พระราชประวัติ

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


กษัตริย์สยามฯ ผู้เปิดประตูสู่อารยประเทศ





             พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหากษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งพระบรม
ราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระนามเดิมตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า
มงกุฎสมบัติเทววงศ์พงศ์อิศวรกษัตริย์ขัตติยะราชกุมาร" ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระ
พุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14
ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลามคม พ.ศ.2347 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา ในปี
พ.ศ.2367 ได้ทรงผนวชและทรงได้รับสมณนามฉายาจากพระอุปัชฌาชย์ว่า วชิรญาโณ แปลเป็นภาษาไทยว่า "ผู้มี
ญาณแข็งแกร่งประดุจดังเพชร"  ทรงเจริญในสมณเพศอยู่นานถึง 26 ปี ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
เจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2394 พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่กราบบังคมทูลอัญเชิญ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาสิกขาบทขึ้นครองราชสมบัติในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2394 มีพระนามว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"


          รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสมัยแรกของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อ
ความทันสมัยจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลสืบเนื่องที่ต้องการ
เน้นให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรมและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงเพื่อความ
ทันสมัยต้องทำไปอย่างรวดเร็วสิ่งใดที่ชาติตะวันตกทำมาเป็นร้อย ๆ ปี ประเทศไทยต้องทำให้ได้ในระยะเวลาเร็วกว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าประเทศไทยต้องยกเลิกการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่าง
ที่เคยทำมา ต้องยอมทำการค้ากับต่างประเทศและรับความคิดเห็นใหม่แบบตะวันตก ต้องแก้ไขปรับปรุงการปกครอง
บ้านเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอกประเทศ รวมทั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีล้าสมัย แต่ต้องพิจารณา
ความเหมาะสมต่าง ๆ ด้วย ทรงใช้พระบรมราโชบายเป็นสายกลางผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออกดังพระ
ราชดำริที่ว่า "อย่าติดของเก่า อย่าตื่นของใหม่ จงค้นหาดีในของเก่าและของใหม่" ตลอดระยะเวลา 17 ปี
ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ได้ทรงปกครองประเทศ


          ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดินและผู้นำคณะก้าวหน้าทำให้พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรง
เป็นหนึ่งในบรรดาคนไทยที่มีความคิดเห็นก้าวหน้าทันสมัยในกลุ่มชาวต่างประเทศต่าง ๆ นิยมเรียกขานพระองค์ว่า
"คิงมงกุฎ" พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ทรงบริหารแผ่นดิน บำเพ็ญพระราช
กรณียกิจใหญ่น้อย ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นล้นพ้น อาทิ เช่น

ทรงเปิดสัมพันธภาพทางการทูตกับประเทศอังกฤษ สหรัฐ
อเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์กโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี
สวีเดน นอร์เวย์ เบลเยี่ยมและอิตาลีตามลำดับนับว่าในรัชสมัย
ของพระองค์ประเทศไทยได้เป็นไมตรีกับประเทศที่สำคัญ ในทวีปยุโรปและอเมริกาเกือบทั้งหมด โปรดเกล้าฯให้แก้ไข หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า โดยให้ความ สะดวกทางการค้าแก่ชาวต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม ทรง ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือโดยให้เสียภาษีขาเข้าและขาออก
แทน โปรดเกล้าฯให้นำข้าวสารไปขายต่างประเทศได้โปรด
เกล้าฯให้ใช้ธรรมเนียมจับมืออย่างชาติตะวันตก ทรงเริ่มใช้
ธรรมเนียมฝรั่ง
โดยพระราชทานพระหัตถ์ให้แก่ผู้มาเข้า
เฝ้าจับเป็นครั้งแรก และถือเป็นขนบธรรมเนียมสืบเนื่องใช้ มาจนทุกวันนี้ทรงยกเลิกประเพณีให้ชาวต่างประเทศ
หมอบคลาน โปรดเกล้าฯให้ชาวต่างประเทศยืนเฝ้าฯได้
ในท้องพระโรง และ มีพระบรมราชานุญาตให้ดื่มเครื่อง
ดื่ม และสูบบุหรี่ได้ต่อหน้าพระพักตร์ระหว่างปฏิสันถาร โปรดเกล้าฯให้ข้าราชการของไทยชักธงประจำตำแหน่ง แบบกงสุลต่างประเทศเมื่อทรงทราบว่าพระมหากษัตริย์
ชาวยุโรปมีประเพณีประดับเครื่องหมายแสดงพระเกียรติ ยศที่ฉลองพระองค์จึงโปรดให้ทำ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ สร้างเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์โดยทรงบัญญัติ
ิศัพท์ว่า "ดารา" แทนคำว่า Star ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ
และใช้คำนี้ในการเรียกส่วนประกอบของเครื่องราชอิสริยา
ภรณ์สำหรับชั้น 2 ขึ้นไปจนถึงขั้นสายสะพายและเรียกกัน
มาจนถึงปัจจุบันนี้

         ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ ดร.คาสเวลล์ (Caswell) หมอบลัดเล (Bradley) และหมอเฮาส์ (House)
นอกจากภาษาอังกฤษแล้วยังทรงศึกษาภาษาลาตินกับสังฆราชบัลลกัวร์ (pallegoix) และทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศษ
บาลี สันสกฤต และภาษามอญ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งประเทศตะวันออกพระองค์แรกที่ทรงรู้ภาษาอังกฤษ และ
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังนานาประเทศด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษ จึงได้
รับการยกย่องว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ทรงใช้ภาษาอังกฤษศึกษาคณิศาสตร์
ดาราศาสตร์และวิทยาการแขนงอื่น ๆ อีกทั้งส่งเสริมให้พระราชโอรส พระราชธิดา เจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายในเรียน
ภาษาอังกฤษด้วย

          ด้านการเมืองการปกครอง โปรดเกล้าฯให้ยกเลิกประเพณีบังคับราษฎรให้
ปิดประตูหน้าต่างบ้านเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่าน ยกเลิกประเพณีห้ามมอง
ห้ามดูพระเจ้าแผ่นดิน โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิน
ทรงกำหนดวันเวลาขึ้นให้ราษฎรเข้าเฝ้าถวายฎีกากับพระองค์เอง เป็นโอกาสได้
พบปะได้รับรู้ปัญหาและความทุกข์ของราษฎร โปรดเกล้าฯให้มีการเลือกสรร
ข้าราชการตุลาการชั้นสูงโปรดให้ส่งชื่อเพื่อคัดเลือกแทนการประกาศแต่งตั้ง จากพระองค์เป็นการใช้ความเห็นของคนหมู่มาก โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสิอ
ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ข่าวสารราชการจากท้องตราและหมายที่ออกอากาศไป รวมเป็นเล่มแจกผู้ที่เกี่ยวข้องกับราชการอ่านให้เข้าใจในคำสั่งราชการ โปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นหลักฐาน โดยทรงเปิดระบบการค้าเสรีให้
นำข้าวส่งออกได้ ทรงแนะนำให้ราษฎรทำนาตามช่วงเวลาที่กำหนดให้ซึ่งเป็น
การส่งเสริมการเกษตรแก่ราษฎร ทรงประกาศตักเตือนราษฎรให้รอบคอบใน
การทำนิติกรรม ซึ่งต้องลงชื่อทำสัญญาต่างๆ เช่น กรมธรรม์ ขายตัวเป็นทาส
ขายหรือจำนองที่ดิน โปรดให้ร่างประกาศเกี่ยวกับทาสว่าเจ้าของทาสต้องยอม
รับเงินจากทาสที่ต้องการไถ่ถอนตัวเองเป็นอิสระ ทรงตราพระราชบัญญัติทรัพย์
สินเดิมและสินสมรส และทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติลักพา ซึ่งควรถือว่าเป็น
เอกสารเชิดชูสิทธิสตร ีฉบับแรกของไทยทรงแก้ไขธรรมเนียมเก่า ทรงประกาศ
ให้นางในถวายกราบบังคมลาออกไปมีสามีข้างนอกได้ ยกเว้นแต่นางในที่เป็นเจ้า
จอมมารดาที่มีพระราชโอรส พระราชธิดา ทรงยอมลดพระราชอำนาจที่เป็นสิทธิ์
ขาดของพระมหากษัตริย์ ไม่ทรงถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินในพระ
ราชอาณาจักรแต่ผู้เดียว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาที่ดิน ทรง
เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสวยน้ำพระพิพัฒนสัตยา โดยทรงตั้งสัจจะ ว่าจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

