หัวข้อข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 32 ประจำวันที่ 2006-08-07

ข่าวการศึกษา

แม่โจ้เปิดคณะสารสนเทศฯ สอนถึงป.เอกแห่งแรกในภูมิภาค
'จาตุรนต์'แจงตั้ง'กษมา'คุมสพฐ. ส่ง'จรวยพร' ขึ้นปลัดแทน 'นริศ' คุม สกอ.
'จาตุรนต์'แจงตั้ง'กษมา'คุมสพฐ. ส่ง'จรวยพร' ขึ้นปลัดแทน 'นริศ' คุม สกอ.
จี้สำนึกมหา'ลัยเน้นคุณภาพ
5 คนรวมเป็น 1 อัจฉริยะ วิธีการของค่าย Art for All

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ตรวจเลือดทำนายมะเร็งล่วงหน้า 5-10 ปี
แกมมาโก้เปิดตัวหุ่นยนต์การศึกษา
รพ.หัวใจกรุงเทพวิจัย'สเต็มเซลล์หัวใจ'
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 ส.ค. 2549 http://www.dailynews.co.th)

ข่าววิจัย/พัฒนา

สังเคราะห์พิษแมงป่องรักษาเนื้องอก

ข่าวทั่วไป

สุวรรณภูมิเปิดบริการเร็วขึ้น 15 ก.ย. สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศทั้งหมด





ข่าวการศึกษา


แม่โจ้เปิดคณะสารสนเทศฯ สอนถึงป.เอกแห่งแรกในภูมิภาค

ศ.ดร.วิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ คณบดีคณะสารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า จากเดิมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เปิดสอนในระดับปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะธุรกิจการเกษตรมากว่า 9 ปี ผลิตมหาบัญฑิตกว่า 200 คน ล่าสุด เพิ่งได้รับอนุมัติจัดตั้งให้เป็นคณะสารสนเทศ และการสื่อสาร โดยความเห็นชอบจากมติของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 4/2549 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 โดยจะเริ่มเปิดสอนในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอกในปี 2551 ทั้งนี้ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และแนวโน้มของคณะนิเทศศาสตร์ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลง เช่นที่ประเทศ อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จะถูกยุบรวมกับคณะสารสนเทศและคณะบรรณารักษ์ดังนั้นการตั้งคณะสารสนเทศ และการสื่อสาร ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงอาศัยจุดแข็งของการสอนในระดับปริญญาโทสาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่นับว่าเปิดสอนเป็นแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ประกอบกับการนำหลักสูตรต่างๆจากสถาบันต่างประเทศ ที่มีประโยชน์ต่อนักศึกษาและ ประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ ด้วยปรัชญาที่ต้องการให้เป็น“สื่อเพื่อพลังของความดีงาม” (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





'จาตุรนต์'แจงตั้ง'กษมา'คุมสพฐ. ส่ง'จรวยพร' ขึ้นปลัดแทน 'นริศ' คุม สกอ.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า รายชื่อแต่งตั้ง-โยกย้าย ซี 11 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ทั้งหมด 3 ตำแหน่งได้แก่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. ย้ายมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แทนนางพรนิภา ลิมปพยอมที่จะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย. นางจรวยพร ธรณินทร์ รองปลัด ศธ. ขึ้นเป็นปลัด ศธ. นายนริศ ชัยสูตร ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังการคลัง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา แทนนายภาวิช ทองโรจน์ ที่จะเกษียณ นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ลงนามอนุมัติโผซี 11 ไว้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะครม.มอบให้นายกฯเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายซี 11 การนำโผซี 11 เข้าครม.เพื่อให้ครม.รับทราบเท่านั้น และโผที่ผ่าน ครม.เป็นไปตามที่ตนเสนอไป ซึ่งตนพิจารณาการแต่งตั้ง โยกย้าย ซี 11 โดยดูที่ความเหมาะสม เลือกผู้ที่มีพื้นฐานเข้าใจการทำ งานในตำแหน่งนั้น ๆ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





