หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 16 ประจำวันที่ 2001-04-17

ข่าวการศึกษา

‘สุธรรม’ หนุนข้อสอบ SAT ใช้แทนการเอนทรานซ์
โอนสิทธิขรก.เข้า “ประกันสังคม”
ศูนย์พันธุ์มดแห่งแรกของไทย
ราชมงคลยกระดับ เปิดหลักสูตรอังกฤษ
วก.ทำตำรา 2 ภาษา มีทั้งมัลติมีเดีย-ซีดี

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ปลวกกินโฟม กำจัดขยะเจ้าปัญหา
ออกแบบเว็บไซต์สร้างโรงเรียนดิจิทัล

ข่าววิจัย/พัฒนา

พบเทคนิคใช้รถสร้างอะไหล่มนุษย์เทคโนโลยีเปิดยุค ‘คนเสียซ่อมได้’
เครื่องคัดขนาดเมล็ดกาแฟ
พบเทคนิคใช้รถสร้างอะไหล่มนุษย์เทคโนโลยีเปิดยุค ‘คนเสียซ่อมได้’

ข่าวทั่วไป

มหันตภัย ‘ดินสอพอง’ เชื้อโรค 280 เท่า โชคดีแค่ป่วยแต่ถ้าโชคร้ายมีสิทธิตาย
รับรองไทยปลอดโรครินเตอร์เปสต์
โปรเจกต์ใหม่ ‘หมัก’ ทำปุ่ยด้วยอึ
จ่ายภาษีรถสะดวก ยื่นขนส่งได้ทุกเขต
ไฟเขียนเกษตรกรผลิตไวน์
ตั้งแท่นกทช.ปรับราคาแสตมป์ 1 บาท





ข่าวการศึกษา


‘สุธรรม’ หนุนข้อสอบ SAT ใช้แทนการเอนทรานซ์

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับกรมวิชาการที่เสนอให้ใช้คะแนนจากข้อสอบมาตรฐานกลาง (SAT) มาใช้ในการสอบเอนทรานซ์ เพราะที่ผ่านมาแต่ละสถาบันจะคัดเลือกเด็กด้วยกระบวนการดังกล่าวเพียง 50% เท่านั้น หากแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถจัดกระบวนการคัดเลือกได้ดี และในอนาคตจะมีการรวมกระทรวงศึกษาธิการและทบวงฯ เข้าด้วยกัน ตนก็เชื่อว่าน่าจะมีการเชื่อมต่อภาระกิจระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามรายละเอียดจะต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 7 เมษายน 2544 หน้า 10)





โอนสิทธิขรก.เข้า “ประกันสังคม”

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รมช.แรงงานฯ เผยว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมรับบริหารโครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วยระบบที่ใช้ในการบริหารโครงการประกันสังคมในปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการให้ได้ในเดือน ตุลาคม 2544 นี้ ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละ 5,500 ล้านบาท โดยที่สิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่เคยได้รับ จะไม่ถูกลิดรอนลง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 เมษายน 2544 หน้า 33)





ศูนย์พันธุ์มดแห่งแรกของไทย

รศ. เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจาก มด มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถบ่งบอกลักษณะนิเวศวิทยา การรักษาระบบความสมดุลของธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็นอย่างดี ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงจัดตั้งศูนย์การศึกษาพันธุ์มดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของเครือข่าย Anet อีกด้วย โดยเบื้องต้นตั้งเป้าว่า จะรวบรวมตัวอย่างมดทั้งในประเทศไทย และจากส่วนต่างๆ ของโลก รวมทั้งในแถบประเทศเอเชียมาจัดจำแนกมดเป็นชนิดต่างๆ เพื่อทำเป็นอนุกรมวิธานของมด ให้นิสิต นักศึกษา และเยาวชนตลอดจนผู้ที่สนใจได้เข้าไปทำการศึกษาวิจัย และชมพันธุ์มดต่างๆ คาดว่าในปี 2544 นี้ การจัดตั้งศูนย์มดจะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ (สยามรัฐ อังคารที่ 17 เมษายน 2544 หน้า 16)





ราชมงคลยกระดับ เปิดหลักสูตรอังกฤษ

ผศ.ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยว่า สถาบันฯจะเปิดสอนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาการบัญชี การตลาด และระบบสารสนเทศ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษา และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นอาจารย์ของสถาบันเอง จะเปิดรับสมัครตั้งแต่ 18 - 20 เมษายน 2544 ประกาศผลวันที่ 30 เมษายน 2544 ติดต่อได้ที่ โทร. 287-4670-2 หรือ (01) 697-9963 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 เมษายน 2544 หน้า 12)





