หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 23 ประจำวันที่ 2001-06-12

ข่าวการศึกษา

ปรับใหม่ ‘เอนทรานซ์’ ลด ‘วิชาสอบ’
Kasem walks out on Thaksin
พัฒนาโปรแกรมช่วยสอนเลขเวอร์ชั่นไทย
สปช.จัดแข่งคณิตฯ ชิงเพชรยอดมงกุฏ
2 หมื่นร.ร. ไม่มีคอมพ์ ใช้วิธีเช่า-รับบริจาค
ยังมีที่เหลือรับนักเรียนได้อีก ทุกระดับรอรับเพิ่ม ราชภัฏได้อีก 8 หมื่น
แก้ปัญหารถโรงเรียนไม่เวิร์ก สจร.ขอไมโครบัสลดค่าโดยสาร
เผย ‘ราชภัฏ’ แข่งกันโตหวังออกนอกระบบ
‘บัญชีกลาง’ ปฏิวัติสวัสดิการขรก.
สช.รับรองคุณภาพร.ร.เพิ่ม
เร่งปรับแก้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอนุบาล

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

Environmentalists renew attack on Yadana pipeline
ไทยตำบลดอตคอม
ผลประกวดอี-การ์ดเลมอนออนไลน์
มก.ฟุ้งพิพิธภัณฑ์มดแห่งแรกในเอเชีย
‘มท.’ กำหนดโซนนิ่งคุมโรงงานอันตราย

ข่าววิจัย/พัฒนา

มจธ.เจ๋งสร้างเครื่องต้นแบบคุมความเร็วอัตโนมัติ ‘พัดลม’
ปลื้มผลทดลอง ‘กระดาษมูลช้าง’ ใช้ดี-ไร้กลิ่น-รักษาสิ่งแวดล้อม
ฝีมือไทย ยารักษาหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
Scientists see end to rotten bananas

ข่าวทั่วไป

เตรียมออกข้อบังคับไฟฟ้า โทรศัพท์ ‘เช่าอุโมงค์’ เก็บสายไฟ ‘ลงใต้ดิน’
แผนพัฒนาวงแหวนอุตสาหกรรมตั้งบริษัทกว้านซื้อที่จัดสรรใหม่
จัดกลุ่มสินค้ารับ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์
กทม.เตรียมยึดเรือคลองแสนแสบคืน หมดสัญญาเลิกสัมปทานหารายใหม่
กินถั่วงอกขาวจัดอันตราย-มีสารฟอกสี





ข่าวการศึกษา


ปรับใหม่ ‘เอนทรานซ์’ ลด ‘วิชาสอบ’

ในการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ประชุมได้มีมติที่จะปรับปรุงระบบเอนทรานซ์ใหม่ โดยเห็นชอบให้เปลี่ยนเรียกการสอบเอนทรานซ์ว่า “ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่” และเสนอให้เอนทรานซ์ในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับการใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมชั้น ม. ปลาย (GPA) โดยเพิ่มรายละเอียดผลการเรียนแต่ละรายวิชาลงในใบแสดงผลการเรียนในชั้น ม.ปลายลงไปด้วย นอกจากนี้ให้ลดจำนวนวิชาที่ใช้สอบเอนท์ให้เหลือน้อยที่สุด จากปัจจุบันที่มีถึง 15 วิชา โดยต่อไปอาจจะจัดสอบเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศเท่านั้น (ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หน้า 9)





Kasem walks out on Thaksin

น.พ.เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ยื่นใบลาออกต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม นายสุรพล นิติไกรภพ กรรมการบริหารของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า น.พ.เกษม วัฒนชัย และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาดูแลเรื่องการศึกษานั้น มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ขณะนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้แต่งตั้งใครมาดำรงตำแหน่งแทน น.พ. เกษม (Sunday Nation, June 10, 2001, front page)





