หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 50 ประจำวันที่ 2001-12-18

ข่าวการศึกษา

ครุศาสตร์อุตสาหกรรมยืนหยัดสู้สภาวิศวกร
กรมศิลป์ตีปีกแยกกระทรวงเสียที

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

“ชิต” เสนอรัฐตั้งกองทุนพัฒนา “หุ่นยนต์ไทย”
วท.โชว์เครื่องล้างอุปกรณ์แพทย์สะอาดสุดสุด
เนคเทคเร่งสรุปแผนตั้งองค์กรกลางทันปี 45
กรมวิทย์ยกมาตรฐานเพิ่มคุณภาพ “สมุนไพร”
นักวิชาการช่วยค้านบ่อนอก-หินกรูด หนุนรีพาวเวอร์ริงแก้ปัญหาโรงไฟฟ้า
กัลป์ยกธงขาวโรงไฟฟ้าบ่อนอก แต่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหาย 6 พันล.
แอปเท็คผุดสนง.ไทย อบรมไอทีมืออาชีพ
40 ไม้ประดับไทย ดูดสารพิษ
นิ้วโป้งเทียม
“เมืองพัทยา” คว้ารางวัลจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น
โทรศัพท์มือถือใต้น้ำ
คนเหนือกินสมุนไพรระวังตาย

ข่าววิจัย/พัฒนา

มจธ.คว้าแชมป์หุ่นยนต์ ส.ส.ท.
อาจารย์รุ่นใหม่มีลุ้นได้ทุนทำวิจัย
มข.วิจัยแล้วผลผลิตเจ๋ง พริกขี้หนูหอมพันธุ์ใหม่
ฮือฮาเป็นไปได้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากดวงจันทร์
เยอรมนีค้นพบกระดูกย่อยสลายเอง
ยิววิจัย “กระเทียม” ยารักษามะเร็ง
วท.เปิดตัวซุปปลาผสมสมุนไพรแข่งเอกชนพร้อมวางตลาดปีหน้า
สารสกัดชีวภาพจากเพรียงหัวหอมและฟองน้ำใต้ทะเลไทย:ทรัพยากรที่ถูกลืม…?

ข่าวทั่วไป

ห้องสมุดลอยน้ำ…ความหวังลูกเจ้าพระยา
ชี้เด็กศิลป์ก็เป็นอัจฉริยะ
แฉ “ไม้หอมกฤษณา” ให้ทั้งคุณและโทษ
สธ.ออก “พิงค์บุ๊ค” ประกันคุณภาพยาผ่านเกณฑ์ “30 บาท”
“ไทยตำบล” เร่งพัฒนาฐานข้อมูลกว่า 7 พันตำบล
อย.สั่งปิดโรงงานเครื่องสำอางปนสารปรอท
ไทยนัดหยอดวัคซีน “โปลิโอ” อีก 2 ครั้ง
“ท่านมุ้ย-ถวัลย์-คำพูน-ประดิษฐ์” คว้ารางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” ปี 2544
ตัดแต้มใบขับขี่
เตือน “หญิง” ขี่จักรยานกระทบ “เจริญพันธุ์”





ข่าวการศึกษา


ครุศาสตร์อุตสาหกรรมยืนหยัดสู้สภาวิศวกร

ผศ.กังวล เทียนกัณฑ์เทศน์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเลขานุการสมาคมครุศาสตร์อุตสาหกรรม เปิดเผยผลการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่าที่ประชุมได้หารือถึงกรณีสภาวิศวกรมีมติให้ยกเลิกการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกร (กว.) ให้แก่ผู้ที่จบหลักสูตรครุศาสตรอุตสาหกรรมบัณฑิต (คอ.บ.) และหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ตราบใดที่ประเทศยังต้องพัฒนาก็จะยกเลิกครูช่างอุตสาหกรรมไม่ได้ ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงมีมติที่จะให้ใบประกาศนียบัตรสมรรถนะการอาชีพให้แก่ผู้ที่จบจากหลักสูตรดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจแก่สังคม ผู้ประกอบการ และตัวนักศึกษาว่า จบแล้วมีคุณภาพจะไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





