หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 10 ประจำวันที่ 2001-03-06

ข่าวการศึกษา

ห้องเรียนไอทีของทีเอ ห้องที่ครูกับศิษย์ต้องเริ่มเรียนด้วยกัน
สอนอังกฤษเก็บเงินผิดกฎหมาย
กศน.เผชิญสปศ.หลายเรื่อง คนทำกับคนนั่งฝันก็เห็นผิดกัน
อาชีวะรับอีกพันเกษตรเพื่อชีวิต
‘กษมา’ น้อมสนอง ‘พระเทพฯ’
อีพี (English Program) ที่ร.ร.โยธินบูรณะบันได ‘ฟุตฟิตฟอไฟ’
ถึงยุคตกต่ำวันนี้มีแต่ ‘ครูเผอิญ’

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

Chiang Mai to host 2nd Software Park
เนคเทคเปิดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที
อนุมัติตั้งปั๊มน้ำมันในทะเลช่วยเรือประมง
"กำจัดขยะติดเชื้อแบบใหม่ใช้อบไอน้ำเดือด"
"สสวท. " จัดสวนนานาสมุนไพรเผยแพร่ความรู้

ข่าววิจัย/พัฒนา

ใช้เตาไมโครเวฟสกัดน้ำมันปาล์ม
ลูกปืนอนาคตวิ่งรอบโลกแค่นาที
ฝีมือเด็กวท.ดุสิต เครื่องดูดฝุ่นสำหรับงานขัด
เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เป็นคนก้าวร้าว
ดื่มน้ำอัดลมประจำปั๊มให้เด็กเล็กอ้วน
"นันทพล จั่นเงิน" เยาวชนไทยคนเก่ง ชนะเลิศออกแบบบ้านนานาชาติ
สาหร่ายไก พืชพื้นบ้านอาหารมนุษย์
เครื่องตีเกลียวเส้นไหม

ข่าวทั่วไป

อนามัยโลกระบุไทยติดอันดับห่วย รักษาคนไข้สุดยอดแย่/สธ.ฝันฝากผีฝากไข้หลักประกันสุขภาพ
เตือนภัยยานอนหลับเสพติดจนเป็นโรคจิต
แพทย์เตือนผู้ป่วย หัวใจ-ความดันสูง ‘แช่น้ำอุ่น’ ตายได้





ข่าวการศึกษา


ห้องเรียนไอทีของทีเอ ห้องที่ครูกับศิษย์ต้องเริ่มเรียนด้วยกัน

บริษัทเทเลคอมเอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดโครงการห้องเรียนไอที หรือ TA Cyber World ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว และได้ปรับแนวทางสนับสนุนการเรียนรู้ด้าน IT ขึ้นอีก 3 งาน คือ 1.โครงการทำเว็บเพื่อการศึกษา 2.โครงการส่งเสริมการใช้อินเตอร์เน็ตของโรงเรียน กทม. และ 3.โครงการส่งเสริมการใช้อินเตอร์เน็ตในครอบครัว ทางบริษัทฯ จะสนับสนุนการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. 11 แห่ง (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 3 มี.ค. 44 หน้า 12)





สอนอังกฤษเก็บเงินผิดกฎหมาย

นายพนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยหลังการประชุม คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงคุณภาพในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียน และความไม่เท่าเทียมในสิทธิและโอกาสของนักเรียน เนื่องจากผู้เข้าเรียนในโปรแกรมภาษาอังกฤษต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดว่ารัฐจะต้องจัดการการศึกษาให้เยาวชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติต่อนโยบายการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ชัดเจน ปลัดกระทรวงศึกษากล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรอนุญาตให้โรงเรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอนได้ โดยหลักสูตรเป็นภาษาไทย และให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการจัดการศึกษาปกติไม่ใช่การบังคับ ที่สำคัญต้องคงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมไทย ทั้งภาษาไทยศิลปะไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ส่วนการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโรงเรียนจะต้องมีทางเลือกให้เด็กด้วย นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อสามารถกระทำได้ทุกวิชา ยกเว้นบางวิชาเพื่อให้คงไว้ซึ่งความเป็นไทย เช่น วิชาภาษาไทย สังคมศึกษา (สยามรัฐ เสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





