หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 24 ประจำวันที่ 2001-06-19

ข่าวการศึกษา

อุดมศึกษาขอเวิร์กช็อป ให้นายกฯคุยกับมหา’ลัย
อาจารย์นิติศาสตร์รวมพลังขอเงินเพิ่มพิเศษ ชี้ต่ำต้อยกว่าเพื่อนหวั่นอนาคตหาอาจารย์เก่งไม่ได้
ราชมงคลเปิดอบรมธุรกิจ ‘SME’ย้ำศักยภาพ ‘วิเคราะห์โครงการ’
ระเบียบตั้ง ร.ร. เอกชนเน้นขนาดพื้นที่
ยืดสัญญาจ้างครู 4 สาขาขาดแคลน
หวั่นเปิดเสรีฝรั่งบุกตลาดตำรา
กศน. หนุนสมุนไพรชี้เป็นรายได้ชุมชน
ปิดแล้วร.ร. อาชีพ 3 ประโยชน์ชี้เหตุงบฯหมดคนไม่ค่อยสนใจ
ฝึกคนกรุงเป็นเกษตร สนช. เปิดคอร์สเรียนฟรี
กวดวิชาออนไลน์คนรุ่นใหม่
คมนาคมเร่งแผนลดค่าเช่าอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษา
ทบวงจัดหลักสูตรฟื้นฟูบัณฑิตตกงานทั่วประเทศ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ยุ่นพบ ‘ขี้หู’ บ่งชี้ใครเสี่ยงมะเร็งเต้านม
วท.เตือนกล้วยทอดน้ำมันก้นกระทะเสี่ยงมะเร็ง
เสริมทักษะสมองเจ้าตัวน้อยด้วย ‘ลูกคิด’
เปิดรหัสพันธุกรรมคนต้องมีชีวจริยธรรม
จุฬาฯจัดนิทรรศการทรัพยากรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ยืนกรานใช้นโยบาย ‘GMOs’ เดิมเน้น!วิจัยต่อไปไม่ให้ล้าหลังทั่วโลก
รัฐเตรียมลดภาษีให้ ISP
E-paper

ข่าววิจัย/พัฒนา

“ไม้อัด-อิฐ” จากเปลือกทุเรียน หนทางเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส
อยากให้ลูกเรียนเก่งต้องมีพี่น้องสองคน
อุ้มโยนเด็กทารกเล่นด้วยความรักเป็นการประหารชีวิตโดยไม่รู้ตัว
ดื่มน้ำองุ่นม่วงได้ผลดี ชะลอความเสื่อมสุขภาพ
นักวิจัยไทยในออสเตรเลียยืนยันกินคะน้าไม่เป็นมะเร็ง
เอนไซม์ลดต้นทุนการผลิตยาปฏิชีวนะ
หุ่นยนต์ผ่าตัดระยะไกล
ชุดทดสอบการติดเชื้อเอดส์ฝีมือคนไทย
วิจัยฟองน้ำที่เกาะสีชัง

ข่าวทั่วไป

ปรับเวลาไทยเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง





ข่าวการศึกษา


อุดมศึกษาขอเวิร์กช็อป ให้นายกฯคุยกับมหา’ลัย

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางพบปะกับบุคคลในวงการศึกษาหลายแห่ง เพราะต้องการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นมันสมองของประเทศ มีการทำผลงานวิจัย งานบริการวิชาการ หรือการปฏิรูปการเรียนการสอน เป็นต้น ตนคิดว่าทบวงฯน่าจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในส่วนของอุดมศึกษา และเชิญนายกรัฐมนตรีมาร่วมพูดคุยและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารทุกมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้ขับเคลื่อนงานอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และช่วยกันวางแผนในอนาคตด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





อาจารย์นิติศาสตร์รวมพลังขอเงินเพิ่มพิเศษ ชี้ต่ำต้อยกว่าเพื่อนหวั่นอนาคตหาอาจารย์เก่งไม่ได้

รศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยหลังจากการหารือร่วมกับคณบดีคณะนิติศาสตร์ของรัฐทั้ง 4 สถาบัน ได้แก่ มธ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.รามคำแหง และ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือถึงปัญหาการขาดแคลนอาจารย์นิติศาสตร์ พบว่า อาจารย์นิติศาสตร์ได้ลาออกไปเป็นผู้พิพากษาและอัยการจำนวนมาก เพื่อป้องกันปัญหาสมองไหล เห็นสมควรเสนอให้รัฐจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้กับอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในลักษณะเดียวกับสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนอื่นที่รัฐเคยให้ โดยออกเป็นระบบกระทรวงการคลังว่าด้วยการให้ค่าตอบแทนอาจารย์นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตนจะชี้แจงและขอการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย จากนั้นจะยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อนำเข้าพิจารณาใน ครม. ต่อไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





