สึนามิ ()

ดร. สนิท วงษา
ภาควิชา ครุศาสตร์ โยธา
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“สึนามิ”  เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า คลื่นท่าเรือ (Harbour Wave) โดยที่คำแรก “สึ: ”  แปลว่า ท่าเรือ ส่วนคำที่สอง “นามิ:” แปลว่า คลื่น ปัจจุบันใช้สำหรับเรียกกลุ่มคลื่นที่มีความยาวคลื่นมากๆขนาดหลายร้อยกิโลเมตร ที่มีสาเหตุเกิดจากการที่มวลของน้ำทะเลจำนวนมหาศาลได้ถูกผลักดันให้เคลื่อนที่ในแนวดิ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ เนื่องจากการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันของเปลือกโลกส่วนที่อยู่ใต้ท้องทะเล บางครั้งเราก็เรียกว่า คลื่นแผ่นดินไหว (Seismic Wave) ทั้งนี้เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลนั่นเอง มักมีการนำไปใช้สับสนกับคำว่า Tidal Wave ซึ่งเกิดจากน้ำขึ้นน้ำลงไม่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์คลื่นสึนามิเลย



สาเหตุของการเกิดคลื่นสึนามิอาจมีหลายประการด้วยกัน เช่น แผ่นดินไหวใต้ทะเล ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด อุกกาบาตชนโลก เป็นต้น แต่ที่พบเห็นกันทั่วไปจะมีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใต้ท้องทะเลอย่างฉับพลัน อาจจะเป็นการเกิดแผ่นดินถล่มยุบตัวลง แผ่นเปลือกโลกถูกดันขึ้นหรือยุบตัวลง ทำให้มีมวลของน้ำทะเลจำนวนมหาศาลถูกดันให้เคลื่อนตัวสูงขึ้นหรือยุบตัวลงอย่างฉับพลัน พลังงานจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะถูกถ่ายเทไปรอบข้างทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของมวลน้ำทะเลเป็นลักษณะของคลื่นออกไปทุกทิศทุกทาง ยังพบว่าขนาดของคลื่นสึนามิที่ยังอยู่ในทะเลลึกจะมีขนาดไม่ต่างไปจากคลื่นทั่วๆไป จึงทำให้สังเกตเห็นได้ยาก แม้ว่าคนที่อยู่บนเรือในทะเลลึกเหนือคลื่นสึนามิเอง ขณะที่คลื่นสึนามิเคลื่อนผ่านใต้ท้องเรืออยู่นั้นก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งนี้เพราะในขณะอยู่ในทะเลลึกนั้นความสูงของคลื่นมีขนาดเพียงไม่กี่สิบเซนติเมตรเท่านั้นเอง ลักษณะทางกายภาพโดยทั่วๆไปความเร็วของคลื่นทะเลจะมีความเร็วประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาบเวลา 20-30 วินาที และความยาวคลื่นประมาณ 100-200 เมตร แต่คลื่นสึนามิอาจจะมีความเร็วได้ถึง 950 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ความเร็วพอๆกับเครื่องบินพาณิชย์) ซึ่งจะแปรผันตรงกับความลึกของน้ำทะเล มีคาบเวลาตั้งแต่หลายสิบนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง และความยาวคลื่นอาจจะมากกว่า 5000 กิโลเมตร ซึ่งคลื่นสึนามิได้ถูกจำแนกให้เป็นคลื่นน้ำตื้นชนิดหนึ่ง มีความเร็วของคลื่นเท่ากับโดยที่ g คืออัตราเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงโลก (9.81 เมตร/วินาที2) และ H คือความลึกของทะเล (ตัวอย่าง แผ่นดินไหวเกิดที่ท้องทะเลลึก 6000 เมตร คลื่นสึนามิจะมีความความเร็วประมาณ 873 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เนื่องจากอัตราการสูญเสียพลังงานของคลื่นจะแปรผกผันกับความยาวคลื่นยกกำลังสอง แต่คลื่นสึนามิมีความยาวคลื่นมากจึงมีสูญเสียพลังงานในระหว่างการเคลื่อนที่เพียงเล็กน้อยมาก เมื่อตัวคลื่นได้เคลื่อนตัวผ่านบริเวณมหาสมุทรลึกเข้าสู่บริเวณไหล่ทวีปและแนวชายฝั่งที่มีความลึกน้อยความเร็วของคลื่นก็จะลดลง แต่เนื่องจากตัวคลื่นเองยังมีพลังงานรวมที่ค่อนข้างคงที่ ดังนั้นพลังเหล่านี้จะถูกถ่ายไปดันตัวให้คลื่นมีความสูงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลที่สภาพภูมิประเทศและรูปโครงร่างของอ่าวเป็นลักษณะอ่าวแคบหรือเป็นรูปตัววีจะยิ่งทวีความสูงให้คลื่นสึนามิจนมีความสูงขึ้นเพิ่มขึ้นอีกหลายเมตร จะสร้างความเสียหายและความพินาศอย่างคาดไม่ถึง
ขณะก่อนยอดคลื่นจะเคลื่อนเข้าถึงแนวชายฝั่งจะเกิดปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลลดลงอย่างกระทันหันจนขอบน้ำทะเลจะหดตัวออกจากแนวชายฝั่งไปเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร และเมื่อยอดคลื่นๆต่อมาได้ทยอยไล่มาถึง ก็จะเป็นกำแพงคลื่นสูงมากเข้ามากระทบชายฝั่ง ความสูงของคลื่นจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและรูปร่างของชายฝั่งเองด้วย ซึ่งน้ำทะเลอาจทะลักเข้าไปบนพื้นทวีปได้ไกลหลายร้อยเมตร นอกจากนั้นตัวคลื่นสึนามิยังสามารถเดินทางขึ้นไปตามปากแม่น้ำหรือลำคลองที่ไหลลงทะเลโดยตรงได้อีกด้วย หากรู้ตัวว่าจะเกิดคลื่นสึนามิให้ทำการอพยพประชาชนออกไปจากแนวชายฝั่งเป็นระยะทางเดินประมาณ 15 นาที และควรให้อยู่ห่างจากแหล่งน้ำที่ไหลลงทะเลด้วยก็จะปลอดภัย
จากการการรวบรวมและศึกษาค้นคว้าข้อมูลการเกิดคลื่นสึนามิในอดีตที่ผ่านมา ได้มีข้อสรุปว่าจะมีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ก็ต่อเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ที่มีความรุนแรงมากกว่า 7.7 ริกเตอร์ และความลึกของศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่า 70 กิโลเมตร