กศน.เผชิญสปศ.หลายเรื่อง คนทำกับคนนั่งฝันก็เห็นผิดกัน

นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยผลการหารือร่วมกับคณะกรรมการบริการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ว่า ได้ข้อสรุปที่ตรงกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะให้มีโครงสร้างคณะกรรมการระดับชาติจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาดูแลสำนักงานส่งเสริม กศน. ในสำนักงานปลัดและระดับเขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับโรงเรียน สปศ. เห็นพ้องที่จะปรับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดให้เป็นวิทยาลัยชุมชน ซึ่งกศน. จะเสนอเรื่องต่อ นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาต่อไป ยังมีบางเรื่องที่กศน. และ สปศ. มีความเห็นไม่ตรงกัน โดย กศน. เห็นว่าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาควรดำรงสภาพการเป็นสถานศึกษาตามมาตรา 18(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แต่สปศ. เห็นว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ตามมาตรา 25 เท่านั้น ขณะนี้ กศน. ยังยืนยันการเป็นสถานศึกษาเช่นเดิม เพราะจะเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ นายทองอยู่ กล่าวต่อว่า สปศ. ขอให้ กศน. ลดจำนวนสถานศึกษาข้าราชการและลูกจ้างลงเกรงปัญหาการประเมินคุณภาพ แต่กศน. ยืนยันให้คงไว้เพราะเป็นระบบที่เอื้อต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึงและกว้างกว่า โดยเฉพาะศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ได้เป็นที่ยอมรับและผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูแล้ว (สยามรัฐ เสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





อาชีวะรับอีกพันเกษตรเพื่อชีวิต

นายจรูญ ชูลาภ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงการรับนักศึกษาเพื่อเข้าเรียนใน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ตามโครงการเกษตรเพื่อชีวิตว่า ในปีการศึกษา 2544 กรมอาชีวศึกษาตั้งเป้าที่จะรับนักศึกษาในโครงการเกษตรเพื่อชีวิตจำนวน 13,000 คน เพิ่มจากปีที่แล้ว 1,000 คน ซึ่งจากการติดตามภาวะการมีงานทำของนักศึกษาที่จบจากโครงการนี้ พบว่ามีงานทำและมีรายได้ไม่แพ้ผู้ที่จบด้านอุตสาหกรรม นายจรูญยังเปิดเผยว่า กรมอาชีวศึกษามีโครงการจะเปิดหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 1 ปี สำหรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 และ ม.6 โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการดำเนินงาน รวมถึงสาขาวิชาที่จะเปิดสอน สำหรับจุดเน้นของการเรียนนั้น ผู้ที่จบชั้น ม.3 มา การเรียนจะเน้นการพัฒนาฝีมือเป็นหลัก ส่วนผู้ที่จบ ม.6 จะเน้นทั้งฝีมือและเทคนิคควบคู่ไปด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้เรียนนั้นคิดว่า ผู้ที่จบ ม.3 ควรได้รับสิทธิ์เรียนฟรีตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ สำหรับผู้ที่จบ ม.6 ถือว่าพ้นเกณฑ์ขั้นพื้นฐานแล้ว ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้าง ซึ่งคงไม่มากนัก (ไทยโพสต์ พฤหัสบดี ที่ 1 มีนาคม 2544 หน้า 9)





‘กษมา’ น้อมสนอง ‘พระเทพฯ’