           ด้านการศาสนา ขณะทรงผนวชอยู่ทรงตั้งลัทธิสมณวงศ์ใหม่เรียกว่า
"ธรรมยุติกนิกาย" ให้ถือปฏิบัติเอาแต่สิ่งที่ถูกตามพระวินัย "นิกายธรรมยุติ" ตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ทรง
ริเริ่มวางระเบียบแบบแผนดังนี้ ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ
ที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ ทรงปฏิรูปการเทศน์และการอธิบายธรรม
ทรงเริ่มการเทศนาด้วยฝีพระโอษฐ์ ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเกิดศรัทธา
ทรงเพิ่มบทสวดมนต์ภาษาไทยทรงกำหนดวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทาง
พระพุทธศาสนาและวางระเบียบในการเดินเวียนเทียน และสดับธรรมเทศนา ทรงแก้ไขการรับผ้ากฐินให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ คือเริ่มตั้งแต่ การซัก ตัด
เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน ทรงแก้ไขการขอบรรพชาและการสวด
กรรมวาจาในการอุปสมบท ทรงวางระเบียบการครองผ้าของภิกษุสามเณร
ให้ปฏิบัติไปตามหลักเสริยวัตรในพระวินัย พระองค์ทรงออกประกาศว่าด้วย
การทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ประกาศห้ามมิให้พระสงฆ์บอกให้แทง
หวยและประพฤติอนาจาร ประกาศห้ามมิไห้พระภิกษุสามเณรคบผู้หญิงมา
พูดที่กุฏิ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องพระสงฆ์ สามเณรลักเพศ ทรงเห็น
ความสำคัญในการศึกษาหาความรู้สาขาอื่น ๆของพระสงฆ์ทรงอนุญาต
ให้พระสงฆ์เข้าศึกษา
ภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวลล์ ทำให้มีการสืบสานการ
เข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน


          สำหรับถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา เช่น วัดวาอาราม ทรงบูรณะให้สมบูรณ์มากกว่าที่จะทรงสร้างใหม่
นอกจากจะทรงสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานแล้ว ทรงสร้างและจำลองพระพุทธรูปและส่งสมณฑูตไป
ลังกาเพื่อรวบรวมหลักฐานทางพระพุทธศาสนามาซ่อมพระไตรปิฎกที่ขาดไปให้ครบบริบูรณ์ ทรงบริจาคพระราช
ทรัพย์สร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องขาดและปิดทองขึ้น อีกทั้งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงนำ
พระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมใช้แต่พิธีทางพราหมณ์ เช่น พระราชพิธี
บรมราชภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระองค์ทรงพระราชทานความสนับสนุนแก่ศาสนาอื่น ๆ ใน
พระราชอาณาจักร เช่น ทรงพระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือลัทธินิกายตามความสมัครใจซึ่งไม่ผิดต่อ
กฎหมายบ้านเมือง นอกจากนั้นยังทรงพระราชทานเงิน ที่ดินและวัตถุในการก่อสร้างสุเหร่าในศาสนาอิสลามและโบสถ์
ในศาสนาคริสต์


          เรื่องเงินตราสยาม - เหรียญแบนและธนบัตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น
พระมหากษัตริยไทยพระองค์แรกที่โปรดให้ปฏิรูปเงินตราไทย ทรงริเริ่มสร้างเงินแบนหรือเงินแปขึ้นใช้แลกแทนเงิน
กลมหรือเงินพดด้วง โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานผลิตเงินเหรียญแบบสากลนิยมโดยใช้เครื่งจักรทำงานแทนแรง
คนและพระราชทานนามโรงงานผลิตเงินเหรียญว่า"โรงกษาปน์สิทธิการ" นอกจากเงินตราสยามที่สร้างเป็นเงินเหรียญ
แล้วยังโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เงินกระดาษหรือธนบัตรซึ่งเรียกว่า "หมาย" ขึ้น
ด้านการแพทย์ สาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม พระองค์ทรงยอมรับความเจริญทางการแพทย์ โปรดให้
ใช้วิธีการรักษาพยาบาลและใช้ยาทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก ในด้านการสาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม พระองค์
ทรงเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย และถนนหนทาง ไม่โปรดเรื่องการทิ้ง
สิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง นอกจากพระองค์ทรงกวดขันเรื่องความสะอาดของบ้านเรือนแล้ว ยังทรงประกาศให้
ราษฎรของพระองค์ระมัดระวังเรื่องไฟไหม้บ้าน


