หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 30 ประจำวันที่ 2001-07-31

ข่าวการศึกษา

จุฬาฯให้โอกาสเด็กเก่งเรียนจบเร็ว
นศ.มธ.คว้ารางวัลเขียนแผนธุรกิจดีเด่นระดับโลก
ม.รามฯ ปรับตัวเร็ว สอนออนไลน์สู้ต่างชาติ
www.DPST.NET เว็บไซต์เด็กเก่งทุน พสวท.
ครูหยุยจับ 3 ฝ่ายตั้งก.ก.พิทักษ์เด็ก
พระพี่นางโปรดขยะหอมของกศน.
ตั้งทีมตรวจสมรรถนะอุดมฯ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สธ.ตรวจพบคนไทยเสี่ยงสูงรับพิษเคมี 2 ปีตายแล้ว 50 ราย
เชื่อรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ฉลุย-จุดเดียวครบวงจร
สั่งศึกษาแปรรูปขยะอุตสาหกรรม
สุดยอดเว็บโปรดนักวิจัยยกให้ google
รมว.วิทย์ฯปิ๊งธนาคารขยะ

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักวิจัยไทยประดิษฐ์เครื่องเคลือบในสุญญากาศ
เตือนหญิงมีครรภ์ผิวรับแดดน้อยไป ทารกเสี่ยง ‘จิตเภท’
‘ขยะหอม’ สู่ชุมชน ผลงานนักเรียนประถมของ ร.ร.เทศบาลอ่างทอง
2 งานวิจัยที่เพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย
บุหรี่มือสองย่ำยีสุขภาพครึ่งชั่วโมง

ข่าวทั่วไป

เกร็ดความรู้พระราชทาน
อย.ยืนยันเครื่องดื่มคาเฟอีน ไม่ก่ออันตรายในร่างกาย
แฉคนไทยยอดนักเปิบแห่งโลก ลุยสวาปามยาสัตว์สารพัดชนิด กรมปศุสัตว์ดีดดิ้นหาทางสกัดด่วน
วัยรุ่นอเมริกันคลั่งเสพแล้วบ้าไปเลยชอบแก้ผ้าอวดกัน
มันมากับน้ำแข็งบด
ปฏิรูปราชการ
อนาคตยารักษาวัณโรคถูกลง





ข่าวการศึกษา


จุฬาฯให้โอกาสเด็กเก่งเรียนจบเร็ว

รศ.ทพ.จีรศักดิ์ นพคุณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ : จากประถม มัธยมสู่มหาวิทยาลัย” ว่า จุฬาฯ จะทำโครงการเปิดรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาเรียน และจะส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาความสามารถพิเศษอย่างต่อเนื่อง เด็กที่เก่งจริงๆ อาจเรียนปริญญาตรีแค่ 3 ปี แล้วผ่านขึ้นไปเรียนปริญญาโท เอก ได้เลย มีการส่งเสริมให้เด็กระดับ ม.ปลายของร.ร.สาธิตจุฬาฯ เข้ามาเรียนกับรุ่นพี่ปี 1-2 ในบางวิชา ส่วนเด็กระดับประถม และม.ต้นก็ให้เด็กเรียนข้ามชั้นได้ และยังขยายโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ มากขึ้น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2544 หน้า 12)





นศ.มธ.คว้ารางวัลเขียนแผนธุรกิจดีเด่นระดับโลก

น.ส.เสาวภา อภิวันทน์โอภาศ, น.ส.สุดาธิป พลพงษ์, นางมิลินทร์ เทพาคำ และน.ส.อุณา ตัน นศ.ปริญญาโทการตลาดภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลการเขียนแผนธุรกิจดีเด่น โดยนำเสนอโครงการธุรกิจ Voice @fone Co.,Ltd. จากการเข้าร่วมแข่งขันแผนธุรกิจนานาชาติ Moot Corp ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ ระบบรู้จำเสียง เสียงมนุษย์จากบริษัท INZIGO แคนาดา มาพัฒนาเป็นบริการขายข้อมูลทางโทรศัพท์อัตโนมัติ 1213 (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 กรกฎาคม 2544 หน้า 16)