ดร. กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยว่า กรมสามัญศึกษาจัดการประชุมผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัด (สศจ.) เพื่อชี้แจงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะนโยบายรับนักเรียนที่ต้องทำความเข้าใจกับ ผอ. สศจ. เพื่อไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนในจังหวัดต่อไป ส่วนเรื่องการอบรมครูภาษาอังกฤษนั้น กรมสามัญจะประสานให้วิทยากรเจ้าของภาษาเข้ามาช่วย กรมสามัญศึกษาพบว่าครูประมาณร้อยละ 25 ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และร้อยละ 50 อยู่ระดับปานกลาง ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นระดับดีได้ ส่วนที่เหลือร้อยละ 25 อยู่ในเกณฑ์ต้องเร่งปรับปรุง ดังนั้นกรมสามัญฯ จะมุ่งพัฒนาในระดับกลางก่อน อธิบดีได้กล่าวต่อว่า ขณะนี้ครู 60-70% สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ เนื่องจากมีการอบรมมาแล้วอย่างต่อเนื่อง แต่ทางกรมจะเร่งทำการอบรมเพิ่มเติมให้ครูทุกคนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ น้อมเกล้าฯ สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระประสงค์ให้ครูสามารถนำความรู้จากอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอน (สยามรัฐ อังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





อีพี (English Program) ที่ร.ร.โยธินบูรณะบันได ‘ฟุตฟิตฟอไฟ’

โครงการภาคภาษาอังกฤษ (English Program) หรือ “อีพี โปรแกรม” ที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐแห่งแรก ที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีอาจารย์ชาวต่างชาติ หรืออาจารย์ที่เป็นคนไทยแต่ภาษาอังกฤษดีเป็นผู้สอน เป็นโครงการนำร่องที่กรมสามัญศึกษามอบให้โรงเรียนโยธินบูรณะเป็น “ต้นแบบ” ของการเรียนการสอนรูปแบบนี้ “อีพี โปรแกรม” เริ่มมีการเรียนการสอนครั้งแรก ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 ระดับชั้นละ 3 ห้องเรียน โดยมีนักเรียนห้องละประมาณ 30 คน ปัจจุบัน “อีพี โปรแกรม” มีนักเรียนที่ชั้นสูงสุดที่ระดับชั้น ม.4 ที่เปิดเฉพาะห้องเรียนสายวิทย์ - คณิตฯ เท่านั้น “อีพี โปรแกรม” มีจุดเด่น คือ การเน้นวิชาการควบคู่ไปกับความสามารถทางภาษาอังกฤษ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ เป็นต้น อาจารย์ที่สอนจะมาจากมหาวิทยาลัย ส่วนการเรียนภาษาอังกฤษจะใช้หลักสูตรของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้น ม.1 จะเสียค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปีละประมาณ 20,000 บาท และจะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ 30,000 - 50,000 บาท ตามระดับชั้นการเรียนที่สูงขึ้น การคัดเลือกใช้วิธีการสอบ โดยเน้นการสอบวิชาภาษาอังกฤษและต้องผ่านมาตรฐานดังนี้ ระดับ ป.1 - ป.6 มีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.5 หรือ 75% ระดับชั้น ม.3 มีผลการเรียนเฉลี่ยดังนี้ แผนวิทย์ - คณิตฯ ได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ไม่น้อยกว่า 2.75 แผนอังกฤษ-คณิตฯ ได้คะแนนเฉลี่ยภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่า 2.75 แผนอังกฤษ-ญี่ปุ่น ได้คะแนนเฉลี่ยภาษาอังกฤษ ไม่น้อยกว่า 2.75 (ไทยโพสต์ เสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





ถึงยุคตกต่ำวันนี้มีแต่ ‘ครูเผอิญ’

นายสมหวัง พิทยานุวัฒน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวถึงการผลิตครูในอนาคตว่า ในช่วง 50 ปีมานี้วิชาชีพครูตกต่ำมาก คนที่ตั้งใจเรียนเพื่อเป็นครูมีน้อย มีแต่คนไม่รู้จะเรียนอะไรแล้วจึงมาเป็นครู ปัจจุบันจึงมี ‘ครูเผอิญ’ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันพัฒนา เพื่อให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต่อไปสถาบันที่มีหน้าที่ผลิตครูจะต้องมีการวางแผนการผลิตโดยรัฐจะต้องเอาใจใส่ และคัดสรรคนที่จะเข้ามาเรียนครูเป็นอย่างดี จะต้องมีการประกันการมีงานทำ มีการให้ทุนการศึกษา กรรมการ สปศ. กล่าวต่อว่า จากนโยบายที่รัฐบาลให้ยุบอัตราเกษียณทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร ดังนั้นตนคิดว่านโยบายกลางของรัฐไม่ควรนำมาใช้กับงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดอัตรากำลัง (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