'จาตุรนต์'แจงตั้ง'กษมา'คุมสพฐ. ส่ง'จรวยพร' ขึ้นปลัดแทน 'นริศ' คุม สกอ.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า รายชื่อแต่งตั้ง-โยกย้าย ซี 11 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ทั้งหมด 3 ตำแหน่งได้แก่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. ย้ายมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แทนนางพรนิภา ลิมปพยอมที่จะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย. นางจรวยพร ธรณินทร์ รองปลัด ศธ. ขึ้นเป็นปลัด ศธ. นายนริศ ชัยสูตร ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังการคลัง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา แทนนายภาวิช ทองโรจน์ ที่จะเกษียณ นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ลงนามอนุมัติโผซี 11 ไว้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะครม.มอบให้นายกฯเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายซี 11 การนำโผซี 11 เข้าครม.เพื่อให้ครม.รับทราบเท่านั้น และโผที่ผ่าน ครม.เป็นไปตามที่ตนเสนอไป ซึ่งตนพิจารณาการแต่งตั้ง โยกย้าย ซี 11 โดยดูที่ความเหมาะสม เลือกผู้ที่มีพื้นฐานเข้าใจการทำ งานในตำแหน่งนั้น ๆ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





จี้สำนึกมหา'ลัยเน้นคุณภาพ

จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา : แนวทางการดำเนินการและทิศทางการพัฒนาสู่ยุทธศาสตร์เชิงนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ศ. (พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดจะต้องทำงานแบบเครือข่ายกันมากขึ้น เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แต่หลังจากที่มีการรวมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ สกอ. หรือทบวงมหาวิทยาลัยเดิมเข้าด้วยกันทำให้มีปัญหามาก และที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องคุณภาพที่มีปัญหาทั้งในภาพรวมและภาพย่อย โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีมีปัญหาการผลิตบัณฑิตที่ยังขาดแคลนในบางสาขา และเกินในบางสาขา และหลายสาขายังมีบัณฑิตตกงาน ซึ่งขณะนี้ปัญหาดังกล่าวได้ลุกลามไปถึงระดับปริญญาโทแล้ว ในความเป็นอิสระทางวิชาการมีเรื่องให้น่ากลัว เช่น เมื่อให้มหาวิทยาลัยของรัฐสามารถเปิดหลักสูตรได้โดยผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทำให้มีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เปิดสอนปริญญาเอก และมีแผนจะรับนักศึกษา 50 คนต่อปี แต่ก็มีการเปิดรับในวิทยาเขตอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งไม่รู้ว่าอุดมศึกษาของเราทำอะไร คิดอย่างไรถึงทำแบบนั้น ทั้งนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีม.อัสสัมชัญ ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ได้ทำหนังสือถึงตน เพื่อขอให้ปฏิบัติกับมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยรัฐ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขอเปิดหลักสูตร ซึ่งปัจจุบันของเอกชนจะต้องผ่านการพิจารณาจากสภามหาวิทยาลัยและต้องเสนอ กกอ. ด้วย ซึ่งตนก็ยอมรับว่ามาตรฐานของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนต่างกันจริง แต่เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ไขเรื่องนี้ต้องไปแก้ไขที่กฎหมาย “เท่าที่ดูการให้เสรีภาพกับมหาวิทยาลัยของรัฐส่อว่าอาจจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย เพราะมีการพยายามทำให้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่วางไว้บิดเบี้ยว เช่น การเปิดหลักสูตรใหม่ที่กำหนดว่าจะต้องมีอาจารย์ประจำจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่เมื่อเปิดไปได้ระยะหนึ่งก็เปิดรับนักศึกษาเพิ่มอีกวิทยาเขตหนึ่ง แต่ไม่เพิ่มอาจารย์ประจำ ซึ่ง สกอ.ต้องทำหนังสือเวียนไปถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้วว่าอาจารย์ประจำที่ว่านี้คือเป็นอาจารย์ประจำเฉพาะ 1 กลุ่มและ 1 ที่เท่านั้น” (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 ส.ค. 2549 http://www.dailynews.co.th)