วก.ทำตำรา 2 ภาษา มีทั้งมัลติมีเดีย-ซีดี

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า กรมวิชาการมีแนวคิดจะจัดทำสื่อการเรียน การสอน 2 ภาษา เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ ทั้งนี้ การผลิตสื่อดังกล่าวนั้นในระดับประถมศึกษาจะผลิตในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พลศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ยกเว้นวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา นอกจากนี้จะพัฒนาสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ให้มีความทันสมัยในรูปแบบของสื่อมัลติมีเดียที่มีทั้งภาพ เสียง ประกอบการเรียนการสอน รวมทั้งสื่อ ซีดีรอม เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อโรงเรียนที่ระบบอินเตอร์เน็ตยังเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะโรงเรียนต่างจังหวัด โดยขณะนี้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่มีปัญหาขาดเครื่องคอมพิวเตอร์ และบุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต (สยามรัฐ อังคารที่ 17 เมษายน 2544 หน้า 16) (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 เมษายน 2544 หน้า 33)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ปลวกกินโฟม กำจัดขยะเจ้าปัญหา

ที่ อำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มีการพบว่าปลวกกินโฟม อาจารย์สุรัฐ เมืองแมน อาจารย์โรงเรียนบ้านคลองหาเหนือ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี จึงมีโครงการทดลองเพาะเลี้ยงปลวกชนิดนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ผลการทดลองพบว่า ปลวกจะกินโฟมก่อนวัสดุอื่น ปลวกนี้มีชื่อว่า ปลวกหมูสี ซึ่งจะพบมากแถบภาคใต้ในพื้นที่สวนยางพาราซึ่งมีอากาศเย็น มีแสงน้อย เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับปลวกชนิดนี้ ความหวังเพาะปลวกเพื่อย่อยสลายโฟม อาจจะเป็นก้าวใหม่ของการกำจัดขยะ แต่ยังคงต้องอาศัยนักวิชาการผู้ชำนาญศึกษาผลได้ผลเสียอย่างจริงจังก่อน (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2544 หน้า 8)





ออกแบบเว็บไซต์สร้างโรงเรียนดิจิทัล

ดร.นงนุช ชาญปริยวาทีวงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท. ได้ร่วมกับโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และเว็บไซต์วิชาการดอทคอม ได้จัดประกวดออกแบบเว็บไซต์โต้ตอบเพื่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ www.vcharkarn.com/webcontest (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 เมษายน 2544 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


พบเทคนิคใช้รถสร้างอะไหล่มนุษย์เทคโนโลยีเปิดยุค ‘คนเสียซ่อมได้’

บริษัท แอนโทรเจเนซิส คอร์ป ระบุว่า การสกัดแยกเซลล์ตั้งต้น (Stem cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ยังไม่เจริญเต็มที่ สามารถนำมากระตุ้นในห้องปฏิบัติการเพื่อให้พัฒนาเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ เช่น กระดูก กระดูกอ่อน และกล้ามเนื้อ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เราสามารถใช้เซลล์ตั้งต้นในการรักษาแผลบาดเจ็บ หรือบำบัดโรคต่างๆ ได้ โดยสกัดแยกเซลล์ตั้งต้นจากรก เป็นวิธีที่มีข้อดีมากกว่าสกัดจากแหล่งอื่นๆ เช่น ไขกระดูก สายสะดือ ของทารกเกิดใหม่ ทารกที่แท้งในครรภ์ หรือตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมในหลอดแก้ว การสกัดเซลล์ตั้งต้นจากรกสามารถแยกเซลล์ตั้งต้นได้ในปริมาณมากกว่าจากสายสะดือ 10 เท่า และเชื่อว่าเซลล์ตั้งต้นจากรกสามารถพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อได้มากชนิดกว่าเซลล์ตั้งต้นจากสายสะดือหรือไขกระดูก ทั้งยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับบริจาคปฏิเสธอีกด้วย จนถึงขณะนี้นักวิจัยของแอนโทรเจเนซิส กล่าวว่า เขาสามารถกระตุ้นให้เซลล์ตั้งต้นแบ่งตัว และพัฒนาเป็นเซลล์เส้นประสาท เซลล์เลือด เซลล์ผิวหนัง และเซลล์กล้ามเนื้อได้แล้ว ตอนนี้กำลังพยายามสร้างกระดูกและไขกระดูก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เซลล์ตั้งต้นสามารถเป็นเซลล์ทดแทนที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคพาร์กินสัน โรคอันไซเมอร์ อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง แผลไฟไหม้ โรคหัวใจ ข้ออักเสบ และความเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 13 เมษายน 2544 หน้า 9)





