หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 45 ประจำวันที่ 2001-11-13

ข่าวการศึกษา

เทิดทั่วโลก “ร.5” วาระ 150 พรรษา-มติยูเนสโก
พระเทพฯเสด็จฯเปิดครูหลังช้าง
“สุรพล” เซ็ง รมต.ปฏิรูปการศึกษาด้วยปาก
จุฬาฯระดมสมองหาข้อสรุปปฏิรูปอุดมศึกษา
นำร่องร.ร.ปลอดค่าเทอมทั่วประเทศปี’45 คาดลดเด็กออกกลางคัน-หยุดเรียนชั่วคราว
ครูภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2544

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ชงโครงการตั้งรง.ผลิตเอทานอล 5.8 หมื่นล.
สหรัฐชูไทยฐาน ‘คอมพ์มือ2’ สู่ร.ร.ชนบท
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ปี 2001
ดูดาวหาง ‘ซีสแลส2000’ ดวงใหม่ 18 พ.ย. ตั้งกล้องชมดาวฝนตกที่ลพบุรี
คาดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งท่องเที่ยวเพชรบูรณ์คึกคัก
โชว์ไฮเทคพิสูจน์โรคพันธุกรรม
แนะใช้ร่ม ‘ยูวี’ มีสีเงินอยู่ด้านใน
แพทย์ชี้โทรศัพท์มือถือกระทบอุปกรณ์การแพทย์

ข่าววิจัย/พัฒนา

สารมหัศจรรย์ ‘ไคติน-ไคโตซาน’ ผลงานการวิจัยชิ้นเยี่ยมของ ‘มจธ.’
สร้างหุ่นยนต์ SMR
กว่าจะมาเป็นศูนย์วิจัยฯ ‘ฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ’
ความหวังที่ใกล้เข้ามากับยาต้านมะเร็ง
พบเทคนิคใหม่ละลายลิ่มเลือด
‘สตรีเหล็ก’ กลุ่มเสี่ยงใช้กวาวเครือ
เนคเทคพัฒนาโปรแกรมคอมพ์ ป้อนอักขระภาษาไทยบนมือถือ
วิจัยชี้ทารกเสริมวิตามินดีลดเสี่ยงเบาหวาน

ข่าวทั่วไป

thaigov.net เว็บไซต์ท่าของหน่วยงานรัฐ
จีนสนทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย
กรมอนามัยเปิดเว็บให้ตรวจแปรงสีฟันยี่ห้อผ่านมาตรฐาน
พบยา ‘เพอรินโดพริล’ ใช้ลดความดันเลือดสูง
มธบ.ประกวดแผนการตลาดสินค้าชุมชน
‘หมัก’ ดึงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 2,000 ล้านเนรมิตสนามหลวง 3





ข่าวการศึกษา


เทิดทั่วโลก “ร.5” วาระ 150 พรรษา-มติยูเนสโก

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า องค์การยูเนสโกได้มีการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 31 ที่ประเทศฝรั่งเศส และได้ประกาศยกย่องพระนามของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ที่จะครบรอบ 150 พรรษา แห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพในปี 2546 นี้ ในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร พร้อมทั้งยกย่อง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ที่ครบรอบวันเกิด 100 ปี ในปี 2546 ในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรมและการสื่อสาร ให้เป็นนักการศึกษาดีเด่นของโลกและจะประกาศเกียรติคุณเผยแพร่ไปทั่วโลก (มติชน อังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2544 หน้า 1,23)