ม.รามฯ ปรับตัวเร็ว สอนออนไลน์สู้ต่างชาติ

รศ.ดร. รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) เปิดเผยว่า ปีการศึกษา 2545 มร.จะเปิดสาขาวิทยบริการฯ แห่งใหม่ที่วัดพุทธไทยถาวรวนาราม นครนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนไทยในต่างแดน โดยใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกลระบบ e-learning มีห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) และจะใช้ e-learning สอน on-line แก่คนต่างประเทศให้เข้ามาเรียน (เดลินิวส์ จันทร์ ที่ 23 กรกฎาคม 2544 หน้า 12)





www.DPST.NET เว็บไซต์เด็กเก่งทุน พสวท.

กลุ่มนักเรียนทุนในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) จัดทำเว็บไซต์ผลงานของพวกเขาขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานของแต่ละคนที่เป็นนักเรียนทุน พสวท. และเป็นแหล่งข้อมูลกับรุ่นน้องๆ ที่ทำโครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปอีกนั่นเอง โดยกิจกรรมผลงาน โครงงานวิทยาศาสตร์ งานวิจัยภาคนิพนธ์ งานวิจัยของนักเรียนทุน สสวท. ตั้งแต่ระดับชั้น ม.5 ม.6 จนถึงระดับปริญญาตรี – เอก จะรวบรวมอยู่ในเว็บไซต์ www.dpst.net ซึ่งนักเรียนที่เข้าไปเปิดเว็บดังกล่าวนี้จะสามารถติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นพูดคุยกับนักเรียนในโครงการได้ ทั้งในแง่ข้อมูลส่วนตัว การศึกษา ผลงานของนักเรียนในโครงการ ผู้สำเร็จจากโครงการ และประชาสัมพันธ์โครงการ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการต่อบุคคลที่สนใจทั่วไป (ไทยโพสต์ เสาร์ที่ 21 กรกฎาคม 2544 )





ครูหยุยจับ 3 ฝ่ายตั้งก.ก.พิทักษ์เด็ก

นายวัลลภ ดังคณานุรักษ์ ส.ว.กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาช่วยฟื้นศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ ตนคิดว่าในการฟื้นฟูศูนย์พิทักษ์เด็ก ควรมีเรื่องของครอบครัวรวมอยู่ด้วย จึงได้เสนอให้การทำงานของศูนย์มีขอบเขตที่กว้างขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว ส่วนโครงสร้างการทำงานจะประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 ฝ่ายในสัดส่วนเท่าๆ กัน คือ ข้าราชการประจำ มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานศูนย์ฯ ฝ่ายองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอที่ทำงานด้านเด็กและ ฝ่ายส.ส. สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัวเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาจะแบ่งเป็น 1. เด็กที่ถูกละเมิดทางร่างกาย 2. เด็กนักเรียนที่ถูกลงโทษเกินกว่าเหตุ เช่น เด็กติยาเสพติด แล้วถูกไล่ออกจากโรงเรียน 3. เด็กที่ถูกละเลยสิทธิทางการศึกษา ทั้งนี้ศูนย์พิทักษ์เด็กและครอบครัวจะมีอยู่ทั่วประเทศโดยให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่นี้ในจังหวัดนั้นๆ (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2544 หน้า 20)





พระพี่นางโปรดขยะหอมของกศน.

