หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 47 ประจำวันที่ 2001-11-27

ข่าวการศึกษา

บริษัทซีเกทสอน นศ.ป.โท-วิศวะ เป็นผู้นำการผลิต
ออสเตรเลียแนะไทยนำไอทีพัฒนากศ.
‘รังสรรค์’ ฮึดสู้หวังใช้กม.ข้อมูลข่าวสาร ขอดูที่มาที่ไป ‘ศ.’ ทุกคน-อัดทบวงสับสน
สรุปร่างกม.จุฬาฯ ส่งครม. ได้ต้นปีหน้า ชี้ม.เร่งออกนอกระบบไม่เกี่ยวหนี ‘สุวิทย์’
กก.ศาสนาแยกตั้งกระทรวงใหม่
นิด้าเดินหน้าศึกษายุบศูนย์การเรียนตจว.
‘สมเชาว์’ ค้านใบอนุญาตอัตโนมัติ
ม.รัฐ-ราชภัฏได้ข้อสรุปหลักสูตรอบรมบัณฑิต
เผยนโยบายรับนักเรียนปี’45 ย้ำ ‘อนุบาล-ป.1’ ห้ามสอบเข้า
กศน.จัดประกวดมายากล กระตุ้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์
มหา’ลัยรับเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาสอนวิทย์
อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอก้าวหน้าเปิดสอนทางอินเทอร์เน็ต
อเมริกาช่วยไทยออกแบบวิทยาลัยชุมชน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เนคเทคทำเว็บโครงการไอทีพระราชดำริฯ
‘เนคเทต’ กำหนดสเป๊ก ‘คอมพิวเตอร์’ ห้ามแผ่รังสีแม่เหล็กเกิน 50% ต่อเครื่อง
มหาธีร์หนุนโครงการ ‘ไบโอวัลเลย์’ เต็มที่
เครือข่ายแก้สารตะกั่วยื่นหนังสือขอรัฐยกเลิกทำเหมืองแร่บริเวณทุ่งนเรศวร

ข่าววิจัย/พัฒนา

แนะรัฐเพิ่มทุนวิจัยม.จาก 0.2% เป็น 0.5% ของจีดีพี
ลูกบอลดับเพลิงไทยเจ๋งกวาด 3 รางวัลโลก
ม.เทคโนฯมหานครสร้างเกราะป้องกันมะเร็งปอด..เครื่องบำบัดอากาศเสียพลังงานไฟฟ้า
เครื่องทำ ‘น้ำเต้าหู้’ สำเร็จรูป ผลงานชิ้นเยี่ยมของราชมงคล
มะกันเตรียมใช้นิวเคลียร์ระเบิดมะเร็งในคน
หมอคิวบาใช้พิษแมงป่องรักษามะเร็งเห็นผล 97%

ข่าวทั่วไป

จ้างมือก.ม. จดทะเบียนหอมมะลิทั่วโลก
รามาชี้ภัยขนมทำเด็กตายปีละ 100 คน
จัดทอล์กมาราธอน แข่งฟังทนได้สาระ
ทุ่ม 2 พันล.ผุดหอบินสูงที่สุดในโลก
ลดเวลาเรียนจปร.เหลือ 4 ปี





ข่าวการศึกษา


บริษัทซีเกทสอน นศ.ป.โท-วิศวะ เป็นผู้นำการผลิต

มร.นายเบรนท์ บาร์กแมน รองประธานฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทยบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงหลักสูตรใหม่ การเป็นผู้นำและการบริหารงานเพื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตที่ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดตั้งขึ้น ว่า หลักสูตรนี้จะช่วยเตรียมนักศึกษาและวิศวกรสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณความต้องการความชำนาญทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยีชั้นสูงในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น ทางด้าน นายเชาว์ เนียมสอน หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการผลิต ม.พระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า วิชา “การเป็นผู้นำและการบริหารงานเพื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิต” นี้ จัดขึ้นภายใต้โปรแกรม Leader for Manufacturing Competitiveness (LMC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เอ็มไอที และบริษัทผู้ผลิตชั้นนำในประเทศไทย (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 8)





ออสเตรเลียแนะไทยนำไอทีพัฒนากศ.

