หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 48 ประจำวันที่ 2001-12-04

ข่าวการศึกษา

ร้อง กว. ลำเอียงบัณฑิตครูช่าง สภาฯยันรับรองเฉพาะวิศวะ
น.ศ.นับพันประท้วงมติสภาวิศวกร
ย้ำหลักสูตรมหา’ลัยต้องสัมพันธ์ชุมชน
ยื่น ครม.ฟัน “รังสรรค์”
ผู้ช่วยบรรณารักษ์ยุคไอที
แนะทำพิมพ์เขียวแผนปฏิบัติการปฏิรูป
ห้องเรียนกลางทุ่งนา
“ชุมพล” อัดรัฐเตะศึกษาเหมือนลูกบอล
เด็กไทยต่างแดนได้เรียนรู้เมืองไทยทางไกล
“สุวิทย์” ยาหอมชาว รภ. ชี้ดันกฎหมายผ่านสภาฯแน่

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

‘เนคเทค’ เตือนไวรัสคอมพ์พันธุ์ใหม่
สำรวจพบมหาสมุทรสุดลึกลับ ซ่อนอยู่ใต้ผิวพื้นดาวอังคาร
เมื่อสเปิร์มตะลุยจักรวาล
หุ่นยนต์อาชิโมพร้อมให้เช่าแล้ว
‘ไนตริกออกไซด์’ ต่ำทำชายบ่มิไก๊!
พบต้นกำเนิด ‘จักรวาล’ หมู่เมฆก๊าซก่อตัวเป็นดาว
ย้ำภัย ‘บุหรี่’ ไม่สูบเองยังเสี่ยงโรค ‘มะเร็งปอด’
ส่งยานพุ่งชนดาวหาง
นักวิทย์ยิวตื่นเต้นคอมพ์ชีวภาพจิ๋วเล็กกว่าหยดน้ำ

ข่าววิจัย/พัฒนา

สวทช. เร่งพัฒนา ‘เซลล์แสงอาทิตย์’ วาดฝันเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของชาติ
“หม่อง” แพร่เชื้อเท้าช้างกลายพันธุ์
น.ศ.ศรีปทุมเจ๋งชนะแข่งหุ่นยนต์
วิจัยอัลตร้าซาวนด์ยับยั้งมะเร็งมดลูกได้
อินเดียปิ๊งจับแมลงวันทดลองยารักษามะเร็ง

ข่าวทั่วไป

เร่งออกแบบกระทรวงวัฒนธรรม
ต่างชาติทึ่ง “รองเท้าใยบวบ” ผลิตภัณฑ์ย้อนยุคเพื่อสุขภาพ
สัมมนา TDRI





ข่าวการศึกษา


ร้อง กว. ลำเอียงบัณฑิตครูช่าง สภาฯยันรับรองเฉพาะวิศวะ

ผศ.กังวล เทียนกัณฑ์เทศน์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รักษาการแทนนายกสมาคมครุศาสตร์อุตสาหกรรมฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาการได้รับใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกร (กว.) ของบัณฑิตหลักสูตรครูช่าง ครุศาสตรอุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) ถึง รมว.มหาดไทย รมว.ทบวงฯ และเลขาธิการสภาวิศวกร โดยระบุถึงข้อร้องเรียนจากนักศึกษา อาจารย์ และคณบดี ทั้ง มจธ. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ที่เห็นว่าสภาวิศวกรกีดกันการได้รับใบ กว. ของนักศึกษา ค.อ.บ. ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว นายเอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ เลขาธิการสภาวิศวกร ได้ทำหนังสือตอบกลับว่า สภาฯมีมติให้นักศึกษาหลักสูตร ค.อ.บ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 ถึงปีการศึกษา 2545 ต้องผ่านหลักสูตรที่สภาฯรับรอง จึงจะสามารถเข้าทดสอบความรู้ฯได้ และตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไป จะรับรองปริญญาเฉพาะหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตเท่านั้น (ไทยรัฐ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