ราชมงคลเปิดอบรมธุรกิจ ‘SME’ย้ำศักยภาพ ‘วิเคราะห์โครงการ’

ผศ.ดร.ยงยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาและบริการทางวิชาการ จัดโครงการฝึกอบรมผู้มีศักยภาพเพื่อประกอบธุรกิจขนาดย่อม หรือ SME ให้นักศึกษาวิชาชีพปีสุดท้าย ศิษย์เก่า ผู้นำชุมชน เกษตรกร และบุคคลภายนอกที่สนใจ เพื่อตอบสนองโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดปัญหาการว่างงาน และยกระดับมาตรฐานคุณภาพทางธุรกิจ โดยเน้นให้ผู้เข้าอบรมสามารถเขียนโครงการจริง เพื่อรู้จักการวิเคราะห์ และการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน เสริมด้วยเทคนิคการวางแผนการผลิต การตั้งงบประมาณ อย่างครบวงจร โดยจะอบรมรุ่นแรกในวันที่ 25-29 มิ.ย. 2544 นี้ที่ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จ. ปทุมธานี (ไทยโพสต์ พุธที่ 13 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





ระเบียบตั้ง ร.ร. เอกชนเน้นขนาดพื้นที่

นางจรวยพร ธรนินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่าร่างหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ว่าด้วยการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนซึ่งออกตามความในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเอกชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว ได้ระบุถึงที่ดินสำหรับสถานศึกษาในระบบประเภทอาชีวศึกษาและสามัญศึกษา ประเภทสามัญศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาต้องมีที่ดินติดต่อเป็นผืนเดียวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ตารางวา ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไปต้องมีจำนวนที่ดินไม่น้อยกว่า 2 ไร่ ประเภทอาชีวศึกษาแบ่งเป็นสถานศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรระดับเดียว และมีประเภทวิชาเดียวต้องมีที่ดินไม่น้อยกว่า 1.5 ไร่ ยกเว้นประเภทวิชาอุตสาหกรรมต้องไม่น้อยกว่า 2 ไร่ และประเภทวิชาเกษตรกรรมต้องไม่น้อยกว่า 100 ไร่ สถานศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรหลายระดับและหรือหลายประเภทวิชาต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ไร่ ในกรณีที่เป็นการเช่าที่ดินเพื่อตั้งสถานศึกษา หากเป็นที่ดินของเอกชนต้องมีระยะเวลาแห่งสิทธิที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เหลืออยู่นับแต่วันยื่นคำขอจัดตั้งสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 10 ปี ประเภทสามัญศึกษาระดับก่อนประถมต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี กรณีของการศึกษานอกระบบ ต้องมีสัญญาเช่าไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาจะไม่จำกัดพื้นที่ แต่หลักสูตรระยะยาวมีเวลาเรียนตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปต้องมีที่ดินไม่น้อยกว่า 200 ตารางวา ส่วนหลักสูตรระยะสั้นเวลาเรียนน้อยกว่า 2 ปี ไม่จำกัดพื้นที่ดิน คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตสถานศึกษาในระบบและนอกระบบที่เปิดสอนหลักสูตรกระทรวงและหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตกระทรวงหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลต้องมีความรู้สามัญไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือชั้น ม.3 (ไทยโพสต์ พุธที่ 13 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





ยืดสัญญาจ้างครู 4 สาขาขาดแคลน

นายสมยศ มีเทศน์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ก.ค.เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในสถานศึกษา และรองรับการบรรจุนักเรียนทุนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในการปรับเปลี่ยนแนวทางการจ้างครูอัตราจ้างชั่วคราวใน 4 สาขาที่ขาดแคลน ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และอังกฤษ จากเดิมจ้างปีต่อปี ขอเปลี่ยนแนวการจ้างได้เป็นครั้งละ 3 ปี โดยให้สถานศึกษาพิจารณาคัดเลือก โดยวิธีการสัมภาษณ์ ทดลองปฏิบัติงาน หรือวิธีคัดเลือกได้ และให้มีการประเมินผลเป็นรายปี ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ครูสอบอัตราจ้างมีกำลังใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนมากขึ้น (ไทยโพสต์ อังคารที่ 12 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