5 คนรวมเป็น 1 อัจฉริยะ วิธีการของค่าย Art for All

ท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขา เสียงหัวเราะของ เด็ก ๆ ใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม กระดาษเปื้อนไปด้วยสีแห่งจินตนาการ ภาพของการช่วยเหลือเอื้ออาทรระหว่างคนปกติกับคนที่พิการ มีให้เห็นไม่มากในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง สังคมนิยมวัตถุมากกว่า คำว่า “จิตใจ” แต่อย่างน้อยก็มี กิจกรรมเล็ก ๆ กิจกรรมหนึ่งที่ยังให้ผู้คนได้มีโอกาสได้ทำความดีมาสัมผัสชีวิตที่ตนเองไม่เคยได้สัมผัส ค่าย Art for All จัดขึ้นปีละ1 ครั้ง โดยมีตัวแทนเด็กและเยาวชนทั้งร่างกายปกติและพิการทางสายตา แขนขา หู และสมอง จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน มาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน 4 คืน 5 วัน ทั้งกิน นอน เล่น และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการเข้าฐานอบรมความรู้ ด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่น การวาดภาพ แต่งกลอน เล่นดนตรี การออกแบบจินตนาการ เป็นต้น ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เด็กพิเศษ หรือคนพิการถูกมองว่าเป็นภาระของคนในสังคม เป็นพลเมืองชั้น 2 ที่คนปกติจะต้องให้ความช่วยเหลือ จนกระทั่ง รศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มโครงการ Art for All หรือศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณในขณะนั้น และต่อมา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมผลักดันให้เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของอาเซียนให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การสหประชาชาติ “ค่าย Art for All มีแนวคิดหลัก คือ 5 คนรวมเป็น 1 อัจฉริยะ โดยแต่ละกลุ่มจะมีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 14-25 ปี ทั้งที่ร่างกายปกติ ตาบอด หูหนวก พิการแขนขา และพิการทางสมอง มาอยู่รวมกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งทางค่ายจะนำศิลปะมาสร้างความสุขให้เขา นำเสียงดนตรีมาใส่สีสันให้กับชีวิต นำท่าเต้นมาให้ได้ออกกำลังกาย ผสมผสานองค์ความรู้ด้านศิลปะ คุณธรรมจริยธรรมสอดแทรก” และไม่ได้มีเพียงแค่เด็กและเยาวชนเท่านั้น ในค่ายยังมีการอบรมวิธีการเลี้ยงดูและการเข้าถึงจิตใจของผู้พิการให้แก่ครู-ผู้ปกครอง กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษา รวมทั้งยังได้จัดกลุ่มสาธิต ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ให้มาทดลองเข้าค่ายด้วย ในขณะเดียวกันยังมีการเผยแพร่ความรู้ให้แก่กลุ่มประเทศอาเซียน โดยเชิญสื่อมวลชนมาร่วมกิจกรรมเข้าค่ายสัมผัสกับชีวิตจริงด้วย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 ส.ค. 2549 http://www.dailynews.co.th)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ตรวจเลือดทำนายมะเร็งล่วงหน้า 5-10 ปี

สถาบันมะเร็งแห่งชาติส่งเทคโนโลยีทำนายโอกาสเกิดมะเร็งล่วงหน้า 5-10 ปี บริการในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ เผยตรวจเลือดนับจำนวน "ยีนต้านเนื้อร้าย" หากต่ำผิดปกติ มีความเสี่ยง 2-3 เท่าที่จะเป็นโรคร้าย ประยุกต์ความรู้สู่การตรวจคัดกรองในคนทั่วไป และเฝ้าติดตามกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากพันธุกรรม ดร.ดนัย ทิวาเวช หัวหน้างานชีววิทยามะเร็ง กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันได้ศึกษาพบเทคนิคตรวจหามะเร็งล่วงหน้า 5-10 ปี ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและมะเร็งโพรงหลังจมูก แม้ว่าปัจจุบันผู้รับการตรวจจะยังไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งบอกถึงการก่อตัวของเนื้อร้ายในร่างกาย เทคนิคการตรวจดังกล่าว เป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของอณูพันธุวิทยาและรหัสพันธุกรรม ทำให้แพทย์ทราบว่ามี "ยีน"ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ต้านการเกิดโรคมะเร็ง (GSTM1) และสามารถทำนายความเสี่ยงของผู้ที่กำลังจะเป็นโรคมะเร็งในอนาคต ทีมวิจัยของสถาบันได้ศึกษาด้วย การเจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาว เพื่อค้นหายีนดังกล่าวในผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก 74 คน และคนปกติ 145 คน ผลการศึกษาพบ ผู้ป่วยมะเร็งมีอัตราการขาดเอนไซม์ GSTM1 สูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ขาดยีนขจัดสารก่อมะเร็งดังกล่าว มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่มียีนปกติ สำหรับความรู้ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบและทำนายโอกาสเสี่ยงของคนปกติ ที่จะป่วยเป็นมะเร็งได้ล่วงหน้า รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือติดตามผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