น.ศ.นับพันประท้วงมติสภาวิศวกร

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรอุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) และอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อ.ส.บ.) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) วิทยาเขตนนทบุรี และวิทยาเขตสงขลา ประมาณ 1,000 ได้ชุมนุมประท้วงสภาวิศวกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายอรุณ ชัยเสรี นายกสภา กรณีสภาวิศวกรมีมติให้นักศึกษา ค.อ.บ. และ อ.ส.บ. ตั้งแต่ปี 2541-2545 ต้องผ่านการทดสอบจึงจะได้ใบประกอบวิชาชีพวิศวกร (ก.ว.) และตั้งแต่ปี 2546 จะไม่รับพิจารณาใบ ก.ว. นายเอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ ชี้แจงว่า สภาทำตามมติคณะกรรมการการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม(ก.ว.) ครั้งที่ 3/2544 และ 9/2544 ส่วนการให้ใบ ก.ว.กับรุ่นปี 2541 โดยไม่ต้องทดสอบ ถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นจะมีการเรียกใบ ก.ว. คืน และการที่บริษัทต่างๆ จะรับหรือไม่รับเข้าทำงาน หรือเลิกจ้าง ไม่เกี่ยวกับสภาวิศวกร (มติชน เสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ย้ำหลักสูตรมหา’ลัยต้องสัมพันธ์ชุมชน

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวเปิดโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง “บริษัทจำลองในสถาบันอุดมศึกษาสู่ SMEs เพื่อชุมชน.. หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ว่า สถาบันอุดมศึกษากับชุมชนมีความเกี่ยวพันกันในทุกด้าน ต้องมองว่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อบัณฑิตจบออกไปแล้วจะต้องไปพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป และหลักสูตรจะต้องมีพื้นฐานที่สัมพันธ์กับชุมชน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล นำความต้องการที่หลากหลายของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย สิ่งสำคัญคือจะต้องสื่อสารกับชุมชนให้รู้เรื่อง (มติชน เสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ยื่น ครม.ฟัน “รังสรรค์”

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เผยผลประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่สภาคณบดีนิติศาสตร์ได้เสนอขอเงินเพิ่มพิเศษให้แก่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ แต่มอบหมายให้ อ.ก.ม. ศึกษาแนวทางการเพิ่มเงินให้แก่อาจารย์ในสาขาวิชาขาดแคลนอื่นด้วย เช่น ภาษาไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง ด้าน ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ก.ม. ยังรับทราบผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) ของ รศ.ดร.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดี ม.รามคำแหง (มร.) และคณะ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า (ไทยรัฐ พุธ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





ผู้ช่วยบรรณารักษ์ยุคไอที

ม้ง-มงคลชัย ไชโย โปรแกรมเมอร์จากบริษัทน้องใหม่ “เอ็กซ์เซลลิเน็ต” กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาโปรแกรมห้องสมุด “Library.in.th” เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับห้องสมุดที่ต้องการพัฒนาระบบการให้บริการในแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล www.library.in.th จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือคลังข้อมูลของคนไทย โดยบริการอย่างครบวงจรตั้งแต่จัดเก็บข้อมูลในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ดูแล และเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ สร้างความสะดวกสบายให้กับบรรณารักษ์ ระบบการทำงานของโปรแกรมมีตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือ ให้บริการในการสืบค้นหนังสือ และแสดงรายละเอียดของหนังสือที่สืบค้นได้ ผู้เข้าใช้งานสามารถสำเนาหรือส่งคำขอไปยังบรรณารักษ์ผ่านเว็บ เวทีแลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นระหว่างผู้ใช้บริการกับบรรณารักษ์ ห้องสมุดสามารถประกาศข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนของ login ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแบ่งระดับของผู้ใช้บริการตามความต้องการของห้องสมุด (เดลินิวส์ อังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2544 หน้า 16)





แนะทำพิมพ์เขียวแผนปฏิบัติการปฏิรูป

ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เผยว่า ได้รับทราบจาก นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี นายปองพลเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้คณะกรรมการชุดนี้หยิบยกประเด็นปฏิรูปการศึกษาที่รัฐบาลคิดว่ายังเป็นปัญหาแต่ละจุดมาร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียดและตัดสินใจเป็นเรื่องๆ และบันทึกผลการประชุมนำมาจัดพิมพ์ในลักษณะสมุดปกขาวเผยแพร่ต่อสาธารณะ จากนั้นก็จัดทำเครื่องชี้วัดการปฏิรูปฯ เพื่อให้สังคมร่วมกันตรวจสอบความก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นพิมพ์เขียวของการปฏิรูปฯ และเพื่อขานรับการปฏิรูปฯ ก็ต้องมีพิมพ์เขียวแผนปฏิบัติการในแต่ละเรื่องที่ประกอบด้วยเป้าหมาย แผนการทำงานยุทธศาสตร์ ระยะเวลาการทำงาน และการประเมินผลที่ชัดเจน แต่ปัญหาขณะนี้คือ แต่ละหน่วยงานก็มีพิมพ์เขียวแผนปฏิบัติการของตนเอง จึงอยากให้คณะกรรมการนี้นำพิมพ์เขียวแผนปฏิบัติการของทุกหน่วยงานมาหลอมรวมกัน และพิมพ์เผยแพร่ต่อประชาชน (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 29 พฤศจิกายน 2544 หน้า15)





