หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 2001-01-23

ข่าวการศึกษา

ติงมหาลัย’ลัยจับประเด็นม.นอกระบบ ต้องเน้นที่คุณภาพไม่ใช่สวัสดิการ
เผย 5 สาระแผนปฏิรูปอุดมศึกษาใหม่
ราชภัฏปฏิเสธชัดไม่ร่วมเอนทรานซ์
จุฬาฯปัดฝุ่นรางวัลอาจารย์ดีเด่น
สปช.ยอมรับงบฯซื้อหนังสือสูญนับร้อยล.
ชี้อนาคตเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้ต่างกัน
ปิดเทอมเข้าค่ายเรียนรู้โลกไซเบอร์
ข้าราชการยิ้ม กบข. จ่าย 5.5%
Princess tells teachers to focus on student-centred learning

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

Profit motive key to success
ยุโรปผวากระสุนยูเรเนียมก่อมะเร็ง
ยันเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด
‘สพช’เปิดเว็บ ‘นี่สิ..บ้านหาร 2’ แถมแจกคู่มือประหยัดพลังงาน
เปิดโลกวิศวกรรมผลงานของนักศึกษา
โอซากาโดม ซูเปอร์วงแหวน

ข่าววิจัย/พัฒนา

อเมซิ่งทุเรียน !
Mahidol steps into vaccine row to probe ‘conflict of interest’
ให้ 10 ทุนวิจัยการศึกษากทม.

ข่าวทั่วไป

สปรส.รับนโยบายทรท. ’30บาท’ รักษาทุกโรคสอดรับ ‘พ.ร.บ.สุขภาพ’
ต้านเพื่อนบ้านใช้ไทยเป็นทางผ่าน ‘ช้าง’
ศาลมะกันอนุญาตพ่อแม่เยี่ยมลูกทางอินเตอร์เน็ต
ตั้ง 3 สน.ดูภารกิจศาสนา รักษา-อุปถัมภ์-คุ้มครอง
ยาสลบตัวใหม่
ใช้เครื่องสำอางกรดผลไม้มั่ว! ระวังผลร้ายแก่เร็วกว่ากำหนด
ค้า ‘สเปิร์ม’ ไต้หวันเฟื่อง เปิดเว็บไซต์ขายโจ๋งครึ่ม
1 เมษายนขึ้นค่าทางด่วน
พัฒนาคุณภาพประปาให้ตรวจสอบได้เอง
ทำย่านเยาวราชเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ระบบขนส่งสาธารณูปโภคจับลงใต้ดิน





ข่าวการศึกษา


ติงมหาลัย’ลัยจับประเด็นม.นอกระบบ ต้องเน้นที่คุณภาพไม่ใช่สวัสดิการ

จากการสัมนาเรื่อง “ทิศทางสังคมไทยกับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ” ศ. ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการ ร.ร.วชิราวุธวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม จะต้องจัดหลักสูตรการสอนที่หลากหลาย ที่สำคัญมหาวิทยาลัยต้องแสวงหาความรู้ ทำวิจัย และสร้างภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งพาตนเองให้ได้ ส่วนเรื่องการออกนอกระบบก็ไม่ใช่จะพูดแต่เรื่องสวัสดิการของอาจารย์ แต่ต้องดูว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยยกระดับคนให้ได้เปรียบ เสียเปรียบกันน้อยลง และจะจัดการกับระบบที่แย่ๆ อยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ศ. นพ. ประเวศ วะสี กล่าวว่า ประเทศชาติจะอยู่ได้เมื่อประชาชนมีปัญญาสูง แต่ไทยยังไม่มี ดังนั้นผู้ที่จะให้ประเทศรอดได้คือ มหาวิทยาลัยที่จะต้องสร้างปัญญาให้กับคน การออกนอกระบบเพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยมีความอิสระในการคิด และบริหารงานให้คล่องตัวมากขึ้นสามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีความรับผิดชอบต่อการทำงาน สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นรัฐบาลยังต้องให้เงินสนับสนุนเหมือนเช่นเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมด้วย รศ.ดร. ธัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกนอกระบบไม่ใช่สิ่งยืนยันว่า มหาวิทยาลัยจะดีขึ้น แต่การออกนอกระบบทำให้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะดีกว่า ด้าน ศ. นพ. พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังไม่ดีพอ การศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโครงการวิจัยบางโครงการว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เรายังต้องจ้างชาวต่างประเทศมาช่วยทำให้ถือว่าเป็นการเสียค่าด้อยวิชา จึงทำให้ไทยเสียเปรียบทางปัญญาตลอดเวลา (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 มกราคม 2544 หน้า 10)