หวั่นเปิดเสรีฝรั่งบุกตลาดตำรา

นายวิชัย พยัคโส ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้หารือ รมว.ศธ.เกี่ยวกับการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสื่อการเรียนการสอน ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2545 โดยทางสมาคมฯ เกรงว่าการเปิดเสรีทางการผลิตสื่อจะทำให้บริษัทผู้ผลิตสื่อจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ ดังนั้น สมาคมจึงเห็นว่า ศธ.ควรกำหนดเงื่อนไขในการผลิตสื่อและตำราเรียน โดยให้บริษัทต่างประเทศผลิตสื่อได้เฉพาะในบางวิชาเท่านั้น ทั้งนี้ในวิชาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมไทย ควรสงวนไว้ให้ผู้ผลิตสื่อไทยเท่านั้น ส่วนการเปิดเสรีการผลิตสื่อการเรียนการสอนตามหลักสูตร 12 ปี ทางสมาคมเสนอให้ ศธ.เปิดโอกาสให้สถานศึกษาเป็นผู้เลือกใช้สื่อได้เอง โดยไม่ควรกำหนดเป็นช่วงชั้นถึง 3 ปี แต่ควรกำหนดเป็นแต่ละชั้นปี เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาด (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





กศน. หนุนสมุนไพรชี้เป็นรายได้ชุมชน

นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร กรมการศึกษานอกโรงเรียน เปิดเผยว่าสถาบันฯ สิรินธร ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยจัดหลักสูตรอบรมสมุนไพรแบบพึ่งพาตนเอง ให้แก่ผู้นำชุมชนและประชาชนทั่วไป ณ หอประชุมฝึกอบรมสวิตา สถาบันฯ สิรินธร โครงการนี้จะเริ่มอบรมรุ่นแรกในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ผู้สนใจเข้ารับการอบรมสามารถสอบถามรายละเอียดและแจ้งความจำนงได้ที่โทร 044-313-293-5 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2544 หน้า 21)





ปิดแล้วร.ร. อาชีพ 3 ประโยชน์ชี้เหตุงบฯหมดคนไม่ค่อยสนใจ

นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน เปิดเผยถึงกรณีการงดฝึกวิชาชีพในโรงเรียนสามประโยชน์ของกทม. และปิดห้องเก็บเครื่องมือว่า โครงการนี้จำเป็นต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากหมดงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากธนาคารโลกประกอบกับประเมินแล้วมีผู้มาเรียนฝึกอาชีพที่โรงเรียนสามประโยชน์น้อยมากไม่คุ้มกับงบประมาณในการจ้างวิทยากร อย่างไรก็ตาม ถ้ามีประชาชนสนใจจะฝึกอาชีพ สามารถไปสมัครเรียนกับโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. และศูนย์ฝึกอาชีพในสังกัดสำนักพัฒนาชุมชน 15 แห่งได้ฟรี โทรสอบถามรายละเอียดที่ 6137177, 6137190-1 ในวันและเวลาราชการ (สยามรัฐ พุธที่ 13 มิถุนายน 2544 หน้า 6)





ฝึกคนกรุงเป็นเกษตร สนช. เปิดคอร์สเรียนฟรี

นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน (สนช.) เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรและสนับสนุนให้ชุมชนปลูกพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้าน สำนักพัฒนาชุมชนได้เปิดอบรมวิชาชีพด้านการเกษตรหลักสูตรระยะสั้นทุกวันอาทิตย์ วันละ 5 วิชาให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกทม. (อาทร สังขะ-วัฒนะ) ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. สำหรับวิชาที่เปิดสอน ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้าน การขยายพันธุ์พืช เช่น ตอน ติดตา เสียบยอด ทาบกิ่ง เทคนิคและวิธีปลูกกล้วยไม้ และไม้เศรษฐกิจที่กำลังนิยม เพาะเห็ดชนิดต่างๆ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การปลูกมะม่วงแฟนซี การปลูกมะนาวนอกฤดูในถังซีเมนต์ การบรรจุภัณฑ์ผลผลิตการเกษตรเพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ และการสานตะกร้าด้วยทางมะพร้าว ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดและสมัครเรียนได้ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกทม. ตรงข้ามสวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ และที่กองส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาชุมชน โทร 613-7247, 613-7190 ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 ก.ย.นี้ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 44 หน้า 6)





กวดวิชาออนไลน์คนรุ่นใหม่

นายสิริเชษฐ สุขประสงค์ดี ผู้อำนวยการสถาบันกวดวิชา PEP ได้เสนอทางเลือกใหม่ กวดวิชาออนไลน์ หรือนำระบบ e-learning มาใช้ให้เด็กๆ ได้เรียนผ่านเว็บไซต์ เพียงแต่ซื้อชั่วโมงเรียนก็สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ขอแค่มีคอมพิวเตอร์และชั่วโมงอินเตอร์เน็ตให้ใช้ จะสะดวกกับผู้ปกครองไม่ต้องคอยรับ-ส่ง หรือกลัวเด็กหนีเที่ยว ผู้สนใจติดต่อดูได้ที่ www.PEP-school.com (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