ห้องเรียนกลางทุ่งนา

โรงเรียนบ้านโพนแพง สังกัดสปอ.คำม่วง หมู่ 4 ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง เป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 72 พรรษา โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ถือเป็นองค์ความรู้ที่อยู่นอกเหนือตำราเรียน เป็นการเรียนการสอนที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง และเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้จากโครงการเป็นทุนในการดำรงชีวิต ผู้อำนวยการโรงเรียน นายพิทักษ์ ควรภูมี ซึ่งเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ได้จัดทำโครงการ “ห้องเรียนกลางทุ่งนา” ขึ้น เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และอาชีพของบรรพบุรุษ โดยนำมาประยุกต์กับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้ทุ่งนาเป็นห้องเรียน มุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการทำนาด้วยตนเอง ตั้งแต่การไถ หว่านกล้า ปักดำ ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว นวดข้าว จนได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวเปลือกแล้วนำไปสีเป็นข้าวสาร กระบวนการทั้งหมดนักเรียนเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง โครงการห้องเรียนกลางทุ่งนาของโรงเรียนบ้านโพนแพง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





“ชุมพล” อัดรัฐเตะศึกษาเหมือนลูกบอล

นายชุมพล ศิลปอาชา ส.ว.กทม. ในฐานะอดีต รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ ศธ. จะขอแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยแยกงานด้านวัฒนธรรมออกไปตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการปฏิรูปการศึกษาล่าช้ามามากพอแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมองภาพรวมของรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม การแยกงานวัฒนธรรมไปตั้งเป็นกระทรวงใหม่เป็นข้ออ้างในการชะลอการเสนอร่างกฎหมายหลักปฏิรูปการศึกษา อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา โดยส่งร่างกฎหมายการศึกษาทั้ง 23 ฉบับ เข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยเร็วเพื่อการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะ ดร.วิชัย ตันศิริ อดีต รมช.ศธ. ในฐานะอดีตกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอความคิดให้แยกงานการศึกษากับงานศาสนาและวัฒนธรรมเป็นคนละกระทรวง แต่ในที่สุดก็เห็นว่าควรรวมเป็นกระทรวงเดียวกัน ขณะนี้แต่ละฝ่ายคิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก ทำให้ต้องแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาในหลายประเด็น (ไทยรัฐ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





เด็กไทยต่างแดนได้เรียนรู้เมืองไทยทางไกล

นายปรเมศวร์ สุขมาก ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ กศน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กศน. มีโครงการที่จะจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับคนไทยในต่างประเทศ โดยส่งสัญญาณผ่าน Thai TV Global Network (TGN) ซึ่งสามารถส่งสัญญาณได้ถึง 158 ประเทศ ทั้งนี้รูปแบบของรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่ กศน. จัดทำนี้จะเป็นการเรียนรู้โดยผ่านสื่อและเรียนรู้ร่วมกัน โดยครอบครัวจะมีหน้าที่ช่วยเสริมเติมเต็ม ขณะเดียวกันก็จะมีการใช้คนไทยเป็นฐานในการชักจูงคนต่างชาติที่อยู่ในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดให้เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย ส่วนกระบวนการเรียนรู้อาจผ่านมาทางร้านอาหารของคนไทย หรือวัด ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์กลางของคนไทยในต่างประเทศ สำหรับรูปแบบของการนำเสนอจะมีลักษณะที่เป็นการบูรณาการเนื้อหาสาระทั้งในด้านอาชีพ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยการออกอากาศจะมีการแพร่ภาพสัปดาห์ละ 1 รายการๆ ละ 15 นาที ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถออกอากาศได้ในประมาณกลางปี 2545 (เดลินิวส์ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 12)





“สุวิทย์” ยาหอมชาว รภ. ชี้ดันกฎหมายผ่านสภาฯแน่

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (รภ.) ว่า ได้มีการนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 4 เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯได้ตั้งข้อสังเกตถึงความพร้อมของ รภ. ที่มีอยู่ในขณะนี้ 41 แห่ง อย่างไรก็ตาม สถาบันที่มีความพร้อมอยู่แล้วก็สามารถเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันที่เพิ่งตั้งใหม่ได้ ด้าน ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ กล่าวว่า แม้มหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเช่นเดียวกับสถาบันราชภัฏ แต่ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดหลายด้าน เพราะในอนาคตมหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องมีหน้าที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน โดยตั้งอยู่บนหลักของวิชาการการบูรณาการของภูมิปัญญาท้องถิ่นและสากล ส่วนสถานภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 41 แห่งนั้น จะเป็นนิติบุคคลในสายบังคับบัญชาของคณะกรรมการการอุดมศึกษาโดยไม่มีสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ คณะกรรมการสภาสถาบัน และสภาวิชาการในส่วนกลางอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังเพิ่มสภาเครือข่ายของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งประกอบด้วยสภาอธิการบดี สภาคณบดี สภาการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยเข้ามาไว้ด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