เผย 5 สาระแผนปฏิรูปอุดมศึกษาใหม่

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนปฏิรูปอุดมศึกษาระยะต่อไปได้จัดทำเสร็จแล้ว โดยมีสาระคือ 1.เตรียมปรับโครงสร้างและบทบาทของทบวงฯ เป็นสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (กอศ.) โดยจะประสานกับสำนักงานปฏิรูปการศึกษายกร่าง พรบ. กระทรวงศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม 2.การจัดตั้งกองทุนพัฒนาอาจารย์และบุคลากรเป็นการเฉพาะ และจัดทำโครงสร้างบัญชีเงินเดือนอาจารย์ให้สอดคล้องกับเงินเดือนครู 3.พัฒนาระบบประกันคุณภาพ 4.ระดมทรัพยากรและการลงทุน 5.พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 6.พัฒนากระบวนการการเรียนการสอน หลักสูตร การวัดผลและการรับนักศึกษา (มติชน ศุกร์ที่ 5 มกราคม 2544 หน้า 10)





ราชภัฏปฏิเสธชัดไม่ร่วมเอนทรานซ์

ดร. สุวรรณ นาคพนม รักษาการเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) กล่าวถึงกรณีที่ รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอให้สถาบันราชภัฎ (รภ.) ทุกแห่งร่วมกันสอบเอนทรานซ์ว่า โดยหลักการคิดว่า รภ. คงไปร่วมไม่ได้ เพราะมีปรัชญาต่างกัน โดย รภ. ต้องการเป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาคนในท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง อันจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นของตน และแม้ว่าในปี 2545 จะต้องหลอมรวมเข้าไปอยู่ภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วยกัน แต่ภายใต้โครงสร้างนั้นก็ยังจำเป็นต้องมีกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่มีจุดเน้นต่างกันอยู่ คือสถาบันเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสถาบันเพื่อผลิตกำลังคนออกไปแข่งขันกับต่างประเทศ (เดลินิวส์ อังคารที่ 16 มกราคม 2544 หน้า 10)





จุฬาฯปัดฝุ่นรางวัลอาจารย์ดีเด่น

รศ.ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ ได้คิดจะให้รางวัลอาจารย์ดีเด่นอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเริ่มในปี 2545 เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ และที่สำคัญมีการสร้างผลงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่สังคม เพราะโดยส่วนตัวตนเห็นว่าการทำวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่โดยภาพรวมพบว่า มีอาจารย์ไม่ถึง 50% ที่ทำวิจัย เพราะตราบใดที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ทำงานวิจัย ตนก็เชื่อว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ช่วยสร้างสังคมไทยแบบใหม่ได้อย่างแท้จริง (เดลินิวส์ พุธที่ 17 มกราคม 2544 หน้า 12)





สปช.ยอมรับงบฯซื้อหนังสือสูญนับร้อยล.

นายชลอ กองสุทธิ์ใจ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยว่า สำนักพิมพ์ (สนพ.) บางแห่งร่วมกันให้ประโยชน์กับกรมที่มีสถานศึกษาในสังกัด เพื่อให้จัดซื้อหนังสือค้างสต๊อกของตนเข้าห้องสมุดโรงเรียนมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากในปี 2545 เป็นปีที่กรมวิชาการได้ทำการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ อาจทำให้โรงเรียนสามารถใช้หนังสือเก่าได้เพียงปีเดียวว่า ยอมรับว่าในปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ประสบปัญหาการจัดซื้อหนังสือเก่าที่มีเนื้อหาล้าสมัย หนังสือซ้ำซ้อนและราคาแพง โดยมีการเอื้อประโยชน์ให้จากสำนักพิมพ์ ทำให้ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ถ้านับย้อนเวลาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเกิดการสูญเปล่าในส่วนนี้ไม่น้อยกว่าหลักร้อยล้านขึ้นไป (มติชน ศุกร์ที่ 5 มกราคม 2544 หน้า 10)





