หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 2001-05-08

ข่าวการศึกษา

นักการศึกษาประสานเสียงปรับปรุงเอนทรานซ์ไม่เน้นวิชาการ
ปฏิรูปการศึกษา ‘ระบบทวิภาคี’ โครงการของ ‘อาชีวะ’


ข่าววิจัย/พัฒนา

มจธ.ประดิษฐ์เครื่องสางเส้นใยกกช้าง
ชุดตรวจยาปฏิชีวนะตกค้างใน “น้ำนมโค” คว้ารางวัล
‘กฤษณา’ไม้ป่าราคาแพง ปลูกได้แล้วที่เพชรบูรณ์

ข่าวทั่วไป

ชวนเอกชนตั้งโรงงานเอทานอล
ชวนเอกชนตั้งโรงงานเอทานอล
พิทักษ์จับสินค้าพื้นเมืองขึ้นทะเบียน





ข่าวการศึกษา


นักการศึกษาประสานเสียงปรับปรุงเอนทรานซ์ไม่เน้นวิชาการ

รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานงานระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทบวงมหาวิทยาลัยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยว่า ที่ประชุมได้รับข้อเสนอของ ทปอ. เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบเอนทรานซ์ ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 โดยในหลักการจะพิจารณาจากองค์ประกอบ ได้แก่ ผลการสอบวิชาหลักหรือข้อสอบมาตรฐานวัดความถนัดทางการเรียน (SAT) ซึ่งจัดสอบร่วมกัน โดยสำนักทดสอบกลางที่จะจัดตั้งขึ้นในสังกัดกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ส่วนผลการเรียนระดับมัธยม (GPA) ให้รับจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง ส่วนผลสอบวิชาเฉพาะหรือความถนัดเฉพาะด้านให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง แต่ให้ปรับปรุงการทดสอบโดยอิงเนื้อหาน้อยที่สุด แต่ให้วัดทักษะ การคิด วิเคราะห์และการใช้ภาษาให้มากที่สุด นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับข้อเสนอของทบวงฯ ที่ให้มีการปรับลดการเก็บคะแนนสอบวัดความรู้จาก 3 ปีเป็น 2 ปี ซึ่งนักการศึกษาเห็นด้วยกับการเอนทรานซ์ระบบใหม่เพราะจะช่วยลดปัญหาการเรียนแบบท่องจำ และลดปัญหาการกวดวิชาด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 1 พฤษภาคม 2544 หน้า 10)





ปฏิรูปการศึกษา ‘ระบบทวิภาคี’ โครงการของ ‘อาชีวะ’

นายชื้น เสนาะจิตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท กล่าวว่า สถาบันอาชีวศึกษาซึ่งเป็นแหล่งผลิตช่างฝีมือ ช่างเทคนิคออกสู่ตลาดจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย เพื่อให้ได้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อตอบสนองสถานประกอบการ โครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระบบทวิภาคี จึงเป็นโครงการที่เข้ามาเสริมในด้านพัฒนาคุณภาพแก่ช่างเทคนิค ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถานการศึกษา และ สถานประกอบการ นายสุราษฎร์ เดชปรอท หัวหน้างานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนในระบบทวิภาคี 3 แผนก ประกอบด้วย สาขาวิชาช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ และพาณิชยการ (กลุ่มวิชาธุรกิจค้าปลีก) แผนกละ 40 คน โดยใช้เวลาเรียนและปฏิบัติ 3 ปี จะเรียนในสถานศึกษา 3 วัน และทำงานในสถานประกอบการอีก 3 วันในหนึ่งสัปดาห์ เจ้าของสถานประกอบการจะทำหน้าที่เสมือนครูฝึกหัด ผู้ชี้แนะและคุมการปฏิบัติงานของนักศึกษา ขณะเดียวกันสถานศึกษาจะเป็นผู้สอนภาคทฤษฎีและปฏิบัติงานเบื้องต้น เรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2544 หน้า 32)






ข่าววิจัย/พัฒนา


มจธ.ประดิษฐ์เครื่องสางเส้นใยกกช้าง

ผศ. พรรณี รัตนชัยสิทธิ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และทีมวิจัย พบว่าส่วนใบของกกช้าง (ธูปฤาษี) มีเส้นใยจำพวกใยเซลลูโลสที่สามารถปั่นเป็นเส้นด้ายแล้วนำไปทอเป็นผืนผ้า ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้ ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย และผ้าสังเคราะห์ วิธีการนำเส้นใยจากกกช้างมาใช้นั้น ต้องให้สารเคมีเป็นตัวสกัดส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มจนให้เหลือแต่เส้นใย จากนั้นใช้เข็มดึงแยกเส้นใยออกมา แต่วิธีการนี้ทำให้เส้นใยลดความเหนียวลงเนื่องจากถูกสารเคมีกัด ดังนั้น นายทรงศักดิ์ สมจักร์ นายศิลปชัย ศรีอุทัย และนายณัฐพร ชุมสมุย นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. โดยมี ผศ. สุรชัย บวรเศรษฐนันท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จึงได้ร่วมกันออกแบบเครื่องต้นแบบเครื่องสางใยกกช้างเพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการสางเส้นใยจากใบพืชที่มีลักษณะเดียวกันได้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 470-9123 (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2544 หน้า 29)