พระเทพฯเสด็จฯเปิดครูหลังช้าง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯไปเป็นองค์ประธานเปิดโครงการ “กศน.หลังช้าง” และโครงการ “กศน.หาบหาม” หลังพบประชาชนยังอ่านและเขียนหนังสือไทยไม่ได้อีกมาก ส่วนที่ต้องใช้โครงการพิสดาร เนื่องจากบางหมู่บ้านไม่มีถนนเข้าถึงจึงต้องหอบตำราขึ้นหลังช้างแล้วหาบหามเข้าไปอีกที เผยผลสำรวจพบที่ จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่อีสานยังพูดจาภาษาส่วยแทนที่จะเป็นภาษาไทย และที่ 4 จังหวัดภาคใต้ เมื่อพบว่า จ.ปัตตานี พูดเขียนเรียนกันแต่ภาษายาวีแทนที่จะเป็นภาษาไทย นายอาทร จันทวิมล อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แถลงว่า ตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาต้องจัดการศึกษาให้คนทุกกลุ่มได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ซึ่ง กศน. พบว่ามีบางชุมชนที่อยู่ห่างไกลอ่านหนังสือภาษาไทยไม่ออก เขียนภาษาไทยไม่ได้อยู่ 3 ล้านคน กศน. จึงพยายามแก้ปัญหาให้คนในประเทศไทยอ่านหนังสือภาษาไทยและเขียนภาษาไทยได้ แต่ กศน. ไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากปัญหาการคมนาคม เพราะรถยนต์เข้าไม่ถึง เช่น ที่ อ.อมก๋อย ต้องใช้วิธีเดินเท้าอย่างเดียว บางแห่งเดินเท้ายังเข้าไปไม่ถึง กศน. จึงริเริ่มดำเนินโครงการ กศน.หลังช้าง และ กศน.หาบหามขึ้น โครงการ กศน.หลังช้างนี้ จะทำการเช่าช้างจำนวน 10 เชือกโดยจะมีพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการ วันที่ 26 พ.ย. โดยสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธี ส่วน กศน.หาบหามนั้น จะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจาก กศน.หลังช้าง โดยใช้คนหาบหามเข้าไปให้บริการด้านสื่อการเรียนการสอน ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ได้รับความสนใจจากองค์การยูเนสโก และเห็นว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาการให้คนรู้หนังสือด้วยวิธีที่ประเทศอื่นยังไม่เคยทำมาก่อน (สยามรัฐ เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 1,10)





“สุรพล” เซ็ง รมต.ปฏิรูปการศึกษาด้วยปาก

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาเรื่อง “ความไม่ชัดเจนในการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย” ว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้บอกกับกรรมการบริหาร สปศ. ที่เข้าพบว่า หากกฎหมายการปฏิรูปการศึกษาใดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จนถึงขณะนี้ 3 เดือนแล้วก็ยังไม่คืบหน้า เพราะรัฐมนตรี (รมต.) บางคนที่ล้าหลังมองเรื่องอำนาจและผลประโยชน์เป็นหลัก นายเกียรติชัย พงษ์พานิช กรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาขณะนี้เหมือนกับการหาตัว “ไอ้ปื๊ด” และความไม่ชัดเจนที่น่าหวั่นไหว ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าสิ้นปีนี้จะมีการปรับ ครม.อีกครั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยน รมต. ที่อาจจะกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาได้ นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนได้หารือกับ นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัยแล้ว เห็นตรงกันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานร่วมกันระหว่างทบวงฯ สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งจะร่วมกันเป็นคณะกรรมการอุดมศึกษาในอนาคต ส่วนงานกลุ่มอื่นๆ นั้น ขณะนี้มีภาพที่ค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มอุดมศึกษา กลุ่มศาสนาและวัฒนธรรม และกลุ่มการศึกษาเพื่ออาชีพ ซึ่งตนคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมแผนงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่ นอกจากนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศธ. ยังเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) และคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.คศ.) ขึ้นกับสำนักงานปลัดกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (ไทยรัฐ พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า15)





จุฬาฯระดมสมองหาข้อสรุปปฏิรูปอุดมศึกษา

รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ปฏิรูปการศึกษากำลังเป็นที่รอคอยของสถาบันการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทุกระดับว่าจะดำเนินไปในรูปแบบและทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา ทิศทางของอุดมศึกษาแบบใหม่ รูปแบบของมหาวิทยาลัยนอกระบบ การบริหารบุคลากร การบริหารการเงิน จะเป็นรูปแบบใด ตลอดจนบทบาทของผู้บริหารและผู้สอนในยุคปฏิรูปการศึกษาก็ยังไม่ชัดเจนพอ ดังนั้น คณะครุศาสตร์จุฬาฯ จึงจัดสัมมนาทางวิชาการขึ้นเรื่อง “ความไม่ชัดเจนในการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย” ในวันที่ 6 พ.ย. เพื่อเป็นการช่วยกันระดมความคิด และหาแนวทางที่จะนำไปสู่สภาพของการปฏิรูปการศึกษาให้ชัดเจน เพื่อให้การศึกษาของประเทศจะได้มีทิศทาง รูปแบบ ที่เป็นไปทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