ชี้อนาคตเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้ต่างกัน

รศ.ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) เสนอให้มีการระดมทุนการศึกษาด้วยการออกพันธบัตรว่า ตนเห็นด้วยและคิดว่าน่าจะดีกว่าการเก็บภาษีการศึกษา เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวและไม่เป็นภาระผูกพันกับรัฐมากเกินไป และได้กล่าวต่อไปว่า รัฐต้องจัดสรรทรัพยากรและกระจายความพร้อมไปสู่ชนบทอย่างจริงจัง โดยการจัดสรรเงินต้องเป็นไปในรูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องของคุณภาพควบคู่ไปกับความเท่าเทียมกัน ในอนาคตปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะขณะนี้โรงเรียนในเมืองส่วนใหญ่จะจ้างบริษัทมาทำห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ มีการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต จึงทำให้เด็กเข้าถึงความรู้ยุคใหม่ได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากเด็กชนบทที่ไม่ได้รับความรู้ดังกล่าวเลย ดังนั้นโอกาสที่เด็กจะไม่ได้รับความเท่าเทียมกันก็จะมีมากขึ้น ซึ่งนักการศึกษาจะต้องระวังโดยเฉพาะการได้เปรียบและเสียเปรียบในการได้รับความรู้ของบุคคล (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2544 หน้า 12)





ปิดเทอมเข้าค่ายเรียนรู้โลกไซเบอร์

รศ.ดร. ทนง ภัครัชพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ร่วมกับ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จัดค่ายเยาวชนสมองแก้วเกษตรศาสตร์-ซีเกท ครั้งที่ 14 ขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน นี้ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคฤดูร้อนให้เป็นประโยชน์ โดยเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรร รักการเรียนรู้และมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างและปลูกฝังให้เยาวชนเกิดจินตนาการในโลกไซเบอร์สเปซที่ถูกต้อง เช่น กิจกรรมคอมพิวเตอร์ การสร้างสรรเว็บไซต์ การสร้างสรรเส้นแสง ช่างคิดวิศวกร ศิลปะประดิษฐ์ เกมและนันทนาการต่างๆ ผู้สนใจขอรับใบสมัครได้ที่สำนักงานบริการคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรฯ โทร.562-0951-3 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ ม.เกษตรฯ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. (034) 281-650, 281-651 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 19 มกราคม 2544 หน้า 16)





ข้าราชการยิ้ม กบข. จ่าย 5.5%

น.ส. นวพร เรืองสกุล เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ในปี 2543 กบข. สามารถบริหารเงินกองทุนจนทำให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนสูงถึง 5.5% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการที่สมาชิกออมเอง เพราะจะได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3.7% นอกจากนี้สมาชิก กบข. ที่เป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเริ่มก่อตั้ง กบข. เมื่อคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2543 แล้ว สมาชิกได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเงินต้นของสมาชิกแต่ละรายประมาณ 43% หรือคิดเป็นประมาณ 11% ต่อปี (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 15 มกราคม 2544 หน้า 9





Princess tells teachers to focus on student-centred learning

สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จไปเปิดงานวันครูที่คุรุสภา และได้มีพระราชดำรัสให้ครูสอนทั้งจริยธรรมและศีลธรรมแก่เด็ก เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขต่อไป และให้ทำตนเป็นต้นแบบที่ดีแก่เด็กนักเรียน นอกจากนั้นพระเทพฯ ยังได้ตรัสให้ครูใช้วิธีการสอนแบบให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องครูต้องทำงานวิจัยและผลงานเพื่อเลื่อนขั้น/ตำแหน่ง ซึ่งทำให้คุณภาพการสอนลดลง พระเทพฯ เสนอคุรุสภาให้พิจารณาหารูปแบบที่เป็นไปได้แบบอื่นในการเลื่อนขั้น/ตำแหน่ง แก่ครูที่ปฏิบัติงานดีโดยไม่ต้องทำผลงานซึ่งคุรุสภาได้รับไปพิจารณาหาแนวทางต่อไป (Bangkok Post Wed, Jan., 17, 2001 p.4)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


