หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 32 ประจำวันที่ 2001-08-14

ข่าวการศึกษา

‘ทักษิณ’ รับปากช่วยมหา’ลัยนอกระบบ
มก.หนุนออกนอกระบบเน้นเป็นม.วิจัย
มสธ.เจ๋งไม่จบมัธยมก็ต่อป.ตรีได้

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

e-ปกครองเริ่ม ‘สั่ง’ ผ่านเน็ตตำบล
ปรมาณูประชุมเวิร์กช็อปป้องกันรังสีรั่ว
ออกแบบหุ่นยนต์พลังแสงอาทิตย์ ใช้นำทางสำรวจดาวอังคาร
คำถามคาใจนักโบราณคดี ไฉนไดโนเสาร์โตได้โตดี

ข่าววิจัย/พัฒนา

ทีมวิจัยม.บูรพาเจ๋งทำสำเร็จ เครื่องเคลือบผิวในสุญญากาศ
สจพ.สร้างครื่องต้นแบบแยกไขมันออกจากน้ำ
มอบรางวัลงานวิจัย
การผลิต cm-glucan จากของเหลือทิ้งโรงงานสุรา
น้ำมันหมูสูตรใหม่ปลอดคอเลสเตอรอล
พานาโซนิคล้ำหน้าติดกล้องแปรงสีฟันเห็นทุกซอก
หุ่น (ยนต์) ไล่กา
สั่นขาปั้นให้แข้งแข็งเป็นเหล็กได้ ไม่แพ้วิ่งหน้าตั้งเหงื่อโซมกาย

ข่าวทั่วไป

‘วัยโจ๋’ ฮิตแบกระวัง ‘เป้’ หลังโก่ง!
เตือนไปดูดไขมันลดความอ้วน ถูกดูดวิญญาณออกจากร่างด้วย
เกิดแล้ว “คลังสมอง” แห่งแรกของไทย
ดันเมืองกาญจน์เปิดสนามบินพาณิชย์
แม่สูบบุหรี่ตอนตั้งท้อง ลูกเกิดมาพิการปัญญาอ่อน





ข่าวการศึกษา


‘ทักษิณ’ รับปากช่วยมหา’ลัยนอกระบบ

นายสุธรรม แสงประทุม รมว. ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นชอบเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยของรัฐ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล และแนะให้มีการแก้ไขกฎระเบียบที่มีปัญหา รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้บุคลากรสามารถเลือกสถานภาพได้เกี่ยวกับการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และพร้อมสนับสนุนให้แก้ไขระเบียบเพื่อให้พนักงานสามารถเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)ได้ด้วย และยังได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม เช่น การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น และนายกรัฐมนตรีไม่ได้บังคับมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพภายในปี 2545 แต่ให้ดูความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 9 สิงหาคม 2544 หน้า 10)





มก.หนุนออกนอกระบบเน้นเป็นม.วิจัย

วันที่ 1 สิงหาคม นายธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่าง พ.ร.บ.มก. พ.ศ…. ว่าเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ การบริหารจะสิ้นสุดที่สภา มก. โดยมีสำนักงานตรวจสอบกระบวนการทำงาน ส่วนบทเฉพาะกาลจะกำหนดเวลาเปลี่ยนสถานภาพของข้าราชการเป็นพนักงานใน 7 ปี ส่วนตำแหน่งผู้บริหารสภา มก. อธิการบดี คณบดี จนถึงผู้อำนวยการสำนัก/กอง อยู่ระหว่างรับฟังความคิดว่าจะให้พ้นจากสภาพหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ 180 วันหรือ 240 วัน หรือจนหมดวาระการดำรงตำแหน่ง หลังจากที่นายธีระ ชี้แจงภาพรวมเสร็จ บุคลากรจากวิทยาเขตต่างๆ ได้เสนอข้อคิดเห็นควรกำหนดให้ชัดว่า มก.จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เพราะจะเป็นแหล่งหารายได้เพิ่มจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุน (มติชน พฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2544 หน้า 10)