Chiang Mai to host 2nd Software Park

Software Park แห่งที่ 2 ของประเทศไทย จะเริ่มสร้างในเดือนตุลาคมนี้ที่เชียงใหม่ภายใต้โครงการ Chiang Mai Software and Technology Park Project โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ Cable & Wireless Services (Thailand) คาดว่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทในการก่อสร้างในช่วง 3 ปีแรก Software Park แห่งนี้จะอนุญาตให้ บริษัท Software ต่างๆ ให้มาเช่าพื้นที่โดยจะมีอุปกรณ์ IT ให้ใช้ (Nation, Tuesday, March 6, 2001, p. 2)





เนคเทคเปิดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที

ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี และรอง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เนคเทค จัดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการออกข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างมาตรฐานบุคลากรด้านไอทีของประเทศไทย โดยกำหนดสอบครั้งแรกในวันที่ 18 มี.ค. นี้ ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.nectec.or.th/ite หรือ โทร. 642-5001 ต่อ 112, 115-6 (เดลินิวส์ วันอังคารที่ 27 ก.พ. 44 หน้า 16)





อนุมัติตั้งปั๊มน้ำมันในทะเลช่วยเรือประมง

นายสุรพล ซีประเสริฐ นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันสานโครงการจัดตั้งปั๊มน้ำมันในทะเล หรือแท็งเกอร์ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงให้ได้ใช้น้ำมันราคาถูก น้ำมันนี้จะเป็นน้ำมันปลอดภาษีจากโรงกลั่นในประเทศไทย ให้บริการเรือประมงที่มีขนาดความยาว 14 เมตรขึ้นไป ตามจุดที่กำหนด และมีการกำหนดรหัสจังหวัดและรหัสเรือที่เข้าโครงการ เมื่อเรือลำใดเติมน้ำมันแล้ว จะต้องแจ้งให้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามน้ำมันนอกระบบ (ศปนม.) ทราบ และห้ามนำน้ำมันที่เหลือใช้ในเรือขึ้นฝั่งเพื่อใช้หรือจำหน่ายโดยเด็ดขาด (เดลินิวส์ วันพุธที่ 28 ก.พ. 44 หน้า 33)





"กำจัดขยะติดเชื้อแบบใหม่ใช้อบไอน้ำเดือด"

น.พ. ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัด กทม. เปิดเผยหลังจากการประชุมร่วมกับผู้อำนวย-การโรงพยาบาล กทม. ทั้ง 7 แห่ง เพื่อหารือถึงการจัดการปัญหาขยะของโรงพยาบาล โดยได้พิจารณาเครื่องสตีมเมอร์ เป็นเครื่องทำลายขยะแบบใช้ไอน้ำ เพิ่มการฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย ราคาของเครื่องสตีม-เมอร์ขึ้นอยู่กับขนาด และประสิทธิภาพการกำจัด ถ้าโรงพยาบาลใดพร้อมก็ให้เสนอขออนุมัติ งบประมาณเพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจ (เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 1 มี.ค. 44 หน้า 34)