Profit motive key to success

Thongchai Panswad ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในเรื่องความสำคัญ และการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการทิ้งขยะที่กระทำกันมากว่า 10 ปีนั้น เป็นกิจกรรมที่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะจำนวนขยะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี และขยะทั่วประเทศมีจำนวน 13 ล้านตันต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะจากกล่องของสินค้า ดังนั้นรัฐบาลควรหันมากำหนดมาตรการให้ภาคผู้ผลิตใช้วัสดุที่ใช้ในการบรรจุหีบห่อเป็นวัสดุที่สามารถนำมา Recycle ได้แทน ขณะนี้มีภาคอุตสาหกรรม 10 องค์กรที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้แล้ว (Bangkok Post, Wed., Jan., 17, 2001, front page)





ยุโรปผวากระสุนยูเรเนียมก่อมะเร็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณีที่ประชาชนในทวีปยุโรปกำลังวิตกกังวลกันอย่างมาก ที่ทหารสหรัฐซึ่งเข้าประจำการรักษาสันติภาพในโคโซโว ใช้กระสุนยูเรเนียม ในการรักษาสันติภาพ แม้ว่าทั่วทั้งยุโรปเกิดความหวั่นวิตกต่อการใช้กระสุนชนิดนี้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทหารและประชาชน โดยมีการเกรงกันว่าหลังจากกระสุนดังกล่าวระเบิดนั้น จะมีกัมมันตภาพรังสีแผ่ออกมา ทำให้ทหารและประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวป่วยเป็นโรคมะเร็งได้ แต่กองทัพสหรัฐในโคโซโวจะใช้กระสุนยูเรเนี่ยมต่อไป (มติชน พุธที่ 10 มกราคม 2544 หน้า 7)





ยันเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด

นายนที สิทธิประศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ บริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด อำเภอหินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตามที่องค์กรสิ่งแวดล้อมจะเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลใหม่ขอให้ยุติโครงการทุกโครงการที่มีความขัดแย้งกับประชาชน และหนึ่งในโครงการเหล้านั้นมีเรื่องของโรงไฟฟ้าหินกรูดอยู่ด้วยนั้น ทางบริษัทเองก็จะเดินหน้าต่อไป (มติชน พฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2544 หน้า 7)





‘สพช’เปิดเว็บ ‘นี่สิ..บ้านหาร 2’ แถมแจกคู่มือประหยัดพลังงาน

นายพงษ์พิสิฏฐ์ วิเศษกุล ผู้อำนวยการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เปิดเผยว่า สพซ. ได้รณรงค์การประหยัดพลังงานในบ้านหรือ “นี่สิ…บ้านหาร 2” ด้วยการแนะนำเคล็ดลับวิธีจัดบ้าน ปรับปรุงบ้าน หรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้เป็นบ้านหาร 2 ซึ่งเคล็ดลับดังกล่าวสามารถหาดูได้ในเว็บไซด์ www.nepo.go.th นอกจากนี้ ยังได้ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแบบบ้านประหยัดพลังงานเป็นแบบบ้านเดี่ยว 4 แบบ โดยจัดทำแบบแปลนและโมเดลให้ประชาชนที่สนใจนำไปปลูกสร้าง (มติชน ศุกร์ที่ 5 มกราคม 2544 หน้า 7)





เปิดโลกวิศวกรรมผลงานของนักศึกษา

นายสุธรรม มนตรีกานนท์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ห้างฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ได้ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนวท.) ขอเชิญชมนิทรรศการ ผลงานนักเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ 15 สถาบันในงาน “เปิดโลกวิศวกรรมประจำปีการศึกษา 2543” โชว์ผลงานจากความคิดของนักศึกษาไทยกว่า 60 ชิ้น ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2544 ที่ชั้น HF ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 19 มกราคม 2544)





