลุ่ม ด้วยการตรวจดัชนีมวลรวมร่างกาย ความดันโลหิต และการวัดความแข็งแรงด้วยการวิ่งบนเครื่องลู่วิ่ง ปรากฏผลว่า กลุ่มที่ได้ปฏิบัติตัวด้วยการเดินเร็ว และใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า สามารถลดน้ำหนักตัวลงได้มากที่สุด ทั้งเอวและสะโพกมีขนาดลดลงกว่าเดิม กล้ามเนื้อท้องแข็งขึ้น สวมเสื้อผ้าเข้ากับตัวได้กระชับขึ้น (ไทยรัฐ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ผลิตยาจากปัสสาวะผู้หญิงสูงวัยเป็นยาช่วยให้คนมีบุตรได้ง่าย

ตามข่าวของหนังสือพิมพ์รายวัน "ลา นาซี-ออง" กล่าวว่า บริษัทยามาสซาโรเน ได้ชักชวนให้บรรดาผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว ทั้งในกรุงบัวโนสไอเรส นครหลวง และเมืองซาราเต้กับลา ปลาตา ใกล้เคียง นำเอาปัสสาวะมาแลกกับเหยือกแก้วและตู้เย็น บริษัทยาแห่งนั้นได้นำปัสสาวะที่แลกมาได้ ไปสกัดเอาฮอร์โมนมาทำยาช่วยให้มีบุตรง่ายออกจำหน่าย ปรากฏว่ากว่าจะได้ฮอร์โมนที่ต้องการปริมาณ 1 กรัม จะต้องใช้ปัสสาวะมากถึง 200,000 ลิตร (ไทยรัฐ พุธที่ 20 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





เตือนพ่นสเปรย์ฟอกอากาศบริสุทธิ์เป็นภัยสุขภาพมารดาและทารก

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยบรูเนล ของอังกฤษ กล่าวว่า สตรีที่ใช้สเปรย์เหล่านั้นฉีดพ่นบ่อยๆ ระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือเลี้ยงทารกอ่อนๆ อาจทำให้ตนเองมีอาการปวดหัวและซึมเศร้า และทารกเกิดท้องร่วงและปวดหูขึ้นได้ เพื่อเป็นการไม่ประมาท ควรจะจำกัดการใช้ให้น้อยลง นักวิจัยกล่าวในรายงานในวารสาร "สิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพ" ว่า ปกติสารระเหยที่มีอยู่ในสารประกอบอินทรีย์ ที่มีผสมอยู่ในสารละลายต่างๆ ในกาวทาพื้น ในสีทาบ้านและในน้ำยาทำความสะอาด ภายในอาคารบ้านเรือน อาจจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่างๆขึ้นได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวแสดงความเห็นเตือนว่า สตรีมีครรภ์และทารกอ่อน ที่มีอายุยังไม่ถึงครึ่งขวบดี อาจจะแพ้แก่สเปรย์นี้เป็นพิเศษ เพราะทั้งมารดาและทารกต้องขลุกอยู่แต่ในบ้านทั้งวันมากถึง 80% ของเวลาทั้งหมด (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ทดสอบพื้นที่ปลูกปัญจขันธ์ ดินเหนือให้สารสำคัญสูงสุด