"สสวท. " จัดสวนนานาสมุนไพรเผยแพร่ความรู้

นายธงชัย ชิวปรีชา ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้ดำเนินโครงการจัดแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยจัดทำเป็นสวนสมุนไพรบริเวณ สสวท. และได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ของพันธุ์ไม้ที่สำรวจจัดทำป้ายชื่อคุณสมบัติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการ เป็นต้นแบบในการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาและวิทยา-ศาสตร์สิ่งแวดล้อมแก่โรงเรียนต่าง ๆ (ข่าวสด 8 ก.พ. 44)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ใช้เตาไมโครเวฟสกัดน้ำมันปาล์ม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบใช้เตา "ไมโครเวฟ" เป็นทางเลือกใหม่ของการสกัดน้ำมันปาล์ม ช่วยลดการสูญเสียลงได้มากกว่าการอบด้วยไอน้ำ และทำให้แห้งแล้วค่อยหีบ น้ำมัน นักวิจัยของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พบในการทำโครงการวิจัยเรื่อง "ความต้องการธาตุอาหารและการจัดการปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตของปาล์มน้ำมัน" วิธีการสกัดน้ำมันปาล์มอย่างใหม่ โดยใช้เตาไมโครเวฟที่ใช้ปรุงอาหารในครัวเรือนช่วยลดการสูญเสียให้น้อยลงทีมนักวิจัยได้ทดสอบผลปาล์ม โดยใช้เตาไมโครเวฟพบว่า หากอบนาน 13-14 นาที จะได้ผลปาล์มที่มีความชื้นลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4-5 ซึ่งเหมาะกับการหีบ อย่างไรก็ตามรูปแบบของเครื่องมืออบแห้งและต้นทุนการสร้างเครื่องอบดังกล่าว ยังไม่ได้ตัวเลขแน่นอนว่าราคาสักเท่าใด จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 3 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ลูกปืนอนาคตวิ่งรอบโลกแค่นาที

จาการทดลองที่มีขึ้นในสหรัฐฯ กระสุนปืนรุ่นใหม่ มีความเร็วสูงถึงขนาดที่สามารถวิ่งไปรอบโลกได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ปืนรุ่นใหม่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีอวกาศ โดยที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ตั้งใจจะทดลองเพื่อค้นคว้าสิ่งนี้ แต่เพื่อพยายามตรวจหาสาเหตุว่า ทำไมดาวเทียมที่โคจรอยู่ในอวกาศเมื่อถูกกระทบด้วยขยะในอวกาศที่มีความเร็วสูง จึงได้รับความเสียหายกลับมา กระสุนของปืนรุ่นใหม่ มีความเร็วถึงวินาทีละกว่า 19 ก.ม. ในขณะที่ลูกปืนไรเฟิลทุกวันนี้มีความเร็วไม่ถึง 1.6 ก.ม.ต่อวินาที ทำให้มันเป็นปืนที่ยิงกระสุนให้วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 3 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ฝีมือเด็กวท.ดุสิต เครื่องดูดฝุ่นสำหรับงานขัด

นายวรวุฒิ บุญหา นักศึกษา ปวส. 1 และนายมานิต รัตนสิงห์ ปวส. 2 แผนกวิชาช่างเคหะภัณฑ์ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ชื่อ เครื่องดูดฝุ่นสำหรับงานขัด เพื่อขจัดปัญหาผุ่นละอองฟุ้งกระจาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ ศานิต ปันเขื่อนขันธ์ และอาจารย์สุพัตร์ ศรีพงษ์สุทธิ์ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทอุปกรณ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ระดับภาคกลาง ของกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการทำงานของเครื่องดูดฝุ่นสำหรับงานขัดนี้จะใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ ด้านบนของตู้จะเจาะเป็นช่องเล็กๆ เรียงกัน เพื่อให้ฝุ่นผ่านเข้าไปสู่แผ่นกรองในตู้ เวลาขัดผิวก็นำวัสดุชิ้นที่จะขัดมาวางบนตู้แล้วก็นำเครื่องขัดมาขัด ฝุ่นก็จะถูกดูดลงไปข้างล่างไม่ฟุ้งกระจาย การเคลื่อนย้ายก็สะดวกโดยมีล้อเลื่อนด้านล่าง 4 ล้อ ใช้เวลาในการประดิษฐ์ 1 สัปดาห์ ราคา 8.000 บาท (สยามรัฐ อังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เป็นคนก้าวร้าว

หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ NEWS.COM รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาศึกษาพบว่า การปล่อยให้เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่มีความรุนแรง จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการเรียนให้ตกต่ำลง จากผลการวิจัยของ เคริ้ก เอ เอนเดอร์สัน จากมหาวิทยาลัยมิซซูรี โคลัมเบีย และคาเรน อีดิลล์ จากลีเนียร์ ไรน์คอลเลจ ระบุว่า การเล่นคอมพิวเตอร์หรือ วีดีโอ ที่มีความรุนแรงมีแนวโน้มทำให้ผู้เล่นเกิดความก้าวร้าวมากขึ้น แม้เพียงการเล่นในระยะสั้นก็อาจส่งผลในระยะยาวได้ การวิจัยทั้งสองชิ้นต่างอ้างอิงกรณีการสังหารหมู่ที่เคยเกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมในสหรัฐ (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 19)





ดื่มน้ำอัดลมประจำปั๊มให้เด็กเล็กอ้วน

นักโภชนาการสหรัฐฯ พบว่า การให้เด็กเล็กกินน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสหวานประจำวันละ 1 ขวด จะทำให้เด็กมีโอกาสกลายเป็นคนเจ้าเนื้อได้ 60% ผู้เชี่ยวชาญโรคอ้วนกล่าวว่า ผลการศึกษานับเป็นหลักฐานความเกี่ยวพันระหว่างน้ำตาลกับความอ้วนในเด็ก นอกจากการศึกษาเรื่องน้ำอัดลมแล้ว ยังรวมทั้งเครื่องดื่มรสหวานที่ใส่น้ำโซดารสต่างๆ บางทีก็ใส่ไอศกรีมด้วย ซึ่งคนอเมริกันเกือบครึ่ง และวัยรุ่นเกือบทุกคนล้วนแต่ดื่มน้ำอัดลมกันทุกวัน (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 5)





"นันทพล จั่นเงิน" เยาวชนไทยคนเก่ง ชนะเลิศออกแบบบ้านนานาชาติ

นันทพล จั่นเงิน สถาปนิกของบริษัท สถาปนิกอัชชพล ดุสิตนานนท์และคณะ จำกัด ได้ส่งผลงานชื่อ "A House Within Nature" เข้าร่วมประกวดแบบแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น การออกแบบยึดหลักให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ให้ได้สัมผัสรับรู้องค์ประกอบต่างๆ ของธรรมชาติ พร้อมกับที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ผลงานของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศ นานาชาติรางวัลแรกของด้านสถาปัตยกรรมสำหรับเยาวชนไทย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 มีนาคม 2544 หน้า 25)





สาหร่ายไก พืชพื้นบ้านอาหารมนุษย์

ผศ. อร่าม คุ้มกลาง และอาจารย์ สหัส นุชนารถ ผู้อำนวยการและอาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตน่าน ได้ศึกษาวิจัยสาหร่ายไก เพื่อให้คนเห็นคุณค่าและนำมาเป็นอาหาร สาหร่ายไก พบได้มากตามลำน้ำน่าน ฤดูกาลที่เก็บเกี่ยวประมาณเดือน ต.ค. - ก.พ. สาหร่ายไกนี้มีคุณสมบัติทางโภชนาการ และเป็นยาอายุวัฒนะด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 24)