น.ส.สุรภี สกุลรัตน์ ผช.ผอ.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก (ศนภอ.) จ.ระยอง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทาง ศนภอ. ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อทูลเกล้าถวายผลงานขยะหอม พร้อมการสาธิตกระบวนการผลิตขยะหอมให้กับข้าราชบริพาร เนื่องจากทาง ศนภอ. ได้นำโครงการขยะหอมไปจัดนิทรรศการในงานวันการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 43 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ ทรงสนพระทัยและทรงมีรับสั่งให้ขยายผลให้กับข้าราชบริพาร โครงการขยะหอมของ ศนภอ. เกิดขึ้นจากปัญหาขยะล้นเมืองใน จ.ระยอง ทำให้เสียภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยว ทางศนภอ. จึงได้ศึกษาเรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้กากน้ำตาลและเศษผัก มาเป็นตัวย่อยสลายทำให้ได้น้ำขยะที่เข้มข้น ทั้งนี้ขยะที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายทาง อาทิ เป็นปุ๋ยรดต้นไม้ ขจัดคราบน้ำมัน ปรับสภาพน้ำเน่าเสียให้ดีขึ้น (สยามรัฐ พุธที่ 25 กรกฎาคม 2544 หน้า 20)





ตั้งทีมตรวจสมรรถนะอุดมฯ

ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ในฐานะที่ปรึกษา รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ระบบการเปรียบเทียบสมรรถนะหรือ Benchmarking เป็นระบบที่สามารถปรับคุณภาพการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งช่วยให้สถาบันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ทบวงฯกำลังจัดทำระบบดังกล่าว โดยกำหนดกรอบไว้กว้างๆ ยึดตามแบบของ Baldrige National Quality 2001 ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำ โครงสร้างการบริหารและการพัฒนา เป้าหมายและความพึงพอใจของนักศึกษา ศิษย์เก่า และผู้ประกอบการ การผลิต การรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ทางวิชาการ ความสามารถและเป้าหมายการดำเนินงานของสถาบัน กระบวนการบริหาร และคุณภาพ ศักยภาพและผลผลิตของสถาบัน และให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมกันกำหนดสัดส่วนการให้ความสำคัญกับหัวข้อต่างๆ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2544 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สธ.ตรวจพบคนไทยเสี่ยงสูงรับพิษเคมี 2 ปีตายแล้ว 50 ราย

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีคนไทยที่มีความเสี่ยงสูงในการรับอันตราย จากสารเคมีมีพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหารประจำวัน ซึ่งจะได้มีการตั้งกรรมการศึกษาความปลอดภัยจากสารเคมีขึ้น นางสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับเคมีวัตถุในปัจจุบันมีถึง 5 ล้านกว่าชนิดและกว่า 1 แสนชนิดเป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีจาก 20 ประเทศ โดยเฉลี่ยปีละ 8 ล้านตัน ซึ่งสารเคมีส่วนใหญ่ประมาณ 60% ใช้ในการอุตสาหกรรม ที่เหลือใช้ในการบริโภคถึง 40% (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 26 กรกฎาคม 2544 หน้า 3)





เชื่อรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ฉลุย-จุดเดียวครบวงจร

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยถึงความคืนหน้าในการเตรียมความพร้อมโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) พ.ศ. 2544-2546 ว่า ขณะนี้รอการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมี มรว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธานว่า ขณะนี้เนคเทคได้เลือกหน่วยงานนำร่องโครงการ แบ่งเป็นบริการ 4 ประเภทหลักคือ 1. บริการข้อมูลออนไลน์ นำร่องในธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2. บริการธุรกรรมแบบง่าย ได้แก่ กรมทะเบียนการค้า 3. การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ กรมสรรพากร 4. และการจัดซื้อทาง ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐประมาณ 30% ที่มีความพร้อมให้บริการออนไลน์ (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 26 กรกฎาคม 2544 หน้า 15)





สั่งศึกษาแปรรูปขยะอุตสาหกรรม

นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาการจัดทำโครงการแปรรูปวัสดุเหลือใช้แบบครบวงจร จากการขยะอุตสาหกรรม และขยะทั่วไป โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่สัมปทานเหมืองหินที่ระเบิดแล้ว ซึ่งจะไม่ทำลายชั้นผิวดินและสิ่งแวดล้อม รูปแบบการจัดการจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง กนอ. และภาคเอกชน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2544 หน้า 9)