นายบวร ปภัสราธร คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวในการประชุมระดับชาติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จัดโดยคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ว่า ไทยได้ดำเนินการในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการศึกษาแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ตรงกับคำแนะนำของออสเตรเลียตามความช่วยเหลือในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการปฏิรูปการศึกษาไทย ภายใต้ความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ทั้งนี้เพื่อช่วยการจัดทำแผนแม่บทในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยให้คำแนะนำว่า ไทยควรจะจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อดูแลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งกำหนดขั้นตอนการพัฒนา 3 ขั้นตอน คือ 1. ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งปัญหา อุปสรรค 2. การทำโรงเรียนนำร่อง และ 3. การดำเนินการจริง





‘รังสรรค์’ ฮึดสู้หวังใช้กม.ข้อมูลข่าวสาร ขอดูที่มาที่ไป ‘ศ.’ ทุกคน-อัดทบวงสับสน

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภาวินิจฉัยว่า ศาสตราจารย์ (ศ.) ที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งตน และคณาจารย์อื่นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตนได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ขอทราบรายชื่อ ศ.ทั่วประเทศ และการได้มาของ ศ.ว่า เป็นไปตามกฎหมายข้อใดของกฎทบวงฯ เป็นซี 9-11 ได้อย่างไร ใครเป็นผู้วินิจฉัย ใครเป็นผู้จ่ายค่าตำแหน่ง ซึ่งจะโยงใยไปถึงการใช้อำนาจของรัฐ (มติชน ศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





สรุปร่างกม.จุฬาฯ ส่งครม. ได้ต้นปีหน้า ชี้ม.เร่งออกนอกระบบไม่เกี่ยวหนี ‘สุวิทย์’

ท.พ. จีรศักดิ์ นพคุณ รองอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ พ.ศ….. ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ช่วงที่ผ่านมาและจะนำมาประมวลเป็นแผนแม่บทที่อาจจัดให้มีการประชาพิจารณ์อีกครั้ง ประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติในเวลานี้คือ สถานภาพบุคลากร เพราะแม้กฤษฎีกายินยอมให้เป็นข้าราชการได้โดยไม่กำหนดระยะปรับเปลี่ยน แต่การบรรจุพนักงานโดยผ่านระบบประเมินก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเสนอร่างต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ประมาณเดือนมกราคมปีหน้า (มติชน ศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





กก.ศาสนาแยกตั้งกระทรวงใหม่

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมปฏิรูประบบราชการด้านสังคมที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ตนได้เชิญรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาด้านสังคมตามโครงสร้างระบบราชการใหม่ ได้แก่ กระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกีฬานันทนาการและการท่องเที่ยว และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาหารือถึงการจัดโครงสร้างใหม่ โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดโครงสร้างมาเสนอที่ประชุม ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ เพื่อนำเสนอครม.ในวันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาฯ ได้มอบหมายให้รมว.ศึกษาธิการ และรมว.ทบวงมหาวิทยาลัย ไปหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ที่จะแยกแท่งคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งขึ้นเป็นอีกหนึ่งกระทรวง โดยอาจดึงการท่องเที่ยวเข้ามาร่วมด้วย ส่วนกีฬาและนันทนาการอาจจะเป็นทบวงฯ (สยามรัฐ พุทธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





นิด้าเดินหน้าศึกษายุบศูนย์การเรียนตจว.

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยกรณีนักศึกษายื่นหนังสือคัดค้านมติสภานิด้าที่ให้ยุบศูนย์การเรียนต่างจังหวัดว่า จากการประชุมกรรมการสภาสถาบันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยมี นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน สภามีมติให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว เพราะการตั้งศูนย์เป็นไปตามพันธะสัญญาการสร้างความเข้มแข็งและเปิดโอกาสให้คนต่างจังหวัดได้เรียน แต่เวลานี้สภาเห็นว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดเข้มแข็งแล้ว จึงควรเปิดโอกาสให้เติบโต ส่วนนิด้าควรหันไปสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านอื่น ที่ประชุมเห็นชอบให้ทบทวนพันธะสัญญาดังกล่าว แล้วให้ผู้บริหารส่วนกลางและต่างจัดหวัดหารือร่วมกัน (มติชน พฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





‘สมเชาว์’ ค้านใบอนุญาตอัตโนมัติ

นายสมเชาว์ เกษประทุม กรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะให้ครูประจำการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องประเมิน ใบอนุญาตควรเป็นแบบชั่วคราวไม่ใช่ถาวร ซึ่งภายใน 5 ปี สปศ. กำหนดให้ครูต้องได้รับการอบรม 100 ชั่วโมง (มติชน อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