‘เนคเทค’ เตือนไวรัสคอมพ์พันธุ์ใหม่

นายโกเมน พิบูลย์โรจน์ หัวหน้าหน่วยเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ออกแพร่ระบาดชื่อว่า W32.Badtrans.B มีลักษณะเป็นหนอนอินเตอร์เน็ต จะกระจายตัวผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) สามารถทำงานได้เองเมื่อโปรแกรมอ่านเมล์จาก Microsoft Outlook และ Outlook Express โดยจะแนบไฟล์ที่มีนามสกุล .pif หรือ .scr มาพร้อมกับอีเมล์ ทันทีที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เปิดไฟล์ดังกล่าว ไวรัสจะสำเนาตัวเองเข้าสู่ระบบและเรียกตัวเองขึ้นมาทำงาน (ไทยรัฐ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 23)





สำรวจพบมหาสมุทรสุดลึกลับ ซ่อนอยู่ใต้ผิวพื้นดาวอังคาร

คณะนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ค้นพบช่องเขาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในระบบสุริยะ ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ชั้นลาวาแข็ง รวมทั้งเถ้าถ่านและฝุ่นของดาวอังคาร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ช่องเขาดังกล่าวน่าจะเคยเป็นแหล่งปล่อยน้ำปริมาณมากจนเต็มมหาสมุทรได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เขตน้ำท่วมบนดาวอังคารดังกล่าวถูกตรวจพบโดยดาวเทียมซึ่งโคจรอยู่รอบวงโคจรของดาวอังคารซึ่งมีความสามารถในการใช้อุปกรณ์เลเซอร์ตรวจสอบวัตถุที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวดวงดาวได้ ช่องเขาสูงชันบนดาวอังคารดังกล่าว มีลักษณะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในพื้นที่ภาคตะวันตกของดวงดาวตั้งอยู่ระหว่างภูเขาไฟขนาดใหญ่และพื้นที่ราบซึ่งเชื่อว่าเคยเป็นมหาสมุทรมาก่อน เจมส์ ดอห์ม แห่งมหาวิทยาลัยอริโซน่า เมืองทัคซอนของสหรัฐฯ เชื่อว่า บนดาวอังคาร เคยมีการระเบิดของภูเขาไฟเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างมหาศาล และก่อให้เกิดช่องเขาเหล่านั้นขึ้น (ไทยรัฐ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





เมื่อสเปิร์มตะลุยจักรวาล

การปฏิสนธิในอวกาศหรือในสภาพที่แรงโน้มถ่วงน้อยมากจนเกือบจะเป็นศูนย์จะเป็นเช่นไร ? นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลบางอย่างในเรื่องนี้ จากการทดลองของนักวิจัยชาวเยอรมันในปี ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ที่ได้ส่งตัวอย่างสเปิร์มของวัวขึ้นไปสู่วงโครจรรอบโลกเพื่อศึกษาว่าแรงโน้มถ่วงของโลกจะส่งผลอย่างไรต่อการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ผลที่ได้ดูเหมือนว่าจะส่งผลดีต่อการปฏิสนธิ เนื่องจากว่าแรงโน้มถ่วงที่น้อยลงทำให้สเปิร์มมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น นักวิจัยพบว่า เอนไซม์ที่ชื่อ phosphatase มีการทำงานที่ผิดปกติไป การส่งตัวอย่างสเปิร์มขึ้นไปกับเที่ยวบินอวกาศเพื่อทำการศึกษาจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราได้ข้อมูลที่แท้จริงว่า แรงโน้มถ่วงมีผลกระทบต่อการปฏิสนธิหรือไม่และมากน้อยเพียงไร และหากมองไกลไปถึงการเดินทางไปตั้งอาณานิคมในอวกาศกันในอนาคตแล้ว เราคงต้องวางแผนและศึกษากันให้มากขึ้น หากว่าแรงโน้มถ่วงจะมีผลต่อการปฏิสนธิจริง มิเช่นนั้นแล้วโอกาสที่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์เราจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตข้างหน้านั้นคงจะเหลือน้อยเต็มทน (เดลินิวส์ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 16)