เครื่องคัดขนาดเมล็ดกาแฟ

นายยุทธกิจ จินดา นายศราวุธ ชนะภักดี นายมนต์ชัย จินดาประดิษฐ์ นายสรรพสิทธิ์ พูลสวัสดิ์ นายสรเพชร รัตนวุฒิทวีวัฒน์ นายเอเซีย หาญสุราษฎร์ นายบาราเฮม สุมาลี นายธีระศักดิ์ นาคประดิษฐ์ และนายธีระพนธ์ ร่มพฤกษ์ นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 2 แผนกวิชาช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีแห่งที่ 2 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์ สั่งพล นิตย์นรา อาจารย์สิริพงศ์ เพชรนาค อาจารย์ บุญสงค์ ตั้งเจริญ และอาจารย์ ปิยรัตน์ ฤทธิเดช ร่วมกันประดิษฐ์ “เครื่องคัดขนาดเมล็ดกาแฟ” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ในระดับภาคใต้ปี 2543 ประเภทอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ เครื่องนี้จะแยกเมล็ดกาแฟออกเป็น 3 ขนาดคือ เมล็ดขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยเครื่องนี้สามารถคัดขนาดเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง สามารถเปลี่ยนตะแกรงเหล็กให้มีรูขนาดต่างๆ เพื่อใช้สำหรับคัดผลไม้อย่างอื่นได้อีกด้วย ค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่องนี้ประมาณ 13,000 บาท (สยามรัฐ จันทร์ที่ 9 เมษายน 2544 หน้า 20)





พบเทคนิคใช้รถสร้างอะไหล่มนุษย์เทคโนโลยีเปิดยุค ‘คนเสียซ่อมได้’

บริษัท แอนโทรเจเนซิส คอร์ป ระบุว่า การสกัดแยกเซลล์ตั้งต้น (Stem cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ยังไม่เจริญเต็มที่ สามารถนำมากระตุ้นในห้องปฏิบัติการเพื่อให้พัฒนาเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ เช่น กระดูก กระดูกอ่อน และกล้ามเนื้อ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เราสามารถใช้เซลล์ตั้งต้นในการรักษาแผลบาดเจ็บ หรือบำบัดโรคต่างๆ ได้ โดยสกัดแยกเซลล์ตั้งต้นจากรก เป็นวิธีที่มีข้อดีมากกว่าสกัดจากแหล่งอื่นๆ เช่น ไขกระดูก สายสะดือ ของทารกเกิดใหม่ ทารกที่แท้งในครรภ์ หรือตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมในหลอดแก้ว การสกัดเซลล์ตั้งต้นจากรกสามารถแยกเซลล์ตั้งต้นได้ในปริมาณมากกว่าจากสายสะดือ 10 เท่า และเชื่อว่าเซลล์ตั้งต้นจากรกสามารถพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อได้มากชนิดกว่าเซลล์ตั้งต้นจากสายสะดือหรือไขกระดูก ทั้งยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับบริจาคปฏิเสธอีกด้วย จนถึงขณะนี้นักวิจัยของแอนโทรเจเนซิส กล่าวว่า เขาสามารถกระตุ้นให้เซลล์ตั้งต้นแบ่งตัว และพัฒนาเป็นเซลล์เส้นประสาท เซลล์เลือด เซลล์ผิวหนัง และเซลล์กล้ามเนื้อได้แล้ว ตอนนี้กำลังพยายามสร้างกระดูกและไขกระดูก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เซลล์ตั้งต้นสามารถเป็นเซลล์ทดแทนที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคพาร์กินสัน โรคอันไซเมอร์ อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง แผลไฟไหม้ โรคหัวใจ ข้ออักเสบ และความเจ็บไข้ได้ป่วยอื่นๆ (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 13 เมษายน 2544 หน้า 9)