กรมศิลป์ตีปีกแยกกระทรวงเสียที

นอ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยถึงการแยกกรมศิลปากร กรมการศาสนา และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ไปเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ว่า แนวความคิดดังกล่าวช่วยให้งานวัฒนธรรมมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะปัจจุบันงานด้านนี้จะรวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการทำให้ได้งบประมาณเพียง 2% ของงบฯทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าจะลดลงทุกปี ส่วนงานวัฒนธรรมในระดับจังหวัดก็มักไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีโบราณสถานที่ไม่ได้รับการดูแลอีกมาก หากได้ยกฐานะขึ้นมาเป็นกระทรวง ก็มั่นใจว่าความสำคัญของงานด้านวัฒนธรรมจะมีมากขึ้น (สยามรัฐ อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


“ชิต” เสนอรัฐตั้งกองทุนพัฒนา “หุ่นยนต์ไทย”

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า สมาคมมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ โดยจะของบประมาณจากรัฐบาล 40 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลจากกองทุนมาให้เด็กไทยนำไปสร้างหุ่นยนต์ และใช้ในการทำกิจกรรมให้คนไทยกันมาสนใจหุ่นยนต์มากขึ้น เพราะสมาคมเชื่อว่าหุ่นยนต์จะเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตมนุษย์ในช่วงเวลา 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ในชีวิตประจำวันได้มากที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





วท.โชว์เครื่องล้างอุปกรณ์แพทย์สะอาดสุดสุด

นายพีรศักดิ์ สุนทรวโรสถ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ วท.ได้ร่วมกับกองวิสัญญีและห้องผ่าตัด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทำการติดตั้งเครื่องล้างทำความสะอาดอัลตราโซนิกส์สำหรับล้างเครื่องมือผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเครื่องล้างอัลตราโซนิกส์นี้มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดได้ทุกๆ ส่วนของอุปกรณ์แพทย์ เพราะความสั่นสะเทือนระดับความถี่อัลตราโซนิกส์นี้จะถูกส่งผ่านไปยังอนุภาคของน้ำและของเหลว อนุภาคของน้ำที่มีขนาดเล็กจึงสามารถแทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ ของอุปกรณ์ได้เป็นอย่างดี และกระแทกให้คราบสกปรกที่ติดแน่น เช่น คราบเลือด หลุดออกมาได้ (มติชน ศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





เนคเทคเร่งสรุปแผนตั้งองค์กรกลางทันปี 45

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ เนคเทค ร่วมเจรจากับผู้จัดทำเว็บไซต์ www.thaitambon.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์นำร่องสนับสนุนโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หาผลสรุปของแนวทางจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารการตลาดให้แก่โครงการ หลังจากนั้นจะนำผลสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (เอ็นไอทีซี) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคาดว่าจะทันกลางปี 2545 เพื่อเร่งจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมาสนับสนุนโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ สามารถเข้าสู่ช่องทางการตลาดผ่านอี-คอมเมิร์ซแบบครบวงจรได้ภายในปีเดียวกัน (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





กรมวิทย์ยกมาตรฐานเพิ่มคุณภาพ “สมุนไพร”

น.พ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำตำรายาสมุนไพรไทยได้มาตรฐานสมุนไพรแล้วจำนวน 21 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพรไทยในด้านข้อกำหนดคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และสรรพคุณและตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปีนี้จะเร่งดำเนินการให้สมุนไพรได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 50 ชนิด เพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตสมุนไพรได้ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือแก่ผู้บริโภค (มติชน พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





นักวิชาการช่วยค้านบ่อนอก-หินกรูด หนุนรีพาวเวอร์ริงแก้ปัญหาโรงไฟฟ้า

รายงานข่าวจากการประชุมเชิงวิชาการเรื่องการพยากรณ์ของการใช้ไฟฟ้า และระบบความมั่นคงของระบบไฟฟ้า นักวิชาการที่แสดงความเห็นคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด และโรงไฟฟ้าบ่อนอก ได้เสนอแนวทางให้กับที่ประชุมว่า ไม่ควรมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ โดยได้เสนอแนวทางออกว่า รัฐบาลควรใช้การรีพาวเวอร์ริ่ง หรือการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เนื่องจากการรีพาวเวอร์ริ่งโรงไฟฟ้าเดิมไม่ได้ส่งผลดี เนื่องจากเป็นเพียงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ โดยการเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตตัวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเดิม การผลิตมีกำลังเท่าเดิม ที่สำคัญต้นทุนการรีพาวเวอร์ริ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง และการผลิตไม่มีผลดีต่อค่าไฟฟ้าหรือทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงแต่อย่างใด (สยามรัฐ พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 9)





กัลป์ยกธงขาวโรงไฟฟ้าบ่อนอก แต่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหาย 6 พันล.