ม.รัฐ-ราชภัฏได้ข้อสรุปหลักสูตรอบรมบัณฑิต

รศ.ดร. ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารจัดการ และการวิเคราะห์ประเมินผลโครงการกองทุนหมู่บ้านสำหรับบัณฑิตตกงานว่า จากจำนวนบัณฑิตที่ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมทั้งหมด 74,881 คน สำหรับภาคอีสานซึ่งรับบัณฑิตมากที่สุดนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 4 แห่ง และสถาบันราชภัฏ 13 แห่ง ได้หารือแบ่งงานกันเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ได้กำหนดให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันราชภัฏ โดยหลักสูตรแบ่งเป็น 7 ชุดวิชา ได้แก่ การบริหารจัดการ การเงินและการบัญชีการตลาด การจัดทำโครงการ การวิเคราะห์โครงการ การวิจัยและกระบวนการผลิต รวม 27 หน่วยกิต และแบ่งเป็นการสอนภาคทฤษฎี 20% และลงพื้นที่ 80% ทั้งนี้ผู้บริหารต่างเห็นชอบร่วมกันว่า จะประเมินผู้เรียนตามจริง และหากทำวิทยานิพนธ์เพิ่มเติม อาจมอบวุฒิปริญญาโทให้ ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินจะได้เฉพาะประกาศนียบัตรผ่านงานเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





เผยนโยบายรับนักเรียนปี’45 ย้ำ ‘อนุบาล-ป.1’ ห้ามสอบเข้า

นางมัณฑนา ศังขะกฤษณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า วิธีการดำเนินการรับเด็กในระดับปฐมวัยได้กำหนดให้โรงเรียนเอกชนรับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 4 ส่วนศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) จะรับเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป โดยวิธีการรับจะต้องไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ หากจำนวนเด็กเกินให้ใช้วิธีจับสลาก หรือการคัดเลือกที่เหมาะสม ในระดับประถมศึกษาโดยเฉพาะ ป.1 ให้ทุกคนได้เรียนโดยไม่มีการคัดเลือก สำหรับระดับมัธยมศึกษายังคงให้โรงเรียนรับนักเรียนในสัดส่วนเขตพื้นที่บริการไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ที่เหลือเป็นการสอบคัดเลือก ความสามารถพิเศษและผู้มีอุปการคุณตามเดิม (มติชน พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





กศน.จัดประกวดมายากล กระตุ้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์

นายสวัสดิ์ ตี๋ชื่น รองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า กศน. จะจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วย การแสดงวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ และการประกวดการแสดงวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ระดับประเทศ” โดยจะมีการจัดประกวดการแสดงดังกล่าวของนักเรียนมัธยมตอนต้น ซึ่งจะเริ่มต้นในระดับเขตการศึกษา 12 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2545 เพื่อเข้าสู่การประกวดในระดับประเทศ” ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ วันที่ 23 สิงหาคม 2545 ต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





มหา’ลัยรับเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาสอนวิทย์

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่ง ในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับโรงเรียน โดยให้มหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาหลักสูตร นอกจากนี้โครงการดังกล่าว จะเป็นการสร้างเครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมีโรงเรียนที่เป็นแกนนำ ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับบริการให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2544 หน้า 12)





อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอก้าวหน้าเปิดสอนทางอินเทอร์เน็ต

นายประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้จัดการเรียนตามอัธยาศัยมาเป็นรูปแบบ school program และค่าย เป็นเวลา 1 ปีได้รับผลดี ทางอุทยานได้เปิดฐานการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีก 3 ฐาน (จากเดิมที่มี 12 ฐาน) ได้แก่ ฐานโลกอนาคต, ฐานสวนวิทยาศาสตร์ และฐานสวนธรณีวิทยา และกำลังจะเปิดฐานเรียนอีก 6 ฐาน คือ ฐานเปิดโลกคอมพิวเตอร์, หมู่บ้านวิทยาศาสตร์, ทรัพย์จากแผ่นดิน, วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ, โลกของเด็ก และบันทึกเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ และภูมิปัญญาไทย นอกจากทางอุทยานจะเปิดการสอนผ่านอินเตอร์เน็ตในลักษณะ e-learning ในระยะนี้ติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ www.nfe.go.th ก่อน คาดว่าในปีนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ (เดลินิวส์ พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 6)