โอซากาโดม ซูเปอร์วงแหวน

อาคารโอซากาโดม มีชั้นจำนวน 9 ชั้น สามารถเป็นได้ทั้งสนามเบสบอล หรือสนามกีฬาอื่นๆ และยังเป็นสถานแสดงคอนเสิร์ตที่มีระบบแสงสีเสียงสมบูรณ์แบบ มีพื้นที่มากถึง 156,400 ตารางเมตร จุที่นั่งได้ถึง 55,000 ที่นั่ง โดมแห่งนี้สามารถใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ได้มากกว่า 200 วันในแต่ละปี หลังคาโดมเป็น “ระบบซูเปอร์วงแหวน” แห่งแรกของโลก วงแหวนนี้สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ ส่วนพื้นเวทีที่มีสนามหญ้าเทียมก็เลื่อนได้โดยใช้เวลาเพียง 1ชั่วโมงก็จะกลายเป็นเวทีมีอุปกรณ์ล้ำสมัย (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2544 หน้า 5)





ข่าววิจัย/พัฒนา


อเมซิ่งทุเรียน !

ดร. อัมพวัน ตั๊นสกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาเทคโนโลยีอาหาร ทำการวิจัยและพัฒนาแปรรูปทุเรียน เพื่อเพิ่มศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ จึงนำเทคโนโลยีการอบแห้งแบบระเหิดมาใช้เพื่อแปรรูปทุเรียนให้อยู่ในรูปของอาหารขบเคี้ยว (snack food) ที่มีลักษณะแตกต่างจากทุเรียนทอด นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาของทุเรียน การทำแห้งแบบระเหิด (freeze drying) เป็นกระบวนการระเหิดน้ำจากสถานะของแข็งให้กลายเป็นสถานะไอโดยตรง จะเกิดขึ้นที่ความดันต่ำ กรรมวิธีการทำแห้งประกอบด้วยการแช่แข็งอาหารก่อนแล้วจึงให้ความร้อนแก่ผิวของผลิตภัณฑ์ ทำให้น้ำแข็งระเหิดเป็นไอน้ำ โดยจะช่วยรักษาสี กลิ่น รสของผลิตภัณฑ์ และคุณค่าทางอาหาร (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2544 หน้า 20)





Mahidol steps into vaccine row to probe ‘conflict of interest’

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามาตรวจสอบความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักวิจัยที่ได้ทำการทดลองวัคซีนโรคเอดส์ ที่รู้จักกันในนาม Remune กับกลุ่มผู้ประเมินผลจากสำนักงานเอดส์แห่งชาติ ซึ่งข้อขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 กลุ่มเริ่มขึ้นเมื่อหัวหน้าคณะนักวิจัยโครงการทดลองวัคซีนโรคเอดส์ ดร. Vina Churdboonchart จาก Trinity Medical Group ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ให้ถอดถอนผู้ประเมินผลโครงการทดลองวัคซีนโรคเอดส์ 3 คน จากจำนวน 10 คนออกจากการเป็นผู้ประเมิน โดย ดร. วีณา ได้กล่าวว่า ผู้ประเมินทั้ง 3 คน ไม่ได้ให้ความสำคัญต่องานวิจัยนี้และที่ทำเช่นนั้น เพราะพวกเขากำลังทำวิจัยเรื่อง วัคซีนโรคเอดส์อยู่ด้วย เธอกล่าวว่า ผู้ประเมินทั้ง 3 คนไม่เห็นด้วยกับโครงการวิจัย ที่เสนอขอศึกษาเรื่องวัคซีนต่อไป ซึ่งจะศึกษากับอาสาสมัครจำนวน 10,000 คน นอกจากนี้ ดร. วีณา ยังเสนอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประเมินอีก 7 คน โดยกล่าวว่า บางคนไม่เคยทำงานทดลองประเภทนี้มาก่อน บางคนไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารด้านการแพทย์ระดับนานาชาติเลย ในขณะเดียวกัน Dr. Viput Pooleharoen หนึ่งในผู้ประเมินผลได้กล่าวว่า การทดลองวัคซีนได้ถูกพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เป็นการลงทุน (Bangkok Post, Wed., Jan., 17, 2001, front page)





ให้ 10 ทุนวิจัยการศึกษากทม.