พัฒนาโปรแกรมช่วยสอนเลขเวอร์ชั่นไทย

ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้แปลโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางคณิตศาสตร์ชื่อโปรแกรม Cabri Geometry ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้างรูปเรขาคณิตในคอมพิวเตอร์เป็นภาษาไทย พร้อมจัดทำคู่มือการใช้โปรแกรมเป็นภาษาไทยด้วย โปรแกรมนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะสามารถสร้างรูปเรขาคณิตได้ทุกรูปแบบ อธิบายและวัดค่าเรขาคณิตได้หลากหลาย ครูผู้สอนคณิตศาสตร์สนใจโปรแกรมนี้ ติดต่อได้ที่ cthan@ipst.ac.th (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 31 พฤษภาคม 2534 หน้า 12)





สปช.จัดแข่งคณิตฯ ชิงเพชรยอดมงกุฏ

นายชลอ กองสุทธิ์ใจ เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) จะจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ชิงทุนการศึกษาพระราชภาวนาวิกรมผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ครั้งที่ 4 ในวันที่ 18-19 สิงหาคม 2544 ที่โรงเรียนพญาไท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนได้แสดงความสามารถด้านคณิตศาสตร์ และทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วย ทั้งนี้จะเปิดรับสมัครแข่งขันตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2544 ซึ่งจะทำการแข่งขันใน 2 ระดับ คือระดับประถมศึกษาปีที่ 3-4 และระดับประถมศึกษาปีที่ 5-6 จากทุกสังกัดทั่วประเทศ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามขอระเบียบการ ยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานการประถมศึกษาทุกจังหวัดทั่วประเทศและสำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา (สนม.) และที่สปช.หรือ โทร 280-5564, 280-5567 และ 281-0828 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หน้า 20)





2 หมื่นร.ร. ไม่มีคอมพ์ ใช้วิธีเช่า-รับบริจาค

ดร.สิริกร มณีรินทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ซึ่งพบว่ายังมีโรงเรียนประถมจำนวน 624 แห่ง ไม่มีไฟฟ้า และจำนวน 24,374 แห่ง ยังไม่มีคอมพิวเตอร์และมีเพียง 7% ของโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการแก้ปัญหาขาดแคลนคอมพิวเตอร์นั้น จะแก้ปัญหาโดย 1. ไม่จัดซื้อคอมพิวเตอร์เป็นชุดๆ เหมือนที่ผ่านมาเพราะต้องใช้งบประมาณมาก 2. ใช้วิธีการเช่าซื้อ 3. การขอรับบริจาคจากภาครัฐและเอกชนโดยการตั้งศูนย์รับบริจาคคอมพ์ ที่ศธ. ขณะเดียวกันก็จะเปิดรับอาสาสมัครไอทีเพื่อช่วยไอทีให้กับเด็กในชนบทในช่วงปิดเทอม รวมทั้งพัฒนาระบบเครือข่าย EDNET ให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษา และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ โดยมอบหมายให้นายกล้า สมตระกูล ที่ปรึกษาศธ.ไปจัดทำรายละเอียดมาเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป (สยามรัฐ เสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หน้า 20)





ยังมีที่เหลือรับนักเรียนได้อีก ทุกระดับรอรับเพิ่ม ราชภัฏได้อีก 8 หมื่น

นพ.เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเชิญอธิบดีและเลขาธิการที่มีสถานศึกษาเข้าหารือถึงการรับนักเรียน นักศึกษาในปีการศึกษา 2544 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้สถานศึกษาต่างๆ ได้สรุปยอดการรับนักเรียนแล้ว โดยกรมสามัญศึกษารับนักเรียนไปแล้ว 922,000 คน มากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 100,000 คน และยังมีที่เหลือรับได้อีก 30,000 คน อาชีวศึกษา ตามแผนรับในระดับปวช. 167,000 คน รับแล้ว 127,000 คน ยังขาดอีก 40,000 คน ระดับปวส.ตามแผนรับ 125,000 คน รับแล้ว 68,000 คน แผนกวิชาที่ยังไม่เต็มคือ ศิลปกรรม คหกรรม และเกษตรกรรม นอกจากนี้วิทยาลัยการอาชีพยังรับเพิ่มได้อีกจำนวนมาก สถาบันราชภัฏรับนักศึกษาแล้ว 65,843 คน ถ้ายังมีผู้สนใจมาเรียนอีกอาจเปิดภาคสมทบได้อีก 80,000 คน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล รับนักศึกษาระดับปริญญาตรี 21,000 คน ปวส.20,000 คน ซึ่งในระดับปวส.ยังมีที่ว่างรับได้อีกจำนวนหนึ่ง (สยามรัฐ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หน้า 20)