คมนาคมเร่งแผนลดค่าเช่าอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษา

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดไปพิจารณาปรับลดค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ตลงจากปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจการด้านนี้โดยตรง การพิจารณาลดค่าบริการอินเตอร์เน็ตจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การลดค่าเช่าวงจรให้กับสถาบันการศึกษา และการลดค่าเช่าวงจรให้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทั้ง 18 รายในสังกัด กสท. โดยในวันที่ 14 มิ.ย.จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาอินเตอร์เน็ตให้กับสถาบันการศึกษา ในวันที่ 28 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ก็จะประชุมร่วมกับไอเอสพี เพื่อพิจารณาข้อมูลประกอบการลดค่าเช่าโครงการ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2544 หน้า 8)





ทบวงจัดหลักสูตรฟื้นฟูบัณฑิตตกงานทั่วประเทศ

สุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงแนวคิดจัดทำโครงการฝึกอบรมฟื้นฟูความรู้และทักษะของบัณฑิตตกงานว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบัณฑิตตกงาน รวมทั้งยังเป็นการรองรับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ อาทิ การมอบกองทุนหมู่บ้านหนึ่งตำบลนายหนึ่งผลิตภัณฑ์ การสร้างผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม และด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทบวงฯ ได้วางกรอบจัดทำโครงการโดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 24 แห่ง ไปดำเนินการจัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมให้กับบัณฑิตตกงาน ทั้งนี้กำหนดให้มีการประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ในการจัดทำหลักสูตร ส่วนงบในการจัดทำหลักสูตรดังกล่าวจะจัดให้จำนวน 50,000 บาทต่อสถาบัน โดยทุกมหาวิทยาลัยต้องนำหลักสูตรมาเสนอทบวงฯ ภายใน 30 มิ.ย.นี้ สำหรับกรอบการจัดทำเนื้อหาหลักสูตรเบื้องต้น ได้กำหนดให้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 84 ชั่วโมง หรืออบรมประมาณ 1 เดือน ส่วนเนื้อหาวิชาจะประกอบด้วย วิชาจิตวิทยาเพื่อการเสริมกำลังใจทัศนคติและปรับปรุงบุคลิกภาพ วิชาภาษาอังกฤษ วิชาคอมพิวเตอร์ วิชาความรู้ทฤษฎีในการประกอบอาชีพ วิชาความรู้ภาคปฏิบัติ ทักษะและการเตรียมตัวสู่งานอาชีพ โดยจะอบรมด้านการประกอบอาชีพในสถานประกอบการ เป็นต้น ส่วนคุณสมบัติผู้เข้าอบรมต้องเป็นผู้ที่ตกงานมาแล้ว 1-5 ปี และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษาทุกสังกัดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการประเมินผลภายหลังผ่านการอบรม โดยผู้อบรมจะต้องทำคะแนนได้ไม่ตำกว่า 80%โดยผู้รับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้ผ่านการอบรมมีคุณภาพการดำเนินงานดี ทบวงฯจะประสานงานกับทางธนาคารออมสินเพื่อขอกู้เงินสำหรับเป็นต้นทุนประกอบการให้กับผู้ผ่านการอบรมด้วย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ยุ่นพบ ‘ขี้หู’ บ่งชี้ใครเสี่ยงมะเร็งเต้านม

นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น จากคณะแพทย์มหาวิทยาลัยนางาซากิ ที่ทำการรักษามะเร็งเต้านมกำลังศึกษาขี้หูของผู้ป่วย ซึ่งอาจช่วยให้เราล่วงรู้ว่าใครมีแนวโน้มจะเป็นมะเร็วเต้านมได้ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ยีนหรือสารพันธุกรรมในขี้หู มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านม พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมจะสูงขึ้นในผู้หญิงที่มีขี้หูเปียกมากกว่าผู้หญิงที่มีขี้หูแห้ง (มติชน พุธที่ 13 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





วท.เตือนกล้วยทอดน้ำมันก้นกระทะเสี่ยงมะเร็ง

จากการจัดเวที “นักวิจัยพบผู้ผลิต…ไขปัญหาไบโอดีเซล” จัดโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการ วท. กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยล่าสุด วท. ได้เสนอโรงงานต้นแบบไบโอดีเซลต่อรัฐบาลจำนวน 200 ล้านบาท แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างน้ำมันไบโอดีเซลจากผู้ผลิตทั่วประเทศเพื่อทดสอบคุณภาพ และเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาสูตรที่เป็นมาตรฐานแล้ว สำหรับวัตถุดิบในการนำมาผลิตนั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะไทยทำเกษตรกรรมอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงว่าในปัจจุบันมีน้ำมันพืชใช้แล้วจากร้านค้าฟาสต์ฟูดเฟรนไชส์ ชื่อดัง 2 แห่ง ที่มีมากกว่าวันละ 50 ตัน ถูกรับซื้อไปจำหน่ายให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าขายกล้วยแขก ไก่ทอด ปาท่องโก๋ อีกรอบหนึ่ง เนื่องจากมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาทเท่านั้น ทั้งที่ตามกฎหมายของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศจะไม่ให้นำน้ำมันใช้แล้วมาใช้อีก เพราะน้ำมันที่ผ่านการใช้แล้วหลายๆ ครั้งจะมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ และในต่างประเทศจะนำไปผลิตไบโอดีเซล (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 15)