นายไพรัช อรรถกามานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา แจ้งว่า สำนักจะจัดมอบทุนอุดหนุนการวิจัย 10 ทุน ทุนละ 20,000 บาท ให้กับผู้ที่ทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของ กทม. โดยผู้มีสิทธิ์ขอรับทุนเป็นนักศึกษาปริญญาโท-เอก ที่กำลังศึกษาอยู่ภายในประเทศ เป็นบุคลากรทางการศึกษาหรือเป็นงานที่ทำวิจัย กำหนดต้องเป็นหน่วยงานวิจัยในสถานศึกษาของครู คณาจารย์ ที่สังกัด กทม. สำหรับเรื่องที่ทำการวิจัยถ้าเป็นปริญญานิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์ต้องได้รับอนุมัติเค้าโครงการวิจัยจากสถาบันศึกษา ถ้าเป็นวิจัยส่วนตัวต้องมีคำรับรองของหัวหน้าหน่วยงาน และถ้าเป็นการวิจัยในนามของหน่วยงานต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ ผู้สนใจยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานได้ที่ฝ่ายการเรียนการสอน กองวิชาการ สำนักการศึกษา ตั้งแต่บัดนี้ - 23 มีนาคม 2544 โทร.437-2047 (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2544 หน้า 6)





ข่าวทั่วไป


สปรส.รับนโยบายทรท. ’30บาท’ รักษาทุกโรคสอดรับ ‘พ.ร.บ.สุขภาพ’

น.พ. อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) กล่าวถึงนโยบายด้านสังคมของพรรคไทยรักไทย “ประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาทรักษาโรคได้” ว่า เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันกับคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) ภายใต้การประสานงานของสปรส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2543 เพื่อดำเนินการร่าง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติให้เสร็จภายใน 3 ปี (2543-2546) โดยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ สปรส. จะผลักดันให้สำเร็จให้คนไทย 62 ล้านคน ทั้งยากจนและร่ำรวยมีหลักประกันถ้วนหน้า คือมีหลักประกันด้านการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสุขภาพ เข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วย ไม่ใช้ประกันด้านการรักษาพยาบาลอย่างเดียว ส่วนวิธีปฏิบัติจะมีระบบย่อยอย่างไรต้องคุยกัน เพราะตรงนี้กระทบกับคนไทยทุกคน ต้องมีระบบบริหารจัดการที่เป็นคุณกับส่วนรวมและมีเงินมาเกี่ยวข้องหลายแสนล้านบาท (มติชน พุธที่ 10 มกราคม 2544 หน้า 7)





ต้านเพื่อนบ้านใช้ไทยเป็นทางผ่าน ‘ช้าง’

นางสาวโซไลดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เปิดเผยว่า การนำช้างออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมไปยังเขตพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแตกต่างออกไปคือหนาวมาก ในขณะที่ช้างเหล่านี้ชินกับอากาศร้อนจะสร้างปัญหา และอาจจะส่งผลกระทบถึงสุขภาพช้างได้ จากประสบการณ์ของมูลนิธิเพื่อนช้างพบว่า ในช่วงฤดูหนาวปี 2542-2543 ประเทศไทยมีอากาศหนาวมาก ทำให้ช้างทนไม่ไหวและหนาวตายจำนวนถึง 20 เชือก การส่งออกช้างลาวไปยังประเทศเกาหลีใต้ที่มีอากาศหนาวแตกต่างจากภูมิอากาศแถบนี้จึงเชื่อได้ว่า มีปัญหากับช้างแน่นอนหากดูแลไม่ดีอาจทำให้ช้างเสียชีวิตได้ ประเทศไทยไม่ควรยอมเป็นทางผ่านให้มีการนำช้างเพื่อนบ้านออกนอกประเทศได้ นอกจากนี้เพื่อป้องกันการลักลอบสวมตอช้างโดยการนำช้างป่าหรือช้างจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมรอยตั๋วรูปพรรณช้างในประเทศเพื่อทำธุรกิจ กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องจัดทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอของช้างทุกตัวเอาไว้เป็นหลักฐานด้วย เพื่อยืนยันและป้องกันการลักลอบนำช้างที่อื่นมาสวมรอยค้าขายส่งออกด้วย (มติชน พฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2544 หน้า 7)