แก้ปัญหารถโรงเรียนไม่เวิร์ก สจร.ขอไมโครบัสลดค่าโดยสาร

นายต่อพงศ์ วัจนะสวัสดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการจัดการระบบจราจรทางบก (สจร.) เปิดเผยว่า ตามที่ สจร.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเดินรถโรงเรียนบนถนนสามเสนได้รับความนิยม ส่วนสายที่ใช้รถไมโครบัส ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นระยะทางสั้น ค่าโดยสาร 20 บาท ซึ่งทางสจร.จะขอให้ บริษัทบางกอกไมโครบัส ลดราคาเป็น 15 บาทและขยายเส้นทาง โดยให้ทดลอง 4 เดือนเพื่อดูผล (เดลินิวส์ อังคารที่ 5 มิถุนายน 2544 หน้า 30)





เผย ‘ราชภัฏ’ แข่งกันโตหวังออกนอกระบบ

นายถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ กล่าวว่า พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ปรับแก้จากเดิม คงจะเปลี่ยนแปลงไปในส่วนของกิจกรรม แต่ปรัชญา อุดมการณ์ของราชภัฏเหมือนเดิม เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น ปีนี้มีเด็กจบ ม.ปลายที่มาสมัครเรียนในราชภัฏถึง 1.6 แสนคน และสถาบันราชภัฏเป็นอุดมศึกษาในท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่น ระบบราชภัฏจะต้องเติบโต และมีความเข้มแข็งต่อไป มีการกระจายอำนาจลงไปยังราชภัฏ จะทำให้ราชภัฏแต่ละแห่งแข่งกันเติบโต มีความเป็นอิสระและออกนอกระบบในที่สุด (ข่าวสด ศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2544 หน้า 5)





‘บัญชีกลาง’ ปฏิวัติสวัสดิการขรก.

กรมบัญชีกลาง ได้ปรับปรุงประเภทและอัตราเงินสวัสดิการการศึกษาของบุตรข้าราชการใหม่ โดยจะปรับเพิ่มอัตราเงินบำรุงการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาของทางราชการตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป แบ่งเป็นค่าอุปกรณ์การศึกษา ปรับเป็นไม่เกินปีละ 3,500 บาท และค่าลงทะเบียนรายวิชา ปรับเป็นไม่เกินปีละ 3,500 บาท พร้อมกันนี้ยังได้ปรับลดอัตราการเบิกค่าธรรมเนียมการเรียนของหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2 ในสถานศึกษาเอกชนลงจากอัตราเดิมที่กระทรวงการคลังอนุมัติไว้ในปี 2543 เป็นปีละไม่เกิน 11,670 บาท สายวิชาศิลปกรรม เป็นปีละไม่เกิน 12,360 บาท สายเกษตรศาสตร์ เป็นปีละไม่เกิน 12,780 บาท และสายช่างอุตสาหกรรม เป็นปีละไม่เกิน 15,280 บาท สาเหตุที่ต้องปรับลดเพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสวัสดิการซ้ำซ้อน (ข่าวสด จันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2544 หน้า 6)