มสธ.เจ๋งไม่จบมัธยมก็ต่อป.ตรีได้

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเปิดประชุมจัดอุดมศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน วิทยาลัยเปิดชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ว่างบกลางที่รัฐบาลสำรองไว้ ส่วนหนึ่งจะนำมาสนับสนุนงานของ กศน. ที่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ กศน. ได้ร่วมกับ มสธ. เปิดสอนระดับปริญญาตรีแก่ผู้นำชุมชนมาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2544 ซึ่งมีผู้สมัครเรียนแล้วราว 15,000 คน นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ อธิบดี กศน. กล่าวว่า ความร่วมมือกับ มสธ. จะช่วยต่อยอดการศึกษาให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ 9+1 อาชีพ 12+1 อาชีพ โดยเมื่อฝึกอาชีพจบแล้วสามารถเทียบประสบการณ์เรียนต่อปริญญาตรีของ มสธ. ได้ ส่วนรองอธิการบดี มสธ. กล่าวว่า ในอนาคต คนมาเรียน มสธ. ไม่จำเป็นต้องจบ ม.3 หรือ ม.6 มาก่อน ถ้าสอบผ่านตามเกณฑ์ก็สามารถรับปริญญาได้ (มติชน พฤหัสบดี ที่ 2 สิงหาคม 2544 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


e-ปกครองเริ่ม ‘สั่ง’ ผ่านเน็ตตำบล

นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้อำนวยการศูนย์ประมวลผลการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เปิดเผยว่า กรมการปกครองเร่งพัฒนาระบบสั่งการจากส่วนกลางผ่านทางอินเตอร์เน็ต คาดจะทดลองใช้งานกับ อบต. ในโครงการอินเตอร์เน็ตตำบลทั้ง 1 พันแห่งภายในเดือนกันยายนนี้ โดยในช่วงแรกจะสื่อสารทางเดียวก่อน โดยจะสั่งการผ่านอินเตอร์เน็ตสำนักงานเลขานุการกรมการปกครอง ไปยังหน่วยปฏิบัติงานท้องถิ่น จากนั้นจะมีหนังสืออย่างเป็นทางการตามไป เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการให้บริการ และในอนาคตจะพัฒนาเป็นการสื่อสารสองทาง (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 9 สิงหาคม 2544 หน้า 12)





ปรมาณูประชุมเวิร์กช็อปป้องกันรังสีรั่ว

นายเกรียงไกร เพชรบุตร เลขาธิการสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 6-10 ส.ค. พปส. ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านความปลอดภัย ของต้นกำเนิดรังสีและสารกัมมันตรังสีขึ้นที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุม ผลิต และผู้ใช้รังสีในประเทศสมาชิกของ ไอเออีเอ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวม 12 ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อความปลอดภัยของต้นกำเนิดรังสี และสารกัมมันตรังสี (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2544 หน้า 24)





ออกแบบหุ่นยนต์พลังแสงอาทิตย์ ใช้นำทางสำรวจดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เมืองพิตสเบร์ก สหรัฐอเมริกาได้ทดลองหุ่นยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่เดินทางได้ด้วยตนเองเป็นระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร ข้ามเขตอาร์คติกของแคนาดา ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศคล้ายกับการสำรวจดาวอังคาร หุ่นยนต์นี้มีรูปร่างคล้ายรถแข่งขนาดเล็ก แต่มีใบคล้ายเรือใบสามารถตามหาแสงอาทิตย์ด้วยตนเองเพื่อเพิ่มพลังงาน มีกล้องคล้ายดวงตาไว้สำรวจเส้นทาง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ (นาซา) ได้นำเทคโนโลยีชนิดนี้ไปพัฒนาเป็นยานสำรวจ เพื่อนำไปใช้บนดวงดาวแล้ว (ไทยรัฐ พุธที่ 8 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