เสริมทักษะสมองเจ้าตัวน้อยด้วย ‘ลูกคิด’

“ลูกคิด” ลูกกลมๆ ที่นิยมใช้เป็นเครื่องมือช่วยคำนวณเมื่ออดีต วันนี้ลูกคิดถูกนำมาช่วยในการจัดการเรียนการสอนคิดเลขเสริมทักษะคณิตศาสตร์ซึ่งแพร่หลายอย่างมาก ที่สำคัญช่วยให้เด็กรักเรียนคณิตศาสตร์ เสริมสร้างจินตนาการของเด็ก สร้างสมาธิและใช้ศักยภาพของสมองได้อย่างมาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รับโครงการวิจัยทดลองการนำลูกคิดมาใช้จัดกิจกรรมคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ผลทดลองวิจัยพบว่าลูกคิดสามารถกระตุ้นให้นักเรียนสนใจเรียนคณิตศาสตร์ มีทักษะคิดคำนวณ บวก-ลบเลขสองหลักได้รวดเร็ว (มติชน พุธที่ 13 มิถุนายน 2544 หน้า 13)





เปิดรหัสพันธุกรรมคนต้องมีชีวจริยธรรม

ศ.ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาเรื่อง “เทคโนโลยีพันธุศาสตร์กับผลกระทบต่อมนุษยชาติ” ว่า เทคโนโลยีด้านพันธุศาสตร์หรือ “จีโนมมิกส์” ได้มีการพัฒนารุดหน้าไปรวดเร็วมาก จำเป็นต้องมี “ชีวจริยธรรม” ซึ่งหมายถึง คุณธรรมในการใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญอันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกด้วย รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะนายกสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีพันธุศาสตร์มีผลกระทบใน 3 เรื่องคือ 1. วิชาการจะเป็นประโยชน์ในแง่การรับรู้ข้อมูลและสาเหตุของการเกิดโรคเพื่อนำไปสู่การป้องกัน 2. เรื่องเศรษฐกิจในอนาคตใครที่ครอบครองเทคโนโลยีด้านนี้จะกลายเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ เพราะจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าในหลายด้านและ 3. เรื่องของสังคม ซึ่งต้องระวังมากที่สุดเพราะคนที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือแล้วไม่มีจริยธรรมจะทำให้ใช้ไปในทางที่ผิดได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2544 หน้า 3)





จุฬาฯจัดนิทรรศการทรัพยากรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

จุฬาฯ ขอเชิญประชุมนิทรรศการเรื่อง ทรัพยากรไทย อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรของประเทศเพื่อศึกษาหารือแนวทางให้เกิดเครือข่ายที่ถาวร เพื่อการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนชาวไทยต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2544 หน้า 11)





ยืนกรานใช้นโยบาย ‘GMOs’ เดิมเน้น!วิจัยต่อไปไม่ให้ล้าหลังทั่วโลก

นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันชัดจะปฏิบัติตามนโยบายของ GMOs ในประเทศไทย 4 ประการในเรื่องพืชตัดต่อสารพันธุกรรมหรือ GMOs คือ 1.ไม่ยอมให้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ GMOs เพาะปลูกเชิงพาณิชย์ยกเว้นเพื่อการวิจัย 2.อนุญาตให้มีการนำเข้า GMOs บางชนิด ได้แก่ ข้าวโพดและถั่วเหลือง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร แต่ให้ติดตามผลกระทบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด 3.ยืนยันที่จะให้ดำเนินการวิจัยเรื่องนี้ต่อไป และเพื่อไม่ให้เป็นการปิดกั้นโอกาสของประเทศไทยในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระดับสากล 4.เรื่องการติดฉลากสินค้าที่มีส่วนผสมของ GMOs ให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ค้าและผู้ผลิต (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2544 หน้า 23)





รัฐเตรียมลดภาษีให้ ISP

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากการประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (กทสช.) ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมได้เน้นการสนับสนุนนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารมากกว่าการซื้อแต่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้ย้ำให้ราคาค่าบริการอินเตอร์เน็ตถูกลงเพื่อให้มีการใช้งานอย่างกว้างขวาง และให้สภาพัฒน์บรรจุนโยบายสนับสนุนไอทีเข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 – 2549) ด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