สช.รับรองคุณภาพร.ร.เพิ่ม

นางจรวยพร ธรณินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาแก่โรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและประเภทอาชีวศึกษา เพื่อให้โรงเรียนได้มีการพัฒนาและประเมินตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2541-2543 มีโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาได้รับการรับรองมาตรฐานไปแล้วจำนวน 159 โรง แบ่งเป็น โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 41 โรง โรงเรียนในส่วนภูมิภาค 129 โรง และคณะอนุกรรมการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาเอกชนได้ให้การรองรับมาตรฐานโรงเรียนเอกชนในปีการศึกษา 2543-2547 ในส่วนกลางเพิ่มเติมอีก 1 โรง คือโรงเรียนอนุบาลสวนสยาม ระดับก่อนประถมศึกษาในส่วนภูมิภาค 13 โรง แบ่งเป็นระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้แก่ ร.ร. เจริญศรีศึกษา จ.ปัตตานี ร.ร.วัดสวนแก้ว (รุ่งโรจน์ธนกุลอุปถัมภ์) จ.อ่างทอง ร.ร.มารีวิทยา จ.ปราจีนบุรี ร.ร.เรืองศรีวิทยา จ.นครราชสีมา ร.ร. ราฟาแอล จ.สมุทรปราการ ระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ได้แก่ ร.ร.ดำเนินวิทยา จ.ราชบุรี ร.ร.ดวงมณี จ.ชลบุรี ร.ร.เจริญสุขอุดมวิทยา จ. กำแพงเพชร ร.ร. อนุบาลวัฒนานคร จ.สระแก้ว ระดับก่อนประถมศึกษา ได้แก่ ร.ร.อนุบาลดรุณนิมิตรวิทยา จ.เชียงใหม่ ร.ร.ยินดีวิทย์ จ.สมุทรปราการ ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้แก่ ร.ร.อุปถัมป์วิทยาพนม จ.สุราษฎร์ธานี ระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ ร.ร. เมธีวุฒิกร “วัดพระธาตุหริภุญชัย” จ.ลำพูน (สยามรัฐ อังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หน้า 20)





เร่งปรับแก้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอนุบาล

นางอารีรัตน์ วัฒนสิน รองอธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอนุบาลว่า ขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนระดับก่อนประถมศึกษา หรือสำหรับเด็กในวัย 3-5 ขวบนั้น กำลังอยู่ระหว่างการปรับแก้โดยตัวแทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้โดยยึดหลักให้การเรียนการสอนเน้นการพัฒนาความพร้อมและไม่เร่งรัดด้านวิชาการอย่างไม่เหมาะสม โดยหันมาเน้นการพัฒนาสุขภาพกาย-ใจ พร้อมทั้งมีระบบการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอก หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรและที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้โรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งและทุกสังกัดต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ทั้งหมด (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2544 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


Environmentalists renew attack on Yadana pipeline

กลุ่มผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาที่ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อแสดงความคิดเห็นว่า โครงการ 3 ปีของท่อก๊าซระหว่าง ไทย-พม่า นั้น นำความหายนะมาสู่ประเทศไทย กลุ่มผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศ ไม่ได้กระทำตามสัญญาใดๆ ที่ได้ให้ไว้กับประชาชนตั้งแต่โครงการได้เริ่มเมื่อปี 1998 และประชาชนต้องเสียค่าไฟ และค่าก๊าซแพงขึ้น แต่ทาง ปตท. ได้โต้กลับว่าโครงการนี้ช่วยทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงมูลค่า 14.7 พันล้านบาทต่อปี หากไม่มีโครงการนี้ ชาวไทยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่เป็นอยู่ (Sunday Nation, June 10, 2001, p.3A)





ไทยตำบลดอตคอม

เว็บไซต์ www.thaitambon.com เป็นเครือข่ายข้อมูลของตำบล เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยผู้แทนของตำบลสามารถจัดทำและปรับปรุงข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ขณะนี้มีข้อมูลแล้ว 561 ตำบล มีสินค้าไม่น้อยกว่า 1,356 ชิ้น มีเว็บบอร์ดหรือกระดานข่าวให้ชาวบ้านถามข้อสงสัยได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





ผลประกวดอี-การ์ดเลมอนออนไลน์

เว็บไซต์ เลมอนออนไลน์ ดอตคอม ได้จัดการประกวดออกแบบบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ประเภทบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-การ์ด มีผู้สนใจส่ง อี-การ์ด เข้าร่วมประกวดถึง 400 ใบ โดยทั้งหมดใช้โปรแกรมแฟลช ผู้ที่ส่งอี-การ์ดประกวดอายุน้อยที่สุดคือ 10 ขวบ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ นนอ. นิภาส ประเสริฐ นักเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศ ชั้นปีที่ 5 รางวัลที่ 2 ได้แก่ นายอิทธิชัย สถิตย์ปัญญาพันธุ์ และรางวัลที่ 3 ได้แก่ นายสุรยุทธ วิไลลักษณ์ (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 7 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