คำถามคาใจนักโบราณคดี ไฉนไดโนเสาร์โตได้โตดี

นักโบราณคดีตรวจวิเคราะห์ซากโบราณ และกระดูกไดโนเสาร์ พบว่า เป็นสัตว์ขนาดใหญ่และโตได้เร็วอย่างน่าอัศจรรย์ พันธุ์บรอนโตซอรัส โตได้มากวันละ 13.6 กก. รายงานการศึกษาจาก วารสาร”ธรรมชาติ” พบว่า พันธุ์ “อาเจนติโนซอรัส” โตได้วันละ 45.5 กก. (ไทยรัฐ พุธที่ 8 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ทีมวิจัยม.บูรพาเจ๋งทำสำเร็จ เครื่องเคลือบผิวในสุญญากาศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้ทีมวิจัยกลุ่มหนึ่งซึ่งมี รศ.สุรสิงห์ ไชยคุณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหัวหน้าคณะทำวิจัย เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาการเคลือบฟิล์มบางๆ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับ” และนักวิจัยคณะนี้ก็สามารถพัฒนา “เครื่องชุบเคลือบผิวในสุญญากาศ” ได้สำเร็จ โดยสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศถึง 90% แถมมีราคาถูกกว่าการนำเข้ามากว่า 60% เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการเครื่องประดับและอัญมณี (มติชน พุธที่ 1 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





สจพ.สร้างครื่องต้นแบบแยกไขมันออกจากน้ำ

นายเกรียงไกร นาเลา นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล (ออกแบบเครื่องกล) ภาควิชาเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) เจ้าของผลงานการสร้างเครื่องต้นแบบ “เครื่องแยกไขมันออกจากน้ำ” มีอาจารย์ การุณย์ เศวตนัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา วัสดุที่ใช้เป็น Stainless Steel ขับเคลื่อนโดยใช้ซิงโครนัสมอเตอร์ และมีความสามารถในการแยกไขมันออกจากน้ำได้ 90-95 เปอร์เซ็นต์ จากการทดสอบในการแยกไขมันของเครื่องแยกไขมันสามารถทำได้ 45 ลิตรต่อวัน โดยเครื่องทำงานเป็นเวลา 24 ชม. บำบัดน้ำเสียได้วันละ 50 ลิตรต่อวันเป็นอย่างน้อย และน้ำไหลเข้าในระบบบำบัดมีอัตราการไหลที่ 4.5-5 ลิตรต่อนาที ใช้งบประมาณในการสร้าง 11,500 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทร 0-2586-9010 (สยามรัฐ เสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544 หน้า 20)





มอบรางวัลงานวิจัย

นายอภิชัย รุจิระชุณห์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้รางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2544 รางวัลชมเชยสาขาการศึกษาแก่ผลงานวิจัยเรื่อง “รายงานการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ของ รศ.ดร.สุรพล นิตไกรภพ และคณะ ซึ่งได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ใน 4 เรื่องหลักๆ คือ 1. วิเคราะห์กฎหมายเกี่ยวกับบทบัญญัติตามมาตราใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 2. การจัดโครงสร้างองค์กรและการแบ่งส่วนของกระทรวงศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 3. การจัดระบบครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพครู 4. การลงทุนเพื่อการศึกษา (ไทยรัฐ อังคารที่ 14 สิงหาคม 2544 หน้า 15 : ฉบับบ่าย)





การผลิต cm-glucan จากของเหลือทิ้งโรงงานสุรา

กลุ่มบริษัทสุราทิพย์จำกัด (มหาชน) ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ได้ทำการวิจัยสกัดสาร glucan จากกากส่าซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตสุรา สารนี้ได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ ครีมกันแดด สำหรับป้องกันรังสี UVA-UVB และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับผสมกับอาหารกุ้ง และปลา ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตเร็ว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีพิษ ผลงานวิจัยนี้ วท.จะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมและชนบท ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544 หน้า 24)