นำร่องร.ร.ปลอดค่าเทอมทั่วประเทศปี’45 คาดลดเด็กออกกลางคัน-หยุดเรียนชั่วคราว

นายสุวัฒน์ ศักดิ์ศรีศูล ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมสามัญศึกษา เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2545 กรมสามัญมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการเรียนต่อใน ม.ต้น และม.ปลาย ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเรียนต่อโดยภาพรวมในชั้น ม.1 คิดเป็น 94.88% และ ม.4 คิดเป็น 87.76% ในจำนวนนี้มีการลาออกกลางคันและหยุดเรียนชั่วคราวจำนวนหนึ่ง ดังนั้นกรมสามัญฯ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองในการเรียกเก็บเงินในจำนวนที่รับได้หรืออาจไม่เก็บเลย โดยจะจัดโครงการโรงเรียนปลอดการเก็บเงิน หรือจำกัดจำนวนเงินที่จะเก็บต่อปีการศึกษา เวลานี้กำลังสำรวจโรงเรียนที่จะสมัครเข้าโครงการ และสำรวจความพร้อมด้านงบประมาณ โดยจัดเป็นโครงการนำร่องก่อน เบื้องต้นจะเป็นโรงเรียนในพื้นที่ที่มีอัตราการเรียนต่อค่อนข้างต่ำทั้ง ม.1 และ ม.4 จะคัดเลือกโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่นักทั้งในเขตเมือง และชนบทกระจายทั่วประเทศ (มติชน จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





ครูภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2544

ครูภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2544 คือ รองศาสตราจารย์จารุณี กองพลพรหม รองศาสตราจารย์ระดับ 9 ประจำหมวดโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จครุศาสตร์บัณฑิตและมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยเพิ่มพูนความรู้วิชา Folklore ที่มหาวิทยาลัย Indiana Bloomington สหรัฐอเมริกา ผลงานชิ้นเด่นของ รศ.จารุณี คืองานแปลพระคัมภีร์ฉบับ (New Jurusalembible) เป็นภาษาไทย (สยามรัฐ อังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ชงโครงการตั้งรง.ผลิตเอทานอล 5.8 หมื่นล.

นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าในการ ร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) เพื่อของบประมาณจำนวน 283 ล้านบาท ไปร่วมทุนกับภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกร ในการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล โดยจะมีสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้รับผิดชอบการร่วมทุนดังกล่าว แผนการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล จะมีการผลิตแอลกอฮอล์ 99.5% จำนวน 120,000 ลิตร ใช้มันสำปะหลังทั้งหมดในการผลิตปีละประมาณ 200,000 ตัน โรงงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นอาจเป็นพื้นที่ในจังหวัดระยอง เนื่องจากใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง (มติชน เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





สหรัฐชูไทยฐาน ‘คอมพ์มือ2’ สู่ร.ร.ชนบท

องค์การแลกเปลี่ยนคอมพิวเตอร์โลก (ดับบลิวซีอี) ของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชูไทยเป็นฐานกระจายคอมพ์มือสองแก่ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายเบร็ตต์ เรนฟรูว์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย เวิลด์ คอมพิวเตอร์เอ็กซเชนจ์ (WCE World Computer Exchange) กล่าวว่า องค์กรนี้ตั้งขึ้นโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัย อาร์วาร์ด มีแนวคิดการนำคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี และการสื่อสารจากประเทศที่พัฒนาแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในโรงเรียนห่างไกลเพื่อสนับสนุนการลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยี (ดิจิทัล ดีไวด์) ในประเทศกลุ่มนี้ เป้าหมายของโครงการในประเทศไทย จะมุ่งที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่แล้ว ปัจจุบันโครงการของดับบลิวซีอีครอบคลุมแล้วใน 28 ประเทศ ปัจจุบัน ดับบลิวซีอี มีโควต้าเครื่องพีซีให้กับประเทศไทยจำนวน 380 เครื่องที่จะส่งมาทางเรือใน 6 เดือน ซึ่งในส่วนนี้เป็นเครื่องที่ได้รับสนับสนุนจากผู้ค้าคอมพ์ในต่างประเทศ ขณะนี้ดับ บลิวซีอี ได้เริ่มดำเนินการตามเป้าหมายสนับสนุนการลดช่องว่างดิจิทัลในประเทศไทยแล้ว โดยส่วนหนึ่งผ่านพันธมิตรในกลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (เอ็นจีโอ) เช่น โครงการสนับสนุนการใช้ไอทีกับภาคเกษตรกร หรือ www.Thairural.net (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2544 หน้า 5)





ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ปี 2001

นักดาราศาสตร์โลกพยากรณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) ปี ค.ศ.2001 จะเกิดให้เห็นในอัตราหลายพัน ถึงกว่าหมื่นดวงต่อชั่วโมง และจะเป็นโอกาสสุดท้ายของมนุษย์โลกที่จะได้เห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดขึ้นมากในระดับเป็นพันๆ ดวงต่อชั่วโมง สำหรับรอบหนึ่งร้อยปีจากนี้ไป ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกี่ยวเนื่องกับดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (Tempel-Tuttle) ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุก 33 ปี และทุกครั้งที่ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ก็จะปลดปล่อยชิ้นส่วนเป็นอุกกาบาตเล็กๆ จับกลุ่มกันอยู่ในอวกาศ ในแนววิถีโคจรใกล้เคียงกับของดาวหางเอง และนี่เองคือสาเหตุที่อธิบายว่า ทำไมฝนดาวตกลีโอนิดส์ จึงเกิดมากทุกรอบ 33 ปี รวมทั้งปีต่อๆ มาถึงระยะหนึ่ง ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ปี ค.ศ.2001 จะเกิดมากในคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน เวลาในประเทศไทยประมาณหลังเที่ยงคืน (ของวันที่ 18 พฤศจิกายน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เวลาประมาณตีหนึ่งเศษๆ และสามารถจะเห็นได้ดีในประเทศออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออก รวมทั้งประเทศไทย (ทุกพื้นที่ของประเทศไทย) ด้วย สำหรับจำนวนฝนดาวตกคาดว่าจะเกิดมาในระดับประมาณ 5,000 ดวงต่อชั่วโมงขึ้นไป โดยอาจจะเกิดมากที่สุดได้ถึง 15,000 ดวงต่อชั่วโมงทีเดียว ฝนดาวตกลีโอนิดส์ปี ค.ศ.2001 คาดกันว่าจะเป็นปีสุดท้ายในรอบ 100 ปีข้างหน้าที่จะเกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์มาก เพราะในอีก 33 ปีข้างหน้าทั้งสองครั้ง อิทธิพลจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัสบดี จะทำให้โลกไม่โคจรตัดผ่านเข้าไปในกลุ่มอุกกาบาตเล็กๆ จากดาวหางเทมเพิล-ทัตเทิล ในลักษณะที่จะทำให้เกิดฝนดาวตกลีโอนิดส์มาก (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า 8)





ดูดาวหาง ‘ซีสแลส2000’ ดวงใหม่ 18 พ.ย. ตั้งกล้องชมดาวฝนตกที่ลพบุรี

น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า ในช่วงปลายปีนี้จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หลายเหตุการณ์ให้เห็นพร้อมกัน โดยเฉพาะในช่วงคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน ตั้งแต่ช่วง 21.00 น.เป็นต้นไป คนไทยทั่วประเทศจะมองเห็นดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวหางซีสแลส 2000 ดับเบิลยูเอ็ม วัน ลีเนียร์ (C/2000WM1.) ซึ่งเป็นดาวหางดวงใหม่ที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2543 ดาวเคราะห์น้อยเวสตาร์ และปรากฏการณ์ฝนดาวตกในกลุ่มดาวสิงโตครั้งใหญ่ น.ส.ประพีร์ กล่าวว่า สมาคมดาราศาสตร์จะนำทีมงานและอุปกรณ์ดูดาวไปตั้งกล้องดูดาว พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจที่ จ.ลพบุรี (มติชน จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





คาดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งท่องเที่ยวเพชรบูรณ์คึกคัก

นายสุชิน อินทร์สา อาจารย์โปรแกรมวิชาฟิสิกส์ สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณว่า ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เด่นๆ น่าสนใจหลายเหตุการณ์ขึ้นพร้อมกัน จะส่งผลให้บรรยากาศท่องเที่ยวของ จ.เพชรบูรณ์ให้เกิดความคึกคักตามไปด้วย จ.เพชรบูรณ์ นั้นบริเวณเขาค้อค่อนข้างมีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะบริเวณอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในเทือกเขาค้อและเป็นที่โล่งสามารถมองได้รอบเกือบ 360 องศา และสันเขื่อนป่าแดง จ.เพชรบูรณ์ ที่มีความเหมาะสมเช่นเดียวกัน (มติชน พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า 11)