นายสารัตถ์ รัตนะวดี กรรมการผู้จัดการบริษัท กัลป์ อีเล็กตริก จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาพบ นายสันทัด สมชิวิตา ปลัดกระทรวงวิทย์ เพื่อสอบถามถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โรงไฟฟ้าบ่อนอก ว่า ทางกระทรวงวิทย์ตัดสินใจอย่างไร และไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ทางบริษัทก็พร้อมที่จะยอมรับ ส่วนค่าชดเชยความเสียหายของบริษัทนั้น บริษัทได้ลงทุนไปนานถึง 7 ปี ค่าเสียหายรวมกันก็ประมาณ 5-6 พันล้านบาท ส่วนทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ถ่านหินนั้น นายสารัตถ์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติก็ต้องถูกชาวบ้านคัดค้านอยู่ดี ทางกลุ่มกรีนพีซ เสนอให้รัฐบาลใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการสร้างโรงงานไฟฟ้าทั้ง 2 นายสารัตถ์ กล่าวว่า เขาเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ พลังงานแสงอาทิตย์จะมีราคาแพงมากถึงยูนิตละเกือบ 10 บาท (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2544 หน้า 8)





แอปเท็คผุดสนง.ไทย อบรมไอทีมืออาชีพ

นายรัสเซล พูรูโซทามาน ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจบริษัทแอปเท็คคอมพิวเตอร์เอ็ดดูเคชั่น ประเทศไทย สำนักงานใหญ่อินเดีย กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมองว่าตลาดในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากจำนวนบุคลากรที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านไอที (เซอร์ติฟายด์) ยังมีไม่มากนัก รวมทั้งน่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ที่จะเพิ่มการผลิตบุคลากรไอทีจากปัจจุบัน 20,000 คนให้ถึง 50,000 คนใน 5 ปี ส่วนรูปแบบธุรกิจของบริษัทจะให้สิทธิแฟรนไชส์ ในการอบรมหลักสูตรของบริษัท ซึ่งได้ตั้งแฟรนไชส์แรกที่สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว โดยบริษัทเนอร์วานา จำกัด ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าเปิดแฟรนไชส์ไม่เกิน 7 แห่งในปีหน้าและไม่เกิน 30 แห่งภายในปี 2548 ทั่วประเทศ โดยผู้ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ต้องเสียค่าธรรมเนียมฝึกอบรมด้านเทคนิค 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในครั้งเดียวและส่วนแบ่งรายได้ปีละ 12.5% จะเป็นรอยัลตี้ ฟี (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





40 ไม้ประดับไทย ดูดสารพิษ

องค์การอนามัยโลกได้ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า อาการที่เรียกว่า “โรคแพ้ตึก” หรือ “ตึกเป็นพิษ” (Sick Building Syndrome) นี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาการของโรคนี้ได้แก่ ภูมิแพ้ หืด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เซื่องซึม ผื่นคันตามผิวหนัง ระคายเคืองตา จมูก ไซนัส คอ จนถึงอาการทางประสาทที่ผิดปกติ เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยแล้วพบว่า ไม้ประดับหลายชนิดสามารถทำหน้าที่ในการฟอกอากาศได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะคุณสมบัติในการกำจัดมลภาวะจากสารเคมีที่เป็นพิษที่อยู่ในอากาศ ตัวอย่างเช่น เศรษฐีเรือนใน ซึ่งเป็นไม้ประดับที่เป็นที่รู้จักกันดี มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสารฟอร์มาลดีไฮด์นี้เป็นไอพิษที่พบได้โดยง่าย โดยทั่วไปในบ้านเรือนหรือสำนักงานที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้อัดปาร์ติเกิ้ลบอร์ด และพลาสติก จนทำให้เกิดเป็นโรคแพ้ตึก สำหรับรายชื่อไม้ประดับดูดสารพิษทั้ง 40 ชนิดมีดังนี้คือ 1. หมากเหลือง 2. จั๋ง 3. ปาล์มไผ่ 4. ยางอินเดีย 5. โกสน 6. ไอวี 7. สิบสองปันนา 8. ไทรใบเล็ก 9. บอสตันเฟิร์น 10. เดหลี 11. วาสนาอธิษฐาน 12. พลูด่าง 13. สับปะรดสี 14. เบญจมาศ 15. เยอรบีร่า 16. ประกายเงิน 17. เข็มริมแดง 18. มรกตแดง 19. ออมทอง 20. สาวน้อยปะแป้ง 21. ปาล์มใบไผ่ 22. ไทรย้อยใบแหลม 23. หนวดปลาหมึก 24. กุหลาบหิน 25. ฟิโลเซลลอม 26. ฟิโลใบหัวใจ 27. ลิ้นมังกร 28. สโนว์ดรอบ 29. ฟิโลหูช้าง 30. สนฉัตร 31. เสน่ห์จันทร์แดง 32. แววมยุรา 33. กล้วยแคระ 34. คริสต์มาส 35. หางจระเข้ 36. ซุ้มกระต่าย 37. กล้วยไม้พันธุ์หวาย 38. เศรษฐีเรือนใน 39. เขียวหมื่นปี 40. ดอกหน้าวัว ( กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2544 หน้า 8)