น้ำมันหมูสูตรใหม่ปลอดคอเลสเตอรอล

รศ.ดร.สัญชัย จตุรสิทธา และรศ.มัณฑิพา พงษ์เพียจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยงานวิจัย “กรดไขมันในหมูโอเมก้า 3” โดยนำกรดไขมันจากปลาทูน่ากระป๋องในประเทศ ผสมกับอาหารหมูและให้ลูกหมูที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 30 กก.กิน จนกระทั่งมีน้ำหนัก 90-110 ก.ก. จากนั้นได้ชำแหละเพื่อวิเคราะห์ทางเคมีไม่พบความผิดปกติของเนื้อ กลิ่นและสี และที่สำคัญในชิ้นเนื้อมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สะสมในปริมาณสูง ฉะนั้นผู้บริโภคสามารถนำน้ำมันหมูมาปรุงอาหารได้ เพราะนอกจากไม่ก่อให้เกิดโรคหัวใจแล้ว ยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับการซื้อปลาทูน่ากระป๋องมาบริโภค เพื่อต้องการกรดไขมันโอเมก้า (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544)





พานาโซนิคล้ำหน้าติดกล้องแปรงสีฟันเห็นทุกซอก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิจัยบริษัทพานาโซนิคประเทศญี่ปุ่นได้ประดิษฐ์แปรงสีฟันชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้แปรงฟันได้อย่างสะอาดหมดจดทุกซอกทุกมุม เพราะได้ติดกล้องขนาดเล็กจิ๋วไว้ที่บริเวณก้านซึ่งติดกับขนแปรง แล้วเชื่อมต่อกับมอนิเตอร์ ผู้ใช้สามารถใช้แปรงชนิดนี้สำรวจบริเวณที่คิดว่า มีเศษอาหารตกค้างอยู่เพื่อตามไปทำความสะอาดได้ดีกว่าแปรงที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (มติชน พุธที่ 1 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





หุ่น (ยนต์) ไล่กา

ศาสตราจารย์ แรนดี ไพรซ์ และนักศึกษา แลนซ์ แบล๊ก จากมหาวิทยาลัยลุยเซียนา สเตท ช่วยกันออกแบบหุ่นยนต์ไล่นกพลังแสงอาทิตย์ที่กำหนดทิศทางเองได้ ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับบรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งต้องสูญเสียเงินมากมายทุกปี เพราะพวกนกกระทุง และนกอพยพอื่นๆ มากินปลาในบ่อที่เลี้ยงไว้ โดยการฉีดน้ำไล่พวกนก หุ่นยนต์ ไล่นกนี้ใช้เงินสร้างไม่กี่ร้อยดอลลาร์ มันมองเหมือนเรือที่มีตีนเป็ดพุ้ยน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งช่วยไม่ให้พันกับสาหร่ายเหมือนการใช้ใบจักร หุ่นแบบนี้ยังพัฒนาให้ก้าวหน้าไปกว่านี้ได้อีก เช่น เอาคอมพิวเตอร์แล็ปท๊อปใส่เข้าไปใต้แผงเซลล์สุริยะ เพื่อให้สามารถจดจำนกชนิดต่างๆ พอมันเห็นนก มันก็จะรี่เข้าใส่โดยไม่รอช้า (ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2544 หน้า 9)





สั่นขาปั้นให้แข้งแข็งเป็นเหล็กได้ ไม่แพ้วิ่งหน้าตั้งเหงื่อโซมกาย

คณะนักวิจัยสหรัฐฯ ได้พบด้วยความตื่นเต้นว่า ขาหลังของฝูงแกะที่ที่ถูกต้อนให้ขึ้นไปยืนบนแท่นที่เคลื่อนไหวสั่นระรัววันละ 20 นาทีทุกวัน เว้นเสาร์-อาทิตย์ นานประมาณ 1 ปีพากันแข็งแรงไปตามๆ กัน และเมื่อลองตรวจกระดูกพบว่า มีเนื้อแน่นหนาขึ้นกว่าเดิมจึงได้คิดทดสอบกับคนดูบ้าง “ถ้าหากได้ผล อาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก ตั้งแต่การรักษากระดูกแตกหัก จนถึงโรคกระดูกผุบาง” (ไทยรัฐ อังคารที่ 14 สิงหาคม 2544 หน้า 7 : ฉบับบ่าย)





ข่าวทั่วไป


‘วัยโจ๋’ ฮิตแบกระวัง ‘เป้’ หลังโก่ง!

นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เกือบทุกโรงเรียนมักนิยมออกแบบกระเป๋าหนังสือของโรงเรียนให้เป็นแบบเป้สะพายหลัง นักเรียนส่วนมากแบกเป้ใบใหญ่เกินตัว และมีน้ำหนักมากจนตัวเอียง เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังมีการเจริญเติบโตในทุกๆ ด้าน รวมทั้งระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี กระดูกสันหลังจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การแบกเป้ใบใหญ่ที่มีน้ำหนักมากเกินไปหรือสะพายในลักษณะที่ผิดท่า เป็นผลให้หลังโก่งงอเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย และเสียบุคลิกภาพเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ได้ สำหรับในผู้ใหญ่แม้กระดูกสันหลังจะเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็ไม่ควรให้หลังแบกรับน้ำหนักมากเกินไปเช่นกัน เพราะจะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลังอักเสบและปวดมากได้ (มติชน พฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





เตือนไปดูดไขมันลดความอ้วน ถูกดูดวิญญาณออกจากร่างด้วย

แพทย์สหรัฐฯ ประกาศเตือน ห้ามการดูดไขมันออกจากร่างกาย อันเป็นวิธีการลดความอ้วนที่นิยมกัน หลังจากที่ปรากฏว่า ชั่วระยะเวลา 5 ปีมีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตไปแล้ว 95 คน การดูดไขมันแบบนี้จะใช้ท่อสอดเข้าไปใต้ผิวหนัง จากนั้นจะสลายไขมันและดูดออกมาจากตัว วิธีการดูดไขมันเป็นการเสี่ยงอันตรายพอๆ กับการผ่าตัดอาจเกิดการติดเชื้อ การชาเพราะฤทธิ์ยาสลบ เลือดออกหรือเลือดอุดตัน ทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่ละรายจะเสียค่าใช้จ่ายโดยประมาณเกือบ 200,000 บาท (ไทยรัฐ อังคารที่ 14 สิงหาคม 2544 หน้า 7 : ฉบับบ่าย)





เกิดแล้ว “คลังสมอง” แห่งแรกของไทย

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กล่าวว่า การจัดตั้งธนาคารสมองเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาท ที่ตรัสไว้เมื่อ 11 ส.ค. 43 ทั้งนี้ให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ ประสบการณ์สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ โดยแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มอาสาสมัครในสถานพยาบาล กลุ่มให้ความรู้นักเรียนด้านประสบการณ์ชีวิต กลุ่มแนะนำการเลี้ยงดูเด็ก และกลุ่มปรึกษากฎหมาย (ไทยรัฐ พุธที่ 8 สิงหาคม 2544 หน้า 15)





ดันเมืองกาญจน์เปิดสนามบินพาณิชย์

นายบุญชู วิวัฒนาทร ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ทางหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรีมีความคิดที่จะเปิดสนามบินพาณิชย์อันดับ 3 ถือเป็นสนามบินขนาดเล็ก เนื่องจากจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสนามกอล์ฟหลายสนาม และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเน้นทางด้านพาณิชย์ จังหวัดกาญจนบุรีคงใช้สนามบินของกองพลทหารราบที่ 9 ที่มีอยู่แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น ในเรื่องนี้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย หอการค้าจังหวัดกาญจนบุรีจะผลักดันเรื่องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2544 หน้า 33)





แม่สูบบุหรี่ตอนตั้งท้อง ลูกเกิดมาพิการปัญญาอ่อน

คุณแม่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีลูกปัญญาอ่อนสูงขึ้น ร้อยละ 50 และร้อยละ 85 ในกรณีที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง เนื่องจากนิโคตินจากการสูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดบริเวณรกหดตัว และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงทารกมีออกซิเจนน้อยลง ทารกจึงตัวเล็กกว่าปกติ โครงสร้างสมองไม่สมบูรณ์ ระบบความคิดบกพร่อง และพบว่าขณะตั้งครรภ์สูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวัน เมื่อเด็กอายุ 7-11 จะตัวเตี้ย ความสามารถในการอ่านช้ากว่าเด็กปกติ 3-5 เดือน ระดับไอคิดลด 4 จุด (ไทยรัฐ พุธที่ 8 สิงหาคม 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215