อเมริกาช่วยไทยออกแบบวิทยาลัยชุมชน

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช. ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการวางระบบการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน และการทำโครงการขอรับความช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่างๆ ด้วย นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย.นี้ โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 3 คน เป็นวิทยากร ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน, คณะอนุกรรมการวิทยาลัยชุมชน ตัวแทนจากจังหวัดเป้าหมาย 10 จังหวัด เพื่อเตรียมการให้ทันในภาคเรียน 1/45 นี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2544 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เนคเทคทำเว็บโครงการไอทีพระราชดำริฯ

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการโครงการไอทีตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อนำเสนอพระราชกรณียกิจ สนับสนุนและส่งเสริมการทำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ผู้เจ็บป่วยและพิการในต่างจังหวัด และได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์มือสองจากรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนไปจัดสรรแล้วกว่า 3 พันเครื่อง และจัดสรรให้โรงเรียนในโครงการ สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.princess-it.org (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2544 หน้า 16)





‘เนคเทต’ กำหนดสเป๊ก ‘คอมพิวเตอร์’ ห้ามแผ่รังสีแม่เหล็กเกิน 50% ต่อเครื่อง

นายชาคริต อุทัยรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทพีซี รีซอร์ส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Final Computer กล่าวว่า เครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งชุดจะมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและแผ่รังสี สร้างผลข้างเคียงแก่ผู้ใช้งาน ดังนั้น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้กำหนดให้คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในโครงการคอมพิวเตอร์ไทยมาตรฐานเนคเทคและต้องมีอัตราการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 50 ของคลื่นแม่เหล็กทั้งหมดภายในเครื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์บางส่วนที่ไม่ได้ใส่ใจกับมาตรฐานดังกล่าว โดยส่วนใหญ่มีอัตราการแพร่กระจายของคลื่นแม่เหล็กมากกว่า อาการของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากรังสีคลื่นแม่เหล็กของคอมพิวเตอร์จะมีอาการเมื่อยล้าสายตา เป็นต้นเหตุของสายตาสั้น ปวดศีรษะ และเมื่อยล้าตามร่างกาย เพียงแต่ผลกระทบดังกล่าวยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ออกมารองรับ ผู้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ควรสังเกตุว่า อุปกรณ์แต่ละชิ้นมีเครื่องหมายมาตรฐานติดมาด้วยหรือไม่ คือเครื่องหมาย CE, FCC UL และเครื่องหมาย ISO เป็นต้น (มติชน อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





มหาธีร์หนุนโครงการ ‘ไบโอวัลเลย์’ เต็มที่

หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างคำแถลงการณ์ของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันจันทร์ (19 พ.ย.) ว่า มาเลเชียต้องการสร้าง “ไบโอ วัลเลย์” (Bio Valley) โครงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ภายในโครงการมัลติมีเดีย ซุปเปอร์ คอร์ริดอร์ มูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ โครงการไบโอ วัลเลย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นวางแผน ประกอบด้วย สถาบันวิจัยใหม่ 3 แห่ง เน้นการวิจัยด้านเภสัชกรรม, เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร และการถอดรหัสพันธุกรรม (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 5)





เครือข่ายแก้สารตะกั่วยื่นหนังสือขอรัฐยกเลิกทำเหมืองแร่บริเวณทุ่งนเรศวร

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมบริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน ได้ทำหนังสือยื่นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขอให้สภาที่ปรึกษาผลักดันรัฐบาลให้ยกเลิกการทำเหมืองแร่บริเวณโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งนเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี (มติชน อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


แนะรัฐเพิ่มทุนวิจัยม.จาก 0.2% เป็น 0.5% ของจีดีพี

ศ.น.พ.วิจารณ์ พาณิช ที่ปรึกษากองทุนสนับสนุนการวิจัย เปิดเผยในการประชุม ทปอ. เรื่อง “มาตรการยกระดับความเข้มแข็งด้านการวิจัยของอุดมศึกษาไทยในภาพรวม” ว่า มหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังกระบวนการคิด การเขียน โครงการวิจัยแบบครบวงจร เน้นความเชื่อมโยงกับงานวิจัยภายนอก และควรมีการตั้งทุนวิจัยเบื้องต้นสำหรับสนับสนุนนักวิจัยใหม่ เพิ่มงบประมาณวิจัยจาก 0.2% เป็น 0.5% ของ GDP มีการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก ในการสร้างนักวิจัย พร้อมตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทาง (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ลูกบอลดับเพลิงไทยเจ๋งกวาด 3 รางวัลโลก