นิ้วโป้งเทียม

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง ประเทศสิงคโปร์ ประดิษฐ์หัวแม่มือเทียมหรือหัวแม่โป้งเทียม นายเอเดรียน ลิม หัวหน้าโครงการ บอกว่า อุปกรณ์นี้เรียกว่า MIMIC เป็นอะลูมิเนียม น้ำหนักเบา ชนาดเล็กซึ่งมัดติดไว้ที่หลังมือและพันไว้รอบนิ้วชี้ เพื่อยึดนิ้วหัวแม่มือเทียมเอาไว้ ตอนนี้กำลังยื่นขอจนสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาแต่ยังไม่มีโครงการผลิตในเชิงพาณิชย์ เพราะการออกแบบต้องให้เข้ากับโครงสร้างของนิ้วมือ ซึ่งแต่ละบุคคลมีโครงสร้างของกระดูกแตกต่างกัน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2544 หน้า 16)





“เมืองพัทยา” คว้ารางวัลจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีการจัดกิจกรรมสัมมนาการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมของทุกปี โดยมี นายเดช บุญ-หลง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดประชุม ในช่วงของการเปิดสัมมนายังได้จัดให้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ที่จัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2544 ซึ่งได้แก่เมืองพัทยา และโรงเรียนเมืองพัทยา 9 จากโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2544 หน้า 3)





โทรศัพท์มือถือใต้น้ำ

ฟรานซ์ เทเลคอม ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในฝรั่งเศส กำลังทดสอบเครื่องต้นแบบของโทรศัพท์มือถือสำหรับใช้ใต้น้ำ โดยตั้งเป้าไว้ใช้สำหรับกิจกรรมทางการทหาร กิจการผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และผู้บริโภคพันธุ์ใหม่ ซึ่งนักดำน้ำสามารถใช้โทรศัพท์มือถือใต้น้ำได้ โดยไม่ต้องถอดอุปกรณ์ดำน้ำออก เครื่องต้นแบบโทรศัพท์ไร้สายสำหรับใช้งานใต้น้ำ มีมูลค่ากว่า 20.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากฟรานซ์ เทเลคอม ตัดสินใจทำตลาดโทรศัพท์ไร้สายใต้น้ำก็น่าจะเริ่มผลิตได้ภายในสิ้นปีหน้า โดยราคาอาจจะเพิ่มเป็น 44.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มติชน ศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2544 หน้า 11)





คนเหนือกินสมุนไพรระวังตาย

กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบพบสมุนไพรใน 4 จังหวัดภาคเหนือตกเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 80 % “สุดารัตน์” เร่งออกนโยบายตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสมุนไพรทั่วประเทศ 15 แห่งเพื่อสร้างมาตรฐานยาสมุนไพรไทย จากการสำรวจคุณภาพและการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ของยาแผนโบราณและยาจากสมุนไพรใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ในปี 40-43 รวม 248 ตัวอย่าง พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน 126 ตัวอย่างหรือ 21% ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ายาสมุนไพร 61% เป็นยาที่ไม่มีเลขทะเบียนการผลิต โดยยาที่พบว่าผิดมาตรฐานสูงสุดคือ ยาผง พบถึง 79% รองลงมาคือยาเม็ด พบได้ 50% ยาแคปซูลพบ 47% ยาน้ำพบ 36% และยาลูกกลอนพบ 30% ในการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บริโภคก็สามารถควบคุมผู้ประกอบการได้เช่นกัน โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาแผนโบราณที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ควรเลือกซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ ซึ่งจะมีการควบคุมคุณภาพตลอดกระบวนการผลิต และซื้อยาที่มีฉลากและเลขทะเบียนการผลิตที่ถูกต้อง (สยามรัฐ ปีที่ 52 ฉบับที่ 17759)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มจธ.คว้าแชมป์หุ่นยนต์ ส.ส.ท.

ผลการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2544 ที่จัดขึ้นโดยสมาคมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ปรากฏว่าทีม M.E.M.I จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แชมป์ระดับอุดมศึกษา ชนะทีม วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร แชมป์ระดับอาชีวะ คว้ารางวัลชนะเลิศได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ (ABU Robocon Tokyo 2002) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2545 (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 13 ธันวาคม 2544 หน้า 16)





อาจารย์รุ่นใหม่มีลุ้นได้ทุนทำวิจัย

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์รุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักวิจัยอาวุโส เพื่อเป็นการพัฒนาฝีมือไปสู่การเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพระดับสูง ทั้งนี้ทุนสนับสนุนการวิจัยมียอดเงินทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท ผู้สนใจขอรับทุนได้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตั้งแต่บัดนี้ถึง 15 ก.พ. 45 สอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย โทร. 0-2246-0025 ต่อ 502, 504 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยโทร.0-2298-0455-75ต่อ120,129,149 หรือ และ www.mua.go.th/profclub และ www.trf.or.th (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





มข.วิจัยแล้วผลผลิตเจ๋ง พริกขี้หนูหอมพันธุ์ใหม่

นายสุชีรา เตชะวงศ์เสถียร อาจารย์ภาควิชาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้วิจัยพริกขี้หนูหอมพันธุ์ใหม่ โดยศึกษาและรวบรวมพันธุ์พริกขี้หนูสวน พริกเดือยไก่ พริกน้อย พบว่า พริกขี้หนูสวนมีความต้องการสภาพแวดล้อมเฉพาะเจาะจงต้องปลูกในสภาพสวนที่มีแสงรำไรไม่สามารถปลูกในสภาพไร่ได้ จึงผสมพันธุ์ทำให้ได้พันธุ์พริกใหม่ที่มีทรงต้นสูง ทรงพุ่มแผ่กว้าง ผลมีรสเผ็ด มีกลิ่นหอม ลักษณะคล้ายพริกขี้หนูสวน แต่ให้ผลผลิตได้ดีในสภาพไร่ สำหรับการปลูกและการเพาะกล้าพริกพันธุ์ใหม่นี้ สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะรับเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูหอม สามารถติดต่อได้ที่ภาควิชาเกษตรพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 0-4324-6534, 0-4324-6553 ต่อ 2328 (มติชน เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





ฮือฮาเป็นไปได้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากดวงจันทร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ หวังสร้างกระแสไฟฟ้าจากดวงจันทร์ ทั้งนี้ศาสตราจารย์เดวิด คริสเวลล์ จากสถาบันศึกษาระบบอวกาศ ของ มหาวิทยาลัยฮูสตัน สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากดวงจันทร์ทำได้ โดยติดตั้งแผงระบบสุริยะที่บนดวงจันทร์เพื่อเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ แล้วส่งผ่านลงมายังโลกด้วยคลื่นไมโครเวฟมาที่สถานีรับสัญญาณ เพื่อแปลงพลังงานเหล่านี้เป็นกระแสไฟฟ้า การทดลองเบื้องต้นจะใช้งบประมาณราว 9 พันล้านดอลลาร์ หากได้ผลค่อยขยายโครงการออกไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทั้งสิ้น 50 พันล้านดอลลาร์ และใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี (มติชน เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





เยอรมนีค้นพบกระดูกย่อยสลายเอง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์และศัลยแพทย์แห่ง มหาวิทยาลัยโบคุ่ม ในเยอรมนี ได้คิดค้นพัฒนาการปลูกถ่ายกระดูกที่สามารถย่อยสลายได้ในตัวเองเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในโลก ประกอบไปด้วยแคลเซียมฟอสเฟต ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก โดยสามารถสลายตัวได้จากภายในตัวของมันเอง ขณะเดียวกันก็จะมีการสร้างเซลล์กระดูกใหม่ๆ ขึ้นบริเวณชั้นด้านนอก แพทย์เยอรมนีพอใจมาก เพราะไม่จำเป็นจะต้องฝังโลหะเข้าไปด้วย (มติชน พฤหัสบดี ที่ 13 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