น.พ.ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า กรมพัฒนาการแพทย์ฯร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ทดลองปลูกสมุนไพรปัญจขันธ์ หรือเจียวกู่หลาน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ บำรุงสุขภาพ โดยแยกปลูกพันธุ์ไทยและพันธุ์จากประเทศจีน เปรียบเทียบกันใน 5 จังหวัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ใดเหมาะสม หลังจากปลูกสมุนไพรชนิดนี้เป็นเวลา 2 เดือนพบว่า ปัญจขันธ์พันธุ์จีนเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ไทย ในภาคกลางให้ใบงอกงามดีกว่าภาคอื่นๆ หลังจากได้เก็บใบทั้ง 2 พันธุ์มาตรวจสอบสารสำคัญพบว่า พันธุ์จีนมีสารสำคัญร้อยละ 18-19 ส่วนพันธุ์ไทยมีสาระสำคัญร้อยละ12-13 โดยใบที่งอกงามดีมีสารสำคัญน้อยกว่าใบที่ไม่ค่อยสวย ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือมีสารสำคัญมากกว่าภาคอื่นๆ ฉะนั้น เบื้องต้นหากจะส่งเสริมการปลูกปัญจขันธ์ควรเลือกพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น ในเดือนเม.ย. 2548 คาดว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อแจกจ่ายประชาชน นอกจากปัญจขันธ์แล้ว ไทยยังมีโครงการทดลองปลูกสมุนไพรจีน 11 ชนิดเพื่อทดแทนการนำเข้า ได้แก่ โกฐสอ จำนวน 3 สายพันธุ์ โกฐเชียง โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐจุฬาลำพา หรือต้นชิงเฮาสายพันธุ์ที่ 1 และต้นชิงเฮาสายพันธุ์ที่ 2 อบเชยจีน และชะเอมเทศ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ส่ง 10 ผลงานศิลปะเด็กไทย แสดงเวทีนานาชาติที่ญี่ปุ่น

ชีวิตของเราบนโลกที่สวยงามใบนี้” (Our lives on this Wonderful Earth) คือหัวข้อของการประกวดภาพเขียนเยาวชนในรูปแบบของสมุดภาพ (Enikki) ในโครงการมหกรรมศิลปะเด็กแห่งเอเชีย ครั้งที่ 7 ประจำปี 2546-2547 ณ ประเทศญี่ปุ่น และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ยุวศิลปินไทยได้มีเวทีในการสร้างสรรค์งานศิลปะ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จึงได้จัดกิจกรรมให้เยาวชนส่งผลงานศิลปะสมุดภาพประจำวันเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ปรากฏว่ามีเยาวชนสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 1,500 ชีวิต ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการคัดเลือกสมุดภาพประจำวันจากฝีมือการสร้างสรรค์ของน้องๆ เยาวชนไว้จำนวน 10 เล่ม ที่สามารถถ่ายทอดถึงวิธีของเด็กๆ ได้อย่างแท้จริงเพื่อส่งไปจัดแสดงภาพร่วมกับเยาวชนจากอีก 22 ประเทศในทวีปเอเชีย ผลงานของเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกไปร่วมแสดงในงานมหกรรมศิลปะเด็กแห่งเอเชีย ได้แก่ 1. ด.ญ.ลัลน์ลลิต เพ็ญสวัสดิ์ โรงเรียนคลองมหาวงก์ จ.สมุทรปราการ 2. ด.ญ.พฤกษชาติ ประทุมนันท์ โรงเรียนสุพรรณภูมิ จ.สุพรรณบุรี 3. ด.ญ.ชลธรา รุ่งรังษี โรงเรียนคลองมหาวงก์ จ.สมุทรปราการ 4. ด.ญ.ศิรินทิพย์ บุญโญ โรงเรียนบ้านควนสูง จ.สุราษฎร์ธานี 5. ด.ญ.ภัษภร ประทุมนันท์ โรงเรียนสุพรรณภูมิ จ.สุพรรณบุรี 6. ด.ญ.เจนจิรา จิรวิชญ โรงเรียนบ้านสุไหงไก-ลก จ.นราธิวาส 7. ด.ญ.มทินา วิทยาศิริกุล ชมรมบ้านเด็กรักศิลป์ จ.ชลบุรี 8. ด.ช.ศิวกร ชัยพินิจ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศบางบอน กรุงเทพมหานคร 9. ด.ญ.พรรณพร คณาวัฒนกุล ชมรมบ้านเด็กรักศิลป์ จ.ชลบุรี 10. ด.ช.อธิศ มณีนพผล โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จ.นครราชสีมา การตัดสินสมุดวาดประจำวัน จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม ซึ่งมอบให้แก่สมุดภาพที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศ ประเทศละ 1 รางวัลจากการตัดสิน (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