แกมมาโก้เปิดตัวหุ่นยนต์การศึกษา

นายรักษ์ จันทนสาร ผู้จัดการแผนกสื่อการเรียนการสอนพิเศษ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แกมมาโก้ได้เปิดตัวชุดประกอบหุ่นยนต์เลโก้เพื่อการศึกษารุ่นใหม่ชื่อ NXT (Next Generation) ที่ได้ผสมผสานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ เข้าด้วยกัน จึงช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเยาวชนอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป ด้วยการประกอบชุดหุ่นยนต์ ซึ่งมีชิ้นส่วนทั้งสิ้น 431 ชิ้น ตลอดจนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สั่งให้ปฏิบัติภารกิจ สำหรับโปรแกรมคำสั่งใช้ My Software Application ที่บริษัทพัฒนาขึ้น พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์พิเศษช่วยให้การประมวลผลของตัวหุ่นทำได้อย่างสมบูรณ์ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า หุ่นยนต์ NXT มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับกระบวนการคิดและการทำงานของหุ่นยนต์จริง เนื่องจากได้รับการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดในหลายจุดรอบตัวหุ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผลกลาง หรือ ซีพียู ที่เชื่อมกับเซ็นเซอร์รับสัญญาณในลักษณะแตกต่างกัน โดยผู้ใช้สามารถป้อนโปรแกรมการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ และส่งชุดคำสั่งแบบไร้สายไปยังหุ่นยนต์ผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งบนหุ่นยนต์นี้ ประกอบด้วย เซ็นเซอร์อัลตราโซนิค สำหรับวัดคลื่นเสียงใช้ควบคุมการสั่งงาน เซ็นเซอร์แสง เซ็นเซอร์สัมผัส เซ็นเซอร์วัดมุมที่ช่วยวิเคราะห์และประมวลผลการเคลื่อนที่ ตลอดจนติดตั้งมอเตอร์ที่มีความเที่ยงตรงช่วยด้านการทรงตัว และแบตเตอรี่สำรองที่สามารถชาร์จไฟได้ในยามฉุกเฉิน (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





รพ.หัวใจกรุงเทพวิจัย'สเต็มเซลล์หัวใจ'

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ รุกสู่สถาบันวิจัยและการเรียนรู้แห่งอาเซียน เดินหน้าทำ 2 โครงการวิจัยใหญ่สเต็มเซลล์หัวใจและผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจบาดแผลเล็ก วางแผนส่งหมอกับพยาบาลเรียนต่อสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา ทำโครงการวิจัยรักษาผู้ป่วยหัวใจวายด้วยเทคโนโลยีเซลล์บำบัดหรือสเต็มเซลล์ เพื่อศึกษาถึงความปลอดภัยของเทคโนโลยี และหารูปแบบใหม่ในการใช้ประโยชน์ โดยโครงการได้วิจัยไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปีหน้า ในการทดสอบสเต็มเซลล์ได้ดำเนินกับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย 66 คน ซึ่งไม่มีวิธีอื่นรักษายกเว้นการปลูกถ่ายหัวใจ โดยการทดสอบได้ใช้เซลล์ตัวเต็มวัย (adult stem cells) จากตัวคนไข้เอง ซึ่งมีความปลอดภัยสูง สำหรับโครงการวิจัยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจฯ กำหนดจะเริ่มดำเนินโครงการในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะวิจัยในผู้ป่วยประมาณ 35 คน ในระยะเวลา 1 ปี โดยการผ่าตัดแผลเล็กถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นราว 1 ปี ดังนั้น วงการแพทย์โรคหัวใจจึงต้องการรายงานการวิจัย จากหลากหลายประเทศ ที่เกิดขึ้นในลักษณะต่างคนต่างทำ จากนั้นจะนำผลงานมาประเมินผลถึงผลดีผลเสีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลงานวิจัยที่ได้รับน่าจะใช้เป็นแนวทางของการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจบาดแผลเล็กในอนาคต (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 ส.ค. 2549 http://www.dailynews.co.th)

เสื้อกั๊กไฮเทค ทามาโกะ ทากาชิมา สมาชิกองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ โชว์ต้นแบบเสื้อกั๊กระบายความร้อน ซึ่งใช้ระบบระบายความร้อนที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับการระบายความร้อนในเซมิคอนดักเตอร์ (สารกึ่งตัวนำไฟฟ้า) ของซีพียู ในเครื่องคอมพิวเตอร์ พัฒนาขึ้นเพื่อผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถควบคุมอุณห ภูมิในร่างกายได้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 ส.ค. 2549 http://www.dailynews.co.th)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สังเคราะห์พิษแมงป่องรักษาเนื้องอก