สุดยอดเว็บโปรดนักวิจัยยกให้ google

ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวานิช ผอ.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาสาขาสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนาโปรแกรมแปลภาษาผ่านเว็บไซต์ที่รู้จักกันดีในนาม “ภาษิต” ได้แนะนำเว็บไซต์ www.google.com ซึ่งเป็นเสิรซเอนจิ้น ที่คิดว่าดีที่สุดในขณะนี้ เพราะค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และหาได้ถูกใจมากที่สุด นอกจากนี้ยังแนะนำเว็บไซต์ www.xxx.lanl.gov. ซึ่งเป็นศูนย์รวมงานวิจัยทั่วโลก ส่วนเว็บไซต์ของไทยก็มี www.tiac.or.th และ www.links,nectec.or.th (เดลินิวส์ พุธที่ 25 กรกฎาคม 2544 หน้า 16)





รมว.วิทย์ฯปิ๊งธนาคารขยะ

นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารขยะรีไซเคิล ในโรงเรียนภายในเขตจังหวัดชลบุรี ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 9 โดยรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้กล่าวว่าในปี 2543 ที่ผ่านมาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 38,000 ตัน และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนขยะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ รัฐบาลได้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้มีนโยบายบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนขึ้น โดยส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันลดอัตราการผลิตขยะมูลฝอย และให้การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากรและวิชาการแก่ท้องถิ่น รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกันลดและคัดแยกขยะ โดยกิจกรรมที่สำคัญที่สุด คือ กิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิล ด้วยการให้สมาชิกที่เป็นนักเรียน หรือสมาชิกในชุมชนทำการแยกขยะรีไซเคิลออกมา และนำมาฝากไว้ที่ธนาคารซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดจากโรงเรียนและชุมชนได้เป็นอย่างมาก (สยามรัฐ พุธที่ 25 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักวิจัยไทยประดิษฐ์เครื่องเคลือบในสุญญากาศ

ทีมวิจัยนำโดย รองศาสตราจารย์ สุรสิงห์ ไชยคุณ อาจารย์ภาคฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้พัฒนาเครื่องชุบเคลือบผิวในสุญญากาศขึ้น ด้วยวัสดุอุปกรณ์ในประเทศถึง 90% และราคาถูกกว่าการนำเข้ามากกว่า 60% การเคลือบผิววัตถุให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ความคงทน ทำกันอยู่ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เทคนิคที่ใช้กันมากในปัจจุบัน คือการชุบเคลือบด้วยไฟฟ้าอันเป็นวิธีการที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต เนื่องจากสารละลายซึ่งเป็นสารพวกโลหะหนัก เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เครื่องชุบเคลือบผิวในสุญญากาศไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเคลือบได้กับทุกพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นโลหะ กระจก ไม้ หรือแม้แต่กระดาษ เช่น ธนบัตร (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





เตือนหญิงมีครรภ์ผิวรับแดดน้อยไป ทารกเสี่ยง ‘จิตเภท’

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดร.จอห์น แม็กเกรธ จิตแพทย์ ชาวออสเตรเลีย วิจัยพบว่า ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ควรหมั่นให้ผิวหนังได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากได้รับแสงแดดน้อยเกินไป จะส่งผลให้ลูกที่เกิดมากลายเป็น โรคจิตเภท แต่ น.พ.โรบิน เมอร์เรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ของ คิงสคอลเลจ กรุงลอนดอน ได้ออกมาวิจารณ์งานวิจัยของ ดร.แม็กเกรธว่า ออกจะเป็นเรื่องพิกล เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนป่วยเป็นโรคจิตเภท คือ ยีนที่ผิดปกติของคนไม่ใช่แสงแดด (มติชน พฤหัสบดี ที่ 26 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