ยิววิจัย “กระเทียม” ยารักษามะเร็ง

นายเดวิด มิเรลแมน นักชีวเคมี จากสถาบันไวซ์มานน์ ในประเทศอิสราเอล พร้อมด้วยคณะนักวิจัยอีก 4 คน ทำการโคลน หรือ ลอกแบบพันธุกรรมของสารที่ชื่อว่า “อัลลิซีน” และมาผ่านกรรมวิธีทำให้โมเลกุลของสารชนิดนี้ที่มีความอ่อนไหวปรวนแปรง่ายให้อยู่นิ่งๆ ด้วยเชื่อว่า ถ้าเราสามารถควบคุมได้ก็จะมีผลต่อการกำหนดคุณลักษณะของกระเทียมให้ดีหรือ เลว ผลการทดลอง พบว่า สารอัลลีซีน มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันความดันโลหิตสูง สามารถรักษาเบาหวาน รักษาอาการท้องร่วง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ จากการทดลองกับหนูในห้องทดลอง พบว่า กระเทียมช่วยไม่ให้น้ำหนักของพวกมันมากเกินไป และอาจจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ด้วย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2544 หน้า 8)





วท.เปิดตัวซุปปลาผสมสมุนไพรแข่งเอกชนพร้อมวางตลาดปีหน้า

ดร.พีรศักดิ์ สุนทรวโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วท. ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นซุปปลาสกัดเข้มข้น และพร้อมดื่มจากน้ำนึ่งปลาทูน่า ซึ่งเป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องได้แล้วเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยซุปปลาสกัดเข้มข้นที่ผลิตได้จะมีสีน้ำตาลเหนียวและใส มีความเข้มข้น 81 บริกซ์ มีปริมาณโปรตีน 66% ประกอบด้วย กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณที่สูง ได้แก่ ลูซิน ไอโซลูซีน ไลซิน เหโทโอนีน เฟนิลอะลานิน เทรโอนีน ทริฟโทเฟน และวาลีน ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างร่างกาย เหมาะสาหรับผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้น ปีหน้าผลิต-วางจำหน่ายแน่ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





สารสกัดชีวภาพจากเพรียงหัวหอมและฟองน้ำใต้ทะเลไทย:ทรัพยากรที่ถูกลืม…?

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล จึงได้ให้ทุนสนับสนุน ดร.ประสาท กิตตะคุปต์ ดร.อนุชิต พลับรู้การ และคณะแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการศึกษาสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากฟองน้ำ และเพรียงหัวหอมของไทยจากบริเวณรอบเกาะพะงัน และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี พบว่าฟองน้ำตัวอย่างที่เก็บได้จากบริเวณรอบเกาะเต่า มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย Bacillus subtilis และ Staphyllococcus aureus นอกจากนั้นยังพบว่าฟองน้ำตัวอย่างอีกชนิดหนึ่งที่เก็บจากบริเวณรอบเกาะเต่า และเกาะนางยวนสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในระดับที่ดีมาก ส่วนเพรียงหัวหอมก็พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านมาลาเรีย ต้านวัณโรค และสามารถบรรเทาอาการอัลไซเมอร์ได้ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholine esterase ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรค (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2544 หน้า 32)





ข่าวทั่วไป


ห้องสมุดลอยน้ำ…ความหวังลูกเจ้าพระยา

“ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” ไม่ว่าจะเป็นวันนี้หรือวันวาน ลำน้ำสายนี้ยังคงมีมนต์ขลัง และมีอิทธิพลต่อคนไทยเสมอทั้งด้านจิตใจและวิถีชีวิตการดำรงชีพคนไทยนับล้านที่ต้องพึ่งพาอาศัยปฏิสัมพันธ์กับลำน้ำสายนี้จนกระทั่งได้รับสมญานามว่า “เส้นเลือดของประเทศไทย” ซึ่งเป็นสมญานามที่เหมะสมเป็นที่สุด เพราะเป็นแม่น้ำสายสำคัญอันเป็นแหล่งกำเนิดแห่งชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เรือใหญ่น้อยที่สัญจรไปมา นับไม่ถ้วนที่ต้องใช้เส้นทางของลำน้ำเจ้าพระยาไม่ว่าจะเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา เรือบรรทุกสินค้า เรือภัตตาคาร เรือหางยาว เรือข้ามฟาก และเรืออีกหลายๆ ชนิดที่ต้องใช้ลำน้ำแห่งนี้ในการหล่อเลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัวให้อยู่รอด ยังมีเรืออีกชนิดหนึ่งที่ยังมิได้ใช้ลำน้ำแห่งนี้ในการประทังชีวิตของลูกเรือแต่เพียงอย่างเดียว แต่เรือลำนี้ยังให้ประโยชน์แก่ประชาชนและลูกหลานเจ้าพระยาโดยการให้บริการความรู้ตามอัธยาศัย “เรือห้องสมุด” ได้แก่เรือนางนพมาศและเรือมหาราช เปิดให้บริการในวันพุธ, พฤหัสบดี, ศุกร์ และเสาร์ เวลา 10.00-17.00 น. โดยมี ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย กรมการศึกษานอกโรงเรียนเป็นโต้โผใหญ่ (สยามรัฐ พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