หุ่นยนต์อาชิโมพร้อมให้เช่าแล้ว

บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวหุ่นยนต์อาชิโม รุ่นพัฒนาใหม่ โดยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและเป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมไปถึงการขึ้นลงบันได หรือเดินบนพื้นที่ลาดชัน และหมุนตัวบนทางลาดชันได้ตามคำสั่งโดยใช้เทคโนโลยีเดินยืดหยุ่นแบบ 3 มิติ (3-D flexible walking) อาชิโม เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ที่มีคุณสมบัติสามารถเดินไปหาเจ้าของเสียงและรับคำสั่งด้วยระบบการมองเห็น เครื่องควบคุมสามารถสั่งการได้ไกลถึง 10 เมตร โดยจะเปิดให้เช่าภายในเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.honda.co.ip/pr/photo/asimo. (เดลินิวส์ อังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2544 หน้า 16)





‘ไนตริกออกไซด์’ ต่ำทำชายบ่มิไก๊!

เมื่อเร็วๆ นี้ วารสารเนเชอร์ในอังกฤษ ตีพิมพ์ผลการศึกษาของนักวิจัยสหรัฐ ชี้ว่า คนทิเบตและคนชาติอื่นๆ ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่สูงได้โดยไม่มีปัญหาต่อสุขภาพเหมือนอย่างคนบนพื้นราบก็เพราะ มีปริมาณไนตริกออกไซด์สูง จากการทดสอบลมหายใจออกของอาสาสมัครชาวทิเบต และกลุ่มชาวโบลิเวียนที่มีบ้านอยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเล 3,900 เมตร พบว่าคนเหล่านี้มีระดับของไนตริกออกไซด์เป็น 2 เท่าของคนที่อยู่ในพื้นที่ราบ ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ บอกว่า ไนตริกออกไซด์เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการขาดออกซิเจนได้ ทั้งนี้ไตตริกออกไซด์ใช้ในการขยายหลอดเลือด ซึ่งสามารถช่วยให้เลือดรับออกซิเจนและเกิดการหมุนเวียน ขณะที่การขาดไนตริกออกไซด์เป็นเหตุให้เกิดความเครียด ปวดศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายอาจถึงขั้นหย่อนสมรรถภาพทางเพศ กลไกการทำงานของไนตริกออกไซด์จะไปเพิ่มออกซิเจนจากปอดและจะช่วยปรับปรุงการส่งออกซิเจนไปตามเนื้อเยื่อในร่างกายของมนุษย์ด้วยกัน (มติชน อังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2544 หน้า 2)





พบต้นกำเนิด ‘จักรวาล’ หมู่เมฆก๊าซก่อตัวเป็นดาว

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐ เปิดเผยสมมติฐานล่าสุดในวารสารไชน์ ระบุว่า แสงแรกเริ่มที่เกิดขึ้นในเอกภพ หลังจากปรากฏการณ์การระเบิดครั้งใหญ่ หรือบิ๊กแบง น่าจะเป็นแสงที่มาจากดวงดาวขนาดมหึมาที่ก่อตัวขึ้นจากการสิ้นสูญของหมู่เมฆโบราณ ซึ่งประกอบไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าหลังจากเกิดบิ๊กแบงไม่นาน สรรพสิ่งได้เริ่มก่อตัวกันขึ้นเป็นจักรวาล ทอม อาเบล แห่งศูนย์วิชาการแอสโตรฟิสิกส์อาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน และสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่าหมู่เมฆก๊าซในบางส่วนได้พัฒนาจนถึงระดับความหนาแน่นสูงสุดจนกระทั่งแตกสลาย ซึ่งส่งผลให้เกิดการก่อตัวขึ้นของดวงดาวที่มีแสงสุกสว่างและขนาดใหญ่โต (มติชน พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ย้ำภัย ‘บุหรี่’ ไม่สูบเองยังเสี่ยงโรค ‘มะเร็งปอด’

น.พ.วีระเดช สุวรรณลักษณ์ หัวหน้าหน่วยโรคปอด โรงพยาบาลพญาไท เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด โรคปอด รวมทั้งโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในอดีตมะเร็งมักจะเกิดกับคนที่อายุเลย 50 ปีไปแล้ว แต่ขณะนี้ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยมีอายุเพียงแค่ 30 เศษๆ เท่านั้น จากสถิติพบว่าบุหรี่เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งปอดและเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ก็สามารถที่จะเป็นมะเร็งได้ (มติชน อังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ส่งยานพุ่งชนดาวหาง