นายวรเดช ไกรมาตย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเซฟตี้พรีเมียร์ จำกัด และบริษัท สยามเซฟตี้ เอ็มไพร์ จำกัด เปิดเผยถึง “ลูกบอลดับเพลิง” ผลการประดิษฐ์ที่ส่งเข้าประกวด ‘สิ่งประดิษฐ์ระดับโลก’ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อวันที่ 13-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า สามารถคว้ารางวัลใหญ่ 3 รางวัล คือ 1. รางวัลนานาชาติยอดเยี่ยม สาขาสิ่งประดิษฐ์ความปลอดภัยและช่วยเหลือมนุษยชาติ จากนายกรัฐมนตรีรัสเซีย 2. รางวัล BRUSSELS EUREKA 2001 รางวัลเหรียญทอง Gold Medal With Mention 3. ประกาศเกียรติคุณสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมจากบัลแกเรีย (มติชน พฤหัสบดี ที่ 22 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





ม.เทคโนฯมหานครสร้างเกราะป้องกันมะเร็งปอด..เครื่องบำบัดอากาศเสียพลังงานไฟฟ้า

อาจารย์ศิศิโรตม์ เกตุแก้ว ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานครพร้อมทีมวิจัย ทำการคิดค้นวิธีบำบัดอากาศเสียโดยนำไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันสูง มาช่วยลดมลพิษทางอากาศโดยการประยุกต์หม้อแปลงฟลายแบ็ก (FLYBACK) ของเครื่องรับโทรทัศน์ มาผลิตไฟฟ้าแรงดันสูงเพื่อสร้างชุดดักจับมลพิษในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นควันธูป ควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งสารพิษเหล่านี้หากมีปริมาณเกินขีดจำกัดในอากาศ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และพืช ประสิทธิภาพของเครื่องนี้เท่ากับ 92.37% ซึ่งได้จากการทดสอบทั้งมวล อัตราการบำบัดอากาศของเครื่องบำบัดอากาศที่เสียอยู่ที่ 126 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถดักฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.01 ไมครอนขึ้นไป และใช้กับแรงดันไฟฟ้า 200 โวลต์ ผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทร.0-2988-3666ต่อ 149,150 (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 22 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





เครื่องทำ ‘น้ำเต้าหู้’ สำเร็จรูป ผลงานชิ้นเยี่ยมของราชมงคล

นายกฤษฎา ลิมปพัฒนวณิชย์, นายสัญญา ปาระมีกาศ และ นายภูริพงษ์ อิสริยาพงษ์ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอุตสาหการเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนนทบุรี ได้คิดค้นเครื่องทำหน้าเต้าหู้แบบง่าย โดยมีส่วนประกอบ คือ กรวยบรรจุถั่วเหลือง วาล์วน้ำ หม้อต้ม และ Beaker โดยใช้เวลาประมาณ 90 นาที สามารถรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกิน 90 องศา และปริมาณสารอาหารไม่สูญเสีย ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนนทบุรี โทร. 0-2969-1369-74 (เดลินิวส์ พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 23)





มะกันเตรียมใช้นิวเคลียร์ระเบิดมะเร็งในคน

ดร.เดวิด ไชน์เบิร์ก จากศูนย์มะเร็งในนิวยอร์ก หัวหน้าคณะนักวิจัยที่ทดลองใช้โมเลกุลนิวเคลียร์ระเบิดทำลายเซลล์มะเร็งในตัวมนุษย์ ทั้งนี้โมเลกุลนิวเคลียร์ประกอบด้วยอะตอมกัมมันตภาพรังสี ซึ่งจะนำไปติดไว้กับภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ (แอนติบอดี้) เพื่อให้เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมาย หลักการทำลายคือ เมื่อเข้าไปอยู่ข้างในของเซลล์มะเร็งแล้ว อะตอมกัมมันตภาพรังสีจะปล่อยรังสีอัลฟาพลังงานสูงออกมาทำลายโปรตีนและดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็ง (มติชน พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