ชี้เด็กศิลป์ก็เป็นอัจฉริยะ

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการเปิดค่ายโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพนักเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ปัจจุบันเด็กมีค่านิยมว่า จะต้องเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จึงจะเป็นคนเก่งมากกว่าเรียนทางสายศิลป์ จริงๆ แล้วไม่ใช่ หากส่งเสริมแต่การแก้ปัญหาขาดแคลนผู้มีความสามารถด้านวิทย์เพียงอย่างเดียว ประเทศอาจขาดแคลนผู้มีความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมก็ได้ (สยามรัฐ พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 20)





แฉ “ไม้หอมกฤษณา” ให้ทั้งคุณและโทษ

นายสุนทร วัชรกุลดิลก หัวหน้าฝ่ายป้องกันปราบปรามกรมป่าไม้ กล่าวว่า ไม้หอมที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา และไม้หอมอุทยานพลิ้ว จ.จันทบุรี เป็นไม้หอมที่มีคุณภาพดีที่สุด และมีกลุ่มคนมาลักลอบหาไม้หอมจากพื้นที่ทั้งสองเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรงงานกลั่นไม้หอมรายใหญ่ที่ จ.ปราจีนบุรี กลั่นไม้หอมได้เป็นหมื่นกิโลกรัม มีการใช้หัวหม้อแปรสภาพไม้หอมให้เป็นผงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2544 หน้า 33)





สธ.ออก “พิงค์บุ๊ค” ประกันคุณภาพยาผ่านเกณฑ์ “30 บาท”

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบใบรับรองมาตรฐาน ISO4002 ให้กับบริษัท บูรพาโอสถ จำกัด ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ว่ากรณีที่มีการร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องคุณภาพยาตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกหนังสือ “พิงค์ บุ๊ค” เพื่อบรรจุชื่อยาทางเคมีที่ผ่านมาตรฐานตามที่กระทรวงกำหนด เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะได้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ น.พ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีบริษัทยาเอกชนที่มุ่งมั่นตั้งใจผลิตยาให้มีคุณภาพ จึงมีแนวคิดที่จะก่อตั้งห้องปฏิบัติการกลางของชาติในการวางระบบการวิจัยพัฒนายาของประเทศ โดยจะเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมในการวิจัยด้วย เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการตรวจสอบคุณภาพของยาให้ได้มาตรฐาน และช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทย นอกจากนี้ในระยะยาวยังช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2544 หน้า 8)





“ไทยตำบล” เร่งพัฒนาฐานข้อมูลกว่า 7 พันตำบล

นายสมเกียรติ ผโลประการ ผู้อำนวยการพัฒนาและจัดทำ โครงการเว็บไซต์ไทยตำบลดอทคอม (www.thaitambon.com) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีแผนงานหลัก 3 ปีในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้ครอบคลุมข้อมูลพื้นฐานผลิตภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวในกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยภายในสิ้นปีนี้จะมีฐานข้อมูลครอบคลุม 2,000 ตำบล และจะทยอยจัดทำจนครบตามเป้าหมายภายในปี 2545 หลังจากนั้นอาจพิจารณายุบหรือโอนย้ายทีมงานปัจจุบันไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรกลางที่จะจัดตั้งขึ้นมาตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการตลาดให้กับชุมชนเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่นำสินค้าเข้ามาทำตลาดผ่านเว็บไซต์แห่งนี้ โดยองค์การกลางดังกล่าวต้องประสานงานกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ธนาคารที่จะสนับสนุนระบบชำระเงิน ระบบขนส่งสินค้ารวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มผู้ผลิต ในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพ และระบบความปลอดภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 11 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