E-paper

E-paper คือกระดาษอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อชนิดใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกระดาษที่เขียนด้วยกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้สามารถแสดงข้อความหรือภาพบนหน้าจอแบบพิเศษได้ สามารถพกพาไปอ่านยังที่ต่างๆ ตามต้องการ มีคุณสมบัติพิเศษโดยการเขียนทับที่เดิมได้ เป็นจำนวนถึงล้านๆ ครั้ง อีกทั้งสามารถนำมาพัฒนาให้เป็น e-book, electronic newspaper ข้อมูลข่าวสารที่จะนำมาแสดงบน E-paper สามารถจะดึงผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือหรือถูกสร้างขึ้นมาจากเครื่องมือที่เรียกว่า electronic pencil คาดว่าในเร็วๆ นี้จะได้เห็นการนำ E-paper และยังสามารถผลิตออกมาให้อยู่ในรูปของ E-Book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถพกไปได้อย่างหนังสือ จะม้วนหรือพับก็ได้ ด้านหน้าของหนังสือจะมีปก และบริเวณสันหนังสือจะมีชิปสำหรับควบคุมการทำงานของกระแสไฟฟ้า นอกจากนั้นจะมีพอร์ตสำหรับการรับหรือส่งข้อมูลอยู่บนสันปกด้วย ส่วนการทำงานนั้นสามารถเปิดอ่านได้แบบหนังสือหรือจะใช้การควบคุมผ่านทาง Stylus ได้ทันที (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


“ไม้อัด-อิฐ” จากเปลือกทุเรียน หนทางเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส

เนื่องด้วยเปลือกทุเรียนมีขนาดใหญ่และความแข็งมาก การกำจัดโดยวิธีการเผาไม่สามารถทำได้ในทันทีเนื่องจากเปลือกที่ยังคงสดอยู่ การใช้เครื่องย่อยสลายซากพืชก็ยังมีข้อจำกัดบางประการจึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมไป รศ.ดร. จงจิตร์ หิรัญลาภ คณบดีคณะพลังงานและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า “ความจริงเรื่องนี้คนที่จุดประเด็นก็คือ รศ.ดร.โจเซฟ เดคารี ส่วนตัวอาจารย์เองก็มีความคิดในเรื่องนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้มอบให้ น.ส.สโรชา เจริญวัย นักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ทางด้านอาคารคณะพลังงานและวัสดุ มจธ.ทำวิจัย โดยตัวอาจารย์เองและ ดร.โจเซฟ เป็นที่ปรึกษาให้ จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ ผลการวิจัยพบว่าเปลือกทุเรียนมีค่าการนำความร้อนต่ำ เหมาะที่จะนำมาใช้ทำวัสดุภายในอาคารเพื่อช่วยลดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร และลดค่าไฟฟ้าจาการเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ นับเป็นเรื่องทันสมัยทันเหตุการณ์ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการอนุรักษ์พลังงานในยุคที่กำลังวิกฤติ เช่น มาทำเป็นแผ่นชิ้นไม้อัดได้ พร้อมกันนี้ อ.จงจิตร์ ได้เผยวิธีการทำแผ่นชิ้นไม้อัดจากเปลือกทุเรียนและเส้นใยมะพร้าวให้ฟังว่า ขั้นแรกต้องนำเปลือกทุเรียนและใยมะพร้าวมาตากแดดและอบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส จากนั้นลดหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตไม้อัด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่องค์ประกอบแทนที่จะเป็นไม้ ก็เปลี่ยนมาเป็นเปลือกทุเรียนหรือใยมะพร้าวแทน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





อยากให้ลูกเรียนเก่งต้องมีพี่น้องสองคน

จำนวนพี่น้องในครอบครัวก็มีผลต่อการเรียนของเด็กเช่นกัน โดยจากการศึกษาของนักวิจัยในสกอตแลนด์ พบว่าครอบครัวที่มีลูกสองคนเด็กจะเรียนเก่งกว่าพวกที่มาจากครอบครัวใหญ่ จากการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลเด็ก 11,000 คนที่เกิดในสัปดาห์เดียวกัน เมื่อ พ.ศ.2501 พบว่าเด็กที่มีพี่หรือน้องอีก 1 คน เป็นเด็กที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเรียน รองลงมาคือเด็กที่มีพี่น้อง 3 คน โดยตัวเองเป็นคนโต ที่เป็นเช่นนี้นักวิจัยเชื่อว่า เด็กๆ จะถ่ายทอดทักษะด้านภาษาและการคำนวณกันเองได้มากกว่าที่พ่อแม่ถ่ายทอด ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะมีเวลาใส่ใจกับลูกคนเดียวอย่างมาก แต่ถ้ามีลูก 2 คนเด็กจะถ่ายทอดความรู้กันเองได้ง่ายกว่า จึงทำให้พวกเขาเรียนเก่ง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