เตรียมปรับโครงสร้างอุตฯทั่วประเทศ

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมว่า กระทรวงมีนโยบายในปีงบประมาณ 48 (ต.ค. 47-ก.ย. 48) ที่จะปรับโครงสร้างการทำงานของอุตสาหกรรมจังหวัด 75 แห่งทั่วประเทศ โดยให้ข้าราชการต่างจังหวัดของหน่วยงานกระทรวง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ปกติขึ้นตรงกับอธิบดีของ ตัวเอง ให้โอนถ่ายมาขึ้นตรงกับสำนักงานอุตสาห กรรมจังหวัด (สอจ.) เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ การทำงานเกิดการรวมศูนย์ในเรื่องการสั่งการมากขึ้น โดยจะมีการลงนามข้อตกลงกับอุตสาหกรรมจังหวัด ถึงแผนปฏิบัติงานครั้งนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้เป็นระเบียบปฏิบัติต่อไป “สอจ. จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนกระทรวง ที่ต้องมีความรู้และเข้าใจทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการลงทุนในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ โดยจะสามารถตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ซึ่งจากการที่ผมเดินทางไปเยี่ยมอุตสาหกรรมจังหวัดทางภาคเหนือพบว่า บางจังหวัดยังไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอได้ชัดเจน โดยจะต้องฝึกอบรมให้ความรู้กับข้าราชการที่อยู่ในอุตสาหกรรมจังหวัด รวมทั้งการทำงานจะต้องมีความรวดเร็ว โดยตามแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายหลักไว้ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการส่งเสริมนโยบายเอส เอ็มอีระดับชุมชน การให้ความสำคัญกับอุตสาห กรรมเป้าหมายที่สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี บุคลากร และให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





กรมศิลป์เตรียมปรับหอสมุดแห่งชาติ ทุ่ม700ล.เน้นความสะดวกประชาชน

นางสมศรี เอี่ยมธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่หอสมุดแห่งชาติจะมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 12 ต.ค. 2548 กรมศิลปากรมีแผนปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติ ในศตวรรษหน้าตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เปลี่ยนโฉมการบริการห้องสมุด รวมถึงหอสมุดแห่งชาติทุกแห่งให้ทันสมัย รวดเร็ว ด้วยการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนอย่างครบวงจร เช่น การบริการยืมคืนหนังสือด้วยคีย์การ์ด การถ่ายเอกสารโบราณเก็บไว้ในอินเทอร์เน็ต มีบุ๊คช้อป ศูนย์อาหารเครื่องดื่ม โดยมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยทำแผน ตั้งงบประมาณรองรับแล้ว 700 ล้านบาท พร้อมกันนี้ จะเร่งสร้างหอจดหมายเหตุที่คลองห้า จ.ปทุมธานี ให้เสร็จภายใน 4 ปี เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี 2550 หอสมุดแห่งชาติไม่เหมือนกับห้องสมุดทั่วไป ที่ให้บริการหนังสือเท่านั้น แต่ต้องมีบทบาทอนุรักษ์เอกสาร สิ่งพิมพ์โบราณที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่โบราณ เก็บไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาและรู้จักรากเหง้าตัวเอง ดังนั้น จำเป็นต้องมีห้องเก็บรักษาเอกสารเหล่านี้ โดยเฉพาะมีการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาสภาพต้นฉบับไว้ และในอนาคตจะมีการถ่ายเอกสารให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเปิดอ่านได้ด้วย ขณะนี้ ได้รับความเห็นชอบจากนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมว.วัฒนธรรม และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว เหลือเพียงส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติงบ 700 ล้านบาท ให้ดำเนินงาน ในเร็วๆ นี้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 22 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215