อย.สั่งปิดโรงงานเครื่องสำอางปนสารปรอท

เภสัชกรหญิงระวิวรรณ ปรีดีสนิท รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการที่กองควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี 2540-2453 มี18 ตัวอย่าง ที่พบว่ามีสารไฮโดรควิโนน และสารปรอทแอมโมเนีย โดยปี 2540 มี 18 ตัวอย่าง ปี 2541 ได้ไปเก็บตัวอย่าง 7 จังหวัด และปี 2542 เก็บตัวอย่างจาก 10 จังหวัดมีเครื่องสำอางที่มีการใส่สารดังกล่าวถึง 40 ตัวอย่าง และปี 2543 ได้รวมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งการมีประกาศเขียนไว้ตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอางพ.ศ.2535 มาตรา 40 ที่จะประกาศให้ชัดเจนว่า จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเครื่องสำอาง ก่อนที่จะเปิดเผยชื่อบริษัทที่ผลิต (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 9)





ไทยนัดหยอดวัคซีน “โปลิโอ” อีก 2 ครั้ง

น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข (สธ. เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากประเทศไทย สธ.ได้ประสานความร่วมมือจากภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ “ร่วมใจเพื่อเด็กไทยปลอดโปลิโอ” ครั้งที่ 8 ขอให้ผู้ปกครองนำเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทุกคนประมาณ 4.5-5 ล้านคน ไปรับการหยอดวัคซีนโปลิโอ กำหนดครั้งแรกในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ครั้งที่ 2 วันที่ 18 มกราคม 2545 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใดที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งและโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 9)





“ท่านมุ้ย-ถวัลย์-คำพูน-ประดิษฐ์” คว้ารางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” ปี 2544

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) แถลงว่า กวช.ได้มีมติเห็นชอบประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2544 ซึ่งมีผู้ได้รับคัดเลือก 4 คนคือ 1. นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) 2. นายประดิษฐ์ ยุวพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี ) 3. นายคำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และ 4. ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคคล (ท่านมุ้ย) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับการแสดง) (มติชน เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2544 หน้า 24)





ตัดแต้มใบขับขี่

กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. จะนำมาตรการบันทึกคะแนนใบขับขี่กับผู้กระทำผิดกฎจราจรมาใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2545 ระหว่างนี้ บช.น. อยู่ระหว่างอบรมเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล ซึ่งจะมีทั้งหมด 16 ฐานความผิด หากผู้ขับขี่คนใดทำผิดกฎจราจรใน 16 ฐานความผิดดังกล่าว ก็จะถูกบันทึกคะแนนตามความผิดนั้นๆ ตั้งแต่ 10-40 คะแนน โดยจะใช้สติกเกอร์สีแทนค่าความผิดต่างๆ ติดไว้ด้านหลังใบขับขี่ของคนที่ทำผิดและบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ด้วย ถ้าผู้ขับขี่ทำความผิดข้อหาใดข้อหาหนึ่งใน 16 ข้อหาซ้ำ 2 ครั้งภายใน 1 ปี จะต้องเข้ารับการอบรม 3 ชั่วโมง และถ้าทำความผิดมีคะแนนสะสมเกินกว่า 60 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ถ้าทำความผิดซ้ำในข้อหาเดียวกัน 2 ครั้งใน 1 ปี และมีคะแนนรวมเกิน 60 คะแนนจะต้องถูกอบรมทดสอบและพักใช้ใบขับขี่ไปพร้อมกัน (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 13 ธันวาคม 2544 หน้า 34)





เตือน “หญิง” ขี่จักรยานกระทบ “เจริญพันธุ์”

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดร.ฮวน ซี. บุลเลอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการกีฬาในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เตือนสตรีที่ขี่จักรยานอยู่เป็นประจำจะเกิดอาการบาดเจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศ และอาจทำให้เป็นอัมพาตได้ ซึ่งผลการศึกษาก่อนหน้านี้มุ่งไปที่ผู้ชายที่ขับขี่จักรยานว่าจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อชีวิตทางเพศ และการเจริญพันธุ์ โดยที่ผลการศึกษาเหล่านั้นให้ความสนใจผลกระทบต่อผู้หญิงน้อยมาก สิ่งนี้ทำให้ผู้หญิงแทบไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองอาจจะได้รับอันตรายเช่นกันเมื่อขับขี่จักรยาน ข้อสรุปว่าผู้หญิงผู้ชายก็จะมีความเสี่ยงพอๆ กัน และถึงเวลาแล้วที่นักขับขี่จักรยานควรให้ความสนใจกับเบาะ เพราะคนจำนวนมากเสียเงินเสียทองไปมากกับอุปกรณ์จักรยาน แต่สำหรับเบาะซึ่งกระทบต่อร่างกายโดยตรงกลับไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร (มติชน พุธที่ 12 ธันวาคม 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215