นาซา กำลังจะส่งยานอวกาศไปชนดาวหาง ซึ่งจะทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอล และลึกยิ่งกว่าตึกสูง 7 ชั้น เพื่อดูว่าใจกลางกับพื้นผิวของดาวหางนั้นแตกต่างกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์สนใจก้อนน้ำแข็งผสมฝุ่นที่เรียกว่า ดาวหางนี้เพราะมันก่อกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับระบบสุริยะ เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งจะละลาย แล้วอนุภาคฝุ่นก็จะถูกปล่อยออกมาอย่างที่เราเห็นเป็นส่วนหางของมัน นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องรู้ถึงองค์ประกอบที่เป็นเนื้อในของดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย เผื่อวัตถุพวกนี้บ่ายหน้ามาทางโลกของเราในอนาคต เราจะได้เตรียมเทคโนโลยีเอาไว้ใช้หันเหทิศทางของมันได้ อลัน เดลาเมียร์ ผู้พัฒนายานที่จะส่งไปชนดาวหางเท็มเพิล วัน (Temple I) บอกยานลำที่ว่านี้ชื่อ ดีพ อิมแพ็ค (Deep Impact) เป็นผลงานของบริษัท บอส แอโรสเปซ เทคโนโลยี คอร์ป. มีกำหนดจะออกเดินทางในเดือนธันวาคม 2547 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า และชนดาวหางเท็มเพิล วัน ในวันชาติของอเมริกา 4 กรกฎาคม 2548 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และกล้องบันทึกภาพแบบต่างๆ จะบันทึกว่า หลุมที่เกิดจากการชนนั้นก่อรูปในลักษณะไหน และอะไรอยู่ข้างใต้พื้นผิวด้านนอกของมัน นาซา ได้อนุมัติงบประมาณ 280 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากศึกษาแบบของยานในเบื้องต้นอยู่นาน 18 เดือน กล้องที่ติดตั้งไว้บนตัวชนจะถ่ายทอดภาพระยะใกล้ของพื้นผิวของดาวหางดวงนี้อย่างต่อเนื่องกระทั่งตอนชน ส่วนกล้องบนยานแม่จะบันทึกภาพการชนไว้ และถ่ายภาพเนื้อสารภายในของดาวหางดังกล่าว ตอนนี้นาซา กำลังวางแผนจะส่งยานคอนทัวร์ (Contour) ไปศึกษา ดาวหางในระยะใกล้อีกอย่างน้อย 2 ดวง อง๕การอวกาศยุโรปก็กำลังเตรียมจะส่งยานโรเซตตา (Rosetta) ไปจอดบนดาวหาง และกะเทาะพื้นผิวของมันดู ขณะที่ยานสตาร์ดัสต์ (Stardust) ของนาซาก็กำลังจะเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวหางส่งกลับมายังโลก (ไทยโพสต์ อังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2544 หน้า 9)





นักวิทย์ยิวตื่นเต้นคอมพ์ชีวภาพจิ๋วเล็กกว่าหยดน้ำ

ศาสตราจารย์ เอฮุด ชาปิโร่ และคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ ในนครเยรูซาเลม ของอิสราเอล ประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ชีวภาพขนาดเล็กมาก เล็กกว่าหยดน้ำ โดยใช้เอนไซม์เป็นฮาร์ดแวร์ และใช้โมเลกุลในดีเอ็นเอเป็นซอฟต์แวร์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ชีวภาพชิ้นนี้ทำงานด้วยเซลล์มีชีวิตนับล้านๆ เซลล์ ทำให้มีความหวังว่าสักวันหนึ่งเครื่องมือชนิดนี้จะเป็นเหมือนหมอที่เข้าไปรักษาคนไข้ได้ในร่างกาย โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เซลล์นับล้านๆ เซลล์ ที่มาทำงานร่วมกันสามารถปฏิบัติการได้พันล้านครั้งต่อวินาที และมีความถูกต้องแม่นยำ 98.8% และเซลล์ดังกล่าวยังทำงานได้อย่างมหัศจรรย์ เพราะมีความสามารถในการจัดการถอดรหัสข้อมูลได้คล้ายคลึงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ในอนาคตอาจจะนำคอมพิวเตอร์ชีวภาพนี้เข้าไปวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีผิดปกติในร่างกายได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำยาเข้าไปรักษาอาการได้อย่างถูกต้อง (มติชน พฤหัสบดี ที่ 29 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สวทช. เร่งพัฒนา ‘เซลล์แสงอาทิตย์’ วาดฝันเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของชาติ

นายพอพนธ์ สิชฌนุกฤกษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้น หรือเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดใหม่ล่าสุดที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำ อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ คืออุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าเซลล์แสงอาทิตย์จากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนและสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และยังเป็นการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน เซลล์แสงอาทิตย์จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาเพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นพลังงานสะอาด (มติชน พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





“หม่อง” แพร่เชื้อเท้าช้างกลายพันธุ์

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของ รศ.พญ.ดร.สุรางค์ นุชประยูร หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมโรคเท้าช้างให้จำกัดบริเวณอยู่ในบางพื้นที่ได้ แต่ไม่สามารถควบคุมโรคเท้าช้างที่มากับแรงงานพม่าได้ โดยพบว่า แรงงานพม่าบางแห่งในประเทศไทยมีอัตราโรคเท้าช้างสูงถึง 20% เนื่องจากโรคเท้าช้างพันธุ์ไทยติดต่อได้ทางยุงชนิดหนึ่ง โรคเท้าช้างจากพม่าจะมียุงรำคาญเป็นพาหะ ซึ่งถึงแม้ยุงรำคาญพม่ากับบ้านเราจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า พยาธิโรคเท้าช้างสายพันธุ์พม่าสามารถเจริญในยุงรำคาญของไทยจนเข้าสู่ระยะติดต่อได้ เพื่อเป็นการป้องกันคนไทยจากโรคเท้าช้าง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้คนในพื้นที่เสี่ยงทานยารักษาโรค และตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ ส่วนแรงงานพม่าก็ควรจะมีการกำหนดให้กินยารักษาโรคเท้าช้างติดต่อกันทุกปี รวมถึงออกมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานพม่าที่ติดเชื้อโรคเท้าช้างเข้ามาในประเทศไทยได้ (ไทยรัฐ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





น.ศ.ศรีปทุมเจ๋งชนะแข่งหุ่นยนต์

งาน “มหกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ หรือ Robo Festa” ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเยาวชนทั่วโลกส่งผลงานเข้าประชัน ผลปรากฏว่า นักศึกษาคณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม คว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทหุ่นยนต์บริการสมองกล หรือ Partner Robot และรางวัลขวัญใจประชาชนสำหรับจุดที่ทำให้หุ่นยนต์ของนักศึกษา ม.ศรีปทุม ชนะเลิศนั้น เป็นเพราะหุ่นยนต์ Global มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่า สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนได้ ยกแก้วน้ำได้ และยังสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้สาย (ไทยรัฐ พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





วิจัยอัลตร้าซาวนด์ยับยั้งมะเร็งมดลูกได้

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานผลการทดลองรักษาโรคมะเร็งของ โรงพยาบาลบริกแฮม แอนด์ วิเมน ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา พบว่าจากการทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกด้วยคลื่นอัลตร้าซาวนด์ สามารถทำลายกล้ามเนื้อที่เจริญเติบโตขึ้นในมดลูกได้ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีและปลอดภัย (มติชน พุธที่ 28 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





อินเดียปิ๊งจับแมลงวันทดลองยารักษามะเร็ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์ศึกษาชีววิทยาเซลล์และโมเลกุล ในเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ทดลองฉีดสารพันธุกรรม หรือยีนของมนุษย์เข้าไปในแมลงวันผลไม้ ด้วยหวังว่าจะใช้แมลงวันเป็นตัวทดลองประดิษฐ์ยารักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม (มติชน พฤหัสบดี ที่ 29 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


เร่งออกแบบกระทรวงวัฒนธรรม

นายจำลอง ครุฑขุนทด รมต.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ว่า ตามที่ นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยจะแยกงานกรมการศาสนา กรมศิลปากร และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ออกจากโครงสร้างกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมนั้น จะต้องพิจารณาโครงสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอ นายปองพล ภายในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ภายในสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ นายจำลอง กล่าวว่า คงจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ โดยแก้ไขในส่วนของคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมงานของ 3 กรมหลักดังกล่าวให้มาอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมฯ แทน และจะต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยอาจใช้ชื่อว่า กระทรวงการศึกษา หรือ กระทรวงศึกษาธิการตามเดิม จะเหลือองค์การบริหารหลักเพียง 5 องค์กร คือ สภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานปลัดกระทรวง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2544 หน้า 12)