          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางรากฐานการคมนาคมและการสื่อสารสมัยใหม่ พระองค์
ทรงทราบดีว่า การคมนาคมเป็นสิ่งจำเป็นต่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองและอำนวยความสะดวกในการเดิน
ทางสัญจรและติดต่อค้าขายการคมนาคมทางบก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนแบบชาติตะวันตก ได้แก่ ถนนเจริญกรุง
บำรุงเมือง เฟื่องนคร และถนนสีลม การคมนาคมทางน้ำ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงเกษม คลองวังลำพอง
(ต่อมาเรียกหัวลำโพง) คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ และคลองดำเนินสะดวก นอกจากการสร้างถนนขุดคลอง
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้บอกบุญพระราชวงศ์และข้าราชบริพารสร้างสะพาน เช่น สะพานหัน สะพานดำรงสถิต สะพาน
พิทยเสถียร สะพานข้ามปลายคลองบางรัก สะพานข้ามคลองวัดยานนาวา ฯลฯ ส่วนเรื่องการสื่อสารได้พระราชทาน
พระบรมราชานุญาตให้เจ้าหน้าที่อังกฤษสร้างสายโทรเลขจากประเทศพม่าผ่านประเทศไทยลงไปยังสิงคโปร์ความยาว
950 ไมล์ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มแรกของการวางสายการสื่อสารกับต่างประเทศ


          ด้านการทหารพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของแสนยานุภาพ ทางการทหาร
ทรงปรับปรุงการทหารของประเทศให้มีประสิทธภาพและทันสมัยไม่ว่าจะเป็นการจัดกำลัง การจัดหาอาวุธ การฝึกและ
การยุทธวิถี ทรงปรับปรุงกองทัพบกให้เป็นหน่วยทหารแบบตะวันตก ส่วนทหารราบโปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายทหารชาว
อังกฤษฝึกทหารให้จัดเป็นกองร้อย หมวด และหมู่ ซึ่งได้ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกองทหาร
รักษาพระองค์เพื่อเป็นพระเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์ ในส่วนพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องปืนใหญ่ ทรงให้
จัดซื้อปืนใหญ่มาไว้เช่น พระแสงปืนทรงสวัสดิ์ พระแสงปืนพระสุบินบันดาลปืนใหญ่เผาลิงปิด ปืนเหล็กตรามงกุฎ ฯลฯ
ด้านการทหารเรือ โปรดเกล้าฯให้ต่อเรือกลไฟหลวง โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงเรือรบจากกำปั่นรบใช้ใบมาเป็นกำปั่นรบ
กลไฟและเรือรบกลไฟชนิดใช้จักรข้างและจักรท้ายเช่น เรือสยามอรสุมพล เรือศรีอยุธยาเดช เรือมหาพิไชย เรือราญ
รุกไพรี เรือสงครามครรชิต เรือศักดิ์สิทธาวุธ เรือยงยศอโยชฌยาและเรือสยามูประสดัมภ์เทพ พระองค์โปรดเกล้าฯ
ให้ พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการต่างประเทศเพื่อศึกษากิจการของกองทัพเรือ ท่าจอดเรือ อู่ต่อและ
ซ่อมเรือรบ เรือสินค้าและกิจการอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัย นอกจากกิจการด้านการทหารแล้ว พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโปลิส ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ภายในพระนคร ปฏิบัติ
คล้ายหน้าที่ของตำรวจที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน


          พระปรีชาญาณที่ควรจะกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ ทรงเป็น
นักศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงศึกษาค้นหาวินิจฉัยเปรียบเทียบตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด
ที่มีอยู่ และเพื่อให้เป็นหลักฐานทรงพระราชนิพนธ์บทความวินิจฉัยประวัติศาสตร์ไว้และทรงมีรับสั่งให้จัดพิมพ์พระราช
พงศาวดารสยามเก็บไว้ให้ศึกษา ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือข้อสังเกตย่อ ๆ เกี่ยวกับพระราชพงศาวดารสยามเป็น
ภาษาอังกฤษข้อสังเกตต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณีเหล้านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อ
นักศึกษาที่ต้องการศึกษาค้นคว้า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจึงเจริญแพร่หลาย แม้ทุกวันนี้ใครที่จะศึกษา
ประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ยังได้อาศัยพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระ
ราชนิพนธ์ไว้แทบทุกคน