ข่าวทั่วไป


มหันตภัย ‘ดินสอพอง’ เชื้อโรค 280 เท่า โชคดีแค่ป่วยแต่ถ้าโชคร้ายมีสิทธิตาย

ศ.ดร. ภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากการสุ่มตรวจดินสอพอง พบว่า มีจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณ 7,800-2.8 แสนโคโลนีต่อกรัม หากจุลินทรีย์เหล่านี้เข้าสู่ร่างกายทางตา บาดแผลหรือสิว อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง นอกจากนี้ยังพบจุลินทรีย์ คลอสตริเดียว สปอร์โรจีเนสและคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ซึ่งเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล จะทำให้เกิดแผลเนื้อเน่าตาย ถ้าปนเปื้อนในอาหารอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้นผู้ใช้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2544 หน้า 24)





รับรองไทยปลอดโรครินเตอร์เปสต์

นายระพีพงษ์ วงศ์ดี อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการด้านโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคระบาดสัตว์อื่นๆ แห่งสำนักโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (โอไออี) ว่า ได้ให้การรับรองประเทศไทยเป็นประเทศปลอดต่อ โรครินเตอร์เปสต์แล้ว และมีผลบังคับใช้ประมาณเดือน พฤษภาคมนี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 เมษายน 2544 หน้า 24)





โปรเจกต์ใหม่ ‘หมัก’ ทำปุ่ยด้วยอึ

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผย ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขมว่า กทม. ได้สูบสิ่งปฏิกูลจากอาคารบ้านเรื่องทั่ว กทม. ประมาณวันละ 600 ลบ.ม. ซึ่งจากการนำสิ่งปฏิกูลไปบำบัดตามกระบวนการต่างๆ แล้ว จะได้กากตะกอนประมาณวันละ 30 ลบ.ม. ต่อวัน โดยกทม. ได้นำกากตะกอนที่บดแล้วไปผสมกับเศษกิ่งไม้ที่ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำเข้ากระบวนการตามขั้นตอนการผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ของ กทม. ได้ปีละประมาณ 10,000 ตัน เป็นการประหยัดงบประมาณที่กทม.ซื้อปุ๋ย เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้ถึงปีละ 6 ล้านบาท นายสมัครกล่าวว่า สำนักรักษาความสะอาดได้เสนอให้สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กทม. จำนวน 2 โรง มีมูลค่ารวม 11 ล้านบาท จะสร้างที่โรงกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือน (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2544 หน้า 6)





จ่ายภาษีรถสะดวก ยื่นขนส่งได้ทุกเขต

นายสมศักดิ์ วัฒนชีวโนปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและภาษีรถ เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกเจ้าของรถ สามารถชำระภาษีรถได้ที่สำนักงานขนส่งทุกเขตพื้นที่ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทุกแห่งทั่วประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทุกแห่งทั่วประเทศ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ร้านเอเอ็ม/พีเอ็ม ที่มีสัญลักษณ์ PAY POINT ทุกแห่งในเขตกรุงเทพฯ สำหรับรถที่ใช้บริการได้ต้องเป็นรถเก๋ง รถปิกอัพ หรือรถตู้ และรถจักรยานยนต์ โดยชำระล่วงหน้าก่อนวันสิ้นอายุภาษี 3 เดือน (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 12 เมษายน 2544 หน้า 34)





ไฟเขียนเกษตรกรผลิตไวน์

นางนันทพันธุ์ รัตนธรรม ผู้อำนวยการกองเคมีเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไวน์ผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ได้มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง มีผู้นำไปใช้ประสบผลสำเร็จ และกรมสรรพสามิตได้ยอมแก้กฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ และเงินทุนในการผลิตไวน์แล้ว คือไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ 100 ไร่ และไม่ต้องมีทุน 2 ล้านบาท ก็สามารถผลิตไวน์เพื่อจำหน่ายได้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 5 เมษายน 2544 หน้า 29)





ตั้งแท่นกทช.ปรับราคาแสตมป์ 1 บาท

นายสมชัย เรี่ยวพานิชกุล รองผู้ว่าการด้านไปรษณีย์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้เสนอขอปรับราคาแสตมป์ขึ้นอีก 1 บาท เนื่องจากกิจการไปรษณีย์ขาดทุน ทั้งนี้การไปรณีย์จะปรับปรุงบริการให้เป็นแบบเบ็ดเสร็จ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 9 เมษายน 2544 หน้า 9)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215