‘ขยะหอม’ สู่ชุมชน ผลงานนักเรียนประถมของ ร.ร.เทศบาลอ่างทอง

นายสมาน วิหกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 วัดต้นสน กล่าวว่า ขยะที่นำมาทำขยะหอมจะเป็นขยะเปียกในครัวเรือน เช่น ประเภทเศษข้าวสุก ผัก ผลไม้ อุปกรณ์มีถังพลาสติกขนาด 100 ลิตรพร้อมฝาปิด ถุงปุ๋ยเจาะรูเล็กๆ ทั้งใบ เชื้อจุลินทรีย์ 3 ลิตร กากน้ำตาล 1.5 ลิตรหรือน้ำตาลอ้อย 8 ขีด วิธีทำเริ่มจากเทน้ำเปล่าใส่ถังประมาณ 40 ลิตร เทกากน้ำตาลตามลงไปแล้วคนให้เข้ากัน ตามด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ นำขยะเปียกใส่ถุงปุ๋ยประมาณครึ่งถุงแล้วมัดปากถุงให้แน่น ใส่ลงไปในถังแล้วกดให้จมน้ำ จากนั้นจึงปิดฝาแล้วนำเข้าเก็บในที่ร่ม ทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นจึงนำน้ำออกมาใช้งาน (มติชน อังคารที่ 24 กรกฎาคม 2544 หน้า 11)





2 งานวิจัยที่เพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย

ศูนย์วิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร ได้คิดค้นและพัฒนาเครื่องสาวไหมแบบง่าย โดยยึดหลักการ “สร้างง่าย ต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพ ไม่ยุ่งยากในการใช้งาน และไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสาวไหมที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม” จึงวิจัยเครื่องสาวไหมเด่นชัย 1 และเครื่องกรอเส้นไหมเด่นชัยพัฒนา โดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากเกษตรกรสนใจ ติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและสถานีทดลองหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตรทุกแห่ง หรือ โทร. 0-2579-5595, 0-2579-3318 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2544 หน้า 24)





บุหรี่มือสองย่ำยีสุขภาพครึ่งชั่วโมง

สมาคมแพทย์อเมริกันได้กระทำการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ระหว่างกลุ่มผู้สูบบุหรี่โดยตรง กับผู้สูบบุหรี่มือสอง ซึ่งพบว่ากลุ่มหลังจะมีอาการเส้นเลือดหัวใจขยายตัว ซึ่งการสำรวจของวงการแพทย์เชื่อว่า จะสร้างปัญหาต่อระบบดังกล่าว ด้านนายแพทย์เดวิด ฟาซอน ประธานสมาคมด้านหัวใจของอเมริกาเผยด้วยว่า การสำรวจก่อนหน้านี้ก็ระบุว่า อาการดังกล่าวจะหายไปหากผู้สูบบุหรี่มือสองไม่ได้รับควันบุหรี่อีกต่อไป (สยามรัฐ พุธที่ 25 กรกฎาคม 2544 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