 

ภาพถ่ายดาวเทียมIKONOS
บริเวณคลองคึกคัก ตำบลคึกคัก
อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
(ก่อน 13 มกราคม 2546)
(หลัง 29 ธันวาคม 2547)



สาเหตุการเกิดคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่
26 ธันวาคม 2547
ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเมื่อตอนเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม มีขนาดความรุนแรงวัดได้ 9.0 ริกเตอร์ ตำแหน่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่แนวตะวันตกของ Sunda Trench ซึ่งแนวร่องที่เปลือกโลกสามแผ่นมาชนกัน คือ แผ่นอินเดียกับแผ่นออสเตรเลีย และแผ่นพม่ามาชนกัน โดยมีเปลือกโลกสองแผ่นคือแผ่นอินเดียและแผ่นพม่าเคลื่อนตัวเข้าหากัน แผ่นอินเดียถูกผลักดันให้เบียดผ่านแผ่นพม่าและเมื่อแรงกดดันมีสูงเกินกว่าขนาดแรงเสียดทานที่รับได้ จึงทำให้แผ่นดินสองแผ่นเกิดการครูดตัวและมีการสปริงตัวเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน เพื่อปลดปล่อยพลังงานความเครียดที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเปลือกโลกแผ่นอินเดียจะเคลื่อนตัวด้วยความเร็วเฉลี่ย 6 เซนติเมตร/ปี ถ้าสมมติให้แผ่นพม่าอยู่นิ่งๆไม่เคลื่อนที่ ผลก็คือตรงที่แผ่นเคลื่อนเข้าหากันจะชนกันเป็นแนวเฉียงทแยงขึ้น แรงดันจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกที่แตกออกห่างไปทางตะวันตกหลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งแตกเป็นแนวยาวขนานกับ Sunda Trench การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Trust Faulting




Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th