ศาลมะกันอนุญาตพ่อแม่เยี่ยมลูกทางอินเตอร์เน็ต

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลอุทธรณ์ของรัฐนิวเจอร์ซีตัดสินให้ บิดาเยี่ยมเยียนบุตรสาว ซึ่งย้ายตามอดีตภรรยาไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยวิดีโอทางเว็บไซต์อินเตอร์เน็ตได้ โดยการตัดสินดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกในรัฐนิวเจอร์ซี และเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมเริกาที่ศาลอนุญาตให้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อในการเยี่ยมเยียนบุตรของผู้ปกครองซึ่งหย่าร้างกัน ซึ่ง เดวิด เลวี ประธานของสภาสิทธิเด็กให้ความเห็นต่อคำตัดสินดังกล่าวว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยากและเห็นว่าเป็นคำตัดสินที่ยอมรับไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้ให้กำเนิดเด็กทางอินเตอร์เน็ต (มติชน จันทร์ที่ 8 มกราคม 2544 หน้า 7)





ตั้ง 3 สน.ดูภารกิจศาสนา รักษา-อุปถัมภ์-คุ้มครอง

นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับกรณีกรมการศาสนาเสนอให้มีสำนักทรัพย์สินส่วนพระศาสนาและพัฒนาศาสนสถาน เพื่อช่วยประสานและดูแลงานศาสนสมบัติกลางของวัด และยังเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อจาก สำนักประสานการส่งเสริมศาสนา เป็น สำนักอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา และปรับเปลี่ยนเนื้องานให้สอดคล้องกับภารกิจมากขึ้น และให้เพิ่มกลุ่มงานส่งเสริมมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษาสงฆ์ อย่างไรก็ตามคณะทำงานต้องดูรายละเอียด และเสนอข้อยุติให้พระเถระผู้ใหญ่ต่อไป (สยามรัฐ เสาร์ที่ 13 มกราคม 2544 หน้า 20)





ยาสลบตัวใหม่

เตือนภัยสาววัยรุ่นที่ชอบเที่ยว เผยสูตรยาสลบตัวใหม่นอกจากจะใช้สูตรยาสลบแบบเดิมแล้ว ยังนำฮอร์โมนทำหมันสัตว์ผสมลงไปด้วย ทำให้ไม่สามารถจำอะไรได้และไม่ทำให้ท้อง แพทย์หวั่นหากมีการนำฮอร์โมนสัตว์มาผสมจริง จะมีอันตรายถึงขั้นไม่สามารถมีบุตรได้ตลอดชีวิต (มติชน พฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2544 หน้า 13)





ใช้เครื่องสำอางกรดผลไม้มั่ว! ระวังผลร้ายแก่เร็วกว่ากำหนด

น.พ. ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์เชี่ยวชาญโรคผิวหนังมีคำแนะนำว่า ปัจจุบันหญิงไทยใช้เครื่องสำอางกลุ่มกรดผลไม้ หรือ AHA (Alpha Hydroxy acid) ได้จากผลไม้ ซึ่งอาจทำให้รอยเหี่ยวย่นจางๆ ของผิวหนังลดลงได้บ้าง ช่วยรักษารอยฝ้า กระ รอยด่างดำ และสิวได้บ้างเล็กน้อย แต่กรดผลไม้จะไม่สามารถรักษารอยเหี่ยวแก่ในชั้นผิวหนังแท้ ที่เกิดจากการถูกแสงแดดจัดมาเป็นเวลานาน และไม่สามารถรักษารอยย่นที่หน้าผาก รอยย่นที่หัวคิ้ว และรอยตีนกา เพราะทั้งสามอย่างเกิดจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (มติชน พฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2544 หน้า 13)