ต่างชาติทึ่ง “รองเท้าใยบวบ” ผลิตภัณฑ์ย้อนยุคเพื่อสุขภาพ

กลุ่มหัตถกรรมบ้านราษฎร์เกษมศรี 185 หมู่7 ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดย นางคำห่อ ศรีควนซา ประธานกลุ่มหัตถกรรมบ้านราษฎร์เกษมศรี เล่าให้ฟังว่า ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีการปลูกบวบหอมกันมาก เริ่มแรกก็ปลูกไว้กินลูก หลังๆ กินไม่ทันบวบก็แก่กินไม่ได้ นอกจากปล่อยไว้ทำพันธุ์หรือใช้ขัดถ้วยโถโอชาม ขัดตัว ดูแล้วไม่ค่อยมีค่าอะไร ตนกับเพื่อนบ้านเห็นว่าน่าจะลองนำมาดัดแปลงทำอย่างอื่นดู และนี่เองเป็นที่มาของ “ใยบวบมือจับ” “ไม้ขัดหลัง” และ “รองเท้าแตะเพื่อสุขภาพ” รองเท้าใยบวบนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์ได้ ซึ่งช่วงแรกที่ทำ รูปแบบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ จึงไปขอให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วยออกแบบให้ ภายหลังขายดีขึ้นจนมีบริษัทเอกชนมาสั่งทำส่งไปขายที่ญี่ปุ่นมี 2 ตัวด้วยกัน คือ ใยบวบมือจับ และ รองเท้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ตัวหลังนี้ขายดีมาก โดยเฉพาะในช่วง วันพ่อ-วันแม่ ราคาถูกแพงขึ้นอยู่กับขนาดมี 3 เบอร์ ได้แก่เบอร์ 7, 9 และ 11 ราคาขาย 70, 90 และ 120 บาท ตามลำดับ สนใจรูปแบบสามารถตามไปดูกันได้ที่กลุ่มหัตถกรรมบ้านราษฎร์เกษมศรี จ.หนองบัวลำภู โทร.0-4231-9026, 0-1220-1741 (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





สัมมนา TDRI

การสัมมนาประจำปีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง “ยุทธศาสตร์การขจัดปัญหาความยากจน” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 24-25 พ.ย.นี้ นับเป็นการระดมสติปัญญามันสมองของผู้คน ที่ทั้งนักวิชาการ ข้าราชการระดับสูง ผู้นำภาคประชาชน ชาวบ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนคนยากคนจน ร่วมกันแสดงความคิดความเห็น หาหนทางเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ สองวันของการสัมมนา ทำให้ประชาชนคนทั้งประเทศได้เห็นข้อมูล ปัญหาความยากจนในบ้านนี้เมืองนี้ ผ่านผลการศึกษา วิจัย สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของเพื่อนร่วมชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจน ที่ประชากรในบ้านนี้เมืองนี้มีรายได้ 900 บาท/เดือน/คน มีอยู่ 18% รายได้ 1,000 บาท/เดือน/คน มีอยู่ 21.8% มีอยู่ 1,500 บาท/เดือน/คน มีอยู่ 39.4% รายได้ 2,000 บาท/เดือน/คน มีอยู่ 51.9% หรือครึ่งประเทศ หรือรายได้เฉลี่ย 3,407 บาท/เดือน/คน มีถึง 71.3% หรือค่อนแผ่นดิน ผลการสัมมนาได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับว่าการพัฒนา โดยเฉพาะการมุ่งเน้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น มิได้เป็นหนทางในการแก้ปัญหาความยากจนแท้จริง ขณะที่ระบบทุนนิยมไทยพิกลพิการ รัฐ ระบบราชการนั่นเองเป็นต้นตอ ตัวการสำคัญของปัญหาความยากจนข้นแค้นของประชาชนคนส่วนใหญ่ ในที่ประชุม ชนชั้นนำที่ร่ำรวยในสังคมยอมรับว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาความยากจน ระบบทุนนิยมไทยพิกลพิการ ผู้ใช้อำนาจรัฐปราศจากคุณธรรม ข้าราชการระดับสูงที่เห็นว่าการทุจริตคอรัปชั่น ระบบการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพปราศจากประสิทธิผล เป็นเหตุให้การแก้ปัญหาความยากจนล้มเหลว ฯลฯ ได้ข้อสรุป มีข้อเสนอให้ปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างจริงจัง ปรับโครงสร้างภาษีทางตรง สร้างสวัสดิการเป็นหลักประกันพื้นฐานให้กับเพื่อนร่วมชาติที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจน แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับผู้กุมอำนาจรัฐ ฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลว่าจะสำเหนียกในปัญหาชาติ สำนึกถึงเป้าหมายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ (ไทยโพสต์ จันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2544 หน้า 3)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215