นักวิจัยสังเคราะห์พิษแมงป่องใช้รักษาเนื้องอกในสมอง เผยพิษเป็นตัวนำส่งกัมมันตรังสีไอโอดีนเข้าลึกถึงเซลล์เนื้องอก และคงสภาพรังสีไว้แม้เนื้อร้ายจะถูกผ่าออกไปแล้ว ส่งผลสกัดการลุกลามของเซลล์ร้ายได้ชะงัด เนื้องอกในสมองเป็นเนื้องอกที่อันตรายเป็นพิเศษ 8%ของผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2 ปี และ 3% อยู่ได้ 5 ปีหลังตรวจพบ แม้ว่าเทคนิคในการรักษามะเร็งสมองจะก้าวหน้าไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายกัมมันตรังสี และวิธีการทางเคมี แต่ก็สามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยได้ระยะสั้นเท่านั้น นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์เซดาร์-ซินาอิ ในแคลิฟอร์เนีย ได้ศึกษาโดยใช้ "ทีเอ็ม-601" ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ชนิดเดียวกับพิษของแมงป่องยักษ์อิสราเอล สารสังเคราะห์ดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถผ่านกระแสเลือดขึ้นสู่สมอง และสามารถเข้าไปจับกับเซลล์เนื้องอก ในการทดลองกับผู้ป่วย คน ซึ่งถูกผ่าตัดนำเนื้อร้ายออกมา จากนั้น 14-28 วัน ทางทีมวิจัยได้ฉีดทีเอ็ม-601 ที่มีรังสีไอโอดีนหนึ่งเข็มเข้าไปยังรอยแหว่งที่ผ่าเนื้อร้ายออกมา โดยมีผู้ป่วย 6 คนได้รับปริมาณยาที่เข้มข้นกว่า การทดลองครั้งนี้เป็นการทดสอบความรุนแรงของยา ซึ่งนักวิจัยพบว่า มีเพียงผลข้างเคียงแง่ลบบางอาการเท่านั้น โดยวิธีการใหม่สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยให้อยู่ได้อีก 27 สัปดาห์ โดยผู้ป่วย 2 คนไม่ปรากฏอาการเนื้องอกลุกลาม และสามารถอยู่ได้ถึง 33 และ 35 สัปดาห์ภายหลังการผ่าตัด จากการวิเคราะห์พบว่า รังสีส่วนใหญ่ที่มาพร้อมกับยาได้สลายไปภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนรังสีที่ยังไม่สลายจะอยู่บริเวณรอยที่ตัดเนื้อร้ายออก ตัวยาจะไปอยู่ที่เซลล์เนื้องอกมากกว่าเซลล์สมองปกติ และสามารถจับกับเนื้องอกแบบอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งนักวิจัยก็ได้วางแผนที่จะศึกษาวิจัยในอนาคต (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 ส.ค. 2549 http://www.bangkokbiznews.com)





ข่าวทั่วไป


สุวรรณภูมิเปิดบริการเร็วขึ้น 15 ก.ย. สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศทั้งหมด

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ กทภ. ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานที่ประชุม จะประกาศเริ่มเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการ ซึ่งล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการเลื่อนกำหนดเปิดบริการเชิงพาณิชย์ให้เร็วขึ้นสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งจะมีการโยกย้ายอุปกรณ์และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้เป็นต้นไป จากกำหนดเดิมวันที่ 28 กันยายน นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มั่นใจว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะพร้อมให้บริการเร็วขึ้น เกิดจากผลสำเร็จของการทดสอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่งานระบบต่าง ๆ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความพร้อมให้บริการได้แล้ว รวมทั้งการเลื่อนระยะเวลากำหนดเปิดให้บริการของสายการบินในประเทศให้เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการโยกย้ายอุปกรณ์ในวันที่ 28 กันยายนนี้ ที่จะเหลือเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดการกระจุกตัวและเท่ากับมีการได้ทดลองใช้ท่าอากาศยานจริงเพิ่มขึ้นอีก 14 วัน เพื่อทราบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับงานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ที่อยู่ระหว่างเร่งรัดขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คือ การเตรียมพื้นที่อาคารคลังสินค้า หรือคาร์โก้ ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมงานระบบต่าง ๆ ภายในอาคารมีความพร้อมใช้งานมากที่สุด (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 ส.ค. 2549 htto://www.dailynews.co.th)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215