เกร็ดความรู้พระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริและทดลองแทนเกษตรกรทั้งหลาย จนสรุปเป็นทฤษฎีใหม่ของการเกษตร การเกษตรทฤษฎีใหม่นี้อยู่บนพื้นฐานของเกษตรกรที่ต้องการมีชีวิตใหม่จากเดิม เมื่อเขามีที่ดินและพยายามปลูกพืชชนิดเดียวเพื่อส่งออกให้ได้ประมาณมากจะเปลี่ยนไป ที่ดินจะได้รับการจัดสรรใหม่ สูตรการจัดพื้นที่ 30:30:30:10 นั้น เน้นให้เกษตรกรปลูกข้าวไว้กินเอง 30% อีก 30% ปลูกไม้ผลพืชผัก พืชยืนต้น แต่ข้าว ไม้ผลและพืชผักต่างต้องการน้ำ และจะพึ่งพาเพียงน้ำจากธรรมชาติไม่ได้ อีก 30% ของพื้นที่ จึงเป็นการขุดสระน้ำให้ลึกและกว้างพอเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง 10% ที่เหลือจึงเป็นส่วนของบ้าน แต่สิ่งสำคัญของทฤษฎีใหม่ ไม่ใช่อยู่รอดแต่ครอบครัวเดียว แต่ทุกครัวเรือนต้องรวมหมู่กันร่วมแรงร่วมใจกันทั้งในด้านการผลิต การตลาด การศึกษา การร่วมแรงกันของทุกครัวเรือนก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสังคมยังต้องมีการประสานงานติดต่อเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทั้งงานอาชีพและคุณภาพชีวิต ตรงนี้เองที่ภาครัฐและองค์กรเอกชนต้องเข้ามาให้ความร่วมมือ เกษตรกรในชุมชน รัฐ และองค์กรเอกชน จะเป็นสามพลังในการสานฝัน ทฤษฎีใหม่ให้เป็นความสงบสุขของสังคมเกษตรกรไทย (สยามรัฐ พุธที่ 25 กรกฎาคม 2544 หน้า 12)





อย.ยืนยันเครื่องดื่มคาเฟอีน ไม่ก่ออันตรายในร่างกาย

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงเรื่อง เครื่องดื่มคาเฟอีนว่า หลังจากได้มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และปีที่ผ่านมาได้ให้คณะกรรมการและอาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมกันทำงานศึกษา ซึ่งพบว่า การบริโภคคาเฟอีนไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายถึงชีวิต แต่มีผลต่อใจสั่น หรือเพิ่มความดันโลหิตบ้างในคนที่ไม่เคยดื่ม สำหรับเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก็มีคำเตือนอยู่แล้ว ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะถ้าดื่มมากเกินไปจะเกิดใจสั่น นอนไม่หลับ (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 26 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





แฉคนไทยยอดนักเปิบแห่งโลก ลุยสวาปามยาสัตว์สารพัดชนิด กรมปศุสัตว์ดีดดิ้นหาทางสกัดด่วน

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์สำหรับสัตว์ ดำเนินโครงการยาสัตว์สีขาว เนื่องจากขณะนี้ได้ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของยาสัตว์ที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย และเกษตรกรผู้เลี้ยงนำไปใช้เป็นจำนวนมาก ผลกระทบจากใช้ยาไม่ถูกต้องตามกฏหมายยังจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการกีดกันทางการค้ากับประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์จากไทย ผลจากใช้ยาไม่ถูกต้องฉีดเข้าไปในสัตว์ เมื่อสัตว์นั้นตายและนำมาขายให้ผู้บริโภค ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตราย (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 26 กรกฎาคม 2544 หน้า 8)





วัยรุ่นอเมริกันคลั่งเสพแล้วบ้าไปเลยชอบแก้ผ้าอวดกัน

สำนักข่าวเอพีของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า มีสารเสพย์ติดชนิดใหม่เรียกว่า “เว็ท” ระบาดไปทั่วอเมริกา โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งชอบลองของใหม่ ยาเสพติดชนิดใหม่นี้เป็นบุหรี่ หรือบุหรี่ที่ยัดไส้กัญชาแล้วแช่ในน้ำยาดองศพ และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งแล้วนำมาเสพ ยาเสพติดนี้ออกฤทธิ์รุนแรงมาก และยังส่งผลข้างเคียงต่อภาวะทางจิต อาการภาพหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากเสพปริมาณมากจะเกิดภาวะไตล้มเหลวและหัวใจวายตายในที่สุด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เพียงช่วงระยะเวลา 6 ช.ม. – 3 วัน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2544 หน้า 1,12)