          ในระหว่างเสด็จธุดงค์ทรงค้นพบหลักศิลาจารึกที่สุโขทัยเป็นหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงและทรง
ค้นพบพระแท่นมนังคศิลาที่พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้เป็นที่ประทับและได้ทรงนำมาไว้ที่กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
ได้ใช้พระแท่นนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง


          ด้านการพิพิธภัณฑ์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงเริ่มจัดให้มีพิพิธภัณฑสถานขึ้นใน
ประเทศไทย จากการรวบรวมวัตถุโบราณที่ทรงพบเก็บสะสมไว้ครั้งแรกจัดแสดงไว้ ที่พระที่นั่งราชฤดีต่อมาโปรดเกล้า
ให้ย้ายไปจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ซึ่งได้รับการออกแบบอาคารตามลักษณะพระราชวังในยุโรป พระที่นั่ง
ประพาสพิพิธภัณฑ์หรือรอยัลมิวเซียม คือพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดแสดง
เครื่องมงคลบรรณาการและโบราณวัตถุ จากที่จัดแสดงในประเทศไทยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำสิ่งของ
ไปร่วมจัดแสดงในงานพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และงานพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ณ กรุง
ปารีส ประเทศฝรั่งเศษ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ส่งศิลปวัตถุโบราณของชาติไปแสดงถึงทวีปยุโรป
ในด้านศิลปะ และสถาปัตยกรรมในรัชกาลนี้ได้หันความนิยมไปสู่แบบตะวันตก ศิลปะช่างยุโรปได้แพร่หลาย
ออกสู่วัดและวังเจ้านายจนกล่าวได้ว่ารัชสมัยของรัชกาลที่ 4 เป็นสมัยแรกของศิลปะตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์เป็น
สถาปัตยกรรมแบบโกธิกใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมและใช้เสาแบบคลาสสิก โปรดให้นำมา ประยุกต์ให้กลมกลืนกับของไทย
อาทิเช่น พระที่นั่งไชยชุมพล พระอภิเนาวนิเวศน์ พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกขปราสาท ฯลฯ นอกจากโปรดเกล้าให้สร้างพระ
อารามขึ้นใหม่ยังทรงปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โปรดเกล้าให้สร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธ
เจดีย์ โปรดเกล้าฯให้ สร้างป้อมขึ้นรอบพระมหาราชวัง ป้อมรอบเขตพระนครชั้นนอกและป้อมรอบพระนครคีรี โปรด
เกล้าให้สร้างวัง พระราชวังสำหับเป็นที่ประทับและเสด็จประพาสต่างจังหวัด


          การยอมรับอิทธิพลตะวันตกมาปรับปรุงประเทศมีผลกระทบต่อประติมากรรม ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงและ
ปรับปรุง เช่นการปั้นรูปภาพราชานุสรณ์แบบเหมือนจริง ช่างประติมากรรมตะวันตกปั้นเลียนแบบจากพระบรม
ฉายาลักษณ์ จึงปั้นพระบรมรูปทรงพ่วงพีมีกล้ามพระมังสาแบบชาติตะวันตกไม่เหมือนพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯให้ช่าง
ไทยทดลองปั้นถวายเลียนแบบพระองค์จริง พระบรมรูปองค์นี้นับเป็นการเปิดศักราชของวงการประติมากรรมไทย
โดยการปั้นรูปราชานุสรณ์ แทนการสร้างพระพุทธรูปหรือเทวรูป มาสู่การปั้นราชานุสรณ์แบบเหมือนจริงเช่นปัจจุบัน
และถือได้ว่าเป็นการปั้นพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยที่ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่เป็นครั้งแรกในวงการประติมากรรม
ไทย


          งานประติมากรรมด้านปั้นหล่อพระพุทธรูปในรัชกาลที่ 4 นิยมปั้นหล่อพระประทานเป็นพระพุทธรูปขนาด
เล็ก พุทธลักษณะพระพุทธรูปเป็นแบบเฉพาะมีลักษณะโดยรวมใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากขึ้น พระพุทธรูปที่งดงาม
ในรัชกาลนี้คือ พระพุทธรูปนิรันตราย พระพุทธสิหิงค์ นอกจากยังมีประติมากรรมที่สำคัญอีกคือ องค์พระสยามเทวา
ธิราช เป็นเทวรูปประทับยืนขนาดเล็ก