หมอคิวบาใช้พิษแมงป่องรักษามะเร็งเห็นผล 97%

น.พ.มิซาเอล บอร์ดิเออร์ ชาวคิวบา ใช้พิษของแมงป่องสีน้ำเงิน ชาวคิดบา ใช้พิษของแมลงป่องสีน้ำเงินในการรักษามะเร็ง ปรากฏว่าได้ผลในการรักษาถึง 97% น.พ.ชาวคิวบาเห็นว่า วิธีการนี้ไม่สามารถกำจัดโรคมะเร็งหมดสิ้นไปจากร่างกาย เป็นแต่เพียงชะลอการเติบโตของเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งผลจากการทดลองพบว่า คนไข้ 97% ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขนาดของเนื้อเยื่อมะเร็งลดลงอย่างเห็นได้ชัด (มติชน พฤหัสบดี ที่ 22 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


จ้างมือก.ม. จดทะเบียนหอมมะลิทั่วโลก

กระทรวงพาณิชย์ได้มีการลงนามสัญญาจ้างจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในไทย เพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยใน 6 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเชีย และมีโครงการที่จะจดทะเบียนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอีกประมาณ 47 ประเทศในปี 2545 นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) จะเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ให้เสร็จโดยเร็ว และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





รามาชี้ภัยขนมทำเด็กตายปีละ 100 คน

นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า สาเหตุการตายของเด็กที่สำคัญ คือ การสำลักอาหารเนื่องจากเศษอาหารเข้าไปอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้เด็กหายใจไม่ออกจนถึงตาย โดยอาหารอันตรายที่พบบ่อยคือ ถั่ว เยลลี่ เมล็ดผลไม้ เช่น น้อยหน่า ละมุด ลูกอม ไส้กรอก ลูกชิ้น ชิ้นส่วนของเล่น ซึ่งอาจเป็นแขนขาของหุ่นยนต์ ล้อรถยนต์ของเล่น และเม็ดพลาสติกกลมชนิดต่างๆ โดยเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 8)





จัดทอล์กมาราธอน แข่งฟังทนได้สาระ

พล.ท.พิศณุ อุไรเลิศ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เปิดเผยว่า กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันยาเสพติดในรูปแบบแข่งขันทอล์กมาราธอน ประเภทฟังทน และฟังได้ประโยชน์ ในหัวข้อพูดเพื่อชีวิตที่ดีและมีความสุข ชุดมหัศจรรย์แห่งชีวิต โดย พ.อ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา ในวันที่ 10 ธันวาคม 2544 เวลา 09.00-18.00 น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวกำหนดระยะเวลาไว้ 9 ชั่วโมง ซึ่งเงินรางวัลพร้อมเหรียญรางวัลและประกาศเกียรติคุณ จากกองบัญชาการทหารสูงสุด สนใจสามารถสมัครและสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2643-8841-3 (สยามรัฐ อังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





ทุ่ม 2 พันล.ผุดหอบินสูงที่สุดในโลก

น.ส.ภูวนิดา คุนผลิน โฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการก่อสร้างอาคารหอบังคับการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) มีแผนสร้างหอบังคับการบิน (เอทีซี คอมเพล็กซ์) ความสูง 132 เมตร สูงกว่าหอบังคับการบินของมาเลเชีย และถือว่าสูงที่สุดในโลก ความสูงมากจะส่งผลดีในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญลดมุมอับในการมองเห็นลงได้มาก ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และความปลอดภัยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้แบบเบื้องต้นเสร็จแล้ว มีบริษัท เมอร์ฟี่จาห์น แทมส์ แอ๊ค (เอ็มเจทีเอ) เป็นที่ปรึกษา (มติชน พฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 16)





ลดเวลาเรียนจปร.เหลือ 4 ปี

พล.ท.วีระชัย เอี่ยมสอาด เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เปิดเผยว่า สภาการศึกษากลาโหมเห็นชอบให้ลดเวลาการเรียนการสอนในหลักสูตรนายร้อย จปร. จาก 5 ปีเหลือ 4 ปี ส่วนการให้พลเรือนเข้ามาเรียนในโรงเรียนนายร้อย จปร.นั้น เห็นชอบในหลักการ แต่ให้เปิดการสอบในปี 2546 เนื่องจากติดขัดเกี่ยวกับหลักปฏิบัติ โดยต้องพิจารณาให้สอดคล้องและเป็นเนื้อหาเดียวกับนักเรียนนายร้อย จปร. หลักสูตรปกติ (มติชน พุธที่ 21 พฤศจิกายน 2544 หน้า 19)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215