มก.ฟุ้งพิพิธภัณฑ์มดแห่งแรกในเอเชีย

ศ.ดร. ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์มด ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการทางกีฏวิทยาป่าไม้ ชั้น 4 ตึก 60 ปี คณะวนศาสตร์ มก. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดย รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์คณะวนศาสตร์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์มดนับเป็นแห่งแรกที่มีชนิดและตัวอย่างมดมากที่สุดในประเทศไทย โดยตัวอย่างมดจะถูกจัดจำแนก และเก็บรักษาตามระบบอนุกรมวิธานสากลในกล่องไม้ขนาด 31 คูณ 6 ตารางเซนติเมตร จำนวน 86 กล่อง แยกเป็น 87 สกุล 9 วงศ์ 576 ชนิด จากกว่า 800 ชนิดในประเทศไทย หรือร้อยละ 70 จำนวน 11,165 ตัวอย่าง นอกจากนี้มีตัวอย่างเปียกที่เก็บไว้ในแอลกอฮอล์อีกกว่า 1 แสนตัว ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดพิพิธภัณฑ์มด (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2544 หน้า 10)





‘มท.’ กำหนดโซนนิ่งคุมโรงงานอันตราย

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีโรงงานเสี่ยงจากสารเคมีและวัตถุอันตรายทั่วประเทศ 915 โรง ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 506 แห่ง จึงเห็นว่าน่าจะกำหนดโซนเพื่อจะได้มีการตรวจสอบการผลิต การทำลายสารเคมีว่าได้ทำกันตามมาตรฐานหรือไม่ (ข่าวสด ศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2544 หน้า 28)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มจธ.เจ๋งสร้างเครื่องต้นแบบคุมความเร็วอัตโนมัติ ‘พัดลม’

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ทางด้านอาคาร คณะพลังงานและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำวิจัยเรื่องแผนภูมิความสบายสำหรับประเทศไทยและสามารถสร้างต้นแบบเครื่องควบคุมความเร็วอัตโนมัติของพัดลมเป็นผลสำเร็จ รายงานว่า เครื่องควบคุมความเร็วอัตโนมัติของพัดลมดังกล่าวถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยมีตัวรับสัญญาณค่าตัวแปรอุณหภูมิ และความชื้นของอากาศ ส่งสัญญาณให้ไมโครคอนโทรลเลอร์ เพื่อคำนวณหาและควบคุมความเร็วของพัดลมให้เกิดสภาวะความสบายเชิงความร้อน สำหรับเงื่อนไขสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอยู่ในช่วง 27 ถึง 36.5 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 50 ถึง 80% ศ.ดร.โจเซฟ เดคารี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า พัดลมที่ใช้เป็นพัดลมธรรมดาที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด เมื่อนำมาใช้กับเครื่องควบคุมความเร็วลมนี้ จะกลายเป็นพัดลมอัตโนมัติทันที ในช่วงดึกซึ่งอากาศจะเย็นลง พัดลมก็จะหยุดทำงานเองโดยอัตโนมัติ ช่วงเช้าหรือช่วงไหนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น พัดลมก็จะทำงานโดยอัตโนมัติเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร และถ้าทำในเชิงพาณิชย์ต้นทุนจะอยู่ที่ 3,000 – 35,00 บาทต่อเครื่อง (มติชน เสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ปลื้มผลทดลอง ‘กระดาษมูลช้าง’ ใช้ดี-ไร้กลิ่น-รักษาสิ่งแวดล้อม