          จิตรกรรมไทยในสมัยรัชกาลนี้ได้นำวิธีเขียนภาพแบบตะวันตกมาผสมผสานโดยใช้ กฎ เกณฑ์ทัศนียวิทยา
มีระยะใกล้ - ไกลแสดงความลึกในแบบ 3 มิติ ตลอดจนการจัดองค์ประกอบให้ บรรยากาศและสีสันประสานสัมพันธ์กับ
รูปแบบตัวภาพเป็นจิตรกรรมไทยแนวใหม่แสดงสักษณะศิลปะแบบอุดมคติและศิลปะแบบเรียลลิสท์ จิตรกรเอกในสมัย
รัชกาลนี้คือ พระอาจารย์อินโข่งหรือขรัวอินโข่ง ผู้นำเอาจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ ผู้คน
การแต่งกาย ตึก บ้านเมือง ทิวทัศน์ การใช้สี แสงเงาบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกในระยะและความลึก มาใช้อย่างสอดคล้อง
กับเรื่องที่ใช้แสดงออกเกี่ยวกับคติและปริศนาธรรม งานจิตรกรรมลักษณะนี้ศึกษาได้ที่พระ อุโบสถวัดบวรนิเวศน์วิหาร
หอราชกรมานุสรณ์ หอราชพงศานุสร นอกจากนี้ยังมีงานจิตกรรมอื่น ๆ เช่น ภาพช้าง ตระกูล ต่าง ๆ ในหิมพานต์ที่หอไตร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภาพชีวิตชาวบ้านที่พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา ภาพสาวมอญ จิตรกรรมบน
บานหน้าต่างอุโบสถวัดบางน้ำผึ้งนอก พระประแดง


          ด้านการละคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้หัดละครได้โดย          
ทั่วไปการที่ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใครก็มีละครผู้หญิงได้ การแสดงละครชายจริงหญิงแท้จึงเริ่มมี
ครั้งแรกในสมัยของพระองค์นี้ เมื่อการละครแพร่หลายเจ้าของละครได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการรับงานละครไว้มาก
พระองค์ทรงตั้งภาษีโขน - ละคร เพื่อให้เจ้าของละครได้ช่วยเหลือแผ่นดินบ้างเรียกว่า "ภาษีโรงละคร" พระองค์พระ
ราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นละครได้ การเล่นละครได้อย่างเสรีทำให้ละครแพร่หลายเจ้า
ของละครต่างแสวงหาเรื่องเล่นละครให้แปลกใหม่กว่าโรงละครอื่นเพื่อดึงดูดลูกค้า จึงทำให้เกิดบทละครขึ้นใหม่เป็น
จำนวนมากวิวัฒนาการละครในรัชกาลนี้กล่าวได้ว่าเฟื่องฟูและนับได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปินที่เป็นผลสืบเนื่องมากระ
ทั่งทุกวันนี้


          ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แนวทางของภาษาและหนังสือมีการเปลี่ยนแปลง
ภาษาไทยเริ่มได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปภาษาเข้าสู่ยุคใหม่ของประเทศไทย คำภาษา
ต่างประเทศเริ่มเข้ามาปะปนกับภาษาไทย แม้ว่าพระองค์ทรงเห็นความสำคัญและทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ แต่พระองค์
ยังทรงฝักใฝ่พระราชหฤทัยในภาษาไทยและทรงกวดขันเรื่องการใช้ถ้อยคำที่จะใช้เป็นภาษาเขียนของภาษาไทย ทรงใส่
พระทัยในเรื่องการใช้ภาษา ไทยของคนไทยได้พระราชทานพระราชกระแสทักท้วง แนะนำตักเตือนคนทุกระดับชั้นตั้งแต่
พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ จนถึงราษฎร ในเรื่องการเขียน การอ่าน การพูดและการใช้ภาษาไทย หากเป็นผู้
มีความรู้มากจะยิ่งทรงกวดขันเป็นพิเศษ เนื่องจากคนเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างแก่คนอื่น ๆ ต่อไป ผู้ใช้ภาษาไทยผิด ๆ ทรง
มีวิธีลงโทษเพื่อให้จดจำได้ เช่น ทรงแช่งไว้ว่าให้ศรีษะคนนั้นล้านเหมือนหลวงตาในวันโกนเป็นนิจนิรันดร์ไป โปรดให้
อาลักษณ์ปรับคำละเฟื้อง แม้กระทั่งทรงทำโทษให้ กวาดชานหมากและล้างน้ำหมาก ทั้งในทั้งนอกท้องพระโรงพระ
บรมมหาราชวัง พระองค์ทรงพยายามดัดแปลงตัวอักษรและวิธีการเขียนหนังสือไทยเพื่อให้เหมือนอักษรของชาวยุโรป
คือ สระและพยัญชนะ อยู่บรรทัดเดียวกันเรียงสระไว้หลังพยัญชนะ ตัวอักษรทรงดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขนี้เรียกว่า
"อักษรอริยกะ" พระองค์โปรดให้ทดลองใช้กับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติแต่ไม่เป็นที่นิยม พระอัจฉริยะทางภาพของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ยอมรับทั่วไปเพราะตราบทุกวันนี้ หนังสือหลักภาษาไทยยังบรรจุการสอน
เรื่องกับ แด่ แต่ ต่อ ซึ่งนำมาจากพระบรมราชาธิบายของพระองค์ท่าน