เครื่องตีเกลียวเส้นไหม

นายวัลลภ นาครัตน์ นายสากล ศรีจันทร์ นายทองสุข จันทร์ธรรม และนายประสิทธิ์ แสงงาม นักศึกษา ปวช. ปี 3 แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ โดยมีอาจารย์เสรี ภูผาสุข อาจารย์วโรตม์ ศรีมงคล และอาจารย์อภิรดี ภูผาสุข เป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้คิดค้นทำเครื่องตีเกลียวไหมขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเรื่องกำลังงานของ พ่อ แม่ และเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทอผ้าไหม และสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และที่สำคัญต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างงานให้ผู้พิการมือมีงานทำ อุปกรณ์หลักที่ใช้มี มอเตอร์ 2 ตัวสำหรับใช้ตีเกลียว และเก็บเกลียวไหมอย่างละ 1 ตัว โดยใช้สายพานเป็นตัวหมุน และมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวควบคุมการทำงานใช้สวิทช์เท้า (ดัดแปลงจากที่เหยียบมอเตอร์จักรเย็บผ้า) เป็นตัวเริ่ม/หยุดการทำงาน ใช้ท่อ PVC เป็นแกนเพลา เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานไม่เป็นโรคมือชา การทำงานของมอเตอร์นั้นใช้กำลังส่งด้วยสายพานซึ่งกินไฟประมาณ 2.5 แอป์/วัน ผลงานนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ใช้งบประมาณ 5,000 บาท (สยามรัฐ อาทิตย์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





ข่าวทั่วไป


อนามัยโลกระบุไทยติดอันดับห่วย รักษาคนไข้สุดยอดแย่/สธ.ฝันฝากผีฝากไข้หลักประกันสุขภาพ

ผลการสำรวจองค์การอนามัยโลกระบุชัดคนไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมทางบริการ แพทย์เผยติดอันดับ 128 จาก 191 ประเทศ นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกได้สำรวจบริการทางแพทย์และประสิทธิภาพของประเทศไทยพบว่า สถานภาพของสุขภาพเฉลี่ยของประเทศไทยจัดอยู่ลำดับที่ 99 จาก 191 ประเทศ โดยการกระจายของการบริการได้ลำดับที่ 74 การตอบสนองประชาชนได้ลำดับที่ 50 ส่วนความเสมอภาคในการรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพไทยอยู่ลำดับที่ 128 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความไม่เป็นธรรมมาก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า การปฏิรูปสุขภาพเป็นเรื่องที่ สธ. จะต้องรับผลักดัน เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินเพื่อสุขภาพปีละ 280,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้รวมค่ายาและการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพต่างๆ แต่ไม่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนยิ่งมีค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงขึ้น ส่วนคนรวยเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่า จึงต้องใช้แนวทาง "ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน" (สยามรัฐ จันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





เตือนภัยยานอนหลับเสพติดจนเป็นโรคจิต

แพทย์บอกเตือนผู้ที่ตกเป็นทาสของยานอนหลับ กำลังทำลายสุขภาพของตนเองโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอย่างโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจและโรคจิตอยู่แล้วยิ่งอันตรายหนัก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริมว่า ถึงคนธรรมดาก็ยังมีอันตรายเช่นกัน เพราะการใช้ยานอนหลับอาจเป็นอันตราย เพราะมันเสพย์ติดได้ง่ายเพียงแต่ใช้แค่ติดกันสักสาองอาทิตย์เท่านั้น ก็อาจเลิกไม่ได้เสียแล้ว หน่วยงานด้านแพทย์ของอังกฤษ ได้ออกหนังสือแนะนำให้เข้าใจถึงอันตรายของยานอนหลับ อธิบายให้รู้ถึงโทษของมันและความยากของการเลิกยา โดยเฉพาะได้เตือนว่าการเลิกยานั้นอาจจะเกิดมีอาการสั่นระรัว ตัวสั่นเทิ้ม ประสาทหลอน และอาการแบบโรคลมบ้าหมู ผู้ที่เคยใช้มันติดกันเกินสองสามอาทิตย์ หากจะถอนตัวควรได้ปรึกษาแพทย์ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 3 มีนาคม 2544 หน้า 7)





แพทย์เตือนผู้ป่วย หัวใจ-ความดันสูง ‘แช่น้ำอุ่น’ ตายได้

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การแช่น้ำอุ่นมีประโยชน์ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้จริง แต่ใช้รักษาไม่หายขาด เตือนผู้เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคลมชัก ผู้ที่ดามเหล็ก เพราะความร้อนจากน้ำอาจทำให้อาการกำเริบ เสียชีวิตได้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 13)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215