นายวันชัย อัศววิบูลย์กิจ ผู้ริเริ่มโครงการกระดาษจากมูลช้าง กล่าวว่า ในการแปรสภาพมูลช้างมาเป็นกระดาษ มีขั้นตอนการผลิตเหมือนกับกระดาษสาทุกประการแต่จะง่ายกว่า เพราะมูลช้างที่ผ่านย่อยของช้างนั้นเป็นมูลละเอียดหลังจากนำไปหมักทำก๊าซนำมาใช้ในการหุงต้มและการผลิตไฟฟ้าแล้ว จะนำมูลเก่าจากบ่อหมักมาล้างให้สะอาดจนเหลือแต่กาก จากนั้นนำมาแช่น้ำทิ้งไว้อีก 1-2 คืน แล้วเติมโซดาไฟตามสัดส่วน จากนั้นจึงนำมาต้ม 3-6 ชั่วโมงจนยุ่ยก่อนนำมาแช่กับคลอรีน ทุบหรือบดให้เปื่อยละเอียดนำมาแช่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ใส่หัวน้ำหอมลงไปคนให้ทั่วก่อนนำตะแกรงมากรองแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อลอกออกก็จะได้กระดาษจากมูลช้างตามที่ต้องการ ซึ่งสามารถนำมาผลิตสินค้าตามต้องการ เช่น การทำดอกไม้ประดับ ทำกล่องกระดาษ ทำโคมไฟฟ้า ทำสมุดไดอารี่ ทำปกหนังสือ หรือใช้ห่อของขวัญ ทำร่ม โดยไม่มีกลิ่นเหม็นของมูลช้างเหลืออยู่เลย ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองนำกลิ่นหอมของธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม และสีสันต่างๆ เพื่อให้สวยงามในเบื้องต้น พบว่ากระดาษจากมูลช้างมีความละเอียดเหนียวแน่นทนทานกับการใช้งาน หากนำกระดาษสามาเปรียบเทียบกันจะดูไม่ออกเลยว่า ชิ้นไหนเป็นกระดาษสา ชิ้นไหนเป็นมูลช้าง ขณะนี้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นและ สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจในโครงการนี้อย่างมาก (มติชน เสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ฝีมือไทย ยารักษาหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบนวัตกรรมที่กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรทั่วโลกถึง 2 ชิ้น โดยเป็นจุดเริ่มต้นสู่กระบวนการที่อาจจะนำไปสู่การผลิตยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันในอนาคต นายชัชชัย ติยาภิวัฒนา นักศึกษาปริญญาเอกกาญจนาภิเษก รุ่นที่ 2 (พ.ศ.2542) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี รศ.ดร.จีรเดช มโนสร้อย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ Prof.Dr.Rolf G. Werner แห่งบริษัท Bochringer Ingelhiem กับ Prof.Dr.Friedrich Gotz แห่งมหาวิทยาลัย Tubingen สหพันธรัฐเยอรมัน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการผลิตโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งมีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีชื่อว่า recombinant tissue plasminogen activator (TPA) ในแบคทีเรีย อี.โคไล โดยเทคนิคที่ค้นพบล่าสุดครั้งแรกของโลกจากฝีมือนักศึกษา ศปก.ผู้นี้ มี 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.วิธีการผลิต TPA ในอี.โคไล ให้สามารถหลั่งออกนอกตัวแบคทีเรียได้ 2.วิธีการผลิต TPA ที่มีอณูเล็กกว่าในธรรมชาติ แต่มีฤทธิ์เหมือนเดิมหรือดีกว่า (ข่าวสด พฤหัสบดี ที่ 7 มิถุนายน 2544 หน้า 24)





Scientists see end to rotten bananas

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ (NUS) นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ Pua Eng Chong ได้ค้นพบวิธีถนอมรักษาผลไม้ไม่ให้เสียได้เป็นเวลาถึง 4 เดือน โดยใช้วิธีการตัดแต่งจีนซึ่งผลไม้และพืชใช้ในการผลิตก๊าซ ethylene ซึ่งวิธีการตัดแต่งจีนนี้ผลไม้จะผลิตก๊าซนี้น้อยลงไปถึง 90% ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ผลไม้สุกเร็ว และป้องกันการเน่าเสียด้วย ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บได้อย่างมาก โครงการนี้จะเริ่มต้นที่กล้วยก่อน (Sunday Nation, June 10, 2001, Front page)





ข่าวทั่วไป


เตรียมออกข้อบังคับไฟฟ้า โทรศัพท์ ‘เช่าอุโมงค์’ เก็บสายไฟ ‘ลงใต้ดิน’