          ด้านวรรณกรรมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้มาก มาย พระราช
นิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นร้อยแก้วมากกว่าร้อยกรอง พระราชนิพนธ์ร้อยแก้ววรรณกรรมที่สำ คัญคือ ชุมนุมพระบรมราชา
ธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวบรวมวิชาการสาขาต่าง ๆ ไว้ 4 หมวด คือหมวดวรรณคดี หมวดโบ
ราณคดี หมวดธรรมคดีและหมวดตำรา พระราชนิพนธ์ร้อยกรองที่สำคัญคือ พระราชนิพนธ์มหาชาติ ได้แก่ กัณฑ์จุลพน
กัณฑ์สักรบรรพ กัณฑ์ฉกษัตริย์ กัณฑ์วนปเวสน์ และกัณฑ์มหาพน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง
พระรามเข้าสวนพิราบ บทเบิกโรงเรื่องพระนารายณ์ปราบนนทุก บทรำเบิกต้นไม้ทองเงิน บทร้อยกรองจอมตรีภพ
เป็นที่ยอมรับกันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ดาราศาสตร์ ทรงมีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์เทียบเท่ากับนักดาราศาสตร์สากล พระองค์ทรงนำความรู้ทาง
วิทยาศาสตร์แบบใหม่และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ของประเทศ แม้ไม่
ทรงได้เคยรู้มาก่อนก็ทรงตั้งพระทัยติดตามศึกษาหาความรู้ด้วยน้ำพระทัยของนักวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงได้รับการ
ยกย่องจากวงการวิทยาศาสตร์ของชาติมหาอำนาจโดยพระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น
สมาชิกกิติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร เซอร์จอห์น เบาริง ราชทูตแห่งสหราชอาณาจักร เล่าไว้ว่า
ห้องส่วนพระองค์เป็นห้องที่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับห้องนักปราชญ์ราชบัณฑิตชาติตะวันตก และได้
ถวายกล้องโทรทรรศน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชบรรณาการแล้ว เซอร์จอห์น เบาริ่ง ได้บันทึกว่า "กล้องที่นำมา
ถวายมีคุณภาพต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ทรงมีอยู่แล้ว"


          พระปรีชาสามารถทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการวางพื้นฐานทาง
วิทยาศาสตร์ของประเทศไทย งานวิจัยหลักในสาขาดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ การสถาปนาเวลามาตรฐานและ
การคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ทรงพระปรีชาสามารถในการคำนวณสถานที่ที่จะดูและเวลาสุริยุปราคาหมดดวงได้อย่าง
ถูกต้องและไม่คลาดเคลื่อนเลย พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นที่
ยอมรับและปรากฎเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในปี 2525 ประเทศไทยได้ประกาศยกย่องว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรด้วยไข้มาเลเรีย หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับ
จากทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ แพทย์หลวงพยายามถวายการรักษา แต่พระอาการทรุดลง ทรงทราบด้วย
พระองค์เองว่า การประชวรครั้งนี้เป็นที่สุดแห่งพระชนมายุสังขาร ทรงพระราชนิพนธ์คำขมาและลาพระสงฆ์เป็นภาษา
บาลี ทรงกำหนดกาลอวสานแห่งพระชนมายุ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411ตรงกับเดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ
ปีมะโรง จุลศักราช 1230 ขณะพระชนมายุ 64 พรรษา สิริรวมเวลาเสวยราช 17 ปี 5 เดือน 29 วัน