มันมากับน้ำแข็งบด

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างน้ำแข็งบด 4 ตัวอย่างจากร้านขายอาหาร 4 ย่านการค้า เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนทั้งหมด ผลปรากฏพบเชื้อ อี.โคไล ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง และสแตปฟิโลคอคคัสออเรียส ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ในปริมาณสูงมาก ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า ในน้ำแข็งต้องไม่พบเชื้อ อี.โคไล และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคทุกชนิดในน้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง รวมทั้งตรวจพบโคลิฟอร์มได้ไม่เกิน 2.2 MPN/น้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





ปฏิรูปราชการ

รัฐบาลกำหนดจัดการประชุมสัมมนาระดมสมองหรือ ทำเวิร์กช็อปในหัวข้อเรื่อง การปฏิรูประบบราชการขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคม ท่ามกลางเสียงอนุโมทนาสาธุสนับสนุนเห็นด้วยเต็มที่กับการดำเนินการในครั้งนี้ ถึงแม้ข้าราชการจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าก่อนก็จริง แต่ระบบราชการที่เป็นอยู่ยังไม่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชน มีการพูดถึงประสิทธิภาพ การทุจริตคอรับชั่นในวงราชการด้วยความเบื่อหน่าย อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่สงสัยกังขาอยู่ไม่น้อยถึงเจตนารมณ์ เป้าหมาย ผลสำเร็จจากการจัดประชุมสัมมนาระดมสมอง หรือทำเวิร์กช็อปที่จะมีขึ้น ประการหนึ่งนั้น ผู้นำ ทำเวิร์กช็อปต่างล้วนมีส่วนในการทำร้ายระบบราชการไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมาแล้วทั้งสิ้น บางคนนั้นอย่าว่าแต่จะปฏิรูปราชการทั้งระบบเลย เอาเพียงแค่จะปฏิรูปการศึกษา ทำเพียงแค่กระทรวงศึกษาธิการกับทบวงมหาวิทยาลัยเท่านั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ยอมศิโรราบให้กับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ไม่รู้ว่าคิดใหม่ ทำใหม่อีท่าไหน บรรยากาศบ้านเมืองถึงย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการทรราช ใกล้เป็นสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอมเข้าไปทุกขณะ เลยไม่รู้ว่าที่กำลังจะจัดประชุมสัมมนาระดมสมองทำเวิร์กช็อปนั้น มีเจตนา ความมุ่งหมายเป็นอย่างไรแน่ โดยเฉพาะกับพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่มีลักษณะขัดแย้งในตัวเองทำให้ยากจะเข้าใจได้ ต้องการจัดการปัญหาทุจริต แต่คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหารหัวหน้าข้าราชการกลับปฏิเสธระบบตรวจสอบประสงค์จะเห็นประสิทธิภาพ แต่คนที่เป็นผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีกลับเป็นอุปสรรคในการทำงานของข้าราชการให้มีประสิทธิผล (ไทยโพสต์ อังคารที่ 24 กรกฎาคม 2544 หน้า 3)





อนาคตยารักษาวัณโรคถูกลง

รายงานข่าวจากกรุงวอชิงตัน เปิดเผยว่า แนวโน้มยารักษาวัณโรคซึ่งจะมีราคาถูกลงถึง 96% จากราคาขายปัจจุบัน เพราะหน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพระหว่างประเทศกำลังร่วมมือกันซื้อยาขนานนี้เพื่อทำให้ราคาถูกลงหลังจากที่ต่างคนต่างแยกกันซื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่า การซื้อยาบางชนิด เช่น ยาคาปรีโอไมซิน คราวละมากๆ ทำให้ราคาถูกลง ส่วนยาอีกประเภทหนึ่งคือ ยาโอโฟลซาซิน ซึ่งเป็นยาของบริษัทคู่แข่งก็ลดลง (สยามรัฐ อังคารที่ 24 กรกฎาคม 2544 หน้า 24)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215