ชุดตรวจยาปฏิชีวนะตกค้างใน “น้ำนมโค” คว้ารางวัล

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2544 รางวัลชมเชยด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร แก่ผลงานเรื่องชุดตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในนมโค “เคเอส-9” ของ รองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ดอกเตอร์ เกรียงศักดิ์ สายธนู และ รองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ดอกเตอร์ ธงชัย เฉลิมชัยกิจ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัญหายาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนมโค ทำให้อาจมีผลข้างเคียงกับผู้บริโภค ดังนั้นเกษตรกรและโรงงานรับซื้อน้ำนมดิบจึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบหายาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนม ที่ผ่านมาต้องใช้ชุดตรวจสอบยาตกค้างที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง วิธีการใช้ชุดตรวจสอบที่ได้รับรางวัลนี้ สามารถเข้าใจได้ง่าย สะดวกในการใช้ สามารถตรวจพบยาปฏิชีวนะในระดับต่ำ มีความไว และความถ่วงจำเพาะสูง รู้ผลเร็ว เก็บรักษาง่าย อายุการเก็บนาน ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังค์ เขตปทุมวัน 10330 หรือ โทร. 218-9586, 218-9671 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2544 หน้า 24





‘กฤษณา’ไม้ป่าราคาแพง ปลูกได้แล้วที่เพชรบูรณ์

“ไม้กฤษณา” เป็นไม้ป่าที่หายากและมีราคาแพง เนื่องจากนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย จึงมีการลักลอบตัดจนทำให้แทบจะสูญพันธุ์ รองศาสตราจารย์ ศุภนิจ อารีหทัยรัตน์ แห่งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทดลองปลูกกฤษณามาตั้งแต่ปี 2537 โดยปลูกที่บ้านคลองตะเคียน ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 10 ไร่ พบว่า กฤษณา ให้น้ำมันหอมระเหยนี้มีเกรดน้ำมันใกล้เคียงกับที่มีการซื้อขายในตลาด ซึ่งจะนำไปหมักและต้มแล้วสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย และตลาดมีความต้องการสูง การปลูกกฤษณา จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร นอกจากจะช่วยป้องกันการลักลอบนำกฤษณาออกจากป่าแล้ว ยังถือว่าเป็นการปลูกไม้ประเภทออมทรัพย์สำหรับอนาคต เพราะไม้กฤษณายิ่งใช้เวลาสะสมนานเท่าใดเนื้อไม้จะมีราคาแพงเป็นที่ต้องการของตลาดสูง แต่ไม่สามารถนำออกมาจากป่าได้เพราะเป็นไม้ประเภท ข. ไม้หวงห้ามพิเศษ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ รศ. ศุภนิจ หรือ กลุ่มเกษตรสร้างสรรค์ ตู้ป.ณ. 144 มีนบุรี กท. 10510 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2544 หน้า 24)





ข่าวทั่วไป


ชวนเอกชนตั้งโรงงานเอทานอล

นายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจ ยื่นขอจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อนำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการลดการนำเข้าน้ำมัน เอกชนที่สนใจต้องส่งแผนรายละเอียดการลงทุน แผนการตลาด ข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตและสถานภาพทางการเงิน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต (เดลินิวส์ พุธที่ 2 พฤษภาคม 2544 หน้า 15)





ชวนเอกชนตั้งโรงงานเอทานอล

นายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจ ยื่นขอจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อนำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการลดการนำเข้าน้ำมัน เอกชนที่สนใจต้องส่งแผนรายละเอียดการลงทุน แผนการตลาด ข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตและสถานภาพทางการเงิน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต (เดลินิวส์ พุธที่ 2 พฤษภาคม 2544 หน้า 15)





พิทักษ์จับสินค้าพื้นเมืองขึ้นทะเบียน

น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ซึ่งมี นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงพันธกรณีที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โดยกฎหมายดังกล่าว ประกาศเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนแหล่งที่มาของสินค้าในแต่ละพื้นที่ และห้ามไม่ให้ใช้ชื่อสินค้าที่มีการจดทะเบียนแล้วไปใช้ซ้ำ หรือแอบอ้างเพื่อหวังผลทางการค้า ทั้งนี้ไทยจะต้องดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวภายใน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 แต่ขณะนี้ได้เกินระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสำคัญที่มีผลต่อการค้าการลงทุน และนโยบายของรัฐบาลในเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การขึ้นทะเบียนแหล่งที่มาของสินค้าจะคล้ายกับการจดลิขสิทธิ์ของสินค้าในแต่ละท้องถิ่น เช่น ไข่เค็มไชยาก็ต้องผลิตที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น จะใช้ชื่อไข่เค็มไชยาว่าผลิตจากจังหวัดอื่นไม่ได้ ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนในท้องถิ่น โดยสินค้าที่จะขึ้นทะเบียนจะต้องเป็นสินค้าที่ผลิตและขายในประเทศเท่านั้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 3 พฤษภาคม 2544 หน้า 9)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215