ค้า ‘สเปิร์ม’ ไต้หวันเฟื่อง เปิดเว็บไซต์ขายโจ๋งครึ่ม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ปัจจุบันมีการประกาศขายสเปิร์มทางอินเตอร์เน็ต เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไต้หวัน มักพบในห้องสนทนาหรือกระดานข่าวออนไลน์ของสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามการประกาศต้องเลี่ยงคำว่า “ขาย” หรือ “ซื้อ” เนื่องจากการจำหน่ายหรือซื้อโลหิต และสเปิร์มยังถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไต้หวัน (มติชน พุธที่ 10 มกราคม 2544 หน้า 7)





1 เมษายนขึ้นค่าทางด่วน

ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีมติให้การทางฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต 2% จากผู้ใช้ทางด่วน เท่ากับค่าทางด่วนจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ สำหรับภาระที่ผู้ใช้ทางต้องเพิ่มคือ ถ้าขึ้นทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 รถ 4 ล้อเสียค่าทางด่วน 40 บาท แวตเท่ากับ 2.8 บาท การทางฯจะปัดเศษขึ้นเป็น 3 บาท เพื่อให้การจัดเก็บสะดวก เท่ากับต้องจ่าย 43 บาท ส่วนรถประเภทอื่นก็บวก 7% เพิ่มเข้าไปอีก ทางด่วนรามอินทรา รถ 4 ล้อ 30 บาท แวตเท่ากับ 2.1 บาท ส่วนนี้กำลังพิจารณาว่าจะปัดเป็น 3 บาท หรือเก็บแค่ 2 บาท เพราะได้ปัดเศษในส่วนทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ขึ้นแล้ว สำหรับบางส่วนที่เก็บเกินไปนั้น อาจนำเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาจราจรบนทางด่วน หรือไว้ใช้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางด่วน หรือใช้ในสาธารณประโยชน์อื่น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 15 มกราคม 2544 หน้า34)





พัฒนาคุณภาพประปาให้ตรวจสอบได้เอง

น.พ. วัลลภ ไทยเหนือ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการประชุมนานาชาติเรื่องการประกันคุณภาพในระบบน้ำประปา ที่สถานฝึกอบรมเทคโนโลยีการประปาแห่งชาติ การประปานครหลวง ได้ระดมความคิดหาแนวทางเพื่อให้ประชาชนใช้น้ำสะอาด ในอนาคตหวังว่าประชาชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ด้วยตนเอง โดยขณะนี้ได้คิดค้นและผลิตแถบตรวจสอบคุณภาพน้ำ (Test kit) (เดลินิวส์ พุธที่ 17 มกราคม 2544 หน้า 34)





ทำย่านเยาวราชเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ระบบขนส่งสาธารณูปโภคจับลงใต้ดิน

ผศ. ยงธนิศร์ พิมลเสถียร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์เกิดขึ้นก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาชาวจีนรวมตัวอาศัยอยู่หนาแน่นจนทำให้มีความเจริญสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน เป็นพื้นที่การค้าที่สำคัญ และเป็นพื้นที่ที่ตื่นตลอด 24 ชั่วโมง หากปล่อยให้เติบโตไร้ทิศทางปัญหาก็จะมากขึ้น จากการวิเคราะห์เห็นว่า ควรปรับปรุงกายภาพให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ควรศึกษาการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินตามแนวถนนเจริญกรุง ทำโครงการถนนวงแหวนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และก่อสร้างระบบท่อรวมสาธารณูปโภคใต้ดิน ให้คงเอกลักษณ์ชุมชนเก่าแก่ไว้ โดยเฉพาะถนนเยาวราช ถนนทรงวาด เวิ้งท่านเลื่อนฤทธิ์ และพื้นที่ริมน้ำ (เดลินิวส์ พุธที่ 17 มกราคม 2544 หน้า 34)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215