อุ้มโยนเด็กทารกเล่นด้วยความรักเป็นการประหารชีวิตโดยไม่รู้ตัว

รายงานผลการศึกษาครั้งใหม่ในวารสารวิทยาศาสตร์ “นิว ไซแอนติสต์” พบว่า ทารกอ่อน ไม่ต้องถึงกับเขย่าแรงๆ ก็อาจจะบาดเจ็บถึงตายได้ หากแต่การอุ้มยกขึ้นลงบนหัวเข่า อย่างแบบที่พ่อแม่เล่นกับลูกอยู่เป็นประจำจะยังไม่เป็นอะไร นักวิจัยของโรงพยาบาลหลวงลอนดอน กล่าวว่า ทารกจะบาดเจ็บเมื่อโดนถูกจับเขย่าศรีษะให้แกว่งไปเองแรงๆ คณะนักวิจัยได้ศึกษาด้วยการชันสูตรพลิกศพทารกส่วนใหญ่วัยไม่ถึงหนึ่งขวบดีที่เสียชีวิตด้วยบาดเจ็บจากการกระทำโดยเจตนาจำนวน 53 ราย ซึ่งเคยเชื่อกันมาว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเนื่องจากมันสมองถูกฟาดกระแทกเข้ากับกะโหลกศรีษะ แต่ผลจากการศึกษาแสดงว่าในจำนวน 37 ราย มีทารกเสียชีวิตด้วยสาเหตุเช่นนั้นเพียง 2 รายเท่านั้น ตรงกันข้ามนอกจากนั้นถึง 2 ใน 3 เสียชีวิตเพราะหยุดหายใจ นักวิจัยเชื่อว่าแรงกระเทือนอาจทำให้รอยต่อตรงขั้วสมองกับกระดูกสันหลังเสียหาย อาจเป็นได้หากศรีษะของทารกถูกโยกแกว่งไปทางหน้าและหลัง ทำให้ข้อต่อเสียหายและเป็นเหตุให้การหายใจขัดข้องได้ สำหรับทารกอ่อนที่ยังชันคอไม่ค่อยดีนักและหนักศรีษะ ข้อต่อส่วนบนนับว่าเปราะบางเป็นพิเศษ ผลการชันสูตรพบว่าในทารกที่เสียชีวิต 37 รายนั้นมีหลักฐานว่า เสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บแบบนั้น 8 ราย และเพราะประสาทตรงคอได้รับความเสียหาย 3 ราย (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ดื่มน้ำองุ่นม่วงได้ผลดี ชะลอความเสื่อมสุขภาพ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยว่า การดื่มน้ำองุ่นสีม่วงทุกวันนอกจากจะช่วยไม่ให้เลือดเกาะเป็นก้อนแล้ว ยังเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระหรือ แอนตี้ออกซิเดนต์ในร่างกายอีกด้วย (มติชน อังคารที่ 12 มิถุนายน 2544 หน้า 18)





นักวิจัยไทยในออสเตรเลียยืนยันกินคะน้าไม่เป็นมะเร็ง

น.ส.นุชนาถ รังคดิลก นศ.ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ทำวิจัยพบว่าผักคะน้าซึ่งเป็นผักในตระกูลเดียวกับบร็อคโคลี่ อุดมไปด้วยสารประกอบที่ป้องกันมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ ผักในตระกูลนี้ชื่อว่า Brassica มีสาร sinigrin และ glucoraphanin ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ สารเคมี 2 ตัวนี้จะทำงานเมื่อเซลล์ของพืชเสียหายระหว่างกระบวนการปรุงเป็นอาหาร หรือ เมื่อถูกบดเคี้ยว จะปล่อยเอนไซม์ชนิดหนึ่งออกมา เอนไซม์นั้นจะเปลี่ยน glucoraphanin ให้เป็น sulforaphane ซึ่งทำหน้าที่ให้เอนไซม์ต่างๆ ในร่างกายถูกขับออกมาขจัดสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Casinogens) (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2544 หน้า 24)





เอนไซม์ลดต้นทุนการผลิตยาปฏิชีวนะ

ศ.ดร. วิทยา มีวุฒิสม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถให้สังเคราะห์สารตั้งต้นในการผลิตยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน ที่เรียกว่า เพนนิซิลลินกึ่งสังเคราะห์ ซึ่งใช้มากในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆ และได้ทำการจดสิทธิบัตรแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การผลิตสารตั้งต้น ซึ่งไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2544 หน้า 28)