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่ากทม. เปิดเผยว่า กทม.เตรียมออกข้อบังคับให้นำสายไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ลงใต้ดิน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และทำให้สิ่งแวดล้อมในกทม. ดีขึ้น โดยให้บริษัทโปรไดร์ฟ ร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม โดยบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอุโมงค์วางท่อสายไฟทั้งหมด แล้วเก็บรายได้ค่าเช่าจากหน่วยงานที่มาใช้บริการ และจะต้องแบ่งส่วนรายได้ให้กับบริษัทกรุงเทพธนาคม (เดลินิวส์ พุธที่ 6 มิถุนายน 2544 หน้า 34)





แผนพัฒนาวงแหวนอุตสาหกรรมตั้งบริษัทกว้านซื้อที่จัดสรรใหม่

นายนพดล เหลืองดิลก รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เปิดเผยถึงโครงการวางผังพื้นที่เฉพาะ 9 จุดรอบโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมว่า สจส.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว จนได้พื้นที่ 9 จุดที่จะพัฒนา ได้แก่ 1.ย่านพระราม 3 2.ผ่านคลองเตย และสถานีแม่น้ำ 3.ย่านบางนา บางจาก 4.ย่านปู่เจ้าสมิงพราย 5.ย่านสุขสวัสดิ์ 6.ย่านพระประแดง 7.ย่านบางกระเจ้า 8.ย่านราษฎร์บูรณะและเมืองใหม่ และ 9.ย่านราษฎร์บูรณะ รวมพื้นที่ 73.19 ตารางกิโลเมตร ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากครม. แล้ว และได้นำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงมีกระแสรับสั่งให้เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะเสร็จในเดือน พฤศจิกายน 2544 ซึ่งพื้นที่เฉพาะแต่ละแห่งจะมีทุกอย่างครบวงจรซึ่งมีทั้งที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน ศูนย์การค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ถือเป็นการกระจายความเจริญของเมือง และแก้ปัญหาจราจรติดขัดอีกด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 5 มิถุนายน 2544 หน้า 30)





จัดกลุ่มสินค้ารับ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ว่า กระทรวงได้ทำหนังสือถึงพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศให้ดำเนินการจัดกลุ่มสินค้าที่จะใช้ในโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการจัดแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สินค้าเพื่อการส่งออก หรือ ผลิตภัณฑ์สู่สากล 2.สินค้าที่มีศักยภาพในแต่ละภูมิภาค และ 3.สินค้าที่ขายในท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด โดยขณะนี้มีสินค้าประมาณ 6,000 รายการ ที่อยู่ระหว่างการจัดหมวดหมู่ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





กทม.เตรียมยึดเรือคลองแสนแสบคืน หมดสัญญาเลิกสัมปทานหารายใหม่

นายคุณพัทธ อาจองค์ ผู้อำนวยการกองการขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สจส. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเรื่องการเดินเรือในคลองแสนแสบ รอว่ารัฐบาลจะให้ กทม.ดำเนินการเมื่อใด โดยเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำเป็นเส้นทางเดินเรือโดยสารและเส้นทางท่องเที่ยว และจะยกเลิกสัมปทานเดินเรือในคลองแสนแสบหลังหมดสัญญา (เดลินิวส์ อังคารที่ 5 มิถุนายน 2544 หน้า 30)





กินถั่วงอกขาวจัดอันตราย-มีสารฟอกสี

ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้จำหน่ายถั่วงอกบางราย มักนำสารฟอกขาวมาผสมน้ำแช่ถั่วงอก เพื่อให้ถั่วงอกมีสีขาว อวบ น่ารับประทาน และเก็บไว้จำหน่ายได้นาน ผู้จำหน่ายนิยมใช้สารฟอกขาวประเภทที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารคือ โซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ มาผสม เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิด อาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง สำหรับผู้ที่แพ้อย่างรุนแรง หรือป่วยเป็นโรคหอบ หืด จะมีอาการรุนแรงขึ้นมีอาการช็อกหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ (ข่าวสด จันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2544 หน้า 28






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215