โชว์ไฮเทคพิสูจน์โรคพันธุกรรม

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า การจัดงานไบโอไทยแลนด์ 2001 ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้รวบรวมผลงานค้นคว้าใหม่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั้งของภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 ผลงาน โดยไบโอเทคจะโชว์ผลงานการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้ทนต่อแมลงและโรคพืช ซึ่งปัจจุบันมีข้าวหอมมะลิที่ต้านโรคขอบใบแห้ง 34 สายพันธุ์ ต้านทานแมลง 14 สายพันธุ์ ทนต่อน้ำท่วมขัง 16 สายพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปลูกทดลองในพื้นที่ต่างๆ ก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนพันธุ์และให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ ทั้งในอนาคตจะพัฒนาข้าวทนแล้ง และข้าวเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ข้าวที่มีโปรตีนและเหล็กสูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมล่าสุดเทคโนโลยี “ไมโคร อาเรย์” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์การแสดงออกของยีนในส่วนของ mRNA ทั้งจีโนม (ไทยรัฐ พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





แนะใช้ร่ม ‘ยูวี’ มีสีเงินอยู่ด้านใน

นายบัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ร่มยูวีซึ่งวางขายในท้องตลาดโดยโฆษณาสรรพคุณว่า สามารถช่วยป้องกันผิวให้พ้นจากแสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวเลต หรือรังสียูวีได้จริงตามที่โฆษณาหรือไม่ เอ็มเทคได้นำตัวอย่างผ้าร่มยูวีซึ่งมีสีเงินและสีแดงมาพิสูจน์ ผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่า เส้นใยของผ้าด้านสีแดงจะมีช่องว่างกระจายอยู่ทั่วไป และพบธาตุไทเทเนียมและทองแดงในปริมาณเล็กน้อย ส่วนผ้าด้านสีเงินจะมีใยผ้าสานกันอยู่ แต่มองเห็นเส้นใยไม่ชัดเจน หากจะเลือกซื้อใช้ร่มยูวี ควรเลือกชนิดที่สีเงินอยู่ด้านในถึงจะเหมาะสม เพราะจากข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ชี้ว่า หากสีเงินอยู่ด้านนอก แสงและรังสีต่างๆ ก็จะสะท้อนออกจากร่มไปโดยทะลุผ่านเนื้อผ้าเข้ามาได้จำนวนหนึ่ง แต่หากสีเงินอยู่ด้านในอย่างน้อยก็จะมีรังสียูวีและรังสีอินฟาเรตบางส่วนทะลุผ่านเนื้อฝ้าเข้ามาแล้วสะท้อนผ้าสีเงินกลับออกไป ทำให้เนื้อผ้ากลายเป็นทางผ่านของรังสีถึง 2 ครั้ง (มติชน จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





แพทย์ชี้โทรศัพท์มือถือกระทบอุปกรณ์การแพทย์

ศ.เกียรติคุณ นพ.ชูศักดิ์ เวชแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีรายงานวิจัยจากต่างประเทศถึงภัยของโทรศัพท์มือถือว่า มีผลต่ออุปกรณ์การแพทย์และส่งผลกระทบต่อคนไข้ เช่น เมื่อ 15 ปีที่แล้วมีรายงานทารกตายเกือบ 100 คน สอบสวนได้ว่าเครื่องแฮนิเตอร์ ถูกรบกวนจากโทรศัพท์มือถือรวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่อยู่ใกล้ๆ ก็มีส่วนกระทบต่อเครื่องมือแพทย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการจัดระบบมือถือในสถานพยาบาลว่าใช้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ มีงานวิจัยต่อมาว่า โทรศัพท์มือถือรบกวนเครื่องมือแพทย์นั้นมีหลายชนิด คือ 1.เครื่องมอนิเตอร์ ถ้าโทรศัพท์มือถือมีกำลังสูงหรืออยู่ใกล้มากๆ จึงจะรบกวน 2.เครื่องฮาแบคเพลสเมคเกอร์ พบว่ามีการรบกวนทำให้เกิดการผิดปกติในการส่งคลื่นไฟฟ้าไปที่หัวใจ แต่ถ้าเป็นดีมานเพลสเบคเกอร์ จะมีโอกาสได้รับการรบกวนมากกว่า สำหรับอุปกรณ์แพทย์ที่มีผลต่อการรบกวนจากโทรศัพท์มือถือ เช่น 1. เครื่องช่วยการได้ยิน เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เข้าไปจะไปกระทบลักษณะคล้ายๆ เสียงพูดแต่มีความดังกว่า ทำให้รบกวนการได้ยิน 2. เครื่องช่วยหายใจ ก็อาจมีผลกระทบแต่ต้องอยู่ใกล้มากๆ (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 8 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สารมหัศจรรย์ ‘ไคติน-ไคโตซาน’ ผลงานการวิจัยชิ้นเยี่ยมของ ‘มจธ.’