หุ่นยนต์ผ่าตัดระยะไกล

สหรัฐอเมริกาแถลงว่าได้ทดลองใช้หุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์เพื่อผ่าตัดทางไกลในขณะผู้ป่วยอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ดร.แดนสโตอิกโนวิซี ผู้อำนวยการแล็บหุ่นยนต์แห่งจอห์นฮอพกินส์ ประสบความสำเร็จจากการผ่าตัดทางไกล ในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในกรุงโรมถึง 17 ราย อย่างไรก็ตาม ดร.แดน กล่าวว่า การทดลองดังกล่าวยังถือเป็นการผ่าตัดเล็กๆ สำหรับการวิจัยการผ่าตัดทางไกลด้วยหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.1998 จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2000 ที่ผ่านมาโดยคณะแพทย์จอห์นฮอพกินส์ใช้การประชุมทางวิดีโอเทคโนโลยีการสื่อสารคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นก้าวหน้า เพื่อควบคุมการผ่าตัดจากสหรัฐอเมริกา แต่การผ่าตัดที่แท้จริงอยู่ในมหาวิทยาลัยโปลิซลินิโดคาซิลิโน่ ประเทศอิตาลี ทั้งนี้หุ่นยนต์ผ่าตัดรุ่นก้าวหน้าได้พัฒนาความสามารถโดยลดระดับความเคลื่อนไหว มีระบบการมองเห็นเป็นภาพสามมิติ และมือไม่สั่นอีกต่อไป ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดจะประกอบไปด้วยการรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่าตัดโดยแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ ข้อดีของการผ่าตัดแบบนี้ก็คือคนไข้จะได้รับความเจ็บปวดและเสียเลือดน้อย พร้อมกับการฟื้นตัวจะเร็วกว่าการผ่าตัดปกติ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 มิถุนายน 2544 หน้า 3)





ชุดทดสอบการติดเชื้อเอดส์ฝีมือคนไทย

อาจารย์รวงผึ้ง สุทเรนทร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะ ได้ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ กองโรคเอดส์ พัฒนาชุดทดสอบการติดเชื้อเอดส์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ มีทั้งหมด 3 ชุด ได้มีการทดลองใช้ชุดทดสอบการติดเชื้อเอดส์ทั้ง 3 ชุด ประมาณชุดละ 1,000 กว่าตัวอย่างตรวจสอบได้เช่นเดียวกับชุดทดสอบของต่างประเทศ และสามารถตรวจสอบเชื้อ HIV ได้ทุกสายพันธุ์ การตรวจสอบการติดเชื้อเอดส์จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงจะทราบผล ซึ่งทางศิริราชก็กำลังพัฒนาชุดทดสอบที่จะสามารถให้ผลได้ภายใน 10 นาที เพื่อตรวจหาในกรณีที่ต้องการทราบผลอย่างรวดเร็ว เช่น การรับบริจาคเลือด สามารถตรวจสอบได้ว่ามีเชื้อ HIV หรือไม่ และใช้ในกรณีที่มีตัวอย่างที่ต้องการทดสอบน้อย เช่น ในคลินิกที่มีคนไข้มาตรวจไม่มากนัก ได้แก่ ชุดทดสอบที่ตรวจหา แอนติบอดี้, ชุดทดสอบที่ตรวจหาจีโนม และชุดทดสอบที่ตรวจหาแอนติเจน ชุดทดสอบนี้กำลังยื่นจดสิทธิบัตรอยู่ และต้องให้ อย. ประเมินผลก่อน จึงจะนำมาผลิตใช้ในประเทศได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2544 หน้า 28)





วิจัยฟองน้ำที่เกาะสีชัง

มร.ซิลแอง เลอบรี นศ.ระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาทางทะเล จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งมาร์เซยย์ ประเทศฝรั่งเศส ได้มาศึกษาวิจัยเก็บตัวอย่างและจำแนกสายพันธุ์ฟองน้ำ เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงของระดับมลพิษและสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาท้องทะเล ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยฟองน้ำใต้ทะเลในอ่าวไทย ระหว่างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งมาร์เซยย์ กับบริษัทไทยน๊อกซ์ สตีลจำกัด ฟองน้ำมีคุณสมบัติพิเศษในการกักเก็บสารพิษในตัวมันเอง ถ้าในน้ำทะเลมีสารเคมีก็จะถูกกรองสะสมอยู่ในตัวฟองน้ำ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ กล่าวว่า การวิจัยฟองน้ำถือเป็นเรื่องใหม่ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในเรื่องความก้าวหน้าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของไทย (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2544 หน้า 8)





ข่าวทั่วไป


ปรับเวลาไทยเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง

มีการศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจังเมื่อปรับเปลี่ยนเวลาของประเทศไทยให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นเวลาเดียวกับประเทศสิงคโปร์, ฮ่องกง, จีน, ไต้หวัน ซึ่งเป็นเสือเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อให้สามารถก้าวทันกับความเคลื่อนไหวต่างๆ ในด้านการเงิน การลงทุน ตลาดหุ้น และดัชนีเศรษฐกิจที่มีความสำคัญทั่วโลก (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215