ดร.ปิยะบุตร วานิชพงศ์พันธุ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ทำการวิจัยสาร “ไคติน-ไคโตซาน” ประสบผลสำเร็จ เปิดเผยว่า สาร “ไคติน-ไคโตซาน” เป็นสารที่สกัดได้จากเปลือกสัตว์ เช่น กุ้ง ปู แกนปลาหมึก แมลง ตัวไหม และจุลินทรีย์อีกหลายชนิด มีคุณสมบัติย่อยสลายง่าย ไม่เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นำสารนี้มาประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ทางการแพทย์ และเภสัชกรรม เช่น ใช้บำบัดน้ำเสีย ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดไขมันและคอเลสเตอรอล และเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2470-5058-9 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2544 หน้า 27)





สร้างหุ่นยนต์ SMR

นายประเสริฐศักดิ์ เดชอุดม หรือ น้องช้าง นักศึกษาปริญญาโท ปี 1 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ของมจธ. ได้รับเชิญจากบริษัท WARNER BROS. PICTURES ให้นำหุ่นยนต์ SMR (Simple Mobile Robot) หรือหุ่นยนต์พื้นฐานที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสร้างหุ่นยนต์ไปแสดงในงานด้วย แรงบันดาลใจในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ SMR ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการสั่งงานที่ไม่ซับซ้อนมาก ออกแบบเป็น 3 ส่วนคือ ตัวหุ่นยนต์ ระบบควบคุม และส่วนติดต่อกับผู้ใช้หุ่นยนต์จะขับเคลื่อนโดยใช้ล้อ และติดตั้งปากกาไว้เขียนเส้นทาง ซึ่งสั่งการจากผู้เขียนโปรแกรม ผู้ใดสนใจจะนำโปรแกรมหลักของหุ่นยนต์ SMR ไปใช้หรือนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อ ก็สามารถติดต่อได้ที่ E-mail:chang@fibo.kmutt.ac.th





กว่าจะมาเป็นศูนย์วิจัยฯ ‘ฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ’

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ขึ้น ณ หมู่ 11 ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์วิจัยนี้นอกจากจะทำฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งแล้ว ยังดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ อีก 7 โครงการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ ณ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ในวันที่ 15 พ.ย. ศกนี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2544 หน้า 27)





ความหวังที่ใกล้เข้ามากับยาต้านมะเร็ง

คณะวิจัยจาก University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบสารประกอบที่มีความเป็นไปได้ในการนำมารักษามะเร็งจาก Bugula neritina ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง รูปร่างคล้ายสาหร่าย แอลจี (Algae) สารประกอบมีชื่อว่า bryostatin สิ่งที่นักวิจัยเป็นห่วง คือ ถ้าเราไม่สามารถเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใน Bugula neritina ได้ มันก็จะสูญพันธุ์ จึงจำเป็นจะต้องเพาะเลี้ยงแบคทีเรียนี้ และปลูกถ่ายยีนจากการทดลองทางคลินิก การใช้ตัวยา bryostatin ผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการทดลองในขั้นต่อไป (เดลินิวส์ พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า 23)





พบเทคนิคใหม่ละลายลิ่มเลือด

ดร.ชัชชัย ตะยาภิวัฒนา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิจัยค้นพบวิธีผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อ รีคอมบิแนนท์ ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคดิเวเตอร์ หรือ ทีพีเอ (Recombinant tissue plasminogen activator) ในแบคทีเรีย อีโคไล มีฤทธิ์สามารถละลายลิ่มเลือดในเส้นเลือดที่เข้าหัวใจ เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมจดสิทธิบัตรกับบริษัทต่างชาติ เป็นเทคนิคที่เราทำสำเร็จเป็นคนแรกของโลก มั่นใจอีก 4 ปีผลิตเป็นยาขายได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 14)





‘สตรีเหล็ก’ กลุ่มเสี่ยงใช้กวาวเครือ

นายสมภพ ประธานธุรารักษ์ นักวิชาการ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการศึกษากวาวเครือขาว เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร กวาวเครือเป็นสมุนไพรที่มีนักวิจัยต้องการศึกษาวิจัยจำนวนมาก เนื่องจากมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม กวาวเครือเป็นพืชที่มีทั้งคุณและโทษ กวาวเครือขาวเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการพัฒนายาสมุนไพร เพื่อเสริมไฟโดรเอสโตรเจนให้กับผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้กวาวเครือจะต้องมีการควบคุมมาตรฐาน และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์กวาวเครือขาวที่มีคุณภาพสม่ำเสมอก่อน โดยจะต้องศึกษาพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังของกวาวเครือขาวว่า ปลอดภัยหรือไม่ สารไฟโดรเอสโตรเจนที่พบในกวาวเครือขาวมีฤทธิ์แรงมาก จำเป็นจะต้องมีควมระมัดระวังในการใช้โดยกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรจะใช้กวาวเครือขาวคือ ผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิงและต้องการเพิ่มขนาดหน้าอกอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ อาจจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติฮอร์โมนเพศ ส่วนผู้หญิงสูงอายุที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก อาจจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเพิ่มมากขึ้นได้ (มติชน จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





เนคเทคพัฒนาโปรแกรมคอมพ์ ป้อนอักขระภาษาไทยบนมือถือ

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เนคเทคได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็ว และตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้มากยิ่งขึ้น โปรแกรมดังกล่าวคือโปรแกรมค้นคืน (Engine) ข้อมูลอัจฉริยะ “สรรสาร” และโปรแกรมสำหรับป้อนอักขระไทยบนอุปกรณ์มือถือ “สมาร์ท-คิว” โปรแกรมสรรสารเป็นโปรแกรมสำหรับการค้นคืนข้อมูลภาษาไทย อังกฤษ ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยขจัดปัญหา ผลการค้นคืนข้อความภาษาไทยที่เกิดจากการตัดคำภาษาไทย และจัดลำดับความเกี่ยวข้องของข้อความที่มีต่อคำที่ใช้ค้นคืนได้อย่างเหมาะสม ทำให้การค้นข้อมูลของผู้ใช้คอมพิวเตอร์สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สำหรับการป้อนอักขระไทยบนอุปกรณ์มือถือ สมาร์ท-คิวนั้น เป็นโปรแกรมสำหรับพิมพ์ข้อความภาษาไทยด้วยปุ่มตัวเลขบนโทรศัพท์มือถือ โดยอาศัยหลักการถอดเสียงคำอ่านตามรูปเขียนนั้น ทำให้ผู้ใช้สามารถป้อนภาษาไทยโดยใช้เพียงปุ่มที่มีอยู่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ โปรแกรมทั้ง 2 นี้พร้อมแล้วที่จะให้ภาคเอกชนนำไปใช้ และผู้สนใจสามารถทดลองค้นหาข้อมูล รายละเอียดโปรแกรมสรรสารได้ที่ www.sansarn.com สำหรับโปรแกรมป้อนอักขระภาษาไทยบนอุปกรณ์มือถือ สมาร์ท-คิว ติดต่อได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาสาขาสารสนเทศ เนคเทค ชั้น 22 อาคารมหานครยิบซั่ม โทร. 0-2642-6001-10 ต่อ308 (มติชน จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





วิจัยชี้ทารกเสริมวิตามินดีลดเสี่ยงเบาหวาน

รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ได้อ้างผลการวิจัยของทีมวิจัยจากประเทศฟินแลนด์ ทำการวิจัยกับทารกจำนวนกว่า 12,000 คน พบว่า ทารกที่ได้รับการเสริมวิตามินดีจากแพทย์ จะลดความเสี่ยงที่พัฒนาเป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 80% งานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนผลงานวิจัยชิ้นก่อนๆ ว่า วิตามินดีป้องกันโรคเบาหวานในสัตว์ แพทย์เชื่อว่า วิตามินดีมีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการก้าวร้าวของระบบภูมิคุ้มกันที่จะทำลายเซลล์ตัวเอง ซึ่งกระบวนการนี้คือรูปแบบหนึ่งของการเป็น เบาหวาน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายเตือนว่า ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยฟินแลนด์ ยังไม่ใช่ข้อสรุป ดังนั้น ประชาชนยังไม่ต้องรีบร้อนทานวิตามีนดีเสริม ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน (มติชน พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า 17)





ข่าวทั่วไป


thaigov.net เว็บไซต์ท่าของหน่วยงานรัฐ

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “ประตูสู่ข้อมูลข่าวสาร และบริการภาครัฐแบบออนไลน์” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภาคราชการมีเว็บไซต์ของหน่วยงานเพิ่มจำนวนมาก จากพฤติกรรมของประชาชนผู้เข้าเว็บไซต์จะต้องโทรไปสอบถามชื่อเว็บไซต์ก่อน และแต่ละเว็บไซต์ก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงานมากเกินไปทำให้เสียเวลามาก เนคเทค จึงร่วมมือกับสำนักงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) ได้เปิดตัวเว็บไซต์ท่า (Portal Site) เพื่อเป็นศูนย์การเชื่อมโยงข้อมูลการติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน โดยผ่านเว็บไซต์ http://www.thaigov.net จะรวบรวมบริการของรัฐ บอกขั้นตอน เอกสารที่ใช้ติดต่อราชการ และบริการออนไลน์ ข่าวประจำวัน บทความ รวมทั้งบริการสืบค้นข้อมูลที่เป็นภาษาไทย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 16)





จีนสนทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย

นายวีระ มุสิกพงค์ ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จีน สนใจทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศจีนได้ จีนพร้อมที่จะลงทุนให้โดยแลกเปลี่ยนกับยางพาราของไทย ด้วยระบบการค้าต่างตอบแทน (เคาน์เตอร์เทรด) กระทรวงคมนาคมรับไว้เพื่อพิจารณาก่อน เพราะว่ามีขั้นตอนและต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ขณะนี้รัฐมีนโยบายชะลอการลงทุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เหมาะสม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 9)





กรมอนามัยเปิดเว็บให้ตรวจแปรงสีฟันยี่ห้อผ่านมาตรฐาน

นายภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้สุ่มเก็บแปรงสีฟันจากร้านค้าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสิ้น 46 ยี่ห้อ รวม 223 รูปแบบ แยกเป็นแปรงสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ของเด็ก ตรวจสอบแล้วมีคุณลักษณะผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการร้อยละ 74 อีก 92 รูปแบบ ที่ไม่มีการระบุแหล่งผลิตแต่ก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาการร้อยละ 64.1 แปรงนำเข้าที่มีฉลากระบุแหล่งผลิตหรือนำเข้าชัดเจนส่วนใหญ่มีความปลอดภัยต่อการใช้ในช่องปาก เพราะระบุฉลากตรงความเป็นจริง สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อแปรงสีฟันทีผ่านการตรวจสอบของกรมอนามัยได้ที่ www.anamai.moph.go.th (มติชน อังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





พบยา ‘เพอรินโดพริล’ ใช้ลดความดันเลือดสูง

ศ.นพ. นิพนธ์ พวงวรินทร์ นายกสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทยร่วมกับโครงการวิจัย PROGRESS สถาบัน IIH (Institute For International Health) ได้เผยผลวิจัยถึง ความก้าวหน้าในการลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นการค้นพบยาเพอรินโดพริล (peridopril) ที่ใช้ลดความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิต ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดสมองและยังสามารถลดความเสี่ยงของการแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้ จากผลการศึกษา ชี้ชัดว่ายาเพอรินโดพริล มีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอายุเท่าใดหรือมีระดับความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ตาม รวมถึงยังสามารถใช้ร่วมกับยาเดิมที่ผู้ป่วยเคยได้รับ ซึ่งขณะนี้ยาเพอรินโดพริลและอินดาพาไมต์ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกให้เป็นยาที่ใช้รักษา (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 8)





มธบ.ประกวดแผนการตลาดสินค้าชุมชน

รศ.ดร.สรชัย พิศาลบุตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และพัฒนามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้จัดโครงการประกวดแผนธุรกิจชุมชน ครั้งที่ 2 เรื่อง “แผนการตลาดสินค้าชุมชน” ขึ้น เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกิดการวางแผนการตลาดสินค้าชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นการขานรับนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ของรัฐบาลด้วย สำหรับสินค้าที่อยู่ในขอบข่ายของการประกวดแผนการตลาดสินค้าชุมชนในครั้งนี้ได้แก่ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าหัตถกรรม สำหรับการประกวดนั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1. ประเภทกลุ่มแม่บ้าน และผู้นำชุมชน 2. ประเภทนักศึกษา นักวิชาการและประชาชนทั่วไป ผู้สนใจสามารถส่งใบสมัครพร้อมแผนการตลาดอย่างสังเขปได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2544 (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 7 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





‘หมัก’ ดึงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 2,000 ล้านเนรมิตสนามหลวง 3

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯกทม. ได้เตรียมโครงการสนามหลวง 3 ด้วยงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 1,600 ไร่ในเขตบางกะปิ และสะพานสูง โดยจะปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลักษณะเดียวกับสนามหลวง รวมทั้งจะทำพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สวนสัตว์ และมีศูนย์เตรียมความพร้อมเพื่อหางานทำของนักศึกษาที่เพิ่มเรียนจบ นอกนั้นเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น ตลาดขายของฝึกอาชีพ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2544 หน้า 34)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215